ฉบับที่ 257 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2565

นำกัญชา-กัญชงออกนอกประเทศระวังบทลงโทษหนัก        หลังไทยปลดล็อก “กัญชา-กัญชง” จากยาเสพติดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์นั้น นางสาวรัชดา ธนาดิเนก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ย้ำต่อประชาชนว่า ห้ามนำ “กัญชา-กัญชง” ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบพืชชนิดดังกล่าวไปยังต่างประเทศ เนื่องจากการปลดล็อกนี้มีผลบังคับใช้ในประเทศไทยเท่านั้น หากจะเดินทางไปต่างประเทศโดยมีส่วนต่างๆ ของกัญญาไว้ครองครองอาจต้องโทษตามกฎหมายประเทศต่างๆ ดังนั้นหากคิดนำออกไปควรตรวจสอบกฎหมายประเทศปลายทางนั้นด้วย         ตัวอย่างประเทศที่มีบทลงโทษรุนแรงในคดีการครอบครองกัญชา กัญชง 1) อินโดนีเซีย ปรับขั้นต่ำ 1 พันล้านรูเปียห์ จำคุก 5 ปี – ตลอดชีวิต โทษสูงสุดประหารชีวิต 2) ญี่ปุ่น จำคุกไม่เกิน 7 ปี (กรณีนำเข้า/ส่งออก) จำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 3 ล้านเยน (กรณีจำหน่าย)  3) เวียดนาม ปรับ 5,000,000 - 500,000,000 เวียดนามด่ง จำคุกตลอดชีวิต หรือโทษสูงสุดประหารชีวิต 4) เกาหลีใต้ จำคุก 5 ปีขึ้นไป หรือตลอดชีวิต (กรณีลักลอบนำเข้า) โทษจำคุกอย่างน้อย 1 ปี (กรณีปลูก/จำหน่าย) โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และถูกเนรเทศห้ามเข้าเกาหลีใต้ (กรณีครอบครองหรือเสพ) 5) สิงคโปร์ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือทั้งจำทั้งปรับ (กรณีครอบครองหรือเสพ) โทษประหารชีวิต (กรณีลักลอบค้า/นำเข้า/ส่งออก) โทษจำคุก 5-14 ปี หรือปรับ หรือทั้งจำและปรับ หรือ 6) ออสเตรเลีย โทษจำคุกและปรับ (กรณีนำเข้ากัญชา)  17 รูปแบบ อาชญากรรมทางออนไลน์         พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เตือนภัยต่อประชาชนถึงวิธีการต่างๆ ที่ทางมิจฉาชีพใช้ในการหลอกบนโลกออนไลน์ว่า มี 17 รูปแบบ ดังนี้ 1.ชื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า 2.หลอกให้ทำงานออนไลน์ 3.หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ   4.หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 5.ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว 6.ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้สินค้า 7.ชื้อสินค้าแต่ได้ไม่ตรงตามโฆษณา8.หลอกให้รักแล้วลงทุน 9.หลอกให้รักแล้วโอนเงิน 10.ปลอมโปรไฟล์เพื่อหลอกยืมเงิน 11.หลอกลวงเกี่ยวกับเงินดิจิทัล  12.แฮกระบบคอมพิวเตอร์ 13.ล่วงละเมิดทางเพศ 14.ข่าวปลอม 15.แชร์ลูกโซ่ 16.การเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ 17.ค้ามนุษย์ในรูปแบบขบวนการ ดังนั้นพึงระมัดระวังอย่าตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้ กทม.เปิดช่องทาง ขอภาพกล้องวงจรปิดได้ 24 ชั่วโมง         นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เผยว่า ขณะนี้ทางกรุงเทพมหานครได้เปิดให้มีการขอภาพกล้องวงจรปิดทางออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง หากประสงค์จะชี้ชัดในกรณีเกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตามหากต้องการขอไฟล์ภาพกล้องวรจรปิดต้องทำการแจ้งความที่สถานีตำรวจ ณ ที่เกิดเหตุก่อน ถึงจะสามารถแจ้งความประสงค์เพื่อขอภาพจากกล้องวงจรปิดได้ โดยช่องทางที่ติดต่อขอภาพได้ คือ เว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th และไลน์ @CCTVBANGKOK         เอกสารประกอบการขอรับไฟล์ภาพ 1.บันทึกประจำวันจากสถานีตำรวจ 2.สำเนาบัตรประชาชน 3.หมายเลขกล้องวงจรปิด  4.รายละเอียดวันเวลาของไฟล์ภาพที่ต้องการ เมื่อได้รับเรื่องแล้วทางเจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการดำเนินการผ่านทางไลน์ และทางอีเมล์ที่ได้แจ้งไว้กับทางหน่วยงาน  มพบ.เผยศาลปกครองเพิกถอนมติที่ประชุม กทค.ให้กลับไปคิดค่าบริการตามจริง แบบไม่ปัดเศษ         19 กรกฎาคม ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษา คดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. ได้ฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องขอให้เพิกถอนมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทางศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ครั้งที่ 1/2560 วันที่ 11 มกราคม 2560 ระเบียบวาระที่ 4.1 เรื่อง การพิจารณาทบทวนมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 ให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่มีมติ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่กำหนดให้บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาทีตามมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 และพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นต่างๆ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด         ทั้งนี้ นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีนี้ ถือว่าผลคำพิพากษาเป็นแนวทางที่ดีต่อผู้บริโภค ศาลปกครองกลางเห็นถึงปัญหาการคิดค่าบริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยว่า การคิดค่าบริการต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง ไม่ว่าจะมีหน่วยวัดเป็นนาทีหรือวินาทีก็ตาม ซึ่งการคิดค่าบริการเป็นหน่วยนาทีได้จะต้องครบจำนวน 60 วินาทีเท่านั้น จะใช้วิธีการคิดค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีไม่ได้ และคำพิพากษาในวันนี้เป็นคำพิพากษาในศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดียังสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก นิตยสารฉลาดซื้อ รับรางวัล “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”         20 กรกฎาคม นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้าร่วมงานรับรางวัล “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ประเภทสื่อออนไลน์ จากกองกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Thai Media Fund) ที่ได้ร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย 24 แห่ง จัดงานมอบประกาศนียบัตรเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติให้กำลังใจแก่ผู้ผลิตสื่อคุณภาพ ที่มีเนื้อหาปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีคุณกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขึ้นรับมอบประกาศนียบัตรโครงการเวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จากนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้มอบประกาศนียบัตร ในส่วนของสื่อออนไลน์ที่ได้รับรางวัล ได้แก่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 คอนโดฯ สร้างไม่เสร็จตามกำหนด ผู้บริโภครวมพลังขอยกเลิกสัญญา ทวงเงินคืน

        ...ผ่อนดาวน์จนครบแล้ว แต่คอนโดฯ ก็ยังสร้างไม่เสร็จ พอติดต่อไปขอให้คืนเงิน ก็ติดต่อไม่ได้เลย อยากได้เงินคืนมาก ทำยังไงดี...         ...ไปฟ้องศาลคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อขอเงินดาวน์ทั้งหมดคืน จนบริษัทส่งตัวแทนขอไกล่เกลี่ยผ่อนชำระ 4 งวด แต่หลังจากนั้นกลับไม่เคยได้รับเงิน แถมติดต่อใครไม่ได้เลยในทุกช่องทาง...         นี่คือตัวอย่างเสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้เสียหาย ในกรณีคอนโดฯ สร้างไม่เสร็จตามกำหนดที่ปรากฎเป็นข่าวฮือฮาบนหน้าสื่อเมื่อไม่นานมานี้ จนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ซึ่งแม้บริษัทเจ้าของโครงการจะออกมาชี้แจงแสดงความรับผิดชอบแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ตามมา กลุ่มผู้เสียหายส่วนหนึ่งจึงหมดความอดทนที่จะรอคอยอย่างไร้ความหวังอีกต่อไป         จนกระทั่งเมื่อ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มผู้เสียหายนับร้อยคนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม 4 ปีแต่สร้างไม่เสร็จตามสัญญานี้ ได้รวมพลังเข้าร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยดำเนินการทางกฎหมายกับ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการก่อสร้างคอนโดฯ 5 แห่งในย่านต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ที่สร้างไม่เสร็จตามกำหนดดังที่เป็นข่าว โดยผู้เสียหายทุกคนเห็นตรงกันว่า “ต้องการยกเลิกสัญญา” และ “เรียกเงินคืนทั้งหมด”         ทั้งนี้ จากการประชุมร่วมกันได้ข้อสรุปว่า เบื้องต้นทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะดำเนินการในขั้นตอนเชิญผู้ประกอบการมาเจรจาไกล่เกลี่ย และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือในการแก้ปัญหาในครั้งนี้ แต่หากไม่มาตามนัดจะยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี-อายัดทรัพย์ เพื่อนำเงินมาเฉลี่ยคืนให้ผู้เสียหายต่อไป         ในวันนั้น  “ฉลาดซื้อ” ได้คุยกับ คุณมนตรี เหมวิจิตร ซึ่งเป็นผู้เสียหายหนึ่งในกลุ่มนี้ เขาได้เล่าถึงมูลค่าความเสียหายของตนและครอบครัวว่า         “ผมและครอบครัวได้ซื้อคอนโดฯ โครงการของบริษัทนี้ที่พหลโยธิน ทั้งผม ภรรยาและครอบครัว ซื้อรวมกัน 5 ห้อง เราก็ทำสัญญาจ่ายเงินจองแล้วก็ผ่อนงวดดาวน์ตามปกติ ส่วนของผมและภรรยา จ่ายครบ 36 งวดแล้ว ส่วนของลูกชายยังไม่ครบจ่ายไปได้เพียง 26 งวดเท่านั้น โดยรวมแล้วผมกับครอบครัวจ่ายเงินไปแล้วคิดเป็นมูลค่าโดยประมาณ 2,299,000 บาท” ซื้อคอนโดฯ โครงการนี้ถึง 5 ห้อง         ตอนนั้นเหตุผลที่ซื้อก็เพราะเราเชื่อมั่นในโครงการฯ เนื่องจากบริษัทก็เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์เราเชื่อว่าบริษัทสามารถที่จะดำเนินการจนลุล่วงได้ เมื่อเกิดปัญหาก่อนหน้านี้ได้ไปร้องเรียนเรื่องที่ใดมาบ้าง         ผมเองยังไม่ได้ไปสักที่เลย เนื่องจากว่าในสัญญานั้นครบกำหนดคือสิ้นธันวาคม 2564 แล้วในสัญญาก็เขียนว่าสามารถจะต่อสัญญาได้อีก 1-2 เดือน ก็ประมาณมกราคม กุมภาพันธ์ (2565) ประกอบกับเรื่องของโควิด-19 เข้ามา ผมเลยยังไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ แต่ผมเองก็ได้โทร.เข้าไปที่บริษัท 3 - 4 ครั้งได้รับคำตอบทุกครั้งว่า “เดี๋ยวจะติดต่อกลับ” พอผ่านมาถึงเดือนมีนาคม เมษายนแล้วเลยโทร.ไปอีกที มีคนรับสายนะแต่บอกว่าจะนัดคุยเจรจาแล้วก็เงียบหายไปอีก เรามองว่าทำอย่างนี้ไม่ได้นะไม่เหมาะสมเลย เนื่องจากบริษัทนี้ก็เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เราเคยเชื่อมั่นว่าบริษัทต้องสามารถที่จะทำตามกฎของตลาดด้วยคือเรื่องของจรรยาบรรณตามมาตรฐานตลาดหลักทรัพย์ คือสิ่งที่เรามองว่าเขาควรจะต้องทำให้ถูกต้อง ทำไมจึงตัดสินใจรวมกลุ่มกันมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ผมรู้สึกว่าคงไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้ว เพราะบริษัทนี้คงไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามสัญญาได้ แล้วเราเชื่อมั่นในมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าจะเป็นตัวแทนของผู้บริโภคเพื่อรักษาสิทธิอันชอบธรรมของเรา เงินทุกบาททุกสตางค์ของพวกเราทุกคนที่มาร้องเรียนนี้ เราก็อยากจะได้คืนเนื่องจากว่าเราก็ผิดหวังที่ไม่ได้ห้องในโครงการแล้วแต่ทำไมไม่คืนเงินเราล่ะ นั่นคือสิ่งที่อยากให้มูลนิธิฯ เข้ามาช่วยเหลือพวกเรา หวังว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการทั้งหลายได้ปฏิบัติตามสัญญาอย่างถูกต้องเหมาะสมและยุติธรรม เราเห็นว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่เราจะอาศัยหน่วยงานสาธารณกุศลนี้ช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาเรียกร้องสิทธิ คิดว่าการที่เรามีปัญหาแล้วรวบรวมกันมา จะดีกว่าที่เราใช้สิทธิตรงนี้คนเดียวไหม         โดยส่วนตัวเท่าที่ผมดู หลายคนใช้สิทธิคนเดียวสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ขึ้นอยู่กับความหนักเบา และความรุนแรง ในกรณีนี้ผมเห็นหลายๆ คนก็ไปสคบ.(สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) กว่าจะเจรจากว่าจะไกล่เกลี่ยก็ใช้เวลา 3 - 4 เดือนกันเป็นแถว ถ้าคนที่ไปยื่นสคบ. เมื่อเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม พอถึงมิถุนายนที่พวกผมมาวันนี้ก็ไม่ต่างกัน ผมว่าถ้าไป 1 คนที่ สคบ. กว่าจะเจรจาส่งตัวแทนมาขอเลื่อนนัดก็หมดเวลาแล้วครับ ผมเชื่อว่าพลังของมดตัวน้อยๆ จากหลายๆ คนที่มารวมกันวันนี้จะเป็นแรงผลักดันอันยิ่งใหญ่ที่จะทำให้ผู้ประกอบการหันมาใส่ใจในสิทธิของผู้บริโภคด้วย สำหรับคนอื่นที่กำลังประสบปัญหาเหมือนกับเราจะแนะนำเขาอย่างไร         ผมอยากให้ผู้บริโภคที่มีปัญหาไม่ว่าจะเป็นบริษัทใดก็ตาม ขอให้ออกมาเรียกร้องสิทธิและมารวมตัวกันไปหน่วยงานที่เขาช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างที่นี่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอให้ผู้เสียหายรวมตัวกัน แล้วมูลนิธิฯ จะเป็นแกนนำของผู้บริโภคได้ นี่คือความตั้งใจและความศรัทธาในมูลนิธิฯ ครับ        “ผมและทุกคนที่มาในวันนี้ อยากให้กรณีนี้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อที่จะให้ผู้บริโภคลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิที่ควรจะได้รับ การมารวมพลังกันนี่แหละครับคือความสำคัญ” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ผู้รับเหมาใช้วัสดุผิดแบบจึงขอยกเลิกสัญญา

        "สัญญาก่อสร้าง หรือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง" คือ เอกสารสัญญาที่ระบุความตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างผู้ว่าจ้าง (เจ้าของบ้าน) ในการจ่ายค่าตอบแทนให้กับงานที่ดำเนินการก่อสร้างตามที่กำหนดตามข้อตกลง และผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมาก่อสร้าง) ที่รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างตามรายละเอียดที่ตกลงก่อสร้างตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาว่าจ้างจนแล้วเสร็จ        เมื่อสัญญาไม่เป็นสัญญา ผู้รับเหมาทำผิดข้อตกลง เจ้าของบ้านก็บอกยกเลิกสัญญาได้         ย้อนไปเมื่อ 10 ตุลาคม 2563 คุณใบโพธิ์ได้ตกลงทําสัญญาจ้างรับเหมาก่อสร้างบ้านพักอาศัยชั้นเดียวกับ บริษัทรับเหมาสร้างบ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น แต่สร้างไปสร้างมา คุณใบโพธิ์สังเกตว่าการก่อสร้างดูเหมือนไม่ค่อยได้มาตรฐาน จึงลองตรวจสอบดู แล้วก็พบว่าบริษัทผู้รับเหมาลดขนาดวัสดุที่ใช้ซึ่งไม่ตรงตามสเปกที่ระบุไว้ในเอกสารแนบสัญญา คุณใบโพธิ์จึงบอกให้ช่างหยุดก่อนและถามหาความรับผิดชอบ         ต่อมาแม้ทางบริษัทชี้แจงว่าจะแก้ไขให้เป็นไปตามแบบ แต่คุณใบโพธิ์ไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ไขที่จะปล่อยให้เลยตามเลยแบบนี้ และมองว่ายังไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น อีกทั้งเขาเองก็ไม่ไว้วางใจให้ช่างของบริษัทนี้มาสร้างบ้านให้อีกต่อไปแล้วด้วย คุณใบโพธิ์ต้องการจะขอยกเลิกสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายกับบริษัท ตามที่มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญา จึงได้ส่งสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญามาร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผ่านทางอีเมล และปรึกษาว่าควรจะทำยังไงต่อไป    แนวทางการแก้ไขปัญหา        ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ติดต่อกลับไปยังคุณใบโพธิ์ เพื่อขอให้ส่งสำเนาสัญญาว่าจ้าง ใบเสร็จเงินค่างวดงานแต่ละงวดที่จ่ายไปแล้ว สลิปโอนเงิน รูปภาพก่อสร้าง เป็นต้น เพื่อใช้ประกอบการแก้ไขปัญหา โดยเบื้องต้นได้แนะนำให้คุณใบโพธิ์ทำหนังสือไปยังบริษัทให้ดำเนินการตามสัญญาแล้ว แต่บริษัทกลับเงียบเฉย ในกรณีนี้คุณใบโพธิ์สามารถดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลเรื่องการผิดสัญญาได้ โดยว่าจ้างให้ช่างหรือบริษัทรับเหมารายอื่นมาประเมินความเสียหายว่า การก่อสร้างบ้านหลังนี้ไม่เป็นไปตามแบบอย่างไร ใช้วัสดุลดขนาดอย่างไร แล้วเหลืองานที่ไม่เสร็จอีกเท่าไหร่ คำนวณเป็นจำนวนเงินออกมา เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเรียกค่าเสียหายในคดีต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อให้การก่อสร้างสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยไม่เสียประโยชน์ในฝ่ายของคุณใบโพธิ์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 อายุความ เรียกค่าสร้างบ้าน

สวัสดีครับฉบับนี้อยากหยิบยกปัญหาใกล้ตัวเราทุกคนเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อาศัย หลายท่านคงฝันว่าอยากจะมีบ้านสักหลังเป็นของตนเอง แต่ท่านทราบหรือไม่  ในเรื่องการก่อสร้างบ้าน กฎหมายได้กำหนดอายุความไว้หลากหลาย เช่น อายุความเรียกค่าจ้างทำของ กำหนดไว้ 2 ปีนับแต่รับมอบงาน แต่มีข้อสังเกตว่า อายุความ 2 ปีนี้ ใช้กับคู่สัญญาที่ฝ่ายผู้ว่าจ้างเป็นคนธรรมดาที่ว่าจ้างให้สร้างบ้าน หรือเรียกว่าจ้างสร้างเป็นการส่วนตัว         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917/2534         การฟ้องเรียกค่าจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 มีกำหนดอายุความ2 ปี นับแต่วันรับมอบงาน โจทก์สร้างบ้านและรั้วพิพาทเสร็จส่งมอบให้จำเลยเมื่อเดือนตุลาคม 2526 และจำเลยได้เข้าไปอยู่ในบ้านพิพาทเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2526 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2528 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเอาไม้แบบพิพาทของโจทก์ไปทำสะพานทางเดินและเรียกทรัพย์หรือราคาทรัพย์ดังกล่าวคืนนั้นเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิติดตามเรียกเอาทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความบัญญัติห้ามไว้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8032/2556         จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ต่อเติมโครงหลังคาเหล็กโรงสีข้าวของจำเลยโดยจ้างเหมาค่าแรงต่อตารางเมตร  โจทก์เป็นฝ่ายจัดหาเครื่องมือสำหรับใช้ในการทำงาน ส่วนจำเลยเป็นฝ่ายจัดหาสัมภาระ  การทำงานของโจทก์จึงเป็นการรับเหมาก่อสร้าง เป็นลักษณะของการรับจ้างทำของชนิดหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 587 แม้โจทก์ลงมือทำงานด้วยก็หาทำให้โจทก์เป็นช่างฝีมือตามมาตรา 193/34 (1) ไม่ ความรับผิดของผู้ว่าจ้างจึงไม่อยู่ในอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) โจทก์ฟ้องเรียกเอาคาจ้างจากผู้ว่าจ้าง จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับจากการนั้นต้องเรียกร้องเอาภายใน 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/34 (7) โจทก์ส่งมอบงานก่อสร้างประมาณเดือนมีนาคม 2545 และจำเลย  ชำระค่าจ้างครั้งสุดท้ายวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 อายุความถึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายตามมาตรา193/14 (1) ประกอบมาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 2 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ         แต่ถ้าฝ่ายผู้ว่าจ้างทำโครงการก่อสร้างบ้านพักอาศัย เช่น พวกบ้านจัดสรร และว่าจ้างผู้รับจ้างทำการรับเหมาก่อสร้างบ้านตามแบบแปลนของผู้ว่าจ้าง เช่นนี้ ต้องใช้อายุความ 5 ปี ในการฟ้องร้องเรียกสินจ้าง          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9931/2552         คดีนี้โจทก์และจำเลยต่างเป็นผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้าง จำเลยรับจ้างก่อสร้างถนนและสะพานจากกรมทางหลวงแล้วจำเลยนำงานก่อสร้างสะพานไปว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอีกต่อหนึ่ง งานก่อสร้างสะพานเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างจากกรมทางหลวงอยู่ด้วย กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้างเรียกเอาค่างานที่ได้ทำให้แก่จำเลยเพื่อกิจการของจำเลย เข้าข้อยกเว้นไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมมีกำหนด 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5)          อายุความเป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่เราต้องรู้เพื่อจะได้ใช้สิทธิเรียกร้องของเราได้ทันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  เช่นในเรื่องนี้ หากจะเรียกค่าจ้างก่อสร้างบ้าน กรณีสร้างแบบส่วนตัว ก็ต้องใช้สิทธิฟ้องภายใน 2 ปี หรือหากเป็นบ้านโครงการก็ต้องฟ้องภายใน 5 ปีครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 จ่ายหนี้ไม่ไหว ปรับโครงสร้างหนี้ดีไหม

หลายครั้งเมื่อลูกหนี้แสดงทีท่าว่าจะจ่ายหนี้ไม่ไหว แหล่งเงินกู้ต่างๆ มักเสนอการประนอมหนี้ หรือที่เรียกว่าการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งอาจดูเหมือนจะเป็นข้อเสนอที่ลูกหนี้ได้ประโยชน์ แต่อาจทำให้ลูกหนี้ต้องมีหนี้เพิ่ม หรือผูกพันกับหนี้ก้อนใหม่แทนคุณสมพลโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ว่า เขาเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเคยผ่อนชำระที่เดือนละกว่า 5,000 บาท ต่อมาเกิดปัญหาการเงินภายในครอบครัว จึงเป็นเหตุให้เขาต้องชำระหนี้ล่าช้าติดต่อกันหลายเดือน ภายหลังทางบัตรเครดิตจึงโทรศัพท์มาเสนอให้เขาเปลี่ยนยอดชำระจากเดือนละ 5,000 บาทเหลือเพียงเดือนละ 1,000 บาทแทน แต่คุณสมพลไม่แน่ใจว่าหากเขายินดีรับข้อเสนอดังกล่าว จะส่งผลต่อยอดหนี้อย่างไรบ้างแนวทางในการแก้ไขปัญหาสำหรับหนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ถือเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยในอัตราสูง โดยหากเรานำบัตรเครดิตไปรูดซื้อสินค้า แต่ไม่สามารถชำระได้เต็มจำนวนที่กำหนดไว้ ก็จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตรา 20 % ต่อปี หรือหากมีการกดเงินสดจากบัตรกดเงินสด และชำระไม่ตรงกำหนดก็จะเสียดอกเบี้ยในอัตรา 28 % ต่อปี ซึ่งจะเริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่มีการกดเงินสดออกมาจากบัตร ส่งผลให้ผู้บริโภคหลายคนที่ชำระหนี้เต็มจำนวนไม่ไหว และมักชำระหนี้ขั้นต่ำ ซึ่งอยู่ที่ 5-10 % ของยอดหนี้ จะต้องใช้เวลานานมากกว่าจะชำระหนี้จนหมดสิ้น เพราะเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมากนั่นเอง ดังนั้นเมื่อถูกเสนอให้ปรับโครงสร้างหนี้หรือประนอมหนี้ หลายคนจึงยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว แต่อาจลืมไปว่าแม้การประนอมหนี้ จะมีข้อดีคือสามารถปรับตามกำลังหรือความสามารถของเราที่จะชำระหนี้ได้ แต่จะถือเป็นการทำสัญญาใหม่ที่จะรวมทั้ง เงินต้น ดอกเบี้ย เบี้ยปรับ เบี้ยทวงถาม เบี้ยค่าติดตาม ทั้งหมดมารวมกันและกลายเป็นหนี้ใหม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังให้ระยะการชำระหนี้นานขึ้นอีกด้วยศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำผู้ร้องว่า ในกรณีนี้หากผู้ร้องหยุดพักชำระหนี้และพยายามเก็บเงินก้อนให้ครบจำนวนยอดหนี้เดิม เพื่อชำระให้หมดภายในครั้งเดียวจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า หากผู้บริโภคท่านใดต้องการรายละเอียดเพิ่มสามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 สิทธิของผู้ซื้อบ้านที่ก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญา

ผมจะพาทุกท่านมารู้จักกับเรื่องสิทธิของผู้บริโภคอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในสัญญา โดยขอยกกรณีตัวอย่างของการทำสัญญาซื้อขายบ้านนะครับ ก่อนทำสัญญาใดๆ ก็ตามเราต้องตรวจดูข้อสัญญาให้ดีๆ เพราะสัญญาที่กำหนดขึ้นนั้น ผู้ขายเขาร่างมาให้ เราต้องดูให้ดีว่ามีข้อใดที่เอาเปรียบเราหรือไม่ หากเห็นข้อใดไม่สมเหตุผล ก็คุยกันและขอให้แก้ไขได้นะครับเพราะเป็นสิทธิของเราในฐานะผู้บริโภคครับ เพราะเมื่อทำสัญญาไปแล้วจะเกิดสิทธิและหน้าที่ทั้งผู้ซื้อผู้ขายต้องปฏิบัติให้เป็นตามสัญญา เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเรื่องของผู้บริโภคท่านหนึ่งที่ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้าน ซึ่งตอนไปทำสัญญาก็แน่นอนว่า บ้านยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง หลังทำสัญญาไปแล้ว ก็จ่ายเงินผ่อนบ้านเรื่อยมา แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ ปรากฏว่า กลับจ่ายเงินเขาไม่ครบ จ่ายไม่ตรงเวลา ทั้งที่สัญญาก็ระบุไว้ว่าต้องจ่ายเมื่อไหร่ ส่วนผู้ขายก็สร้างบ้านไม่เสร็จตรงตามกำหนด เรียกว่าทั้งสองฝ่ายไม่ปฏิบัติให้ตรงตามสัญญากันเลย ผู้บริโภคท่านนี้เห็นบ้านสร้างไม่ยอมเสร็จสักที ก็ไปฟ้องศาลขอเรียกเงินค่างวดคืน ปัญหาที่เกิดคือ แบบนี้ตัวเองก็ผิดนัดเขาไม่ชำระเงินให้ตรงตามเวลาที่ตกลง จะมีสิทธิทวงเงินคืนได้หรือไม่  ซึ่งสุดท้ายเรื่องก็ไปสู่ศาลฎีกา และศาลก็ได้ตัดสินให้ผู้ขายคืนเงินแก่ผู้บริโภค เนื่องจากก่อนฟ้อง ผู้ขายมีหนังสือทวงถามให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อชำระค่างวด แต่ผู้ซื้อไม่ยอมจ่ายและมีหนังสือเลิกสัญญาไปถึงผู้ขายเช่นกัน ศาลมองว่าทั้งสองฝ่ายต่างต้องการเลิกสัญญาต่อกัน จึงมีผลให้สัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน ซึ่งตามกฎหมาย ผลของการเลิกสัญญา ทำให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องกลับสู่ฐานะเดิม ดังนั้น ผู้ขายจึงต้องคืนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระทั้งหมดให้แก่ผู้บริโภคพร้อมดอกเบี้ย คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6327/2549           โจทก์มิได้ชำระเงินค่างวดตรงตามเวลาและครบถ้วนในกำหนดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนจำเลยก็มิได้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในกำหนดวันที่โจทก์ต้องชำระเงินค่างวด งวดสุดท้ายและจำเลยตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ จึงถือว่าต่างฝ่ายต่างมิได้ถือกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นสาระสำคัญต่อไป หนี้ที่ต่างต้องชำระต่อกันจึงไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนต่างฝ่ายย่อมเรียกอีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้โดยพลันโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคแรก          สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนและล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้มาแล้วประมาณ 10 เดือน ดังนั้นหนังสือบอกกล่าวของจำเลยที่ทวงถามให้โจกท์ชำระเงินค่างวดที่ค้างเพื่อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้น จำเลยจะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ด้วยว่าจำเลยพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิไม่ชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยยังก่อสร้างบ้านไม่แล้วเสร็จในขณะที่มีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ค่างวดที่ค้าง จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะที่พร้อมที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนให้แก่โจทก์ได้ การที่โจทก์ไม่ชำระเงินค่างวดที่ค้างให้แก่จำเลยจึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่โจทก์ชำระแล้ว          หลังจากที่จำเลยมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระค่างวดที่ค้างแล้ว โจทก์ไม่ชำระแต่ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย และต่อมาจำเลยก็ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์อีก ดังนี้เท่ากับคู่สัญญามีเจตนาเลิกสัญญาต่อกัน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ในคดีนี้ มีประเด็นน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทั้งสองฝ่ายต้องรู้หน้าที่ของตน ผู้ขายรู้ว่าตนมีหน้าที่ต้องสร้างบ้านให้เสร็จ และโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินให้โจทก์ แต่ปรากฎว่าในขณะมีหนังสือแจ้งให้โจทก์จ่ายเงินค่างวดบ้าน ตนเองก็ยังไม่พร้อมจะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินให้โจทก์ แสดงว่าจำเลยผู้ขายไม่สามารถปฏิบัติตามหน้าที่ของตนตอบแทนตามสัญญา  ดังนั้น การที่โจทก์ยังไม่จ่ายเงินค่างวดจึงยังไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา ผลที่ตามมาคือ ผู้ขายไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและจะริบเงินของโจทก์ไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 กระแสในประเทศ

เหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2555 สคบ.เตรียมคุมเข้มธุรกิจรับสร้างบ้าน ธุรกิจสร้างบ้าน ถือเป็นหนึ่งในปัญหาปวดใจของผู้บริโภคยุคนี้ วัดได้จากข้อมูลสถิติการร้องเรียนของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ที่สูงสูสีพอๆ กับปริมาณหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดที่เกิดขึ้นเต็มเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สคบ. จึงเตรียมผลักดันให้ธุรกิจสร้างบ้านเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา สาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคต้องเจอกับปัญหาสั่งสร้างบ้านแล้วไม่ได้บ้านอย่างหวัง หรือได้บ้านแต่เป็นบ้านที่ไม่มีคุณภาพ มาจากธุรกิจรับสร้างบ้านยังไม่มีสัญญาควบคุมอย่างเป็นมาตรฐาน แม้มีหน่วยงานอย่างสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านที่มีสัญญากลางไว้ช่วยกำกับดูแล แต่ปัญหาผู้รับเหมาผิดสัญญาผู้ซื้อบ้านก็ยังก็เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ จึงถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของ สคบ. ที่ต้องรีบจัดทำสัญญามาตรฐานธุรกิจรับสร้างบ้านเพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างกระทำผิดหรือหาช่องละเมิดผู้บริโภค และช่วยให้มีเกณฑ์ไว้เป็นมาตรฐานก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อบ้านหรือว่าจ้างผู้รับเหมา โดยทาง สคบ. ตั้งใจดำเนินการเรื่องการควบคุมสัญญาให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้   คำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังคิดจะซื้อบ้านหรือว่าจ้างผู้รับเหมามาสร้างบ้านให้ อันดับแรกควรศึกษาประวัติการทำงานที่ผ่านมาของผู้ประกอบธุรกิจ ว่ามีความน่าเชื่อถือแค่ไหน และอย่าลืมตรวจสัญญาให้ดีว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ ให้แน่ใจว่าจะไม่ถูกเอาเปรียบก่อนที่จะเซ็นสัญญา หรือหากมีข้อข้องใจเรื่องการทำสัญญาสามารถขอคำแนะนำได้ที่ สคบ. โดยกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา โทร. 02-629-7065-66 ----------------------------------------------------------- สัญลักษณ์คุ้มครองเงินฝาก สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ สคฝ. ได้ออกข้อบังคับให้ต่อนี้ไป ธนาคารต่างๆ ต้องแสดงข้อความ ลงในผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทต่างๆ ที่ได้รับความคุ้มครองว่า “เงินฝากนี้ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย” เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการคุ้มครองเงินฝากของผู้ที่มาใช้บริการ ให้ได้รับรู้สิทธิของตัวเอง ซึ่งการคุ้มครองเงินฝากถือเป็นสิทธิสำคัญของผู้ฝากเงินกรณีที่ธนาคารที่เราฝากเงินไว้ปิดกิจการ ตั้งแต่ 11 ส.ค. 55 นี้เป็นต้นไป จำนวนเงินฝากที่อยู่ในการคุ้มครองจะอยู่ที่ไม่เกิน 1 ล้านบาทเท่านั้น จากเดิมที่เคยคุ้มครองสูงถึง 50 ล้านบาท โดยประเภทของเงินฝากที่อยู่ในการคุ้มครองได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน ออมทรัพย์ ประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน เฉพาะที่เป็นเงินบาท เพราะฉะนั้นใครที่มีเงินฝากอยู่ในบัญชีเกิน 1 ล้านบาทก็อย่านิ่งนอนใจ ต้องมั่นติดตามข่าวสารสถานการณ์การเงินของธนาคารที่เราฝากเงินไว้อยู่เรื่อยๆ แต่อย่างน้อยๆ การที่ สคฝ. ออกมาตรการให้ธนาคารต้องแสดงสัญลักษณ์คุ้มครองเงินฝาก ก็เพื่อเป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับผู้ฝากเงิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสิทธิของเราจะได้รับการดูแล ใครที่มีปัญหาหรือสงสัยเรื่องการคุ้มครองเงินฝาก สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก www.dpa.or.th ----------------------------------------------------------------------- จัดระเบียบตลาดนัด ตลาดนัดกับคนไทยเป็นของคู่กัน เรียกว่าไปที่ไหนก็เจอ พูดได้เลยว่าตลาดนัดถือเป็นครัวหลักของคนไทยส่วนใหญ่ในประเทศ เพราะเป็นแหล่งรวมของอาหารการกิน แต่หลายคนมีอคติกับตลาดนัดที่เรื่องความสกปรก กระทรวงสาธารณสุขจึงเตรียมจัดระเบียบตลาดนัดทั่วประเทศที่มีกว่า 10,000 แห่ง เพื่อยกระดับมาตรฐานเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยในอาหาร สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ตลาดนัดถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ผู้ประกอบการตลาดนัดจะต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียนต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล และต้องผ่านเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 3 ประการได้แก่ 1.สถานที่สะอาด 2.อาหารที่วางขายต้องไม่มีสารปนเปื้อนอันตรายอย่างน้อย 6 ชนิด ได้แก่ สารบอแรกซ์ สารกันรา สารฟอร์มาลีน สารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง สารฟอกขาว และสารเร่งเนื้อแดง และ 3.ต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น มีตาชั่งมาตรฐานเที่ยงตรง ราคายุติธรรม มีชุดตรวจสอบการปนเปื้อนทางเคมี ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังเร่งตรวจสอบตลาดนัดทั่วประเทศ เพื่อแจ้งให้ปรับปรุงตลาดให้เข้ากับเกณฑ์ที่กระทรวงตั้งไว้ เพื่อให้คนไทยได้ชิมช้อปกันอย่างปลอดภัย -----------------------------------------------------------------------------   กสทช.สั่งแบนมือถือ 280 รุ่น ถือเป็นเรื่องน่าตกใจ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ออกมาเปิดเผยว่าได้สั่งเพิกถอนในรับรองโทรศัพท์มือถือ 280 รุ่น จาก 27 บริษัท เนื่องจากตรวจพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารข้อมูลรายงานการทดสอบจากห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ ซึ่งคำสั่งเพิกถอนนี้มีผลทำให้ห้ามมีการนำเข้าและจำหน่ายมือถือทั้ง 280 รุ่นต่อไป แม้มาตรการที่มีต่อผู้ประกอบการจะค่อนข้างชัดเจน คือการระงับการจำหน่ายสินค้าที่ถูกยกเลิกทะเบียน แต่ในมุมของผู้บริโภคกลับไม่มีมาตรการรับผิดชอบใดๆ โดย น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า โดยหลักการไม่มีหลักฐานว่าเครื่องไม่ได้มาตรฐานเพราะไม่ได้มีการพิสูจน์ เพียงแต่ผู้ขอใบอนุญาตในการนำเข้าใช้เอกสารปลอม หากมือถือที่ใช้อยู่ไม่เกิดปัญหาก็ยังสามารถใช้ได้ต่อไป เพียงแต่หากผู้บริโภคใช้โทรศัพท์ที่ถูกยกเลิกแล้วมีปัญหาก็สามารถฟ้องร้องเป็นกรณีไป ซึ่งโทรศัพท์มือถือที่มีปัญหาหลายๆ รุ่น ว่าขายมาตั้งแต่ 2 – 3 ปีก่อน คาดว่าน่าจะมีคนที่ซื้อไปใช้แล้วเป็นจำนวนมาก ใครที่อยากรู้ว่าโทรศัพท์มือถือที่ถูกสั่งห้ามจำหน่ายทั้ง 280 รุ่นมีรุ่นใดบ้าง สามารถสอบถามได้ที่ กสทช. Call Center 1200 ---------------------------------------------------------------------------- กินหน่อไม้ดิบ ระวังชีวิตดับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนอย่ากินหน่อไม้ดิบ เพราะอาจได้รับอันตรายจากพิษไซยาไนด์ในหน่อไม้ตามธรรมชาติ ถ้าได้รับในปริมาณมากอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ หลายคนยังเข้าใจผิดว่าหน่อไม้บางสายพันธุ์สามารถกินดิบๆ ได้ ซึ่งความจริงถือเป็นเรื่องอันตราย เพราะตามธรรมชาติในหน่อไม้จะมีสารไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ถ้าหากได้รับในปริมาณไม่มากสารก็จะถูกขับออกทางปัสสาวะ แต่หากได้รับในปริมาณมากสารไซยาไนด์ก็จะไปจับตัวกับสารในเม็ดเลือดแดงแทนที่ออกซิเจน ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ส่งผลให้หมดสติและอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต เพราะฉะนั้นก่อนที่จะกินหน่อไม้ ต้องต้มให้สุกทุกครั้ง โดย นายมงคล เจนจิตติกุล ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร แนะนำให้ต้มหน่อไม้ทิ้งไว้ในน้ำเดือดอย่างน้อย 10 นาที เพราะจะช่วยลดสารไซยาไนด์ที่อยู่ในหน่อไม้ได้ถึงร้อยละ 90.5 เลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 คอนโดมิเนียม สร้างทับที่สาธารณะ

คงมีใครหลายคนที่น่าจะเลือกคอนโดมิเนียมจาก ทำเลที่ตั้ง เป็นปัจจัยหลัก โดยอาจจะให้เอื้อประโยชน์ในด้านการเดินทาง เช่น ติดสถานีรถไฟฟ้า หรือให้มีความสะดวกสบายในการพักผ่อน เช่น เงียบสงบ อยู่แถวชานเมืองที่ไม่วุ่นวายมากนัก อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่เรามักมองข้ามคือ ที่ดินของคอนโดนั้นๆ เป็นกรรมสิทธิ์ของใคร เพราะคงไม่มีใครคิดว่าคอนโดมิเนียมหรูราคาแพง จะสร้างทับที่ดินสาธารณะ ซึ่งเราไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของได้ แม้จะจ่ายเงินซื้อคอนโดนั้นแล้วก็ตามเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้ร้องที่ทำสัญญาจองซื้อคอนโดของโครงการ คีรีมายา เรสซิเดนส์ อัตตา เดอะคอนโด ที่ จ.นครราชสีมา โดยคอนโดดังกล่าวมีราคากว่า 7 ล้านบาท ซึ่งเขาได้ผ่อนดาวน์ไปแล้วประมาณ 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตามภายหลังก็ได้รับเอกสารแจ้งจากสำนักงานที่ดินปากช่องว่า คอนโดดังกล่าวได้มีการรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ เป็นพื้นที่จำนวน 163 ไร่ และปิดกั้นเส้นทางสาธารณะ จำนวน 48 ไร่ และผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ก็ได้แจ้งว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านสามารถใช้เส้นทางดังกล่าวได้ แต่หลังจากทางโครงการก่อสร้างเสร็จ ก็ได้ปิดกั้นเส้นทางดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเดินทางเข้าออกได้อีกเลยและผู้ร้องยังพบข่าวที่เคยลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 ก.ย. 58 ว่า คอนโดดังกล่าวมีการปล่อยเช่า ให้เป็นคอนโดมิเนียมรายวัน (โรงแรม) ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. โรงแรม พ.ศ. 2478 เขาจึงส่งเอกสารขอคำชี้แจงถึงกรณีต่างๆ ไปยังโครงการ ก่อนจะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดเป็นของตัวเอง เพราะกังวลว่าจะมีผลต่อข้อตกลงเรื่องการเช่า อย่างไรก็ตามทางโครงการก็ไม่ได้ส่งหนังสือชี้แจงตอบกลับมา เพียงแต่แจ้งว่าการที่ผู้ร้องไม่ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนด จะถือว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย ทำให้ผู้ร้องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ เพราะอาจเป็นเหตุให้บริษัทบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดก็ได้แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องยังไม่ต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดดังกล่าว และทำหนังสือถึงโครงการอีกครั้งว่า ให้มีการตรวจสอบกรณีต่างๆ ให้มีความชัดเจนก่อน เพราะหากโครงการทำผิดกฎหมายจริง ก็เท่ากับว่าเป็นการผิดสัญญากับผู้บริโภค ซึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญาดังกล่าวได้ นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ก็ทำหนังสือสอบถามไปยังจังหวัด เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้หากพิสูจน์ได้ว่า มีการสร้างคอนโดลุกล้ำลำน้ำสาธารณะจริง ทางบริษัทก็ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยอาจจะรื้อและสร้างใหม่ให้กับผู้ซื้อก็ได้แนะข้อควรรู้เบื้องต้นก่อนตัดสินใจซื้อคอนโด1. ตรวจสอบพื้นที่ตั้ง โดยสามารถสอบถามไปยัง กรมที่ดิน (ควรอยู่ในย่านเดียวกัน) ว่าที่ตั้งของคอนโดดังกล่าว เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลจริงหรือไม่ เพราะหากเป็นพื้นที่สาธารณะ เราไม่สามารถครอบครองได้ นอกจากนี้รัฐยังสามารถเวนคืนได้ทุกเมื่อ แม้ว่าเราจะเป็นเจ้าของคอนโดนั้นแล้วก็ตาม 2. ประเมินกำลังการผ่อนของตนเองในอนาคต ว่าสามารถชำระค่างวดจนครบได้หรือไม่ หรือควรให้มีการระบุในสัญญาว่า หากเรากู้ธนาคารไม่ผ่าน จะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้รับความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย เช่น มีการคืนเงินจองล่วงหน้า หรือคืนเงินดาวน์ที่จ่ายไปแล้ว3. ไม่ซื้อคอนโดที่ยังไม่ก่อสร้าง เพราะอาจเกิดปัญหาจ่ายเงินแล้วเรียบร้อย แต่ไม่มีการก่อสร้างจริงได้4. ศึกษารายละเอียดโครงการที่ประกาศขาย ในเรื่องโครงสร้างและความน่าเชื่อถือ5. ศึกษาสัญญาจะซื้อจะขาย โดยควรมีการรับประกันโครงสร้างด้วย6. ดูคุณภาพจากสถานที่จริง ไม่ใช่แค่ในโฆษณา 7. ไม่รับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อโครงการยังไม่แล้วเสร็จ หรือไม่สร้างตามแบบแปลนที่โฆษณาไว้ นอกจากนี้ก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์ ต้องตรวจสอบสภาพห้องให้เรียบร้อยทั้งการก่อสร้างและมาตรฐาน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 คอนโดสร้างไม่เสร็จ แต่บังคับให้รับโอน

คุณนิชา ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดหรูกลางเมืองกรุง โดยทางโครงการระบุในสัญญาว่าจะสร้างแล้วเสร็จพร้อมนัดหมายการตรวจรับ โอนกรรมสิทธิ ในวันที่ 30 มิถุนายน 2556  แต่เมื่อถึงกำหนดการส่งมอบ ห้องชุดก็ยังไม่เสร็จเรียบร้อย ทางโครงการจึงขอขยายเวลากับคุณนิชาออกไปอีก 9 เดือน เพื่อจะทำการก่อสร้าง เก็บรายละเอียดที่ยังไม่เรียบร้อยทั้งหมด คุณนิชาตกลง ให้โครงการขยายเวลาดำเนินการต่อไปได้แต่เมื่อถึงวันนัดหมาย คุณนิชาตรวจดูแล้ว พบว่าห้องชุดดังกล่าวต้องทำการแก้ไขอีกหลายรายการ เธอจึงยังไม่รับมอบห้องชุดดังกล่าว พร้อมทั้งยื่นรายการแก้ไขให้กับผู้รับผิดชอบ โดยนัดตรวจงานอีกครั้งหลังจากนี้ไป 30 วัน ทางโครงการฯ ก็รับดำเนินการแก้ไขให้ แต่กลับมีเงื่อนไขระบุในสัญญาว่า “หากพ้นวันนัดตรวจงานไปแล้วคุณนิชามิได้แจ้งเหตุขัดข้องหรือติดต่อกลับ บริษัทฯ ถือว่า “ข้าพเจ้ายินยอมรับมอบห้องชุดฯแล้วตามสัญญา และต้องรับโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 30 วันหลังจากได้รับหนังสือแจ้งจากบริษัท”เมื่อครบกำหนดการนัดหมายอีกครั้ง คุณนิชาไปตรวจสอบห้องชุดดังกล่าวแต่พบว่ายังเกิดปัญหาที่โครงการไม่ปฏิบัติตามสัญญา พบความไม่เรียบร้อยหลายส่วน ประกอบด้วย1. มีคนงานก่อสร้างสัญจรอยู่บนอาคารดังกล่าว อยู่ทั่วไป เพราะชั้นสูงๆยังดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ2. มีวัสดุ อุปกรณ์ก่อสร้างวางกองอยู่ทั่วไป ทั้งบริเวณพื้นราบด้านในและนอกอาคารดังกล่าว รวมถึงลานจอดรถบนอาคารด้วย3. พื้นที่ส่วนกลาง เช่นห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำยังไม่แล้วเสร็จ ยังมีคนงานทำงานอยู่ มีอุปกรณ์ก่อสร้างกองอยู่ทั่วไป งานยังไม่เรียนร้อยและปลอดภัยพอที่จะใช้งานได้ คุณนิชาไม่ยอมรับมอบห้องชุด แต่ทางบริษัทฯ อ้างว่า หากเธอไม่รับมอบถือว่า ผิดสัญญาจะซื้อจะขายกับทางบริษัท จะถูกปรับเงิน และถูกบอกเลิกสัญญา  เจอไม้นี้เข้าไปเธอจึงเข้ามาปรึกษากับเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขคำว่า “ การดำเนินการแล้วเสร็จที่พร้อมจะรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด”  หมายถึง ห้องชุดต้องเสร็จพร้อมทั้งห้องชุดและส่วนกลาง โดยจะต้องแล้วเสร็จอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน และมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้เข้าพักอาศัยภายหลังการรับโอนกรรมสิทธิ์ โดยเมื่อรับโอนแล้วผู้เข้าพักอาศัยจะต้องสามารถเข้าอยู่ได้โดยสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลางที่พร้อมจะใช้งานได้โดยปลอดภัย มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในการเข้าอยู่อาศัย และหากเกิดเหตุสุดวิสัยในการใช้งานอาคารชุด จะต้องมีเจ้าหน้าที่ในการรับเรื่องเพื่อดำเนินการแก้ไขได้ทันการณ์  ดังนั้นห้องชุดดังกล่าว  จึงเข้าข่าย ก่อสร้างไม่เสร็จเรียบร้อยตามสัญญา วิธีแก้ไขปัญหาคือแนวทางที่ 1 ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา โดยทำจดหมายส่งไปที่ผู้ประกอบการ อ้างอิง ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543ข้อ 8.6   ในกรณีผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำเนินโครงการอาคารชุดให้แล้วเสร็จภายในกำหนดสัญญา หรือคาดหมายได้ว่าจะไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดสัญญา หรือคาดหมายได้ว่าจะไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดก. ให้ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและมีสิทธิเรียกเงินที่ผู้บริโภคได้ชำระไปแล้วทั้งหมดคืนจากผู้ประกอบธุรกิจพร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับเบี้ยปรับ  ที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดสำหรับกรณีผู้บริโภคผิดนัดชำระหนี้  แต่ทั้งนี้  ไม่เป็นการตัดสิทธิผู้บริโภคที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายอย่างอื่นแนวทางที่ 2 ใช้กระบวนการฟ้องร้อง อ้างอิงตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งตามกฎหมายแล้วผู้บริโภคมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายเจ้าของโครงการได้ดังนี้1.  ขอต้นเงินที่จองและชำระเงินจองทั้งหมดคืนพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาและตามประกาศประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง  ให้ธุรกิจห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543  ฉบับลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2543 ข้อ 8.6 (ก)2.  เจ้าของโครงการสร้างไม่เสร็จ แต่จะบังคับโอนกรรมสิทธิ์เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค  ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม  ผู้บริโภคอาจต้องไปหาซื้อคอนโดใหม่แทน  อาจมีราคาต่อตารางเมตรสูงขึ้นจากเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์  สามารถเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ได้เป็น  ค่าขาดประโยชน์ในการใช้ทรัพย์นับแต่วันที่ต้องสร้างให้เสร็จ เป็นรายวัน-รายเดือน ตามข้อเท็จจริง3.  ค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น เพราะผู้บริโภคตั้งใจซื้อคอนโดใกล้ที่ทำงาน แต่เมื่อเจ้าของโครงการไม่ยอมสร้าง  ทำให้ต้องเสียค่าเดินทางเพิ่มขึ้น4.  ของแถมที่ตกลงจะให้กับผู้จองคอนโด เช่น ทีวี ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ   แต่เมื่อไม่มีการสร้าง  จึงไม่มีการให้ของแถม เจ้าของโครงการต้องชดใช้คืนให้กับผู้บริโภคตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้5.  ค่าเสียหายอื่นๆ  อีก (ถ้ามี)  ผู้บริโภคสามารถเรียกได้ทั้งสิ้นการยื่นฟ้องสามารถใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 เพราะในกรณีนี้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 คนใกล้ชิดรับเหมาซ่อมบ้าน รับเงินแล้วงานอืด

โศรส เป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยคราวน้ำท่วมใหญ่ฤทธิ์ของน้ำที่เข้ามาท่วม เอ่อและขัง ทำให้บ้านได้รับความเสียหายทั้งในบ้านและนอกบ้านอย่างที่ทราบกันดี ช่วงหลังน้ำท่วม ผู้รับเหมาซ่อมบ้านงานเข้าเป็นกอบเป็นกำและมีข่าวทิ้งงานก็เยอะ  ซ้ำหาตัวยากแสนยากโศรสพยายามมองหาผู้รับเหมาที่ไว้ใจได้ จนมีรุ่นน้องที่ทำงานแนะนำให้รู้จักกับน้องชายและทีมงานที่ทำงานรับเหมาทำบ้านซ่อมบ้านสร้างบ้านอยู่โศรสและสามีตกลงทำสัญญาว่าจ้างให้ซ่อมบ้านทั้งในบ้านและนอกบ้าน แม้จะต้องจ่ายเงินค่ามัดจำค่อนข้างเยอะ แต่ด้วยความไว้วางใจเห็นเป็นน้องของคนรู้จักที่ทำงานจึงไม่ได้ต่อรองอะไรเธอเล่าว่าตอนแรกๆ ทีมรับเหมาก็มาทำงานทุกวันจนครบตามสัญญาที่ต้องจ่ายเงินมัดจำ 2 งวด  เป็นจำนวนทั้งหมด 96,000 บาท หรือราว 80% ของยอดทั้งหมด แต่งานที่ทำยังไม่ถึง 50% ของที่ตกลงไว้ในสัญญา โดยแต่ละครั้งที่มาทำจะมากันแค่ 2 คน คือน้องชายของน้องที่ทำงานที่เป็นคนแนะนำกับคนงานอีก 1 คนเมื่อตรวจเช็คงานที่ทำ มีหลายครั้งที่ไม่ตรงตามที่ตกลง เช่น ของเงินเพิ่ม 10,000 บาท เพื่อจะจ้างรถใหญ่มางัดพื้นขุดหลุม แต่ก็ไม่ได้มา อ้างว่ายามหมู่บ้านไม่ให้เข้า พอไปเช็คสอบถามยาม ยามบอกว่าไม่เคยเห็นมีรถใหญ่ขอเข้ามาเลยนอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการเลือกวัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น เสาเข็มความยาวไม่ถึง 6 เมตร ช่างรับเหมาอ้างว่า หาซื้อแถวนี้ไม่ได้ร้านไม่มาส่ง  โศรสเธอก็เที่ยวไปตามถามร้านอุปกรณ์ก่อสร้างแถวบ้านพบว่ามีหลายร้านที่ขายและมาส่งด้วย จากนั้นก็เริ่มไม่มาทำงาน โดยมีเหตุผลต่างๆ นานา เช่น ไม่สบายต้องเข้าโรงพยาบาล หรือรถเสียต้องเอาไปซ่อม หลายครั้งที่มีการโทรตามก็ติดต่อไม่ได้ ไม่ยอมรับโทรศัพท์ หรือบางครั้งโทรติดต่อได้ก็รับปากว่าจะมาแต่ก็ไม่ได้มาตามนัด“แฟนที่อุตส่าห์ลางานเพื่อมาเฝ้าดู ต้องเสียวันลาและเวลาไปฟรีๆ ดิฉันและแฟนโกรธมาก”ท้ายสุดต้องไปคุยกับรุ่นน้องที่บริษัทถึงปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น กลัวจะมีการเบี้ยวงาน โกงเงินดิฉันไป รุ่นน้องที่บริษัทจึงช่วยประสานงานให้น้องเขากลับมาทำงานหลังจากหายไม่มาทำงานไปเดือนเศษ แต่พอมาทำได้แค่อาทิตย์เดียว น้องที่รับเหมาเริ่มตุกติก บอกว่าจจะทำให้แต่ส่วนนอกบ้านคือรั้วกับปูกระเบื้องนอกบ้าน แต่งานในบ้านเป็นส่วนของแถมไม่รวมให้“ดิฉันได้ฟังแล้วคิดว่า สงสัยจะถูกโกงแล้ว จึงไม่ยอม และบอกให้ช่างรับเหมาทำตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้แต่แรก แต่ทางผู้รับเหมาบอกว่า ไม่ได้กันเงินมาจ่ายค่าจ้างคนงาน ที่มีแค่หนึ่งคน ถ้าจะให้ทำข้างในบ้านต้องขอเวลารอเงินค่างวดที่จะได้จากอีกงานหนึ่งก่อน”“ดิฉันควรจะทำอย่างไรดีที่จะให้ผู้รับเหมา รับผิดชอบทำงานให้ครบตามที่สัญญาไว้” แนวทางแก้ไขปัญหางานที่ยังเหลือ คือการปูพื้นกระเบื้องในบ้าน ใส่บัว ลอกวอลเปเปอร์และทาสีชั้นล่างทั้งในบ้านและนอกบ้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำให้ผู้ร้องเรียนรีบทำหนังสือเรียกร้องให้ผู้รับเหมารีบมาดำเนินการงานส่วนที่คั่งค้างโดยเร็ว หากไม่ดำเนินการตามคำเรียกร้อง ผู้ร้องเรียนสามารถบอกเลิกสัญญาและจัดหาผู้รับเหมารายใหม่มาทำงานต่อได้ และหากมีภาระค่าใช้จ่ายหรือความเสียหายเกิดขึ้นเพิ่มเติม ให้ย้อนกลับไปเรียกร้องเอากับผู้รับเหมารายแรกทันทีที่ผ่านมา โศรสได้แต่ใช้การทวงถามทางโทรศัพท์ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาได้หากต้องมีการฟ้องร้องกันเพราะไม่มีหลักฐานการติดตามเรื่องที่เป็นลายลักษณ์อักษรเลย แม้จะเป็นคนรู้จักมักจี่แค่ไหนก็ควรทำ เธอจึงทำจดหมายขึ้นมาเพื่อเรียกให้ผู้รับเหมามาดำเนินการซ่อมบ้านให้ครบตามสัญญา ซึ่งเหลือไม่มากแล้วไม่นาน หลังได้รับจดหมาย ผู้รับเหมาได้ทยอยเข้าซ่อมแซมงานที่คั่งค้างอยู่จนลุล่วง แม้จะล่าช้าไปบ้าง แต่เมื่อได้กลับเข้าอยู่อาศัยในบ้านแล้ว ผู้ร้องเรียนก็คลายใจ ไม่ติดใจเอาเรื่องเอาความอีกแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 จะผ่อนคอนโดที่ยังไม่สร้างต่อดีไหม

คุณจันทนาถามผ่านทาง www.consumerthai.org ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมาว่า“ไปซื้อคอนโด Parc Exo ของ บ .อั่งเปา เครือณุศาศิริ เมื่อประมาณปีครึ่งที่ผ่านมา โดยโครงการประกาศว่าจะเริ่มก่อสร้าง พ.ย. 53 – มิ.ย. 55 ปัจจุบันโครงการเพียงแค่ลงเสาเข็มยังไม่ดำเนินการต่อ เนื่องจากบอกว่าติด EIA โดยทางผู้ซื้อหลายรายได้สอบถามไปทางโครงการฯ ว่าจะสร้างหรือไม่ เพื่อความมั่นใจ ทางโครงการฯ จะตอบว่าสร้างเสร็จทันแน่นอน โดยทางผู้ซื้อรวมตัวกันเพื่อจะหยุดการผ่อนชำระเนื่องจากความไม่แน่ใจ“ทางโครงการฯ แจ้งว่าถ้าหยุดผ่อนจะไม่คืนเงินให้ ไม่ทราบว่าทางกลุ่มผู้ซื้อจะทำอะไรได้บ้างคะ จะหยุดผ่อนชำระได้หรือไม่คะ โดยในสัญญาไม่ได้ระบุว่าหยุดผ่อนกี่งวดถึงจะไม่คืนเงิน” แนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาจำพวกจะซื้อจะขายบ้านหรือคอนโดมีเนียมที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง  เป็นลักษณะสัญญาต่างตอบแทนกันและกันระหว่างฝ่ายซื้อคือผู้บริโภคกับฝ่ายขายคือผู้ประกอบธุรกิจ ฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจสัญญาว่าจะสร้างบ้านหรือห้องชุดบนที่ดินที่จัดสรรให้ ส่วนฝ่ายผู้บริโภคก็ให้สัญญาว่าจะจ่ายเงินชำระเป็นงวด ๆ แต่เมื่อฝ่ายที่จะสร้างกลับไม่สร้าง ล่าช้าเลยเถิดไปเรื่อยโดยที่ไม่ใช่ความผิดของฝ่ายผู้ซื้อ ประเมินสถานการณ์แล้วไม่น่าที่จะเสร็จได้ทันตามกำหนดเวลาที่ได้กำหนดกันไว้เป็นสัญญา และหากขืนจ่ายชำระค่างวดกันต่อไปจะทำให้ฝั่งผู้บริโภคได้รับความเสียหายเพิ่มมากขึ้น หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ กฎหมายให้สิทธิแก่ฝั่งผู้บริโภคในการบอกเลิกสัญญาได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งค่างวดในส่วนที่เหลือเพื่อรอคอยให้ถึงเวลากำหนดส่งมอบบ้านหรือคอนโดนั้น และยังมีสิทธิเรียกเงินที่ได้ชำระไปก่อนหน้านั้นคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 อีกด้วยดังนั้นหากผู้บริโภคจะหยุดชำระและบอกเลิกสัญญาขอเงินคืน ควรทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการว่าจะหยุดชำระค่างวด เพราะบริษัทไม่ดำเนินการก่อสร้างให้ทันได้ตามกำหนดที่ตกลงกันไว้ พร้อมทั้งขอเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย และหากมีความเสียหายอื่นอีกก็สามารถเรียกร้องเพิ่มเติมได้เช่นกัน ที่สำคัญ เมื่อเจอสถานการณ์เช่นนี้ ผู้บริโภคไม่ควรเจรจาทางวาจาอย่างเดียว   เพราะจะกลายเป็นว่าไม่เคยมีการเจรจากันมาก่อนเนื่องจากไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาได้เมื่อไม่ชำระค่างวดและจะถูกริบเงินที่ได้ชำระไปทั้งหมดได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 ใครกันแน่ที่เป็นคนผิดสัญญา

ปัญหาเรื่องว่าจ้างสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเองหรือที่ดินในโครงการบ้านจัดสรร สิ่งที่ผู้บริโภคมักโดนกันบ่อยๆ คือ การถูกกล่าวหาจากบริษัทรับจ้างสร้างบ้านว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาและถูกริบเงินจองเงินมัดจำไป แต่ขอบอก...ปัญหาแบบนี้มีทางแก้ง่ายมาก ไม่อ่านเรื่องนี้เสียใจแน่ คุณอิศราได้ทำสัญญาจองสร้างบ้านกับบริษัทเพอร์เฟค บิลเดอร์ 2001 จำกัด โดยเซลล์ให้ข้อเสนอพิเศษเป็นส่วนลด 3% จากราคาบ้านตั้งแต่ 2 ล้านถึง 5 ล้าน แถมเดินท่อ PE และมีบริการกำจัดปลวกรับประกัน 3 ปี โดยต้องวางเงินจอง 50,000 บาทในวันทำสัญญา พร้อมกับชักชวนเพื่อนไปจองเพิ่มอีก 2 ราย ซึ่งก่อนวันทำสัญญาจองเซลล์ได้นำแบบบ้านคร่าวๆ มาให้ดู แต่จะต้องมีการเลือกแบบแปลนบ้านโดยละเอียดกันอีกครั้งคุณอิศราก็เหมือนผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ใส่ใจในรายละเอียดของสัญญาที่มีมากมายหลายหน้า แถมตัวหนังสือก็เล็กเสียจนมดตัวน้อยๆ ยังเดินแทรกไม่ได้ จึงทำให้ไม่รู้ว่าสัญญาที่ทำไปนั้นมีกับดักกินเงินจอง 50,000 บาทวางไว้อยู่ระหว่างที่ดูแบบแปลนบ้านอยู่นั้น ก็ใช้เวลาพอสมควร จนผ่านไป 2 เดือน คุณอิศราก็ได้รับการติดต่อจากบริษัทฯให้เข้าไปพูดคุยกัน โดยแจ้งว่าเซลล์ได้ลาออกแล้ว และไม่สามารถให้ส่วนลด 3% ได้ เนื่องจากคุณอิศราผิดสัญญาการจองสร้างบ้าน งง...บอกได้คำเดียวว่า งง นี่ฉันผิดสัญญาได้ไง บริษัทฯ จึงงัดข้อความในสัญญาขึ้นมาอ่านให้ฟังว่า “ผู้จองต้องทำการสรุปแบบและเข้าทำสัญญาจ้างกับบริษัทฯ ภายใน 30 วัน นับแต่วันจอง” กับอีกข้อบอกว่า“หากผู้จองได้วางเงินจองแล้ว แต่ไม่มีความประสงค์ที่จะทำสัญญาก่อสร้างบ้านกับบริษัทฯ ภายใน 30 วัน ผู้จองทราบดีว่า จะได้รับเพียงเอกสาร(ประกอบการขอจอง)จากทางบริษัทฯ เท่านั้น” สรุปง่ายๆ คือ สัญญาบังคับให้ผู้จองต้องรีบสรุปแบบและเข้าทำสัญญาภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนดไปก็จะได้รับแต่เอกสารกลับบ้าน ส่วนเงินจอง 50,000 บาทโครงการขอริบเข้ากระเป๋า “สัญญาแบบนี้เป็นสัญญาไม่เป็นธรรม แบบแปลนบ้านยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จะให้เข้าไปเซ็นสัญญาได้ไง” คุณอิศราโวย หลังจากนั้นจึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอคืนเงินจอง ซึ่งบริษัทฯ ตกลงที่จะคืนเงินจองให้ แต่แจ้งว่าต้องมีการหักค่าใช้จ่ายบางส่วนออกไปเนื่องจากการทำงานและค่าภาษี เหลือเงินที่ต้องคืน 41,728 บาท และได้ออกเช็คให้ คุณอิศราใจเด็ด บอกไม่รับเงื่อนไขการคืนเงินแบบนี้ ต้องการให้บริษัทฯ คืนเต็มจำนวน 50,000 บาทเท่านั้น เพราะเพื่อนทั้งสองคนที่บอกเลิกสัญญาเหมือนกันก็ได้รับคืนเงินเต็มจำนวน จึงไม่เข้าใจว่าทำไมบริษัทฯ จึงมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเฉพาะตนเท่านั้นเมื่อคุยตกลงกันไม่ได้คุณอิศราจึงนำเรื่องมาร้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา หัวใจของการแก้ปัญหาลักษณะนี้อยู่ที่การชิงทำหนังสือบอกเลิกสัญญา ใครทำก่อนย่อมได้เปรียบนิดๆเมื่อผู้บริโภคมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปแล้ว และบริษัทยอมคืนเงินให้แต่ขอกั๊กไว้ส่วนหนึ่งอ้างว่า มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเป็นค่าภาษีกับค่าจ้างเหมา มูลนิธิฯ ก็อยากจะรู้ว่าเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน จึงได้มีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท เพอร์เฟค บิวเดอร์ฯ เชิญร่วมประชุมเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ย หากบริษัทฯ มีค่าเสียหายเกิดขึ้นจริงก็จะได้ช่วยคุยให้ผู้บริโภคได้เข้าใจ แต่ความปรารถนาดีของมูลนิธิฯ ถูกบริษัทฯ ตอบปฏิเสธ โดยแจ้งถึงเงื่อนไขข้อสัญญาต่างๆ และกล่าวหาว่าผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่เร่งไม่รีบดูแบบแปลนบ้านให้เรียบร้อยภายใน 30 วัน บริษัทฯ ได้พยายามติดต่อผู้บริโภคไปหลายครั้ง แต่ติดต่อไม่ได้ จนเวลาล่วงมาได้ 2-3 เดือนถึงสามารถติดต่อได้ บริษัทฯ มีสิทธิริบเงินมัดจำได้เต็มสิทธิของกฎหมาย คำตอบแข็งทื่อมาแบบนี้ มูลนิธิฯ ก็จำเป็นต้องเตรียมจัดหนักเพื่อฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคทันที แต่ในระหว่างนั้นก็พยายามเจรจากับบริษัทฯ บอกว่าเหตุที่ล่าช้าไม่ได้เป็นเพราะความบกพร่องของผู้บริโภค แต่เป็นเพราะความล่าช้าของบริษัทเองที่ไม่แก้แบบแปลนบ้านให้สมบูรณ์เรียบร้อยทันเวลาให้บริษัทตรวจสอบและกลับไปพิจารณาให้ถ้วนถี่อีกครั้ง ส่วนคุณอิศรา เธอก็สุดยอดมาก เธอรู้จักกับเจ้าหน้าที่สรรพากร จึงขอให้ตรวจสอบว่า บริษัทฯ นี้มีการเสียภาษีเงินจองบ้านกันหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มี และกรรมการผู้จัดการได้ถูกสรรพากรเรียกเข้าไปพูดคุยแล้ว เมื่อโดนบีบหลายทางเข้า และคงได้คิดว่าจะหวงทำไมกับเงินแค่ 8,000 กว่าบาท แล้วจะพาให้เสียหายไปมากขึ้น ท้ายสุดจึงยอมคายเงินจองให้ผู้บริโภคครบทั้ง 5 หมื่นบาท “ตลอดเวลาที่เกิดข้อขัดแย้งระหว่างดิฉันกับบริษัทฯ มูลนิธิฯได้ช่วยประสานทำความเข้าใจและให้ความช่วยเหลือดิฉันเป็นอย่างดียิ่ง ดิฉันจึงขอขอบคุณมูลนิธิฯ เป็นอย่างสูงในความอนุเคราะห์ครั้งนี้ ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิทั้งหลายในสากลโลก ได้โปรดดลบันดาลประทานพรให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิทุกท่านประสบแต่ความสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผลในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ และขอให้มูลนิธิเป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งของผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมตลอดไป” เมื่อได้อ่านคำอวยพรนี้กันถ้วนหน้า บรรดาเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ในส่วนศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ต่างพากันก้มกราบรับพรด้วยความซาบซึ้งตื้นตัน พร้อมตั้งปณิธานไว้ในใจว่าสักวัน(บางคนขอเน้นวันที่ 1 กับวันที่ 16)  ขอให้สมปรารถนากับเขาบ้างสักครั้ง สาธุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 เขียนจดหมายสองฉบับ ช่วยสร้างบ้านให้เสร็จได้

“เหนือกว่า...ด้วยประสบการณ์”สโลแกนรับจ้างสร้างบ้านของซีคอนโฮมที่ดำเนินการโดยบริษัท ซีคอน จำกัด น่าจะสร้างความประทับใจให้กับคนอยากมีบ้านหลังงามบนที่ดินของตัวเองหลายคน และสองแม่ลูกอย่างคุณชไมพรและคุณแม่เพียงพร ก็น่าจะรวมอยู่ในคนจำนวนนั้นด้วย ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2551 คุณชไมพรพร้อมคุณแม่ได้ไปทำสัญญารับเหมาก่อสร้างบ้านกับบริษัท ซีคอน จำกัด ให้สร้างบ้านหนึ่งหลังบนที่ดินของตัวเองเนื้อที่ 52 ตารางวาเศษ โดยซีคอนตกลงจะก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน คิดค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าแรง รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เบ็ดเสร็จแล้วอยู่ที่ 5.1 ล้านบาทเศษๆสองแม่ลูกต้องวางเงินในวันทำสัญญาจำนวน 7 แสนบาทเศษ ส่วนที่เหลืออีก 4.3 ล้านบาท สัญญากันว่าจะแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ อีก 6 งวดตามความก้าวหน้าของเนื้องานก่อสร้าง และหากบริษัทฯ ทำงานไม่แล้วเสร็จตามกำหนดโดยที่มิใช่ความบกพร่องของผู้ว่าจ้าง หรือเหตุสุดวิสัย บริษัทฯ ยินยอมให้ปรับได้วันละ 1 พันบาทเศษต่อมาผู้รับเหมาก่อสร้างของบริษัทฯ ได้ทำการสร้างบ้าน และมีการชำระเงินตามงวดสัญญาเรื่อยมา แม้บางช่วงจะเจอปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน แต่บริษัทซีคอนก็ได้จัดหาผู้รับเหมารายใหม่มาดำเนินการแก้ไขและสร้างบ้านต่อไปได้ ต่อมาคุณชไมพรเริ่มพบปัญหาการก่อสร้างเกิดขึ้นในหลายๆ จุด ทั้งงานโครงสร้าง งานผนัง งานสี งานไม้ ที่มีรอยแยก รอยแตก รอยปูด รอยบวม เห็นแล้วให้กลุ้มใจ จึงต้องแจ้งให้บริษัททราบและให้ผู้รับเหมาแก้ไข ในขณะที่ผู้รับเหมาทำบ้านไปซ่อมไปนั้น บริษัทฯ ก็ร้องขอให้คุณแม่ของคุณชไมพรชำระค่างวดตามสัญญาเรื่อยมาจนถึงงวดที่ 6 งวดสุดท้าย คุณแม่ของคุณชไมพรก็เห็นใจผู้รับเหมาที่ต้องได้เงินไปจ่ายลูกน้อง จึงชำระเงินงวดที่ 6 แล้วเซ็นชื่อรับงานให้ไป โดยยังมีเงินค่างวดค้างอยู่อีก 26,900 บาท กะว่าจะจ่ายเมื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่แจ้งไปก่อนหน้านั้นให้เรียบร้อย ซึ่งต่อมาได้มีหนังสือมาจากบริษัทฯ แจ้งว่าแม้พ้นระยะเวลาการมอบบ้านไปแล้ว บริษัทฯ ยังยินดีที่จะแก้ไขงานให้เป็นกรณีพิเศษ แต่ปรากฏว่าแทนที่จะมีการแก้ไขงานให้เรียบร้อยกลับถูกบริษัทฯ ยื่นจดหมายทวงเงินที่ค้าง หากไม่จ่ายจะส่งเรื่องให้กฎหมายดำเนินการต่อไปพอคุณชไมพรได้รับจดหมายดังกล่าวก็ตกใจ รีบเดินทางมาปรึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทันที แนวทางแก้ไขปัญหาการว่าจ้างก่อสร้างบ้าน มักจะทำสัญญาแบ่งจ่ายเงินกันเป็นงวดๆ โดยใช้ความคืบหน้าของงานเป็นตัววัดผลว่าจะต้องจ่ายงวดต่อไปหรือไม่ ดังนั้นผู้ว่าจ้างจึงต้องติดตามความคืบหน้าของงานตามงวดสัญญาอย่างละเอียด หากพบว่างานส่วนไหนไม่เรียบร้อยจะต้องแจ้งรายละเอียดของปัญหาให้ผู้รับเหมาทราบและแก้ไขทันที โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น เอกสารนี้จะใช้เป็นหลักฐานคุ้มครองผู้ว่าจ้างในกรณีที่ไม่ชำระเงินค่างวด และทำให้ผู้รับเหมาต้องดำเนินการก่อสร้างให้เรียบร้อยตามสัญญาเพื่อจะได้รับเงินค่างวดตามสัญญาต่อไปแม้คุณแม่คุณชไมพรจะเซ็นรับงานและชำระเงินงวดสุดท้ายไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่เมื่องานยังไม่เรียบร้อยและยังมีหนังสือจากบริษัทฯ รับรองว่าจะแก้ไขงานให้เป็นกรณีพิเศษ เราจึงแนะนำให้คุณชไมพรทำหนังสือทักท้วงแจ้งไปที่บริษัทฯ เพื่อขอให้มาแก้ไขงานให้เรียบร้อยก่อนที่จะชำระเงินที่เหลือกันหลังได้รับคำแนะนำคุณชไมพรจึงได้ทำหนังสือทักท้วงทวงถามงานแก้ไขส่งไปที่บริษัทฯ ทันที ไม่นานเราก็ได้รับข่าวดีแจ้งจากคุณชไมพรว่า “วันนี้ผู้คุมงานมาพร้อมช่างเพื่อเก็บงานต่อค่ะ และบอกว่าจะมาอีกในวันอังคารหน้า คำแนะนำและร่างจดหมายฉบับนี้และฉบับก่อนหน้า ช่วยปกป้องสิทธิผู้บริโภคได้มากเลยค่ะ ขอบพระคุณมากๆ ค่ะ”ถามว่า ถ้าไม่มีการส่งจดหมายทักท้วงเอาแต่โวยวายกันทางโทรศัพท์ ใส่ด้วยอารมณ์ล้วนๆ ก็จะเข้าทางผู้รับเหมาทันทีว่า บ้านนั้นสร้างเสร็จเรียบร้อยได้มาตรฐานดีแล้วเพราะคุณชไมพรและคุณแม่ไม่ได้เขียนตอบจดหมายทักท้วงกลับมา กลายเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ อย่างนี้บ้านก็ไม่ได้ซ่อม ตัวเองก็ถูกฟ้อง และเงินก็ต้องจ่ายเต็มๆในท้ายที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 คอนโดโครงการไม่ขึ้น ยังต้องผ่อนต่อหรือไม่

คุณอรรถวิทย์ ได้โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551 ได้ทำสัญญาจองห้องชุดกับโครงการบางกอกคานส์ คอนโดมิเนียม ของบริษัท คอนคอร์ด พร็อพเพอร์ตีส์ กรุ๊ป(ประเทศไทย) จำกัด ห้องชุดที่จะซื้อจากโครงการนี้ ราคาตกที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท ผู้ที่จะเข้าจองต้องชำระเงินจองในวันทำสัญญา 5,000 บาท คุณอรรถวิทย์เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดที่ต้องการในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 พร้อมชำระเงินก้อนแรก 7 หมื่นบาทเศษ และต้องผ่อนเงินดาวน์ไปอีก 30 งวดๆละ 7,600 บาท คุณอรรถวิทย์ผ่อนไปได้ 15 งวด ก็ไม่เห็นว่าโครงการจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างกันสักที เห็นท่าไม่ดีคุณอรรถวิทย์จึงได้ทำหนังสือแจ้งระงับการผ่อนชำระงวดที่ 16 ในเดือนพฤษภาคม 2552 หลังจากนั้นก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าบริษัทจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ คุณอรรถวิทย์จึงได้ทำหนังสือยืนยันปฏิเสธการชำระค่างวดเงินดาวน์ที่เหลือทั้งหมดในเดือนกันยายน 2552 จนถึงปลายปี 2553 โครงการก็ยังไม่มีความคืบหน้า จึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยเหลือติดตามเงินที่ได้ชำระไปทั้งหมดแนวทางแก้ไขปัญหา เราได้ติดต่อสอบถามไปที่พนักงานขายของโครงการบางกอกคานส์ ทราบความว่า การที่โครงการไม่สามารถก่อสร้างเพิ่มเติมได้ เนื่องจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินมีปัญหา และการขอก่อสร้างยังไม่ได้รับอนุญาต โครงการฯ จึงติดขัดไม่สามารถดำเนินการต่อได้ และการคืนเงินให้กับผู้บริโภคนั้น บริษัทฯ กำลังดำเนินการอยู่ แต่อยู่ระหว่างการขออนุมัติเงินจากสำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกง กรณีที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดหรือบ้านจัดสรรไปแล้วและต้องรับภาระจ่ายค่างวดเงินดาวน์ หากผู้บริโภคพบวี่แววว่าการจ่ายค่างวดต่อไปในขณะที่โครงการฯ ไม่มีวี่แววว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จได้ทันตามสัญญา ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิบอกกล่าวระงับการจ่ายเงินค่างวดได้ทันที โดยให้ทำเป็นจดหมายบอกกล่าวเหมือนอย่างที่คุณอรรถวิทย์ได้แจ้งให้กับบริษัทโครงการคอนโดรับทราบ ไม่ใช่ไปหยุดจ่ายค่างวดเอาเฉยๆ อย่างนั้นจะกลายเป็นผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาและถูกฟ้องได้ เมื่อทำจดหมายระงับการจ่ายค่างวดไปแล้ว และยังพบต่อมาว่าโครงการไม่เดินหน้าต่อไปได้อีก การเรียกจะเงินที่ได้จ่ายไปคืนนั้น ก็ให้ทำจดหมายขึ้นอีกหนึ่งฉบับ คราวนี้เป็นจดหมายบอกเลิกสัญญาขอเงินคืน ส่งเป็นจดหมายไปรษณีย์ตอบรับถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทโดยตรง เท่านี้ฝั่งผู้บริโภคก็จะมีหลักฐานปกป้องตัวเองได้อย่างครบถ้วน การทำจดหมายที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้คุณอรรถวิทย์ได้รับเงินที่ได้ชำระไปทั้งหมดจากบริษัทฯ ในเวลาต่อมาโดยไม่จำเป็นต้องใช้ทนายความฟ้องเป็นคดี ใครที่เจอกปัญหาลักษณะเดียววันนี้ นำวิธีนี้ไปใช้โดยด่วน หากปล่อยไว้จะกลายเป็นว่าเราเป็นฝ่ายยอมให้เขาก่อสร้างล่าช้าเสียเอง จะทำให้เสียสิทธิในการเรียกค่าเสียหายเอาได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 สำรวจบริษัทยักษ์ใหญ่ ให้รู้กันไปว่าใครแอ๊บเขียว

ฤดูการมอบรางวัลกลับมาอีกครั้ง บาฟต้าก็แจกกันไปแล้ว ออสการ์ก็ประกาศไปแล้ว องค์กรผู้บริโภคก็ไม่อยากตกเทรนด์ ขอประกาศรางวัลให้กับบริษัทที่ ”แสดงบทบาท” เป็นผู้ประกอบการรักโลกได้ยอดเยี่ยมที่สุดกับเขาด้วย หลายปีมานี้กระแสห่วงใยสิ่งแวดล้อมมาแรง เมื่อผู้บริโภคตระหนักถึงความรับผิดชอบที่จะเลือกซื้อ เลือกใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ธุรกิจต่างๆ ก็หันมาให้ความใส่ใจในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการของตนด้วยเช่นกัน เรื่องนี้เป็นสถานการณ์ที่มีแต่ได้กับได้ อย่างไม่ต้องสงสัย แต่เราก็สงสัย... ว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าไม่ใช่แค่คำอวดอ้างหรือการสร้างภาพเพื่อเพิ่มยอดขายให้กับตนเองสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ได้ทำการสำรวจความเห็นจากสมาชิกซึ่งเป็นองค์กรเพื่อผู้บริโภคจาก 225 ประเทศต่างๆ ทั่วโลก (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็เป็นหนึ่งในสมาชิกด้วย) ว่าจะโหวตให้ใครได้รางวัล “แอ๊บเขียว” ยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2552 และผู้ประกอบการที่สมควรได้รับรางวัลดังกล่าว ได้แก่ ... (กลองรัว)-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------แอ๊บเขียว แล้วไง?นี่คืออีกระดับของการหลอกลวงผู้บริโภคซึ่งมีเจตนาจะเลือกบริโภคอย่างรับผิดชอบ เป็นการละเมิดสิทธิในการรับรู้ข่าวสารหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสินค้าหรือบริการที่ตนเองบริโภค นอกจากจะขัดขวางเป้าหมายในการสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว มันยังทำลายความเชื่อถือของผู้บริโภคที่มีต่อบริษัทต่างๆ ด้วย ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ ค่ายรถยนต์ ออดี้ ได้รางวัลนี้ไปเป็นเจ้าแรก ด้วยการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่ารถรุ่น AUDI A3 TDI เครื่องยนต์ดีเซล ของตนเองนั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพอๆ กับการปั่นจักรยานหรือการโดยสารรถประจำทางยังไงยังงั้น โฆษณาของออดี้ ที่ฉายในโทรทัศน์ในอเมริกาและในอินเตอร์เน็ตพยายามจะสื่อว่ารถออดี้รุ่นดังกล่าวสามารถใช้เชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิ่งได้ถึง 42 ไมล์ต่อแกลลอน และยังปล่อยมลพิษออกมาน้อยกว่ารุ่นที่เป็นเบนซินด้วย แต่ที่ไม่ได้บอกไว้ในโฆษณาคือนาทีนี้บรรดารถประหยัดพลังงานหรือ “รถเขียว” เจ้าอื่นๆ สามารถวิ่งได้มากกว่า 50 ไมล์ต่อแกลลอนด้วยซ้ำ และแม้รถดีเซลรุ่นนี้จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่ารถรุ่นที่ใช้เบนซินถึงร้อยละ 25 แต่อีกร้อยละ 75 ก็ยังถูกปล่อยออกมาอยู่ดี มันคงไม่มีทางเหมือนการปั่นจักรยานไปได้ บริษัทน้ำมัน บีพี รับรางวัลนี้ไปเพราะพฤติกรรมไม่สอดคล้องกับการแถลงข่าว บีพีบอกว่าจะลงทุนกับการผลิตพลังงานทดแทน ถึงขั้นบอกกับสังคมว่า BP ชื่อของบริษัทนั้นหมายถึง Beyond Petroleum นั่นเอง บีพีเคยปลูกป่าในสก็อตแลนด์และประกาศว่าจะลงทุนไม่ต่ำกว่า 2.3 ล้านเหรียญในการปลูกต้นไม้ที่ออสเตรเลียเพื่อชดเชยการทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ แต่เดี๋ยวก่อน สิ่งที่ไม่ได้เป็นข่าวครึกโครมเท่าคือบริษัทได้ยกเลิกการลงทุนในโครงการผลิตพลังงานลมในประเทศอังกฤษและอินเดีย รวมถึงโครงการพลังงานทดแทนอื่นๆ เช่นพลังงานแสงอาทิตย์ในสเปนและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ให้งบประมาณในการลงทุนสกัดน้ำมันจากทรายน้ำมันในแคนาดาไว้ถึง 5,800 ล้านเหรียญ  บีพีประกาศไว้เมื่อ 5 ปีก่อนว่าจะลงทุนปีละ 1,500 ล้านเหรียญเพื่อการพัฒนาพลังงานทางเลือก (บริษัทได้นับรวมก๊าซธรรมชาติไว้ในกลุ่มนั้นด้วย) แต่เมื่อปีที่ผ่านมาก็ประกาศลดงบประมาณดังกล่าวลงเหลือระหว่าง 500 ถึง 1,000 ล้านเหรียญเท่านั้น  สายการบินราคาประหยัด อีซี่เจ็ทมาดูสายการบินแอ๊บเขียวกันบ้าง เราพอรู้ๆ กันอยู่ว่าธุรกิจสายการบินนั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ยาก แต่อีซี่เจ็ทยังยืนยันว่าการบินกับอีซี่เจ็ทนั้นทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการขับรถโตโยต้า พรีอุส โฆษณาดังกล่าวอ้างข้อมูลว่าผู้โดยสารหนึ่งของสายการบินจะทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอน 95.7 กรัม ต่อ การเดินทาง 1 กิโลเมตร ในขณะที่ผู้ที่ขับขี่พรีอุสจะทำให้เกิดคาร์บอนถึง 104 กรัมในระยะทางเท่ากัน (แต่ในการคำนวณนั้นสายการบินคิดเฉลี่ยจากจำนวนที่นั่งทั้งหมดบนเครื่อง ในขณะที่มีผู้โดยสารเพียงหนึ่งคนในรถพรีอุส) นอกจากนี้ยังบอกว่าเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ของตนเองปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าสายการบินเจ้าอื่นๆ ถึงร้อยละ 30 เมื่อคิดเป็นปริมาณคาร์บอนต่อผู้โดยสารหนึ่งคน ซึ่งความจริงแล้วเครื่องบินใหม่ที่ว่านั้นสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่าเดิมเลยทำให้มีตัวหารมากขึ้น ค่าคาร์บอนจึงน้อยลงนั่นเอง โฆษณาดังกล่าว ขณะนี้โดนองค์การมาตรฐานโฆษณาสั่งให้ถอนไปเรียบร้อยแล้ว  วินโดวส์ 7 เกือบพลาดรางวัลนี้ไปเหมือนกันสำหรับซอฟท์แวร์สีเขียวที่ช่วยลดรอยเท้าคาร์บอน เพราะมันทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าซอฟท์แวร์รุ่นก่อนๆฅ แต่ก็ยังได้ไปเพราะคำแนะนำที่บอกว่าควรซื้อคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่มาใช้ด้วย เพื่อให้ซอฟท์แวร์ดังกล่าวสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ความจริงแล้วกระบวนการผลิตและย่อยสลายคอมพิวเตอร์นั้นทำให้เกิดรอยเท้าคาร์บอนมากกว่าการใช้งานตัวมันหลายเท่า  แทนที่จะได้ใช้เครื่องเดิมต่อไปได้อีกหลายปี กลับต้องมาซื้อเครื่องใหม่เพื่อใช้วินโดวส์ 7 คำถามคือทำไมบริษัทถึงไม่สร้างซอฟท์แวร์ที่สามารถใช้กับเครื่องเดิมได้เลย หรือทำให้มัน “เขียว” ขึ้นด้วยการอัพเกรด สิ่งที่ผู้บริโภคพึงรู้คือการใช้คอมพิวเตอร์จนกระทั่งมันหมดอายุขัยไปจริงๆ คือทางออกที่ “เขียวกว่า” ที่สำคัญกว่านั้นคือไม่ต้องเสียเงินเพิ่มด้วย  องค์กรปริศนา “CO2 is Green” รายนี้เขาแปลกจริงๆ จะไม่ให้รางวัลไปก็กระไรอยู่ องค์กร “CO2 is Green” หรือ “คาร์บอนไดออกไซด์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลในสหรัฐ ซึ่งกำลังพยายามทำให้เราเชื่อว่าการเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศนั้นเป็นเรื่องดีต่อสิ่งแวดล้อม ถึงขั้นทำโฆษณาทางโทรทัศน์ความยาวครึ่งนาทีเพื่อบอกกับผู้ชมว่ายังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารพิษหรือสารที่ก่อมลภาวะ  แถมยังบอกด้วยว่าถ้ามีคาร์บอนไดออกไซด์มากๆ จะเป็นผลดีต่อระบบนิเวศน์ของโลก นอกจากนี้ยังรณรงค์ให้อเมริกันชนช่วยกันเรียกร้องให้วุฒิสมาชิกจากรัฐของตน ออกเสียงคัดค้านการออกกฎหมายที่จะจัดคาร์บอนไดออกไซด์ว่าเป็นมลพิษอีกต่างหาก โอ ... ช่างทำไปได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 103 กระแสต่างแดน

“สร้างภาพ” ได้ ไม่ถือว่าหลอกกันองค์กรเฝ้าระวังโฆษณาของอังกฤษออกมายืนยันว่าจะไม่สั่งห้ามการใช้เทคนิค “สร้างภาพ” ให้บุคคลที่ปรากฏตัวบนหน้านิตยสารดูดีเกินจริง กลุ่มเสรีนิยมประชาธิปไตยได้ออกมาเรียกร้องให้มีการห้ามใช้เทคนิคต่างๆ ในการตกแต่งรูปภาพของบรรดาคนดัง หรือนางแบบนายแบบที่ปรากฏบนหน้านิตยสาร เพราะมันทำให้เด็กๆ เกิดความกังวลในเรื่องรูปร่างหน้าตาของตนเอง และขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้โฆษณาสำหรับผู้ใหญ่นั้น มีคำเตือนทำนอง “ภาพนี้ผ่านการตกแต่งด้วยเทคนิค” อยู่ด้วย กลุ่มดังกล่าวบอกว่าการตกแต่งหรือเปลี่ยนแปลงภาพเพื่อทำให้คนดูดีขึ้นนั้น มันหมายถึงการที่สังคมคาดหวังใน “ภาพลักษณ์ที่เป็นไปไม่ได้” และเทคนิคการลบไฝ ฝ้า หรือรอยย่นบนใบหน้านั้นอาจจะทำให้บรรดาเด็กผู้หญิงเสียความมั่นใจในตนเอง ในขณะที่ภาพสาวๆ ที่ผอมเกินเหตุก็อาจทำให้เด็กๆ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางการกินมากขึ้นด้วย ดาราหลายคนก็เคยออกมาพูดถึงการใช้เทคนิคเหล่านี้ เคท วินสเล็ท ไม่พอใจที่นิตยสาร GQ ทำให้เธอขายาวขึ้นและผอมเกินจริงในรูปที่ขึ้นปก ในขณะที่นักร้องสาว เคลลี่ คล้ากสัน ก็เคยถูก “ลดไซส์” บนปกของนิตยสารอเมริกันฉบับหนึ่งมาแล้วเช่นกัน แม้แต่คีร่า ไนท์ลี่ย์ นางเอกจากเรื่องคิงอาเธอร์ ก็เคยพูดถึงหน้าอกที่ดูเหมือนเป็นของเธอในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวนั้น “ไม่ใช่ของชั้นแน่ๆ” โฆษกขององค์กรที่ควบคุมดูแลเรื่องมาตรฐานการโฆษณา (ซึ่งตั้งขึ้นโดยอุตสาหกรรมการโฆษณา) บอกว่า ไม่จำเป็นต้องไปห้ามกันให้วุ่นวายเพราะปีที่แล้วมีเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเพียง 5 กรณีเท่านั้นที่สำคัญเขาบอกว่า ใครๆ ก็รู้อยู่แล้ว(จริงหรือ?) ว่าภาพโฆษณาเหล่านี้มีการใช้เทคนิคช่วยทั้งนั้น ใครมีรถเก่า เอามาขาย หนึ่งในแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเยอรมนีได้แก่ การประกาศรับซื้อรถเก่า (กว่า 9 ปี) ในราคาคันละ 2,500 ยูโร (ประมาณ 124,000 บาท) กระทรวงการคลังของเยอรมนีบอกว่านี่คือแผนการกระตุ้นให้ผู้คนตัดสินใจลงทุนซื้อรถใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงมากขึ้นมาใช้แทนคันเก่า ส่วนเจ้ารถเก่าที่ว่านั้นก็ไม่ได้เอาไปจอดที่เต็นท์ไหนแต่จะถูกเอาไปเข้าเครื่องบดให้เป็นเศษเหล็กนั่นเอง ผู้คนให้ความสนใจโครงการนี้กันล้นหลาม งบที่เตรียมไว้(ประมาณ 2,600 ล้านยูโรหรือ 129,000 ล้านบาท) ก็ถูกใช้หมดไปภายในวันเดียว แถมยังมีคนมาลงชื่อต่อคิวไว้ล่วงหน้าอีก 15,000 คนด้วย แต่ไม่รู้ว่าแผนนี้ จะกระตุ้นเศรษฐกิจของเยอรมนีได้จริงหรือไม่ งานวิจัยจากสถาบัน Halle Economic Research Institute ระบุว่า 3 ใน 4 ของคนที่เอารถเก่ามาขายให้รัฐบาลในโครงการนี้ คือคนที่ตั้งใจจะซื้อรถใหม่อยู่แล้วแม้จะไม่ได้เงินช่วยเหลือจากรัฐก็ตาม ซึ่งหมายความว่าในจำนวนรถที่คาดว่าขายได้ 2 ล้านคันตามโครงการเอื้ออาทรที่ว่านี้ มีถึง 1.5 ล้านคันที่ยังไงๆ ก็ขายได้อยู่แล้ว เรื่องนี้รัฐบาลออกมาแก้ต่างว่า เจตนาของโครงการคือการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ปีหน้า ซึ่งเยอรมนีเตรียมงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ทั้งหมด 5,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 247,000 ล้านบาท ความสุขที่คุณตัดไม่ได้ประเทศภูฏานออกมาเตือนประชาชนเรื่องการตัดต้นไม้มาทำธงในการอธิษฐานให้กับผู้ล่วงลับ เพราะเหตุว่ามันจะไม่ดีต่อพื้นที่ป่าอันเขียวชอุ่มและ “ความสุขมวลรวม” ของประเทศ ชาวพุทธที่นี่นิยมปักธงเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตหรือเพื่ออุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับให้สามารถค้นพบทางไปสู่โลกหน้าได้ เชื่อกันว่ายิ่งปักมากยิ่งดี และที่สำคัญคือต้องใช้ธงใหม่ทุกครั้งด้วย ถ้าใครใช้ธงเก่าก็จะดูเหมือนไม่พยายามเท่าที่ควร ซึ่งก็หมายถึงว่าจะไม่ได้บุญไปด้วย คนภูฏานเชื่อว่า ลมจะพัดพาเอากระแสดีๆ จากสัญลักษณ์ตันตระที่เขียนอยู่บนธงสีเหลือง เขียว แดง ขาว และน้ำเงิน ซึ่งเป็นตัวแทนของธาตุทั้ง 5 ออกไป และจะต้องมีการปักธงทั้งหมด 108 ธง เมื่อมีคนเสียชีวิต รัฐบาลภูฏานต้องคิดหนักเพราะไม่สามารถชักชวนให้ประชาชนเปลี่ยนจากธงไม้มาใช้ธงเหล็กหรือธงรีไซเคิลได้ ในขณะที่รัฐธรรมนูญของภูฏานซึ่งให้ความสำคัญกับความสุขมวลรวมประชาชาติของประชากรซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 700,000 คนนั้นระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องมีพื้นที่ป่าไม้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ประเทศ ในระหว่างเดือนมิถุนายนปี 2007 ถึงมิถุนายน 2008 ภูฏานมีการตัดต้นไม้ 60,000 ต้น เพื่อนำมาใช้ในการทำธงดังกล่าว อยู่คุกกินอร่อยกว่าอยู่โรงพยาบาลนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอร์นมัธ ในอังกฤษ ได้ทำการสำรวจเปรียบเทียบคุณภาพของอาหารที่โรงพยาบาลของรัฐเตรียมให้ผู้ป่วยกับอาหารที่เรือนจำเตรียมให้กับนักโทษ ผลปรากฏว่าอาหารสำหรับนักโทษนั้นมีคุณภาพสูงกว่าอาหารสำหรับผู้ป่วย ทั้งนี้นักวิจัยเขาบอกว่าอาหารในเรือนจำ จัดว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการดีเยี่ยม เป็นอาหารที่ไม่เน้นไขมัน แถมยังใส่เกลือน้อยกว่าและไม่นิยมใช้วิธีการทอดหรือผัดด้วย ศาสตราจารย์ จอห์น เอ็ดเวิร์ดส์ หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยบอกว่าเรื่องนี้เรื่องใหญ่ ร้อยละ 40 ของคนไข้จะมีภาวะทุพโภชนาการเพราะอาการเจ็บป่วยทำให้คนไข้มีความอยากอาหารน้อยลง คนเหล่านี้จึงควรจะได้รับความใส่ใจเป็นพิเศษจากโรงพยาบาลในการกระตุ้นให้รับประทานอาหารดีๆ ให้มากขึ้น แต่ทีมวิจัยกลับพบว่าเวลาที่โรงพยาบาลของรัฐถูกตัดงบประมาณนั้น งบอาหารจะเป็นอย่างแรกที่ถูกตัด แต่ทั้งนี้โฆษกจากกรมสุขภาพของอังกฤษเขายืนยันว่า คนไข้ส่วนใหญ่ก็พอใจกับอาหารที่โรงพยาบาลจัดให้(เป็นไปได้ว่าคนไข้ยังไม่เคยรับประทานอาหารในเรือนจำ ... แต่ก็น่าจะไม่จำเป็นต้องเข้าไปลองนะ) น้ำหนักไม่ลด อดได้เงินคืน เดี๋ยวนี้คลินิกลดน้ำหนักในฮ่องกงหันมาชักชวนผู้บริโภคให้เข้ารับบริการด้วยข้อเสนอว่าพวกเขาจะได้บริการฟรี ถ้าสามารถลดความอ้วนได้จริงและช่วยเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับทางคลินิกด้วย แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิด ก่อนอื่นผู้ที่ประสงค์จะใช้บริการลดน้ำหนักกับทางคลินิกพวกนี้ต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนล่วงหน้าไปก่อน เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นว่าต้องการจะลดน้ำหนักจริงๆ และมีการทำสัญญาตั้งเป้าหมายการลดไว้ด้วย ถ้าพลาดเป้าไม่สามารถลดได้ตามที่แจ้งความจำนงไว้กับทางร้าน ลูกค้าก็จะไม่ได้เงินคืนหรือได้ส่วนลดตามที่เสนอไว้ในตอนแรก เช่น รายหนึ่งที่ร้องเรียนเข้ามาบอกว่าเธอต้องจ่ายเงิน 24,800 เหรียญฮ่องกง (ประมาณ 108,000 บาท) ต่อคอร์สลดน้ำหนักที่ใช้เวลา 2 เดือน และเธอจะได้เงินคืนถ้าสามารถลดน้ำหนักได้ 15 ปอนด์ (ประมาณ 7 กิโลกรัม) ภายในระยะเวลาดังกล่าว แต่เธอก็ไม่ได้เงินก้อนนั้นคืนมา เพราะไม่สามารถลดน้ำหนักได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ เรื่องนี้จัดการยากจริงๆ เพราะแม้จะมีการดูสัญญาโดยละเอียดแล้วก็ตาม แต่ในสัญญาก็ระบุไว้แล้วว่า การรักษาอาจไม่ประสบความสำเร็จเสมอไป ขึ้นอยู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารของผู้เข้ารับบริการ ทำให้เป็นการยากที่จะชี้ลงไปว่าความล้มเหลวในการลดน้ำหนักนั้นเป็นความผิดของใคร แต่ส่วนมากแล้วจะเป็นฝ่ายลูกค้า ปัจจุบันสภาผู้บริโภคของฮ่องกงมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคลินิกลดความอ้วนมากขึ้น แค่ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ก็มีกรณีร้องเรียนที่เกี่ยวกับเงื่อนไขคืนเงินที่ว่านี้กว่า 31 กรณี (มากกว่าปีที่แล้ว 7 เท่า) จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 86 เรื่องที่เกี่ยวกับบริการของคลินิกลดความอ้วน คำแนะนำที่ทางการฮ่องกงให้กับผู้บริโภคขณะนี้คือ ให้ระลึกไว้เสมอว่าใดๆ ในโลกล้วนไม่ฟรี

อ่านเพิ่มเติม >