ฉบับที่ 233 ‘สวนบำบัด’ เพื่อเด็กพิการและผู้สูงอายุ เมื่อดอกไม้หนึ่งดอกคือสวนทั้งสวน

        ‘สวนบำบัด’ ฟังครั้งแรกเลี่ยงไม่พ้นต้องนึกถึงสวนที่มีต้นไม้ร่มรื่น มีเนื้อที่กว้างขวางพอประมาณ ชวนให้คิดต่อไปว่าชุมชนเมืองน่าจะยากเย็นที่จะนำกิจกรรมนี้มาใช้บำบัดผู้พิการหรือผู้สูงอายุ        ทว่า มันอาจไม่ได้ยากอย่างที่คิด นพ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ บอกว่าแน่นอน ถ้ามีพื้นที่สวนย่อมเป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่มี เพียงต้นไม้กระถางเล็กๆ สักกระถาง ดอกไม้หนึ่งดอก ใบไม้หนึ่งใบ หรือแม้กระทั่งดินเหนียวสักก้อน เป็นสามารถใช้ทำกิจกรรมสวนบำบัดได้         สิ่งสำคัญคือตัวองค์ความรู้ด้านสวนบำบัดของผู้ทำกิจกรรม         และส่วนนี้เป็นงานที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการทำมานานแล้ว เพราะคงรอให้เกิดนักวิชาชีพสวนบำบัดไม่ได้ พ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงเด็กก็สามารถเป็นนักสวนบำบัดได้ ขอเพียงเติมความรู้เข้าไป         ในฐานะผู้บริโภค บริการสาธารธสุขจัดเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐต้องจัดหาให้ นพ.ประพจน์และเครือข่ายกำลังผลักดันให้กิจกรรมสวนบำบัดเข้าไปอยู่ในประกาศ ‘การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสําหรับคนพิการ พ.ศ.2552’ ของกระทรวงสาธารณสุข และหวังว่าสักวันหนึ่งในอนาคต ‘สวนบำบัด’ จะเป็นกิจกรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คุณหมอช่วยอธิบายหน่อยว่า ‘สวนบำบัด’ คืออะไร?         สวนบำบัดคือตัวความรู้และกิจกรรมที่เราจะใช้บำบัดผู้ป่วยโดยใช้สวน อันนี้เป็นความหมายพื้นฐาน แต่เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องใช้บำบัดผู้ป่วยเพียงอย่างเดียวอาจจะไปใช้ในเรื่องการพัฒนาเด็ก การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค หรือฟื้นฟูสมรรถภาพ และเพื่อนันทนาการก็ได้ อันนี้ก็มีความหมายที่กว้างขึ้น         แต่ถ้าในความหมายแคบ เริ่มแรกมันใช้ในการรักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะในอเมริกาเขาใช้ในการรักษาทหารผ่านศึกผู้ป่วยทางด้านจิตเวชเพราะเมื่อมาทำธรรมชาติบำบัดเกี่ยวกับพืชและสวน เขาจะรู้สึกผ่อนคลายและช่วยรักษาได้ แทนที่จะใช้ยาเพียงอย่างเดียว สำหรับประเทศไทยหน่วยงานแรกที่นำมาใช้ก็คือโรงพยาบาลศรีธัญญา เมื่อประมาณ 30-40 ปีที่แล้วก็นำผู้ป่วยจิตเวชมาทำแปลงปลูกผักเพื่อให้มีกิจกรรมทำและผ่อนคลายไม่เครียด         ในส่วนมูลนิธิเพื่อเด็กพิการสมัยที่เราทำกิจกรรมบำบัดกับเด็กที่เป็นซีพี (Cerebral Palsy: CP) หรือสมองพิการ พอเด็กๆ ได้ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปชายทะเล พบว่าเด็กมีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด มีความกระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรมและเคลื่อนไหวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เราจึงพัฒนาเรื่องสวนบำบัดขึ้น เพราะถ้าเราใช้สวนบำบัด เราสามารถทำได้ทุกวัน เพียงแต่เราเติมความรู้เข้าไป เพราะเด็กพิการเคลื่อนไหวยากการจะออกไปข้างนอกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเราสามารถทำสวนบำบัดเล็กๆ อยู่ที่บ้าน อยู่ในชุมชน เด็กก็จะเข้าถึงธรรมชาติได้ง่ายกว่าและเป็นประโยชน์กับเด็กด้วย  ธรรมชาติบำบัดกับสวนบำบัดต่างกันอย่างไร?         ธรรมชาติบำบัดอาจจะเป็นร่มที่ใหญ่มากและมีความหมายกว้าง เช่น การรักษาด้วยแสง ด้วยสี ก็เป็นธรรมชาติบำบัด ดนตรีบำบัดก็ถือเป็นธรรมชาติบำบัดเหมือนกัน ดังนั้น สวนบำบัดอาจถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติบำบัด แต่ถ้าเป็นสวนบำบัดก็อาจจะเฉพาะเจาะจงว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพืช ต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ ที่อยู่ในสวนหรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของสวนที่นำมาใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยได้ ถ้าอย่างนั้นการทำกิจกรรมสวนบำบัดก็จำเป็นต้องมีสวน?         เวลาเราพูดถึงสวนเราจะเกิดความรู้สึกว่ามันมีความเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าเราพูดถึงต้นไม้กระถาง มันคงไม่ใช่สวน คือถ้าเรายิ่งมีสถานที่ที่เป็นพื้นที่สีเขียว มีต้นไม้เยอะๆ ตรงนี้จะมีประโยชน์ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยได้มาก แต่เวลาที่เราทำกิจกรรมเรื่องสวนบำบัด บางครั้งเราก็อาจนำส่วนหนึ่งของสวนมาใช้ เช่น การปลูกผัก เพาะถั่วงอกในขวด ในกระถางเล็กๆ เราก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสวนไม่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในสวนทั้งหมด อาจจะเป็นแค่ไม้ประดับ ไม้ดอก ผักหรือแม้กระทั่งใบไม้หนึ่งใบ กิ่งไม้หนึ่งกิ่งก็ได้        ดังนั้น คำว่าสวนบำบัดเราคิดว่าน่าจะมีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนใหญ่ๆ องค์ประกอบที่หนึ่งต้องมีต้นไม้แต่ถ้ามีลักษณะของความเป็นสวน มันจะให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างดีกว่า แต่ถ้าไม่มีก็ขอให้เป็นต้นไม้สัก 1 กระถาง 2 กระถางกล่าวคือต้องมีองค์ประกอบเป็นต้นไม้ใบหญ้า         องค์ประกอบที่ 2 จะต้องมีผู้ที่ทำกิจกรรมได้ ไม่ใช่ว่าเอาต้นไม้ตั้งแล้วก็ถือเป็นสวนบำบัด เพราะมันถือเป็นกิจกรรมในการพัฒนาและบำบัดผู้ที่มีปัญหาจึงต้องมีผู้รู้ที่จะทำกิจกรรมได้ ซึ่งอาจจะเป็นนักสวนบำบัดหรือครูหรือครอบครัวของเด็ก         องค์ประกอบสุดท้ายคือตัวความรู้ในการทำกิจกรรม เช่น ต้องประเมินเด็กได้ ประเมินความพิการหรือความบกพร่องของเด็กได้ เมื่อประเมินเสร็จก็รู้ว่ากิจกรรมสวนบำบัดจะสนองตอบความต้องการของเด็กคนนี้ได้อย่างไร และเมื่อทำกิจกรรมไปแล้วก็สามารถประเมินผลของการทำได้  การเป็นนักสวนบำบัดยากหรือเปล่า?         จริงๆ ไม่ยากครับเพราะความรู้ที่เราต้องการนำมาใช้กับเด็กพิการ เด็กทั่วไป หรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไป เราอยากจะให้เป็นชาวบ้านธรรมดาก็ทำกิจกรรมได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาชีพ สิ่งที่เราทำ เรามองว่าประเทศไทยมีภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการทำสวนบำบัดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันอยู่ในวิถีชีวิต ยกตัวอย่างเช่นการถักปลาตะเพียนด้วยทางมะพร้าวแล้วก็ห้อยบนเปลเด็ก อันนี้เป็นสวนบำบัดอย่างหนึ่งได้เพราะมันไปกระตุ้นให้เด็กมองสิ่งที่เคลื่อนไหว มองสีเขียวๆ ของทางมะพร้าว แล้วเราอาจจะเล่นกับเด็กด้วยสิ่งนี้ งานจักสาน เช่น ตะกร้าที่สานด้วยทางมะพร้าว หวาย ไม้ไผ่ อันนี้ก็สามารถนำมาใช้เป็นกิจกรรมสวนบำบัดได้ หรือแม้แต่งานปั้นอย่างการปั้นตุ๊กตา ปั้นวัว ปั้นควาย เราก็ถือว่าเป็นส่วนบำบัดเพราะดินก็มาจากสวน ก็เป็นการบริหารกล้ามเนื้อ        เราจะเห็นว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นมีกิจกรรมเหล่านี้อยู่แล้ว แต่มันอยู่ในวิถีชีวิตปกติของคนไทยสมัยก่อน เมื่อเราเพิ่มตัวความรู้เข้าไป แล้วนำกิจกรรมเหล่านี้มาใช้กับเด็กพิการหรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางด้านร่างกายหรือจิตใจก็ถือเป็นสวนบำบัด เราจึงมองว่าคนที่จะทำกิจกรรมสวนบำบัดก็เป็นชาวบ้านธรรมดาได้         ถึงปัจจุบัน เราอบรมพ่อแม่ประมาณเกือบ 40 ครอบครัว แล้วก็นำไปทำกิจกรรมกับลูกๆ ของตัวเอง อย่างเช่นการเพาะผักต้นอ่อนร่วมกับเด็ก เขาก็มองว่านี่เป็นสวนบำบัดเพราะรู้ว่าถ้าทำกิจกรรมนี้แล้วช่วยเด็กอย่างไร การเพาะ การปลูก การเฝ้าสังเกตจะทำให้เด็กพัฒนาทางด้านสายตา การใช้มือ พัฒนาด้านอารมณ์ เพราะเด็กจะเริ่มจดจ่อสนใจการเพาะปลูกผัก เมื่อใส่ความรู้เข้าไป พ่อแม่ พี่เลี้ยงเด็ก ครู หรือบุคลากรทางด้านสาธารณสุขก็สามารถทำได้  แต่ในประเทศไทยตอนนี้ยังไม่มีนักวิชาชีพสวนบำบัดโดยตรง?         นักวิชาชีพสวนบำบัดในเมืองไทยยังไม่มี เราจึงมองว่าถ้าจะหวังพึ่งนักวิชาชีพอาจจะยาก เด็กและผู้สูงอายุจะเข้าไม่ถึงเราจึงต้องทำความรู้ให้ง่าย เรามีหลักสูตรพื้นฐาน 54 ชั่วโมงที่จะอบรมพ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงให้ทำสวนบำบัดกับเด็กพิการได้ และอาจจะมีหลักสูตรต่อยอดสำหรับผู้ที่สนใจเพิ่มเติมให้เป็นครูที่จะไปสอนผู้อื่นได้ แล้วเราค่อยๆ ยกระดับความรู้ขึ้นไปทีละน้อย         ในบ้านเรา เรามองว่าการจะพึ่งตนเองได้ต้องใช้ครอบครัวของเด็กพิการ ใช้พี่เลี้ยง ครู บุคลากรที่มีอยู่ในชุมชน เราเพียงเพิ่มความรู้เรื่องเด็ก เรื่องพัฒนาการ เรื่องความพิการก็สามารถทำกิจกรรมสวนบำบัดได้เพราะมันไม่ได้ซับซ้อนมาก ไม่มีอันตรายต่อเด็ก ผู้พิการ หรือผู้สูงอายุ อย่างน้อยการทำกิจกรรมส่วนบำบัดก็ช่วยให้คนกลุ่มนี้เกิดความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ได้ทำกิจกรรมรวมกลุ่ม         ส่วนนักวิชาชีพ เราคิดว่าน่าจะใช้นักวิชาชีพที่มีอยู่ เช่น นักกิจกรรมบำบัด เป็นการเพิ่มความรู้เพิ่มเติมหรือคอร์สพิเศษ อีกอันหนึ่งเรามองว่าผู้ที่จบทางด้านการเกษตร ถ้ามีวิชาเพิ่มเติมให้เขาสามารถใช้เรื่องการเกษตรเพื่อการบำบัดรักษาผู้คนได้ อันนี้ก็จะเกิดประโยชน์ เป็นการเพิ่มความรู้ให้กับวิชาชีพที่มีอยู่แล้ว ผมคิดว่าถ้าทำแบบนี้ฐานเราจะกว้างและทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ เข้าถึงเพราะไม่อย่างนั้นจะติดเป็นคอขวดว่าจะต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาลเท่านั้น  ในการอบรม ผู้เข้าร่วมอบรมต้องเรียนรู้อะไรบ้าง?         ในคอร์สอบรม ความรู้แรกคือให้รู้ว่าสวนบำบัดคืออะไร ไม่ใช่การทำสวนธรรมดา แต่เป็นการทำสวนเพื่อใช้ในด้านสุขภาพ ตั้งแต่การส่งเสริมป้องกันการบำบัดและฟื้นฟู อันที่ 2 ต้องมีความรู้เรื่องการทำสวนกับเรื่องการบำบัดทั้งสองอย่างนี้ต้องมาผสมผสานเชื่อมโยงกันให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องรู้เรื่องการประเมินความพิการได้ แต่ไม่ใช่การประเมินแบบแพทย์ เป็นการประเมินความพิการประเภทต่างๆ ว่าจะทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง แล้วจะเลือกกิจกรรมสวนบำบัดอะไรที่ไปช่วยเหลือฟื้นฟูความบกพร่องของผู้พิการแต่ละคน         ขณะเดียวกันสิ่งที่สำคัญที่สุดที่หลักสูตรนี้เน้นก็คือผู้เข้าอบรมจะต้องเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติและเกิดความเปลี่ยนแปลงความรู้สึก จากที่มองต้นไม้เป็นแค่ต้นไม้ มองผักเป็นแค่ผัก หรือมองคนพิการเป็นแค่คนพิการ ไปสู่ความรู้สึกที่ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ใช่นำธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาอบรมส่วนใหญ่จะรู้สึกจริงๆ ว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงเมื่อได้สังเกตธรรมชาติ เห็นคุณค่าของธรรมชาติ และเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำธรรมชาติไปใช้ฟื้นฟูผู้พิการต่อไป อันนี้เป็นเป้าหมายของตัวหลักสูตร         แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้เปิดอบรมให้แก่บุคคลทั่วไป เพราะเราอยากจะเคลื่อนกิจกรรมสวนบำบัดนี้ให้เข้าไปอยู่ในศูนย์บริการผู้พิการที่มีอยู่ประมาณ 3,000 แห่งทั่วประเทศ ถ้าศูนย์เหล่านี้มีบริการสวนบำบัดก็จะทำให้ผู้พิการในชุมชนสามารถรับบริการด้านนี้ได้ ในระยะแรก เราจึงเน้นอบรมให้กับครอบครัวที่มีเด็กพิการและศูนย์บริการผู้พิการเป็นหลัก  ที่บอกว่าต้องสามารถประเมินเด็กได้หมายความว่าอย่างไร?         การประเมินมี 2 ระดับ ระดับที่ 1 คือการประเมินประเภทความพิการซึ่งจะได้รับการประเมินจากบุคลากรด้านวิชาชีพในโรงพยาบาลที่ต้องมีการประเมินอยู่แล้ว และเมื่อต้องการจะแก้ไขหรือพัฒนาด้านใดเมื่อเข้าไปที่ศูนย์พัฒนาเด็กพิการทั่วไปหรือที่โรงพยาบาล ผู้ที่จะทำกิจกรรมสวนบำบัดก็จะประเมินความพร้อมหรือปัญหาของเด็กอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้จัดกิจกรรมสวนบำบัดที่เหมาะสมให้กับเด็กคนนี้ เช่น เด็กคนนี้ยืนได้หรือเปล่า เด็กคนนี้นั่งได้หรือไม่ ใช้มือหยิบจับได้ไหม สายตามองเห็นได้ สัมผัสได้ รับคำสั่งได้ เข้าใจคำสั่งง่ายๆ ได้หรือไม่ อันนี้เป็นการประเมินเพื่อทำกิจกรรม         แล้วจึงเลือกกิจกรรมสวนบำบัดมาทำกับเด็ก เช่น เด็กคนนี้ต้องการฝึกการเคลื่อนไหว การนั่ง การยืน ก็จะหากิจกรรมที่ทำให้เด็กได้ยืน ซึ่งอาจจะต้องทำสวนผักแนวตั้งเพื่อให้เกิดการยืนทำกิจกรรม แต่ถ้าเด็กนั่งได้ยืนได้ แต่มือไม่ค่อยมีแรงหรือหยิบจับไม่ค่อยดีก็อาจทำกิจกรรมศิลปะจากใบไม้เพื่อให้เกิดการหยิบจับ เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กที่มือ หรือถ้ามีปัญหาเรื่องการนับเลขก็อาจทำกิจกรรมการนับเมล็ดพืช ครูสวนบำบัดจะรู้ว่าเด็กคนนี้ต้องการอะไร ทำกิจกรรมให้ และประเมินว่าเด็กทำได้หรือไม่ได้ ทำได้ดีหรือไม่ ถ้าทำได้เพราะอะไร ทำไม่ได้เพราะอะไร แล้วกิจกรรมต่อไปที่สามารถฝึกเพิ่มขึ้นจะเป็นอะไร  เวลานี้มีการใช้กิจกรรมสวนบำบัดแพร่หลายมากแค่ไหนในประเทศไทย          ตอนนี้สวนบำบัดในเมืองไทยผมเข้าใจว่ามีการกระจายไปประมาณ 30-40 แห่ง โดยเฉพาะในศูนย์บริการผู้พิการบางแห่ง โรงพยาบาลบางแห่งก็เริ่มทำสวนบำบัด เช่นที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์หรือสถานสงเคราะห์ผู้พิการในจังหวัดนนทบุรี มูลนิธิบางแห่งก็เริ่มใช้ ที่สำคัญน่าจะมีครอบครัวมากกว่า 30 ครอบครัวที่มีการทำสวนบำบัด โดยเฉพาะที่สกลนครมีเครือข่ายของบุคคลออทิสติกก็มีการใช้สวนบำบัดกับเด็กพิการ         บางครอบครัว แม่รู้สึกว่าเวลาที่ทำสวนบำบัดให้ลูก ตัวแม่เองนั่นแหละที่เป็นผู้รับการบำบัด เพราะการดูแลผู้พิการจะมีความเครียดโดยที่ไม่รู้ตัว แต่พอมาทำสวนบำบัดแล้ว เขารู้สึกผ่อนคลาย ขณะที่ตัวลูกซึ่งเดิมก็ไม่ได้สนใจทำกิจกรรมอะไรมาก แต่เมื่อมาทำสวนบำบัดเด็กพิการส่วนใหญ่ชอบและเข้าร่วมกิจกรรม เมื่อเทียบกับกิจกรรมด้านกายภาพบำบัดหรืออื่นๆ ทางมูลนิธิจึงพยายามผลักดันให้สวนบำบัดเข้าไปเป็นหนึ่งในบริการของกระทรวงสาธารณสุข ในประกาศ ‘การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสําหรับคนพิการ พ.ศ.2552?          เราอยากจะให้ทางกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้สวนบำบัดเป็นบริการที่ 27 เพื่อให้เกิดการสนับสนุนและจัดบริการขึ้นในสถานบริการสาธารณสุขที่มีความพร้อม การประกาศนี้จะมีความสำคัญอยู่ 2 ระดับ ระดับที่ 1 คือกระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญว่ากิจกรรมสวนบำบัดเป็นกิจกรรมที่สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการได้ ระดับที่ 2 ตอนนี้ศูนย์บริการผู้พิการทั่วไปซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ตกลงร่วมกันและยอมรับว่า ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปถือเป็นสถานบริการสาธารณสุขประเภทหนึ่งของ สปสช. ด้วย ดังนั้น ถ้ากระทรวงสาธารณสุขยอมรับกิจกรรมสวนบำบัดก็จะเป็นร่มนโยบายใหญ่ว่า ต่อไปศูนย์บริการผู้พิการต้องจัดกิจกรรมสวนบำบัดเพราะเป็นนโยบายของกระทรวง ก็จะเกิดความร่วมมือของทั้ง 3 ส่วน         สำหรับโรงพยาบาล ถ้าจัดบริการสวนบำบัดและประชาชนเข้ามารับบริการ ถ้ากิจกรรมสวนบำบัดอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. เมื่อไหร่ก็สามารถรับบริการฟรีได้ แต่ตอนนี้ยังไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ การที่จะเข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก เช่น มีงานวิจัยในประเทศไทยหรือยังที่พูดถึงประสิทธิผลของมัน หรือถ้าจะจัดให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์จะมีภาระค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน มีบุคลากรที่จะให้บริการที่มีคุณภาพหรือยัง และประชาชนสามารถเข้าถึงได้แค่ไหน สิ่งเหล่านี้ต้องการศึกษาก่อนที่จะประกาศอยู่ในชุดที่ประโยชน์ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2563

สมอ.ปรับแก้มาตรฐานคุมสารทาเลตในของเล่นเด็ก        สมอ. แก้ไขมาตรฐานของเล่น เพิ่มการตรวจหาสารทาเลตและคุมเข้มปริมาณสารโลหะหนัก พร้อมเตรียมกำหนดมาตรฐานเพิ่มอีก เครื่องเล่นสนามสาธารณะ ชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน และอุปกรณ์โยก         นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. ได้ดำเนินการปรับแก้ไขมาตรฐานของเล่นให้มีความทันสมัย ทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน  เพื่อป้องกันอันตราย หรือผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการเล่น รวมทั้งยกระดับอุตสาหกรรมของเล่นของไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เนื่องจากปัจจุบันของเล่นเด็กมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งรูปแบบและวัสดุที่ใช้ทำ ทั้งนี้ มาตรฐานของเล่น มอก. 685-2540 ได้ปรับแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ใช้งาน เช่น เพิ่มการตรวจสอบหาสารทาเลตซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ใช้ในกระบวนการผลิตพลาสติกในกลุ่มพีวีซีเพื่อให้เนื้อพลาสติกมีความอ่อนตัว สมอ.ต้องควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายตามมาตรฐานสากล ซึ่งเดิมไม่ได้มีการกำหนดไว้ โดยมีเกณฑ์ควบคุมปริมาณของสารทาเลตสำหรับของเล่นเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบและของเล่นที่สามารถนำเข้าปากได้ ต้องไม่เกิน 0.1% โดยมวล และแก้ไขการตรวจหาสารโลหะหนัก ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของเล่นที่มีการสัมผัสโดยตรงให้เข้มข้นขึ้น เช่น ฟิงเกอร์เพนต์ ซึ่งเป็นสีน้ำที่เด็กใช้มือสัมผัสโดยตรง ปริมาณสารตะกั่วต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากเดิมต้องไม่เกิน 90 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือสารหนูต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากเดิมกำหนดเกณฑ์สูงสุดมีได้ไม่เกิน 25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้เห็นชอบมาตรฐานดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ประมาณต้นปี 2563          นักวิจัย มช. พบการใช้ยาปฏิชีวนะในสวนส้ม         รศ.ดร.ภญ.บุษบัน ศิริธัญญาลักษณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการผลของยาปฏิชีวนะต่อการตกค้างในผลิตภัณฑ์จากส้มเขียวหวานสำหรับการผลิตอย่างแม่นยำ ลุ่มน้ำฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งติดตามปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะแอมพิซิลลินของเกษตรกรสวนส้มเขียวหวาน โดยเกษตรกรใช้เพื่อแก้ปัญหาโรครากโคนเน่า ทั้งนี้แอมพิซิลลินเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ในคน แต่เกษตรกรจะหาซื้อตามร้านขายยาในรูปแบบแคปซูล และนำมาผสมน้ำฉีดพ่นเพื่อป้องกันแบคทีเรียในต้นส้ม          โดยผลการศึกษาในสวนส้ม 3 แห่งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พบว่า ยังคงตรวจพบปริมาณสารปฏิชีวนะในลำต้นส้มในช่วง 90 วัน หลังฉีดสารปฏิชีวนะ ซึ่งแม้ว่ามีการตกค้างของยาปฏิชีวนะในผลส้มในปริมาณที่ถือว่าน้อยมาก แต่แสดงให้เห็นว่ามีการตกค้างอยู่ในผลส้มจริง นอกจากนี้ยังพบว่า สวนส้มที่ใช้ยาปฏิชีวนะมาเป็นเวลานานมีความหลากหลายของเชื้อแบคทีเรียในดินน้อยมาก และยังพบเชื้อดื้อสารปฏิชีวนะในปริมาณสูงอีกด้วย         ข่าวปลอม ซึมเศร้า NCD เรื่องน่าห่วงสุขภาพคนไทย         สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวที Thaihealth Watch จับตาประเด็นพฤติกรรมสุขภาพคนไทย ปี 2563 ในกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งประเด็นที่น่าจับตาในกลุ่มเด็กและเยาวชน คือ ปัญหาความเครียด ภาวะซึมเศร้า ภัยคุกคามทางออนไลน์ อุบัติเหตุทางคมนาคม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์        โดยพบว่าสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นเครียดเป็นอันดับ 1 มาจากปัญหาครอบครัว ตามด้วยเรื่องหน้าที่การงาน การถูกกลั่นแกล้ง และความรุนแรง ส่วนปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์ ซึ่งผลวิจัยพบว่า เด็กที่ใช้เวลากับโลกออนไลน์มาก ยิ่งเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งและเป็นผู้กลั่นแกล้งทางออนไลน์ถึง 3 เท่า ส่วนปัญหาอุบัติเหตุทางคมนาคม พบว่ากลุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มใส่หมวกกันน็อกลดลง และพบการบาดเจ็บและเสียชีวิตในกลุ่มเยาวชนจากมอเตอร์ไซค์ และแม้อัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นลดลง แต่อัตราการติดโรคทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสและหนองใน         สำหรับประเด็นพฤติกรรมสุขภาพที่น่าเป็นห่วงในกลุ่มวัยทำงาน คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน หรือ โรคในกลุ่ม NCDs เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน หัวใจขาดเลือด จากผลการสำรวจพบว่ากลุ่มคนวัยทำงานเน้นการบริโภคอาหารรสจัด และเน้นที่รูปลักษณ์ ขณะที่เด็ก คนโสด คนทำงานบริษัทกินผักน้อยที่สุด         นอกจากนี้ยังพบ ปัญหาข่าวปลอม หรือ fake news เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพที่มีการแชร์กันมาก เช่น อังกาบหนูรักษามะเร็ง, น้ำมันกัญชารักษามะเร็ง, หนานเฉาเว่ยสารพัดโรค, บัตรพลังงานรักษาสารพัดโรค และปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมไปถึงปัญหาขยะอาหาร หรือ อาหารส่วนเกินอีกด้วย          ธปท. ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ด้วยมาตรการปรับ “ดอกเบี้ย - ค่าธรรมเนียม”                ธนาคารแห่งประเทศไทยมอบนโยบายให้สถาบันการเงินปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 3 เรื่อง ได้แก่          1) ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด สำหรับสินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด โดยให้คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ จากเดิมที่คิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน และให้กำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอน          2) ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด โดยกำหนดให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวดที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น โดยให้สถาบันการเงินกำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด รวมถึงให้ชี้แจงแสดงรายละเอียดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ หรือ ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ ให้ชัดเจน          3) ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรให้ผู้ใช้บริการ และการให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมในการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน หรือให้พิจารณาจัดเก็บตามความเหมาะสม        นอกจากนี้ ธปท.ยังขอให้ผู้ให้บริการนำหลักการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 4 เรื่องไปปรับใช้ ได้แก่ 1) สะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ 2) คำนึงถึงความสามารถในการชำระและไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควร 3) ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และ 4) เปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน              มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นเรื่อง กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค ตรวสอบการต่อสัมปทานทางด่วนให้ BEM         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และภาคประชาชน เข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการต่ออายุสัญญาสัมปทานระยะที่ 2 ของคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)  ให้กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)         โดยมูลนิธิฯ และเครือข่ายฯ ได้ให้เหตุผลว่า การต่ออายุสัมปทานดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า 2 แสนล้านบาท และอาจส่งผลให้ผู้บริโภคต้องเสียประโยชน์โดยการจ่ายค่าผ่านทางแพงขึ้นจนถึงปี 2578 อีกทั้งยังพบว่า กระบวนการต่ออายุสัมปทานมีการอ้างอิงมูลค่าความเสียหายจากคดีที่ยังไม่มีการฟ้องร้องขึ้นจริงมาคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประกอบการตัดสินใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2562

รู้ยัง ตรวจสอบราคายา รพ.เอกชนได้แล้ว        ‘กรมค้าภายใน’ จัดให้ระบบตรวจสอบราคายา 356 โรงพยาบาลออนไลน์ขึ้นเว็บ-คิวอาร์โค้ด แบ่งระดับสี เขียว-เหลือง-แดง เทียบระหว่างโรงพยาบาลได้ โดยผ่านลิงค์เว็บไซต์กรมการค้าภายใน หรือสแกนคิวอาร์โค้ดที่โรงพยาบาล จากนั้นจะต้องพิมพ์คำค้นเป็นชื่อยาภาษาอังกฤษ และสามารถเลือกเปรียบราคายาระหว่างโรงพยาบาลได้ https://hospitals.dit.go.th/app/drug_price_search.php คลิกเลย กทม. ลุยตรวจ 48 สวนสนุกในกรุงเทพฯ พบ 16.67% สอบตกเกณฑ์มาตรฐาน         ผลสำรวจสวนสนุกในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 48 แห่ง พบว่ามีใบอนุญาตก่อสร้างและใบอนุญาตประกอบกิจการ 33 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 15 แห่ง และในจำนวนนี้มีที่ไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินสุขลักษณะ 8 แห่ง ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไข เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน          กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตต่างๆ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจการและตรวจสุขลักษณะ ความปลอดภัย และอาชีวอนามัย ประเภทกิจการสวนสนุกในกรุงเทพ ฯ จำนวน 48 แห่ง ในพื้นที่ 26 เขต ตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและใบอนุญาตประกอบกิจการ 33 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 15 แห่ง จึงได้แจ้งให้ดำเนินการขอใบอนุญาตให้ถูกต้องภายใน 15 วัน หากไม่สามารถดำเนินการให้เรียบร้อยจะสั่งระงับการให้บริการ และมีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท นอกจากนี้ยังมีสวนสนุกที่ตั้งเป็นการชั่วคราวตามลานกิจกรรมหรืองานต่างๆ ประมาณ 7-30 วัน ที่ต้องขออนุญาตเช่นกัน ซึ่งต้องเข้าไปกวดขันดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโครงสร้างชั่วคราวมีข้อจำกัดด้านอายุการใช้งาน กทม. จึงได้กำชับให้เขตดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวด สสส. เผยไทยมีนักดื่ม 22.5 ล้านคนสูงสุดในรอบ 5 ปี ชี้รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาช่วยการดื่มลง 10%         กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาของทุกปี  โดยจากการสำรวจพบว่านักดื่มไทยมีกว่า 22.5 ล้านคน สูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาช่วยการดื่มลง 10% ประเทศประหยัดถึง 10,724 ล้านบาท          ปี 2562 สสส.หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รณรงค์ผ่านแคมเปญ “ตับจะกลับมาดี พรรษานี้เริ่มงดเหล้า” จากการสำรวจสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ช่วงปี 2544 - 2560 พบว่าคนไทยมีแนวโน้มการดื่มลดลงจาก 32.7% ในปี 2544 เหลือ 28.4% ในปี 2560 ประกอบกับการสำรวจภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทยโดยวิธีการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี 2557 มีผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในระดับอันตรายลดลงเหลือ 3.4% ลดจากปี 2547 ที่อยู่ที่ 9.1% ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของคนไทยโดยรวมลดลง สอดคล้องกับข้อมูลค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ลดลงจาก 151,607 ล้านบาท ในปี 2548 เหลือ 142,230 ล้านบาท ในปี 2560 ขณะที่การรณรงค์ให้คนไทยลด ละ เลิก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีทิศทางที่ดี โดยเฉพาะโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางและมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในทุกปีสคบ.อำนาจล้น ดีเดย์ 25 สิงหาคม กม.คุ้มครองผู้บริโภคบังคับใช้แล้ว        พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่นี้ เพิ่มเรื่องความคล่องตัวด้วยการมอบอำนาจแก่ท้องถิ่นมากขึ้น มีการปรับโครงสร้างกรรมการบริหารใหม่และเพิ่มอำนาจของกรรมการให้มากขึ้นเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม   รวมถึงยังมี กรรมการด้านความปลอดภัยที่เข้ามาดูแลเรื่องสินค้าบริการและเฝ้าระวังให้ผู้บริโภค ด้วย  นอกจากนั้นยังมีการกำหนดเรื่องการโฆษณาในมาตรา 29 ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นและเพิ่มโทษปรับ 2 - 10 เท่าในกรณีการทำผิดเมื่อเปรียบเทียบกับพ.ร.บ. ฉบับปี พ.ศ. 2556         พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค(ฉบับที่4) พ.ศ. 2562 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 สิงหาคม นี้ โดยเพิ่มอำนาจให้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ถูกปรับโครงสร้างใหม่ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดในทุกกระทรวงรวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 8 คนและผู้แทนความรู้ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาการภาคประชาชนและภาคผู้ประกอบธุรกิจอย่างน้อยภาคละ 2 คน ด้วยโครงสร้างนี้ หน่วยงานจะจัดการปัญหาได้เร็วขึ้น เพราะจะมีตัวแทนจากทุกกระทรวงเข้ามาจัดการปัญหาได้โดยตรง อีกทั้งยังให้อำนาจกับเลขาธิการสคบ. สามารถพิจารณาและสั่งดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการหากพบว่าปัญหานั้นเข้าเกณฑ์ความผิด         สองมีการเพิ่มอัตราโทษปรับให้สูงขึ้นหนึ่งเท่าในทุกมาตรา อีกทั้งกรณีสินค้าและบริการที่เป็นอันตรายจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรการ   ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบธุรกิจผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตหรือร่างกายก็ต้องมั่นใจว่าสินค้าหรือบริการนั้นปลอดภัยเพราะ พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดให้เมื่อผู้ประกอบธุรกิจทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้าหรือบริการ บทลงโทษจะเปรียบเทียบความผิดไม่ได้ กล่าวคือเมื่อพบความผิดของผู้ประกอบธุรกิจจะมีการเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาและฟ้องดำเนินคดีทันที         สามการให้อำนาจกับท้องถิ่นเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ต้องส่งเรื่องมายังหน่วยงานกลางซึ่งทำให้ล่าช้า และเงินค่าปรับที่ได้มาจากการกระทำผิดไม่ต้องส่งให้ส่วนกลางแต่ให้กับพื้นที่เพื่อจะได้นำไปสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่และยังทำให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ไทยติดกลุ่มผู้นำเข้าขยะพลาสติกสูงสุดในโลก         แต่ละปีคนไทยทิ้งขยะรวมกันกว่า 27 ล้านตัน เทียบเท่ากับช้างกว่า 5.56 ล้านตัว เฉพาะ กทม. ทิ้งมากเกือบถึง 1 ใน 5 ของทั้งประเทศ ที่ชวนให้ต้องตื่นตัวคือไทยอยู่ในกลุ่มผู้นำเข้าขยะพลาสติกมากที่สุดของโลก          ขยะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติที่ยังหาทางกำจัดให้หมดสิ้นไม่ได้ ซึ่งเมื่อดูจากข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่าปริมาณขยะในไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2561 มีกว่า 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.64% จากปี 2560 ปัจจัยจากการมีประชากรเพิ่มขึ้น ชุมชนเมืองขยายตัว รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น เฉพาะในกรุงเทพฯ มีปริมาณ 4.85 ล้านตัน คิดเป็น 17% ของขยะมูลฝอยทั้งประเทศ         อย่างไรก็ดีพบว่า การจัดการขยะมูลฝอยถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ถึงอย่างนั้นมีขยะพลาสติกเพียง 5 แสนตันจาก 2 ล้านตันที่ถูกรีไซเคิล ที่น่าตกใจคือมีขยะที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องถึง 27% ประกอบกับการลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณประโยชน์ ทำให้ขยะจากบกปะปนสู่ทะเล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก จึงส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตดังที่เกิดเหตุการณ์เป็นข่าวเศร้าต่างๆ         ในส่วนของเสียอันตรายจากชุมชนก็เพิ่มขึ้น 3.2% จากปี 2560 ส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 13% เท่านั้น นอกจากนี้ มีกากของเสียอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการจัดการยังลดลง 33% โดยมากเป็นกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย โดยได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า         นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า แม้การจัดการขยะอย่างถูกต้องจะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะยังไม่มีกฎระเบียบการคัดแยกของเสียอันตรายออกจากขยะทั่วไป รวมถึงมีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ซึ่งมีผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงนำไปสู่การยกเลิกนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 422 รายการ รวมถึงยกเลิกการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว ยกเว้นกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นชอบ และได้จัดทำโรดแมป การจัดการขยะพลาสติกปี 2562-2570 โดยลดและเลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด ภายในปี 2565

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 8 ปี บทเรียนการใช้กฎหมายคดีผู้บริโภค

ความเป็นมา            ในขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในเรื่องคุณภาพสินค้าหรือบริการ  และขาดอำนาจในการต่อรอง เช่นในการเข้าทำสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการที่เท่าเทียม ตลอดจนไม่อาจเท่าทันความรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ของผู้ประกอบธุรกิจ นั่นทำให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น กระบวนการในการเรียกร้องค่าเสียหายต้องใช้เวลานานและสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้บริโภค ที่จะต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งไม่อยู่ในความรู้เห็นของตน ทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีสูง จึงทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการบัญญัติกฎหมายพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ขึ้น เพื่อตามให้ทันเทคโนโลยีในปัจจุบันที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการแก่ผู้บริโภค โดยการวางแนวทางการพิจารณาไปในทางระบบไต่สวนมากขึ้น สังเกตได้จากการที่กฎหมายได้บัญญัติไว้โดยชัดเจนให้ศาลมีอำนาจในการเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร โดยมีหลักการที่สำคัญในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในการดำเนินคดี คือ ความสะดวก ประหยัด รวดเร็ว และเป็นธรรมขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามหลังจากการบังคับใช้กฎหมาย พบว่ายังมีปัญหาข้อขัดข้องหลายประการทั้งปัญหาด้านข้อกฎหมายและปัญหาในทางปฏิบัติส่งผลให้ผู้บริโภคยังไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างแท้จริง อันไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้  ที่มุ่งคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่สะดวก รวดเร็วและเป็นธรรมประเทศไทยได้บังคับใช้กฎหมาย พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว มีเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่น่ากังวล คือ คนที่นำคดีมาฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ส่วนใหญ่กลับเป็นผู้ประกอบธุรกิจ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งสะท้อนว่า กฎหมายมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ที่ให้มีระบบวิธีพิจาณาคดีที่เอื้อต่อการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภคธรรมดาสถานการณ์การฟ้องคดีผู้บริโภค            หลังจากที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2551 นั้น จากข้อมูลสถิติคดีของสำนักงานศาลยุติธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551  - 2558  พบว่า มีคดีผู้บริโภคขึ้นสู่ศาลจำนวน  2,794,208 คดี  ซึ่งมากกว่าร้อยละ 90 ของคดีผู้บริโภค ที่เข้าสู่สารบบคดีของศาลเป็นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภค  โดยเฉพาะในปี 2558 มีคดีผู้บริโภคที่ขึ้นสู่ศาลทั่วราชอาณาจักร จำนวน 592,561 คดี จากคดีแพ่งทั้งหมด 847,551 คดี หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของคดีแพ่งทั้งหมด   นอกจากนี้ในคดี ผู้บริโภคที่ขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลในปี พ.ศ.2558 นั้น  ประเภทข้อหาแห่งคดี 5 อันดับแรกของข้อมูลการฟ้องคดี  เป็นคดีที่ผู้ประกอบการฟ้องผู้บริโภคเป็นคดีผู้บริโภค มีดังนี้สินเชื่อบุคคล / กู้ยืม / ค้าประกัน จำนวน 250,527 ข้อหาบัตรเครดิต จำนวน 99,822 ข้อหากองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา จำนวน 92,775 ข้อหาเช่าซื้อ (รถยนต์) จำนวน 73,071 ข้อหาเช่าซื้อ (รถจักรยานยนต์) จำนวน 5,194 ข้อหาจากสถิติข้อหาแห่งคดี หรือการฟ้องคดีผู้บริโภคของศาล จะเห็นได้ชัดเจนว่า การฟ้องคดีผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภคเป็นจำเลย เพื่อบังคับให้ผู้บริโภคชำระหนี้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ  จึงทำให้มีหลายคนวิตกว่าพระราชบัญญัติวิธีพิจาณาคดีผู้บริโภคฯ จะตกเป็นเครื่องมือให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจในการทวงหนี้ และทำให้คดีแพ่งที่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ มีมากเกินไป อย่างที่เรียกว่า “คดีล้นศาล” ซึ่งส่งผลกระทบดังนี้  1 ผลกระทบต่อความรวดเร็วในการดำเนินคดี            การมีคดีที่ไม่ควรจัดว่าเป็นคดีผู้บริโภค เข้ามาอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก และการที่กฎหมายคดีผู้บริโภคกำหนดให้ศาลต้องนัดพิจารณาภายใน 30 วันนับแต่ยื่นฟ้อง เพื่อจะเป็นวิธีพิจารณาพิเศษที่ทำให้คดีเสร็จไปโดยเร็วนั้น ปรากฏว่าในทางปฏิบัติ ไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากมีคดีอื่นที่ไม่ใช่ผู้บริโภคเข้าสู่ระบบคดีผู้บริโภคของศาลจำนวนมาก ทำให้วันนัดของศาลเต็ม จึงไม่อาจทำตามเงื่อนไขของกฎหมายที่กำหนดไว้ได้ ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินคดี เจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องนี้ไม่อาจบรรลุผลได้เต็มที่2  ผลกระทบต่อผู้บริโภคในการต่อสู้คดี            เนื่องจากพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ได้นำระบบไต่สวนมาใช้ กล่าวคือศาลสามารถไต่สวนหาความจริง โดยเรียกบุคคลหรือพยานหลักฐานได้เอง   แต่ที่ผ่านมาพบว่า ส่วนใหญ่ศาลจะใช้อำนาจในส่วนนี้น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภค เช่น ฟ้องให้ชำระหนี้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อ กู้ยืมเงิน ซึ่งคดีลักษณะดังกล่าว จะมีการไปฟ้องยังภูมิลำเนาของผู้บริโภคที่โดยมากมักไม่ได้อยู่อาศัยเนื่องจากเข้ามาทำงานในกรุงเทพ หรือจังหวัดอื่น ทำให้เสียโอกาสต่อสู้คดี อีกทั้งศาลก็จะถือข้อเท็จจริงตามที่ผู้ประกอบธุรกิจเสนอ โดยไม่ได้ใช้อำนาจไต่สวนคดีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบเข้ากับการที่มีคดีอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัตินี้มากเกินไป ทำให้บทบาทของศาลในการไต่สวนคดีทำได้ไม่เต็มที่  มีส่วนทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินคดีผู้บริโภคอื่นไปด้วยสาเหตุที่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ            สำหรับสาเหตุในเรื่องการไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามกระบวนการพิจารณาคดีได้อย่างจริงจังหลายประการนั้น  จากการเสวนาแลกเปลี่ยนในหลายเวทีและจากการสังเคราะห์ข้อมูล ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่าปัญหาโดยสรุปมีดังนี้ยังต้องใช้ทนายความในการดำเนินคดี แม้ว่ากฎหมายจะบทบัญญัติให้ผู้บริโภคที่จะฟ้องคดีสามารถฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ยื่นฟ้องคดีด้วยวาจา โดยมีเจ้าพนักงานคดีเป็นผู้บันทึกและจัดทำคำฟ้องให้ รวมถึงการฟ้องคดีด้วยเอกสาร ไม่ต้องมีทนายความเป็นผู้จัดทำคำฟ้องให้ โดยมีเจ้าพนักงานคดีเป็นผู้ตรวจเอกสารและจัดทำคำฟ้องให้เช่นกัน แต่กระบวนการดังกล่าวก็เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกเบื้องต้นเท่านั้น เพราะเมื่อฟ้องคดีและศาลรับคำฟ้องไว้แล้ว ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องจัดหาทนายความเพื่อมาดำเนินคดีแทน ในคดีเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะคดีที่มีข้อเท็จจริงที่สลับซับซ้อน เช่น คดีทางการแพทย์  รวมถึงการจัดทำคำร้อง คำแถลง ต่างๆ เนื่องด้วยผู้บริโภคไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาคดีด้วยตนเองได้การนิยามของคำว่า “คดีผู้บริโภค” และ “ผู้บริโภค” ไม่ชัดเจน ทำให้นอกจากผู้บริโภคจะมีสิทธิฟ้องคดีผู้บริโภคแล้ว กฎหมายยังให้สิทธิผู้ประกอบการฟ้องคดีผู้บริโภคได้ด้วย ก่อให้เกิดปัญหาคดีล้นศาล เนื่องจากคดีส่วนมากที่เข้ามาอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัตินี้เป็นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจประเภทสถาบันการเงิน ไฟแนนซ์ เป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภคเพื่อขอให้ชำระหนี้ ทำให้มีปริมาณคดีผู้บริโภคกลุ่มนี้ขึ้นสู่ศาลเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินคดี และทำให้ศาลและเจ้าพนักงานคดีทำหน้าที่ตามบทบาทได้อย่างไม่เต็มที่ ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคให้การ บังคับใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ ทำให้ไม่สามารถบรรลุถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ได้วางไว้เจ้าพนักงานคดีไม่เพียงพอ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่มีความมุ่งหมายที่จะให้ ศาลเข้ามามีบทบาทในการแสวงหาข้อเท็จจริงต่างๆ ในคดีแพ่งมากขึ้นเพื่อลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันในการ ต่อสู้คดีระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจ โดยการวางแนวทางการพิจารณาไปในทางระบบไต่สวนมากขึ้น จึงได้กำหนดให้มี "เจ้าพนักงานคดี” ขึ้น เพื่อช่วยเหลือศาลให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ตามที่กฎหมาย กำหนดไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการสืบหาพยานหลักฐานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี   อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติเจ้าพนักงานคดีก็ยังไม่เพียงพอ คือ ในปัจจุบันมีเจ้าพนักงานคดีประจำอยู่ที่ศาลแห่งละหนึ่งหรือสองคนเท่านั้น อีกทั้งยังไม่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เพียงพอ เป็นเหตุให้ไม่มีเจ้าพนักงานคดีมากพอที่จะตอบสนองความต้องการในการบริหารจัดการคดี ซึ่งในทางปฏิบัติเจ้าพนักงานคดีที่ถูกส่งไปประจำศาลในจังหวัดต่างๆกลับถูกใช้ให้ไปทำงานในด้านธุรการด้านอื่นๆ โดยไม่ได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดีอย่างแท้จริง ยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่กฎหมายไม่ได้ยกเว้น แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะกำหนดให้ผู้บริโภคฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมทั้งปวง แต่ในทางปฏิบัติพบว่า การเสียค่าธรรมเนียมฟ้องคดี หากเป็นผู้บริโภคที่ฟ้องคดีนั้นค่าธรรมเนียมในส่วนนี้จะได้รับการยกเว้นเกือบทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีอย่างมากสำหรับการเอื้อประโยชน์ให้ผู้บริโภคเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้สะดวกมากขึ้น แต่นอกจากค่าธรรมเนียมฟ้องคดีแล้ว ในกระบวนพิจารณาคดียังมีค่านำหมาย ค่าส่งคำคู่ความ ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ พบว่ายังมีการลักลั่นของศาลแต่ละแห่ง ที่ยังคงเรียกเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าวกับผู้บริโภคที่ฟ้องคดีอยู่ศาลยังมีทัศนคติและความเคยชินอยู่กับจารีตปฏิบัติในระบบกล่าวหาและขาดความชำนาญในการไต่สวน พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้ศาลใช้ระบบไต่สวนในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี ศาลจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการค้นหาความจริง มีอำนาจที่จะให้มีการรวบรวมพยาน เอกสาร สืบพยาน หรืองดสืบพยาน ไม่ใช่รอพยานหลักฐานจากคู่ความ การกำหนดกรอบระเบียบ กฎเกณฑ์ เกี่ยวกับการสืบพยานค่อนข้างยืดหยุ่น เพื่อให้ศาลใช้ดุลยพินิจได้อย่างกว้างขวาง ระบบไต่สวนจึงเหมาะสมกับคดีที่ คู่ความมีความไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก เช่น คดีผู้บริโภค นี้ แต่ในทางปฏิบัติ พบว่าศาลยังใช้อำนาจหรือมีบทบาทในการไต่สวนในคดีผู้บริโภคยังไม่เต็มที่ เนื่องด้วยศาลยังมีทัศนคติและความเคยชินอยู่กับจารีตปฏิบัติในระบบกล่าวหาและยังขาดความชำนาญในการไต่สวน พบได้ในหลายกรณีที่ศาลเลือกจะไม่ใช้อำนาจในส่วนนี้ แต่จะถามหาทนายความจากผู้บริโภคเพื่อให้มาดำเนินคดีแทน หากเป็นเช่นนี้ผู้บริโภคก็ยังคงต้องว่าจ้างทนายความ และทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายยังไม่อาจเป็นจริงได้ บทเรียนการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกว่า 8 ปี ที่มีคดีผู้บริโภคเข้าสู่สารบบของศาลทั่วราชอาณาจักรมากถึงกว่า  2.8 ล้านคดี แต่ส่วนใหญ่กลับเป็นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจฟ้องผู้บริโภคเสียมากกว่านั้น ย่อมน่าสนใจว่าทำไมผู้บริโภคจึงไม่ใช้สิทธิฟ้องคดีเท่าที่ควร เมื่อได้นำข้อมูลจากการช่วยเหลือผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมาวิเคราะห์ ก็พบว่าเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น  ความเสียหายที่ได้รับเมื่อคิดเป็นมูลค่านั้นเล็กน้อยเกินไป ไม่คุ้มค่าทนาย ค่าใช้จ่าย  หรือความกังวลว่า จะมีขั้นตอนยุ่งยากและใช้เวลานานในการดำเนินคดี สิ่งเหล่านี้ย่อมสะท้อนว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แม้จะมีกฎหมายเพื่อช่วยให้การฟ้องคดีไม่ยุ่งยากเช่นในอดีตจากสถิติการให้ความช่วยเหลือของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในการช่วยดำเนินคดีให้ผู้บริโภคที่ถูกผู้ประกอบธุรกิจละเมิดสิทธิ ตั้งแต่ปี 2551 –  2558  พบว่า มีคดีผู้บริโภคที่ให้ความช่วยเหลือ จำนวน 289 คดี แบ่งเป็นคดีชุดรถโดยสารสาธารณะ    จำนวน    183     คดีคดีประกันภัย                    จำนวน     52     คดี       คดีผิดสัญญา                    จำนวน     31     คดีคดีละเมิด                        จำนวน     23     คดีและแม้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพียงองค์กรเดียวที่มีนโยบายและความสามารถเพียงพอที่จะให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิในการฟ้องคดีผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวนมากถึง 289 คดี  โดยเป็นคดีที่หลากหลาย เช่น รถยนต์ชำรุดบกพร่องผู้ประกอบธุรกิจผิดสัญญา กรณีอาคารชุด และบ้านจัดสรร เรียกร้องค่าเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น แต่เมื่อเทียบกับปริมาณคดีผู้บริโภคทั้งหมดของศาลนับตั้งแต่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว ต้องถือว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ ยังไม่สามารถตอบโจทย์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ข้อเสนอ            แนวทางต่อไปนี้อาจช่วยในการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการบังคับใช้กฎหมายนี้ได้แก้ไขคำนิยาม “คดีผู้บริโภค” , “ผู้บริโภค” และ “ผู้ประกอบธุรกิจ” ให้ชัดเจน  ปัญหาหลายประการที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าในการดำเนินคดี การทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดี หรือการทำหน้าที่ของศาลในการไต่สวนคดี มีสาเหตุประการหนึ่งคือ มีคดีที่ไม่ควรจัดว่าเป็นคดีผู้บริโภคเข้ามาอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงสมควรจัดคดีเหล่านี้ให้ไปอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามเดิม ซึ่งได้แก่ คดีที่ผู้ประกอบธุรกิจฟ้องทวงหนี้จากผู้บริโภคโดยไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคแต่อย่างใด และคดีเกี่ยวกับสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้ประกอบธุรกิจด้วยกันเพื่อประโยชน์ทางการค้าของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย การแก้ปัญหานี้อาจกระทำได้โดยการแก้ไขคำนิยาม “คดีผู้บริโภค” , “ผู้บริโภค”   และ “ ผู้ประกอบธุรกิจ” ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค หรือโดยการออกกฎหมายแก้ไขคำนิยามเหล่านี้เพิ่มและพัฒนาศักยภาพของเจ้าพนักงานคดี การมีเจ้าพนักงานคดีไม่เพียงพอและไม่มีประสบการณ์นั้น สามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดทำคู่มือการปฏิบัติหน้าที่ ให้แก่เจ้าพนักงานคดี เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนการสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างเจ้าพนักงานคดี การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอควรจัดให้มีการเผยแพร่แนวคำวินิจฉัยของศาล เพื่อจะได้พิจารณาได้ว่าคดีใดควรเป็นคดีผู้บริโภค เพราะการได้ทราบแนวคำวินิจฉัยจะทำให้เกิดความชัดเจน และทำให้คดีที่จะนำขึ้นสู่การวินิจฉัยลดน้อยลง ซึ่งก็จะสามารถแก้ไขปัญหาความล่าช้าของคดีได้บ้างให้ศาลฎีกาออกข้อกำหนดประธานศาลฎีกา กำหนดเวลาพิจารณาคำสั่งการขออนุญาตฎีกาที่ชัดเจน ในหลายคดีที่ผู้บริโภคชนะในชั้นอุทธรณ์แต่คดีก็ยังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจมักจะขออนุญาตฎีกา ทำให้คดีล่าช้าไม่เสร็จไปโดยเร็ว ดังนั้นจึงเสนอให้ศาลฎีกา ออกข้อกำหนดประธานศาลฎีกา กำหนดเวลาพิจารณาคำสั่งการขออนุญาตฎีกาที่ชัดเจน เช่น ภายใน 60 หรือ 90 วัน เพื่อให้คดีผู้บริโภคเสร็จไปโดยเร็วพัฒนาการบริหารงานของศาลยุติธรรมและการจัดทำคู่มือตุลาการในการปฏิบัติหน้าที่ในคดีผู้บริโภค แม้กระบวนพิจารณาของคดีผู้บริโภคจะอยู่บนพื้นฐานของระบบไต่สวน แต่ในทางปฏิบัติผู้พิพากษาส่วนใหญ่มีภาระต้องพิจารณาทั้งคดีผู้บริโภค คดีแพ่งทั่วไปและคดีอาญาด้วย และยังเคยชินอยู่กับการพิจารณาคดีที่อยู่บนพื้นฐานของระบบกล่าวหาและยังขาดความชำนาญในการไต่สวน โดยศาลไม่ได้ใช้บทบาทในเชิงไต่สวนแต่กลับถามหาทนายความของฝ่ายผู้บริโภค             ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ในเชิงการบริหาร ด้วยการพัฒนาการบริหารงานของศาลยุติธรรมโดยแยกออกตามสายงานตามระบบการพิจารณาคดีแบบกล่าวหาและแบบไต่สวน เพื่อให้ผู้พิพากษามีความชำนาญและไม่เกิดความสับสนในบทบาทหน้าที่ และการจัดทำคู่มือตุลาการในการปฏิบัติหน้าที่ในคดีผู้บริโภค หรือการจัดตั้งศาลแผนกคดีผู้บริโภคเพื่อการพิจารณาคดีผู้บริโภคไปในทิศทางเดียวกันข้อมูลรศ. ดร. อนันต์ จันทรโอภากร. “ปัญหาข้อขัดข้องการบังคับใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค” วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ 42,ฉบับที่ 3 (2556)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 107 สวัสดีปี 53 จากในสวน

เช้าวันเสาร์ เป็นเช้าแรกของการกลับมาบ้านหลังจากที่ไปอยู่กับแม่มา 1 สัปดาห์ - - ตื่นนอนราวเจ็ดโมงกว่า ลงมาก็ลอบถอนหายใจกับใบไม้แห้งที่กลาดเกลื่อนถนนแคบๆ เล็กๆ หน้าบ้าน ฉันกวาดเศษใบไม้แห้งใส่ที่ตักผงขยะเอาไปเทคลุมดินใต้ต้นไม้และในกระถางที่อยู่ในสวน  หอยทากอัฟริกาที่อยู่คู่บ้านฉันยังคงดำเนินชีวิตของมันไปอย่างปกติ และฉันก็รู้สึกปกติไปแล้วกับบรรดาไข่สีเหลืองเม็ดเล็กๆ ที่มันไข่เรี่ยไว้ตามซอกมุมอับแสง ครั้นพอเหลือบไปดูเก้าอี้และโต๊ะไม้ตัวเก่ายิ่งทำให้ต้องทอดถอนใจเฮือกใหญ่ ปลวกฟันคมฝูงใหญ่กำลังกัดแทะเนื้อไม้เก่าๆ ที่ทั้งทนทานและแข็งแรงอย่างเมามัน ฉันลากดึงเอาชุดรับแขกกลางสวนออกอย่างเก้กัง ได้แต่เอาน้ำฉีดไล่ปลวกให้ออกไปจากโต๊ะแล้วลากไปตากแดดแรง แล้วปล่อยให้ท่อสายยางลำเลียงน้ำประปามาเอ่อท้นพื้นที่เต็มไปด้วยฝูงปลวก ใจหนึ่งคิดถึงว่าแล้วรากโมกกับส้มจี๊ด อีก 3-4 ต้นที่ขึ้นคลุมบริเวณนี้จะถูกพวกฝูงมดแทะทึ้งไหม แล้วใจก็ไพล่ไปคิดต่อเรื่องบริการแสนห่วยของบริษัทกำจัดปลวกรายเดียวที่ใช้สมุนไพรล่อเหยื่อและฉีดพ่นเมื่อ 4 ปีก่อน นึกถึงน้ำส้มควันไม้ และอีกสารพัดสมุนไพร รวมทั้งงานวิจัยของ ม.เกษตรที่เอาเชื้อรามากำจัดปลวก เพื่อนบ้านที่ฉันเพิ่งออกปากขอบคุณที่ช่วยมารดน้ำต้นไม้ให้เมื่อไม่อยู่บ้านบอกให้ฉันใช้วิธีง่ายๆ แต่ได้ผลด้วยกระป๋องสเปรย์หัวฉีดพิฆาต แต่ฉันยังเกี่ยงเรื่องสารตกค้างในสารพัดผักที่ปลูกไว้กินและดูรอบบ้านมากมาย ผักกินได้ที่ใครอีกหลายคนไม่คาดคิดว่ามันจะกินได้จริงคงจะกินไม่ได้จริงๆ ก็อีตอนนี้แหละ ละจากฝูงปลวกกับชุดรับแขก ฉันใช้สายยางน้ำฉีดพรมต้นไม้ที่รกๆ ไปอย่างสบายใจ อากาศกำลังเย็นสบาย กอกล้วยไม้ 2-3 กระถางกำลังแตกตาดอก บางกระถางคลี่กลีบสวยออกมาให้ได้ชมแม้ว่าในกอเดียวกันจะมีอีกหลายดอกที่กำลังซีดสีและเหี่ยวโรย สามถั่วก็ดูจะรักใคร่กลมเกลียวดี ฉันหมายถึงอัญชันที่เลื้อยพันเกาะเกี่ยวกับดอกแคแข่งกับถั่วพู อัญชันนั้นแม้จะมีแค่กลีบเดี่ยว แต่ออกดอกดกแทบทุกข้อและติดฝักแทบทุกดอกหากไม่เก็บดอกสดไปกินหรือตากแดดเสียก่อน ส่วนถั่วพู ที่เพิ่งเอาลงใหม่เมื่อเดือนกันยายน ก็กำลังแตกดอกและออกฝักชุดแรกๆ ให้ได้เห็น เจ้าต้นแคผู้เอื้อเฟื้อนั่นก็ออกดอกขาวพราวมีให้เก็บเต็มกอบได้ทุกวัน ใต้โคนต้นแคฉันเอา ”ลองซีเมนต์” ราคาถูกแค่ 80 บาทมาทำเป็นกระถางขนาดใหญ่ ก็มีกอโหระพาที่ดอกแก่และร่วงโรยให้รอลุ้นอยู่ว่าจะมีกล้าขึ้นมาตอนไหน กอดอกอ่อมแซ่บหรือเบญจรงค์ห้าสีบานรับแสงทั้งสีนวล สีแปลกจากอื่นๆ ในสวนซึ่งมีสีม่วงอ่อนและม่วงเข้ม ... อืมจะขาดก็แต่สีชมพูหวานไปอีกสี ขณะที่อีกฟากของรั้วข้างบ้านมีต้นงาที่กำลังออกดอกสีขาวกลีบบานชูกิ่งก้านรับลมไหว เมล็ดที่ฉันหว่านทิ้งไว้คงปลิวไปตก ดีที่เพื่อนบ้านดูจะเข้าอกเข้าใจในความอยากปลูกต้นไม้ของฉันแม้ว่าจะงงๆ กับวิธีการทำสวนของฉันเมื่อแรกมาเป็นเพื่อนบ้าน หรือคำกล่าวว่าเธอและลูกได้รู้จักต้นไม้ใบผักไปพร้อมๆ กับผลผลิตที่ออกดอกผลใบ ถึงกระนั้นฉันก็ออกตัวและขออภัยต่อพี่ข้างบ้านเสมอเมื่อสารพัดไม้เลื้อยอย่างถั่วพู ยอดมันเทศ ตำลึง แตงร้าน มะระขี้นก รวมไปถึงกิ่งพริก และผักโขมจะเลื้อยไปกวนข้างทางเดินตรงริมรั้วของทั้งสองบ้าน สวนที่ดูไม่เป็นสวนผักอย่างที่ฉันปลูก ใต้ร่มไม้ใหญ่ใบโปร่งอย่างปีบที่เพิ่งออกดอกมาให้ชมเพียง 2 ครั้งในรอบ 4 ปี ยังรกเรื้อไปด้วยผักหวานบ้าน ผักหวานป่า เหมียง และผักใบแต่งกลิ่น อย่างกะเพรา โหระพา สะระแหน่ แมงลัก เบียดกับกองผักกูด และกอผีเสื้อสีม่วงแดงที่รสเปรี้ยวอร่อยที่ฉันชอบกินคู่กับผักเป็ดทั้งในเมนูสลัดผักสด และยำผักสดต่างๆ เพื่อนบ้านยังเย้าอย่างอารมณ์ดีว่าตอนที่ฉันไม่อยู่นี่มีคนมาจับจองบ้านเอาไว้ ฉันว่าฉันก็อยากยกให้พวกเขามาอยู่เหมือนกันถ้าจะมาอยู่จริง คู่นกผัวเมียตัวกระจิ๊ดเดียวที่มีปากเรียวโค้งงุ้มเล็กๆ เพื่อให้เหมาะกับการดูดกินน้ำหวานและเกสรดอกไม้ รวมทั้งแมลงตัวจิ๋วในบางครั้งคราว พวกชอบส่งเสียงจิ๊บๆ ใสๆ เจี๊ยวจ๊าวแต่ฟังเพลินยามมันมาเล่นหยดน้ำเย็นที่ค้างอยู่ตามยอดไม้ใบไม้ แต่คราวนี้เจ้าตัวใหญ่กว่านิดหนึ่งและมีท้องสีเหลืองทำหน้าที่คีบใยขาวมาลองข้างในรังอันขยุกขยุยที่สะท้อนให้เห็นความเพียรพยายามในการเก็บเศษนั่นนี่ที่ดูไม่น่าจะสร้างเป็นรังได้ ขณะที่ทุกรอบของการปฏิบัติการอย่างขะมักเขม้น มันจะต้องเรียกเสียงแหลมใสให้นกอีกตัวซึ่งมีสีท้องเหลืองสดกว่าแต่มีคอเป็นสีน้ำเงินเข้มเกือบดำมาคอยสอดส่องและส่งสัญญาณให้กันและกัน ท่ามกลางเสียงอึกทึกจากปรับซ่อมเพื่อเข้ามาอยู่ใหม่ของเพื่อนบ้านอีกฟากของรั้ว ความสุขที่นอกไปจากคิดทำเมนูแปลกๆ ใหม่ๆ ที่กินได้อร่อย ปลอดภัยและประหยัดตังค์แบบไม่จำเจซ้ำซากนักจากในสวนของฉันก็มีอันประกอบไปด้วยความสุขปลีกย่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ ... ที่เอามาฝากและแบ่งปันกัน สุขสันต์ปี 53 ค่ะ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 157 ในสวนขวัญ : ครอบครัวของเรา ก็ต้องเป็นเราที่ดูแล

ในสังคมของมนุษย์เรามีลักษณะของครอบครัวอยู่สองประเภท คือ ครอบครัวแบบที่เราไม่ได้เลือก กับครอบครัวที่เราเลือกได้เอง ในกรณีของครอบครัวที่เราไม่ได้เลือกหรือไม่มีสิทธิ์เลือกนั้น เนื่องจากมนุษย์เราเลือกเกิดไม่ได้ว่าเราจะตกฟากมาถือกำเนิดในครอบครัวใด เพราะฉะนั้น บรรดาพ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายายที่อยู่ในวงศ์วานเครือญาติและครอบครัวเดียวกับเรา ก็คือคนที่เราเลือกไม่ได้ว่าจะเกิดมาเป็นลูกเป็นหลานของใครคนใด ส่วนกรณีของครอบครัวที่เราเลือกได้นั้น ก็คือรูปแบบของครอบครัวที่มนุษย์แต่ละผู้แต่ละนามมีสิทธิที่จะสร้างขึ้นเอง โดยเลือกชายหรือหญิงที่ตนพึงใจมาเป็นสามีหรือภรรยาคู่ครองของตน แต่ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวแบบใดก็ตาม เนื่องเพราะครอบครัวเป็นสถาบันที่เล็กที่สุด แต่ก็ใกล้ชิดกับทุกชีวิตในสังคมมากที่สุดเช่นกัน ดังนั้น ครอบครัวของใคร คนๆ นั้นก็ต้องดูแลรักษาและออกแบบครอบครัวของเขาหรือเธอกันเอง และเพราะครอบครัวต้อง “ออกแบบ” หรือ “by design” แบบของใครของมัน ตัวละครอย่าง “ไม้” และ “เป็ดปุ๊ก” ในละคร “ในสวนขวัญ” จึงต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจสัจธรรมความเป็นจริงข้างต้นด้วยเช่นกัน หาก “สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน” ฉันใด ปัญหาของครอบครัวใครก็เกิดแต่ภายในของครอบครัวตนฉันนั้น เฉกเช่นเดียวกับไม้ที่ความเข้าใจผิดว่า “คุณหทัย” ผู้เป็นมารดาทอดทิ้งเขาและไปแต่งงานมีครอบครัวใหม่ ก็เป็นปมในใจที่ค้างคามานับแต่วัยเด็กของไม้   ในทางเดียวกัน สำหรับครอบครัวของเป็ดปุ๊กเอง ความขัดแย้งระหว่างบิดาหรือ “คุณเชียร” กับลูกชายและลูกสะใภ้อย่าง “ไก่กุ๊ก” และ “เก็จเกยูร” ก็ทำให้ทั้งคุณเชียรและเป็ดปุ๊กต้องระเห็จออกจากบ้านมาหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งก็คือหมู่บ้านที่คุณหทัยมารดาของไม้เป็นเจ้าของนั่นเอง เมื่อเป็ดปุ๊กย้ายรกรากมาซื้อบ้านใหม่ติดอยู่กับเรือนของไม้ ด้านหนึ่งทั้งคู่อาจจะเริ่มต้นจากความผิดใจระหองระแหง เป็นพ่อแง่แม่งอนที่ไม่เข้าใจกัน แต่เพราะกลายเป็นคนบ้านใกล้ชิดรั้วติดกัน ประกอบกับไม้ที่มีอีกอาชีพหนึ่งเป็นคนจัดสวนได้เข้ามาตกแต่งสวนในบ้านให้ลุงเชียรและเป็ดปุ๊กอยู่เป็นประจำ ความใกล้ชิดก็ค่อยๆ เกิดกลายเป็นความรักในที่สุด ไม่เพียงแต่ไม้จะได้เข้ามาช่วยดูแลแก้ปัญหาให้กับครอบครัวของเป็ดปุ๊กในหลายๆ เรื่อง แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างได้มองเห็นปัญหาของอีกครอบครัวหนึ่ง แบบที่ตัวละครพระเอกแอบมองนางเอกจากบ้านที่ปลูกอยู่บนต้นไม้อยู่ทุกวัน ต่างฝ่ายต่างก็เริ่มเข้าใจสัจธรรมที่ว่า คงไม่มีครอบครัวของใครหรอกที่จะไร้ซึ่งปัญหาใดๆ เลย เพราะฉะนั้น เมื่อพระเอกอย่างไม้ได้เข้ามาตกแต่งสวนในบ้านของเป็ดปุ๊ก รวมไปถึงร่วมมือกับวัยรุ่นในหมู่บ้าน ทำกิจกรรมแปลงเขตกองขยะให้เป็นสวนหย่อมอันร่มรื่น ก็เท่ากับการทิ้งคำถามให้กับตัวละครและผู้ชมไปพร้อมๆ กันว่า ถ้าเราเห็นครอบครัวและบริเวณรอบๆ เป็นแค่ “กองขยะ” มันก็จะเป็น “กองขยะ” อยู่เยี่ยงนั้น แต่หากครอบครัวเป็นอะไรบางอย่างในชีวิตที่มีคุณค่ายิ่งไปกว่านั้น ก็คงต้องเป็นเราที่พร้อมจะเก็บกวาด และแปลงครอบครัวให้เป็นสถาบันที่มีคุณค่าต่อชีวิตเราจริงๆ นั่นเอง แบบเดียวกับที่เป็ดปุ๊กได้ตั้งคำถามกับไม้ว่า “แล้วสวนหย่อมที่สร้างขึ้นในหมู่บ้านนี้จะมีใครมาดูแลหรือ” ซึ่งไม้ก็ตอบเธอไปว่า “ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครมาดูแล ผมก็จะมารดน้ำพรวนดินที่นี่อยู่เป็นประจำ” นั่นก็เท่ากับว่า กับครอบครัวของเรา หากเราไม่หมั่นใส่ปุ๋ยพรวนดินเอง ก็คงไม่มีใครอื่นจะมาดูแลได้ดีไปกว่าเราหรอก ในขณะเดียวกัน ตัวละครอย่างไม้และเป็ดปุ๊กก็ได้สาธิตให้เราเห็นอีกด้วยว่า วิธีการดูแลคุณค่าของครอบครัวที่ดีที่สุด ก็คือการย้อนกลับไปสื่อสารความเอื้ออาทรและ “หมั่นคอยดูแลและรักษาดวงใจ” ของคนในครอบครัวอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็เหมือนกับบรรดาเมนูอาหารไทยๆ นานาชนิด ที่ได้เข้ามาเป็นส่วนเชื่อมร้อยสายใยระหว่างสมาชิกของครอบครัวดังกล่าว ในท่ามกลางสายสัมพันธ์อันเปราะบางของคนในครอบครัวยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียวหมูปิ้งที่ไม้ซื้อมาฝาก “คุณย่าขวัญ” เอย น้ำพริกปลาร้าที่เป็ดปุ๊กซื้อมาฝากคุณเชียรเอย หมูมะนาวที่ไม้ใช้เป็นสื่อสมานรอยร้าวกับคุณหทัยผู้เป็นมารดาเอย ไปจนถึงสำรับอาหารอย่างปลาทูต้มเค็มที่ใช้เชื่อมสัมพันธ์ข้ามรั้วบ้านของไม้และเป็ดปุ๊ก สำรับเมนูเหล่านี้ก็คือการที่ตัวละครพยายามต่อสายใยบางเส้นให้กับสายสัมพันธ์ที่แห้งแล้งยิ่งนักในสถาบันครอบครัวยุคนี้ ในขณะเดียวกัน ในอีกหลืบมุมหนึ่งของตัวละคร เราก็จะได้เห็นบทบาทสำคัญของบรรดาผู้อาวุโสอย่างคุณย่าขวัญ ผู้ผ่านโลกผ่านร้อนผ่านหนาวเข้าใจชีวิตมาก่อนคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นเมื่อคุณย่าขวัญปรารถนาจะให้หลานชายได้ลงเอยเป็นฝั่งเป็นฝากับเป็ดปุ๊ก คุณย่าจึงลงมือจัดการตั้งแต่ส่งสำรับปลาทูต้มเค็มเป็นสื่อสัมพันธ์กับครอบครัวของเป็ดปุ๊ก จัดงานเลี้ยงวันเกิดของตนเพื่อให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสใกล้ชิดกัน จัดทริปท่องเที่ยวเพื่อเอื้อให้บรรยากาศเป็นใจ ไปจนถึงกลยุทธ์การสมคบคิดกับคุณเชียร เพื่อวางแผนให้ลูกหลานของตนได้เข้าใจและบอกรักกันในที่สุด บทบาทของผู้อาวุโสดังกล่าว คงบอกเป็นนัยแก่เราได้ว่า ปัญหาครอบครัวหรือปัญหาการใช้ชีวิตของคนหนุ่มสาวในท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงแบบทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่อย่างไม้และเป็ดปุ๊กคงไม่มีศักยภาพมากพอที่จะเข้าไปจัดการแก้ไขได้ด้วยตนเอง หากแต่ยังต้องพึ่งพิงผู้ใหญ่ที่เคย “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ที่จะช่วยขับให้นาวาชีวิตของคนกลุ่มนี้ดำเนินต่อไปได้ และเพราะครอบครัวของเรา ก็ต้องเป็นเราที่ดูแลแบบนี้เอง หากเราจะใช้ชีวิตอยู่ “ในสวนขวัญ” ก็คงไม่ต่างจากไม้ เป็ดปุ๊ก และตัวละครต่างๆ ที่ต้องหมั่นรดน้ำพรวนดินดูแลครอบครัวของเราให้เป็น “สวนขวัญ” ที่ร่มรื่นและมีคุณค่าต่อชีวิตจริงๆ //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point