ฉบับที่ 276 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ สำรวจซ้ำรอบใหม่ปัญหาไม่ลดลง

        ความเชื่อ ความเข้าใจ ตลอดมาของผู้บริโภค คือ น้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญคุณภาพดีและราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับน้ำดื่มบรรจุขวด   ทำให้การใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังคงได้รับความนิยมอย่างสม่ำเสมอ แต่เป็นเช่นนั้นจริงหรือ         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญที่ประชาชนควรได้บริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำแบบหยอดเหรียญที่มีคุณภาพถูกสุขลักษณะไม่มีสารปนเปื้อนใด ๆ จึงได้ริเริ่ม ความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร สำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญปีนั้น พบว่า ร้อยละ 91.6 ไม่มี/ไม่พบใบอนุญาตแสดง ณ จุดให้บริการ         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังเฝ้าระวังอยู่ และเฝ้าระวังต่อ โดยร่วมกับ “ศูนย์สิทธิผู้บริโภคในพื้นที่ 33 เขตของกรุงเทพฯ ครั้งนี้สำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจำนวน 1,530 ตู้         พบว่ามีตู้ที่ไม่ติดใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญถึงร้อยละ 90 ของกลุ่มตัวอย่าง หรือ1,380 ตู้         มีตู้น้ำดื่มไม่มีฉลากระบุเรื่องการควบคุมคุณภาพการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ1,334 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 87.2 และไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ จำนวน 1,392 ตู้  คิดเป็นร้อยละ 91         อีกทั้งยังสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญใน 33 เขตดังกล่าวจำนวน 3,041 ราย   เพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อฟังเสียงของประชาชน (ดูผลสำรวจได้ในนิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 260) การสำรวจครั้งใหม่        ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และฉบับแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและเรื่องค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2561 และต้อง “ติดฉลาก” ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก พ.ศ. 2553 เรื่อง ให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นสินค้าควบคุมฉลาก         เมื่อสถานการณ์ความปลอดภัยของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังไม่ได้รับการยกระดับ หน่วยงานยังไม่ตอบรับกับผลการสำรวจของภาคประชาชน ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิฯ จึงร่วมกับศูนย์สิทธิผู้บริโภค 33 เขต ในพื้นที่กรุงเทพฯ สำรวจคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอีกครั้งระยะเวลาการสำรวจ          มิ.ย. - ก.ค. 2566 พื้นที่การสำรวจ        33 เขตกรุงเทพฯ ได้แก่ เขตบางบอน,ลาดพร้าว,หนองจอก,แรงงานหนองจอก,คลองเตย,คลองสาน,คันนายาว,จตุจักร,จอมทอง,ดอนเมือง,ทุ่งครุ,สาทร,บางเขน,บางกอกใหญ่,บางขุนเทียน,บางคอแหลม,บางนา,บางพลัด,บึงกุ่ม,ประเวศ,พระโขนง,มีนบุรี,ยานนาวา,ราษฎร์บูรณะ,ลาดกระบัง,วัฒนา,สวนหลวง,สะพานสูง,สายไหม,หลักสี่,ห้วยขวาง,คลองสามวาและแรงงานนอกระบบเขตลาดกระบังแนวทางการการสำรวจ         การสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ดำเนินการในกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) การขออนุญาตประกอบกิจการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2561 (2) พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และ (3) คำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุุขเรื่องแนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พ.ศ. 2553         กรอบการสำรวจมีดังนี้ 1.ใบอนุญาตประกอบกิจการ 2.สถานที่ตั้ง 3.ลักษณะทางกายภาพ 4.แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิต 5.การบำรุงรักษาและทำความสะอาด และ 6.การติดฉลาก   ผลการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ (2566)1.ใบอนุญาตประกอบกิจการ          93 % ไม่พบการติดใบอนุญาตประกอบกิจการ (เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนที่ไม่พบการติดใบอนุญาต 91 %) 2.สถานที่ตั้ง         30% บริเวณที่ตั้งมีฝุ่นมาก           8% อยู่ใกล้แหล่งน้ำเสียหรือมีน้ำขัง         2% พบแมลงหรือสัตว์พาหนะนำโรคบริเวณตู้น้ำ  3.กายภาพของตู้น้ำ         31%  ตู้น้ำไม่สะอาด         6%  ไม่มีฝาปิดจ่ายน้ำ         5%  ไม่มีฝาปิดช่องหยอดเหรียญ         31% หัวจ่ายน้ำไม่สะอาด 4. แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิต        96%  ใช้น้ำประปาในการผลิตน้ำดื่ม5. การบำรุงรักษาและทำความสะอาด          57 %  ไม่มีการล้าง ทำความสะอาดถังเก็บน้ำภายในทุกเดือน  6.การติดฉลาก         93%   มีชื่อยี่ห้อ ชื่อผู้ผลิต หรือเบอร์ติดต่อ         26%   ไม่มีข้อแนะนำ หรือวิธีการใช้งาน         85%   ไม่มีบันทึกการเปลี่ยนไส้กรอง         87%    ไม่มีรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ         42% ไม่มีแสดงราคาน้ำดื่มต่อลิตร         56%    ไม่มีคำเตือนระบุว่า "ระวังอันตรายหากไม่ตรวจสอบวันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ”                  ข้อเสนอแนะจากการสำรวจ          1. เร่งดำเนินการตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานและดำเนินการตามกฎหมาย กับผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำผิดตาม พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไข         2. ให้มี “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ” เป็นการเฉพาะ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การทำธุรกิจการติดตั้งตู้น้ำดื่ม และให้มีบทกำหนดโทษ เพื่อให้น้ำที่ผลิตมีความสะอาดและปลอดภัย เพราะปัจจุบันผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังไม่มีความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ของตนเอง เช่น หากเป็นเพียงผู้ให้เช่าพื้นที่เพื่อการติดตั้งตู้น้ำดื่มเท่านั้น ไม่ได้เป็นเจ้าของตู้น้ำดื่ม ผู้ให้เช่าพื้นที่จะต้องร่วมปฏิบัติตามกฎ ระเบียบใดบ้าง เป็นต้น         3. เสนอให้หน่วยงานรัฐร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ขยายผลเรื่อง การตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เช่น การสนับสนุนผ่านกองทุนสุขภาพของแต่ละเขตพื้นที่ เป็นต้น ........................................... เลือกใช้ 'ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ' อย่างไร ให้ปลอดภัย        1. บนตู้น้ำดื่มต้องแสดง 'ใบอนุญาตประกอบกิจการ' ไว้ที่ตู้ให้เห็นชัดเจน (มีอายุ 1 ปี)        2. สถานที่ตั้งห่างไกลจากท่อระบายน้ำ ตลาดสด แหล่งขยะ ปลอดสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค อย่างหนู แมลงวัน แมลงสาบ        3. ตู้ยกสูงจากพื้นอย่างน้อย 10 เซ็นติเมตร สภาพตู้น้ำสะอาด ไม่มีฝุ่นจับหนา ไม่ผุกร่อน รั่วซึม หรือเป็นสนิม        4. แสดงการจดบันทึก วัน เดือน ปี ที่เปลี่ยนไส้กรองทุกครั้ง        5.แสดงวันเดือนปีที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำและมีคำเตือน'ตัวอักษรสีแดง'บนพื้นสีขาวระบุว่า "ระวังอันตรายหากไม่ตรวจสอบวันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ"        6. ห้องจ่ายน้ำไม่มีคราบสกปรกตะไคร่น้ำหรือน้ำขังสภาพฝาปิดห้องจ่ายน้ำไม่ชำรุดแตกหัก        7.หัวจ่ายน้ำไม่มีคราบตะไคร่น้ำหรือสนิมจับและควรล้างภาชนะให้สะอาดก่อนบรรจุน้ำขณะรองน้ำปากภาชนะไม่จ่อติดหัวจ่ายน้ำ "น้ำดื่มต้องใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสชาติ" ข้อมูลจาก: คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 ใส่คอนแทคเลนส์อย่างไร ให้ปลอดภัย

        การใส่คอนแทคเลนส์ยังคงเป็นที่นิยม บางคนใส่เพื่อแก้ปัญหาทางด้านสายตา แต่บางรายก็เพื่อแฟชั่นความสวยงามเฉยๆ แต่รู้หรือไม่ แม้การใส่คอนแทคเลนส์จะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรแต่ก็ควรจะต้องระมัดระวังกันไว้ เพราะเกี่ยวพันกับอวัยวะสำคัญอย่างดวงตา ซึ่งเป็นอวัยวะที่บอบบาง หากดูแลไม่ดีอาจทำให้เกิดอันตรายต่อดวงตาได้ ยิ่งเฉพาะสำหรับมือใหม่ที่หัดใส่คอนแทคเลนส์เป็นครั้งแรกด้วยนั้น ยิ่งต้องดูแลให้ปลอดภัย ฉลาดซื้อจึงมีวิธีที่ถูกต้องมาแนะนำ การเลือกซื้อคอนแทคเลนส์         คอนแทคเลนส์ที่จำหน่ายโดยทั่วไปส่วนมากจะมีระยะเวลาในการใส่ เช่น หลักๆ ก็จะมีเป็นแบบรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายปี เป็นต้น ซึ่งสำหรับผู้ใส่คอนแทคเลนส์ควรจะใส่ตามระยะเวลาที่เลือกซื้อ เช่น หากเลือกซื้อแบบรายวัน ก็ควรใช้แบบวันต่อวันและเปลี่ยนใหม่ในวันถัดไปทันที ไม่ควรเอาแบบรายวันมาใส่เป็นรายเดือนเด็ดขาด รวมถึงแบบอื่นๆ ด้วย ห้ามใช้เกินระยะเวลาที่กำหนดเพื่อความปลอดภัย         ในหมู่วัยรุ่นมักจะนิยมใส่คอนแทคเลนส์โดยซื้อจากตามท้องตลาดทั่วไป โดยไม่ตรวจเช็กรายละเอียดอื่นๆ แนะนำว่า ควรต้องดูฉลากกันสักหน่อย เช่น ชื่อคอนแทคเลนส์ วัสดุที่ใช้ วันเดือนปีที่หมดอายุ ที่สำคัญเลขที่ใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสามารถนำเลขมาตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ ระบบตรวจสอบผลิตภัณฑ์ - กระทรวงสาธารณสุข อย่าลืมติ๊กเครื่องมือแพทย์ก่อนตรวจสอบ  ข้อควรรู้ก่อนใส่คอนแทคเลนส์        1. สำหรับผู้ที่ต้องการใส่คอนแทคเลนส์เนื่องจากปัญหาสายตาสั้นแนะนำให้สอบถามผู้เชี่ยวชาญและเข้าตรวจวัดค่าสายตาก่อนใส่         2. ล้างมือให้สะอาดเสมอก่อนสัมผัสคอนแทคเลนส์ทุกครั้งก่อนใส่         3. ก่อนใส่คอนแทคเลนส์ควรนำออกมาแช่น้ำยาคอนแทคเลนส์ก่อนทุกครั้ง ไม่แนะนำให้แช่เป็นน้ำเกลือหรือน้ำเปล่า         4. ตรวจเช็กก่อนใส่ว่าเลนส์ไม่พลิกหรือกลับด้าน เพื่อป้องกันการใส่ผิดด้านแล้วเกิดการระคายเคือง        5. เมื่อใส่คอนแทคเลนส์แล้วไม่รู้สึกระคายเคืองตา แสดงว่าเข้าที่เรียบร้อยแล้ว หากมีอาการแสบตาระคายเคืองไม่หาย แนะนำควรถอดออกทันที         6. ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์นอนข้ามคืน (ต้องถอดออกก่อนเสมอ) เพราะเสี่ยงทำให้เกิดอาการอักเสบ ติดเชื้อ หรืออื่นๆ ที่อันตรายต่อดวงตาได้        7. สำหรับคนที่ปัญหาตาแห้งบ่อยควรพกน้ำตาเทียมเพื่อหยอดระหว่างวัน แนะนำใช้แบบธรรมดาไม่เป็นแบบหยอดตาแล้วเย็นหรือใดๆ ทั้งสิ้น        8. ที่สำคัญคือไม่ควรใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับคนอื่นโดยเด็ดขาด  ดูแลรักษาอย่างไรหลังใช้งาน         สำหรับคนที่ใช้แบบรายสัปดาห์ รายเดือนหรือปี ควรเปลี่ยนน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์ในตลับทุกครั้งหลังใช้งาน และควรทำความสะอาดอีกด้วย โดยมีวิธีดังนี้         ล้างมือให้สะอาดและนำคอนแทคเลนส์ ไว้บนฝ่ามือเทน้ำยาลงที่เลนส์แล้วใช้นิ้วถูทำความสะอาดบริเวณเลนส์สักพัก และล้างด้วยน้ำยาอีกรอบ เมื่อเสร็จให้นำใส่ตลับแล้วแช่น้ำยาเหมือนเดิม รวมถึงทำความสะอาดตลับที่ใส่ทุกวัน ในส่วนของตลับใส่ก็ควรเปลี่ยนอย่างน้อยทุก 3 เดือน  ข้อควรระวัง        ·     พิจารณาบรรจุภัณฑ์หรือขวดบรรจุคอนแทคเลนส์ ต้องไม่มีรอยชำรุดหรือเสียหาย หากเจอในลักษณะนั้น ไม่ควรนำมาใช้งาน        ·     น้ำยาคอนแทคเลนส์ ควรดูฉลากให้ชัดเจน โดยเฉพาะวันเดือนปีที่หมดอายุ ถ้าหมดอายุแล้วไม่ควรนำมาใช้ต่อ ไม่ต้องเสียดายให้ทิ้งไปเลย นอกจากนี้อ่านฉลากหรือวิธีการใช้งานให้ละเอียดและควรทำตามอย่างเคร่งครัด เนื่องจากตัวน้ำยาคอนแทคเลนส์ก็มีหลากหลายรูปแบบ บางอันสามารถหยอดตาได้หรือบางอันไม่ได้  และวิธีการใช้งานอาจแตกต่างกัน และอย่าลืม ไม่ควรใช้น้ำเปล่าหรือน้ำเกลือแทนน้ำยาเด็ดขาด         ·     หากมีอาการปวดเจ็บตาผิดปกติจากเดิม เช่น ตาแดง ตามัว ตามแห้ง รวมถึงอาการต่างๆ มากกว่านี้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา  ข้อมูลจาก : วิธีการดูแล คอนแทคเลนส์ ที่ถูกต้อง วิธีใส่คอนแทคเลนส์ที่ปลอดภัย ทำได้ง่ายใน 7 ขั้นตอนคอนแทคเลนส์ ใช้อย่างไรให้ปลอดภัยคอนแทคเลนส์ : เภสัชกรหญิง กิตติมา วัฒนากมลกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลใส่คอนแทคเลนส์อย่างไร ให้ปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 271 อากาศสะอาดเป็นสิทธิของประชาชน

        นับถอยหลัง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2566 นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่ภาครัฐจะเตรียมแผนรับมือสู้กับภัยมลพิษทางการอากาศจากฝุ่น ควันหนา ในช่วง มกราคม - พฤกษภาคม ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักชนิดที่ในปีที่แล้วประชาชนต้องอพยพ ไม่สามารถอยู่ได้         ผลสำรวข้อมูลจาก HDC service กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2566  มีจำนวนทั้งสิ้น 2,648,243 คน  พบว่ามลพิษทางอากาศในภาคเหนือทำให้ประชาชนเจ็บป่วยด้วย 5 โรค ได้แก่ โรคผิวหนัง จำนวน 721,613 ราย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 499,259 ราย โรคตาอักเสบ 445,755 ราย อาการหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน 398,229 ราย และ หลอดเลือดสมอง 294,256 ราย         ยังไม่กล่าวถึงความเจ็บป่วยของโรคดังกล่าวเมื่อเกิดในกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้มีโรคประจำตัว เด็ก และผู้สูงอายุ  ทำให้การกล่าวว่า ประชาชนภาคเหนือเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ...ไม่เกินความจริง               วิทยา ครองทรัพย์ เดิมเป็นกรรมการหอการค้าไทยจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยบทบาทที่ได้ประชุม พูดคุย หารือกับหลายฝ่ายทำให้ได้รับรู้และตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควัน มลพิษทางอากาศในภาคเหนือมากขึ้นๆ จนทำให้เขาขยับบทบาทของตนเอง เป็นผู้ประสานงานสภาลมหายใจภาคเหนือทำงานเพื่อสื่อสารถึงรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องว่า ‘ถ้ารัฐบาลทำจริง ปัญหานี้หมดไปแน่นอน’ และ อากาศสะอาดเป็นสิทธิของประชาชน  ที่มาของการเริ่มทำงาน เริ่มอย่างไร         ผมเป็นกรรมการสภาหอการค้าไทย จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2548- 2549 พอได้ประชุมกับหลายฝ่าย เรายิ่งเห็นปัญหาและแนวการแก้ไขปัญหามาตลอดแต่สถานการณ์กี่ปีๆ เราก็วนอยู่ที่เดิม จึงเริ่มเกิดการรวมตัวกันของภาคเอกชนเป็น สภาลมหายใจภาคเหนือ ติดตามปัญหาสะท้อนปัญหาให้ข้อเสนอกับสังคมให้สังคมรู้ว่า ปัญหามีทางออกถ้ารัฐบาลทำจริง ตั้งแต่ปี 2557 ผมเคยรวบรวมรายชื่อแล้วไปยื่นผ่าน เว็บไซต์ Change.com กว่า 15,000 รายชื่อยื่นให้นายกรัฐมนตรีว่าจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไรแต่ไม่เคยได้นำไปใช้เลย  ปัญหา คืออะไรบ้าง          ขอแยกเป็น 2 เรื่อง คือปัญหามลพิษฝุ่นควันกับการจัดการของภาครัฐ เรื่องมลพิษแน่นอนว่าอันตรายกับสุขภาพของเรามาก คนที่เป็นไซนัสอยู่แล้วไอออกมาเป็นเลือด พ่อแม่ของเพื่อนผมบางคนแก่มากแล้วเสียชีวิตเพราะฝุ่นควันเลย แล้วเมื่อวิกฤตประชาชนมีความพร้อมที่จะรับมือได้ไม่เหมือนกันหลายบ้านไม่มีเครื่องฟอกอากาศนี่คือเรื่องสุขภาพ ปัญหามลพิษในภาคเหนือกระทบทุกส่วนภาคธุรกิจการท่องเที่ยว         มุมที่สอง คือการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐ ต้นปีมีการสร้างภาพจัดขบวนจัดฉีดน้ำทำให้ประชาชนก็รู้สึกดีใจ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ทุกปี วิกฤตทุกครั้ง เราคนภาคเหนือต้องใส่หน้ากาก 3 M หน้ากากอย่างดีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ทางการแพทย์บอกว่า ต้องสวมไม่เกิน 15 นาทีแต่เราต้องใส่กันตลอดเพราะฝุ่นเข้าไปทุกที่ ซึ่งรัฐมีแผนรองรับฉุกเฉินปัญหาด้านสุขภาวะที่จะแจกหน้ากากอย่างดีให้ประชาชนแต่มีกว่า 20,000 ชิ้นทั้งที่ประชากรเชียงใหม่มีแสนกว่าคนแผนงานที่ทำออกมาจึงแก้ไขรองรับปัญหาไม่ได้จริง          และในรัฐบาลล่าสุดเรายังได้เห็นท่าทีของรัฐบาลว่า ยังสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ผลิตแบบสันดาปอยู่ทั้งที่เราควรยกระดับเป็นรถไฟฟ้าและยกระดับมาตรฐานน้ำมันแล้วในเมื่อสภาพอากาศเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนมากขนาดนี้  จึงเกิดการทำงานของ สภาลมหายใจภาคเหนือ เริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อไหร่            ในปี 2557 ผมทำงานรณรงค์เรียกร้องให้ยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติ  ผ่าน Change .com แต่ตอนนั้นยังไม่มีการตั้งกลุ่มอะไรแต่เรานั่งพูดคุยกันมาต่อเนื่องมีทั้ง นักธุรกิจ นักวิชาการ  ถึงจุดหนึ่งการคุยเราก็ตกลงกันว่า เราอยากรวมกลุ่มกันสะท้อนปัญหาและทางออกจากในพื้นที่เป็นเหมือนหอกระจายเสียง ผมเป็นกรรมการหอการค้าเชียงใหม่พยายามนำเรื่องนี้เข้าไปคุยในคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนทั้งระดับจังหวัดและระดับภาคเหนือในปี 2562 จึงรวมตัวกันเป็นสภาลมหายใจเชียงใหม่ แต่เราก็คิดว่าจังหวัดเชียงใหม่ที่เดียวจะไม่พอมีคณะกรรมการระดับจังหวัดไม่พอต้องรวมกันหลายๆ จังหวัด จึงรวมเป็นสภาลมหายใจภาคเหนือ การทำงานมุ่งพยายามผลักดันให้เกิดนโยบายจากรัฐบาลเป็นหลัก         สสส. เห็นความสำคัญเรื่องนี้ได้ให้งบประมาณสนับสนุนการทำงานพื้นที่เชียงใหม่ คือ สภาลมหายใจเชียงใหม่และสภาลมหายใจภาคเหนือ การทำงานเรามีความยึดโยงกันมีการประชุมร่วมกันเพื่อเป็นมติร่วมจากจังหวัดภาคเหนือทั้งหมดเพราะเราเชื่อว่า คนภาคเหนือทุกคนรับรู้ว่านี่คือความทุกข์ร่วมของเราทุกคน พอรวมตัวกันทำงานมาจากหลายฝ่ายแล้วเป็นประโยชน์ อย่างไร         ประโยชน์มากๆ จากการรวมกันเป็นสภาลมหายใจภาคเหนือคือ เรามีการติดตามร่วมกันแลกเปลี่ยน แชร์ข้อมูลและมีผู้ที่มีความรู้จากหลายฝ่าย ทั้งภูมิศาสตร์ ด้านการแพทย์ การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เราได้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลังไป 10 กว่าปี จนพบว่ามีพื้นที่เผาซ้ำซากกว่า 2 ล้านไร่ในพื้นที่นับ 10 อุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหามลพิษฝุ่นควัน          คนที่เขามีความรู้ความสามารถเมื่อได้วิเคราะห์ปัญหาและนำเรื่องออกมาสู่สังคม ประชาชนก็ได้รับรู้ข้อมูลมากขึ้น พอภาครัฐเห็นว่าเราเองก็มีข้อมูลเยอะจากตัวจริงเขาก็เริ่มปรับตัว ข้าราชการเขาก็เริ่มประสาน ช่วยกันคิดช่วยกันทำกับเรามากขึ้นจนกลายเป็นแผนแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผมได้ยื่นให้กับนายกรัฐมนตรี   การแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดภาคเหนือ อะไรคือปัญหาหลักๆ ในตอนนี้            ยังไม่มีคณะกรรมการกลไกระดับชาติ ตอนนี้กลไกต่างๆ ทำงานแบบแก้ไขไม่ได้แล้วยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ทำให้ต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่ คือ กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยซึ่งจะใช้ได้เมื่อเกิดภัยจริงๆ เท่านั้น แต่ถึงเมื่อวิกฤตก็ไม่อาจรับมือได้อย่างการเผาช่วงวิกฤตในภาคเหนือมีเป็นหมื่นจุด จุดหนึ่ง เจ้าหน้าที่นับ10 คน นั่งรถขึ้นไป บางจุดเป็นเขาเป็นหน้าผา ถ้าจะทำจริงๆ ต้องใช้เจ้าหน้าที่เป็นแสนคนแต่เจ้าหน้าที่จริงๆ มีเพียงหลักพันคน นี่คือเรามีกลไกทรัพยากรไม่เพียงพอ การประกาศเป็นวาระแห่งชาติในปี 2562 ก็ไม่ประสบความสำเร็จเลยเพราะยังทำอะไรไม่ได้            ความจริงจังของรัฐบาลดูได้จากการที่ปัจจุบัน พ.ร.บ. อากาศสะอาดยังถูกปัดตกมา 4 ครั้ง ทั้งที่หลายฝ่ายเห็นสอดคล้องกันมานานแล้วต่างคาดหวังว่าเราจะมีกฎหมายอากาศสะอาดออกมาได้ในวันหนึ่ง คนที่ยื่นมีทั้งฉบับจากพรรคการเมือง นักการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาชน แต่สุดท้ายรัฐบาลปัดตกโดยให้เหตุผลว่ากังวลจะเป็นภาระทางงบประมาณ ทำให้มีการยื่นข้อเสนอกับรัฐบาลแล้วในเรื่องอะไรบ้าง          เรายื่นข้อเสนอให้นายกเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 16 ก.ย. เรื่องยุทธศาสตร์แก้ปัญหาวิกฤติมลพิษอากาศภาคเหนือระยะเฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาปัญหาวิกฤตฝุ่นควันภาคเหนือให้ทันต้นปี 2567 โดยเป็นตัวแทนของหอการค้า 17 จังหวัด และประชาชนทุกกลุ่มเสนอให้รัฐบาลมีการสั่งการเพื่อบริหารพื้นที่อุทยานที่มีการเผาซ้ำซาก 10 แห่ง รวมถึงฝุ่นควันข้ามพรมแดน เรามีข้อเสนอ 5 ข้อ คือ 1. ให้มีแผนการบริหารการเผาทั้ง 10 แปลงใหญ่ให้มีการมอบหมายและแต่งตั้งผู้รับผิดชอบคณะทำงานที่ชัดเจน 2. ยกระดับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เป็นการสื่อสารภัยพิบัติระดับเดียวกับกรณีน้ำท่วมสถานการณ์โควิด 3. แก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะของกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้พื้นที่รุนแรงได้รับความช่วยเหลือได้ทันทีและเพื่อมีการกำกับ ป้องกันได้อย่างใกล้ชิด 4. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาขาดเจ้าภาพในการดูแลพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5. รัฐบาลต้องเร่งรัดแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนต้องมีมาตรฐานการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อควบคุมผู้เพาะปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยเล่าถึงการฟ้องคดีที่ศาลปกครองเรียกว่าเป็น คดี PM2.5 และมีคำพิพากษาออกมาแล้ว          คดีนี้มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงใหม่และประชาชน เราร่วมกันฟ้องคดีโดยฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้เร่งรัดการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีความล่าช้ากว่าแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ คือ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ปี 2562 และไม่อาจลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย         ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) หรือเรียกว่า PRTR ภายใน 60 วันนับแต่คดีถึงที่สุดซึ่งไม่ใช่คดีแรกที่ภาคประชาชนฟ้องต่อศาลเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศนี้ แต่ใน 2 ปีนี้ ประชาชนฟ้องคดีเรื่องฝุ่น PM2.5 ไปแล้วกว่า 5 คดี ผู้ที่ฟ้องมีทั้งชาวบ้าน ทนายความที่เขาเป็นคนชาติพันธุ์ฟ้องโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีซึ่งเราก็ต้องติดตามการทำหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ต่อไป สิ่งที่อยากฝาก         ผมเชื่อมั่นว่า ปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือ “ถ้ารัฐบาลทำจริง ปัญหานี้หมดไปแน่นอน ” เราเปรียบเทียบกับกรณีเกิดโควิด รัฐบาลแทบจะไม่มีข้อมูลในมือว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรแต่เมื่อเอาจริงมีแผนมีการกำกับ ติดตามมีงบประมาณเราเอาอยู่ใน 2 ปี จนระดับโลกยังชื่นชมเรา ผมถึงบอกว่า เรามีศักยภาพ เราทำได้ ปัญหาฝุ่นควันเปรียบเหมือนข้อสอบเก่าแต่ทำไมเราทำไม่ผ่านทุกปี การแก้ไขปัญหาการเผาซ้ำซากในพื้นที่ 10 แปลงใหญ่ หากทำได้ฝุ่นควันจะลดวิกฤตลงถึงร้อยละ 60 – 70 และการทำงานต้องมีความเข้าใจพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่การทำมาหากินของชุมชนผมสื่อสารเรื่องนี้มากว่า 10 ปี รู้ว่าสังคมมีความตระหนักรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ทางออกจะมีอะไรได้บ้าง จึงฝากประชาชนช่วยกันติดตามเพื่อให้มีการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหานี้กันต่อไปเพื่อสิทธิพลเมืองในการมีอากาศที่ดีเป็นพื้นฐานคุณภาพชีวิตของเราจริงๆ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 “เรากำลังหยิบยื่นมลพิษทางอากาศให้กับประชาชน คือส่งคนไปตายเพื่อแลกกับความเติบโตของทางเศรษฐกิจ”

เมื่อครั้งที่นิตยสารฉลาดซื้อแถลงข่าวเรื่องประสิทธิภาพเครื่องฟอกอากาศ ครั้งที่ 2 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น เราได้ฟังรายละเอียดเรื่อง พ.ร.บ.อากาศสะอาด จาก ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สํานักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการด้านสังคมและสุขภาพ ซึ่งพบว่าน่าสนใจจนต้องขอนำมาเผยแพร่ผ่านฉลาดซื้ออีกครั้ง “เรื่องมลพิษทางอากาศมันซับซ้อนต้องจัดการร่วมกันหลายระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับสังคม รวมถึงต้องปกป้องสุขภาพของประชาชนไปพร้อมกันการหาทางจัดการที่ต้นเหตุด้วย” สิทธิผู้บริโภคข้อหนึ่งคือสิทธิที่จะได้รับข้อมูลรวมถึงเรื่องอากาศ         เราไม่ได้รับการปกป้องสิทธิพื้นฐานเรื่องอากาศ คือสิทธิที่จะรู้ รู้ข้อมูลของอากาศที่เราหายใจอยู่เพื่อเราจะได้ปกป้องตัวเองได้ ซึ่งข้อมูลของอากาศที่เราหายใจอยู่ก็มีพวก Application ต่างๆ ตอนนี้ที่มีคนไปใช้ Air Visual กันเยอะๆ หรือว่า AQI CN ซึ่งเป็นการรายงานข้อมูลแบบ Real Time  แต่ไม่ได้เป็นข้อมูลที่ได้รับการพัฒนาจากรัฐ แนวคิดของรัฐมองว่าประชาชนทุกคนเหมือนกัน คือทุกคนเป็นคนปกติ ออกไปหายใจอากาศที่มันมีมลพิษสูงแป๊บเดียวคงไม่เป็นไร แต่ลืมคิดไปว่ามลพิษทางอากาศสูงขนาดนี้ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่เจ็บป่วยเกิดอาการรุนแรงหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่ารัฐยังละเลย         แล้วก็เวลามีการเรียกร้องของภาคประชาชนรัฐก็จะบอกว่าก็เป็นแค่ประชาชนบางกลุ่มเท่านั้นเอง เราจะต้องยึดตามมาตรฐานคือการรายงานค่ามลพิษทางอากาศ 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นมาตรฐาน เพราะฉะนั้นรัฐก็จะยึดกฎระเบียบ สิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ พลังของภาคประชาชน ที่จะต้องเรียกร้องสิทธิที่จะรู้ข้อมูลคุณภาพของอากาศ ไม่ใช่ว่าประชาชนต้องลงทุนเองเพื่อให้ได้อากาศสะอาด อย่างการลงทุนไปซื้อเครื่องมาฟอกอากาศ คือประชาชนจะต้องปกป้องตัวเองเพื่อจะให้มีอากาศสะอาดที่จะหายใจ         สิ่งที่เครือข่ายอากาศสะอาดพยายามจะเรียกร้องมาตลอดคือ ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด เพราะฉะนั้นรัฐจะต้องดูแลให้เขาได้รับอากาศสะอาดที่หายใจเข้าไปจริงๆ อย่างการปกป้องมาตรฐานของสินค้าอันนี้คือเครื่องฟอกอากาศก็เป็นเรื่องหนึ่งนะครับ มันยังมีสินค้าอื่นๆ อีกมากมายตอนนี้ที่ออกมาอย่างเช่น หน้ากากหรือว่าเครื่องวัดฝุ่น มีอีกเยอะมากเลยที่เอกชนเขาอาศัยความเป็นห่วง โดยเฉพาะพ่อแม่ที่เป็นห่วงลูกอันนี้ชัดเจนที่สุด พ่อแม่ยอมลงทุนนะครับ พวกสินค้าหน้าตาดูสวยงาม ยี่ห้อดูดี แต่ว่าอะไรคือ มาตรฐาน อย่างผลทดสอบวันนี้ผลออกมาแล้วน่าเสียใจ เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะใช้ผลการทดสอบนี้เป็นจุดเริ่มต้น ประชาชน ฉลาดซื้อ เครือข่ายนักวิชาการร่วมกันเป็นยามเฝ้าระวัง ติดตามสิ่งที่รัฐไม่เฝ้าระวัง ติดตามในสิ่งที่รัฐไม่ยอมติดตามให้เรา ผลการทดสอบถึงมาตรฐานการควบคุมสินค้าต่างๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเอาตรงนี้มาให้รู้ว่านี่คือสิ่งที่ประชาชนกำลังได้รับผลกระทบ โดยที่รัฐควรจะดูแลให้ดีขึ้นครับ         และยิ่งไปกว่านั้นเราจะต้องมาร่วมกันติดตามและก็เรียกร้อง “มาตรฐานคุณภาพอากาศ” มีเครื่องมือที่รายงานให้ประชาชนรู้และควรจะมีการรายงานที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนเจ็บป่วย ประเทศไทยขาดอะไรที่ทำให้ต้องจมอยู่กับปัญหาฝุ่นอย่างนี้ทุกปี         จริงๆ เป็นคำถามที่ดีมากครับเรามีกฎหมายเยอะ เรามีหน่วยงานเยอะมาก เรามีอะไรดีๆ เยอะครับ แต่ว่าปัญหามันคือกระจัดกระจายและขัดแย้งกันเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการก็คือการที่ภาครัฐประสานทำงานร่วมกันแล้วก็ยึดเอาประโยชน์ของประชาชนการปกป้องสุขภาพเป็นตัวตั้ง ตอนนี้นโยบายและทิศทางของการพัฒนาจะยึดเอาการพัฒนาเศรษฐกิจ การเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศเป็นที่ตั้ง สุขภาพของประชาชนมาทีหลัง ที่เราคุยกันในเครือข่ายก็คือว่า เรากำลังหยิบยื่นมลพิษทางอากาศให้กับประชาชน คือส่งคนไปตายเพื่อแลกกับความเติบโตของทางเศรษฐกิจ         กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือในขณะที่ประเทศจีนมีการควบคุมมลพิษอย่างมาก ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษร้ายแรงหลายๆ อย่างต้องย้ายฐานออกจากประเทศจีน ประเทศไทยก็เปิดรับครับให้มาลงทุนตั้งโรงงานเหล่านี้ในประเทศไทย และก็มีการแก้กฎหมายโรงงาน ทำให้โรงงานบางอย่างไม่จำเป็นจะต้องรายงานว่าเป็นโรงงานด้วยซ้ำไป  และเราก็ยังไม่มีกฎหมายที่ควบคุมว่าประชาชนมีสิทธิรู้ว่าไอ้โรงงานที่ตั้งอยู่ข้างบ้านปล่อยมลพิษอะไรบ้าง จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้นะครับ องค์ความรู้มีอยู่ กลไกรัฐมีอยู่พอสมควร แต่ต้องการการบริหารจัดการที่มันมีการเชื่อมประสานกันของทุกหน่วยงาน นี่ก็เลยทำให้เครือข่ายอากาศสะอาดตอนนี้พยายามเสนอร่าง “กฎหมายอากาศสะอาด” ฉบับที่เน้นเรื่องของการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด เพื่อสุขภาพของประชาชน ขณะนี้กำลังรณรงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อประมาณ 10,000 รายชื่อซึ่งตอนนี้ก็ได้ไปเป็นหลักพันนะครับ สาระสำคัญของ พ.ร.บ.กฎหมายอากาศสะอาดและจะลงชื่อหรือร่วมทำอะไรได้บ้าง         กฎหมายอากาศสะอาดเป็นกฎหมายที่เรียกว่าเริ่มต้นจากในประเทศอเมริกานะครับ เขามีกฎหมายอากาศสะอาด กฎหมายน้ำสะอาด เป็นกฎหมายที่ต้องการให้เกิดระบบการจัดการที่ควบคุมตั้งแต่ต้นกำเนิดจนถึงปลายทางก็คือลดมลพิษที่แหล่งกำเนิดแล้วก็มีการปกป้องสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาจากต่างประเทศ เริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกาและในอีกหลายๆ ประเทศที่มีกฎหมายอากาศสะอาดแล้วนะครับ คำว่ากฎหมายอากาศสะอาดนี้ในประเทศไทยเองก็มีผู้เสนอหลายกลุ่ม แล้วทำไมเครือข่ายอากาศสะอาดถึงจะต้องมีการเสนอร่างกฎหมายขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง เนื่องจากอย่างนี้ครับ         ร่างกฎหมายของเครือข่ายอากาศสะอาดเรียกว่าเป็นร่างกฎหมายที่มุ่งเน้นเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของการบริหารจัดการ ก็คือเราเห็นแล้วว่าในกลไกของภาครัฐ ณ ปัจจุบันมีกฎหมายอยู่เยอะแล้ว มีองค์กรอยู่เยอะแล้ว แต่สิ่งที่ขาดคือการเชื่อมประสานให้เกิดการทำงานร่วมกัน และให้มีการปกป้องสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก เพราะฉะนั้นสิ่งที่กฎหมายฉบับนี้เน้นก็คือ เรื่องของการปกป้องสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด เพราะฉะนั้นนี่คือจุดเน้นของกฎหมาย แล้วก็เป็นกฎหมายภาคประชาชน ซึ่งขณะนี้การรวบรวมรายชื่อ เนื่องจากว่ามันมีการออกกฎหมายอากาศสะอาดมาแล้วมันก็มีการรวบรวมรายชื่อไปหลายครั้ง แต่สำหรับฉบับนี้สิ่งที่อยากจะมุ่งเน้นก็คือว่าให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการมองในเรื่องการบริหารจัดการว่าต้องการแก้ไข แต่อันหนึ่งที่สำคัญในทีมของเครือข่ายอากาศสะอาดก็คุยกันและก็รู้ว่ากฎหมายภาคประชาชนนี่ยากมากที่จะผ่าน แต่เราจะใช้กระบวนการการร่างกฎหมายเพื่อให้ประชาชนได้มาสนใจในเรื่องนี้ แล้วได้มาร่วมเรียนรู้ว่าปัญหาของประเทศเราในเรื่องมลพิษทางอากาศมันอยู่ตรงไหนบ้าง และเราจะไปพ้นจากการพูดถึงเรื่องอากาศสกปรกเรื่องของมลพิษในอากาศไปสู่อากาศสะอาดอย่างไร         เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากจะเชิญชวนคืออยากจะเชิญชวนให้เข้าไปศึกษาเนื้อหาของกฎหมายที่เว็บไซด์ของเครือข่ายอากาศสะอาด Thailandcan.org  Can คือ clean care network ตรงนี้เข้าไปจะมีตัวกฎหมายแล้วก็มีสื่อต่างๆ ที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องว่าสิ่งที่เราต้องการจะให้เกิดขึ้นจากกฎหมายนี้ กฎหมายฉบับนี้มันแตกต่างจากกฎหมายฉบับอื่นๆ อย่างไร เพราะว่ามีคนออกมาพูดเรื่อยๆ ว่ากฎหมายก็มีอยู่แล้วดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราต้องการจัดการก็คือเรื่องของการบริหารจัดการ เพราะฉะนั้นก็อยากเชิญชวนนะครับไปร่วมกัน ถ้าเห็นด้วยก็ร่วมกันเป็นผู้เสนอชื่อเพื่อเสนอกฎหมายได้นะครับ              วิธีการคือ ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประชาชน เนื่องจากระบบกลไกของการเสนอกฎหมายในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศไทย 4.0 แต่ระบบเสนอกฎหมายยังเป็น 1.0 อยู่เลย ก็คือต้องเอกสารตัวจริง เพราะฉะนั้นก็เชิญชวนร่วมกันสร้างการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ตื่นรู้เพื่อการจัดการคุณภาพอากาศในประเทศไทย เพื่ออากาศสะอาดครับ กฎหมายที่เรียกว่า PRTR        กฎหมายที่เรียกว่า PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) ก็คือเป็นกฎหมายซึ่งต้องการบังคับให้ผู้ประการที่เกี่ยวข้องกับการขนย้ายสารมลพิษและการปล่อยมลพิษรายงานต่อรัฐว่ากิจการของตัวเองมีการขนย้ายและการปล่อยสารมลพิษอะไรบ้าง ซึ่งในประเทศไทยมีการเรียกร้องกันมาค่อนข้างนานแล้ว โดยเฉพาะมูลนิธิบูรณะนิเวศน์ที่ติดตามเกี่ยวกับเรื่องมลพิษในอุตสาหกรรม ซึ่งตรงนี้ทางกรมโรงงานก็บอกว่ามีการดำเนินการแล้วเป็นคล้ายๆ กับ มอก.เลยครับคือเป็นแบบสมัครใจ เพราะฉะนั้นเขาไม่รายงานก็ไม่ผิด สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือว่าการที่ไม่มีกฎหมายมาบังคับให้เขาทำสิ่งนี้    ทำให้ ณ ปัจจุบันคนกรุงเทพฯ ก็ยังไม่รู้เลยครับว่าโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่รายรอบกรุงเทพมหานครที่ปล่อยมลพิษเข้ามาในกรุงเทพฯ มีอะไรบ้าง         เมื่อไม่มีการรายงานทำให้นักวิชาการที่ทำการศึกษาวิจัยเพื่อจะหาว่ามลพิษที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครมาจากแหล่งไหนบ้าง ไม่มีข้อมูลที่จะมาใช้ในการคำนวณว่าสัดส่วนของมลพิษจากภาคอุสาหกรรมมีมากแค่ไหนในอากาศกรุงเทพมหานคร เพราะฉะนั้นกฎหมายนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในกฎหมายอากาศฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด ที่เราเรียกร้องให้มีสิ่งนี้ที่เป็นภาคบังคับเพื่อสิทธิที่จะรู้ของประชาชนที่จะรู้ว่ามลพิษทางอากาศที่หายใจอยู่ ต้องย้ำนิดหนึ่งว่า PM2.5 มีอยู่ในธรรมชาติ แต่ปัญหาของ PM2.5 ที่มันเยอะขึ้นเราไม่รู้ว่ามันมาจากธรรมชาติหรือมันมาจากแหล่งอะไร และอันที่สองคือ PM2.5 ที่มันเป็นพิษทั้งตัวขนาดของมันเองและองค์ประกอบที่เป็นสารพิษที่มีอยู่หลายร้อยชนิดใน PM2.5 นั้น เพราะฉะนั้นคนที่ทางภาคเหนือที่ต้องทนกับเรื่องนี้มานานกับคนที่สมุทรสาครที่ตอนนี้เผชิญหน้ากับโควิด แต่จริงๆ มันมีสารพิษมากมายที่ชาวบ้านที่นั่นต้องหายใจอยู่และเป็นไปได้ว่าที่เขาป่วยด้วยโควิดกันมากๆ นี่เพราะว่าปอดของเขาเสียหายจากการได้สูด PM2.5 และสารพิษมากมายอยู่มานานแล้วครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 PM 2.5 กลับมาและกลับมา ขออากาศสะอาดให้พวกเรา

เหมือนจะเป็นเหตุการณ์ประจำไปแล้วในช่วงปลายปีต่อต้นปีที่ฝุ่น PM 2.5 จะแผ่ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สร้างผลกระทบต่อสุขภาพชนิดร้ายลึก (ไม่นับด้านเศรษฐกิจ) ยิ่งสำหรับคนที่ร่างกายไวต่อมลพิษ แค่เดินออกไปข้างนอกไม่นานก็อาจเกิดอาการคันยุบยิบตามตัว มิพักต้องพูดถึงพ่อค้า แม่ค้า หรือคนที่ต้องทำงานกลางแจ้งว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง         ไล่เรียงเส้นเวลากลับไปก็ชวนคิดว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นสถานการณ์ที่เพิ่งเห็นชัดในช่วงสามสี่ปีมานี้เอง         คำถามที่เลี่ยงไม่ได้คือถ้าถอยกลับไปนานกว่านั้น เราไม่มีปัญหานี้เลยหรือ? แล้วฝุ่น PM 2.5 มาจากไหน? มันวนซ้ำเป็นวัฏจักรมาสามสี่ปีเหตุใดจึงยังไม่เห็นการแก้ปัญหาใดจากภาครัฐ?         เราจะค่อยๆ หาคำตอบร่วมกันต่อจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร         ก่อนอื่นเรามาทบทวนสั้นๆ ว่าฝุ่น PM 2.5 คืออะไร         มันคือฝุ่นละอองที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน จนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่มันมีปริมาณสูงมากเช่นที่เป็นอยู่เราจะเห็นมันเหมือนหมอกหรือควัน ถ้าคุณถูกโอบล้อมด้วยมันโดยไม่มีเครื่องป้องกัน คุณอาจมีอาการแสบตา ไอ จาม เป็นไข้ ผิวหนังอักเสบ และด้วยขนาดที่เล็กมากมันจึงสามารถลอดผ่านการกรองของขนจมูกเข้าสู่หลอดลม เดินทางไปถึงถุงลมปอด และซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งปอด ปอดอักเสบ หรือหัวใจขาดเลือด         สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดฝุ่น PM 2.5 มาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ในที่นี้คือรถ ควันบุหรี่ การเผาขยะ การเผาเพื่อการเกษตรหญ้า หรือการเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น แม้ว่าฝุ่น PM 2.5 มีอันตรายต่อสุขภาพโดยตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ยิ่งอันตรายมากขึ้นเนื่องจากมันสามารถรวมตัวกับสารพิษอื่นๆ เช่น ไฮโดรคาร์บอน ไดออกซิน ยาฆ่าแมลง และโลหะหนัก ฝุ่น PM 2.5 ในไทย สาหัสติดอันดับโลก         ย้อนกลับไปที่รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยประจำปี 2562 ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ครองแชมป์อันดับ 1 ที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุด เพราะฝุ่น PM 2.5 ฝุ่น PM 10 และก๊าซโอโซน มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐานมากกว่าปี 2561 อีกทั้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศใน 34 จังหวัดที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติ มีจำนวนวันในรอบปีที่มีปัญหาคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานมากกว่าร้อยละ 20 ใน 8 จังหวัดคือ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ ขอนแก่น และสระบุรี         รายงานสภาพคุณอากาศพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยกรมควบคุมมลพิษ ณ วันที่ 24 มกราคม 2564 พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพดีถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตรวจพบฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานที่บริเวณตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี, ริมถนนดินแดง เขตดินแดง, แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม, ริมถนนสุขาภิบาล 5 เขตสายไหม จ.กรุงเทพฯ, ริมถนนนวมินทร์ แยกบางกะปิ เขตบางกะปิ และริมถนนเลียบวารี เขตหนองจอก         มองในแง่ความร้ายแรงนี่คือสถานการณ์เร่งด่วนยิ่งยวดเพราะเราทุกคนต้องหายใจ เกิดเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองและการจัดทำแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 โดยแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง (พ.ศ.2562-2564) และระยะยาว (พ.ศ.2565-2567)ว่าแต่เรารู้เห็นความคืบหน้าอะไรบ้างยังคงเป็นคำถามคาใจ         ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่สถานการณ์เฉพาะในไทย องค์การอนามัยโลกประกาศให้มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ จำนวนมาและส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 7 ล้านคนต่อปี         ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกวางเกณฑ์ค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ไว้ โดยค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงคือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ค่าเฉลี่ยรายปีของไทยในปี 2560 อยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงคือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึง 2 เท่าและการวิเคราะห์ข้อมูลใน State of Global Air ระบุว่า ฝุ่น PM 2.5 ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทยประมาณ 37,500 คน ในปี 2558        ตัวเลขล่าสุดเมื่อปลายปี 2563 จากการวัดคุณภาพอากาศของ World Air Quality Index พบว่า ประเทศไทยมีฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนติดอันดับที่ 3 จาก 96 ประเทศทั่วโลก โดยมีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 190 หน่วย ซึ่งเป็นระดับที่อันตรายต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ มันมาจากไหน?         ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สํานักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า         “ความร้ายแรงของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ความเข้มข้นและความเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศ ที่ตอนนี้มีคำอธิบายว่าเป็นฝาชีครอบ ผมมักเปรียบเทียบกับการจุดธูปในห้องพระ ถ้าวันหนึ่งเราปิดประตูหน้าต่างควันธูปก็จะฟุ้งอยู่ในห้อง ในลักษณะเดียวกัน สถานการณ์ความเข้มข้นมันเกิดจากลักษณะอากาศว่าไหลเวียนดีแค่ไหน ในช่วงนี้ที่สถานการณ์ดูจะรุนแรงขึ้นเนื่องจากอากาศไหลเวียนไม่ดี จุดนี้การพยากรณ์อากาศจะช่วยได้”         เนื่องจากอากาศเย็นทำให้ความกดอากาศสูง ฝุ่นที่อยู่ในอากาศไม่สามารถลอยขึ้นข้างบนได้ ขณะเดียวกันกรุงเทพฯ ก็มีแหล่งกำเนิดฝุ่นหลักจากรถยนต์ ซ้ำเติมด้วยสภาพอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ทำให้เกิดสภาพห้องที่ปิดประตูหน้าต่าง และยังซ้ำเติมด้วยฝุ่นที่มาจากพื้นที่อื่น เช่น การเผาในพื้นที่ภาคกลาง หรือฝุ่นควันที่มาจากกัมพูชา ควันจากโรงงานอุตสาหกรรมในสมุทรสาคร สมุทรปราการ สระบุรี เป็นต้น         แต่กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย ในพื้นที่อื่นๆ ก็เผชิญปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วย เช่นในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งก็มีอันตรายเหมือนกัน หากพื้นที่กรุงเทพฯ ฝุ่น PM 2.5 มาพร้อมกับสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและเครื่องยนต์ ในภาคเหนือมันก็มาพร้อมกับสารเคมีทางการเกษตร และการที่มันเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งก็เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โรงงานอุตสาหกรรม การเผาป่า การเผาพื้นที่เกษตร ปริมาณรถยนต์ หรือการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ล้วนเพิ่มมากขึ้น ฝุ่น PM 2.5 จึงมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามไปด้วย         ดร.นพ.วิรุฬ เปิดเผยอีกว่า ประเทศไทยมีการตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 มาประมาณ 10 ปี แต่ไม่มีการนำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ประมาณสองสามปีที่แล้วภาคประชาชนและกรีนพีซจึงเรียกร้องให้มีการนำฝุ่น PM 2.5 เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยกรมควบคุมมลพิษ สิ่งที่ต้องแก้ไขและสิ่งที่เราทำได้         ทั้งที่มีวาระแห่งชาติออกมา แต่เรากลับไม่เห็นความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา เป็นเพราะอะไร ตอบแบบรวบรัดที่สุดเพราะ ‘ระบบราชการ’ ดร.นพ.วิรุฬ อธิบายว่า             “เป็นปัญหาเรื่องการจัดการของกลไกภาครัฐ ประเทศไทยมีกรมควบคุมมลพิษซึ่งควรจะทำหน้าที่นี้จึงตกเป็นเป้าการโจมตีซึ่งส่วนหนึ่งก็มีปัญหา แต่อีกส่วนหนึ่งก็น่าเห็นใจเพราะว่ากรมควบคุมมลพิษทำได้แค่การประกาศมาตรฐาน ส่วนการจัดการกับต้นกำเนิดอย่างเช่นโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษไม่ได้มีอำนาจเข้าไปจัดการ         “แล้วหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลโรงงานก็มีหน้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรม ไม่ได้มีหน้าที่จัดการเรื่องมลพิษจึงเกิดความย้อนแย้งกันในตัว เพราะต้องการส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมอุตสาหกรรม แต่ถ้ามีมาตรการควบคุมมลพิษมากขึ้นอุตสาหกรรมก็ไม่เติบโต มันเป็นปัญหาในเชิงระบบ ถ้ามาคุยกันจริงๆ แต่ละคนก็จะบอกว่าต้องการช่วย แต่ไม่มีอำนาจเพราะอำนาจในการควบคุมมันกระจัดกระจายและทิศทางของประเทศเองก็เน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้น มันจึงเป็นปัญหาเชิงระบบ”         ดังนั้น ในภาพรวมจึงต้องแก้ไขระบบการจัดการมลพิษทางอากาศ โดยเชื่อมโยงอำนาจ เชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานทั้งหลายให้ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการแก้ไขจากข้างบนลงข้างล่าง อย่างไรก็ตาม ดร.นพ.วิรุฬ แสดงทัศนะว่า         “การแก้ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ ผมคิดว่าต้องทำ 2 ทางคือทำจากข้างบนลงมาและทำจากข้างล่างขึ้นไปด้วย ซึ่งการทำจากข้างบนก็ต้องการแรงผลักดันจากข้างล่างที่เรียกร้องให้ข้างบนแก้ไข มีการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อผลักดันกฎหมาย”         ส่วนการทำจากข้างล่างขึ้นไป...         “ผมเคยเสนอว่าต้องทำใน 4 ระดับ ระดับที่ 1 คือตัวเราเองที่ต้องเข้าใจและปกป้องตัวเองก่อน ต้องติดตามสถานการณ์ เป็น active citizen ที่ดูแลตัวเอง ต้องรู้ว่าตัวเราไวต่อปัญหาคุณภาพอากาศหรือไม่ ระดับที่ 2 คือปกป้องคนในครอบครัว อย่างผมมีลูกเล็กๆ และมีผู้สูงอายุที่บ้าน ผมก็ต้องรู้ว่าลูกคนไหนไวเป็นพิเศษเพราะแต่ละคนแต่ละวัยได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน เช่นดูแลบ้านของเราให้มีห้องปลอดฝุ่นสำหรับผู้ที่ไวต่อมลพิษทางอากาศเป็นห้องที่ปิดประตูหน้าต่าง ถ้าดีขึ้นมาหน่อยก็มีเครื่องฟอกอากาศ         “ระดับที่ 3 คือการทำงานร่วมกับชุมชนหมายถึงการร่วมกันดูแลครอบครัวอื่นๆ ที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน เช่น บางครอบครัวมีฐานะดีหน่อย มีเครื่องฟอกอากาศเกินก็อาจจะให้อีกครอบครัวหนึ่งยืมหรือมีระบบที่ช่วยซื้อเครื่องฟอกอากาศราคาถูกที่ทุกคนพอจะซื้อได้หรือหาหน้ากากที่เหมาะกับเด็กในโรงเรียน ส่วนระดับสุดท้ายคือระดับสังคมที่ต้องร่วมกันเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ” พ.ร.บ.อากาศสะอาด อากาศสะอาดคือสิทธิในการมีชีวิต        จากที่เห็นแล้วว่าการจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาเชิงระบบอันเนื่องจากความซ้ำซ้อน การทำงานแยกเป็นเอกเทศ และขาดการบูรณาการของหน่วยงานราชการ จึงมีการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (ฉบับประชาชน) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาดที่ ดร.นพ.วิรุฬ เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย เขาอธิบายว่า         “เป้าหมายของการเสนอกฎหมายนี้เพื่อจัดการคุณภาพอากาศ ระบบการจัดการ และมีเป้าหมายชัดเจนว่าเป็นการจัดการเพื่อสุขภาพ โดยหลักการเราเน้นการจัดการแบบมีส่วนร่วม เป้าหมายจึงไปพ้นจากเรื่องมลพิษ แต่มีเป้าหมายในการปกป้องสิทธิที่จะหายใจอากาศที่สะอาดของประชาชนซึ่งเป็นสิทธิที่มีอยู่คู่กับสิทธิที่จะมีชีวิต มันเป็นสิทธิติดตัว ไม่ใช่ว่าทำให้อากาศในพื้นที่สะอาดขึ้นแล้วก็จบ แต่เป็นการมุ่งเน้นไปที่ประชาชนแต่ละคนว่าเขาจะต้องหายใจด้วยอากาศที่สะอาด กลไกของกฎหมายจะเข้าไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของกลไกราชการและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน”         ปัจจุบัน ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวม 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา ตัวเลขที่ได้ขณะนี้อยู่ที่ประมาณหลักพันกว่า (สามารถร่วมลงชื่อได้ที่ thailandcan.org)         ดร.นพ.วิรุฬ อธิบายว่า กระบวนการออกกฎหมายเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้คนทำความเข้าใจกับปัญหา เพราะว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่ากฎหมายจะผ่านหรือไม่ แต่มันจะกระตุ้นให้ประชาชนตั้งคำถามกับการจัดการมลพิษทางอากาศโดยรัฐ เกิดเป็น active citizen ที่เข้าใจเรื่องนี้และเป็นแรงผลักดันจากข้างล่างขึ้นมา         อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือพลังของผู้บริโภค ดร.นพ.วิรุฬ เสนอความคิดว่า ควรมีการ air pollution footprint เช่นเดียวกับ carbon footprint คือดูว่ากระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของภาคธุรกิจสร้างมลพิษทางอากาศมากน้อยแค่ไหน         “เช่นผู้บริโภคต่อต้านบริษัทรถยนต์ที่ไม่ติดตั้งอุปกรณ์กรองอากาศให้กับรถหรือต่อต้านบริษัทผลิตอาหารที่ส่งเสริมการปลูกแบบอุตสาหกรรมแล้วมีการเผา ผมคิดว่าพลังของผู้บริโภคจะเป็นพลังอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องจัดการกับกระบวนการผลิตของตนซึ่งจะช่วยให้การจัดการต้นกำเนิดมลพิษเป็นไปได้มากขึ้นแทนที่จะรอภาครัฐอย่างเดียว”         การมีอากาศสะอาดให้หายใจคือสิทธิในการมีชีวิต ดังนั้น ขออากาศสะอาดให้พวกเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 เปลี่ยนแปลงด้วยการเปลี่ยนแปรงสีฟันให้บ่อยขึ้น

        สารภาพมาเถอะว่า คุณจำไม่ได้ละว่าเปลี่ยนแปรงสีฟันครั้งล่าสุดเมื่อไร เพราะคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและทันตแทพย์จะย้ำเสมอว่า เปลี่ยนทุกสามเดือน แต่จะมีกี่คนที่ทำตามคำแนะนำนั้น ส่วนใหญ่ก็รอจนแปรงสีฟันบาน...ปลาย ทั้งนี้ทั้งนั้นเกิดจากความเสียดายนั่นเอง (ก็ของมันยังใช้ได้) แต่ถ้าต้องการถนอมเงินจริงๆ สู้เปลี่ยนแปรงสีฟันให้บ่อยหรือตามคำแนะนำของทันตแพทย์จะช่วยประหยัดมากกว่า เพราะเท่ากับป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพฟัน ที่รู้กันว่าค่ารักษาไม่ถูกเลย         ถ้าเฉลี่ยว่าคุณแปรงฟันวันละสองครั้ง ตลอดเวลาสามเดือนเท่ากับแปรงของคุณผ่านการใช้งานมาเเล้วกว่า 180 ครั้ง เคยมีการส่องกล้องขยายเพื่อดูสภาพของขนแปรงก็พบว่ามันเสื่อมสภาพสุดๆ ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคแม้จะเหมือนว่าเราล้างแปรงสะอาดแล้วก็ตาม หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ คือการใช้แปรงสีฟันเก่าซ้ำๆ จะมีผลต่อเหงือกและฟัน แน่นอนว่าสภาพแปรงที่เสื่อมประสิทธิภาพในการขจัดสิ่งสกปรก คราบพลัค เศษอาหารตามผิวฟันเเละร่องฟันจะลดลง ขนแปรงที่บานจะทำให้เกิดผลเสียบางอย่างตามมาเช่น เหงือกอักเสบ บวมแดง หรือมีเลือดออกระหว่างแปรงฟัน          การเลือกซื้อแปรงสีฟัน         1.ขนาดของหัวแปรง หัวแปรงสีฟันสำหรับผู้ใหญ่ควรมีขนาดกว้างประมาณ ½ -1 นิ้ว และความยาวประมาณ 1 นิ้ว เพราะขนาดหัวแปรงที่ใหญ่เกินไปอาจทำความสะอาดในบริเวณที่ยากจะเข้าถึงได้ไม่หมดจด         2.ขนแปรง มีความอ่อนนุ่ม ปลายขนแปรงโค้งมนเล็กน้อย ซึ่งวัสดุที่ใช้ตั้งแต่ชนิดอ่อนนุ่ม, ชนิดนุ่มพิเศษ ชนิดปานกลาง ขนแปรงที่เหมาะสมในการใช้งานสำหรับผู้ใหญ่ควรผลิตจากไนลอน พีบีที (Polybutylene Terephthalate: PBT) หรือวัสดุที่ระบุคุณสมบัติเทียบเท่า ขนแปรงที่มีความแข็งอาจสร้างความเสียหายให้กับเหงือก รากฟัน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของฟันแต่ละบุคคลรวมถึงวิธีแปรงฟันด้วย         3.แปรงสีฟันไฟฟ้าดีกว่าไหม ขึ้นอยู่กับบุคคลและความชอบส่วนตัว เพราะแปรงสีฟันไฟฟ้ามีราคาค่อนข้างสูงกว่าแปรงสีฟันธรรมดา อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายเสริมในขณะใช้งานตามมา เช่น หัวแปรง แบตเตอรี่หรือถ่านไฟฉาย แม้สะดวกสบายกว่าแต่ราคาไม่ธรรมดา ส่วนผลการใช้งานไม่แตกต่างกันมากนัก ขึ้นอยู่กับวิธีแปรงฟันมากกว่า         4.แปรงสีฟันสำหรับเด็ก หัวแปรงและด้ามมีขนาดเหมาะสมตามอายุของเด็ก ขนแปรงอ่อนนุ่ม หลายยี่ห้อได้รับการรับรองจากหน่วยงาน ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง         การทำความสะอาดและเก็บรักษาแปรงสีฟัน        · ควรล้างแปรงสีฟันให้สะอาดทุกครั้งก่อนการเก็บ        · การวางแปรงสีฟันในที่เก็บหรือภาชนะต่างๆ ควรวางในลักษณะตั้งแปรงขึ้นให้หัวแปรงอยู่ด้านบน        · ที่สำหรับวางแปรงควรมีอากาศถ่ายเทสะดวก และควรมีลมพัดผ่านเพื่อให้ขนแปรงแห้ง        · ไม่ควรเก็บแปรงไว้ในกล่องแบบมิดชิด เพราะอาจจะมีส่วนทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้         ลองเช็คดูว่าแปรงของคุณเริ่มเสื่อมเเล้วหรือยัง สังเกตจากรูปร่างขนแปรงที่เปลี่ยนไป แปรงสีฟันที่ใช้งานนานๆ จะเริ่มมีปลายขนแปรงที่บาน มีสีแปรงเริ่มเปลี่ยนไป บางทีไม่ถึงสามเดือนถ้าสภาพไม่ไหวก็เปลี่ยนเถอะ และทุกๆ ครั้งที่ป่วย เป็นหวัด เป็นไข้ แผลในปากหรือแม้แต่อาการเจ็บคอ ก็ควรจะเปลี่ยนแปรงสีฟันทันทีเพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ที่ยังคงค้างอยู่บนแปรงสีฟัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 รับมือกับปัญหาสิว

        สิวเกิดขึ้นเพราะผิวหนังมีการอุดตันอยู่ใต้รูขุมขน เมื่อต่อมไขมันผลิตไขมันมากและระบายออกไม่ดีจะเกิดการอุดกลั้นทางเดินของไขมันทำให้เป็นสิว ซึ่งแบ่งได้สองลักษณะใหญ่ คือ ยังไม่อักเสบจะแค่เป็นสิวหัวขาวหรือสิวหัวดำ แต่ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียจะทำให้เกิดการอักเสบของสิวกลายเป็นสิวอักเสบและสิวที่เป็นหนอง         สิวมักเป็นปัญหาใหญ่ของวัยรุ่น แต่ผู้ใหญ่ก็เป็นได้เนื่องจากสิวเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย สิวจะว่าเป็นปัญหาเล็กหรือใหญ่ก็ได้ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา โดยเฉพาะปัญหารอยแดงหรือรอยแผล(หลุมยุบ)จากสิว ส่วนใหญ่เป็นแล้วหายอยาก บางคนดูแลไม่ดีกลายเป็นเรื่องให้เคืองใจกันตลอดชีวิต ถ้าไม่อยากให้เกิดปัญหาต้องรักษาสิวให้ถูกวิธีตั้งแต่แรก  การรักษาสิว         วิธีที่ได้ผลดีและถูกต้องคือการใช้ยา ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องใช้ยาหลายตัวประกอบกันมีทั้งแบบรับประทานและยาทา ดังนั้นควรได้รับการดูแลโดยแพทย์ผิวหนัง เพื่อวินิจฉัยสาเหตุหรือต้นเหตุที่ทำให้เกิดสิว และเพื่อป้องกันอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์         อย่างไรก็ตามบางคนมีสิวแค่เม็ดสองเม็ดจะไปหาหมอก็ดูยุ่งยากเกินไป ปัจจุบันจึงมียาแต้มสิวออกมาเป็นผู้ช่วยสำหรับการรักษาเพื่อให้สิวยุบตัวอย่างรวดเร็ว การเลือกใช้ยาหรือเจลแต้มสิว ต้องเลือกให้ถูกกับชนิดของสิวที่เป็น ธรรมดาสิวแบบไม่อักเสบ (กดไม่เจ็บ) จะรักษาง่ายกว่าสิวอักเสบ เพราะเพียงกำจัดความมัน(ส่วนเกิน) และเลือกยาที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวให้ไวขึ้น เช่น Benzoyl Peroxide (เบนโซอิล เปอร์ออกไซด์) หรือยาในกลุ่มวิตามินเอ สิวก็ไม่กลับมากวนใจอีกเพียงแต่ต้องดูแลในภายหลังให้ถูกวิธี        ส่วนสิวที่รักษายากคือสิวอักเสบ ที่เกิดเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สิวมักจะมีลักษณะบวม แดง มือกดแล้วเจ็บ การรักษาทำได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทาภายนอกจะช่วยรักษาสิวอักเสบโดยเฉพาะ ที่นิยมคือ ตัวยา Clindamycin (คลินดามัยซิน)         เวลาจะทายาสิวควรทาเฉพาะจุดที่มีปัญหาสิวเท่านั้น ป้องกันการแพ้ยา และอ่านคู่มือการใช้ยาให้ละเอียดก่อนการใช้ ยาแต้มสิวประเภทยาปฏิชีวนะควรทาขณะผิวชื้น(หลังอาบน้ำหรือล้างหน้าทันที) เพราะจะช่วยให้ยาสามารถซึมถึงจุดที่อักเสบได้ดีที่สุด         กรณีรักษาสิวอักเสบ เมื่อใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาผู้ใช้ต้องคงระยะเวลาการใช้ยาให้ต่อเนื่องแม้สิวยุบแล้วเพื่อป้องกันการดื้อยาในอนาคต และอีกเรื่องหนึ่งคืออย่าใจร้อน บางครั้งการรักษาด้วยยาตัวแรกได้ผลไม่ทันใจ ก็รีบร้อนเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่น แบบนี้จะสร้างปัญหามากกว่าการแก้ไขปัญหาเพราะเสี่ยงทำให้เกิดการดื้อยาและเกิดอาการแพ้ยาได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 232 ถึงโควิดบุกแหลก ก็อย่าสติแตกกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

        ยุคโควิด 19 ระบาด สิ่งที่บุกแหลกไม่แพ้เชื้อโควิด 19 ก็คือ ข้อมูลข่าวสารจากแหล่งต่างๆ จริงบ้าง มั่วบ้าง คลาดเคลื่อนบ้าง กระหน่ำมาตามๆ กัน นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อโรคก็ไม่ยอมตกขบวนมีจำหน่ายในท้องตลาดมากมาย แต่ละผลิตภัณฑ์ก็อ้างว่าจัดการเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้อยู่หมัด แต่ที่แน่ๆ มันจะจัดการดูดเงินในกระเป๋าสตางค์เราไปก่อนเป็นอันดับแรก ฉลาดซื้อเล่มนี้ขอแนะนำผลิตภัณฑ์และวิธีการการทำความสะอาดอย่างฉลาดซื้อฉลาดใช้เพื่อความปลอดภัยและไม่สิ้นเปลือง        สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจคือ โควิด 19 มันคือไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งหากมันเข้าไปอยู่ในร่างกายของเรา มันก็จะมีชีวิตอยู่ได้เรื่อยๆ ยิ่งคนที่อ่อนแอ หรือมีภูมิต้านทานต่ำๆ มันก็จะยิ่งออกลูกออกหลานกันสนุกสนานอยู่ในร่างกายเราเพิ่มมากขึ้นไปอีก แต่ถ้าเราเป็นคนแข็งแรงมีภูมิต้านทานสูงภูมิต้านทานในร่างกายเราก็จะช่วยกันจัดการเจ้าไวรัสตัวแสบนี้ได้         และเมื่อมันหลงเข้ามาอยู่ในร่างกายเราแล้ว บางทีเราก็จะเผลอแพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้างได้ เพราะมันจะหลุดออกมากับละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ และน้ำตาของเรา กระเด็นไปสู่คนรอบข้างที่อยู่ใกล้ๆ หรือกระเด็นไปติดตามที่ต่างๆ แล้วดันมีคนโชคร้ายไปสัมผัสตรงพื้นที่นั้นก็รับเชื้อจากเราไปโดยไม่รู้ตัว นี่คือเหตุผลที่เขาจึงรณรงค์ให้ กินร้อน ใช้ช้อนตัวเอง เร่งล้างมือ คาดหน้ากากปิดจมูกและปาก และอย่าอยู่ใกล้ชิดกันเกินไป         โดยทั่วไปแล้ว เชื้อไวรัสเมื่อมันอยู่นอกร่างกายเรา มันจะใจเสาะอายุสั้น แค่ไม่กี่ชั่วโมงก็ตายแล้ว แต่เจ้าโควิด 19 มันเป็นไวรัสพันธุ์หัวแข็งตายยากกว่าไวรัสอื่นๆ เช่น ถ้าอยู่บนโต๊ะ พื้นผิวต่างๆ หรือลูกบิดประตู ก็อยู่ได้ถึง 4 – 5 วัน แต่ถ้ามันเจออากาศที่ร้อนกว่า 30 องศาเซลเซียส อายุก็จะสั้นลง ปัจจุบันจะมีผลิตภัณฑ์ ที่อ้างว่าสามารถใช้ทำลายเชื้อโควิด 19 ได้ ซึ่งขึ้นกับชนิดของสารเคมี บางชนิดก็ราคาแพงมาก แต่ที่จริงแล้วเจ้าโควิด 19 นี้ มันตายได้ง่ายถ้าเจอสบู่ น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ ตลอดจนเจอความร้อนสูงๆ  รู้อย่างนี้จะจ่ายแพงกว่าทำไม ขอแนะนำในการทำความสะอาดสิ่งต่างๆ ที่ง่ายและประหยัดดังนี้        การทำความสะอาดมือ ถ้าอยู่บ้านหรือสำนักงาน ให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือน้ำยาล้างมือก็พอแล้ว ทางสาธารณสุขเขาแนะนำให้ล้างมือ 7 ขั้นตอน แต่ถ้าจำไม่ได้ ก็จำง่ายๆ แค่ล้างให้ละเอียดทั่วทุกซอกทุกมุม ให้มือสัมผัสกับสบู่หรือน้ำยานานพอสมควร นานประมาณร้องเพลงช้างช้างช้าง 2 รอบก็ได้ และหากออกไปนอกบ้าน หาที่ล้างมือไม่ได้ ก็สามารถใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อแทนได้ จะเป็นน้ำยาแอลกอฮอล์ หรือแอลกอฮอล์เจลก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องมี % ของแอลกอฮอล์ไม่น้อยกว่า 70% และเมื่อใช้แล้วก็ไม่ต้องเช็ดออก ต้องปล่อยทิ้งไว้ให้มือแห้งเองด้วย         ถ้วยชามภาชนะต่างๆ ใช้น้ำยาล้างจานทั่วไปก็พอแล้ว ถ้าไม่มั่นใจก็นำมาตากแดด หรือลวกด้วยน้ำร้อนหรือน้ำเดือดสัก 30 วินาที         สำหรับเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ก็ใช้ผงซักฟอกเหมือนที่เคยใช้ แล้วเอามาตากแดดร้อนๆ ของเมืองไทย ก็ใช้ได้แล้ว         ส่วนพื้นผิวต่างๆ เช่น โต๊ะ ลูกบิด ราวบันได ใช้แอลกอฮอล์ 70 %  หรือน้ำยาทำความสะอาดชนิดที่ระบุว่าฆ่าเชื้อไวรัสได้ เช็ดถูทำความสะอาดให้ทั่ว และเช็ดบ่อยๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ามีคนมาสัมผัสมากน้อยขนาดไหน         สำหรับพื้นที่เราเหยียบย่ำนั้น สามารถใช้ ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาดพื้นชนิดที่ระบุว่าฆ่าเชื้อไวรัสได้ เช็ดถูทำความสะอาด วันละ 1 – 2 ครั้ง ขึ้นกับสถานการณ์ต่างๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ร้อง...โรงเรียนไม่สะอาด

        โรงเรียนนั้นเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของลูก ก่อนคุณพ่อคุณแม่จะให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนไหนก็มีการศึกษาข้อมูลโรงเรียนเป็นอย่างดี ยิ่งลูกยังอยู่ในวัยเล็กๆ การดูแลความปลอดภัย สวัสดิภาพ ความสะอาดของโรงเรียนยิ่งต้องมีมากขึ้นด้วย เพราะเด็กเล็กจะติดเชื้อโรคได้ง่าย         คุณภูผามีลูกเล็กสองคน ลูกชายวัยสามขวบหนึ่งคน และลูกสาววัยขวบกว่าอีกหนึ่งคน ลูกชายของเขาอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเข้าโรงเรียนชั้นอนุบาล 1 เขาและแฟนจึงได้เลือกโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงใกล้บ้าน เพื่อง่ายต่อการรับส่ง ในเดือนมิถุนายนเด็กนักเรียนในโรงเรียนเริ่มป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก และลูกชายของเขาก็ติดโรคมือเท้าปากจากโรงเรียน จึงต้องหยุดเรียนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ระหว่างลูกชายหยุดเรียนเขาได้ข่าวจากผู้ปกครองทางไลน์กลุ่มว่าที่โรงเรียนมีเด็กป่วยเพิ่มขึ้นตลอด และก่อนให้ลูกชายกลับไปเรียน เขาได้ไปขอใบรับรองแพทย์อีกครั้งว่าลูกชายหายจากโรคมือเท้าปากแล้ว แต่เมื่อลูกชายไปเรียน กลับติดโรคมือเท้าปากอีกครั้ง และครั้งนี้ลูกสาวก็ติดโรคมือเท้าปากด้วย         คุณภูผาต้องเสียค่ารักษาพยาบาลของลูกสองคน 2 ครั้งเป็นเงินเกือบ 100,000 บาท เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เขารู้สึกว่าทางโรงเรียนไม่ได้มีมาตรการป้องกันการติดเชื้อ ทำให้ไม่มีความมั่นใจที่จะให้ลูกของเขาเรียนที่โรงเรียนนี้อีกต่อไป จึงได้ติดต่อไปยังโรงเรียนแจ้งลาออกและขอเงินค่าเทอมคืน          หลังจากนั้นภูผาได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งช่วยดำเนินการประสานงานกับโรงเรียน ทางโรงเรียนแจ้งเขาว่าจะคืนเงินค่าเทอมให้เพียง 40% เป็นเงินจำนวน 18,800 บาท จากค่าเทอม 47,000 บาท และค่าแรกเข้าอีกรวมเป็นเงิน 62,000 บาท ทั้งที่ลูกชายของเขาเพิ่งไปเรียนได้เพียง 1 เดือนกว่า เมื่อสช.ประสานงานไปยังโรงเรียน โรงเรียนได้มีมาตรการควบคุมโรคโดยปิดโรงเรียนเพียง 3 วัน ซึ่งตามมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนต้องกำหนดมาตรการโรคโดยปิดชั้น หรือปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลา 5 – 7 วัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่โรงเรียนก็ไม่ได้ทำตามมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ และไม่มีมาตรการคัดแยกเด็กนักเรียนที่ป่วยกับไม่ป่วยออกจากกัน ทั้งยังจัดกิจกรรมเล่านิทาน ให้เด็กนักเรียนหลายห้องมารวมกัน จึงทำให้มีการแพร่เชื้อได้ง่าย ภูผารู้สึกว่าถูกโรงเรียนเอาเปรียบจึงร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนะนำว่า ผู้ร้องสามารถขอเงินคืนได้ เพราะกรณีดังกล่าวเป็นการผิดสัญญาจ้าง หากโรงเรียนไม่สามารถทำได้ตามสัญญา ผู้ร้องก็มีสิทธิเรียกเงินในส่วนที่เหลือคืน และการที่โรงเรียนได้มีหนังสือแจ้งผู้ร้องแล้วว่าจะคืนเงินให้ 40 % นั้น ถือว่าเป็นการยอมรับการยกเลิกสัญญาแล้ว เพียงแต่ปัจจุบันไม่สามารถตกลงในเรื่องจำนวนเงินที่จะคืนได้          ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้เชิญประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างโรงเรียนและผู้ร้อง โดยผู้ร้องเสนอให้โรงเรียนหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามระยะเวลาที่เข้าเรียนและคืนเงินจำนวน 40,000 บาท แต่ตัวแทนโรงเรียน ยืนยันคืนเงิน 40 % ของเงินค่าเล่าเรียนจำนวน 47,000 บาท เป็นเงินจำนวน 18,800 บาท ซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้ ผู้ร้องจึงขอให้ศูนย์พิทักษ์ช่วยเหลือด้านทนายความในการดำเนินคดีกับโรงเรียน         ผู้ร้องได้ดำเนินการฟ้องคดีกับโรงเรียนและเจ้าของโรงเรียนเป็นคดีผู้บริโภค เรื่อง ผิดสัญญาให้บริการทางการศึกษา ต่อมาสามารถตกลงกันได้ โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โรงเรียนตกลงคืนเงินค่าแรกเข้าและค่าเล่าเรียนให้กับผู้ร้องเป็นเงินจำนวน 62,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 กระแสต่างแดน

 งานด่วน        ยักษ์ใหญ่ในวงการผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดกำลังแข่งกันว่าใครจะส่งสินค้าที่ “สามารถฆ่าไวรัสโคโรนาได้” ออกสู่ตลาดได้ก่อนกัน         เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ (เจ้าของแบรนด์เดทตอล) แถลงเป็นรายแรกว่าได้ซื้อสเตรนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากห้องปฏิบัติการอิสระมาแล้ว         ตามข้อกำหนดของยุโรปและอเมริกา ต้องมีผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองโดยหน่วยงานควบคุมมายืนยันว่าผลิตภัณฑ์นั้นฆ่าไวรัสได้ร้อยละ 99.99 จึงจะสามารถโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ “ฆ่าไวรัสได้”         ผลทดสอบจะออกปลายเดือนเมษายนนี้ แต่ยังต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่าหกเดือนสำหรับการทดสอบอย่างเข้มข้นโดยหน่วยงานควบคุมอีกหลายครั้ง (ซึ่งมีค่าใช้จ่ายหนึ่งถึงสองแสนเหรียญ (3.2 ล้านถึง 6.4 ล้านบาท)         ข่าวไม่ได้ระบุราคาของไวรัส แต่แหล่งข่าวคาดการณ์ว่าอีกสามค่าย (โคลร็อกซ์, ยูนิลเวอร์, และ พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล) คงจะซื้อสเตรนไวรัสสุดเฮี้ยนนี้มาแล้วเช่นกันคนจีนไม่ถูกใจสิ่งนี้        เป็นธรรมเนียมปกติสำหรับศิลปินดาราจีนที่จะต้อง “แทนคุณแผ่นดิน” ที่ผ่านมามีหลายคนมอบเงินบริจาคเพื่อสู้กับวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น ชาวเน็ตจึงรวบรวมรายชื่อดาราและเงินบริจาคมาแชร์กันในโลกออนไลน์        งานนี้หลายคนได้รับการชื่นชมมาก เช่น เจย์ โชว์และภรรยาที่บริจาคให้มูลนิธิแห่งหนึ่งในมณฑลหูเป่ยเป็นเงิน 3 ล้านหยวน (13.7 ล้านบาท) หรือเจ้าเปิ่นชาน เจ้าพ่อแห่งวงการบันเทิงที่บริจาคให้กับเทศบาลเมืองอู่ฮั่นถึง 10 ล้านหยวน ( 45.8 ล้านบาท)         แต่บางรายโดนถล่มยับเพราะไม่เป็นไปตามความคาดหวังของชาวจีน เช่น หวงเสี่ยวหมิงและภรรยา ที่มอบเงินให้มูลนิธิแห่งหนึ่ง 200,000 หยวน (917,000 บาท)         โดนหนักที่สุดคือ คริสตัล หลิว นางเอกภาพยนตร์เรื่องมู่หลาน นอกจากถูกหาว่าขี้เหนียวเพราะบริจาคแค่ 200,000 หยวนแล้วเธอยังโดนประณามว่า “ไม่มีสำนึกรักบ้านเกิด” ด้วย  ไหนว่าไม่มี        คอนแทค เอนเนอร์ยี ผู้ประกอบการด้านพลังงานที่ใหญ่เป็นอันดับสองของนิวซีแลนด์ถูกสั่งปรับเป็นเงิน 245,000 เหรียญ (4.8 ล้านบาท) เนื่องจากทำผิด พ.ร.บ.การค้าที่เป็นธรรม ถึงเจ็ดข้อหา          บริษัทยอมรับผิดกรณีที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของโปรโมชัน Fuel Rewards Plans ในปี 2017 ที่โฆษณาว่าลูกค้าจะได้ส่วนลดลดค่าน้ำมัน 10 ถึง 50 เซนต์ต่อลิตรทุกเดือน และยังคำนวณให้ด้วยว่าใครที่เลือกโปรฯ แบบหนึ่งปีจะประหยัดเงินได้ถึง 180 เหรียญ (3,500 บาท) สิ่งที่ไม่บอกให้ชัดคือ ผู้บริโภคมีสิทธิได้ส่วนลดที่ว่านี้เพียงเดือนละครั้ง และจำกัดที่ไม่เกิน 50 ลิตรแต่ที่น่าตีที่สุดคือบริษัทยังมั่นหน้าชูสโลแกน “ไม่ตุกติก ไม่ต้องรอ ไม่มีเซอร์ไพรซ์”          คณะกรรมการพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการฟ้องบริษัทนี้บอกว่า การกระทำเช่นนั้นส่งผลให้ผู้บริโภคลดความระมัดระวังในการอ่านเงื่อนไขตัวเล็กๆ ก่อนตัดสินใจ น้องหมางานเข้า        มาตรการล็อกดาวน์ในสเปนที่สืบเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนไม่สามารถออกมาสูดอากาศนอกบ้านได้เลย          เฉพาะคนที่มีสุนัขเท่านั้นที่ได้สิทธิพามันออกมาเดินเล่นในระยะเวลาสั้นๆ ให้มันได้ทำธุระส่วนตัว         แต่คุณจะพากันออกมาทั้งครอบครัวไม่ได้ เขาให้โควตาน้องหมาหนึ่งตัวต่อคนจูงหนึ่งคน นอกจากจะต้องมีถุงเก็บมูลสุนัขแล้ว คนจูง (ซึ่งต้องจูงสุนัขตลอดเวลา) ต้องเตรียมน้ำยาทำความสะอาดละลายน้ำใส่ขวดมาราดทำความสะอาดบริเวณที่สุนัขอึหรือฉี่ด้วย         เมื่อใครๆ ก็อยาก “จูงน้องหมา” ความฮาจึงบังเกิดในโลกโซเชียล... เราได้เห็นคลิปชายคนหนึ่งแอบจูงตุ๊กตาน้องหมาออกมานอกบ้าน หรือคุณพ่อที่จับลูกสาวแต่งเป็นดัลเมเชียนเพื่อจะพาเธอไป “เดินเล่น”         เรายังได้เห็นโฆษณา “ให้เช่าสุนัข” และภาพล้อเลียนที่น้องหมาในสภาพอิดโรยกำลังโอดครวญว่า “วันนี้แม่พาผมเดินไป 38 รอบแล้วนะ”  พักหรูสู้โควิด        หลายโรงแรมอาจเลือกปิดกิจการชั่วคราวในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ไม่ใช่ที่โรงแรม Le Bijou ในเมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์         โรงแรมแห่งนี้เสนอ “แพ็คเกจสุดหรู ที่ควรคู่กับการกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่ไวรัสโคโรนา” ที่นอกจากห้องพักหรูเลิศ ซาวนาและยิมส่วนตัวแล้ว คุณยังสามารถเลือกบริการเสริมต่อไปนี้ได้ตามใจชอบ          มาดูกันว่าคุณชอบค่าใช้จ่ายของแต่ละบริการหรือไม่         บริการตรวจหาเชื้อไวรัส  500 ฟรัง (17,000 บาท)  การเยี่ยมโดยพยาบาลวันละสองครั้ง 1800 ฟรัง (61,000 บาท)  หรือออปชันแบบมีพยาบาลส่วนตัวดูแล 24 ชั่วโมง 4,800 ฟรัง (164,000 บาท)         รวมๆ แล้ว ถ้าคุณพักที่นี่จนครบช่วงเวลากักตัว 14 วัน ก็เตรียมควักกระเป๋าอย่างน้อย 80,000 ฟรัง (2.7 ล้านบาท)  โอ... มันช่างเป็นประสบการณ์ที่เลอค่าจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 สวยและสะอาด

        โรคโควิด 19 ไม่สนใจไม่ได้แล้ว ถึงไม่ต้องตระหนกมาก แต่เราควรตื่นรู้และป้องกันไว้ก่อน ด้วยการทำให้สะอาด โดยเฉพาะอุปกรณ์ติดกาย มือของเรา และต้องระวังสิ่งที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น        นอกจากหน้ากากอนามัย ที่อาจจำเป็นต้องพกไว้และใส่ให้ตัวเองเมื่ออยู่ในสถานที่ที่อากาศปิดและแวดล้อมด้วยผู้คนจำนวนมาก อาจรวมถึงเผื่อหยิบยื่นให้คนที่ไอ จามโดยไม่สวมหน้ากาก (หน้ากากอนามัยจะป้องกันการแพร่เชื้อสำหรับคนป่วยได้ถึง 90% แต่หากเราแข็งแรงดีและไม่ได้ใกล้ชิดผู้ที่ไอ จามในระยะ 1 เมตร อาจไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากาก ยิ่งเป็นที่รโหฐานใส่ในบ้าน ใส่นอน อันนี้ไม่มีประโยชน์)         สิ่งที่จำเป็นต้องระวังมากกว่าคือ สิ่งของที่อาจต้องจับต้องร่วมกับผู้อื่น เช่น ตัวจับประตูปิดเปิด ร้านค้า ห้าง ห้องน้ำสาธารณะ ปุ่มลิฟต์ ประตูรถแท็กซี่ ห่วง เสา บนรถประจำทาง ซึ่งแน่นอนละว่า ไม่จับก็ไม่ได้ วิธีการที่ต้องฝึกทำให้บ่อยขึ้น คือ          ล้างมือให้บ่อยและล้างให้ถูกวิธี        1. ล้างด้วยสบู่และน้ำ หลักการคือ ล้างด้วยระยะเวลาอย่างน้อย 20-30 วินาที เคยมีคนบอกว่าเท่ากับร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์สักสองรอบ วิธีนี้ประหยัดและง่าย แต่อาจไม่สะดวกจำเป็นต้องมีสถานที่ ดังนั้นควรทำเมื่อกลับถึงบ้าน ก่อนรับประทานอาหารหรือเตรียมอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ เล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือล้างทุกครั้งเมื่อคิดว่ามือสกปรก         2. ล้างด้วยเจลล้างมือ วิธีนี้ค่อนข้างสะดวก แต่ก็ต้องทำให้ถูกวิธีด้วยเช่นกัน คือใช้ในปริมาณที่พอเหมาะและระยะเวลาที่พอดี อย่างน้อย 20 วินาทีต่อการล้างหนึ่งครั้ง หากระหว่างการใช้เจลล้างมือแล้วพบว่าเนื้อเจลแห้งในเวลาไม่ถึง 15 วินาที หมายความว่า เจลล้างมือที่ใช้มีปริมาณน้อยเกินไป และอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อโรค          ทำความสะอาดเครื่องใช้ส่วนตัว         ข้าวของบางอย่างแม้เป็นของใช้ส่วนตัว แต่ก็อาจมีการสัมผัสกับเชื้อโรคได้เพราะใช้ในที่ชุมชน เช่น โทรศัพท์มือถือ กระเป๋าสะพาย เป้สะพาย และเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ สำหรับเครื่องใช้ควรทำความสะอาดเมื่อกลับเข้าบ้าน วิธีง่ายๆ คือ การตากแดด เนื่องจากบ้านเราแดดร้อนและเชื้อไวรัสจะไม่ชอบพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูง หรือเช็ด พ่นด้วยแอลกอฮอลล์ เสื้อผ้าควรหมั่นซักให้บ่อยขึ้นไม่หมักหมมไว้เป็นที่เพาะเชื้อ        การป้องกันตัวเองจากการสัมผัสเชื้อโรคด้วยการทำความสะอาด เป็นหัวใจสำคัญที่ควรคำนึง เพราะไม่เพียงช่วงป้องกันเราจากไวรัสโคโรนาเท่านั้น แต่ยังป้องกันเราจากเชื้อโรคอื่นๆ อีกด้วย ดังนั้นควรทำให้เป็นนิสัยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการระบาดของโรคเกิดขึ้นก่อนจึงค่อยทำ          

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 น้ำยาทำความสะอาดมือ

        น้ำยาทำความสะอาดมือ(Hand Anticeptic) เป็นสารที่ใช้เพิ่มเติมเป็นทางเลือกของการทำความความสะอาดมือ โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่มีน้ำ ปัจจุบันมีทั้งรูปแบบเจล โฟมและสารละลายเหลว เมื่อฉบับที่แล้วฉลาดซื้อได้สุ่มสำรวจผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือไป ฉบับนี้จึงขอต่อเนื่องมาที่ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ แบบที่ไม่ต้องพึ่งพาน้ำกันบ้าง ซึ่งได้รับความนิยมมากพอสมควรมีหลายผลิตภัณฑ์ให้เลือกซื้อหา ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่พบมีสารออกฤทธิ์สำคัญคือ เอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ดี เหมาะสำหรับการฆ่าเชื้อบนผิวหนัง นอกจากนั้นก็จะมีการผสมสารประเภทที่ให้ความชุ่มชื้น ครีมบำรุงและสารประเภทน้ำหอมเพิ่มเติม ซึ่งไม่มีประโยชน์ในงานทำความสะอาดแต่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจ โดยลดความกังวลเรื่องที่มืออาจแห้งกร้านเนื่องจากการสัมผัสแอลกอฮอล์            จากการสุ่มตัวอย่างพบผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือแบบไม่ใช่น้ำ จำนวน 11 ผลิตภัณฑ์ มีส่วนผสมหลักดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่มีอยู่สองตัวที่มีส่วนผสมของ ไตรโคลซาน ซึ่งฉลาดซื้อเคยนำเสนอไปว่า เป็นสารที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสารที่มีอันตรายสูง ทำให้มีปัญหากับระบบนิเวศดังนั้นควรหลีกเลี่ยง         น้ำยาทำความสะอาดมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่ดีควรเป็นอย่างไร            1.ควรมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ระหว่าง 60-85 % เพื่อให้เพียงพอสำหรับการฆ่าเชื้อ            2.มีฉลากระบุวันผลิตและวันสิ้นอายุที่ชัดเจน(ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ)  รวมทั้งคำเตือนที่จำเป็น เช่น ห้ามใช้หรือวางใกล้เปลวไฟ            3.มีเลขจดแจ้งที่ชัดเจน น้ำยาทำความสะอาดมือจัดเป็นเครื่องสำอาง ดังนั้นต้องมีเลขที่จดแจ้งตามกฎหมายเครื่องสำอาง  ความสะอาดมือบ่อยๆ        การล้างมือเป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันการติดเชื้อที่ดี โดยทั่วไปหากมือสกปรกควรล้างด้วยน้ำและสบู่ เพื่อชะล้างคราบสกปรกออกไป แต่หากเป็นกรณีที่มือไม่มีคราบสกปรกแต่อาจสัมผัสกับจุดเสี่ยง เช่น การสัมผัสกับสิ่งของสาธารณะ สัตว์เลี้ยง การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือแบบไม่ต้องใช้น้ำ ก็ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้ วิธีการใช้ผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่ถูกต้อง         เจลล้างมือควรใช้ในปริมาณ 3-5 ซีซี หรือปริมาณเท่าขนาดเล็บหัวแม่มือของผู้ใช้ ถูให้ทั่วฝ่ามือและซอกเล็บ ถูจนเจลระเหยหมดภายในครึ่งนาที (หากเจลระเหยอย่างรวดเร็วก่อน 15 วินาที อาจหมายถึงใช้เจลในปริมาณน้อยไป ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการกำจัดเชื้อโรค) ระวัง!เจลล้างมือติดไฟได้ หากถูกสะเก็ดไฟ         เจลล้างมือมีส่วนผสมสำคัญคือแอลกอฮอล์ ที่นอกจากมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค และยังสามารถติดไฟได้ง่าย ดังนั้นเจลล้างมือจึงติดไฟได้ง่ายเช่นกัน โดยเฉพาะในผู้สูบบุหรี่ ผู้ที่ใช้เจลล้างมือหลังชโลมเปียกทั่วมือแล้วจึงควรรอให้แห้งก่อน ซึ่งใช้เวลาประมาณครึ่งนาที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 สถานบริการเสริมความงามไม่สะอาด

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้บริการสถานบริการเสริมความงาม หนีไม่พ้นเรื่องความสะอาดของสถานที่ เพราะจัดว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสถานที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตามหากเราบังเอิญเข้ารับบริการแล้วเผอิญพบว่า สถานที่ดังกล่าวไม่มีการรักษาความสะอาดเท่าที่ควร จะสามารถแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง ลองไปดูกันคุณสมปองเข้าใช้บริการร้อยไหมแก้มที่สถานบริการเสริมความงามแห่งหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้เข้าไปพักในห้องพักของสถานบริการดังกล่าว เธอพบว่าห้องพักมีการนำเตียง 3 – 4 เตียงมาวางเรียงกัน โดยมีเพียงผ้าม่านโปร่งกั้นไว้ แต่ในวันที่คุณสมปองเข้าไปใช้บริการกลับไม่มีการกั้นม่านแต่อย่างใด อีกทั้งเตียงด้านข้างของคุณสมปองก็เป็นลูกค้าผู้ชาย ซึ่งในขณะนอนพักนั้นคุณสมปองมีเพียงผ้าขนหนูผืนเล็กสำหรับปิดช่วงหน้าอกเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อลูกค้าได้รับบริการเสร็จเรียบร้อยและลุกออกจากเตียง พนักงานก็จะทำความสะอาดเตียงด้วยการสะบัดและพับผ้าให้เข้าที่โดยไม่มีการเปลี่ยนผืนใหม่ และสิ่งที่เธอรู้สึกรับไม่ได้มากที่สุดคือ พยาบาลไม่ใส่ถุงมือ ใช้เพียงมือเปล่าหยิบเครื่องมือแพทย์ หรือหยิบยาที่ส่งให้กับลูกค้ารับประทาน ทำให้คุณสมปองส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบมาตรฐานการดำเนินงานของสถานบริการเสริมความงามดังกล่าวแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ส่งหนังสือส่งถึง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานสถานพยาบาลดังกล่าว ด้วยเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง และได้รับหนังสือตอบกลับมาดังนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้เข้าตรวจสอบสถานบริการเสริมความงามดังกล่าวแล้ว ซึ่งพบว่าเป็นสถานพยาบาลที่ได้รับการจดแจ้งถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน  พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และเมื่อเจ้าหน้าที่ของกรมสนับสนุนฯ ได้เข้าไปตรวจสอบสถานบริการดังกล่าวก็พบว่า มีลักษณะเป็นจริงตามที่มีการร้องเรียนมา ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการเพื่อปรับปรุงแก้ไข ดังนี้1. กรณีห้องพักของสถานพยาบาล (ห้อง Treatment) สามารถจัดรวมให้มีได้ 4 เตียง ตามมาตรฐานทางการแพทย์ และเปลี่ยนม่านกั้นเป็นแบบทึบแสง กั้นระหว่างเตียง เพื่อให้เป็นสัดส่วน มิดชิดและมีความปลอดภัยต่อผู้รับบริการ นอกจากนี้ให้เปลี่ยนผ้าปูเตียง และผ้าอื่นๆ ที่ใช้แล้วทุกครั้ง เพื่อความอนามัยและป้องกันการติดเชื้อ2. ให้ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์อย่างเหมาะสม โดยทำตามคู่มือการทำความสะอาดเพื่อให้เครื่องมือปราศจากเชื้อ นอกจากนี้ให้พนักงานสวมถุงมือทุกครั้งที่ทำหัตถการ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้รับบริการ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 เกร็ดความรู้เรื่องการซักผ้าด้วยเครื่อง ตอนที่ 2

กิจกรรมการซักผ้าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่แต่ละครอบครัวจะต้องทำเป็นกิจวัตร คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ อาจจะมีเวลาไม่มากนัก การซักผ้าอาจจะพึ่งพาแม่บ้านมืออาชีพ (คนรับจ้างทำงานบ้าน) บางท่านอาจยังไม่ได้แต่งงาน ใช้ชีวิตเป็นคนโสด ก็อาจจะใช้บริการ จ้างร้านซักรีด หรือไม่ก็ใช้บริการตู้ซักผ้าหยอดเหรียญ ซึ่งมีแพร่หลายอยู่ทั่วไป บทความในวันนี้จะอธิบายและให้ความรู้เกี่ยวกับการซักผ้าด้วยเครื่องซักผ้าอัตโนมัติผงซักฟอกสำหรับผ้าสี กำจัดคราบสกปรกได้ดีหรือไม่เนื่องจากในผงซักฟอกสำหรับผ้าสีโดยทั่วไป ไม่ได้มีสารเคมีที่สำคัญในการกำจัดคราบคือ สารฟอกขาว (bleaching medium) ซึ่งจำเป็นในการกำจัดคราบที่ฝังแน่นบนเนื้อผ้า แต่ผงซักฟอกปัจจุบันมีส่วนผสมสาร Tenside ซึ่งทำหน้าที่ในการละลายคราบไขมันบนผ้า และสารเอนไซม์ที่ช่วยกำจัดคราบได้ดีขึ้น สำหรับผงซักฟอกสำหรับผ้าขาวนั้นมีสารเคมีที่ช่วยกำจัดคราบสกปรกได้ดีอยู่แล้วใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มดีหรือไม่ผ้าบางชนิดไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม เช่น ผ้าเช็ดมือ การใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มกับผ้าเช็ดมือ ทำให้ผ้าเสื่อมคุณภาพเร็ว และสารเคมีที่ผสมอยู่ในน้ำยาปรับผ้านุ่มอาจทำให้เกิดอาการแพ้ เมื่อสัมผัสกับผิวของคน นอกจากนี้การใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มก็ยังเป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอีกด้วยมีผงซักฟอกที่ถนอมเนื้อผ้าหรือไม่ผ้าที่ซักด้วยผงซักฟอก เมื่อผ่านการซักหลายครั้งย่อมทำให้สีซีดสีจางลงได้ ซึ่งเป็นผลมาจากสารเคมีในผงซักฟอก โดยทั่วไปผงซักผ้าสี ป้องกันสีซีดสีจางได้ดีกว่าผงซักฟอกผ้าขาวที่มีส่วนผสมของ Bleaching medium มีความสามารถในการซักฟอกได้ดี แต่ก็ทำให้ผ้าเสื่อมสภาพได้เร็วเช่นกันกลิ่นไม่พึงประสงค์จากเครื่องซักผ้าเกิดขึ้นได้อย่างไรในกรณีที่การระบายน้ำในเครื่องซักผ้าไม่หมด และปล่อยทิ้งไว้ในเครื่องซักผ้า แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของกลิ่นไม่พึงประสงค์สามารถเจริญเติบโตได้ และกลิ่นไม่พึงประสงค์จากเครื่องซักผ้า ก็อาจติดอยู่กับเสื้อผ้าที่เราซักได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เครื่องซักผ้านั้นเป็นเครื่องซักผ้าสาธารณะ การป้องกันคือ การซักเครื่องเปล่า โดยใช้ผงซักฟอก และใช้น้ำซักที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นทำความสะอาดกล่องใส่ผงซักฟอก เมื่อซักเครื่องเปล่าเสร็จแล้ว ก็เปิดฝาทิ้งไว้จนภายในเครื่องแห้งสนิทในการซักผ้านอกจากเราคำนึงความสะอาดของเนื้อผ้าแล้ว ปัจจุบันเราต้องหันมาสนใจในประเด็นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเลือกใช้เครื่องซักผ้าที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ และช่วยให้เราประหยัดปริมาณผงซักฟอกที่ใช้ด้วย และท้ายสุดคือ ประหยัดเงินของเรา ดังนั้นการเลือกซื้อเครื่องซักผ้า จึงเป็นสิ่งที่เราควรหาข้อมูลทางด้านประสิทธิภาพเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือก(แหล่งข้อมูล: วารสาร Test ฉบับที่ 8/2012)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 สิ่งแปลกปลอมในขนมปัง

อาหารที่สะอาดและรสชาติอร่อยเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ผลิตควรคำนึงถึง โดยไม่ควรปล่อยให้มีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนมาในอาหาร เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ทั้งยังผิดกฎหมายอีกด้วย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ คุณสมชายซื้อขนมปังยี่ห้อ เลอแปง หน้าพิซซ่าฮาวายเอี้ยน ราคา 15 บาท จากร้านค้าขนาดเล็ก (มินิมาร์ท) แห่งหนึ่งมารับประทาน โดยขณะรับประทานจนเกือบหมดแล้วพบว่า เขาได้กัดชิ้นส่วนแปลกปลอมเข้าไป ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นสีดำอมเขียว ความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร โดยเขาสันนิษฐานว่าอาจเป็นชิ้นส่วนของพลาสติก คุณสมชายจึงโทรศัพท์ไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อร้องเรียนปัญหา ซึ่งพนักงานได้แจ้งว่าให้เก็บขนมปังดังกล่าวไว้ และจะเดินทางมารับไปตรวจสอบในวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้ภายหลังบริษัทเข้ามารับขนมปังดังกล่าวก็ได้มอบกระเช้าของขวัญให้คุณสมชาย และแจ้งว่าชิ้นส่วนดังกล่าวน่าจะเป็นเศษขนมปังเก่าที่สะสมมานาน ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตามคุณสมชายยังคงไม่มั่นใจและต้องการผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีนี้สามารถใช้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาอ้างอิงได้ โดยตามมาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายอาหารดังต่อไปนี้ (1) อาหารไม่บริสุทธิ์ (2) อาหารปลอม (3) อาหารผิดมาตรฐาน และ (4) อาหารอื่นที่รัฐมนตรีกำหนด นอกจากนี้ตามมาตรา 58 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25 (1) ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้ร้องสามารถเรียกค่าเสียหายกับทางบริษัทได้ตาม พ.ร.บ. นี้ได้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแจ้งผู้ร้องว่าหากยังไม่ได้รับความคืบหน้าจากทางบริษัท สามารถส่งรายละเอียดให้ศูนย์ฯ ช่วยประสานงานกับผู้ผลิตได้ โดยใช้หลักฐานในการดำเนินการ ดังนี้ 1.หลักฐานการซื้อสินค้า 2.ใบเสร็จรับเงิน 3. สินค้าที่พบความเสียหายพร้อมรูปถ่าย 5. ใบแจ้งความบันทึกประจำวัน และ 6. รูปภาพตอนรับกระเช้าของขวัญจากทางบริษัท ทั้งนี้ภายหลังผู้ร้องได้ตอบกลับมาว่า ทางบริษัทได้แจ้งผลการตรวจสอบแล้วว่า ชิ้นส่วนดังกล่าวคือเศษขนมปังเก่าจริง โดยชี้แจงวิธีการผลิตและขั้นตอนต่างๆ ซึ่งเขาพอใจการดำเนินการดังกล่าว และไม่ติดใจร้องเรียนค่าเสียหายต่อ จึงขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 รู้เท่าทันการทำความสะอาดแผลด้วยน้ำประปา

เมื่อร่างกายเกิดแผลขึ้น  ความเชื่อที่ถูกสอนกันมาอย่างต่อเนื่องและสอนกันผิดๆ ก็คือ เราต้องใช้ยาฆ่าเชื้อโดยเฉพาะทิงเจอร์ไอโอดีนเทลงบนแผลหรือทาที่แผลสดเลยเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค  ความจริงแล้วเราสามารถใช้น้ำประเภทต่างๆ มาทำความสะอาดแผลได้  โดยไม่ต้องหรือที่ถูกก็คือห้ามใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทาที่แผล  น้ำที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ น้ำเกลือธรรมดา(น้ำเกลือธรรมดาที่มีความเข้มข้นร้อยละ 0.9 ซึ่งเท่ากับกับความเข้มข้นของเกลือในกระแสเลือดของคนปกติ)  เหตุที่ทางการแพทย์นิยมใช้น้ำเกลือธรรมดาเพราะว่ามีเข้มข้นของเกลือเท่ากับเลือดและไม่มีผลกระทบต่อกระบวนการเยียวยาของแผลตามปกติ  อย่างไรก็ตาม น้ำเกลือมีจำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาและใช้ในโรงพยาบาลเท่านั้น  เราสามารถใช้น้ำประปาในการทำความสะอาดแผลแทนน้ำเกลือได้หรือไม่?  และมีผลในการหายของแผลได้เหมือนน้ำเกลือธรรมดาหรือไม่?  ถ้าได้จะเป็นการประหยัดและสะดวกอย่างมาก  เราลองมารู้เท่าทันการทำความสะอาดแผลด้วยน้ำประปากันเถอะ    ห้องสมุดคอเครน  ได้ทำการทบทวนข้อมูลและการศึกษาวิจัยจากงานการทบทวนของคอเครนเอง และงานวิจัยของ MEDLINE, EMBASE และ EBSCO CINAHL โดยได้ทำการคัดกรองการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมที่เปรียบเทียบการใช้น้ำกับสารอื่นๆ ในการทำความสะอาดแผล  การรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลใช้นักวิชาการสองท่านทำงานแยกจากกัน    ผลการทบทวนงานการศึกษาทดลอง 11 การศึกษา พบว่า  การใช้น้ำประปาในการทำความสะอาดแผลในผู้ใหญ่และเด็กไม่มีผลต่อการติดเชื้อที่แผลอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำเกลือ  และไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของการติดเชื้อที่แผลระหว่างการทำความสะอาดแผลด้วยน้ำประปากับการไม่ทำความสะอาดแผลด้วยวิธีการใดๆ  ในแผลเรื้อรังก็ไม่พบมีความแตกต่างของการติดเชื้อเช่นเดียวกัน  การใช้น้ำเกลือธรรมดา น้ำกลั่น และน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วในการทำความสะอาดแผลกระดูกหักแบบเปิดก็ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในการติดเชื้อที่กระดูก     ผลการทบทวนสรุปว่า  ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการใช้น้ำประปาในการทำความสะอาดแผลสดในผู้ใหญ่หรือเด็กจะเพิ่มหรือลดการติดเชื้อ  ยังไม่มีหลักฐานหนักแน่นพอว่า การล้างแผลนั้นช่วยให้การหายของแผลเร็วขึ้นหรือลดการติดเชื้อ  ในกรณีที่ไม่มีน้ำประปา อาจใช้น้ำที่ต้มสุกและเย็นแล้ว เช่นเดียวกับน้ำกลั่นในการทำความสะอาดแผลได้    ท่านผู้อ่านคงสบายใจได้แล้วนะครับว่า  ถ้ามีแผลสด แผลเรื้อรัง  เราสามารถใช้น้ำประปา (ที่สะอาดและดื่มได้) หรือน้ำดื่มที่มีตราของอย. มาทำความสะอาดแผลได้โดยไม่ต้องวิ่งหาซื้อน้ำเกลือธรรมดา  โรงเรียนในชนบทก็ไม่ต้องซื้อน้ำเกลือธรรมดามาเก็บตุนไว้เพื่อรอทำแผลเด็กนักเรียน  ใช้น้ำเปล่าบรรจุขวดที่มีตราอย.แทนได้เลย ที่สำคัญเลิกใช้ยาฆ่าเชื้อทาที่แผลสดโดยตรง  อย่างมากก็ทารอบๆ แผลก็พอหมายเหตุ:  ศึกษาเพิ่มเติมใน  Water for wound cleansing  โดย  Ritin Fernandez, Rhonda Griffiths ตีพิมพ์ออนไลน์เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 ก๊าซเอ็นจีวี พลังงานสะอาด ปลอดภัยจริงหรือ

ยวดยานนับหลายล้านคันที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในปัจจุบัน มีรถยนต์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงอยู่เกือบ 2 แสนคัน คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเอ็นจีวีเป็นพลังงานสะอาดและปลอดภัย แต่ความเชื่อนี้อาจจะไม่เป็นจริงเสียแล้วในวันนี้เราทราบถึงคำถามเรื่องนี้จากการจัดเวทีเสวนาของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล ที่มีนางสาวรสนา โตสิตระกูล วุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน เวทีนี้จัดไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมาจุดเริ่มเรื่องมาจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือร้องเรียน มาถึงคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว โดยแจ้งว่า เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2552 กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวง พลังงาน ได้ออกประกาศขึ้นมาฉบับหนึ่ง เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของก๊าซธรรมชาติ สำหรับยานยนต์ พ.ศ.2552สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้คือ ต้องการให้เอ็นจีวีที่ใช้กับรถยนต์ซึ่งถูกผลิตมาจากแหล่งผลิตต่างๆ เช่น จากฝั่งอ่าวไทย จากฝั่งอันดามัน จากแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ จ.กำแพงเพชร หรือจากแหล่งน้ำพอง จ.ขอนแก่น และมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันโดยธรรมชาติได้มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดค่าดัชนีวอบบี้หรือค่าพลังงานความร้อน ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ได้ให้อยู่ระหว่าง 37-42 เมกกะจูล/ลูกบาก์เมตร(MJ/m3) และให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกินร้อยละ 18 ของปริมาตรอ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้บริโภคอาจคิดว่าก็ดีแล้วนี่ ที่มีการปรับปรุงคุณภาพก๊าซเอ็นจีวี แล้วจะมาร้องเรียนกันทำไม สิ่งที่ผู้บริโภคต้องตั้งคำถามสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมตรงนี้ว่า ผลของประกาศฉบับนี้ ทำให้ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ ใช้เป็นเงื่อนไขที่จะต้องมีการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดค่าดัชนีวอบบี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด ซึ่งจะต้องมีการปิดปั๊มก๊าซเอ็นจีวีหลายแห่งในช่วงเดือนสิงหาคมต่อเดือนกันยายน 2553 เพื่อทำสิ่งที่เรียกว่า “ปรับปรุง” คุณภาพก๊าซเอ็นจีวีที่จะจำหน่ายให้กับผู้ใช้รถยนต์กว่า 2 แสนคันและให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ค่าดัชนีวอบบี้หรือค่าพลังงานความร้อนที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนดน่ะ ดันต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากลของก๊าซธรรมชาติที่หลายๆ ประเทศมีใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่ถูกกำหนดไว้ที่ 46-52.9 MJ/m3 และต่ำกว่าค่าดัชนีวอบบี้ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งต่างๆ ในประเทศ โดยเฉพาะจากแหล่งอ่าวไทยซึ่งถือเป็นแหล่งใหญ่ที่นำมาผลิตเป็นก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งมีค่าดัชนีวอบบี้อยู่ที่ 41.9-44.0 MJ/m3ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค คือ การไปกำหนดค่าดัชนีวอบบี้ที่ต่ำว่ามาตรฐานสากลและต่ำกว่าคุณสมบัติที่เป็นจริงของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ของประเทศเช่นนี้ ทำให้ ปตท. ใช้โอกาสนี้เติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในในเอ็นจีวีเพื่อให้ได้มาตรฐานต่ำๆ ตามที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด และยังปล่อยให้เติมได้ถึง 18% ของเนื้อก๊าซเอ็นจีวีทั้งหมด ในขณะที่มาตรฐานสากลยอมให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกิน 3% หรือในบางมาตรฐานที่บางประเทศใช้กันเขาไม่ยอมให้มีเลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน อันเกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลกนั่นเองและสิ่งที่สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ กังวลมากที่สุด คือ หากปล่อยให้มีอัตราส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงมากภายในถังเก็บก๊าซเอ็นจีวีที่ติดตั้งกับรถยนต์ประเภทต่างๆ ทั้งรถบรรทุกหรือรถยนต์ส่วนบุคคลเมื่อใด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อาจทำปฏิกิริยากับน้ำหรือความชื้นที่อยู่ในถังซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย จะทำให้เกิดเป็น Feco3 หรือเหล็กคาร์บอเนต ซึ่งจะทำให้ถังเอ็นจีวีมีโอกาสกัดกร่อนได้เร็วขึ้น เปรียบเสมือนว่า ถังก๊าซเอ็นจีวี(ที่ติดตั้งในรถยนต์กว่า 2 แสนคัน)มีโอกาสระเบิดได้ทุกเมื่อ เนื่องจากก๊าซเอ็นจีวีเป็นก๊าซคุณสมบัติเบากว่าอากาศมากจึงต้องใช้แรงดันอัดมหาศาลและต้องอยู่ในถังที่มีสภาพความทนทานมากๆ เท่านั้น ใช้ถังเหล็กธรรมดาอย่างก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีไม่ได้อ่านมาถึงตรงนี้ จึงขอตั้งเป็นคำถามสำคัญสำหรับผู้บริโภคทุกคนว่า เงินที่เราจ่ายซื้อเอ็นจีวีเติมลงไปในถังนั้นคุ้มค่าจริงหรือไม่ เพราะแทนที่เงิน 100 บาทที่จ่ายไปจะได้เอ็นจีวีที่มีคุณภาพช่วยรถวิ่งปรื๋อเต็มๆ 100 บาท กลับกลายเป็นเงินซื้อขยะอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปถึง 18 บาททั้งๆ ที่ไม่ได้มีความจำเป็นกับรถยนต์ของเราเลยสักนิด และท้ายสุดก็ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก เป็นแรงหนุนทำให้โลกร้อนขึ้นร่วมกับรถยนต์ที่ใช้ก๊าซแอลพีจี เบนซิล หรือดีเซลดังนั้น อ่านเรื่องนี้กันแล้วในฐานะคนอ่านฉลาดซื้อต้องช่วยกันตะโกนถามคำถามนี้กันดังๆ ครับ หวังว่าเมื่อกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ยินคำถามของผู้บริโภคแล้ว จะได้กลับไปใช้สมองคิดทบทวนการกำหนดคุณภาพมาตรฐานก๊าซเอ็นจีวีเสียใหม่โดยเร็ว อย่าปล่อยให้ผู้บริโภคต้องถูกเอารัดเอาเปรียบและตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตแบบนี้เลยขอรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 ใครคือแชมป์ ซักสะอาดหมดจด

  ถ้า “แฟ้บ” เป็นชื่อสามัญของ “ผงซักฟอก” ในเมืองไทย ก็ต้องนับว่าเขายังรักษาคุณภาพในการผลิตได้ดีมาจนถึงวันนี้ ฉลาดซื้อได้รับคำแนะนำจากผู้อ่านให้ทดสอบเรื่องผงซักฟอกมาก็นานแล้ว แต่ยังไม่ได้ฤกษ์เสียที จนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคขันอาสามาเป็นคณะทำงานทดสอบเรื่องประสิทธิภาพของผงซักฟอกให้ ผลก็คือ ข้อมูลที่มีประโยชน์มากสำหรับผู้บริโภคทุกท่าน ที่หลายครั้งก็ให้งุนงงสงสัยในเรื่อง ประสิทธิภาพของผงซักฟอก ที่แสนจะหลากหลายสูตรหลายยี่ห้อ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็โฆษณากันได้น่าตื่นตาตื่นใจจริงๆ   ฉลาดซื้อและเครือข่ายนักวิชาการฯ แบ่งผลิตภัณฑ์ผงซักฟอกเป็นสองประเภทคือ ซักมือกับซักเครื่อง ฉบับนี้ขอนำเสนอเฉพาะ สูตรสำหรับซักด้วยมือก่อน เพราะมีหลายยี่ห้อมากและเป็นผลิตภัณฑ์ที่วางขายกันแพร่หลายกว่าชนิดซักเครื่อง จำนวนตัวอย่างที่นำมาทดสอบมีทั้งสิ้น 20 ตัวอย่าง สรุปผลได้ดังนี้  เยี่ยมทั้งซักและดีต่อสิ่งแวดล้อม1. แฟ้บ เพอร์เฟค2. บิ๊กซี แมคคัลเลอร์ ไบร์ท3. แฟ้บ คัลเลอร์4. บิ๊กซี แมคออกซี่ ไวท์ตี้5. โอโม คริสตัลบีตส์ ซักสะอาด ราคาไม่แพง 1.บิ๊กซี แมคออกซี่ ไวท์ตี้ (1.35 บาท/การใช้ 1 ครั้ง)2.บิ๊กซี แมคคัลเลอร์ ไบร์ท (1.50 บาท/การใช้ 1 ครั้ง)3.บัว (1.46 บาท/การใช้ 1 ครั้ง) --------------------------------------------------------------------- เกณฑ์การทดสอบ 1.ประสิทธิภาพในการซัก1.1 ทดสอบการแตกตัวของผงซักฟอก ถ้าผงซักฟอกมีการแตกตัวดีแสดงว่าผงซักฟอกมีสารกระตุ้นที่ทำให้ละลายในน้ำได้ดีแสดงว่ามีประสิทธิภาพที่ช่วยในการทำความสะอาดในซอกซอนอณูผ้าที่เล็กได้อย่างล้ำลึก 1.2 ทดสอบระดับแป้งที่ผสมในผงซักฟอก เนื่องจากมักมีการบอกเล่าต่อๆ กันว่า ผงซักฟอกมีการนำแป้งมาผสมเป็นการเพิ่มน้ำหนัก (เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า การทดสอบครั้งนี้ไม่พบแป้งปนอยู่ในผงซักฟอกยี่ห้อใดเลย) 1.3 ทดสอบประสิทธิภาพการทำความสะอาดได้ โดยการแช่เพียงอย่างเดียว(30 นาที) 1.4 ทดสอบความสามารถในการซักฟอก เมื่อแช่ผ้าไว้ 15 นาทีและขยี้   2.ทดสอบการรักษาสภาพเนื้อสีของผ้า 2.1 ทดสอบความคงสภาพสีเดิม เปรียบเทียบผ้าชิ้นที่ซัก(10 ครั้ง) กับผ้าที่ไม่ซัก ด้วยเครื่องวัดค่าสี ถ้าสีผ้าชิ้นที่1  กับผ้าชิ้นที่ 2 คงสภาพสีเท่ากันหรือแตกต่างเพียงเล็กน้อยแสดงว่าผงซักฟอกมีคุณสมบัติในการรักษาสภาพของสีของเนื้อผ้าได้ดี 2.2 ทดสอบความคงสภาพความขาวของเนื้อผ้า เปรียบเทียบผ้าชิ้นที่ซัก(10 ครั้ง) กับผ้าที่ไม่ซัก ด้วยเครื่องวัดค่าสี ถ้าสีผ้าชิ้นที่1  กับผ้าชิ้นที่ 2 คงสภาพความขาวเท่ากันหรือแตกต่างเพียงเล็กน้อยแสดงว่าผงซักฟอกมีคุณสมบัติในการรักษาสภาพความขาวของเนื้อผ้าได้ดี   3.ผลกระทบต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม 3.1 ทดสอบค่าความเป็น กรด-เบสโดยการวัดจากค่า pH 3.2 ทดสอบฟอสเฟต    ฟอสเฟตจากผงซักฟอกเมื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ จะทำให้พืชน้ำเจริญเติบโต รวดเร็ว ทำให้ กีดขวางทางคมนาคมทางน้ำ ทำลายทัศนียภาพ ทำให้ออกซิเจนละลายน้ำไม่ได้ สิ่งมีชีวิตขาดออกซิเจนตายได้ และพืชน้ำเกิดมากอาจจะตายเน่า ทำให้น้ำเสีย ซึ่งข้อกำหนดปริมาณค่าฟอสฟอรัสรวมไม่เกิน  2 มิลลิกรัมฟอสฟอรัสต่อลิตร ก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำชุมชน (ข้อมูลจากมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน)   4.ข้อมูลทั่วไปบนฉลาก เกณฑ์ที่ใช้คือ คำอธิบายเรื่องวิธีการใช้ เข้าใจง่ายหรือไม่ การระบุปริมาณ การแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน การแสดงวันเดือนปีที่ผลิต แหล่งผลิต ส่วนประกอบ คำเตือน”ห้ามรับประทาน” รวมทั้งความชัดเจนของผลิตภัณฑ์ในเรื่องอื่นๆ ---------------------------------------------------------------------  กำเนิดผงซักฟอก สมัยโบราณ การซักผ้าก็ใช้วิธีการทุบด้วยไม้ ขยี้ด้วยมือหรือเหยียบด้วยเท้า เพื่อลดแรงตึงผิวของน้ำให้แทรกเข้าไปทำความสะอาดในใยผ้าได้ ต่อมามีสบู่ใช้ ก็ช่วยทำให้การซักผ้าง่ายขึ้นเพราะสบู่ช่วยลดแรงตึงผิวของน้ำได้ การซักผ้าก็ง่ายขึ้น ออกแรงน้อยลง แต่พอเข้ายุคสงครามโลกครั้งที่ 1 สบู่ขาดแคลนเนื่องจากหาไขมันสัตว์ไม่ได้ จึงมีการผลิตผงซักฟอกออกมาใช้แทนสบู่ พอหมดสงครามก็เลิกไป แต่มาได้รับความนิยมจริงจังอีกครั้งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และยาวมาจนถึงปัจจุบัน  ผงซักฟอกมีคุณสมบัติชะล้างเช่นเดียวกับสบู่ โดยมีส่วนประกอบสำคัญคือ สารลดแรงตึงผิว เป็นสารทำให้วัสดุเปียกน้ำได้ง่าย ทำให้สิ่งสกปรกหลุดออกมาเป็นอนุภาคเล็กๆ แล้วสารจะล้อมรอบสิ่งสกปรกเล็กๆ เอาไว้ในสารลดความตึงผิว ฟอสเฟต สารนี้ช่วยรักษาสภาพน้ำให้เป็นเบส ช่วยกระจายน้ำมัน สิ่งสกปรกออกเป็นอนุภาคเล็กๆ จนสามารถแขวนลอยได้ในน้ำ สารเพิ่มความสดใส(optical brightening agents) ช่วยดูดแสงอุลตร้าไวโอเลตไว้ ทำให้เกิดการเรืองแสงสะท้อนเข้าตา ผ้าดูขาวสะอาด สารเพิ่มฟอง(suds booster) เป็นสารที่จะทำให้เกิดฟองกับน้ำได้ดีสำหรับผงซักฟอกซักด้วยมือเนื่องจากการแข่งขันในตลาดผงซักฟอกที่สูงขึ้น ผู้ผลิตผงซักฟอกจึงจำเป็นต้องเพิ่มส่วนประกอบอื่นๆ เข้ามา เพื่อเป็นจุดขาย แต่สารเหล่านี้มีอยู่ในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ได้แก่ สารกันหมอง แอนติออกซิแดนต์ เอนไซม์ น้ำหอม สี สารกันการจับตัวเป็นก้อน สารช่วยขับสิ่งสกปรก สารต้านจุลินทรีย์ สารละมุน สารคงสภาพการเก็บรักษา สารช่วยให้ผ้านุ่ม สารกันไฟฟ้าสถิตย์ สารกันการกัดกร่อนและสารอื่นๆ   ฉลาดซื้อ1. ตอนนี้มีโฆษณาผงซักฟอกกำจัดแบคทีเรียได้ ซึ่งดูแล้วทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกินจริงไปมาก จริงๆ แล้วก็ไม่จำเป็นเลย เนื่องจากผงซักฟอกมีฤทธิ์เป็นด่างอ่อนๆ อยู่แล้วจึงสามารถฆ่าแบคทีเรียได้  2. เมื่อพิจารณาจากผลการทดสอบแล้วจะพบว่า ประสิทธิภาพการซักใกล้เคียงกันมาก สิ่งที่ควรนำมาพิจารณาเพิ่มคือ เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและราคาที่ประหยัด  ทำไมจึงเรียกผงซักฟอกว่า “แฟ้บ”หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โลกเรานี้ก็ให้ความนิยมแก่ผงซักฟอกอย่างมาก และเมืองไทยเราก็มีผงซักฟอกยี่ห้อแรกเข้ามา ชื่อว่า “แฟ้บ” โดย บริษัทหลุยส์ทีเลียวโนเวนส์ จำกัด ปรากฏว่าเป็นที่นิยมของประชาชนโดยทั่วไป เพราะสามารถชำระล้างสิ่งสกปรกได้ดีกว่าสบู่และสะดวกในการใช้มากกว่า คนไทยจึงพากันเรียกผงซักฟอกว่า “แฟ้บ” จนในปี พ.ศ. 2500 บริษัท คอลเกตปาล์มโอลีฟ จำกัด จึงได้ตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายผงซักฟอกยี่ห้อ “แฟ้บ” ในประเทศไทยขึ้น และต่อมาได้มีผู้ผลิตผงซักฟอกเกิดขึ้นอีกหลายบริษัท  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point