ฉบับที่ 242 ระวังเข้ากลุ่มออนไลน์ จะได้คนแอบแฝง

        ยุคนี้ใครไม่มีสังคมในโลกออนไลน์ดูจะล้าสมัยไปแล้ว  หลายคนจึงมีทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตราแกรม ทวิตเตอร์ กันมากมาย เมื่อใช้กันจนคล่อง ก็เริ่มมองหากลุ่มที่ชื่นชอบอะไรเหมือนๆ กัน รวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นเพจ เป็นสังคมต่างๆ หลากหลาย เช่น กลุ่มศิลปะ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มทำอาหาร แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพต่างๆ เท่าที่เห็น มีทั้งกลุ่มผู้ป่วย กลุ่มออกกำลังกาย กลุ่มลดน้ำหนัก เป็นต้น         ผมลองเข้าไปสังเกตการณ์ในกลุ่มเหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ พบว่าหลายคนที่เป็นสมาชิก มีทั้งที่ใช้ชื่อตัวตนชัดเจน และใช้ชื่อเป็นคำต่างๆ แทนชื่อจริง บรรยากาศการพูดคุยก็มักจะเป็นการช่วยเหลือแนะนำสิ่งต่างๆ ซึ่งกันและกัน ยิ่งสมาชิกเข้ามาพูดคุยกันบ่อยๆ สุดท้ายก็เกิดความสนิทสนมกัน ทั้งที่บางคนแทบไม่รู้จักกันในโลกแห่งความจริง แต่กลับสนิทสนมกันในโลกออนไลน์         หากลองติดตามอ่านเนื้อหาที่พูดคุยไปเรื่อยๆ แม้หัวข้อและเนื้อหาที่พูดคุยจะเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ แต่หากสังเกตดีๆ เราจะพบว่ามีสิ่งต่างๆ แอบแฝงมาแบบเนียนๆ เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยก็มักจะมีสมาชิกบางคนมาบอกเล่าประสบการณ์ในการดูแลตัวเอง โดยใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้วลงท้ายว่าได้ผล หายป่วยเป็นปลิดทิ้ง หรือทุเลาลงอย่างน่าอัศจรรย์ กลุ่มออกกำลังกาย ก็มักจะมีสมาชิกบางท่านเข้ามาแนะนำผลิตภัณฑ์สร้างกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะพวกเวย์โปรตีนมากมายหรือในกลุ่มลดน้ำหนัก ก็มักจะมีการนำภาพของตนเองช่วงก่อนปฏิบัติตัวและหลังปฏิบัติตัว ซึ่งมักจะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างชัดเจน สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการแนะนำผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าทำให้ตนเองมีหุ่นที่ดีขึ้น         เพื่อความปลอดภัย ไม่ให้พวกเราหลงใหลไปกับ สมาชิกที่แอบแฝงมาแนะนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีคำแนะนำดังนี้         1. อย่าเพิ่งเชื่อตัวตนที่เห็นในโลกออนไลน์ เพราะทุกวันนี้ตัวตนที่เห็นในโลกออนไลน์นั้น มีทั้งตัวจริง และตัวปลอมที่ใครก็สามารถอุปโลกน์ขึ้นมาก็ได้         2. อย่าเพิ่งเชื่อสิ่งที่สมาชิกเหล่านั้นพูด ไม่ว่าจะเป็นภาพรูปร่างที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพราะสมัยนี้คอมพิวเตอร์สามารถประดิษฐ์ตกแต่งภาพให้ดูดีเสมอ ส่วนคำบอกเล่า ก็อย่าเพิ่งเชื่อว่าเป็นจริง เพราะในโลกออนไลน์ใครจะพิมพ์อย่างไรก็พิสูจน์ได้ยากว่าเป็นจริงหรือเท็จ         3. อย่าเพิ่งเชื่อว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้ผล เพราะบรรดาผู้คนที่มาสนับสนุนผลิตภัณฑ์เหล่านั้น บางทีก็เป็นหน้าม้า ทำเป็นขบวนการ แบบที่เราจะเห็นอาชีพใหม่คือรับจ้างรีวิวสินค้าต่างๆ และภาพถ่ายสินค้าในกล่องกระดาษกองมหึมา ที่อ้างว่ากำลังส่งให้ลูกค้าก็อย่าเพิ่งเชื่อ กล่องจริงกล่องปลอมกล่องเปล่า โลกออนไลน์ทำได้หมด          4. อย่าเพิ่งเชื่อข้อความที่อ้างว่าผ่านการรับรองจาก อย.แล้ว แม้เราจะตรวจสอบจากทะเบียนข้อมูลแล้วก็ตาม เพราะปัจจุบันผู้ผลิตสามารถขออนุญาตออนไลน์ให้กับผลิตภัณฑ์ตนเองได้อย่างรวดเร็ว จนการตรวจสอบไล่ตามแทบไม่ทัน ทำให้ผู้ผลิตบางรายฉกฉวยโอกาสนี้ มาขอ อย.ออนไลน์ให้กับผลิตภัณฑ์ตนเอง โดยอาจจะแจ้งรายละเอียดไม่ตรงกับความเป็นจริง         5. ขอให้ท่องให้ขึ้นใจว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์เทวดาใดๆในโลกนี้ ที่ใช้ได้ผลทันที ดีจนตะลึง หากมันดีจริง มันควรถูกนำไปใช้ในสถานพยาบาล ไม่ใช่มาโฆษณากันเยอะแยะ แต่ในสถานพยาบาลต่างๆ กลับไม่มีใครนำไปใช้เลย         6. สรุปสุดท้ายว่า ถ้าไม่แน่ใจ อย่าเสี่ยงมาใช้ ติดต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้ช่วยตรวจสอบและแนะนำจะปลอดภัยกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 มาความรู้จัก เครื่องมือ หาเสียง สื่อสังคมออนไลน์ “Socialbot”

มาความรู้จัก เครื่องมือ หาเสียง สื่อสังคมออนไลน์  “Socialbot”ประเทศของเรากำลังเข้าสู่ โหมดการเลือกตั้ง(รัฐบาลประกาศ 24 ก.พ. 62) และใกล้เวลาสำหรับการหาเสียงเลือกตั้งเต็มรูปแบบเข้ามาทุกขณะ ในประเทศสหรัฐอเมริกา Artificial Intelligence (AI) ได้ถูกนำมาใช้ ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา จนทำให้เกิดบทเรียนมากมายจากเหตุการณ์ดังกล่าว  การใช้ Socialbot ซึ่งเป็นตัวอย่างของการใช้ AI ให้เป็นอาวุธทางการเมือง จนอาจนำไปสู่การละเมิดกฎหมายและหลักการการหาเสียงเลือกตั้งได้ ดังนั้นบทความนี้ขอกล่าวถึง เรื่อง Socialbot เนื่องจาก อาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการเลือกตั้งในบ้านเมืองของเราได้เช่นกัน      Bot มาจากภาษาอังกฤษ ซึ่งคำเต็มๆ คือ Robot นั่นก็คือหุ่นยนต์ที่เรารู้จักกันดี แต่ในบริบทของโลกยุคไซเบอร์ ความหมายคือ Artificial Intelligence รูปแบบหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ เสมือนคนใน สื่อสังคมออนไลน์ เช่นใน Facebook หรือ twitter โดยจะส่งข่าวสารหรือความเห็นผ่านไปยังสื่อโซเชียลเหล่านี้ โดยพยายามในการสร้างกระแสขึ้นมา สำหรับคนทั่วๆ ไป เป็นการยากที่จะจำแนกว่า ข้อความหรือความเห็นดังกล่าวมาจาก Socialbot หรือ มาจากคนจริงๆ ในสื่อโซเชียล สำหรับเหตุผลในการใช้ Socialbot ก็คือเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง รูปแบบการทำงานของ Socialbot คือ ค้นหา Keywords ในสื่อโซเชียล เมื่อค้นพบคำดังกล่าว ก็เริ่มปฏิบัติการให้ข้อมูลหรือ ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ และพยายามในการสร้างบทสนทนากับคน(จริงๆ) โดยที่คนทั่วๆ ไปไม่ทราบเลยว่ากำลังพูดคุยกับ Socialbot อยู่ ความสามารถของ Socialbot คือ สามารถเลียนแบบพฤติกรรมหรือ รูปแบบการสนทนาของมนุษย์ได้ สามารถขอเป็นเพื่อนกับเราได้ใน Facebook สามารถติดตามการ twit ของมนุษย์ ใน twitter หรือส่งข้อความที่สร้างโดย Socialbot ได้เองอีกด้วย การทำงานของ Socialbot มีหลายอย่างแต่สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ใหญ่ ได้ 3 กลุ่มคือ  1 Overloadingเป็นกลไกการส่งข้อมูลเพื่อทำให้เกิดการท่วมท้น page ใด page หนึ่ง ในกรณีที่ Socialbot พบคำสำคัญ(Keywords) ที่ถูกกำหนดไว้ในโปรแกรม และทำการตอบโต้ ด้วยการกระทำดังกล่าวเพื่อทำลายกระบวนการ dialogue หรือ discuss ในประเด็นทางการเมืองนั้น 2 Trendsettingเป็นกลไกที่ Socialbot กำหนด เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ให้กลายเป็นประเด็นสาธารณะทั้งๆ ที่ ประเด็นนั้น เป็นเพียงประเด็นเล็กๆ น้อยๆ แต่ Socialbot ทำหน้าที่ในการปั่นกระแส จนคนที่ใช้ Social Media จริงๆ ก็อาจหลงไปร่วมถกแถลง อภิปรายในประเด็นนั้นๆ ด้วย เพราะเข้าใจว่า เป็นกระแสที่อยู่ในความสนใจสาธารณะ และบางครั้งอาจติดกับไปกับกระแสดังกล่าว ที่เป็นเพียงข่าวปลอม (Fake News) 3 Automatic trollsเป็นรูปแบบ ของ Socialbot ที่ใช้การเบี่ยงเบนความสนใจ ในประเด็นหลักของการสนทนาของคน 2 คน และหากคู่สนทนาติดกับดักก็อาจต้องเสียเวลาหลายๆ ชั่วโมงกับบทสนทนาที่ไร้ความหมายเหล่านี้ โดยที่ไม่ทราบว่ากำลังสื่อสารกับ Socialbot อิทธิพลของ Socialbotบ่อยครั้งที่ การทำงานของ Socialbot ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ Hate Speech และความรุนแรง โดยที่มียอดกด ไลค์ กดแชร์สูงมากจนคนทั่วไปเข้าใจว่า เป็นความเห็น ความชอบ ความนิยมของคนจริงๆ ส่วนใหญ่ในสังคม ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา มีจำนวนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก ย่อมมีอิทธิพลต่อคนเป็นจำนวนมากเช่นกัน ในขณะที่ ผลการศึกษาในประเทศเยอรมนี ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา ยังมีข้อโต้แย้งถึงอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ ต่อผลการเลือกตั้ง เนื่องจากจำนวนประชากรที่ใช้ สื่อสังคมออนไลน์ในเยอรมนียังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามในประเทศเยอรมนีพรรคการเมืองทุกพรรคทำสัตยาบันร่วมกันว่า จะไม่ใช้ Socialbot ในการหาเสียง จึงไม่ทำให้เกิดปัญหาความชอบธรรมในผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาเหมือนกับการเลือกตั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาสำหรับแนวทางการจัดการการเลือกตั้งในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่โปร่งใส และเป็นธรรม การเฝ้าระวังและให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับความรู้เท่าทันสื่อออนไลน์จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน แหล่งข้อมูลที่ผมนำมาเล่าให้ฟังนี้ ก็เป็นเวบไซต์ที่ให้ความรู้ในเชิง รู้เท่าทันสื่อโซเชียล ที่เกิดจากการทำงานของ สื่อสาธารณะและองค์กรผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการทำงานทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่จะต้องมีองค์กรที่เป็นกลางทางการเมืองมาทำหน้าที่จัดการเรื่องความรู้ของสังคม

อ่านเพิ่มเติม >