ฉบับที่ 214 ริมฝั่งน้ำ : “คนไกลฝั่ง” กับ “ไม้ใกล้ฝั่ง”…เรารักกันนะ...จุ๊บจุ๊บ

           นั่งเรียบเรียงต้นฉบับครั้งนี้ ผู้เขียนเลือกวันดีๆ และสถานที่ดีๆ มาทอดอารมณ์เขียนงานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรับลมเย็นสบายๆ อันที่จริงแล้ว “ริมฝั่งน้ำ” แบบนี้ ถือเป็นแหล่งรวมของผู้ใช้ชีวิตหลายเพศ หลายรุ่น หลายวัย และหลายหลากสถานะทางสังคม และยังเป็นอาณาบริเวณอันน่าสนใจที่จะให้ผู้คนหลากหลายได้มาเห็นกันและกัน เพื่อเรียนรู้วิถีปฏิบัติและความเป็นไปในชีวิตทางสังคมที่แตกต่างจากตัวเรา            เฉกเช่นเดียวกับละครโทรทัศน์เรื่อง “ริมฝั่งน้ำ” ที่ทำให้เราได้หันมาทบทวนหวนคิดกับชีวิตของคนที่หลากหลายเพศ วัย และสถานะทางสังคม ไม่ต่างจาก “ริมฝั่งน้ำ” ที่เราสัมผัสกันอยู่ในโลกความจริงเลย            และเพราะตอนนี้โรดแม็พของสังคมไทยกำลังเลี้ยวโค้งเข้าสู่ “สังคมแห่งผู้สูงอายุ” กันอย่างแท้จริง ภาพของผู้คนที่ฉายอยู่ในโลกสัญลักษณ์ของละคร “ริมฝั่งน้ำ” ก็ต้องจำลองชีวิตของบรรดาปู่ย่าตายายทั้งหลาย กับมุมมองที่ผู้คนหลากหลายเจนเนอเรชั่นมีต่อผู้สูงวัยเหล่านี้            ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่างรุ่นวัยดังกล่าว เวียนวนอยู่ในปริมณฑลแห่ง “บ้านร่มไม้ชายคา” บ้านพักคนชราที่เป็นมรดกตกทอดจากบิดามารดา มาอยู่ในมือของ “พิมพ์วีนัส” นางเอกของเรื่อง            เริ่มแรกเมื่อได้รับมรดกมา พิมพ์วีนัสก็ตั้งแง่รังเกียจบ้านพักคนชราแห่งนี้ ด้วยเพราะในอดีตพ่อแม่ของเธอต้องเสียชีวิต เนื่องจากอาสาช่วยคนแก่จมน้ำจนตัวเองต้องตายไป ยิ่งผนวกกับภาพลักษณ์และความหมายของบ้านพักคนชราในฐานะที่เป็นแหล่งรวมของบรรดา “ไม้ใกล้ฝั่ง” ซึ่งมีแต่จะร่วงโรยจากน้ำที่กัดเซาะตลิ่งจนผุพังไปตามกาลเวลา จึงเป็นสิ่งที่นางเอกคนสวยมิอาจรับได้ เพราะนั่นหาใช่ความฝันของคนรุ่นใหม่ที่ยืนอยู่ “ไกลฝั่ง” อย่างเธอคาดหวังจะถือครองได้เลย            ด้วยเหตุนี้ ในช่วงต้นของเรื่อง พิมพ์วีนัสจึงปฏิบัติการ “ตามล่าฝัน” ด้วยการหนีไปเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ตามแบบอุดมคติที่คนรุ่นใหม่ยุคนี้ฝันอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพอะไรสักอย่างหนึ่งในชีวิต แต่เมื่อต้องมานั่งตบยุงเพราะไม่มีลูกค้าเข้ามานั่งในร้านกาแฟเลย พิมพ์วีนัสก็ได้คำตอบว่า ความฝันกับชีวิตจริงของ “คนไกลฝั่ง” ที่ประสบการณ์อ่อนต่อโลกนั้น ยังอีก “ไกลแสนไกลกว่าจะถึงฝั่งฝัน”            จนเมื่อ “คุณยายพิกุล” ได้มาเตือนสติพิมพ์วีนัสผู้เป็นหลานสาวว่า “พ่อแม่หนูสร้างสร้างบ้านร่มไม้ฯ มาด้วยความรัก แต่หนูอย่าไปทำลายมันด้วยความเกลียดเลยนะ” นั่นจึงเป็นเหตุปัจจัยให้นางเอกของเราลองเปิดใจหันกลับมาดูแลกิจการบ้านพักคนชรา และค่อยๆ เห็นอีกด้านหนึ่งของชีวิต “ไม้ใกล้ฝั่ง” ที่ครั้งหนึ่งเธอมองข้าม หรือไม่อยากแม้แต่จะผาดตามอง            ณ บ้านร่มไม้ชายคาแห่งนี้เอง มีหลายชีวิตที่มาอยู่อาศัยรวมกัน ไม่ว่าจะเป็น “คุณตาชาญชัย” เจ้าของกิจการโรงแรมที่ไม่มีความสุขในช่วงบั้นปลายชีวิต เพราะลูกหลานแย่งชิงสมบัติกัน “คุณตาโตมร” อดีตอธิบดีที่วางอำนาจใส่ทุกคนในบ้าน เพื่อกลบเกลื่อนอาการเจ็บป่วยของตน “คุณยายนิ่มนวล” แม่ค้าขนมเปี๊ยะที่ลูกหลานไม่ดูแลเพราะเป็นอัลไซเมอร์ “คุณยายม้วน” ที่ช่างพูดช่างสมาคม รวมไปถึง “เชาว์” “อี๊ด” “กรรณิการ์” “ดวงใจ” “เฟรดริก” และคุณตาคุณยายหลายคนที่ร่วมกันขับเคลื่อนความเป็นไปในบ้านพักคนชราหลังนี้            จนกระทั่ง วันหนึ่ง “พฤกษ์” ผู้เป็นพระเอกของเรื่อง ได้ตัดสินใจพา “บุษกร” มารดาของตนเข้ามาพำนักร่วมกับเพื่อนผู้สูงวัยในบ้านร่มไม้ชายคา แม้บุษกรจะเคยเป็นคนที่ชอบเสียงเพลงและรักการเต้นรำ แต่ภายหลังจาก “เดชา” บิดาของพฤกษ์ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต มารดาของเขาก็กลายเป็นโรคซึมเศร้านับจากนั้นมา            แม้อาจารย์มหาวิทยาลัยหนุ่มอย่างพฤกษ์จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และร่ำเรียนความรู้เชิงทฤษฎีมาสอนด้านบริหารธุรกิจให้กับลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่กับการบริหารสถาบันครอบครัวจริงๆ ที่อยู่นอกห้องเรียน เขากลับล้มเหลวกับมรสุมชีวิตต่างๆ แบบไม่เป็นท่า ทั้งจากการเลือกปิดบังความลับเรื่องพ่อตายไม่ให้มารดารู้ และจากการตีกรอบชีวิตตัวเองเนื่องจากผิดหวังกับความรักมาก่อน            การผูกโยงให้ตัวละครเอกได้มาพบรักกัน และยังได้เรียนรู้ชีวิตจากผู้สูงวัยที่ “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ซึ่งแน่นอนว่า ครั้งหนึ่งก็เคยมีประสบการณ์ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมายิ่งกว่าเธอและเขาเสียอีก ในที่สุดทั้งพิมพ์วีนัสและพฤกษ์ก็ค่อยๆ ปรับโลกทัศน์ของตนต่อคนสูงอายุเสียใหม่ เหมือนกับหลายๆ ฉากที่ผู้ชมจะได้เห็นภาพคนรุ่นใหม่ที่ “ไกลฝั่ง” เหล่านี้ เดินเข้าไปมองสายน้ำอยู่ริมตลิ่งที่ “ใกล้ฝั่ง” นั่นเอง            ด้านหนึ่ง ด้วยสุขภาพร่างกายที่ป่วยกระเสาะกระแสะบ้าง ขี้หลงขี้ลืมบ้าง ขี้บ่นขี้โวยวายบ้าง แต่นั่นก็เป็นสัจธรรมของผู้สูงวัยที่เดินทางมาอยู่บั้นปลายชีวิต เฉกเช่นที่คุณตาชาญชัยได้พูดกับพิมพ์วีนัสว่า “นาฬิกาของฉันมันเดินถอยหลัง มันต่างจากนาฬิกาของหนู ซึ่งเดินไปข้างหน้า”            แต่อีกด้านหนึ่ง ประสบการณ์ที่มี “นาฬิกาชีวิต” หมุนผ่านมาหลายรอบนี้เอง ทำให้คนสูงวัยต่างมีภูมิความรู้และรู้เท่าทันโลก ในแบบที่อหังการของคนรุ่นใหม่ผู้อ่อนหัดไม่อาจทัดเทียมได้จริง เหมือนกับที่ “อานัส” หลานชายเพลย์บอยของคุณตาชาญชัยต้องเคยพ่ายแพ้เกมเล่นเปตองให้กับคุณตาโตมร ก็เป็นเพราะว่า เกมบางเกมไม่ใช่การใช้เรื่องแรงกาย แต่เป็นเรื่องของสมองและประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตต่างหาก            แม้ “เกิดแก่เจ็บตาย” จะเป็นธรรมดาของโลก แต่ในห้วงปลายทางของชีวิต ผู้สูงอายุในบ้านร่มไม้ชายคาก็ยังต้องเผชิญปัญหารุมเร้ามากมาย บางคนถูกทรมานทั้งกายวาจาใจจากคนรุ่นใหม่ ถูกปอกลอกโกงเงิน ถูกทอดทิ้ง รวมไปถึงถูกทำให้รู้สึกเหงา เหมือนกับที่คุณตาชาญชัยเคยเปรยกับพฤกษ์ว่า “ความเหงาคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตคนแก่”             แต่อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า สิ่งที่จะทำให้บรรดา “ไม้ใกล้ฝั่ง” ต้องเจ็บปวดมากที่สุดก็คือ การเฝ้ามองดูความเสื่อมถอยของบุตรหลานตน เหมือนเมื่อครั้งที่คุณตาชาญชัยต้องเสียน้ำตาให้กับลูกๆ หลานๆ เพราะหลานคนหนึ่งติดยาเสพติด อีกคนหนึ่งหนีคดีขับรถชนคนตาย ในขณะที่ลูกๆ ที่เหลือก็เอาแต่จะแย่งชิงมรดกมาเป็นของตน คุณตาถึงกับตัดพ้อว่า “คนแก่จะอายุยืนถ้าได้อยู่เห็นความกลมเกลียว ความรักกันของลูกหลาน มากกว่าที่จะได้ยินเสียงแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นระหว่างคนสายเลือดเดียวกัน”             หากบ้านร่มไม้ชายคาเป็นภาพจำลองให้เห็นสังคมไทยที่กำลังเดินหน้าสู่ “สังคมแห่งผู้สูงอายุ” ก็คงถึงเวลาแล้วกระมังที่ “คนไกลฝั่ง” จะได้จัดวางจังหวะชีวิตของตนให้หันมามองประสบการณ์และความเป็นไปของ “ไม้ใกล้ฝั่ง” กันบ้าง เมื่อยิ่งเรียนรู้และยิ่งผูกพันกัน บางทีความสัมพันธ์ที่เข้าอกเข้าใจกันของคนต่างวัยก็อาจเป็นดุจดังที่พิมพ์วีนัสได้เคยพูดบ้านร่มไม้ชายคาว่า “เราเคยเกลียดที่นี่ ไม่อยากจะเดินเข้ามาที่นี่ แต่วันนี้พอไม่มีคุณตาคุณยายแล้ว ทำไมเรากลับใจหายก็ไม่รู้”

อ่านเพิ่มเติม >