ฉบับที่ 262 สำรวจ ฟู้ดเดลิเวอรี ใครมีตัวเลือกรักษ์โลก (ครั้งที่ 2)

        ปัจจุบันการกดสั่งอาหารออนไลน์ ทำได้ง่ายสะดวก รวดเร็ว เพราะมีผู้ให้บริการให้เลือกมากมาย ตลอดช่วงการระบาดของโรคโควิด -19 ประชาชนหันมาใช้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่กันมากขึ้น   และทั้งด้วยการจัดโปรโมชัน คูปอง การสะสมแต้มต่างๆ ยิ่งทำให้ผู้บริโภคนิยมสั่งอาหารเดลิเวอร์รีมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง          อีกด้านหนึ่ง ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอร์รี่กำลังสร้างปัญหาสำคัญคือ ขยะพลาสติกจำนวนมาก ที่สำคัญคือขยะจากฟู้ดเดลิเวอรีเหล่านี้ปะปนกับเศษอาหาร จึงไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้             ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 242  นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มสำรวจตัวอย่างแอปพลิเคชันสั่งอาหารทางออนไลน์(ฟู้ดเดลิเวอรี) จำนวน 36 แอปพลิเคชัน ในเดือนมีนาคม 2564 เพื่อสำรวจว่าแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรีนั้นมีตัวเลือก ‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’ ให้กับลูกค้าหรือไม่         ดังนั้นเพื่อการเฝ้าระวังต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันฟู้ดดิลิเวอรีมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาอีกหลายราย และเพื่อให้ผู้บริโภคที่มีใจของนักอนุรักษ์ได้มีข้อมูลว่า มีผู้ประกอบการรายใดที่ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกนี้บ้าง ฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และ สสส. จึงทำการสำรวจบริการสั่งอาหารออนไลน์อีกครั้ง  โดยครั้งนี้สำรวจ ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ ทั้งที่ให้บริการทั้งในพื้นที่กรุงเทพ และต่างจังหวัดดังเดิมและเพิ่มเติมรายใหม่รวมจำนวนทั้งหมด 41 ราย   สำรวจผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีรายใหม่ จำนวน 9 ราย คือ  Shopee Food TH , 1376 Delivery,  AirAsia Food ,True Food, Foodhunt , Texas Chicken Thailand, Aolaimai ,Frabbit ,Fast Delivery Ubon ระยะเวลาสำรวจ เดือนธันวาคม 2565สรุปผลการสำรวจ        - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แบบแอปพลิเคชัน  ที่มีตัวเลือก “ลดการใช้พลาสติก”  มีจำนวน 5 ราย คือ  Burger King, Food Panda, Grab Food , Line Man , AirAsia Food  (หรือ Gojek เดิม)      - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ผ่านแอปพลิเคชัน แต่ไม่มีตัวเลือก “ลดการใช้พลาสติก” มีจำนวน 22   ราย  คือ  Shopee Food TH , Foodhunt ,Truefood , 1112 Delivery ,  7- Eleven ,  KFC  Thailand ,  Mc Donald’s  , Robinhood , S&P Delivery,The Pizza company, Aolaimai, Ant Delivery, Foodman Delivery Service , Fastfood  Delivery ,Weserve ,Win Food Delivery ,Big Food Delivery,Captain Food Delivery,   Finvery,FooDee Delivery ,Coffee  World  Station , Starbucks  Thailand       - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ออนไลน์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ผ่านช่องทาง เว็บไซต์ ไลน์ และ call center   และไม่มีตัวเลือกเพื่อลดการใช้พลาสติกที่ชัดเจน  มีจำนวน  8  ราย  คือ 1376 Delivery ,Domino’s  Pizza ,Fast Delivery Ubon ,Frabbit  ,Texas Chicken Thailand , Fuji Japanese Restaurant ,MK  delivery,Neo  Suki        และ แอปพลิเคชันยอดนิยมที่สำรวจแล้วพบว่า ไม่ใช่บริการ ฟู้ดเดลิเวอร์รี่ มีจำนวน  6   แอป คือ  CP Fresh Mart , Happy Fresh, Lalamove ,Skootar ,Wongnai ,ครัวคุณต๋อย    ข้อสังเกต      -   ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ทั้งผ่านแอปพลิเคชัน และสั่งซื้อผ่าน เว็บไซต์ ไลน์ และ call center  ที่ไม่มีตัวเลือกกดไม่รับพลาสติกแต่จะมีช่อง ‘คำขอพิเศษ’  ‘โน้ตไปยังร้านอาหาร’ ‘หมายเหตุ’  ‘ใส่รายละเอียดเพิ่มเติม (ถ้ามี)’ ซึ่งผู้บริโภคสามารถใช้ช่องทางนี้ ปฏิเสธไม่รับพลาสติก  รวมไปถึงสื่อสารถึงร้านอาหารได้โดยตรงว่า ไม่ต้องการรับพลาสติกที่ไม่จำเป็น           -   ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ มีโปรโมชั่นเพื่อจูงใจให้กดสั่งซื้อมากมาย ทั้ง มีการจัดส่งฟรี การสะสมแต้ม การลดราคาเมื่อซื้อจำนวนมากหรือ ลดราคาในวันพิเศษต่างๆ เหล่านี้เพื่อกระตุ้นยอดขายแต่ยังไม่พบว่า มีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายพร้อมๆ กับการสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคลดปริมาณขยะจากอาหารเดลิเวอร์รี่ เช่น  การสะสมแต้มจากการไม่รับช้อน ซ่อม พลาสติก ,  คูปองส่วนลดสำหรับลูกค้าที่เลือกไม่รับช้อนส้อมเป็นประจำ เป็นต้น        -   ร้านอาหารจำนวนมากมีแอปพลิเคชัน และช่องทางรับคำสั่งซื้อออนไลน์ในช่องทางอื่นๆ เช่น เว็บไซต์  ไลน์ Call center ของตนเองแต่ยังมักประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคสั่งซื้อผ่าน ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่ เช่น Grab Food , Line Man เนื่องจากจะได้รับความนิยมได้มากกว่า        -   ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ที่มีทางเลือกให้ผู้บริโภคกดไม่รับพลาสติกทั้งหมดเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่    อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่ หลายรายที่ยังไม่มีการพัฒนาระบบตั้งค่าลดการใช้พลาสติดดังกล่าว การที่ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่เห็นความสำคัญมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยให้สังคมตระหนักถึงปัญหาขยะจากอาหารเดลิเวอร์รี่ เพราะผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่ รายหนึ่งเป็นหน้าร้านของร้านอาหารอีกเป็นจำนวนมาก เช่น  Foodhunt ที่ให้บริการจัดส่งอาหารให้แก่ Mister Donut , Auntie anne’s , โอโตยะ, ไทยเทอเรส ฯลฯ  และ  1112 Delivery  ที่ให้บริการจัดส่งอาหาร  The Pizza , Bonchon และอีกนับสิบร้านชื่อดัง       -   ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รีในต่างจังหวัดรายหนึ่งสะท้อนว่า “เคยให้บริการผ่านแอปพลิเคชันที่สามารถกดไม่รับพลาสติกได้ เมื่อได้ปรับเป็นการรับคำสั่งซื้อผ่านช่องทางไลน์เพื่อลดต้นทุน ผู้บริโภคมักไม่ระบุวัสดุการจัดส่ง  จึงมองว่าระบบการกดไม่รับพลาสติกในแอปพลิเคชันมีส่วนสำคัญที่กระตุ้นผู้บริโภคให้ลดขยะและตระหนักในปัญหาขยะจากอาหารเดลิเวอร์รีได้”  ข้อแนะนำ     -   ผู้บริโภค ควรใช้ตัวเลือกลดขยะพลาสติกในแอปฯ (ถ้ามี) เพื่อเป็นการช่วยในเรื่องการลดปัญหาขยะ    -   ปัญหาสำคัญของขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี คือเป็นขยะพลาสติกที่ปะปนกับเศษอาหารทำให้ไม่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ ผู้บริโภคจึงควรคัดแยกขยะก่อนทิ้งและรวบรวมนำไปให้ในจุดที่บริการรับขยะพลาสติกเพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์  หรืออย่างน้อยควรชำระให้ปนเปื้อนน้อยที่สุดก่อนทิ้ง       -   ปัจจุบัน ร้านอาหารหลายร้าน หากไม่ให้ถุงพลาสติกก็อาจพัฒนาถุงพลาสติกเพื่อให้ผู้บริโภคไปใช้ซ้ำได้นานมากขึ้นที่สุด เมื่อได้รับวัสดุ /ถุงพลาสติกจึงควรนำกลับมาใช้ซ้ำหรือหาทางใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด    -   เลือกใช้บริการ ร้านอาหาร / ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี ที่มีความรับผิดชอบต่อปัญหาขยะอาหารเดลิเวอร์รีหรือปรับเปลี่ยนมาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม    การใช้บริการจัดส่งสั่งอาหารออนไลน์ อาจได้เป็นวิถีใหม่ของคนไทยไปแล้ว อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการและผู้บริโภคควรได้ตระหนักร่วมกันถึงปริมาณขยะจากอาหารเดลิเวอร์รี่กำลังเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล  การลดขยะหรือการทำให้ขยะกลับมาใช้ได้จริง จึงต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน 2665

ภาชนะพลาสติกสำหรับอาหารจะเป็นสินค้าควบคุม         สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศเพิ่มเติมให้สินค้าประเภทพลาสติกที่ใช้กับอาหารเป็นสินค้าควบคุม เนื่องจากภาชนะที่ใช้สัมผัสอาหารโดยตรงอาจมีความเสี่ยงให้ก่อสารมะเร็งได้ เช่น สีที่ใช้ทาเคลือบภายนอก สารที่ใช้ทำพลาสติก         นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จำนวน 136 รายการ ที่ทาง สมอ. ประกาศเป็นสินค้าควบคุม และกำลังจะเพิ่มอีก 5 รายการ ได้แก่ 1.ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากพอลิเอทิลีน พอลิพรอพิลีน พอลิสไตรีน พอลิเอทิลีนเทเรฟแทเลต พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ และพอลิเมทิลเพนทีน  2. ภาชนะเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากพอลิไวนิลคลอไรด์ พอลิคาร์บอเนต พอลิแอไมด์ และพอลิเมทิลเมทาคริเลต 3. ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากอะคริโลไนไทรล์-บิวทะไดอีน-สไตรีน และสไตรีน-อะคริโลไนไทรล์  4. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่น (ใช้ซ้ำได้)  5. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่นครั้งเดียว เพิ่มเติม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งทั้ง 5 รายการที่กล่าวมาจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 มกราคม 2565 นี้ ทวงหนี้ผิดกฎหมายระบาด         นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยว่า พบแก๊งมิจฉาชีพส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ทวงหนี้เงินกู้มากขึ้น และชักชวนให้กู้วงเงินเพิ่ม โดยมี 3 ข้ออ้าง ดังนี้ 1.ขู่ว่าเป็นหนี้ไม่จ่ายจะติดคุก ความจริงคือ ไม่จ่ายหนี้ไม่ใช่ความผิดทางอาญา แต่เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ 2.จะมีการยึดทรัพย์ทันทีหากไม่ยอมจ่ายหนี้ ความจริงคือ เจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีถึงที่สุดก่อน 3.การทวง เช้า กลางวัน เย็น ไม่สามารถทำได้ ทางกฎหมายให้ทวงนี้แค่วันละ 1 ครั้งเท่านั้น หากใครได้รับการข่มขู่ลักษณะข้างต้นให้ตั้งสติแล้วบันทึกข้อมูลเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ เช่น ข้อมูลสนทนา ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เพื่อใช้ดำเนินคดีอย่าเพิกเฉย         การทวงหนี้ตามกฎหมายหากมีลักษณะการข่มขู่ ดุหมิ่น เปิดเผยข้อมูลของลูกหนี้ หรือใช้ความรุนแรงทำให้เสียทรัพย์ใดๆ อาจถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และ ผู้ประประกอบการสินเชื่อที่ไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000 – 500,000 บาท เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ห้ามโอนลอยรถ เสี่ยงได้รถผิดกฎหมาย                    กรมการขนส่งทางบก แจ้งเตือนประชาชนที่ ซื้อ-ขาย รถมือสองว่าไม่ควรซื้อ-ขาย โดยวิธีการโอนลอย เช่น การเซ็นเอกสารแล้วมาดำเนินการทีหลัง เพราะอาจจะก่อให้เกิดปัญหาสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายได้ เช่น ผู้ซื้อไม่ยอมชำระภาษีประจำปี รถเกิดอุบัติเหตุ หรือเคยนำรถไปกระทำโดยผิดกฎหมายอาจจะสร้างปัญหาผู้ขายได้ เนื่องจากชื่อเจ้าของรถยังคงปรากฎเป็นเจ้าของรายเดิมอยู่ในระบบ         ทั้งนี้การไม่นำรถมาโอนทางทะเบียน อาจทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของรถได้ว่าเป็นรถที่ถูกโจรกรรมมาหรือไม่ อย่างไรก็ตามทางกรมการขนส่งทางบกได้กำชับทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขายว่าต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของรถก่อนการซื้อทุกครั้ง และต้องตรวจสอบหลักฐานทะเบียนรถให้ครบถ้วน โดยเฉพาะคู่มือรถฉบับจริงที่มีชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ สีรถถูกต้องตรงกับที่ซื้อขายทุกรายการ ที่สำคัญควรตรวจสอบว่ามีการชำระภาษีประจำปีถูกต้องครบถ้วน สั่งอาหารออนไลน์ระวังเชื้อรา        กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนผู้บริโภคที่นิยมสั่งซื้ออาหารผ่านทางออนไลน์ ว่า ระวังเสี่ยงเชื้อราและให้สังเกตบรรจุภัณฑ์ หรือดูวันหมดอายุก่อนบริโภคทุกครั้ง         นายแพทย์เอกชัย  เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกรมอนามัย เผยว่า ปัจจุบันประชาชนนิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านแอปพลิเคชันทางออนไลน์กันมากขึ้น เพราะสะดวก ประหยัดน้ำมัน และไม่เสียเวลาในการเดินทาง ผู้ผลิตยังนิยมจัดกลยุทธ์การตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย ทำให้ผู้บริโภคสั่งซื้ออาหารนั้นบ่อยและมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว จึงควรระวังสินค้าเก่าเก็บที่อาจเสี่ยงเชื้อรา เพราะหากเก็บรักษาไม่เหมาะสม เช่น เก็บไว้ในที่ชื้นเกินไปหรือไม่มีการอบให้แห้งดีพอ จะก่อให้เกิดสาร “อะฟลาทอกซิน” หากมีการบริโภคเข้าไปสะสมในปริมาณมากก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้ ดังนั้น เมื่อได้รับสินค้าควรสังเกตบรรจุภัณฑ์ว่าสะอาด มีฝาปิดมิดชิด ซองบรรจุไม่มีรูรั่ว และอ่านฉลากให้ครบถ้วน ตั้งแต่ชนิด ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดคุณภาพ         สำหรับอาหารสดก่อนที่จะนำมาปรุง ประกอบอาหาร ควรล้างให้สะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อน และควรตรวจสอบวันหมดอายุก่อนนำมาบริโภคทุกครั้ง นอกจากผู้บริโภคควรสังเกตเรื่องความปลอดภัยของอาหารแล้ว หากพบอาหารที่สั่งมามีกลิ่นหรือสีที่เปลี่ยนไปถึงแม้จะมองไม่เห็นว่ามีเชื้อราก็ไม่ควรนำมาบริโภค ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ “สารอะฟลาทอกซิน” เป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง โดยปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัมสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง ศาลปกครองกลาง "รับฟ้อง" คดีควบรวมธุรกิจทรู-ดีแทค        จากที่ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้ยื่นคำร้อง ให้เพิกถอนมติ กสทช. “รับทราบ” การควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว และทาง สอบ.ได้นำรายชื่อผู้บริโภค 2,022 ราย ที่ได้ร่วมรณรงค์คัดค้านและสนับสนุนเรื่องดังกล่าวยื่นต่อศาลปกครองอีกด้วย         กรณีที่ผู้บริโภคยื่นคำขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ศาลได้รับคำขอดังกล่าวไว้ และรอให้ ทรู-ดีแทค มาเป็นผู้ร้องสอดในคดีจึงจะเริ่มพิจารณา เนื่องจากศาลมองว่า 2 บริษัทเป็นบุคคลภายนอกที่อาจมีผลกระทบจากการพิพากษา นอกจากนี้ สาเหตุที่ สอบ.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางนั้นมาจากที่ มติในการประชุมของ กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งด้านเนื้อหาและกระบวนการเพราะก่อนลงมติฯ กสทช.ไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้บริการก่อน ทั้งนี้มติดังกล่าวกระทบกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากกว่า 118 ล้านเลขหมาย โดยเฉพาะผู้ใช้บริการของทรูและดีแทคที่มีจำนวนสูงถึง 60 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 แจ็กพอตเศษฝอยขัดหม้อในอาหารกล่อง

        ปัจจุบันการใช้บริการแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ในการทำธุระต่างๆ เพื่อความสะดวกสบาย มักเป็นตัวเลือกแรกของผู้บริโภคยุคใหม่ เรื่องราวของคุณน้ำตาลในครั้งนี้ ก็เช่นกันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาหารเดลิเวอรี่ ที่เธอได้เข้ามาเล่าให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟัง เผื่อว่าจะเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภคอื่นๆ ได้ใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา         เหตุการณ์มีอยู่ว่าเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา  คุณน้ำตาลกำลังนั่งประชุมงานอย่างเคร่งเครียดกับเพื่อนร่วมงานทั้งอาวุโสกว่าและคนรุ่นราวคราวเดียวกัน และเมื่อใกล้ถึงเวลาพักเที่ยง ณ ที่ห้องประชุมทุกคนได้เริ่มกดโทรศัพท์เข้าแอปพลิเคชันเพื่อเลือกสั่งอาหารกันทันที        สำหรับคุณน้ำตาลเลือกไปเลือกมาก็ได้อาหารที่ถูกใจนั้นคือ “ข้าวไก่ข้นออนเซ็น” เมื่อคุณน้ำตาลเลือกเสร็จ และทำรายการสั่งอาหารเรียบร้อยแล้ว ก็อดคิดถึงอาหารเที่ยงที่กำลังจะมาไม่ได้สมาธิประชุมเริ่มลดลงเรื่อยๆ เมื่ออาหารมาถึงทุกคนต่างไม่รีรอจัดการกับอาหารตรงหน้าของตน คุณน้ำตาลก็เช่นกัน แต่คำแรกก็ได้เรื่อง ...ขณะนำเข้าปากเธอสังเกตเห็นเศษอะไรสักอย่างเส้นหยิกๆ ตกใจสิ เศษอะไร! มองไปมองมาดันคล้ายเศษฝอยขัดหม้อ เลยให้เพื่อนร่วมงานที่นั่งอยู่ที่โต๊ะช่วยกันดูทันทีว่ามันคืออะไร สุดท้ายแล้วก็สรุปได้ว่ามันจะเป็นเศษฝอยขัดหม้อที่น่าจะหลุดออกมาตอนล้างกระทะ และมันมีขนาดที่เล็กมาก แม่ครัวอาจจะมองไม่เห็น         อดกิน คุณน้ำตาลหิวข้าวจนต้องฝากให้แม่บ้านช่วยซื้อมาให้ใหม่จากร้านค้าใกล้ที่ทำงานแทน ต่อมาหลังจากนั้น เธอก็เริ่มกระบวนการตามที่เคยได้รับคำแนะนำมา คือ ถ่ายรูปอาหารและสิ่งแปลกปลอมเก็บเอาไว้เพื่อเป็นหลักฐาน  จากนั้นก็ติดต่อร้องเรียนในศูนย์ช่วยเหลือของทางแอปพลิเคชันที่เปิดไว้ให้ผู้ใช้บริการแจ้งเหตุต่างๆ หากได้รับความเสียหายจากการใช้บริการ ต่อมาทางแอปฯ ได้จัดการชดเชยค่าเสียหายให้กับทางคุณน้ำตาลโดยการคืนเงินให้ และยังให้ voucher แก่คุณน้ำตาลเพื่อใช้ในการลดราคาสินค้าในการสั่งครั้งต่อไป         เมื่อได้รับคำตอบที่พอใจจากทางแอปฯ คุณน้ำตาลก็ลดความโมโหหิวลงไปได้ และรับประทานข้าวกลางวันอย่างมีความสุขขึ้น         ข้อคิดจากเรื่องนี้ หนึ่งความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ การบ่นอาจไม่มีประโยชน์แต่การใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อเยียวยาสิ่งที่เกิดขึ้นสามารถช่วยคุณได้ และสองอาหารกล่องก่อนที่เราจะรับประทานควรมองหรือสังเกตสักหน่อยก่อนรับประทาน จะช่วยให้ปัญหาไม่บานปลายเป็นผลเสียแก่สุขภาพ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 10 แอปพลิเคชันเลือกซื้อของสด

        ยุคนี้อะไร อะไร ก็เดลิเวอรี่ ผู้บริโภคยุคใหม่จะจับจ่ายใช้สอยก็ง่ายดาย เพราะผู้ประกอบการหลายเจ้าเร่งพัฒนาสินค้าบริการให้ตอบโจทย์กับคนยุคใหม่มากมาย เช่น การสั่งซื้อสินค้าของสด ของแห้งหรือของใช้ผ่านแอปพลิเคชันที่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กลายเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์มากๆ           อย่างไรก็ตามผู้บริโภคบางคนอาจมีข้อสงสัย ว่าการเลือกซื้อสินค้าผ่านทางแอปพลิเคชันกับซื้อตามห้างสรรพค้าเองมีข้อแตกต่างกันอย่างไร ทั้งในเรื่องของเงื่อนไขการสั่งซื้อ สินค้ามีความสดใหม่หรือไม่ ราคาแพงหรือถูกกว่า การบริการจัดส่งแพ็คสินค้าต่างๆ หลังสั่งซื้อและวันหมดอายุ ทางฉลาดซื้อจึงได้ทดลองการสั่งซื้อสินค้าประเภท อาหารสด อาหารแห้ง ของใช้ จาก 10  แอปพลิเคชันออนไลน์ ช่วงเวลา 14-21 กันยายน 2564 เพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยดังกล่าว         มาติดตามกันเลย        เราสำรวจแอปพลิเคชันอะไรบ้าง        1. Tops Online สินค้าจาก Tops        2. Tesco Lotus สินค้าจาก Tesco Lotus        3. BigC สินค้าจาก BigC        4. Makro สินค้าจาก Makro        5. CP Freshmart สินค้าจาก CP Freshmart        6. Freshket สินค้าจากทางแอปพลิเคชันจัดส่งเองไม่สามารถระบุได้        7. HappyFresh สินค้าจาก Gourmet Market         8. Line man Powered By Happyfresh สินค้าจาก Gourmet Market         9. FoodPanda (Pandamart) สินค้าจาก Pandamart        10. Grab (GrabSupermarket) สินค้าจาก Tops วิธีการทดสอบ        1. สำรวจเงื่อนไขวิธีการสั่งซื้อ และทดสอบสั่งซื้อสินค้าประเภท อาหารแห้ง/อาหารสด/ของใช้ (การสั่งซื้อสินค้าเป็นไปตามเงื่อนไขของแอปพลิเคชัน) เลือกวิธีการจัดส่งแบบรับสินค้าในวันถัดไปและเลือกชำระเงินปลายทางทุกแอปพลิเคชัน (ที่มีตัวเลือกชำระปลายทาง)         2. หลังสั่งซื้อดูการแพ็คสินค้าว่ามีการแยกอาหารสด/อาหารแห้ง/ของใช้  หรือไม่        3. สำรวจวันหมดอายุของสินค้ามีวันหมดอายุหรือไม่ เปรียบเทียบราคาสินค้าจากแอปพลิเคชันกับห้างสรรพสินค้า(ราคาสินค้าอาจเป็นไปตามช่วงเวลาที่บริษัทกำหนด)ผลทดสอบ        1. ทุกแอปจัดส่งได้ก่อนระยะเวลาที่กำหนด เรื่องการจัดส่งและการแพ็คสินค้า พบว่า ทุกแอปพลิเคชันที่ทำการสั่งซื้อมีการจัดส่งได้ก่อนระยะเวลาที่กำหนด  9 แอปพลิเคชันมีให้เลือกกำหนดเวลาจัดส่งในวันถัดไป มี 1 แอปพลิเคชัน Makro ไม่สามารถเลือกเวลาในการจัดส่งได้เพราะทางบริษัทเลือกเวลาจัดส่งเอง 3-5 วัน ในการจัดส่ง ส่วนการแพ็คสินค้า พบว่า Makro ไม่มีการแพ็คสินค้าแยกของสดของใช้          2. 7 แอปพลิเคชันมีชำระเงินปลายทาง มี 3 แอปพลิเคชันไม่มีตัวเลือกชำระเงินปลายทาง ได้แก่  Freshket,Grab By (GrabSupermarket), Makro         3. มีให้เลือกการจัดส่งรูปแบบถุงใช้ซ้ำ ลดโลกร้อน เกือบทุกแอปพลิเคชัน        4. ไม่พบสินค้าหมดอายุนำมาจัดส่ง พบเพียงขนมปังเนยสด 35 กรัม 6 ชิ้นจาก Makro ที่มีวันหมดอายุในวันถัดไปทันที        5. ราคามีโปรโมชั่นพิเศษหากซื้อครบตามเงื่อนไขกำหนด ราคาสินค้าจากการเปรียบเทียบกับที่วางจำหน่ายปกติในห้างค้าปลีก พบว่า Tops Online ,Tesco Lotus , HappyFresh ,Line man Powered By Happyfresh ราคาถูกกว่าสินค้าในห้างเล็กน้อย  อย่างไรก็ตามการสั่งซื้อหากครบตามจำนวนที่บริษัทกำหนดเป็นเงื่อนไข ทั้ง 10 แอปพลิเคชันจะมีโปรโมชั่นจัดส่งฟรีและส่วนลดเยอะกว่าจากการเดินเลือกซื้อที่ห้างข้อสังเกต        - สินค้าของสดส่วนใหญ่จะผลิตในวันที่ส่ง และ CP Freshmart ไม่มีของใช้        - การลงทะเบียนทุกแอปพลิเคชันไม่มีกรอกเลขบัตรประชาชน        - ส่วนใหญ่เกือบทุกแอปพลิเคชันสามารถเลือกขอใบกำกับภาษีได้ มี 1 แอปพลิเคชัน คือ Freshket ที่มีการออกใบเสร็จกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ทันทีหลังสั่งซื้อ        - แอปพลิเคชัน Makro เหมาะสำหรับร้านค้าเพราะต้องซื้อในปริมาณมากขั้นต่ำ 1,000 บาทขึ้นไป        - การบริการลูกค้า กรณีสินค้าที่สั่งหมด พบว่าทุกแอปพลิเคชันมีการโทรศัพท์มาเพื่อสอบถามการเปลี่ยนสินค้า ยกเว้น Freshket ที่มีระบบคืนเงินทันทีหากสินค้าหมด                 สรุปผลการสำรวจ ฉลาดซื้อมองว่าในเรื่องราคาสินค้าที่แตกต่างกันนั้น อาจขึ้นอยู่กับช่วงเวลาโปรโมชันที่ทางบริษัทกำหนด ความสะดวกสบายในการสั่งซื้อคือ ข้อดี ที่ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นทางเลือกเพื่อไม่ต้องเสียเวลากับการไปเดินห้าง  บางครั้งราคาส่วนลดทางแอปพลิเคชันมีเยอะกว่า แต่กรณีที่เป็นแอปพลิเคชันที่ไม่ใช่ของห้างโดยตรงเอง สินค้าจะมีให้เลือกน้อยกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 สำรวจ ฟู้ดเดลิเวอรี ใครมีตัวเลือกรักษ์โลก

        เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็กดแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารทางออนไลน์กันเป็นเรื่องปกติ เพราะทั้งสะดวก รวดเร็ว และลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับผู้คนลงได้มาก แต่ขณะเดียวกันก็สร้างขยะพลาสติกจำนวนมากด้วย โดยในปี 2562 มีขยะพลาสติกจากธุรกิจร้านอาหารเดลิเวอรีมากถึง 140 ล้านชิ้น           นับเป็นเรื่องดีที่เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำบันทึกความร่วมมือการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหาร ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการ ซึ่งแม้เป็นเพียงความร่วมมือเชิงสมัครใจและยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ก็ได้เริ่มกระตุ้นให้ผู้ประกอบการตระหนักและหาวิธีช่วยลดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากต้นทางมากขึ้น         ในฐานะผู้บริโภค หลายคนก็คงอยากรู้ว่าจะมีผู้ประกอบการรายใดที่ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกนี้บ้าง นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มสำรวจตัวอย่างแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารทางออนไลน์(ฟู้ดเดลิเวอรี) จำนวน 36 แอปพลิเคชั่น ในเดือนมีนาคม 2564 เพื่อสำรวจว่าแอปฯฟู้ดเดลิเวอรีนั้นมีตัวเลือก‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’ให้กับลูกค้าหรือไม่  ผลการสำรวจแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารทางออนไลน์ (ฟู้ดเดลิเวอรี)         จาก 13 แอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรีที่ให้บริการในเขตกรุงเทพฯ พบว่ามี 4 แอปฯ ที่มีตัวเลือก ‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’ ได้แก่ Burger King, Food Panda, Grab Food และ Line Man  ข้อสังเกต        - มี 9 แอปฯฟู้ดเดลิเวอรี่ (เลือกจากที่แนะนำโดย Play Store) ที่ไม่ได้ให้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีตัวเลือก ‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’หรือไม่        - จากการสุ่มตัวอย่างแอปพลิเคชั่นยอดนิยม พบว่ามี 14 แอปฯ ที่ไม่ได้ให้บริการส่งอาหารออนไลน์โดยตรง ซึ่งจัดเป็นกลุ่มซูเปอร์มาเก็ตออนไลน์ กลุ่มส่งสินค้า และกลุ่มแอปฯ สะสมแต้ม + โปรโมชั่น (ร้านอาหาร,ร้านกาแฟ และศูนย์รวมร้านอาหาร)  ข้อแนะนำจากฉลาดซื้อ        แม้ตอนนี้จะมีหลายภาคส่วนร่วมมือกันจัดการขยะพลาสติกมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายให้เกิดเป็นพฤติกรรมที่ยั่งยืนได้ เพราะปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 9 ของพลาสติกที่ผลิตออกมาทั้งหมดเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ซึ่งก็เป็นปลายทางแล้ว         ดังนั้น เราน่าจะมาช่วยกันตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการลดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากต้นทางในการสั่งอาหารทางออนไลน์ โดยผู้บริโภค ควรใช้ตัวเลือกลดขยะพลาสติกในแอปฯ(ถ้ามี) เลือกสั่งจากร้านค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เลือกร้านที่ใช้กล่องข้าวหรือปิ่นโตซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ เพื่อสร้างกระแสผู้บริโภครักษ์โลกให้ร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายอยู่ในแอปฯ ต่างๆ นั้นรับรู้และแข่งกันสร้างสรรค์วิธีลดขยะพลาสติกมาเป็นกลยุทธ์การตลาดดึงดูดลูกค้าต่อไป    ข้อมูลอ้างอิงวารสารสิ่งแวดล้อม ปีที่ 25 (ฉบับที่ 1) มกราคม-มีนาคม 2564

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 โควิดตัวร้ายกับแอปพลิเคชันสั่งอาหาร

        เดือนที่ผ่านมาพวกเราต่างได้รับผลกระทบจากโรคโควิท 19 กันทุกคน รัฐบาลมีมาตรการล็อคดาวน์ มาตรการ Social Distancing และรณรงค์ให้อยู่บ้านหยุดเชื้อ เพื่อชาติ ร้านอาหารต่างๆ เปิดให้บริการเพียงแบบซื้อกลับบ้านเท่านั้น ทำให้บริการแอปพลิเคชันสั่งซื้ออาหารออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งGrab Food, Food Panda, Lalamove, Line Man เมื่อผู้บริโภคใช้บริการมากก็จะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เรามาดูกันว่าผู้บริโภครายนี้เขาเกิดความผิดพลาดอย่างไร และเขาจัดการปัญหานี้อย่างไร         คุณภูผาต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) ไม่สะดวกออกไปซื้ออาหาร ทำเองก็ไม่สะดวก เขาจึงสั่งอาหารร้านชื่อดังแห่งหนึ่งผ่าน Grab food โดยมีเมนูข้าวหมกไก่ กล่องละ 45 บาท 1 กล่อง ข้าวมันไก่ทอด กล่องละ 45 บาท 1 กล่อง ข้าวหมกเนื้อ กล่องละ  50 บาท 2 กล่อง และสเต๊ะเนื้อ 1 ชุด 95 บาท ค่าอาหาร 285 บาท และค่าส่งอีก 25 บาท รวมเป็น 310 บาท พอกดสั่งอาหารแล้วก็แอบยิ้มดีใจนิดๆ ว่าแอปฯ ให้ส่วนลดเป็น reward ตั้ง 10 บาท โดยชำระเงินผ่านบัตรเครดิต         เมื่อ Grab นำอาหารมาส่ง ภูผาก็ออกมารับของอย่างมีความสุข แต่มาเกิดเรื่องจนได้ตอนจะรับประทาน เพราะพบว่า ขาดข้าวหมกเนื้อไป 1 กล่อง จึงแจ้งไปยังศูนย์ขอความช่วยเหลือในแอปพลิเคชันพร้อมเล่ารายละเอียดคร่าวๆ ว่า ได้อาหารไม่ครบขาดข้าวหมกเนื้อ 1 กล่อง ราคา 50 บาท และส่งรูปภาพไปด้วย หลังจากนั้นประมาณ 10 – 15 นาที ก็มีอีเมล์ตอบกลับมาว่า ขออภัยและบอกว่าจะคืนเงินให้เป็น reward (reward คือการสะสมคะแนน เพื่อใช้เป็นส่วนลดหรือแลกสิ่งของ) จำนวน 50 บาท และให้แบ่งใช้ 2 ครั้ง 40 บาท และ 20 บาท โดยสามารถใช้ได้ในครั้งถัดไป อย่างไรก็ตามมีการกำหนดอายุการใช้งานของ Reward ด้วย         คุณภูผารู้สึกไม่พอใจ เขารู้สึกว่า Grab เอาเปรียบเขา ทำไม Grab ไม่คืนเงินเข้าไปในวงเงินบัตรเครดิต หรือตัดบัตรเครดิตเพียงแค่ยอดที่เขาได้รับของมาคือ 260 บาท(หักข้าวหมกเนื้อออก) และการที่คืนเป็น Reward อาจจะฟังดูเป็นบุญคุณไปอีก “ไม่โอเค อ่ะ” ความผิดพลาดเกิดจากการส่งอาหารไม่ครบของพนักงาน (Rider) เอง สำหรับการกำหนดอายุการใช้งานของ Reward ก็ยิ่งไม่ควรทำหากจะเลือกเยียวยาด้วยวิธีนี้ คุณภูผาคิดว่า ความผิดไม่ได้เป็นของผู้บริโภค (อาจพลาดที่ไม่ได้ตรวจก่อนว่ารับสินค้าครบไหม) ดังนั้น Grab ควรติดต่อร้านให้นำของมาส่งเพิ่มตามที่ขาดไปยังจะดีกว่า หรือคืนเงิน หรือคิดเงินเขาในราคาเท่ากับของที่เขาได้รับจริง จะโอเคที่สุด  ดังนั้นเขาจึงได้ทำเป็นข้อแนะนำเสนอต่อ Grab Food ไป และมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ควรทำอะไรเพิ่มอีก แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า มีวิธีจัดการปัญหาเบื้องต้น 2 วิธี ดังนี้         1. ใช้ช่องทางผ่านตัวผู้ให้บริการแอป คือ ติดต่อไปยัง Grab Food อีกครั้ง โดยผ่านช่องทางศูนย์ขอความช่วยเหลือในแอป หรือโทรศัพท์ติดต่อไปยัง Grab เพื่อปฏิเสธการคืนเป็น reward และแสดงความต้องการขอรับคืนเป็นเงินสดหรือเป็นเงินคืนให้บัตรเครดิตเท่านั้น         2. ใช้ช่องทางบัตรเครดิต คือ ติดต่อไปยังธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตว่า สั่งซื้อสินค้าแล้วได้สินค้าไม่ครบถ้วน โดยอ้างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2542 ข้อ 3 (8) (ข) ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ธนาคารคืนวงเงินเข้าบัตรเครดิต หรือให้ธนาคารเรียกเก็บเฉพาะส่วนที่ได้รับสินค้า ไม่เรียกเก็บส่วนที่ไม่ได้สินค้า         เมื่อรับคำแนะนำแล้ว ผู้ร้องได้ลองติดต่อไปยังตัวผู้ให้บริการผ่านช่องทางศูนย์ขอความช่วยเหลืออีกครั้งหนึ่ง โดยยืนยันว่าขอให้ Grab คืนวงเงินเข้าบัตรเครดิต เป็นจำนวนเงิน 50 บาท ปรากฎว่า คุณภูผาได้รับการแก้ไขปัญหาจากผู้ให้บริการด้วยการคืนวงเข้าบัตรเครดิตในวันรุ่งขึ้นทันที เขาจึงเสนอต่อ Grab เพิ่มว่า “ควรให้ลูกค้าเลือกใช้สิทธิว่าจะรับเป็น Refund, Reward, Re-Delivery ตั้งแต่แรกเลยจะจบแบบได้ใจลูกค้ามากกว่านี้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 กระแสต่างแดน

ไม่มีเซอร์ไพรซ์        ลูกค้าเว็บจองโรงแรม แอร์บีเอ็นบี ในยุโรป สามารถจองห้องได้อย่างสบายใจ เพราะต่อไปนี้เขาจะแจ้งค่าธรรมเนียมทุกอย่าง (รวมถึงค่าทำความสะอาดและภาษีท้องถิ่น) ไว้ในหน้าแรก         ผู้บริโภคยังจะได้ทราบด้วยว่าเจ้าของห้องพักดังกล่าว เป็นชาวบ้านทั่วไปที่แบ่งห้องให้เช่าหรือผู้ประกอบการด้านที่พักโดยตรง ในกรณีที่เกิดปัญหาก็มีลิงก์ไปยังแพลทฟอร์มที่ผู้บริโภคสามารถส่งเรื่องร้องเรียนได้ทันที         นอกจากนี้ผู้ใช้สามารถฟ้องร้องต่อศาลในประเทศที่ตนเองอยู่อาศัย และไม่เสียสิทธิในการฟ้องร้อง “เจ้าบ้าน” ในกรณีที่เกิดอันตรายหรือความเสียหายอื่นๆ กับตนเอง             บริษัทบอกว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใดๆ โดยไม่แจ้งให้ผู้ใช้ทราบอย่างชัดเจน และไม่ปิดโอกาสผู้ใช้ในการปฏิเสธสัญญา         เหตุที่บริษัทสัญชาติอเมริกันยอมทำตามข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการยุโรป ก็เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับหลายล้านยูโรนั่นเองเค็มแถวหน้า        จีนเป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคเกลือสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก งานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยควีนแมรี่แห่งลอนดอนพบว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ผู้ใหญ่ชาวจีนบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละมากกว่า 10 กรัม ในขณะที่เด็กวัย 6 ปีขึ้นไป ก็บริโภคเกลือวันละเกือบ 9 กรัม         มีเพียงเด็กเล็กวัย 3 ถึง 6 ปีที่บริโภคเกลือวันละ 5 กรัม (ซึ่งเป็นปริมาณการบริโภคเกลือที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ)         นักวิจัยพบว่าอัตราการบริโภคเกลือในหมู่ประชากรทางเหนือของประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผักสดให้รับประทานตลอดทั้งปีจึงไม่ต้องพึ่งพาผักดอง         แต่กลับพบการบริโภคเกลือที่สูงขึ้นทางตอนใต้ของประเทศ เพราะผู้คนนิยมรับประทานอาหารแปรรูปและซื้ออาหารนอกบ้านทานมากขึ้น         นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าเด็กที่ชอบทานเค็มจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบเค็มด้วย สถิติยังระบุว่าร้อยละ 40 ของสาเหตุการตายในหมู่ประชากรจีนเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและความดันสูงที่เกิดจากการบริโภคเกลือมากเกินไปด้วย  “เมดอินเวียดนาม”        บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน Asanzo ของเวียดนาม มีเรื่องต้องอธิบายผู้บริโภค เมื่อถูกเปิดโปงว่าเครื่องรับโทรทัศน์ที่ “ผลิตในเวียดนาม” ของบริษัท มีส่วนประกอบถึงร้อยละ 80 ที่ผลิตมาจากจีนก่อนหน้านี้ผู้ผลิตกุญแจยี่ห้อ “มินไค” ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนเวียดนามมานานกว่า 30 ปี ได้เริ่มนำเข้ากุญแจจากประเทศจีนมาติดฉลากเป็นยี่ห้อตนเอง ประทับตรา “ISO 9000-2000” และ “สินค้าคุณภาพสูงจากเวียดนาม”         ปลายปี 2017 “ไคซิลค์” ก็ออกมายอมรับว่านำเข้าผ้าไหมจากจีนเข้ามาตีตราขายเป็นสินค้าแบรนด์ตัวเองในเวียดนามมาเป็นสิบปีแล้ว ความแตกเพราะลูกค้าที่ซื้อผ้าพันคอไป 60 ชิ้น (ในราคาชิ้นละประมาณ 850 บาท) พบว่าผ้าผืนหนึ่งมีทั้งฉลาก “ผลิตในประเทศจีน” และฉลาก “ผลิตในเวียดนาม”         ทั้งหมดนี้สร้างความขุ่นเคืองให้ผู้บริโภคที่เวียดนามอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าบอกว่าเรื่องนี้ทำกันทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และรายย่อย เพราะปัจจุบันไม่มีเกณฑ์ว่าอย่างไรถึงจะเข้าข่ายเป็น “ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง” และ “ผลิตในเวียดนาม”“ไม่เอาหลอด”        กฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะในครัวเรือนทำให้ชาวเซี่ยงไฮ้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสั่งอาหาร/เครื่องดื่มออนไลน์ เพื่อลดภาระในการคัดแยกขยะ เอเลมี ผู้ให้บริการส่งอาหารบอกว่าตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีถึง 4,100 คำสั่งซื้อที่มีข้อความกำกับมาด้วย หนี่งในสี่ของคำสั่งซื้อระบุว่า “ขอซุปน้อยลง” ที่เหลือก็เป็นทำนอง “ขอข้าวน้อย” “ไม่เอาพริกไทยซอง” “แกะย่างไม่เอาไม้เสียบ” เป็นต้น         เหม่ยถวน ผู้ให้บริการอีกเจ้าหนึ่งระบุว่ามีคำสั่งซื้อที่ระบุว่า “ไม่เอาช้อน/ซ้อม/ตะเกียบ” เพิ่มขึ้นจากเดิมถึงสี่เท่า และ “หลอด” ทั้งที่เป็นกระดาษและพลาสติกก็เป็นที่รังเกียจเช่นกันยกตัวอย่างกรณีชานมไข่มุก หากกินไม่หมดก็ต้องเทน้ำชาลงซิงค์ ทิ้งเม็ดไข่มุกลงในถังขยะเปียก และนำแก้วไปทิ้งในถังรีไซเคิล         เว็บไซต์ Caijing.com พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม 50,000 คน จะเลิกกินชานมเพราะขั้นตอนการแยกขยะที่ยุ่งยากซับซ้อนรอได้ก็เขียวได้         ในทางทฤษฏี อีคอมเมิร์ซเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการขับรถบรรทุกออกมารอบเดียวแต่ส่งของให้กับผู้คนได้มากมายมันย่อมดีกว่าให้แต่ละคนขับรถไปห้างกันเอง  งานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในปี 2012 ก็ยืนยันว่าการสั่งซื้อแบบนี้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80         แต่ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยที่พบว่าถ้ารถส่งของนำสินค้าไปส่งให้ผู้สั่งซื้อน้อยกว่า 6 รายต่อเที่ยว มันจะไม่ช่วยอะไร ยิ่งถ้าต้องนำส่งแบบทันทีโดยไม่รอรวมกับใครก็ยิ่งแล้วใหญ่ เฉลี่ยแล้วถ้ารถต้องออกไปโดยมีของส่งเพียงหนึ่งชิ้น ปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจะมากกว่ากรณีที่มีของเต็มรถถึง 35 เท่า         นอกจากนี้ผู้บริโภคยังไม่รู้ถึงค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในการเลือกรับสินค้า “ภายในวันเดียว” เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริการฟรี (เพราะบริษัทแบกรับต้นทุนไว้) ทั้งที่อาจจะไม่ได้รีบใช้        ผู้เชี่ยวชาญเสนอทางออกเป็นปุ่ม “จัดส่งแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ให้ผู้บริโภคเลือกคลิก เพราะมีงานวิจัยที่พบว่าผู้บริโภคกว่าร้อยละ 50 ยินดีที่จะรอ หากช่วยลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมได้

อ่านเพิ่มเติม >