ฉบับที่ 151 สามทหารเสือสาว: ถึงคราวนักวารสารศาสตร์สาวต้องทบทวนตนเอง

ในยุคที่สังคมเชื่อมั่นและต้องการ “ข่าวสาร” เพื่อประกอบการตัดสินใจในการคิดหรือกระทำการอันใด วงวิชาชีพแบบหนึ่งที่ได้ก่อตัวขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ผลิตข่าวสารป้อนให้กับสาธารณชนก็คือ แวดวงของ “นักวารสารศาสตร์” ผู้โลดแล่นอยู่ในโลกของสื่อสารมวลชนต่าง ๆ นักวารสารศาสตร์ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “journalist” นั้น อธิบายง่าย ๆ ก็คือ บรรดานักวิชาชีพผู้ค้นหามาซึ่ง “สัจจะ” หรือ “ความจริง” และผลิตหรือเผยแพร่สัจจะความจริงดังกล่าวให้มวลชนได้รับรู้ เพื่อที่มวลชนจะได้ใช้ข้อมูลข่าวสารความจริงเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตต่อไป ภายใต้วิถีแห่งความเป็นนักวิชาชีพเยี่ยงนี้เอง นักวารสารศาสตร์ได้สร้างข้อตกลงหรือรหัสจริยธรรมร่วมกันว่า เพื่อประโยชน์สูงสุดแห่งสาธารณะ ไม่เพียงแต่นักวารสารศาสตร์ต้องซื่อสัตย์และรายงานแต่สัจจะความจริง (มิใช่อิงนิยายที่นั่งเทียนเขียนขึ้นมา) เท่านั้น หากแต่พวกเขาจักต้อง “วางตนเป็นกลาง” ไม่เข้าข้างหรือใช้อคติใด ๆ เข้าไปแปดเปื้อนการผลิต “สัจจะ” ในโลกวิชาชีพเลย และเมื่อนักวารสารศาสตร์เป็นสาขาอาชีพที่มีบทบาทยิ่งในสังคมข่าวสาร ก็คงไม่น่าแปลกแต่อย่างใดหากละครโทรทัศน์ซีรีย์ไตรภาคอย่าง “สามทหารเสือสาว” จะจำลองฉายภาพของตัวละครในวงวิชาชีพดังกล่าวขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นภาพของ “มัทนา” ในซีรีย์ “มายาตวัน” อันเป็นตอนแรก หรือตัวละคร “สาระวารี” แห่งซีรีย์ตอนสองเรื่อง “มนต์จันทรา” จนถึงปิดท้ายกับ “มีคณา” ในซีรีย์ตอนสามเรื่อง “ฟ้ากระจ่างดาว” ภาพของตัวละครหญิงทั้งสามคนข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ของงานข่าวในสื่อมวลชนทุกวันนี้ คงไม่ได้ปิดกั้นการเข้ามาของสตรีเพศอีกต่อไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม บนเส้นทางการค้นหาสัจจะความจริงนั้น ข้อเท็จจริงที่ตัวละครได้เผยให้เห็นก็คือ ความจริงที่เที่ยงแท้และความเป็นกลางแบบที่วิชาชีพวารสารศาสตร์เรียกร้องนั้น ในทางปฏิบัติช่างเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในวงการงานข่าว เริ่มต้นจากมัทนาน้องเล็กที่สุดแห่งสามทหารเสือสาว ก่อนที่เธอจะก้าวมาเป็นนักข่าวบันเทิงของหนังสือพิมพ์สยามสาร เธอเคยเป็นแฟนคลับที่ติดตามและคลั่งไคล้ดาราหนุ่มอย่าง “เขตต์ตวัน” ตั้งแต่เมื่อเธอยังเป็นนักศึกษาของคณะนิเทศศาสตร์อยู่ ครั้นพอมัทนาได้มาเป็นนักข่าวและได้รับมอบหมายให้ไปสืบค้น “ความจริง” เกี่ยวกับเขตต์ตวันที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับคดีฆาตกรรม เสียงเพลงธีมของละครที่ร้องว่า “ได้ยินบ้างไหมได้ยินหรือเปล่าหนึ่งคำที่มันล้นใจ ใกล้กันแค่นี้ได้ยินบ้างไหมคือเสียงหัวใจของฉันเอง...” ก็คอยหลอกหลอนเป็นความลำเอียงที่เกิดขึ้นในการทำงานข่าวของแฟนคลับผู้หลงใหลคลั่งไคล้ดาราหนุ่มมาตั้งแต่อดีต ด้วยเหตุฉะนี้ นักข่าวสาวอย่างมัทนาจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงอคติที่จะเข้าไปผูกพัน จนช่วยเหลือแหล่งข่าวอย่างเขตต์ตวันพ้นให้ข้อกล่าวหาได้ ก่อนที่ในท้ายสุดก็กลายเป็นความรักที่เกิดขึ้นระหว่างนักข่าวสาวสายบันเทิงกับดาราหนุ่มไปโดยปริยาย ส่วนชะตากรรมของสาระวารี ทหารเสือสาวคนที่สองของสยามสารนั้น ด้วยประสบการณ์ภูมิหลังที่ชีวิตวัยเด็กมีพ่อที่ติดการพนันอย่างหนัก จนกลายเป็นบาดแผลให้เธอเกลียดการพนันเข้ากระดูกดำ แต่กลับต้องจับพลัดจับผลูถูก บก. สยามสาร มอบหมายให้เข้าไปทำข่าวของ “ษมา” เจ้าของธุรกิจหนุ่มใหญ่แห่งเกาะยานก ผู้ได้รับสัมปทานเปิดกาสิโนบนเกาะกลางทะเลของประเทศเพื่อนบ้าน และเพราะเกลียดการพนันเข้าไส้ สาระวารีจึงมีอคติต่อแหล่งข่าวอย่างษมาทุกครั้งที่ต้องพูดคุยสัมภาษณ์หรือเขียนข่าวเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเขา ก่อนที่จะแปรเปลี่ยนกลายมาเป็นความรักระหว่างนักข่าวสาวกับเจ้าพอแห่งเกาะยานกไปในตอนจบ สำหรับทหารเสือสาวคนสุดท้ายอย่างมีคณานั้น เธอเป็นนักข่าวสายอาชญากรรม และมีปมที่ชีวิตวัยเด็กเผชิญแต่กับผู้ชายที่เลวร้าย ตั้งแต่พ่อแท้ๆ พ่อเลี้ยง หรือน้องชาย รวมถึงเกือบถูกพ่อเลี้ยงส่งตัวไปขายบริการทางเพศเหมือนกับน้องสาวสองคนและเด็กสาวอีกหลายๆ คนในหมู่บ้านของเธอ เพราะฉะนั้น ด้วยประสบการณ์ชีวิตอันเลวร้ายเช่นนี้ มีคณาจึงเลือกมาทำงานข่าว และคอยติดตาม “สารวัตรหิรัณย์” เข้าไปสืบสวนคดีตีแผ่ขบวนการค้ามนุษย์ ก่อนที่เธอจะช่วยเขาปิดคดีและเปิดหน้าประวัติศาสตร์ความรักกับสารวัตรหนุ่มในตอนท้ายเรื่อง ชะตาชีวิตของตัวละครผู้หญิงทั้งสามคน เผยให้เห็นว่า ในขณะที่ด้านหนึ่งนักวารสารศาสตร์คือผู้แสวงหาและตีแผ่ซึ่ง “สัจจะ” สู่มวลชน แต่ทว่า “สัจจะ” ในวงการข่าวนั้นก็ไม่เคยบริสุทธิ์หรือเป็นกลางร้อยเปอร์เซ็นต์เลย หากแต่มักแปดเปื้อนเจือไว้ด้วยอคติบางอย่างในโลกทัศน์ของคนทำงานข่าวไม่มากก็น้อย นั่นหมายความว่า แม้ด้านหนึ่ง สามทหารเสือนักข่าวสาวจะพยายามรักษาการได้มาซึ่งสัจจะความจริง แต่ด้วยภูมิหลังชีวิตซึ่งแตกต่างกันของคนทำงานข่าวนั่นเอง ที่ทำให้ความจริงนั้นๆ ไม่ใช่ “ความจริงที่เป็นกลาง” หากแต่เป็น “ความจริง” ที่มาจากจุดยืนหรือการรับรู้ของนักข่าวสาวมากกว่า ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด หากนักข่าวสายบันเทิงอย่างมัทนาจะตัดสินคุณค่าของเขตต์ตวันไปล่วงหน้าตามสายตาของแฟนคลับอย่างเธอ หรือนักข่าวสังคมอย่างสาระวารีจะมีอคติต่อการเปิดบ่อนกาสิโนหรือแม้แต่ตัวของเจ้าพ่อษมาแห่งเกาะยานก หรือนักข่าวอาชญากรรมอย่างมีคณาที่ทำข่าวการค้ามนุษย์ด้วยความรู้สึกโกรธแค้นและกดดันอันเนื่องมาแต่ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อนักข่าวหญิงทั้งสามได้เข้ามาสู่วังวนความใกล้ชิดกับแหล่งข่าวมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้านหนึ่ง การรับรู้ความเป็นจริงและมุมมองที่มีต่อแหล่งข่าวก็จะเริ่มเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ตรงที่พวกเธอมีต่อพระเอกหนุ่มทั้งสามคน และมีผลต่อการรายงานสัจจะความจริงในเนื้อหาข่าวไปด้วยเช่นกัน ในท้ายที่สุด เมื่อมาถึงบทสรุปชีวิตของสามทหารเสือสาวที่ต่อสู้เพื่อค้นหาสัจจะความจริงกันมานาน มัทนาก็เลือกจะละทิ้งความฝันไปสร้างครอบครัวเล็กๆ กับเขตต์ตะวัน สาระวารีก็เลือกไปเป็นภรรยาช่วยดูแลกิจการกาสิโนให้กับษมา ในขณะที่มีคณาก็แยกย้ายแต่งงานไปกับสารวัตรหิรัณย์และเลิกลงสนามทำงานเสี่ยงๆ แบบนักข่าวสายอาชญากรรม และนี่ก็คงเป็นชะตากรรมที่ไม่ต่างไปจากบรรดานักข่าวผู้หญิงในชีวิตจริงที่ต้องตอบคำถามด้วยว่า เมื่อถึงที่สุดแล้ว ระหว่างทางเลือกที่จะโลดแล่นไปในวงวิชาชีพวารสารศาสตร์ กับเรื่องของชีวิตรักและครอบครัว คำตอบสุดท้ายของทหารเสือสาวในแวดวงนักข่าวทั้งหลายจะเป็นตัวเลือกข้อใด

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point