ฉบับที่ 227 กุนเชียงกับสารตรึงสีและสารกันบูด

        ไส้กรอก แฮม แหนม กุนเชียง หมูยอ เป็นเนื้อสัตว์แปรรูปที่คนไทยนิยมทาน นอกจากอร่อยแล้วยังสะดวกในการปรุงด้วย เพราะเพียงแค่อุ่นร้อนไม่กี่นาทีก็รับประทานได้ และยังหาซื้อง่ายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป รวมถึงการซื้อเป็นของฝากติดไม้ติดมือเมื่อเดินทางท่องเที่ยว นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้เคยเก็บตัวอย่างและทดสอบสินค้าในกลุ่มนี้หลายชนิด ทั้งไส้กรอก หมูยอ แหนม  ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าที่ดี ปลอดภัย อีกทั้งในรายที่ตกมาตรฐาน ก็ได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น         ดังนั้นเพื่อเฝ้าระวังสินค้ากลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ทางโครงการฯ และนิตยสารฉลาดซื้อ จึงเก็บตัวอย่างสินค้า กุนเชียง ซึ่งเป็นไส้กรอกประเภทหนึ่ง ซึ่งนิยมรับประทานกันมากและจัดเป็นของฝากของภาคอีสานมาทดสอบ ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนทีมอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ในการเก็บตัวอย่าง กุนเชียงจำนวน 19 ตัวอย่าง เดือนธันวาคม 2562 โดยเน้นพื้นที่โซนภาคอีสาน ได้แก่ กุนเชียงหมู 9  ตัวอย่าง  กุนเชียงไก่  5  ตัวอย่าง และกุนเชียงปลา 5 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบหาสารไนเตรท ไนไตรท์ ซึ่งเป็นสารตรึงสี(ช่วยให้มีสีแดงสวยและป้องกันการเน่าเสีย) และวัตถุกันเสีย สองชนิด ได้แก่ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก มาดูกันว่า ผลทดสอบเป็นเช่นไร        กุนเชียง ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่มีต้นกำเนิดมาจากจีน จัดเป็นไส้กรอกประเภทหนึ่ง ภาษาอังกฤษเรียกว่า  Chinese sausage หรือ ไส้กรอกจีน ดั้งเดิมมีส่วนประกอบหลักเป็นเนื้อหมูและมันหมู โดยเนื้อสำหรับทำกุนเชียงจะเป็นเนื้อหมูที่บดหยาบกว่าเนื้อหมูที่ทำไส้กรอก แต่ปัจจุบันอาจผลิตจากเนื้อสัตว์อื่น เช่น ไก่ ปลา ซึ่งในการผลิตกุนเชียงผู้ผลิตบางรายอาจเติมเกลือไนไตรท์และเกลือไนเตรทเข้าไปด้วย เพื่อเป็นสารกันเสียและตรึงสีทำให้กุนเชียงมีสีแดงน่าทาน และอาจเติมวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกและซอร์บิก เพื่อให้สินค้าคงสภาพได้นานขึ้นเก็บตัวอย่างเดือนธันวาคม 2562สรุปผลทดสอบ                   สรุปผลทดสอบ        จากการทดสอบกุนเชียง จำนวน 19 ตัวอย่าง สรุปได้ดังนี้        -          กุนเชียงทุกตัวอย่างปลอดภัย ไม่มีวัตถุเจือปนอาหาร ไนไตรท์ ไนเตรท กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก เกินค่ามาตรฐาน        -          ไม่พบไนไตรท์ใน 18 ตัวอย่าง พบน้อยกว่า 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 1 ตัวอย่าง          -          พบไนเตรทเล็กน้อย ที่ค่าเฉลี่ย 11.31 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และไม่พบเลย 7 ตัวอย่าง        -          พบกรดเบนโซอิกในปริมาณไม่เกินมาตรฐาน ซึ่งเป็นไปตามที่ผู้ผลิตได้แจ้งไว้บนผลิตภัณฑ์ (การพบปริมาณกรดเบนโซอิกเพียงเล็กน้อย เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากวัตถุดิบที่นำมาเป็นส่วนประกอบ มิได้เกิดจากการตั้งใจใช้เพื่อป้องกันการเน่าเสีย)  วิธีเลือกซื้อกุนเชียง        1.เลือกที่เนื้อแน่น คงรูป ไม่มีโพรงอากาศ เนื้อมีความนุ่มพอเหมาะ เนื้อและมันสัตว์ผสมกันอย่างทั่วถึง ไม่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน        2.เลือกสีที่ควรเป็นไปตามธรรมชาติของส่วนประกอบที่ใช้ และสม่ำเสมอตลอดชิ้น ไม่มีสีผิดปกติ เช่น ซีด เขียวคล้ำ ดำ หรือรอยไหม้        3.ไม่มีกลิ่น ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น กลิ่นอับ กลิ่นหืน         4.ไม่มีสิ่งแปลกปลอม เช่น เส้นผม ดิน กรวด ทราย ชิ้นส่วนหรือสิ่งปฏิกูลจากสัตว์        5.ภาชนะบรรจุสะอาด แห้ง ผนึกได้เรียบร้อย และสามารถป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกภายนอกได้        6.เลือกซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ วัตถุเจือปนอาหารในผลิตภัณฑ์กุนเชียงกุนเชียงจัดอยู่ในกลุ่ม เนื้อสัตว์บดที่ผ่านกระบวนการหมักหรือไม่ก็ได้แล้วและทำแห้งโดยไม่ใช้ความร้อน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ.2561 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ใช้ไนไตรท์ ซึ่งเป็นสารคงสภาพของสีและสารกันเสีย ในผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมและอนุญาตให้ใช้วัตถุกันเสีย กรดเบนโซอิก ในผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ได้ไม่เกิน 1000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ไนไตรท์ คือ อะไร“ไนไตรท์” เป็นวัตถุเจือปนอาหาร (food additives) ในกลุ่มสารกันเสีย (preservative) และสารตรึงสี ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แหนม หมูยอ กุนเชียง ที่มีการอนุญาตให้ใช้ “ไนไตรท์” ได้ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่กำหนด โดย “ไนไตรท์” มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเน่าเสีย และยังมีหน้าที่ในการตรึงสีของเนื้อสัตว์แปรรูปให้เป็นสีชมพู ไม่ซีดไม่เปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำอันตรายหรือไม่        อันตราย หากใช้ในปริมาณที่มากเกินกว่าที่กำหนด โดยไนไตรท์จะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง อาจเป็นลม หมดสติได้ แต่จะอันตรายมากกว่า หากไม่ใส่ในอาหารกลุ่มไส้กรอก กุนเชียง ฯลฯ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะสิ่งที่อันตรายที่สุดสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป คือ การเกิดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า “คลอสตริเดียม โบทูลินั่ม” ที่สามารถสร้างสารพิษร้ายแรงที่มีชื่อว่า “โบทูลินั่มท็อกซิน” (Botox) ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต และถ้าร่างกายได้รับมากเกินไปก็อาจเสียชีวิตได้        การใช้ “ไนไตรท์” ภายใต้ปริมาณที่กำหนด สามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียนี้ จึงช่วยให้มีความปลอดภัยในการบริโภคมากขึ้น ซึ่ง European Food Safety Authority (EFSA) ได้บ่งชี้ว่าการใช้เกลือไนไตรท์ในปริมาณที่พอเหมาะ (50-100 มก./กก.) จะควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียกลุ่มคลอสตริเดียมโบทูลินัม ซึ่งเชื้อแบคทีเรียนี้สามารถสร้างสารพิษ ชื่อ โบทูลินั่มท็อกซิน        ในแต่ละวันร่างกายเราได้รับสารไนไตรท์ที่มาจากเนื้อสัตว์แปรรูปโดยเฉลี่ยประมาณ 10% อีก 90% เราได้รับมาจากพืชและแหล่งอาหารอื่นๆ ที่เราบริโภค ซึ่งหากรับประทานในปริมาณที่กำหนดก็จะไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แต่หากได้รับมากเกินไป จะทำให้ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ไม่สามารถนำพาออกซิเจนไปใช้ได้ อาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้

อ่านเพิ่มเติม >