ฉบับที่ 188 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2559ผู้ผลิตน้ำตาลมะพร้าวยี่ห้อ “สุทธิภัณฑ์” ชี้แจงพร้อมยืนยันผลทดสอบไม่พบสารฟอกขาวเกินมาตรฐานหลังจากที่ ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 185 ได้นำเสนอผลทดสอบ สารฟอกขาวกับน้ำตาลมะพร้าว โดยผลจากการสุ่มทดสอบพบว่า มี 2 ตัวอย่างจาก 21 ตัวอย่างที่พบปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดที่ 40 มิลลิกรัม / 1 กิโลกรัม ประกอบด้วย ตัวอย่าง น้ำตาลมะพร้าวยี่ห้อ สุทธิภัณฑ์ ที่เก็บตัวอย่างจาก กูร์เมต์มาร์เก็ต สยามพารากอน ที่ตรวจพบปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 72 มก./กก. และตัวอย่างที่ไม่มีการระบุยี่ห้อที่ซื้อจากตลาดอมรพันธ์ ที่ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 61 มก./กก.ซึ่งหลังจากได้มีการเผยแพร่ผลทดสอบออกไปก็สร้างความตื่นตัวต่อทั้งผู้บริโภค และรวมถึงตัวผู้ประกอบการเอง โดยทางตัวแทนของบริษัท Suttiphan Food Trade Co.,LTD. ได้เข้ามาชี้แจงกับทางนิตยสารฉลาดซื้อ ว่าทางบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจกับผลการตรวจที่ทางฉลาดซื้อได้นำเสนอ ทางบริษัทจึงได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำตาลมะพร้าวที่ทางบริษัทผลิต จำนวน 5 ตัวอย่าง นำไปส่งตรวจวิเคราะห์ดูปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ กับทาง บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด โดยผลิตภัณฑ์น้ำตาลทั้ง 5 ตัวอย่าง ประกอบด้วย 1.สวีท คิวบ์ น้ำตาลมะพร้าวธรรมชาติ แบบบรรจุถุงพลาสติก ล็อตการผลิต 26/7/59, 2.สวีท คิวบ์ น้ำตาลมะพร้าวธรรมชาติ แบบบรรจุกระปุก ล็อตการผลิต 10/8/59, 3.สุทธิภัณฑ์ น้ำตาลโตนดธรรมชาติ ล็อตการผลิต 26/7/59, 4.สุทธิภัณฑ์ น้ำตาลมะพร้าว ชนิดก้อนเล็ก ล็อตการผลิต 3/8/59 และ 5.สุทธิภัณฑ์ น้ำตาลมะพร้าว ขนิดบรรจุ 1 ก้อนใหญ่ ล็อตการผลิต 3/8/59 ซึ่งเป็นล็อตเดียวกับที่ฉลาดซื้อตรวจพบปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐานโดยผลการตรวจที่ทางบริษัท Suttiphan Food Trade Co.,LTD นำมาชี้แจงกับทางฉลาดซื้อนั้น พบว่า ทุกตัวอย่าง ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน(น้อยกว่า 10.00 มก./กก.) ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้บริโภค ที่มีบริษัทที่ใส่ใจและตื่นตัวในการตรวจสอบดูแลผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เป็นการช่วยสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค โดยทางบริษัทยืนยันว่าต่อไปจะดำเนินการตรวจสอบทุกล็อตการผลิตเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคธปท.สั่งธนาคารพาณิชย์ต้องเตรียม “บัตรเอทีเอ็ม” ไว้ให้บริการหลายคนอาจจะเคยเจอปัญหาเวลาที่ไปขอเปิดบัญชีทำบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตแบบธรรมดา แล้วถูกธนาคารตอบกลับมาว่า บัตรดังกล่าวหมดหรือต้องใช้เวลารอนานกว่าจะมีบัตรใหม่ให้ทำ จากนั้นเจ้าหน้าที่ของธนาคารก็จะพูดหว่านล้อมเชิญชวนให้ทำบัตรแบบที่มีบริการเสริมอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าบัตรที่มีบริการเสริมจะมีค่าธรรมเนียมทำบัตรใหม่และค่าบริการรายปีสูงกว่าบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบธรรมดาปัญหาดังกล่าวถูกร้องเรียนเข้าไปที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นจำนวนมาก ทำให้ล่าสุด ธปท.ต้องออกประกาศ ขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มปริมาณสำรองบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตชนิดธรรมดาให้มีความเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า โดยก่อนหน้านี้ ธปท. ก็ได้ทำการสำรวจปริมาณการสำรองบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตประเภทต่างๆ พบว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการสำรองบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตชนิดธรรมดาไว้ที่สาขาในปริมาณที่น้อยกว่าบัตรประเภทที่มีบริการอื่นเสริม ซึ่งหลังจากมีประกาศนี้ออกมา ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ไม่สามารถอ้างการไม่ออกบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตรแบบพื้นฐานให้กับผู้บริโภคได้อีกต่อไป----------------------------------------------------------------------------------------.ผลตรวจสารเคมีตกค้างในผัก-ผลไม้ “คะน้า-ส้ม” เจอมากที่สุดปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้างในผัก-ผลไม้ยังคงเป็นข่าวร้ายสำหรับผู้บริโภคไทยเหมือนเดิม เมื่อล่าสุด เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai PAN) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ค่อยทำหน้าที่เฝ้าระวังและสุ่มตรวจการใช้สารเคมีในผัก-ผลไม้มาอย่างต่อเนื่อง ได้เปิดเผยข้อมูลผลการสุ่มตรวจตัวอย่างผัก-ผลไม้ รวมทั้งหมด 158 ตัวอย่าง โดยสุ่มเก็บตัวอย่างผัก-ผลไม้ทั้งแบบที่มีมาตรฐานปลอดภัยเกษตรอินทรีย์ มีฉลากประเภทต่างๆ รับรอง เช่น ฉลากออร์แกนิกส์ ฉลากมาตรฐานคิว รวมทั้งผัก-ผลไม้ที่จำหน่ายทั่วไป โดยเก็บตัวอย่างจากห้างโมเดิร์นเทรด และจากตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ 3 แห่งที่ ปทุมธานี นครปฐม และ ราชบุรี ส่งไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ประเทศอังกฤษผลการตรวจพบว่า ผัก-ผลไม้มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานถึงร้อยละ 56 โดยผักที่พบการตกค้างของสารเคมีเกินค่ามาตรฐานมากที่สุดคือ ผักคะน้า พบ 10 จาก 11 ตัวอย่าง, รองลงมาคือ พริกแดง พบ 9 จาก 12 ตัวอย่าง, ถั่วฝักยาว และ กะเพรา พบ 8 จาก 12 ตัวอย่าง, ผักบุ้ง 7 จาก 12 ตัวอย่าง, มะเขือเปราะ 6 จาก 11 ตัวอย่าง, แตงกวา 5 จาก 11 ตัวอย่าง, มะเขือเทศ 3 จาก 11 ตัวอย่าง, กะหล่ำปลี และผักกาดขาวพบ 2 จาก 11 ตัวอย่างส่วนผลไม้ที่พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด คือ ส้มสายน้ำผึ้ง พบ 8 จาก 8 ตัวอย่าง, แก้วมังกร 7 จาก 8 ตัวอย่าง, ฝรั่งพบ 6 จาก 7 ตัวอย่าง, มะละกอพบ 3 จาก 6 ตัวอย่าง, แตงโมพบ 3 จาก 7 ตัวอย่าง และ แคนตาลูปพบ 1 จาก 7 ตัวอย่างเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม Thai PAN ก็เคยออกมาแถลงสุ่มตรวจตัวอย่างผัก-ผลไม้มาแล้ว ซึ่งครั้งนั้นพบการปนเปื้อนสารเคมีสูงเกินค่ามาตรฐานถึงร้อยละ 46.4 แม้ว่าจะได้มีการส่งข้อมูลการตรวจที่ได้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการแก้ไข แต่จากผลทดสอบที่ได้ในครั้งนี้ สถานการณ์ปัญหายังคงไม่ดีขึ้น โดยผลการตรวจครั้งนี้พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามรายชื่อวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามใช้ในประเทศไทย คือ ไดโครโตฟอส เอ็นโดซัลแฟน เมทามิโดฟอส และโมโนโครโตฟอส รวมทั้งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่กรมวิชาการการเกษตรไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียน คือ คาร์โบฟูราน และเมโทมิล ในผัก-ผลไม้ถึง 29 ตัวอย่าง ซึ่งหลังจากนี้ Thai PAN จะนำผลทดสอบที่ได้ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กรมวิชาการการเกษตร อย. และกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อดำเนินการต่อไป-------------------------------------------------------------------------------------.ทำ “ฟันปลอมเถื่อน” เสี่ยงติดเชื้อในช่องปากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาเตือนเรื่อง “บริการทำฟันปลอมเถื่อน” ที่เดี๋ยวนี้มีให้เห็นได้ตามตลาดนัดแผงลอยริมถนนทั่วไป เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ผู้ใช้บริการจะได้รับอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด ผู้ใช้บริการมีโอกาสติดเชื้อหรือเกิดโรคในช่องปาก เพราะทั้งสถานที่และเครื่องมือที่ใช้อาจไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีขั้นตอนการฆ่าเชื้อก่อนและหลังการใช้งาน ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อกับอวัยวะในช่องปาก ที่สำคัญคือ ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ไม่ใช่ทันตแพทย์ จึงขาดความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะในการทำฟันปลอมที่ถูกต้อง ซึ่งฟันปลอมจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่ง ผู้ที่ต้องการทำฟันปลอมควรขอคำแนะนำและรับบริการจากทันตแพทย์ในสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตการใช้ฟันปลอมเถื่อนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบฟันที่ไม่เหมาะสมส่งผลให้ฟันซี่ใดซี่หนึ่งรับน้ำหนักมากเกินไป ทำให้ฟันซี่ที่แข็งแรงกลายเป็นฟันที่อ่อนแอ เกิดการโยก สึกกร่อน และหัก อาจทำให้เกิดแผลในช่องปาก การใส่ฟันปลอมโดยไม่เตรียมช่องปากที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักทันตกรรม เช่น ไม่อุดฟันซี่ที่ผุ ขูดหินปูน รักษารากฟัน หรือถอนฟันซี่ที่ไม่รักษาไว้ เมื่อเกิดปัญหาหลังการทำแล้วการแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติจะทำได้ยาก-------------------------------------------------------------------------.“สไลม์” ของเล่นอันตราย เสี่ยงปนเปื้อนโลหะหนักหลังจากที่ในสังคมออนไลน์มีการแชร์เรื่องของ เด็กรายหนึ่งที่นอนป่วยในโรงพยาบาลโดยระบุว่าเด็กคนดังกล่าวติดเชื้อในกระแสเลือดจากการเล่น “สไลม์” มีอาการหายใจไม่ออกเนื่องจากสูดดมกาวจากการทำสไลม์ ซึ่งเป็นของเล่นที่มีลักษณะยืดเหนียว ทำมาจากแป้งและกาว บางครั้งมีการใช้ สบู่ ผงซักฟอก และสีสังเคราะห์ลงในส่วนผสม ทำให้อาจมีการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายรศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี ได้ออกมาให้ข้อมูลเสริมในเรื่องดังกล่าว โดยในเบื้องต้นยังไม่ทราบว่าการติดเชื้อในกระแสเลือดของเด็กคนดังกล่าวเกิดจากของเล่น “สไลม์” จริงหรือไม่ เพราะการติดเชื้อในกระแสเลือดมีหลายปัจจัย แต่ สไลม์ ก็ถือเป็นของเล่นที่มีปัญหาที่ผู้ปกครองและหน่วยงานที่กำกับดูต้องเข้ามาควบคุมดูแล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มีคลิปการสอนทำสไลน์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนที่สอนทำส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กๆ เอง โดยบางคลิปแนะนำให้ผสมครีมโกนหนวด ผงซักฟอกกับแป้งโด ซึ่งการนำสารเคมีต่างๆ มาผสมเองถือว่าเป็นอันตรายมากรศ.นพ.อดิศักดิ์ ยังฝากเตือนอีกว่า แม้จะมีการตรวจหาสารโลหะหนักใน สไลม์ ทั้งที่มีและไม่มี มอก. พบว่า มีการปนเปื้อนสารโลหะหนัก อาทิ ตะกั่ว สารหนู และ ปรอท แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งถึงแม้จะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากเล่นแล้วเผลอนำเข้าสู่ร่างกายจะเป็นการสะสมทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพในระยะยาวได้เช่นกัน ที่สำคัญคือไม่ควรให้เด็กผสมสไลม์เล่นเอง เพราะเสี่ยงต่อการได้รับสารเคมีอันตราย

อ่านเพิ่มเติม >