ฉบับที่ 211 จดหมายถึงบอกอ

      กองบก.ขออภัยในความผิดพลาดและแก้ไขข้อมูลที่ถูกต้องในบทความบนเว็บไซต์แล้วค่ะ ทั้งนี้ได้ตรวจสอบข้อมูลและขอชี้แจงพร้อมขออภัยมายังบริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) ดังนี้ 1.อัตราผลตอบแทน IRR (1.77%) แบบประกันกรุงเทพ 200 ของบริษัทกรุงเทพประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) เป็นไปตามที่บริษัทแจ้งข้อมูลมา ซึ่งจัดอยู่ในลำดับที่ 2 จากจำนวน 11 บริษัทที่นิตยสารฉลาดซื้อได้ทำการศึกษา 2.นิตยสารได้ดำเนินการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องในทุกช่องทาง และได้จัดทำข่าวแก้ไขให้สื่อมวลชนในวันที่ 19 กันยายน 2561 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 3.บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ ได้แถลงแก้ไขข้อผิดพลาดผ่านรายการวิทยุ FM 96.5 MHz ช่วงเวลา 20.35 – 21.00 น. วันที่ 19 กันยายน 2561

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 การคุ้มครองผู้บริโภคในฮ่องกง

สภาผู้บริโภคฮ่องกง (Hong Kong Consumers Council) ก่อตั้งขึ้นในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2517 จากสถานการณ์ปัญหาวิกฤติเงินเฟ้อ สินค้าราคาแพง ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลปีละประมาณ 350 ล้านบาท ในการทำงาน โดยงบประมาณ มากกว่าร้อยละ 90 ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล มีเพียงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มาจากการจำหน่ายนิตยสารขององค์กร นิตยสารมีนโยบายไม่รับโฆษณาและการสนับสนุนจากธุรกิจเอกชนด้วยเช่นกัน มีนโยบายและการทำงานที่เป็นอิสระจากรัฐบาลสภาองค์กรผู้บริโภคฮ่องกง เป็นตัวแทนของผู้บริโภคตามกฎหมาย เพื่อสะท้อนเสียงของผู้บริโภคและนำเสนอประเด็นให้เกิดการอภิปรายทั่วไปเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคจนนำไปสู่การปฏิบัติ สร้างความร่วมมือระหว่างผู้บริโภค องค์กรภาคเอกชน เครือข่าย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สื่อและรัฐบาล รวมทั้งส่งเสริมสวัสดิการผู้บริโภคและเพิ่มความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภคในการปกป้องตนเอง เรื่องสำคัญล่าสุดที่ได้รับการผลักดันจากสภาองค์กรผู้บริโภคฮ่องกง การคุ้มครองผู้บริโภคในการทำสัญญาซื้อขายและการบอกเลิกสัญญา โดยการอนุญาตให้ผู้บริโภค มีสิทธิในการบอกเลิกสัญญา และคืนสินค้า และขอรับเงินคืนภายในระยะเวลาที่เหมาะสมหลังจากได้ทำสัญญา สิทธิในการยกเลิกสัญญานี้จะช่วยเพิ่มการคุ้มครองผู้บริโภคเนื่องจากปัญหากลยุทธ์การทำการขายสินค้าแบบไร้ยางอายและการตลาดที่กดดันผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อในระยะเวลาอันสั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคฮ่องกง ได้ใช้มาตรการแบบสมัครใจให้คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการยกเลิกสัญญาในธุรกิจ เสริมความงาม ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย การซื้อบริการท่องเที่ยว (timeshare) และล่าสุดได้ออกกฎหมายบังคับในปีที่ผ่านมา โดยกฎหมายให้มีการกำหนดระยะเวลาตัดสินใจในการทำสัญญา (Cooling-off Period) สำหรับธุรกรรมกับผู้บริโภค 2 ประเภท ได้แก่ สัญญาที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและ / หรือบริการที่มีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน และธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขายตรง เช่น สิทธิในการบอกเลิกสัญญาที่ทำไปแล้วภายใน 7 วัน คืนสินค้าภายใน 14 วันหลังจากได้รับสินค้าที่ส่งถึงบ้าน ได้รับเงินคืนภายใน 14 วันหลังจากบอกเลิกสัญญา หรือคืนสินค้าประเทศไทยมีมาตรการคืนสินค้าที่ชัดเจนกำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2560 ใกล้เคียงกับที่ดำเนินการในฮ่องกง เช่น ผู้บริโภค มีสิทธิเลิกสัญญาโดยการส่งเอกสารแสดงเจตนาที่จะบอกเลิกสัญญาภายใน 7 วันนับแต่วันได้รับสินค้าหรือบริการ โดยสามารถเก็บสินค้านั้นไว้ ภายในระยะเวลา 21 วัน สามารถให้ผู้ขายหรือตัวแทนมารับสินค้าคืนที่ภูมิลำเนาของผู้บริโภค หรือส่งคืนสินค้าทางไปรษณีย์โดยเรียกเก็บเงินปลายทาง รวมทั้งผู้บริโภคมีสิทธิได้รับเงินคืนเต็มจำนวนและเบี้ยปรับ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่แสดงเจตนาเลิกสัญญา หากไม่คืนเงินภายใน 15 วัน ก็ต้องเสียเบี้ยปรับตามที่กฎหมายกำหนด การซื้อสินค้าและบริการทั้งออนไลน์และออฟไลน์หลายครั้งมีมูลค่าไม่มากต่อตัวเรา แต่หากคิดเป็นภาพรวมมีมูลค่ามากมาย  มีกฎหมายดีแบบนี้ ต้องช่วยกันทำให้เป็นจริงให้ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 พาราควอต แร่ใยหินภาค 2

เป็นที่รู้หรือยอมรับกันทั่วโลก ว่าแร่ใยหินมีปัญหาเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ยกเลิกการใช้มากกว่า 50 ประเทศ จนมีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ตั้งแต่ปี 2554 แต่จนปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการยกเลิกการนำเข้า การห้ามใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระเบื้องและสินค้าที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ยอมรับผลการศึกษาที่ผ่านมาที่สรุปว่าแร่ใยหินอันตราย ทั้งจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่กระทรวงอุตสหากรรมว่าจ้างศึกษา และผลการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์(ของบริษัท) ได้ให้ข้อมูลแย้งเพื่อสนับสนุนการใช้แร่ใยหินมาเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อมีความเห็นแย้งอยู่จึงเห็นว่ายังไม่ควรดำเนินการตามมติครม. ขณะที่นักวิชการและภาคประชาชน เสนอให้ยกเลิกการนำเข้า และมีระยะเวลาจำกัดการใช้ เพราะเหตุผลเดียวที่จะยอมให้ใช้แร่ใยหินคือไม่มีสารทดแทน แต่เมื่อมีสารทดแทนแล้วก็ควรเลิกใช้ ซึ่งประเทศไทยก็มีผู้เสียชีวิตจากแร่ใยหินแล้ว แต่จะรอให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากก่อนค่อยยกเลิกหรืออย่างไรส่วนพาราควอต องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุชัดเจนว่ามีพิษรุนแรง เฉียบพลัน ไม่มียาต้านพิษ ก่อให้เกิดพาร์คินสัน  ตามที่ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายรอบ เพื่อรับฟังข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ยังคงยืนยันตามมติเดิมที่ให้ยกเลิกการใช้พาราควอตทางการเกษตร เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย เกษตรกรและผู้ประกอบการได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ขณะที่คณะอนุกรรมการชุดพิเศษของกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอสองทางเลือกให้จำกัดการใช้ หรือให้เพิกถอนทะเบียนเพราะเป็นสารเคมีอันตราย ให้กับคณะกรรมการวัตถุอันตรายของกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาและดำเนินการโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป แต่คาดการณ์คำตอบได้ไม่ยาก จากปรากฎการณ์เชียร์ออกนอกหน้าของนักวิชาการบางกลุ่ม ให้ใช้พาราควอตได้ต่อ สารเคมีตัวนี้ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ เกษตรกรไร่อ้อยยังจำเป็นต้องใช้ กระทรวงเกษตรสามารถกำกับดูแลแบบเข้มงวดได้ สุดท้ายกระทรวงอุตสาหกรรมบอกตัดสินใจไม่ได้ เพราะขัดแย้งกัน ใครจะได้ประโยชน์??ดูพฤติการณ์ จะเข้าอีหรอบเดียวกับแร่ใยหินเป็นแน่แท้ หรือใครจะว่าไม่จริง เพราะคำพูดนี้ยังใช้ได้ผลและศักดิ์สิทธิเสมอในสังคมไทย “สุขภาพต้องมาก่อนการค้า แต่การค้าสำคัญเป็นอันดับแรก” (Health before Trade but Trade comes first) เหมือน Lady first but Gentlemen before 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 โลกร้อน เรื่องของเขาหรือของเรา

ไม่มีใครรู้ว่าโลกร้อนมากเพียงใดที่จะ "ปลอดภัย" แต่ที่เรารู้ก็คือ ภาวะโลกร้อนกำลังก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ทุกคนเห็นและจับต้องได้ก็คือ สภาพร้อนหนาว ฝนตก น้ำท่วม แห้งแล้ง ความแปรปรวนของอุณหภูมิ ระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลง เกิดผลกระทบกับประเทศไทยและทุกภูมิภาคทั่วโลกแน่นอนการลดภาวะโลกร้อนในประเทศเกี่ยวข้องโดยตรงกับแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ(PDP) ฉบับล่าสุด (2558-2579) ที่มีข้อเสนอให้มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพียงร้อยละ 20 ในปี 2579 ซึ่งน้อยกว่าสัดส่วนพลังงานฟอสซิลที่สูงถึงร้อยละ 25 ในปีเดียวกันต้องยอมรับว่า พลังงานสะอาด บ้านเราไม่ไปไหน แม้แต่ข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ต้นปี 2559 ได้เสนอให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าบนหลังคาบ้านโดยเสรี แต่ยังทำไม่ได้จนถึงปัจจุบัน เพราะการไฟฟ้าไม่ยอมให้หักลบไฟฟ้าที่ผลิตได้ กลายเป็นผลิตให้การไฟฟ้าฟรี ยกเว้นสำนักงาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย วัด หรือบ้านที่มีการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวัน หลายคนบอกว่า ไม่เป็นไร ไม่ต้องสนใจมาก แต่ถึงตอนนั้นห้ามนำเงินภาษีไปอุดหนุนนะ เพราะธุรกิจพลังงานฟอสซิลขาลงเหมือนทีวีดิจิทัล ที่รอเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง(ทำลายล้าง) การที่เทคโนโลยีพัฒนาไม่หยุดยั้ง เช่น ล่าสุดความเก่งกาจของผู้ผลิตไทยเปิดตัวรถยนต์ต้นแบบที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า MINE Mobility วิ่งได้นานถึง 200 กิโลเมตร และการชาร์จแต่ละครั้งใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้นหรือกรณีบริษัทเทสล่า เลือกใช้รถยนต์ระบบไฟฟ้าแทนน้ำมัน ทำให้ TESLA ได้เปรียบบริษัทรถยนต์อยู่หลายเรื่อง  ไม่ว่าสมรรถภาพที่ดีกว่า ปลอดภัยกว่า ต้นทุนเชื้อเพลิงถูกกว่า ต้นทุนการบำรุงรักษาถูกกว่า แถมมลภาวะเป็น 0 จนตลาดหุ้นยอมให้มูลค่าบริษัท TESLA มากกว่าบริษัทจีเอ็ม ทั้งที่ TESLA ยังขายรถได้น้อยกว่ามาก เพราะตลาดมองว่าผู้บริโภคพร้อมแล้วที่จะเปลี่ยนจากรถใช้น้ำมันมาเป็นรถใช้ไฟฟ้า เมื่อปลายปีที่แล้ว ผู้ประดิษฐ์กระจกที่สามารถจ่ายไฟฟ้า หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า"เซลล์แสงอาทิตย์ฟิล์มบางแคดเมี่ยมเทลลูไรด์" ใช้เวลาเพียง 55 วินาที ก็จะได้กระจกจ่ายไฟฟ้า 1.92 ตารางเมตร หนัก 30 กิโลกรัม ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 260 ถึง 270 กิโลวัตต์ชั่วโมง ข้อมูลที่เผยแพร่บอกว่า ถ้าต่อพ่วงกันสัก 3,000-4,000‬ แผง ก็จะได้พลังงานรวมทั้งปีในราว 800,000 - 1,040,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง มากพอๆ กับบริษัทพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากบ่อน้ำมันย่อมๆ 1 บ่อ อย่าปล่อยให้อิทธิพลของพลังงานฟอสซิลและตลาดทุนกำหนดนโยบายที่ไม่พึงปรารถนา ¬¬¬¬¬¬¬¬จนเราไม่สามารถเท่าทันการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ที่กำลังกลายเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกอยู่ในขณะนี้ หรืออีกทางหนึ่งอย่าปล่อยให้การเมืองเรื่องพลังงานมากำหนดอนาคตโลก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ภาพยนตร์ผู้บริโภค

กรณี น.ส.รัตนฉัตร ใช้ขวานทุบรถยนต์ที่จอดขวางประตูหน้าบ้าน บริเวณหมู่บ้านเสรีวิลลา เขตประเวศ จนได้รับฉายาในโลกโซเชียลว่า "ป้าทุบรถ" นำมาสู่การบอกเล่าความทุกข์ตลอด 10 ปี ท่ามกลางตลาดที่รายล้อมรอบบ้านโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ทำให้นึกย้อนถึงหลายเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคในหลายกรณี คุณปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา และครอบครัวที่ปรากฏตัวตนต่อสู้ต่อสาธารณะหลายครั้งหลายหน จนคุณหมอวิชัย โชควิวัฒน์ ให้ฉายาว่า เป็นตัวแสบ หรือนางปีศาจร้ายที่ “เล่นไม่เลิก” แต่ในอีกด้านหนึ่ง คุณปรียนันท์กลายเป็นตำนานของการต่อสู้ที่ยืนหยัดจนถึงปัจจุบัน ให้มีกฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุขทั้งคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์เรื่องราวของ “รัตนา สัจจเทพ” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “รัตนา บ้านสีดำ” ยังคงอยู่ในใจใครหลายๆ คนมาจนถึงทุกวันนี้ บทบาทนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องความถูกต้องจากการเอารัดเอาเปรียบของข้าราชการขี้ฉ้อ เห็นแก่ผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง มากกว่าการทำหน้าที่โดยยึดหลักความถูกต้องเป็นธรรม ได้ก่อให้เกิดกรณี  “บ้านสีดำ” สู่สายตาสาธารณชนในที่สุด กรณีที่ น.ส.เดือนเพ็ญ ศิลาเกษ เจ้าของร้าน "ศิลาเกษ" ซึ่งจำหน่ายเสื้อผ้าย่านพาหุรัด ซื้อรถยนต์ป้ายแดง แต่ปรากฏว่า รถมีปัญหาตั้งแต่ซื้อมาใหม่ๆ เข้าศูนย์ซ่อมมาหลายครั้งหลายหนแล้วก็ไม่หาย ร้องเรียนขอความเป็นธรรมแล้วไม่ได้ผล จนทุบรถเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นกรณีเหล่านี้ สะท้อนภาพการคุ้มครองผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ว่า การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา รัฐสม่ำเสมอกับการคุ้มครองผลกำไรของธุรกิจเอกชน จนละเลยสิทธิของคนเล็กคนน้อย ผู้บริโภค และหลายครั้งรัฐเป็นผู้ละเมิดสิทธิ หรือร่วมมือในการกระทำเหล่านั้นเสียเอง ความยุ่งยากในการแก้ไขปัญหาตั้งแต่จุดเริ่มต้น กระบวนการชดเชยเยียวยา ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ในทุกหน่วยงานที่ต่างมีกำแพงความยุติธรรม สะท้อนความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า และการป้องกันปัญหาภายในประเทศนี้ได้เป็นอย่างดี ทุกคนกว่าจะได้รับความเป็นธรรมในปัญหาของแต่ละคน ต้องดำเนินการที่เกี่ยวข้องจนสามารถสร้างภาพยนตร์จากเรื่องราวเหล่านั้นได้ทุกคน สิ่งหนึ่งที่เป็นรากฐานสำคัญ คงไม่พ้นความรับผิดชอบ ความเที่ยงตรงของหน่วยงานรัฐ การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเสมอหน้า เกิดขึ้นซ้ำซาก ๆ แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหน่วยงานรัฐ และการเรียนรู้จากสังคมไทย เพราะขาดความเด็ดขาดของกระบวนการยุติธรรมร่วมด้วยที่พอจะเกี่ยวข้อง คงเป็นปัญหาบริโภคนิยมที่มากับข่าวสารที่มากมาย รวดเร็ว มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถรองรับการแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ในขณะเดียวกัน เหมือนอย่างที่ล้อเลียนกัน ว่า ขอบคุณเสือดาวที่ทำให้ปัญหานาฬิกาหายไป หรือขอบคุณป้าที่มาช่วยชีวิตคนฆ่าเสือดาว ทำให้ความรับผิดชอบที่ไม่มากพอของหน่วยงานรัฐทั้งระบบ เงียบหายไป หรือคนที่ลงมือทำเหนื่อยเกินไปจนท้อ และเกิดเรื่องราวใหม่อีกรอบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 เรียนรู้ประวัติศาสตร์

มีผู้รู้วิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยว่า ไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ทั้งในด้านสังคมการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้เกิดปัญหาเดิมๆ ซ้ำ ซาก เกิดแล้วเกิดอีกลองมาย้อนดูประวัติศาสตร์ผู้บริโภคกันบ้าง สถานออกกำลังกายแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียน จำกัด(มหาชน) CAWOW ซึ่งฉ้อโกงสมาชิกออกกำลังกาย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) พบพฤติการณ์เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มีการโอนเงินไปต่างประเทศจำนวนมากต่อเนื่องหลายปี ตั้งแต่ปี 2545- 2556 มากกว่า 1,600 ล้านบาท เจ้าของบริษัทหรือผู้ร่วมลงทุนหนีหาย คดีได้มีคำพิพากษาถึงกรรมการผู้มีอำนาจที่เป็นอดีตเทรนเนอร์ เมื่อกลางปี 2560 ผ่านมา พบมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 9 หมื่นบาท ลดโทษเหลือ 8 เดือน ปรับ 60,000บาท รอลงอาญา 2 ปีต่อมาบริษัท ทรูฟิตเนส ปิดบริการ ลอยแพลูกค้าหลายร้อยคน สูญเงินหลักหมื่นยันหลักแสน เมื่อกลางปีที่แล้ว บริษัทเปิดให้บริการ 3 สาขาในประเทศไทย เมื่อ เดือน มิ.ย. 2549 ที่อาคารเอ็กเชน ทาวเวอร์ สุขุมวิท มีพื้นที่ให้บริการโดยรวมขนาด 3,700 ตารางเมตร ต่อมาเปิดสาขาห้างสรรพสินค้าเซน แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อปี 2550 และสาขาเอสพลานาด แคราย เมื่อปี 2552หรือแม้แต่กรณีรถยนต์ที่เคยเกิดปัญหาทุบรถยนต์ฮอนด้า หรือปัญหาจากการใช้งานรถยนต์บางรุ่นของเชฟโรเล็ต ฟอร์ด และมาสด้า แต่จนถึงปัจจุบันสำหรับผู้บริโภคก็ยังมีความยากเย็นแสนเข็ญในการต่อสู้ และหาทางเยียวยาความเสียหายของตนเอง แถมล่าสุดเมื่อต้นปีนี้เอง บริษัทรถยนต์มาสด้า ได้ว่าจ้างสำนักงานทนายความเบเคอร์แอนด์แม็คแคนซี่ ฟ้องผู้ใช้รถยนต์ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของตนเอง แถมผู้ถูกฟ้องคดีได้รับคำฟ้องจากบริษัททนายแทนที่จะได้คำฟ้องจากศาลยุติธรรมที่น่าสนใจคงจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ที่รถยนต์ดีเซลมาสด้า 3 และ SUV crossover รุ่น CX-3 ถูกเรียกคืน 2.3 ล้านคันทั่วโลก เกี่ยวกับปัญหาเครื่องยนต์ดีเซล หลังจากมีข้อร้องเรียนของผู้บริโภคจำนวน 846 รายในประเทศญี่ปุ่น บริษัทต้องตอบคำถามว่า เป็นกรณีเดียวกันหรือใกล้เคียงกันหรือไม่กับรถยนต์ มาสด้า 2 ที่ถูกร้องเรียนจากผู้บริโภคในประไทยประวัติศาสตร์เหล่านี้มีไว้เรียนรู้ และปรับปรุงแก้ไขร่วมกันทุกฝ่าย ไม่งั้น ปัญหายืมนาฬิกาเพื่อน พรรคการเมืองทหาร จนถึงปัญหาผู้บริโภค มาตรฐานการดูแลคุ้มครองที่เท่าเทียมกันทั่วโลก คงมีให้เห็นเป็นระยะ เมื่อผู้คนลืมเลือนสิ่งเหล่านั้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 นับถือคนทำขนมเปี๊ยะ

ขนมเปี๊ยะเจ้าอร่อย สามร้าน ขอใบเซอร์จากร้านวัตถุดิบเพื่อไม่ให้ขนมของตนเองมีวัตถุกันเสีย ฉลาดซื้อเชียร์ ผู้บริโภคสนับสนุนเจ้าของร้านขนมเปี๊ยะสิงห์เพชร ขนมเปี๊ยะร้านครูสมทรง ขนมเปี๊ยะร้านหมู ซึ่งเป็นเจ้าของขนมเปี๊ยะชื่อดังยอมรับว่า โกรธนิตยสารฉลาดซื้อมาก เพราะมีลูกค้าโทรศัพท์มาสอบถามว่า “สรุปแล้วยังไง ขนมเปี๊ยะมีสารกันบูดหรือไม่” และแปลกใจที่ร้านของตนเองไม่เคยใช้สารกันบูด แล้วฉลาดซื้อตรวจพบได้อย่างไร เลยสั่งให้มีการนำวัตถุดิบทุกอย่างที่ใช้ในการทำขนมไปตรวจสอบหาสารกันบูด สุดท้ายพบว่า มาจากวัตถุดิบคือ แป้งที่ใช้ทำขนมมีสารกันบูดปนอยู่ และเมื่อได้มีโอกาสพบปะกันในการเสวนาเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ตอนนี้ผู้ประกอบการทั้งสามกล่าวขอบคุณฉลาดซื้อ ที่ทำให้ทางร้านได้โอกาสปรับปรุงคุณภาพเพิ่มขึ้น และเพื่อยืนยันว่า ไม่มีการเติมหรือใส่สารกันบูดอย่างแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ ทางร้านได้ประสานกับร้านวัตถุดิบว่า ต้องส่งใบรับประกันสินค้า(certified) ว่า “วัตถุดิบรุ่นที่ซื้อมาผลิตขนมแต่ละครั้ง ไม่มีวัตถุกันเสีย” เยี่ยมไปเลย ทีมงานฉลาดซื้อทุกคนก็เป็นปลื้มกันมากว่า ร้านขนมเล็กๆ ที่ทำขนมอร่อย มีความตั้งใจ มีความพยายามในการปรับปรุงสินค้าของตนเองสูงมาก ร้านเล็กร้านน้อยทำได้ ไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนเคยกล่าวหา ว่าร้านเล็กๆ มักมีปัญหา ไม่สนใจคุณภาพ  ไม่มีทุนทำไม่ได้ บริษัทใหญ่มักได้มาตรฐาน งานนี้ไม่จริงเลยหากผู้ขายตั้งใจจะพัฒนาสินค้าของตนเองให้มีคุณภาพจริงๆ  งานนี้ทำให้ความเชื่อของฉลาดซื้อที่ว่า การทดสอบเปรียบเทียบสินค้า มีประโยชน์ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้ และเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงคนขายหรือคนผลิตสินค้า เช่นเดียวกัน หากเราต้องการกินขนมเปี๊ยะที่ไม่มีสารกันบูด เราต้องบอกว่ายี่ห้อไหนบ้างไม่มีสารกันบูด จะเป็นพลังให้ผู้ผลิตรู้ว่าผู้บริโภคชอบขนมเปี๊ยะที่ไม่มีสารกันบูด ย่อมส่งผลให้ผู้ผลิตปรับปรุงสินค้าของตนเองตามความต้องการหรือความชอบของผู้บริโภค งานนี้ต้องช่วยกันใช้ข้อมูลทดสอบให้มากสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ได้ ผลจากการทดสอบ ส่งผลให้เกิดการพูดคุยของนิตยสารฉลาดซื้อ กับเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ฉลาดซื้อทดสอบสินค้าในรอบปี รวมทั้ง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร่วมแลกเปลี่ยนและเสนอความคิดเห็น ช่วยกันหาแนวทางยกระดับมาตรฐานและความปลอดภัยของอาหาร วิธีจัดทำฉลากอาหารให้ถูกต้องในอาหารที่ตนเองผลิต โดยเฉพาะอาหารกลุ่มที่มีการใส่สารกันบูด หรือใส่สารเจือปนอาหารที่จะต้องมีการระบุในฉลากให้ชัดเจน หนึ่งปีที่ผ่านมา กับความพยายามในการให้ข้อมูลเตือนภัยสารกันบูดในอาหาร ช่วยสร้างความตื่นตัวให้สมาชิกและสังคมไทยใม่น้อย ฉลากอาหารที่มีบ้างไม่มีบ้างว่า มีการใส่สารกันบูดหรือไม่ จำเป็นต้องติดตามต่อเนื่อง เพื่อให้หน่วยงานนิ่งเฉยไม่ได้ ต้องบังคับใช้มาตรการฉลากภาษาไทยกับอาหารที่ใส่สารกันบูดหรือวัตถุเจือปนอาหารอื่นๆ อย่างเข้มข้น เพราะอาการเจ็บป่วยที่สำคัญ ซึ่งเป็นสาเหตุที่คร่าชีวิตคนไทย แม้จะยังไม่สามารถระบุถึงตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคได้อย่างชัดเจนแบบฟันธง แต่ก็มีข้อมูลว่าส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของอาหารการกิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้หากผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้เลือกได้อย่างเหมาะสมปีใหม่นี้ ขอให้สมาชิกฉลาดซื้อและผู้อ่านทุกท่านมีความสุข มีชีวิตที่งดงาม มีพลัง ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงการคุ้มครองผู้บริโภคไปด้วยกัน สวัสดีปีใหม่มายังทุกท่านนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 ฟ้องคดีแบบกลุ่ม

ข่าวการยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มมีให้เห็นเป็นระยะ นับตั้งแต่คดีแรกเรื่องความเสียหายของประชาชนจากเหมืองทอง กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ด กลุ่มผู้ใช้กระทะโคเรียคิงส์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ทุกคดีที่ฟ้องทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนการการไต่สวนอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มหรือไม่ การฟ้องคดีแบบกลุ่ม ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ต้องได้รับอนุญาตจากศาล โดยสามารถดำเนินคดีละเมิดที่เกี่ยวข้องกับการผิดสัญญา คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค แรงงาน หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ การแข่งขันทางการค้า โดยผู้เสียหายมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกัน การดำเนินคดีแบบกลุ่ม เป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่บรรดาผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากการกระทำเดียวกัน มีประโยชน์มากเพราะช่วยให้เข้าถึงความเป็นธรรมในการฟ้องคดีอย่างทั่วถึง คุ้มครองผู้เสียหายทุกคนถึงแม้จะไม่ได้ร่วมฟ้องคดี ลดภาระของผู้บริโภค การสนับสนุนกันของผู้บริโภคในการดำเนินคดี ลดโอกาสในการมีคำพิพากษาต่างกัน เกิดมาตรฐานในการพิจารณาคดี จากเดิมการฟ้องคดีเป็นกลไกตั้งรับที่สำคัญในการได้รับการชดเชยเยียวยา การฟ้องคดีก็ถูกคาดหวังว่าจะช่วยป้องปรามการกระทำที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการเข็ดหลาบ ไม่กล้าดำเนินการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคอีกต่อไป การฟ้องคดีแบบกลุ่มจึงมีความหมายมากในการป้องกันปัญหาสำหรับผู้บริโภค เพราะหากได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดี จะกลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่ส่วนอื่นๆ พึงต้องระวัง สร้างความตื่นตัวผู้ประกอบการให้ตระหนักถึงการผลิตสินค้าและบริการที่จะต้องมีมาตรฐานและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญการดำเนินคดีที่ผ่านมาทั้งคดีปกครองที่มีข้อจำกัดเรื่องการบังคับคดี มาตรฐานการพิจารณาคดีผู้บริโภคที่แตกต่างกันในการพิจารณาคดีที่มีความเสียหายแบบเดียวกันของผู้บริโภค ความจำกัดของคำพิพากษาเชิงลงโทษ ความร่วมรับผิดของนิติบุคคล ระยะเวลาในการดำเนินคดี ภาระค่าใช้จ่ายของผู้ฟ้องคดี รวมถึงภาระในการพิสูจน์ความเสียหาย ทำให้ความคาดหวังที่มีต่อการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ต้องไม่หนีห่างจากการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ในส่วนการดำเนินคดีผู้บริโภค ปฏิบัติการให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ฉบับนี้นอกจากนี้ บทเรียนการฟ้องคดีของมูลนิธิมามากกว่า 10 ปี ย่อมเป็นธรรมดาที่ต้องมีความคาดหวังและจินตนาการต่อกระบวนการยุติธรรม เช่น มาตรฐานการอนุญาตฎีกา การเลื่อนคดีต้องแจ้งให้คู่ความได้รับทราบและคู่ความไม่จำเป็นต้องไปศาล ขั้นตอนต่างๆ มีพองามไม่เนิ่นนาน ทัศนคติต่อผู้บริโภคหรือประชาชนที่ฟ้องคดี ต้องไม่ถูกมองว่าเป็นผู้สร้างภาระให้ศาลยุติธรรม ยึดหลักการและทัศนคติต่อการคุ้มครองผู้บริโภค มีความเป็นมิตรต่อผู้บริโภค ประชาชนที่ฟ้องคดี ที่สำคัญหากสามารถทำได้ การให้กำลังใจต่อผู้ฟ้องคดี มีคำถามบางคำถามที่ไม่ควรใช้ เช่น คุณใช้สินค้าไปแล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่จะได้เงินคืนเต็มจำนวน ฟ้องแล้วไม่ใช่จะชนะนะ ใช้เงินเยอะนะรู้มั้ย และผู้บริโภคไม่ได้อะไร คำถามเหล่านี้จะให้ทนายความพูดตอบโต้ ก็ยาก เพราะทุกคนก็ทราบความจริงว่าเรื่องนี้เหมือนกับการไปพบแพทย์ การโต้แย้งแพทย์ไม่ต่างจากการโต้แย้งศาล เพราะกลัวการรักษาไม่ดีหรือแพ้คดี หากลดข้อจำกัดเหล่านี้ต่อประชาชน ผู้บริโภคได้จริง จะทำให้ประเทศนี้ยึดศาลยุติธรรมเป็นที่พึ่ง เมื่อเกิดข้อขัดแย้งในสังคม เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมากในการใช้การฟ้องคดีแบบกลุ่มเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 บทบรรณาธิการ

มติคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กระทรวงสาธารณสุข ที่มี 4 กระทรวงหลัก ประกอบด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการ ให้มีการเพิกถอนทะเบียนและไม่ต่ออายุทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความสี่ยงสูง 2 ชนิด ได้แก่ พาราควอต(paraquat)  สารเคมีกำจัดวัชพืช เพราะพิษเฉียบพลันสูงและเป็นสาเหตุของโรคพาร์กินสัน และ คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) สารเคมีกำจัดแมลง ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองเด็กทารกอย่างถาวรและหลายประเทศทั่วโลกห้ามการใช้ในพืชผักและอาหาร รวมทั้งให้จำกัดการใช้ไกลโฟเซต สารเคมีกำจัดวัชพืช ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นสารก่อมะเร็งสอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในประเทศไทย โดยห้ามใช้ในเขตชุมชน พื้นที่ต้นน้ำ แหล่งน้ำ เป็นต้นอธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้แถลงอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ ว่ากระทรวงเกษตรขาดความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพอนามัย แต่จะส่งเรื่องนี้ให้กระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ทั้งที่กระทรวงเกษตรเป็นหนึ่งในคณะกรรมการขับเคลื่อนฯต้องยอมรับว่า กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอนามัยเช่นเดียวกัน ทำให้การเพิกถอนสารเคมีที่มีอันตราย ถูกทำให้เนิ่นช้าออกไปโดยไม่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรและผู้บริโภค เหมือนกรณีแร่ใยหิน(Asbestos) ที่มีมติคณะรัฐมนตรี ให้มีระยะเวลายกเลิกการนำเข้ายกเลิกการใช้ที่ชัดเจน แต่กลับถูกเริ่มต้นศึกษาใหม่โดยกระทรวงอุตสาหกรรมปัจจุบันพาราควอต มี 48 ประเทศ ยกเลิกการใช้ ซึ่งกว่าครึ่งอยู่ในทวีปยุโรป ส่วนประเทศในทวีปเอเซีย ที่ประกาศห้ามใช้พาราควอต ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ศรีลังกา เวียดนาม ลาว กัมพูชา ซีเรีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะที่มีประเทศที่ประกาศจำกัดการใช้จำนวน 7 ประเทศ โดยที่มี มาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศดังกล่าว หรือแม้แต่ประเทศที่ตั้งของบริษัทผู้ผลิตสารชนิดนี้ คือประเทศสวิสเซอร์แลนด์ก็ยังประกาศห้ามใช้ ทำให้พาราควอตยิ่งเข้าเงื่อนไขการพิจารณาเพิกถอนทะเบียนของกรมวิชาการที่ว่า หากประเทศผู้ผลิตต้นทางมีการยกเลิกหรือประกาศห้ามใช้ คณะกรรมการสมควรพิจารณายกเลิกการใช้หรือห้ามใช้เช่นเดียวกัน (Certificate of Free Sale) หรือในอนาคตของอาเซียน หากสมาชิกกลุ่มอาเซียนยกเลิกประเทศไทยก็ควรยกเลิกเช่นเดียวกัน (One Ban All Ban Policy) นิตยสารฉลาดซื้อในฐานะตัวแทนผู้บริโภค ขอเรียกร้องกรมวิชาการเกษตรให้อาศัยอำนาจตามมาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 29 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย(ฉบับปรับปรุงแก้ไข 2551) ไม่ต่ออายุใบอนุญาตแก่สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เช่นเดียวกับที่กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการในกรณีไม่ให้ใบอนุญาตสารเมโทมิล และคาร์โบฟูราน ที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 รถรับส่งนักเรียน..ใครเป็นเจ้าภาพ

ผลสำรวจคุณภาพบริการรถรับส่งนักเรียน กับเด็กนักเรียนจำนวน 3,392 คน ผู้ปกครอง และคนขับรถรับส่งนักเรียนใน 32 จังหวัด ทั่วประเทศของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่าย พบข้อมูลที่น่าสนใจหลายประการ เช่น เด็กมากกว่า 57% เดินทางทุกวันระยะไกลทางมากกว่า  16 กิโลเมตรเพื่อไปโรงเรียน ผู้ปกครอง 11% ใช้จ่ายมากกว่า 900-1,200 บาท และ ร้อยละ 8.9 ใช้จ่ายมากกว่า 1,200 บาท สำหรับค่ารถรับส่งลูกไปโรงเรียน ซึ่งมากกว่า 10% ของรายได้ขั้นต่ำที่ประเทศมาเลเซียได้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ประเด็นสำคัญสุดเรื่องความปลอดภัยความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย พบว่า รถรับส่งนักเรียน เป็นรถผิดกฎหมายสูงถึง 66.5 % เรียกว่าเป็นรถไม่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะนำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภทรถตู้ รถกระบะดัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งสองแถว ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งหรือขนส่งจังหวัด  มีนักเรียนยืนบนรถรับส่งนักเรียนประมาณ 15% อุปกรณ์ความปลอดภัยมีไม่เพียงพอ การปล่อยเด็กลงรถเองเพื่อข้ามถนนไปโรงเรียนจากผลการศึกษา สะท้อนต้นตอปัญหาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาได้เป็นอย่างดี เพราะเด็กต้องไปเรียนไกลบ้านเพื่อเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงของจังหวัดของประเทศ หรือสะท้อนปัญหาบริการสาธาณะของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี การสนับสนุนให้มีบริการรถโรงเรียนเป็นความฝันของสังคมไทย สมาชิกฉลาดซื้อจะมีโอกาสได้เห็นหรือเปล่ายังไม่กล้ารับประกันการเยียวยาความเสียหายเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากรถรับส่งนักเรียนยุ่งยาก ไม่มีประสิทธิภาพ คนขับรถหรือเจ้าของรถที่เป็นเจ้าของรถคันเดียวหรือบุคคลธรรมดาหมดตัวเมื่อเจออุบัติเหตุ มีการเยียวยาขั้นต้น หากต้องการเยียวยาต้องอาศัยการฟ้องร้องดำเนินคดีกรมการขนส่ง เป็นหน่วยงานหลัก แต่ทำเรื่องนี้ได้ลำบากเพราะรถรับส่งนักเรียนไม่ได้จอดที่ขนส่งให้ลงเวลา ตรวจสภาพ โรงเรียนเข้ามามีบทบาท มีตัวอย่างหลายโรงเรียน แต่เมื่อไม่ใช่ภารกิจหลักก็ทำบ้างไม่ทำบ้างขึ้นกับครูที่รับผิดชอบกิจการนักเรียน ผู้อำนวยการจะเห็นความสำคัญแค่ไหนที่จะให้รถรับส่งนักเรียนต้องขึ้นทะเบียนกับโรงเรียน พร้อมต้องขึ้นทะเบียนกับขนส่ง ท้องถิ่นจะมามีส่วนร่วมได้อย่างไร การสนับสนุนรถโรงเรียน หรือรถรับส่งนักเรียน ในหลายประเทศเป็นภารกิจของท้องถิ่น แต่เมืองไทยสตง. จะยอมให้ทำได้หรือไม่การให้ข้อมูลผู้ปกครอง ประธานคณะกรรมการโรงเรียน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะหากผู้ปกครอง พ่อแม่ได้รับทราบข้อมูลความไม่ปลอดภัย รถรับส่งที่ไม่มีมาตรฐาน ย่อมเห็นความสำคัญและมีบทบาทมากขึ้นในการจัดการเรื่องนี้ น่าจะเป็นข่าวดีที่สุดที่จะทำให้เป็นจริงท้ายสุดหวังว่า จะไม่มีข่าวลืมเด็กไว้ในรถรับส่งนักเรียน เพราะการจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียน มีการแก้ปัญหาอย่างมีระบบ ไม่ใช่เพียงแค่ติดสติกเกอร์เตือนที่ประตูรถ ตูมตามเมื่อมีเหตุการณ์ การตรวจรถจากบุคคลที่สามก่อนรถออกจากโรงเรียน หรือการจัดการพื้นฐานเรื่องการนับจำนวนเด็ก การใช้เทคโนโลยีร่วมตรวจสอบ หรือเครื่องมืออีกมากมายในการมีส่วนร่วมของพ่อแม่และโรงเรียนจะถูกร่วมมือและทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 คนไทยไม่เชื่อว่ามนุษย์เท่ากัน

จุดเริ่มต้นของการคัดค้านการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาจากความไม่เป็นธรรมในสัดส่วนของตัวแทนประชาชนที่เป็นคณะกรรมการ 2 คนจากองค์ประกอบทั้งหมด 26 คน และเมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระของการแก้ไขกฎหมาย สะท้อนให้เห็นการย้ายอำนาจการบริหารจัดการหลายอย่างกลับไปยังกระทรวงสาธารณสุข เช่น การจัดสรรเงินเดือนผ่านข้อเสนอการแยกเงินเดือน การเพิ่มจำนวนกรรมการในสัดส่วนหน่วยบริการ ทำให้เกิดคำถามว่า เพื่อรองรับการเรียกเก็บเงินร่วมจ่ายประชาชนจำนวน 34  ล้านคนที่นอกเหนือจาก 14 ล้านคนที่ขึ้นทะเบียนคนจนไว้หรือไม่ เพราะปัจจุบันบัตรทองครอบคลุมประชากรประมาณ 48 ล้านคนจึงเป็นสาเหตุของการคัดค้านอย่างต่อเนื่องในทุกเวทีรับฟังความคิดเห็น จนรัฐบาลต้องแถลงข่าวว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกโครงการ 30 บาท เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเก็บเงินประชาชนเพิ่มในการรักษาพยาบาล(ร่วมจ่าย) และบอกว่าคนที่คัดค้านเป็นกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ เพราะเดิมเคยได้รับเงินจากการจัดซื้อยาของ สปสช. หากใครเห็นข้อมูลที่ถูกเปิดเผย จะพบว่าเงินขององค์การเภสัชกรรม(เงินกิจกรรมภาครัฐ) แทบทั้งหมดจำนวน 157 ล้านบาท เกือบ 100% ถูกใช้โดยกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีจ่ายให้กับเอ็นจีโอเพียง 6 แสนบาท หรือเพียง 0.38 % หากพิจารณาจากเรื่องร้องเรียนรายล่าสุดของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในด้านบริการสาธารณสุขน่าสนใจมากว่าสอดคล้องกับการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปัจจุบัน ขออนุญาตเล่าให้สมาชิกฉลาดซื้อได้ทำความเข้าใจร่วมกัน ผู้ป่วยบัตรทองรายหนึ่งได้ถูกส่งตัวไปผ่าตัดหลังที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งโรงพยาบาลอ้างว่า จำเป็นต้องเก็บเงิน 12,000 บาท สำหรับอุปกรณ์พิเศษที่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งเบิกไม่ได้ และดีกว่า แต่ในวันที่ไปผ่าตัดตอนเช้าวันนั้น โรงพยาบาลกลับบอกว่าบอกข้อมูลผิด เพราะต้องการใช้เงิน 35,000 บาท ไม่ใช่ 12,000 บาท เจ้าหน้าที่คนก่อนแจ้งผิด คงผ่าตัดตอนตอนเช้านี้ให้ไม่ได้ เพราะต้องไปให้ผู้ป่วยนำเงินมาให้โรงพยาบาลก่อน ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดเมื่อ 15 ปีที่แล้ว คงเป็นเรื่องปกติ หากเราดูแลเฉพาะคนจน 14 ล้านคน คนชั้นกลางหรือประชาชนทั่วไปเดือดร้อนไม่น้อย เพราะมาตรการที่ทุกโรงพยาบาล มักจะอ้างว่าใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ดีกว่าของระบบหลักประกัน เป็นเครื่องมือชั้นดีให้ทุกคนต้องควักเงินออกมาจากกระเป๋า เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน ย่อมต้องการมาตรฐานสูงสุดสำหรับตัวเอง หากการแก้ไขโครงสร้างการบริหารระบบบัตรทองสำเร็จ สามารถเพิ่มองค์ประกอบของคณะกรรมการให้มีสัดส่วนของผู้ให้บริการ หรือจากโรงพยาบาลมากขึ้น การตัดสินเรื่องการร่วมจ่ายเงินเมื่อไปใช้บริการ หรือการร่วมจ่ายในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ มีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยในการร่วมจ่ายของผู้ป่วยเมื่อไปใช้บริการ เสียงทัดทานการร่วมจ่ายจะแพ้มติ หรือเป็นเสียงข้างน้อย ตอนนั้นทุกคนจะทำอย่างไร นี่คือคำเตือนจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันในปัจจุบันที่สำคัญสุดท้าย ทำอย่างไรให้คนไทย ยอมรับว่าสิทธิด้านสุขภาพ เป็นสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรได้รับเท่าเทียมกัน การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้สิ่งที่ควรจะมีการดำเนินการผลักดันให้เกิด คือระบบบริการสาธารณสุขมาตรฐานเดียวไม่ว่าจะอยู่ภายใต้กองทุนใด ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายสมทบด้านสุขภาพและให้นำเงินสมทบส่วนสุขภาพของผู้ประกันตนไปเพิ่มในสัดส่วนของบำนาญชราภาพ เพื่อที่จะทำให้ผู้ประกันตนมีความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิตมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 หลักการคุ้มครองผู้บริโภคขั้นสูง

         มีโอกาสไปร่วมประชุมและให้ข้อคิดเห็นในการพัฒนาหลักการคุ้มครองผู้บริโภคขั้นสูง(High-level Principles on consumer protection) กับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอาเซียน(ACCP, ASEAN Committee on Consumer Protection) ณ เมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ความคาดหวังของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ความคาดหวังของภาคธุรกิจ ข้อมูลข่าวสารที่มีมากมาย ความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค ความท้าทายที่จะต้องมีระบบคุ้มครองผู้บริโภค ทิศทางการเมืองในประเทศ ทรัพยากร การบริหารความเสี่ยง ศักยภาพและความเป็นผู้นำ ปัญหาสำคัญของผู้บริโภค การจัดการปัญหาให้ตรงจุดและจัดการความเสี่ยงที่สำคัญของผู้บริโภค ทำให้ต้องทบทวนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคและร่วมกันกำหนดหลักการคุ้มครองผู้บริโภคขั้นสูงในกลุ่มประเทศอาเซียน ดังนี้หลักการสำคัญประการที่ 1 การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม คงเส้นคงวา มีประสิทธิภาพ และได้สัดส่วนกับปัญหาและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคประการที่ 2 ผู้บริโภคจะต้องมีทักษะ ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ความพร้อม และความมั่นใจในการใช้สิทธิของตนเอง ประการที่ 3 ผู้บริโภคจะต้องได้รับการคุ้มครองจากสินค้าและบริการที่จะส่งผลต่ออันตรายต่อสุขภาพและความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ประการที่ 4 สิทธิของผู้บริโภคจะต้องได้สัดส่วน สมดุลกับความรับผิดชอบที่ชัดเจน ง่ายเพียงพอต่อการทำความเข้าใจ ประการที่ 5 ผู้บริโภคมีความสามารถเข้าใจถึงผลกระทบจากตัดสินใจบริโภคของตนเองทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประการที่ 6 มีตัวแทนผู้บริโภคที่เข้มแข็งในการรักษาผลประโยชน์และพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในการจัดทำนโยบาย และการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านหรือกรณีต่างๆ ประการที่ 7 วิธีการที่มีประสิทธิภาพในการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค จะต้องเกิดความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมทั้งในระดับประเทศและระหว่างภูมิภาค ประการที่ 8 การเข้าถึงความจำเป็นพื้นฐานของผู้บริโภค จะต้องได้รับการพิจารณาและคุ้มครองโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ยากจนและเปราะบาง  หากทำได้ปัญหาผู้บริโภคคงลดลงได้มาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 วิธีลดรถบนถนนวันละ 20 เปอร์เซ็น เป็นธรรมกับทุกคน

คนจำนวนมากทั้งขับรถและไม่ขับรถยนต์รู้สึกเหมือนกันว่า รถติดมาก ทั้งทางปกติ และบนทางด่วนกว่าจะชำระค่าทางด่วนได้บางวันใช้เวลาเกือบชั่วโมงทั้งที่ระยะทางเพียง 500 เมตร หากเป็นประเทศอาเจนตินา เราทุกคนคงขึ้นทางด่วนฟรีทุกวัน หลายหน่วยงาน ทั้งรัฐบาลกลาง กรุงเทพมหานคร ตำรวจทางด่วน  หน่วยงานจราจร หรือการทำงานหนักของตำรวจจราจร ระบบไฟอัตโนมัติ ก็ไม่ช่วยให้ภาวะรถติดคลี่คลายลงไปได้เลยหลายคนต้องหลีกเลี่ยงการเดินทาง ออกจากที่พักเช้ามากกว่าเดิม และกลับก่อนเวลา หรือกลับหลังจากที่ทุกคนกลับไปแล้ว แต่ก็ไม่สามารถทำให้ส่วนใหญ่รู้สึกว่ารถเบาบางลง ทุกวันๆ  คนส่วนใหญ่ยังมีความทุกข์จากรถที่ติดเพิ่มมากขึ้น ยังไม่นับรวมคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่เสียหายไปในแต่ละวัน ทางออกเดียวที่จะทำให้การจราจรในกรุงเทพมหานครดีขึ้น ยืนยันว่าต้องเป็นการลงมือปฏิบัติการของผู้บริโภคที่ขับรถเท่านั้น หากใช้วันคู่วันคี่ หลายคนบอกว่า คนรวยไม่ได้รับผลกระทบเพราะมีรถทั้งคู่และคี่(จริง) บริษัทรถยนต์ได้ประโยชน์เพราะคนจะซื้อรถมากขึ้น ทว่าหากเรามัวแต่คิดเหตุผลเล็กๆ แล้วไปเบียดบังข้อเท็จจริงว่า ปัญหารถติดในกทม. เราต้องเป็นคนลงมือทำ เพราะหากทำจริงจำนวนรถในท้องถนนกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะหายไปเกือบ 50% ปัญหารถติดในกรุงเทพมหานคร ผู้ว่ากทม. นายกรัฐมนตรี คสช. ก็เอาไม่อยู่ เพราะจำนวนรถมีมากกว่าถนน แทนที่เราจะมีความทุกข์ทุกวันจากปัญหารถติด  หากเราทุกคนจะทดลองเสียสละร่วมกัน หยุดขับรถกันคนละวันต่อสัปดาห์ ก็จะทำให้รถหายไป 20% บนถนนทุกวัน โดยไม่ต้องมีมาตรการจำกัดเขตเพราะระบบขนส่งที่ยังไม่สมบูรณ์ทำให้จำกัดการขับรถเข้าชั้นในได้ลำบาก เช่นโดยหากมีเลขทะเบียน 1 และ 2 ลงท้าย ขอให้หยุดขับรถวันจันทร์ หากมีเลขทะเบียน 3 และ 4 ลงท้าย ขอให้หยุดขับรถวันอังคารหากมีเลขทะเบียน 5 และ 6 ลงท้าย ขอให้หยุดขับรถวันพุธหากมีเลขทะเบียน 7 และ 8 ลงท้าย ขอให้หยุดขับรถวันพฤหัสหากมีเลขทะเบียน9 และ 0 ลงท้าย ขอให้หยุดขับรถวันศุกร์ ส่วนเสาร์อาทิตย์ก็พักผ่อนตามสบายใครใคร่ขับรถก็ขับจำนวนรถก็ลดลงไป 20%  แถมเป็นมาตรการที่เป็นธรรมกับทุกคนที่มีรถยนต์ด้วย เราน่าจะตัดสินใจลองพยายามกันดู ในส่วนของบริการขนส่งสาธารณะ เช่น ขสมก. ต้องรีบปรับปรุงบริการมากขึ้น  รวมไปถึงบรรดารถตู้ รถเมล์ร่วม สามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ เพียงแต่ต้องทำเร่งด่วนพร้อมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 หนึ่งมีค่ามากกว่าศูนย์

ในทางคณิตศาสตร์ หนึ่งมีค่ามากกว่าศูนย์เป็นอนันต์ เป็นหลักคิดให้กำลังใจคนเล็กคนน้อยให้ลุกขึ้นมาใช้สิทธิร้องเรียน เรียกร้องในฐานะปัจเจกชนลุกขึ้นมาปฏิบัติการทางสังคมให้มากขึ้น หลายกรณีเล็กๆ นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางสังคม นับตั้งแต่เรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว เมื่อถูกเรียกเก็บเงินจากเอสเอมเอส ต้องยืนยันว่า ไม่ได้สมัคร ไม่ยอมให้หักเงิน ถึงแม้บริษัทจะโยกโย้หาเหตุผลว่า เป็นบริการของหน่วยงานอื่นที่มาร่วมกับบริษัท บริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงโอเปอร์เรเตอร์ทุกรายได้ส่วนแบ่งงามๆ นี้ และเป็นไปไม่ได้ที่บริษัทอื่นจะมีสิทธิในการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมเหล่านี้เด็ดขาดหากไม่ได้รับอนุญาตหรือเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหาร ไม่ว่าจะในน้ำผลไม้ อาหารแบรนด์หรูทั้งหลาย ขอให้ถือว่าได้รับโชค มีตัวอย่างผู้บริโภคได้รับการชดเชยในระดับหมื่นบาท เพราะฐานความผิด “อาหารไม่บริสุทธิ์” ตาม พ.ร.บ.อาหาร มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากร้องเรียนหน่วยงานมักจบลงด้วยการตรวจโรงงานอุตสาหกรรมและท้ายที่สุดก็แจ้งผู้บริโภคว่า ผลการตรวจสอบโรงงานไม่พบสิ่งผิดปกติ ทุกขั้นตอนมีมาตรฐาน แต่ผู้บริโภคได้ความเจ็บใจหัวหอกเหล่านี้ ทั้งอดทน ต่อสู้ หลายเรื่องกว่าจะเป็นข่าวในโทรทัศน์ ในสังคมออนไลน์ ได้ผ่านขั้นตอนการต่อรอง การเรียกร้องจากผู้ประกอบการมาอย่างยากลำบาก หลายกรณีเลิกร้องเรียนบริษัท หรือหน่วยงานรัฐ หันมาต่อสู้ในพื้นที่ของตนเอง ใช้การโพสต์ข้อมูลเปิดเผยในเพจหรือเฟซบุกส์ของตนเองหรือบริษัท แต่ก็ไม่น้อยเจอการถูกแจ้งความดำเนินคดี เช่น ประธานเครือข่ายผู้ป่วยโรคไตโพสต์เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อรักษาไตวายเรื้อรังได้กรณีคุณแก้มหอม การโพสต์เรื่องอาหารเจอสิ่งแปลกปลอมที่เป็นข่าวเนืองๆการเริ่มต้นดำเนินการ และกระทำอย่างต่อเนื่องในเรื่องที่เราต้องการเปลี่ยนแปลง ย่อมเห็นผลในท้ายที่สุด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยชื่อสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้า ที่กลายเป็นวัฒนธรรมการเปิดเผยข้อมูล ส่งผลต่อแบบแผนการผลิตสินค้า ช่วยยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าและบริการ ขณะนี้ได้รับการยอมรับและได้รับความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการเหมือนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ที่คุณประสิทธิชัย หนูนวล คุณหมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ และคณะอีกมากมาย ริเริ่ม ช่วยกันทำให้สังคมเกิดความเข้าใจได้มากกว่านายกรัฐมนตรี ที่ให้ข้อมูลว่า ถ้าไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินจะขาดแคลนไฟฟ้าในภาคใต้ แต่หากไปดูข้อมูลจากกฟผ. จะพบว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้นในเดือนธันวาคม 2559 มีถึง 41,556.25 เมกกะวัตต์ ขณะที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุดในเดือน พ.ค. 2559 สูงสุด เพียง 29,618.80 เมกกะวัตต์ และเดือน ธ.ค. ปีเดียวกัน 26,145.30เมกกะวัตต์ ทำให้มีไฟฟ้าสำรองในระบบมากถึง 37% ซึ่งกระทบต่อค่าไฟฟ้าของผู้บริโภคทุกคน รวมทั้งอันตรายของถ่านหินต่อสุขภาพของคนในชุมชน ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนชัดเจน ทุกคนเห็นได้จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงมากมายทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกทำอย่างไรจะให้มีกลไกสนับสนุนให้ผู้บริโภค พลเมือง ได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติการมากขึ้น หยุดคิดว่า เราคนเดียวเล็กๆ ทำอะไรคงทำไม่ได้ การลงมือของเราไม่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลง เช่น การมองเรื่องรถติดในกรุงเทพมหานคร ที่มักจะมองกันว่า ถึงเราไม่ขับรถคนอื่นก็ขับ เราเลิกขับรถคนเดียวคงไม่ส่งผลอะไร ทำให้ทุกคนคิดแบบนี้ จนรถเต็มท้องถนนในกรุงเทพฯ ความคิดนี้หากนำมาปฏิบัติการและมีขบวนการสนับสนุนอย่างจริงจัง สามารถเป็นทางออกในการแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพมหานครได้มากทีเดียว แทนที่จะรอ คสช.และผู้ว่ากรุงเทพมหานคร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 บุญยืน ทำชีวิตให้เหมือนเดิม

เข้าพรรษาที่ผ่านมามีโอกาสไปไหว้พระทำบุญ ทั้งวัดไทย ศาลเจ้าจีนในหลายจังหวัดภาคเหนือ แต่ก็หมดสนุกเพราะเป็นห่วงเพื่อนร่วมขบวนมีอาการปากเบี้ยว จนต้องนำส่งโรงพยาบาลอำเภอ ตอนไปส่งยังอยู่ในช่วงโอกาสทองที่จะสามารถฉีดยาสลายลิ่มเลือดได้ เพราะไปโรงพยาบาลหลังจากมีอาการก่อนสองชั่วโมง ซึ่งสามารถฉีดได้ภายในสี่ชั่วโมงครึ่งเนื่องจากเมื่อไปถึงโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่และแพทย์ไม่สามารถเห็นอาการปากเบี้ยวได้ชัดเจน มีเพียงความดันสูง 160/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งไม่นับว่าสูงมาก ทำให้คิดว่า หากมีเส้นเลือดตีบน่าจะหลุดออกไปแล้ว หรือเป็นกลุ่ม TIA (transient Ischemic Attack) เมื่อคิดถึงสิ่งนี้ทำให้ไม่โต้แย้ง และตั้งคำถามกับโรงพยาบาล เมื่อผู้ป่วยถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่กว่าเพื่อเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์และให้นำคนไข้กลับมารอที่โรงพยาบาลเดิม เพราะคิดว่าไม่เป็นอะไร และยืนยันมากขึ้นเมื่อแพทย์ดูฟิล์มเอกเรย์แล้วบอกว่า ไม่มีเส้นเลือดตีบให้นอนรอสังเกตอาการ โล่งใจ จนนั่งรถไปสั่งอาหารเย็นให้ทั้งคนป่วยและคนดูแลสั่งข้าวผัดยังไม่ทันได้ข้าวผัดก็ได้รับโทรศัพท์ว่า มีเส้นเลือดในสมองตีบจากการอ่านของแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ต้องไปฉีดยาที่โรงพยาบาลที่ไปเอกซ์เรย์ แต่เมื่อไปถึงแพทย์ก็บอกว่าฉีดไม่ได้เพราะเลยสี่ชั่วโมงครึ่ง ถึงแม้อาการที่เป็นจะไม่รุนแรงไม่มีแขนขาอ่อนแรง มีเพียงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่แตกต่างกันในช่วงแรก แต่ก็ทำให้ชีวิตเพื่อนรู้สึกไม่กระตือรือร้น ความสุขความสนุกหายไป เฉื่อยชา ขี้เกียจ ซึ่งตรงกันข้ามกับชีวิตของเพื่อนคนนี้ ทำให้คิดว่า ระบบการรักษาผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองตีบต้องให้ความสำคัญกับระยะเวลามาก โรงพยาบาลไม่ควรนำคนไข้กลับมารอในโรงพยาบาลที่ไม่มีศักยภาพในการฉีดยา ควรให้คนไข้นอนรอผลที่โรงพยาบาลที่สามารถให้การช่วยเหลือได้ทันที ส่วนโรงพยาบาลหรือแพทย์ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ ควรจัดการส่งต่อและจัดทำขั้นตอนให้รวดเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เลยเวลาโอกาสทองในการได้รับยาเป็นการพัฒนาคุณภาพบริการที่โรงพยาบาลของรัฐสามารถทำได้เลย โดยไม่ต้องลงทุนอะไร ไม่ต้องเสียอะไรเพิ่ม ส่วนเราผู้บริโภค หากปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรงอย่าคิดว่าไม่เป็นอะไร ต้องจัดการให้ไปถึงโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด และหวังว่าโรงพยาบาลจะไม่มีเงื่อนไขอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อคนไข้ที่สามารถจัดการได้ไม่ยาก เช่น การถูกเรียกเก็บเงินค่าเอกซ์เรย์ แต่อาจจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ป่วยคนอื่นๆ ที่ไม่ทราบสิทธิฉุกเฉินเรื่องนี้ บทเรียนเหล่านี้ราคาแพงไม่สมควรเกิดขึ้นกับใคร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 ชีวิตหลังรัฐธรรมนูญ

แน่นอนว่าจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละบุคคล และยังไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังวันลงประชามติ รัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ไม่ผ่านจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับไหน จะมีส่วนร่วมกันอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เกือบ 19 ปี ที่รัฐธรรมนูญอย่างน้อยสองฉบับติดต่อกัน ทั้ง พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 กำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และได้เพิ่มบทบาทในการตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญปี 2550  ร่างที่กำลังรอลงประชามติกลับไม่เขียนให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่ชัดเจน เขียนไว้เพียงให้องค์กรของผู้บริโภค มีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ กลับเขียนเพิ่มให้เป็นหน้าที่ของรัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นธรรมในการทำสัญญา หรือด้านอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งมีกลไกและมาตรการอยู่แล้ว นับตั้งแต่ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ปี 2522 หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ แน่นอนปัญหาการตีความ ความไม่ชัดเจนที่เขียนไว้ย่อมทำให้คนที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญในอนาคต จะต้องถกเถียงและบิดพลิ้วในการทำให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคการคุ้มครองผู้บริโภคให้ประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพ กระทำเพียงหน่วยงานรัฐอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะปัญหาปัจจุบันสะท้อนความอ่อนแอของระบบการคุ้มครองผู้บริโภคภาครัฐได้เป็นอย่างดีการมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จะเป็นตัวช่วยผู้บริโภค เพราะซื้อรถ ซื้อบ้าน ซื้อข้าวของต่างๆ เวลามีปัญหา เหนื่อยสายใจแทบขาดใจเพราะต้องต่อสู้ตัวคนเดียว ถ้ามีองค์การอิสระที่สามารถเป็นเพื่อน ช่วยสนับสนุนในการใช้สิทธิ คงจะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นเยอะประเทศไทยต้องการตัวแทนผู้บริโภคในการคุ้มครองสิทธิประชาชน เกิดอะไรขึ้นกับประเทศ เราไม่ค่อยรู้ ไม่ค่อยเข้าใจและหลายเรื่องยากเกินไป แต่ถ้าเรามีตัวแทนของผู้บริโภคที่ชัดเจน ช่วยให้ความเห็นแทนประชาชน  ก็จะพอสบายใจได้ว่าการเอาเปรียบน่าจะลดลง สุดท้ายแน่นอนต้องเป็นหูเป็นตาให้ภาครัฐ เป็นตาสับปะรด ให้กับหน่วยงานรัฐ ในการปกป้องสิทธิ และคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้ง ธุรกิจที่ดี ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากผู้บริโภค เกิดสมดุลมากขึ้นในการพัฒนาประเทศ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 กล่องโฟม

ผู้บริโภคอย่างเราควรยึดหลักป้องกันไว้ก่อน (Precautionary Principle)  หลีกเลี่ยงการใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร ถึงแม้จะมีความสับสนวุ่นวาย ความไม่กล้าหาญของหน่วยงาน นักวิทยาศาสตร์ที่รู้ทุกเรื่อง ออกมาให้ข้อมูลว่า ไม่ได้มีอันตราย ทำให้ปัญหาเรื่องโฟมน่าจะบานปลาย ไม่ถูกตัดสินใจ กลับไปอยู่สภาพเดิมงานวิจัยเรื่องอันตรายของโฟม โดยรศ.ดร.กรรนิการ์ ฉัตรสันติประภา อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องความเสี่ยงจากการบริโภคอาหารจากกล่องโฟมเอาไว้ และได้ให้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์อีกครั้งในเดือนนี้ ว่า กล่องโฟมบรรจุอาหารมีผลต่อการก่อโรคมะเร็งจริง“กล่องโฟม เป็นสไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งตัวสไตรีนโมโนเมอร์ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีโดยเปลี่ยนจากสไตรีนโมโนเมอร์ เป็นสไตรีนออกไซด์ ซึ่งสไตรีนออกไซด์ตรงนี้สามารถ ก่อมะเร็งได้”รศ.ดร.กรรนิการ์ บอกว่า การประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งจะไม่ระบุว่าความเข้มข้นเท่าไหร่ หรือปริมาณเท่าไหร่ถึงจะเป็นมะเร็ง แต่อยู่ในรูปของโอกาสในการเป็นมะเร็ง หากต่ำกว่า 1 ในล้าน จะถือว่าน้อยมากจนไม่มีนัยสำคัญ ก็จะยอมรับได้ ถ้าเมื่อไหร่ที่เกินกว่า 1 ในล้าน จะถือเป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้“สำหรับกล่องโฟม เท่าที่ได้มีการวิจัยมีการคำนวณโดยอิงค่าหน่วยบริโภคอาหารของคนไทย พบว่า แม้บริโภค 1 กล่องต่อวันก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเกินกว่า 1 ในล้าน เป็นค่าที่ยอมรับไม่ได้” และอาหารที่มีความเป็นกรด เค็ม หวาน เผ็ด มัน จะทำให้ปริมาณการเคลื่อนย้ายของสารโพลิสไตรีนจากกล่องโฟมเข้าสู่อาหาร มากกว่าอาหารที่ไม่มีความเป็นกรด เค็ม หวาน เผ็ด มัน และอาหารที่มีอุณหภูมิร้อนมีแนวโน้มที่จะทำให้โพลิสไตรีนเคลื่อนย้ายจากกล่องโฟมเข้าสู่อาหารมากกว่าที่อุณหภูมิห้องผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อ นอกจากต้องยึดหลักป้องกันไว้ก่อนแล้ว คงต้องออกมาช่วยกันทำให้กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ให้ประชาชนได้รับรู้ ว่า กล่องโฟมบรรจุอาหาร เป็นปัญหาสำคัญต่อสุขภาพ ไม่ใช่มีปัญหาเฉพาะสิ่งแวดล้อมเท่านั้น  ต้องประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรู้ทั่วกันว่า กินอาหารจากกล่องโฟมแค่วันละกล่อง คุณมีสิทธิ์รับความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 6.4 เท่า ซึ่งจากงานวิจัยกรณีที่รุนแรงสุดมีโอกาสการเป็นมะเร็งเมื่อกินอาหารจากกล่องโฟมคือ 6.4 ในล้าน ขณะที่ค่ามาตรฐานคือต้องไม่เกิน 1 ในล้าน การพิจารณาโอกาสเกิดมะเร็งของโฟม เพียงแค่ดูจากสไตรีนโมโนเมอร์ เป็นสไตรีนออกไซด์ ยังไม่ได้รวมถึงสไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งปัจจุบันยอมรับกันแล้วว่าเป็นสารก่อมะเร็งเช่นเดียวกันเรื่องโฟม ไม่ต่างจากเรื่องจีเอ็มโอและอีกหลายๆเรื่อง ที่นักวิชาการต่างถกเถียงกัน ข้อมูลทุกวันนี้มีมากมาย จนสร้างความสับสน ข้อมูลใหม่ ข้อมูลเก่า ข้อมูลเท็จ ข้อมูลบริษัท  นักวิทยาศาสตร์อิสระ รับจ้าง ข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ แต่ถ้าเรายึดหลักป้องกันไว้ก่อน สร้างทางเลือกให้กับตัวเองน่าจะปลอดภัยในสังคมบริโภคปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 เช็คแอนด์แชร์

โซเชียลมีเดียมีพลังในการเปลี่ยนแปลงก็จริง อิทธิพลที่อยู่กับปลายนิ้ว เป็นทั้งคุณและปัญหากับผู้บริโภคไม่น้อยในปัจจุบัน ข่าวลือ ข่าวกุ ข่าวมั่ว ข่าวเก่า ข่าวจริง ทัศนะ เสียดสี เลือกข้าง มีมากมายมาถึงตัวผู้บริโภคตลอดยี่สิบสี่ชัวโมง นอกจากจะก่อให้เกิดความวิตกกังวล แต่หากบางครั้งช่วยให้หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคตื่นตัว กรณีล่าสุดของผลการทดสอบไส้กรอก ของนิตยสารฉลาดซื้อหลังแถลงข่าว มีคนไปอ่านมากกว่า 2 ล้าน 3 แสนคน และหากนับรวมของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็เกือบ 3 ล้านคน หากสนับสนุนยี่ห้อที่ตรวจไม่พบไนเตรดไนไตรท์ ก็เห็นพลังของผู้บริโภคที่ชัดเจนในเรื่องนี้ กรณีบัตรเอทีเอ็มจากการเริ่มสื่อสารว่าตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้บัตรเอทีเอ็มทุกธนาคารต้องมีชิปการ์ด ให้รีบไปเปลี่ยนภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ไม่เช่นนั้นต้องเสียเงิน 100 บาท ตอนนี้ทุกธนาคาร ไม่ต้องบอกเพราะต้องการค่าธรรมเนียม แชร์กันว่อนจนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกแถลงการณ์ ว่า ตั้งแต่ 16 พ.ค. 59 เป็นต้นไป บัตรที่ออกใหม่จะเป็น Chip Card ซึ่งปลอดภัยกว่าเดิม ส่วนบัตรแถบแม่เหล็กเดิม ยังใช้ได้ตามปกติถึง 31 ธ.ค. 62 ซึ่ง ธนาคารพาณิชย์จะทยอยเปลี่ยนเป็น Chip Card ให้เมื่อบัตรเดิมหมดอายุ หากต้องการเปลี่ยนบัตรเดิมเป็น Chip Card ให้ติดต่อได้ที่ ธพ. ผู้ออกบัตร แต่อาจมีค่าใช้จ่ายตามที่ ธพ. กำหนด ซึ่งบางแห่งอาจยกเว้นค่าใช้จ่ายเปลี่ยนบัตรให้เป็นการชั่วคราว ซึ่งพบว่า ธนาคารกรุงเทพ ทำบัตรระบบนี้มาตั้งแต่ปี 2552 และราคาบัตรส่วนใหญ่ของธนาคารเกือบทั้งหมดบัตรใหม่ราคา 100 บาทเหมือน เอทีเอ็มทั่วไป และรายปีอีก 200 บาท มีเพียงธนาคารกรุงไทยที่รายปี 180 บาทและธนาคารไทยพาณิชย์รายปี 300 บาท ข่าวสารที่ถูกนำจากโซเชียลมีเดีย ไปออกอากาศต่อในสื่อเดิมที่เคยเป็นสื่อกระแสหลัก กำลังกลับหัวกลับหาง หากมีข่าวข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคก็คงไม่มีปัญหา แต่ปัจจุบัน ผู้บริโภคจำนวนมากยังไม่รู้วิธีจัดการกับข่าวลือ ยิ่งข่าวลือที่เราเห็นด้วย ยิ่งเชื่อสุดใจ และช่วยเพิ่มการไลค์การแชร์ การถกเถียงกันในข่าวที่เราไม่เห็นด้วยทำกันน้อยลง เราเลือกสื่อสารกับคนที่เห็นด้วย หากเถียงมากเราไม่ชอบก็บล็อคความเป็นเพื่อนไปเลย สิ่งที่ทำได้และอยู่ในมือเราจริงต้องเช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์ หรือตรวจสอบก่อนเผยแพร่น่าจะเป็นทางออกที่สำคัญ ก่อนเป็นเครื่องมือเกมทางการเมือง และตลาดในยุคสังคมออนไลน์ปัจจุบัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 คอลเซ็นเตอร์

ผู้บริโภคในปัจจุบัน นอกจากจะมีความทุกข์จากการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้า และใช้บริการแล้ว ก็พบว่า ทุกข์ที่สำคัญอีกเรื่องเป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการใช้สิทธิร้องเรียน หรือการเข้าถึงการร้องเรียนของบริษัทผ่านคอลเซ็นเตอร์ การร้องเรียนของผู้บริโภค ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 30 นาที ทำให้ผู้ร้องเรียนต้องเสียค่าบริการมากกว่า 30 บาทต่อครั้ง เนื่องจากบริษัทฯ คิดค่าบริการนาทีละ 1 บาท ในการติดต่อกับคอลเซนเตอร์ กิจการโทรคมนาคม เป็นกิจการเดียวในปัจจุบันที่มีการกำหนดมาตรฐานในการรับเรื่องร้องเรียนตามประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียง ได้กำหนดว่าระยะเวลาที่ต้องรอในการขอใช้บริการดูแลลูกค้าจากศูนย์ตอบรับโทรศัพท์ต้องไม่นานเกินกว่า 60 วินาที และกำหนดให้มีเบอร์โทรศัพท์ฟรีในการรับเรื่องร้องเรียน แต่ก็พบว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้งหมด ทั้งเอไอเอส ทรู ดีแทค และกสท. รอสายนานเกิน 60 วินาที ยกเว้นทีโอทีที่รอสายไม่เกิน 60 วินาที แต่กสทช. ยังไม่ได้ทำอะไรมากนัก ทั้งที่มีเรื่องร้องเรียนใช้บริการทั่วไปรอสายนานมากกว่า 30 นาทีด้วยซ้ำ แถมเจอเล่ห์เหลี่ยมของบริษัทที่มีเบอร์โทรศัพท์ฟรีคนละเบอร์กับเบอร์ที่ให้บริการลูกค้า หมายเลขร้องเรียนที่จำยากเป็นเลข 7 ตัวแทนที่จะเป็น 4 ตัวเดิมของบริษัท กิจการอื่นๆ ไม่ว่าจะ เป็นธนาคารพานิชย์ สถาบันการเงิน บริษัทประกันภัยทุกประเภท หรือแม้แต่ล่าสุดการขายกิจการของแกรมมี่ให้ CTH และปัญหา PSI กับ CTH ทุกบริษัท ต่างมีบริการหมายเลขพิเศษในการร้องเรียน แต่แทบทุกบริษัทก็เข้าถึงยาก รอสายนาน ทำให้เป็นปัญหาและต้นทุนของผู้บริโภคในการร้องเรียนทั้งสิ้น ทุกครั้งที่โทรศัพท์ร้องเรียน ต้องภาวนาให้มีคนรับสาย บางบริษัทมีระบบนับจำนวนคนรอสายให้ด้วยซึ่งจากการทดลองพบว่า มีมากกว่า 19 คน ที่รอสาย ผู้บริโภคต้องใช้ความพยายามมาก ถึงจะมีคนรับสาย สามถึงสี่ครั้งถึงจัดการได้สำเร็จ ได้ยินแต่เพลงรอสายที่โฆษณาบริษัท “ที่นี่... เราพร้อมให้บริการคุณ.. ที่นี่เราเป็นเพื่อนคุณ” การเข้าถึงที่ยากในการร้องเรียนทำให้คนจำนวนมากที่ต้องการร้องเรียนเลิกพยายามโทรศัพท์ และเลิกร้องเรียน แน่นอนว่า หากผู้บริโภคเลิกร้องเรียนก็ย่อมเป็นประโยชน์กับบริษัท บริษัทที่ไม่มองเรื่องนี้ระยะยาว ย่อมไม่ต้องการปรับปรุงระบบรับเรื่องร้องเรียนให้มีประสิทธิภาพมากนัก แต่บริษัทที่ต้องการฟังเสียงจากผู้บริโภคย่อมพยายามที่จะทำให้มีระบบเพื่อรับฟังความพึงพอใจของผู้บริโภค บางบริษัทก็แอพลิเคชั่น หรือวิธีการใหม่ๆ ในการดูแลเรื่องร้องเรียน เมื่อเป็นเช่นนี้ กติกาในการใช้บริการรับเรื่องร้องเรียนหรือหน่วยรับเรื่องร้องเรียนของบริษัท ควรเป็นหนึ่งในมาตรฐานและคุณภาพของบริษัทในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรฐานการให้บริการร้องเรียนของบริษัทที่ต้องเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการอนุญาตให้บริการ ทางออกสำหรับผู้บริโภค ก็อาจจะต้องไปร้องเรียนกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือใช้วิธีป่าวประกาศให้โลกรู้ ผ่านออนไลน์ ถือเป็นไม้เด็ดของผู้บริโภคที่ยังใช้งานได้ดีในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 ผู้บริโภคทั่วโลกกดดันบริษัทฟาสต์ฟู้ด ยุติการใช้เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงโดยใช้ยาปฏิชีวนะ

ผู้บริโภคทั่วโลกร่วมมือกันกดดัน 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ฟาสต์ฟู้ดของโลก ทั้งแม็คโดนัลส์ เคเอฟซี และซับเวย์ ยุติการใช้เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงโดยมีการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะทั่วโลกได้มาก ในวันที่ 15 มีนาคมซึ่งเป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล50% ของยาปฏิชีวนะทั่วโลก ถูกใช้ในทางการเกษตร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อและการเจ็บป่วยเล็กน้อยซึ่งเคยรักษาได้ในอดีต นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข เผยปัจจุบันปัญหาการดื้อยาของเชื้อจุลชีพที่ทำให้เกิดโรคมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากขึ้น ทั้งการใช้อย่างไม่จำเป็นและเกินความจำเป็น โดยมูลค่าการใช้ยาปฏิชีวนะของคนไทยมากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี และมีการติดเชื้อชนิดที่ดื้อยาปฏิชีวนะปีละกว่า 100,000 คน มีผู้ป่วยติดเชื้อชนิดดื้อต่อยาปฏิชีวนะ 5 ชนิด เสียชีวิต 38,481 ราย แซงโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มูลค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละกว่า 40,000 ล้านบาท ทำให้ยาปฏิชีวนะตัวเก่าที่เคยใช้ ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ผู้ป่วยบางรายต้องเปลี่ยนใช้ยาตัวใหม่ซึ่งมีราคาแพงมาก เชื้อดื้อยาบางชนิดไม่มียารักษาที่มีประสิทธิผลดีและปลอดภัย ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาเพิ่มขึ้น ใช้เวลารักษานานขึ้นและโอกาสเสียชีวิตสูง ผลเสียต่อไปหากเชื้อชนิดนี้แพร่ไปสู่ผู้ป่วยรายอื่นและเกิดการระบาดในชุมชน จะมีผลทำให้โรคติดต่อที่เคยควบคุมได้กลับมาระบาดมากขึ้น นอกจากนี้ เชื้อดื้อยายังสามารถถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมดื้อยาไปสู่เชื้อสายพันธุ์อื่น ทำให้ปัญหาการดื้อยาทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น นิตยสารฉลาดซื้อ เชิญชวนผู้บริโภคร่วมปฏิบัติการลดการใช้ยาปฏิชีวนะ สอบถามความจำเป็นทุกครั้งจากแพทย์ก่อนใช้ยาปฏิชีวนะ และร่วมรณรงค์เรียกร้องให้ทั้งสามบริษัทฟาสต์ฟู้ด ยุติการใช้เนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการเลี้ยงโดยใช้ยาปฏิชีวนะ ร่วมมือรณรงค์กันง่าย ๆ ด้วยการด้วยการโพสต์รูปตัวเองขณะถือป้าย “ยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในเมนูอาหารของเรา #‎AntibioticsOfftheMenu‬ ลงในเฟสบุ้ค และติดแฮชแท็ก #AntibioticsOfftheMenu

อ่านเพิ่มเติม >