ฉบับที่ 276 PFAS อุบัติภัยสารเคมีอันตรายที่เข้าสู่มนุษย์ทุกช่องทาง

        ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกหวั่นวิตกและส่งสัญญาณเตือนถึงอันตรายของสารเคมีกลุ่ม PFAS หรือ Per- and Polyfluoroalkyl Substances  อย่างแพร่หลาย         ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงจะพาไปทำความรู้จักถึงอันตรายและการรับมือที่เราจะสามารถทำได้ PFAS  คืออะไร         PFAS  (per-and polyfluoroalkyl substances)        เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีคุณลักษณะมีพันธะทางเคมีระหว่างอะตอมของคาร์บอนและฟลูโอรีน ที่ยึดเหนี่ยวกันแน่นมากทำให้มีความเสถียรสูงและสลายตัวยาก สารเคมีกลุ่ม PFAS คุณสมบัติสำคัญคือต้านความร้อน น้ำมันและน้ำได้ดี  ปัจจุบันสารเคมีกลุ่มนี้มีมากถึง 14,000 ชนิดและถูกนำมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม         PFAS เป็นสารเคมีที่มนุษย์สร้างขึ้น ถูกค้นพบตั้งแต่ใน ค.ศ. 1940 คุณสมบัติด้านความทนทาน ยากต่อการสลายตัว และเมื่อสลายแล้วยังแปรเปลี่ยนสภาพเป็นอีกสารหนึ่งได้ตลอดเวลา ดังนั้นทั่วโลกจึงขนานนาม สารเคมีกลุ่มนี้ในอีกชื่อว่า “สารเคมีตลอดกาล”          PFAS  พบได้ทั้งในดิน แหล่งน้ำ สัตว์น้ำ เช่น ปลา อาหารแปรรูป น้ำดื่ม เสื้อผ้า อุปกรณ์เครื่องครัว บรรจุภัณฑ์บรรจุอาหาร เช่น กล่องพิซซ่า ถุงใส่ป๊อบคอร์น ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น แชมพู เครื่องสำอาง ไหมขัดฟันและยังอีกมากมาย  อันตรายของสารเคมี  PFAS         ราว 4 เดือนผ่านมาแล้วที่ทีมข่าวของสำนักข่าว Bloomberg ได้ลงไปสอบสวนถึงการปนเปื้อนของ PFAS  ในชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งอยู่บนหมู่เกาะแฟโร         หมู่เกาะแห่งนี้อยู่แอตแลนติกเหนือ ชาวบ้านในชุมชนประกอบอาชีพประมงมากว่าร้อยปี พวกเขายืนยันว่าในพื้นที่ไม่มีการประกอบอุตสาหกรรมเคมีใดๆ เลยแต่ตอนนี้สารเคมี PFAS กลับกำลังปนเปื้อนในชุมชนของเขาอยู่เต็มไปหมด         PFAS  เดินทางไปแล้วทุกๆ ที่แม้ในพื้นที่ห่างไกลจนอาจยากจะจินตนาการถึง ด้านผลกระทบต่อสุขภาพยิ่งชัดเจน แต่เมื่อย้อนมองกลับไปยังพื้นที่จุดต้นกำเนิดของสาร  PFAS        ณ ฝั่งตะวันออกของรัฐมินิโซตาใกล้กับสำนักงานใหญ่ของบริษัท 3M บริษัทที่เริ่มผลิตสารเคมีมาตั้งแต่ปี 1902 ซึ่งในปี 1960 บริษัทได้ฝังกลบสารเคมีขนาดใหญ่ไว้ในพื้นที่ ต่อมาสารเคมีดังกล่าวได้รั่วไหลลงสู่สิ่งแวดล้อมเป็นบริเวณกว้าง สิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ แต่สถิติมะเร็งในเด็กในพื้นที่บริเวณนี้ต่างหากที่ส่งเสียงดังเพราะเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ          เอมี่ (Amy) มารดาของบุตรสาวชื่อ Lexi ที่เป็นมะเร็งตั้งแต่วัยเด็กเล่าว่าเธอเริ่มสงสัยว่า บุตรสาวเป็นมะเร็งจากสภาพแวดล้อมในเมืองโอ๊คเดล รัฐมินนิโซตา เพราะเธอดื่มน้ำจากแหล่งน้ำในชุมชน นอกจากนั้น Lexi ยังได้รับประทานปลาจากทะเลสาบในพื้นที่โดยรอบอยู่เสมอเพราะคนในครอบครัวชอบตกปลา และนั่นอาจทำให้เธอต้องกลับมาฉุกคิดว่าสภาพแวดล้อมที่เธออยู่นี้ อาจไม่ได้ปลอดภัยต่อลูกน้อย เมื่อต้องสัมผัสทั้งน้ำดื่มและอาหาร ที่ล้วนมาจากแหล่งน้ำในพื้นที่อยู่อาศัย Lexi ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งตั้งแต่เธอยังเด็ก และต้องเข้ารับการบำบัดในโปรแกรมอย่างเคร่งคัดกว่า 5ปี  ปัจจุบันอาการของ Lexi ดีขึ้น แต่เด็กหลายคนไม่โชคดีเหมือนเธอ เมื่อสถิติข้อมูลระบุว่าผู้เสียชีวิตในเมืองโอ๊คเดล จากปี 2003 – 2015 กว่า 171% นั้น เสียชีวิตจากมะเร็งเมื่อเปรียบเทียบการการเสียชีวิตนอกพื้นที่การปนเปื้อน  PFAS ไม่เพียงทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง         การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในขณะนี้พบว่า PFAS ส่งผลต่อการลดอัตราการเจริญพันธุ์  การทำงานของตับ ระบบเลือดและหัวใจ เพิ่มความดันในหญิงตั้งครรภ์ ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า  ลดภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ในการปกป้องคุ้มครองโรคให้อ่อนแอลง         การแพร่กระจายของ PFAS ได้กระจายกว้างออกไปอย่างมากในปัจจุบัน ในปี 2023  หน่วยงานสำรวจเชิงธิรณีวิทยาของรัฐบาลกลางสหรัฐ เผยแพร่ผลงานวิจัยล่าสุดที่บ่งชี้ว่า น้ำประปากว่าเกือบครึ่งประเทศมีการปนเปื้อนสาร PFAS  และไม่เหมาะสำหรับการบริโภค เพราะเสี่ยงทำให้เกิดโรคต่างๆ ทั้งโรคมะเร็ง ไทรอยด์ โรคอ้วน ทำลายตับและระบบฮอร์โมนของร่างกาย         ปี 2023 เช่นเดียวกันที่นักวิทยาศาสตร์จาก Environmental Working Group ได้ตรวจตัวอย่างปลาน้ำจืด 500 ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาเป็นปลาน้ำจืด 44 สายพันธุ์ เช่น กลุ่มปลากะพง ปลากดอเมริกัน ปลาคอด ซึ่งเป็นปลาที่นิยมนำมาทำเป็นอาหาร ผลการศึกษาพบกลุ่มตัวอย่างมีปริมาณสารเคมี PFAS เฉลี่ย 9,500 นาโนกรัมต่อเนื้อปลา 1 กิโลกรัม ทำให้ปลาน้ำจืดมีสารเคมีตกค้างสูงมากกว่าปลาทะเลถึง 280 เท่า         นักวิทยาศาสตร์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการบริโภคปลาน้ำจืดหนึ่งครั้งต่อปีอาจเท่ากับการดื่มน้ำ ที่มีสารเคมี PFAS เป็นเวลาหนึ่งเดือน ซึ่งเป็นการรับเคมีในปริมาณที่สูงและอันตราย        ทั่วโลกร่วมส่งเสียงเตือนอันตรายของ PFAS             แม้ชื่อสารเคมี PFAS จะเริ่มปรากฏในหน้าสื่อต่างๆ ในช่วงระยะ  5 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเข้าสู่การรับรู้ของผู้คนมากขึ้นแล้ว กลับถูกนักวิทยาศาสตร์กล่าวถึงกันอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะทั้งงานวิจัยตลอดจนการออกมาเรียกร้องของนักวิทย์ซึ่งพยายามให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ควบคุมการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มนี้ มีมานานกว่า 10 ปี แต่กลับไม่เคยได้รับการขานรับ  ทั้งที่มันอันตรายต่อมนุษย์อย่างมาก         ในปี 2022 นักวิทยาศาสตร์อิสระกว่า 110 คนได้รวมตัวกันออกมาเตือนถึงอันตรายของ PFAS ในน้ำดื่ม ทั้งยังตอกย้ำว่า มาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มที่กำหนดให้มีสาร PFOA และ PFOS ซึ่งเป็นสาร 2 ชนิดในกลุ่มสารเคมี PFAS ที่พบได้บ่อยไม่ได้เป็นมาตรฐานที่ทำให้ประชาชนปลอดภัยจาก PFAS ได้         ปัจจุบันประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจาก PFAS  และเริ่มมีมาตรการ ควบคุม จำกัด ไปจนถึงการห้ามใช้สาร PFAS ในหลายระดับที่แตกต่างกัน  สหภาพยุโรป         ในสหภาพยุโรปการกำกับควบคุมการใช้สารเคมีอยู่ภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วย สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน โดยองค์การจัดการสารเคมีแห่งสหภาพยุโรป European Chemical Agency (ECHA) ได้สร้างระเบียบเครื่องมือกลไกให้ประเทศสมาชิกร่วมปฎิบัติตามอนุสัญญาฯ เพื่อปกป้องทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม          ปัจจุบันการควบคุมการใช้สารเคมี PFAS ในสหภาพยุโรปมีหลายระดับ บางชนิดมีการห้ามใช้แล้วเช่น การห้ามใช้ PFAS ในโฟมกันไฟตั้งแต่ปี 2011 และยังคงอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านการห้ามใช้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดกลุ่มที่ให้ใช้อย่างจำเป็น ซึ่งมีการกำกับ ควบคุมอย่างเคร่งครัด     สหภาพยุโรป เป็นภูมิภาคแรกๆ ที่ตื่นตัว เห็นถึงอันตรายของสาร PFAS และแม้จะมีความต้องการให้ยุติการใช้ PFAS อย่างสิ้นเชิงแต่ยังเป็นเรื่องยากเพราะได้เผชิญกับการแทรกแซงของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมต่างๆ อย่างหนักมาโดยตลอด   สหรัฐอเมริกา         ปัจจุบันหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาได้ ผ่านกฎหมายเพื่อ ‘ห้าม’ หรือ ‘จำกัด’ การใช้สาร PFAS แล้วโดยรัฐแคลิฟอร์เนียได้ห้ามใช้ PFAS ทั้งหมดในเครื่องสำอางในเดือน ตั้งแต่กันยายน 2022 โดยมีช่วงเปลี่ยนผ่านสำหรับการบังคับใช้หลังวันที่ 1 มกราคม 2025  และไม่นานนี้เอง รัฐมินิโซต้าได้ผ่านกฎหมายห้ามใช้ PFAS โดยตั้งใจในผลิตภัณฑ์ต่างๆ และให้เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป จนถึงในปี 2032 ซึ่งได้กำหนดให้เป็นปีที่บรรลุการไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้สาร PFAS  โดยสมบูรณ์          อย่างไรก็ตามหลายรัฐของสหรัฐอเมริกายังมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เช่น นอร์ทแคโรไลนา ช่วงปลายปี 2023  ที่สหประชาชาติหรือ UN ถึงกับตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ลงตรวจสอบและเตือนภัยให้ประชาชนทราบถึงอันตรายของสารเคมี PFAS ในภูมิภาคนี้หลังพบว่า โรงงาน The Fayetteville โดยบริษัท Chemours เป็นแหล่งสำคัญที่ปล่อย PFAS ออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยแม้ UN ได้ส่งจดหมายถึงบริษัทและระบุถึงงานวิจัยที่ตรวจพบสารเคมี PFAS ของ Chemours ในปลาและพืชผล รวมถึงตัวอย่างเลือดของคนในคนในภูมิภาคนี้กว่า 97% แต่ก็ยังไม่รับการตอบรับที่จะเฝ้าระวังให้มากขึ้น         ในรัฐเทกซัสในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เกษตรสองรายยังได้ยื่นฟ้องบริษัทSynagro บริษัทจัดการของเสียขนาดใหญ่ที่ได้นำโคลนหมักมาขายให้เกษตรโดยอ้างว่าเป็นดินโคลนที่มีสารอาหารใช้ทดแทนเป็นปุ๋ยทางเลือกได้และราคาถูกกว่า แต่เมื่อเกษตรนำมาโคลนเหลวเข้ามาใช้แล้ว ไม่นานสุขภาพก็เริ่มแย่ลง สัตว์เลี้ยงตายลง สารเคมีปนเปื้อนในน้ำดื่ม ปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ที่ส่งออกจำหน่ายด้วย         การเข้าไปทดสอบโดยองค์กร PEER หรือ Public Employees for Environmental Responsibility ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรยังพบว่าในฟาร์มของเกษตรกรดังกล่าว ในน้ำดื่มปนเปื้อน PFAS มากกว่าค่ามาตรฐานถึง 13,000 เท่า ปนเปื้อนในเนื้อสัตว์เกินระดับที่ปลอดภัยถึง 250,000 เท่า สิ่งที่น่าตกใจ คือ ความเสียหายที่ยิ่งใหญ่นี้กำลังแพร่ไปข้ามรัฐในอเมริกาเมื่อมีการขายโคลนในลักษณะนี้ไปในหลายๆ ที่ เกษตรกรจึงยื่นฟ้องต่อบริษัท Synagro เนื่องจากบริษัท ควร/น่าจะคาดหมายได้ หรือตรวจสอบก่อนว่าสินค้าที่ขายออกไปมีความปลอดภัยต่อชีวิต ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือไม่         ในสหรัฐอเมริกาสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมหรือ EPA ได้จัดตั้งสภาด้าน PFAS ขึ้นมาโดยตรง ตั้งแต่ปี  2021 เพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อปกป้องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมจากผลกระทบจาก PFAS และรัฐบาล ได้ทุุ่มงบประมาณเพื่อกำจัดสาร PFAS และควบคุมผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกปี  นิวซีแลนด์        ปัจจุบันนิวซีแลนด์ได้ผ่านกฎหมายห้ามใช้สารเคมี PFAS ในเครื่องสำอางโดยให้มีผลตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป ปัจจุบันจึงนับเป็นช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่าน ให้ภาคผู้ผลิตมองหา คิดค้น สารทดแทนใหม่  นิวซีแลนด์นับเป็นประเทศแถวหน้าที่ปกป้องประชาชนเชิงรุกจากสารเคมี PFAS ทั้งนี้เพราะคณะวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Auckland  ได้ตรวจเครื่องสำอางที่นำเข้าภายในประเทศพบว่าถึง 90% ปนปื้อนสาร PFAS จึงทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงอันตรายร่วมกันอย่างชัดเจน  ออสเตรเลีย         ตั้งแต่ปี 2023 ประเทศออสเตรเลียประกาศที่จะเป็นประเทศที่ควบคุมการใช้ PFAS ทั้งตั้งแต่การผลิตภายในประเทศ การนำเข้าและการส่งออก  ควบคุมในแผนงานเจ็ดอุตสาหกรรมสารเคมีใน  ออสเตรเลียที่ห้ามใช้สารเคมีที่จะส่งผลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง โดยรัฐบาลจะประกาศรายชื่อสารเคมี ที่ห้ามใช้ภายในวันที่ 1 ก.ค. 2025 กลุ่มธุรกิจสารเคมีทั้งหมดจึงต้องหาสารตัวเลือกอื่นๆ มาใช้ทดแทน โดยจะให้มีการใช้สารเคมี PFAS เพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น        ก่อนหน้านี้ รัฐบาลออสเตรเลียได้พัฒนาโปรแกรมให้ภาคธุรกิจ ยุติการใช้สารเคมี PFAS แบบสมัครใจมาแล้วและยังกำหนดการใช้อย่างเคร่งครัดในโฟมกันไฟ การประกาศแผนการควบคุม PFAS ครั้งล่าสุดจึงเป็นการยกระดับขึ้นอีกขั้นของความจริงจังในการปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน         สถานการณ์ของ PFAS ในประเทศไทย        ในปี 2566 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ห้ามใช้สารPFAS รวมถึงอนุพันธ์ของสาร 13 รายการ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2566 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง พ.ศ. 2566         เช่นเดียวกับประเทศในสหภาพยุโรปและอาเซียน เนื่องจากจัดเป็นสารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์โดย ต่อมา อย.ยังได้ตรวจสอบเครื่องสำอางที่ขออนุญาตจดแจ้งในประเทศไทยแล้ว ไม่พบการใช้สาร PFAS (Per- and polyfluoroalkyl substances) หรือสารเคมีอมตะ         อย่างไรก็ตามการใช้สารเคมี PFAS ในเครื่องสำอางเป็นเพียงอุตสาหกรรมหนึ่งเท่านั้น ปัจจุบันมีการนำสาร PFAS ไปใช้เป็นวัตถุตั้งต้นทั้งในอุตสาหกรรมพลาสติกเครื่องปรับอากาศ สิ่งทอ ยานยนต์ ปิโตรเคมี ไฟฟ้า รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมทางการแพทย์และอีกมากมาย         เดือน กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มูลนิธิบูรณะนิเวศและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ร่วมกับ เครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ หรือ IPEN ศึกษาทดสอบการปนเปื้อนของสาร PFAS "สารเคมีตลอดกาล" ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอใน 13 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งตัวอย่างเสื้อผ้าเข้าทดสอบ จากทั้งหมด 13 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศในยุโรป 7 ประเทศ (เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ สหราชอาณาจักร เซอร์เบีย มอนเตเนโกร) 4 ประเทศในเอเชีย (บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ไทย) สหรัฐอเมริกา และเคนยา         ผลการตรวจวิเคราะห์เสื้อผ้าทั้งหมดจาก 13 ประเทศรวม 72 ตัวอย่าง (แจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง และเสื้อผ้าประเภทอื่นอีก 16 ตัวอย่าง) พบว่ามี 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 65.3) ที่มีสาร PFAS หรือมีระดับ EOF ที่บ่งชี้ว่ามีสารดังกล่าว และจากแจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง มีถึง 35 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62.5) ที่มีสารเคมี PFAS หรือมีระดับ EOF ที่บ่งชี้ว่ามีสารดังกล่าว ทั้งนี้พบเสื้อกลุ่มแจ็กเก็ต 16 ตัวอย่าง มีปริมาณสารเคมี PFAS เกินระดับที่สหภาพยุโรปกำหนด         ในกรณีของประเทศไทยพบการปนเปื้อนในทุกตัวอย่างที่ส่งไป 6 ตัวอย่าง หากเปรียบเทียบกันระหว่างตัวอย่างที่มีสาร PFAS สูงที่สุดของแต่ละประเทศในเอเชียด้วยกัน จะพบว่า ตัวอย่างที่ ที่ซื้อจากอินเดียมีปริมาณ PFAS สูงสุด (702.2 นาโนกรัม/กรัม) ตามด้วยตัวอย่างจากไทย (379.9 นาโนกรัม/กรัม) ในขณะที่ตัวอย่างจากบังคลาเทศและศรีลังกามีสาร PFAS ในปริมาณ 6.8 และ 2.7 นาโนกรัม/กรัม ตามลำดับ         การศึกษาวิจัยครั้งนี้ IPEN และเครือข่ายองค์กรสมาชิก จึงได้เสนอต่อรัฐบาลทุกประเทศ เร่งดำเนินการดังนี้         1.ออกประกาศห้ามใช้สารเคมี PFAS ในเสื้อผ้าและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ         2. สนับสนุนการพัฒนาข้อกำหนดในการควบคุมสารเหล่านี้ทั้งหมดในระดับสากล (รวมถึงฟลูออริเนตโพลีเมอร์แบบสายโซ่ด้านข้างและฟลูออโรโพลิเมอร์) และปฏิบัติตามอย่างกลไก         3. บังคับให้มีการเปิดเผยวัสดุและสารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ เช่น ออกกฎหมายที่บังคับให้ผู้ผลิตแจ้งส่วนประกอบในสินค้าต่อประชาชนทั่วไป ร้านค้าปลีก และหน่วยงานกำกับดูแล         4. วางแผนและส่งเสริมให้เกิดผลประโยชน์ทางธุรกิจ การสนับสนุนทางการเงิน และการช่วยเหลือต่างๆ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปใช้ทางเลือกที่ปลอด PFAS โดยดูแลให้การเปลี่ยนผ่านนั้นเป็นไปอย่างยุติธรรมต่อพนักงานและชุมชน         5.เพิ่มทรัพยากรและศักยภาพของศุลกากรในการตรวจวิเคราะห์สินค้านำเข้าที่มีการใช้หรือปนเปื้อนสาร  PFAS         ในมุมมองของ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองว่า เนื่องจากมีการใช้สาร PFAS ในหลากหลายอุตสาหกรรม การที่หน่วยงานรัฐแม้มีงบประมาณจำกัด แต่ได้ตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้า เช่นที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ได้ตรวจสาร PFAS ในเครื่องสำอาง การตรวจสินค้าอุปโภค บริโภคที่สาร PFAS มีความเสี่ยงจะเข้าสู่ร่างกายในลักษณะนี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง ช่วยให้ประชาชน ได้เฝ้าระวังอันตรายและสุขภาพ จึงควรการดำเนินให้เกิดความต่อเนื่องและหลากหลายสินค้า และสำหรับกลุ่มผู้ผลิต เมื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การยุติการใช้สาร PFAS อาจจะใช้เวลายาวนาน         ปัจจุบันการมีฉลากที่ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคว่าสินค้าที่ซื้อหรือใช้ มีสาร PFAS ชนิดใดและปริมาณเท่าใด พร้อมทั้งแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการใช้สินค้าดังกล่าว        จึงเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มดำเนินการได้แล้วตั้งแต่วันนี้ เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนทุกคน                                   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม ปี 2565

เชียงใหม่อันดับ 1 เสี่ยงสารเคมีการเกษตรตกค้างในร่างกาย        สสส.ระบุ เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่พบว่ามีสารเคมีตกค้างในเลือดสูงเป็นอันดับ 1         นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่าเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่พบว่ามีสารเคมีตกค้างในเลือดสูงเป็นอันดับ 1 จำเป็นต้องเร่งสร้างความรู้ด้านอาหารให้แก่เกษตรกรร่วมมือกับร้านอาหาร ตลาด โรงแรม ช่วยกันพัฒนาแหล่งอาหารที่ปลอดภัยในชุมชน เลือกซื้ออาหารที่มีโภชนาการที่เหมาะสมจากการปลูกผักที่ปลอดภัยด้วยตนเอง         จากข้อมูลของ รศ.ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุภาคเหนือ คือภาคที่มีสารเคมีตกค้างในร่างกายของประชาชนในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยมากกว่า 10 ปีแล้ว โดยปี 2565 มีสารเคมีตกค้างกว่า 70.3% ภาคใต้ 58.65%  ภาคกลางและภาคตะวันออก 41.19% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 37.14% และข้อมูลจาก ศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. อีกเช่นกันระบุว่า พืชผักที่มีสารเคมีตกค้างมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ คะน้า ผักกาดขาว มะเขือเทศ กะเพรา พริกขี้หนู และส่งผลให้สารเคมีในเลือดอาสาสมัคร 189 คน อยู่ระดับเสี่ยงถึง 56.25% ระดับไม่ปลอดภัย 28.08% แต่ระดับปลอดภัยและปกติ อยู่เพียง 9.18 และ 6.49 เท่านั้น พบเนื้อสัตว์แช่ฟอร์มาลิน ส่งขายร้านหมูกระทะ         นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 จากด่านกักกันสัตว์ชลบุรีว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบสถานประกอบกิจการผลิตภัณฑ์แปรรูปวัตถุดิบเนื้อและเครื่องในสัตว์ จ.ชลบุรี เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า มีการลักลอบผลิตเนื้อสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากการเข้าตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ พบว่าไม่มีการขออนุญาตผลิตอาหารและใบอนุญาตอื่นๆ ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาด พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 นอกจากนี้  วัตถุดิบชิ้นส่วนเครื่องในโค เครื่องในสุกร มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ซึ่งประกอบไปด้วย ฟอร์มาลิน โซดาไฟ ไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์ ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ยึดของกลางดังกล่าวไว้ เช่น ชิ้นส่วนเนื้อและเครื่องในสุกรและโค จำนวน 25,000 กิโลกรัม พร้อมด้วยแกลลอนบรรจุสารเคมีฟอร์มาลิน 50 แกลลอน และใบเสร็จที่มีการขายให้กับร้านหมูกระทะและร้านอาหารอีสานกว่า 66 ราย    6 แอปพลิเคชันเรียกรถถูกกฎหมาย         นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ทางรัฐบาลได้ส่งเสริมการผลักดันให้บริการทางเลือกรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยกระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวงรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2564 ให้ภาครัฐสามารถควบคุมและกำกับการดูแลการให้บริการที่ปลอดภัย รวมทั้งเกิดการแข่งขันในการพัฒนาใต้กติกาเดียวกัน          ทั้งนี้ บริการทางเลือกรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันคือการให้บริการผ่านแอปฯ ที่กระทรวงคมนาคมให้การรับรอง มีความปลอดภัย ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ แสดงค่าโดยสารล่างหน้าชัดเจน ตรวจสอบได้ มีประกันครอบคลุมตามกฎหมายคุ้มครองประสบภัยกำหนด ซึ่งปัจจุบันได้ให้การรับรองแอปพลิเคชันแล้ว จำนวน 6 ราย ได้แก่ แกร็บ,โรบินฮู้ด,ฮัลโหลภูเก็ต เซอร์วิส,บอนกุ,เอเชีย แค็บ,และ “Airasia Super App” นอกจากนี้ ผู้ขับรถต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ สามารถอบรมทางออนไลน์ได้ที่ www.dlt-elearning.com ชาวไอทีแนะอย่าโหลดแอปพลิเคชันแปลกนอก Store ดีสุด         จากโพสต์ของผู้ใช้ทวิตเตอร์  Chanon Ngernthongdee  ซึ่งทดลองเป็นเหยื่อของแกงค์คอลเซนเตอร์เพื่อทดสอบว่าอะไรคือสิ่งที่แกงค์ดังกล่าวใช้เล่นงานผู้บริโภค โดยเขาออกมาเตือนว่า วิธีป้องกันอย่างง่ายที่สุดคือ ไม่โหลด app นอก Store หรือ Block installation of unmanaged mobile apps          ทั้งนี้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ท่านนี้บอกว่า ตนเองพยายามตกเป็นเหยื่อ call center อยู่นานมากเพื่อจะได้รู้ว่าเขาหลอกยังไง ให้ลง app (แอปพลิเคชัน) อะไร สุดท้ายในที่สุดก็ได้ app นั้นมา ทำให้ตนเข้าใจแล้วว่าทำไม app นั้นถึงสามารถไปดึงข้อมูลและสั่งให้ app ธนาคารทำธุรกรรมทางการเงินของเหยื่อได้ คนเขียน app นั้นใช้ AccessibilityService เพื่อควบคุมนั่นเอง มพบ.จัดอบรมให้เยาวชนเท่าทันทางการเงินจากโลกออนไลน์                   วันที่ 1-2 ธันวาคม 2565 ณ โรงเรียนวัดสุทธาโภชน์ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมหลักสูตร “เยาวชนเท่าทันการเงิน” เพื่อเสริมทักษะให้การเยาวชนไทยเรื่องการเงิน โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลที่ทางมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียน เช่น บัตรเครดิต การชำระหนี้ การจัดการหนี้ การทวงหนี้ไม่เป็นธรรม มากเป็นลำดับต้นๆ ส่วนใหญ่สาเหตุหลักคือ ประชาชนไทยยังขาดทักษะ ความเข้าใจการใช้บัตรเครดิต การวางแผนทางการเงิน การเท่าทันภัยการเงินทางออนไลน์         ทั้งนี้ นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ กล่าวว่า โครงการเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน เริ่มดำเนินการอบรมมาตั้งแต่ ปี2563  เข้าร่วมกว่า 30 โรงเรียน ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคอีสาน มูลนิธิฯ ยังคงดำเนินการด้วยความเชื่อมั่นว่า ถ้าเด็กและเยาวชนไทยมีความรู้เท่าทันทางการเงิน วางแผนการจัดการรายได้และรายจ่าย ย่อมเป็นทักษะสำคัญที่สร้างชีวิตที่มีคุณภาพได้

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทดสอบสารเคมีก่อมะเร็งกางเกงชั้นในชาย (สีดำ

        ปัจจุบันมีการใช้สารเคมีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในหลายผลิตภัณฑ์รอบตัวเรา ภัยเงียบใกล้ตัวที่สุดที่มักประมาทคือเสื้อผ้าที่เราสวมใส่อยู่ทุกวัน และยิ่งอ่อนไหวขึ้นไปอีกเมื่อเป็นชุดชั้นใน          นิตยสารฉลาดซื้อเคยเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชาย (สีดำ) มาตรวจหาสารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง, ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับ/ย่น) และค่าความเป็นกรด-ด่างไปแล้วในฉลาดซื้อฉบับที่ 149 ปี 2556  พบสารฟอร์มัลดีไฮด์ซึ่งเป็นสารเคมีก่อมะเร็งในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน จำนวน  2 ตัวอย่าง จากตัวอย่างที่เก็บตรวจทั้งหมด  11 ตัวอย่าง           ในปี 2022 เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพจากเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย อย่างต่อเนื่อง นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชายชนิดสีดำ จำนวน  11 ตัวอย่างทั้งที่ผลิตในประเทศไทยและนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อตรวจหา สารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง (สีเอโซที่ให้อะโรแมติกแอมีน) , ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับ/ย่น) และ ค่าความเป็นกรด-ด่าง อีกครั้งพบผลการทดสอบดังนี้          ·     มี 3  ตัวอย่างที่ตรวจพบ สารเคมีในสีย้อม โรแมติกแอมีน คือ  กางเกงใน GIORDANO,  กางเกงใน Me-Style และกางเกงใน DOUBLE GOOSE (ห่านคู่)  โดยสารที่ตรวจพบคือ 4,4'-Diaminodiphenylmethane (1 ใน 24 ตัวตาม มอก. 2346-2550) ปริมาณที่พบเกินมาตรฐาน คือ  ยี่ห้อ GIORDANO พบปริมาณ 61.40 มก./กก. ยี่ห้อ Me-Style พบ 59.89 มก./กก.  สำหรับ DOUBLE GOOSE (ห่านคู่) พบ 14.55 มก./กก. ไม่เกินค่ามาตรฐาน        ·     ตัวอย่างที่พบค่าความเป็นกรด – ด่างในสิ่งทอสูงคือ  Me-Style มีค่ากรด - ด่าง 7.26  แต่ไม่เกินมาตรฐาน (มาตรฐานคือช่วงระหว่าง 4-7.5)           ·     ทั้ง 11 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์         แม้ทั้ง การทดสอบของฉลาดซื้อจำนวน 11 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์  แต่สารเคมีอันตรายในกลุ่มเสื้อผ้าสิ่งทอ ยังน่าเป็นห่วง ล่าสุด (29 พ.ย.) กรีนพีซ เยอรมนี แถลงว่าจากการตรวจ สินค้า SHEIN ในหลายแห่งทั่วโลก ทั้งหมด 42 ชิ้น ประกอบไปด้วยเครื่องแต่งกาย รองเท้า ทั้งสำหรับผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก และผลิตภัณฑ์สำหรับทารก พบการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ 7 ชิ้น (คิดเป็น 15%) โดยการพบการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์นี้ผิดเงื่อนไขการจำกัดปริมาณสารเคมีของสหภาพยุโรป นอกจากนี้มีผลิตภัณฑ์ 5 ชิ้นจากทั้งหมดผิดเงื่อนไข โดยปนเปื้อนเกิน 100% หรือมากกว่านั้น และยังมีผลิตภัณฑ์ 15 ชิ้นจากทั้งหมดปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในระดับที่น่าเป็นห่วง (คิดเป็น 32%)…………………………………………………………………………………………………..อันตรายและค่ามาตรฐานของสารที่ดำเนินการตรวจ (  ที่มา อ้างอิงตาม มอก.2346-2550        ·     ฟอร์มาลดีไฮด์ หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฟอร์มาลีน”  คือสารเคมีทำให้ผ้าฝ้ายเรียบ รีดง่าย ยับยาก ยังผสมในสีทาบ้าน พลาสติก รวมถึงการดองศพ ฟอร์มาลดีไฮด์ที่สะสมอยู่ในผ้าจะระเหยออกมาในอากาศส่งผลต่อระบบประสาท ระคายผิวหนัง ทางเดินหายใจ และเป็นต้นเหตุของมะเร็งได้> ปริมาณต้องน้อยกว่า 75 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (เสื้อผ้าสำเร็จรูปชนิดที่ 2)         ·     ค่าความเป็นกรด – ด่างในสิ่งทอ หรือ pH ของผลิตภัณฑ์สิ่งทอเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญ สำหรับผิวหนังมนุษย์ที่มีความเป็นกรดอ่อนๆ เพื่อช่วยป้องกันเชื้อโรค แต่หากค่าความเป็นกรด-ด่าง จากเสื้อผ้าทำให้สมดุลผิวเสียไป ผิวหนังอาจระคายเคืองและเสียความสามารถในการปกป้องผิว ดังนั้นค่าความเป็น กรด-ด่าง ควรต้องอยู่ระหว่าง 4.0 ถึง 7.5 ตามมาตรฐานจึงจะมีความปลอดภัย             ·     สารเคมีในสีย้อม โรแมติกแอมีน 24 ชนิด เป็นกลุ่มสารอันตรายเมื่อสัมผัสผิวหนัง ทำให้ผิวเกิดอาการแพ้จนกระทั่งเกิดมะเร็งได้  บางชนิดทำให้เกิดความผิดปกติต่อพันธุกรรม และเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ>  ต้องมีไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม…………………………………………………………………………………………………..อ่านผลทดสอบกางเกงชั้นในชายสีดำ  ฉบับเต็มได้ที่  https://www.chaladsue.com/article/4145 #สิทธิผู้บริโภค#สารเคมีในชุดชั้นใน#FastFashion#WhoMadeMyClothes 

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 250 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2564

สคบ.ชี้ “กล่องสุ่ม” ผิดกฎหมาย        จากกรณีกระแสนิยมซื้อขายสินค้ากล่องสุ่มในโลกออนไลน์ที่ผ่านมา นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา          รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยว่า ทางคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา สคบ. ได้เตรียมพิจารณาการออกกฎกระทรวง มาควบคุมการโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทางออนไลน์ และมีการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงมารีวิว โฆษณาชักชวนให้ผู้บริโภคมีความสนใจ จนหลงเชื่อและซื้อสินค้า ซึ่งการออกกฎหมายฉบับนี้ จะมีกำหนดทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค         สคบ.มองว่าการโฆษณาหรือจำหน่ายกล่องสุ่มมี 2 ประเด็นหลักที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิ คือ 1) อาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการพนัน หากไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง 2)  เกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งการระบุข้อมูลในกล่องว่ามีเพียงประเภทสินค้าเครื่องสำอางหรือของใช้ แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดอื่นๆ ของสินค้า เช่น ฉลากและราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค ว่าต้องได้รับข้อมูลข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าได้อย่างชัดเจนว่ามีความจำเป็นก่อนตัดสินใจซื้อ แบงก์ชาติแจงไม่สนับสนุนชำระสินค้าด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล         จากกรณีที่มีธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง ประกาศรับชำระสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ “ไม่สนับสนุนการรับชำระเงินด้วยวิธีดังกล่าว” นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า  การดำเนินการดังกล่าวไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ทางแบงก์ชาติไม่สนับสนุน เพราะได้ประเมินแนวโน้มการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลว่ามีผู้ต้องการใช้บริการขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการใช้เครื่องมือทางการเงินดูแลเศรษฐกิจ และกระทบต่อเสถียรภาพการเงินในอนาคต ทั้งนี้ ทางแบงก์ชาติยังอยู่ในระหว่างดำเนินการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่างแผนทางการเงินใหม่ให้มีแนวทางออกแบบนโยบาย มาตรการกำกับดูแลให้ครอบคลุมประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล ให้สามารถชำระสินค้าและบริการได้ ขณะเดียวกันก็สร้างความสมดุลระหว่างการสนับสนุนเทคโนโลยีทางการเงินและการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน สาธารณสุขเผยคนไทยสูบบุหรี่ลดลงต่อเนื่อง                 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวว่า จากผลสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากรในปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 57 ล้านคน มีผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน โดยคิดเป็นร้อยละ 17.4  ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่องหากเปรียบเทียบจากปี 2560 ที่มีร้อยละถึง 19.1 โดยที่ผ่านมา 4 ปี ทางคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ได้กำหนดนโยบายและมาตรการสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบในทุกมิติ ทั้งนี้ จากการประชุมยังมีความห่วงกังวลกับสถานการณ์เกี่ยวกับกลยุทธ์ทางการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า ที่สร้างความเชื่อผิดๆ ให้กับกลุ่มเยาวชน และรวมถึงกลุ่มต้องการเลิกสูบบุหรี่และหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน จึงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับมาตรการเฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ยกฟ้อง “วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” ผอ.มูลนิธิไบโอไทยกรณีเคลื่อนไหวแบน 3 เคมีอันตราย         15 ธันวาคม 2564 ศาลนัดฟังคำสั่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ในคดีระหว่าง นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยากรวัชพืชแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโจทย์ ในฐานความผิดหมิ่นประมาท นำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากที่เพจ BIOTHAI ได้เผยแพร่ข้อความโต้แย้งกลุ่มคัดค้านการแบนสารพิษ ซึ่งมีประเด็นของสารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ สารพาราควอต สารคลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต และการกล่าวถึงกลุ่มที่ค้านการแบนสารพิษว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทสารเคมี         ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นายรัษฎา มนูรัษฏา ทนายความนายวิฑูรย์ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า ศาลพิจารณายกฟ้องในชั้นไต่สวน โดยศาลให้เหตุผลว่า เรื่องที่นายวิฑูรย์ให้สัมภาษณ์หรือโพสต์ข้อความเป็นเพียงประเด็นเชิงวิชาการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ส่วนประเด็น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ศาลมองว่าไม่ได้เป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ จึงพิพากษายกฟ้อง มพบ. เสนอให้กระทรวงคมนาคมทบทวนการขึ้นค่าทางด่วน        จากกรณีประกาศปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564  ปรับค่าผ่านทางจากอัตรา 50/80/115 บาท เป็น 65/105/150 บาท สำหรับรถประเภท 4 ล้อ , 6-10 ล้อ , รถมากกว่า 10 ล้อ นั้น        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สะท้อนความไม่เป็นธรรมและการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคว่า “กระทรวงคมนาคมควรต้องออกมาชี้แจงว่าทำไมต้องขายคูปองเพื่อให้ได้ราคา 50 บาทเท่าเดิม ในเมื่อยังมีผู้บริโภคที่ไม่สะดวกซื้อคูปอง แต่ต้องจ่ายราคา 65 บาท ซึ่งในอัตราที่ปรับขึ้นนี้สร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้บริโภค”           นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องความไม่สะดวกในการจ่ายด้วยคูปองและซื้อคูปองตามจุดที่เปิดขาย เพราะบางคนสะดวกเติมเงินผ่านระบบ easy pass มากกว่า ทว่าหากต้องการราคาเดิมต้องซื้อคูปองแทนการใช้ easy pass การซื้อคูปองตรงจุดที่เปิดขายจึงเป็นการสร้างภาระเพิ่ม อีกทั้งการซื้อคูปองจะต้องซื้อเป็นเล่ม (เล่มละ 20 ใบ) ในราคา 1,000 บาท เหมือนเป็นการบังคับซื้อ บังคับให้ต้องจ่ายค่าทางด่วนล่วงหน้า ทั้งที่ผู้บริโภคไม่ได้จำเป็นต้องใช้ทางด่วนนั้นเป็นประจำ บางทีในระยะเวลา 1 ปี อาจจะใช้ไม่หมดก็ได้ นอกจากนี้การเก็บเงินประชาชนล่วงหน้า 1,000 บาท ไม่ว่าจะใช้ทางด่วนหรือไม่ น่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ        ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงมีข้อเสนอให้กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาทบทวนเรื่อง การซื้อคูปองลดราคาค่าผ่านทางพิเศษ และเสนอให้กระทรวงคมนาคมไม่ปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษในเวลา 1 ปี เพื่อช่วยเหลือประชาชนลดภาระค่าใช้จ่าย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 243 กระแสต่างแดน

วิกผมขาดแคลน        ร้อยละ 70 ของสินค้าประเภทวิกผม/ผมปลอม ที่จำหน่ายในโลกนั้นมาจากจีน โดยแรงงานหลักๆ ที่ใช้คือแรงงานในเกาหลีเหนือที่ฝีมือดีเลิศแถมค่าจ้างยังถูกกว่าในจีนกว่าครึ่งกระบวนการนี้เริ่มจากการนำเข้าวัตถุดิบหลักซึ่งได้แก่ผมมนุษย์ จากอินเดียและเมียนมาร์ไปยังเมืองจีน จากนั้นส่งออกผมและตาข่ายสำหรับถักไปยังเกาหลีเหนือ แล้วผมปลอมที่ถักด้วยมือเสร็จแล้วจะถูกส่งกลับมาที่เมืองจีนอีกครั้งเพื่อทำความสะอาด บรรจุ และส่งไปขายในอเมริกาและกลุ่มประเทศอัฟริกันแต่การมาถึงของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างชะงักลง ก่อนหน้านั้นจีนส่ง “ผมดิบ” ไปเกาหลีเหนือเดือนละหลายตัน โดยมูลค่าของผมดิบที่จีนส่งไปในเดือนมกราคม ปี 2020 เท่ากับ 14,000,000 หยวน เดือนต่อมา มูลค่าดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 452,000 หยวนหลังจากนั้นจีนปิดชายแดน จึงไม่มีการส่งเข้าไปอีกเลย วิกผมที่ผลิตหลังจากนั้นคือวิกที่ผลิตในจีน ซึ่งช่างผมรับรองว่าคุณภาพสู้แบบที่ทำในเกาหลีเหนือไม่ได้ แถมราคายังแพงขึ้นจนน่าตกใจด้วย อย่าเพิ่งรีบชม        อุตสาหกรรมเพชรออกมาตอบโต้แถลงการณ์ของ Pandora บริษัทเครื่องประดับรายใหญ่ของโลกสัญชาติเดนมาร์กที่ประกาศนโยบายใช้ “เพชรจากแล็บ” แทนเพชรที่ขุดจากเหมือง และจะผลิตโดยใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลักตัวแทนจากกลุ่มผู้ผลิตเครื่องประดับเพชรบอกว่า การกระทำดังกล่าวสร้างความเข้าใจผิดให้คนคิดว่าอุตสาหกรรมนี้คือผู้ร้าย และขอร้องให้ Pandora ถอนคำโฆษณาที่ชักชวนให้ผู้บริโภคสนับสนุน “ทางเลือกที่มีจริยธรรม”ปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้จ้างานคนหลายสิบล้านคนทั่วโลก และหลายชุมชนในประเทศกำลังพัฒนาก็อยู่ได้เพราะรายได้จากการทำงานในเหมืองเพชร ที่สำคัญคือผู้ซื้อสามารถสืบกลับที่มาของเพชรได้ผู้บริหารบริษัท 77 DIAMONDS ร้านค้าเพชรออนไลน์เจ้าใหญ่ที่สุดในยุโรป บอกว่าการทำเหมืองเพชรแบบเอาเปรียบชาวบ้านเหมือนในหนัง Blood Diamond มันหมดไปนานแล้ว ทุกวันนี้แร่โลหะหายากที่ใช้กันอยู่ในโทรศัพท์มือถือ ยังมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนยิ่งกว่าเพชรอีก เป้าหมายรีไซเคิล        สมาคมเครื่องดื่มในญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายว่าจะรีไซเคิลขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มให้ได้ถึงร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2030 จากปัจจุบันที่ทำได้ร้อยละ 12.5   เขาวางแผนจะปรับปรุงปากถังขยะรีไซเคิลให้รับได้เฉพาะขวดพลาสติกเท่านั้น ปัญหาขณะนี้คือมีคนทิ้งขยะอื่นลงในถังที่มักตั้งอยู่ใกล้ๆ กับตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ทำให้ขวดข้างในสกปรกเกินกว่าจะนำไปรีไซเคิล เครื่องล้างก็ยังไม่สามารถล้างขวดทีละใบได้ จากข้อมูลของเทศบาลไซตามะ ร้อยละ 16 ของขยะใน “ถังสำหรับขวดพลาสติก” ไม่ใช่ขวดพลาสติกปัจจุบันร้อยละ 76 ของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำเร็จรูปในญี่ปุ่น เป็นเครื่องดื่มที่บรรจุในภาชนะพลาสติก  เรื่องนี้จึงเรื่องใหญ่และเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิด “ความยั่งยืน”  อย่างไรก็ตามผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมีการตื่นตัวมากในเรื่องนี้ สถิติในปี 2019 ระบุว่าร้อยละ 93 ของขวดพลาสติกที่ขายออกไป ถูกนำกลับมาใช้ใหม่กล่องอาหารต้องปลอดภัย        Arnika องค์กรพัฒนาเอกชนจากสาธารณรัฐเชค ร่วมกับอีก 6 องค์กรในยุโรป ได้ร่วมกันเก็บตัวอย่างภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อมาวิเคราะห์ทดสอบหาสาร PFAS ซึ่งมักถูกใช้เป็นสารเคลือบในภาชนะดังกล่าวเขาพบว่า 38 ตัวอย่างจาก 99 ตัวอย่าง (ร้อยละ 38) ที่เก็บจากภาชนะบรรจุอาหารที่ซื้อกลับบ้าน อาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านออนไลน์ มีการเคลือบด้วย PFAS เพื่อป้องกันการซึมเปื้อนของน้ำมันสารเคมีที่ว่านี้เป็นที่รู้กันว่าสลายตัวยาก สามารถปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศ และสะสมในห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยยืนยันว่ามันสามารถก่อมะเร็ง ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ และฮอร์โมนด้วยกลุ่มองค์กรดังกล่าวจึงเรียกร้องให้สหภาพยุโรปออกกฎหมายห้ามใช้สารดังกล่าวในภาชนะใส่อาหารโดยเร็ว ขณะนี้มีเพียงเดนมาร์กเท่านั้นที่ห้ามใช้สารนี้ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2563 แหล่งน้ำของใคร        หุบเขาในภาคกลางของฝรั่งเศส เป็นแหล่งน้ำแร่ที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่ชาวบ้านแถบนั้น รวมถึงนักปฐพีวิทยาหวั่นว่าจะการสูบน้ำแร่ขึ้นมามากเกินไปจะทำให้ทั้งภูมิภาคต้องเจอกับปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ชาวบ้านวัย 69 คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ใกล้กับบริษัทน้ำแร่ Volvic ที่มีบริษัท Danone เป็นเจ้าของ บอกว่าลำธารแถวบ้านเคยมีระดับน้ำสูงถึงเข่า แต่ทุกวันนี้ใกล้แห้งเหือดเต็มทน ในขณะที่เจ้าของบ่อเลี้ยงปลาแห่งหนึ่งในบริเวณดังกล่าวที่ต้องปิดกิจการเพราะน้ำไม่พอ ก็ยื่นฟ้องบริษัทแล้วด้วยตั้งแต่ปี 2014 รัฐบาลฝรั่งเศสอนุญาตให้ Danone ใช้น้ำได้ถึง 2.8 ล้านลิตรต่อปี หรือถ้าคิดเป็นขวดขนาดหนึ่งลิตร ก็เท่ากับ 2,800 ล้านขวด และขณะนี้บริษัทสามารถสูบน้ำขึ้นมาได้ถึง 89 ลิตรต่อวินาที แถมยังสูบได้ทั้งปี ไม่เว้นช่วงหน้าร้อนที่ความต้องการใช้น้ำของชาวบ้านก็เพิ่มขึ้นเช่นกันการขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ บริเวณดังกล่าวไม่มีต้นไม้ขึ้นมานานแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความชื้นที่ลดลงนี้กำลังจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดทะเลทราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 รณรงค์ หยุดวงจร “ส้มอมพิษ” ตั้งแต่ต้นทาง

        เมื่อ 2 ธันวาคม 2563  ภาคี เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) ชี้คนไทยบริโภคส้มอมพิษตลอดปี สารเคมีอันตรายตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  รณรงค์ภาคประชาชนร่วมเรียกร้องหยุดส้มอมพิษตั้งแต่ต้นทาง จัดกิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ (Orange Spike)” กระตุ้นผู้บริโภคแสดงสิทธิให้ซูเปอร์มาร์เก็ตใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ติด QR Code  ส้มทุกประเภท         มร.จูเซปเป บูซินี (Mr.Giuseppe BUSINI) อัครราชทูตที่ปรึกษา-รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า การส่งเสริมความยั่งยืนด้านการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นหัวข้อสำคัญในนโยบายด้านอาหารของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ กลยุทธ์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork Strategy) ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของนโยบายจัดการภาวะโลกร้อนของสหภาพยุโรป หรือ European Green Deal ที่ได้นำมาใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีเป้าหมายในการส่งเสริมระบบการจัดการอาหารที่เป็นธรรม ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเราเชื่อว่า การลดความเสี่ยงและการลดปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันพืชเคมี ตลอดจนถึงปุ๋ยและยาปฏิชีวนะ และการเพิ่มพื้นที่การทำเกษตรออแกนิคนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง        นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนจากเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า ส้มเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงและมีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ อยู่คู่กับชีวิตคนไทยในทุกรูปแบบ แต่จากการตรวจสอบของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) พบว่า ส้ม 1 ผล มีสารเคมีตกค้างมากถึง 55 ชนิด โดยเฉลี่ยถึง *0.364 มิลลิกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) โดยสารเคมีตกค้างเป็นชนิดดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ถึง 28 ชนิด อาทิ คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ส่งผลให้พิการแต่กำเนิดและภาวะเจริญพันธุ์เสื่อม, สารคาร์โบฟูราน (Carbofuran) เป็นพิษต่อเซลล์สมองและฮอร์โมนเพศ, สารอะเซตามิพริด (Acetamiprid) มีผลกระทบต่อสมองและระบบประสาท เป็นต้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงเรื่องสารพิษตกค้างมากมาย แต่จากการสุ่มตรวจส้มจากซูเปอร์มาร์เก็ต พบว่า 100% ของส้มที่นำมาตรวจมีการตกค้างของสารเคมีที่เกินกว่าปริมาณสูงสุดที่กฎหมายกำหนด แม้แต่ในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำที่อ้างว่ามีระบบตรวจสอบแล้วก็ตาม ทั้งที่เป็นสถานที่ค้าปลีกที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไว้วางใจในเรื่องของความสะอาดและปลอดภัย         นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ธรรมชาติของส้มจะให้ผลผลิตเพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม ซึ่งถือเป็นช่วงที่ปลอดภัยที่สุดเพราะเป็นส้มในฤดูกาล แต่ด้วยอุปสงค์ของตลาดที่มีความต้องการส้มตลอดทั้งปี ทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีมากกว่าปกติเพื่อให้สามารถผลิตส้มได้ตามความต้องการของตลาด ตั้งแต่ระยะติดดอก ระยะติดผลตุ่มเท่าหัวไม้ขีด ช่วงลูกปิงปอง ช่วงเลี้ยงผิวสวยไปถึงช่วงเก็บผลผลิต โดยสารเคมีที่ใช้ตลอดช่วงอายุมักเป็นชนิดดูดซึม (Systemic) ซึ่งจะกระจายในลำต้นไปจนถึงเนื้อในของผลส้ม         อีกหนึ่งกลไกของตลาดที่ทำให้ส้มกลายเป็นผลไม้อันตรายคือค่านิยมในการเลือกซื้อส้มที่มีผลใหญ่ ผิวสวย เรียบเนียน สีทองแวววาว ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตจึงต้องคัดเกรดส้มสวยเข้ามาจำหน่าย เพื่อให้ส้มมีผิวสวยตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ผู้ผลิตต้องฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืช ถึง 52 ครั้งต่อปี หรือทุกสัปดาห์ ดังนั้นหนึ่งในวิธีที่จะหยุดวงจรส้มอมพิษได้ คือฝั่งผู้บริโภคเองก็ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติในการเลือกบริโภค และทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการเพาะปลูกมากขึ้น อาทิ เลือกรับประทานส้มที่มีผิวลายเพราะเป็นส้มที่ได้รับสารเคมีในปริมาณที่น้อย รวมถึงการทานผลไม้ให้หลากหลายตามฤดูกาล เพื่อลดการใช้สารเคมี         นอกจากนี้ ผู้บริโภคเองก็ควรมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับส้มที่ซื้อผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างถูกต้อง เพียงพอ มีกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ ที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของส้ม กระบวนการผลิตส้มตลอดปีทั้งในและนอกฤดู รวมถึงกระบวนการตรวจสารเคมีตกค้างของซูเปอร์มาร์เก็ต  เพื่อแสดงถึงความจริงใจและห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้บริโภค ซึ่งจากการสำรวจในปัจจุบันพบว่าระบบการตรวจสอบของซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ        ด้านนางสาวฐานิตา วงศ์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่รณรงค์ องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) กล่าวว่า กิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ” หรือ Orange Spike เป็นกิจกรรมภายใต้แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก (Dear Consumers)” โดยมีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักว่าส้มมีกระบวนการผลิตที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการตกค้างของสารเคมีซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว และร่วมเรียกร้องให้หยุดส้มพิษตั้งแต่ต้นทาง โดยเน้นการใช้กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพของซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเปรียบเสมือนตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้บริโภคและผู้ผลิต และใช้กลไกข้างต้นกระตุ้นให้ผู้ผลิตที่ปลูกส้มและผลิตอาหารอื่น ๆ มีกระบวนการในการผลิตอาหารที่ปลอดภัยขึ้น         กิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ” ดำเนินการโดยภาคี ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสหภาพยุโรป ภายใต้ SWITCH Asia II Programme และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (Sida) ร่วมแสดงสิทธิของผู้บริโภคเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ อาทิ แม็คโคร, บิ๊กซี, เทสโก้ โลตัส และ ท็อปส์ ให้หยุดขายส้มอมพิษ ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงนามผ่านทาง  www.dearconsumers.com/th/petition เพื่อเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตมีการตรวจสอบแหล่งที่มาของส้มที่นำมาจำหน่ายผ่าน QR Code และเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสวนส้ม วิธีปลูกส้ม รายการสารเคมีที่ใช้ และกระบวนการคัดกรองของซูเปอร์มาร์เก็ตต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังคาดหวังให้ภาครัฐมีมาตรการควบคุมปริมาณสารเคมีในผลิตภัณฑ์ส้มทุกประเภท         ร่วมกันลงนามหยุดส้มอมพิษในแคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก (Dear Consumers)” ได้ที่  www.dearconsumers.com/th/petition ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทาง facebook.com/DearConsumers (เพจ ผู้บริโภคที่รัก)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2563

แนะวิธีเลือกซื้อเนื้อวัว        จากการที่มีผู้ประกอบการบางรายนำเนื้อหมูหมักเลือดวัวมาปลอมเป็นเนื้อวัวเพื่อที่จะจำหน่ายให้ได้ราคาสูงขึ้น ทำให้ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคนั้น           กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีเลือกซื้อเนื้อวัว คือต้องพิจารณาว่า ต้องสีแดงสด เนื้อแน่น ลายเส้นไม่หยาบ โดยให้ใช้นิ้วกดดู เนื้อจะยืดหยุ่น ไม่มีรอยบุ๋ม รวมทั้งต้องไม่มีเม็ดสีขาวใสคล้ายเม็ดสาคู เพราะเป็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด สำหรับเนื้อสัน ควรจะมีสีแดงสดและมีมัน ปรากฏอยู่เป็นจุดเล็ก ๆ ลักษณะของไขมันแตกง่าย ไม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ไม่มีเมือก เมื่อวางไว้จะมีน้ำสีแดงออกมา นอกจากนี้ ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐานตลาดสดน่าซื้อหรือสังเกตจากตราประทับบนหนังสัตว์ที่ชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือร้านที่มีใบรับรองของฮาลาล         ทั้งนี้ผู้ปลอมแปลงอาหารผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 หมวด 4 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ รู้ยัง ธปท. ห้ามมือถือรุ่นเก่า-เวอร์ชั่นต่ำใช้โมบายแบงกิ้ง         ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกกฎการรักษาความปลอดภัยในการใช้บริการโมบายแบงกิ้ง ห้ามโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่า เวอร์ชั่นต่ำ-เจลเบรก มีผลบังคับเริ่ม 31 ธ.ค. 63 นี้          เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจบริการชำระเงินมีการให้บริการผ่านช่องทางอุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นช่องทางหลักและใช้บริการผ่านช่องทางดังกล่าวมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ มีหลากหลายซับซ้อนขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการและผู้ใช้บริการได้ ดังนั้นเพื่อยกระดับความมั่นคงปลอดภัยในการให้บริการผ่านช่องทางอุปกรณ์เคลื่อนที่ ธปท.จึงออกนโยบายเพิ่มเติม โดยมีมาตรฐานควบคุมรักษาความมั่นคงปลอดภัย 2 ระดับด้วยกัน คือมาตรฐานขั้นต่ำ เช่น ไม่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ที่เปิดสิทธิให้เข้าถึงระบบปฏิบัติการ (rooted/jailbroken) เข้าใช้งานแอพพลิเคชั่น ,ไม่อนุญาตให้อุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้ระบบปฏิบัติการล้าสมัย ,ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้บริการใช้แอพพลิเคชั่นเวอร์ชั่นต่ำกว่าผู้ให้บริการกำหนด  ส่วนมาตรการเพิ่มเติม เช่น ให้มีการกำหนด ตั้งค่า PIN หรือรหัสผ่านที่ซับซ้อน ในการเข้าใช้งานบนแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ยากต่อการคาดเดาฯลฯ  สมอ.เอาจริง 10 เดือนลุยจับสินค้าไม่ได้ มอก. พร้อมทำลายทิ้ง         นายจุลพงษ์ ทวีศรี ประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยว่า  กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  ดำเนินการตรวจควบคุม และกำกับติดตามสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาดอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที         โดยระยะเวลา 10 เดือน (1 ตุลาคม 2562 – 31 กรกฎาคม 2563) ที่ผ่านมา สมอ. จับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ทั้งที่จำหน่ายในท้องตลาดและทางออนไลน์อายัดแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งยังจับมือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) และ SCG เตรียมทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐานอีกกว่า 3 แสนชิ้น มูลค่ากว่า 33 ล้านบาท ทั้งนี้ สมอ. ยังเพิ่มมาตรการกำกับดูแลให้ตลาดออนไลน์ชื่อดังอย่าง "LAZADA" และ "SHOPEE" ต้องไม่ปล่อยให้ผู้เช่าพื้นที่ขายสินค้าไม่มีมาตรฐาน โดยสั่งลงโทษอย่างจริงจังหลังตรวจสอบพบมีการจำหน่ายสินค้าที่ สมอ. ควบคุม ทั้งหม้อทอดไร้น้ำมัน ตู้เย็น และพัดลมไอเย็น บนแอปพลิเคชั่น          ยืนยันงานวิจัยผลกระทบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อเด็กทารกเป็นข้อเท็จจริง          จากกรณีที่สมาคมวิทยาการวัชพืช เผยแพร่ข้อความโฆษณาว่า งานวิจัยภายใต้การนำของ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มมารดาและขี้เทาทารกแรกเกิด เป็นงานวิจัยที่ ‘ใช้ข้อมูลเท็จ’ โดยหวังผลเพื่อให้มีการทบทวนการแบนสารเคมี ‘พาราควอต’ ซึ่งปัจจุบัน 60 ประเทศทั่วโลกประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าวแล้วนั้น         กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค ร่วมมหิดลจับมือคณะแพทย์ 3 รพ. แจงรายละเอียดการร่วมวิจัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกขั้นตอน ย้ำพบพาราควอตตกค้างในซีรั่มมารดาและขี้เทาทารกจริง ทั้งนี้ ศ.ดร พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้นำทีมวิจัยเรื่อง ผลกระทบต่อพฤติกรรมประสาทของเด็กทารกจากการขาดไอโอดีนและการรับสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวว่า “ผลงานวิจัยทั้งหมดดำเนินการในปี 2553 เป็นการทำงานร่วมกับโรงพยาบาล 3 แห่ง และทีมแพทย์ทั้งหมดมีชื่อปรากฏในงานวิจัยทั้งสิ้น มีหนังสือตอบรับการเข้าร่วมงานวิจัยจากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง และได้รับใบรับรองทางจริยธรรมแล้ว ทั้งนี้ตัวอย่างในการวิเคราะห์ได้มาจากการเก็บเลือดหญิงตั้งครรภ์ที่เข้ามาฝากครรภ์ 28 สัปดาห์ กับโรงพยาบาล โดยเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ และน้ำนมของมารดา ขี้เทาและเลือดจากสายสะดือทารก”         โดย นพ.วิโรจน์ พญ.นภาพร และพญ.นันทา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเองเป็นหมอเด็ก มีความสนใจและได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับงานวิจัยนี้ ตนเองรับผิดชอบเก็บข้อมูลช่วง 72 ชม. หลังคลอด และตรวจพัฒนาการของระบบประสาทของเด็กแรกเกิด ซึ่งการประเมินดังกล่าวต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้แพทย์ที่ร่วมวิจัยทั้งหมดล้วนเป็นกุมารแพทย์ที่ผ่านการอบรม สอบปฏิบัติจากโรงพยาบาลรามาธิบดีและได้รับใบอนุญาตแล้วตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กทำการร่วมประเมิน บันทึกวีดีโอ และส่งให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินด้วย โดยแพทย์จากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งได้ยืนยันว่าได้เข้าร่วมโครงการวิจัยนี้         เช่นเดียวกับ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ กล่าวสรุปว่า กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนการทำงานวิจัย เพราะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐซึ่งต้องทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง พร้อมจะปกป้องประชาชนเช่นเดียวกัน         อนึ่งผลการวิจัยดังกล่าวมีข้อค้นพบสำคัญคือ  พบว่า 1) ระดับสารออร์แกโนฟอสเฟตของหญิงตั้งครรภ์ และแรกคลอด และลดลงเมื่อคลอดแล้ว 2 เดือน ซึ่งสัมพันธ์กับการศึกษาของต่างประเทศหลายแห่ง เมื่อเด็กอายุ 5 เดือน พบว่าหากแม่มีระดับออร์กาโนฟอสเฟตในปัสสาวะสูง จะทำให้เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญาลดลง ประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก-ใหญ่ลดลง และสัมพันธ์กับการตอบสนองของเด็กต่อสิ่งเร้าด้วย 2) หลังคลอดเมื่อตรวจในเลือดมารดาและสายสะดือพบพาราควอต 20 % และพบไกลโฟเซตสูงถึง 50 % แสดงให้เห็นว่าสารดังกล่าวส่งต่อจากแม่ไปถึงลูก 3) นอกจากนี้ยังตรวจพบพาราควอตในหญิงตั้งครรภ์ และในขี้เทาเด็กแรกเกิดรวมถึงในน้ำนมมารดาก็พบออร์แกโนฟอสเฟตหลายตัวอีกด้วย  ‘เยาวชนเท่าทันทางการเงิน’         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เปิดตัว โครงการ ‘เยาวชนเท่าทันทางการเงิน’ หวังเพิ่มความรู้และทักษะทางการเงินแก่เยาวชน เพื่อเพิ่มความรู้ทางการเงินและทักษะในการบริหารจัดการเงินให้แก่เยาวชน โดยมีการจัดทำหลักสูตรรู้เท่าทันการเงิน การจัดทำวีดีโอ ภาพยนตร์สั้น และฝึกอบรมให้กับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ใน 30 โรงเรียนทั่วประเทศ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยหลักสูตรมี 5 หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ 1) สิทธิผู้บริโภค 2) ที่มาของรายได้ 3) การวางแผนทางการเงิน 4) รู้ทันภัยการเงิน และ 5) หนี้ จากนั้นจึงนำหลักสูตรไปอบรมให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายจำนวน 30 โรงเรียน สามารพติดตามความเคลื่อนไหวได้จาก เฟซบุ๊ก https://facebook.com/finfinconsumer/ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ปากกาเคมี

    ฉลาดซื้อ ฉบับนี้ขอเอาใจสายอาร์ตกันบ้าง เรามีผลทดสอบปากกาเคมีหรือที่เรียกกันติดปากว่า ”ปากกาเมจิก” มาฝาก สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research and Testing) ได้ร่วมกันส่งปากกาเมจิกทั้งหมด 36 เซตเข้าทดสอบ แต่ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงขอนำเสนอเพียง 20 เซตเท่านั้น การทดสอบแบ่งออกเป็นสองส่วนได้แก่*         1.          การทดสอบทางเทคนิค เช่น เขียนดีสีสวยหรือไม่ หมึกหมดเร็วแค่ไหน หากเปิดฝาทิ้งไว้จะยังระบายต่อได้ไหม รวมไปถึงความทนทานของตัวปากกา (ไม่แตกง่าย) และหัวสักหลาด (ไม่ยุบเข้าไปในด้ามเมื่อทำตกในแนวดิ่ง) การออกแบบให้ไม่กลิ้งหล่นง่ายบนโต๊ะที่ลาดเอียง และการติดทนของหมึกบนผ้าหลังซัก        2.          การตรวจหาสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ เช่น พีวีซี (ในวัสดุที่ใช้ทำด้ามหรือฝากปิด) โลหะหนัก (ในปากกาสีเหลือง) สีเอโซ (ในปากกาสีแดง) สารกันเสีย (ในปากกาสีเขียว) สารทำละลายอินทรีย์ (ในปากกาสีน้ำเงิน) และ PAHs (ในปากกาสีดำ) เป็นต้น         โดยรวมแล้วไม่มียี่ห้อไหนได้คะแนนรวม 5 ดาว ถ้าดูคะแนนในแต่ละด้านจะเห็นว่าแทบทุกรุ่นได้คะแนนเป็นเลิศด้านการเขียนได้ต่อเนื่องด้วยเส้นและสีที่สวยงาม ปากกาส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเรื่องหมึกแห้งง่าย แต่ที่น่าสังเกตคือมีเพียงสองรุ่นเท่านั้นที่ได้คะแนนปลอดสารเคมีไป 5 ดาว          พลิกหน้าต่อไปเพื่อดูคะแนนแต่ละด้านกันเลย         ค่าทดสอบเฉลี่ยตัวอย่างละ 888 ยูโร หรือประมาณ 30,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 เปลี่ยนวิธีคิด เกษตรกรเป็นผู้อุปการคุณ ใครก็ต้องการผักผลไม้ที่ปลอดภัย

        กรณีสารเคมี 3 ตัว พาราควอต คลอไพรีฟอส และไกลโฟเสต ได้สร้างความเข้าใจผิดต่อคน จำนวนมากว่า หากเรายกเลิกสารเคมีสามตัวนี้ มีคนได้ประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ต้องตอบว่า องค์กรผู้บริโภคไม่ได้มีผลประโยชน์ ไม่สนับสนุนให้ใช้สารเคมี หรือไม่ใช้วิธีหนีเสือปะจระเข้ แต่สนับสนุนวิธีการอื่นๆที่เป็นทางเลือกที่มีอยู่จริงและหลากหลายทาง แต่จะก้าวพ้นความคิดที่มีมาตลอดในเวลา 50 ปี หากจะปลูกอะไรต้องรองสารเคมีก้นหลุม การใช้ เครื่องจักรกำจัดหญ้า สารกำจัดแมลงด้วยวิธีอินทรีย์ทั้งหลายที่มีมากขึ้น การเกษตรแบบอินทรีย์มีอยู่จริงและสามารถทำได้ในระดับอุตสาหกรรมเกษตร         อีกความเข้าใจผิดที่อ้างว่า หากยกเลิก 3 สารเคมีนี้ จะไม่มีพืชผักผลไม้รับประทานและราคาแพง ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นและไม่น่าจะเป็นความจริง หรือขณะที่เรามีสารเหล่านี้ใช้ ราคาผลไม้ที่ราคาถูกก็แพงจับใจในปัจจุบัน ปัญหาราคาคงมีเหตุผลอีกหลายปัจจัย ตราบเท่าที่เรายังมีพืชผักผลไม้ส่งออกหรือนำเข้าได้ ย่อมต้องมีจำหน่ายในประเทศไทยแน่นอน แถมหากยังใช้สารเคมีจะเป็นเหตุผลให้ส่งออกไม่ได้ คนไทยต้องได้รับอันตรายจากสารเคมีอันตรายที่ตกค้างเหล่านี้มานาน เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง พาร์กินสัน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และโรคอื่นๆอีกมากมาย          อันตรายชัดเจนต่อผู้บริโภคจากสารเคมีสามตัวที่ตกค้างในพืชผักผลไม้จากการตรวจสารเคมีตกค้างในพืชผักผลไม้ไม่น้อยกว่าห้าปีที่ผ่านมาพบว่า 1 ใน 3 ของผัก ผลไม้ มีสารเคมีตกค้างและบางส่วนตกค้างเกินมาตรฐานหรือแม้กระทั่งการสำรวจล่าสุดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็พบว่าตกค้างสูงถึง 26.6 %         อันตรายถึงชีวิตต่อผู้ที่ฉีดพ่น ซึ่งมีอาชีพรับจ้างพ่นสารเคมี คนกลุ่มนี้ไม่มีทางเลือกมาก เพราะเจ้าของสวนหรือไร่นา หรือแปลงขนาดใหญ่ไม่ได้มีการดำเนินการฉีดพ่นเอง ดังที่ในสหรัฐอเมริกา โดยศาลสั่งให้บริษัทมอนซานโต ผู้ผลิตสารเคมีสำหรับการเกษตร จ่ายค่าชดเชย 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9,619 ล้านบาท) ให้ ดีเวย์น จอห์นสัน ซึ่งฟ้องร้องเมื่อปี 2016 ว่ายาฆ่าหญ้าราวด์อัพ และยากำจัดศัตรูพืช แรนเจอร์ โปร มีส่วนก่อมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับคดีที่เหลือกว่า 5,000 คดี ที่โจทก์ยื่นฟ้องว่าผลิตภัณฑ์ของมอนซานโตมีส่วนก่อมะเร็ง https://www.posttoday.com/world/560676 การใช้ที่ถูกวิธีทำได้ลำบากและไม่เป็นความจริง เพราะประเทศไทยเป็นประเทศร้อน อันตรายตกกับเกษตรกรรับจ้างพ่นสารเคมีอันตราย ซึ่งคำแนะนำในการจัดการปัญหาสารเคมีทั่วโลก เสนอให้แก้ปัญหาที่ต้นทางคือการลดสารเคมีที่เป็นอันตรายให้ได้มากที่สุด         ส่วนปัญหาราคาแพง หากเราคิดและยอมรับว่า เกษตรกรเป็นผู้อุปการคุณต่อผู้บริโภคที่ทำงานหนัก รายได้ต่ำ สินค้าเกษตรราคาถูกเกินไปจนเกษตรกรไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ จึงต้องมีราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ เกษตรกรได้ขายสินค้าในราคาถูก ปัญหาดึกดำบรรพ์ที่ยังมีอยู่ การส่งเสริมการตลาดสำหรับเกษตรกร หรือ การจำหน่ายตรงสำหรับเกษตรกร การกำกับพ่อค้าคนกลาง ขณะที่ผู้บริโภคต้องจ่ายราคาแพงในปัจจุบัน         ส่งผลกระทบที่เสียหายชัดเจนต่อสิ่งแวดล้อม การตกค้างในดิน สิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และกลับมาในห่วงโซ่อาหารในท้ายที่สุดส่วนปัญหาราคาแพง เช่นกรณีน้ำปู๋ที่พบการตกค้างสารเคมีกลุ่มนี้มากกว่าปูนา         ทุกรัฐบาลต้องมีนโยบายประกันราคา จำนำสินค้าเกษตร หรือประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งในทางปฏิบัติ จะทำอย่างไรให้ใช้มาตรการนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่เกษตรอินทรีย์ให้มากที่สุด รวมทั้งมีเป้าหมายในการขยายเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรยั่งยืนที่ชัดเจน         สุขภาพต้องมาก่อนการค้า หลักการป้องกันไว้ก่อน คงเป็นเหตุผลเพียงพอ ว่า ทำไมต้องเพิกถอนทะเบียน ห้ามนำเข้า ห้ามผลิตและจำหน่ายสารเคมีอันตราย 3 ตัวนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 สารเคมีตกค้าง

การใช้สารเคมีในภาคเกษตรนับเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรและผู้บริโภคภายในประเทศจำนวนมาก จนนำมาสู่การเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐยกเลิกสารเคมีหลายตัวที่หลายประเทศ แม้แต่ประเทศผู้ผลิตก็ได้ยกเลิกการใช้ไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าผู้เกี่ยวข้องจะดูใจเย็นกับเรื่องนี้เหลือเกินทั้งๆ มีรายงานตัวเลขผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิต ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในภาคเกษตรนับเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อยู่ที่หลักหลายพันคนต่อปี หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ เฝ้าระวังผลผลิตที่วางจำหน่ายในท้องตลาด จะออกมาป่าวประกาศถึงสถานการณ์สารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ ในระดับที่น่าเป็นห่วงก็ตาม  ล่าสุด นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ให้ข้อมูลกับ ฉลาดซื้อ ว่าแต่ละปีมีการสำรวจสารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ แตกต่างกัน ซึ่งช่วงแรกๆ ที่ทำร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน มีการตรวจยาฆ่าแมลงแค่ 2 กลุ่ม ก่อนจะพัฒนามาเป็น 4 กลุ่มสารเคมี (organophosphates, carbamates, organochlorine  และ pyrethroids) ปัจจุบันมีการส่งตรวจวิเคราะห์ที่ห้องแลปที่อังกฤษ ซึ่งสามารถวิเคราะห์สารเคมีได้มากกว่า 4 กลุ่ม ทำให้ช่วงหลังพบสารเคมีตกค้างมากขึ้น          สำหรับปี 2562 มีการเก็บตัวอย่างผัก ผลไม้จากห้างสรรพสินค้าและตลาดสด พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานประมาณ 41% ขณะที่สองปีก่อนส่งไปตรวจที่อังกฤษเหมือนกันพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 46% แต่ถ้าดูเฉพาะสารสี่กลุ่มที่ประเทศไทยสามารถวิเคราะห์ได้ จะพบปัญหาการตกค้างเกินค่ามาตรฐานลดลงเรื่อยๆ เหลือ 30% จนกระทั่งล่าสุดเหลืออยู่ที่ 20% และไม่ลงไปกว่านี้ อย่างไรก็ตาม แม้ของไทยจะลดลงแต่ยังถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป ที่สามารถตรวจได้ในระดับเดียวกันกับอังกฤษ การพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานอยู่ที่ ประมาณ 1-3% สำหรับสารที่ปีนี้ที่พบมากสุดคือ คาร์เบนดาซิม (carbendazim) ซึ่งเป็นสารป้องกันการเกิดเชื้อรา เป็นสารดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ ยกตัวอย่าง หากตกค้างใน “ส้ม” ถึงจะปอกเปลือกออก สารนี้ก็ยังอยู่ในเนื้อ  ปัจจุบันหลายประเทศยกเลิกการใช้แล้วเพราะทำให้คนที่ได้รับสารนี้มีโอกาสเป็นหมัน  นางสาวปรกชล ยังบอกอีกว่า จากการตรวจวิเคราะห์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในกลุ่ม “ผัก” ปัญหาจะหมุนเวียนชนิดกัน ขึ้นๆ ลงๆ เช่น ผักกวางตุ้ง คะน้า พริก กระเพรา ผักชี ถั่วฝักยาว จะอยู่ในอันดับต้นๆ ทุกปี ส่วน “ผลไม้” ที่เป็นอันดับหนึ่งที่พบสารเคมีตกค้างมาตลอด คือส้ม ตามมาด้วย องุ่น สลับกับ ฝรั่ง หรือ มะละกอ ชมพู่ และมีความเป็นไปได้ ที่ผัก ผลไม้หนึ่งตัวอย่างจะเจอสารเคมีตกค้างมากกว่าหนึ่งชนิด         “อย่างสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 41% อีกเกินครึ่งก็เจอสารเคมีในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน ซึ่ง 2 ใน 3 ของกลุ่มนี้มีสารเคมีตกค้างมากกว่าสองชนิดในหนึ่งตัวอย่าง มากสุดคือสารเคมีตกค้าง 20 ชนิดในหนึ่งตัวอย่าง ถือว่าเป็นปัญหามาก เพราะหน่วยงานภาครัฐไม่มีการประเมินความเสี่ยงสารตกค้างร่วมกับผู้บริโภคจึงไม่มีทางรู้เลยว่ารับประทานเข้าไปแล้วจะเกิดผลกระทบมากน้อยแค่ไหน”         ที่น่าสังเกตคือเราพบว่าตัวอย่างผัก ผลไม้ที่ขายในห้างฯ มีสารเคมีตกค้างมากกว่าที่วางขายในตลาดสดเล็กน้อย  แม้ว่าผลผลิตที่ขายในห้างฯ จะมีตรารับรองมาตรฐาน อย่างเช่น Q หรือ Organic Thailand ยังพบว่าไม่มีความปลอดภัย สารตกค้างยังคงเกินค่ามาตรฐาน ส่วนตัวมองว่าระบบการตรวจสอบรับรองยังคงมีช่องว่าง รวมถึงกระบวนการในการกำกับดูแลหลังให้ใบรับรองไปแล้ว ซึ่งเป็นไปได้ที่บางครั้งอาจจะไปถูกสวมสิทธิ์ที่ห้างหรือซับพลายเออร์ เท่ากับว่ากระบวนการให้ใบรับรองยังไม่แข็งแรงพอ ทำให้เรายังมั่นใจไม่ได้ 100% กับสินค้าที่มีตรารับรอง             “การล้างทำความสะอาดสามารถล้างสารพิษออกได้นิดหน่อย แต่ถ้าเป็นสารประเภทดูดซึมจะล้างไม่ออก ปีนี้เราพบสารพิษตกค้าง 90 ชนิด ในจำนวนนี้ 50 ชนิดเป็นสารตกค้างประเภทดูดซึม ล้างไม่ออกแน่ๆ ปอกเปลือกออกก็อยู่ในเนื้อ ส่วนที่ล้างออกประมาณ 40 ชนิด บางอย่างก็ล้างออกง่าย แค่เปิดน้ำไหลผ่าน การแช่ด่างทับทิม น้ำส้มสายชู เบคกิ้งโซดา ซึ่งสามารถขจัดสารเคมีได้แตกต่างกัน การล้างผัก ผลไม้จึงแค่เป็นการทำให้ตัวเองสบายใจ”         นางสาวปรกชล ระบุว่า เรื่องการใช้สารเคมีที่มีมากในประเทศไทยที่จริงเป็นปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมสารเคมี เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น 1.ไม่มีระบบการเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนภัยให้กับผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐที่มีการตรวจก็เก็บข้อมูลไว้ไม่ได้เปิดเผยให้ผู้บริโภคทราบ ทำให้ผู้บริโภคไม่มีข้อมูล จึงไม่สามารถแสดงความต้องการอาหารที่ปลอดภัย หรือความต้องการที่จะสนับสนุนสินค้าที่มีคุณภาพที่ไหนได้2. สารเคมีหลายตัวที่พบ เป็นสารที่หลายประเทศยกเลิกการใช้ไปแล้ว โดยเฉพาะประเทศต้นทางที่ผลิตสารเคมีเอง เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค แต่ประเทศไทยกลับยังนำเข้ามาใช้     แสดงว่าระบบการคัดกรองสารเคมีเหล่านี้ของประเทศไทยยังไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน ซึ่งนอกจากสารเคมี 3 ตัวที่ขอให้แบนคือพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แล้ว ยังมีสารเคมีอีกกว่า 100 ชนิด ที่ต้องมีการจัดการเช่นเดียวกัน         “วันนี้จึงทำให้เราประสบภาวะที่ว่านอกจากสารเคมีเกินค่ามาตรฐานแล้วยังมีสารเคมีหลายตัวที่ร้ายแรงมาก” 3.เกษตรกรมองว่าการใช้สารเคมีในภาคเกษตรคือคำตอบที่ถูกต้องและสมบูรณ์แบบ เนื่องจากบริษัทนำเข้าไม่ต้องเสียภาษีเลย เพราะฉะนั้นราคามันเลยไม่ได้รวมผลกระทบภายนอกทั้งทางด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เลยทำให้ดูเป็นทางเลือกที่ราคาถูกที่สุดในการทำเกษตรกรรม เกษตรกรจึงนิยมใช้ แถมยังไม่ควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขาย จึงทำให้มีการใช้มากเกินความจำเป็น        เพราะฉะนั้น วันนี้ ทางเลือกของผู้บริโภคอาจจะต้อง “เหนื่อย” และต้องการข้อมูลของผัก ผลไม้ว่ามีที่มาที่ไปอย่าง ไร ผักประเภทไหนเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย เพราะไม่สามารถดูได้จากหน้าตาผัก ผลไม้ ต่อให้มีรอยแมลงกัดก็ไม่สามารถการันตีอะไร ตรารับรองก็ไม่สามารถเชื่อมั่นได้ 100% ที่จริงแล้วผู้บริโภคมีอำนาจเต็ม เพราะเงินอยู่ในกระเป๋าเรา ทุกครั้งที่ใช้จ่ายจะเป็นการแสดงเจตจำนงว่ากำลังสนับสนุนเกษตรกรที่ใช้สารเคมี หรือจะสนับสนุนเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งราคาไม่ได้สูงเสมอไปหากไม่ซื้อในห้างฯ หรือให้เกษตรกรจัดส่งให้ที่บ้านก็ยังได้ ราคาถูกด้วย อีกทางหนึ่งควรปลูกผักกินเองบาง เช่น พริก กระเพรา เป็นต้น         นางสาวปรกชล ย้ำว่า สิ่งที่ไทยแพนอยากเห็นคือเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องพื้นฐาน ถ้ามีสารเคมีตกค้างก็ต้องไม่เกินมาตรฐานกำหนด ซึ่งประชาชนต้องช่วยกันกดดันภาครัฐให้มีการตรวจสอบและลงโทษกลุ่มเกษตรกรที่มีการใช้สารเคมี ปล่อยให้เกินค่ามาตรฐาน แถมยังเคลมว่าปลอดภัย แล้วขายในราคาแพงๆ หรือกดดันให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีบางตัวที่หลายประเทศยกเลิกไปแล้ว ทำไมไทยถึงยังยอมให้เข้ามาในระบบอาหารของไทย และช่วยกันส่งเสียงกระตุ้นให้เกิดระบบเฝ้าระวังและเตือนภัย ซึ่งสำคัญมาก เพราะการมีข้อมูลที่ชี้ปัญหาจะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้         อันที่จริงสถานการณ์ก็เหมือนจะดีขึ้น มีจำนวนเกษตรที่ลุกขึ้นมาปลูกผักที่ลดการใช้สารเคมี การเพิ่มตลาดสีเขียว ผู้บริโภคตื่นตัวมากขึ้น  แต่ว่าในภาพใหญ่ระดับโครงสร้างนโยบายที่ยังคงมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้องอาจจะยังต้องสู้กันอีกยาว ตรงนี้ต้องใช้พลังผู้บริโภคลุกขึ้นมาส่งเสียงว่าต้องการอาหารปลอดภัยและต้องร่วมกันแก้ปัญหาด้วยการปรับพฤติกรรมอุดหนุนเกษตรกรที่ปลูกผัก ผลไม้โดยไม่ใช้สารเคมี และอุดหนุนให้หลากหลายเพื่อเปิดตลาดให้กว้าง         รวมถึงการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการแสดงฉลาก เช่น ใช้ก็บอก ไม่ใช่ก็บอก มีการเรียกร้องให้โรงงานน้ำตาลแจ้งบนถุงน้ำตาลเลยว่า อ้อยมาจากการปลูกโดยใช้พาราควอตหรือไม่ และผู้บริโภคจะตัดสินใจเอง นี่คือการส่งเสียงเพื่อให้รัฐบาลตั้งใจแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย         ด้าน นพ.พูนลาภ ฉันทวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการปลูกผัก ผลไม้ในเมืองไทยยังมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีอยู่ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้มีการใช้มากเกินไปจนเกิดการตกค้างในผลผลิตเกินค่ามาตรฐาน จึงเป็นที่มาว่าเมื่อมีการสุ่มตรวจสารตกค้างในผลผลิตเหล่านี้แล้วยังเจอบ้าง ไม่เจอบ้าง แต่ถ้าไม่ได้มีปริมาณเกินค่ามาตรฐานก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่มีความปลอดภัย เกิดการตรวจการเฝ้าระวัง         “หากจะให้ไม่มีสารเคมีเลยนั้นยอมรับว่ายังยาก ดังนั้นคำแนะนำสำหรับประชาชนคือไม่ว่าจะซื้อผักผลไม้จากแหล่งใดก็ตามจะต้องมีการนำมาล้างด้วยวิธีการปล่อยให้น้ำไหลผ่านหรือการแช่น้ำเกลือ หรือเบกกิ้งโซดา สักช่วงเวลาหนึ่งก็จะช่วยลดปริมาณสารเคมีลงได้”         อย่างไรก็ตามในเรื่องของสารเคมีนั้นทางอย.ไม่ได้มีการดูโดยตรง และไม่เคยมีการออกตราสัญลักษณ์เพื่อรับรองมาตรฐาน หรือรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษแต่อย่างใด เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ แต่สิ่งที่อย.ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน คือกรณีที่มีการแบ่งบรรจุจำหน่ายผัก ผลไม้นั้น ให้ ทางห้างฯ ติดฉลากแหล่งที่มาของผลผลิตนั้นๆ ให้ชัดเจน เพราะหากตรวจเจอสารเคมีเกินค่ามาตรฐานก็จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มาและดำเนินการเอาผิดได้ ฐานเป็นอาหารไม่ปลอดภัย ตามพ.ร.บ.อาหาร มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท        ทั้งนี้ ที่ผ่านมาต้องเรียนว่ายังไม่มีการลงโทษถึงขั้นนั้นเนื่องจากเราต้องการใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือป้องปรามและการเฝ้าระวัง พยายามสร้างความตระหนักและทำให้เกษตรกร ไม่ใช้สารพิษในปริมาณที่มากเกินไปมากกว่า ซึ่งจากข้อมูลผัก ผลไม้ที่มีการแบ่งบรรจุขายในห้างสรรพสินค้า ในตลาดสดคิดเป็น 30% อีก 70% เป็นการขายส่ง ซึ่งผลจากแนวปฏิบัติดังกล่าว รวมถึงการขอความร่วมมือจากชุมชนท้องถิ่นให้ช่วยกันสุ่มตรวจผัก ผลไม้ โดยอาศัย พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 แก้ไข พ.ศ.2560 เข้ามาดำเนินการ ก็พบว่าปัญหาเรื่องสารพิษตกค้างในผัก ผลไม้ดีขึ้น อย่างที่ไทยแพนได้มีการสุ่มตรวจก็พบว่าน้อยลงเช่นกัน  ด้านกรมอนามัยได้มีการออกเอกสารเผยแพร่คำแนะนำแก่ประชาชน โดยใจความระบุว่าการรับประทานผักผลไม้เป็นประจำย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือปัญหาการตกค้างของสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย เพื่อความปลอดภัยประชาชนจึงควรใส่ใจการล้างผักให้สะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างหรือการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค โดยให้แช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร นาน 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด หรือใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) ครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด ซึ่งทั้ง 3 วิธีนี้ สามารถลดสารเคมีตกค้างจนไม่ก่อให้เกิดอันตรายได้ ขณะที่ นายธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์การอ็อกซ์แฟมในประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อดูจากสถานการณ์ปัจจุบันโดยยังไม่ได้ดูในแง่ของสถิติจะพบว่ามีห้างสรรพสินค้ากว่า 3 พันสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ทั้งห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ยังไม่นับรวมร้านสะดวกซื้ออีกจำนวนมาก ทำให้เห็นแนวโน้มว่าผู้บริโภคเลือกที่จะไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้ามากขึ้น เพราะสะดวกสบายไปครั้งเดียวก็ได้ของครบทุกอย่าง         ทั้งนี้ถ้ามองในแง่ของสถิติ นอกจากการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศแล้วยังพบว่ามีการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ แอปพลิเคชั่นต่างๆ ยิ่งเพิ่มความสะดวกในการซื้อสินค้ามากขึ้น แม้ตัวจะยังอยู่ที่บ้านก็ตาม เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าผู้บริโภคกับห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกมีความใกล้ชิดกัน อย่างน้อยในหนึ่งสัปดาห์ น่าจะเข้าห้างสรรพสินค้าราวๆ 1-2 ครั้ง         สำหรับการจำหน่ายสินค้ากลุ่มอาหารสด ผัก ผลไม้ นั้นทางอ็อกซ์แฟมยังไม่ได้มีการสำรวจและประเมิน จึงยังไม่สามารถบอกถึงความนิยมได้ เพราะที่มีประเมินอยู่คือ มิติทางด้านสังคม เช่น ความโปร่งใส เรื่องแรงงาน เรื่องเกษตรกรรายย่อย เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ การส่งเสริมบทบาทสตรี เป็นต้น          “ถ้าจับจากพฤติกรรมคนทั่วไปก็เห็นได้ว่า ทุกวันนี้คนนิยมซื้อสินค้าอาหารสด ผัก ผลไม้ในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น แทนการเดินตลาดสด ซึ่งปัจจุบันตลาดสดเองก็เริ่มมีน้อยลง แต่ถ้าพูดถึงคุณภาพ สินค้าและความปลอดภัยแล้ว ตนมองว่าปัจจุบันก็ค่อนข้างปฏิบัติตามมาตรฐานกฎหมายและค่อนข้างมีการพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภค”          อย่างไรก็ตาม ประมาณปลายปี 2562 หรือ ต้นปี 2563 จะมีการสำรวจ ประเมินมิติด้านความปลอดภัยทางอาหารร่วมด้วย ซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สารเคมีต่างๆ รวมถึงการจัดซื้อที่เป็นมิตร แต่สิ่งที่อ็อกซ์แฟมและภาคีเครือข่ายดำเนินการอยู่ขณะนี้ คือการสนับสนุนให้ห้างฯ ซึ่งเป็นตลาดปลายทางที่รับสินค้ามาจากเกษตรกรถึงมือผู้บริโภค มีนโยบายเชิงบวกให้เกิดขึ้นกับเกษตรกร ผู้แปรรูปอาหารต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกสินค้าที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ถ้ามีการออกเป็นนโยบายแล้วจะทำให้เกิดการปฏิบัติเหมือนกันของห้างฯ ทุกสาขา และมีการปฏิบัติอย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบันแนวปฏิบัติด้านต่างๆ ของห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยยังคงเป็นแบบโครงการ กิจกรรมซีเอสอาร์ ซึ่งตนไม่ได้บอกว่าโครงการเหล่านี้ไม่ดี เพียงแต่กรณีแบบนี้เมื่อจบโครงการก็คือจบ ถ้ามีการกำหนดเป็นนโยบายจะมีความยั่งยืนมากกว่า “นโยบายหมายความว่าจะต้องใช้กับทุกพื้นที่ ทุกผลิตภัณฑ์ และอยู่ถาวร มีการดึงมาสู่แผนงานแผนปฏิบัติ มี KPI หากปฏิบัติตามไม่ได้ก็ต้องปรับปรุง มีความยั่งยืน ถ้าไม่ดีก็ปรับปรุง ดังนั้นอยากให้ทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ยั่งยืนถาวรมากขึ้น เชื่อว่าห้างค้าปลีกไทยมีศักยภาพที่จะทำ เพราะดูจากนวัตกรรมทางการตลาดและการขยายธุรกิจไม่ได้น้อยหน้าต่างประเทศ หากเกิดนโยบายเชิงบวกเพื่อให้ผู้ผลิตอาหารในประเทศไทยรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนในประเทศดีขึ้น”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 มาส่องดูสารเคมีในโฟมล้างหน้ากัน

แม้หลายคนจะชื่นชอบการทำสะอาดผิวหน้าด้วยโฟมล้างหน้า เพราะรู้สึกว่าช่วยทำความสะอาดได้ดี ใช้งานง่ายและพกพาสะดวก แต่รู้ไหมว่า โฟมล้างหน้าก็สามารถสร้างความระคายเคืองให้ผิวหน้าได้เช่นกัน โดยอาจทำให้เกิดอาการแพ้ ผื่นแดงหรือเป็นสิว ซึ่งส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากส่วนประกอบบางชนิดที่อยู่ในโฟมนั่นเอง ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงอาสารวบรวม 31 ยี่ห้อโฟมล้างหน้ายอดนิยม จำนวน 34 ตัวอย่าง เพื่อมาตรวจสอบส่วนประกอบสำคัญบนฉลากที่สามารถส่งผลต่อการระคายเคืองผิวหน้าได้ว่าจะมีอะไรบ้าง ซึ่งผลทดสอบจะเป็นอย่างไร เราลองไปดูกันเลยผลการทดสอบจากโฟมล้างหน้า 34 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบพบว่า ทุกยี่ห้อมีส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวได้ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้1.กลุ่มสารลดแรงตึงผิว ได้แก่ สารลดแรงตึงผิวประจุลบ คือ Sodium Lauryl Sulfate (SLS) และ Sodium Laureth Sulfate (SLES) และสารลดแรงตึงผิวสองประจุ ได้แก่ Cocamidopropyl Betaine สำหรับสารในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติในการทำให้เกิดฟองและสามารถทำความสะอาดได้ดี ซึ่งสาร SLS จะมีความสามารถชำระล้างได้มากกว่าชนิดอื่น ทำให้อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ ผู้ที่มีผิวบอบบางแพ้ง่ายควรหลีกเลี่ยง2. กลุ่มสารที่เป็นส่วนประกอบของสบู่ ได้แก่ Potassium Hydroxide และ Sodium Hydroxideสาร 2 ชนิดนี้มีความเป็นด่างสูง ซึ่งอาจทำให้ผิวแห้งหรือระคายเคืองได้   3. กรดไขมันและเกลือของกรดไขมัน ได้แก่ Potassium Myristate, Potassium Palmitate, Potassium Laurate, Potassium Oleate, Potassium Stearate, Stearate, Stearic acid, Palmitic acid, Lauric acid, Myristic acid สารในกลุ่มนี้เกิดจากการตกตะกอนกับสารในกลุ่มสบู่ ซึ่งอาจทำให้เกิดคราบไคลสบู่ตกค้างในรูขุมขน ส่งผลให้เกิดสิวอุดตันได้ง่าย 4. สารกลุ่มน้ำหอม คือ Perfume, Fragrance, Parfum อาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือคะคายเคืองในผู้ที่แพ้น้ำหอม 5. สารกลุ่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ Alcohol, Alcohol Denat, Benzyl Alcoholแอลกอฮอล์ประเภทนี้เป็นกลุ่มที่สร้างความระคายเคืองหรือกลุ่มที่ใช้ฆ่าเชื้อ โดยใช้เป็นส่วนผสมของยาทาผิว มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและเป็นสารกันบูดสารเคมีที่ผสมในโฟมล้างหน้าแน่นอนว่าโฟมล้างหน้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีจุดประสงค์เพื่อการชำระล้าง จึงจำเป็นต้องใส่สารเคมีที่สามารถขจัดสิ่งสกปรกบนผิวหน้าได้ อย่างไรก็ตามสารเคมีเหล่านั้นสามารถส่งผลต่อความระคายเคืองผิวได้เช่นกัน ซึ่งบางคนใช้แล้วอาจเกิดอาการระคายเคืองหรือแพ้มาก ในขณะที่หลายคนอาจไม่เกิดอาการใดๆ เราจึงจำเป็นต้องตรวจสอบส่วนผสมหลักในโฟมล้างหน้าของแต่ละยี่ห้อก่อนใช้งาน เพื่อป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นกับผิวหน้าของเรา ซึ่งมีดังนี้1. กลุ่มสารลดแรงตึงผิวสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) เป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเกือบทุกชนิด เพราะมีคุณสมบัติในการพาสิ่งสกปรกและไขมันให้หลุดออกได้ดีขึ้น ซึ่ง สารลดแรงตึงผิวที่สามารถสร้างความระคายเคืองให้กับผิวหน้าได้มากก็คือ สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุลบ อย่าง Sodium lauryl sulfate (SLS) เพราะนอกจากจะให้ปริมาณฟองจำนวนมากแล้ว ยังมีคุณสมบัติในการทำความสะอาดได้รุนแรงกว่าชนิดอื่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางคน ดังนั้นหากมีผิวบอบบางแพ้ง่ายควรหลีกเลี่ยงอย่างไรก็ตามสำหรับสารลดแรงตึงผิวประจุลบอีกชนิดที่ชื่อคล้ายกัน คือ Sodium Laureth Sulfate (SLES) ถือว่ามีความอ่อนโยนและรุนแรงน้อยกว่าสาร SLS แต่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นเดียวกันหากผสมอยู่ในปริมาณที่มากเกินไป สำหรับสารลดแรงตึงผิวอีกประเภทหนึ่งที่มักผสมในโฟมล้างหน้าคือ Cocamidopropyl Betaine ซึ่งเป็นสารลดแรงตึงผิวสองประจุนั้น พบว่าทำให้เกิดการระคายเคืองน้อยที่สุดและทำให้เกิดฟองน้อย แต่หากใช้ในปริมาณมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ เพราะความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารในผลิตภัณฑ์และระยะเวลาที่ผลิตภัณฑ์สัมผัสร่างกายส่วนในกรณีที่เคยมีกระแสข่าวว่า สบู่เหลวที่มีส่วนผสมของสาร SLS ไปผสมกับสารประกอบตระกูลเอมิน (amine) แล้วสามารถกลายเป็นสารก่อมะเร็งนั้น นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ยากที่จะเกิดสารก่อมะเร็งจากสารเคมีดังกล่าว เพราะการที่สาร SLS จะสามารถทำปฏิกิริยากับสารตระกูลเอมินแล้วเกิดเป็นสารไนโตรซามิน จะต้องมีองค์ประกอบหรือสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ต้องมีอุณหภูมิที่สูงกว่า 100C นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ได้มีการติดตามตรวจสอบส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ปลอดภัยอยู่เสมอ โดยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีการใช้สารลดแรงตึงผิวในปริมาณที่เหมาะสม ---2. กลุ่มสารที่เป็นส่วนประกอบของสบู่เนื่องจากการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้า ควรเลือกให้มีความเป็นกรด – ด่างใกล้เคียงกับผิวหน้า แต่หลายคนอาจบังเอิญไปใช้โฟมล้างหน้าที่มีความเป็นด่างมากเกินไป ซึ่งก็คือ การใช้สบู่ที่มาในรูปแบบของโฟมล้างหน้านั่นเอง ซึ่งกลุ่มสารที่เป็นส่วนประกอบของสบู่ ได้แก่ Potassium Hydroxide และ Sodium Hydroxide รวมถึงเบสอื่นๆ ของมัน ได้แก่ Myristate, Palmitate, Laurate, Oleate, Stearate นอกจากนี้การใช้โฟมล้างหน้าที่มีส่วนผสมของกรดไขมัน ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนกับสารในกลุ่มสบู่ ได้แก่ Stearic acid, Palmitic acid, Lauric acid, Myristic acid อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้เล็กน้อยในคนที่ไวต่อสารเคมี รวมทั้งสามารถเป็นสาเหตุให้เกิดสิวอุดตันได้ด้วย เพราะมีการตกค้างของคราบไคลสบู่ในรูขุมขนได้ 3. สารในกลุ่มแอลกอฮอล์และน้ำหอมแอลกอฮอล์ในเครื่องสำอางสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มที่ดีต่อผิวและกลุ่มที่สร้างความระคายเคือง เราจึงควรหลีกเลี่ยงกลุ่มสารที่สร้างความระคายเคืองหรือกลุ่มที่ใช้ฆ่าเชื้อ ได้แก่ Alcohol Denat, Benzyl Alcohol เพราะสามารถทำให้เกิดการผิวระคายเคืองผิว รวมทั้งทำให้ผิวสูญเสียน้ำและแห้งขึ้น ซึ่งนำไปสู่อาการแพ้หรือระคายเคืองได้ ส่วนคนที่มีแนวโน้มแพ้น้ำหอมในเครื่องสำอางง่ายก็ควรหลีกเลี่ยง โฟมล้างหน้าที่มีส่วนผสมของ Perfume, Fragrance หรือ Parfum เพราะอาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 สารเคมีอันตรายจากขยะอิเล็กทรอนิกส์รีไซเคิล ในลูกบิดรูบิก (Rubik’s cube)

แม้ปัจจุบันจะมีการควบคุมการใช้พลาสติกรีไซเคิลที่มีส่วนประกอบของ “สารหน่วงการติดไฟที่มีองค์ประกอบของโบรมีน” (Brominated Flame Retardants: BFR) มาผลิตเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภค โดยเฉพาะในของเล่นสำหรับเด็ก แต่ผลจากการสำรวจตลาดของเล่นเด็กครั้งล่าสุดทั้งในประเทศไทยและในอีกหลายประเทศพบว่า ของเล่นเด็กยอดฮิตคือ “ลูกบิดรูบิก” หรือลูกบาศก์เรียงสี ที่นิยมให้เด็กเล่นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเชาว์ปัญญา มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อระบบประสาทและพัฒนาการทางสมองของเด็กปนเปื้อนอยู่ในระดับสูงโครงการสำรวจและตรวจวิเคราะห์นี้ดำเนินการโดย “เครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม” หรือไอเพน (IPEN) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ประกอบด้วยนักวิชาการสาขาต่างๆ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจาก  100 กว่าประเทศ หรือ 700 กว่าองค์กร โดยมีคณะผู้ร่วมการสำรวจจากทั้งหมด 26 ประเทศ รวมถึงมูลนิธิบูรณะนิเวศในประเทศไทยโครงการฯ ได้ดำเนินการสำรวจผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็กที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลที่มีสาร BFRs ปนเปื้อนหรือใช้เป็นสารเติมแต่งระหว่างกระบวนการผลิต ใน 26 ประเทศ  ซึ่งประกอบด้วยลูกบิดรูบิกรวม 95 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกจำนวน 16 ตัวอย่าง ได้แก่ แก้วใส่น้ำร้อน กิ๊บหนีบผม หวี ที่คาดผม และของเล่นเด็กอื่นๆ  เพื่อวิเคราะห์หาการเจือปนของสารพิษกลุ่มสาร BFRs ได้แก่ 1) สาร Octabromodiphenyl ether  (OctaBDE), 2) สาร Decabromodiphenyl either (DecaBDE) และ 3) สาร Hexabromocyclododecane (HBCD)  ผลการสำรวจในประเทศไทยมูลนิธิบูรณะนิเวศได้สำรวจและซื้อลูกบิดรูบิกที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลในตลาดของเล่นเด็กของไทยในจังหวัดกรุงเทพฯ ปทุมธานี นครปฐม และระยอง ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2558  รวม 9 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากประเทศจีนทั้งหมด  เพื่อวิเคราะห์หาความเข้มข้นของกลุ่มสาร PBDEs (OctaBDE และ DecaBDE) และ HBCD ผลการวิเคราะห์พบว่า ลูกบิดรูบิกจำนวน 9 ตัวอย่างจากประเทศไทย มี 2 ตัวอย่างที่พบปริมาณสารโบรมีนทั้งหมด (Total Br) สูงเกิน 1,000 ppm  ด้วยเครื่องวิเคราะห์ Handheld X-ray Fluorescence (HHXRF)  และจากการวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเคมี สาธารณรัฐเช็ก เฉพาะ 2 ตัวอย่างที่มีโบรมีนรวมเกิน 1,000 ppm พบว่าทั้งสองตัวอย่างปนเปื้อนสาร OctaBDE ที่มีปริมาณเข้มข้นสูง 25 – 48 ppm และสาร DecaBDE มีปริมาณเข้มข้นสูง 21 – 23 ppm  ทั้งนี้มี 1 ตัวอย่างที่มีสาร HBCD ในปริมาณเข้มข้น 5 ppm ผลการสำรวจใน 26 ประเทศการวิเคราะห์ตัวอย่างจากประเทศต่างๆ รวม 26 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยลูกบิดรูบิก95 ตัวอย่าง  และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จำนวน 16 ตัวอย่าง ได้แก่ แก้วใส่น้ำร้อน กิ๊บหนีบผม หวี ที่คาดผม และของเล่นเด็กอื่นๆ  พบว่ามี 100 ตัวอย่าง (ร้อยละ 90) มีสาร OctaBDE ปนเปื้อนในปริมาณเข้มข้นระหว่าง 1- 1,174 ppm;  พบสาร HBCD ในจำนวน 45 ตัวอย่าง (ร้อยละ 41)  ระดับความเข้มข้นอยู่ที่ 1 - 1,586 ppm  และสาร DecaBDE ในจำนวน 101 ตัวอย่าง (ร้อยละ 91)  มีช่วงความเข้มข้นที่พบคือ 1 -  672 ppmอัครพล ตีบไธสง นักวิชาการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ผู้ร่วมการศึกษาในโครงการนี้กล่าวให้ความเห็นว่า  “สารเคมีอันตรายกลุ่มนี้มักเจือปนอยู่ในขยะพลาสติก เป็นสิ่งอันตรายมากโดยเฉพาะต่อพัฒนาการทางสมอง ระบบประสาทของเด็ก และมีผลกระทบต่อระบบฮอร์โมนส์ของร่างกายด้วย จึงไม่ควรนำมาผลิตของเล่นเด็กโดยเด็ดขาด และควรมีมาตรการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่อันตรายต่อเด็กออกจากท้องตลาดด้วย”ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ดร. โจ ดิกันจิ ผู้เชี่ยวชาญด้านสารอันตรายของ IPEN จากสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวว่า “การรีไซเคิลวัสดุที่มีสารพิษเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นวัฏจักรที่จะทำให้ปนเปื้อนสารพิษในสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาไม่จบสิ้น และยังจะทำลายความน่าเชื่อถือของการรีไซเคิลวัสดุ รัฐบาลของแต่ละประเทศจึงควรหาทางยุติปัญหานี้และควรมีมาตรการเชิงป้องกันระยะยาวด้วย”ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า สารหน่วงการติดไฟที่อยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นยังคงปนเปื้อนในของเล่นเด็กและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ผลิตจากการรีไซเคิลขยะเหล่านี้อย่างน่าวิตก  ยิ่งไปกว่านั้นของเล่นหลายชนิดปนเปื้อนสารอันตรายมากกว่า 50  ppm ในที่นี้คือ OctaBDE และ HBCD  รวมถึง DecaBDE  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 192 เล็บสีเจล สวยให้ปลอดภัย

ผู้หญิงส่วนใหญ่มักต้องการให้เล็บมือและเล็บเท้าสวยงามอยู่เสมอ ซึ่งหนึ่งในวิธีการยอดฮิตเพื่อตกแต่งเล็บให้สวยงามก็หนีไม่พ้นการทาเล็บสีเจล เพราะนอกจากจะทำให้เล็บมีสีสันสวยงามแวววาวกว่าการทาเล็บแบบธรรมดาแล้ว ยังทำให้เล็บสวยนานอยู่ทนทานเป็นเดือนได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามการทำเล็บด้วยวิธีดังกล่าวจะมีข้อดีมากหรือน้อยกว่าข้อเสียอย่างไร เราลองไปดูกันมารู้จักเล็บสีเจลกันสักนิดการทาเล็บสีเจล เริ่มเป็นที่นิยมในบ้านเราเมื่อประมาณ 3 - 4 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการใช้ยาทาเล็บชนิดเจล (Gel nail polish) มาทาลงบนเล็บจริง หรือเล็บที่ต่ออะคริลิคแล้ว โดยยาทาเล็บชนิดนี้มีจุดเด่นตรงที่ติดทนนาน หรืออยู่ได้ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับวิธีการรักษาของแต่ละคน และมีสีสันสดใสสวยงามกว่ายาทาเล็บทั่วไป อย่างไรก็ตามหากต้องการล้างออก ต้องใช้ยาล้างเล็บสำหรับเล็บเจลโดยเฉพาะ และไม่สามารถปล่อยให้แห้งเองได้ ต้องใช้เครื่องอบเล็บเท่านั้น นอกจากนี้วิธีการทาเล็บเจลยังต่างจากการทาเล็บธรรมดา เพราะต้องตะไบหน้าเล็บก่อนลงสี เพื่อช่วยให้สีเกาะหน้าเล็บผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อทาเล็บเจลแม้ยาทาเล็บเจลจะสามารถทำให้สีติดทนนานและสวยงามกว่าปกติ จนเป็นที่นิยมในหมู่สาวๆ อย่างรวดเร็ว แต่ยังมีข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้- หน้าเล็บเสียโฉม เพราะทุกครั้งที่ทาและล้างเล็บเจล ต้องมีการตะไบหน้าเล็บออกเสมอ ซึ่งหากเราทำประจำสามารถส่งผลให้หน้าเล็บพัง หรือมีลักษณะเป็นรอยขูดได้ โดยต้องใช้เวลาดูแลประมาณ 2 – 3 เดือนเพื่อทำให้หน้าเล็บกลับมาปกติเหมือนเดิม นอกจากนี้บางคนอาจเกิดอาการเล็บอ่อนแอ เปราะหักง่าย หรืออักเสบ เพราะถูกตะไบหน้าเล็บออกมากเกินไป- เกิดความผิดปกติที่เล็บ หากอุปกรณ์ที่ใช้สะอาดไม่เพียงพอ สามารถส่งผลให้เชื้อโรคเข้าสู่เล็บหรือเกิดเชื้อราที่เล็บได้ ซึ่งจะทำให้เล็บผิดปกติ เช่น เล็บเป็นขุย เปลี่ยนสี โค้งงอบิดเบี้ยว หรือแตกเปราะ- เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจและดวงตา ตามข้อมูลจากสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ระบุว่าสารเคมีฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในยาทาเล็บ สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ในกลุ่มผู้ที่ไวต่อสารเคมีได้ โดยหากสัมผัสกับผิวหนังจะปรากฏเป็นผดผื่นและมีอาการคัน หรือหากสูดดมเข้าไปเป็นประจำ สามารถสร้างความระคายเคืองในลำคอ หรือก่อให้เกิดโรคมะเร็งในระบบทางเดินหายใจได้- มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง เพราะเล็บสีเจลต้องถูกทำให้แห้งด้วยเครื่องอบเล็บเจล เนื่องจากไม่สามารถแห้งได้ด้วยแรงลมธรรมดา ซึ่งต้องอบหลายครั้งเพื่อช่วยให้สีแห้งสนิท ดังนั้นผู้ที่ใช้บริการเป็นประจำอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังได้ เพราะเครื่องอบเล็บเจลใช้ความร้อนจากจากหลอดยูวี (UV) และหลอดแอลอีดี (LED) แต่สามารถป้องกันได้เบื้องต้นด้วยการทาครีมกันแดดที่มือ- ราคาค่อนข้างสูง โดยปัจจุบันพบว่าอัตราค่าบริการ เริ่มตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพันบาท ขึ้นอยู่กับลายที่เลือก ร้านหรือยี่ห้อของน้ำยาเราสามารถเลือกวิธีทำเล็บให้สวยสมใจและปลอดภัยได้ดังนี้- ล้างเล็บอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยป้องกันหน้าเล็บเสียโฉม ซึ่งเราควรเลือกทำเล็บกับช่างผู้ชำนาญ- เว้นช่วงการทำเล็บบ้าง เพื่อให้เล็บเกิดการซ่อมแซมตัวเอง ‪ซึ่งหากพบว่าหน้าเล็บบาง ถลอก หรืออักเสบ ควรดูแลจนกว่าจะหายแล้วค่อยทำใหม่ ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน แต่หากพบว่าเล็บไม่มีปัญหาอะไรก็สามารถเว้นระยะ 1-3 เดือนแล้วค่อยทำอีกครั้งก็ได้ ‬‬‬- บำรุงเล็บและมือเสมอ ด้วยการทาครีมกันแดดก่อนเข้าเครื่องอบเล็บเจล และทาครีมบำรุงมือและเล็บเป็นประจำ นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อเล็บ เช่น อาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารประเภทโปรตีนอย่าง ถั่ว ปลา เต้าหู้ หรืออาหารที่มีวิตามิน A C และ E สูง เช่น กล้วย แคนตาลูป ผักใบเขียว พืชตระกูลถั่ว มะม่วง มะละกอ พริกไทย ฟักทอง มะเขือเทศและเมล็ดธัญพืช หรืออาหารที่มีแร่ธาตุสังกะสี เช่น อาหารทะเล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 สักปากชมพู ดีจริงหรือ

สีสันที่สวยงามบนริมฝีปากเป็นสิ่งที่สาวๆ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ ซึ่งสีที่ได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลายคงหนีไม่พ้นสีชมพูหรือแดงอ่อนๆ อย่างเป็นธรรมชาติ เพราะเชื่อว่าช่วยทำให้ใบหน้าหวานและอ่อนเยาว์ขึ้นได้ โดยปัจจุบันมีหลายๆ วิธีที่จะทำให้ริมฝีปากมีสีสันดังกล่าว ซึ่งการสักปากก็เป็นหนึ่งทางเลือกที่คนให้ความสนใจ เนื่องจากมีการโฆษณาว่าสามารถทำให้ปากชมพูได้ถาวร ไม่ต้องทาลิปสติกเพิ่มและดูเป็นธรรมชาติ อย่างไรก็ตามการสักปากชมพูจะทำให้เราสวยสมใจและมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ลองมาดูกัน มาดูสีปากตามธรรมชาติของเราก่อนสีของริมฝีปากตามธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติหรือพันธุกรรมของเรา โดยมีทั้งสีชมพูอ่อน-เข้ม สีแดงและสีคล้ำ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงกลายเป็นคล้ำขึ้นได้อีก เมื่อเราอายุมากขึ้นหรือมีปัจจัยอื่นๆ มากระตุ้น เช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานยาบางชนิดหรือการใช้ลิปสติก มารู้จักการสักปากชมพูกันบ้างการสักปากชมพูเป็นการเปลี่ยนสีปากตามธรรมชาติของเรา ด้วยการใช้สีแดงหรือส้มสักลงไปที่ริมฝีปาก หรือขอบปาก เพื่อทำให้ปากกลายเป็นสีชมพูหรือแดงอ่อนๆ ซึ่งส่วนใหญ่หลังสักแล้วสีสันจะยังไม่ออกชัดเจนมากนัก ทำให้ต้องมีการสักซ้ำหรือเติมสีใหม่เรื่อยๆ ทั้งนี้การสักปากชมพูสามารถช่วยเหลือและสร้างความสวยงามให้กับผู้ที่แพ้ลิปสติก หรือมีความบกพร่องของริมฝีปาก เช่น ไม่มีขอบปาก รวมทั้งผู้ที่อาจมีความยากลำบากในการแต่งหน้า เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคข้อ โรคที่ทำให้มือสั่นหรือเคลื่อนไหวมือไม่สะดวก และผู้มีปัญหาด้านสายตาให้สามารถมีริมฝีปากที่สวยงามได้อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้มีข่าวเกี่ยวกับสีหรือหมึกที่ใช้สักว่า ยังไม่มีความปลอดภัย เนื่องจากหลังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างสีที่ใช้สักมาตรวจสอบคุณภาพก็พบการปนเปื้อนของโลหะหนักอย่างสารหนูและสารตะกั่ว ซึ่งอาจส่งผลต่อการเป็นมะเร็งและโรคหลายชนิดได้ รวมทั้งยังสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ เป็นผื่นหรือตุ่มแดง โดยบางรายอาจเกิดอาการคันในตำแหน่งของรอยสักนั้นๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ผิวหนังอักเสบได้ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในบริเวณที่ทำ เนื่องจากจากเข็มหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องไม่สะอาด และอาจทำให้เกิดแผลเป็นที่มีลักษณะเป็นเนื้อนูนที่ผิวหนังได้อีกด้วยเราควรตรวจสอบอะไรบ้างก่อนตัดสินใจแม้การสักปากชมพูจะช่วยอำนวยความสะดวกหลายอย่าง แต่ก็สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนาได้ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ยังไม่ได้จัดให้หมึกสำหรับสักลายเป็นเครื่องสำอาง และยังไม่มีข้อบังคับว่าให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องปราศจากเชื้อ เราจึงควรระมัดระวังและตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นก่อนตัดสินใจสักปากชมพู ดังนี้- ตรวจสอบอุปกรณ์ว่ามีความสะอาดหรือไม่ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือเชื้อเอชไอวี- ตรวจสอบสถานบริการ โดยเราควรเลือกใช้บริการจากผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ- ตรวจสอบประวัติการแพ้ยาและโรคของตัวเอง เช่น หากเคยมีประวัติเคยเป็นเริมที่ริมฝีปาก ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อขอรับประทานยาป้องกันโรคก่อนสัก รวมทั้งหากมีประวัติแพ้สารใดมาก่อน ควรพิจารณาส่วนประกอบสำคัญของสีที่ใช้สักอย่างละเอียด รวมทั้งไม่ควรสักในขณะที่ริมฝีปากอักเสบหรือเป็นแผล- ตรวจสอบราคาก่อนตัดสินใจ ซึ่งแต่ละสถานบริการจะคิดราคาต่างกันเริ่มตั้งแต่ 4,000 – 8,000 บาท - ตรวจสอบวิธีการดูแลรักษาริมฝีปากหลังการสักอย่างเคร่งครัด เนื่องจากการสักปากจะทำให้บริเวณริมฝีปากมีความบอบบางมากเป็นพิเศษ โดยช่วงแรกควรหลีกเลี่ยงอาหารที่สามารถทำให้ผิวหนังเกิดอาการบวมน้ำหรือทำให้แผลหายช้า เช่น อาหารรสจัด อาหารหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสรุนแรง และไม่ควรแกะเกาแผลขณะกำลังตกสะเก็ด เพราะอาจจะไปดึงเอาเนื้อที่ยังไม่ลอกหรือเนื้อแท้ออกมาด้วย นอกจากนี้ยังต้องใช้ขี้ผึ้งหรือลิปมัน เพิ่มความชุ่มชื้นให้ริมฝีปากสม่ำเสมอ เนื่องจากการสักปากจะทำให้ริมฝีปากแตกแห้งมากขึ้น รวมทั้งยังต้องหมั่นไปเติมสีเพื่อให้ริมฝีปากสวยงามอยู่ตลอดอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤษภาคม 2559ไขข้อข้องใจการเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มเป็นแบบชิปการ์ดธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกมาชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตเป็นแบบชิป(Chip Card) หลังจากมีกระแสข้อสงสัยหลายเรื่องถูกแชร์ต่อๆ กันในโลกออนไลน์ เช่นว่าการเปลี่ยนบัตรต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือไม่ หรือเมื่อเปลี่ยนบัตรพนักงานธนาคารจะเปลี่ยนให้เป็นบัตรที่พ่วงประกันซึ่งมีค่าธรรมเนียมรายปีสูงกว่า ฯลฯโดยข้อเท็จจริงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงออกมามีดังนี้1.ผู้ที่ออกบัตรใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2559 เป็นต้นไป จะได้รับบัตรเป็นแบบชิป ซึ่งธปท.บอกว่ามีความปลอดภัยในการใช้งานกว่าบัตรแบบเดิม(แถบแม่เหล็ก)2.บัตรแบบเดิมยังใช้งานได้ถึง 31 ธันวาคม 2562 หรือตามกำหนดของธนาคารแต่ละแห่ง3.คนที่อยากเปลี่ยนบัตรเป็นแบบชิปสามารถแจ้งกับธนาคารได้ทันที โดยมีค่าธรรมเนียมตามธนาคารแต่ละแห่งจะกำหนด4.ธนาคารบางแห่งอาจยกเว้นค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนบัตร เพื่อส่งเสริมการขาย ซึ่งก็เป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคารแต่ละแห่ง5.บัตรแบบชิปสามารถใช้ได้กับตู้เอทีเอ็มได้ตามปกติ แต่ในระยะแรกอาจมีตู้บางตู้ในบางพื้นที่ของบางธนาคารที่ยังไม่พร้อมในการใช้งาน โดยตู้ที่ยังไม่รองรับจะมีการแสดงข้อความให้ผู้ใช้บริการทราบปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตให้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละบัตรมีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปีแตกต่างกัน ก่อนใช้บริการทุกครั้งควรสอบถามข้อมูลกับพนักงานให้ชัดเจน เพื่อให้ได้บัตรที่ตรงกับความต้องการของเรามากที่สุด และมีสิทธิปฏิเสธการใช้บริการหากไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน   สั่งปิด “โรงพยาบาลเดชา”กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ได้มีคำสั่งปิดการให้บริการของโรงพยาบาลเดชา พญาไท ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.2559 ที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่า รพ.อยู่ในสถานภาพที่ไม่พร้อมให้บริการ ถูกตัดไฟ มีแพทย์เหลือเพียงแค่ 1 คน ซึ่งการสั่งปิดเป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541สบส.เชื่อว่าการสั่งปิดโรงพยาบาลเดชา จะไม่กระทบกับผู้ป่วย เพราะทาง รพ.ทราบอยู่ก่อนแล้ว โดยก่อนที่ รพ.จะถูกสั่งปิดมีผู้ป่วยในที่ยังคงรักษาจำนวน 7 คน เป็นผู้ป่วยในระบบประกันสังคม โดยได้ประสานส่งตัวไปรักษายัง รพ.อื่นต่อไป ส่วนผู้ป่วยนอกนั้นมีน้อยอยู่แล้ว จึงไม่น่าเกิดผลกระทบอะไรกับผู้ป่วย รพ.เดชา พญาไท เปิดดำเนินกิจการมายาวนานกว่า 35 ปี ก่อตั้งโดย นพ.เดชา สุขารมณ์ แต่ที่ผ่านมาได้ให้บริษัท ศรีอยุธยา จำกัด เช่าและบริหารงานโรงพยาบาลเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยคิดค่าเช่าเดือนละ 1 ล้านบาท แต่ผู้เช่ารายดังกล่าวได้ค้างค่าเช่าเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท ทำให้เป็นคดีความกันอยู่ ส่งผลต่อการบริหารงานใน รพ.ก่อนจะมาถูกสั่งให้ปิดการให้บริการลงในที่สุด ภาคประชาชนค้านนโยบายเลิกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากการที่มีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังจะมีนโยบายยกเลิกจ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้เกินเดือนละ 9,000 บาท หรือมีสินทรัพย์สูงเกิน 3 ล้านบาท เพื่อลดภาระงบประมาณด้านสวัสดิการภาครัฐ ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนต้องออกมารวมตัวกันแถลงไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะเป็นการลดทอนสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ และเป็นการกระทำโดยไม่ยึดหลักเรื่องความเสมอภาคเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ประกอบด้วยเครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายสวัสดิการชุมชน และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านนโยบายดังกล่าว พร้อมทั้งมีข้อเรียกร้องให้กระทรวงการคลัง เลือกใช้วิธีอื่นในการแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณไม่ใช่การลดสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นงบประมาณที่ได้จากการเก็บภาษีโดยในการเก็บภาษีก็ไม่ได้แบ่งแยกคนรวยคนจน ดังนั้นเรื่องการจัดสรรสวัสดิการพื้นฐานก็ไม่ควรแบ่งแยกคนรวยหรือคนจนเช่นกัน อย. ยัน “Derma Roller” อันตราย!!! ห้ามใช้เด็ดขาดอย.ได้ออกมายืนยันแล้วว่า เครื่องลูกกลิ้งนวดหน้า (Derma Roller) ที่โอ้อวดว่าช่วยรักษารอยสิว รอยแผลเป็นบนใบหน้า ลบรอยเหี่ยวย่น เป็นสินค้าที่ไม่มีการอนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่เพียงพอในการสนับสนุนประสิทธิภาพ หรือข้อบ่งใช้ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พร้อมฝากเตือนว่าตามที่สินค้าดังกล่าวโฆษณาโอ้อวดไว้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้คนที่มีปัญหารอยแผลจากสิว มีริ้วรอยเหี่ยวย่นกลับมามีผิวที่มีสุขภาพดีขึ้นได้ ทำให้หน้าเรียบใส โดยการทำให้ผิวเกิดรอยแผล แล้วผิวจะซ่อมแซมตัวเองโดยการสร้างคอลลาเจนขึ้นมาใหม่นั้น เป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบที่ผิวหนัง เกิดการระคายเคืองจากสารที่ทาบนผิวหนัง และอาจเป็นอันตรายต่อดวงตาเมื่อนำไปใช้ใกล้บริเวณรอบๆ ดวงตา หากอุปกรณ์ไม่สะอาดก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ เพราะฉะนั้นไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยเด็ดขาด เจอสารเคมีปนเปื้อนในผัก-ผลไม้เพียบ แม้แต่ที่มีตรา “Q” ก็เจอเกินมาตรฐานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือ Thai-PAN เปิดเผยผลการสุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมรับประทาน เช่น กะหล่ำปลี แตงกวา ผักบุ้งจีน มะเขือเทศ ผักกาดขาวปลี คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ กะเพรา และพริกแดง แตงโม มะม่วงน้ำดอกไม้ มะละกอ แก้วมังกร ฝรั่ง และส้มสายน้ำผึ้ง  รวมทั้งหมด 138 ตัวอย่าง พบว่ามีผักและผลไม้ตกค้างเกินมาตรฐานนั้นสูงถึง 46.4% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่ตรวจ จากผลการวิเคราะห์พบประเด็นที่น่าสนใจคือ ผักและผลไม้ซึ่งได้รับตรา Q โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด  โดยพบสูงถึง 57.1% นอกเหนือจากนั้นผักและผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับการรับรอง Organic Thailand ซึ่งไม่ควรตรวจพบการตกค้างของสารเคมีกลับพบการตกค้างสูงเกินมาตรฐานถึง 25% ของจำนวนตัวอย่างโดยหลังจากที่ได้มีการเผยแพร่ผลการวิเคราะห์ออกไป กลับได้รับคำตำหนิจากหน่วยงานรัฐอย่างกรมวิชาการเกษตรที่ออกมาให้ข่าวว่าจะดำเนินการฟ้องร้อง Thai-PAN ที่สร้างความเสียหายต่อหน่วยงานรัฐ สร้างความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภคแต่ทั้งนี้ Thai-Pan ก็เตรียมฟ้องกรมวิชาการเกษตรในฐานที่ละเลยการตรวจสอบคุณภาพผัก-ผลไม้ โดย น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการโครงการกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่าประเด็นการฟ้องร้องจะแบ่งเป็น 2 กรณีคือ 1.กรมวิชาการเกษตรละเลยการควบคุมสินค้าที่มีเครื่องหมาย Q เนื่องจากพบปัญหาสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานทั้งที่ผ่านการรับรองแล้ว 2.พบการตกค้างของสารอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งเป็นสารเคมีที่ห้ามจำหน่ายในประเทศไทย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 2558 พบกล่องทีวีดิจิตอลตกมาตรฐาน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.ได้แจ้งมายังบอร์ด กสท.ว่าจากการสุ่มตรวจมาตรฐานทางเทคนิคของกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลในตลาดจำนวน 20 รุ่น พบว่ามีกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลจำนวน 6 รุ่น จาก 4 ยี่ห้อ มีการใช้ระบบเสียงไม่ถูกต้องตามตามที่แจ้งไว้ต่อ กสทช. ซึ่งจากนี้จะมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการทั้ง 4 ยี่ห้อที่มีการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานเดินทางมาชี้แจงยัง กสทช.โดยด่วน กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลที่ไม่ผ่านมาตรฐานทางเทคนิค ได้แก่ ยี่ห้อเอเจ รุ่น SVB-93 และ รุ่น DVB-92, ยี่ห้อครีเอเทค รุ่น CT-1 และ CT4, ยี่ห้อฟินิกซ์ รุ่น T2color และ ยี่ห้อโซเคน รุ่น DB233 สำหรับผู้บริโภคที่ได้นำคูปองไปแลกซื้อกล่องที่การตรวจพบว่าไม่ได้มาตรฐานไปแล้ว หากเกิดปัญหาจากการใช้สินค้า ทาง กสทช.จะหารือกับผู้ประกอบการเพื่อทางแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ ----------------------------------------------------------------------------------------   ห้ามใช้แล้ว!!! สาร “บีพีเอ” ในขวดนม จากนี้ไปคุณแม่ที่จะซื้อขวดนมให้ลูกน้อยต้องดูให้ดีว่าขวดนมพลาสติกที่ซื้อทำมาจากพลาสติกชนิดที่ชื่อว่า “พอลิคาร์บอเนต” หรือเปล่า เพราะอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสาร “บีพีเอ” หรือ สารบิสฟีนอลเอ ซึ่งเป็นสารที่ อย.ยืนยันแล้วว่าอาจเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 369) พ.ศ. 2558 เรื่อง ขวดนม และภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพื่อควบคุมการใช้สารพีบีเอในขวดนมและภาชนะสำหรับทารกอีกหลายประเภท กฎหมายฉบับนี้ควบคุบผลิตภัณฑ์สำหรับทารก ทั้งผลิตภัณฑ์ประเภทขวดนมและภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็กแบบใช้ซ้ำ เช่น ถ้วยหัดดื่ม ห้ามใช้พอลิคาร์บอเนตโดยเด็ดขาด โดยวัสดุอื่นทดแทน ได้แก่ แก้วชนิดบอโรซิลิเคต และพลาสติกชนิดพอลิพรอพิลีน พอลิอีเทอร์ซัลโฟน ส่วนภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็กแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ถุงพลาสติกที่ใช้เก็บน้ำนมมารดา ถุงพลาสติกบรรจุนมแบบใช้ครั้งเดียวที่ต้องใช้ร่วมกับขวดนม ให้ใช้วัสดุที่อนุญาต ได้แก่ พอลิพรอพิลีน และ พอลิเอทิลีน สำหรับหัวนมยาง ให้ใช้วัสดุที่อนุญาตได้แก่ ยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ ปัจจุบันแม้องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้จัดสารบีพีเอเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ก็มีข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง ว่าสารพีบีเออาจมีผลไปขัดขวาง การทำงานของฮอร์โมนเอสโทรเจนในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อระบบการสืบพันธุ์และระบบการผลิตฮอร์โมน นอกจากนี้หลายๆ ประเทศมีการห้ามผลิตหรือจำหน่ายขวดนมพอลิคาร์บอเนตแล้ว เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา เป็นต้น -------------------------------------------------------------------------------- “คะน้า - ถั่วฝักยาว” เจอสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ได้แถลงผลการสุ่มทดสอบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่ามีผักที่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขสูงถึง 22.5% โดยพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานในกะเพรามากที่สุด 62.5% ถั่วฝักยาวและคะน้าพบ 32.5% ผักบุ้งจีน กวางตุ้ง และมะเขือเปราะพบตกค้าง 25% แตงกวาและพริก12.5% ส่วนผักกาดขาวปลีและกะหล่ำปลีไม่พบการตกค้าง จากผลที่ออกมาทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องออกสุ่มทดสอบผักในท้องตลาดด้วยเช่นกัน เพราะถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง ซึ่งผลที่ได้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ยอมรับว่ามีผักที่พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานอยู่ในท้องตลาดจริง แม้จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วไม่เท่ากับผลของทาง Thai-PAN แต่นั้นก็เป็นการยืนยันชัดเจนว่าคนไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพจากกินผัก โดยผัก 2 ชนิดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่าที่การตกต้างของสารเคมีค่อนข้างสูงคือ คะน้าและถั่วฝักยาว โดยหลังจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะส่งเจ้าหน้าที่ไปสุ่มตรวจผักตามตลาดต่างๆ เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ผู้บริโภคก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการซื้อผัก เลือกซื้อผักตามฤดูกาล และล้างผักให้สะอาดก่อนรับประทาน ------------------------------------------------------------------------------------ “ผักเม็ด-ส้มเม็ด” หลอกลวงสรรพคุณ คนป่วยกินอาการยิ่งทรุด คนไทยยังคงตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลอกลวงสรรพคุณ ล่าสุดพบอาหารเสริม “ผักเม็ด” และ “ส้มเม็ด” โฆษณาอวดอ้างว่าสามารถรักษาโรคเบาหวานได้ เมื่อมีผู้ป่วยหลงเชื่อคำโฆษณาหาซื้อมารับประทานกลับพบว่าอาการทรุดลง อาการแผลที่เท้าซ้ายบวมแดงและปวดมากกว่าปกติ อีกทั้งยังพบระดับน้ำตาลในเลือดสูงถึง 552 mg (ซึ่งค่าปกติควรอยู่ที่ 82 - 110 mg) ผักเม็ดมีลักษณะภายในเป็นของเหลวคล้ายน้ำมันตับปลา ส่วนส้มเม็ดมีลักษณะเป็นผงบรรจุในแคปซูล โดยผู้ขายแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวชนิดละ 4 เม็ด เช้า - เย็น และให้ใช้ทาแผลด้วย อย.ฝากเตือนถึงที่คิดจะกินอาหารเสริมเพื่อหวังผลในการรักษาโรคนั้น ขอให้คิดไว้เสมอว่าเป็นเรื่องที่โอ้อวดหลอกลวง เพราะอาหารไม่ใช่ยา ไม่มีผลในการรักษาโรค ยิ่งผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องรับประทานอาหารเสริมอย่างระมัดระวังเพราะอาจส่งผลต่อการเจ็บป่วยหนักได้ -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เคลือบฟันเทียม “วีเนียร์” ระวังได้ไม่คุ้มเสีย การเคลือบสีฟันเทียม หรือ วีเนียร์ (veneers) ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยทำให้สีฟันขาวขึ้นและปรับรูปฟันให้สวยงาม กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะกับกลุ่มสาวๆ ที่อยากมีฟันขาวสว่างใส พร้อมกับการที่มีสถานเสริมความงามด้านทันตกรรมเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่การทำเคลือบสีฟันมีผลโดยตรงต่อสุขภาพของฟันและเหงือกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การทำเคลือบผิวฟันเทียม คือการแปะวัสดุลงบนผิวฟันเพื่อเปลี่ยนสีผิวฟัน ซึ่งเดิมทีมีไว้ใช้แก้ปัญหาผู้ที่มีผิวฟันสีผิดปกติ เช่น ฟันตกกระ ฟันเป็นแถบสีน้ำตาลหรือดำ จากการกินยาแก้อักเสบกลุ่มเตตราไซคลิน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีการฟอกสีฟันได้ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะต้องกรอผิวฟันออกไปเล็กน้อยเพื่อแปะวัสดุใหม่ลงไปให้เท่ากับผิวฟันเดิมไม่ให้นูนขึ้นมามากเกินไป ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าการกรอฟันเป็นการทำลายผิวเคลือบฟันที่ดีออกไปและจะไม่มีวันขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้การปิดวัสดุนั้นต้องทำด้วยเทคนิคที่ดี วัสดุที่ปิดฟันต้องพอดีกับตัวเนื้อฟันไม่มีส่วนเกินเข้าไปในเหงือก หรือ มีรูรั่ว เพราะอาจทำให้เกิดเหงือกอักเสบ เกิดหินปูน เหงือกร่น ทำให้เกิดพื้นที่ให้เชื้อโรคไปเกาะและเกิดปัญหากลิ่นปากได้ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะทำเคลือบฟันเทียมต้องศึกษาให้ดี เคลือบฟันเทียบย่อมไม่มีแข็งแรงเท่าเคลือบฟันแท้ และการทำให้สีฟันขาวขึ้นยังมีวิธีอย่างการฟอกสีฟันซึ่งไม่ส่งผลเสียต่อเคลือบฟัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมีนาคม 2557 อย.วอนพ่อค้าแม่ค้า อย่าใส่ฟอร์มาลินในอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ต้องออกโรงเตือนกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าว่า สารฟอร์มาลิน หรือ ฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ใครนำไปใช้มีความผิด มีโทษทั้งจำทั้งปรับ พร้อมกันนี้ อย. ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังร้านขายยาทั่วประเทศให้ระมัดระวังในการขายฟอร์มาลิน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หลังมีการตรวจพบฟอร์มาลินปนเปื้อนในปริมาณค่อนข้างสูงในอาหารสด เช่น อาหารทะเล ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ โดยที่จังหวัดขอนแก่น พบว่าตัวอย่าง ปลาหมึกกรอบ และสไบนาง (ส่วนหนึ่งของเครื่องในวัว) มีฟอร์มาลินปนเปื้อนถึงร้อยละ 90 จากตัวอย่างที่เก็บได้ตามตลาดสด ฟอร์มาลินเป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ตามพระราชบัญญัติอาหาร ซึ่งหากฝ่าฝืน จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ     สารเคมีกำจัดศัตรูพืช “ระเบิดเวลา” ฆ่าชีวิตเกษตรกรไทย โครงการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและพัฒนากลไก เพื่อยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Thailand Pesticide Alert Network : Thai-PAN) ได้จัดประชุมวิชาการเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช "สร้างสังคมไทยให้ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช" โดยในเวทีได้มีการนำเสนอข้อมูล จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) พบว่าผลการตรวจเลือดเกษตรไทย ระหว่างปี 2554-2556 มีจำนวนผู้ที่เสี่ยงอันตรายจากสารเคมีทางการเกษตรถึง 32%  นอกจากนี้ยังมีข้อมูลทางวิชาการที่ชี้ให้เห็นว่า การตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในร่างกายของคนเรานั้น ส่งผลให้เกิดโรครุนแรงจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง สมองเสื่อม หอบหืด ทารกในครรภ์ไม่เติบโต แท้งลูก และเบาหวาน ด้านกรมวิชาการเกษตร ได้นำเสนอข้อมูลปริมาณการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร พบว่าปี 2556 ประเทศไทยนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืช 8.7 หมื่นตัน มากกว่าปี 2550 ประมาณ 28% ซึ่งหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาสารเคมีทางการเกษตรในบ้านเรา ก็คือการยกเลิกการนำเข้า จำหน่าย และใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรง ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลพบว่าในประเทศไทยเรามีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ควรยกเลิกการใช้กว่า 155 ชนิด โดยในจำนวนนั้นมีสารที่ควรยกเลิกโดยเร็ว เช่น คาร์โบฟูราน เมททิลโบรโมด์  เมธิลดาไธออน เมโทมิล พาราควอท  ฯลฯ ซึ่งเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพยายามอย่างยิ่งเพื่อให้การยกเลิกเกิดขึ้นจริงในบ้านเราโดยเร็วที่สุด ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของประเทศ     เทรนด์ใหม่ผู้บริโภค “แฉออนไลน์” ช่วง 2- 3 เดือนที่ผ่านมา ใครที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับผู้บริโภคทางสังคมออนไลน์ คงจะได้เห็นปรากฏการณ์ "แฉ" จากเหล่าผู้บริโภคที่เจอปัญหาเรื่องอาหารไม่ปลอดภัยและการปนเปื้อนในอาหาร ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ป๊อปคอร์นยี่ห้อดังเจอตั๋วรถเมล์ปนมากับเมล็ดป๊อปคอร์น นมพร้อมดื่มบรรจุกล่องที่พบว่าในกล่องมีการเติมโตของเชื้อราที่ดูแล้วน่าตกใจและไม่น่าปลอดภัยกับผู้บริโภค และที่น่าจะได้รับการพูดถึงในสังคมมากที่สุดคงหนีไม่พ้นกรณีที่มีผู้บริโภคท่านหนึ่งพบแมลงสาบอยู่ในไอศกรีมที่ซื้อจากร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง ซึ่งการที่ผู้บริโภคนำปัญหาที่ตัวเองพบเจอมาเปิดเผยต่อสาธารณะผ่านสังคมออนไลน์ ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งในการพยายามเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นว่าได้รับผลตอบรับที่ดี เพราะทั้งได้รับความสนใจจากบริษัทผู้ผลิตที่เป็นต้นเหตุของปัญหา ปัญหาของผู้บริโภคได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว สื่อมวลชนได้เห็นปัญหาแล้วนำเรื่องไปขยายต่อในวงกว้าง ผู้บริโภคคนอื่นๆ เองก็ได้รับรู้ปัญหา และนำไปเป็นบทเรียนเพื่อป้องกันและแก้ไขได้เวลาที่ตัวเองเจอปัญหาแบบเดียวกัน แม้ว่าในท้ายที่สุดทุกปัญหาอาจจะไม่ได้รับการแก้ไขในทันที เช่น กรณีที่ผู้บริโภคเจอแมลงสาปในไอศกรีม ผู้ประกอบการปฏิเสธที่จะยอมรับผิด โดยอ้างว่าผู้บริโภคซื้อไอศกรีมถ้วยดังกล่าวออกไปจากร้าน แล้วทิ้งเวลานานกว่าจะกลับมาแจ้งว่าเจอปัญหา แต่รูปแบบการแก้ปัญหาในลักษณะนี้ของผู้บริโภคก็น่าจะจุดประกายเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคของบริษัทต่างๆ ในบ้านเราให้มีเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต     ผู้บริโภคลงนามความร่วมมือกับทรูแก้ปัญหาโรมมิ่ง คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้จัดงาน “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” (World Consumer Rights Day) โดยปีนี้ได้ชูประเด็นปัญหาเรื่องการใช้งานบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างประเทศ (International Roaming)หลังจากที่มีผู้บริโภคร้องเรียนผ่านมาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าถูกเรียกเก็บค่าบริการโรมมิ่งเป็นเงินสูงถึง 1.3 ล้านบาท หลังจากผู้เสียหายได้เปิดใช้บริการที่ประเทศซาอุดิอาระเบียในระยะเวลาแค่ 14 วัน หรืออีกหนึ่งกรณีที่ผู้บริโภคได้เปิดแพ็กเกจโรมมิ่งในประเทศฝรั่งเศส แล้วเจอเรียกเก็บค่าบริการถึง 1.6 แสนบาท ทั้งที่มีการกำหนดวงเงินค่าบริการ (credit limit) แต่การจำกัดวงเงินดังกล่าวไม่รวมถึงบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ซึ่งตัวอย่างปัญหาเหล่านี้ เกิดจากการที่บริษัทผู้ให้บริการไม่แจ้งข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนกับผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการคิดค่าบริการ อัตราค่าบริการ และวิธีการปิดระบบการใช้งานโรมมิ่ง ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลสำคัญและจำเป็นต่อผู้บริโภคทั้งสิ้น นอกจากนี้ภายในงาน คณะกรรมการองค์การฯ ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ร่วมกับ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือบริษัททรู เพื่อเป็นข้อตกลงว่าทางบริษัทจะให้การดูแลผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้มีวงเงิน (credit limit)  เพื่อใช้บริการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้บริโภคสามารถร้องขอไปยังผู้ประกอบการเพื่อปรับลด หรือเพิ่มวงเงินได้ และให้มีช่องทางการแจ้งเตือนเมื่อค่าใช้จ่ายใกล้ครบวงเงินที่กำหนด ซึ่งบริษัทต้องมีระบบระงับการให้บริการ และให้มีหมายเลขโทรศัพท์ฟรีให้ผู้บริโภคได้โทรเข้ามาแจ้งได้ว่า จะขอระงับการใช้ทันทีหรือต่ออายุการใช้งาน และให้แยกงานใช้งานบริการเสียงและข้อมูล (Voice and Data) ออกจากกัน ซึ่งทางคณะกรรมการฯได้แจ้งว่าได้มีการเชิญผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยทั้ง 3 ค่ายคือ ทรู ดีแทค และ เอไอเอส แต่มีเพียง ทรู เจ้าเดียวเท่านั้นที่ตอบตกลงร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้     ถึงเวลาเดินหน้าปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภคไทย คณะกรรมการองค์การอิสระผู้บริโภคภาคประชาชน ร่วมกับเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป จัดเวทีเสวนาสาธารณะเรื่อง "การปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค" เพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐ ให้เกิดการพัฒนาเรื่องการคุ้มครองดูแลผู้บริโภคในประเทศไทย ไปพร้อมกับการผลักดันให้เกิดกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยเสียที หลักจากที่องค์กรผู้บริโภคลงมือลงแรงเพื่อให้เกิดกฎหมายสำหรับผู้บริโภคฉบับนี้มาแล้วกว่า 16 ปี โดยในงานได้มีการพูดคุยและแสดงข้อคิดเห็นของสถานการณ์ผู้บริโภคในบ้านเรา จากทั้งนักวิชาการ ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงตัวแทนจากภาคประชาชน ซึ่งในเวทีเสวนาก็ได้มีข้อสรุปเบื้องต้นเป็นข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา 5 มาตรการสำคัญในการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภค 1.เร่งรัดการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 2.พัฒนากลไกยกเลิกสินค้าอันตรายอัตโนมัติ เช่น ยาอันตราย สารเคมีอันตราย หรือสินค้าอันตรายที่พบว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยยึดหลัก one ban all ban 3. การเยียวยาเชิงลงโทษ ที่ทันท่วงทีและอัตโนมัติ 4. มีหน่วยงานเดียวรับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ข้อมูล รับเรื่องร้องเรียน และคุ้มครองผู้บริโภค แบบ one stop service 5. สนับสนุนองค์กรผู้บริโภค เพื่อให้มีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภค การเผยแพร่ข้อมูล การเข้าถึงห้องทดลอง การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งตรวจสอบหน่วยงานรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคได้มากขึ้น //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 2556 ดื่มน้ำแร่...อาจจะแย่ก็ได้ ใครที่คิดว่าดื่มน้ำแร่ทุกวันดีต่อสุขภาพคงจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาเตือนคนที่ชอบนิยมดื่มน้ำแร่เป็นประจำว่า มีโอกาสเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับแร่ธาตุบางชนิดในปริมาณที่สูงเกินความจำเป็น ในน้ำแร่ซึ่งเป็นน้ำที่ได้จากใต้ดินจากแหล่งกำเนิดน้ำตามที่ต่างๆ เช่น บนภูเขา น้ำพุร้อนใต้ผิวโลก จะมีแร่ธาตุต่างๆ เป็นส่วนผสม เช่น ฟลูออไรด์ แมงกานีส ฯลฯ ซึ่งพวกแร่ธาตุเหล่านี้มีปริมาณที่เป็นมาตรฐานที่เหมาะสมกับร่างกาย อย่าง ฟูลออไรด์สำหรับดื่มค่ามาตรฐานไม่ควรเกิน 0.7 มิลลิลิตร/ลิตร หากเกินจากนี้อาจมีผลต่อกระดูกและฟัน ธาตุเหล็กไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม/ลิตร แมงกานีสไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัม/ลิตร ทองแดงไม่เกิน 1.0 มิลลิกรัม/ลิตร และสังกะสีไม่เกิน 5.0 มิลลิกรัม/ลิตร   เพราะฉะนั้นก่อนดื่มน้ำแร่ครั้งต่อไปอย่าลืมอ่านฉลากดูปริมาณแร่ธาตุต่างๆ ให้ดี ที่สำคัญการดื่มน้ำแร่ราคาแพงๆ ก็ไม่ได้การรันตีว่าจะทำให้เรามีสุขภาพที่ดี ได้เท่ากับการที่เราเลือกดื่มน้ำสะอาดธรรมดาๆ และรับประทานอาหารครบ 5 หมู่เป็นประจำ เท่านี้ก็เพียงพอแล้วต่อการดูแลสุขภาพร่างกายของเรา ------------------------------------------------   รับฝากเงินพ่วงทำประกันชีวิตเพิ่มมั้ยค่ะ!? ใครที่เคยเจอปัญหาถูกเจ้าหน้าที่ธนาคารกล่อมให้ซื้อประกันหรือให้ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ เช่นซื้อกองทุน ตราสารหนี้ พ่วงกับการฝากเงินหรือทำธุรกรรมการเงินอื่นๆ โดยยกมาเพียงแต่ตัวเลขของผลตอบแทนที่ได้ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดด้านการลงทุนหรือความเสี่ยงอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จากนี้ไปเหตุการณ์แบบนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศเรื่อง แนวนโยบายการกำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ หลังจากพบว่ามีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยของธนาคารพาณิชย์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศนี้จะมากำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ ที่ต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งการต้องเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ และผลตอบแทนที่ผู้บริโภคจะได้รับ ให้เห็นความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์หลักของธนาคารพาณิชย์ กับผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัย ซึ่งไม่ใช่เงินฝาก ที่อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับเงินต้นคืนไม่เต็มจำนวนเมื่อถอน ประเด็นสำคัญคือห้ามธนาคารพาณิชย์บังคับขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยควบคู่กับผลิตภัณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งเรื่องการส่งเสริมการขายและการเสนอขายต่างๆ ก็ต้องไม่เป็นการรบกวนผู้บริโภคและโฆษณาเกินจริง ผู้บริโภคต้องมีสิทธิปฏิเสธไม่ขอรับบริการได้ ------------------------------------------   เรื่องที่คนซื้อทองต้องรู้ ช่วงนี้ร้านทองตามที่ต่างๆ กำลังคึกคักกันน่าดู หลังจากที่ราคาทองถูกปรับลดลงมา หลายๆ คนต่างก็ไปจับจองเป็นเจ้าของทองคำกันจนแน่นร้านทอง แต่จะซื้อทองทั้งทีก็ต้องให้มั่นใจว่าทองที่ซื้อเป็นของดีมีคุณภาพ เป็นทองคำแท้ ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงฝากคำแนะนำสำหรับคนที่กำลังคิดจะซื้อทอง ก่อนซื้อทองทุกครั้งต้องไม่ลืมดูน้ำหนักทองให้ดี ต้องมีการชั่งน้ำหนักทองก่อนซื้อทุกครั้ง ทองคำ 1 บาทต้องมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 15.16 กรัม (ต้องเป็นทศนิยม 2 ตำแหน่ง) ที่สำคัญตราชั่งที่ใช้นั้นต้องมีความเสถียรที่ 0.00 หน่วย อย่าลืมสอบถามโรงงานที่ผลิตทองคำจากผู้ขาย เพราะในเนื้อทองคำต้องมีตราประทับของโรงงานที่ผลิต ซึ่งโรงงานที่ผลิตทองคำในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 64 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ 61 แห่ง จ.ตรัง 1 แห่ง จ.สงขลา 1 แห่ง และ จ.ขอนแก่น 1 แห่ง โดยทั้ง 64 โรงงานนี้ สคบ. ได้เข้าไปตรวจสอบและให้การรับรองมาตรฐานของทองคำที่ผลิตว่าสัดส่วนทองคำที่ 96.5% และต้องเลือกร้านทองที่ได้มาตรฐาน มีการแสดงราคาขายทองแท่งและทองรูปพรรณของแต่ละวันชัดเจน มีการแสดงราคารับซื้อคืน รวมถึงค่ากำเหน็จ --------------     หนังสั้น “เล่าเรื่องผู้บริโภค” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ) และแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดกิจกรรมฉายหนังสั้น “เล่าเรื่องผู้บริโภค 6+1” เพื่อส่งต่อเรื่องราวสถานการณ์ด้านสิทธิผู้บริโภคไทยและการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนของการผลักดันกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของเครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชน โดยกิจกรรมมีขึ้นที่โรงภาพยนตร์ เอสเอฟ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 27 – 28 เมษายนที่ผ่านมา กิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วยการฉายภาพยนตร์ให้ชมฟรีจำนวน 3 รอบ ซึ่งแต่ละรอบได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าแน่นโรงภาพยนตร์ทุกรอบ ก่อนฉายภาพยนตร์ยังมีการเสวนากับเหล่าผู้กำกับที่มาร่วมทำหนังสั้น พูดคุยถึงมุมมองและแรงบันดาลใจที่นำไปสู่การทำภาพยนตร์เพื่อผู้บริโภค ซึ่งผู้กำกับที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้แก่ อาจารย์ไพจิตร ศุภวารี, คุณมานุสส วรสิงห์, คุณชาญ รุ่งเรืองเดชวัฒนา, คุณบุญส่ง นาคภู่ และ คุณพัฒนะ จิรวงศ์ นอกจากนี้ภายในงานยังมีการมอบรางวัลผู้บริโภคใช้สิทธิยอดเยี่ยมแห่งปี 2555 ให้กับผู้บริโภคภาคประชาชนที่ออกมาทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิของตัวเองและสังคม ผู้ที่ได้รับรางวัลประกอบด้วย นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ, นางจิตรทิวา อินอิ่น และ นางสายลา เจ๊ะไบ๊ ซึ่งหลังจากนี้หนังสั้นทั้ง 6 เรื่อง กับอีก 1 คลิปวิดีโอ จะเดินทางไปฉายตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องสิทธิและการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนควรรู้ -----------     การแบนสารเคมีเกษตรยังไม่ถึงฝั่ง...เพราะมีใครบางคนขวางอยู่ เป็นเรื่องแปลกแต่จริง เมื่อสารเคมีเกษตรที่มีพิษร้ายแรง 4 ตัว คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และ อีพีเอ็น ที่ถูกประกาศโดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นวัตถุอันตรายห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายในประเทศไทย แต่สุดท้ายประกาศกับยังไม่มีโอกาสได้ใช้ เพราะถูกที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน สั่งเบรก ไม่ยอมรับข้อมูลที่กรมวิชาการเกษตรเสนอให้ยกเลิก แถมยังมีการเปิดช่องให้ภาคเอกชนผู้นำเข้าสารเคมีสามารถนำข้อมูลมาเสนอเพื่อโต้แย้งโดยไม่มีการระบุระยะเวลาในการนำเสนอ เป็นเสมือนการเปิดช่องให้บรรดาผู้นำเข้าสารเคมีได้ขายสินค้าของตัวเองต่อไปได้เรื่อยๆ ทั้งๆ ที่หลายประเทศได้สั่งแบนสารเคมีทั้ง 4 ชนิดแล้ว สารเคมีเกษตรทั้ง 4 ตัว ถือเป็นสารที่มีพิษร้ายแรง ซึ่งจากการสำรวจของภาคประชาชนและนักวิชาการที่ผลักดันให้มีการแบนสารเคมีดังกล่าว พบว่าสถานการณ์ตอนนี้มีผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมีเกษตรดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร รวมทั้งผู้บริโภคเองก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน จากนี้ไปเครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการที่ผลักดันให้มีการแบนสารเคมีทั้ง 4 ชนิด ก็จะค่อยติดตามการทำงานของภาครัฐอย่างใกล้ชิด และผลักดันให้เกิดการแบนโดยเร็วที่สุด   //

อ่านเพิ่มเติม >