ฉบับที่ 199 ช็อกโกแลตปนเปื้อนสารแคดเมียม ตะกั่ว ภัยแฝงที่ต้องระวัง

จากข่าวดัง องค์กร As You Sow ทดสอบพบช็อกโกแลต18 ยี่ห้อดัง มีตะกั่ว-แคดเมียมประกอบในระดับอันตรายนั้น สร้างความวิตกกังวลให้กับเหล่าช็อกโกแลตเลิฟเวอร์ทั้งหลายโดยเฉพาะสายดาร์ก เพราะยิ่งมีปริมาณโกโก้แมสมากก็ยิ่งเสี่ยงพบโลหะหนักทั้งสองชนิดมากขึ้น อ้างอิง http://www.asyousow.org/our-work/environmental-health/toxic-enforcement/lead-and-cadmium-in-food/  ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังปัญหาการปนเปื้อนของสารแคดเมียมและตะกั่วในผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตที่วางจำหน่ายในประเทศไทย ทางโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ โดยนิตยสารฉลาดซื้อ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างช็อกโกแลตจำนวน 19 ตัวอย่าง โดยแบ่งเป็น ดาร์กช็อกโกแลต 10 ตัวอย่าง และช็อกโกแลตอื่นๆ อีก 9 ตัวอย่าง ในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2560 มาทดสอบหาการปนเปื้อนของโลหะหนักทั้งสองชนิด (ดูผลจากตาราง) ซึ่งเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานในประเทศและต่างประเทศแล้ว พบว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง  อย่างไรก็ตาม สารแคดเมียมนั้น ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานในผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต และในระดับสากลก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ ณ ปัจจุบัน ผู้บริโภคจึงควรตระหนักว่า การรับประทานผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตหรืออาหารที่มีการผสมช็อกโกแลต จะยังมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเด็กๆ จะอ่อนไหวเป็นพิเศษ ผู้ปกครองจึงควรให้ความสนใจและฝึกให้รับประทานแต่พอดี แคดเมียม คืออะไร         เป็นโลหะมีสีเงิน มีอยู่น้อยตามธรรมชาติ โดยทั่วไปแคดเมียมที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมจะพบในแหล่งทำเหมืองสังกะสีและตะกั่ว ในอุตสาหกรรม ยาสูบและบุหรี่ พลาสติกและยาง นอกจากนี้ยังนิยมใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ อุปกรณ์ไฟฟ้า โลหะผสม อะไหล่รถยนต์ โลหะผสมในอุตสาหกรรมเพชรพลอยอีกด้วย แคดเมียมที่ปนเปื้อนในน้ำ อาหาร และในยาสูบเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกดูดซึมในกระเพาะอาหาร แล้วแพร่กระจายไปที่ตับ ม้ามและลำไส้ และสะสมเพิ่มขึ้นในปริมาณสูงจะทำให้เกิดมะเร็ง ไตทำงานผิดปกติ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ปวดกระดูกสันหลัง แขนขา ซึ่งจะทำให้ไตพิการได้ โรคที่เกิดจากพิษของแคดเมียมเรียกว่า โรคอิไต-อิไต (Itai Itai disease) (ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล https://goo.gl/DVeWuS ) ตะกั่ว (Pb) คืออะไร       ตะกั่ว  (Pb)  เป็นโลหะหนักมีสีเทาเงิน หรือแกมน้ำเงินเกิดขึ้นตามธรรมชาติ  ปัจจุบันอุตสาหกรรมหลายประเภทมีการใช้ตะกั่วเป็นวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก  เช่น ใช้สังเคราะห์สารเตตะเอทิลเลด(tetraethyllead, TEL Pb(C2H5)4) ในเบนซินเพื่อเพิ่มค่าออกเทน    (octane number)     เมื่อมีการออกซิไดซ์จะได้ PbO ซึ่งจะถูกรีดิวซ์ได้โลหะตะกั่ว  ออกสู่สภาวะแวดล้อม  ตะกั่วยังใช้ทำอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคและคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้เกิดการปลดปล่อยตะกั่วและสารประกอบของตะกั่วในรูปของสารมลพิษออกสู่สภาวะแวดล้อม ทำให้มีการปนเปื้อนของตะกั่วทั้งในดิน น้ำ และอากาศ ตะกั่วสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ ทางอาหาร ทางการหายใจ และทางผิวหนัง เมื่อสาร ตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย  ส่วนใหญ่จะจับยึดอยู่กับเม็ดเลือดแดงจะไปลดการสร้าง heme ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเม็ดเลือดแดงโดยไปยับยั้งเอ็นไซม์ที่เกี่ยวกับการสร้าง heme นอกจากนี้ ตะกั่วยังมีผลต่อตับ หัวใจและเส้นเลือด ภาวะเจริญพันธุ์ โครโมโซม และเป็นก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และความพิการแต่กำเนิดอีกด้วย (ขอบคุณข้อมูลจากสถาบันนวัตกรรมการเรียนรูมหิดล https://goo.gl/DVeWuS ) แคดเมียมและตะกั่วในช็อกโกแลตมาจากไหน EFSA หรือ กลุ่มงานความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป รายงานว่า พบปริมาณแคดเมียมในช็อกโกแลตชนิดต่างๆ มีค่าสูงมาก และยังมีความแตกต่างไปตามปริมาณของโกโก้ที่ผสมในผลิตภัณฑ์ โดยเมล็ดโกโก้(cocoa bean) นั้นเป็นแหล่งสะสมของแคดเมียม ทำให้ช็อกโกแลตที่มีปริมาณโกโก้แมสระหว่าง 35-70% พบแคดเมียมสูงกว่าช็อกโกแลตนมหรือช็อกโกแลตอื่นแคดเมียมและตะกั่วในช็อกโกแลตนั้น ส่วนใหญ่มาจากแหล่งปลูกโกโก้ ซึ่งเป็นการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โลหะหนักทั้งสองเมื่อเข้าไปปนอยู่ในน้ำและในดินหากมีปริมาณสูง การปลูกพืชบริเวณนั้นจะมีปริมาณโลหะทั้งสองในพืชสูงตามไปด้วย แน่นอนว่าการปนเปื้อนโลหะไม่อาจทำลายได้ด้วยความร้อนอย่างจุลินทรีย์ ดังนั้นผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องคัดเลือกวัตถุดิบจากแหล่งที่ปลอดภัย เพื่อลดการปนเปื้อนของแคดเมียมและตะกั่วร้อยละ 70 ของโกโก้ในตลาดโลกมาจากแถบอัฟริกาตะวันตก ประเทศที่มีผลผลิตโกโก้เป็นอันดับหนึ่งได้แก่ ไอโวรีโคสต์ ตามด้วยกาน่าเกณฑ์มาตรฐานปริมาณตะกั่วและแคดเมียมช็อกโกแลต มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 83 (พ.ศ.2527) กำกับโดยเฉพาะ ซึ่งปริมาณสารตะกั่ว ต้องตรวจพบไม่เกิน  1 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม เว้นแต่ช็อกโกแลตชนิดไม่หวาน ตรวจพบได้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม สารแคดเมียมไม่มีเกณฑ์กำหนดในช็อกโกแลตสำหรับประเทศไทย ส่วนในสหภาพยุโรป (EC) No 1881/2006 (อัปเดต 2014) กำหนดค่ามาตรฐานเฉพาะในผลิตภัณฑ์เนื้อ ผักและอาหารทะเล อย่างไรก็ตามคณะกรรมการผู้จัดทำเกณฑ์มาตรฐาน(The EU regulator) ได้เตรียมประกาศสำหรับ ค่ามาตรฐานแคดเมียมในช็อกโกแลตไว้สำหรับปี 2019 ดังนี้  ช็อกโกแลตนม ที่มีโกโก้แมสต่ำกว่า 30% มีแคดเมียมได้ไม่เกิน 0.10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ช็อกโกแลต ที่มีโกโก้แมส 30-50% มีแคดเมียมได้ไม่เกิน 0.30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ช็อกโกแลต ที่มีโกโก้แมส 50% ขึ้นไป มีแคดเมียมได้ไม่เกิน 0.80 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ช็อกโกแลตผงสำหรับชงดื่ม มีแคดเมียมได้ไม่เกิน 0.60 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ค่าแคดเมียมที่กำหนดไว้นี้จะลดลงอีกเมื่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่เด็กบริโภคอ้างอิง http://www.confectionerynews.com/Regulation-Safety/How-to-avoid-cadmium-and-lead-in-chocolate-Safety-recall-preventionแค่ไหนถึงเป็นดาร์กช็อกโกแลต เกณฑ์ส่วนใหญ่ทั้งในอเมริกาและยุโรปคือ มีส่วนผสมที่เป็นโกโก้แมสไม่ต่ำกว่า 35 % ของอเมริกา มีผลิตภัณฑ์นมผสมได้ไม่เกิน 12% ในขณะที่ของ EU ไม่ให้มีเลย เรื่องขมๆ ที่อาจยังไม่เคยรู้ทุกวันนี้ ร้อยละ 70 ของโกโก้ในตลาดโลกมาจากแถบอัฟฟริกาตะวันตก ในพื้นที่ของเซียร่าเลโอนไปจนถึงคาเมรูน ประเทศที่มีผลผลิตโกโก้เป็นอันดับหนึ่งได้แก่ไอโวรีโคสต์ ตามด้วยกาน่าเป็นที่รู้กันว่าการปลูกโกโก้กับการบุกรุกป่าสงวนนั้นมีความเกี่ยวข้องกันมานาน ไอโวรี่โคสต์ ซึ่งผลิตร้อยละ 40 ของโกโก้สูญเสียพื้นที่ป่าฝนไปอย่างน่าตกใจ จากที่เคยมีพื้นที่ป่าถึงหนึ่งในสี่ของประเทศ ปัจจุบันเหลือเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น ชาวบ้านนิยมโค่นต้นไม้ใหญ่ทีละต้นสองต้น เพื่อปลูกต้นโกโก้เพราะเชื่อว่าดินที่เพิ่งผ่านการแผ้วถางนั้นจะทำให้ได้ผลผลิตเมล็ดโกโก้ที่ใหญ่ขึ้น แม้ปัจจุบันจะมีการส่งเสริมการปลูกโกโก้แบบยั่งยืนที่ไม่เอาเปรียบทั้งสิ่งแวดล้อมและเกษตรกร การผลิตแบบ “ผิดกฎหมาย” ก็ยังมีอยู่มาก เราแทบจะไม่สามารถแยกแยะได้เพราะผลผลิตจากการปลูกทั้งสองลักษณะถูกนำมาผสมรวมกันก่อนจำหน่ายจากการสำรวจของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยน บริษัทผู้ผลิตช้อคโกแลตรายใหญ่รับรู้เรื่องการบุกรุกป่าสงวนมาโดยตลอด บางเจ้า (เช่น เนสเล่ และมอนโดเลซ) ประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวอย่างชัดเจน บางรายอย่างเฮอร์ชีย์ ก็ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี ค.ศ. 2020 จะจัดซื้อแต่โกโก้ที่ผลิตมาจากแหล่งที่ถูกต้องเท่านั้น ส่วนแบรนด์หรูอย่างเฟอเรโร่ โรเชอร์ ยังไม่มีความเห็นรูปนี้มีสีหากท่านต้องการเห็นสีที่ชัดเจนให้กด Save ภาพโดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ

อ่านเพิ่มเติม >