ฉบับที่ 158 ผักจากทะเลของโต๊ะโตะจัง

สาหร่ายทะเลแห้ง เป็นสินค้าผักชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากคนไทย(ยกเว้นผู้เขียนซึ่งไม่ใคร่ชอบกลิ่นทะเล แม้จะชอบอ่านหนังสือเรื่อง โต๊ะโตะจัง ก็ตาม) เพราะเป็นอาหารที่มีไอโอดีนและธาตุอาหารอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณสูง ที่นิยมกันสุดๆ คือ ปรุงเป็นแกงจืดสำหรับผู้ที่ชอบผักมีกลิ่นคาวและได้ผงชูรสธรรมชาติ หรือเป็นขนมกินเล่นแต่ได้ประโยชน์ สาหร่ายทะเลนั้นเป็นพืชขึ้นตามชายฝั่งทะเลที่มีแสงแดดส่องถึง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ตามเม็ดสีภายในเซลล์ คือ สาหร่ายสีแดง สาหร่ายสีน้ำตาล และสาหร่ายสีเขียว คนส่วนใหญ่คุ้นกับสาหร่ายที่ฝรั่งเรียกว่า เคลป์ (kelp) ซึ่งเป็นสาหร่ายสีน้ำตาลที่มีขนาดใหญ่และสูงมาก คนเอเชียที่อยู่ริมทะเลนั้นเก็บสาหร่ายกินกันเหมือนคนอยู่ชายขอบป่าเก็บผักหวานป่ากิน ชาวตะวันตกในอเมริกาและยุโรปเป็นกลุ่มคนท้ายๆ ที่เพิ่งตาสว่างเห็นว่าสาหร่ายทะเลมีประโยชน์ สาหร่ายเป็นแหล่งของโปรตีนคล้ายเนื้อสัตว์ (แต่คุณค่าด้อยกว่า) ชาวญี่ปุ่นและชาวจีนเป็นชาติแรกๆ ที่เห็นคุณค่าของสาหร่าย อาหารญี่ปุ่นและจีนมีเมนูอาหารที่ใช้สาหร่ายเป็นส่วนผสมมาก คนจีนเรียกสาหร่ายทะเลว่า “จีฉ่าย” นิยมปรุงเป็นแกงจืดใส่เต้าหู้หมูสับ มีสาหร่ายทะเลอีกรูปแบบหนึ่งที่ถูกตัดเป็นแผ่นบางรูปสี่เหลี่ยม บรรจุซองพลาสติก ซองละ 4-5 แผ่น เด็กๆ ชอบซื้อกินอาจด้วยชอบรสชาติที่ปรุงแต่งด้วยเครื่องปรุงรสต่างๆ   สำหรับคุณค่าสารอาหารของสาหร่ายทะเลนั้นเคยมีผู้ศึกษาพบว่า ทั้งชนิดแผ่นกลมไม่ปรุงรส (จีฉ่าย) และชนิดปรุงรสบรรจุซองมี โปรตีนระหว่าง 10-40 กรัมต่อ 100 กรัม ใยอาหารตั้งแต่ 27-41 กรัมต่อ 100 กรัม (www.healthtodaythailand.net) มีไขมันและแป้งต่ำจึงให้พลังงานราว 366-382 กิโลแคลอรีต่อ 100 กรัม ข้อมูลทางวิชาการที่พอเชื่อถือได้ (แต่ก็ต้องฟังหูไว้หูอย่าเชื่อจนงมงาย) กล่าวถึงประโยชน์ของสาหร่ายทะเลว่า การเติมสาหร่ายทะเลเข้าไปในอาหารสามารถชะลอหรือแก้ไขโรคที่เกิดจากความเสื่อมต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้การบริโภคสาหร่ายทะเลนั้นยังมีประโยชน์ในด้าน ขับโลหะหนักและสารรังสี (โดยอาศัยใยอาหารเป็นตัวขัดขวางการดูดซึม แต่ต้องไม่กินสาหร่ายทะเลจากจังหวัดฟูกูชิมะของญี่ปุ่น ซึ่งมีอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าปรมาณูรั่วไหล) ขับสารพิษเช่น ไดออกซินและพีซีบีออกจากร่างกาย (เข้าใจว่าเพราะสาหร่ายทะเลคงดูดซึมสารพิษเหล่านี้ไว้ในปริมาณน้อยจึงกระตุ้นระบบทำลายสารพิษของผู้กินเข้าไปให้ตื่นตัว ดังนั้นข้อมูลว่าช่วยขับสารพิษจึงไม่น่าแปลกใจ และมีนักวิจัยญี่ปุ่นตีพิมพ์ใน Journal of Agriculture and Food Chemistry ชุดที่ 50 หน้าที่ 910-917 ในปี 2002 ว่า ใยอาหารในสาหร่ายทะเลช่วยจับสารพิษในทางเดินอาหารไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบโลหิตได้) ส่งเสริมระบบภูมิต้านทานให้แข็งแรง (เพราะสาหร่ายทะเลมักมีโปรตีน เบต้าแคโรทีน และสังกะสีซึ่งเป็นสามเสาหลักของระบบภูมิต้านทาน) ป้องกันคอหอยพอก (เพราะสาหร่ายทะเลเป็นแหล่งสะสมไอโอดีนซึ่งจำเป็นต่อการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน) ลดน้ำหนัก (เนื่องจากใยอาหารในมื้ออาหารลดปริมาณอาหารที่ให้พลังงานสูงจึงลดการสร้างไขมันในร่างกาย) จึงพบว่าคนเอเชียมักมีรูปร่างบางกว่าคนตะวันตก   ชาวตะวันตกนั้นมักกังวลกับความสะอาดของสาหร่ายทะเล อาจเนื่องจากเคยได้กลิ่นเหม็นเขียวออกเค็มที่หลอนหลังได้พบสาหร่ายเน่าทับซ้อนกันตามชายทะเลในฤดูร้อนช่วงน้ำลงตามชายหาด และมีข้อมูลการวิเคราะห์ปริมาณสารหนูในสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลซึ่งตีพิมพ์ใน Environmental Health Perspective ฉบับที่ 4 ของชุดที่ 115 หน้า 606-608 ในปี 2007 ที่สรุปว่าการกินสาหร่ายทะเลนั้นน่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ เกือบสิบปี (2548) มาแล้วเคยมีผู้ให้ข้อมูลว่า หน่วยงานราชการแห่งหนึ่งได้ตรวจสอบสาหร่ายทะเลแห้งที่มีการปรุงแต่งรสและกลิ่นให้ถูกปากคนไทยมีสารแคดเมียมปนเปื้อนเกิน 2 มก./กก. ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานที่หลายประเทศกำหนดไว้ ดังที่กล่าวแล้วว่า สาหร่ายทะเลสามารถดูดซับสารเคมีที่อยู่ในทะเลได้ หากขึ้นในบริเวณมีขยะปนเปื้อน ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งโรงงานตามริมทะเลที่มีนิสัยมักง่ายทิ้งลงทะเล สาหร่ายก็ดูดซับสารเหล่านั้นเข้ามาไว้ในเซลล์ ทั่วไปแล้วสาหร่ายทะเลแห้งมีสารหนูประมาณ 30 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งกล่าวได้ยากว่าอันตรายหรือปลอดภัย ในเภสัชตำหรับของยุโรป (Europian Pharmacopia) ยอมให้สาหร่ายเคลป์ที่ใช้ทำยาแผนโบราณมีสารหนูปนเปื้อนได้ถึง 90 ส่วนในล้านส่วน เพราะสารหนูในสาหร่ายทะเลนั้นอยู่ในรูปสารหนูอินทรีย์ซึ่งพิษค่อนข้างต่ำ แม้คนไทยไม่ได้บริโภคสาหร่ายทะเลเป็นอาหารหลักเหมือนกับคน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือ จีน แต่เพื่อความปลอดภัยจึงมีผู้แนะนำในเน็ทว่า ให้กินสาหร่ายแห้งในปริมาณที่ไม่มากเกินปกติ ซึ่งกรณีสาหร่ายแห้งปรุงรสน่าจะไม่เกิน 1- 2 ซองต่อวัน และอย่ารับประทานติดต่อกันหลายวันนัก เพื่อลดโอกาสการสะสมของสารพิษที่อาจมี สำหรับผู้เขียนซึ่งเป็นแฟนพันธุทาง(คือดูบ้างไม่ดูบ้าง) ของเว็บพันทิปดอทคอมได้พบกระทู้ใน ห้องที่เกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ ถามว่า “คือช่วงนี้ติดสาหร่ายทอดมากๆ ที่กินบ่อยมากๆ คือ ยี่ห้อXXXX  ค่ะ วันนึงประมาณ 3-4 ถุงใหญ่ค่ะ (ถุงนึงประมาณ 20 แผ่นมั้ง) ทำแบบนี้มาประมาณเดือนนึงละ จะมีอันตรายอะไรไหมคะ กลัวเรื่องเกลือเหมือนกันว่าจะมีโซเดียมเยอะ แต่ก็อร่อย แฮะๆ” มีผู้เข้ามาให้คำตอบประมาณว่า “พฤติกรรมดังกล่าวทำให้ไขมันเยอะ อ้วน ผงชูรสเยอะมาก เกลือโซเดียมก็เยอะมาก ควรทำตามคำแนะนำข้างซอง บริโภคแต่น้อย ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” ที่น่าสนใจคือมีสาวหนึ่งกล่าวว่า “สาหร่ายปรุงรสพวกนี้มีโลหะหนักปนเปื้อนค่ะ พวกสารหนู แคดเมียม ตะกั่ว ขึ้นอยู่กับแหล่งเพาะเลี้ยง ถ้าใกล้แหล่งอุตสาหกรรม สาหร่ายก็จะดูดซับโลหะหนักเข้าไปมาก แต่จากการสุ่มตรวจพบในปริมาณไม่เยอะค่ะ เพราะส่วนใหญ่จะล้างก่อนเข้ากระบวนการ แต่ก็ไม่ควรทานเยอะ โลหะหนักพวกนี้มันสะสมในร่างกาย นานๆ เข้าก็เป็นอันตราย ยิ่งเด็กเล็กจะมีผลต่อพัฒนาการและสุขภาพค่ะ” (สาวท่านนี้คงเข้าใจผิดว่า สารพิษที่อยู่ในอาหารทะเลนั้นเหมือนธุลีดินที่ติดเสื้อผ้า) ที่น่ากังวลใจคือ มีข้อมูลกล่าวว่า “ระวังจะเจอสาหร่ายปลอมด้วยนะคะ เคยเห็นในกระทู้ไหนจำไม่ได้แล้ว พี่จีนเอาถุงก๊อบแก๊บมาตี ๆ ปั่น ๆ แล้วอัดมาเป็นสาหร่ายก๊อปเกรด A” ดังนั้นการบริโภคสาหร่ายทะเลย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่ดีนั้นจะกลายเป็นสิ่งที่เลวได้ถ้ามันมากเกินไปและบ่อยเกินไป เพราะพาราเซลซัสบิดาแห่งวิชาพิษวิทยาได้กล่าวว่า อะไร ๆ ก็ตามในโลกนี้มีทั้งข้อดีและข้อเลว ขึ้นกับปริมาณและความถี่ที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นการเดินสายกลางในด้านการกินจึงเป็นข้อปฏิบัติที่ดีสำหับผู้บริโภค //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point