ฉบับที่ 150 เช็คปริมาณ แผ่นเช็ดทำความสะอาด แผ่นซับความมัน และ สำลีก้าน

ฉลาดซื้อฉบับที่แล้วเราได้ตรวจสอบเรื่องความถูกต้องของจำนวนกระดาษเช็ดหน้าแบบบรรจุกล่อง ดูว่าปริมาณจริงกับปริมาณที่ระบุข้างกล่องถูกต้องตรงกันหรือไม่ ฉบับนี้เรายังมีภาค 2 ให้ติดตามกันต่อ กับการตรวจสอบความถูกต้องปริมาณสินค้าที่เราได้เปรียบเทียบกับปริมาณที่แจ้งไว้บนของฉลาก กับอีก 3 ผลิตภัณฑ์ใกล้ตัว คือ แผ่นเช็ดทำความสะอาด แผ่นซับความมัน และ สำลีก้าน ไปดูกันซิว่าผู้ผลิตเขาซื่อตรงกับผู้บริโภคอย่างเราหรือเปล่า   วิธีการทดสอบ เราใช้อาสาสมัครฉลาดซื้อ 3 คน ในการตรวจนับทวนตัวอย่างทั้งหมดที่เรานำมาทดสอบ อาสาสมัครทั้ง 3 คน จะนับคนละ 1 ครั้งต่อ 1 ตัวอย่าง เท่ากับว่าแต่ละตัวอย่างจะมีการนับจำนวนทั้งหมด 3 ครั้ง เพื่อเป็นการตรวจทานความถูกต้อง   แผ่นเช็ดทำความสะอาด ตารางแสดงผลการสำรวจจำนวนแผ่นเช็ดทำความสะอาดเปรียบเทียบกับจำนวนที่แจ้งไว้บนบรรจุภัณฑ์  ผลการทดสอบ จากการตรวจนับตัวอย่างแผ่นเช็ดทำความสะอาดจำนวน 6 ตัวอย่างพบว่าทุกตัวอย่างมีจำนวนแผ่นเช็ดทำความสะอาดตรงตามที่แจ้งไว้ในรายละเอียดบนบรรจุภัณฑ์ แถมทุกตัวอย่างที่เรานำมาทดสอบยังให้ปริมาณของแผ่นเช็ดทำความสะอาดมาแบบพอดี๊พอดี บอกว่ามี 80 แผ่นก็ให้มา 80 แผ่น บอกว่า 20 แผ่นก็มี 20 แผ่น ไม่ขาดไม่เกิน ไม่เหมือนกับตัวอย่างแผ่นกระดาษเช็ดหน้าที่ฉลาดซื้อทดสอบเมื่อฉบับที่แล้ว ที่เราพบว่าบางตัวอย่างให้แผ่นกระดาษเช็ดหน้ามาเกินจากที่แจ้งจำนวนไว้บนบรรจุภัณฑ์ ถือว่าเป็นกำไรของผู้บริโภค   ฉลาดซื้อแนะนำ แผ่นเช็ดทำความสะอาด (Cleansing Tissue) หรือ ทิชชูทำความสะอาดแบบเปียก ถือเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องสำอาง มีการใช้สารต่างๆ เป็นส่วนผสม เพราะฉะนั้นการแสดงฉลากจะต้องมีการแจ้งชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิต โดยเรียงลำดับตามปริมาณของสารจากมากไปหาน้อย มีการแสดงวิธีใช้ และข้อควรระวังหรือคำเตือนในการใช้ เช่น ห้ามใช้เช็ดบริเวณรอบดวงตา ผลิตภัณฑ์อาจทำให้เกิดอาการแพ้ในผู้ใช้บางคน หากระคายเคืองควรหยุดใช้ เป็นต้น ที่มา: ประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอาง เรื่อง ฉลากของเครื่องสำอาง   แผ่นซับความมัน ตารางแสดงผลการสำรวจจำนวนแผ่นซับความมันเปรียบเทียบกับจำนวนที่แจ้งไว้บนบรรจุภัณฑ์ ผลการทดสอบ จากการสุ่มสำรวจตัวอย่างแผ่นซับความมันจำนวน 9 ตัวอย่าง เราพบเรื่องที่น่ายินดีเพราะทุกตัวอย่างที่เราสำรวจ ให้ปริมาณแผ่นซับความมันตรงตามจำนวนที่แจ้งไว้บนบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้เรายังพบว่ามีถึง 4 ตัวอย่างที่แถมแผ่นซับความมันเกินมาจากจำนวนที่แจ้งไว้ ได้แก่ยี่ห้อ แกทส์บี (Gatsby), ยี่ห้อ คลีนแอนด์เคลียร์ (Clean&Clear) และ ยี่ห้อ เมนโธลาทัม แอคเนส์ (Mentholatum  Acnes) ที่เพิ่มแผ่นซับความมันมาให้อีก 1 แผ่นจากจำนวนที่แจ้งไว้ ส่วนยี่ห้อ แพ็ตตี้ ควิกส์ (Pretty Quiks) เพิ่มมาให้อีก 2 แผ่นจากจำนวนที่แจ้งไว้   ฉลาดซื้อแนะนำ -ประโยชน์ของกระดาษหรือฟิล์มซับความมันบนใบหน้า คือการลดความบนใบหน้าเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการเช็ดทำความสะอาดใบหน้า การใช้กระดาษหรือฟิล์มซับความมันบนใบหน้าเช็ดหน้าอาจมีผลเสียต่อผิวหน้า เพราะเนื้อกระดาษหรือฟิล์มซับมันอาจสร้างความระคายเคืองให้กับผิวหน้า -บนบรรจุภัณฑ์ควรมีการแสดงข้อมูลการใช้งานและข้อควรระวัง เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสโดยตรงกับร่างกายของเรา แต่จากตัวอย่างที่เราสุ่มสำรวจพบว่ามีหลายยี่ห้อที่ไม่การแจ้งข้อมูลดังกล่าว ส่วนมากเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ แล้วนำรายละเอียดภาษาไทยอย่าง ชื่อสินค้า ที่อยู่ผู้ผลิต ผู้นำเข้ามา แปะทับ   สำลีก้าน ตารางแสดงผลการสำรวจจำนวนสำลีก้านเปรียบเทียบกับจำนวนที่แจ้งไว้บนบรรจุภัณฑ์ ผลการทดสอบ จากการสุ่มทดสอบตัวอย่างสำลีก้านจำนวน 7 ตัวอย่าง เราพบว่ามี 2 ตัวอย่าง ที่ให้ปริมาณสำลีก้านน้อยกว่าที่ได้แจ้งไว้บนบรรจุภัณฑ์ คือยี่ห้อ บิ๊กซี (Big C) และยี่ห้อ วี-แคร์ (V-Care) ซึ่งแจ้งไว้บนบรรจุภัณฑ์ว่ามีจำนวน 100 ชิ้น แต่จากการทดสอบเราพบว่ามีจำนวนก้านสำลีอยู่ 98 ชิ้น สำหรับยี่ห้อ บิ๊กซี (Big C) และ 99 ชิ้น สำหรับยี่ห้อ วี-แคร์  (V-Care) ส่วนอีก 5 ตัวอย่างที่เหลือจำนวนที่ทดสอบนับได้ตรงตามจำนวนที่แจ้งไว้บนบรรจุภัณฑ์   ฉลาดซื้อแนะนำ -ผลิตภัณฑ์สำลีก้านที่ดี ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ หัวสำลีต้องเป็นสีขาว พันเรียบมิดปลายก้านโดยไม่มีสิ่งแปลกปลอมปะปน ก้านตรง แข็งแรง ไม่หักง่าย ปลายทู่ ผิวของวัสดุไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ -การแสดงข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์ ต้องแสดงชื่อสินค้า ที่อยู่ผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต จำนวนบรรจุ วิธีการใช้ ที่สำคัญคือ คำเตือนในการใช้ผลิตภัณฑ์ -จำนวนสำลีพันก้านในแต่ละภาชนะบรรจุต้องมีไม่น้อยกว่าที่ระบุไว้ที่ฉลาก -สำลีก้านที่ซื้อมาต้องอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท ป้องกันสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคปนเปื้อน ที่มา : ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำลีพันก้าน ฉบับที่ 3828 (พ.ศ. 2551)

อ่านเพิ่มเติม >