ฉบับที่ 270 ผัดหมี่สำเร็จรูป (ผัดหมี่โคราช)

        สินค้าโอทอปอย่างหนึ่งของเมืองโคราชต้องมีผัดหมี่โคราชติดอันดับต้นๆ เป็นทั้งของที่ต้องกินและของฝากติดไม้ติดมือ  และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นบ้านให้เป็น “หมี่โคราชพร้อมน้ำผัดสำเร็จรูป” เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่ต้องไปถึงโคราชก็หาสินค้านี้ได้ตามร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป เรียกว่าเป็น เส้นกึ่งสำเร็จรูป ที่ได้รับความนิยมไม่น้อย         นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมกับโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ผัดหมี่โคราชกึ่งสำเร็จรูปมาทดสอบเพื่อให้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค จำนวน 8 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไป ร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ตลอดจนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยนำส่งห้องปฎิบัติการเพื่อทดสอบปริมาณ Bacillus cereus และสารกันเสีย ในน้ำซอสปรุงของผลิตภัณฑ์ สรุปผลการทดสอบ             1.ไม่พบปริมาณ Bacillus cereus ทุกตัวอย่าง             2.มีการใช้วัตถุกันเสีย กรดเบนโซอิค (ในซอสปรุงรส)                    ดูรายละเอียดในตารางหน้าถัดไป ฉลาดซื้อแนะ        1.ผัดหมี่ มักจะมาในบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ ซึ่งในการทำหนึ่งครั้งอาจแบ่งกินได้ 3 – 4 คน หรือ 3 – 4 ครั้ง ดังนั้นควรเลี่ยงไม่รับประทานหมดห่อในครั้งเดียว ด้วยเสี่ยงต่อปริมาณโซเดียมที่สูงเกินไป         2.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มี เลขสารบบอาหาร วันเดือนปี ผลิต/หมดอายุที่ชัดเจน และมีสถานที่ติดต่อหรือแหล่งผลิตแน่นอน         3. หากเปิดซองแล้วพบสภาพสินค้า ไม่สมบูรณ์ มีกลิ่นหืน ไม่ควรรับประทาน         4.อาหารกึ่งสำเร็จรูปมีข้อดีที่เก็บรักษาได้นาน ราคาย่อมเยา อย่างไรก็ตามจัดว่าเป็นอาหารที่มีปริมาณสารอาหารไม่มาก ดังนั้นอาจเพิ่มปริมาณโปรตีนด้วยเนื้อสัตว์ ผัก เพื่อเพิ่มคุณค่าของสารอาหาร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 สำรวจฉลากอาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิด ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บและเส้นหมี่

        อาหารที่เรียกว่า กึ่งสำเร็จรูป คนไทยส่วนใหญ่จะรู้จัก “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” มากที่สุด เพราะคุ้นชินและมีความนิยมมากเมื่อมองจากมูลค่าการตลาดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งสูงถึงสองหมื่นล้านบาทในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม “อาหารกึ่งสำเร็จรูป” ไม่ได้มีเพียงแค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเท่านั้นยังมีชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น โจ๊ก ข้าวต้มหรือซุป กึ่งสำเร็จรูป ที่วางจำหน่ายทั่วไป         ทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และ โจ๊ก ข้าวต้ม กึ่งสำเร็จรูป นั้น “ฉลาดซื้อ” เคยสำรวจฉลากอยู่บ่อยครั้งเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการพิจารณาเลือกซื้อให้กับผู้อ่าน แต่สำหรับคราวนี้เราเลือกหยิบ “อาหารกึ่งสำเร็จรูป” อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อก่อนด้วยเทคโนโลยีการผลิตและความนิยมอาจจะทำให้มีผู้ผลิตไม่มากนัก ยากจะฝ่ากระแสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ แต่ด้วยยุคสมัยที่ก้าวหน้าทั้งการผลิตและช่องทางการจำหน่าย ปัจจุบันเราจะพบ “อาหารกึ่งสำเร็จรูป” ชนิด ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ เส้นหมี่ (หมี่โคราช) วางจำหน่ายในตลาดมากขึ้น โดยบางยี่ห้อก็สามารถทำยอดขายจากผลิตภัณฑ์ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูปได้ถึงปีละ 100 ล้านซอง เรียกว่ากำลังเป็นตลาดที่น่าจับตา         นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมกับโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปประเภท ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ เส้นหมี่ (ผัดโคราช) และยำขนมจีน  จำนวนรวมทั้งสิ้น 19 ยี่ห้อ จากร้านค้าทั่วไป ร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ตลอดจนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อนำมาสำรวจฉลากของผลิตภัณฑ์ทั้งในเรื่อง การแสดงฉลากทั่วไป การแสดงคุณค่าทางด้านโภชนาการและราคา เพื่อให้เป็นชุดข้อมูลสำหรับผู้บริโภคไว้เปรียบเทียบและพิจารณาเลือกซื้อได้อย่างถูกต้อง ตรงใจ     สรุปผลการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิดก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ เส้นหมี่และยำขนมจีน        1.     ทุกตัวอย่างทั้ง 19 ยี่ห้อ  มีเลขสารบบอาหาร (อย.)         2.     การแสดงฉลากโภชนาการ                 - ก๋วยจั๊บสำเร็จรูป แสดงฉลากโภชนาการ 5 ตัวอย่าง ไม่มีการแสดงฉลากโภชนาการ 2 ตัวอย่าง                - หมี่โคราช แสดงฉลากโภชนาการ 4 ตัวอย่าง ไม่มีการแสดงฉลากโภชนาการ 4 ตัวอย่าง                 - ยำขนมจีน แสดงฉลากโภชนการ 1 ตัวอย่าง ไม่มีการแสดงฉลากโภชนการ 1 ตัวอย่าง                 -  ก๋วยเตี๋ยวเรือ แสดงฉลากโภชนาการ  ตัวอย่าง         3.     ปริมาณโซเดียมพบว่า อาหารกึ่งสำเร็จรูปมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง                 - ก๋วยจั๊บในขนาดซองเล็กที่ปริมาณ 50-75 กรัม จะมีโซเดียมระหว่าง 1280 – 1730 มก.                - ผัดหมี่โคราชในหนึ่งหน่วยบริโภคที่ปริมาณ 100 กรัม จะมีโซเดียมระหว่าง 720 – 1330 มก.                - ยำขนมจีนในหนึ่งหน่วยบริโภคที่ปริมาณ 120 กรัม จะมีโซเดียม 1990 มก.                - ก๋วยเตี๋ยวเรือ ในหนึ่งหน่วยบริโภคที่ปริมาณ   กรัม จะมีโซเดียม    มก.        4.     มีเพียง ห้าดาว หมี่โคราชพร้อมน้ำผัดสำเร็จรูป สูตรต้นตำรับโคราช ระบุไม่เจือสีและวัตถุกันเสีย         5.     ราคาสินค้าอยู่ระหว่าง    บาท    ฉลาดซื้อแนะ        1.อาหารกึ่งสำเร็จรูปมีข้อดีที่เก็บรักษาได้นาน ราคาย่อมเยาและรสชาติที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามจัดว่าเป็นอาหารที่มีปริมาณสารอาหารไม่มาก ปริมาณโปรตีนต่ำและมีโซเดียมสูงซึ่งเกิดจากการปรุงรสให้กลมกล่อม ดังนั้นไม่ควรรับประทานบ่อย และในการปรุงควรเพิ่มปริมาณเนื้อสัตว์ ผัก เพื่อเพิ่มคุณค่าของสารอาหาร         2.ผัดหมี่ มักจะมาในบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ ซึ่งในการทำหนึ่งครั้งอาจแบ่งกินได้ 3 – 4 คน หรือ 3 – 4 ครั้ง ดังนั้นควรเลี่ยงไม่รับประทานหมดห่อในครั้งเดียว ด้วยเสี่ยงต่อปริมาณโซเดียมที่สูงเกินไป         3.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มี เลขสารบบอาหาร วันเดือนปี ผลิต/หมดอายุที่ชัดเจน และมีสถานที่ติดต่อหรือแหล่งผลิตแน่นอน        4.หากเปิดซองแล้วพบสภาพสินค้า ไม่สมบูรณ์ มีกลิ่นหืน ไม่ควรรับประทาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2565

ยกเลิกโทษ-ปรับ กรณีไม่สวมหน้ากากอนามัย         หลังจากประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2565 นายอนุทินชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง ยกเลิกระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบความผิด กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 34 (6) เกี่ยวกับให้อำนาจจังหวัดสำหรับการออกคำสั่งการสวมหน้ากากอนามัย เมื่อยกเลิกพระราชกำหนด พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ระเบียบจะคงค้างอยู่ จึงให้ยกเลิกค่าปรับสำหรับคนไม่สวมหน้ากากอนามัย และรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุขจะลงนามประกาศในราชกิจจาฯ ต่อไป ผ่อนรถคิดดอกเบี้ย "ลดต้น-ลดดอก”         17 ตุลาคม 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 โดยให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ของปี พ.ศ.2561 และมีผลบังคับใช้หลังลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลังพ้นประกาศ 90 วัน โดยให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ต้องคิดอัตราดอกเบี้ยแท้จริงต่อปี ลักษณะแบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่เหลือของแต่ละงวด         นอกจากนี้กรณีที่ยังไม่มีกฎหมายอัตราดอกเบี้ยสำหรับเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ไว้เฉพาะ ให้กำหนดดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อตามกลไกตลาด คำนวณดังนี้ กรณีรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี , กรณีรถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี , กรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 23 ต่อปี อย่างไรก็ตาม อาจมีการปรับเปลี่ยนให้ลดลง-เพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจประเทศทุก 3 ปี ห้ามใช้มือถือตอนขับรถฝ่าฝืนปรับสูงสุด 1,000 บาท         เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2565 อาศัยอำนาจตามมาตรา 43(9)  แห่งราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 เรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ ผู้ขับสามารถใช้โทรศัพท์ได้ต่อเมื่อทำตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ 1.ให้ใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อไร้สายหรืออุปกรณ์เสริมสำหรับสนทนา ระบบกระจายเสียงจากเครื่องโทรศัพท์โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องจับโทรศัพท์ 2. ใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับยึดหรือติดโทรศัพท์ไว้กับส่วนหน้าของตัวรถทุกครั้ง โดยต้องไม่บดบังทัศนวิสัยหรือเสียความสามารถขณะขับรถ กรณีผู้ขับขี่มีความจำเป็นต้องถือ จับ สัมผัสเพื่อใช้งานให้ผู้ขับหยุดหรือจอดรถในสถานที่สำหรับจอดรถอย่างปลอดภัยก่อนใช้โทรศัพท์ดังกล่าว หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท อย. พบสารเอทิลีนออกไซด์ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป         กรณีที่มีข่าวสำนักงานอาหารของสิงคโปร์เรียกคืน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตราหมี่ซีดาพ” ที่ผลิตในประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากพบปนเปื้อนสารเอิลีนออกไซด์ จำนวน 4 รายการ  จากกรณีดังกล่าว อย.ไทย ได้มีการตรวจสอบแล้ว “ไม่พบการนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรุ่นดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในไทย” แต่ได้ทำการตรวจสอบสถานที่นำเข้า พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา ซีดาพ จำนวน 8 รายการ ที่ผลิตในไทยมาตรวจสอบหาสารเอทิลีนออกไซด์          จากผลตรวจวิเคราะห์ เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เปิดเผยว่า พบ 2 ตัวอย่างที่มีสารเอทิลีนออกไซด์ คือ หมี่ซีดาพ โคเรียน สไปซี่ ชิคเค่น (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไก่เผ็ดเกาหลี) ซองสีดำ เลขสารบบอาหาร 10-3-12535-5-0548 รุ่นการผลิตได้แก่ รุ่นวันที่ผลิต 25 NOV 21 วันหมดอายุ 25 NOV 22 และ รุ่นวันที่ผลิต 07 DEC 21 วันหมดอายุ 07 DEC 22  ทั้งนี้ อย.ได้อายัดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวและกำลังพิจารณาการดำเนินคดีกับผู้นำเข้าพร้อมเตรียมขอความร่วมมือเรียกคืนสินค้าทุกชิ้นไม่เอาควบรวม ทรู-ดีแทค         17 ตุลาคม 2565 นางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ปกป้องสิทธิผู้บริโภค ในฐานะที่เป็นพลเมืองไทยเจ้าของคลื่นความถี่และเป็นเจ้าของภาษีที่จ่ายเงินเดือนให้กับ กรรมการ กสทช. เนื่องจากอีกฝ่ายทำตัวไม่น่าไว้วางใจ ปัจจุบันยังไม่พบความชัดเจนต่อการทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่กลับใช้เล่ห์ทางกฎหมายปัดความรับผิดชอบ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงขอเรียกร้องต่อ กสทช. ว่าผู้บริโภคเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะของประเทศ เงินทุกบาททุกสตางค์จากการทำธุรกิจภายใต้การใช้คลื่นความถี่ มีมูลค่าสามารถนำมาพัฒนาประเทศใช้เป็นสวัสดิการให้ประชาชน และเชื่อว่า กสทช.มีข้อมูลมากมาย เกี่ยวกับการควบรวบ ทรู-ดีแทค แต่ไม่สิ่งที่ไม่เชื่อคือ ใจ วิธีคิดและจิตสำนึกของบอร์ดกสทช.ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน         ล่าสุด คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการลงมติด้วยคะแนนเสียง 3:2:1 ต่อกรณีควบรวมทรู ดีแทค โดยมีการสรุปว่าคณะกรรมการได้ตัดสินว่า กสทช. มีหน้าที่เพียง “รับทราบ” 3 เสียง ซึ่งชนะกรรมการที่ลงมติว่า “ไม่อนุญาต” ให้ควบรวมที่มีคะแนน 2 เสียง โดยมีหนึ่งคะแนนเสียง “งดออกเสียง”  ไปเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565

อ่านเพิ่มเติม >


ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ทดสอบการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ พบปนเปื้อนในทุกตัวอย่าง ของทุกประเภทกาแฟ

        นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกันดำเนินการทดสอบการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ ทั้งประเภทคั่วและสำเร็จรูป รวมเก็บตัวอย่างทั้งหมด 27 ตัวอย่าง แบ่งเป็นชนิดกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง กาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง ผลการทดสอบกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ในทุกตัวอย่าง มีปริมาณระหว่าง 135.56- 372.62 ไมโครกรัม/ กิโลกรัม ผลทดสอบกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง และมี 2 ตัวอย่าง พบอะคริลาไมด์ปริมาณสูงกว่า เกณฑ์ของสหภาพยุโรป         วันพุธที่ 7 กันยายน 2565 ในงานแถลงข่าวผลการทดสอบ การปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า การศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า สารอะคริลาไมด์เป็นสารกลุ่มที่ มีผลเสียต่อสุขภาพหลายประการ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Consumer Council Hongkong (สภาผู้บริโภคฮ่องกง) ได้รายงานผลทดสอบสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ เพื่อเป็นการสื่อสารความเสี่ยงจากการดื่มกาแฟที่วางจำหน่ายในฮ่องกง ซึ่งเป็นการเฝ้าระวังที่จำเป็นในยุคสมัยนี้ เนื่องจากมีการบริโภคกาแฟกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นิตยสารฉลาดซื้อและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) มีภารกิจในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภค สื่อสารความเสี่ยงและแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค จึงได้รับการสนับสนุนจากสภาองค์กรของผู้บริโภคให้ทำการสำรวจปริมาณสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ ทั้งประเภทกาแฟคั่วและกาแฟสำเร็จรูป         การเก็บตัวอย่างกาแฟ แบ่งเป็นชนิดกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง และกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่างในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2565 จากร้านค้า ห้างค้าปลีก และร้านค้าออนไลน์ โดยเก็บกาแฟคั่วทดสอบ 12 ตัวอย่าง ได้แก่ Illy, Suzuki, Aroma, Bon Cafe, the coffee Bean, Doitung, UCC, Doi Chaang, Movenpick, Bluekoff, Arigato และ Starbucks ส่วนกาแฟสำเร็จรูปนั้นได้เก็บทดสอบ 15 ตัวอย่าง ได้แก่ Nescafe Gold, Moccona, เขาช่อง กาแฟ, Bon Aroma Gold, Dao Coffee Gold, BigC Happy PricePro, Tchibo Family, AGF Maxim Freeze Dried Coffee, Nescafe Red Cup, Festa Gold, Davidoff Rich Aroma, Nescafe Tester’s Choice House Blend, UCC The blend1 117, My Choice Gold และ Aro Instant Coffee         ตามเกณฑ์มาตรฐานของสหภาพยุโรปนั้นได้กำหนดให้มีสารอะคริลาไมด์ปนเปื้อนไม่เกิน 400 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟคั่วและไม่เกิน 850 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟผงสำเร็จรูป ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ พบว่าที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำฐานข้อมูลอาหารไทยที่มีการตรวจพบสารอะคริลาไมด์ในอาหารซึ่งพบว่า พริกป่นมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดและรองลงมาได้แก่ ขนมถุงที่ทำจากแป้ง มันฝรั่ง เฟรนซ์ฟรายด์ กาแฟสำเร็จรูป เผือกฉาบ อย่างไรก็ดีปริมาณที่พบนั้นถือว่า เป็นความเสี่ยงในระดับต่ำกว่าระดับที่จะก่อพิษต่อร่างกาย ผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารอะคริลาไมด์ในกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่างคือ พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง โดยผลการวิเคราะห์พบปริมาณที่อยู่ระหว่าง 135.56-372.62 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ส่วนในกลุ่มกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่างนั้น พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่างเช่นกัน โดยพบปริมาณสารอะคริลาไมด์ในทุกตัวอย่างกาแฟที่มีปริมาณระหว่าง 298.79–954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ที่น่าสังเกตคือ มี 2 ตัวอย่างที่พบสารอะคริลาไมด์ในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ได้แก่ แดวิดอฟฟ์ ริช อโรมา มี 851.76 ไมโครกรัม/กิโลกรัม, เอจีเอฟ แม็กซิม มี 954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม         ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวเสริมว่า ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารอะคริลาไมด์ปนเปื้อนในระดับที่วิเคราะห์พบเสมอนั้น ได้แก่ มันฝรั่งทอด แครกเกอร์ บิสกิต และการศึกษาในระยะหลังยังพบสารอะคริลาไมด์ในมะกอกดำ ลูกพลัมแห้ง ลูกแพร์แห้ง กาแฟคั่ว อีกด้วย ในแง่อันตรายต่อผู้บริโภคนั้นสารอะคริลาไมด์ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งในหนูทดลอง มีการศึกษาพบว่าในหนูเพศผู้นั้นเกิดเนื้องอกที่อวัยวะในระบบสืบพันธุ์และต่อมไทรอยด์ ในขณะที่ในหนูเพศเมียนั้นเกิดเนื้องอกที่เต้านมและเนื้อในต่อมไทรอยด์ นอกจากนี้การที่มีรายงานการพบสารอะคริลาไมด์ในอาหารหลายชนิดและมีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับปริมาณการสัมผัสของมนุษย์ การดูดซึมในมนุษย์ และความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ในสัตว์ทดลอง ทาง US.NTP Center for the Evaluation of Risks to Human Reproduction ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับสารเคมีที่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์มนุษย์จึงได้ผลิตเอกสารเรื่อง NTP-CERHR Monograph on the Potential Human Reproductive and Developmental Effects of Acrylamide (NIH Publication No. 05–4472 ของเดือน February 2005) เกี่ยวกับผลของสารอะคริลาไมด์ในการก่อความเสี่ยงต่อระบบสืบพันธุ์และการพัฒนาของตัวอ่อนในครรภ์มารดา สำหรับปริมาณสารอะคริลาไมด์ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ผศ. นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ แพทย์ประจำสาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวไว้ในบทความเรื่อง"ดื่มกาแฟเสี่ยงเป็นมะเร็งจริงหรือไม่ว่า “ร่างกายควรได้รับสารอะคริลาไมด์ไม่เกิน 2.6 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากได้รับมากกว่าที่กำหนดไว้จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง” นางสาวทัศนีย์กล่าวเสริมว่า การดื่มกาแฟในปริมาณปกติ โอกาสที่ร่างกายจะได้รับสารอะคริลาไมด์จนเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพนั้นค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตามการได้รับสารอะคริลาไมด์ปริมาณสูงจากอาหารหลายชนิดในแต่ละวันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานของผู้ที่มีระบบกำจัดสารพิษไม่สมบูรณ์ย่อมเป็นการเพิ่มความเสี่ยงจากอันตรายที่มีการสะสมในร่างกาย จึงควรลด ละ เลี่ยงอาหารที่ผ่านความร้อนในการอบ ปิ้ง ทอด หรือใช้อุณหภูมิสูงเกิน 120 oC เพราะเป็นอาหารลักษณะนี้มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารอะคริลาไมด์         นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคมีอำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค สามารถเปิดเผยชื่อสินค้าและชื่อผู้ประกอบธุรกิจเพื่อเผยแพร่แจ้งเตือนภัย เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งกาแฟก็เป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยม แต่สารปนเปื้อนต่างๆที่อยู่ในกาแฟนั้นผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบได้โดยง่าย ดังนั้นผลการทดสอบครั้งนี้จะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการช่วยตัดสินใจเลือกบริโภคกาแฟในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้เกิดผลดีต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในระยะยาว ตลอดจนสร้างความตื่นตัวแก่ผู้ประกอบการผลิตกาแฟที่จะได้ทบทวนกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคมากขึ้น ดังที่สภาผู้บริโภคฮ่องกงเปิดเผยผลวิเคราะห์สารอะคริลาไมด์ในกาแฟเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า การไม่พบอะคริลาไมด์ในกาแฟ 2 ตัวอย่าง จากการทดสอบผลิตภัณฑ์กาแฟ 49 ตัวอย่าง สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ผลิตสามารถลดโอกาสในการเกิดสารอะคริลาไมด์ได้ โดยหลังจากนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคจะนำผลทดสอบครั้งนี้เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางหรือมาตรฐานการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟของประเทศไทยต่อไปอ่านผลทดสอบได้ที่ : https://chaladsue.com/article/4070

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 สารอะคริลาไมด์ในกาแฟ

        เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Consumer Council Hongkong (สภาผู้บริโภคฮ่องกง) ได้รายงานผลทดสอบสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ เพื่อเป็นการสื่อสารความเสี่ยงจากการดื่มกาแฟในผลิตภัณฑ์กาแฟที่วางจำหน่ายในฮ่องกง (นอกจากทดสอบอะคริลาไมด์แล้ว สภาฯ ยังทดสอบปริมาณคาเฟอีน สารเคมีการเกษตรและปริมาณสารพิษจากเชื้อรา โอคราทอกซินเอ ด้วย) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งนี้สารอะคริลาไมด์นั้นผู้บริโภคจะได้รับอะคริลาไมด์ที่เกิดตามธรรมชาติจากการปรุงอาหารที่อุณหภูมิสูง เมื่อใช้วัตถุดิบเช่น มันฝรั่ง หรือวัตถุดิบอื่นที่มีกรดอะมิโนแอสปาราจีนสูง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีอะคริลาไมด์ปนเปื้อนในระดับที่วิเคราะห์พบเสมอนั้น ได้แก่ มันฝรั่งทอด แครกเกอร์ บิสกิต และการศึกษาในระยะหลังยังพบอะคริลาไมด์ในมะกอกดำ ลูกพลัมแห้ง ลูกแพร์แห้ง กาแฟคั่ว อีกด้วย         สำหรับประเทศไทยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำฐานข้อมูลอาหารไทยที่มีการตรวจพบสารอะคริลาไมด์พบว่าพริกป่นมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ ขนมถุงที่ทำจากแป้งมันฝรั่ง ขนมถุงที่ทำจากมันฝรั่ง เฟรนซ์ฟรายด์ กาแฟสำเร็จรูป และเผือกฉาบ แต่ก็พบว่าเป็นความเสี่ยงในระดับต่ำกว่าระดับที่จะส่งพิษต่อร่างกาย         อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยง นิตยสารฉลาดซื้อ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ในฐานะหน่วยประจำจังหวัด สภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งมีภารกิจในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค สื่อสารความเสี่ยงและแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค จึงได้เก็บตัวอย่างกาแฟ แบ่งเป็นชนิดกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง และกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2565 จากร้านค้า ห้างค้าปลีกและร้านค้าออนไลน์ ส่งห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทดสอบหาสารอะคริลาไมด์ เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ผู้บริโภคที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟ ผลทดสอบ         ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ แต่เกณฑ์ของสหภาพยุโรปกำหนดไว้ไม่เกิน 400 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟคั่ว และไม่เกิน 850 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟผงสำเร็จรูป        -       ผลทดสอบกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง มีปริมาณระหว่าง 135.56 – 372.62 ไมโครกรัม/กิโลกรัม        -       ผลทดสอบกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง มีปริมาณระหว่าง 298.79 – 954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม โดยมี 2 ตัวอย่างที่พบอะคริลาไมด์ในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ได้แก่ แดวิดอฟฟ์ ริช อโรมา 851.76 ไมโครกรัม/กิโลกรัม , เอจีเอฟ แม็กซิม 954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ฉลาดซื้อแนะ         การดื่มกาแฟในปริมาณปกติ โอกาสที่ร่างกายจะได้รับสารอะคริลาไมด์จนเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพนั้นค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ดีแม้ว่าปริมาณที่ผู้บริโภคได้รับสารนี้เข้าไปในปริมาณต่ำอาจไม่มีนัยสำคัญ แต่ความถี่ของการบริโภคอาจทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเป็นอันตรายในระยะยาวจากการสะสม จึงควรลด เลี่ยงอาหารที่ผ่านการใช้ความร้อนในการอบ ปิ้ง ทอด หรือย่างที่ใช้อุณหภูมิสูงเกินไป (งานวิชาการบางชิ้นระบุไม่ควรเกิน 120 องศาเซลเซียส) หรือใช้ระยะเวลานานเกินไป  กรณีกาแฟคำแนะนำจากสภาองค์กรผู้บริโภคฮ่องกงแนะว่า ผู้ผลิต ผู้ประกอบการอาจต้องคำนึงถึงวิธีการคั่วเพื่อเพิ่มความปลอดภัย (ลดความเสี่ยงของการเกิดการปนเปื้อนของอะคริลาไมด์ในกาแฟ)  ข้อมูล- Pay Heed to the Amount and Frequency in Enjoying Coffee Be Mindful of Caffeine Addiction and the Risks of Genotoxic Carcinogenic Acrylamide Intake | Consumer Council- www.cancer.org/healthy/cancer-causes/chemicals/acrylamide.html- ดื่มกาแฟเสี่ยงเป็นมะเร็งจริงหรือไม่? • รามา แชนแนล (mahidol.ac.th)-“สารอะคริลาไมด์ที่แฝงมากับอาหารไทย” จิตติมา เจริญพานิช. ว.วิทย. มข.40(4) 1059-1072 (2555) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ค่าพลังงานและปริมาณโซเดียมในโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปและข้าวต้มสำเร็จรูป

        นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปทั้งแบบถ้วยและแบบซองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 31 ตัวอย่าง เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้เลือกซื้อขณะที่อาจต้องกักตัวอยู่บ้านเนื่องในสถานการณ์การระบาดของโควิด ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ปริมาณโซเดียมมีค่าอยู่ระหว่าง 0-1,350 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค และต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2564 สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ได้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าทั้งโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปและข้าวต้มสำเร็จรูป จำนวน 48 ตัวอย่าง เพื่อดูปริมาณโซเดียมเช่นกัน ซึ่งพบว่ามีค่าอยู่ที่ 0 – 1,420 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค         ในโอกาสครบรอบหนึ่งปีของการสำรวจจากสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์โดยใช้ฐานข้อมูลเดิมของทางสมาคมเพื่อนโรคไตฯ เป็นตัวตั้งต้น โดยเก็บตัวอย่างสินค้าชนิดเดียวกันได้จำนวน 19 ตัวอย่าง และตัวอย่างใหม่อีก 5 ตัวอย่าง รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 24 ตัวอย่าง เพื่อสำรวจข้อมูลโภชนาการบนฉลากว่ามีสินค้าตัวใดบ้างที่ผู้ผลิตได้มีการปรับลดปริมาณโซเดียมลง  สรุปผลสำรวจ         จากการสำรวจฉลากโภชนาการพบว่า ในจำนวน 19 ตัวอย่างที่เป็นสินค้าชนิดเดียวกันกับการสำรวจเมื่อปี 2564 พบว่า ส่วนใหญ่มีค่าปริมาณโซเดียมเท่าเดิม จำนวน 15 ตัวอย่าง         มี 2 ตัวอย่างที่ปริมาณโซเดียมลดลง ได้แก่ โอ้โห โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปรสหมู (จาก 680 มก. เป็น 660 มก.) และ โอ้โห โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปรสไก่ (จาก 650 เป็น 490 มก.)           และ มี 2 ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมเพิ่มขึ้น ได้แก่ คนอร์คัพโจ๊ก รสหมูสาหร่าย (จาก 610 มก. เป็น 680 มก.) และ คนอร์คัพโจ๊ก รสหมู (จาก 940 มก. เป็น 960 มก.)         ทั้งนี้ค่าปริมาณโซเดียมต่ำสุดที่พบจากผลิตภัณฑ์ คือ 20 มก./หน่วยบริโภค ยี่ห้อ คนอร์คัพโจ๊ก โจ๊กข้าวหอมมะลิ (เจ)  และปริมาณสูงสุด คือ 1,280 มก./หน่วยบริโภค ยี่ห้อ  มาม่า ข้าวต้มคัพ ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปรสเล้งแซบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยร้อนลวกขา

        เรื่องราวจากข่าวที่เกิดขึ้นในกระแสโซเชียลที่ผ่านมา สำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยร้อนที่มีหญิงวัย 47 ปี  เข้าใจผิดคิดว่าถุงทำความร้อนเป็นซองเครื่องปรุงและได้รับประทานเข้าไป จนเกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง และอาเจียนนั้น ทำให้คุณน้ำตาลนึกถึงเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นกับเธอเกี่ยวกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยร้อนเจ้าปัญหานี้ทันที         คุณน้ำตาลได้มาเล่าเรื่องราวให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่าเมื่อปีที่ผ่านมานี้ ก่อนหน้านี้เธอฝึกงานอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่งทุกเย็นหลังเลิกงานจะแวะเข้าร้านมินิมาร์ทเล็กๆ ข้างบริษัททุกวันก่อนกลับบ้าน วันเกิดเหตุเธอก็เข้าไปเลือกซื้อของในมินิมาร์ทแบบทุกวันเดินดูของไปเรื่อยๆ และไปสะดุดกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยร้อนทันที เธออยากจะลองซื้อมากินบ้าง เพราะเห็นว่าในอินเทอร์เน็ตมีรีวิวที่น่าสนใจและเป็นกระแสอยู่ จึงได้ตัดสินใจลองซื้อมา 1 ถ้วย         เมื่อถึงบ้านเธอรีบนำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยร้อนออกมาทันที อ่านฉลากและวิธีการรับประทานว่าต้องทำอย่างไร และทำตามขั้นตอนที่มีระบุอยู่บนถ้วยร้อนทุกขั้นตอนไม่ผิดพลาด แต่พอน้ำในถ้วยเริ่มร้อนอยู่ๆ ถ้วยร้อนก็ตกมาจากโต๊ะทำให้น้ำที่อยู่ในถ้วยลวกขาเธอเกือบทั้งขา เธอบอกว่าตอนนั้นเธอตกใจและกรีดร้องดังมากเพราะน้ำจากถ้วยบะหมี่มันร้อนมาก พอเธอได้สติเธอก็พบว่าโต๊ะที่เธอวางถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นเป็นโต๊ะกระจก คาดว่าความร้อนในถ้วยร้อนนั้น ร้อนจนทำให้แผ่นกระจกของโต๊ะแตกลงมาจนถ้วยร้อนหกลวกขา          ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ฉลากไม่มีคำเตือนลักษณะนี้ ซึ่งเธอคิดว่าทางผู้ประกอบการควรจะมีป้ายฉลากเพื่อเตือนผู้บริโภคไว้สักหน่อย เพราะหากมีใครที่ไม่รู้เหมือนกรณีของเธออาจจะต้องเจ็บตัวแบบเธอก็เป็นได้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นคุณน้ำตาลไม่ได้อยากเรียกร้องอะไร เพียงแต่ว่าอยากจะมาเล่าประสบการณ์ให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังเพื่อเตือนผู้บริโภคด้วยกันให้ระวังไว้ เนื่องจากเรื่องราวของคุณน้ำตาลเป็นเรื่องที่ผ่านมา 1 ปีแล้ว จึงไม่ได้ติดใจอะไร แต่หากผู้บริโภคบางรายเจอปัญหาดังกล่าวแบบเธอก็สามารถร้องเรียนกับทางผู้ประกอบการได้ทันที นอกจากนี้ คุณน้ำตาลอยากให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคย้ำเตือนให้กับผู้ประกอบการว่าควรจะมีรายละเอียดที่ครบถ้วนในฉลากและชัดเจน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉลาดซื้อเปิดผลทดสอบค่าพลังงาน ไขมัน และโซเดียม ใน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลี” ให้คุณเลือกรับประทานได้อย่างปลอดภัย

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลทดสอบเปรียบเทียบปริมาณพลังงาน ไขมัน โซเดียม ใน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลี” พบฉลากภาษาไทย จัดหน่วยบริโภคให้แบ่งรับประทาน 2 ครั้งต่อ 1 ซอง ไม่สอดคล้องกับการบริโภคปกติ  แนะนำกินเฉพาะเส้นไม่ซดน้ำซุปจะช่วยลดโซเดียมได้ 7%         วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สุ่มเก็บตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีที่วางขายในซูเปอร์มาเก็ตทั่วไป จำนวน 14 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา เนื่องจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลีเป็นกำลังที่นิยม เพราะอิทธิพลจากซีรีส์เกาหลีและเป็นอาหารที่ปรุงง่าย รวมทั้งมีรสชาติถูกปากคนไทย อย่างไรก็ตามรสชาติอร่อยอาจต้องแลกด้วยการปรุงรสที่เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ อาหารประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจัดเป็นอาหารที่มีโซเดียมและพลังงานสูงประเภทหนึ่ง ในการทดสอบครั้งนี้ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อได้ทดสอบหาปริมาณโซเดียม ไขมันและพลังงาน โดยกำหนดเงื่อนไขและวิธีในการเตรียมตัวอย่างตามขั้นตอนการปรุงที่ระบุบนฉลากของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแต่ละยี่ห้อ เช่น ยี่ห้อ เอ ระบุ เตรียมน้ำปริมาณ 500 มิลลิลิตร ตั้งไฟจนเดือดใส่เส้นและเครื่องปรุง ต้มต่อไปอีก 3 นาที เป็นต้น  จากนั้นจึงใช้การวิเคราะห์ที่ได้มาตรฐาน โดยห้องปฎิบัติการที่ได้รับการรับรอง ISO 17025         ผลทดสอบโดยการเตรียมตัวอย่างแบบที่ฉลาดซื้อกำหนดนั้น พบว่า ทุกตัวอย่างมีปริมาณ พลังงาน ไขมัน และโซเดียม น้อยกว่าที่ฉลากระบุ (ดูตารางแสดงผล) และเนื่องจากฉลากภาษาไทยมีความหลากหลาย บางฉลากมีความคลาดเคลื่อนของการคำนวณ เราจึงนำผลการทดสอบของฉลาดซื้อเทียบกับฉลากโภชนาการที่ระบุบนซองผลิตภัณฑ์ (ภาษาอังกฤษหรือภาษาเกาหลี) และใช้หน่วยบริโภคเท่ากับน้ำหนักของผลิตภัณฑ์จำนวน  1 ซอง คือ 1 ซอง ต้มรับประทาน 1 ครั้ง         สาเหตุที่ฉลาดซื้อทดสอบแล้วพบปริมาณค่าพลังงาน ไขมันและโซเดียมน้อยกว่าค่าที่ระบุบนฉลาก อาจเกิดจาก 1) ในการทดสอบแบบปกติจะใช้การเตรียมตัวอย่างด้วยผลิตภัณฑ์แบบแห้ง และ 2) มีผลิตภัณฑ์สองตัวอย่างที่ในวิธีการปรุงระบุให้เทน้ำออกก่อนปรุงด้วยเครื่องปรุง (เป็นผลิตภัณฑ์แบบแห้งเมื่อปรุงสำเร็จ) อย่างไรก็ตามการทดสอบในครั้งนี้ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อพบข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับฉลากผลิตภัณฑ์  ดังนี้         1. ฉลากภาษาไทย จัดหน่วยบริโภค (ปริมาณการกินหรือดื่มต่อครั้ง) ไม่สอดคล้องกับวิธีการบริโภคตามปกติ คือ แนะนำให้แบ่งหน่วยบริโภคต่อครั้งเป็น 50 กรัม หรือ 60 กรัม ในขณะที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซองมีปริมาณเฉลี่ย 120 กรัม หรือ ให้แบ่งรับประทาน 2 ครั้งต่อ 1 ซอง         2. หลายผลิตภัณฑ์เมื่อคำนวณค่าพลังงาน ไขมันและโซเดียม จากฉลากภาษาเกาหลีหรือภาษาอังกฤษบนซองผลิตภัณฑ์พบว่า ไม่ตรงกับฉลากจริงของผลิตภัณฑ์         นอกจากนี้ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อมีข้อแนะนำของ "การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" ที่จะช่วยรักษาสุขภาพ ตามข้อมูลของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่กล่าวไว้ว่า โซเดียมอยู่ในเส้นและเครื่องปรุง โดยโซเดียมจะอยู่ในเครื่องปรุง มากกว่าเส้น 3 เท่า มีวิธีการรับประทานเพื่อลดปริมาณโซเดียม โดยถ้าลวกเส้นทิ้งไป 1 น้ำ จะช่วยลดปริมาณโซเดียมลงได้เล็กน้อย แต่ถ้าเลือกกินเฉพาะเส้น ไม่ใส่เครื่องปรุงหรือกินเฉพาะเส้นไม่ซดน้ำซุปจะช่วยลดโซเดียมได้ประมาณ 7% ถ้าจำเป็นต้องกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปควรเติมเครื่องปรุงลดลงหนึ่งในสาม ลดน้ำลงหนึ่งในสาม ใส่น้ำเดือดร้อนๆ เส้นจะได้สุกกำลังดี ข้อควรระวังไม่ควรกินแบบแห้ง เพราะอาจดูดน้ำในระบบทางเดินอาหาร ถ้ากินก็ควรดื่มน้ำตามมากๆ         ดูตารางแสดงผลและอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3891

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ปริมาณโซเดียม ไขมัน และพลังงานใน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลี”

        บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีหรือที่เรียกว่า “รามยอน” ในภาษาเกาหลีนั้น คนไทยส่วนหนึ่งมักจะเรียกว่า “มาม่าเกาหลี”  ซึ่งปัจจุบันฮิตมาก มีหลายยี่ห้อถูกนำเข้ามาให้เลือกอย่างมากมาย หากจะถามว่าไทยเราได้อิทธิพลความนิยมนี้มาจากไหน ก็คงหนีไม่พ้นจากความโด่งดังของซีรีส์เกาหลีและการชื่นชอบนี้ทำให้หลายคนขณะดูตัวละครกำลังกินรามยอนอย่างเอร็ดอร่อย ก็แทบอยากจะหยิบซองบะหมี่มาต้มตามทันที         บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลีนอกจากนิยมกินเพราะอิทธิพลจากซีรีส์เกาหลีแล้ว ก็คงเพราะเป็นอาหารที่กินง่าย และมีรสชาติถูกปากคนไทยด้วย อย่างไรก็ตามรสชาติอร่อยต้องแลกด้วยการปรุงรสที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นจัดเป็นอาหารที่มีโซเดียมและพลังงานสูงชนิดหนึ่ง         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงได้เก็บตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีที่วางขายในซูเปอร์มาเก็ตทั่วไป จำนวน 14 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนกันยายน 2564 เพื่อทดสอบหาปริมาณโซเดียม ไขมันและพลังงาน เงื่อนไข วิธีการทดสอบ         ในการเตรียมตัวอย่างเพื่อทดสอบ ทางฉลาดซื้อใช้วิธีการเตรียมตัวอย่างตามขั้นตอนการปรุงที่ระบุบนฉลากของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตามที่แต่ละยี่ห้อระบุ เช่น ยี่ห้อ เอ ระบุ เตรียมน้ำปริมาณ 500 มิลลิลิตร ตั้งไฟจนเดือดใส่เส้นและเครื่องปรุง ต้มต่อไปอีก 3 นาที เป็นต้น  วิธีการทดสอบใช้วิธีที่ได้มาตรฐาน โดยห้องปฎิบัติการที่ได้รับการรับรอง ISO 17025 สรุปผลการทดสอบ         ผลทดสอบโดยการเตรียมตัวอย่างแบบที่ฉลาดซื้อกำหนดนั้น พบว่า ทุกตัวอย่างมีปริมาณ พลังงาน ไขมัน และโซเดียม น้อยกว่าที่ฉลากระบุ (ดูตารางแสดงผล) และเนื่องจากฉลากภาษาไทยมีความหลากหลาย บางฉลากมีความคลาดเคลื่อนของการคำนวณ เราจึงนำผลการทดสอบของฉลาดซื้อเทียบกับฉลากโภชนาการที่ระบุบนซองผลิตภัณฑ์ (ภาษาอังกฤษหรือภาษาเกาหลี) และใช้หน่วยบริโภคเท่ากับน้ำหนักของผลิตภัณฑ์จำนวน  1 ซอง         การทดสอบของฉลาดซื้อที่พบปริมาณค่าพลังงาน ไขมันและโซเดียมน้อยกว่า ค่าที่ระบุบนฉลาก อาจเกิดจากหนึ่ง ในการทดสอบแบบปกติจะใช้การเตรียมตัวอย่างด้วยผลิตภัณฑ์แบบแห้ง และสอง มีผลิตภัณฑ์ 2 ตัวอย่างที่ในวิธีการปรุงระบุให้เทน้ำออกก่อนปรุงด้วยเครื่องปรุง (เป็นผลิตภัณฑ์แบบแห้งเมื่อปรุงสำเร็จ)           ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับฉลากผลิตภัณฑ์          1.ฉลากภาษาไทย จัดหน่วยบริโภคไม่สอดคล้องกับวิธีการบริโภคตามปกติ กล่าวคือ พยายามแบ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำเป็น 50 กรัม หรือ 60 กรัม ในขณะที่การบรรจุบะหมี่ฯ 1 ซองจะมีปริมาณเฉลี่ยที่ 120 กรัม           2.หลายผลิตภัณฑ์เมื่อคำนวณค่าพลังงาน ไขมันและโซเดียม จากฉลากภาษาเกาหลีหรือภาษาอังกฤษบนซองผลิตภัณฑ์พบว่า คำนวณผิดพลาดไม่ตรงกับฉลากจริงของผลิตภัณฑ์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ พบยาอันตรายที่อาจเกิดผลข้างเคียงถึงชีวิต ในกาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพเพศชาย

        นิตยสารฉลาดซื้อ พบยาอันตรายที่ต้องควบคุมพิเศษ ซิลเดนาฟิลและทาเดลาฟิล ที่อาจเกิดผลข้างเคียงถึงชีวิต ในผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพเพศชาย โทษปรับสูงสุด 150,000 บาท         นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เปิดเผยผลตรวจวิเคราะห์ยาควบคุมพิเศษ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป ที่อ้างสรรพคุณช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ จำนวน 23 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์  ได้แก่ ร้านค้าทั่วไป พื้นที่จังหวัด สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส จำนวน 16 ตัวอย่าง  ร้านค้าทั่วไปในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 2 ตัวอย่าง ร้านค้าออนไลน์ Lazada และ Shopee จำนวน 5 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2564         น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ กล่าวว่า “ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพทางเพศชาย ที่เราสุ่มสำรวจนั้น นำมาตรวจวิเคราะห์ยาควบคุมพิเศษ 3 ชนิด ได้แก่ ซิลเดนาฟิล (Sildenafil), ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) พบ 7 ใน 23 ตัวอย่าง มีซิลเดนาฟิลและทาเดนาฟิล แต่ไม่พบสารวาร์เดนาฟิล แบ่งเป็นตรวจพบทั้งซิลเดนาฟิลและทาเดนาฟิล จำนวน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ NATURAL HERBS COFFEE Kopi Jantan Tradisional สั่งซื้อจากร้านค้าทั่วไป ในตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ สงขลา         และตรวจพบซิลเดนาฟิล อีกจำนวน 6 ตัวอย่าง ได้แก่ 1. KOPI JANTAN TRADISIONAL ENERGY COFFEE (กาแฟสมุนไพรธรรมชาติ) สั่งซื้อจากร้านค้าทั่วไป ในตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ สงขลา 2. MA KHAW ม้าขาว คอฟฟี่ กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผงผสม สูตรดั้งเดิม กลุ่มสหมั่งคั่ง สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Shopee 3. GOMAX COFFEE โกแม็กซ์ คอฟฟี่ กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Shopee 4. AAAAAAA KOPI JANTAN TRADISIONAL (เสือสิงโต) กาแฟสมุนไพรธรรมชาติ สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Lazada 5. KOPI PALING SEDAP 7 ดาว (ม้า 3 ตัว) สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Lazada 6. AAAAA Kopi Jantan Tradisional สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Shopee         จากเรื่องนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ส่งผลทดสอบให้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินการทางกฎหมายต่อไป โดยบทลงโทษของการพบสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพเพศชายนั้น กฎหมายให้ปรับสูงสุดที่ 150,000 บาท เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย และมีซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันเป็นส่วนผสม ซึ่งถือว่าเป็น “อาหารไม่บริสุทธิ์” ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจเข้าข่ายอาหารปลอมหากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ตามมาตรา 25(2) ประกอบมาตรา 27(4) ต้องระวางโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท และเข้าข่ายมาตรา 40 ประกอบมาตรา 41 กรณีโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างเกินจริง มีโทษโฆษณาโดยฝ่าฝืนมาตรา 40 มีโทษตามมาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 41 มีโทษตามมาตรา 71 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท สำหรับกรณีของการโฆษณาขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ที่มีลักษณะหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อและเข้าใจผิดในคุณสมบัติ หรือบรรยายสรรพคุณเกินจริงนั้น ระวังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายบนสื่อออนไลน์ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบเป็นความผิดจริง อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับดอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 (1) "อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่นำจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท"         ด้าน ภญ.ชโลม  เกตุจินดา ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวว่า “จากข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า ซิลเดนาฟิล (Sildenafil), ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) เป็นยากลุ่มที่ใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องใช้ใบสั่งของแพทย์ในการซื้อยาเท่านั้น เนื่องจากมีผลข้างเคียงสูง เช่น อาการปวดศีรษะ ตาลาย ความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคตับและไต ความดัน เบาหวาน และโรคหัวใจ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจนถึงชีวิตได้”         นส.มะกรือซง สาแม คณะทำงานเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า “การเก็บตัวอย่างในพื้นที่นั้นเก็บจากการร้องเรียนของผู้บริโภคในพื้นที่ ซึ่งมีข้อมูลจากผู้บริโภคว่าได้รับประทานกาแฟผสมสมุนไพรและมีอาการมึนไป 2 วัน จึงได้ตรวจสอบไป 13 อำเภอ ซึ่งไม่ได้มีแค่ตัวเดียวแต่มีผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ 12 ตัวอย่าง เมื่อเก็บตรวจสอบไปเจอ 2 ตัวอย่างที่พบสาร ซึ่งภาพรวมเกี่ยวกับสินค้าในพื้นที่จำหน่วยโดยลักษณะมีรถนำมาฝากขายร้านค้าซึ่งไม่ได้เป็นของทางร้านค้าจำหน่ายเอง”         น.ส.จุฑา สังขชาติ    ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวถึงการทำงานเฝ้าระวังครั้งนี้ว่า “การที่เลือกสินค้าตัวนี้มาทดสอบเพราะอะไรเริ่มจากทางภาคใต้มีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากวิถีชีวิตที่ต้องกรีดยางและต้องดื่มกาแฟตอนเช้า และจากการที่ได้ร่วมงานกับเครือข่ายนราธิวาส มีผลิตภัณฑ์ที่กาแฟลักษณะแบบนี้เป็นที่นิยมหลากหลายยี่ห้อมีลักษณะราคาแพงกว่ากาแฟทรีอินวันทั่วไป ซึ่งมีราคาแพงและเป็นที่นิยม เช่น 4 ซอง 100 บาท ซึ่งมีผู้บริโภคได้กินกาแฟประเภทนี้และหัวใจวาย จึงได้ตรวจสอบพบว่ามีผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ในหลายพื้นที่จังหวัด  ส่วนการทำงานในพื้นที่ต่อ ทางเราจะมีการเฝ้าระวังในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานร่วมกับ สสจ.นราธิวาส และจากการได้พูดคุย เราจะทำการเตือนภัยและให้ความรู้ไปยังผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจ และเรามองไปถึงการทำงานระยะยาวระหว่างคณะกรรมการไทยร่วมกับทางมาเลเซียในการเฝ้าระวังสินค้าชายแดน โดยจะผลักดันให้มีตัวแทนผู้บริโภคไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการแก้ไขปัญหามากยิ่งขึ้น และร่วมผลักดันในเชิงนโนบายต่อไป” ติดตามรายละเอียดผลการทดสอบได้ที่  https://www.chaladsue.com/article/3789 ประสานงานรายละเอียดได้ที่ : ชนิษฎา วิริยะประสาท โทรศัพท์ 081 356 3591  หรือ 086 765 9151

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 ยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศในกาแฟสำเร็จรูป

        ทุกวันนี้คนวัยทำงานนิยมดื่มกาแฟกันมาก เพราะเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการให้ร่างกายทำงานโดยไม่มีอาการง่วงซึมระหว่างวัน เพราะในกาแฟมีสารคาเฟอีนที่ช่วยกระตุ้นการตื่นตัวของสมอง ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า อย่างไรก็ตามได้มีผู้ผลิตหัวใสใส่ไอเดียเพิ่มความพิเศษให้กาแฟด้วยการโฆษณาว่า ดื่มเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ด้วยโดยเฉพาะคุณผู้ชาย ซึ่งผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปในรูปแบบนี้จะอวดอ้างสรรพคุณว่า ช่วยให้อวัยวะเพศชายของผู้บริโภค ฟิตเปรี๊ยะ อึด ทน เมื่อดื่มจะมีอารมณ์ทางเพศเพิ่มขึ้น โดยอ้างว่าเป็นฤทธิ์จากสมุนไพรที่นำมาผสมในกาแฟ แต่แท้จริงแล้วเกิดจากการนำยากลุ่มรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศผสมในกาแฟ ซึ่งเสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิตได้         นิตยสารฉลาดซื้อ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป ที่อ้างสรรพคุณช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ จำนวน 23 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์  ได้แก่ ร้านค้าทั่วไป พื้นที่จังหวัด สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส จำนวน 16 ตัวอย่าง  ร้านค้าทั่วไปในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 2 ตัวอย่าง ร้านค้าออนไลน์ LAZADA และ SHOPEE จำนวน 5 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2564 เพื่อทดสอบหาสารซิลเดนาฟิล ( Sildenafil) ,ทาเดลาฟิล (Tadalafil) ,วาเดนาฟิล(Vardenafil) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยแก้อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ  สรุปผลทดสอบ        ผลการทดสอบหาสาร(ยา) ซิลเดนาฟิล ( Sildenafil),ทาเดลาฟิล(Tadalafil) ,วาเดนาฟิล(Vardenafil) ในผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปทั้ง 23 ตัวอย่าง พบว่า 7 ใน 23 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์พบสารซิลเดนาฟิลและทาเดนาฟิล แต่ไม่พบสารวาเดนาฟิล ดังนี้        1. KOPI JANTAN TRADISIONAL ENERGY COFFEE (กาแฟสมุนไพรธรรมชาติ) พบสารซิลเดนาฟิล ตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ สงขลา        2. NATURAL HERBS COFEE Kopi Jantan Tradisional พบสารซิลเดนาฟิลและทาเดนาฟิล ตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ สงขลา        3. MA KHAW ม้าขาว คอฟฟี่ กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผงผสม สูตรดั้งเดิม กลุ่มสหมั่งคั่ง  พบสารซิลเดนาฟิล SHOPEE ONLINE        4. GOMAX COFFEE โกแม็กซ์ คอฟฟี่ กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง พบสารซิลเดนาฟิล SHOPEE ONLINE        5. AAAAAAA KOPI JANTAN TRADISIONAL (เสือสิงโต) กาแฟสมุนไพรธรรมชาติ พบสารซิลเดนาฟิล LAZADA ONLINE        6. KOPI PALING SEDAP 7 ดาว(ม้า 3 ตัว) พบสารซิลเดนาฟิล LAZADA ONLINE        7. AAAAA Kopi Jantan Tradisional พบสารซิลเดนาฟิล SHOPEE ONLINE ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผสมยาแผนปัจจุบันมีโทษตามกฎหมาย     ผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยและมีสารซิลเดนาฟิล(Sildenafil) ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาเดนาฟิล (Vardenafil) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันเป็นส่วนผสม ถือว่าเป็น”อาหารไม่บริสุทธิ์” ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจเข้าข่ายอาหารปลอมหากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ตามมาตรา 25(2) ประกอบมาตรา 27(4) ต้องระวางโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท และเข้าข่ายมาตรา 40 ประกอบมาตรา 41 กรณีโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างเกินจริง มีโทษโฆษณาโดยฝ่าฝืนมาตรา 40 มีโทษตามมาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 41 มีโทษตามมาตรา 71 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 เป็นไปได้ไหม เก็บภาษีเกลือ

หมอ ห่วงคนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึง 2 เท่า ทำเจ็บป่วย โรคเอ็นซีดีเพียบ ชี้การรณรงค์ ขอความร่วมมือลดเติมเกลือในอาหาร ยังไม่ได้ผล รอโควิดซาจ่อเก็บ “ภาษีโซเดียม” ยันทำเพื่อสุขภาพปัดหารายได้            ปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือกลุ่มโรคเอ็นซีดี ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม โดย ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์สาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มเปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยกินอาหารรสชาติค่อนข้างเค็มตอนนี้เกือบๆ 2 เท่าของความต้องการของร่างกาย หรือประมาณสูงถึง 4,351 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งจากการศึกษาทั่วประเทศพบว่ามีการบริโภคเค็มกันทุกภูมิภาค มากที่สุดคือภาคใต้ แต่สูงกว่ากันไม่มาก เช่น ประชากรจากภูมิภาคอื่นๆ บริโภคเค็ม 100 ส่วน ภาคใต้จะรับประทาน 110 ส่วน เป็นต้น         ทั้งนี้ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมที่อยู่ในอาหารธรรมชาติพบเล็กน้อยประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ข้าว ส่วนประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากเครื่องปรุงเช่น เครื่องปรุงที่มีความเค็มคือ เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่างๆ เกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ก็โซเดียมที่ไม่เค็ม ในรูปของผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ผงชูรส ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง เบเกอรี่ก็มีโซเดียมเช่นเดียวกัน         และจากการสำรวจของภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หรือการสำรวจของภาคเอกชน คือนีลสันพบข้อมูลตรงกันว่าคนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น จากเดิมประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ก็เพิ่มเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ มีการพึ่งพาอาหารจากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต อาหารข้างทาง ตามตลาดนัด ข้าวแกงและยังพบแนวโน้มรับประทานอาหารจานด่วน เช่น แฮมเบอร์เกอร์ ไส้กรอก พิซซ่า มากขึ้นด้วย        รวมถึงความนิยมอาหารญี่ปุ่น อาหารจีน ซึ่งมีรสชาติค่อนข้างเค็มมาก โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่นจะเค็มกว่าอาหารทั่วไป ตั้งแต่น้ำแกงราเมนที่ใส่ทั้งเกลือและซีอิ๊ว ซอสปรุงรสต่างๆ แถมยังรับประทานกับน้ำจิ้มอีก ทั้งหมดนี่คืออีกแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง ตลอดจนขนมกรุบกรอบที่เด็กรับประทาน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่ง 1 ซองมีปริมาณโซเดียมสูงเกินความต้องการของคน 2-3 เท่า เมื่อเทียบข้าว 2 จาน         ผศ.นพ.สุรศักดิ์ ระบุว่า จากพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนไทยที่กล่าวมานั้น เป็นแนวโน้มที่น่ากังวลส่งผลให้อัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น ทั้งความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ เบาหวาน ตลอดจนอัมพฤกษ์ อัมพาต ข้อมูลจากระทรวงสาธารณสุขพบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังสูงถึง 7,600,000 คน เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดปีละเกือบ 40,000 คน โรคอัมพฤกษ์อัมพาตมากกว่า 500,000 คน แนวโน้มการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ และไม่มีน้อยลงเลย         ที่น่าเป็นห่วงเพราะสังเกตว่าคนที่ป่วยด้วยโรคเหล่านี้อายุน้อยลงเรื่อยๆ จากเมื่อก่อนคนจะเริ่มป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่อายุ 30-35 ปี เป็นอายุกลางคนแล้ว โดยเริ่มความดันโลหิตสูง แต่ปัจจุบันวัยรุ่นพอเรียนจบความดันสูงน้ำหนักตัวเยอะ ยิ่งถ้าเราเริ่มกินเค็มแต่เด็กจะเป็นความดันโลหิตสูงเร็ว ไม่ถึง 20 ปี ก็เจอได้ ซึ่งที่ตนเคยเจออายุน้อยสุดคือ 18 ปี ทั้งนี้ไม่เกี่ยวว่าคนนั้นอ้วนหรือไม่อ้วน ทุกคนสามารถเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ หากรับประทานเค็มมากความดันก็สามารถขึ้นได้ แต่คนไข้ที่อ้วนมักพบว่ามีการกินหวานร่วมด้วย ยิ่งทั้งหวานทั้งเค็ม 2 อย่างก็จะอันตรายมากเข้าไปอีก         ผศ.นพ.สุรศักดิ์  ได้อธิบายกลไกการรับประทานอาหารที่มีความเค็ม มีโซเดียมสูงมีผลต่อการเกิดโรคว่า ความเค็มหรือโซเดียมจะก่อให้เกิดโรคอันดับแรกคือ โรคความดันสูง เพราะเวลากินเค็ม กินเกลือเข้าไปนั้น ธรรมชาติสร้างมาว่าต้องมีการขับออก ถ้าได้รับปริมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดอันตรายกับร่างกาย ดังนั้นเพื่อที่จะขับเกลือที่เกินความจำเป็นนั้นออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ เพราะฉะนั้นความเค็มจะไปกระตุ้นสมองและสั่งการให้เกิดกระหายน้ำ  และเมื่อน้ำกับเกลือรวมกันกลายเป็นน้ำเกลือ ซึ่งน้ำเกลือจะเป็นตัวนำพาเลือดภายในหลอดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย         ทั้งนี้กลไกของมันคือ เม็ดเลือดจะเดินทางไปไม่ได้ ถ้าไม่มีน้ำเกลือพาไป แต่ถ้าค่าน้ำเกลือมีปริมาณมากเกินไปแรงดันในหลอดเลือดก็จะสูงขึ้น เรียกว่าความดันโลหิตสูง จะส่งผลทำให้หลอดเลือดนั้นเสื่อมเร็ว หรือถ้าทนไม่ได้เส้นเลือดก็จะแตก เช่น เส้นเลือดสมองแตกเป็นอัมพาตไป บางคนเส้นเลือดเกิดการอักเสบ หรือทนแรงไม่ไหวก็จะเสื่อม มีหินปูนเกาะ มีไขมันคอเลสเตอรอลไปเกาะ เกิดการอุดตันได้ เกิดเป็นหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย และหากไตทำงานหนักมากๆ เพราะมีหน้าที่ขับเกลือออกทางปัสสาวะ ไตก็จะเสื่อมเร็วเพราะเหตุว่าไตมีหน้าที่กรองน้ำกับเกลือออกไป ซึ่งการขับสิ่งเหล่านี้จะต้องใช้แรงดันเลือดเข้าไป พอมีแรงดันมากๆ หลอดเลือดที่ไตก็จะเสื่อม เกิดไตเสื่อม ไตวายในอนาคต         เพราะฉะนั้นการรับประทานอาหารรสเค็มจะทำให้เป็นโรคความดันมาก่อน ตามมาด้วยไต โรคหัวใจ และอัมพาต และยังตามมาด้วยโรคเบาหวานอีกด้วย สังเกตว่าถ้าป่วยความดันสูง 4-5 ปี หรือเมื่ออายุมากขึ้นจะเป็นเบาหวานตามมา เพราะคนที่รับประทานเค็มมากมักจะรับประทานรสหวานด้วย มีน้ำหนักขึ้น เช่น เวลารับประทานขนมกรุบกรอบก็ต้องกินกับน้ำหวาน กินอะไรก็ตามอาจจะตามด้วยน้ำอัดลมจะทำให้น้ำหนักตัวเยอะ ตามด้วยเบาหวาน ความดัน โรคไต ตามมาเป็นตระกูล         ผศ.นพ.สุรศักดิ์  ย้ำว่า การรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็มต่อเนื่องกันเป็นเวลานานราวๆ 5 ปี 10 ปี มีโอกาสสูงที่จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตามถ้ารับประทานอาหารเค็ม แต่ก็รับประทานอย่างอื่น รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็จะช่วยได้บ้างแต่ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ บางคนรับประทานเค็มแล้วดื่มน้ำตามมากๆ ก็จะขับเกลือออกผ่านทางปัสสาวะ ขับออกจากร่างกายได้เร็วขึ้นแทนที่จะคั่งค้างในร่างกาย แต่ไตก็ยังทำงานหนักอยู่ดี หรือบางวันกินบุฟเฟ่ต์ มื้อต่อมาอาจจะรับประทานจืดลงหน่อย ไปวิ่งออกกำลังกาย ไปเข้าฟิตเนสประมาณ 45 นาที ก็จะช่วยขับเกลือออกทางเหงื่อได้         บางวันบางคนรับประทานผัก ซึ่งในอดีตคนจะรับประทานน้ำพริก และมีผักแนมเยอะๆ ซึ่งในผักจะมีสารโปรแตสเซียมช่วยในการขับเกลือส่วนเกินออกไปได้ดีขึ้นเช่นกัน ช่วยให้ป้องกันความดันโลหิตสูงได้ ดังนั้นในอดีต ชีวิตคนต่างจังหวัดจึงไม่ค่อยเป็นความดันโลหิตสูงมากนักเพราะรับประทานผักเยอะ อีกทั้งยังทำงานกลางแจ้งเสียเหงื่อเยอะความดันจึงไม่ค่อยขึ้น แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตคนเราเปลี่ยนไปเป็นชีวิตคนเมืองมากขึ้น ออกกำลังกายน้อยลงกินผักน้อยลงทำให้เป็นโรคสะสมโดยเฉพาะความดันโลหิตสูงโรคไตจะเข้ามาเยอะและอายุผู้ป่วยน้อยลงเรื่อยๆ          ผศ.นพ.สุรศักดิ์  บอกว่า เมื่อป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงแล้วหากไม่รักษา ใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี ก็จะเริ่มมีปัญหาโรคไต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับดีกรีด้วย ถ้าความดันโลหิตสูงมากก็มีโอกาสป่วยโรคไตเร็วขึ้น แต่ถ้าความดันโลหิตสูงน้อยหน่อยก็เป็นเป็นโรคไตช้า เช่น บางคนความดันโลหิตสูง 150 - 160  จะอยู่ได้ประมาณ 5 ปี ส่วนคนที่ 180 - 200 ภายใน 2-3 ปีก็เป็นโรคไตแล้ว ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความดันโลหิต         อย่างไรก็ตามสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ลดเค็ม ลดหวาน และออกกำลังกาย ถ้าน้ำหนักเยอะก็พยายามลดน้ำหนักลง และทานผักผลไม้เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยสร้างสมดุลเรื่องเกลือและไม่สูบบุหรี่ เลี่ยงยาที่ทำให้ไตเสื่อมเร็ว เช่น ยาชุด ยาแก้อักเสบ แก้ปวดข้อต่างๆ ซึ่งทำให้ไตเสื่อมเร็ว         หลายคนอาจจะเข้าใจว่าบุหรี่มีผลต่อโรคปอดอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วบุหรี่อันตรายมากกับทุกอวัยวะในร่างกาย ทำให้หลอดเลือดทั่วไปเสื่อมเร็ว เหมือนกับเวลาคนไข้ที่สูบบุหรี่มักจะเป็นโรคหัวใจเพราะหลอดเลือดหัวใจเสื่อม เป็นโรคไตก็เพราะหลอดเลือดไตเสื่อม โรคสมองก็เพราะบุหรี่ทำให้หลอดเลือดที่สมองเสื่อมและเป็นโรคปอดไปด้วย เพราะมีสารทำร้ายเนื้อเยื่อปอด เพราะฉะนั้นบุหรี่กับความเค็มมีความรุนแรงพอๆ กัน แต่ความเค็มยังพอมีวิธีแก้ด้วยการลดเค็ม แต่บุหรี่ไม่มีวิธีแก้เลย ต้องหยุดอย่างเดียว         ความเป็นไปได้ของการเก็บภาษีเกลือ         จากอันตรายที่มาจากการรับประทานอาหารที่มีความเค็ม หรือปริมาณโซเดียมสูง นำมาสู่ความพยายามผลักดันให้มีการออกกฎหมายเก็บภาษีโซเดียมขึ้นมา เรื่องนี้ ผศ.นพ.สุรศักดิ์  อธิบายว่า การรณรงค์ให้ประชากรลดการบริโภคเค็มถือว่ามีประโยชน์มาก ยกตัวอย่างที่ประเทศอังกฤษ ประเทศฟินแลนด์ มีการรณรงค์ทั่วประเทศให้ลดการบริโภคเค็มลดลง แค่ลดลงประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ก็มีผลทำให้ลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตได้มาก ในอังกฤษพบว่าการรณรงค์ระยะเวลา 10 ปี ประชาชนสามารถลดการบริโภคความเค็มลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ ส่งให้อัตราคนเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจลดลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ อัตราการเสียชีวิตลดลงชัดเจน         เพราะฉะนั้นการรณรงค์ก็มีความสำคัญ แต่การรณรงค์อย่างเดียวมักไม่ค่อยได้ผล เพราะธรรมชาติคนมักจะติดกับรสชาติ หากบอกว่าการรับประทานรสเค็มมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคไตในอีก 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นขอให้รับประทานรสจืดลงสักหน่อย แต่คนจะมองว่า “ฉันไม่เป็นหรอก ไม่กลัว อีกตั้งนานกว่าจะเป็น”  เพราะฉะนั้นการรณรงค์อย่างเดียวไม่ได้ประโยชน์ วิธีที่จะช่วยได้ ซึ่งในหลายประเทศทำอยู่ คือการปรับสิ่งแวดล้อมหรือปรับสูตรอาหาร ที่ขายในท้องตลาดให้มีความเค็มลดลง         ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ทำวิธีนี้เช่นกัน โดยการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจอาหารตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว ให้ช่วยลดปริมาณเกลือลงเพื่อทำให้ประชาชนสุขภาพดี อย่างน้อยคือ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่คนนิยมบริโภค มียอดจำหน่ายมากถึงวันละ  8 ล้านซอง ถ้าคนรับประทานวันละ 1 ซอง แสดงว่ามีคนรับประทานถึง 8 ล้านคน และคนเหล่านี้ก็คือคนที่ได้รับโซเดียมสูงมาก         เพราะฉะนั้น จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการลดเกลือในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลง เป็นการขอความร่วมมือ จะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ปรากฏว่าผู้ประกอบการลดปริมาณเกลือที่ใส่ได้น้อยมาก โดยให้เหตุผลว่าถ้าลดเกลือลงแล้วคนจะไม่ซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้ประกอบการทุกบริษัทลดเกลือลงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ทุกบริษัท คนก็จะต้องรับประทานของบริษัทที่เป็นเจ้าใหญ่อยู่แล้ว เพราะคนส่วนใหญ่ติดที่ยี่ห้อเดิม การลดปริมาณเกลือลง 5 เปอร์เซ็นต์ ลิ้นคนเราไม่สามารถจับได้         “ที่ผ่านมาเราขอให้เขาค่อยๆ ลดปริมาณเกลือลง ปีแรก 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งลิ้นคนเราจับรสชาติไม่ได้อยู่แล้ว หลังจากนั้นอีก 2 ปี ก็ขอให้ลดลงอีก 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ปรากฏว่าเขาทำไม่ได้ เพราะว่าต่างคนต่างไม่ยอมลด ก็เป็นที่มาว่าถ้าไม่ลดเกลือในอาหารลง ก็จะทำให้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนที่บริโภค เพราะฉะนั้นถ้าลดไม่ได้ก็ต้องเก็บภาษี เหมือนภาษีน้ำหวาน”         ผศ.นพ.สุรศักดิ์  ระบุว่า หลักการจัดเก็บภาษีโซเดียมนั้น ไม่ได้จะเก็บภาษีผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปทุกตัว แต่จะมีการกำหนดค่ามาตรฐานความเค็มเอาไว้ ผลิตภัณฑ์ใดที่มีความเค็มเกินเกณฑ์ที่กำหนดก็จะถูกเรียกเก็บภาษีดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันเมื่อดูจากข้อมูลผลิตภัณฑ์อาหารในท้องตลาดจะพบว่ามีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่จะโดนภาษี หรือคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 3 ใน 4 จะไม่โดน หลักคือกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กลุ่มโจ๊ก และขนมกรุบกรอบ         อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าการเก็บภาษีโซเดียมไม่ได้จะเก็บจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทุกตัว แต่จะเก็บเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีความเค็มเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ถ้าผู้ผลิตมีการปรับสูตรให้มีความเค็มเกินค่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ ก็จะไม่ถูกเก็บภาษีแต่อย่างใด แต่ถ้ามีคนกังวลว่าหากผู้ผลิตที่ถูกเก็บภาษี จะหันไปขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นั้น ส่วนที่ไม่ถูกเก็บภาษีก็จะราคาไม่แพง ดังนั้นถ้าดูตามพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ หรือประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ จะเลือกสินค้าตามราคา ตัวไหนราคาถูกก็จะซื้อตัวนั้น ดังนั้นผู้บริโภคก็มีทางเลือกว่าจะซื้อของที่มีราคาถูกและดีต่อสุขภาพ หรือว่าจะซื้อของแพงแถมยังเป็นภัยต่อสุขภาพ ผู้บริโภคมีสิทธิเลือก ทั้งนี้ไม่รวมเครื่องปรุงรส แต่อาจจะมีการออกคำเตือนเรื่องการบริโภคในปริมาณน้อยเพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง         เพราะฉะนั้นจะคัดค้านไม่ให้มีการเก็บภาษีดังกล่าวโดยอ้างว่าจะทำให้บะหมี่ราคาแพงขึ้นทั้งแผงคงไม่ถูกต้อง เป็นข้ออ้างที่จะบ่ายเบี่ยง แต่ถ้ามีการขึ้นราคาทั้งหมดเท่ากับว่าเป็นการฉวยโอกาสขึ้นราคาเพื่อทำกำไร ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องมาควบคุมราคาเพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภคได้         “การลดปริมาณเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ถ้าทำได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย เพราะไม่ต้องไปขึ้นราคา ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคเอ็นซีดี ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถเซฟค่าใช้จ่ายในการรักษาได้”         ทั้งนี้ มาตรการภาษีไม่ใช่ว่าบังคับใช้ทันที แต่จะบังคับใช้ใน 3 ปีข้างหน้า 5 ปีข้างหน้า เพราะเข้าใจดีว่าก็ต้องให้เวลาผู้ประกอบการในการปรับตัว โดยค่อยๆ ลดเกลือลงมา ซึ่งถ้าลดเกลือลงมาแล้วผลิตภัณฑ์มีความเค็มไม่เกินค่าที่ตั้งไว้ก็ไม่ต้องเสียภาษีอีก ดังนั้นถือว่ากระทบน้อยมากและนี่เป็นมาตรการที่ต่างประเทศ เช่น ฮังการี ใช้มาก่อนแล้วพบว่าได้ผลดี  สินค้าเกือบทั้งหมดลดปริมาณเกลือลงโดยที่ไม่ต้องไปขอร้องกันอีก ผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากการลดต้นทุน ไม่ต้องเสียภาษีและขายได้เยอะขึ้น เพราะราคาไม่แพง         สำหรับความคืบหน้าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทำความตกลงกับสภาอุตสาหกรรม กลุ่มผู้ผลิตอาหาร ประชุมกันมา 4-5 ครั้ง ดูแนวโน้มก็เข้าใจมากขึ้นว่าเราไม่ได้จะไปเก็บภาษีทั้งหมด ถ้าลดปริมาณเกลือลงมาก็จะไม่ถูกเก็บภาษี ข้อกำหนด หลักเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ได้มีการยกร่างเอาไว้หมดแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 จึงยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะออกมาตรการเก็บภาษีในช่วงนี้ รอให้สถานการณ์ดีขึ้นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้ประกอบการก่อน        โดยอยากจะทำความเข้าใจอีกครั้งว่าการลดการบริโภคเกลือลงนั้น  มีความสำคัญสำหรับประชาชน เพราะทำให้คนป่วยน้อยลง ค่าใช้จ่ายถูกลง ค่ารักษาพยาบาลน้อยลง ถ้าขอความร่วมมือทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตให้บริโภคเกลือน้อยลง โดยมีระบบจัดเก็บภาษีเป็นการโน้มน้าว หรือชักจูงให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคกินอาหารที่มีความเค็มลดลงเพื่อผลดีต่อสุขภาพ ไม่ได้มีเจตนาจะไปเก็บเงินหารายได้ต่างๆ ถ้าทุกอย่างคนกินจืดลง ผู้ผลิตผลิตอาหารจืดลง ภาษีนี้อาจจะไม่ต้องใช้ก็ได้ ไม่กระทบค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค คิดว่าเป็นมาตรการที่ทำให้สุขภาพของทุกคนดีขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >


‘ฉลาดซื้อ’ เตือน บริโภค ‘โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป’ ช่วงกักตัวระวังปริมาณโซเดียมเกิน

        ‘นิตยสารฉลาดซื้อ’ เผย ปริมาณโซเดียมใน ‘ผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป’ พบ ผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมน้อยสุดเป็น 0 มากสุดมีถึง 1,350 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค แต่ไม่เกินปริมาณการบริโภคโซเดียมที่แนะนำต่อวัน ทั้งยังพบ 1 ผลิตภัณฑ์ไม่มีฉลากโภชนาการ พร้อมแนะควรบริโภคเป็นครั้งคราว แต่หากมีความจำเป็นต้องบริโภคควรเติมเนื้อสัตว์ หรือ ผัก เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปทั้งแบบถ้วยและแบบซองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 31 ตัวอย่าง และนำมาเปรียบเทียบปริมาณโซเดียม พบว่า ผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุด คือ โจ๊กข้าวกล้อง หอมมะลิ กึ่งสำเร็จรูป ตราเอ็นทูเอ็น รสผักเจ มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 0 มิลลิกรัม และ โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุด คือ โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป รสปลา ตราเกษตร มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 1,350 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค         เมื่อคิดเป็นค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียม และ ราคาของโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด 31 ตัวอย่าง จะได้ค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียมเท่ากับ 605.23 มิลลิกรัม และราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 17.04 บาทต่อถ้วยหรือซอง         ขณะที่มีผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป 1 ตัวอย่าง ‘ไม่มีฉลากโภชนาการ’ ได้แก่ โจ๊กข้าวต้มหอมมะลิ กึ่งสำเร็จรูป ตราเอ็นทูเอ็น รสดั้งเดิม จึงไม่สามารถเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมได้ปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป จำนวน 31 ตัวอย่างเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือนกุมภาพันธ์ 2563องค์การอนามัยโลก(WHO)แนะนำว่าปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมต่อร่างกายคือ 2,000 มิลลิกรัม/วัน         อนึ่ง แม้ว่าโซเดียม คือ แร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกายและความดันโลหิต โดยทั่วไปร่างกายต้องการโซเดียมประมาณ 1500 มิลลิกรัม/วัน แต่ในชีวิตประจำวันของเราอาจจะบริโภคโซเดียมมากกว่านั้น โดยปริมาณโซเดียมสูงสุดที่บริโภคแล้วไม่อันตราย คือ ไม่เกิน 2000 มิลลิกรัม/วัน หรือเกลือประมาณ 1 ช้อนชา         ทั้งนี้ หากลองคำนวณจากการบริโภคมื้ออาหารหลัก วันละ 3 มื้อ เราควรได้รับปริมาณโซเดียมต่อมื้อโดยประมาณไม่เกิน มื้อละ 666 มิลลิกรัม (2000 ÷ 3) ซึ่งหากดูปริมาณโซเดียมในตัวอย่างผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด 31 ตัวอย่าง จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์มากกว่าครึ่ง มีปริมาณโซเดียมต่ำกว่า 666 มิลลิกรัม อย่างไรก็ตามหากหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารสำเร็จรูปได้ก็ควรหลีกเลี่ยง หรือ บริโภคเป็นครั้งคราว แต่หากมีความจำเป็นต้องบริโภคโจ๊กกึ่งสำเร็จรูป แนะนำว่าสามารถเติมเนื้อสัตว์ หรือ ผัก เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร นอกจากนี้ ควรสังเกตฉลากโภชนาการเพื่อดูปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ด้วย อ่านรายละเอียด ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3351

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 สำรวจปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย (ภาค 2)

        บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือ Instant Noodles เป็นอาหารทางเลือกสำหรับคนที่รีบเร่ง เพราะง่ายต่อการบริโภคแบบด่วนซ้ำราคาถูก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปส่วนใหญ่มีส่วนประกอบจาก แป้งสาลี, น้ำมันปาล์ม, เกลือ, น้ำตาล เครื่องเทศชนิดต่างๆ และผงปรุงรส  บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีหลายรสชาติและราคาถูก ทำให้ผู้คนนิยมบริโภค จนบางครั้งก็กลายเป็นตัวเลือกสำหรับบางมื้อที่ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างชาวมนุษย์เงินเดือนที่บางเดือนนั้นมีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก        นอกจากนี้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังถูกใช้ในการทำบุญตักบาตร เพราะเป็นอาหารแห้งที่สามารถเก็บไว้ได้นานหลายเดือน หรือกิจกรรมที่ต้องพักค้างแรมในสถานที่ห่างไกลจากแหล่งอาหาร เช่น การเข้าค่ายหรือเดินป่า หรือแม้กระทั่งเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ภัยจากน้ำท่วม บ่อยครั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ถูกใช้เป็นอาหารเพื่อการยังชีพ         โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในรูปแบบถ้วยที่ง่ายต่อการปรุง เพราะแค่เติมน้ำร้อนและรอให้เส้นบะหมี่พองตัว ก็สามารถบริโภคได้ทันที ไม่ต้องฉีกซองเทใส่ชามให้ยุ่งยาก บางยี่ห้อยังออกแบบถ้วยบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย หรือ สามารถฉีกแยกชิ้นส่วนเพื่อแยกขยะตอนทิ้งได้อีกด้วย         บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีปริมาณโซเดียมสูง ปริมาณแตกต่างกันไปตามรสชาติ ดังนั้นการเลือกบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผู้บริโภคควรพิจารณาดูปริมาณโซเดียมบนฉลากประกอบด้วย         ฉลาดซื้อ ในโครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในรูปแบบถ้วย (รวมถึงวุ้นเส้น ราเมง และอูด้ง) ที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ จำนวน 23 ตัวอย่าง ในเดือนมกราคม 2563 เพื่อนำมาสำรวจปริมาณโซเดียม ซึ่งผลการสำรวจปริมาณโซเดียมจากข้อมูลบนฉลาก แสดงได้ดังตารางต่อไปนี้ตารางแสดงผลการสำรวจปริมาณโซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย 23 ตัวอย่างเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือน มกราคม 2563สรุปผลการสำรวจฉลาก         จากการสำรวจปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จำนวน 23 ตัวอย่าง พบว่า         ผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยที่มีปริมาณโซเดียมต่อถ้วยน้อยที่สุด ได้แก่ ราเมงกึ่งสำเร็จรูปแบบแห้ง รสชีสสูตร เผ็ด ตราซัมยัง มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 700 มิลลิกรัม          และผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยที่มีปริมาณโซเดียมต่อถ้วยมากที่สุด ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำ ตรานิสชิน คัพนูดเดิล (อิ่มเต็มคัพ) มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 2360 มิลลิกรัม ซึ่งเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ ร่างกายไม่ควรได้รับปริมาณโซเดียมเกิน 2000 มิลลิกรัมต่อวัน          โดยหากคำนวณจากการบริโภคมื้ออาหารหลัก วันละ 3 มื้อ เราควรได้รับปริมาณโซเดียมต่อมื้อโดยประมาณไม่เกิน มื้อละ 666 มิลลิกรัม (2000 ÷ 3) ซึ่งหากดูปริมาณโซเดียมในตัวอย่างผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยทั้งหมด 23 ตัวอย่าง จะเห็นว่าทุกตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมเกิน 666 มิลลิกรัม         เมื่อปี พ.ศ. 2560 ฉลาดซื้อ เคยสุ่มเก็บตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยมาแล้ว จำนวน 15 ตัวอย่าง  (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 191 โซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย) แต่พบว่ามีเพียง 7 ตัวอย่างเท่านั้น ที่แสดงฉลากโภชนาการ ซึ่งเมื่อเฉลี่ยปริมาณโซเดียมจากฉลากโภชนาการ จะได้ปริมาณโซเดียมเฉลี่ยโดยประมาณเท่ากับ 1,514 มิลลิกรัม และ เมื่อเฉลี่ยปริมาณโซเดียมจากที่เก็บตัวอย่างในครั้งนี้ จำนวน 23 ตัวอย่าง จะได้ปริมาณโซเดียมเฉลี่ยโดยประมาณเท่ากับ 1,497 มิลลิกรัม ซึ่งเมื่อลองเทียบเคียงกันแล้ว พบว่ามีค่าเฉลี่ยไม่ต่างกันมากนัก คำแนะนำในการบริโภค         การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นอกจากการเติมเนื้อสัตว์ ไข่ หรือผักลงไปเพื่อเพิ่มคุณค่าสารอาหารตามคำแนะนำข้างถ้วยแล้ว ไม่ควรเติมเครื่องปรุงรสเค็ม เช่น น้ำปลา หรือ ซีอิ๊ว เพิ่มเติมลงไปอีก หรือ อาจเติมเครื่องปรุงรสที่ให้มาในซองเพียงครึ่งส่วน หรือ หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำซุปจนหมดถ้วย เพื่อลดการบริโภคโซเดียมที่อยู่ในน้ำซุปให้น้อยลง         นอกจากนี้ ยังไม่ควรบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกวัน หรือบ่อยจนเกินไป เพราะการได้รับปริมาณโซเดียมมากๆ อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิต โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด ไปจนถึงโรคกระดูกพรุนได้ เพราะเรายังอาจได้รับโซเดียมจากอาหารในมื้ออื่นๆ อีก ซึ่งร่างกายอาจได้รับโซเดียมเกินปริมาณที่เหมาะสมต่อวันข้อมูลอ้างอิง- “โซเดียม ภัยร้ายที่ไม่ควรมองข้าม” เว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) - “แนวทางและการบริโภคโซเดียม (ที่เหมาะสม)” (www.fostat.org/less-salt)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 สารกันบูดในไส้ถั่วกวนสำเร็จรูป

แฟนๆ ฉลาดซื้อคงยังจำกันได้ว่าเมื่อไม่นานนี้ เราเพิ่งนำเสนอผลทดสอบ “สารกันบูดในขนมเปี๊ยะ” ที่พบว่ามีตัวอย่างขนมเปี๊ยะเพียง 1 จาก 13 ตัวอย่างที่ไม่พบการปนเปื้อนของสารกันบูดชนิด กรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิก โดยพบปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 20.47 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งก็ถือว่าเป็นปริมาณที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้คือสูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่การพบสารกันบูดในขนมเปี๊ยะ ทั้งที่บางยี่ห้อระบุว่า “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” นั้น ทำให้ฉลาดซื้อมีข้อสงสัยว่า สารกันบูดที่พบมาจากส่วนประกอบใดในขนมเปี๊ยะกันแน่ ฉบับนี้เราเลยเลือกทดสอบไส้ขนมสำเร็จรูป ชนิด “ถั่วกวน” ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบหลักในผลิตภัณฑ์ขนมหลายชนิด ไม่ใช่แค่ขนมเปี๊ยะ แต่ยังมีทั้ง ขนมโมจิ ซาลาเปา ขนมเทียน ขนมถั่วกวน ขนมลูกชุบ ขนมเม็ดขนุน ฯลฯ ซึ่งไส้ถั่วกวนสำเร็จรูปพร้อมนำไปทำขนมได้ทันทีนี้ มีวางจำหน่ายอยู่ในร้านขายอุปกรณ์และวัตถุดิบสำหรับทำขนมและเบเกอรี่เจ้าใหญ่หลายแห่ง เราลองไปดูกันสิว่าในไส้ถั่วกวนสําเร็จรูปมีการปนเปื้อนของสารกันบูด กรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิก มากน้อยแค่ไหนถั่วกวนสำเร็จรูป ใส่สารกันบูดได้หรือไม่? ใส่ได้มากน้อยแค่ไหน?ถ้าเทียบตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ไส้ถั่วกวนสำเร็จรูป น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มอาหารประเภท พืชผัก สาหร่าย ถั่วเปลือกแข็ง และเมล็ดพืชต่างๆ ที่ผ่านกรรมวิธี เช่น อบแห้ง แคนนิ่ง แช่แข็ง ฯลฯ ตามการแบ่งกลุ่มย่อยของประเภทอาหารที่อนุญาตให้ใช้ กรดเบนโซอิก ซึ่งตามประกาศไม่มีกำหนดปริมาณที่ใช้เป็นตัวเลขชัดเจน ระบุเพียงว่า ให้ใช้ใน “ปริมาณที่เหมาะสม” ซึ่งเมื่อลองนำไปเทียบกับกลุ่มอาหารชนิดอื่นๆ ส่วนใหญ่กฎหมายจะอนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก ไม่มีการกำหนดปริมาณการใช้ในไส้ถั่วกวนสำเร็จรูปดังนั้นเกณฑ์สำหรับเทียบเคียงในการทดสอบ กรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิก ในไส้ถั่วกวนสำเร็จรูปครั้งนี้ ขอยึดที่เกณฑ์พบได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 คาเฟอีนและน้ำตาล ในกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม

กาแฟปรุงสำเร็จรูปพร้อมดื่ม ทางเลือกสำหรับคอกาแฟที่รักความสะดวกรวดเร็ว เพียงเปิดกระป๋องปุ๊บก็ดื่มได้ทันที ซึ่งปัจจุบันมีหลายยี่ห้อและรสชาติให้ลิ้มลองในราคาสบายกระเป๋า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้บริโภคหลายคนอร่อยเพลิน จนลืมไปว่ากาแฟกระป๋องเหล่านั้นอาจมีคาเฟอีนและน้ำตาลผสมอยู่ในปริมาณสูง โดยหากเราบริโภคมากเกินไป สามารถทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวานจากการได้รับน้ำตาลเกิน 24 กรัม/วัน หรืออาการติดคาเฟอีน (Caffeinism) จากการได้รับคาเฟอีนมากไปหรือเกินวันละ 200 มิลลิกรัม ซึ่งจะทำให้รู้สึกกระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย ทำงานไม่ได้ จนกว่าจะเพิ่มปริมาณคาเฟอีนในกระแสเลือดก่อน นอกจากนี้ผลที่ตามมาคือสมองและหัวใจจะถูกกระตุ้นเกินกว่าปกติ ทำให้ปวดศีรษะ ใจเต้นเร็ว ใจสั่นและความดันโลหิตสูงได้ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอเสนอผลเปรียบเทียบปริมาณคาเฟอีนและน้ำตาลในกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่มจำนวน 26 ตัวอย่างจาก 19 ยี่ห้อยอดนิยม ซึ่งเจ้าไหนจะมีน้ำตาลและคาเฟอีนสูงกว่ากัน ลองไปดูได้เลยสัดส่วนการตลาดกาแฟพร้อมดื่มปี 2557กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม มีส่วนแบ่งเป็นอันดับ 2 ในตลาดกาแฟรวม ด้วยมูลค่า 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกาแฟกระป๋อง 95% และแบบขวด PET 5% นอกจากนี้ยังมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 6% โดยผู้นำตลาดคือ ยี่ห้อเบอร์ดี้ ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 70%ที่มา: http://marketeer.co.th/archives/31046สรุปผลการทดสอบจากตัวอย่างกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่มทั้งหมด 26 ตัวอย่างจาก 19 ยี่ห้อที่นำมาทดสอบ พบว่า1.ยี่ห้อที่มีปริมาณคาเฟอีนมากสุด คือ ดาว สูตรไอซ์ คลาสสิค เบลนด์ มีปริมาณคาเฟอีน 91.1 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร เอาชนะยี่ห้อ คาราบาว สูตรเอสเปรสโซ ที่มีปริมาณคาเฟอีน 91 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร ไปเพียง 0.1 มิลลิกรัมเท่านั้น และสำหรับยี่ห้อที่มีปริมาณคาเฟอีนน้อยที่สุด คือ สตาร์บัคส์ สูตรคอฟฟี่ แฟรบปูชิโน่ มีปริมาณคาเฟอีน 29 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร2. ยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด คือ โคฟี่ กาแฟสำเร็จ มีปริมาณน้ำตาลถึง 49 กรัม/ หน่วยบริโภค ส่วนยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุดมี 2 ยี่ห้อ คือ วีสลิม สูตรเอสเปรสโซและเนสกาแฟ สูตรเอ็กซตร้า ริช มีปริมาณน้ำตาล 14 กรัม/หน่วยบริโภคเท่ากัน ทั้งนี้สำหรับยี่ห้อ เพรียว คอฟฟี่ มีปริมาณน้ำตาล 0 กรัม/ หน่วยบริโภค เนื่องจากเป็นสูตรไม่มีน้ำตาล(รสหวานจากน้ำตาลเทียม)3. มี 10 ยี่ห้อที่ไม่สามารถตรวจสอบปริมาณน้ำตาลได้ เนื่องจากไม่มีฉลากโภชนาการ ได้แก่ 1.มง ปาซิญง (MON PASSION) สูตรคาเฟ่ มอคค่า 2.อาฮ่า (A-Ha) สูตรคาปูชิโนผสมช็อกโกแลต 3.อาราบัส สูตรลาเต้ 4.ไอวี่ กาแฟสูตรโบราณ 5.ยูเอฟซี สูตรกาแฟเย็น เข้มข้นรสกาแฟแท้ 6.เบอร์ดี้ สูตรคลาสสิกและสูตรบาริสต้า เอสเปรสโซ ช็อต 7.เทอร์บัสต้า แมกซ์ สูตรออริจินอล 8.ดาวแมกซ์ คอฟฟี่ และดาว สูตรไอซ์ คลาสสิค เบลนด์ 9.ซูซูกิ โกเมท์ สูตรไอซ์ คอฟฟี่ และ 10.คาราบาว สูตรบัสต้าและสูตรเอสเปรสโซ4. มี 4 ยี่ห้อที่ไม่มีฉลากภาษาไทยกำกับ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบทั้งปริมาณคาเฟอีนและน้ำตาลได้ คือ 1.ยูซีซี สูตรเอสเพรสโซ่พรีเมี่ยม 2. WONDA WONDERFUL COFFEE 3.FIRE 4.TULLY’S COFFEE BARISTA’Sข้อสังเกต- การแสดงฉลากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ กำหนดไว้ว่า การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุที่ผลิตเพื่อจำหน่าย นำเข้าเพื่อจำหน่ายหรือที่จำหน่าย ต้องแสดงข้อความเป็นภาษาไทย และอย่างน้อยจะต้องมีข้อความแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้ (เว้นแต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะยกเว้นให้ไม่ต้องระบุข้อความหนึ่งข้อความใด) 1.ชื่ออาหาร 2.เลขสารบบอาหาร 3.ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุหรือผู้นำเข้า หรือสำนักงานใหญ่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 โซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย

หลังจากที่ผ่านมาเราเคยทดสอบปริมาณโซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันไปแล้ว และพบว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกือบทั้งหมดในท้องตลาดมีปริมาณโซเดียมสูง โดยการรับประทานหนึ่งห่อจะทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมสูงถึง 50-100% ของความต้องการในแต่ละวัน ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคไต ได้เรากลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้เราตามไปดูกันที่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย ที่เพียงแค่เปิดฝาเติมน้ำร้อนก็พร้อมรับประทานทันที ซึ่งได้รับนิยมมาก โดยเฉพาะตามร้านสะดวกซื้อ ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อในสถานที่ชุมชนทั่วไป ในย่านการศึกษา และร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน จะมีบริการบะหมี่ถ้วยให้เลือกจำนวนมากพร้อมมีน้ำร้อนให้บริการเสร็จสรรพ เราจึงเห็นภาพคนยืนซดเส้นซดน้ำกันอย่างเป็นเรื่องปกติ   ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปชมผลทดสอบ ปริมาณโซเดียมและโปรตีนในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จากตัวอย่าง 15 ยี่ห้อยอดนิยม โดยตรวจสอบจากข้อมูลโภชนาการที่ระบุไว้บนฉลาก ซึ่งยี่ห้อไหนจะมีปริมาณโปรตีน/โซเดียมสูงหรือต่ำที่สุด ลองไปดูกันเลย------------------------------------------สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำความตกลงกับผู้ผลิต ให้มีการจัดทำฉลากโภชนาการ เพื่อแสดงปริมาณโซเดียมให้ผู้บริโภคได้ใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ และบริโภคในปริมาณที่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่ควรได้รับต่อวัน คือ สูงสุดไม่เกิน 2,400 มก./วัน (ผู้ชายควรบริโภค 475-1,475 มก. และผู้หญิงควรอยู่ที่ 400-1,200 มก./วัน) ข้อมูลการตลาดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมูลค่าตลาดปี 2558 : 15,800 ล้านบาทส่วนแบ่งการตลาด: มาม่า 51% ยำยำ 20% ไวไว 20% อื่นๆ 9%สัดส่วนการตลาด: ซอง 71% ถ้วย 29%อ้างอิงข้อมูล: http://marketeer.co.th/archives/51518สรุปผลการเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมจากตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้ง 15 ยี่ห้อที่นำมาทดสอบ พบว่า1. มีเพียง 7 ยี่ห้อที่มีฉลากโภชนาการ ได้แก่ ยี่ห้อ 1. เอฟเอฟ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำ 2. เซเว่นซีเล็ค บะหมี่ชามกึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้ง 3. จายา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำ 4. เกษตร วุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูป รสยำวุ้นเส้นทะเล 5. ซื่อสัตย์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้งน้ำข้น 6. ลิตเติ้ลกุ๊ก บะหมี่ต้มยำทะเล และ 7. มีพลัส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำทูน่า 2. จากข้อมูลโภชนาการ พบว่า - ยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมเยอะที่สุดคือ เอฟเอฟ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำ มีปริมาณโซเดียม 2,160 มก./น้ำหนัก 65 ก. และยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุดคือ มีพลัส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำทูน่า มีปริมาณโซเดียม 1,000 มก./น้ำหนัก 26 ก. - ยี่ห้อที่มีปริมาณโปรตีนเยอะที่สุดคือ ซื่อสัตย์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้งน้ำข้น มีปริมาณโปรตีน 7 ก./น้ำหนัก 65 ก. และยี่ห้อที่มีปริมาณโปรตีนน้อยที่สุดคือ มีพลัส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำทูน่า มีปริมาณโปรตีน 3 ก./น้ำหนัก 26 ก.3. มี 8 ยี่ห้อที่ไม่มีฉลากโภชนาการ ได้แก่ 1. พรานทะเลนู้ดเดิ้ลโบวล์ รสต้มยำรวมมิตรทะเล 2. นิสชิน ชิลลี่นู้ดเดิ้ล รสต้มยำกุ้งน้ำข้น 3. ไวไว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้ง 4. ยำยำ บะหมี่ถ้วยกึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้ง 5. เซเว่น ซีเล็ค-นิสชิน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำทะเลน้ำข้นคิงคัพ 6. นิสชินคัพนูดเดิ้ล บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้งแซ่บ 7. ควิก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง 8. มาม่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้ง โดยจากการตรวจสอบส่วนประกอบสำคัญ พบว่า  ยี่ห้อที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ เช่น ปลา กุ้ง หอย มากที่สุดคือ พรานทะเลนู้ดเดิ้ลโบวล์ รสต้มยำรวมมิตรทะเล มีส่วนประกอบของรวมมิตรทะเล 25%/น้ำหนัก 80 ก. และยี่ห้อที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์น้อยที่สุดคือ นิสชิน ชิลลี่นู้ดเดิ้ล รสต้มยำกุ้งน้ำข้น มีส่วนประกอบของกุ้งอบแห้ง 0.47%/ น้ำหนัก 60 ก.ข้อสังเกตการแสดงข้อมูลโภชนาการ พบหลายยี่ห้อไม่มีฉลากโภชนาการแม้ อย.ได้ดำเนินการพิจารณาให้อาหารกึ่งสำเร็จรูปทุกชนิดต้องแสดงฉลากโภชนาการ หรือในเบื้องต้นให้แสดงปริมาณโซเดียม เพื่อให้ข้อมูลด้านโภชนาการแก่ผู้บริโภค ด้วยการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 374) พ.ศ.2559 เรื่อง อาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ และค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมันและโซเดียมแบบจีดีเอ (Guideline Daily Amounts; GDA) บนฉลากอาหาร เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและสนับสนุนมาตรการป้องกันปัญหาด้านโภชนาการ โดยอาหารกึ่งสำเร็จรูปอย่าง ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น ไม่ว่าจะมีการปรุงแต่งหรือไม่ก็ตาม พร้อมซองเครื่องปรุง และข้าวต้มปรุงแต่ง และโจ๊กที่ปรุงแต่ง จำเป็นต้องมีฉลากดังกล่าว ซึ่งหากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ จัดว่าเป็นการฝ่าฝืนประกาศโดยมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท แต่เรายังพบว่าจากตัวอย่างที่นำมาทดสอบ มี 8 ยี่ห้อที่ไม่มีการแสดงข้อมูลโภชนาการตามประกาศฉบับนี้ข้อมูลอ้างอิง :1.http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P374.PDF2. http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_fda/No.374_Food_nutrition_labels.pdf

อ่านเพิ่มเติม >