ฉบับที่ 269 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2566

ย้ายสิทธิบัตรทอง! โดยไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้านได้แล้ว        ตามที่ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวนมากที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกทม. เพื่อทำงาน-เรียนหนังสือ และไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านมาด้วย เดิมนั้นต้องกลับไปรักษายังจังหวัดที่มีทะเบียนบ้าน ดังนั้นเพื่อที่จะทำให้ผู้มีสิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการได้สะดวกขึ้นก็คือ การย้ายสิทธิรักษาเข้ามาอยู่ในกทม. โดยทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้ชวนผู้ที่อาศัยในกทม. แต่สิทธิบัตรทองอยู่ที่ต่างจังหวัด ทำการย้ายสิทธิเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ โดยให้ลงทะเบียนกับหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการประจำ ใกล้ที่พักอาศัย โดยไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้านมาซึ่งสำหรับการย้ายสิทธิสามารถทำได้ผ่านช่องทาง ดังนี้        1. แอปพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการ        2. Line OA สปสช. (ID@nhso) เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง        3. ติดต่อด้วยตนเอง ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ (อาคารบี) ถนนแจ้งวัฒนะ ในวันเวลาราชการ        4. สายด่วน 1330  ตรวจยึดไส้กรอกแดงสุดฮิตจากจีน        วันที่ 20 ก.ค. 2566 ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับกรมปศุสัตว์(กปศ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ขยายผลตรวจสอบแหล่งขายผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าจากประเทศจีน โดยได้เข้าตรวจค้นที่อาคารแห่งหนึ่ง ย่านประชาชื่น กรุงเทพฯ พบผลิตภัณฑ์ไส้กรอก ยี่ห้อ “Shuanghui” จำนวน 1,440 แท่ง และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ที่ผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 รวมกว่า 20 รายการ และทั้งหมดคือ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากประเทศจีนทั้งหมด ทางเจ้าหน้าที่จึงได้มีการยึดสินค้าทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินคดี นอกจากนี้ ของกลางที่ตรวจยึดได้มีการส่งตรวจวิเคราะห์ หาจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกันเสีย และสี ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถ้าพบสารปนเปื้อนที่ทำให้เกิดโรคเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จะถือว่าเป็น “อาหารไม่บริสุทธิ์” โดยผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับห้ามซื้อสมุนไพร ที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.         จากกรณีที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยี่ห้อผู้เฒ่าวิ่งปู๊ดแคปซูล ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาขายทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ทางอย. จึงได้ตรวจสอบว่ามีการจำหน่ายในพื้นที่ จ.พิษณุโลก  และได้ประสาน สสจ.พิษณุโลก ตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว ซึ่งก็พบผลิตภัณฑ์สมุนไพรผู้เฒ่าวิ่งปู๊ดแคปซูล สูตรกระจายเส้น เอ็นยึด ดังกล่าวจริง เป็นจำนวน 26 ซอง พร้อมกับยาผงจินดามณี จำนวน 55 ซอง และสมุนไพรไทยมีรูปรากไม้ จำนวน 39 ซอง นอกจากนี้ ทางอย.ได้มีการตรวจสอบเพิ่มเติม โดยทั้ง 3 รายการ ไม่พบข้อมูลอนุญาตจาก อย. และฉลากผลิตภัณฑ์ไม่มีการแสดงทะเบียน พร้อมกับยังพบสารสเตียรอยด์ปนเปื้อนในยาผงจินดามณี อีกด้วย ทางอย.จึงได้เตือนผู้บริโภคอย่าซื้อสมุนไพรทั้ง 3 รายการ มาใช้ เพราะอาจเกิดผลเสียต่อร่างกาย อันตรายต่อสุขภาพ บางกอกแอร์เวย์ส เตือน! ระวังมิจฉาชีพแอบอ้างชวนลงทุน         30 ก.ค. 2566 ทางสายการบางกอกแอร์เวย์ส ได้โพสต์ข้อความเตือนภัยหน้าเพจเฟซบุ๊ก Bangkok Airways โดยระบุข้อความว่า "แจ้งเตือนกรณีมีการแอบอ้างลงโฆษณาในช่องทางเฟซบุ๊ก (Facebook) โดยใช้ชื่อ นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ภาพเครื่องบิน และโลโก้ของสายการบินฯ ในการเชิญชวนและเปิดโอกาสให้ลงทุนหุ้นกับสายการบินฯ"  ซึ่งทางสายการบิน ได้แจ้งว่า ทางสายการบินไม่มีส่วนรู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง และบุคคลที่แอบอ้างดังกล่าวไม่ใช่สายการบิน อย่างไรก็ตาม ทางสายการบิน แนะนำว่าอย่าหลงเชื่อและระวังกลอุบายจากมิจฉาชีพที่หลอกล่อให้เผยแพร่ข้อมูลส่วนส่วนตัวและเอกสารสำคัญอีกด้วย  มพบ. พาผู้เสียหาย “ออลล์ อินสไปร์ คอนโดสร้างไม่เสร็จ” ยื่นฟ้องศาล         20 ก.ค. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) นำโดยนายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์สิทธิบริโภคและนางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมตัวแทนผู้เสียหายที่ซื้อคอนโดมิเนียมจากโครงการ ออลล์ อินสไปร์ เดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งและศาลแขวงพระนครเหนือ เพื่อเรียกเงินคืนตามสัญญาจะซื้อจะขาย เนื่องจากผิดสัญญาก่อสร้างไม่เสร็จตามกำหนด         โดยนางสาวณัฐวดี กล่าวว่า การยื่นฟ้องครั้งนี้ ได้ดำเนินการในนามของผู้เสียหายแต่ละราย มีจำเลย คือ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ฯ ที่เป็นคู่สัญญา ซึ่งการยื่นฟ้องแยกตามศาลเนื่องจากเป็นไปตามทุนทรัพย์ของผู้เสียหาย โดยยื่นฟ้องที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี  ยื่นฟ้องศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี ซึ่งการที่ผู้เสียหายตัดสินใจยื่นฟ้อง บริษัท ออลล์ อินสไปร์ เนื่องจากผู้บริหารเข้าข่ายเจตนาฉ้อโกงเจ้าหนี้ เห็นได้ชัดเจนจากที่มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือไปถึงประธานกรรมการ เมื่อ 7 ก.ค. 2565 ขอเชิญประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่กับพบว่ามีแต่ความเพิกเฉย ไม่มาพบกับผู้เสียหาย เมื่อไปพบถึงสำนักงานใหญ่ พบแค่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการและเสนอแผนชดเชยค่าเสียหายผ่อนชำระเป็นรายงวด เมื่อมีบางคนยอมทำตามข้อเสนอของบริษัท แต่ปรากฏว่าบริษัทก็ยังเบี้ยวหนี้ เพราะจ่ายแค่ 1 งวด แล้วหายไปเลย ไร้ช่องทางการติดต่อ         ดังนั้นผู้เสียหายที่จ่ายเงินจอง เงินดาวน์  เงินทำสัญญา เงินผ่อนแต่ละงวดไปแล้ว ต้องการเรียกเงินคืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย ทั้งนี้ ทางมูลนิธิฯ อาจยื่นฟ้องคดีอาญาอีกด้วย เพื่อให้เกิดการลงโทษผู้ประกอบการเนื่องจาก บริษัทฯ มีเจตนาไม่ชำระหนี้คืนให้ผู้เสียหาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองไม่ต้องจ่ายเพิ่ม หากจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชีฯ ตามหมอสั่ง

        จากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เปิดเผยว่าในปี 2565 มีการร้องเรียนจากผู้ใช้สิทธิบัตรทอง กรณีถูกเรียกเก็บค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ จำนวน 32 เรื่อง เป็นจำนวนเงิน 1,724,703 บาท         คุณบัวก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องจ่ายค่ายานอกบัญชีฯ เองมากว่า 10 ปีแล้ว แต่เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ เธอได้ส่งข้อความมาในไลน์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษาว่า เมื่อเธอใช้สิทธิบัตรทองไปรับยารักษาโรค Anxiety Disorder ที่โรงพยาบาลรัฐชื่อดังแห่งหนึ่ง จำนวน 2 รายการ ยาที่เบิกได้ คือ SENOLAX TABLET 7.5 MG แต่ยา OLAPIN TABLET 5 MG ซึ่งหมอบอกว่าเป็นยาที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีฯ เธอจึงต้องจ่ายค่ายาเองในจำนวนเงินหลายพันบาท โดยแต่ละครั้งที่ทำการรักษาก็มีการขอใบส่งตัวจากต้นสังกัดทุกครั้ง ซึ่งคุณบัวจำเป็นต้องได้กินยาตัวนี้เพื่อรักษาอาการอย่างต่อเนื่อง เธอเริ่มกังวลว่าอาจจะแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ต่อไปไม่ไหว เธอจึงขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยสอบถามไปยังสปสช.ว่า ถ้าหากการรักษายังคงมีต่อเนื่องในระยะยาว จะของดเว้นการชำระค่ายาตัวนี้ได้หรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ขอย้ำว่าแม้จะเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าให้ใช้ยานี้ ผู้ประกันตนในหลักประกันสุขภาพ(บัตรทอง) ไม่ต้องจ่ายเพิ่มแต่อย่างใด         ในการณีนี้ ทางมูลนิธิฯ โทร.ไปยัง 1330 และได้ความว่า คุณบัวไม่ต้องชำระเงินค่ายา เพราะมีความจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยยาชนิดนี้ และแจ้งว่าถ้าคุณบัวมีนัดครั้งต่อไป ถ้าทางโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินค่ายาให้โทร.มาแจ้งที่ 1330 ทางสปสช.จะประสานกับทางโรงพยาบาลให้งดเว้นการจ่ายเงิน         ทางมูลนิธิฯ ยังส่งหนังสือไปยังโรงพยาบาลแห่งนี้และได้รับคำชี้งแจงในกรณีนี้กลับมาว่า         "เบื้องต้นทางโรงพยาบาลขอชี้แจงเกี่ยวกับระเบียบการเบิกจ่ายยาของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โดยสิทธิประโยชน์จะครอบคลุมการจ่ายยาตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่คุ้มครองการจ่ายยานอกบัญชี ยกเว้นหากแพทย์มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชี โดยพิจารณาแล้วว่าไม่มียาในบัญชียาหลักแห่งชาติทดแทนได้ จึงจะสามารถใช้สิทธิเบิกได้  ซึ่งในกรณีของผู้ร้องนั้น ทางแพทย์ผู้รักษาได้ชี้แจงว่าสามารถปรับเปลี่ยนชนิดยาเป็น  Antipsychotic drug ตัวอื่นตามบัญชียาหลักแห่งชาติได้ เพื่อที่จะได้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย อนึ่งที่ผ่านมาผู้ป่วยไม่เคยแจ้งแพทย์ผู้รักษาเกี่ยวกับปัญหาค่าใช้จ่าย แพทย์จึงไม่ได้ปรับเปลี่ยนยาให้ซึ่งหลังจากนี้หากปรับเปลี่ยนยาแล้ว แพทย์จะมีการติดตามอาการและผลการรักษาอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย "

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 กลุ่มผู้เสียหายเรียกร้องความยุติธรรม หลังชมการแสดงที่จกตาและไม่คุ้มค่าตั๋ว

        ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาไปติดตามประสบการณ์การใช้สิทธิของผู้บริโภคกลุ่มหนึ่ง ซึ่งผนึกกำลังกันในเฟซบุ๊กกรุ๊ปชื่อ “รวบรวมผู้เสียหายจาก TRANCE STUDIO (เจ้าชายน้อย)” ผ่านการพูดคุยกับคุณณัฐนันท์ ชำนาญประดิษฐ์กุล (ทราย) และคุณณัฐนรี ลาภาอเนกอนันต์ (มิ้ม) ในฐานะตัวแทนผู้เสียหายและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มนี้ขึ้นด้วย โดยทั้งคู่จะมาเล่าถึงวิธีดำเนินการเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม หลังจากเข้าชมการแสดงเรื่อง “ Me&My Little Prince” ในช่วงวันที่ 3-19 มิถุนายน 2565 แล้วปรากฏว่าไม่เป็นไปตามที่บริษัทประชาสัมพันธ์ไว้ และไม่คุ้มกับค่าตั๋วที่จ่ายไปคุณณัฐนันท์ ชำนาญประดิษฐ์กุล (ทราย) คุณณัฐนรี ลาภาอเนกอนันต์ (มิ้ม) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีความเป็นมาอย่างไรคุณณัฐนันท์ :  ต้องย้อนไปเมื่อปี 2562 ทรายได้ไปชมการแสดงเรื่อง “เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย” ของ Blind  Experience ที่ผู้ชมต้องปิดตา เราประทับใจการจัดแสดงละครด้วยเทคนิคและวิธีการต่างๆ ของเขา แล้วทางบริษัทก็ทิ้งท้ายไว้ว่าถัดไปจะแสดงเรื่องเจ้าชายน้อย เราก็ติดตามในเพจมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีโฆษณาผ่านเพจบริษัทนี้ว่าจะจัดแสดงเรื่องเจ้าชายน้อยขึ้น แต่คนโพสต์บอกว่าจัดในนามบริษัท Trance studio และเขาเคยเป็นหนึ่งในผู้จัดของ Blind Experience มาก่อน เราก็ไม่ได้เอะใจอะไร เขามีลิงก์ให้เข้าไปกดต่อในเพจ Trance studio ซึ่งจะมีรายละเอียดต่างๆ ว่าใช้เทคนิคอะไร ยังไง ทำให้เราเข้าใจว่าคงเป็นการแสดงแบบเดิมที่เคยประทับใจ ก็จองบัตรและจ่ายเงินเลย แต่พอถึงวันที่เข้าไปชมการแสดง กลับไม่เหมือนกับที่เราเคยดูเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่ได้ใช้เทคนิคเหล่านั้นในการแสดงจริงเลยคุณณัฐนรี :  มิ้มคิดว่า 90% ที่ซื้อบัตรดูเรื่องนี้ คือลูกค้าเก่าที่ตามมาจาก “เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย” ซึ่งประสบความสำเร็จมาก มีคนบอกต่อกันค่อนข้างเยอะ คือเหมือนบริษัท Trance studio เขาพยายามมาร์เกตติ้งให้ไปในทางที่ว่าการแสดงจะคล้าย ๆ กัน เราก็เข้าใจว่าทุกอย่างเหมือนเดิมหมดเลย แค่เปลี่ยนบริษัท แต่พอเข้าไปชมแล้วก็ต้องออกมาตั้งแต่ 10 นาทีแรก พร้อมกับอีกหลายคนเลย ทั้งที่การแสดงน่าจะเกือบ 2 ชั่วโมง ช่วยเล่าหน่อยว่าผิดหวังจากการเข้าชมการแสดงครั้งนี้ยังไงบ้างคุณณัฐนันท์ :  ครั้งก่อนที่เคยดูการแสดงแบบนี้ เขาจะมีห้องให้รอเพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้ผ้าปิดตารับรู้ประสาทสัมผัสอื่นๆ แต่ครั้งนี้คือไม่มีการจัดระเบียบใด ๆ ทั้งๆ ที่เขาระบุว่ามีมาตรการป้องกันโควิด ตอนเดินเข้าไปในฮอลล์จะมีแสงนำทางและเสียงจากเทปเล่าเรื่อง พอถึงด้านใน ที่นั่งก็ติดกัน ห้องเป็นแบบมีเสา เอาผ้าดิบมาเป็นเวที 4 ด้าน แล้วฉายแสงจากโปรเจกเตอร์เข้าไป และเปิดเหมือนนิทานเสียง ซึ่งต่างจากที่เคยเข้าชมการแสดงรูปแบบนี้มาก่อนมาก ที่จะเป็นการแสดงจากคนจริงๆ มีคนตาบอดมาร่วมแสดงด้วย มีการใช้แสง สี เสียง กลิ่น มีการเดินมาสัมผัสเรา ทั้ง ๆ ที่ปิดตาแต่เรายังรับรู้ถึงมิติอื่นได้จริงๆคุณณัฐนรี :  พอมีฟีดแบกว่าการแสดงนี้ หนึ่ง-ไม่ใช่จัดโดยบริษัท Blind Experience สอง-ไม่มี 6 มิติที่เกิดขึ้นจริงตามที่โฆษณา มิมก็ทักไปถามบริษัทว่านี่เป็นการหลอกลวงหรือเปล่า เหมือนเขียนให้เข้าใจผิดในหลายๆ รูปแบบ ก็เลยอยากขอรีฟันด์ เขาก็แจ้งว่าไม่สามารถรีฟันด์ได้ในทุกกรณี ตอนแรกคิดว่าไม่เป็นไร แต่พอไปดูปุ๊บ มันไม่ใช่เลย ไม่มีอะไรที่เขาเคลมไว้เลย รู้สึกว่าหลายๆ อย่างทั้งการบริการ อุปกรณ์ หรือตัวการแสดงเอง ไม่สมกับราคาที่จ่ายไป 1,800 บาทเลย ซึ่งจากประสบการณ์ที่เคยดูการแสดงต่าง ๆ มาบ้าง ถ้าราคานี้ควรจะเป็นกึ่งๆ ละครเวที มีการแสดงจากคนจริง ๆ ด้วย แล้วหลังจากนั้นได้ติดต่อกลับไปยังบริษัทไหมคุณณัฐนันท์ :  ทรายติดต่อเพจ Trance studio เขาไม่อ่าน ไม่ตอบ จึงไปถามทางเพจ Blind Experience ซึ่ง          หนึ่งในผู้ก่อตั้งหลักก็อินบอกซ์ส่วนตัวกลับมาชี้แจงว่า คนที่โพสต์โฆษณาเรื่อง“ Me&My Little Prince” บนเพจของเขานั้น เคยเป็นเหมือนหัวหน้าฝ่ายพีอาร์ในการจัดแสดงครั้งที่แล้ว คือเคยมีส่วนร่วมจริง แต่ว่าไม่ได้เป็นคนคิดคอนเซ็ปต์หลักค่ะ แล้วพวกเขาตกลงกันว่าหากแต่ละคนแยกย้ายกันไป เขายังคงเพจไว้ ทุกคนยังเป็นแอดมินเพจที่สามารถพีอาร์งานศิลปะการแสดงของตัวเองมาในเพจได้ ซึ่งทรายก็รู้สึกว่าเรายังไม่ได้รับความยุติธรรมใดๆ แค่ได้รับการอธิบายที่ไม่ได้ช่วยอะไรเราได้เลย พอเห็นว่ามีผู้ชมหลายคนไปคอมเมนต์ตำหนิในเพจ Trance studioนี่คือผิดปกติแล้ว จึงลองรวมกลุ่มคนที่ไปดูว่าคนอื่นรู้สึกเหมือนเราไหมคุณณัฐนรี :   วันนั้นพอเดินออกมาแล้ว นิมไปคอมเมนต์ในเพจ Trance studio เขาลบและบล็อกเลย เรารู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมเท่าไหร่ อย่างน้อยเขาควรจะขอโทษ หรือว่ารับผิดชอบอะไรสักอย่างกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะว่าไม่ใช่เราคนเดียวที่เข้าใจผิด เราก็เลยกลับเข้าไปขอคุยกับเจ้าของถึงหน้าเธียเตอร์ รออยู่เกือบ 2 ชั่วโมง เขาไม่ยอมมาคุย เรารู้สึกไม่โอเค จึงมาร่วมกันตั้งกลุ่มผู้เสียหายในกรณีนี้กับคุณทราย แสดงว่ากลุ่มผู้เสียหายนี้คือรวบรวมมาจากคนที่เข้าไปคอมเมนต์ในเพจ Trance studioคุณณัฐนันท์ :  ใช่ค่ะ ทรายก็ทักส่วนตัวบ้าง มีเพื่อนๆ ที่อยู่หลังบ้านช่วยกันอินบอกซ์ไปหาคนที่คอมเมนต์บ้าง แล้วจากนั้นทุกคนที่เราติดต่อไปก็มารวมกัน ถ้านับตั้งแต่ที่ทรายเริ่มสร้างกลุ่มในเฟซบุ๊กจนถึงวันที่ 27 มิถุนายนนี้ มี 230 บัญชีผู้ใช้ที่เข้ามาในกลุ่ม แล้วก็มีความคิดเห็นที่บอกว่าตัวเองเหมือนถูกหลอก แล้วก็ไม่คุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป เป็นจำนวน 195 ความเห็น และมี 38 บัญชีผู้ใช้ที่กรอกกูเกิลฟอร์มที่ทรายทำขึ้นมาเพื่อจะขอคืนค่าตั๋ว รวมบัตรแล้ว 90 ใบ เป็นเงิน 143,031 บาท ซึ่งทรายมีหลักฐานยืนยันทั้งหมด หลังจากรวมกลุ่มกันได้แล้ว ดำเนินการอย่างไรต่อคุณณัฐนันท์ :  ทรายไปติดต่อ สคบ.ก่อน เขาบอกว่าให้รวบรวมหลักฐาน พวกใบกำกับภาษีอะไรอย่างนี้ให้เสร็จทีเดียวก่อนค่อยมาแจ้ง แล้วมีเพื่อนในกลุ่มที่ติดต่อไปทางสรรพากร ให้ตรวจสอบรายได้ เพราะบริษัทไม่ได้ออกใบกำกับภาษีให้ทุกคน เราต้องขอไปเอง อย่างนี้ดูมีพิรุธ ซึ่งเพื่อนแต่ละคนก็ทำวิธีที่ตนถนัด จนไปเจออีกว่าภาพโฆษณาที่เขาใช้นั้นก็ไปก็อปมาจากที่อื่นแบบ 100% แค่ปรับแสงนิดเดียว ซึ่งเราอ้างอิงได้ว่าภาพมาจากเว็บอะไร ถูกจัดแสดงจริงที่ไหนแล้วทรายก็ต้องไปขอให้ตัวแทนจำหน่ายบัตรช่วยติดต่อ Trance studio เรื่องใบกำกับภาษี เขาถึงยอมตอบกลับมาว่าจะทำให้ ตอนนั้นเองที่ได้คุยกันว่าละครเวทีนี้เป็นไปตามที่คุณโฆษณาเลยไหม เขาก็ยังยืนยันว่าเป็นไปตามนั้น อยากจะแจ้งอะไรก็แจ้ง ระหว่างนั้นทรายก็ติดต่อมาที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ด้วยอีกทาง เพื่อให้ช่วยเหลือในการขอคืนเงินค่าตั๋วและดำเนินคดีตามกฎหมายคุณณัฐนรี : พวกเราคุยกันว่าต้องหาตัวกลางเพื่อมาประสาน หรือดูว่าสุดท้ายแล้วยังไง ใครถูกใครผิด ใครต้องรับผิดชอบ หรือว่าความถูกต้องคือตรงไหน หลังจากรวมกลุ่มกัน รวบรวบหลักฐานแล้ว ไปติดต่อผ่านตัวกลางน่าจะดีกว่า ซึ่งล่าสุดทางมพบ.ทำจดหมายนัดให้มาเจรจาไกล่เกลี่ยกันวันที่ 13 กันยายน แต่ทางบริษัทเขาขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 30 กันยายน ไม่แน่ใจว่าด้วยเหตุผลอะไร แล้วถ้าเขาไม่มา ก็อยากจะรู้ว่าปกติเลื่อนได้กี่รอบ เพราะว่าที่จริงถ้าเขาผลัดไปเรื่อยๆ ก็ลำบากพวกเราเหมือนกัน อยากให้ฝากถึงผู้บริโภคท่านอื่นว่าก่อนที่จะตัดสินใจซื้อตั๋วเข้าชมการแสดง ควรจะเลือกอย่างไรคุณณัฐนันท์ :  ถ้าเหมือนกรณีทรายนะคะ คงจะต้องสอบถามไปทางบริษัทหรือว่าเพจที่เคยดูว่าเป็นการแสดงลักษณะเดียวกันไหม ผู้จัดเดียวกันไหม ยังคงเป็นเทคนิคการแสดงเดียวกันไหม เพื่อความมั่นใจก่อนจะซื้อบัตร เพราะว่าทรายแค่เห็นเพจเดิมถูกแชร์ออกมา ก็กดซื้อเลย ไม่ได้สอบถามก่อนว่าเหมือนกับที่เคยดูไหม อะไรอย่างนี้ อยากฝากว่าจะต้องเช็กให้มั่นใจก่อนจะจ่ายเงิน ครั้งนี้ทรายไม่ได้รีเช็กอะไรเลย เพราะเราเชื่อว่าจะเหมือนครั้งที่ผ่านมา  คุณณัฐนรี : เดี๋ยวนี้อาจจะดูคำโฆษณายาก ดูรูปยาก มิมคิดว่าหลักๆ แล้วน่าจะดูความน่าเชื่อถือของตัวบริษัทที่จัดว่าก่อตั้งมานานแล้วหรือยัง เจ้าของมีใครบ้าง เคยทำโชว์แบบไหนมาบ้าง ตรงนี้เราอาจจะพลาดเองเพราะแทรนซ์เพิ่งเปิดเลย ไม่มีการโชว์ที่ไหนมาก่อน ไม่มีดิจิตอลฟุตปริ้นต์มาก่อนว่าเคยทำอะไรมาบ้าง แต่เราไปเชื่อแค่ว่าเขาเป็นคนที่เคยจัดเรื่องเล่าจากหิ่งห้อย เพราะประทับใจกับรอบที่แล้วมากๆ แล้วเข้าใจว่าเป็นทีมผู้จัดเดิม ต่อไปต้องละเอียดกว่านี้ หรือถ้าจะให้เซฟจริงๆ อาจรอดูรีวิวจากรอบสื่อก่อน แต่ต้องเลือกสื่อที่ตรงไปตรงมาและเชื่อถือได้จริงๆ ไม่ใช่สื่อที่บริษัทจ้างรีวิวนะคะ             ครั้งต่อไป คุณจะเลือกซื้อบัตรเข้าชมการแสดงต่างๆ จากอะไร ? 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2565

4 เดือนแจ้งความคดีออนไลน์ 59,846 เรื่อง         นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางดีอีเอสและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์และการสื่อสารดิจิทัล ได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนผ่าน www.thaipoliceonline.com เพื่อช่วยให้ประชาชนได้มีช่องทางร้องทุกข์เพิ่มขึ้น และจากสถิติตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวมีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์ จำนวนถึง 59,846 เรื่อง โดยทางดีเอสไอสามารถอายัดบัญชีผู้กระทำผิดได้เป็นเงินกว่า 121 ล้านบาท         ในส่วนของคดีที่พบมากที่สุด ได้แก่ คดีเกี่ยวกับหลอกลวงทางด้านการเงิน จำนวน 31,047 เรื่อง แบ่งเป็น 3 อันดับแรก ดังนี้  การหลอกลวงให้ทำงานออนไลน์ หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ รองลงมา ได้แก่ การหลอกลวงจำหน่ายสินค้า จำนวน 24,643 เรื่อง การพนันออนไลน์ จำนวน462 เรื่อง ข่าวปลอม จำนวน 239 เรื่อง และล่วงละเมิดทางเพศ จำนวน 136 เรื่อง นั่งแคปกระบะไม่คาดเข็มขัดนิรภัยไม่ผิดกฎหมาย         ย้ำอีกครั้งว่าหลังวันที่ 5 กันยายน 2565 ผู้นั่งรถยนต์เบาะที่ 2 ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยหากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 บาท (พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ 2565 กำหนดให้ผู้ขับรถและผู้โดยสารทุกที่นั่งต้องคาดเข็มขัดนิรภัย) แต่สำหรับกรณีของผู้ที่นั่งในรถกระบะด้านหลังคนขับ (แคป) นายจิรุฒน์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่าจะมีการหารือร่วมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อจัดทำร่างประกาศให้เป็นข้อยกเว้น         รถกระบะนั้น ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนดให้คาดเข็มขัดเฉพาะแถวหน้าเท่านั้น ส่วนแคปไม่ต้องคาดเข็มขัด แต่กำหนดให้ต้องมีผู้โดยสารไม่เกิน 3 คน เพื่อให้ไม่เกิดความแออัดจนเกินไปรวมถึงอันตรายเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วย อย. ยันยังไม่พบการจำหน่ายแป้งฝุ่นเด็กปนเปื้อนแร่ใยหินในไทย         จากที่บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้ประกาศหยุดจำหน่ายแป้งเด็กทำจากทัลคัม (Talcum) ทั่วโลก ภายในปี 2566 เหตุจากการฟ้องร้องจากผู้บริโภคว่า ผลิตภัณฑ์แป้งเด็กที่ทำจากทัลคัมของจอห์นสันนั้น พบการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง         ด้านเภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เผยว่า แป้งฝุ่นโรยตัวมีส่วนประกอบหลัก คือ ทัลคัม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติช่วยดูดซับความชื้น ให้ความรู้สึกสบาย นุ่มลื่นผิว และมีการใช้มาเป็นเวลานาน ทัลคัมหากนำมาใช้ในเครื่องสำอางต้องมีความบริสุทธิ์สูง ไม่มีการปนเปื้อนแร่ใยหิน ในปัจจุบันยังคงเป็นสารที่สามารถนำมาใช้ในเครื่องสำอางค์ได้  ทั้งนี้ ทาง อย. ได้มีการเฝ้าระวังความปลอดภัยสำหรับแป้งฝุ่น ที่อาจมีการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารทัลคัมหลายยี่ห้อ จำนวน 133 ตัวอย่าง (ปี 2563 - 2565) โดยเก็บส่งตรวจวิเคราะห์ จำนวน 20 ตัวอย่าง มียี่ห้อ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 6 ตัวอย่าง สำหรับผลการตรวจวิเคราะห์ทุกรายการยังไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหิน ขอให้ประชาชนมั่นใจ เจ้าของผลงานบนสื่อออนไลน์แจ้งถอดงานได้ทันทีหากพบการละเมิด         นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565  ว่าเพื่อยกระดับของการคุ้มครองงานลิขลิทธิ์บนสื่อออนไลน์ เจ้าของแพลตฟอร์ม อย่างเช่น Facebook Youtube สามารถถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้ทันทีหากได้รับแจ้งโดยเจ้าของผลงาน ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล         ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนยังคงสอดคล้องกับหลักสากลรองรับการเข้าเป็นภาคีการตกลงสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) ที่ประเทศไทยได้ยื่นภาคยานุวัติสารต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าว องค์กรผู้บริโภค ผลึกกำลังค้านควบรวม ทรู-ดีแทค         วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ทางเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อ ศ. คลินิก  นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ   เพื่อคัดค้านการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) เนื่องจากการควบรวมของทั้ง 2 บริษัท ยังมิได้ขออนุญาตจากทางสำนักคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)         ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม  มาตรา 21 อันอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ถูกปิดกั้นทางเลือกการใช้บริการและลดโอกาสของผู้ประกอบการรายใหม่         นอกจากนั้นยังยื่นข้อเสนอขอให้ทางคณะกรรมการฯ เปิดเผยข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์รวมถึงความคิดเห็นของอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ตลอดจนผลการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนได้รับรู้          ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ ไม่มีการอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองที่ให้ กสทช.ต้องทำหน้าที่พิจารณาการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค อย่างรอบคอบ ไม่ใช่แค่มีหน้าที่รับเรื่องเท่านั้น รวมถึงส่งมอบจำนวนผู้เข้าชื่อคัดค้านจาก Change.org/TrueDtac

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ปีกว่าที่ว่างเปล่า สิทธิการทำแท้งที่ปลอดภัยในระบบราชการไทย

        กว่า 60 ปี การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสังคมไทย ผู้หญิงไม่มีสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายและเลือกหนทาง มิพักต้องพูดถึงแนวคิดล้าหลังที่ซุกอยู่ในกฎหมายทำแท้งที่มุ่งเอาผิดผู้หญิงเป็นหลัก โดยเฉพาะมาตรา 301 และมาตรา 305 ในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง          ปี 2561 พญ.ศรีสมัย เชื้อชาติ แพทย์อาสาของเครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย กรมอนามัย ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302 ที่ระบุว่าผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ใครจะรู้ว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่          ในฐานะผู้ที่ผลักดันการแก้กฎหมายทำแท้งคนหนึ่ง พญ.ศรีสมัย ใช้เหตุการณ์นี้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่ระบุว่า ‘หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ’ ขัดรัฐธรรมนูญ เกิดแรงกระเพื่อมต่อเนื่องเป็นการแก้กฎหมายอาญามาตรา 301 และมาตรา 305 ในที่สุด          โดยในมาตรา 301 ที่ได้รับการแก้ไขแล้วระบุว่า ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากเกินกว่านี้จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นอัตราโทษที่เบากว่ากฎหมายเดิม          ส่วนมาตรา 305 อนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้ ดังนี้         1. จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงกับการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือใจของหญิงนั้น         2. จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควร เชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง         3. หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ         4. หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์         5. หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศ กำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น          ไม่มีปฏิเสธว่าเป็นชัยชนะก้าวสำคัญ เมื่อพูดเช่นนี้ก็หมายความว่ายังมีก้าวอื่นอีกที่ต้องไปต่อ  ผู้หญิงยังเข้าไม่ถึงสิทธิการทำแท้งที่ปลอดภัย          เป้าหมายสูงสุดของภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวประเด็นนี้คือการยกเลิกโทษอาญาของการทำแท้ง การทำแท้งต้องไม่ใช่ความผิด และผู้หญิงที่ทำแท้งไม่ใช่อาชญากร การทำแท้งต้องเป็นทางเลือกด้านสุขภาพของผู้หญิงและมีกระบวนการครอบคลุม ครบถ้วน โดยคำนึงถึงสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง         อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ขับเคลื่อนตระหนักดีว่าบางเรื่องก็ต้องค่อยๆ ขยับไปข้างหน้า แต่สิ่งที่ทำความเข้าใจได้ยากคือผ่านมาปีกว่าแล้วนับตั้งแต่ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 ผ่านไปปีกว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุขสำหรับวางแนวทางรองรับกลับยังไม่ถูกประกาศใช้         สมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สายด่วน 1663 ที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม เล่าว่าที่ผ่านมา 3 สิ่งที่เอื้อต่อการทำงานคือการแก้กฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งซึ่งทำให้สังคมเปิดกว้างมากขึ้น หน่วยบริการมีมาตรฐานมากขึ้น สอง-มีคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ที่ให้การคุ้มครองและช่วยเหลือให้วัยรุ่นได้รับสิทธิและเกิดคณะทำงานขับเคลื่อน ประการสุดท้าย ในช่วงโควิดก็มีนโยบาย Telemedicine หรือโทรเวชกรรม ส่งยาให้กับผู้ที่จำเป็นเพื่อยุติการตั้งครรภ์ทำให้เข้าถึงบริการที่ปลอดภัย          แต่ยังมีช่องว่างอยู่ เป็นเพราะผู้คนในสังคมจำนวนหนึ่งยังไม่ทราบถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ระบบบริการไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้หญิงที่ต้องการท้องต่อหรือต้องการยุติการตั้งครรภ์ก็ยังไม่ครอบคลุมต่อปัญหาและยังไม่ครอบคลุมพื้นที่อย่างเพียงพอ บริการบางอย่าง เช่น การยุติการตั้งครรภ์ยังไม่เป็นบริการในระบบปกติของหน่วยบริการ ทั้งยังมีวัยรุ่นและผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมเข้าไม่ถึงสิทธิและถูกละเมิดสิทธิ พร้อมกับที่ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนก็มีไม่มากพอและไม่เป็นมิตรสำหรับผู้ที่ท้องไม่พร้อม          จากการเก็บข้อมูลการให้บริการท้องไม่พร้อมของสายด่วน 1663 ตั้งแต่ตุลาคม 2564 ถึงมีนาคม 2565 มีจำนวนพผู้ปรึกษาทั้งหมด 21,397 เป็นผู้ที่ตั้งครรภ์ร้อยละ 81 หรือ 17,416 คน จำนวนผู้ที่ตั้งครรภ์และมีปัญหาซับซ้อนต้องได้รับการช่วยเหลือร้อยละ 15 หรือ 2,634 คน มีผู้หญิงที่ประสงค์ทำแท้งไปขอรับบริการจากโรงพยาบาลแต่ถูกปฏิเสธและไม่ส่งต่อ 116 ราย อายุต่ำกว่า 20 ปี 37 ราย มากกว่า 20 ปี 79 ราย          “เกิดคำถามว่าเป็นเพราะทัศนคติหรือนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขไม่ชัดเจนถึงทำให้เกิดความลักลั่นในทางปฏิบัติ” สมวงศ์ ตั้งคำถาม          ระบบราชการทำ สธ. ประกาศกระทรวงไม่ได้          ผู้รับบริการสุขภาพในฐานะผู้บริโภคยังต้องเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงบริการ สืบเนื่องจากระบบราชการแบบไทยๆ ที่มักติดขัดเรื่องอำนาจหน้าที่         ความเดิมมีอยู่ว่า หลังจากแก้กฎหมาย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างประกาศใช้เป็นแนวทางการให้บริการ ผ่านไปประมาณ 1 ปี คณะกรรมการยกร่างประกาศเสร็จสิ้น ประกอบด้วย 3 หมวด ได้แก่         หมวดที่ 1เรื่องการให้การปรึกษาทางเลือก         หมวดที่ 2 การดูแลกรณีที่เลือกตั้งครรภ์ต่อ         หมวดที่ 3 กระบวนการขับเคลื่อนประกาศกระทรวง          กรมอนามัยนำส่งร่างต่อไปยังสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้รัฐมนตรีลงนามบังคับใช้ ทาง สธ. เพื่อลงนามบังคับใช้ ทว่า กองกฎหมายของสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ทักท้วงว่า ตัวร่างในหมวดที่ 2 และ 3 อาจจะเกินขอบเขตที่มาตรา 305 ระบุให้กระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายระบุเพียงให้กระทรวงฯ ออกหลักเกณฑ์ว่าด้วยการปรึกษาทางเลือกเท่านั้น          “ทางกรมอนามัยจึงหารือกับคณะกรรมการยกร่าง” นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าว “ทางคณะกรรมการก็ยืนยันว่าร่างที่ยกน่าจะมีประโยชน์ในการบังคับใช้เพราะครอบคลุมกระบวนการดูแลอย่างครบถ้วน ข้อที่ว่าเกินอำนาจที่จะทำได้หรือเปล่า ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีส่วนร่วมในการยกร่างตั้งแต่แรกก็อธิบายว่า แม้ในมาตรา 305 จะให้ออกประกาศการให้การปรึกษาทางเลือกอย่างเดียว แต่ว่าทางกระทรวงสาธารณสุขก็มีฐานอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินที่จะออกหมวดสองและสามได้”          คำอธิบายข้างต้นไม่สามารถเบาบางข้อวิตกกังวลของกองกฎหมาย สำนักปลัดฯ ได้ เพราะถ้าระบุลงไปแล้วในทางปฏิบัติทำไม่ได้ นอกจากจะผิดประกาศกระทรวงแล้ว ยังอาจถูกตีความว่าผิดประมวลกฎหมายอาญาด้วย ทางสำนักปลัดฯ ต้องให้ประกาศสั้น กระชับ และตรงประเด็น เพื่อให้ในทางปฏิบัติไม่ต้องมีข้อถกเถียง          นพ.บุญฤทธิ์ กล่าวว่า เมื่อทั้งสองฝ่ายยืนกรานจึงจบลงด้วยบทสรุปที่ให้ตั้งคณะกรรมการยกร่างขึ้นอีกชุดเพื่อยกร่างประกาศใหม่โดยอ้างอิงมาตรา 305 โดยตรงและใช้ร่างเดิมเป็นตัวตั้งต้น          กรณีโรงพยาบาลประกันสังคมบางแห่งไม่รับผิดชอบ         เวลาที่ยืดเยื้อออกไปส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้หญิง สมวงศ์เล่าถึงกรณีหนึ่งว่ามีผู้หญิงรายหนึ่งเป็นโรคหัวใจและตั้งครรภ์ เธอฝากครรภ์โดยใช้สิทธิประกันสังคม ปรากฏว่าทั้งแพทย์สูตินรีเวชและแพทย์ด้านหัวใจบอกตรงกันว่าไม่ควรตั้งครรภ์ต่อเพราะมีอันตรายต่อชีวิต ซึ่งขณะนั้นอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์แล้ว          “เขาโทรมาหาเรา เราบอกว่าเป็นเรื่องสุขภาพคุณควรได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลประกันสังคมของคุณ เขาก็เลยกลับไปที่โรงพยาบาล ทางนั้นบอกว่าไม่มีบริการทำแท้งจึงปฏิเสธและไม่รับฝากท้องด้วยเนื่องจากเขาเป็นโรคหัวใจ เขาจึงกลับมาปรึกษาเราอีกครั้งหนึ่งว่าโรงพยาบาลประกันสังคมไม่ดูแลเขา          เราจึงติดต่อโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยร่วมกับเครือข่าย ปรากฏว่าโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยรับทำให้และยืนยันว่าเคสนี้อันตรายถึงชีวิตจริงและมีความจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน จึงแนะนำให้กลับไปที่โรงพยาบาลประกันสังคมนำประวัติการรักษาทั้งหมดมาและทำหนังสือส่งตัวเพื่อไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 5 หมื่นบาท อันนี้เป็นเรื่องการรักษา เป็นเรื่องสุขภาพจริงๆ ปรากฏว่าโรงพยาบาลประกันสังคมตัดสินใจทำใบส่งตัวให้ แต่ไม่ส่งตัวไปให้ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย แต่ส่งไปให้อีกโรงพยาบาลหนึ่งในเครือข่ายของเขา         วิธีส่งตัวคือทำเอกสารขึ้นมาใบหนึ่งแล้วให้ผู้รับบริการเดินไปรับบริการเอง ไม่มีการประสานส่งตัว ผู้รับบริการก็เดินไปที่โรงพยาบาลแห่งนั้น แต่ทางนั้นก็บอกว่าไม่ได้เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ก็ปฏิเสธ สุดท้ายก็จำเป็นต้องรับบริการจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและเสียค่าใช้จ่าย ตอนนี้เรากำลังดำเนินการฟ้องร้องให้ประกันสังคมต้องรับผิดชอบ โรงพยาบาลต้องรับผิดชอบ จะปฏิเสธค่าใช้จ่ายไม่ได้ ทำให้เห็นว่าแม้แต่เรื่องสุขภาพก็ไม่ได้รับบริการ”          การรับบริการทำแท้งที่ปลอดภัยเป็นเรื่องชนชั้น          สุพีชา เบาทิพย์ จากกลุ่มทำทาง องค์การภาคเอกชนที่ขับเคลื่อนการทำแท้งที่ปลอดภัย เปิดรายงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. ปี 2564 พบว่า ในปี 2563 สปสช. ตั้งเป้าการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยไว้ที่ 23,000 ราย แต่ทำได้จริงเพียง 4,924 ปี 2564 จึงตั้งเป้าต่ำลงคือ 12,000 ราย แต่ก็ทำได้จริงเพียง 5,294 ราย          “แต่เราคาดว่ามีการทำแท้งประมาณ 3 แสนคนต่อปีจากการวิจัยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2540 คำถามคือที่เหลือไปไหน” สุพีชา กล่าวอีกว่า เหตุผลที่ผู้หญิงยังเข้าไม่ถึงบริการในอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ ร้อยละ 15 เพราะไม่รู้จะไปรับบริการที่ไหน ร้อยละ 16.5 รู้ว่ามีบริการแต่ไม่มีเงินเข้ารับบริการ และร้อยละ 2.9 ไม่มีเงินค่าเดินทางไปรับบริการ เมื่อวิเคราะห์ปัญหาที่พบเจอ กลุ่มทำทางแจกแจงออกเป็น 5 ประการ ประกอบด้วย          1. การเข้าไม่ถึงข้อมูลบริการและสถานที่ยุติ ประชาชนและส่วนหนึ่งก็เป็นเจ้าหน้าที่เองที่ไม่รู้ว่ากฎหมายเปลี่ยน ไม่ได้รับมอบหมายนโยบายจึงไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไรเมื่อมีผู้มาขอรับบริการ ประชาชนจึงไม่รุ้ว่าจะไปรับบริการได้ที่ไหน บริการเป็นอย่างไร         2. จำนวนสถานบริการมีไม่เพียงพอ ทำให้ต้องเดินทางไกลเพื่อเข้ารับบริการ สุพีชาบอกว่าในประเทศไทยมีโรงพยาบาล 1,300 แห่ง มีโรงพยาบาลและคลินิกที่ขึ้นทะเบียนให้บริการทำแท้งปลอดภัย 149 แห่ง แต่ให้บริการจริงเพียง 91 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นของเอกชน 21 แห่ง เปิดให้บริการใน 38 จังหวัดเท่านั้น          “เงื่อนไขที่โรงพยาบาลตั้งขึ้นเป็นเองก็แตกต่างกันและเป็นอุปสรรค” สุพีชา อธิบาย “ค่าบริการแตกต่างกัน บางแห่งต้องผ่านคณะกรรมการ บางแห่งให้บริการเฉพาะคนในจังหวัดหรืออำเภอเท่านั้น บางที่ให้บริการเฉพาะวัยรุ่นเท่านั้น และวัยรุ่นต่ำกว่า 20 ปีต้องมีผู้ปกครองซึ่งขัดกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข สถานบริการมีน้อยมากบวกกับถึงรู้แล้วว่าที่ไหนให้บริการก็ใช่ว่าจะได้รับบริการ ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ ผลคือต้องเดินทางไกลเพื่อเข้ารับบริการ”          3. ผู้รับบริการจำนวนไม่น้อยมีปัญหาค่าใช้จ่ายในการรับบริการ ค่าเดินทาง ค่าอาหารระหว่างเดินทาง ค่าผ้าอนามัย ค่าใช้จ่ายของคนที่มาด้วย ค่าจ้างคนดูแลลูก ค่าบริการปรึกษาด้านจิตใจ และสูญเสียรายได้จากการหยุดงานหรือบางรายที่ทำงานไม่ให้หยุด          “การรับบริการเป็นเรื่องชนชั้น คนรวยจะมีหนทางเยอะแยะ เลือกรับบริการได้เร็ว ดีที่สุด สบายใจ สบายตัวที่สุด แต่ถ้าคุณตกงาน เป็นนักเรียนนักศึกษา ทำงานโรงงาน ทางเลือกของคุณมันตีบตันมากและเราก็พบว่าคนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ที่เข้ามารับคำปรึกษา”          4. พบว่าผู้รับบริการถูกปฏิเสธ ไม่มีการส่งต่อ ถูกตีตรา เลือกปฏิบัติ และพบเจอบริการที่ไม่เป็นมิตร          5. ผู้ให้บริการถูกตีตรา มือเปื้อนเลือด เห็นแก่เงิน ไร้จริยธรรม เนื่องจากภาครัฐขาดการประชาสัมพันธ์ การถูกตีตรายังมีอยู่อย่างรุนแรง สุพีชา กล่าวว่า          “อย่าปล่อยให้หมอที่ให้บริการต้องเคว้งคว้าง การประชาสัมพันธ์คือการคุยกับสังคมว่ารัฐบาลสนับสนุน กฎหมายสนับสนุน และไม่จำเป็นต้องมีกฎกระทรวง สุพีชายังเสนออีกว่านโยบายของกระทรวงสาธารณสุขต้องมีความชัดเจน ทำงานร่วมกันกับโรงพยาบาลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายและสามารถปฏิบัติได้ตามกฎหมาย ต้องเผยแพร่ข้อมูลที่ตั้ง เงื่อนไข ค่าใช้จ่าย และสิทธิในการทำแท้งให้ประชาชนทราบ สถานบริการที่ไม่ต้องการบริการจำเป็นต้องส่งต่อ          และจำเป็นต้องมีการกำหนดงบประมาณให้เพียงพอ ขยายจำนวนสถานบริการให้ครอบคลุมโดยเฉพาะต้องมีแผนงาน งบประมาณเพื่อปรับทัศนคติของผู้ให้บริการ มีการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการ จัดให้มีบริการใช้ยาด้วยตัวเองและโทรเวชกรรมเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง          รอดูกันว่าสิ้นปีนี้ระบบราชการไทยจะผลักประกาศกระทรวงสาธารณสุขออกมาได้หรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >


ผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้บริโภคเรื่องสินค้าและบริการที่ต้องการให้ทดสอบ

โพลล์เผย 54.7% ถูกละเมิดสิทธิจากการซื้อสินค้าบริการ โฆษณาเกินจริงขึ้นแท่นปัญหาอันดับหนึ่ง ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเปิดสถิติปี 64 ร้องเรียนสินค้าบริการมากเป็นอันดับสองโพลล์เผยผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิจากการซื้อสินค้าและบริการ ถึงร้อยละ 54.7 การโฆษณาเกินจริงเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง โดยประชาชน ร้อยละ 77.2 อยากให้สภาองค์ของผู้บริโภคทดสอบสินค้า มากที่สุดคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดสถิติ ม.ค. - ก.ย. 64 พบผู้ร้องเรียนปัญหาหมวดสินค้าบริการทั่วไปเป็นอันดับสอง ร้อยละ 27.18 เรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งคือ สินค้าชำรุดบกพร่อง/ไม่ได้มาตรฐาน ร้อยละ 20.06  เรื่องโฆษณาเกินจริงที่เป็นปัญหาอันดับหนึ่ง พบผู้ร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ อยู่ที่อันดับที่สี่ ร้อยละ 16.05         วันที่ 2 ธันวาคม 2564 สภาองค์กรของผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้บริโภคเรื่องสินค้าและบริการที่ต้องการให้ทดสอบ ในกรุงเทพมหานครโดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,143 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 22 - 26 กันยายน 2564         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องผู้บริโภคเรื่องสินค้าและบริการที่ต้องการให้ทดสอบ เนื่องจากสภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นส่วนหนึ่งที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 46 บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลัง ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค ในมาตรา 61 รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย หรือด้านอื่นๆ อีกทั้ง ตามพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นองค์กรอิสระที่ได้รับงบประมาณสามร้อยห้าสิบล้านบาทในการดำเนินการ และสามารถใช้สิทธิแทนผู้บริโภคในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นองค์กรอิสระที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคหรือประชาชนเป็นอย่างมาก โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องผู้บริโภคเรื่องสินค้าและบริการที่ต้องการให้ทดสอบ โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่า “สภาองค์กรของผู้บริโภค” มีการจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้บริโภคในทุกด้าน ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ร้อยละ 61.7 และทราบว่า “สภาองค์กรของผู้บริโภค” เป็นตัวแทนผู้บริโภคและมีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน มีหน้าที่รวบรวม และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ร้อยละ 57.6         โดยใน 1 ปีที่ผ่านมาประชาชนเคยถูกละเมิดสิทธิจากการซื้อสินค้าและบริการ ร้อยละ 54.7 และเรื่องที่ประสบปัญหามากที่สุด อันดับที่หนึ่งคือ การโฆษณาเกินจริง ร้อยละ 26.4 อันดับที่สองคือ ขนาดของสินค้าไม่ตรง ร้อยละ 23.9 อันดับที่สามคือ สินค้าไม่ได้คุณภาพ ร้อยละ 22.2 อันดับที่สี่คือ สินค้าหมดอายุ ร้อยละ 12 อันดับที่ห้าคือ ซื้อแล้วไม่ได้สินค้า ร้อยละ 7.7 และอันดับสุดท้ายคือ สินค้าไม่มีฉลากกำกับ ร้อยละ 7.5         สินค้าหรือบริการพบว่าไม่ได้คุณภาพ อันดับที่หนึ่งคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 22.4 อันดับที่สองคือ เครื่องสำอาง ร้อยละ 20.4 อันดับที่สามคือ อาหาร ร้อยละ 18 อันดับที่สี่คือ เครื่องดื่ม ร้อยละ 9.4 อันดับที่ห้าคือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 7.8 อันดับที่หกคือ บริการขนส่งมวลชน ร้อยละ 7.4 อันดับที่เจ็ดคือ เครือข่ายโทรศัพท์ ร้อยละ 6.6 อันดับที่แปดคือ บริการจัดส่งสินค้า ร้อยละ 4.5 และอันดับสุดท้ายคือ บริการนำส่งอาหาร ร้อยละ 3.3         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ทดสอบสินค้าและบริการเพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ร้อยละ 77.2 และคิดว่าท่านจะสามารถใช้ผลการทดสอบสินค้าและบริการของ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” เพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ร้อยละ 67.2        โดยต้องการให้ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ทดสอบสินค้าและบริการ อันดับที่หนึ่งคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 45.6 อันดับที่สองคือ อาหาร ร้อยละ 42.8 อันดับที่สามคือ เครื่องสำอาง ร้อยละ 41.7 อันดับที่สี่คือ เครื่องดื่ม ร้อยละ 34.9 อันดับที่ห้าคือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 32.8 อันดับที่หกคือ บริการจัดส่งสินค้า ร้อยละ 29 อันดับที่เจ็ดคือ บริการขนส่งมวลชน ร้อยละ 25 อันดับที่แปดคือ เครือข่ายโทรศัพท์ ร้อยละ 24.8 และอันดับสุดท้ายคือ บริการนำส่งอาหาร ร้อยละ 22.7         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบประเภทของสินค้าอาหาร อันดับที่หนึ่งคือ อาหารเสริม ร้อยละ 38.5 อันดับที่สองคือ อาหารกึ่งสำเร็จรูป ร้อยละ 18.5 อันดับที่สามคือ อาหารปรุงสุก ร้อยละ 15.7 อันดับที่สี่คือ อาหารสด ร้อยละ 11.2 อันดับที่ห้าคือ ขนมอบกรอบ ร้อยละ 9.7 และอันดับสุดท้ายคือ ผัก ผลไม้ ร้อยละ 6.5         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบประเภทของเครื่องดื่ม อันดับที่หนึ่งคือ เครื่องดื่มผสมวิตามิน ร้อยละ 40.4 อันดับที่สองคือ เครื่องดื่มชูกำลัง ร้อยละ 15 อันดับที่สามคือ นม UHT ร้อยละ 12.2 อันดับที่สี่คือ ชา กาแฟ ร้อยละ 11.8 อันดับที่ห้าคือ น้ำผลไม้ ร้อยละ 10.8 และอันดับสุดท้ายคือ น้ำดื่ม ร้อยละ 9.6         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบประเภทของเครื่องสำอาง อันดับที่หนึ่งคือ ครีมบำรุงผิว ร้อยละ 23.6 อันดับที่สองคือ สบู่ / ครีมอาบน้ำ ร้อยละ 18.5 อันดับที่สามคือ โฟมล้างหน้า ร้อยละ 17.7 อันดับที่สี่คือ แชมพู ครีมนวดผม ร้อยละ 14.8 อันดับที่ห้าคือ ผงซักฟอก / น้ำยาซักผ้า ร้อยละ 13 และอันดับสุดท้ายคือ ลิปสติก ร้อยละ 11.9         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบประเภทของเครื่องใช้ไฟฟ้า อันดับที่หนึ่งคือ เครื่องปรับอากาศ ร้อยละ 27.9 อันดับที่สองคือ เครื่องฟอกอากาศ ร้อยละ 17.6 อันดับที่สามคือ เครื่องกรองน้ำ ร้อยละ 16.7 อันดับที่สี่คือ เตาอบ ร้อยละ 13.7 อันดับที่ห้าคือ ทีวี ร้อยละ 12.5 และอันดับสุดท้ายคือ ตู้เย็น ร้อยละ 10.9         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภคทดสอบ/สำรวจบริการเครือข่ายโทรศัพท์ อันดับที่หนึ่งคือ ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว ร้อยละ 30.4 อันดับที่สองคือ บริการ SMS ที่เก็บค่าบริการ ร้อยละ 20.6 อันดับที่สามคือ ค่าบริการ ร้อยละ 13.6 อันดับที่สี่คือ การชดเชยเมื่อเกิดความผิดพลาดของผู้ให้บริการ ร้อยละ 12.5 อันดับที่ห้าคือ บริการ Call center ร้อยละ 12.1 และอันดับสุดท้ายคือ พื้นที่ให้บริการ ร้อยละ 10.8         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบ/สำรวจบริการอินเทอร์เน็ต อันดับที่หนึ่งคือ ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว ร้อยละ 32 อันดับที่สองคือ ความเร็วอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 24.2 อันดับที่สามคือ พื้นที่ให้บริการ ร้อยละ 12.1 อันดับที่สี่คือ ค่าบริการ ร้อยละ 11.8 อันดับที่ห้าคือ บริการ Call center ร้อยละ 10.3 และอันดับสุดท้ายคือ การชดเชยเมื่อเกิดความผิดพลาดของผู้ให้บริการ ร้อยละ 9.5         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบ/สำรวจบริการขนส่งสินค้า อันดับที่หนึ่งคือ การดูแลพัสดุไม่ให้เกิดความเสียหาย ร้อยละ 24 อันดับที่สองคือ การชดเชยกรณีพัสดุเสียหาย ร้อยละ 22 อันดับที่สามคือ ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว ร้อยละ 17.6 อันดับที่สี่คือ การชดเชยกรณีพัสดุสูญหาย ร้อยละ 15.2 อันดับที่ห้าคือ ความเร็วในการจัดส่ง ร้อยละ 12.6 และอันดับสุดท้ายคือ ค่าบริการ ร้อยละ 8.7         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบ/สำรวจบริการขนส่งมวลชน อันดับที่หนึ่งคือ รถเมล์ ร้อยละ 26 อันดับที่สองคือ รถแท็กซี่ ร้อยละ 18.5 อันดับที่สามคือ จักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 16 อันดับที่สี่คือ รถรับจ้างสาธารณะ (สองแถว) ร้อยละ 15 อันดับที่ห้าคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 13.3 และอันดับสุดท้ายคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 11.2         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สถิติการร้องเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายน ปี 2564 มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 1,192 เรื่อง มีผู้ร้องเรียนปัญหาหมวดสินค้าบริการทั่วไป เป็นอันดับสอง จำนวน 324 เรื่อง ร้อยละ 27.18 รองจากอันดับหนึ่ง หมวดการเงินการธนาคาร/ประกัน จำนวน 516 เรื่อง ร้อยละ 43.29 ในหมวดสินค้าบริการทั่วไป ประเภทสินค้าที่ร้องเรียนที่พบมากที่สุด คือ สินค้า 248 เรื่อง ร้อยละ 76.54 รองลงมา คือ บริการ 76 เรื่อง ร้อยละ 23.46         เมื่อแบ่งประเภทปัญหาที่ร้องเรียนในหมวดสินค้าบริการทั่วไป อันดับที่หนึ่งคือ สินค้าชำรุดบกพร่อง/ไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 65 เรื่อง ร้อยละ 20.06 อันดับที่สองคือ มีปัญหาการขอคืนเงิน จำนวน 56 เรื่อง ร้อยละ 17.28 อันดับที่สามคือ ไม่พอใจบริการ จำนวน 56 เรื่อง ร้อยละ 17.28 อันดับที่สี่คือ โฆษณาเป็น         เท็จ/หลอกลวง/เกินจริง จำนวน 52 เรื่อง ร้อยละ 16.05 อันดับที่ห้าคือ ไม่ได้รับสินค้า/สินค้าไม่ถูกต้อง จำนวน 33 เรื่อง ร้อยละ 10.19 อันดับที่หกคือ ฉ้อโกง/หลอกลวง จำนวน 21 เรื่อง ร้อยละ 6.48         ในปี 2564 พบว่าผู้บริโภคเคยถูกละเมิดสิทธิจากการซื้อสินค้าและบริการถึงร้อยละ 54.7 แต่มีผู้ที่มาร้องเรียนกับมูลนิธิฯ ในหมวดสินค้าบริการทั่วไปเป็นอันดับสอง ร้อยละ 27.18 เป็นจำนวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่พบปัญหาถูกละเมิดสิทธิ เมื่อเทียบปัญหาที่พบกับการร้องเรียนปัญหาเรื่องสินค้าและบริการทั่วไปแล้วยังพบว่ามีผู้ที่พบปัญหาแต่ไม่ได้ร้องเรียนอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องของการโฆษณาเกินจริง ที่พบปัญหามากเป็นอันดับที่หนึ่งแต่ร้องเรียนกับมูลนิธิฯ เป็นอันดับที่สี่ อาจจะเพราะผู้บริโภคยังไม่รู้ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่สามารถร้องเรียนได้ ฉะนั้นเมื่อพบปัญหาแล้วเกิดความสงสัยหรือไม่แน่ใจ ควรสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอยากให้ผู้บริโภคร้องเรียนปัญหาเพื่อรักษาสิทธิของตนเอง         หากพบปัญหาเรื่องสินค้าและบริการต่างๆ สามารถสอบถามเพิ่มเติม หรือแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ : 02-2483734-7 Line id : @ConsumerThai หรือร้องทุกข์ออนไลน์ที่ https://www.consumerthai.com/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 เมื่อเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนต้องมาใช้สิทธิ์

ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาไปพบกับการใช้สิทธิ์ของคุณสมฤทัย​ วาทิน เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี  สมฤทัยหรือน้องหยก จากเดิมที่ทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์จากพี่น้องผู้บริโภคภายในจังหวัด กลับต้องมาพิทักษ์สิทธิ์ของตนเอง เธอจึงมีประสบการณ์ดีๆ มาถ่ายทอดให้เราได้ใช้ประโยชน์กัน ทำไมจึงมาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค        สนใจงานด้านนี้เพราะสนใจเรื่องสิทธิค่ะ ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องสิทธิมาก่อน​ มองเป็นเรื่องยุ่งยาก​ เวลาคนพูดถึงเรื่องเหล่านี้จะใช่คำทางกฎหมายบ้าง​ คำศัพท์​แปลกๆ บ้าง​ เลยมองว่ามันไกลตัว​ และดูยุ่งยาก​ หลังจากที่ได้เข้ามาทำงานจึงรู้สึกชอบเพราะว่าเรื่องสิทธิเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน​ เป็นเรื่องที่เราต้องรู้​ และมองว่าถ้าเราต้องการให้เรื่องเหล่านี้ง่ายสำหรับคนทั่วไป เราต้องทำให้เข้าถึงง่าย​ ทุกครั้งที่ทำงานเวลาต้องอธิบายเราจะใช้คำง่ายๆ​ ยกกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้น​เพื่อทำความเข้าใจกับคนทั่วไป มีกรณีอะไรที่เราทำแล้วรู้สึกประทับใจบ้างคะ         กรณีบัตรทอง​ เนื่องจากลูกของเจ้าของเรื่องเป็นมะเร็งกระดูก​ เขาต้องใช้ยานอกบัญชียาหลัก​ ซึ่งคนแม่เขาเป็นแม่บ้านบริษัทธรรมดา เขาก็ไม่มีเงินจ่ายตรงนี้​ พนักงานในบริษัทเลยช่วยติดต่อมาทางสมาคมผู้บริโภคฯ ​ หยกได้ช่วยประสานงานดำเนินการเรื่องยื่นขอเงินคืนให้​ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการระดมทุนเพื่อช่วยค่ารักษาคือจ่ายให้ทาง รพ.ไปก่อน ถึงสุดท้ายน้องคนนั้นจะเสียชีวิตแต่ก็ได้ช่วยคุณแม่ไว้   แล้วเรื่องที่ต้องมาพิทักษ์สิทธิ์ของตัวเองเป็นเรื่องอะไร         เป็นเรื่องของพ่อหยกเอง พ่อเจอโพสพวกขายอุปกรณ์ตกปลาในเฟซบุ๊ก​ จึงทักไปถามรายละเอียด​ ตกลงกันว่า ซื้อรอกตกปลาในราคาสามพันกว่าบาท​ พ่อโอนเงินให้​ พร้อมส่งที่อยู่​ หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับมาเลย​ ไม่รับโทรศัพท์ด้วย​         พ่อมาเล่าให้ฟัง ​เลยมาคุยกับพี่ๆ ที่สำนักงานสมาคมฯ คำแนะนำที่ได้คือ ต้องไปแจ้งความค่ะ​ เมื่อไปถึงโรงพัก ตำรวจบอกเราว่ามีเรื่องแบบนี้เยอะมากเลย​ แต่โดยมากจะไม่ได้เงินคืนกัน ส่วนใหญ่ลงบันทึกประจำวันไว้​ แต่สำหรับเราเลือกแจ้งความแบบร้องทุกข์​กล่าวโทษเลย ไม่อย่างนั้นจะไม่มีผลอะไรกับพวกหลอกลวง         เนื่องจากหยกได้แคปหน้าจอเฟซบุ๊ก​และแชททั้งหมดรวมถึงสลิปทุกอย่างในการซื้อขายกัน ไว้เป็นหลักฐาน ทางตำรวจเลยสามารถโทรติดต่อเจ้าของบัญชีที่พ่อโอนเงินไป​ แต่ไม่มีคนรับสาย​ จึงได้โทรติดต่อญาติ​เจ้าของบัญชีนั้น จนได้คำตอบกลับมาว่าจะติดต่อกลับมา          หลังจากนั้นได้คุยกัน​ เจ้าของบัญชีไม่ยอมรับและยืนยันที่จะไม่โอนคืน เนื่องจากบอกว่าไม่มีเงินเข้า เราจึงดำเนินการต่อเพื่อขอหนังสือในการอายัด​บัญชี ทางเจ้าของบัญชีจึงติดต่อกลับมาขอให้ถอนแจ้งความแล้วก็โอนเงินกลับมาค่ะ         เรื่องทุกอย่างเสร็จภายใน 2 วันหลังจากแจ้งความ​ ไม่ได้อายัดบัญชี สรุปก็คือได้เงินคืน  ตอนคุยกันเรายืนยันจะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด​ ถ้าบอกไม่ได้รับเงินเราก็จะตรวจสอบกับทางธนาคารจะตามให้ถึงที่สุดจริงๆ แล้วมีผู้เสียหายคนอื่นแบบเดียวกับคุณพ่อไหม         มีค่ะ​ มีคนติดต่อพ่อมา​ แต่เขาไม่อยากแจ้งความเพราะบอกว่าไม่อยากยุ่งยากและเสียเวลา​ ซึ่งก็ไม่น่าจะได้เงินคืน​ กับทางเพจ ตำรวจดำเนินการอย่างไรต่อ        ไม่ได้ทำอะไรค่ะ​ และบอกให้เราถอนแจ้งความเพราะเขาก็โอนเงินคืนตามสัญญา ทางเพจนี้เขาปลอมเฟซบุ๊กขึ้นมาค่ะ​ แล้วไปโพสขายของตกปลาในเพจขายอุปกรณ์ตกปลา (เพจจริงๆ)  ตอนนั้นเขาปิดเฟซหนีไปแล้วด้วย ตำรวจเลยไม่ดำเนินการต่อ  ได้ประสบการณ์อะไรบ้างจากกรณีนี้         มองว่าอันดับแรก เราต้องเริ่มจากการป้องกันการเกิดเหตุการณ์แบบนี้ค่ะ​ ควรเลือกเพจหรือผู้ขายที่มีรีวิวที่น่าเชื่อถือ​ มีการขายมาอย่างยาวนานหรือมีหน้าร้าน​ ส่วนหลังจากนั้นหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น​ เราต้องมีสติ​ เริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลไม่ว่าจะเป็นสลิปการโอนเงิน​ แคปรูปการแชทการพูดคุยตกลงซื้อขาย​ หน้าเพจ​ของผู้ขายเพื่อเป็นหลักฐานไว้แจ้งความดำเนินคดี         แต่อย่างหนึ่งทีพบคือ ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักมองว่าเงินไม่เท่าไหร่ เราไม่เอาเรื่องดีกว่า เพราะเสียเวลา​ กระบวนก็การยุ่งยากและอายด้วยที่จะไปแจ้งความกับเงินจำนวนไม่มาก น้องหยกเปลี่ยนใจผู้บริโภคอย่างไรให้เขาหันมาสนใจใช้สิทธิ         เริ่มจากการปรับทัศนคติ​ก่อนเลยค่ะ​ เราทุกคนที่ซื้อสินค้าและบริการต้องมีสิทธิเลือกและรับข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง​ สินค้าต้องตรงตามที่ตกลงกันไว้​ หากเกิดปัญหาผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่าอายที่เราจะเรียกร้องสิทธิ​ เงินจะมากหรือน้อยเราก็สามารถเรียกร้องได้​ หากพบเจอกรณีการโกงก็ควรแจ้งความ​ ต่อให้จำนวนเงินไม่มากแต่เพื่อไม่ให้เขาไปทำกับคนอื่นได้อีก ถ้าไม่ทำอะไรคนก็จะโดนหลอกอีกมาก         การแจ้งความไม่ใช่เรื่องยุ่งยากหรือเสียเวลาเลย หยกทำมาแล้ว​ เพียงแต่การแจ้งความต้องระบุว่า​ แจ้งความร้องทุกข์​กล่าวโทษ​ ไม่ใช่แค่ลงบันทึกประจำวันค่ะ บางเรื่องเราสามารถทำได้เองโดยที่ไม่ต้องแจ้งความด้วยใช่ไหมคะ         ได้ค่ะ​ ในกรณีที่เราสามารถตกลงต่อรองได้ อาจจะเริ่มจากการที่ทุกคนต้องรู้สิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองก่อน จะได้เจรจากับคู่กรณีได้อย่างเท่าทันให้เขาจัดการแก้ไขปัญหาให้เรา สำคัญคือไม่ปล่อยเลยตามเลย จากที่ทำงานกับพี่น้องชาวสุราษฎร์ ปัญหาหลักๆ ของที่นี่คือเรื่องอะไรบ้าง         ปัญหามาแรงตอนนี้ก็จะเป็นเรื่องของการซื้อของออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้คนนิยมหันมาซื้อของทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งของใช้ทั่วไปและรวมไปถึงของกิน ซึ่งพบปัญหาเป็นอย่างมากทั้งสินค้าที่ได้ไม่ตรงกับรูปที่โพสขาย เวลาที่ตกลงว่าจะได้รับสินค้าต้องถูกเลื่อนไปอย่างไม่แน่นอนและผู้บริโภคไม่สามารถยกเลิกหรือทำอะไรได้เลย         อีกประเด็นคือ การที่ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิจากการใช้รถโดยสารโดยเฉพาะในสถานการณ์ช่วงโควิด เช่น การใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เนื่องจากตอนนี้ผู้โดยสารน้อย ทำให้รถออกไม่ตรงเวลา  หรือเรื่องความปลอดภัยของรถโดยสารจากสภาพรถที่ดูไม่ค่อยได้รับการดูแล ตลอดจนเรื่องราคาค่าโดยสารที่แพงขึ้น ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทางสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ให้ความสนใจมากๆ และอยากให้ผู้บริโภคได้รู้จักคุ้มครองสิทธิของตนเอง โดยไม่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและตกอยู่ในสภาวะจำยอม โดยผู้บริโภคเองคือคนที่ต้องคุ้มครองสิทธิของตนเองก่อนเลยนะ หากถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ควรเพิกเฉยต่อการเรียกร้องสิทธิเมื่อได้รับความไม่เป็นธรรม  ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะเป็นแผนงานในการทำงานระยะต่อไปของสมาคมฯ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 วิธีรับมือกับการทวงหนี้

        เจษเป็นหนี้บัตรเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวนเงินประมาณ 70,000 บาท ต่อมาเขาผิดนัดชำระ เพราะมีปัญหาทางด้านการเงินไม่สามารถหมุนเงินเพื่อมาชำระหนี้ได้ ตอนนี้เขาผิดนัดมาประมาณ 2-3 งวด แต่ว่าตอนนี้มีบริษัท บริหารทรัพย์สิน เจ จำกัด ซึ่งรับซื้อหนี้มาจากธนาคารไทยพาณิชย์ได้โทรมาหาเขา และเรียกให้เขาชำระหนี้ พอเขาบอกว่าไม่มีชำระก็เริ่มพูดจาไม่ดี บอกว่าถ้าไม่ชำระจะไปเข้าหาผู้อำนวยการหรือผู้จัดการของเขาที่บริษัท ให้ทราบว่าไม่ควรมีพนักงานที่คิดโกงเจ้าหนี้ ซึ่งเขาคิดว่ามันไม่ถูกต้องถ้าทวงหนี้ไม่ได้เจ้าหนี้ควรจะฟ้องศาลจะถูกต้องกว่า เขาจึงขอคำปรึกษาว่า จะมีทางไหนที่จะร้องเรียนหน่วยงานที่เอาเปรียบประชาชนเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ปัจจุบันมีกฎหมายทวงหนี้คือ พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ออกมาใช้บังคับ ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้มีการทวงหนี้โดยละเมิดสิทธิของลูกหนี้ เช่น พูดจาหยาบคาย ดุด่า หรือนำความลับของลูกหนี้ไปบอกกับบุคคลที่ 3  ซึ่งถือเป็นการผิดกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาท หรือประจาน มีโทษขั้นต่ำคือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         เพราะฉะนั้นถ้าผู้ร้องหรือลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้เข้ามาทวงถามหนี้แบบผิดกฎหมาย ผู้ร้องสามารถแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ ซึ่งผู้ร้องจะต้องรวบรวมหลักฐานการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นคลิปเสียงที่เจ้าหนี้โทรศัพท์เข้ามาด่า หรือพูดจาหยาบคาย จดหมายที่เขียนมาข่มขู่ ตลอดจนหลักฐานอื่นๆ ที่เกิี่ยวข้อง นำไปแจ้งความในคดีอาญาเพื่อให้ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย นอกจากแจ้งความที่สถานีตำรวจแล้วผู้ร้องยังสามารถแจ้งได้ที่ กรมการปกครอง สำนักงานคณะกรรมการทวงหนี้ประจำจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ กองบัญชการตำรวจนครบาลอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 โฆษณาคือส่วนหนึ่งของสัญญา ถ้าไม่ทำตามที่โฆษณาเรามีสิทธิอย่างไร

ฉบับนี้ ผมก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับกฎหมายใกล้ตัวมาเสนออีกเช่นเคย ในช่วงโควิดระบาดเช่นนี้ ธุรกิจหลายอย่างได้รับผลกระทบ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจซื้อขายห้องชุดหรือคอนโดมิเนียม หลายคนก็อาศัยช่วงนี้ที่ราคาคอนโดถูกลงเพื่อจับจองเป็นเจ้าของ ซึ่งมีราคาตั้งแต่หลักแสนจนหลักสิบล้าน การที่เราจะตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญ ผมจึงอยากนำเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ มาแบ่งปันเพื่อประโยชน์แก่ทุกท่านในการซื้อคอนโดครับ         หลายท่านคงเริ่มจากค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตและไปดูสถานที่จริง อย่างไรก็ดีเราจะพบว่าฝั่งโครงการ ซึ่งเป็นผู้ขายมักมีการทำโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ เพื่อให้เราตัดสินใจเลือกง่ายขึ้น มีทั้งทำโฆษณาในออนไลน์ แจกแผ่นพับ โปสเตอร์ป้ายใหญ่โต แต่เมื่อเราตัดสินใจทำสัญญาซื้อคอนโดไปแล้ว ผู้ขายมักไม่ทำตามคำโฆษณาและทำให้เกิดข้อพาทกัน เช่นในคดีหนึ่ง ผู้ประกอบการได้ทำเปิดขายอาคารชุด มีการแจกแผ่นพับโฆษณาโดยมีรูปแผนผังทำให้ผู้ซื้อเชื่อว่าที่ดินทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดเป็นทรัพย์ส่วนกลางที่ผู้ซื้อจะสามารถใช้สอยได้  แต่ต่อมากลับแจ้งผู้ซื้อว่าที่ดินดังกล่าว ไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ทำให้ผู้ซื้อมาฟ้องศาลเพื่อให้ทำตามที่โฆษณาไว้         ต่อมาศาลก็ได้ตัดสินให้ผู้ประกอบการต้องทำตามที่โฆษณาโดยให้เหตุผลว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำให้ปรากฏอย่างชัดเจนในการโฆษณา แม้จำเลยไม่มีเจตนาลวงผู้บริโภค จำเลยก็ต้องผูกพันตามแผนผังในแผ่นพับโฆษณา ซึ่งถือเป็นข้อตกลงอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5351/2562         แผ่นพับโฆษณาเป็นประกาศโฆษณาที่จำเลยแจกจ่ายแก่ผู้ซื้อห้องชุด เพื่อจูงใจให้ผู้พบเห็นเข้าทำสัญญากับจำเลย สิ่งที่จำเลยกำหนดในแผ่นพับที่เป็นสื่อกลางโฆษณาให้ผู้ซื้อทราบว่าจะได้รับสิ่งใดเป็นการตอบแทนการเข้าทำสัญญาซื้อห้องชุดจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างจำเลยกับผู้ซื้อ ดังที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจจึงมีหน้าที่ตามมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมที่จะต้องแจ้งข้อที่ผู้บริโภคควรทราบให้กระจ่างชัด ทั้งต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมในการโฆษณาต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับ สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการไม่ว่าในทางใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) บัญญัติว่า ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรม         ดังนี้ แม้จำเลยไม่มีเจตนาให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด แต่ตามแผ่นพับโฆษณา รูปแผนผังที่ปรากฏทางพิพาทที่เป็นทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดติดต่อกับพื้นที่อาคารชุด มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยอันมีผลต่อสถานะความเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ทำให้ผู้ซื้อเข้าใจไปว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นพื้นที่ที่เจ้าของร่วมจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของอาคารชุด การโฆษณาของจำเลยจึงเป็นการโฆษณาด้วยข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ดังบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) จำเลยจึงต้องรับผลแห่งการโฆษณานั้น การที่จำเลยไม่แสดงให้ชัดแจ้งเพื่อให้ปรากฏแก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดซึ่งเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำให้ปรากฏอย่างชัดเจนในการโฆษณา ในขอบมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมกับภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม         แม้จำเลยไม่มีเจตนาลวงผู้บริโภค จำเลยก็ต้องผูกพันตามแผนผังในแผ่นพับโฆษณา ซึ่งถือเป็นข้อตกลงอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย ดังที่บัญญัติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 และแม้ลักษณะที่แสดงตามแผ่นพับ จะแสดงว่า ทางและที่ดินติดชายหาดเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันของโรงแรมและอาคารชุดก็ตาม ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ก็ยังคงมีสถานะเป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมอยู่ด้วย การที่โรงแรมมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์ด้วย หาทำให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมไม่ ทั้งทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดนั้น นอกจากทรัพย์สินอื่นๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ยังหมายความถึงทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ถือเป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วยดังบัญญัติความตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 และมาตรา 15 ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะขึ้นทะเบียนอาคารชุดระบุว่าเป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่หรือ เจ้าของทรัพย์สินนั้นจะแสดงเจตนายกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นให้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นกรณีตกเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดโดยผลของกฎหมาย          จากคำพิพากษาข้างต้น ยังมีหลักกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางที่น่าสนใจคือ ทรัพย์ที่เป็นทรัพย์ส่วนกลางนั้นคือทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันของเจ้าของร่วม ไม่ว่าทรัพย์นั้นทะเบียนอาคารชุดจะระบุไว้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ก็ตาม เจ้าของทรัพย์สินนั้นจะแสดงเจตนายกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นให้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นกรณีตกเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดโดยผลของกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 และมาตรา 15

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 อะไรควรทำไม่ควรทำของสภาองค์กรของผู้บริโภค

        การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคได้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรมนูญมาตั้งปีพ.ศ.2540 จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน         โดยก่อนหน้านั้นมีความพยายามในการจัดทำกฎหมายจนถึงขั้นตอนสุดท้ายของรัฐสภา หลังผ่านกรรมาธิการร่วมเพื่อให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคขณะที่ฝั่งองค์กรผู้บริโภคไม่รอกฎหมายและปฏิบัติการทำงานผ่านคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน         มาตรา 46 ของรัฐธรรมบัญญัติให้สิทธิผู้บริโภคต้องได้รับการคุ้มครอง และกำหนดให้มีองค์กรผู้บริโภครวมตัวกันจัดตั้งองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยหลักเกณฑ์ วิธีการจัดตั้ง และอำนาจในการเป็นตัวแทนผู้บริโภคให้มีการออกกฎหมาย                 รัฐบาลได้มีการตราพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 กำหนดให้องค์กรผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 150 องค์กรที่ผ่านการจดแจ้งความเป็นองค์กรของผู้บริโภคจากนายทะเบียนกลาง (สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.)) รวมตัวกันจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกราชกิจจานุเบกษา “ประกาศนายทะเบียนกลาง” เรื่อง การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2563ให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้บริโภค มีสิทธิหน้าที่และอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 46 พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคพ.ศ.2562 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง         พระราชบัญญัติการจัดตั้งกำหนดไว้ในมาตรา 14 ให้สภาองค์กรของผู้บริโภค มีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน รวมทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทำงานทั้งเชิงรุกในการเฝ้าระวังและการรับเรื่องร้องเรียนช่วยไกล่เกลี่ยและฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภค จัดทำรายงานการคุ้มครองผู้บริโภคประจำปี และรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากผู้บริโภคอย่างน้อยปีละครั้ง รวมทั้งสนับสนุนสมาชิกของสภาซึ่งขณะนี้มีจำนวน 198 องค์กรให้สามารถทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น         นอกจากทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด สภาองค์กรของผู้บริโภคควรจะทำเรื่องอะไร เชื่อว่าไม่ง่ายเหมือนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในอดีต ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่สื่อสังคมออนไลน์ โลกดิจิทัลที่มีอิทธิพลในการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ ความเท่าทันและความปลอดภัยในโลกดิจิทัล อยากชักชวนให้มาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงไปกับตัวแทนของคุณ สภาองค์กรของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 เรือนไหมมัจจุราช : เสียงเล็กๆ ของคนไร้สิทธิ์เสียง

                สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นสังคมที่กอปรขึ้นด้วยความหลากหลายของกลุ่มวัฒนธรรม และบนความหลากหลายนี้เอง จึงเกิดเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า แล้วปฏิสัมพันธ์ระหว่างความแตกต่างของกลุ่มวัฒนธรรมนั้นจะเป็นเช่นไร        แน่นอนว่า เมื่อความแตกต่างโคจรมาบรรจบพบกัน ความสัมพันธ์จึงออกมาได้แบบ “ทั้งรักและทั้งเกลียด” ที่บางช่วงก็ปรองดองหวานชื่น ในขณะที่บางจังหวะก็อาจจะขัดแย้งกันเข้มข้น ด้วยเหตุผลที่ว่า กลุ่มสังคมที่แตกต่างหาใช่จะมีสถานะเชิงอำนาจที่เสมอภาคทัดเทียมกันไม่        รูปธรรมที่ดูจะชัดเจนที่สุดในการสะท้อนความขัดแย้งระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมนี้ ก็น่าจะเป็นการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างคนชั้นนำที่มีอำนาจกำกับความเป็นไปในสังคม กับบรรดาคนชายขอบที่ถูกมองว่ามีอำนาจน้อย จนบางครั้งดูประหนึ่งจะไร้สิทธิ์เสียงที่เปล่งออกมาแต่อย่างใด         แต่ที่สำคัญ แม้ว่าในสังคมพหุวัฒนธรรมจะมีการผลักพาให้คนบางกลุ่มกลายเป็นคนนอกผู้ไร้สิทธิ์เสียง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว กลุ่มคนชายขอบที่ถูกกดทับไว้ด้วยอำนาจ ก็สามารถต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจะสื่อสารเป็นนัยว่า เสียงเล็กๆ ที่ปลาสนาการจากอำนาจ ก็สามารถเปล่งเสียงตัวตนอัตลักษณ์ของพวกเขาออกมาได้เช่นกัน         ภาพการปะทะต่อสู้เพื่อเปล่งเสียงเล็กๆ เยี่ยงนี้ ได้รับการจำลองเอาไว้ในละครโทรทัศน์แนวแฟนตาซีแบบจีนล้วนๆ ก็เหมือนจะไม่ใช่ แบบไทยล้วนๆ ก็เหมือนจะไม่เชิง กับชื่อเรื่องที่ดูย้อนแย้งว่า “เรือนไหมมัจจุราช” ที่ดูจะมีทั้งด้านความงามของเส้นไหม กับด้านน่าสะพรึงกลัวของมัจจุราชหรือเจ้าแห่งความตาย         เปิดฉากย้อนอดีตร้อยกว่าปีมาที่คฤหาสน์เรือนใหญ่ของเจ้าของกิจการทอเส้นไหม ที่รู้จักกันในชื่อว่า “โรงทอตระกูลหย่ง” แม้จะถูกนำเสนอให้ดูเป็นสไตล์แบบจีน แต่โรงทอแห่งนี้ก็ฉายภาพของสังคมในยุคมูลนายและไพร่เอาไว้ค่อนข้างชัดเจน โดยที่มี “หย่งเหม่ยซือ” เล่นบทบาทเป็น “นายแม่” ผู้ปกครองใหญ่ ซึ่งมีอำนาจสิทธิ์ขาดเหนือชีวิตบริวารทั้งมวลที่อยู่ในระบอบอุปถัมภ์ของโรงทอ         นอกจากนายแม่เหม่ยซือแล้ว อาณาจักรโรงทอยังมี “หย่งเจี้ยน” บุตรชายแท้ๆ ผู้ครองอำนาจรองจากนายแม่ และ “สไบ” กับ “พิกุล” เมียเอกเมียรองของหย่งเจี้ยน ที่เบื้องหลังก็พยายามแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจขึ้นเป็นใหญ่เหนืออีกฝ่ายหนึ่ง         และภายใต้ระบอบอุปถัมภ์ที่ออกแบบไว้ประหนึ่งมูลนายกับไพร่เช่นนี้ เมื่อมีความขัดแย้งหรือความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนชั้นนำของโรงทอตระกูลหย่ง ก็จะบังเกิดผลสะเทือนเลื่อนลั่นไปสู่แทบจะถ้วนทั่วทุกคนในปริมณฑลของโรงทอผ้าไหมไปด้วยเช่นกัน         เพื่อให้ระบอบใหญ่ดำเนินต่อไป โรงทอตระกูลหย่งยังได้ผูกโยงความสัมพันธ์กับกลุ่มสังคมภายนอกทั้งที่มีอำนาจเหนือกว่าและด้อยกว่า โดยในด้านแรก นายแม่เหม่ยซือก็เลือกจะยึดโยงความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับ “พระอากรภักดี” ตัวแทนส่วนกลางที่เอื้อต่อการทำธุรกิจซื้อขายผ้าไหมจากโรงทอ         และในเวลาเดียวกัน เมื่อโรงทอผ้าไหมเกิดวิกฤติขาดซึ่งปัจจัยการผลิตหรือเส้นไหมที่มีคุณภาพมาป้อนโรงทอ นายแม่เหม่ยซือจึงจัดแจงส่ง “หย่งชาง” คุณชายคนรองของเรือนไปติดต่อผูกสัมพันธ์กับชุมชนชาติพันธุ์ชาวเมี่ยน ที่ชำนาญด้านการเลี้ยงหนอนไหมชั้นเลิศ โดยหวังว่าชาวเมี่ยนจะยินยอมจิ้มก้องส่งหนอนไหมมาเป็นวัตถุดิบการผลิตเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของโรงทอตระกูลหย่ง         แม้โรงทอตระกูลหย่งจะเข้าไปผูกวางความสัมพันธ์กับกลุ่มวัฒนธรรมชาวเมี่ยน แต่ถึงที่สุดแล้ว สายสัมพันธ์ดังกล่าวก็ถักทอหล่อหลอมอยู่บนโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมอีกเช่นกัน         ดังนั้น เมื่อ “อาซา” และ “อาเซี้ยะ” สองสาวพี่น้องชาวเผ่าเมี่ยนมีเหตุให้ต้องเดินทางมาอาศัยชายคาคฤหาสน์ตระกูลหย่ง เพราะอาเซี้ยะได้แต่งงานเป็นภรรยาของหย่งชาง แต่ด้วยอำนาจที่กดทับขีดวงตัวตนคนนอกที่เข้ามาเยือนโรงทอผ้า ความรู้สึกของตัวละครพี่น้องชนเผ่าจึงมีเสียงก้องในใจตั้งแต่วินาทีแรกที่เดินเข้าสู่ประตูโรงทอว่า “นี่คือสถานแห่งบ้านตระกูลหย่งที่ฉันปองมาสู่ ฉันยังไม่รู้เขาจะต้อนรับขับสู้เพียงไหน...!!!”         และแม้พี่น้องทั้งสองคนจะพยายามบอกใครต่อใครว่า “โปรดอย่าอิจฉาสมาชิกใหม่ของบ้านตระกูลหย่ง” ก็ตาม แต่เพราะพวกเธอเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบที่อยู่รอบนอกแห่งอำนาจ สองพี่น้องจึงถูกกลั่นแกล้งจากนายแม่เหม่ยซือและตัวละครเกือบแทบจะถ้วนหน้า ที่ขยันสรรหาสรรพวิธีมากลั่นแกล้งใส่ความเพื่อจะอัปเปหิพวกเธอให้กระเด็นออกไปนอกเรือนชาน         ทว่า ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เรามักจะมองข้ามไปก็คือ แม้แต่กับกลุ่มคนชายขอบของอำนาจ ก็ใช่ว่าจะขาดซึ่งศักยภาพในการต่อสู้แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อชำนัญการในเรื่องการเลี้ยงไหม พี่น้องชาวเมี่ยนก็จึงมีอาวุธเป็นองค์ความรู้ในการสร้างและควบคุมหนอนไหมที่เรียกว่า “จิ้นฉาน” ให้กลายเป็นพิษสงที่จะตอบโต้ต่อกรกับบรรดาตัวละครในใต้อาณัติของนายแม่เหม่ยซือ         แต่ก็นั่นอีกเช่นกัน เมื่อนายแม่เริ่มเรียนรู้ว่า คนชายขอบก็มีองค์ความรู้บางชุดที่จะเอื้อต่อการรักษาสถานะนำของตน นายแม่และเครือข่ายของเธอจึงพยายามพรากเอาตำรับความรู้โบราณของชาวเมี่ยนมาเป็นของตน โดยเฉพาะการสร้างสัตว์พิษที่เป็นยิ่งกว่าสุดยอดแห่งสัตว์พิษทั้งปวง ที่เรียกว่า “เว่ยต้ากู่” หรือ “มารเบญจพิษ” ซึ่งทั้งร้ายและ “out of control”         และเมื่อไม่มีคุณธรรมที่กำกับการใช้ความรู้และเว่ยต้ากู่ เราจึงเห็นภาพโรงทอตระกูลหย่งลุกเป็นไฟกลายเป็น “เรือนไหมมัจจุราช” ที่นายแม่เหม่ยซือและสไบผู้เป็นลูกสะใภ้เข่นฆ่าผู้คนจนนับศพไม่ถ้วนทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นบรรดาชีวิตคนงานโรงทอที่ล้มตายเป็นผักปลา ชีวิตตัวละครชาวเมี่ยนอย่างอาซาและ “หมอเลี่ยว” ผู้ที่แม้จะเคยช่วยชีวิตนายแม่และพรรคพวกมาก่อน ชีวิตตัวละครรุ่นลูกหลานของตระกูลหย่ง หรือแม้แต่เข่นฆ่ากันเองจนตอนจบ จนแทบจะไม่เหลือตัวละครหลักมาให้เดินเรื่องต่อไป!!!         แต่ที่น่าชวนหัวยิ่งก็คือ หากในฉากจบของเรื่อง จะมีเฉพาะก็แต่ตัวละครที่ถูกทำให้ “เสียสติ” อย่างพิกุล หรือ “ความทรงจำเสื่อม” อย่างหย่งเจี้ยน ที่คิดกลับตัวกลับใจหันมามองความเป็นอื่นด้วยความเป็นมนุษย์ไม่ต่างกัน ละครก็อาจบอกเป็นนัยๆ กระมังว่า คงต้องทำให้คนมีอำนาจนั้น “เสียสติ” หรือ “ความจำเสื่อม” กันเสียบ้าง พวกเขาก็จะได้เล็งเห็นสิทธิและเสียงเล็กๆ ของคนงานในโรงทอหรือกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเมี่ยน ที่หาใช่จะเป็นคนที่ไร้สิทธิ์เสียงหรือถูกขูดรีดกดทับอัตลักษณ์ศักดิ์ศรีเอาไว้แต่เพียงด้านเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 ใช้สิทธิผู้ป่วย … ใช้สิทธิในการมีสติ

        เพื่อนนอกวงการสุขภาพคนหนึ่งของผม พิมพ์ข้อความปรึกษาผ่านมาทางไลน์ เกี่ยวกับอาการท้องเสียของเขา เล่าว่าถ่ายบ่อยๆ ติดกันมาสองวันแล้วจะทำอย่างไรดี เท่าที่ผมดูอาการก็ไม่น่ากังวลอะไร เพราะไม่ได้ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ไม่เพลีย ไม่มีไข้หรืออาเจียนจากอาหารเป็นพิษ สอบถามข้อมูลก็ไม่ค่อยทราบอะไรมากนัก จึงแนะนำในแง่การปฏิบัติตัว ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่ายรสไม่จัดไปก่อน หากอาการไม่ดีขึ้นอาจไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ         เพื่อนคนนี้หายไปห้าหกวันก็ไลน์กลับมาปรึกษาอีก เล่าว่าหลังจากสองวันอาการถ่ายก็หาย แต่ด้วยความไม่สบายใจจึงไปตรวจที่สถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง สถานพยาบาลแห่งนั้นตรวจแล้ว ก็ขอตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาว่าในอุจจาระมีเชื้ออะไรที่อาจทำให้เกิดโรค หลังจากยอมให้ตรวจโดยเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เมื่อกลับไปอีกครั้งทางสถานพยาบาลก็บอกอีกว่า น่าจะตรวจลำไส้หาสาเหตุต่างๆ เพิ่มอีก รวมทั้งให้ตรวจมะเร็งลำไส้ด้วย         ตนเองเริ่มรู้สึกแปลกๆ เพราะปกติตนเองก็ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอมาโดยตลอด และไม่เคยพบว่าผิดปรกติอย่างไร เพียงแค่ครั้งนี้ถ่ายบ่อยๆ ติดต่อกันสองวันนั้นเอง และอาการก็หายไปแล้วด้วยซ้ำ แต่เมื่อถูกทักและชักชวนให้ตรวจอะไรต่างๆ มากขึ้นก็เริ่มกังวล และหากตรวจเพิ่มตนก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกด้วย         ผมแนะนำให้กลับสอบถามทางสถานพยาบาลให้ชัดว่า ทำไมถึงต้องชักชวนให้ตรวจอะไรหลายๆ อย่าง มีเหตุผลจำเป็นอย่างไร เพื่อนก็บอกว่าไม่กล้าถาม        เพื่อนของผมก็คงคล้ายๆ กับผู้ป่วยอีกหลายคน เมื่อไปรักษาทางการแพทย์แล้วมักเกิดความสงสัยต่างๆ แต่กลับไม่กล้าสอบถามอะไรกับบุคลากรทางการแพทย์ และกลับมาวิตกกังวลเสียเอง ผู้ป่วยหลายท่านอาจไม่ทราบว่า แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ฯลฯ ได้ร่วมกันออกประกาศรับรองสิทธิของผู้ป่วย เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพกับผู้ป่วย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจอันดีและเป็นที่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน          โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเกี่ยวกับการได้รับข้อมูลต่างๆ เช่น ผู้ป่วยที่ขอรับบริการด้านสุขภาพมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอและเข้าใจชัดเจนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอม หรือไม่ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือที่รีบด่วนหรือจำเป็น  นอกจากนี้ยังมีสิทธิที่จะได้รับทราบ ชื่อ สกุล และประเภทของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่เป็นผู้ให้บริการแก่ตน ตลอดจนสิทธิที่จะขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพท่านอื่น ที่มิได้เป็นผู้ให้บริการแก่ตน และมีสิทธิในการขอเปลี่ยนผู้ให้บริการ และสถานบริการได้ ฯลฯ         การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีโรคหลายชนิดที่เป็นภัยเงียบ การตรวจตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม หากพบจะทำให้รักษาได้ง่าย และมีโอกาสหายขาดได้ แต่การตรวจสุขภาพต้องตรวจให้เหมาะสมกับตัวเรา หากตรวจเกินจำเป็นก็ทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ การตรวจสุขภาพไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี แต่ควรตรวจตามระยะ ตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับ เพศ อายุ และโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง          และอย่าลืมว่า เราสามารถตรวจสุขภาพด้วยตนเองในเบื้องต้นได้ โดยการตรวจสังเกตพฤติกรรม น้ำหนัก การวัดเส้นรอบเอวว่าอยู่ในภาวะลงพุงหรือไม่ หากพบว่ามีคมเสี่ยงต่างๆ เราก็จะได้รีบหันมาดูแลสุขภาพของตนเองได้ทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 วิ่งวุ่นจากเหตุใช้สิทธิป่วยฉุกเฉินวิกฤติรักษาฟรี

        น่าจะเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่า หากประชาชนประสบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถใช้สิทธิ UCEP หรือสิทธิการรักษาเพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งสามารถรักษาได้ฟรีทุกโรงพยาบาล ภายใน 72 ชั่วโมงแรก ก่อนจะส่งผู้ป่วยเข้าระบบตามสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ป่วยนั้น อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติอาจมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดภาระเรื่องค่าใช้จ่ายหรือไม่ฟรีจริงแก่ผู้ป่วยและญาติที่ใช้สิทธิดังกล่าว ซึ่งทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะปลดเปลื้องภาระได้ ดังกรณีที่มีผู้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ        คุณประสานร้องเรียนว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ปีที่แล้ว เวลาประมาณ 16.30 น. คุณประสงค์ซึ่งเป็นน้องชายประสบอุบัติเหตุขณะขับขี่รถจักรยานยนต์แล้วมีรถบรรทุกเลี้ยวตัดหน้า คุณประสงค์ถูกนำส่งโรงพยาบาลใกล้ที่เกิดเหตุโดยรถกู้ภัยอาสาในภาวะหายใจเองไม่ได้และไม่รู้สึกตัว คุณประสานไปโรงพยาบาลและเฝ้าผู้ป่วยอยู่จนถึงเวลา 22.30 น. จึงได้กลับบ้าน แต่ประมาณ 23.00 น. ทางโรงพยาบาลได้โทรศัพท์แจ้งว่า ให้มาเซ็นเอกสาร 2 ฉบับเพื่อให้ผู้ป่วยรับการผ่าตัดด่วน ซึ่งตนเองก็รีบไปเซ็นเอกสารดังกล่าว         วันรุ่งขึ้นโรงพยาบาลแจ้งว่าอาการของผู้เสียหายหนักเกินกว่าที่ทาง รพ.จะรักษาได้ ต้องส่งไป รพ.ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของผู้ป่วย แต่เมื่อติดต่อไปและแจ้งอาการ โรงพยาบาลตามสิทธิหลักประกันก็ไม่สามารถรักษาได้ น้องชายต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่หรือโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์เท่านั้น ทางโรงพยาบาลได้ติดต่อไปตามโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์หลายแห่งพบว่า เตียง ICU เต็ม ผู้ร้องจึงดิ้นรนติดต่อหาโรงพยาบาลที่มีศักยภาพพอที่จะรักษาน้องชายได้ จนได้ทราบว่าน้องชายสามารถใช้สิทธิ UCEP หรือฟรี 72 ชั่วโมงแรก เมื่อแจ้งเรื่องต่อโรงพยาบาลกลับได้ข้อมูลที่ต่างออกไป โดยโรงพยาบาลแจ้งว่า คุณประสงค์ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.รถ ไปแล้ว ไม่สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้         วันที่ 6 มีนาคม ประมาณ 14.00 น. ทางโรงพยาบาลแจ้งคุณประสานว่า โรงพยาบาลศิริราชรับรักษาคุณประสงค์ ซึ่งทาง รพ.จะย้ายผู้ป่วยไปที่ศิริราช แต่คุณประสานต้องชำระค่ารักษาจำนวน 120,000 บาท คุณประสานจึงรีบไปหาหยิบยืมเงินมาจ่ายให้ทาง รพ. ซึ่งเวลาประมาณ 20.00 น.จึงพอที่จะรวบรวมเงินได้และนำมาจ่ายให้ รพ. น้องชายจึงได้ถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่ รพ.ศิริราช คุณประสานพยายามขอข้อมูลจากทางศิริราชว่าผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิ UCEP ได้หรือไม่ ทางศิริราชให้ข้อมูลว่าการตัดสินใจว่าใช้ได้หรือไม่ได้ ต้องส่งข้อมูลเข้าไปที่ระบบซึ่งดูแลโดย สปสช. คุณประสานจึงขอให้ทาง รพ.ที่รักษาผู้ป่วยในครั้งแรกส่งข้อมูลไปยังระบบของ UCEP แต่ รพ.ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า “อาการของผู้ป่วยพ้นขีดอันตรายแล้ว”         คุณประสานจึงแจ้งเรื่องร้องเรียนไปที่ สปสช. ต่อมาได้รับแจ้งว่า ทาง รพ.ได้ส่งข้อมูลผู้ป่วยเข้าระบบแล้ว และกำลังเข้าสู่การพิจารณาว่าเป็นกรณีฉุกเฉินวิกฤตหรือไม่ ส่วนอาการของผู้ป่วยหลังจากรับการผ่าตัดแล้ว ได้ย้ายเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตามสิทธิหลักประกัน ซึ่งผู้ป่วยยังอยู่ในอาการไม่รู้สึกตัว ส่วนเรื่องของการร้องเรียนนั้น ผ่านไปประมาณ 7 เดือนยังไม่คืบหน้า ทำให้คุณประสานมีภาระเรื่องการผ่อนชำระหนี้สินที่กู้ยืมมาเพื่อรักษาน้องชาย จึงขอความช่วยเหลือกับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยติดตามเรื่องให้ด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหา        เบื้องต้นได้แนะนำให้คุณประสานดำเนินการเรื่องคดีความกับทางผู้ขับขี่รถบรรทุกเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติม สำหรับการติดตามกรณีใช้สิทธิ UCEP ได้รับแจ้งจากทาง สปสช. ว่า แม้ รพ.ที่รักษาผู้ป่วยในครั้งแรกนั้นจะส่งข้อมูลเข้าระบบแล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินการเรื่องเบิกเงินกับ UCEP  เรื่องจึงยังไม่คืบหน้า ซึ่งกรณีนี้ทาง สปสช.ได้พิจารณาแล้วว่าเข้ากรณีเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตั้งแต่ที่คุณประสานร้องเรียนไว้ รอเพียงให้ทาง รพ.เบิกเงิน ซึ่งจะทำให้ทราบว่ายอดเงินเป็นจำนวนเท่าใดเพื่อการพิจารณาจ่ายเงินให้ รพ. และ รพ. จะได้คืนเงินให้กับผู้ร้องต่อไป            กรณีของคุณประสานนี้ ความล่าช้าเกิดจาก รพ.อาจยังไม่เข้าใจการส่งเรื่องเข้าระบบ เพราะเมื่อติดต่อไปที่ รพ. ได้รับคำยืนยันว่า ได้ส่งข้อมูลเข้าระบบไปแล้วตั้งแต่มีนาคม แต่ รพ.ไม่ทราบว่าต้องส่งข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วย เพราะ สปสช. ต้องใช้ในการพิจารณาว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งหมดนั้น สปสช. สามารถจ่ายได้เต็มจำนวนหรือไม่         ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ช่วยประสานงานทวงถามให้กับผู้ร้องเรียนเป็นระยะ พบว่า ทาง รพ.อ้างว่ามีภาระงานมาก จึงทำให้การทำเรื่องเบิกจ่ายล่าช้า ดังนั้นกว่าจะทำเรื่องเบิกจ่าย ก็ต้องรอจนถึงเดือนธันวาคม 2561 ต่อมาในเดือนมกราคม 2562 เรื่องจึงได้ผ่านการพิจาณาของ สปสช. และมีหนังสือแจ้งการจ่ายเงินให้ รพ. ซึ่ง รพ. ก็ติดต่อให้คุณประสานเข้าไปรับเงินคืน  ------------นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ 1 เมษายน 2560 โดย สปสช.เป็นหน่วยงานกลางในการประสานกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ ทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และอื่นๆ เพื่อจ่ายเงินชดเชยให้รพ.เอกชนตามนโยบายนี้ว่า คนไทยทุกคนหากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล (รพ.) ที่ใกล้ที่สุดได้ทั้ง รพ.รัฐและรพ.เอกชนไม่จำเป็นต้องเป็นรพ.ตามสิทธิ โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นใน 72 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยไม่ต้องจ่าย แต่ละกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐที่ผู้ป่วยมีสิทธิจะดำเนินการจ่ายให้รพ.ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนด6 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ที่สามารถใช้สิทธิ UCEP รักษาพยาบาลฟรี 72 ชั่วโมงแรก1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่อง6.อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิตที่มา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 เบี้ยประกันสำหรับการคุ้มครองสิทธิผู้ประชาชนในฐานะ พลเมือง และผู้บริโภค

            หลายๆ ครั้งที่ติดตามข่าว โดยเฉพาะกรณีที่ ประชาชนหรือผู้บริโภค ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในการรักษาสิทธิของตนเองนั้น มักปรากฏว่า มักจะมีทนายอาสา หรือ มูลนิธิต่างๆ เอื้อมมือเข้ามาช่วยเหลือ สงเคราะห์ เนื่องจากในกระบวนการยุติธรรมนั้น คดีความต่างๆ จำเป็นต้องใช้บริการของทนายทั้งในกรณีขอคำปรึกษา และว่าความให้กับประชาชนผู้เดือดร้อน            กรณีของเยอรมันเอง ได้มีบริการสำหรับ ให้ผู้บริโภค หรือประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและใช้บริการ ทนายความโดยอาศัยหลักการ การซื้อเบี้ยประกันสิทธิของประชาชน (Rechtsschutzversicherung: Legal Expense Insurance)            หลักการของประกันลักษณะนี้จะคล้ายกับ การซื้อประกันสุขภาพ ที่จะต้องหาหมอในกรณีป่วย ประชาชนที่มีประกันสุขภาพ ก็ใช้บริการประกันสุขภาพ แต่บริการประกันสิทธิ คือ การใช้บริการของทนาย ในกรณีที่สิทธิถูกละเมิด และต้องใช้บริการทนาย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้นระบบประกันสิทธิแบบจ่ายเบี้ยประกันล่วงหน้าจึงเข้ามาปิดช่องว่าง ของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมให้กับ ประชาชนหรือผู้บริโภคที่สามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ สำหรับวันนี้จะขอยกตัวอย่าง ประกันสิทธิทางถนน (Verkehrrechtschutz: Traffic right Insurance) ซึ่งเป็นประกันภัยที่เหมาะและมีประโยชน์กับทุกคนที่จะต้องเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นคนเดินถนน ขี่รถจักรยาน หรือ ขับรถยนต์ ในกรณีที่เกิดคดีความกันบนท้องถนน ประชาชนที่มีประกันสิทธิ ก็สามารถปรึกษาเรียกหาทนายความมาเป็นที่พึ่งได้             เหตุการณ์ลักษณะใดบ้างที่ประกันสิทธิบนท้องถนนให้ความคุ้มครอง                1 กรณีกิดอุบัติเหตุ หลายๆ ครั้งที่ รถยนต์เฉี่ยวชนกับรถจักรยาน การพิสูจน์ถูก ผิดในคดี จำเป็นที่จะต้องใช้บริการทนายในการต่อสู้คดี ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายผู้ขับขี่รถยนต์ หรือ คนขับขี่จักรยาน ที่มักได้รับบาดเจ็บ จากการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งยังไม่ทราบว่าฝ่ายใดถูก หรือผิด จนกว่าจะได้รับคำพิพากษาจากศาล                2 กรณีซื้อยานพานะแล้วปรากฏว่าเป็นสินค้าชำรุดบกพร่อง การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายชดเชยจำเป็นต้องใช้ ทนายในการทำคดี                3 ในกรณีที่ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐตั้งขอกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนกฎจราจร ก็สามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ต่อศาลโดยสามารถปรึกษากับทนาย โดยภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด บริษัทรับทำประกันรับผิดชอบ                4  ในกรณีที่ผู้ประกันสิทธิเป็นฝ่ายผิด ก็สามารถใช้บริการนี้ เพื่อป้องกัน การเรียกร้องค่าเสียหายเกินจริงได้                5 ในการต่อสู้ทางคดีความ ฝ่ายผิด เป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้คดีความให้กับอีกฝ่ายด้วย ดังนั้น หลายๆ กรณี มักจะจบด้วยการไกล่เกลี่ย ซึ่งก็ต้องใช้บริการปรึกษาทนายความ            ขอยกตัวอย่าง กรณีการเกิดอุบัติเหตุ รถยนต์ เฉี่ยวชน กับรถจักรยาน กรณีที่ เกิดความเสียหายเฉพาะตัวรถจักรยาน เจ้าของจักรยาน เรียกค่า เสียหาย 1000 ยูโร แต่ ประกันของฝ่ายรถยนต์มองว่า เรียกค่าเสียหายสูงเกินไป เมื่อตกลงกันไม่ได้จึง ต้องฟ้องคดีต่อศาลเรียกค่าเสีย ซึ่งค่าใช้จ่ายของทนายความ คือ 350 ยูโร และค่าฤชาในการฟ้อง อีก 160 ยูโร ในกรณีที่คนขับขี่รถจักรยานเป็นฝ่ายแพ้คดี ก็ต้องรับภาระจ่ายค่าคดีความที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมทั้งของคู่ความด้วย รวมๆแล้ว คนขับขี่จักรยานต้องจ่ายรวมเบ็ดเสร็จ 770 ยูโร ในกรณีที่คดีเข้าสู่ชั้นอุทธรณ์ ค่าใช้จ่ายอาจเพิ่มขึ้นไปเป็น 1560 ยูโร และถ้าเป็นชั้นฎีกา อาจเพิ่มสูงถึง 2600 ยูโร ซึ่งมากกว่า มูลค่าความเสียหายถ้าเกิดกรณีบาดเจ็บ และคนขับขี่จักรยานเรียกร้องค่าเสียหายจากการได้รับบาดเจ็บ 25000 ยูโร คนขับขี่จักรยานก็ต้องจ่ายค่าทำคดี ในศาลชั้นต้นสูงถึง 6480 ยูโร ชั้นอุทธรณ์ 13265 ยูโร และชั้นฎีกา 22300 ยูโร ดังนั้นค่าคดีความจึงขึ้นอยู่กับมูลค่าความเสียหาย            เบี้ยประกันสิทธิคุ้มครองทางถนน จึงเป็นสิทธิที่มีความสำคัญกับผู้ใช้เส้นทางการเดินทางทุกคน ระบบประกันสิทธิโดยใช้รูปแบบของการจ่ายเบี้ยประกันจึงเป็นรูปแบบที่นิยมใช้ ในประเทศเยอรมัน นอกจากนี้ ประชาชนสามารถเลือกซื้อประกันสิทธิแบบนี้ โดยสามารถเปรียบเทียบราคา และสิทธิประโยชน์ได้จาก การรวบรวมข้อมูลของ องค์กรผู้บริโภคที่ทำหน้าที่ ทดสอบเปรียบเทียบของสินค้าและบริการเพื่อประกอบการตัดสินใจในการซื้อเบี้ยประกันได้ตามความสมัครใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 เมื่อ ‘จิตใจ’ ไม่สบาย สิทธิของผู้ป่วยจิตเวช

“ปี 2556 ประชาชนในกรุงเทพมหานครที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีอาการป่วยทางจิตเวชและมีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 11.5 หรือประมาณ 520,000 คน” น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ปัจจุบัน เราคุ้นเคยกับความป่วยไข้ทางจิตเวชมากขึ้น โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า อาจจะเป็นเพราะมีผู้ป่วยที่เปิดเผยตัวเอง ข่าวคราวของดารา นักร้องที่เป็นโรคซึมเศร้า (ขนาดว่าช่วงหนึ่งมีการพูดถึงกระแส ‘อยากซึมเศร้า’ เพราะรู้สึกว่าความป่วยไข้ชนิดนี้เท่) ถึงกระนั้น ตัวเลขข้างต้นก็น่าตกใจ เพราะมันหมายความว่าทุกๆ 10 คนที่เดินเหินในมหานครแห่งนี้ มี 1 คนที่ป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพจิต‘ฉลาดซื้อ’ จะพาไปรู้จักอาการทางจิตเวช แนวทางดูแลตัวเอง การอยู่ร่วมกับผู้ป่วย และสิทธิบางประการที่ควรรู้ เพราะเราทุกคนอาจป่วยทางจิตได้เหมือนกับที่ใครๆ ก็ป่วยเป็นไข้หวัดได้ซึมเศร้าเรื้อรัง เอก (นามสมมติ) รับรู้ถึงความผิดปกติบางอย่างในตัวเอง มันเริ่มจากความรู้สึกเศร้าและอยากร้องไห้แบบไม่มีต้นสายปลายเหตุ ตอนแรกเขาก็ยังไม่ได้สนใจอะไร กระทั่งอาการดังกล่าวเกิดขึ้นติดต่อกัน 2 วันจนเกือบทำการทำงานไม่ได้ เอกไม่ได้มีความเชื่อผิดๆ ที่ว่าการไปพบจิตแพทย์คือการถูกตีตราว่า ‘บ้า’ เขาจึงตัดสินใจลองไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลจิตเวชของรัฐแห่งหนึ่ง หลังการพูดคุยกับจิตแพทย์เกือบ 2 ชั่วโมง เอกได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Dysthymia หรือโรคซึมเศร้าเรื้อรัง จิตแพทย์จ่ายยาให้เขา แม้ว่าเอกจะพยายามต่อรองเพื่อขอรับการรักษาแบบอื่นที่ไม่ต้องใช้ยา เช่น การทำจิตบำบัด แต่ก็ไม่อาจทัดทานได้ เขากินยาอยู่ได้ไม่กี่วัน เนื่องจากไม่ชอบผลข้างเคียงจากยาดังกล่าว นัดพบจิตแพทย์ครั้งที่ 2 แพทย์ยังคงยืนกรานให้เขาทานยา แม้ว่าเขาจะยังขอพบนักจิตวิทยา กระทั่งครั้งที่ 3 จิตแพทย์จึงยอมให้เขาพบนักจิตวิทยาเพื่อทำจิตบำบัด ระหว่างการทำจิตบำบัด เอกรู้สึกว่าอาการแย่ลง ความรู้สึกเศร้าเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น เขาจึงตัดสินใจไปพบจิตแพทย์อีกครั้งในโรงพยาบาลที่เขามีสิทธิประกันสังคมอยู่ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและรับฟัง Second Opinion ทว่า ก่อนที่จะได้พบแพทย์ทั่วไป  ซึ่งจะเป็นผู้วินิจฉัยเรื่องการส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทาง พยาบาลที่ทำการตรวจสุขภาพแจ้งแก่เขาว่า อาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือนเพื่อทำนัดและรอพบจิตแพทย์ คำพูดดังกล่าวทำให้เอกตัดสินใจเดินออกมา นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และอดีตคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า โรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในประกันสังคมมักหลีกเลี่ยงที่จะส่งต่อแพทย์เฉพาะทาง เพื่อต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้นผู้มีสิทธิจะต้องเรียกร้อง ร้องเรียน หรือยืนยันสิทธิในการรักษาของตน แน่นอนว่าเอกไม่รู้เรื่องนี้และไม่ได้ยืนยันสิทธิที่ว่า และก็ไม่น่าจะใช้เอกคนเดียวที่ไม่รู้เรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของเอกสะท้อนแง่มุมต่อผู้ป่วยจิตเวชหลายประการ มันไม่เหมือนอาการป่วยกายเสียทีเดียว การไปหาหมอเป็นกระบวนการทั่วๆ ไปที่ใครๆ ก็พอจะนึกออก แต่พอเป็นความเจ็บป่วยทางจิต เอกและเชื่อว่าผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร “สังคมไทยอาจไม่คุ้นชินกับการที่ใครสักคนต้องไปพบจิตแพทย์ เรายังมองเป็นเรื่องประหลาด เป็นคนบ้า ซึ่งเราอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า ความเจ็บป่วยทางจิตเป็นโรคโรคหนึ่ง ไม่ใช่อะไรที่แปลกประหลาด” นิมิตร์ เทียนอุดมสิทธิของเรา นิมิตร์บอกว่า โดยหลักทั่วไปแล้ว สิทธิประกันสังคมให้การดูแลสวัสดิการสุขภาพแก่ผู้ถือสิทธิไม่ต่างจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักเป็นเบื้องต้น คือเรามีสิทธิได้รับสวัสดิการสุขภาพ ผู้ป่วยจิตเวชก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นแต่เชื่อหรือไม่? กว่าจะถึงวันนี้ วันที่ผู้ป่วยจิตเวชได้รับการรักษาอย่างเสมอหน้าอาการป่วยไข้ทั่วไป ต้องผ่านการต่อสู้ไม่ต่างจากโรคเรื้อรังอื่นๆ“สมัยแรกที่มีสิทธิประโยชน์ กรณีจิตเวชถูกตีความว่าต้องรักษายาวนานเกินกว่า 180 วัน ทำให้มีปัญหาว่าบางทีโรงพยาบาลรับมารักษาแล้ว 180 วันก็ไม่ได้ดีขึ้น แค่ทุเลา ต้องจำหน่ายออก แล้วก็รับใหม่ หรือบางทีก็ให้กลับบ้านเลย ไปดูแลตัวเองที่บ้าน ทำให้เกิดปัญหา จึงมีการผลักดันให้ยกเลิกและปรับแก้กติกาที่ว่า การรักษาที่เกิน 180 วันจะไม่คุ้มครอง ไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งจุดนี้เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยเพราะทำให้ได้รับการรักษาต่อเนื่อง เนื่องจากโรคทางจิตเวชเป็นโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง ต้องอยู่ในความดูแล ต้องกินยา การยกเลิกกติกาข้อนี้จึงถือเป็นเรื่องที่พวกเราช่วยกันเคลื่อน จนผู้ป่วยจิตเวชก็ได้รับสิทธิประโยชน์นี้และมันก็ได้อานิสงค์ไปยังโรคอื่นๆ ที่ต้องรักษาเกิน 180 วันด้วยประการที่ 2 คือปัญหาเรื่องยาที่ต้องสั่งจ่ายให้แก่ผู้ป่วยจิตเวช ช่วงหนึ่งแพทย์ที่พร้อมจะดูแลยกประเด็นนี้ขึ้นมาว่า ทำอย่างไรยาจึงจะถูก เพราะถ้าไปอยู่ในค่าเหมาจ่ายรายหัว แล้วยาแพง โรงพยาบาลก็รู้สึกเป็นภาระและอาจจะปฏิเสธการรักษาได้ ดังนั้น ตอนที่มีการสู้เรื่องซีแอล (มาตรการบังคับใช้ Compulsory Licensing: CL) ก็ดูยาตัวนี้ด้วย ทำให้ได้ยาริสเพอริโดน (Risperidone) ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวชกลับมามีชีวิตปกติได้” นิมิตร์ กล่าวเรื่องสิทธิและยาได้รับการแก้ไข ถึงกระนั้นใช่ว่าปัญหาจะหมดไปโดยสิ้นเชิง ในทางปฏิบัติ ทุกวันนี้ยังคงมีปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยที่ยุ่งยาก เนื่องจากผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องใช้โรงพยาบาลใกล้บ้าน หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวช แล้วโรงพยาบาลแห่งนั้นไม่มีจิตแพทย์ก็จำเป็นต้องส่งต่อ แล้วใช่ว่าทุกพื้นที่จะมีจิตแพทย์ หมายความว่าการหาหมอใกล้บ้านกลายเป็นหาหมอไกลบ้าน สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือการบ่ายเบี่ยงการส่งตัว เพราะโรงพยาบาลที่ส่งตัวต้องตามไปจ่ายค่ารักษาให้แก่หน่วยบริการที่รับผู้ป่วยไปดูแลโรงพยาบาลต้นทางอาจทำใบส่งตัวครั้งละ 3 เดือนให้แก่ผู้ป่วยหรือที่หนักกว่า คือต้องทำใบส่งตัวใหม่ทุกครั้งที่นัดพบแพทย์ สร้างความยุ่งยากในชีวิตผู้ป่วยและญาติ นิมิตร์เสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จะขจัดความยุ่งยากด้วยการปรับกติกาเสียใหม่ เช่น การทำใบส่งตัวครั้งละ 1 ปี เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติไม่ต้องเดินทางมารับใบส่งตัวบ่อยๆอีกด้านหนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขคงต้องลงมาศึกษาอย่างจริงจังว่า ด้วยสถานการณ์สุขภาพจิตที่หนักมือขึ้นทุกขณะ ปัจจุบันประเทศไทยมีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเพียงพอแล้วหรือยังส่วนด้านการดูแลรักษาต่อเนื่อง สปสช. ยังคงเดินหน้านโยบายดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนอย่างต่อเนื่องโดยจับมือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดระบบบริการจิตเวชในชุมชน ตั้งแต่การกินยาต่อเนื่องจนถึงการปรับทัศนคติคนในชุมชนและลดการตีตรา“สังคมไทยอาจไม่คุ้นชินกับการที่ใครสักคนต้องไปพบจิตแพทย์” นิมิตร์กล่าวเสริม “เรายังมองเป็นเรื่องประหลาด เป็นคนบ้า ซึ่งเราอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า ความเจ็บป่วยทางจิตเป็นโรคโรคหนึ่ง ไม่ใช่อะไรที่แปลกประหลาด”ดูแลตัวเอง จิตแพทย์อภิชาติ แสงสิน นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เห็นว่า ปัจจุบันความเข้าใจของผู้คนต่อผู้ป่วยจิตเวชเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีและรับรู้ว่าเป็นความป่วยไข้อย่างหนึ่งที่ต้องได้รับการรักษา เพียงแต่โรคทางจิตเวชค่อนข้างนามธรรม จับต้องได้ยากกว่าโรคทางกาย มาถึงตรงนี้ เมื่ออาการทางจิตเวชเป็นความป่วยไข้ไม่ต่างจากไข้หวัดหรือปวดท้อง มันก็ย่อมมีแนวทางที่เราจะดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากปัญหาสุขภาพจิต การออกกำลังกาย การพักผ่อนหย่อนใจ คลายความตึงเครียดจากภาระในชีวิตประจำวันเป็นอะไรที่น่าจะรู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่เรายังมีคำแนะนำเพิ่มเติมจากจิตแพทย์อภิชาติ นั่นคือการคอยติดตามตนเองหรือมีสติรู้ตัวอยู่กับปัจจุบัน(ต้องเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า คำว่า การมีสติ ในที่นี้ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางศาสนาแต่อย่างใด) มีด้วยกัน 3 เทคนิค คือ 1.การอยู่กับการกระทำ คอยรู้ตัวเสมอว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพราะหลายครั้งที่เรามักเผลอไผล ทำบางสิ่ง แต่ใจคิดอีกอย่าง ซึ่งมักจะเป็นอดีตไม่ก็อนาคต 2.การรับรู้ความคิด คอยรู้เสมอว่ากำลังคิดอะไรอยู่ 3.การรับรู้อารมณ์ คอยติดตามอารมณ์ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร เฉยๆ เสียใจ เศร้า ดีใจ หรือโกรธ เป็นต้น ซึ่งการติดตามอารมณ์จะค่อนข้างยากกว่าการติดตามการกระทำหรือความคิด จิตแพทย์อภิชาติเสริมว่า เราไม่สามารถตามดูทั้ง 3 อย่างพร้อมกันได้ ดังนั้น อะไรที่เด่นชัดที่สุดให้ตามดูสิ่งนั้น ประโยชน์ของเทคนิค 3 ข้อ คือการทำให้เราสามารถรับรู้สัญญาณปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ทันท่วงที จิตแพทย์อภิชาติกล่าวว่า “แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราป่วย สังเกตได้จากความรับผิดชอบที่เราควรทำได้ปกติเกิดสูญเสียไป ความรับผิดชอบที่ว่าแบ่งเป็น 3 ด้านคือความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เช่น เพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว ชุมชน เป็นต้น หน้าที่การงาน และการฟื้นคืนสภาพจิตใจหรือการผ่อนคลายความตึงเครียดได้ ถ้าทั้ง 3 เรื่องนี้หรือด้านใดด้านหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องทั้ง 3 ด้าน เกิดบกพร่องหรือสูญเสีย ก็มีแนวโน้มว่าน่าจะป่วย ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินว่ามีปัญหาอย่างไร เพื่อจะได้รักษาต่อไป”เมื่อนำกรณีของเอกไปสอบถาม จิตแพทย์อภิชาติอธิบายว่า “จริงๆ ผู้ป่วยกับจิตแพทย์สามารถคุยกันได้ ต้องดูก่อนว่าความเจ็บป่วยที่ว่านั้นคืออะไร และดูว่าภาวะการตัดสินใจของผู้ป่วยมีมากน้อยแค่ไหน เขามีสิทธิเลือกการรักษาที่เหมาะกับเขาได้ แต่ถ้าแพทย์เห็นว่าไม่เหมาะสมหรือจะเป็นอันตราย หรือไม่มีประโยชน์ต่อการรักษา แพทย์ก็อาจต้องให้คำแนะนำหรือเลือกทางที่ดีที่สุด แต่ในกรณีผู้ป่วยจิตเวชที่ความสามารถในการตัดสินใจบกพร่องไปแล้ว ไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ไม่สามารถปกป้องสิทธิของตัวเองได้ กรณีนี้ก็ต้องมีผู้ทำการแทน เช่น คู่สมรส ญาติ หรือบุตร ตัดสินใจแทนเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการดูแลรักษาให้มากที่สุด การรักษาอาการทางจิตเวช การให้ยาก็ส่วนหนึ่ง การทำจิตบำบัดก็ส่วนหนึ่ง ในกรณีทั่วไป การให้ยาจะช่วยให้อาการดีขึ้นเร็ว การทำจิตบำบัดก็มีข้อดีและช่วยได้ แต่จะช้ากว่าการให้ยา เพราะปัจจุบันความรู้ทางการแพทย์พัฒนา โรคทางจิตเวชคือการทำงานของสมองที่ผิดปกติไป ยาเข้าไปช่วยปรับให้สมองทำงานได้ดีขึ้น อาการก็จะดีขึ้น การทำจิตบำบัดก็จะช่วยเสริมตรงนี้ด้วย เสริมในด้านการปรับความคิด พฤติกรรม อารมณ์” กรณีที่ผู้ป่วยทานยาแล้วแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียง ให้หยุดยาและกลับไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเปลี่ยนหรือปรับขนาดยา แต่หากไม่แพ้หรือไม่มีผลข้างเคียง ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเอง เนื่องจากการรักษาโรคทางจิตเวชซึ่งเป็นโรคเรื้อรังต้องทานยาต่อเนื่อง ยาทางจิตเวชกว่าจะออกฤทธิ์เต็มที่ต้องใช้เวลา 2-4 สัปดาห์ ต้องค่อยๆ ติดตามผลว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เมื่อหายดีแล้วก็ยังต้องทานยาต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งเพื่อให้พ้นระยะโรค เมื่อพ้นระยะแล้วก็ใช่ว่าจะหยุดยาได้ทันที แต่ต้องค่อยๆ ลดยาลง ขณะที่โรคทางจิตเวชบางโรคต้องกินยาตลอดชีวิต วินัยในการทานยาจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ป่วยและญาติต้องตระหนัก“หลายครั้งที่คนรอบข้างพยายามเข้าไปจัดการ แก้ปัญหา หรือแนะนำ ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของผู้แนะนำโดยไม่ได้เข้าใจปัญหาของผู้ป่วยจริงๆ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญกว่าการแนะนำคือการรับฟัง บางครั้งผู้ป่วยแค่ต้องการคนรับฟังหรือเข้าใจสิ่งที่ต้องการพูดเท่านั้น”อยู่ร่วมกัน สำหรับผู้ที่ต้องอยู่กับผู้ป่วยจิตเวช สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือการปรับทัศนคติ โรคทางจิตเวชจับต้องยาก อธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ยาก หลายครั้งถูกมองว่าเรียกร้องความสนใจหรือแกล้งทำบ้าง คนรอบข้างต้องปรับทัศนคติใหม่ว่ามันคือความเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่ไม่มีใครอยากเป็น ประการต่อมา จิตแพทย์อภิชาติบอกว่า ต้องรับฟังอย่างเข้าใจ หลายครั้งที่คนรอบข้างพยายามเข้าไปจัดการ แก้ปัญหา หรือแนะนำ ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของผู้แนะนำโดยไม่ได้เข้าใจปัญหาของผู้ป่วยจริงๆ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญกว่าการแนะนำคือการรับฟัง บางครั้งผู้ป่วยแค่ต้องการคนรับฟังหรือเข้าใจสิ่งที่ต้องการพูดเท่านั้น ซึ่งอาจได้ผลดีกว่าการแนะนำให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้เสียอีก ประการที่ 3 เฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วย เมื่อเห็นความผิดปกติ ความเปลี่ยนแปลง ดูไม่เป็นคนเดิม ควรพามารับการรักษาหรือการบำบัด เพราะหลายครั้งที่มองข้ามไป ละเลย รู้อีกทีก็อาการรุนแรงเสียแล้ว และประการสุดท้าย เก็บอาวุธหรือสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ให้ห่างจากผู้ป่วย เพราะอารมณ์เป็นสิ่งที่ไว เมื่อมันผุดขึ้นมาโดยไม่เท่าทัน อาจนำไปสู่กระทำที่ไม่ทันยั้งคิดทั้งต่อตนเองและผู้อื่น หากไม่ใช่กรณีที่หนักหนาจริงๆ ผู้ป่วยจิตเวชสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ เพียงเราปรับทัศนคติ ลดการตีตรา และรับฟัง ก็ไม่ยากนักที่เราจะเป็นเพื่อนกับผู้ป่วยจิตเวช

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 สิทธิผู้รับบริการ กรณีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

17 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีสองข่าวใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไม่น่าเชื่อในสื่อออนไลน์ ข่าวแรก คือ วินจักรยานยนต์รับจ้างบุกประท้วงบริษัทแกร็บไบท์ และข่าวที่สอง วินจักรยานยนต์เตะหน้านักท่องเที่ยวกลางเมืองพัทยา  โดยทั้งสองข่าวเป็นเรื่องของจักรยานยนต์รับจ้าง ถึงตรงนี้สองข่าวจะเกี่ยวกันยังไงตามมาดูกันครับข่าวแรก กลุ่มวินจักรยานยนต์รับจ้างทั่วกรุงเทพมหานคร รวมตัวประท้วงเผาเสื้อวินเป็นสัญลักษณ์ ที่หน้าอาคารธนภูมิ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่  ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานบริษัท แกร็บ ประเทศไทย เรียกร้องให้ หยุดนำรถจักรยานยนต์ป้ายขาวมารับส่งผู้โดยสาร หลังจากมีเหตุปะทะรุนแรงเพื่อแย่งผู้โดยสารกันมาโดยตลอด การรวมตัวประท้วงใหญ่ครั้งนี้  ถือเป็นการส่งสัญญาณจากกลุ่มวินจักรยานยนต์รับจ้างที่เป็นผู้ให้บริการตามกฎหมาย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความอัดอั้นตันใจ เพราะเห็นว่ารัฐบาลมุ่งแต่จะจัดระเบียบและเข้มงวดกับกลุ่มจักรยานยนต์รับจ้างเพียงฝ่ายเดียว แต่กลับละเลยต่อการควบคุมจัดการกับกลุ่มรถรับจ้างที่เจตนาทำผิดกฎหมาย แน่นอนว่าการเข้ามาตีตลาดกินส่วนแบ่งของธุรกิจรถรับจ้างแบบใช้แอปพลิเคชัน ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการรายเดิมอย่างไม่มีข้อสงสัย เพราะฐานลูกค้าเดิมหายไป มีผลทำให้มีรายได้ลดลง และผู้ให้บริการรถรับจ้างแบบใช้แอปพลิเคชั่นเหล่านี้ แทบไม่ต้องทำตามกฎหมายเพื่อให้เป็นรถรับจ้างเลย เช่น  1. นำรถส่วนบุคคลมาวิ่งได้ ไม่ต้องจดทะเบียนเป็นรถรับจ้างสาธารณะ  2.  ไม่ต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะก็วิ่งรับส่งคนโดยสารได้  3. ไม่ต้องมีหน่วยงานกำกับควบคุม และ  4. ไม่ต้องมีเสื้อวิน ไม่ต้องมีสถานที่ตั้ง (วิน) ก็วิ่งได้ เป็นต้น  ซึ่งเห็นได้ชัดเจนถึงความแตกต่างว่า ในขณะที่ผู้ให้บริการรายเดิมต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกาที่รัฐกำหนดไว้ให้ทุกอย่าง แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับไม่มีกติกาของรัฐควบคุมเลยทั้งที่เป็นรถผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นที่นิยมต้องการของผู้บริโภคจำนวนมากอีกด้วย ข่าวที่สอง จากกรณีโลกโซเชียลแชร์คลิป ชายขับวินจักรยานยนต์รับจ้าง เตะเข้าที่ใบหน้านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เมืองพัทยา ภายหลังถูกตำรวจตามรวบตัวได้ อ้างถูกด่าก่อนจึงเกิดบันดาล สุดท้ายโดนดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับในข้อหาทำร้ายร่างกาย ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่สอบหนักขึ้นจึงพบว่า ผู้ต้องหารายนี้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างโดยไม่มีใบอนุญาต แต่งกายไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และฝ่าฝืนใช้รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้างให้บริการ  ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับส่งผู้โดยสาร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศกรมการขนส่งทางบก ปรับไม่เกิน 1,000 บาท  และขับรถโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังตรวจสอบไปถึงคนขับรถในวินรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ผู้ต้องหารายนี้ขับรถอยู่ด้วย โดยมีคำสั่งให้ระงับการขอเพิ่มรถจักรยานยนต์ในวินเป็นเวลา 6 เดือน และเรียกสมาชิกทุกคนในวินเข้ามารายงานตัว พร้อมกำชับตักเตือนคาดโทษหนักสุด หากพบมีความผิดซ้ำมีโทษถึงขั้นพักใช้ใบอนุญาตและเพิกถอนได้ทันทีเห็นหรือยังครับว่าสองข่าวนี้มีความเกี่ยวพันกันอย่างไร  ประเด็นคือ ท่ามกลางการเรียกร้องสิทธิและข้อเสนอต่างๆ ของกลุ่มวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง เพื่อไม่ให้มีธุรกิจแบบแกร็บไบท์เข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาด โดยอ้างสภาพเศรษฐกิจ สังคม จนถึงการทำลายระบบขนส่งของประเทศชาติ แต่ความเสี่ยงของผู้บริโภคที่ต้องใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างก็ยังมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา โดยที่ยังพบเห็นได้ทั่วไปในวินรถจักรยานยนต์รับจ้างบางแห่งที่มีรถส่วนบุคคลป้ายขาวร่วมวิ่งให้บริการรับส่งคนโดยสารอยู่เหมือนเป็นปกติ หรือคิดราคาเอาเปรียบผู้บริโภค ยังไม่รวมถึงปัญหาด้านความปลอดภัย อาทิ ขับรถเร็ว วิ่งย้อนศรสวนเลน การฝ่าฝืนกฎจราจร และอีกมากมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันตราบใดที่ปัญหาดังกล่าวยังไม่ถูกจัดการแก้ไข เมื่อผู้ให้บริการเดิมยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ผู้บริโภคย่อมต้องมีสิทธิที่จะหาทางเลือกใหม่ที่ดีและตอบโจทย์ความต้องการมากกว่า  ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522  คือ สิทธิที่มีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ และสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ อย่างไรก็ดีแม้ในทางปฏิบัติจะเชื่อได้ว่าผู้บริโภคส่วนมากยังนิยมการใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างแบบเดิมอยู่ เพราะสะดวก เข้าถึงง่าย ใช้ประจำในระยะทางสั้นๆ แต่หากยังปรากฎพบเห็นพฤติกรรมเสี่ยงของกลุ่มวินรถจักรยานยนต์รับจ้างตามสื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างทุกวันนี้ ย่อมมีส่วนทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นและพร้อมที่จะเสี่ยงกับการใช้รถรับจ้างทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์การเดินทาง ทั้งที่เป็นรถผิดกฎหมายก็ตาม นั่นก็เพราะผู้บริโภคได้ตัดสินใจเลือกแล้วนั่นเอง  

อ่านเพิ่มเติม >

นักวิจัยเผย มียาอีกหลายตัวที่ไม่ควรได้รับสิทธิบัตรอีก หลังศาลฎีกาชี้ขาด ถอนสิทธิบัตรยา ' วาลซาร์แทน '

            นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยอิสระและรองประธานกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ เผยปมผู้ป่วยไทยเข้าไม่ถึงยา แม้อายุสิทธิบัตรของยานั้นจะสิ้นไปแล้ว เนื่องจากบริษัทยาใช้วิธีการที่เรียกว่า รูปแบบจดสิทธิบัตรไม่จบสิ้น(evergreen patent) สกัดบริษัทผู้ผลิตยาชื่อสามัญไทย            จากกรณีศาลฎีกาชี้ขาดสั่งถอนสิทธิบัตรการผลิตยาวาลซาร์แทน (Valsartan) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง-โรคหัวใจ หลังต่อสู้เป็นคดีความยาวนาน 7 ปี เพราะยาดังกล่าวยื่นขอสิทธิบัตรกระบวนการผลิตยาเม็ด ซึ่งศาลพิจารณาว่า เหตุข้อมูลวิธีการผลิตนั้น ชัดเจนว่าไม่ใช่วิธีใหม่ เป็นเพียงการยื่นคุ้มครองกระบวนการผลิตยาเม็ดทั่วไปเท่านั้น ทุกคนที่มีความรู้ทางเภสัชกรรมก็สามารถทำได้ ซึ่งเรื่องนี้เปิดเผยโดยนายกสภาเภสัชกรรม ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา           นางสาวกรรณิการ์ ให้ความเห็นว่า กรณียา  Varsantan เป็นเพียงหนึ่งคดีที่บริษัทยาชื่อสามัญชนะคดี แต่ตลอดระยะเวลาที่สู้คดีถูกบริษัทยาข้ามชาติส่งจดหมายไปแจ้งโรงพยาบาลต่างๆที่จัดซื้อยาชื่อสามัญราคาถูกที่มีคุณภาพทัดเทียมยาต้นแบบว่า อาจถูกดำเนินคดีและถูกเรียกร้องค่าเสียหายด้วย ทำให้โรงพยาบาลไม่กล้าซื้อ คนไข้เข้าไม่ถึงยา ยายังคงมีราคาแพง ระบบสุขภาพต้องแบกรับค่ายาที่ผิดปกติเหล่านี้เพราะเทคนิคการแสวงหากำไรบนชีวิตผู้ป่วย            "ดังนั้นที่ผ่านมา มีบริษัทยาชื่อสามัญไทยไม่กี่รายที่กล้าสู้คดี ซึ่งต้องชื่นชมในที่นี้คือ บ.สีลม ก่อนหน้านี้ บ.สยาม และ องค์การเภสัชกรรม ขอบคุณนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่ยอมเป็นพยานในคดีที่ใช้เวลาอย่างยาวนาน ชื่นชมความสามารถของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายของ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและศาลฎีกาของไทยที่พิพากษาคดีประวัติศาสตร์นี้ เช่นที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เคยพิพากษาคดียาต้านไวรัส ddI ที่เป็นต้นแบบคำพิพากษาของโลกที่ชี้ว่า ผู้ป่วยสามารถร่วมฟ้องบริษัทยาในคดีทรัพย์สินทางปัญญาและอ้างปฏิญญาโดฮาว่าด้วยการสาธารณสุข ของความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้ตีความเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยา"            จากงานวิจัยสิทธิบัตรที่เป็น evergreening ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า 70% สิทธิบัตรยาที่ออกไปแล้วนั้นไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร และอีก 80% ของคำขอที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่มีความใหม่ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น ซึ่งหากคำขอสิทธิบัตรยาเหล่านี้ได้สิทธิบัตรจะเป็นภาระงบประมาณมากถึง 5000 ล้านบาทจากยาที่ขายดีเพียง 50 รายการเท่านั้น            “ที่ผ่านมาเมื่ออายุของสิทธิบัตรยาสิ้นสุดลง คือครบ 20 ปี อุตสาหกรรมยาของไทยจะผลิตยาชื่อสามัญมาแข่งขันได้ ซึ่งทำให้ลดการผูกขาดและราคายาถูกลง และสถานพยาบาลสามารถจัดหายาได้ในต้นทุนถูกลงเพื่อรักษาผู้ป่วยตามสิทธิหลักประกันที่สังกัด แต่กลับมาเจอบริษัทยามาขอขึ้นทะเบียนในลักษณะจดซ้ำซ้อน”             "รัฐบาล คสช.ควรศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะทุกวันนี้ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ยังย้ำคิดย้ำทำว่าต้องออกคำสั่งคสช.ตามมาตรา 44 เพื่อจัดการคำขอสิทธิบัตรที่คั่งค้าง ถ้าทำเช่นนั้นก็เท่ากับปล่อยผีสิทธิบัตรยาที่ไร้คุณภาพ เป็นภาระกับประเทศ ขณะเดียวกัน กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องนำคำพิพากษาไปปรับปรุงคณภาพการตรวจสอบสิทธิบัตร และแก้ไขร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตรให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น"            สำหรับคดีที่บริษัทยาข้ามชาติฟ้องบริษัทยาชือสามัญไทย มีอย่างน้อย 3 คดี คดีที่ 1.ยา Finasterine บ.MSD ฟ้อง บ.สยาม ฎีกา เมื่อ 2 ปีก่อน ไม่ชนะไม่แพ้ ศาลชี้ว่า บ.สยามใช้คนละวิธี ไม่ละเมิด คดีที่ 2.ยา Varsantan บ.Novartis ฟ้อง บ.สีลม ฎีกา 8 พ.ค. เพิกถอนสิทธิบัตร Novartis ไม่สมควรได้ 3. ยา Celecoxib บ. Pfizer ฟ้อง บ.แมคโครฟาร์ คดีอยู่ในศาลทรัพย์สินทางปัญญา ศาลชั้นต้น             นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เครือข่ายผู้ป่วยร้องคัดต้านคำขอสิทธิบัตร อาทิ ยาสูตรผสมรวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์และเลดิพาสเวียร์ ที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเข้าข่ายไม่ควรได้สิทธิบัตร เหตุเพราะไม่เข้าด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายสิทธิบัตร คือ 1.ไม่อนุญาตให้จดสิทธิบัตรในเรื่องการบำบัดรักษา 2.การผสมยาสองชนิดรวมในเม็ดเดียวเป็นเทคโนโลยีธรรมดาๆ ที่เปิดเผยและทราบกันโดยทั่วไปในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางเภสัชกรรมอยู่แล้ว 3.ประสิทธิผลของการใช้ยาสองชนิดนี้ร่วมกันเป็นสิ่งที่ทราบกันดีอยู่แล้วในทางเภสัชกรรม ซึ่งในกฎหมายระบุว่าต้องก่อให้เกิด “ผลที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่าย” จึงจะเข้าข่ายได้รับสิทธิบัตร             ทั้งนี้ บ่ายวันพฤหัสที่ 17 พ.ค.นี้แผนงานศูนย์วิชาการพัฒนาและเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จะจัดเวทีเสวนาวิชาการที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อสรุปบทเรียนการต่อสู้สิทธิบัตรยาที่ไม่ชอบธรรมในประเทศไทยด้วย รายละเอียดติดต่อเพิ่มเติม กรรณิการ์ กิจติเวชกุล  (089-500-3217)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 สิทธิของผู้ซื้อบ้านที่ก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญา

ผมจะพาทุกท่านมารู้จักกับเรื่องสิทธิของผู้บริโภคอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในสัญญา โดยขอยกกรณีตัวอย่างของการทำสัญญาซื้อขายบ้านนะครับ ก่อนทำสัญญาใดๆ ก็ตามเราต้องตรวจดูข้อสัญญาให้ดีๆ เพราะสัญญาที่กำหนดขึ้นนั้น ผู้ขายเขาร่างมาให้ เราต้องดูให้ดีว่ามีข้อใดที่เอาเปรียบเราหรือไม่ หากเห็นข้อใดไม่สมเหตุผล ก็คุยกันและขอให้แก้ไขได้นะครับเพราะเป็นสิทธิของเราในฐานะผู้บริโภคครับ เพราะเมื่อทำสัญญาไปแล้วจะเกิดสิทธิและหน้าที่ทั้งผู้ซื้อผู้ขายต้องปฏิบัติให้เป็นตามสัญญา เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเรื่องของผู้บริโภคท่านหนึ่งที่ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้าน ซึ่งตอนไปทำสัญญาก็แน่นอนว่า บ้านยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง หลังทำสัญญาไปแล้ว ก็จ่ายเงินผ่อนบ้านเรื่อยมา แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ ปรากฏว่า กลับจ่ายเงินเขาไม่ครบ จ่ายไม่ตรงเวลา ทั้งที่สัญญาก็ระบุไว้ว่าต้องจ่ายเมื่อไหร่ ส่วนผู้ขายก็สร้างบ้านไม่เสร็จตรงตามกำหนด เรียกว่าทั้งสองฝ่ายไม่ปฏิบัติให้ตรงตามสัญญากันเลย ผู้บริโภคท่านนี้เห็นบ้านสร้างไม่ยอมเสร็จสักที ก็ไปฟ้องศาลขอเรียกเงินค่างวดคืน ปัญหาที่เกิดคือ แบบนี้ตัวเองก็ผิดนัดเขาไม่ชำระเงินให้ตรงตามเวลาที่ตกลง จะมีสิทธิทวงเงินคืนได้หรือไม่  ซึ่งสุดท้ายเรื่องก็ไปสู่ศาลฎีกา และศาลก็ได้ตัดสินให้ผู้ขายคืนเงินแก่ผู้บริโภค เนื่องจากก่อนฟ้อง ผู้ขายมีหนังสือทวงถามให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อชำระค่างวด แต่ผู้ซื้อไม่ยอมจ่ายและมีหนังสือเลิกสัญญาไปถึงผู้ขายเช่นกัน ศาลมองว่าทั้งสองฝ่ายต่างต้องการเลิกสัญญาต่อกัน จึงมีผลให้สัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน ซึ่งตามกฎหมาย ผลของการเลิกสัญญา ทำให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องกลับสู่ฐานะเดิม ดังนั้น ผู้ขายจึงต้องคืนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระทั้งหมดให้แก่ผู้บริโภคพร้อมดอกเบี้ย คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6327/2549           โจทก์มิได้ชำระเงินค่างวดตรงตามเวลาและครบถ้วนในกำหนดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนจำเลยก็มิได้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในกำหนดวันที่โจทก์ต้องชำระเงินค่างวด งวดสุดท้ายและจำเลยตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ จึงถือว่าต่างฝ่ายต่างมิได้ถือกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นสาระสำคัญต่อไป หนี้ที่ต่างต้องชำระต่อกันจึงไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนต่างฝ่ายย่อมเรียกอีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้โดยพลันโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคแรก          สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนและล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้มาแล้วประมาณ 10 เดือน ดังนั้นหนังสือบอกกล่าวของจำเลยที่ทวงถามให้โจกท์ชำระเงินค่างวดที่ค้างเพื่อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้น จำเลยจะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ด้วยว่าจำเลยพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิไม่ชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยยังก่อสร้างบ้านไม่แล้วเสร็จในขณะที่มีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ค่างวดที่ค้าง จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะที่พร้อมที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนให้แก่โจทก์ได้ การที่โจทก์ไม่ชำระเงินค่างวดที่ค้างให้แก่จำเลยจึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่โจทก์ชำระแล้ว          หลังจากที่จำเลยมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระค่างวดที่ค้างแล้ว โจทก์ไม่ชำระแต่ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย และต่อมาจำเลยก็ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์อีก ดังนี้เท่ากับคู่สัญญามีเจตนาเลิกสัญญาต่อกัน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ในคดีนี้ มีประเด็นน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทั้งสองฝ่ายต้องรู้หน้าที่ของตน ผู้ขายรู้ว่าตนมีหน้าที่ต้องสร้างบ้านให้เสร็จ และโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินให้โจทก์ แต่ปรากฎว่าในขณะมีหนังสือแจ้งให้โจทก์จ่ายเงินค่างวดบ้าน ตนเองก็ยังไม่พร้อมจะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินให้โจทก์ แสดงว่าจำเลยผู้ขายไม่สามารถปฏิบัติตามหน้าที่ของตนตอบแทนตามสัญญา  ดังนั้น การที่โจทก์ยังไม่จ่ายเงินค่างวดจึงยังไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา ผลที่ตามมาคือ ผู้ขายไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและจะริบเงินของโจทก์ไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2561ค้านร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ฯ เหตุลิดรอนสิทธิ ขัดรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) พร้อมตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม 130 องค์กร เข้ายื่นหนังสือต่อ รมว.สาธารณสุข คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ฯ เหตุผลสำคัญ คือ ร่างกฎหมายดังกล่าว มีความล้าหลัง ไม่เป็นธรรม และขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายมาตรา เช่น เป็นการลิดรอนสิทธิผู้บริโภคตาม มาตรา 46 เพราะมีผลให้คดีทางการแพทย์และบริการสาธารณสุข ไม่จัดเป็นคดีผู้บริโภคอีกต่อไป, มาตรา 27 ประเด็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และมาตรา 68 วรรคแรก ทำให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้บริโภคในคดีทางการแพทย์ มีลักษณะสองมาตรฐาน แตกต่างจากคดีผู้บริโภคประเภทอื่น “การแก้ปัญหาที่ตรงจุด คือการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุขฯ ที่มีวัตถุประสงค์ในการลดการฟ้องคดีทางการแพทย์ เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งผู้ให้และผู้รับบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากหลายหน่วยงานแล้วแทน” ผู้พิการทุปลิฟต์ บีทีเอส สะท้อนสิทธิขั้นพื้นฐานที่ถูกละเลย จากกรณี นายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ และผู้ประสานงานเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ ที่ทุบกระจกประตูลิฟต์รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอโศก เมื่อวันที่ 11 มี.ค.61 พร้อมโพสต์ภาพลงสื่อโซเชียล เรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้พิการนั้น นายมานิตย์ได้แถลงข่าวบริเวณสถานีรถไฟฟ้าอโศกว่า เหตุเริ่มขึ้นจากเจ้าหน้าที่สถานีให้ตนลงชื่อ โดยอ้างว่าเพื่อบันทึกการเดินทางของคนพิการ ซึ่งตนได้ปฏิเสธ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น และยังเป็นการละเมิดสิทธิในการเดินทางของคนพิการด้วย เนื่องจากตนได้เดินทางโดยรถไฟฟ้ามาหลายปี บีทีเอส ให้สิทธิคนพิการขึ้นฟรี แต่มีอยู่สถานีเดียวที่ให้ตนลงชื่อ จึงได้ตัดสินใจขอซื้อตั๋วเอง โดยหลังจากที่ซื้อตั๋วโดยสารแล้ว ได้พาตัวเองไปยังลิฟต์ ก็พบว่าประตูถูกล็อค มองหาเจ้าหน้าที่ก็ไม่พบ ผ่านไป 5 นาที จึงตัดสินใจชกเข้าไปที่ประตูกระจก นายมานิตย์เองยอมรับว่าผิด แต่ก็บอกว่าเรียกร้องเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว ศาลก็เคยมีคำสั่งให้ กทม.-บีทีเอส จัดสร้างลิฟต์สำหรับผู้พิการทั้ง 18 สถานีที่ยังไม่มี ให้เสร็จภายใน 1 ปี แต่นี่ผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้วหลังจากที่ศาลมีคำสั่ง ก็ยังมีลิฟต์ไม่ครบ โดยหลังจากนี้ 7 วัน หากไม่มีความเคลื่อนไหวจากภาครัฐและบีทีเอส จะขอดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลด้านบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ชี้แจงว่า ระบบลิฟต์ที่ให้บริการในสถานีบีทีเอส แบ่งเป็น 2 ประเภท แบบแรก คือ ลิฟต์สำหรับคนพิการ ใน 4 สถานี ซึ่งจะถูกล็อคไว้ เพราะลิฟต์จะสามารถขึ้นตรงไปที่ชานชาลาได้เลย โดยไม่ผ่านชั้นจำหน่ายตั๋ว อีกแบบ คือ ลิฟต์ที่ขึ้นไปยังชั้นห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร ซึ่งเปิดให้ผู้โดยสารทุกคนสามารถใช้งานได้ บริษัทรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหากขั้นตอนการปฏิบัติทำให้ผู้พิการไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ ก็จะปรับปรุงขั้นตอนให้ผู้พิการมีความสะดวกมากขึ้นสื่อญี่ปุ่นเผยไทยนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะเป็นชาติแรก หลังวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ปี 54 เมื่อวันที่ 28 ก.พ.61 สำนักข่าวเจแปนไทม์ส รายงานว่า ไทยได้สั่งซื้อปลาตาเดียว 110 กก. จากท่าเรือโซมะ จ.ฟุกุชิมะ เพื่อนำมาจำหน่ายในร้านอาหารญี่ปุ่น 12 แห่ง ในกรุงเทพฯ ต่อมา น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบการตกค้างของรังสีในปลาตาเดียวลอตดังกล่าว และขอให้เปิดเผยใบรับรองของบริษัทนำเข้า และเปิดเผยรายชื่อร้านอาหารญี่ปุ่น 12 แห่ง ให้ผู้บริโภคได้ทราบตามสิทธิพื้นฐาน ถัดมา อย.และกรมประมงได้แถลงข่าวว่า ปลาตาเดียวลอตที่ถูกนำเข้าจากฟุกุชิมะนี้ไม่ใช่ลอตแรก และไม่มีการปนเปื้อนรังสี เพราะทางญี่ปุ่นได้ตรวจสอบแล้ว โดยตั้งแต่เดือน มี.ค. - เม.ย.59 ตรวจไม่พบการปนเปื้อนในปลาในประเทศไทย จึงให้นำเข้าได้อย่างปกติ แต่ยังคงมีการสุ่มตรวจทั่วไป และให้ความเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องสุ่มตรวจร้านอาหารทั้ง 12 แห่งที่เป็นข่าว ด้าน น.ส.สารี ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้สะท้อนถึงปัญหาจากการที่ อย.ถ่ายโอนอำนาจหน้าที่การตรวจสอบอาหารนำเข้า 7 พิกัด ไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้เป็นอำนาจในการต่อรองทางการค้ากับประเทศคู่ค้า ตั้งแต่เดือน พ.ค.59 จากแรงผลักดันของธุรกิจส่งออก ซึ่งทำให้เกิดปัญหา การที่ อย.ถ่ายโอนอำนาจการตรวจสอบมาให้กรมประมง แต่กรมประมงกลับอ้างว่า ไม่มีหน้าที่กักหรือตรวจสอบซ้ำ และให้ อย.ไปสุ่มตรวจหลังจากปลาหรือสินค้าเข้าสู่ตลาดแล้ว ถือว่าเป็นการทำลายมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ อย.ไม่เคยมีการประเมินการถ่ายโอนภารกิจว่าดีหรือเลวลงอย่างไร ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนจากการนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะในครั้งนี้4 หน่วยงาน จับมือร่วมสร้าง องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ เมื่อ 15 มี.ค.61 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.) รวม 4 องค์กร ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ โดยการลงนามในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดระบบการพัฒนาและรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับ โดยพัฒนาหลักเกณฑ์และกระบวนการในการพัฒนาองค์กรผู้บริโภค ให้มีความพร้อมเข้าสู่กระบวนการรับรองคุณภาพ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีองค์กรผู้บริโภคเข้าร่วมกว่า 300 องค์กร 10,000 รายชื่อ เสนอกฎหมายสภาผู้บริโภคแห่งชาติ วันที่ 15 มี.ค.61 งานสมัชชาผู้บริโภคแห่งชาติ ประจำปี 2561 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) แถลงข่าวการทำกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ฉบับประชาชน ควบคู่ไปกับ ฉบับของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ที่มีการจัดเวทีรับฟังความเห็น โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายตาม มาตรา 46 เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว คาดหวังให้ร่างกฎหมายดังกล่าว ตรงตามเจตนารมณ์ของการมีกฎหมายที่แท้จริง โดยร่างกฎหมายสภาผู้บริโภคแห่งชาติ จะถูกจัดทำเป็นกฎหมายเฉพาะในระดับพระราชบัญญัติ ไม่ถูกนำไปอยู่ใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ร่างกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ฉบับประชาชน แตกต่างจาก ร่างของ สคบ. ในหลายประเด็น เช่น การสนับสนุนงบประมาณต่อหัวประชากรโดยรัฐ, เพิ่มเติมนิยามองค์กรผู้บริโภค ไม่ถูกจัดตั้งโดยรัฐ, ให้มีกรรมการจากเขตพื้นที่ 13 เขต, เพิ่มอำนาจสนับสนุนให้เกิดสภาผู้บริโภคระดับจังหวัด ซึ่งการมีกฎหมายฉบับนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้บริโภค ทำให้แต่ละจังหวัดมีตัวแทนเข้าไปทำงานในระดับประเทศ ทั้งนี้ เมื่อ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานสภานิติบัญญัติ เพื่อแจ้งริเริ่มการเสนอร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติฯ แล้ว และคาดว่าจะสามารถรวบรวมรายชื่อ จำนวน 10,000 รายชื่อได้ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

อ่านเพิ่มเติม >