ฉบับที่ 258 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2565

4 เดือนแจ้งความคดีออนไลน์ 59,846 เรื่อง         นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางดีอีเอสและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์และการสื่อสารดิจิทัล ได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนผ่าน www.thaipoliceonline.com เพื่อช่วยให้ประชาชนได้มีช่องทางร้องทุกข์เพิ่มขึ้น และจากสถิติตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวมีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์ จำนวนถึง 59,846 เรื่อง โดยทางดีเอสไอสามารถอายัดบัญชีผู้กระทำผิดได้เป็นเงินกว่า 121 ล้านบาท         ในส่วนของคดีที่พบมากที่สุด ได้แก่ คดีเกี่ยวกับหลอกลวงทางด้านการเงิน จำนวน 31,047 เรื่อง แบ่งเป็น 3 อันดับแรก ดังนี้  การหลอกลวงให้ทำงานออนไลน์ หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ รองลงมา ได้แก่ การหลอกลวงจำหน่ายสินค้า จำนวน 24,643 เรื่อง การพนันออนไลน์ จำนวน462 เรื่อง ข่าวปลอม จำนวน 239 เรื่อง และล่วงละเมิดทางเพศ จำนวน 136 เรื่อง นั่งแคปกระบะไม่คาดเข็มขัดนิรภัยไม่ผิดกฎหมาย         ย้ำอีกครั้งว่าหลังวันที่ 5 กันยายน 2565 ผู้นั่งรถยนต์เบาะที่ 2 ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยหากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 บาท (พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ 2565 กำหนดให้ผู้ขับรถและผู้โดยสารทุกที่นั่งต้องคาดเข็มขัดนิรภัย) แต่สำหรับกรณีของผู้ที่นั่งในรถกระบะด้านหลังคนขับ (แคป) นายจิรุฒน์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่าจะมีการหารือร่วมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อจัดทำร่างประกาศให้เป็นข้อยกเว้น         รถกระบะนั้น ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนดให้คาดเข็มขัดเฉพาะแถวหน้าเท่านั้น ส่วนแคปไม่ต้องคาดเข็มขัด แต่กำหนดให้ต้องมีผู้โดยสารไม่เกิน 3 คน เพื่อให้ไม่เกิดความแออัดจนเกินไปรวมถึงอันตรายเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วย อย. ยันยังไม่พบการจำหน่ายแป้งฝุ่นเด็กปนเปื้อนแร่ใยหินในไทย         จากที่บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้ประกาศหยุดจำหน่ายแป้งเด็กทำจากทัลคัม (Talcum) ทั่วโลก ภายในปี 2566 เหตุจากการฟ้องร้องจากผู้บริโภคว่า ผลิตภัณฑ์แป้งเด็กที่ทำจากทัลคัมของจอห์นสันนั้น พบการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง         ด้านเภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เผยว่า แป้งฝุ่นโรยตัวมีส่วนประกอบหลัก คือ ทัลคัม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติช่วยดูดซับความชื้น ให้ความรู้สึกสบาย นุ่มลื่นผิว และมีการใช้มาเป็นเวลานาน ทัลคัมหากนำมาใช้ในเครื่องสำอางต้องมีความบริสุทธิ์สูง ไม่มีการปนเปื้อนแร่ใยหิน ในปัจจุบันยังคงเป็นสารที่สามารถนำมาใช้ในเครื่องสำอางค์ได้  ทั้งนี้ ทาง อย. ได้มีการเฝ้าระวังความปลอดภัยสำหรับแป้งฝุ่น ที่อาจมีการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารทัลคัมหลายยี่ห้อ จำนวน 133 ตัวอย่าง (ปี 2563 - 2565) โดยเก็บส่งตรวจวิเคราะห์ จำนวน 20 ตัวอย่าง มียี่ห้อ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 6 ตัวอย่าง สำหรับผลการตรวจวิเคราะห์ทุกรายการยังไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหิน ขอให้ประชาชนมั่นใจ เจ้าของผลงานบนสื่อออนไลน์แจ้งถอดงานได้ทันทีหากพบการละเมิด         นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565  ว่าเพื่อยกระดับของการคุ้มครองงานลิขลิทธิ์บนสื่อออนไลน์ เจ้าของแพลตฟอร์ม อย่างเช่น Facebook Youtube สามารถถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้ทันทีหากได้รับแจ้งโดยเจ้าของผลงาน ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล         ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนยังคงสอดคล้องกับหลักสากลรองรับการเข้าเป็นภาคีการตกลงสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) ที่ประเทศไทยได้ยื่นภาคยานุวัติสารต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าว องค์กรผู้บริโภค ผลึกกำลังค้านควบรวม ทรู-ดีแทค         วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ทางเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อ ศ. คลินิก  นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ   เพื่อคัดค้านการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) เนื่องจากการควบรวมของทั้ง 2 บริษัท ยังมิได้ขออนุญาตจากทางสำนักคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)         ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม  มาตรา 21 อันอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ถูกปิดกั้นทางเลือกการใช้บริการและลดโอกาสของผู้ประกอบการรายใหม่         นอกจากนั้นยังยื่นข้อเสนอขอให้ทางคณะกรรมการฯ เปิดเผยข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์รวมถึงความคิดเห็นของอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ตลอดจนผลการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนได้รับรู้          ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ ไม่มีการอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองที่ให้ กสทช.ต้องทำหน้าที่พิจารณาการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค อย่างรอบคอบ ไม่ใช่แค่มีหน้าที่รับเรื่องเท่านั้น รวมถึงส่งมอบจำนวนผู้เข้าชื่อคัดค้านจาก Change.org/TrueDtac

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 เมื่อเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนต้องมาใช้สิทธิ์

ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาไปพบกับการใช้สิทธิ์ของคุณสมฤทัย​ วาทิน เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี  สมฤทัยหรือน้องหยก จากเดิมที่ทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์จากพี่น้องผู้บริโภคภายในจังหวัด กลับต้องมาพิทักษ์สิทธิ์ของตนเอง เธอจึงมีประสบการณ์ดีๆ มาถ่ายทอดให้เราได้ใช้ประโยชน์กัน ทำไมจึงมาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค        สนใจงานด้านนี้เพราะสนใจเรื่องสิทธิค่ะ ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องสิทธิมาก่อน​ มองเป็นเรื่องยุ่งยาก​ เวลาคนพูดถึงเรื่องเหล่านี้จะใช่คำทางกฎหมายบ้าง​ คำศัพท์​แปลกๆ บ้าง​ เลยมองว่ามันไกลตัว​ และดูยุ่งยาก​ หลังจากที่ได้เข้ามาทำงานจึงรู้สึกชอบเพราะว่าเรื่องสิทธิเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน​ เป็นเรื่องที่เราต้องรู้​ และมองว่าถ้าเราต้องการให้เรื่องเหล่านี้ง่ายสำหรับคนทั่วไป เราต้องทำให้เข้าถึงง่าย​ ทุกครั้งที่ทำงานเวลาต้องอธิบายเราจะใช้คำง่ายๆ​ ยกกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้น​เพื่อทำความเข้าใจกับคนทั่วไป มีกรณีอะไรที่เราทำแล้วรู้สึกประทับใจบ้างคะ         กรณีบัตรทอง​ เนื่องจากลูกของเจ้าของเรื่องเป็นมะเร็งกระดูก​ เขาต้องใช้ยานอกบัญชียาหลัก​ ซึ่งคนแม่เขาเป็นแม่บ้านบริษัทธรรมดา เขาก็ไม่มีเงินจ่ายตรงนี้​ พนักงานในบริษัทเลยช่วยติดต่อมาทางสมาคมผู้บริโภคฯ ​ หยกได้ช่วยประสานงานดำเนินการเรื่องยื่นขอเงินคืนให้​ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการระดมทุนเพื่อช่วยค่ารักษาคือจ่ายให้ทาง รพ.ไปก่อน ถึงสุดท้ายน้องคนนั้นจะเสียชีวิตแต่ก็ได้ช่วยคุณแม่ไว้   แล้วเรื่องที่ต้องมาพิทักษ์สิทธิ์ของตัวเองเป็นเรื่องอะไร         เป็นเรื่องของพ่อหยกเอง พ่อเจอโพสพวกขายอุปกรณ์ตกปลาในเฟซบุ๊ก​ จึงทักไปถามรายละเอียด​ ตกลงกันว่า ซื้อรอกตกปลาในราคาสามพันกว่าบาท​ พ่อโอนเงินให้​ พร้อมส่งที่อยู่​ หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับมาเลย​ ไม่รับโทรศัพท์ด้วย​         พ่อมาเล่าให้ฟัง ​เลยมาคุยกับพี่ๆ ที่สำนักงานสมาคมฯ คำแนะนำที่ได้คือ ต้องไปแจ้งความค่ะ​ เมื่อไปถึงโรงพัก ตำรวจบอกเราว่ามีเรื่องแบบนี้เยอะมากเลย​ แต่โดยมากจะไม่ได้เงินคืนกัน ส่วนใหญ่ลงบันทึกประจำวันไว้​ แต่สำหรับเราเลือกแจ้งความแบบร้องทุกข์​กล่าวโทษเลย ไม่อย่างนั้นจะไม่มีผลอะไรกับพวกหลอกลวง         เนื่องจากหยกได้แคปหน้าจอเฟซบุ๊ก​และแชททั้งหมดรวมถึงสลิปทุกอย่างในการซื้อขายกัน ไว้เป็นหลักฐาน ทางตำรวจเลยสามารถโทรติดต่อเจ้าของบัญชีที่พ่อโอนเงินไป​ แต่ไม่มีคนรับสาย​ จึงได้โทรติดต่อญาติ​เจ้าของบัญชีนั้น จนได้คำตอบกลับมาว่าจะติดต่อกลับมา          หลังจากนั้นได้คุยกัน​ เจ้าของบัญชีไม่ยอมรับและยืนยันที่จะไม่โอนคืน เนื่องจากบอกว่าไม่มีเงินเข้า เราจึงดำเนินการต่อเพื่อขอหนังสือในการอายัด​บัญชี ทางเจ้าของบัญชีจึงติดต่อกลับมาขอให้ถอนแจ้งความแล้วก็โอนเงินกลับมาค่ะ         เรื่องทุกอย่างเสร็จภายใน 2 วันหลังจากแจ้งความ​ ไม่ได้อายัดบัญชี สรุปก็คือได้เงินคืน  ตอนคุยกันเรายืนยันจะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด​ ถ้าบอกไม่ได้รับเงินเราก็จะตรวจสอบกับทางธนาคารจะตามให้ถึงที่สุดจริงๆ แล้วมีผู้เสียหายคนอื่นแบบเดียวกับคุณพ่อไหม         มีค่ะ​ มีคนติดต่อพ่อมา​ แต่เขาไม่อยากแจ้งความเพราะบอกว่าไม่อยากยุ่งยากและเสียเวลา​ ซึ่งก็ไม่น่าจะได้เงินคืน​ กับทางเพจ ตำรวจดำเนินการอย่างไรต่อ        ไม่ได้ทำอะไรค่ะ​ และบอกให้เราถอนแจ้งความเพราะเขาก็โอนเงินคืนตามสัญญา ทางเพจนี้เขาปลอมเฟซบุ๊กขึ้นมาค่ะ​ แล้วไปโพสขายของตกปลาในเพจขายอุปกรณ์ตกปลา (เพจจริงๆ)  ตอนนั้นเขาปิดเฟซหนีไปแล้วด้วย ตำรวจเลยไม่ดำเนินการต่อ  ได้ประสบการณ์อะไรบ้างจากกรณีนี้         มองว่าอันดับแรก เราต้องเริ่มจากการป้องกันการเกิดเหตุการณ์แบบนี้ค่ะ​ ควรเลือกเพจหรือผู้ขายที่มีรีวิวที่น่าเชื่อถือ​ มีการขายมาอย่างยาวนานหรือมีหน้าร้าน​ ส่วนหลังจากนั้นหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น​ เราต้องมีสติ​ เริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลไม่ว่าจะเป็นสลิปการโอนเงิน​ แคปรูปการแชทการพูดคุยตกลงซื้อขาย​ หน้าเพจ​ของผู้ขายเพื่อเป็นหลักฐานไว้แจ้งความดำเนินคดี         แต่อย่างหนึ่งทีพบคือ ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักมองว่าเงินไม่เท่าไหร่ เราไม่เอาเรื่องดีกว่า เพราะเสียเวลา​ กระบวนก็การยุ่งยากและอายด้วยที่จะไปแจ้งความกับเงินจำนวนไม่มาก น้องหยกเปลี่ยนใจผู้บริโภคอย่างไรให้เขาหันมาสนใจใช้สิทธิ         เริ่มจากการปรับทัศนคติ​ก่อนเลยค่ะ​ เราทุกคนที่ซื้อสินค้าและบริการต้องมีสิทธิเลือกและรับข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง​ สินค้าต้องตรงตามที่ตกลงกันไว้​ หากเกิดปัญหาผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่าอายที่เราจะเรียกร้องสิทธิ​ เงินจะมากหรือน้อยเราก็สามารถเรียกร้องได้​ หากพบเจอกรณีการโกงก็ควรแจ้งความ​ ต่อให้จำนวนเงินไม่มากแต่เพื่อไม่ให้เขาไปทำกับคนอื่นได้อีก ถ้าไม่ทำอะไรคนก็จะโดนหลอกอีกมาก         การแจ้งความไม่ใช่เรื่องยุ่งยากหรือเสียเวลาเลย หยกทำมาแล้ว​ เพียงแต่การแจ้งความต้องระบุว่า​ แจ้งความร้องทุกข์​กล่าวโทษ​ ไม่ใช่แค่ลงบันทึกประจำวันค่ะ บางเรื่องเราสามารถทำได้เองโดยที่ไม่ต้องแจ้งความด้วยใช่ไหมคะ         ได้ค่ะ​ ในกรณีที่เราสามารถตกลงต่อรองได้ อาจจะเริ่มจากการที่ทุกคนต้องรู้สิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองก่อน จะได้เจรจากับคู่กรณีได้อย่างเท่าทันให้เขาจัดการแก้ไขปัญหาให้เรา สำคัญคือไม่ปล่อยเลยตามเลย จากที่ทำงานกับพี่น้องชาวสุราษฎร์ ปัญหาหลักๆ ของที่นี่คือเรื่องอะไรบ้าง         ปัญหามาแรงตอนนี้ก็จะเป็นเรื่องของการซื้อของออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้คนนิยมหันมาซื้อของทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งของใช้ทั่วไปและรวมไปถึงของกิน ซึ่งพบปัญหาเป็นอย่างมากทั้งสินค้าที่ได้ไม่ตรงกับรูปที่โพสขาย เวลาที่ตกลงว่าจะได้รับสินค้าต้องถูกเลื่อนไปอย่างไม่แน่นอนและผู้บริโภคไม่สามารถยกเลิกหรือทำอะไรได้เลย         อีกประเด็นคือ การที่ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิจากการใช้รถโดยสารโดยเฉพาะในสถานการณ์ช่วงโควิด เช่น การใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เนื่องจากตอนนี้ผู้โดยสารน้อย ทำให้รถออกไม่ตรงเวลา  หรือเรื่องความปลอดภัยของรถโดยสารจากสภาพรถที่ดูไม่ค่อยได้รับการดูแล ตลอดจนเรื่องราคาค่าโดยสารที่แพงขึ้น ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทางสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ให้ความสนใจมากๆ และอยากให้ผู้บริโภคได้รู้จักคุ้มครองสิทธิของตนเอง โดยไม่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและตกอยู่ในสภาวะจำยอม โดยผู้บริโภคเองคือคนที่ต้องคุ้มครองสิทธิของตนเองก่อนเลยนะ หากถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ควรเพิกเฉยต่อการเรียกร้องสิทธิเมื่อได้รับความไม่เป็นธรรม  ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะเป็นแผนงานในการทำงานระยะต่อไปของสมาคมฯ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 เรือนไหมมัจจุราช : เสียงเล็กๆ ของคนไร้สิทธิ์เสียง

                สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นสังคมที่กอปรขึ้นด้วยความหลากหลายของกลุ่มวัฒนธรรม และบนความหลากหลายนี้เอง จึงเกิดเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า แล้วปฏิสัมพันธ์ระหว่างความแตกต่างของกลุ่มวัฒนธรรมนั้นจะเป็นเช่นไร        แน่นอนว่า เมื่อความแตกต่างโคจรมาบรรจบพบกัน ความสัมพันธ์จึงออกมาได้แบบ “ทั้งรักและทั้งเกลียด” ที่บางช่วงก็ปรองดองหวานชื่น ในขณะที่บางจังหวะก็อาจจะขัดแย้งกันเข้มข้น ด้วยเหตุผลที่ว่า กลุ่มสังคมที่แตกต่างหาใช่จะมีสถานะเชิงอำนาจที่เสมอภาคทัดเทียมกันไม่        รูปธรรมที่ดูจะชัดเจนที่สุดในการสะท้อนความขัดแย้งระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมนี้ ก็น่าจะเป็นการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างคนชั้นนำที่มีอำนาจกำกับความเป็นไปในสังคม กับบรรดาคนชายขอบที่ถูกมองว่ามีอำนาจน้อย จนบางครั้งดูประหนึ่งจะไร้สิทธิ์เสียงที่เปล่งออกมาแต่อย่างใด         แต่ที่สำคัญ แม้ว่าในสังคมพหุวัฒนธรรมจะมีการผลักพาให้คนบางกลุ่มกลายเป็นคนนอกผู้ไร้สิทธิ์เสียง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว กลุ่มคนชายขอบที่ถูกกดทับไว้ด้วยอำนาจ ก็สามารถต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจะสื่อสารเป็นนัยว่า เสียงเล็กๆ ที่ปลาสนาการจากอำนาจ ก็สามารถเปล่งเสียงตัวตนอัตลักษณ์ของพวกเขาออกมาได้เช่นกัน         ภาพการปะทะต่อสู้เพื่อเปล่งเสียงเล็กๆ เยี่ยงนี้ ได้รับการจำลองเอาไว้ในละครโทรทัศน์แนวแฟนตาซีแบบจีนล้วนๆ ก็เหมือนจะไม่ใช่ แบบไทยล้วนๆ ก็เหมือนจะไม่เชิง กับชื่อเรื่องที่ดูย้อนแย้งว่า “เรือนไหมมัจจุราช” ที่ดูจะมีทั้งด้านความงามของเส้นไหม กับด้านน่าสะพรึงกลัวของมัจจุราชหรือเจ้าแห่งความตาย         เปิดฉากย้อนอดีตร้อยกว่าปีมาที่คฤหาสน์เรือนใหญ่ของเจ้าของกิจการทอเส้นไหม ที่รู้จักกันในชื่อว่า “โรงทอตระกูลหย่ง” แม้จะถูกนำเสนอให้ดูเป็นสไตล์แบบจีน แต่โรงทอแห่งนี้ก็ฉายภาพของสังคมในยุคมูลนายและไพร่เอาไว้ค่อนข้างชัดเจน โดยที่มี “หย่งเหม่ยซือ” เล่นบทบาทเป็น “นายแม่” ผู้ปกครองใหญ่ ซึ่งมีอำนาจสิทธิ์ขาดเหนือชีวิตบริวารทั้งมวลที่อยู่ในระบอบอุปถัมภ์ของโรงทอ         นอกจากนายแม่เหม่ยซือแล้ว อาณาจักรโรงทอยังมี “หย่งเจี้ยน” บุตรชายแท้ๆ ผู้ครองอำนาจรองจากนายแม่ และ “สไบ” กับ “พิกุล” เมียเอกเมียรองของหย่งเจี้ยน ที่เบื้องหลังก็พยายามแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจขึ้นเป็นใหญ่เหนืออีกฝ่ายหนึ่ง         และภายใต้ระบอบอุปถัมภ์ที่ออกแบบไว้ประหนึ่งมูลนายกับไพร่เช่นนี้ เมื่อมีความขัดแย้งหรือความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนชั้นนำของโรงทอตระกูลหย่ง ก็จะบังเกิดผลสะเทือนเลื่อนลั่นไปสู่แทบจะถ้วนทั่วทุกคนในปริมณฑลของโรงทอผ้าไหมไปด้วยเช่นกัน         เพื่อให้ระบอบใหญ่ดำเนินต่อไป โรงทอตระกูลหย่งยังได้ผูกโยงความสัมพันธ์กับกลุ่มสังคมภายนอกทั้งที่มีอำนาจเหนือกว่าและด้อยกว่า โดยในด้านแรก นายแม่เหม่ยซือก็เลือกจะยึดโยงความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับ “พระอากรภักดี” ตัวแทนส่วนกลางที่เอื้อต่อการทำธุรกิจซื้อขายผ้าไหมจากโรงทอ         และในเวลาเดียวกัน เมื่อโรงทอผ้าไหมเกิดวิกฤติขาดซึ่งปัจจัยการผลิตหรือเส้นไหมที่มีคุณภาพมาป้อนโรงทอ นายแม่เหม่ยซือจึงจัดแจงส่ง “หย่งชาง” คุณชายคนรองของเรือนไปติดต่อผูกสัมพันธ์กับชุมชนชาติพันธุ์ชาวเมี่ยน ที่ชำนาญด้านการเลี้ยงหนอนไหมชั้นเลิศ โดยหวังว่าชาวเมี่ยนจะยินยอมจิ้มก้องส่งหนอนไหมมาเป็นวัตถุดิบการผลิตเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของโรงทอตระกูลหย่ง         แม้โรงทอตระกูลหย่งจะเข้าไปผูกวางความสัมพันธ์กับกลุ่มวัฒนธรรมชาวเมี่ยน แต่ถึงที่สุดแล้ว สายสัมพันธ์ดังกล่าวก็ถักทอหล่อหลอมอยู่บนโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมอีกเช่นกัน         ดังนั้น เมื่อ “อาซา” และ “อาเซี้ยะ” สองสาวพี่น้องชาวเผ่าเมี่ยนมีเหตุให้ต้องเดินทางมาอาศัยชายคาคฤหาสน์ตระกูลหย่ง เพราะอาเซี้ยะได้แต่งงานเป็นภรรยาของหย่งชาง แต่ด้วยอำนาจที่กดทับขีดวงตัวตนคนนอกที่เข้ามาเยือนโรงทอผ้า ความรู้สึกของตัวละครพี่น้องชนเผ่าจึงมีเสียงก้องในใจตั้งแต่วินาทีแรกที่เดินเข้าสู่ประตูโรงทอว่า “นี่คือสถานแห่งบ้านตระกูลหย่งที่ฉันปองมาสู่ ฉันยังไม่รู้เขาจะต้อนรับขับสู้เพียงไหน...!!!”         และแม้พี่น้องทั้งสองคนจะพยายามบอกใครต่อใครว่า “โปรดอย่าอิจฉาสมาชิกใหม่ของบ้านตระกูลหย่ง” ก็ตาม แต่เพราะพวกเธอเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบที่อยู่รอบนอกแห่งอำนาจ สองพี่น้องจึงถูกกลั่นแกล้งจากนายแม่เหม่ยซือและตัวละครเกือบแทบจะถ้วนหน้า ที่ขยันสรรหาสรรพวิธีมากลั่นแกล้งใส่ความเพื่อจะอัปเปหิพวกเธอให้กระเด็นออกไปนอกเรือนชาน         ทว่า ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เรามักจะมองข้ามไปก็คือ แม้แต่กับกลุ่มคนชายขอบของอำนาจ ก็ใช่ว่าจะขาดซึ่งศักยภาพในการต่อสู้แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อชำนัญการในเรื่องการเลี้ยงไหม พี่น้องชาวเมี่ยนก็จึงมีอาวุธเป็นองค์ความรู้ในการสร้างและควบคุมหนอนไหมที่เรียกว่า “จิ้นฉาน” ให้กลายเป็นพิษสงที่จะตอบโต้ต่อกรกับบรรดาตัวละครในใต้อาณัติของนายแม่เหม่ยซือ         แต่ก็นั่นอีกเช่นกัน เมื่อนายแม่เริ่มเรียนรู้ว่า คนชายขอบก็มีองค์ความรู้บางชุดที่จะเอื้อต่อการรักษาสถานะนำของตน นายแม่และเครือข่ายของเธอจึงพยายามพรากเอาตำรับความรู้โบราณของชาวเมี่ยนมาเป็นของตน โดยเฉพาะการสร้างสัตว์พิษที่เป็นยิ่งกว่าสุดยอดแห่งสัตว์พิษทั้งปวง ที่เรียกว่า “เว่ยต้ากู่” หรือ “มารเบญจพิษ” ซึ่งทั้งร้ายและ “out of control”         และเมื่อไม่มีคุณธรรมที่กำกับการใช้ความรู้และเว่ยต้ากู่ เราจึงเห็นภาพโรงทอตระกูลหย่งลุกเป็นไฟกลายเป็น “เรือนไหมมัจจุราช” ที่นายแม่เหม่ยซือและสไบผู้เป็นลูกสะใภ้เข่นฆ่าผู้คนจนนับศพไม่ถ้วนทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นบรรดาชีวิตคนงานโรงทอที่ล้มตายเป็นผักปลา ชีวิตตัวละครชาวเมี่ยนอย่างอาซาและ “หมอเลี่ยว” ผู้ที่แม้จะเคยช่วยชีวิตนายแม่และพรรคพวกมาก่อน ชีวิตตัวละครรุ่นลูกหลานของตระกูลหย่ง หรือแม้แต่เข่นฆ่ากันเองจนตอนจบ จนแทบจะไม่เหลือตัวละครหลักมาให้เดินเรื่องต่อไป!!!         แต่ที่น่าชวนหัวยิ่งก็คือ หากในฉากจบของเรื่อง จะมีเฉพาะก็แต่ตัวละครที่ถูกทำให้ “เสียสติ” อย่างพิกุล หรือ “ความทรงจำเสื่อม” อย่างหย่งเจี้ยน ที่คิดกลับตัวกลับใจหันมามองความเป็นอื่นด้วยความเป็นมนุษย์ไม่ต่างกัน ละครก็อาจบอกเป็นนัยๆ กระมังว่า คงต้องทำให้คนมีอำนาจนั้น “เสียสติ” หรือ “ความจำเสื่อม” กันเสียบ้าง พวกเขาก็จะได้เล็งเห็นสิทธิและเสียงเล็กๆ ของคนงานในโรงทอหรือกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเมี่ยน ที่หาใช่จะเป็นคนที่ไร้สิทธิ์เสียงหรือถูกขูดรีดกดทับอัตลักษณ์ศักดิ์ศรีเอาไว้แต่เพียงด้านเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ดูหนังออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์ เจ้าไหนน่าใช้บริการที่สุด

พฤติกรรมการดูภาพยนตร์ของคนยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก การรับชมภาพยนตร์เฉพาะแค่ในโรงภาพยนตร์หรือหน้าจอโทรทัศน์อาจจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป คนที่ชื่นชอบการชมภาพยนตร์หลายคนเริ่มหันมารับชมผ่านทางสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ในอุปกรณ์อย่าง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์กันมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และแม้ว่า ณ เวลานี้ในสื่อออนไลน์จะเต็มไปด้วยการเผยแพร่ภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่สำหรับคนที่อยากสนับสนุนของถูกลิขสิทธิ์ก็ยังมีบริการให้รับชมภาพยนตร์ออนไลน์แบบถูกกฎหมายไว้คอยบริการอยู่จำนวนไม่น้อย ซึ่งปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ บวกกับในต่างประเทศเริ่มมีการผลิตภาพยนตร์และซีรี่ส์เพื่อฉายทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันสำหรับรับชมทางออนไลน์โดยเฉพาะฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเอาใจคนชอบดูหนังที่อยากรับชมหนังและซีรี่ส์เรื่องดังผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือ แท็บแล็ต ด้วยผลทดสอบเปรียบเทียบ เว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง (Streaming Video) ฉายภาพยนตร์ผ่านระบบออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์ตารางเปรียบเทียบบริการของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันดูภาพยนตร์ออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์ฉลาดซื้อแนะนำ-Netflix, iflix และ Hooq ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดสำหรับคนที่อยากรับชมภาพยนตร์และซีรี่ส์ออนไลน์เพื่อบอกเลิกการเป็นสมาชิก เพราะมีปริมาณให้เลือกชมเยอะ มีความหลากหลาย มีการอัพเดทคอนเทนต์ใหม่ๆ ตลอดเวลา ที่สำคัญคือภาพยนตร์และซีรี่ส์ที่มีให้ชม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน-Netflix, iflix และ Hooq ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดสำหรับคนที่อยากรับชมภาพยนตร์และซีรี่ส์ออนไลน์เพื่อบอกเลิกการเป็นสมาชิก เพราะมีปริมาณให้เลือกชมเยอะ มีความหลากหลาย มีการอัพเดทคอนเทนต์ใหม่ๆ ตลอดเวลา ที่สำคัญคือภาพยนตร์และซีรี่ส์ที่มีให้ชม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน-ส่วนจะเลือกใช้บริการเจ้าไหนก็ขึ้นอยู่กับ เนื้อหาของภาพยนตร์และซีรี่ส์ที่ต้องการรับชม ดังนั้นควรเข้าไปสำรวจดูเนื้อหาที่มีให้ชมของแต่ละเจ้า ก่อนตัดสินใจสมัครใช้บริการ-การจ่ายค่าบริการแบบตัดเงินผ่านบัตรเครดิต ผู้ให้บริการจะทำการตัดเงินต่ออายุสมาชิกแบบอัตโนมัติ ดังนั้นหากต้องการยุติการใช้บริการต้องทำให้การติดต่อกับทางผู้บริการ เพื่อบอกเลิกการเป็นสมาชิก-นอกจากการดูภาพยนตร์แบบถูกลิขสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์สตรีมมิ่งและแอปพลิเคชันที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน เรายังสามารถรับชมภาพยนตร์แบบถูกลิขสิทธ์ผ่านทางมือถือผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Google Play Store ในมือถือระบบแอนดรอยด์ และ Itunes ในมือถือระบบ IOS ซึ่งมีภาพยนตร์จำนวนมากจำหน่ายให้กับใครที่อยากรับชมแบบถูกลิขสิทธิ์บนมือถือและแท็บเล็ต โดยมีให้เลือกทั้งแบบเช่า คือเปิดดูได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต กับแบบขายขาด สามารถโหลดเก็บไว้ดูภายหลังได้ โดยราคาแบบเช่าจะเริ่มที่ 60 บาท ส่วนราคาแบบขายขาดเริ่มที่ 280 บาท

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 176 ความปลอดภัยต้องอาศัยองค์ความรู้

“รถยนต์จะปลอดภัยหรือไม่ คนไม่ค่อยสนใจ คนไทยคิดอย่างเดียวว่าถ้าอยากปลอดภัยก็ต้องซื้อรถแพง ปลอดภัยต้องเสียเงิน และเชื่อด้วยว่ารถที่ผลิตมาแล้วก็ปลอดภัยหมด”“บ้านเราผลิตรถ แต่ทุกคนไม่รู้หรอกว่ารถสามารถสั่งตัดได้ และบ้านเราก็ไม่มีองค์ความรู้ด้านนี้ ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนมากมาย แต่เรากลับไม่รู้เลยว่ารถแต่ละคันปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน แล้วเราจะไปถึงเป้าหมายเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนได้อย่างไร” รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม นักวิชาการด้านวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ บัณฑิตวิทยาลัย วิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (Thai–German Graduate School of Engineering) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือที่มาของหลักสูตรวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยรถยนต์    ผมทำงานสายยานยนต์มาตั้งแต่เรียนจบมาเมื่อ 15 ปีก่อน ตอนนั้นอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ในประเทศไทยกำลังบูม สาขาวิชาหลักๆ สำหรับอุตสาหกรรมนี้ก็มีวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมการผลิต และวิศวกรรมไฟฟ้า ผมเองจบทางช่างยนต์แต่ไม่ได้มีส่วนในการออกแบบรถยนต์อย่างที่เรียนมา เพราะบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ให้ทำตามแบบของเขา บริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ก็มีหน้าที่ทำให้ได้ตามข้อกำหนดของบริษัทแม่ ในประเทศไทยเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ทำกันมา คือการผลิตชิ้นส่วนอย่างไรให้ลดต้นทุน จนผมมีโอกาสได้ไปดูงานของรัฐบาลเยอรมันที่เขาจะทำหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ ก็ได้เห็นว่าแตกต่างกันมากกับวิศวกรรมยานยนต์ที่เมืองไทย ที่นั่นเขาทำวิจัยร่วมกับอุตสาหกรรมบริษัทรถในการผลิต เพราะว่าเขามียี่ห้อรถของเขา แล้วเขาก็ทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยด้วย พอเราได้ไปดูงานของเขามาแล้ว ทางมหาวิทยาลัยก็จัดสร้างหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ขึ้น โดยเอาเนื้อหาหลักสูตรทั้งหมดจากเยอรมันมาใช้ ซึ่งเนื้อหาของเขาลงลึกมาก รวมงานวิจัยเข้าไปด้วย เน้นเรื่องการออกแบบ การผลิต ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ แต่หลังจากเปิดหลักสูตรไปสักพักหนึ่งมันไม่ไหว มีคนตั้งคำถามว่าเด็กจบไปแล้วจะไปทำอะไร เพราะเราไม่ได้ออกแบบรถเอง แต่ความจริงแล้วเราได้องค์ความรู้ไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมกับบริษัทรถ จะได้พูดภาษาเดียวกันได้ ร้อยละ 80 ของนักศึกษากลุ่มแรกๆ เป็นอาจารย์ เช่น อาจารย์จาก ม.ราชมงคลฯ และอีกหลายแห่งที่อยากจะพัฒนาบุคลากรในสายยานยนต์ สักพักหนึ่งมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็เปิดหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ ทีนี้คำว่าวิศวกรรมยานยนต์ของแต่ละมหาวิทยาลัยก็ไม่เหมือนกัน มันไม่ชัดว่าเนื้อหาหลักสูตรของแต่ละที่เป็นอย่างไร คนที่มาสมัครเรียนเขาก็ไม่รู้ว่าเรียนจบไปแล้วจะทำอะไร มีคนที่ประเมินหลักสูตรเขาถามว่าจบวิศวกรรมยานยนต์ที่ TGGS (Thai – German Graduate School of Engineering) แล้วจะไปทำอะไร ผมเลยเปลี่ยนหลักสูตรเป็น “หลักสูตรวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัย”ทำไมต้องหลักสูตรนี้?    ที่เราทำด้านนี้เพราะว่าผมทำโครงการรถบัสของขนส่ง(กรมการขนส่งทางบก) เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2555 – 2556 พอทำแล้วมันได้ใช้องค์ความรู้เรา ทำแล้วมันมีผลกระทบต่อสังคม ซึ่งในสายวิศวกรรมนั้นจะไม่ค่อยมีผลต่อสังคมเท่าไร พอได้ทำตรงนี้แล้วคนสนใจและอยากรู้ ก็เลยเปลี่ยนหลักสูตรให้สอดคล้องกัน โดยเอาเนื้อหาเดิมมาขัดเกลาใหม่ให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะกับประเทศไทย นั่นคือประเทศไทยไม่มีบริษัทรถเอง มีแต่ผู้ใช้รถ หลักสูตรจึงเน้นทดสอบรถด้านคุณภาพ มาตรฐาน สภาพรถ การประหยัดน้ำมัน ฯลฯ การจะประเมินเรื่องนี้เราต้องใช้ซอฟแวร์หรือกระบวนการอะไร ในหลักสูตรจะมีเรื่องพวกนี้อยู่ มีการทดสอบชิ้นส่วนต่างๆ เช่น เกียร์ต้องทดสอบอย่างไร เครื่องยนต์ทดสอบอย่างไร ประเมินอย่างไร นี่คือหลักสูตรเรื่องนี้ เพราะเราไม่ได้เป็นผู้ผลิต  หลักสูตรของเราเน้นด้านหลักๆ 4 ด้าน คือ การผลิตรถยนต์ การทดสอบประเมินรถ มาตรฐานกฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล รวมถึงการจำลองการบาดเจ็บ/ความปลอดภัยยานยนต์ การประเมินหรือการทดสอบที่อาจารย์ภาคภูมิใจ    การทดสอบรถบัสทั้งแบบ 1 ชั้นและ 2 ชั้น ด้วยเครื่องมือทางวิศวกรรม เช่น การจำลองเหตุการณ์ ซึ่งก่อนที่เราจะทดสอบเราก็ประเมินก่อนแล้วว่าไม่มีคันไหนผ่าน เราเลือกรถจากกลุ่มที่มีกระบวนการผลิตที่ดีที่สุดในรูปแบบบริษัท และเมื่อประเมินโดยใช้การคำนวณทางตัวเลขวิเคราะห์ก็ไม่ผ่าน แต่การจำลองทางคณิตศาสตร์โดยใช้กระบวนการทางวิศวกรรมมันก็ไม่ชัดเจนเท่ากับเห็นภาพ เพราะมันเป็นแค่ตัวเลข พอเรารู้แล้วว่าไม่ผ่านก็สร้างเครื่องทดสอบให้เห็นเลยว่าทำไมไม่ผ่าน คือในระยะแรกเราทำการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ให้เห็นคุณภาพรถว่าเป็นอย่างไร และสร้างเครื่องทดสอบ วิเคราะห์ออกแบบใหม่ เราออกแบบโดยใช้หลักคณิตศาสตร์ แล้วสร้างเครื่อง สร้างรถ สร้างรูปแบบของโครงสร้างที่เราออกแบบ โครงการทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 2 เดือนตั้งแต่สร้างเครื่องทดสอบ ประเมินรถ แล้วออกแบบโครงสร้างที่คิดว่าน่าจะปลอดภัยแล้วนำมาทดสอบ เราไม่ได้ทำแค่สร้างเครื่องทดสอบ แต่รวมไปถึงการปรับปรุงพัฒนาภายใต้เงื่อนไขของข้อกำหนด ซึ่งในการออกแบบทางกระบวนการวิศวกรรมนั้นค่อนข้างยาก ผมสามารถออกแบบให้โครงสร้างรถบัสมีน้ำหนักเบา แข็งแรง ราคาถูกได้ แต่ถ้าจะออกแบบให้ถูกด้วยมันยากตรงที่บ้านเราไม่ใช่ประเทศที่รวย เราอยู่แค่ในระดับปานกลาง ถ้าจะให้ออกแบบให้แข็งแรงปลอดภัย ราคาถูกด้วย เบาด้วย มันทำไม่ได้ แล้วยังมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นรถบัสที่สามารถผลิตได้ในอู่ทั่วไปด้วย เพราะอย่างที่เรารู้กันอุตสาหกรรมต่อรถบ้านเราเป็นอุตสาหกรรมครอบครัว ความสำคัญของความปลอดภัยยานยนต์ในบ้านเรา    ประเทศไทยไม่มีผู้ผลิตรถ องค์ความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ที่ปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยต่อคนนั้นมีน้อย คนที่รู้เรื่องนี้ก็มีน้อย คือรถยนต์จะปลอดภัยหรือไม่ คนไม่ค่อยสนใจ คนไทยคิดอย่างเดียวว่าถ้าอยากปลอดภัยก็ต้องซื้อรถแพง ปลอดภัยต้องเสียเงิน และเชื่อด้วยว่ารถที่ผลิตมาแล้วก็ปลอดภัยหมด ซึ่งรถบางคันอาจไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร เพราะตอนเขาผลิตเขาคำนึงถึงต้นทุนเป็นหลักแพะรับบาป 2 ตัวเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ     ร้อยละ 70 ของการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากคน อีกร้อยละ 20 – 30 คือรถ ซึ่งเราสามารถคุมปัจจัยได้ง่ายกว่า ในบ้านเราแพะรับบาปอย่างแรกคือ “เมาแล้วขับ” อย่างที่สองคือ “ขับรถเร็วเกินกำหนด” ไม่เคยบอกว่าเป็นเพราะยางแตกหรือการเสื่อมสภาพของรถ ผมมีงานวิจัยที่ทำให้ผมรู้ว่า “การขับเร็วเกินกำหนด” เป็นเรื่องของการนั่งเทียน บ้านเราผลิตรถ แต่ทุกคนไม่รู้หรอกว่ารถสามารถสั่งตัดได้ และบ้านเราก็ไม่มีองค์ความรู้ด้านนี้ ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนมากมาย แต่เรากลับไม่รู้เลยว่ารถแต่ละคันปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน แล้วเราจะไปถึงเป้าหมายเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนได้อย่างไร ผมมีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง คือมีอุบัติเหตุรถชนเกิดขึ้น แล้วตำรวจ สน.ไทรน้อยขอให้ผมมาช่วย รถคันที่เกิดเหตุชนท้ายรถพ่วง มีพ่อแม่ลูกนั่งมาในรถ พ่อและแม่เสียชีวิตคาที่ ส่วนเด็กไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล รอยเบรกประมาณ 27 เมตร ... คุณคิดว่ารถต้องมาด้วยความเร็วเท่าไร?  ญาติเรียกร้องให้ประกันชดเชย แต่ทางประกันแย้งว่าผู้เสียชีวิตขับรถเร็วเกินกำหนดโดยดูจากรอยเบรก 27 เมตร จากทฤษฎีสามารถคำนวณความเร็วได้ แต่พอดูยางรถยนต์ที่เขาใช้ คือล้อหน้าด้านซ้ายเป็นยางมิชลินปี 2004 ล้อหน้าข้างขวา คือยางมิชลินปี 2007 ปีนี้ปี 2015 เท่ากับใช้มา 8 ปีแล้ว ส่วนยางหลังด้านขวาคือยางกู้ดเยียร์ปี 2011และล้อหลังซ้ายยางกู้ดเยียร์ปี 2010 ผมก็เอายางไปทดสอบในสถานที่จริงเลย เริ่มที่ความเร็ว 30 กม./ชม. ระยะเบรกอยู่ที่ 5 เมตร ถามผู้ใช้รถว่าการใช้ยางแบบนี้ไหวไหม? ถ้าขับในเมืองรถมันติดก็โอเค แล้วลองที่ความเร็ว 60 กม./ชม.ระยะเบรคอยู่ที่ 19 เมตร ถ้าความเร็ว 90 กม./ชม.ระยะเบรกยาวถึง 40 เมตร ก็คือเบรกไม่อยู่โดยใช้ความเร็วที่ 90 กม./ชม.เอง คือความเร็วก็มีส่วน แต่มันไม่ควรเป็นแพะรับบาป กรณีนี้ผู้บริโภคเลือกใช้ยางผิด นั่นคือผู้บริโภคไม่รู้ เราถึงต้องสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เพื่อปลูกฝังและสร้างความตระหนักเรื่องความปลอดภัย  “วัฒนธรรมความปลอดภัย” อยู่ในยุทธศาสตร์ของประเทศหรือยัง?    เรื่องความเร็วในแผนแม่บทเขาก็กำหนดไว้ แต่ทำไม “ออโตบาห์น” ในประเทศเยอรมันไม่มีการจำกัดความเร็ว? นั่นเพราะถนนเขาดี คนขับดี และรถก็ดี คือผมจะบอกว่าเขาเขียนแผนยุทธศาสตร์ผิดจากข้อมูลสถิติที่ผิด เลยทำให้ยุทธศาสตร์ประเทศวางแผนผิดไปหมด จึงทำให้ประเทศไทยมารณรงค์เรื่องเมาแล้วขับ เราเก็บข้อมูลผิดวิธีและไม่นับจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุภายใน 30 วัน คนเขียนข้อมูลเขารู้เลยว่าตำรวจไม่ค่อยให้ข้อมูลเพราะพยายามจะปิดคดี  และการปิดคดีที่ดีที่สุดก็คือระบุว่าเมาแล้วขับ หรือขับเร็วเกินกำหนด มันเลยกลายเป็นแผนไม่เคลื่อนสิ่งที่เราควรรณรงค์จริง คืออะไร    จริงๆ คือต้องรณรงค์ทั้งแผน ไม่ใช่รณรงค์แค่คน ต้องทั้งแผนถึงจะขับเคลื่อน แต่เรื่องรถไม่เคยรณรงค์เลย บ้านเราเน้นเรื่องคนมากกว่า เรื่องถนนก็มีรณรงค์บ้างอย่างถนนที่โค้งอันตราย ตำรวจก็รณรงค์ตรงจุดเสี่ยง ขาดแค่การรณรงค์เรื่องรถ บางทีรถดีแต่มีการใช้งานผิดประเภทอีกเพราะไม่มี “วัฒนธรรมความปลอดภัย” จึงเกิดการใช้รถผิดประเภท?    ใช่ แต่ “วัฒนธรรมความปลอดภัย” ต้องเป็นองค์ความรู้เรื่องรถยนต์ ยกตัวอย่างบางปลาม้าโมเดล เขาจัดทำนำร่องเรื่องรถโรงเรียนโดยเรียกคนที่มีส่วนร่วมมา เชิญตำรวจมา จัดให้อยู่ในระบบ เชิญหน่วยงานขนส่งฯ มาแนะนำว่าโครงสร้างต้องเป็นแบบไหน แล้วก็สรุปว่านี่คือรูปแบบของรถโรงเรียน แต่ในทางวิศวกรรมถ้ารถลักษณะ(สองแถว) นี้เกิดอะไรขึ้นมา มันเจ็บหนักมาก คุณรู้ไหมว่าทำไมรถรุ่นใหม่ปุ่มสตาร์ทถึงเป็นปุ่มกด? เพราะว่าเวลาชน เข่าของเราจะไปโดนพวงกุญแจ เพราะเขารู้ว่ามันเสี่ยงโดยดูจากข้อมูลอุบัติเหตุ แต่คนที่รู้จริงๆ มีน้อย คนที่ไม่ได้ทำวิจัยจะรู้ได้อย่างไรว่านี่คือวัฒนธรรมความปลอดภัย คือต้องมีองค์ความรู้ ในโครงการบางปลาม้าโมเดลก็เขียนกำหนดลักษณะมาตรฐานรถให้เหมาะสมไว้นะ แต่เขาเชิญขนส่งฯ ซึ่งขนส่งเองก็มีความรู้ระดับหนึ่ง โครงการก็เลยออกมาเป็นแบบนี้ คือให้นักเรียนนั่งในคอกรถแล้วจะปลอดภัย ทางขนส่งเขาก็มีระเบียบของเขาว่าหลังคาต้องมั่นคงแข็งแรง แต่ความรู้เรื่องความปลอดภัยของรถยังไม่มี ทุกวันนี้คนก็ชื่นชมบางปลาม้าโมเดลและก็จะทำตามแบบนี้ และตอนนี้ก็จะขยายต่อไปด้วย ผมเคยโทรไปหาผู้อำนวยการโรงเรียนบางปลาม้าบอกว่าจะเอารถโรงเรียนของเขามาทดสอบดู เขาก็ไม่กล้าให้เอามาเพราะเขาเองก็ยังไม่มั่นใจ ถ้าที่เมืองนอกเวลาเอารถมา ต้องทดสอบไดนามิค ดูการเหวี่ยง ดูความเสี่ยง การชนด้านหน้า ทดสอบเบรก คุณภาพรถเป็นอย่างไรอย่างน้อยเมืองไทยก็มีมาตรฐานชิ้นส่วนรถยนต์?    ในวงจรการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย บริษัทรถจะทำออกมาตามเสียงตอบรับจากผู้ใช้ พอได้ชิ้นส่วนก็เข้ามาอยู่ในเทียวัน (บริษัทจัดหาซัพพลายเออร์สำหรับชิ้นส่วนรถยนต์) ก็มีบริษัทหลายบริษัทจนมีสมาคมชื่อว่า สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) ซึ่งมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้ามาควบคุมดูแล ส่วนกรมการขนส่งทางบกก็มีบทบาทตอนทำการผลิตแล้วตรวจสอบขั้นสุดท้าย ก็มีแค่นี้วงจรของมัน แต่เพื่อการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศไทย รัฐบาลอยากส่งเสริม ทางบริษัทรถก็ให้ความร่วมมือ แต่ละขั้นตอนต้องทำอย่างไร ขั้นตอนโลจิสติกส์มีอะไรบ้าง ทำอย่างไรให้ผลิตได้เยอะขึ้น ก็ทำการวิจัยให้กระบวนการผลิต แต่ไม่ได้มองเรื่ององค์ความรู้เลย เน้นการผลิตอย่างเดียว คุณเชื่อไหมว่าบริษัทที่ขายชิ้นส่วนให้เทียวัน แม้จะขาดทุนก็ยังยอมขาย เพราะเวลาเปลี่ยนอะไหล่ผู้บริโภคก็ต้องกลับมาใช้ของเขา เขาขอให้ได้เข้าไปเป็นชิ้นส่วนในรถให้ได้เป็นพอ ยกตัวอย่างรถที่ใช้แบตเตอรี่ 3K ถ้าคนที่รู้เขาก็อาจจะเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่น แต่คนที่ไม่รู้ เวลาเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ก็ยังใช้ 3K อยู่ดี

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 105 ฉันทนาถูกผีสวมสิทธิเบิกเงิน

เรื่องนี้เป็นเรื่องของลูกจ้างแรงงานโชคร้ายที่ถูกผีสวมสิทธิจนเกือบไม่ได้ใช้สิทธิประกันสังคมคุณกิตติมา สาวใหญ่วัย 48 ปี ทำงานอยู่ในโรงงานผลิตชุดชั้นในแห่งหนึ่ง และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกับโรงพยาบาลนวมินทร์ 2 ได้ร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา เห็นทางโรงพยาบาลแห่งนี้ขึ้นป้ายว่า บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรี ตามโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 76 จังหวัดทั่วประเทศพอทำเรื่องลางานได้ในวันที่ 24 สิงหาคม 2552 จึงเดินทางไปที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ตั้งใจจะไปใช้สิทธิตรวจรักษา แต่เมื่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตรวจสอบข้อมูลในคอมพิวเตอร์พบว่า ตนได้ใช้สิทธิตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 และวันที่ 18 มีนาคม 2552 ซึ่งข้อมูลนี้ถูกบันทึกโดยโรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิรักษาฟรีได้สำหรับปี 2552คุณกิตติมา รู้สึกแปลกใจ และไม่ทราบว่า ทางโรงพยาบาลอ้างสิทธิของตนได้อย่างไร เพราะในปี 2552 ตนยังไม่ได้ไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเลย แต่ก็พอนึกขึ้นได้ว่า เมื่อปี 2551 โรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล มาออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจมะเร็งปากมดลูกที่โรงงาน เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 ตนและเพื่อนร่วมงานหลายคนได้ใช้บริการ“ตอนนั้นเสียค่าใช้จ่าย 199 บาทด้วยค่ะ” คุณกิตติมาให้ข้อมูล แนวทางแก้ไขปัญหาอันว่าโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 76 จังหวัดทั่วประเทศนั้น มีที่มาจากการที่ในปัจจุบันโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศไทย เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เพราะทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรบุคคลและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งปากมดลูกต้องมีการค้นหา โดยการตรวจหาเซลล์มะเร็งให้พบตั้งแต่อยู่ในระยะเริ่มแรกและในระยะก่อนเป็นมะเร็งซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาในระยะลุกลาม และจากการศึกษาขององค์การอนามัยโลก ได้พบว่าการคัดกรองด้วยการทำ pap smear (ซึ่งเป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกวิธีหนึ่ง) ในสตรีกลุ่มเป้าหมายอายุ 35,40,45,50,55,60ปี ทำให้ช่วยลดอัตราการเกิดและอัตราการตายจากโรคมะเร็งปากมดลูกได้ ดังนั้น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดทำโครงการนี้ขึ้น โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับบริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คือสตรีที่ใช้สิทธิประกันสังคม และสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จะเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยค่าบริการให้กับโรงพยาบาลแทน สำหรับการคัดกรองด้วยวิธี pap smear สปสช.จะทำการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการให้รายละ 250 บาท นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนหลายแห่งเข้าร่วมโครงการนี้และทำให้แรงงานที่มีประกันตนกับสำนักงานประกันสังคมอย่างเช่นคุณกิตติมาก็ได้รับสิทธิตรวจรักษาฟรีด้วยแต่เมื่อคุณกิตติมาได้ให้ข้อเท็จจริงว่า ได้เคยตรวจมะเร็งปากมดลูกที่โรงงานกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของโรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 และยังเสียค่าใช้จ่าย 199 บาทด้วย ซ้ำเมื่อมาขอตรวจอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2552 กลับมีบันทึกข้อมูลของโรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนลว่าคุณกิตติมาได้ใช้บริการไปแล้วเมื่อ 18 มีนาคม 2552 อย่างนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นว่ามีใครไปแอบใช้สิทธิโดยที่เจ้าตัวไม่รู้หรือไม่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการ สปสช. เขตพื้นที่ 13 กรุงเทพมหานครเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาลงโทษหน่วยบริการที่เบิกงบประมาณค่าใช้จ่ายเป็นเท็จ พร้อมแก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้บริโภคไปเมื่อ 14 กันยายน 2552 และในวันที่ 8 ตุลาคม 2552 สปสช. เขตพื้นที่ 13 ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า สำนักงานฯ ได้ประสานและทำหนังสือถึงคุณกิตติมาให้ไปรับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ที่โรงพยาบาลนวมินทร์ 2 ได้ตามสิทธิ โดยให้โรงพยาบาลนวมิทนร์ 2 เบิกชดเชยบริการกับสำนักงานฯ ได้ ส่วนปัญหาสำคัญคือเรื่องข้อเท็จจริงข้อมูลการเบิกจ่ายนั้น ขณะนี้สำนักงานฯ อยู่ในระหว่างการตรวจสอบการบริการอยู่  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 เมื่อเด็กไทยไม่สามารถเข้าถึงตำราลิขสิทธิ์

  วันนี้ ฉลาดซื้อ ชวนคุณเข้ารั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่ามีการใช้ “ตำราเรียนฉบับขาวดำ” (ซีรอกส์) ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศกันอย่างแพร่หลาย เพื่อไปสอบถามความเห็นของนักศึกษาว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับเรื่องของตำราต้นฉบับ และเหตุใดพวกเขาจึงนิยมใช้ฉบับขาวดำกันมากกว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคโดยฉลาดซื้อ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครและนนทบุรี จำนวน 480 คน* เรื่องปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์_____* หมายเหตุ การสำรวจครั้งนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) และประเทศสมาชิกอีกกว่าสิบประเทศ ได้ทำสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคในประเทศของตนเอง การสำรวจนี้เป็นส่วนหนึ่งการเก็บข้อมูลเพื่อการรณรงค์ในระดับนานาชาติเพื่อเพิ่มระดับการเข้าถึงความรู้ (A2K: Access to Knowledge)   เหตุผลที่นักศึกษาจะตัดสินใจซื้องานที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง  -- ใกล้เคียงกันมากระหว่าง คุณภาพ ราคา และการหาซื้อได้สะดวก   89%  ของผู้ตอบจะซื้อตำราเรียน (รวมถึงภาพยนตร์ เพลง และโปรแกรมคอมพิวเตอร์) ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องถ้างานนั้นมีคุณภาพที่ดีกว่างานที่ทำซ้ำโดยผิดกฎหมาย 87% ของผู้ตอบแบบสำรวจตอบว่าตนเองจะซื้องานที่มีลิขสิทธิ์  ถูกต้อง (แทนที่จะซื้อฉบับที่ทำซ้ำโดยผิดกฎหมาย) ถ้าราคาของฉบับลิขสิทธิ์เป็นราคาที่ตนเองสามารถจ่ายได้ 85% เห็นด้วยว่าจะซื้องานที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องถ้าตนเองสามารถหาซื้อได้สะดวก   ทำไม “ตำราเรียนฉบับขาวดำ” ถึงมีอยู่ทั่วไปในรั้วมหาวิทยาลัย จากการสัมภาษณ์นักศึกษาปีสี่ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอกล่าวว่า “ของจริงมันแพง .. สมมุติว่า หนังสือเล่มละพัน เรียนแปดวิชาก็ปาไปแล้วแปดพัน ตายพอดีถ้าซื้อของลิขสิทธิ์”   จากคำพูดนี้ เราคงพอจะอนุมานได้ว่าสินค้าลิขสิทธิ์ราคาฉบับลิขสิทธิ์นั้นเป็นอย่างไร ตัวอย่าง หนังสือ Biology (Seventh Edition) ของ Neil A. Campbell และ Jane B. Reece ซึ่งเป็น International Edition ราคา 1,000 บาท มีประมาณ 1,200 หน้า หากถ่ายเอกสาร หน้าละ 50 สตางค์ ราคาก็จะลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียว หรือถ้าถ่ายทั้งเล่มอาจจะได้ราคาถูกกว่านี้ ซึ่งอาจรวมถึงคุณภาพที่ด้อยลงด้วย แต่หลายคนก็ยอมรับเรื่องนี้ได้ อาจเป็นเพราะเด็กไทยอาจจะต้องอดข้าวหลายสิบมื้อเวลาที่ต้องการจะซื้อหนังสือสักเล่ม อีกคำสัมภาษณ์จากนักศึกษาชั้นปีที่สี่ คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า เคยถ่ายเอกสารตำราเรียนภาษาต่างประเทศทั้งเล่ม เพราะราคาแพงและไม่ทราบว่าจะหาซื้อตำราเล่มดังกล่าวได้จากที่ไหน “ราคามีส่วนสำคัญมากเวลาจะซื้อหนังสือ แล้วอีกอย่าง ไม่รู้ด้วยว่าหนังสือพวกนี้หาซื้อได้จากไหน” แต่ยังมีนักศึกษาอีกหลายคนลงที่ทุนซื้อตำราเรียนต่างประเทศฉบับลิขสิทธิ์ เพราะต้องการคุณภาพ และคิดว่ามัน “คุ้มค่า”  นักศึกษาคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คนหนึ่งตอบว่า “ซื้อสิ เอาไว้ดูรูป มันจำเป็นและได้ใช้ไปตลอด”   แล้วทำไมไม่ใช้วิธียืม????นักศึกษากลุ่มที่เราไปทำการสำรวจจำนวนไม่น้อยเคยประสบปัญหาในการยืมตำราเรียนต่างประเทศ สาเหตุหลักคือห้องสมุดยังมีให้เพียงพอ   76.6% บอกว่าหนังสือที่มีในห้องสมุดไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ใช้ 72% ตอบว่าห้องสมุดไม่มีตำราเล่มที่ตนต้องการ   นักศึกษาคณะสหเวชคนเดิมพูดเกี่ยวกับการยืมว่าส่วนใหญ่จะยืมจากห้องสมุด  ตอนอยู่ปี 2 ที่เรียนวิชารวมกับคณะอื่นๆ เคยมีปัญหาเรื่องยืมตำราเรียนไม่ทันเพราะห้องสมุดมีหนังสือไม่พอ จนสอบตก “ตอนที่เรียนใหม่ ๆ ใช้วิธียืมเอาแล้วยอมเสียค่าปรับ เสียเงินร้อยสองร้อยบาทดีกว่าสอบตก” แต่ทั้งนี้พอเรียนปีสูงขึ้น ก็ไม่มีปัญหาเรื่องหนังสือในห้องสมุดไม่เพียงพอ  จากการสอบถามนักศึกษาที่เรียนสายวิทยาศาสตร์ พบว่า นักศึกษาเหล่านี้ใช้วิธีการถ่ายเอกสารและยืมจากห้องสมุด ซึ่งก็ยืมได้บ้างไม่ได้บ้าง ส่วนเหตุที่ไม่ซื้อฉบับลิขสิทธิ์นั้นก็คงเดากันได้ว่าเป็นเพราะ “ราคา” นั่นเอง  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 110 กระแสต่างแดน

เกลือต้องห้าม แม้ครั้งหนึ่งเกลือจะเคยมีค่าดั่งทองและมีเครดิตเป็นหนึ่งในรากฐานของอารยธรรมมนุษย์ แต่วันนี้เกลืออาจมีโอกาสตกอับถึงขั้นโดนห้ามใช้ในร้านอาหาร ถ้าคุณเป็นแฟนกระแสต่างแดน คงจำกันได้ว่ารัฐนิวยอร์คของอเมริกานั้นช่างเป็นรัฐที่เป็นห่วงเป็นใยสุขภาพประชากรดีจริงๆ ขณะนี้มีประชากรนิวยอร์คที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่ถึง 1.5 ล้านคน รัฐบาลท้องถิ่นที่นั่นจึงออกมารณรงค์ให้ผู้คนบริโภคเกลือให้น้อยลง โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะลดการบริโภคเกลือลงให้ได้ร้อยละ 25 ภายในเวลา 5 ปี นายฟิลิกส์ ออร์ทิส สมาชิกสภาจากเขตบรู๊คลิน เลยคิดจะจัดการกับปัญหานี้อย่างเด็ดขาดด้วยการเสนอร่างกฎหมายห้ามร้านอาหารในนิวยอร์คใช้เกลือเสียเลย ถ้าจับได้ว่าร้านไหนแอบใส่ก็จะลงโทษด้วยการปรับ 1,000 เหรียญ (ประมาณ 32,000 บาท) คุณออร์ทิสแกบอกว่าสำหรับผู้บริโภคนั้นไม่มีปัญหา ถ้าใครอยากได้รสเค็มก็เติมเองได้จากกระปุกเกลือที่มีวางไว้คู่กับกระปุกพริกไทยบนโต๊ะ จุดประสงค์ของเขาคือต้องการให้ผู้บริโภคเป็นคนที่ควบคุมปริมาณเกลือด้วยตนเอง แต่บรรดาพ่อครัวในร้านอาหารต่างก็หงุดหงิดไปตามๆ กัน พวกเขามองว่าเป็นการห้ามที่เหลวไหลที่สุด และเผลอๆ อาจจะบ่อนทำลายธุรกิจอาหารของเมืองไปด้วย คนอเมริกันบริโภคเกลือวันละ 3,400 มิลลิกรัม ซึ่งเกินจากปริมาณที่แนะนำ 2,300 มิลลิกรัมไปเยอะทีเดียว     รวยเกินไป หัวใจว้าวุ่นข่าวดีสำหรับประเทศที่ยังไม่รวยทั้งหลาย งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารอิโคโนมิก เจอร์นัล พบว่าความมั่งคั่งนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาวะของคนในชาติ อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์สองคน เคอร์ทิส อีตัน จากมหาวิทยาลัยคาลการี และมูเคช เอสวารานจากมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย เขาฟันธงว่าคนอังกฤษมีสุขภาวะที่แย่ลงสืบเนื่องจากความอยากได้อยากมี และเขาคาดว่านโยบายรัดเข็มขัดที่รัฐบาลอังกฤษจะนำมาใช้นั้นจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ อีตันและเอสวาราน เสนอแนวคิดว่าเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งมีมาตรฐานการใช้ชีวิตของประชากรที่ดีในระดับหนึ่งแล้ว การสร้างความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นให้ประชากรก็แทบจะไม่เกิดประโยชน์อะไร โดยทั่วไปเมื่อประเทศร่ำรวยเกินภาวะอยู่ดีกินดี การบริโภคของคนในชาติก็จะเปลี่ยนเป็นการซื้อสิ่งที่เรียกว่า “สัญลักษณ์ทางสถานภาพ” เช่น เสื้อผ้าแบรนด์เนม เครื่องประดับล้ำค่า หรือรถหรู มากกว่าการซื้อคุณค่าการใช้สอยตามปกติของสินค้านั้น ทฤษฎีการบริโภคเพื่อความโดดเด่น บอกว่าคนเราแสวงหา “สถานภาพ” ผ่านทางการบริโภคแบบนี้ ซึ่งคุณค่านั้นไม่ใช่คุณค่าที่แท้จริงของสิ่งที่เราบริโภค หากแต่เป็นเพราะมันทำให้คนที่บริโภคได้รู้สึกว่าตนเองแตกต่างจากคนอื่น ที่สำคัญคือคนเราจะแสวงหาสินค้าประเภทนี้กันมากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจขยายตัว รวมๆ แล้วงานวิจัยของพวกเขาช่วยยืนยันว่าเวลาที่ความมั่งคั่งโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นนั้น ประชากรจะมีเงินในกระเป๋ามากขึ้นแต่ไม่ได้มีความสุขมากขึ้นไปด้วย และเมื่อคนมุ่งแสวงหา “สัญลักษณ์ทางสถานภาพ” ที่ว่านี้ ก็จะมีเวลาใส่ใจกับเพื่อนบ้าน ชุมชนและสังคมน้อยลง ส่งผลให้ภาวะความอยู่ดีมีสุขร่วมกันลดลงไปโดยปริยาย เฮ้อ รอดตัวไป ดีนะที่ยังไม่รวย บอลลิวูดก็โดนผีหลอกไม่ใช่แค่ฮอลลิวูดเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับภัยแผ่นผี ธุรกิจภาพยนตร์อินเดียที่มีมูลค่าสูงถึง 2,300 ล้านเหรียญก็ต้องสูญเสียรายได้ไปไม่น้อยกับการลักลอบดาวน์โหลดหรือปั๊มแผ่นเช่นกัน สถานการณ์เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ในอินเดียแย่ลงฮวบฮาบ เพราะความเร็วในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่จำนวนครัวเรือนที่มีเครื่องเล่นดีวีดีก็เพิ่มจาก 4 ล้านครัวเรือน เป็น 45 ล้านครัวเรือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ข่าวบอกว่าการอัพโหลดไฟล์หนังขึ้นไปบนอินเตอร์เน็ตจะมีขึ้นทุกๆ 5 นาที และมีการประมาณการว่าภารตะชนซื้อแผ่นผิดกฎหมายประมาณปีละ 700 ล้านแผ่น สร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตแผ่นปลอมไป 330 ล้านเหรียญชิลๆ ด้านฮอลลิวูดก็ดีใจที่จะได้บอลลิวูดมาเป็นพันธมิตรในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ โดยทั้งนี้ก็จะพยายามลืมๆ ไปว่าครั้งหนึ่งเคยเคืองบอลลิวูดอยู่ไม่น้อยที่ชอบก็อปปี้หนังดังๆ ของตนเองมาทำเป็นฉบับภารตะ เพราะถ้าอินเดียสามารถปราบปรามได้ก็จะเป็นผลดีต่อตนเองไปด้วย ใครจะไม่อยากได้ตลาดอินเดียที่มีประชากร 1,000 ล้านคนที่ชื่นชอบการดูหนังเป็นชีวิตจิตใจมากกว่าที่ใดๆ ในโลก แต่คงจะเป็นงานหนักอยู่เหมือนกัน แม้ข่าวจะไม่ได้บอกว่าตั๋วหนังที่อินเดียราคาเท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆแผ่นผีซึ่งราคาประมาณ 2 เหรียญ (ประมาณ 65 บาท) ก็ทำให้คนไม่อยากเข้าโรงหนังสักเท่าไร คล้ายๆ ที่ประเทศไหนน้า.... ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ช้อปได้แม้อยู่ในห้องน้ำห้องน้ำที่สถานีรถไฟโอซาก้า ในย่านกินซ่าของญี่ปุ่นกำลังเป็นสถานที่แฮงเอาท์แห่งใหม่ของทั้งเด็กมัธยมและสาววัยทำงาน บริการห้องน้ำ “แองเจิลบี” ที่เปิดบริการมาได้ 3 ปีกว่านี้คิดค่าบริการประมาณ 100 บาทต่อหนึ่งชั่วโมง นอกจากเข้าไปทำธุระส่วนตัวแล้ว สาวๆ ยังจะสามารถนั่งจิบชาสมุนไพรชิลๆ  เรียนเทคนิคการแต่งหน้า ทำผม หรือแม้แต่เลือกซื้อชุดชั้นในกันได้ ผู้ประกอบการห้องน้ำดังกล่าวได้แก่บริษัทเวสต์ เจแปน เรลเวย์ ที่ให้บริการรถไฟในฝั่งตะวันตกของเกาะฮอนชู บอกว่าที่เปิดบริการนี้ก็เพราะได้รับเสียงเรียกร้องจากบรรดาผู้โดยสารหญิงว่าไม่มีสถานที่ให้พวกเธอได้เติมหน้าเติมปากหรือแต่งผมหลังการเดินทางยาวไกลเลย บ้างก็บอกว่าไม่มีกิจกรรมอะไรจะทำเพื่อฆ่าเวลาขณะรอรถไฟ ทุกวันนี้กิจการดีมาก สาวๆ เข้ากันหัวบันไดไม่แห้ง จนมีผู้ประกอบการอื่นๆ เข้ามาทำการตลาดกันในห้องน้ำกันด้วย เช่น พานาโซนิคก็ส่งช่างผมมืออาชีพมาแนะนำวิธีการใช้เครื่องรีดผมของตัวเอง หรือบริษัทเสื้อชั้นในวาโก้ก็มีเสื้อชั้นในรุ่นใหม่ๆ มาให้สาวๆ ได้ลอง รวมถึงชิเซโด้ที่มาตั้งเคานท์เตอร์เครื่องสำอางด้วยเช่นกัน ข่าวไม่ได้บอกว่าค่าบริการจะลดลงหรือไม่หลังจากมีสปอนเซอร์แล้ว หรือสาวๆ จะต้องเสียเงินเข้าไปทำอย่างเดียวกับที่ทำได้ในห้างโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ เลย +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ เมืองปลาที่ไม่มีปลา อีกครั้งที่ผู้บริโภคต้องเตือนตนเองว่าสิ่งที่เห็น อาจไม่เป็นจริงเสมอไป นักท่องเที่ยวมากมายที่ไปเยือนฟลอริด้าจะต้องไม่พลาดการสั่งอาหารทะเลมารับประทาน ไม่อย่างนั้นจะเหมือนไปไม่ถึง แต่ขณะนี้ชาวประมงในรัฐที่เรียกตนเองว่า “เมืองหลวงแห่งการตกปลาของโลก”  จับปลาได้น้อยลง เพราะภาวะอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติในบางช่วง รวมถึงกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นเช่นข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการจับปลา หรือชนิดของปลาที่อนุญาตให้จับได้ ชาวประมงที่นี่เคยชุมนุมประท้วงต่อต้านนโยบายเรื่องการจับปลามาแล้ว เพราะไม่ใช่แค่ห้ามจับปลาชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่เป็นการห้ามจับปลาทุกชนิดในบริเวณที่ปลาชนิดนั้นๆอาศัยอยู่ด้วย ปัจจุบันชาวประมงจำนวนไม่น้อยจึงเลิกอาชีพนี้ไป และเรือที่ลอยอยู่ในน่านน้ำฟลอริด้านั้นส่วนใหญ่เป็นพวกล่องเรือตกปลาเล่นๆ มากกว่าจะเป็นประมงตัวจริง สรุปว่าปลาที่เสิริ์ฟในร้านอาหารที่ฟลอริด้านี้เป็นปลานำเข้าจากที่อื่น เช่น แซลมอนจากนอร์เวย์หรือสก็อตแลนด์ ทูน่าครีบเหลืองและโลมาจากเอกวาดอร์ ปลาเก๋าจากเม็กซิโกหรือไม่ก็เวียดนาม เป็นต้น ทางร้านอาหารบอกว่าปลาที่ไหนมันก็ปลาเหมือนกัน(ถ้างั้นกินที่บ้านก็น่าจะได้หรือเปล่า) แต่ตามความเห็นของนักชีววิทยาทางทะเลแล้วปลาที่เดินทางไกลเหล่านี้จะมีคุณภาพลดลง หนึ่งเพราะระยะเวลาและสองกฎระเบียบที่ควบคุมการจับปลาในบางประเทศนั้นไม่เข้มงวดเท่าที่ฟลอริด้าอีกด้วย +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ร่วมใช้ร่วมจ่ายเขตปกครองพิเศษฮ่องกงประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ลดการใช้ถุงพลาสติกด้วยการเก็บภาษีถุงพลาสติกในราคาใบละ 50 เซ็นต์ ( 2 บาท) ไปเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้เขาจึงคิดจะเริ่มปฎิบัติการขั้นต่อไปในการสร้างจิตสำนึกของการบริโภคอย่างรับผิดชอบ (ค่าใช้จ่าย) ต่อไปผู้บริโภคที่ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนั้นในวันที่เราไม่ต้องการมันอีกต่อไป เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กอย่างโทรทัศน์จะมีค่าจัดการ 100 เหรียญฮ่องกง (ประมาณ 420 บาท) หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ขึ้นมาอย่างตู้เย็นจะมีค่าจัดการเพิ่มขึ้นอีกเท่าเป็น 200 เหรียญ แต่รายละเอียดนั้นเขายังเถียงกันไม่จบ เช่น ค่าธรรมเนียมที่ว่านั้นจะถูกลงหรือไม่ถ้าเราใช้มันนานขึ้นและจะเก็บค่าธรรมเนียมเท่ากันหรือไม่สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างขนาด ต่างกำลังไฟ ร้อยละ 86 ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ในฮ่องกงนั้นเป็น โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ และคอมพิวเตอร์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ระวังปัญหาแอบใช้บัตรประชาชน…ช่วงน้ำท่วม

  มีโอกาสไปประชุมกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลพบุรีเลยได้มีโอกาสฟังปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในจังหวัด ซึ่งเป็นปัญหาเก่าแก่ที่เกิดขึ้นมานานคือ การแอบนำสำเนาบัตรประชาชนไปใช้ทำกิจการอย่างอื่นๆ เรื่องมีอยู่ว่าชาวบ้านจำนวนสามสิบกว่าคนได้นำสำเนาบัตรประชาชนไปให้ผู้ใหญ่บ้านเพื่อขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร แต่วันดีคืนดีก็พบว่า สมาชิกในกลุ่มทั้งสามสิบกว่าคนเป็นหนี้กันถ้วนหน้าคนละหลายแสนบาท เรื่องแดงขึ้นเพราะถูกโทรศัพท์ทวงเงินว่าไปกู้เงินกับเขาไว้แล้วทำไมไม่จ่ายคืน แถมถูกแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจ ตำรวจพาซื่อนัดผู้เสียหายไปข่มขู่ให้เสร็จว่า เป็นหนี้เขาแล้วก็ต้องจ่าย จะทำบันทึกจ่ายกันยังไงก็ว่ามา เจอเรื่องแบบนี้กับเรา หากไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่มีความรู้คงปวดหัวและวุ่นวายมากพอควร แต่เผอิญสามสิบกว่าคนนี้โชคดี จังหวัดลพบุรีมีศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เลยมีคนนำเรื่องมาเล่าให้ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ ฟังก็ได้สืบสาวเรื่องราวจนทำให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ลูกสะใภ้ผู้ใหญ่บ้านได้นำสำเนาบัตรประชาชนของคนที่ไปขึ้นทะเบียนไปทำสำเนาเพิ่มเติมแล้วปลอมลายเซ็นต์ไปกู้เงิน และน่าจะรับรู้ร่วมกันระหว่างคนแอบไปกู้กับคนให้กู้ โดยอาจจะเคยดำเนินการแบบนี้มาก่อนหรือไม่ ในอดีตเราอาจจะมีปัญหาเรื่องนี้เพราะนำบัตรประชาชนไปขอใช้โทรศัพท์มือถือเรียกว่านอนอยู่บ้านเฉยๆ ก็เป็นหนี้ หรือบางคนก็กลายเป็นสมาชิกพรรคการเมืองกันไป กรณีนี้เมื่อศูนย์ฯ เข้าไปให้การช่วยเหลือนอกจากไม่ต้องจ่ายเงินเพราะไม่ได้กู้แล้ว ยังได้แจ้งความดำเนินคดีกับลูกสะใภ้ผู้ใหญ่บ้านว่า ใช้เอกสารทางราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต และฉ้อโกงประชาชน ช่วงนี้หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและรัฐบาลได้มีมติให้เยียวยาความเสียหาย ซึ่งในคอลัมน์นี้เราคงไม่ถกเถียงเรื่องจำนวนที่จ่ายว่ามากน้อยเพียงพอหรือไม่เพียงใด แต่ทุกครั้งในการดำเนินการก็ต้องใช้บัตรประชาชนเป็นหลักฐาน อย่าลืมคิดถึงเรื่องนี้ไว้เป็นบทเรียน การใช้สำเนาบัตรประชาชนต้องระบุให้ชัดเจนว่าเพื่อวัตถุประสงค์อะไร และกรุณาเขียนให้ชัดเจนในการใช้งานและเขียนระบุบนรูปของตนเองไม่ต้องกลัวว่ารูปจะไม่สวยหรือมองไม่เห็นเพราะมิเช่นนั้น อาจจะมีผู้ไม่หวังดีนำสำเนาไปใช้ประโยชน์เพื่อการอื่นและอาจจะลำบากและเจ็บตัวภายหลังได้ ให้กำลังใจกับผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 ปัญหาลิขสิทธิ์ เมื่อเข้าสู่ยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ในเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ สำหรับบทความในวันนี้ จะขออธิบายสถานการณ์การแพร่ภาพโทรทัศน์ ของประเทศเยอรมนี ที่มีการเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณทีวีจากระบบอนาลอก มาเป็นระบบดิจิตอล สมบูรณ์แบบ และมีการหลอมรวมเทคโนโลยี คือประชาชนสามารถเลือกชมรายการโทรทัศน์ผ่านเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ และรับชมรายการผ่านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่เรียกว่า ทีวีออนไลน์ได้ทั้งสองช่องทาง ความสะดวกในการรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านทางอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงนั้นเป็นที่นิยมในเยอรมันอย่างมาก เพราะสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ได้ทุกที่ และทุกเวลา สามารถเลือกชมรายการที่แพร่ภาพผ่านไปแล้วก็ได้ และที่น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับการชมรายการผ่านระบบอินเตอร์เน็ตคือ สามารถบันทึกรายการต่างๆ ที่ชื่นชอบ เพื่อนำมาดูกี่ครั้งๆ ก็ได้เช่นกัน สำหรับการนำรายการที่เผยแพร่ออกอากาศมาบันทึกเก็บไว้ เป็นการส่วนตัวนั้น  สมัยก่อนก็เคยเกิดคดีฟ้องร้องระหว่างบริษัทที่สร้างหนังของฮอลลิวูด กับบริษัทโซนี่ เนื่องจากบริษัทที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ เกรงว่าความสามารถในการบันทึกเนื้อหาลงบนวิดีโอเทปนั้น จะทำให้รายได้ของบริษัทผู้สร้างหนังลดลง เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของตนเอง คดีฟ้องร้องดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 35 ปีที่แล้วเป็นที่ฮือฮาในประเทศสหรัฐอเมริกา คดีประวัติศาสตร์นี้มีชื่อว่า Betamax-Case และผลของคำตัดสินของศาลฎีกาสูงสุด (US supreme court) ได้ตัดสินให้โซนี่ชนะคดี ทำให้เรา(ผู้ที่ชื่นชอบการดูหนัง) สามารถบันทึกภาพยนตร์ลงบนวิดีโอเทปได้ เพื่อนำมาชมซ้ำเป็นการส่วนตัว 35 ปีให้หลังเกิดคดีลักษณะคล้ายๆ กันในประเทศเยอรมนี เนื่องจากสถานีโทรทัศน์เอกชนยักษ์ใหญ่สองช่อง คือ RTL และ SAT1 กำลังดำเนินคดีฟ้องร้องเวบไซต์ที่ให้บริการ การบันทึกการแพร่ภาพอัตโนมัติผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (Online Recorder) เนื่องจากในเยอรมันมีเวบไซต์ให้บริการการบันทึกรายการอัตโนมัติ คือ Save.tv และ Bong.tv เวบไซต์ดังกล่าวสามารถค้นหารายการโทรทัศน์ และบันทึกรายการแบบอัตโนมัติผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ทั้งสองช่องมักจะมีรายการดีๆ กีฬาดี และซีรีส์ดีๆ มานำเสนอต่อผู้ชม จึงมีจำนวนเรตติ้งค่อนข้างสูงกว่าช่องทีวีสาธารณะ ใครที่เป็นสมาชิก save.tv หรือ Bong.tv สามารถตั้งโปรแกรมให้บันทึกเนื้อหาได้แบบอัตโนมัติ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดอินเตอร์เน็ตทิ้งไว้เลย เมื่อโปรแกรมทำการบันทึกรายการเสร็จแล้ว ผู้ชมสามารถที่จะชมรายการออนไลน์ โดยการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต หรือสามารถดาวน์โหลดรายการที่ชื่นชอบเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว แล้วอยากจะชมรายการตอนไหนก็ได้ เนื่องจากทางฝั่งสถานีโทรทัศน์เกรงในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงได้ฟ้องเวบไซต์ที่ให้บริการดังกล่าว แต่ศาลสูงของเยอรมันได้ตัดสินให้เวบไซต์ที่ให้บริการ Online Recorder ชนะคดี โดยให้เหตุผลว่าการบันทึกรายการโทรทัศน์ดังกล่าวเป็นไปเพื่อการใช้งานส่วนบุคคล (BGH, Az. I ZR 215/06 และ I ZR 175/07 ราคาการสมัครเป็นสมาชิกของเวบไซต์ online recorder ดังกล่าวก็ไม่แพง เพียง 10 ยูโรต่อเดือน ซึ่งถูกกว่าค่าธรรมเนียมบำรุงทีวีสาธารณะ ซึ่งเป็นหน้าที่ ที่ทุกครอบครัวต้องจ่ายสมทบให้กับ สำนักงานจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบริโภคสื่อสาธารณะ (Die Gebühreneinzugszentrale GEZ) ในราคา 18 ยูโร ถึงแม้สถานีโทรทัศน์เอกชนทั้งสองช่องจะแพ้คดี แต่ก็ยังไม่ลดละความพยายาม  โดยที่จะปิดช่องว่างทางธุรกิจการบันทึกรายการออนไลน์ ก็ได้มีแผนที่จะสร้าง Mediathek (คลังของรายการโทรทัศน์ที่ได้ออกอากาศไปแล้ว) เนื่องจากรายได้ที่สำคัญของสถานีโทรทัศน์และรายการขึ้นอยู่กับเรตติ้ง การเข้าชมรายการ หากทางสถานีไม่เสนอบริการนี้ ก็จะเสียประโยชน์ตรงส่วนนี้ไป ในประเด็นข้อกฎหมายการบันทึกรายการโทรทัศน์อีกประเด็นหนึ่ง ที่ยังอยู่ในการฟ้องร้องระหว่างเวบไซต์ให้บริการ online recorder กับสถานีโทรทัศน์ ก็คือ เวบไซต์ onlinetvrecorder.com มี option การดึงรายการจากโทรทัศน์ที่ผู้ชมเองไม่ได้ทำการบันทึกเก็บไว้ ตรงนี้เลยกลายเป็นประเด็นว่าอาจละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ ซึ่งคดีนี้ยังอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลอยู่ ในอนาคตองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคอาจต้องเข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำ ในประเด็นนี้ครับ เพราะการละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ผู้บริโภคมักจะเสียค่าปรับ หรือค่าเตือนเป็นวงเงินที่สูงมาก ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ผู้บริโภคสื่อในยุโรปประสบปัญหาอยู่ครับ ที่มา (Finanztest 9/2012)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 111 ลิขสิทธิ์ = ปิดโอกาส?

ส่วนใหญ่แล้วเมื่อเราพูดถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์เรามักจะได้ยินกันจนชิน คือเรื่องของเทปผี ซีดี/ดีวีดีเถื่อน ที่ว่าด้วยการสูญเสียผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างสำนักพิมพ์ ค่ายหนัง ค่ายเพลง ฯลฯ เสียมาก แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เรายังไม่ค่อยได้พูดถึงกันมากนักคือเรื่องของลิขสิทธิ์จากมุมมองของผู้บริโภค เช่นเรื่องของโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ จากงานอันมีลิขสิทธิ์ที่มีราคาแพงเกินกว่าที่ผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถซื้อได้ หรือสิทธิในการทำสำเนาเพื่อแบ่งปันงานลิขสิทธิ์ที่ผู้บริโภคได้ซื้อมาอย่างถูกต้อง รวมถึงการขาดการสนับสนุนจากรัฐให้มีการสร้างหรือใช้ประโยชน์จากงานที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการแบ่งปันอีกเป็นต้น การปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ค่อนไปทางการรักษาผลประโยชน์ของภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการขยายขอบเขต/ระยะเวลาการคุ้มครอง การเพิ่มระดับการปราบปราม ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้วัสดุเพื่อการเรียนรู้มีราคาแพงขึ้นหรือหาได้ยากขึ้นสำหรับในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังต้องอาศัยการต่อยอดจากงานที่มีการสร้างสรรค์ไว้ก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ผู้บริโภคยังถูกปฏิเสธเสรีภาพในการใช้สินค้าในแบบที่ควรจะสามารถทำได้อีกด้วย ว่าแล้วเรามาดูกันว่าถึงวันนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไหนจะรักษาสมดุลระหว่างการรักษาผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์กับการเข้าถึงความรู้ของผู้บริโภคได้ดีกว่ากัน A2K Global surveyสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ได้ทำการสำรวจความเป็นมิตรต่อผู้บริโภคของกฎหมายลิขสิทธิ์ของ 34 ประเทศจากทั่วทุกภูมิภาคของโลกในประเด็นต่อไปนี้ • ขอบเขต/ระยะเวลาคุ้มครอง  • อิสระในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ • เสรีภาพในการแบ่งปันและถ่ายโอน • การบริหารจัดการและบังคับใช้กฎหมายเราพบว่า• ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 30 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามมีกฎหมายที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคมากกว่า (ในอันดับที่ 13 19 และ 20 ตามลำดับ)• สถานภาพทางเศรษฐกิจหรือระดับการพัฒนาไม่ใช่ตัวแปรชี้วัดการมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ สวีเดน อเมริกา บังคลาเทศและอินโดนีเซียต่างก็อยู่ในสิบอันดับต้น  ในขณะที่อังกฤษและเคนย่าต่างก็เป็นหนึ่งในสิบอันดับยอดแย่• ประเทศส่วนใหญ่ยังทำคะแนนได้น้อยในเรื่องของเสรีภาพในการแบ่งปันและถ่ายโอน  ซึ่งหมายความว่า ประเทศเหล่านี้ควรเพิ่มงบประมาณในการส่งเสริมการสร้างงานที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ สนับสนุนการใช้ ครีเอทีฟ คอมมอน และซอฟท์แวร์แบบโอเพ่นซอร์ส และใช้ประโยชน์จากงานที่ยังไม่มีผู้อ้างสิทธิ์ให้มากขึ้น• โดยรวมแล้วสิ่งที่ประเทศเหล่านี้ทำได้ดีก็คือเรื่องของการเข้าถึงและการใช้โดยสื่อมวลชน (แต่เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคน้อยมาก เพราะสื่อเหล่านี้มีงบประมาณไว้สำหรับจ่ายค่าลิขสิทธิ์อยู่แล้ว) Top ten ประเทศที่มีกฎหมายลิขสิทธิ์และการบังคับใช้ที่เอื้อต่อการเข้าถึงความรู้มากที่สุด 10 อันดับ1. อินเดีย2. เลบานอน3. อิสราเอล4. สหรัฐอเมริกา5. อินโดนีเซีย 6. อัฟริกาใต้7. บังคลาเทศ 8. โมรอคโค 9. สวีเดน 10. ปากีสถาน กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศเหล่านี้ ระบุข้อยกเว้นไว้อย่างกว้างๆ ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานจากงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ สหรัฐอเมริกาและอิสราเอล เรียกข้อยกเว้นนี้ว่า “การใช้งานอย่างเป็นธรรม” ในขณะที่สวีเดนและเลบานอนเรียกว่า “การทำสำเนาเพื่อการใช้ส่วนตัว” (โดยไม่ได้ระบุว่าเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น ดังนั้นจึงสามารถใช้เพื่อการบันเทิงได้ด้วย) Bottom tenประเทศที่มีกฎหมายลิขสิทธิ์และการบังคับใช้ที่เอื้อต่อการเข้าถึงความรู้น้อยที่สุด 10 อันดับ1. ชิลี2. จอร์แดน 3. อังกฤษ 4. เคนยา5. ไทย6. อาร์เจนตินา7. บราซิล8. แซมเบีย9. อียิปต์ 10. ญี่ปุ่น   ประเทศไทยได้เกรดเฉลี่ย C- โนอา เมทธินี  นักกฎหมายอาสาสมัครของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นนักวิจัยที่ทำการวิเคราะห์กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทยในการสำรวจครั้งนี้บอกว่า โดยภาพรวมแล้วกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยยังไม่มีมาตรการในการรับมือกับการพัฒนาการทางเทคโนโลยีในสื่อใหม่ๆที่เกิดขึ้น เช่น การดาวน์โหลดผ่านอินเตอร์เนท รวมถึงยังไม่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้พิการในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่างๆ เขาตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อไรก็ตามที่เราจะมีการแก้กฎหมายเพื่อลดช่องว่างดังกล่าว เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ผู้บริโภคไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะประเทศไทยยังต้องการทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอย่างอเมริกาหรือกลุ่มประเทศอียู ซึ่งต้องการกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มขึ้น  ขณะนี้นักศึกษาสามารถทำสำเนาตำราเรียนเพื่อใช้ส่วนตัวได้ แต่ในอนาคตเมื่อมีการปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว การจะทำสำเนาได้จะต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนและยากขึ้น  ----- หมายเหตุ  ถ้าดูจากตาราง สหรัฐอเมริกาซึ่งจะทำข้อตกลงทางการค้ากับเราและเรียกร้องให้เรามีกฎหมายลิขสิทธิ์เข้มขึ้นนั้น ให้อิสระกับประชาชนในประเทศในการทำสำเนา และคัดลอกไฟล์ มากกว่าบ้านเรามากทีเดียว ประโยชน์ของภาคธุรกิจกับสิทธิผู้บริโภค ... สมดุลที่ต้องตามหา ภาคธุรกิจมักอ้างว่าควรมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เข้มไว้ก่อน เพราะไม่เช่นนั้นจะได้รับความเสียหายจากเทคโนโลยีการแชร์ไฟล์ทางเน็ท แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการแชร์ไฟล์เป็นสาเหตุหลักของการขาดทุนของธุรกิจเพลง แต่มีหลักฐานว่าของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เพิ่มขึ้นสูงอย่างเป็นประวัติการณ์ในปี 2552 --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ทางเลือกของภาคธุรกิจ• ในแคนาดา สมาคมนักแต่งเพลงของแคนาดาเสนอให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมรายเดือน เพื่อให้คนสามารถแบ่งปันเพลงกันได้อย่างถูกกฎหมาย • บริษัทวอร์เนอร์สาขาประเทศจีน ออกแผ่นดีวีดีไม่กี่วันหลังภาพยนตร์ออกฉาย โดยจำหน่ายในราคาแผ่นละ 70 บาท• หลายประเทศให้ผู้บริโภคได้ฟังเพลงหรือดูภาพยนตร์ผ่านแพลทฟอร์มดิจิตัลด้วยค่าบริการที่สมเหตุสมผล เช่น Spotify (www.spotify.com)  หรือ Hulu (www.hulu.com) เป็นต้น • ปล่อยฟรีไปเลย หรือที่เรียกกันว่าเป็นผลงานสังกัดค่ายเพลงอินเตอร์เน็ท (netlabel)  เช่น เพลงของ Radio Head หรือ Nine Inch Nails ซึ่งการปล่อยฟรีในที่นี้เท่ากับเป็นการโปรโมทให้ผลงานของตนเองเป็นที่รับรู้โดยผู้ฟังจำนวนมาก --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- COPY COPY COPY  เมื่อการทำสำเนามีค่าใช้จ่าย  ในแคนาดา เสปน ยูเครน สวีเดน จะคิดภาษีเพิ่มในอุปกรณ์เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ และที่ใช้สื่อบันทึก อย่างแผ่นซีดี ดีวีดีเปล่า เป็นต้นแต่นั่นยังเข้มไม่เท่าที่อิตาลี ที่ผู้บริโภคแต่ละครัวเรือนจะต้องจ่ายเงินเพิ่มถึง 100 ยูโร (ประมาณ 4,000 บาท) เพื่อ “สิทธิในการทำสำเนาเพื่อใช้เอง” ซึ่งได้แก่ภาษีที่ต้องเสียเมื่อซื้อซีดี ดีวีเปล่า เมมโมรี่สติ๊ก หรือมือถือมัลติมีเดีย และค่าธรรมเนียมในการดาวน์โหลดจากร้านเพลงออนไลน์ และภาษีที่ต้องจ่ายเมื่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ (ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ในการทำสำเนาด้วย) เราคงไม่ปฏิเสธว่าสังคมจะยั่งยืนได้ถ้าทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้โดยไม่ถูกจำกัด และสามารถร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะได้  ติดตามการรณรงค์เพื่อการเข้าถึงความรู้ของสหพันธ์ผู้บริโภคสากลและความเคลื่อนไหวขององค์กรสมาชิกได้ที่ http://a2knetwork.org/ ---พบกับผลสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาไทย เรื่องของอุปสรรคในการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ ในฉลาดซื้อฉบับ 112 (มิถุนายน)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point