ฉบับที่ 275 โดนคิดค่าสินค้าไม่ตรงกับป้ายราคา

        เชื่อว่าผู้บริโภคหลายๆ คน เมื่อถึงเวลาต้องจับจ่ายใช้สอยสินค้าเข้าบ้าน การไปเดินห้างค้าปลีกหรือเดินไปซูเปอร์มาร์เก็ตน่าจะเป็นตัวเลือกแรกๆ เพราะมีสินค้าครบครันในราคาที่อาจมีลด มีแถม แต่หากเมื่อถึงเวลาจ่ายเงิน “ราคาที่จ่าย ดันไม่ตรงกับราคาป้าย” คงเป็นเรื่องที่ไม่โอเคเลยใช่ไหมล่         เหมือนกับคุณจู ที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เธอเล่าว่าได้ไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งแถวบ้าน วันนั้นเธอได้ซื้อเห็ดชิเมจิ ยี่ห้อ Mao Xiong มา 1 ถุง ราคาที่ติดตามป้ายบนชั้นวาง 9 บาท แต่พอถึงเวลาจ่ายเงิน ราคาเห็ดที่ติดป้ายว่า 9 บาท ราคาจริงดัน 13 บาท อ้าว...ไม่ตรงตามป้ายที่ติดซะงั้น! เธอจึงมาสอบถามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าแบบนี้คือการหลอกลวงประชาชาชนหรือไม่ และควรทำอย่างไรดี?                แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ติดต่อไปหาผู้ร้อง เธอแจ้งว่าหลังเกิดเหตุการณ์ได้ให้พนักงานตรวจสอบราคาสินค้าอีกครั้ง เนื่องจากราคาไม่ถูกต้องและทางพนักงานก็ยอมแก้ไขใบเสร็จให้ถูกต้องและคืนเงินเรียบร้อยแล้ว เธอจึงไม่ติดใจอะไร เนื่องจากทางซูเปอร์มาร์เก็ตก็ได้แก้ไขปัญหาให้เธอแล้ว         แต่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยากแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้บริโภคบางรายที่เจอปัญหานี้เช่นกัน ดังนี้หากเจอกรณีราคาสินค้าไม่ตรงตามป้าย สามารถโทรร้องเรียนไปที่สายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทำการร้องเรียน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ อย่าลืมถ่ายรูปราคาบนป้ายสินค้า และเก็บใบเสร็จที่จ่ายเงินเพื่อเป็นหลักฐานอีกด้วยในการร้องเรียนอีกด้วย เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมาย         สำหรับ ผู้ที่แจ้งเบาะแสนั้น ทางหน่วยงานมีรางวัลนำจับให้ ในกรณีมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งผู้ร้องจะได้รับรางวัลนำจับร้อยละ 25 ของค่าปรับ         นอกจากนี้ อย่าลืมรักษาสิทธิผู้บริโภคของตัวเองด้วยการตรวจเช็กราคาความถูกต้อง สินค้าที่ซื้อครบถ้วนหรือไม่ ก่อนออกจากร้านทุกครั้งจะดีที่สุด              

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 ถูกหลอกจากสินค้าส่งปลายทางไม่ตรงปก

        ปัจจุบันประชาชนตกเป็นเหยื่อขบวนการเปิดเพจส่งพัสดุหลอกเก็บเงินปลายทางทุกวัน ทั้งที่ตำรวจตามจับไม่เว้นวัน และสื่อต่างๆ ก็ได้เผยแพร่ข่าวผู้เสียหายมาตลอด แต่ด้วยมิจฉาชีพก็ปรับเปลี่ยนใช้วิธีการใหม่ๆ ทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอ เช่น กรณีของคุณสุวิมล         ภายในเดือนพฤศจิกายนเดือนเดียว คุณสุวิมลตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่เปิดเพจหลอกขายสินค้าไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก คุณสุวิมลสั่งซื้อผ้าห่มนวม ราคาผืนละ 400 บาท แต่เมื่อสินค้ามาส่งจริงกลับเป็นผ้าขนหนูผืนเล็กๆ 1 ผืน และครั้งล่าสุดเมื่อศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน คุณสุวิมลต้องการหารองเท้ามาใส่ทำงานแบบเร่งด่วนฉุกเฉิน จึงหาร้านที่สามารถจัดส่งได้ภายใน 1 วันและราคาไม่เกิน 200 บาท เมื่อค้นหาในเฟสบุ๊ค จู่ๆ ก็มีเพจร้านขายรองเท้ามาให้คุณสุวิมลเห็นเองอยู่บ่อยครั้ง เธออดไม่ได้เลยกดเข้าไปดูและเห็นรองเท้าแบบที่เธอกำลังหาอยู่มากมาย เมื่อดูรายละเอียดแล้วก็เห็นว่า เพจรายงานว่ามีสินค้าที่ขายแล้วจำนวนมากและอัพเดตสินค้าใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง คุณสุวิมล ทักไปสอบถามระยะเวลาการจัดส่ง แอดมินเพจก็ได้ถาม “คุณสุวิมลอยู่จังหวัดอะไร”  เมื่อตอบว่า อยู่จังหวัดอยุธยา แอดมินเพจจึงบอกว่า “สามารถจัดส่งให้สินค้าไปถึงได้ภายใน 1 วัน ”  เมื่อประกอบกับสินค้าราคารวมจัดส่งแล้วไม่เกิน 200 บาท คุณสุวิมลคิดว่าราคาสินค้าไม่สูง มิจฉาชีพน่าจะหลอกเอาเงินจำนวนมากกว่านี้จึงหลงเชื่อและสั่งรองเท้าไป 1 คู่          รองเท้าที่คุณสุวิมลสั่งเป็นรองเท้าผ้าใบสีขาว ลายสีฟ้าเบอร์ 38 แต่เมื่อพนักงานส่งของมาส่งวันเสาร์ที่ 25 พ.ย. คุณสุวิมลแกะกล่องออกมา  กลับเป็นรองเท้าหนัง สภาพเก่ามากเบอร์ 44 คุณสุวิมลจึงบันทึกวิดีโอตอนเปิดกล่องส่งให้ทางเพจดูว่าได้รับสินค้าไม่ตรง  แอดมินเพจเข้ามาอ่านแต่ไม่ตอบกลับข้อความใดๆ จึงสุวิมลจึงรู้แน่ว่า เธอถูกหลอกอีกแล้ว       แนวทางการแก้ไขปัญหา        เมื่อผู้บริโภค รู้ว่าซื้อสินค้าและถูกหลอก  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1.เก็บหลักฐาน ข้อมูล ให้มากที่สุด เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน เช่น เบอร์โทรศัพท์ผู้ขาย , ภาพหน้าร้านเพจ, โปรไฟล์ของพ่อค้าแม่ค้า,บัญชี, ธนาคารที่โอนเงินไป, สลิป และ การโอนเงินชำระค่าสินค้า         2. โทรแจ้งธนาคารอาญัตบัญชีของมิจฉาชีพทันที  เมื่อรู้ตัวว่าถูกโกง ผู้บริโภคสามารถโทรศัพท์ไปที่ศูนย์รับแจ้งเหตุ ภัยทางการเงิน จากมิจฉาชีพ ของธนาคารต่าง ๆ ได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง (โดยที่ไม่จำเป็นต้องแจ้งความก่อน) ซึ่งเป็นไปตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี         3. ไปแจ้งความทันที และแจ้งธนาคาร        โดยแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า “ขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด” อย่าทำเพียงลงบันทึกประจำวันเด็ดขาด! หรือแจ้งความออนไลน์ที่  www.thaipoliceonline.com         4. ประสานงาน ติดต่อแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ เพื่อนำหลักฐานการแจ้งความ เพื่อแจ้งประสานงานขอข้อมูลมิจฉาชีพ ที่ใช้ทำการสมัคร และเพื่อให้ เพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ ในการตามตัว รวมทั้งเพื่อให้ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการยกระดับความปลอดภัยของผู้ขายสินค้าด้วย             5.ส่งข้อมูลที่ได้เพิ่มมาให้กับตำรวจ เพื่อตามตัว  ถ้าได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว ก็นำหลักฐานส่งต่อให้กับทางตำรวจเพื่อประสานงานออกหมายเรียก ตามตัว หรือหมายศาลไปยังมิจฉาชีพ เพื่อดำเนินคดีความในลำดับต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ระวัง มิจฉาชีพหลอกเหยื่อให้โอนเงินเพื่อทำงานโปรโมตสินค้า

        ปัจจุบันการทำงานโปรโมตสินค้าในตลาดออนไลน์มีหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ Affiliate Marketing ซึ่งทำงานคล้ายเป็นนายหน้าและมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่น เมื่อแนะนำสินค้าหรือบริการบนสื่อออนไลน์ต่างๆ พร้อมแปะลิงก์ (URL) สินค้าหรือบริการไว้แล้วมีคนคลิกเข้าไปซื้อผ่านลิงก์นั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทที่ทำการตลาดในรูปแบบนี้จะเปิดให้สมัครฟรี ดังนั้นหากเจอบริษัทไหนเก็บเงินค่าสมัครหรืออ้างเหตุผลใดๆ ที่ให้คุณต้องโอนเงินไปให้ก่อน รีบเหยียบเบรกไว้เลย เพราะคุณอาจจะเจอโจรในคราบนักบุญที่ใช้วิธีหมุนเงินแบบแชร์ลูกโซ่มาหลอกเชิดเงินไปเนียนๆ เหมือนอย่างที่คุณเชอร์รี่เพิ่งเจอ        เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คุณเชอรี่สนใจหารายได้ทางออนไลน์ จึงไปสมัครเป็นตัวแทนช่วยโปรโมตสินค้าหรือบริการในรูปแบบ Affiliate กับ บริษัท เอฟฟิลิเอท ประเทศไทย ซึ่งมีเงื่อนไขว่าเธอจะต้องโอนเงินไปให้ตัวแทนบริษัทก่อนเพื่อซื้อสินค้า เมื่อทำงานแล้วเธอจะได้ค่าคอมมิชชั่นคืนพร้อมค่าสินค้าที่จ่ายไป ในตอนนั้นคุณเชอรี่ยอมทำตามข้อตกลงนี้โดยไม่ได้เอะใจอะไร เมื่อเธอโอนเงินไปครั้งแรกแล้ว หลังจากนั้นก็ได้เงินคืนมาพร้อมค่าคอมมิชชั่นจริงๆ ต่อมาเธอจึงไม่อิดออดเมื่อตัวแทนแจ้งให้เธอโอนเงินไปก่อนเหมือนเดิม เธอโอนเงินไปแล้ว 3 รอบ และได้ค่าคอมมิชชั่นพร้อมเงินคืนมาครบทุกรอบ         จนล่าสุด เมื่อตัวแทนบอกให้เธอโอนเงินเข้าบัญชีที่เป็นชื่อบุคคลหลายครั้ง จำนวนรวมแล้ว 50,000 กว่าบาท แต่รอบนี้เธอกลับไม่ได้รับเงินคืน เมื่อทวงถาม ทางตัวแทนอ้างว่าเธอจะต้องทำงานให้ครบตามที่กำหนดก่อนจึงจะโอนเงินให้ได้ ซึ่งเธอแย้งกลับไปว่าตอนสมัครไม่เห็นมีการแจ้งเงื่อนไขนี้ไว้เลยและขอเงินคืนทั้งหมด แต่ทวงแล้วทวงอีกก็ยังไม่ได้เงินคืน เธอเชื่อว่าคงโดนมิจฉาชีพหลอกซะแล้ว จึงโทรศัพท์มาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าต้องทำอย่างไรถึงจะได้เงินคืนมา แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้คุณเชอรี่รีบโทร.แจ้งธนาคารเพื่ออายัดธุรกรรม(อายัดบัญชีปลายทาง)ทันที และเข้าไปลงทะเบียนและแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://thaipoliceonline.com/ ของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.) หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อกลับไปและแนะนำขั้นตอนต่างๆ ที่จะต้องทำต่อไป         ในกรณีนี้ หากคุณเชอรี่เอะใจเร็วกว่านี้ และแจ้งเรื่องไปยัง ศปอส.ภายในระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงหลังถูกหลอกถูกโกง ก็อาจทำให้มีโอกาสได้เงินคืนค่อนข้างมาก เพราะยิ่งปล่อยระยะเวลาให้นานออกไป การติดตามเส้นทางทางการเงินก็จะยากขึ้น ซึ่งทำให้โอกาสที่จะได้เงินคืนน้อยลง         อย่างไรก็ตาม การสมัครทำงานหารายได้ทางออนไลน์ในรูปแบบใดก็ตาม ควรเลือกบริษัทที่มีประวัติน่าเชื่อถือ ศึกษาข้อมูล วิธีการทำงาน และเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนอย่างรอบคอบทุกครั้ง หลีกเลี่ยงงานที่ต้องให้โอนเงินไปก่อน จะได้ไม่เสี่ยงเจอมิจาฉาชีพมาหลอกแล้วเชิดเงินหนีเข้ากลีบเมฆไป     

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 266 สั่งของได้ไม่ตรงปก “ซื้อไอแพด แต่ได้ถ้วยกระเบื้องแทน”

        การสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์แล้วได้สินค้าไม่ตรงปก ปัจจุบันมีผู้บริโภคหลายคนคงจะเจอปัญหาเหล่านี้กันเยอะ  อาชญากรรมทางออนไลน์ ระหว่างเดือน มีนาคม  2565 – กุมภาพันธ์ 2566 มีสถิติการแจ้งความถึง  192,031 คดี และเสียหายสูงสุด 100 ล้านบาท และกลโกงอาชกรรมที่ติดอันดับแรกๆ คือ การลวงหลอกให้ซื้อสินค้าทางออนไลน์         เรื่องราวของผู้ร้องรายนี้ ก็เช่นกัน เกี่ยวกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้ของไม่ตรงปก คุณน้ำตาลเธอได้เล่าให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา คุณน้ำตาลได้สนใจที่จะซื้อ “ไอแพดมือสอง” เพื่อที่จะเอามาไว้ใช้งาน จึงได้ลองเข้าไปค้นหาดูในเฟซบุ๊ก ซึ่งมักจะมีหลากหลายรุ่นให้เธอได้เลือกซื้อได้ พอเลือกไป เลือกมา คุณน้ำตาลก็เกิดสนใจในรุ่นไอแพด เจน 9 มือสอง ในราคา 3,600 บาท เธอเลยตกลงซื้อทันทีและเลือกแบบเก็บเงินปลายทางเอา         จากนั้นเธอก็รอวันที่สินค้ามาถึง  ผ่านไปไม่กี่วันสินค้าที่เธอสั่งก็มาถึงที่หมายและได้จ่ายเงินเรียบร้อย พร้อมเปิดพัสดุในกล่องทันที แต่...ก็ต้องตกใจอีกของที่ได้กับไม่ตรงกับที่สั่งเลยสักนิดเดียว เป็นเพียงถ้วยกระเบื้องจำนวน 4 ใบ แพ็คมาในกล่อง ยังไม่พอแถมถ้วยกระเบื้องที่ส่งมายังแตกไปอีก 2 ใบ อย่างไรก็ตาม คุณน้ำตาลยังใจดีสู้เสือ ลองติดต่อไปตามที่อยู่ข้างกล่องเพื่อจะได้เจรจากับผู้ขายได้ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถติดต่อได้ ทีนี้ล่ะเธอโดนหลอกแน่แท้แล้วสิ จึงได้ติดต่อมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอแนวทางในการแก้ปัญหา แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีคำแนะนำตามนี้         1. ซื้อสินค้าทางออนไลน์แล้วชำรุดบกพร่องหรือได้ไม่ตรงปก ให้ทางผู้ร้องลองติดต่อกับผู้ขายให้รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ได้แก่ การขอเปลี่ยนสินค้าหรือการขอเงินคืน         2. ถ้าได้ดำเนินการตามข้อมูลข้างต้นแล้วพบว่า ไม่สามารถตกลงกันได้หรือติดต่อทางร้านค้าไม่ได้ ผู้ร้องต้องดำเนินการโดยไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ โดยนำหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปด้วย เช่น            2.1 ใบสั่งซื้อสินค้า            2.2. ข้อมูลร้านค้า ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับร้านค้า            2.3 ถ่ายรูปร้านค้าและเก็บสินค้าไว้เป็นหลักฐาน            2.5 หลักฐานในการโอนเงิน สลิปโอนเงิน เลขที่บัญชีของใคร                 3. หากเป็นการโอนเงินผ่านธนาคาร ผู้ร้องสามารถไปขอใบอายัดบัญชีที่มีรูปตราครุฑเพื่อไปอายัดบัญชีที่ธนาคารเพื่อไม่ให้คู่กรณีสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้         นอกจากนี้ ช่องทางหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถไปร้องเรียนได้โดยตรง มีดังนี้             ·     สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเลคทรอนิกส์ สายด่วน 1212             ·     สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599            ·     กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สายด่วน 1195         ทั้งนี้ ยังสามารถฟ้องร้องทางออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ https://efiling3.coj.go.th/citizen/ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 กระแสต่างแดน

ถูกใจสิ่งนี้        ชาวเน็ตจีนแห่สรรเสริญมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหูหนาน ที่ใช้วิธีการอันแยบยลในการช่วยเหลือนักศึกษาที่มีปัญหาทางการเงิน         จากการวิเคราะห์ข้อมูล “บิ้กดาต้า” เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินซื้ออาหารกลางวันของนักศึกษา 40,000 กว่าคน มหาวิทยาลัยพบว่ามีอย่างน้อย 2,000 คน ที่กินข้าวในโรงอาหารวันละ 3 มื้อ โดยใช้เงินไปไม่ถึง 11 หยวน (ประมาณ 55 บาท)         มหาวิทยาลัยจะพิจารณาว่านักศึกษาคนใดในกลุ่มนี้สมควรได้รับความช่วยเหลือ แล้วก็จะโอนมูลค่าเครดิต 200 หยวนเข้าไปใน “บัตรอาหาร” โดยอัตโนมัติ โดยจะโอนให้ปีละ 4 ครั้ง ในเดือนมีนาคม พฤษภาคม กันยายน และ พฤศจิกายน         ผู้บริหารบอกว่าเด็กที่ฐานะทางบ้านยากจนส่วนใหญ่จะไม่กล้าติดต่อขอความช่วยเหลือ จึงเลือกใช้วิธีนี้เพราะสามารถช่วยให้เด็กเหล่านั้นได้กินอาหารอิ่ม โดยไม่ต้องรู้สึกด้อยกว่าคนอื่นฉลากไม่เป็นมิตร         องค์กรผู้บริโภคยุโรป (BEUC) เรียกร้องให้แบนคำว่า “carbon neutral” “CO2 neutral” หรือ “climate positive” บนฉลากสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มในสหภาพยุโรป        การสำรวจพบว่าข้อความคลุมเครือเหล่านี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในสินค้าที่ขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตของกลุ่มประเทศสมาชิก         นอกจากฉลากหรือสัญลักษณ์ที่อ้างความ “เป็นมิตรต่อโลก” ในยุโรปที่มีมากถึง 230 แบบ จะสร้างความสับสนให้ผู้บริโภคแล้ว ยังทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่ากระบวนการผลิตสินค้าเหล่านั้นไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนในกระบวนการผลิต ทั้งที่จริงๆ แล้วบริษัทเพียงใช้วิธีปลูกป่าเพื่อนำมาหักล้าง โดยยังคงสร้างคาร์บอนต่อไป และไม่มีหลักประกันว่าจะไม่สร้างเพิ่มขึ้นในอนาคต เป็นต้น          ปัจจุบัน “ฉลากสิ่งแวดล้อม” ที่ใช้กันทั่วโลกมีถึง 450 แบบ จึงน่าจะมีผู้บริโภคอีกจำนวนมากที่เข้าใจผิดว่าตัวเองได้เลือกสินค้าที่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย อุปสรรคสำคัญ         สหประชาชาติระบุ การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมน้ำดื่มบรรจุขวดเป็นปัจจัยบั่นทอนความพยายามของรัฐในการจัดหาแหล่งน้ำดื่มสะอาดให้กับประชากรอย่างทั่วถึงรายงานล่าสุดจาก UN University ที่สำรวจอุตสาหกรรมน้ำดื่มบรรจุขวดใน 109 ประเทศ ยังพบความเหลื่อมล้ำอีกด้วย น้ำดื่มบรรจุขวดในซีกโลกเหนือจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ผู้คนซื้อดื่มเพราะต้องการน้ำที่รสชาติดีและดีต่อสุขภาพแต่ผู้คนในซีกโลกใต้ต้องพึ่งน้ำดื่มบรรจุขวดเพราะต้องการน้ำดื่มสะอาด และกำไรมหาศาลของบริษัทน้ำดื่มในเอเชียแปซิฟิกก็ตอกย้ำความเฉื่อยชาของภาครัฐในการลงทุนกับระบบน้ำดื่มสาธารณะ ที่น่าสนใจคือผู้คนยอมจ่ายเพื่อความปลอดภัย แต่แทบไม่มีการสุ่มตรวจคุณภาพโดยภาครัฐเลยธุรกิจที่ดึงน้ำมาใช้ด้วยต้นทุนต่ำและผลิตน้ำบรรจุขวดขายในราคาแพงกว่าน้ำประปาถึง 150 – 1,000 เท่านี้ยังเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน เพราะนอกจากจะสร้างขยะพลาสติกแล้ว ยังทำให้บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ด้วยไต้หวันจะไม่ทน         ไต้หวันเตรียมเสนอร่างกฎหมายพื้นฐานว่าด้วยความปลอดภัยบนท้องถนนในเดือนเมษายนนี้จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เครือข่ายถนนของไต้หวันถือเป็นปัญหาความมั่นคงระดับชาติ สถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรอยู่ที่ 12.67 คนต่อประชากร 100,000 คนการจราจรในไต้หวันได้รับการขนานนามจากสื่อว่าไม่ต่างอะไรกับสนามรบ และยังเป็นนรกสำหรับคนเดินถนนโดยแท้ ในปี 2565 มีผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร ไม่หยุดรถที่ทางม้าลายให้คนข้ามถึง 50,000 รายรายงานข่าวระบุว่าปัญหาหลักของถนนไต้หวันคือการออกแบบและการก่อสร้างที่ล้าสมัย บวกกับการกำกับดูแลที่ไม่ทั่วถึงเพราะมีหน่วยงานเกี่ยวข้องมากเกินไป ถนนในไต้หวันทำมาเพื่อรองรับรถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก (แนวคิดเดียวกับถนนอเมริกาในยุค 60) ขนส่งมวลชนและคนเดินถนนจึงถูกละเลยการเพิ่มจำนวนไฟจราจรและกล้องวงจรปิดพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าสิ่งที่ไต้หวันต้องเปลี่ยนจริงๆ คือการออกแบบถนน และการปรับทัศนคติของผู้ขับขี่รถยนต์ ต้องมากกว่าหนึ่ง        นายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศว่ารัฐบาลจะทบทวนการให้สิทธิผูกขาดกับผู้ประกอบกิจการ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีและเป็นธรรมโดยแต่ละกระทรวงได้รับคำสั่งให้ไปศึกษาเหตุผลและความเป็นมาที่รัฐบาลเคยให้สิทธิดังกล่าวกับเอกชนรายใดรายหนึ่ง และทำการประเมินอย่างรอบคอบและเป็นธรรมว่าจะให้สิทธินั้นต่อหรือไม่ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีมีมติไม่ต่ออายุสัมปทานแบบผูกขาดให้กับบริษัท Puspakom ที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการตรวจสภาพรถยนต์ตาม พรบ. ขนส่งทางบก ค.ศ. 1987 แต่เพียงผู้เดียวในมาเลเซียตั้งแต่ปี 1994 ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถที่ใช้ในการประกอบธุรกิจหมายความว่าเมื่ออายุสัมปทานดังกล่าวหมดลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 บริษัทอื่นที่ผ่านคุณสมบัติตามที่รัฐกำหนดก็สามารถประกอบกิจการดังกล่าวแข่งกับ Puspakom ที่ได้รับสัมปทานต่ออีก 15 ปีได้ เป็นที่ยินดีของผู้บริโภคที่จะไม่ต้องรอนาน และไม่ต้องทนกับภาวะไร้ทางเลือกอีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ก่อนเฝ้าระวังสินค้า อย่าลืมเฝ้าระวังตนเอง

        “เราเดินเข้าไปในซูเปอร์มาเก็ตโดยมีเป้าหมายจะไปซื้อผงซักฟอกมาใช้ แต่สุดท้ายเราอาจจะพบว่า ณ จุดจ่ายเงิน ในรถเข็นบรรจุสินค้าของเรามันไม่มีแค่ผงซักฟอก แต่กลับมีสินค้าอื่นๆ เพิ่มเข้ามาอีกมากมาย เกิดอะไรขึ้นกับพฤติกรรมการบริโภคของเรา?”          จริงๆ แล้วเราอาจถูกหลอกโดยไม่รู้ตัวตั้งแต่ตอนเข้ามาในห้างแล้ว ซูเปอร์มาเก็ตเอารถเข็นมาจอดรอเราตรงประตูทางเข้า ทั้งๆที่ การซื้อผงซักฟอกก็แค่หยิบใส่ตระกร้าแล้วหิ้วไปจ่ายเงิน โดยไม่จำเป็นต้องใช้รถเข็นด้วยซ้ำ แต่ด้วยความคุ้นชิน ขี้เกียจ หนักไม่อยากหิ้ว หรือเหตุผลอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายรถเข็นก็มาอยู่ในมือเรา และผลที่เกิดขึ้นก็คือ เราจะเพลิดเพลินเดินเตร็ดเตร่ไปตามชั้นวางสินค้าอื่นๆ ต่อไปอีก เดินเลือกดู น้ำปลา เครื่องปรุงรส แป้งทำขนม รองเท้า กระดาษทิชชู ยาสีฟัน นม อาหารสด ฯลฯ ตามแต่ความสนใจของเราแต่ละคน สุดท้ายในรถเข็นของเราก็มีทั้งผงซักฟอก และสินค้าอื่นๆ เพิ่มเข้ามาอีกโดยไม่รู้ตัว         นักการตลาดเขาฉลาดกว่าเรามาก สิ่งที่พวกเขารู้ก็คือ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ซื้อสินค้าด้วยเหตุผล แต่ซื้อด้วยความรู้สึก ความเชื่อ ความตื่นเต้น ความคาดหวัง หรือแม้กระทั่งความกลัว (เช่น ซื้อประกันชีวิต) การโฆษณาจึงก้าวเข้ามาในพฤติกรรมการบริโภคของเรา พวกเขาเลือกตำแหน่งที่ตั้งของร้านค้า ออกแบบสถานที่ การจัดวางสินค้าเพื่อกระตุ้น“จิตใต้สำนึก” ของคน ดึงดูดให้ผู้บริโภคสนใจในร้านค้าและตัวสินค้าจนต้องเดินเข้าไปดูและเข้าไปหยิบ สุดท้ายผู้บริโภคอย่างเราก็ตกเป็นเหยื่อเผลอเสียเงินซื้อโดยลืมเหตุผลความจำเป็นที่แท้จริงของตนเอง         ชุมชนชนบทที่วิถีชีวิตไม่ได้เร่งรีบแบบชุมชนเมือง ที่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปส่งลูกหลานที่โรงเรียน รีบไปทำงานให้ทันตามเวลา ฯลฯ เมื่อมีร้านสะดวกซื้อต่างๆ มาจำหน่ายสินค้าในชนบทเพิ่มมากขึ้น สังคมที่เร่งเร้าให้ทุกคนต้องเร่งทำมาหากิน ทำให้ผู้คนในชนบทหันมาใช้บริการซื้อสินค้าและอาหารต่างๆ ในร้านสะดวกซื้อเหล่านี้ ซื้อกระทั่งอาหารแช่แข็งเพราะมันตอบโจทย์ สะดวก ง่าย ถูก และรวดเร็ว เพื่อจะได้เอาเวลาที่เหลือไปทำงานหาเงินต่อไป         สุดท้ายวิถีเหล่านี้มันก็รุกคืบเข้ามาจนมีอิทธิพลในพฤติกรรมการบริโภคของเรามากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ผู้ป่วยยอมเสียเงินซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารราคาแพงโดยคาดหวังว่าจะช่วยให้หายจากโรค เด็กวัยรุ่นยอมซื้อผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนกิน ทั้งๆ ที่มีข่าวมากมายว่าอันตรายหรือแม้กระทั่งตัวเราเองที่กำลังอยู่บนแฟลตฟอร์มออนไลน์ขายสินค้านั่งดูไลฟ์สดขายของด้วยความสนุกและกำลังหยิบของลงตระกร้าแล้วจ่าย         สิ่งที่เราควรทำควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สินค้าอันตรายในชุมชนคือ ตั้งสติ นั่งทบทวน เพื่อเฝ้าระวังตนเองด้วยว่าเรากำลังเป็นเหยื่อการโฆษณาหรือเหยื่อในการบริโภคสินค้าที่เกินจำเป็นต่อชีวิต จนสิ้นเปลืองเงินทองหรือเสี่ยงต่ออันตรายด้วยหรือเปล่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 อยากยกเลิกการสั่งซื้อ แต่โดนร้านค้าขู่ต้องจ่ายค่าขนส่ง

        คุณกี้ได้ร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถึงกรณีการสั่งซื้อสินค้าของเธอ         “เนื่องจากเธออยากยกเลิกการสั่งซื้อแต่กลับโดนเก็บเงินค่าขนส่ง แถมโดนขู่จะดำเนินคดีอีกด้วย”  โดยเธอได้เล่าว่าหลายเดือนก่อนที่ผ่านมา เธอได้เห็นโฆษณาสินค้า “เซรั่มทาหน้า” ผ่านช่องทางทีวี เป็นสินค้าของบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่งที่ขายผ่านรายการทีวีบ่อยๆ พอได้ยินสรรพคุณของเซรั่มทาหน้าตัวนั้น ก็เกิดสนใจเพราะค่อนข้างตอบโจทย์เธอ เนื่องจากช่วงนี้ผิวหน้าเริ่มมีปัญหาถ้าซื้อมาใช้คงจะดีขึ้น แถมราคาก็พอซื้อได้ ราคา 990 บาท ซื้อ 1 แถม 1 และจัดส่งให้ฟรีอีกด้วย (มีหรอที่เธอจะพลาด) เธอจึงตัดสินใจ Add Line สั่งซื้อทันที และจ่ายแบบเก็บเงินปลายทาง        แต่แล้ว...เวลาผ่านไปยังไม่ทันข้ามวัน เธอคิดได้ว่ามีเหตุต้องใช้เงินเร่งด่วน จึงขอยกเลิกออเดอร์กับทางบริษัท แต่บริษัทกับตอบมาว่า “สามารถยกเลิกได้ แต่ต้องรับผิดชอบค่าขนส่งสินค้าจำนวน 150 บาท และบอกว่าสินค้ามีการจัดส่งแล้ว”  อ้าว...งงสิ ทำไมจัดส่งเร็วจัง แถมยกเลิกสินค้าต้องจ่ายค่าขนส่งด้วย(เธอคิด) ซึ่งเธอก็ได้ยืนยันกับทางบริษัทว่าไม่ขอจ่ายเงินค่าขนส่ง เนื่องจากตอนโฆษณาและตอนที่คุยกันไม่เห็นมีการแจ้งลูกค้าว่า หากต้องการยกเลิกสินค้าต้องจ่ายเงินจำนวนเท่านี้นะ         พูดคุยกับทางบริษัทสักพัก ทางบริษัทยังคงยืนยันให้รับผิดชอบ เลยคิดว่าหากต้องรับผิดชอบก็ขอดูใบเสร็จขนส่งหน่อย ถ้าส่งมาให้ดูจริงๆ เธอก็จ่ายให้ แต่สุดท้ายเธอก็ไม่ได้ใบเสร็จของขนส่ง ได้แต่ใบเสร็จที่ทางบริษัทออกเองเท่านั้น แถมยังโดนพนักงานต่อว่าประมาณว่า “ตั้งแต่ขายของมาไม่เคยเจอลูกค้าแบบเรา ว่าเราเป็นคนที่นิสัยแย่มากไม่มีความรับผิดชอบ” นอกจากนั้น ก็ส่งใบประกาศกฎหมายต่างๆ ของขนส่งสีส้ม สีเหลือง และอื่นๆ มาให้ดู ข้อมูลประมาณว่าถ้าหากซื้อสินค้าแล้วยกเลิกจะเป็นอย่างไรบ้าง พร้อมบอกกับเราว่าจะไม่ขอคุยต่อ แต่ให้ไปเจอกันในศาลโดยจะให้ทางบริษัทดำเนินคดีกับเราให้ถึงที่สุด ให้เป็นเคสตัวอย่างกับลูกค้าคนอื่นที่จะทำแบบเรา         หลังจากนั้นไม่กี่วันขนส่งก็ได้นำสินค้ามาส่ง แต่เธอปฏิเสธที่จะรับ บริษัทจึงติดต่อมาและขู่ว่า “ให้รอรับหมายศาลได้เลย ทางบริษัทจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด”  หลังจากนั้นเธอก็รอว่าจะมีการดำเนินการใดๆ หรือไม่ ปรากฏว่าทางบริษัทดังกล่าวเงียบหายไปเลย แนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณกี้ได้โทรติดต่อไปที่ Call Center ของขนส่งสีส้มเพิ่มเติมเพราะว่ามีการอ้างถึง และเล่าเรื่องราวพร้อมส่งรูปใบประกาศต่างๆ ที่แคปมาให้ทางขนส่งเพื่อสอบถามว่าได้ออกประกาศฉบับนี้หรือไม่ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า ทางบริษัทขนส่งที่ถูกอ้างถึงบอกว่า ไม่เคยจัดทำประกาศนี้ออกมา คุณกี้จึงได้แจ้งว่าแต่เธอได้รับข้อมูลมาจากทางบริษัทที่เธอได้ทำการสั่งซื้อสินค้า หากทางขนส่งไม่ได้ออกประกาศนี้แสดงว่าเป็นการปลอมแปลงเอกสารใช่หรือไม่ ซึ่งทางบริษัทขนส่งก็ได้บอกว่าจะแจ้งให้หัวหน้ารับทราบ คุณกี้เลยถามต่อว่าจัดการอย่างไร แต่กลับไม่มีคำตอบและได้ทำการบล็อกเธออีกด้วย          ทั้งนี้ เธอได้ไปร้องเรียนกับทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทางมูลนิธิฯ จึงได้โทรไปสอบถามเรื่องความคืบหน้าของผลการเจรจาเบื้องต้นระหว่างเธอกับบริษัทผู้จำหน่ายสินค้า และหากว่า บริษัทมีการติดต่อเข้ามาหรือแจ้งดำเนินคดีกับเธอ มูลนิธิฯ พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ร้องต่อไป         ดังนั้นอยากให้ผู้บริโภคทุกคนก่อนซื้อสินค้าเช็กรายละเอียดให้รอบคอบ หากมีอะไรแปลกๆ เหมือนกรณีนี้อย่ายอมจ่ายเพื่อตัดปัญหาให้มันจบๆ ไป เนื่องจากจะเป็นการทำให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบเราได้ไปเรื่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 ยกเลิกการสั่งสินค้าได้ แต่ต้องจ่ายค่าขนส่ง

เสียงของผู้บริโภคท่านหนึ่งที่ลุกขึ้นมาใช้สิทธิ์ในวันนี้ คือ คุณเฉลิมศิริ พิพัธนไชย แฟนตัวยงและสมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อ ปัจจุบันนี้ทำงานอยู่ที่บ้าน เป็นแอดมินฟรีเลนซ์ งานที่ทำค่อนข้างเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคพอสมควร เธอเล่าว่า “โดยนิสัยส่วนตัวคือตั้งแต่เด็กมาแล้วเป็นคนที่ไม่ชอบให้ใครมาเอาเปรียบในเรื่องสิทธิของเรา และก็เป็นคนไม่ชอบเอาเปรียบใครในเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน จะเป็นคนที่ไม่ค่อยยอมถ้ามีใครมาเอาเปรียบเรื่องพวกนี้ เช่นถ้าซื้อของแล้วบอกเราจะได้แบบนี้แล้วปรากฏว่าไม่ได้ตามที่คุยไว้เราก็จะถามเลยว่าเพราะอะไร ทำไมถึงเป็นแบบนี้ แต่ถ้าเป็นบางคนเขาก็จะยอมๆ ไป ทำไมต้องเรื่องเยอะเรื่องมาก แต่สำหรับเรามีความรู้สึกว่าถ้าเรายอมให้เขาทำแบบนี้เรื่อยๆ คนที่ทำเขาก็จะคิดว่าทำได้ไม่ผิดแล้วเขาก็จะทำต่อไป” อยากให้เล่าเหตุการณ์ณ์ที่เกิดขึ้น         ย้อนกลับไปสัก 6  เดือนที่แล้ว วันนั้นนั่งดูโทรทัศน์รายการหนึ่งช่วงเช้า ก็ดูรายการตามปกติช่วงท้ายรายการเขามีการโฆษณาขายสินค้าทุกวัน วันนั้นเป็นการขายเซรั่มทาหน้าของบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่งซึ่งเราจะเจอได้บ่อยๆ ตามรายการต่างๆ อยู่แล้ว วันนั้นเป็นการโฆษณาขายเซรัมทาหน้า เราก็ฟังที่เขาพูดพอดีสรรพคุณของเซรัมที่เขาโฆษณามันตอบโจทย์ตรงกับที่เราต้องการพอดี เนื่องจากช่วงนี้ผิวหน้าเรามันเริ่มมีริ้วรอยจุดด่างดำ แล้วกำลังหาข้อมูลของครีมหรือเซรัมที่จะมาใช้พอดี เราฟังสรรพคุณแล้วมันตรงกับที่เราต้องการแล้วราคาที่เขาบอกเราพอจะซื้อได้ ราคาเซรัมที่เขาแจ้ง คือ 990 บาท ซื้อ 1 แถม 1 ถ้าสั่งซื้อตอนนี้คือส่งฟรี สามารถเก็บเงินปลายทางได้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แล้วเซรั่มสามารถใช้งานได้นานถึงครึ่งปี ก็เลยตัดสินใจว่าจะซื้อมาทดลองใช้ดู เขาให้สแกน QR Coad ที่ขึ้นหน้าจอเพื่อ Add Line ติดต่อสั่งซื้อกับพนักงานขาย หลังจาก Add Line แล้วก็มีพนักงานน่าจะเป็นผู้ชาย ทักมาบอกโปรโมชั่นนี้ตามที่โฆษณาในทีวี เราก็สั่งซื้อไป 1 ชุด ในราคา 990 บาท ส่งฟรี เก็บเงินปลายทาง จำได้ว่าสั่งไปช่วงประมาณไม่เกิน 11 โมงเช้าของวันนั้น เพราะรายการที่ดูจบตอน 10 โมง         หลังจากนั้นช่วงบ่ายสามหรือสี่โมงเย็นในวันนั้นเราต้องการยกเลิกการสั่งซื้อ เนื่องจากมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วนและคิดว่าน่าจะยังไม่สามารถซื้อได้ช่วงนี้ เลยแจ้งเจ้าหน้าที่คนที่รับคำสั่งซื้อทางไลน์ว่าจะขอยกเลิกการสั่งสินค้าไปก่อนเนื่องจากมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินช่วงนี้ยังไม่สะดวก ถ้าสะดวกแล้วจะสั่งไปใหม่อีกครั้ง ทางเจ้าหน้าที่น่าจะเป็นผู้ชายเพราะตอนที่คุยใช้คำว่าครับ แจ้งกลับมาว่าสามารถยกเลิกได้แต่เราจะต้องรับผิดชอบค่าขนส่งสินค้าเป็นจำนวนเงิน 150 บาท เขาบอกว่าสินค้าของเรามีการจัดส่งแล้ว เราถามเจ้าหน้าที่ว่าทำไมเราจะต้องรับผิดชอบเสียค่าขนส่งในเมื่อสินค้าก็ยังไม่ได้มาถึงบ้าน แล้วตอนที่คุณโฆษณาทางเจ้าของที่มาพูดก็แจ้งว่าจัดส่งฟรี แล้วเราเพิ่งสั่งสินค้าคุณไปช่วงเช้าเอง แล้วขอยกเลิกในช่วงเย็นทำไมถึงมีการส่งออกสินค้าเร็วขนาดนั้น เราคิดว่าระยะเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมง ทางบริษัทน่าจะยกเลิกให้ได้ ทางเจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่าสินค้ามีการส่งแล้วเราสามารถยกเลิกได้ แต่จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายค่าขนส่ง 150 บาท โดยเจ้าหน้าที่ให้เลขที่บัญชีมาเพื่อให้โอนเงินไปให้ ทางเราก็ยืนยันว่าเราจะไม่ขอรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรงนี้ในเมื่อตอนที่เราดูในทีวีกับตอนที่เราคุยกันไม่มีใครแจ้งว่าถ้ายกเลิกสินค้าแล้วเราจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการส่งเป็นเงิน 150 บาท ตามที่เขาบอก         ก็คุยเหตุผลกันไปมาในไลน์สักพักเขาก็แจ้งว่าเขาต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรงนี้แทนเรา เราก็บอกว่าขอดูเอกสารการส่งสินค้าและใบเสร็จค่าใช้จ่ายในการส่งสินค้า ซึ่งถ้าเขาต้องรับผิดชอบเราก็จะจ่ายให้แต่ขอจ่ายจริงตามใบเสร็จที่ส่งของ ทางเจ้าหน้าก็ที่ส่งใบส่งของให้ดูว่ามีการส่งในวันนี้เวลากี่โมง ซึ่งเป็นเอกสารของทางบริษัทที่ออกเองไม่ใช่ของทางบริษัทขนส่ง ส่วนใบเสร็จค่าส่ง เขาก็ไม่ให้ดูโดยให้เหตุผลว่าเขาไม่สะดวกไม่มีนโยบายให้ลูกค้าดู เราก็ยืนยันว่าจะไม่จ่ายตามจำนวนที่แจ้งมาจะจ่ายให้ตามใบเสร็จค่าขนส่งเท่านั้น         จริงๆ เราจะไม่จ่ายก็ได้แต่เห็นเจ้าหน้าที่พูดว่าถ้าเราไม่จ่ายเขาจะต้องเป็นคนจ่ายเงินตัวเองให้กับทางบริษัทเราก็เลยจะรับผิดชอบแทนให้ แต่เขาก็ยืนยันว่าเราต้องจ่ายให้เขา 150 บาทเท่านั้น คุยกันสักพักเขาเริ่มพูดจาไม่ดี มีการต่อว่าเรา เขาบอกว่าตั้งแต่เขาขายของมาไม่เคยเจอลูกค้าแบบเรา ว่าเราเป็นคนที่นิสัยแย่มากไม่มีความรับผิดชอบ ลูกค้าคนอื่นๆ ที่เขายกเลิกเขาก็ยินดีโอนเงินจ่ายคืนให้บริษัททุกเคสคือ 150 บาท ไม่มีใครเคยปฏิเสธ เพิ่งเคยเจอเราเป็นคนแรกที่ไม่ยอมจ่าย หลังจากนั้นก็ส่งใบประกาศที่ออกโดยบริษัทขนส่งสีส้ม สีเหลือง แล้วก็บริษัทอื่นอีกมาให้เราดู โดยในรายละเอียดใบประกาศมีมาตรา กฎหมายแจ้งว่าถ้ามีการสั่งสินค้าแล้วลูกค้ายกเลิก ลูกค้าจะต้องเป็นคนออกค่าใช้จ่ายที่ทำให้บริษัทเกิดความเสียหาย ถ้าไม่จ่ายทางบริษัทสามารถดำเนินคดีกับลูกค้าได้ เนื้อหาโดยจะประมาณนี้         เราแคปเอกสารที่เขาส่งไว้ทั้งหมดรวมทั้งคำพูดที่คุยกันในไลน์ ทางเจ้าหน้าที่ที่คุยกับเราเขาบอกว่าจะไม่คุยต่อแล้วไว้ให้ไปเจอกันในศาลจะให้ทางบริษัทดำเนินคดีกับเราให้ถึงที่สุด จะให้เป็นเคสตัวอย่างกับลูกค้าคนอื่นๆ ที่จะทำแบบเรา เราก็เลยแจ้งไปว่าก็แล้วแต่คุณเห็นสมควร แต่เรายืนยันว่าเราจะไม่จ่ายเงินให้อย่างแน่นอน หรือถ้าจ่ายก็ต้องจ่ายตามใบเสร็จเท่านั้น หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้คุยต่อกับเจ้าหน้าที่ผู้ชายคนนั้นอีก ตอนที่เจ้าหน้าส่งเอกสารประกาศของบริษัทขนส่งที่แจ้งว่าจะดำเนินคดีกับลูกค้าที่สั่งสินค้าแล้วปฏิเสธการรับสินค้ามาให้แล้วได้ดำเนินอะไรต่อบ้าง         หลังจากนั้น เราได้โทรไปถามกับบริษัทขนส่งชื่อดังสีส้ม Call Centre เขาให้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทางไลน์ น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ เราเล่าเหตุการณ์คร่าวๆ แล้วส่งใบประกาศที่แคปมาจากบริษัทนั้นให้เจ้าหน้าที่ดู แล้วถามเขาว่าทางบริษัทของเขาได้ทำประกาศฉบับนี้ออกมาใช่หรือเปล่า ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าทางบริษัทเขาไม่เคยจัดทำและไม่ได้จัดทำประกาศฉบับนี้ออกมา เราเลยแจ้งว่าเราได้รับเอกสารประกาศนี้จากเจ้าหน้าที่บริษัทที่เราสั่งของส่งมาให้ โดยเขาอ้างว่าเอามาจากบริษัทของคุณทางบริษัทของคุณเป็นคนออกประกาศนี้ เราเลยบอกว่าถ้าทางบริษัทคุณไม่ได้ออกเอกสารฉบับนี้ก็เท่ากับว่าบริษัทนั้นจัดทำเอกสารขึ้นมาเองโดยอ้างชื่อบริษัทคุณว่าเป็นคนจัดทำ แล้วอย่างนี้ทางบริษัทคุณจะจัดการอย่างไรบ้าง แสดงว่าเขาปลอมแปลงเอกสาร ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะแจ้งให้ทางหัวหน้ารับทราบ แล้วก็เลิกคุยไปเลย เราก็ถามไปว่าสรุปคุณจะจัดการอย่างไร แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่บริษัทขนส่งสีส้มไม่คุยกับเราต่อแล้วบล็อกเราไปเลย         เราเลยโทรปรึกษาเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แล้วเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เขาฟัง เขาก็เลยให้เราแจ้งเรื่องนี้เข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยเหลือในเรื่องนี้ หลังจากนั้นอีกประมาณสองวัน สินค้าตัวที่เราแจ้งยกเลิกไปมาส่งที่บ้านเรา โดยมีเจ้าหน้าที่จากขนส่งโทรมาแจ้งว่าจะมีสินค้ามาส่งเก็บเงินปลายทางเป็นจำนวนเงิน 999 บาท เราเลยแจ้งเจ้าหน้าที่ไปว่าไม่ต้องเอาเข้ามาส่งเพราะเราแจ้งยกเลิกไปแล้ว เขาก็เลยไม่ได้นำส่ง หลังจากนั้นสักพักมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงจากบริษัทที่เรายกเลิกสั่งของโทรมาแจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ประจำโกดังจ่ายของเขาถามว่าเราปฏิเสธการรับของใช่หรือไม่ เราแจ้งว่าใช่เพราะเราแจ้งยกเลิกไปกับเจ้าหน้าที่ขายผู้ชายในไลน์แล้ว เมื่อมีของมาส่งเราเลยปฏิเสธการรับ เขาแจ้งว่าจริงๆ เรายกเลิกไม่ได้เราเลยบอกขอไม่คุยต่อเพราะเหตุผลต่างๆ ได้แจ้งไปตั้งแต่แรกแล้วให้ไปถามกับคนที่เรายกเลิกเอง สักพักมีไลน์จากบริษัทนี้แจ้งเข้ามาจากเจ้าหน้าที่ผู้ชายที่คุยกับเราคนแรก แจ้งว่าให้เรารอรับหมายศาลได้เลยจะให้ทางบริษัทดำเนินคดีให้ถึงที่สุดเพื่อเป็นกรณีตัวอย่าง เราก็บอกว่าไม่เป็นไรเอาตามที่คุณเห็นสมควรคงคุยกันแค่นี้เพราะไม่สามารถตกลงกันได้ หลังจากนั้นเราก็รอว่าจะมีการดำเนินคดีหรือมีการติดต่อใดๆ จากบริษัทมาอีก แต่ปรากฏว่าเงียบหายไป ไม่มีการติดต่อกลับมาอีกเลย แถมยังมีการส่งไลน์มาขายของอีกเป็นระยะด้วย ทางบริษัทฯ ยังติดต่อเข้ามาหรือไม่         ทางบริษัทไม่มีการติดต่อใดๆ มาเลยทั้งจากบริษัทที่สั่งของไป หรือบริษัทขนส่งสีส้มที่เราถามเรื่องประกาศแจ้งการยกเลิกสินค้า ทั้งสองที่ไม่มีการติดต่อเข้ามาเลย ซึ่งหลังจากที่เกิดเรื่อง เราได้ติดต่อไปที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคโดยเล่าให้กับเพื่อนที่เป็นเจ้าหน้าที่ฟัง แล้วก็มีการเขียนร้องเรียนไปที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่โทรติดต่อมาสอบถามเรื่องราวต่างๆ ว่า สรุปว่าทางบริษัทได้มีการดำเนินคดีตามที่เขาแจ้งหรือมีการติดต่อกลับมาว่าอย่างไร ซึ่งทางเราได้แจ้งไปว่าทางบริษัทเขาไม่ได้มีการติดต่อเข้ามา ทางเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิก็แจ้งว่าในกรณีถ้ามีการแจ้งดำเนินคดีหรือมีเรื่องที่เกี่ยวข้องจะให้ความช่วยเหลือต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้น มีคำแนะนำกับผู้บริโภคท่านอื่นๆ ในการพิทักษ์สิทธิ์อย่างไร         คือมองว่าการที่เราเป็นผู้บริโภค เป็นผู้ซื้อหรือผู้รับบริการต่างๆ ทุกคนควรมีสิทธิที่จะดูแลปกป้องสิทธิของตัวเอง ไม่ใช่ว่าเวลาที่เราทุกละเมิดถูกกระทำแล้วเราจะต้องกลัวว่าจะมีเรื่องมีราวตามมาหรือจะต้องยอมทุกครั้งทั้งๆ ที่เราไม่ได้ผิด คือสำหรับตัวเองถ้าเราไม่ผิดเราจะไม่ชอบให้ใครมาเอาเปรียบ เรามีสิทธิที่จะปกต้องตัวเราและผู้บริโภคคนอื่นๆ ที่เกิดเหตุการณ์เหมือนเรา         ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าทุกครั้งควรศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วน ชื่อบริษัท รายละเอียดสินค้าต่างๆ ควรดูให้ครบถ้วน อย่างกรณีโฆษณาขายสินค้าในทีวี เราควรถ่ายรูปรายละเอียดที่เขาขึ้นหน้าจอไว้ว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง หรือถ้าใน Platform ต่างๆ เราก็ควรแคบหลักฐานต่างๆ ไว้ให้ครบถ้วน ในกรณีที่เกิดความผิดพลาดหรือเสียหายเราจะได้มีหลักฐานเก็บไว้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 กระแสต่างแดน

 แน่นจนน่ากลัว         เหตุการณ์ที่อิแทวอนทำให้ผู้โดยสารรถไฟไต้ดินของกรุงโซลเริ่มวิตก เพราะในชั่วโมงเร่งด่วนมีผู้คนหนาแน่น เบียดเสียดกันทั้งในสถานีและในขบวนรถเช่นกัน         โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นทางสาย 1 ช่วงระหว่างสถานีกูโรและสถานีกิล การสำรวจโดยบริษัท SK Telecom  พบว่า มีความหนาแน่นของผู้โดยสารถึงร้อยละ 252 หรือเท่ากับ 403 คนต่อคัน (ทั้งที่ควรเป็น 160 คนเท่านั้น)         รายงานระบุว่าผู้ประกอบการรถไฟใต้ดินมีแผนจะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มระบบแจ้งความหนาแน่นในตัวรถ รวมถึงจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่จะผ่าน “ประตู” สถานีเข้ามา ด้านนักวิชาการเสนอให้มีการปรับปรุงตารางรถ ไม่ให้รถไฟเข้าชานชาลาพร้อมกัน รวมถึงเพิ่มเส้นทางรถเมล์ด้วย          ระหว่างนี้เขาจะใช้มาตรการชั่วคราวไปก่อน ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่มา “ยืน” ให้มากขึ้น นักวิชาการของเกาหลีบอกว่าแผนนี้ใช้ได้ เมื่อคนเกาหลีเห็นเจ้าหน้าที่ ก็จะเกรงใจและขึ้นลงอย่างเป็นระเบียบมากขึ้น ไม่เบียด ไม่ผลัก และไม่พยายามแทรกเข้าขบวนรถที่เต็มแล้ว ตั๋วเดือนกลับมาแล้ว         ผลตอบรับที่ดีของ “ตั๋ว 9 ยูโร” ในฤดูร้อนที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลเยอรมนีเตรียมขาย “ตั๋วเดือน 49 ยูโร”  (ประมาณ 1,800 บาท) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ตามแผนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้น่าใช้มากขึ้น         ตั๋วที่ว่านี้สามารถใช้ได้กับขนส่งสาธารณะทั่วประเทศ ทั้งรถราง U-Bahn (รถไฟใต้ดิน)  S-Bahn (รถไฟในเมือง) และรถไฟข้ามเมืองของ Deutsche Bahn เช่นเดียวกับตั๋ว 9 เหรียญ         ตั๋วเอื้ออาทรนี้ใช้เงินอุดหนุนประมาณ 3 ล้านยูโร โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นร่วมกันจ่ายคนละครึ่ง   นอกจากนี้เยอรมนียังเตรียมขยายระบบขนส่งมวลชนโดยจัดสรรงบประมาณไว้ปีละหนึ่งพันล้านยูโร (และเพิ่มให้อีกร้อยละ 3 ต่อปี         ผลโพลล์พบว่าร้อยละ 55 ของคนเยอรมันชอบตั๋วแบบนี้มากถึงมากที่สุด เพราะทุกวันนี้จ่ายอยู่เดือนละ 80 - 100  ยูโร แต่ก็มีถึงร้อยละ 23 ที่ไม่ชอบแนวคิดนี้         บ้างก็ว่าราคานี้ยังแพงไป ที่พวกเขาต้องการจริงๆ คือ “ตั๋วปี” ในราคา 365 ยูโรรถสะอาด อากาศดี         ฝรั่งเศสเล็งเพิ่มพื้นที่ “มลพิษต่ำ” จาก 11 พื้นที่ในปัจจุบันเป็น 43 พื้นที่ภายในสิ้นปีหน้า         พื้นที่ดังกล่าวไม่อนุญาตให้รถรุ่นเก่าเข้ามาวิ่ง หรือวิ่งได้เพียงบางช่วงเวลา และรถที่จะเข้าพื้นที่ได้ต้องมีสติกเกอร์ Crit’Air ซึ่งทางการจะออกให้หลังตรวจประเมินระดับการปล่อยมลพิษ (ระดับ 0 ถึง 5) การขับรถที่ไม่มีสติกเกอร์เข้าเขตดังกล่าวจะมีค่าปรับระหว่าง 68 ถึง 750 ยูโร         รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าการบังคับใช้กฎหมายขณะนี้ยังไม่ดีพอและไม่มีมาตรฐาน แต่เขากำลังจะเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติโดยใช้กล้องวงจรปิดเข้ามาช่วยในเร็วๆ นี้         ด้านประชาชนที่เปลี่ยนมาใช้รถพลังงานไฟฟ้า (ค่ามลพิษระดับ 0) จะได้ “โบนัส” 7,000 ยูโร โดยรถที่เข้าข่ายได้รับการสนับสนุนต้องมีราคาระหว่าง 7,000 - 47,000 ยูโร โดยเจ้าของจะต้องใช้รถอย่างน้อยหกเดือน หรือขับอย่างน้อย 6,000 กิโลเมตร ก่อนจะขายต่อได้         ความนิยมรถไฟฟ้าในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขการจดทะเบียนในครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 93,344 คัน  รีวิวหลอกดาว         อเมซอนยื่นฟ้องบริษัทนายหน้าจัดหาผู้มารีวิวสินค้าในประเทศสเปนและอิตาลี หลังพบว่า “ลูกค้า” ที่เข้ามารีวิวสินค้าในอเมซอนไว้อย่างเลิศเลอนั้นไม่ใช่ลูกค้าตัวจริง         อเมซอนบอกว่าเขาตรวจสอบได้ว่าใคร “ถูกจ้าง” โดยทั่วไปลูกค้าจะได้เงินคืนก็ต่อเมื่อไม่ได้รับสินค้า สินค้าที่ได้รับมีความชำรุดบกพร่อง หรือไม่เป็นไปตามความคาดหวัง แต่กรณีนี้ผิดสังเกต เพราะลูกค้าที่พึงพอใจมากกลับทำเรื่องขอเงินคืน แล้วก็ได้คืน “เต็มจำนวน” เสียด้วย สุดท้ายพบว่าเงินดังกล่าวคือค่าตอบแทนนั่นเอง         บริษัทที่เป็นจำเลยอ้างว่า พวกเขาเพียงแต่เลือกคนที่พวกเขารู้ล่วงหน้าแล้วว่ายินดีจะซื้อสินค้า และจะมีความพึงพอใจขนาดโพสต์รีวิวให้ถึงห้าดาว วิธีการแบบนี้แพร่หลายมากขึ้นช่วงโควิดระบาดที่ผู้คนนิยมเดินห้างออนไลน์ ก่อนหน้านี้อเมซอนยุโรป ได้ส่งคำเตือนไปยังเว็บไซต์ 5 เว็บในเยอรมนี ให้หยุดการกระทำดังกล่าว ซึ่งเว็บเหล่านั้นก็ยินยอมเพราะไม่ต้องการถูกฟ้อง   ร้อน แล้ง เครียด         ปัจจุบันจำนวนคนชั้นกลางที่มีฐานะดีและต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์นมมีจำนวนมากขึ้นทั่วโลก แต่อากาศที่ร้อนแล้งขึ้นทุกปีส่งผลให้วัวให้น้ำนมได้น้อยลงเพราะ “ความเครียด” และการขาดแคลนทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์ ผลผลิตจากนมวัวจึงมีแนวโน้มจะลดลงและมีราคาแพงขึ้น         มีการคาดการณ์ว่าปีนี้ผลผลิตจากนมวัวของออสเตรเลียจะลดลงไปถึงร้อยละ 50 เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากต้องเลิกกิจการไปเพราะเจอกับคลื่นความร้อนหลายปีติดต่อกัน  ด้านอเมริกาก็มีรายงานว่าหากสถานการณ์โลกร้อนยังไม่ดีขึ้น ก่อนถึงสิ้นศตวรรษที่ 21 อุตสาหกรรมวัวนมที่นั่นอาจขาดทุนถึงปีละ 2,200 ล้านเหรียญ         ในขณะที่ฝรั่งเศสประกาศหยุดผลิตชีสยอดนิยมที่เรียกกันว่า  Salers เพราะไม่มี “วัตถุดิบ” เพียงพอ วัตถุดิบที่ว่านั้นคือน้ำนมจากแม่วัวที่กินหญ้านั่นเอง         ส่วนอินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำนมวัวรายใหญ่ที่สุดของโลก สถานการณ์ก็ย่ำแย่เช่นกัน เกษตรกรรายย่อย จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาลงทุนติดตั้งอุปกรณ์หรือสร้างโรงเรือนเพื่อทำความเย็นให้กับวัวนั่นเอง     

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 คำหลอกลวงของพ่อค้า...มีอะไรในหมอนข้าง

        ในสังคมออนไลน์มีเรื่องที่ผู้บริโภคโพสต์เล่าประสบการณ์การซื้อสินค้าหรือบริการจำนวนมาก บางครั้งก็เป็นสิ่งน่ารัก และบางครั้งก็น่า...ตกใจ มาลองอ่านประสบการณ์นี้กัน         คุณสุดรักเป็นแฟนนิตยสารฉลาดซื้อได้ทักมาสอบถามในกล่องข้อความของเพจนิตยสารฉลาดซื้อว่า เห็นข่าวสาวคนหนึ่งไปเดินงานสหพัฒน์แฟร์กับแฟน และไปซื้อหมอนข้างราคาใบละ 100 บาท พ่อค้าก็บอกว่าเป็นหมอนข้างเกรดพรีเมี่ยมใช้ในโรงแรม แต่นำมาขายราคาถูกเพียง 100 บาท เธอก็หลงเชื่อคำโฆษณาของพ่อค้าเลยซื้อมาเพราะหมอนข้างสภาพดี ปลอกหมอนขาวสะอาด แต่หลังจากหมอนข้างใบนั้นมาอยู่บนที่นอน เธอถูกมดกัดบนที่นอนบ่อยมาก เก็บกวาดห้องก็แล้ว ซักผ้าปูที่นอนก็แล้ว มดยังราวีเธอไม่เลิกรา เลยเริ่มหาสาเหตุอย่างจริงจัง สุดท้ายพบว่า มดมาจากหมอนข้างที่เธอซื้อมานั่นเอง         คุณสุดรักจึงแกะรื้อหมอนข้างดูด้านใน ก็พบว่าไส้หรือวัสดุด้านในเป็นฟองน้ำและมีเศษอะไรก็ไม่รู้ที่ทำให้หมอนข้างนิ่มๆ พร้อมกับกองทัพมดที่ยั้วเยี้ยผุดโผล่ออกมาจากฟองน้ำ คุณสุดรักสอบถามมาว่าเหตุการณ์แบบมีกฎหมายเอาผิดกับผู้ขายบ้างไหม แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อแอดมินเพจนำข้อสอบถามมาสอบถามกับทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้คำตอบมว่ากรณีนี้อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 47 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” หรือเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”         ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้บริโภคที่เจอเหตุการณ์นำหลักฐานการซื้อขายเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และ/หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้นำดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมาย ไม่ให้พ่อค้าแม่หลอกลวงผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 ปลอมในปลอม ไม่ยอมจบ

        เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ตลาดการขายสินค้าออนไลน์ยังไม่เกิดขึ้น มีครีมหน้าขาวยี่ห้อหนึ่งขายดิบขายดี ครีมชนิดนั้นถูกเรียกติดปากว่า “ครีมฟ้าขาว โรงพยาบาลเชียงราย” ด้วยรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์เป็นตลับเล็กๆ ตัวตลับและฝาจะเป็นคนละสีคือ ฟ้า-ขาว จำหน่ายโดยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเชียงราย ผลลัพธ์ทำให้หน้าขาวจริงและเร็ว จึงขายดิบขายดีผ่านการบอกต่อๆ จากปากต่อปากจากของคนใช้ แต่ภายหลังตรวจพบการปลอมปนสารต้องห้าม         ไม่น่าเชื่อว่าถึงวันนี้ ถ้าเราใช้คำค้นหาว่า “ครีมฟ้าขาว” ค้นดูในอินเทอร์เน็ต เราจะพบว่ายังมีครีมดังกล่าวขายอยู่ โดยเฉพาะในตลาดออนไลน์ มีมากมายหลายเจ้าของ แต่ละเจ้าของก็จะอ้างว่า “ครีมของตนเองคือของแท้” ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่มีใครรู้ว่าครีมของใครคือของแท้ เพราะจนถึงบัดนี้ก็ยังตามหาผู้ผลิตครีมดังกล่าวไม่ได้ ปล่อยเป็นปริศนาต่อไป (ฮา)         แต่เครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย ไม่ได้มีแค่ครีมเมื่อยี่สิบปีในอดีต ในเดือนเมษายน ปี 2564 ผมได้ลงพื้นที่พร้อมกับพนักงานสอบสวน เพื่อสืบค้นข้อเท็จจริงกรณีมีผู้ร้องเรียนการผลิตเครื่องสำอางในพื้นที่ว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ผลการตรวจสอบคือ มีการลักลอบผลิตเครื่องสำอางผิดกฎหมายจริง และยังเป็นการผลิตเครื่องสำอางปลอม ที่มีการปลอมปนสารต้องห้าม “ปรอทแอมโมเนีย” มีการจับกุมดำเนินคดี ศาลตัดสินให้ผู้ต้องหาต้องโทษจำคุก 2 ปี         จากการพูดคุยและการสอบสวน ผู้ผลิตที่ถูกดำเนินคดีปลอมครีมยี่ห้อหนึ่ง ที่เป็นยี่ห้อที่มีชื่อติดตลาด เพราะจะทำให้ขายได้เร็ว ซึ่งจากการตรวจสอบกับฐานข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่าครีมนี้มีการขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ผลิตอยู่ในจังหวัดหนึ่งทางภาคกลาง และไม่ได้มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรียกเจ้าของครีมตัวจริงมาสอบสวน ปรากฎว่าเจ้าของตัวจริงกลับไม่ติดใจเอาความผู้ต้องหาที่แอบปลอมครีมของตนเองอีกด้วย เลยชักสับสนว่าแท้จริงแล้วรู้เห็นเป็นใจกัน หรือหวังว่าการปลอมครีมจนขายดี จะเป็นการประชาสัมพันธ์ทางอ้อมให้กับครีมของตนหรือเปล่า ยิ่งคิดยิ่งปวดหัว (ฮา) จนถึงขณะนี้ ครีมยี่ห้อนี้ก็ยังมีขายมากมายในตลาดออนไลน์ แถมยังมีคนขายหลายรายมาก ไม่รู้ครีมใครตัวจริง ครีมใครตัวปลอม เพราะทุกคนอ้างว่าครีมของตนเป็นตัวจริงทุกราย ทุกข์หนักคือผู้บริโภค เพราะคงไม่รู้ว่าครีมที่ตนเองซื้อมาใช้อันไหนจริงอันไหนปลอม หรืออาจซื้อของปลอมมาทั้งนั้น (ฮาไม่ออก)         ในตลาดออนไลน์เป็นเรื่องยากสำหรับผู้บริโภค ที่จะแยกว่าสินค้าตัวไหนจริงตัวไหนปลอม จะให้งดซื้อครีมออนไลน์ก็คงยาก เพราะทุกวันนี้อะไรๆ ก็แทบจะยกขบวนไปขายกันบนตลาดออนไลน์หมด เมื่อกฎหมายและกระบวนการจัดการยังไล่ตามไม่ค่อยทัน ผู้บริโภคจึงควรต้องใช้วิจารณญาณ (ขั้นสูงสุดๆ) ในการตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์มาใช้ โดยเฉพาะเครื่องสำอาง ที่ตอนนี้กลายเป็นปัจจัยที่ 6 ในการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบันไปแล้ว         หวังว่าผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องคงต้องช่วยกันพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับตลาดกันใหม่ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป สามารถควบคุมการค้าขายบนตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง และให้เจ้าของตลาดออนไลน์แต่ละเจ้า ต้องรับผิดชอบด้วยหากพบว่าสินค้าที่ตนขายไม่ปลอดภัยหรือโฆษณาไม่ถูกต้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2565

สังเกตเครื่องหมาย +66 แก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์         นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงประชาชน โดยให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ (IDD) ทั้ง 6 ราย เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงโดยมีมาตรการดังนี้  1. ให้ระงับสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่มีรูปแบบเบอร์โทรศัพท์บ้านหรือเบอร์โทรศัพท์สั้น 3 หลัก เบอร์โทรศัพท์สั้น 4 หลัก ที่โทรมายังเลขหมายปลายทางของประเทศไทย 2. ให้ระงับสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่มีรูปแบบเป็นรหัสโทรศัพท์ประจำประเทศที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ยังไม่ได้จัดสรรให้กับประเทศใด 3. ให้ดำเนินการตรวจสอบสายที่โทรเข้ามาจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ว่าเลขหมายมีการดัดแปลงหรือไม่ ด้วยระบบ Test Call Generator อย่างต่อเนื่อง 4. กรณีสายที่โทรเข้ามาจากต่างประเทศไม่มีกำหนดเลขหมายต้นทาง ให้เพิ่มเครื่องหมาย +66 นำหน้าเบอร์โทรศัพท์ เพื่อให้ทราบว่าโทรมาจากต่างประเทศ ทั้งนี้ นายไตรรัตน์ กล่าวต่อว่า มาตรการของ กสทช. นี้เพื่อย้ำให้ผู้ให้บริการระหว่างประเทศดำเนินการ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนแยกแยะได้ว่า สายที่โทรเข้ามาเป็นสายมาจากต่างประเทศจะได้ไม่เผลอรับสายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จับเครื่องเครื่องสำอางปลอม 18 ยี่ห้อดัง         กองบังคับการปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเกี่ยวกับคุ้มครองผู้บริโภค ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงผลการทลายแหล่งจำหน่ายเครื่องสำอางเคาน์เตอร์แบรนด์ดังปลอมหลายยี่ห้อ ซึ่งภายในบ้านได้ดัดแปลงเป็นโกดังสินค้าย่านสวนหลวง กรุงเทพมหานคร โดยสามารถจับกุมหญิงชาวเวียดนามผู้ดูแลบ้านได้ และจากการตรวจสอบบ้านได้ยึดของกลางเป็นเครื่องสำอางยี่ห้อดัง 18 รายการ จาก 7 บริษัท มูลค่า 70 ล้านบาท ต่อมาทางหญิงชาวเวียดนามได้สารภาพว่า แฟนหนุ่มคนไทยได้ร่วมมือกับนายทุนชาวเวียดนาม รับจ้างดูแลสินค้าและบรรจุสินค้าส่งให้ลูกค้า ส่วนสินค้าคือสินค้าปลอมที่ผลิตมาจากประเทศจีน และมีการปลอมเว็บไซต์เครื่องสำอางต่างๆ อีกด้วย ด้าน นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการ อย. ได้เปิดเผยว่า ต้นเหตุในการจับกุมมาจากผู้บริโภคซื้อสินค้าเหล่านี้ผ่านช่องทางออนไลน์ และมีราคาถูกกว่าปกติ 50-70% มีโปรโมชัน 1 แถม 1 เมื่อได้รับกลับพบว่าเป็นสินค้า ด้อยคุณภาพ เมื่อใช้เกิดอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น อาการแพ้ ผื่นขึ้นและหน้าพัง จึงขอให้ผู้บริโภคตรวจสอบให้รอบคอบก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ใส่หน้ากากอนามัยซ้ำ เสี่ยงอันตรายจากแบคทีเรีย         จากกรณีข้อมูลเผยแพร่เรื่องการใส่หน้ากากอนามัยซ้ำๆ มีโอกาสเสียชีวิต เนื่องจากแบคทีเรียสะสมนั้น เพจ Anti-Fake News Center Thailand ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีนี้ว่า ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวเป็นข้อมูลจริง ซึ่งหน้ากากอนามัยเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง ห้ามซักแล้วนำมาใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยจากผู้ป่วย หน้ากากอนามัยจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องวินิจฉัยโรค ฯลฯ เพราะถือว่าเป็นขยะที่ติดเชื้อ ต้องนำไปกำจัดตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ.2545  และหน้ากากอนามัยที่ติดเชื้อหากจัดการไม่ถูกต้องจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นแหล่งเชื้อก่อโรค โดยเฉพาะเชื้อโรคที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อราบางชนิด ปรสิตบางชนิด ที่จะเจริญเติบโตและก่อโรคให้แก่ผู้ที่ไปสัมผัส ดังนั้น ควรเปลี่ยนทุก 6-8 ชั่วโมง หรือเมื่อหน้ากากเปียกชื้น สกปรก เมื่อออกจากสถานที่เสี่ยง/แออัด และควรทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้ง  พาณิชย์ไม่อนุญาตขึ้นค่าส่งสินค้าออนไลน์         หลังกระทรวงพาณิชย์ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าแพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ ได้ปรับราคาค่าขนส่ง นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้แถลงข่าว ยืนยันว่ายังไม่มีการอนุญาตให้ผู้ประกอบการ หรือผู้ให้บริการปรับขึ้นค่าขนส่งได้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน เนื่องจากแพลตฟอร์มออนไลน์มีส่วนในวิถีชีวิตของประชาชนมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้กำชับให้แสดงราคาสินค้าและบริการให้ชัดเจนตามกฎหมาย ซึ่งการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกจากค่าสินค้าหรือบริการต้องแสดงค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน หากไม่มีการแสดงราคาสินค้าและบริการให้ชัดเจน มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ หากพบเห็นการกระทำความผิดหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านราคาหรือปริมาณสินค้า แจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ  มพบ.และเครือข่ายภาคประชาชน ยื่นหนังสือค้านเร่งต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว         เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชน ศูนย์สิทธิผู้บริโภค และชมรมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อคัดค้านจากกรณีที่กระทรวงมหาดไทย พยายามผลักดันประเด็นเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัทในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เข้าสู่วาระการพิจารณาของการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วน ทั้งที่สัมปทานฉบับดังกล่าวจะหมดอายุในปี 2572 หรืออีก 7 ปี โดยไม่ได้ศึกษาหรือทบทวนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการ เพราะการต่อสัญญาสัมปทานอาจจะทำให้ประชาชนขาดประโยชน์ไปอีกถึง 37 ปี         การยื่นหนังสือคัดค้านนี้ มีนางอรกัญญา บุณยมหาศาล ผู้อำนวยการส่วนเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มารับหนังสือและแจ้งกับทาง มพบ. และเครือข่ายภาคประชาชนว่า จะเรียนท่านผู้ว่าฯ และรีบดำเนินการตามที่ร้องขอ  ทั้งนี้ ทาง มพบ. เครือข่ายภาคประชาชน ยังขอทราบรายละเอียดสัญญาระหว่าง กทม. กับ BTSC  ตลอดจนขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาเพื่อเป็นข้อมูลเผยแพร่ให้ผู้บริโภคได้รับทราบตามสิทธิอันพึงมีตามกฎหมายด้วย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 251 สั่งซื้อกางเกงออนไลน์ใส่ไม่ได้เพราะมันคือกางเกงเด็ก

        การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์นั้น แม้จะเลือกซื้อจากเว็บขายสินค้าของบริษัทที่มีชื่อเสียง ก็ยังคงต้องรอบคอบ และอย่ารีบร้อน มิฉะนั้นจะยุ่งยากทั้งการขอเปลี่ยนสินค้าหรือขอเงินคืน        คุณภูผา ท่องเว็บไซต์ขายสินค้าเพราะต้องการหาของขวัญวันเกิดให้พี่สาวคุณบุปผา ทันใดนั้นก็สะดุดตาเข้ากับกางเกงตัวหนึ่ง ที่ปักลายแบบที่คุณพี่สาวชอบ จึงคลิกเข้าไปดูรายละเอียดทันที “แหม ราคาดีมาก” เลยรีบกดสั่งซื้อเนื่องจากทางหน้าเว็บบอกว่า ราคาลดไปถึง 30 %          ภูผาสั่งซื้อด้วยวิธีการเก็บเงินปลายทาง ไม่กี่วันต่อมาเมื่อพนักงานขนส่งนำพัสดุมาให้ ภูผาก็รีบแกะถุงเพื่อเตรียมห่อของขวัญให้คุณพี่สาว “อ้าว นี่มันกางเกงเด็กนี่นา”  จึงรีบโทรศัพท์ไปแจ้งกับคอลเซ็นเตอร์ของเว็บไซต์ที่ขายเสื้อผ้าแห่งนั้น         เขาแจ้งพนักงานว่า การแสดงภาพสินค้าในเว็บไซต์ไม่มีตรงไหนบอกเลยว่า เป็นกางเกงของเด็ก ไซส์ที่ให้เลือกก็เป็นเบอร์อย่างไซส์ฝรั่ง คือ 2 4 6 8 เขาก็เข้าใจว่าเบอร์ที่เลือกให้พี่สาวคือเบอร์ 6 ต้องพอดีกับพี่สาวแน่ๆ เพราะเป็นไซส์กางเกงที่พี่สาวใส่อยู่ เขาอยากขอเปลี่ยนสินค้าได้หรือไม่ แต่พนักงานคอลฯ แจ้งว่า “กางเกงตัวนี้เป็นสินค้าราคาพิเศษไม่สามารถแลกหรือเปลี่ยนคืนเงินได้นะคะ” ภูผาจึงต่อรองขอตนเองลองคุยกับผู้จัดการได้ไหม ตนเองไม่ได้ต้องการเงินคืนแต่อยากขอซื้อสินค้าใหม่แล้วเพิ่มเงินจากยอดเดิมที่จ่ายไปได้ไหม (ก็ชอบกางเกงตัวนี้นะ) พนักงานคอลฯ ก็ตอบเหมือนเดิมว่า เป็นนโยบายของบริษัท ถ้าเป็นสินค้าลดราคา ไม่สามารถเปลี่ยนได้ค่ะ        ภูผาจึงมาปรึกษากับเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเองพอจะทำอะไรได้บ้างไหมแนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีคุณภูผา ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิได้แนะนำ ให้ทำหนังสือส่งถึงบริษัทเพื่อแจ้งขอคืนเงินพร้อมส่งสินค้าไปยังบริษัทตามสิทธิผู้บริโภคอ้างอิง  พ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ซึ่งคุณภูผาก็ได้ดำเนินการตามคำแนะนำของมูลนิธิฯ           ต่อมาทางบริษัทได้ติดต่อกลับมาหาคุณภูผาว่า ทางบริษัทจะให้การชดเชยเป็นส่วนลด และลูกค้าสามารถนำส่วนลดนี้กลับมาซื้อสินค้าที่บริษัทใหม่ได้ ทั้งนี้ยังบอกด้วยว่า กางเกงแบบที่คุณภูผาสั่งซื้อมีแบบของผู้ใหญ่ด้วยนะคะ  ลูกค้าใส่กางเกงเบอร์อะไร คุณภูผาจึงตอบไปว่า เบอร์เอสหรือเอ็ม ซึ่งทางบริษัทวางสายไปสักพักและโทรกลับมาใหม่ว่า ไม่มีขนาดที่บอกสินค้าหมด คุณภูผาจึงยืนยันไปว่า ถ้างั้นขอเงินคืน พนักงานบริษัทแจ้งว่า จะต้องนำเรื่องกลับไปขออนุมัติกับหัวหน้าก่อนว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ คุณภูผารู้สึกร้อนใจจึงถามกับทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิฯ ว่า ถ้าบริษัทไม่คืนเงินเราจะทำอะไรเพิ่มได้ไหม         ผู้บริโภคสามารถดำเนินการได้โดยใช้สิทธิเลิกสัญญา กล่าวคือให้ส่งสินค้าคืนไปยังผู้ประกอบธุรกิจ หรือเก็บสินค้าไว้ภายในระยะเวลา 21 วันนับแต่วันที่ใช้สิทธิเลิกสัญญา และจะต้องคืนสินค้าให้ผู้ประกอบธุรกิจ โดยให้มารับสินค้าที่ภูมิลำเนาของผู้บริโภค หรือส่งสินค้าคืนทางไปรษณีย์โดยเรียกเก็บเงินปลายทาง ตามคำขอของผู้ประกอบการ และผู้บริโภคมีสิทธิยึดหน่วงสินค้าไว้ได้จนกว่าจะได้รับคืนเงินที่ผู้บริโภคจ่ายไปเพื่อซื้อสินค้านั้น เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาผู้ประกอบธุรกิจจะต้องคืนเงินเต็มจำนวน ภายในกำหนดเวลา 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา (พ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรง)         แต่ยังไม่ทันจะเตรียมตัวฟ้องร้อง บริษัทก็โทรมาแจ้งคุณภูผาว่า บริษัทจะคืนเงินให้ เป็นอันว่าจบ

อ่านเพิ่มเติม >

ผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้บริโภคเรื่องสินค้าและบริการที่ต้องการให้ทดสอบ

โพลล์เผย 54.7% ถูกละเมิดสิทธิจากการซื้อสินค้าบริการ โฆษณาเกินจริงขึ้นแท่นปัญหาอันดับหนึ่ง ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเปิดสถิติปี 64 ร้องเรียนสินค้าบริการมากเป็นอันดับสองโพลล์เผยผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิจากการซื้อสินค้าและบริการ ถึงร้อยละ 54.7 การโฆษณาเกินจริงเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง โดยประชาชน ร้อยละ 77.2 อยากให้สภาองค์ของผู้บริโภคทดสอบสินค้า มากที่สุดคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดสถิติ ม.ค. - ก.ย. 64 พบผู้ร้องเรียนปัญหาหมวดสินค้าบริการทั่วไปเป็นอันดับสอง ร้อยละ 27.18 เรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งคือ สินค้าชำรุดบกพร่อง/ไม่ได้มาตรฐาน ร้อยละ 20.06  เรื่องโฆษณาเกินจริงที่เป็นปัญหาอันดับหนึ่ง พบผู้ร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ อยู่ที่อันดับที่สี่ ร้อยละ 16.05         วันที่ 2 ธันวาคม 2564 สภาองค์กรของผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้บริโภคเรื่องสินค้าและบริการที่ต้องการให้ทดสอบ ในกรุงเทพมหานครโดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,143 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 22 - 26 กันยายน 2564         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องผู้บริโภคเรื่องสินค้าและบริการที่ต้องการให้ทดสอบ เนื่องจากสภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นส่วนหนึ่งที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 46 บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลัง ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค ในมาตรา 61 รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย หรือด้านอื่นๆ อีกทั้ง ตามพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นองค์กรอิสระที่ได้รับงบประมาณสามร้อยห้าสิบล้านบาทในการดำเนินการ และสามารถใช้สิทธิแทนผู้บริโภคในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นองค์กรอิสระที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคหรือประชาชนเป็นอย่างมาก โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องผู้บริโภคเรื่องสินค้าและบริการที่ต้องการให้ทดสอบ โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่า “สภาองค์กรของผู้บริโภค” มีการจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้บริโภคในทุกด้าน ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ร้อยละ 61.7 และทราบว่า “สภาองค์กรของผู้บริโภค” เป็นตัวแทนผู้บริโภคและมีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน มีหน้าที่รวบรวม และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ร้อยละ 57.6         โดยใน 1 ปีที่ผ่านมาประชาชนเคยถูกละเมิดสิทธิจากการซื้อสินค้าและบริการ ร้อยละ 54.7 และเรื่องที่ประสบปัญหามากที่สุด อันดับที่หนึ่งคือ การโฆษณาเกินจริง ร้อยละ 26.4 อันดับที่สองคือ ขนาดของสินค้าไม่ตรง ร้อยละ 23.9 อันดับที่สามคือ สินค้าไม่ได้คุณภาพ ร้อยละ 22.2 อันดับที่สี่คือ สินค้าหมดอายุ ร้อยละ 12 อันดับที่ห้าคือ ซื้อแล้วไม่ได้สินค้า ร้อยละ 7.7 และอันดับสุดท้ายคือ สินค้าไม่มีฉลากกำกับ ร้อยละ 7.5         สินค้าหรือบริการพบว่าไม่ได้คุณภาพ อันดับที่หนึ่งคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 22.4 อันดับที่สองคือ เครื่องสำอาง ร้อยละ 20.4 อันดับที่สามคือ อาหาร ร้อยละ 18 อันดับที่สี่คือ เครื่องดื่ม ร้อยละ 9.4 อันดับที่ห้าคือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 7.8 อันดับที่หกคือ บริการขนส่งมวลชน ร้อยละ 7.4 อันดับที่เจ็ดคือ เครือข่ายโทรศัพท์ ร้อยละ 6.6 อันดับที่แปดคือ บริการจัดส่งสินค้า ร้อยละ 4.5 และอันดับสุดท้ายคือ บริการนำส่งอาหาร ร้อยละ 3.3         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ทดสอบสินค้าและบริการเพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ร้อยละ 77.2 และคิดว่าท่านจะสามารถใช้ผลการทดสอบสินค้าและบริการของ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” เพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ร้อยละ 67.2        โดยต้องการให้ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ทดสอบสินค้าและบริการ อันดับที่หนึ่งคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 45.6 อันดับที่สองคือ อาหาร ร้อยละ 42.8 อันดับที่สามคือ เครื่องสำอาง ร้อยละ 41.7 อันดับที่สี่คือ เครื่องดื่ม ร้อยละ 34.9 อันดับที่ห้าคือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 32.8 อันดับที่หกคือ บริการจัดส่งสินค้า ร้อยละ 29 อันดับที่เจ็ดคือ บริการขนส่งมวลชน ร้อยละ 25 อันดับที่แปดคือ เครือข่ายโทรศัพท์ ร้อยละ 24.8 และอันดับสุดท้ายคือ บริการนำส่งอาหาร ร้อยละ 22.7         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบประเภทของสินค้าอาหาร อันดับที่หนึ่งคือ อาหารเสริม ร้อยละ 38.5 อันดับที่สองคือ อาหารกึ่งสำเร็จรูป ร้อยละ 18.5 อันดับที่สามคือ อาหารปรุงสุก ร้อยละ 15.7 อันดับที่สี่คือ อาหารสด ร้อยละ 11.2 อันดับที่ห้าคือ ขนมอบกรอบ ร้อยละ 9.7 และอันดับสุดท้ายคือ ผัก ผลไม้ ร้อยละ 6.5         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบประเภทของเครื่องดื่ม อันดับที่หนึ่งคือ เครื่องดื่มผสมวิตามิน ร้อยละ 40.4 อันดับที่สองคือ เครื่องดื่มชูกำลัง ร้อยละ 15 อันดับที่สามคือ นม UHT ร้อยละ 12.2 อันดับที่สี่คือ ชา กาแฟ ร้อยละ 11.8 อันดับที่ห้าคือ น้ำผลไม้ ร้อยละ 10.8 และอันดับสุดท้ายคือ น้ำดื่ม ร้อยละ 9.6         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบประเภทของเครื่องสำอาง อันดับที่หนึ่งคือ ครีมบำรุงผิว ร้อยละ 23.6 อันดับที่สองคือ สบู่ / ครีมอาบน้ำ ร้อยละ 18.5 อันดับที่สามคือ โฟมล้างหน้า ร้อยละ 17.7 อันดับที่สี่คือ แชมพู ครีมนวดผม ร้อยละ 14.8 อันดับที่ห้าคือ ผงซักฟอก / น้ำยาซักผ้า ร้อยละ 13 และอันดับสุดท้ายคือ ลิปสติก ร้อยละ 11.9         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบประเภทของเครื่องใช้ไฟฟ้า อันดับที่หนึ่งคือ เครื่องปรับอากาศ ร้อยละ 27.9 อันดับที่สองคือ เครื่องฟอกอากาศ ร้อยละ 17.6 อันดับที่สามคือ เครื่องกรองน้ำ ร้อยละ 16.7 อันดับที่สี่คือ เตาอบ ร้อยละ 13.7 อันดับที่ห้าคือ ทีวี ร้อยละ 12.5 และอันดับสุดท้ายคือ ตู้เย็น ร้อยละ 10.9         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภคทดสอบ/สำรวจบริการเครือข่ายโทรศัพท์ อันดับที่หนึ่งคือ ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว ร้อยละ 30.4 อันดับที่สองคือ บริการ SMS ที่เก็บค่าบริการ ร้อยละ 20.6 อันดับที่สามคือ ค่าบริการ ร้อยละ 13.6 อันดับที่สี่คือ การชดเชยเมื่อเกิดความผิดพลาดของผู้ให้บริการ ร้อยละ 12.5 อันดับที่ห้าคือ บริการ Call center ร้อยละ 12.1 และอันดับสุดท้ายคือ พื้นที่ให้บริการ ร้อยละ 10.8         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบ/สำรวจบริการอินเทอร์เน็ต อันดับที่หนึ่งคือ ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว ร้อยละ 32 อันดับที่สองคือ ความเร็วอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 24.2 อันดับที่สามคือ พื้นที่ให้บริการ ร้อยละ 12.1 อันดับที่สี่คือ ค่าบริการ ร้อยละ 11.8 อันดับที่ห้าคือ บริการ Call center ร้อยละ 10.3 และอันดับสุดท้ายคือ การชดเชยเมื่อเกิดความผิดพลาดของผู้ให้บริการ ร้อยละ 9.5         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบ/สำรวจบริการขนส่งสินค้า อันดับที่หนึ่งคือ การดูแลพัสดุไม่ให้เกิดความเสียหาย ร้อยละ 24 อันดับที่สองคือ การชดเชยกรณีพัสดุเสียหาย ร้อยละ 22 อันดับที่สามคือ ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว ร้อยละ 17.6 อันดับที่สี่คือ การชดเชยกรณีพัสดุสูญหาย ร้อยละ 15.2 อันดับที่ห้าคือ ความเร็วในการจัดส่ง ร้อยละ 12.6 และอันดับสุดท้ายคือ ค่าบริการ ร้อยละ 8.7         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบ/สำรวจบริการขนส่งมวลชน อันดับที่หนึ่งคือ รถเมล์ ร้อยละ 26 อันดับที่สองคือ รถแท็กซี่ ร้อยละ 18.5 อันดับที่สามคือ จักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 16 อันดับที่สี่คือ รถรับจ้างสาธารณะ (สองแถว) ร้อยละ 15 อันดับที่ห้าคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 13.3 และอันดับสุดท้ายคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 11.2         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สถิติการร้องเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายน ปี 2564 มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 1,192 เรื่อง มีผู้ร้องเรียนปัญหาหมวดสินค้าบริการทั่วไป เป็นอันดับสอง จำนวน 324 เรื่อง ร้อยละ 27.18 รองจากอันดับหนึ่ง หมวดการเงินการธนาคาร/ประกัน จำนวน 516 เรื่อง ร้อยละ 43.29 ในหมวดสินค้าบริการทั่วไป ประเภทสินค้าที่ร้องเรียนที่พบมากที่สุด คือ สินค้า 248 เรื่อง ร้อยละ 76.54 รองลงมา คือ บริการ 76 เรื่อง ร้อยละ 23.46         เมื่อแบ่งประเภทปัญหาที่ร้องเรียนในหมวดสินค้าบริการทั่วไป อันดับที่หนึ่งคือ สินค้าชำรุดบกพร่อง/ไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 65 เรื่อง ร้อยละ 20.06 อันดับที่สองคือ มีปัญหาการขอคืนเงิน จำนวน 56 เรื่อง ร้อยละ 17.28 อันดับที่สามคือ ไม่พอใจบริการ จำนวน 56 เรื่อง ร้อยละ 17.28 อันดับที่สี่คือ โฆษณาเป็น         เท็จ/หลอกลวง/เกินจริง จำนวน 52 เรื่อง ร้อยละ 16.05 อันดับที่ห้าคือ ไม่ได้รับสินค้า/สินค้าไม่ถูกต้อง จำนวน 33 เรื่อง ร้อยละ 10.19 อันดับที่หกคือ ฉ้อโกง/หลอกลวง จำนวน 21 เรื่อง ร้อยละ 6.48         ในปี 2564 พบว่าผู้บริโภคเคยถูกละเมิดสิทธิจากการซื้อสินค้าและบริการถึงร้อยละ 54.7 แต่มีผู้ที่มาร้องเรียนกับมูลนิธิฯ ในหมวดสินค้าบริการทั่วไปเป็นอันดับสอง ร้อยละ 27.18 เป็นจำนวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่พบปัญหาถูกละเมิดสิทธิ เมื่อเทียบปัญหาที่พบกับการร้องเรียนปัญหาเรื่องสินค้าและบริการทั่วไปแล้วยังพบว่ามีผู้ที่พบปัญหาแต่ไม่ได้ร้องเรียนอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องของการโฆษณาเกินจริง ที่พบปัญหามากเป็นอันดับที่หนึ่งแต่ร้องเรียนกับมูลนิธิฯ เป็นอันดับที่สี่ อาจจะเพราะผู้บริโภคยังไม่รู้ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่สามารถร้องเรียนได้ ฉะนั้นเมื่อพบปัญหาแล้วเกิดความสงสัยหรือไม่แน่ใจ ควรสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอยากให้ผู้บริโภคร้องเรียนปัญหาเพื่อรักษาสิทธิของตนเอง         หากพบปัญหาเรื่องสินค้าและบริการต่างๆ สามารถสอบถามเพิ่มเติม หรือแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ : 02-2483734-7 Line id : @ConsumerThai หรือร้องทุกข์ออนไลน์ที่ https://www.consumerthai.com/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 สั่งสินค้าออนไลน์ โดนขโมยของก่อนถึงมือ ใครต้องรับผิดชอบ?

        ยุคนี้ใครๆ ก็เข้าสู่ตลาด e-commerce ผู้บริโภคหลายคนเลือกสั่งซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ จริงอยู่ที่ว่าการสั่งออนไลน์เป็นสิ่งที่ทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้น แต่ปัญหาก็มีมาไม่น้อยเช่นกัน  หากใครเคยเจอปัญหาขนส่งส่งช้า คงไม่น่าหนักใจมากนักเพราะยังดีกว่าขนส่งที่ส่งของไม่ถึงมือเรา เนื่องจากของที่เราสั่งซื้อมาโดนขโมยไปเสียก่อน ลองมาดูกรณีนี้กัน           วันหนึ่งคุณน้ำตาลได้เลื่อนดูสินค้าบนแอปพลิเคชันร้านค้าออนไลน์ชื่อดังแห่งหนึ่ง เจอเจลล้างหน้าจากแบรนด์ดังลดราคาและมีโปรโมชั่น จึงได้สั่งซื้อผ่านแอปพลิเคชันทันที ทำการจ่ายเงินและรอรับสินค้า จนเมื่อวันก่อนเกิดเหตุมีเบอร์ขนส่งเคอรี่เจ้าประจำโทรเข้ามาแต่คุณน้ำตาลไม่ได้รับสาย ต่อมาเลยเช็คกับทางแอปพลิเคชันตลาดออนไลน์ว่าของส่งถึงไหนแล้ว ปรากฎว่าขึ้นสถานะสินค้าว่าได้จัดส่งแล้ว  คุณน้ำตาลจึงลงไปดูของที่จุดรับของบริเวณชั้นล่างของที่พัก (หอพักเอกชน) ปรากฎว่าไม่มี จึงได้เช็คหมายเลขพัสดุของขนส่งเคอรี่อีกที ซึ่งขึ้นว่า “ส่งของแล้ว” แต่ลายเซ็นผู้รับขึ้นว่า "ไม่เซ็น" อ้าว...ไหงงั้น  คุณน้ำตาลจึงได้โทรกลับไปเช็คกับพนักงานส่งของเพราะไม่มีของที่ซื้อวางไว้ ทางพนักงานส่งยืนยันว่า ส่งแล้วพร้อมกับเอารูปที่ถ่ายว่าส่งแล้วมายืนยันกับคุณน้ำตาล         ส่งแล้วแต่ไม่มีของ แล้วมันหายไปไหน หายไปได้อย่างไร คุณน้ำตาลจึงขอให้เจ้าของหอ ช่วยสอบสวนหน่อยว่า มีใครหยิบผิดหรือไม่?  ซึ่งปรากฎว่าไม่มีใครหยิบไป  ดังนั้นคุณน้ำตาลจึงต้องขอดูกล้องวงจรปิดช่วงวันเวลาที่มีพนักงานขนส่งของเคอรี่มาส่งของ           ในกล้องวงจรปิดพบว่า พนักงานของเคอรี่ได้ส่งของจริงตรงจุดที่หอพักทำเป็นจุดพักวางไว้ (เนื่องจากสถานการณ์โควิดทางหอไม่ให้คนนอกเข้าหอพัก) และเมื่อได้ดูต่อไปว่าใครหยิบของไป เลยเห็นว่ามีคนแต่งตัวเหมือนพนักงานส่งของ (อีกยี่ห้อหนึ่ง) ขี่จักรยานยนต์มาตรงที่วางของแล้วทำท่าเลือกของสักพัก เมื่อได้ของที่ต้องการจึงหยิบไป ขับรถทำเนียนๆ ออกไปเลย ทางคุณน้ำตาลรู้สึกเสียหายอย่างมากที่ไม่ได้รับของและคิดว่าจะอย่างไรดี ใครต้องรับผิดชอบกรณีนี้บ้างแนวทางในการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นคุณน้ำตาลได้ขอคืนเงินจากทางแอปพลิเคชันร้านค้าออนไลน์ เพราะแม้ว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 623 ความรับผิดของผู้ขนส่งย่อมสุดสิ้นลง ถ้าผู้รับสินค้าได้รับไว้แล้วโดยไม่อิดเอื้อน และได้ใช้ค่าระวางพาหนะกับทั้งอุปกรณ์เสร็จแล้ว หรือพัสดุที่ถูกส่งไปยังที่อยู่ซึ่งมีพื้นที่รับของส่วนกลางถือว่าสิ้นสุดหน้าที่  แต่ภายในข้อกำหนดของเคอรรี่ข้อ 7 ได้ระบุไว้ว่า “หลักฐานการจัดส่ง” 7.1 จำเป็นต้องมีลายเซ็นจากผู้รับมอบเพื่อเป็นหลักฐานการจัดส่ง 7.2 ในกรณีที่ผู้รับไม่ใช่ผู้รับมอบ ผู้จัดส่งของเราจะพยายามยืนยันตัวตนของผู้รับอย่างสมเหตุสมผล จำเป็นต้องมีลายเซ็นของผู้รับดังกล่าวเพื่อเป็นหลักฐานการจัดส่ง 7.3 ในกรณีพิเศษที่ไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ผู้จัดส่งของเราจะเขียนเป็นหมายเหตุไว้ บางครั้งไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ด้วยเหตุผลหลายประการ รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงผู้รับซึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถ การที่ลายเซ็นผู้รับขึ้นว่าไม่เซ็นนั้น เท่ากับว่าผู้ขนส่งไม่ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดในข้อ 7         ทั้งนี้  ทางคุณน้ำตาลได้รับเงินคืนจากแอปพลิเคชันร้านค้าออนไลน์แล้ว ทางเจ้าของหอพักได้มีการเปลี่ยนสถานที่วางพัสดุ ส่วนทางขนส่งเคอรี่ได้มีการติดตามและขอหลักฐาน คือ ภาพบันทึกจากกล้องวงจรปิดกับทางคุณน้ำตาลเพื่อดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ลักทรัพย์ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ฮาวทู (ไม่) ทิ้ง

         ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ตระหนักถึงผลกระทบจากการกินการใช้สินค้า/บริการ และต้องการทางเลือกที่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 74 ของผู้บริโภคในยุโรป สหรัฐอเมริกา และอเมริกาใต้ ยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่แพ็คเกจรีไซเคิลได้         ผู้ประกอบการหลายเจ้าก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น มาดูกันว่าสินค้าอุปโภคบริโภคจากผู้ผลิตค่ายใหญ่ มีการปรับปรุงแพ็คเกจให้เหลือเป็น “ขยะ” น้อยลง และให้ความรู้กับผู้บริโภคเรื่องวิธีการ “ทิ้ง”หรือ “รีไซเคิล” แพ็คเกจที่ใช้แล้วหรือไม่           Consumers International หรือสหพันธ์ผู้บริโภคสากล ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกใน 9 ประเทศ (บราซิล โปรตุเกส ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย อินเดีย และฮ่องกง ทั้งหมดนี้มีผู้บริโภครวมกันไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านคน) ทำการสำรวจบรรจุภัณฑ์ของกินของใช้ยอดนิยม 11 ชนิดที่มีจำหน่ายในประเทศดังกล่าว ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564 ว่าสามารถคัดแยกไปรีไซเคิลได้สะดวกหรือไม่และมีฉลากที่ให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวมากน้อยเพียงใด         มีข้อค้นพบที่น่าสนใจจากการสำรวจดังนี้        · ในภาพรวม ร้อยละ 35 ของแพ็คเกจผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่สำรวจยังเป็นภาระในการรีไซเคิล        · ถ้าเฉลี่ยเป็นรายชิ้นจะพบว่า ร้อยละ 17 ของแพ็คเกจแต่ละชิ้นไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และยิ่งเป็นพลาสติกชิ้นบางเบา ก็ยิ่งยากต่อการรีไซเคิล        · เมื่อเทียบแพ็คเกจสินค้า 11 ชนิด ในแต่ละประเทศ ฮ่องกงมีสัดส่วนของแพ็คเกจที่นำไปรีไซเคิลได้มากที่สุด ในขณะที่บราซิลมี “ขยะ” เหลือทิ้งมากที่สุด          ·  สำหรับอีก 7 ประเทศ ดูได้จากตารางด้านล่างนี้                   · ฉลากสินค้าเหล่านี้ในทุกประเทศที่สำรวจ ไม่ระบุวิธี “ทิ้ง” บางชนิดมีแพ็คเกจที่นำไปรีไซเคิลได้ แต่ฉลากกลับไม่แจ้งไว้ หรือกรณี M&M ของโปรตุเกส ที่แพ็คเกจระบุว่าให้นำไปทิ้งลงถัง ทั้งๆ ที่มันสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100%        · ฉลากมีข้อความที่ไม่สามารถเข้าใจได้ง่ายโดยผู้บริโภคในประเทศ เช่น ฉลากน้ำแร่ซานเพลลิกรีโน ที่ขายในออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ กลับมีการแสดงสัญลักษณ์แบบที่ใช้ในยุโรป        · จากการเปรียบเทียบฉลากสินค้า 11 ชนิด ใน 9 ประเทศ พบว่า ออสเตรเลีย บราซิล และฝรั่งเศส มีสินค้าที่มีฉลากให้ข้อมูลรีไซเคิลมากกว่า 8 ชนิด อินเดีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร มีระหว่าง 5 – 8 ชนิด ฮ่องกงและโปรตุเกสมีไม่เกิน 4 ชนิด                     โดยสรุป ผู้บริโภคใน 9 ประเทศที่ทำการสำรวจรู้สึกว่า การคัดแยกขยะเพื่อการรีไซเคิลเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย ฉลากที่ไม่ชัดเจนหรือให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็ทำให้การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอย่างรับผิดชอบต่อโลกเป็นเรื่องยาก หากต้องการไปให้ถึงเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน ภาระเรื่องนี้ต้องไม่ใช่ของผู้บริโภคอย่างเดียว ผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามนี้ รวมถึงภาครัฐที่ปัจจุบันยังมีระดับการจัดการเรื่องนี้แตกต่างกันไป ก็ควรมีกฎเกณฑ์ในเรื่องฉลากและมีศูนย์รีไซเคิลไว้รองรับด้วย           หลัก 7R ที่ผู้บริโภคอย่างเราสามารถใช้เพื่อช่วยลดขยะ        REFUSE         ปฏิเสธสิ่งที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม            REDUCE        ลดการใช้อย่างฟุ่มเฟือย รวมถึงเลือกสินค้าที่สามารถใช้งานได้นานขึ้น        REUSE           ใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำหลายครั้งก่อนทิ้ง        REFILL           เลือกใช้สินค้าชนิดเติมได้ เพื่อลดขยะบรรจุภัณฑ์        REPAIR          ซ่อมแซมเพื่อให้สามารถใช้ต่อได้ แทนที่จะปลดระวางมันไปเป็นขยะ        RETURN        เลือกสินค้าที่สามารถส่งคืนบรรจุภัณฑ์กลับสู่ผู้ผลิตได้          RECYCLE     แยกขยะที่ยังมีประโยชน์ออกมาเพื่อส่งแปรรูป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ร้านพลังรักษ์ เมื่อความรักทำงาน

มาค่ะ ฉลาดซื้อจะพาไปช็อปปิ้งในร้านค้าชุมชนแห่งหนึ่ง ที่สินค้ามี “ราคา” และ “คุณภาพ” ดีเท่าเทียมกัน เป็นร้านที่รับหน้าที่เป็นผู้คัดสรรของดีแทนผู้บริโภค แบบที่เรียกได้ว่า ” กินอย่างไร ขายอย่างนั้น ” หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ และหลายๆ คนคงคุ้นเคยกับร้านนี้ “พลังรักษ์”  ร้านอาหารมังสวิรัติ ย่านถนนนวมินทร์ (ปัจจุบันมี 3 สาขา ตั้งอยู่ระหว่างซอยนวมินทร์ 44 ถึง 46 แต่ละร้านจะจำหน่ายสินค้าที่แตกต่างกัน ร้านพลังรักษ์ สาขา 1 และสาขา 2 อยู่ในซอย 46 เป็นร้านอาหารและร้านขายวัตถุดิบ เครื่องปรุงอาหาร ส่วนสาขา 3 ตั้งอยู่ที่ปากซอยนวมินทร์ ซอย 44 เป็นร้านขายผักสด ผลไม้ และเครื่องปรุงรส รวมทั้งน้ำผักปั่นและนมอัลมอนด์)         สุวรรณา  สุมณฑา ผู้จัดการร้านพลังรักษ์  เล่าอย่างมีความสุขเมื่อเราถามว่าตั้งราคาเป็นมิตรแบบนี้มีกำไรบ้างไหม “เราก็เอากำไรบางส่วนไง เราสงสารเกษตรกร ท่านอุตส่าห์ทำลำบาก ตลาดก็ปิดหมดไม่มีที่ลง เราก็ให้ท่านลง ช่วยท่าน เราก็คิดเปอร์เซ็นต์ถูกไม่แพง เอาแค่ให้เราพออยู่ได้ เป็นค่าอะไรต่ออะไรของเรา” สินค้าที่ขายมาจากที่ไหน         ของตามฤดูกาลของญาติธรรม คือเราเป็นนักปฏิบัติธรรมนะ ที่เรามาตรงนี้เสียสละเพราะว่าเราเป็นลูกศิษย์ของพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ไหว้ครูก่อน คือท่านสอนให้เราพึ่งตนเองและก็ช่วยผู้อื่นเมื่อเราเต็มที่แล้ว เราเพียงพอแล้ว เราก็หัดอยู่แบบพอเพียงเหมือนพ่อหลวงแล้วเราก็ปลูกกินเอง ทั้งทำเองเสร็จแล้วเราก็มีเหลือ เรามีเหลือแล้ว บางคนเขาไม่มาค้าขายอย่างนี้เขาจะมีที่ดินของเขา เขาก็ปลูกอยู่ปลูกกินแล้วก็เอามาขาย สินค้าเป็นสินค้าสุขภาพ        ใช่ค่ะเราเน้นเลย โดยเฉพาะถ้าไม่มีสารพิษเลยยิ่งดี ดีกว่าปลอดสารฯ ปลอดสารนี่ยังมีระยะเวลาในการที่ฉีดแล้วรอเวลา ของเรานี่ไม่ใส่เลยเอาน้ำไปตรวจเอาดินไปตรวจบริสุทธิ์เพราะบางทีมันโกหกได้ไง พอเกิดโควิดมันก็เลยพลิกกลับว่าเราต้องมาพึ่งตนเอง ที่พ่อหลวงสอนก็เลยมีความสำคัญ พ่อครูก็เลยได้สอน 3 อาชีพที่ท่านบอก 3 อาชีพกู้ชาติ ต้องทำกสิกรรมไร้สารพิษ ต้องเอาขยะมาเป็นปุ๋ย มันก็เลยกลับมาสู่วิถีชีวิตดั้งเดิม เรากินแบบไหน ก็ขายแบบนั้น         ใช่ๆ ก็เป็นการขายสินค้าที่ปราศจากเนื้อสัตว์ เป็นมังสวิรัติของดีราคาถูก เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ถือว่าเป็นโมเดลหนึ่งนะ จะมีทั้งหมด 3 ร้านใหญ่ๆ ก็คือร้านผัก ผลไม้ แล้วมีน้ำปั่นเป็นโมเดลนะ น้ำปั่นคือสูตรผักพื้นบ้าน สูตรผลไม้และสมุนไพรเป็นผักพื้นบ้านของไทย เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นที่ตอบโจทย์ของลูกค้ามาก ลูกค้ามีสุขภาพดีได้ดื่มน้ำผัก         นอกจากนี้เรามีข้าวสวยจากเลิงนกทา ที่พวกเราเองที่เป็นเกษตรกร 5 กระสอบต่อสัปดาห์  บางคนต้องการกับข้าวเราก็ขายพวกนี้ด้วย พวกนี้เป็น Food for Health มีน้ำปั่นสูตรที่เราคิดขึ้นมากันเองเป็นสูตรผักพื้นบ้านเพราะเราว่ามันเหมาะกับคนไทย ผักพื้นบ้านยีนมันแข็งแรง ทานแล้วก็แข็งแรงแล้วต้นทุนราคาก็จะถูก จุดเด่นที่ให้เอาภาชนะมาใส่เอง         ลูกค้ามาครั้งแรกถ้าไม่ได้เอาภาชนะมาเราก็ให้บริการถุงกระดาษ แต่ว่าเราก็ขอคิดสตางค์ถุงละ  1-2  บาท เพราะถ้าไม่คิดลูกค้าจะไม่ยอมเอามาเลยแล้วก็มาหาข้างหน้าตลอดเวลา แต่พอเราคิดบาทหนึ่ง ครั้งต่อไปเขาก็จะเอาภาชนะของเขามา เป็นถุงอะไรของที่เขามีอยู่เขาก็จะเอามาใส่กัน มันลดปริมาณขยะไปโดยปริยาย สินค้าก็จะราคาไม่แพงเพราะมันไม่มี Package มันจะตอบโจทย์ลูกค้า โดยเฉพาะช่วงโควิดนะ แล้วเขาจะซื้อทีละเล็กทีละน้อย คนละนิดคนละหน่อย ยุคนี้เงินเขาน้อย         ทำไมพลังรักษ์ถึงขายดี ทำไมพลังรักษ์ถึงขายได้เยอะ ลูกค้าเยอะมาก ของดีราคาถูกแล้วก็ขายปริมาณน้อยก็ได้ ไม่อย่างนั้นเขาซื้อข้าวไปถุงหนึ่งบางทีนะแล้วมันก็เหลือก้นถุง อันนี้เขาซื้อแค่ต้มข้าว ต้มพอกิน เขาซื้อพอกินบางทีเขามีเงินมาสักห้าสิบบาท เขาพอซื้อได้เยอะเลย เขาตักเองได้ตามปริมาณที่เขาต้องการ อันนี้นะคือเป้าหมาย  เราหักปริมาณภาชนะก่อนนะ ชั่งแล้วเขียนปริมาณภาชนะไว้ แล้วพอไปชั่งมารวมแล้วก็หักภาชนะออก เครื่องมันจะหักโดยอัตโนมัติมันก็จะคิดราคาออกมาเลย เพราะฉะนั้นตรงนี้ถามว่าโควิดนี่ตอบโจทย์ได้ดีมาก ถ้าพูดตรงๆ นะ หลายร้านอาจจะบอกว่ายากๆ อย่างเช่นผลิตภัณฑ์ของถั่วพวกนี้ ธัญพืช ซึ่งมันเป็นโปรตีนจำเป็นมากสำหรับเรา แต่ทำไมอันนี้ขายได้ถูกเพราะเราซื้อปริมาณมากๆ แล้วเราอบเอง ก่อนอบล้างให้สะอาดแล้วอบเองจะตอบโจทย์ลูกค้าเช่นเดียวกับพวกน้ำยาซักผ้าล้างจาน น้ำยาขัดห้องน้ำ ผลิตเองแล้วก็ขายได้ในราคาถูกๆ เพราะฉะนั้นมันจะตอบโจทย์ลูกค้าตรงนี้ได้ ควบคุมคุณภาพสินค้าอย่างไรคะ         ตรวจสอบกันประจำและคนทำก็คือคนมีศีล วันต่อวันนะ ถั่วอบวันต่อวันคือถ้าไม่มีคุณภาพเราถือว่าเป็นบาปนะ เราเอาของไม่ดีให้กับลูกค้า เราเน้นเรื่องศีลเพราะฉะนั้นคนที่มาอยู่ที่นี่ก็ถามว่าพนักงานจะมี 3 ระดับ หนึ่งจิตอาสา สองจิตอาสาและก็มีรายได้บ้าง อย่างที่สามคือพนักงาน พนักงานก็คือรับเงินไปมีเงินเดือนอย่างเช่นเขาเป็นคนต่างด้าวเราอาศัยแรงงานเขา เราก็ไม่ได้จ้างแพงมาก แต่มีข้าวกิน เป็นอาหารมังสวิรัติ เรามีที่พักให้ มันจะลงตัวตรงที่ว่าพอสินค้าเราดูว่ามันจะเก่าแล้วอะไรแล้ว เราจะรีบนำมาทำอาหาร เพราะฉะนั้นมันจะมีของใหม่มาทดแทน ผักผลไม้เก็หมือนกัน เราขายเสร็จเหลือเราก็เอาไปเข้าโรงครัวเอามาปรับ ไม่ทิ้งมันจะไม่มีคำว่าเสียวัตถุดิบอะไร เหลือวันนี้เราออกอาหารที่มันเป็นเมนูนั้นเลย อะไรเยอะเราจะทำเมนูนั้นก่อนออกขาย แล้วอาหารของเราก็ไม่ใส่ชูรส เป็นอาหารสุขภาพ ( คุณสุวรรณาเสริมว่า  คนจีนเขานับถือนะถ้าทำแบบนี้เขาว่าคนไทยว่ากินทิ้งกินขว้างแต่เราไม่เลย ทุกอย่างของเราเป็นประโยชน์หมดเลย)  เครือแก้ว คุณะวัฒนา ผู้ช่วยผู้จัดการการลดขยะจากสินค้าไร้หีบห่อ         คือแต่ละคนก็จะเอาภาชนะของตนเองมา จะเอากล่องเอาถ้วยอะไรอย่างนี้แล้วก็มาตักของ เขาก็สนุก สนุกกับการที่จะได้ตักแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง พอตรงนี้บางทีเรามีของมา มีของที่จะใช้ซ้ำได้พวกกล่องภาชนะต่างๆ เราก็มาใช้ซ้ำ อย่างขวดอย่างนี้ ลูกค้าบางทีลูกค้าก็เอาให้เรานะ อย่างขวดพอดีเห็นเราหิ้วมาอย่างนี้ ขวดไม่เอาเหรอ รับบริจาคไหม เราบอกรับค่ะ รับหมด พอมาซื้อก็กลายเป็นมีขวดมา ลูกค้าบางคนก็นอกจากมาซื้อของก็มาสละเหมือนกับที่เราสละ  บางทีอย่างนี้ตรงนี้จะเป็นมุมแบ่งปันก็จะมีคนเอาซอง เอาพลาสติก ถุง หรือเอาซองที่แบบว่ายังสะอาดอยู่เอามาให้เราใช้ซ้ำอีก ภาชนะที่เป็นซองอย่างนี้ เอามาใส่ถั่วดิบได้ มันก็ไม่ได้เลอะอะไร แล้วขวดก็เอามาใส่น้ำยาล้างจานซึ่งเป็นน้ำ ก่อนหน้านี้เราจะมีแชมพูด้วยนะคะ ลูกค้าชอบเพราะว่าเขาเอาขวดของเขามากรอกใช้ซ้ำ ลูกค้าประทับใจ         ขยะแต่ละชิ้นมันมีที่ไป มันมีที่ไปที่มันจะไปต่อได้หรือว่ามันเป็นประโยชน์อะไร ตอนนี้ปัญหาของโลกคือขวดเยอะที่สุดในโลก มันก็กลายเป็นแพขยะ ถ้าเราแยกและทำความสะอาดมันก็เอาไปขายได้ หรือตอนนี้เราใช้ขวดสะอาดมาเติมเป็น Refill ของให้ลูกค้าได้ คือมันมีหลายตัวที่มันสามารถจัดการกับเขาได้โดยที่ไม่ต้องทิ้งไป แล้วมันก็ยังได้ประโยชน์อีกหลายๆ อย่าง ล่าสุดยังแบ่งเอาไปบริจาคทำน้ำมัน และตัวเองเน้น Eco bricks ด้วย คือขยะพลาสติกบางตัวที่มันไม่สามารถจะใช้ได้อย่างพวกของที่มัน Refill ตัวนั้นขายไม่ได้ ราคาสุดท้ายถ้าไปอยู่ในทะเลก็จะเป็นอาหารปลาอาหารเต่า แต่ว่าถ้าเรามาลงขวดแล้วเรามาทำเป็นอัดใส่ขวดให้มันแน่นๆ เขาเรียกขวด Eco bricks  มันก็สามารถเอาไปต่อได้ทำเป็นชิ้นงานได้ ทำเก้าอี้ ทำเป็นโต๊ะ ทำเป็นจัดแต่งสวนสวยงาม สมมติถ้าไปปลูกผักก็ไม่ต้องไปซื้อล้อยางมาทำกระถาง เอาขวด Eco bricks วางเป็นกลมๆ หรือจะทำทางเดิน ทำอะไรได้หลากหลาย ที่ผ่านมาเราทำเรื่องนี้ เห็นว่าขยะทุกอย่างมันไม่ใช่ขยะเลย มันคือทรัพยากรแต่ละชนิดแต่ละชิ้นที่มันจะไปต่อได้ เป็นประโยชน์ต่อๆ ได้แม้กระทั้งกล่องโฟม กล่องโฟมถ้าเราล้างสะอาดเอามาทำเป็นหินเทียมก็ได้ ตรงนี้ส่วนใหญ่บางทีเราก็รวบรวมเอาทุกอย่างก็พยายามทำทุกอย่างให้มันเกิดประโยชน์สูง ประหยัดสุด สำคัญคือ เราปฏิบัติธรรมเราใช้ความประณีต ประณีตในทรัพยากรทุกๆ ตัวแล้วมันจะเกิดประโยชน์สูงสุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 เมื่อโดนฟ้องปิดปาก

        เมื่อผู้บริโภคซื้อสินค้าแล้วมีปัญหา แจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายแล้ว แต่วิธีการแก้ไขปัญหาของบริษัทก็ยังไม่ตอบโจทย์  ผู้บริโภคจึงไปร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ ที่จะสามารถช่วยเหลือเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นการร้องต่อสื่อมวลชน หรือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อจะให้บริษัทสนใจหาวิธีแก้ไขปัญหาที่สามารถใช้ได้จริง แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากผู้บริโภคถูกบริษัทฟ้องคดีกลับ เพื่อให้หยุดร้องเรียน เรามาดูบทเรียนจากเรื่องนี้กัน        ผู้บริโภคท่านหนึ่งซื้อรถยนต์ มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ มาใช้ ต่อมาพบว่าเครื่องมีปัญหาเริ่มจากโช้ครั่ว โดยพบปัญหานี้หลังใช้รถเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น ต่อมาก็พบปัญหาความผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือนและตัวเลขแสดงระยะทางที่ผิดพลาดอีก ล่าสุดพบปัญหาเครื่องยนต์ดีเซลมีอาการสั่น และเร่งความเร็วไม่ขึ้นช่วง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เขาได้แจ้งไปยังบริษัทเพื่อให้แก้ไขปัญหา บริษัทก็นำรถไปซ่อมแล้วหลายครั้งอาการต่างๆ ก็ยังไม่หาย เขารู้สึกว่าเขาซื้อรถป้ายแดงก็อยากได้รถที่มีคุณภาพดี ไม่ใช่ซื้อมาเพื่อซ่อม แถมยังต้องระวังอันตรายขณะขับรถเพราะ รถมีปัญหา ซึ่งเขาก็แทบจะไม่ได้ใช้รถเลยเพราะรถต้องเข้าศูนย์เพื่อซ่อมบ่อยครั้ง ถ้ารถยนต์คุณภาพไม่ดีแบบนี้เขาขอให้บริษัทมาสด้าคืนเงินให้เขาและเอารถยนต์กลับคืนไปดีกว่า         เมื่อเขายื่นขอเสนอไปแล้วแต่บริษัทก็ปฏิเสธกลับมา จึงเกิดการเจรจากับบริษัทขึ้น แต่ก็ไม่ได้ผล เขาจึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิฯ เชิญบริษัทเจรจาอีกครั้ง และพาผู้บริโภคไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และออกสื่อเพื่อให้บริษัทมาสด้าแก้ไขปัญหา โดยขอให้บริษัทฯ ขยายเวลารับประกันและชี้แจงวิธีการแก้ไขปัญหาให้เป็นปกติ หากไม่สามารถแก้ไขได้ขอให้รับซื้อรถยนต์คืน และชดเชยค่าขาดประโยชน์จากการใช้งาน         อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้นำพาแก้ไขปัญหาตามที่ผู้บริโภคขอ แต่กลับเล่นงานผู้บริโภคกลับ ด้วยการฟ้องคดีอ้างว่า ใช้สิทธิเกินส่วนที่ผู้บริโภคควรใช้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง รวมทั้งทำให้ยอดจำหน่ายของบริษัทลดลง เรียกค่าเสียหาย 84 ล้านบาท          แนวทางการแก้ไขปัญหา        การฟ้องคดีผู้บริโภคลักษณะนี้ เรียกว่า การฟ้องปิดปาก/การฟ้องกลั่นแกล้ง (SLAPPs) Strategic Lawsuit against Public Participation หรือที่นิยมเรียกว่า SLAPPs คือ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านขัดขวางการใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นสาธารณะ โดยการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการปิดปากประชาชน เพื่อให้ยุติการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสาธารณะ หรือหยุดการแสดงออกของประชาชนในบางเรื่อง ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทำให้ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องในประเด็นสาธารณะนั้นเกิดภาระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีหรือทำให้เกิดความกลัว จนในที่สุดประชาชนเหล่านั้นก็จะละทิ้งความตั้งใจที่จะออกมาใช้สิทธิในการมีส่วนร่วม ซึ่งกรณีของผู้ร้องเป็นการที่บริษัทฟ้องปิดปากผู้ร้องไม่ให้ร้องเรียนหรือหยุดพูดถึงปัญหาการใช้งานของรถยนต์ ข่มขู่ ทำให้ผู้ร้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี อีกทั้งยังเรียกค่าเสียหายจำนวนมากถึง 84 ล้านบาท         กรณีนี้ผู้ร้องต้องตั้งสติ ไม่ต้องกลัวการถูกฟ้องคดี เมื่อถูกฟ้องคดีแล้วติดต่อทนายความเพื่อทำคำให้การ ยื่นให้แก่ศาลเพื่อต่อสู้คดี ศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ทำคำให้การว่า  การออกมาฟ้องผู้บริโภคที่ออกมาใช้สิทธิว่าละเมิดใช้สิทธิเกินส่วน โดยยกข้อความจากเฟซบุ๊กว่า ข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความไม่ตรงกับความจริงนั้น ตามหลักกฎหมายแล้ว ปกติการใช้สิทธิของตนเอง เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนบ้างก็ตาม การที่จะเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนต้องมีเจตนาหรือจงใจกลั่นแกล้ง โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นฝ่ายเดียว จึงจะเป็นการใช้สิทธิเกินส่วน แต่กรณีของผู้ร้องไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งใคร จึงไม่เป็นการใช้สิทธิเกินส่วน         ต่อมาผู้ร้องได้มีทีมทนายความเข้ามาช่วยเหลือให้การสืบคำให้การ จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าการออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากทางบริษัทในครั้งนั้น เป็นการปกป้องสิทธิตามสิทธิผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถยนต์มีความบกพร่องจริง และผู้เสียหายได้สอบถามไปยังผู้ผลิตแต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงมีสิทธิเรียกร้องทวงถาม ไม่ถือเป็นการใช้สิทธิส่วนเกินตามที่บริษัทอ้าง ทั้งนี้ศาลได้มีคำสั่งให้ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชดใช้ค่าทนายให้กับผู้เสียหายเป็นเงิน 30,000 บาท         หลังจากนั้นคดียังไม่จบ เพราะว่าบริษัทอุทธรณ์คำพิพากษศาลชั้นต้น ศาลอุทธณณ์ศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้อง เช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น บริษัทก็ยังฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีก สุดท้ายศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคำร้องขออนุญาตฎีกาของบริษัท จึงส่งผลให้คดีนี้สิ้นสุดลง กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ คือ ผู้ร้องใช้สิทธิตามปกติ ไม่ได้ใช้สิทธิเกินส่วน ไม่มีความผิดตามที่บริษัทฟ้อง ไม่ต้องจ่ายเงิน 84 ล้านบาทให้แก่บริษัท

อ่านเพิ่มเติม >