ฉบับที่ 255 สิเน่หาส่าหรี : การพบกันของผู้หญิงต่างเวลาต่างพื้นที่

        “ชาติ” กับ “ประเทศ” ต่างกันอย่างไร คำว่า “ประเทศ” มีแนวโน้มจะหมายถึงพื้นที่รูปธรรมซึ่งปัจเจกบุคคลยืนเหยียบและใช้ชีวิตอยู่ หากแต่ “ชาติ” จะมีนัยเป็นนามธรรม หรือเป็นจิตสำนึกร่วมที่ปัจเจกบุคคลต่างเกี่ยวโยงร้อยรัดเข้าหาอาณาบริเวณหนึ่งๆ จนมีคำถามสำคัญว่า ความเป็นชาตินั้นสามารถยึดโยงปัจเจกบุคคลข้ามเวลาและข้ามพื้นที่ได้หรือไม่ และคงอยู่หรือผันแปรไปอย่างไรท่ามกลางโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง         แค่ได้ยินชื่อเรื่องละครโทรทัศน์แนวดรามาแฟนตาซีว่า “สิเน่หาส่าหรี” ผู้เขียนก็บังเกิดความสนใจใคร่รู้ต่อโครงเรื่องและตัวละครที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมา โดยมีฉากหลังของพล็อตเรื่องเป็นดินแดนในอนุทวีป         จะว่าไปแล้ว ก่อนที่สยามประเทศในอดีตจะเผชิญหน้ากับอารยธรรมใหม่ของมหาอำนาจชาติตะวันตก กระแสการเปิดรับวัฒนธรรมอินเดีย หรือที่เรียกว่า “ภารตภิวัตน์” นั้น มีมาช้านานก่อนที่ชาวสยามจะรู้จักกับชนเผ่าแขกขาวอารยันจากยุโรปกันเสียอีก ดังนั้น เมื่อเรื่องราวของวัฒนธรรมภารตะกลายมาเป็นเรื่องเล่าในของละครโทรทัศน์ จึงดูน่าสนใจยิ่งว่า ในทัศนะมุมมองแบบไทยร่วมสมัย เราจะรับรู้ความเป็นภารตวิถีกันเช่นไร         ด้วยฉากหลังที่ได้แรงบันดาลใจจากกระแสภารตภิวัตน์ ละคร “สิเน่หาส่าหรี” ได้กำหนดเส้นเรื่องหลักที่ว่าด้วยจิตสำนึกแห่งความเป็นชาติ โดยสร้างจินตนาการประเทศสมมติขึ้นมาในนาม “มันตราปุระ” ซึ่งได้ชื่อว่ามั่งคั่งร่ำรวยด้วยทรัพยากรและอัญมณีมากมาย แต่ก็สามารถเล็ดรอดจากการเป็นอาณานิคมในห้วงยุคที่จักรวรรดินิยมอังกฤษเรืองอำนาจ         แม้จะอยู่รอดจากลัทธิเมืองขึ้นจนผ่านกาลเวลามายาวนานได้อย่างน่าอัศจรรย์ (เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในดินแดนอนุทวีปในยุคเดียวกัน) แต่มันตราปุระก็มีขนบธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่างที่เข้มข้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวพันกับการสืบทอดราชบัลลังก์ และการคัดเลือกพระชายาขององค์รัชทายาท ผู้จะกลายมาเป็นมหารานีเคียงคู่กับองค์กษัตริย์แห่งมันตราปุระในอนาคต         ด้วยเหตุดังกล่าว ปมแห่งเรื่องละครจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อผู้หญิงไทยหรือสตรีต่างชาติอย่าง “นิลปัทม์” ตัดสินใจจะเสกสมรสกับ “เจ้าชายชัยทัศน์” องค์รัชทายาทแห่งมันตราปุระ อันเป็นประเพณีปฏิบัติซึ่งแตกต่างไปจากที่เคยยึดถือกันมา และเป็นเหตุวิสัยให้ผู้หญิงสามคนที่ต่างภพต่างเวลาและต่างพื้นที่ได้เวียนว่ายข้ามแดนดินมาพบเจอกัน         สตรีนางแรกก็คือ นางเอก “นวลเนื้อแก้ว” ดีไซเนอร์หญิงไทยผู้เป็นพี่สาวแท้ๆ ของนิลปัทม์ ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาดูแลน้องสาวสุดที่รัก ไม่เพียงแต่นวลเนื้อแก้วต้องเรียนรู้วัฒนธรรมแห่งดินแดนใหม่ที่ดูผิดแผกแตกต่างไปจากที่เธอคุ้นชินแล้ว เธอยังต้องสวมบทบาทเป็น “คนแดนไกลที่ใช่” ตามคำทำนายซึ่ง “เจ้าชายกีริช” พระเอกหนุ่มเฝ้าตามหา เพื่อช่วยปลดปล่อยปริศนาแห่งมันตราปุระที่ร่ำลือตกทอดมาจากอดีต         ผู้หญิงคนที่สองก็คือ “ศศิประไพ” มหารานีองค์ปัจจุบันของ “กษัตริย์ชัยนเรนทร์” และเป็นผู้ควบคุมกฎการตั้งว่าที่พระชายาให้องค์รัชทายาท แม้ด้านหนึ่งเธอจะเริ่มต้นจากการตั้งแง่รังเกียจสาวไทยอย่างนิลปัทม์แบบออกนอกหน้า เนื่องจากแหวกธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดถือมา แต่อีกด้านหนึ่ง มหารานีเองก็คือตัวแทนผู้หญิงที่ยึดมั่นในสำนึกความเป็นชาติต่อมันตราปุระอย่างเข้มข้น         และสตรีคนสุดท้ายก็คือ “ราชมาตาสริตา” วิญญาณย่าทวดของกีริชและชัยทัศน์ ผู้ซึ่งข้ามภพข้ามกาลเวลามาคอยพิทักษ์ปกป้องราชบัลลังก์แห่งมันตราปุระ และเป็นผู้วางปริศนาเรื่อง “คนแดนไกลที่ใช่” ที่จะมากอบกู้บ้านเมืองจากตระกูล “พสุธา” ของตัวละคร “ขจิต” ผู้เป็นอริราชศัตรู         เนื่องจากชาติถูกสร้างขึ้นเพื่อยึดโยงปัจเจกบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างกระจัดกระจายให้มาระบุตัวตนในจินตกรรมดังกล่าวร่วมกัน ดังนั้น การที่ผู้หญิงสามคนที่ต่างภพต่างพื้นที่และต่างเวลาได้โคจรมาบรรจบพบเจอกันจึงมิใช่ด้วยเหตุบังเอิญ หากแต่เป็นด้วยอานุภาพแห่งสำนึกความเป็นชาติที่ร้อยรัดให้ผู้หญิงทั้งสามได้มาปฏิบัติภารกิจรักษาอธิปไตยและการดำรงอยู่แห่งมันตราปุระนั่นเอง         นอกเหนือจากที่ชาติจะได้ถักทอผู้หญิงซึ่งไม่เคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อนให้มายึดมั่นในภารกิจเดียวกันแล้ว เพื่อให้จิตสำนึกแห่งชาติที่มีต่อมันตราปุระปรากฏเป็นรูปธรรม สำนึกร่วมอันเป็นนามธรรมดังกล่าวจะเผยตัวออกมาอย่างเข้มข้นได้ก็ต่อเมื่อปัจเจกบุคคลยึดเหนี่ยวอยู่ในสัญลักษณ์ร่วมบางอย่าง เพื่อตอกย้ำความเป็น “เรา” ที่แตกต่างจากความเป็น “อื่น” (คงคล้ายๆ กับที่ความเป็นชาติแบบไทยๆ ก็ต้องสร้างประเทศเพื่อนบ้านให้กลายเป็นอื่นหรือเป็นศัตรูในจินตกรรมของเรา)         ด้วยเหตุฉะนี้ ละครจึงได้สร้างสัญลักษณ์ร่วมเป็น “ตราแผ่นดิน” ที่หายสาบสูญไป และกำหนดรหัสข้อตกลงไว้ว่า หากผู้ใดค้นพบและครอบครองตราแผ่นดิน ผู้นั้นก็จะได้ปกครองมันตราปุระด้วยความชอบธรรม         เพราะตราแผ่นดินมิใช่แค่วัตถุหนึ่งๆ หากเป็นสัญลักษณ์ที่อุปโลกน์ขึ้นแทนสำนึกร่วมในความเป็นชาติ เราจึงเห็นภาพตัวละครสตรีที่แตกต่างหลากหลายมา “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” เพื่อค้นหาและส่งมอบการถือครองตราสัญลักษณ์อันเป็นสิ่งสมมติแทนตัวตนแห่งมันตราปุระ โดยมิพักว่าพวกเธอจักต้องถือกำเนิดในแว่นแคว้นแดนดินของประเทศนั้นๆ จริง หรือจะข้ามภพจากห้วงเวลาใดในทางประวัติศาสตร์มาก็ตาม         ไม่ว่าจะเป็นนวลเนื้อแก้ว “คนแดนไกลที่ใช่” ซึ่งถูกมอบหมายให้ต้องบุกบั่นถักทอผืนผ้าส่าหรี เพื่อเผยให้เห็นลายแทงที่ซ่อนของตราสัญลักษณ์แห่งแผ่นดิน หรือมหารานีศศิประไพ “คนที่ถูกต้อง” ที่ถือกำเนิดในมันตราปุระ ผู้จะค้นหาสตรีที่เหมาะสมเป็นพระชายาแห่งองค์รัชทายาท ไปจนถึง “วิญญาณพระเสื้อเมืองพระทรงเมือง” ของราชมาตาสริตา ผู้คอยช่วยเหลือให้ภารกิจครอบครองตราแผ่นดินลุล่วงไปได้ในท้ายที่สุด         เมื่อพลังสามประสานของ “วันเดอร์วูแมน” จากต่างพื้นที่และห้วงเวลารวมกันกลายเป็นหนึ่งเดียว ตัวละครผู้หญิงกลุ่มนี้ก็จะค้นพบความจริงดังที่ราชมาตาสริตาได้กล่าวไว้ในนิมิตว่า ด้วยสำนึกร่วมในความเป็นชาติ “ไม่ว่าเธอจะทำอะไร เธอต้องรู้ตัวว่าเธอแกร่งกว่าที่เธอคิด”         จนมาถึงฉากจบเรื่องเมื่อพลังประสานของผู้หญิงที่ผนวกรวมกับจินตกรรมคำว่า “ชาติ” ผู้ชมจึงได้เห็นปาฏิหาริย์แห่งตราแผ่นดินที่ทำลายอริราชศัตรูอย่างขจิตแบบน่าตื่นตะลึง ก่อนจะปิดท้ายกับภาพแบบภารตวิถีที่ชาวเมืองทั้งหมดในมันตราปุระออกมาเต้นเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนานในชุดพื้นเมืองและส่าหรีหลากสีสัน         เพราะ “ชาติ” มิใช่ “ประเทศ” เพราะจินตนาการไม่ใช่วัตถุที่จับต้องเป็นของจริง และเพราะปัจเจกบุคคลถูกกำหนดบทบาทให้ปกป้องและสืบต่อสำนึกร่วมในความเป็นชาติ จึงไม่แปลกกระมังที่สตรีผู้ถือกำเนิดในมาตุภูมิ ผู้หญิงที่ข้ามแดนดินมาจากถิ่นอื่น และผู้หญิงที่ข้ามภพชาติห้วงเวลา จะสามารถประสานพ้องเสียงเพื่อธำรงจินตกรรมร่วมของชาติ ที่ปนเปผสมผสานระหว่างภารตภิวัตน์กับความเป็นไทยได้อย่างน่าอัศจรรย์

อ่านเพิ่มเติม >