ฉบับที่ 273 ทำไมคุกถึงเต็ม..วิทยาศาสตร์อาจให้คำตอบ

        การได้รับสารตะกั่วอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ความบกพร่องของระบบไต ระบบหัวใจและหลอดเลือด ความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันและการเจริญเติบโตช้า แต่ประเด็นที่สำคัญสุดคือ ความเสียหายต่อระบบประสาท เนื่องจากการสัมผัสสารตะกั่วอาจส่งผลให้เกิดผลกระทบทางระบบประสาทหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการทำงานของการรับรู้โดยรวมของสมองลดลง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงลบ เชาวน์ปัญญา (IQ) ลดลง ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง ความจำไม่ดีพร้อมกับความเข้าใจและการอ่านบกพร่อง ตะกั่วในสิ่งแวดล้อมมาจากไหนถึงเข้าไปอยู่ในตัวมนุษย์ได้ คนไทยมีคำตอบนี้ทุกคนหรือไม่         ปัญหาการรับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายของเด็กและผู้ใหญ่นั้นไม่เท่ากัน ผลกระทบของการสัมผัสสารตะกั่วต่อเด็กมีความรุนแรงเป็นพิเศษ เนื่องจากการดูดซึมสารตะกั่วทางสรีรวิทยาในเด็กสูงกว่าผู้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เด็กมีแนวโน้มที่จะเกิดผลกระทบทางระบบประสาทที่ไม่สามารถบำบัดให้หายได้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (US. Centers for Disease Control and Prevention) ระบุว่า "ไม่มีระดับการสัมผัสสารตะกั่วที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก" และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ลดค่าอ้างอิงสารตะกั่วในเลือดจาก 5 ไมโครกรัม/เดซิลิตร เป็น 3.5 ไมโครกรัม/เดซิลิตร ระดับตะกั่วในเลือดเด็กที่อาจส่งผลให้เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วก่ออาชญากรรม         มีงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ระดับตะกั่วในเลือดเด็กที่อาจส่งผลให้เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วก่ออาชญากรรมคือ บทความเรื่อง Association of Childhood Blood Lead Levels With Criminal Offending (การเชื่อมโยงผลของระดับสารตะกั่วในเลือดในวัยเด็กในการก่อความผิดทางอาญา) ในวารสาร JAMA Pediatrics ของปี 2017 ซึ่งเป็นการศึกษาซึ่งติดตามกลุ่มประชากรของนิวซีแลนด์ที่เกิดระหว่างวันที่ 1 เมษายน 1972 ถึง 31 มีนาคม 1973 (ประมาณกว่า 50 ปีมาแล้ว) โดยมีผู้เข้าร่วมหญิง 255 คนและชาย 298 คน ตั้งแต่เด็กจนมีอายุ 38 ปี (ธันวาคม 2012) โดยเมื่ออายุ 11 ปีผู้เข้าร่วมได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาสารตะกั่วแล้วพบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 11.01 ไมโครกรัม/เดซิลิตร จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปพบว่า ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 154 คน (27.8%) มีความผิดทางอาญา, 86 คน (15.6%) ถูกพิพากษาลงโทษซ้ำ และ 53 คน (9.6%) มีความผิดฐานกระทำความผิดรุนแรง และเมื่อพิจารณาถึงอายุที่ก่อความผิดพบว่า เริ่มเพิ่มขึ้นที่อายุ 15 ปี จนถึงจุดสูงสุดที่อายุ 18 - 21 ปี และจากนั้นลดต่ำลงเท่าที่อายุ 15 ปี เมื่ออายุ 38 ปี อย่างไรก็ดีแม้เมื่อวิเคราะห์ทางสถิติโดยรวมแล้วกลับพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างระดับสารตะกั่วในเลือดและการก่ออาชญากรรมนั้นมีความเชื่อมั่นค่อนข้างต่ำ ซึ่งแสดงถึงความล้มเหลวของงานวิจัยนี้ในการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณสารตะกั่วในเลือดและการกระทำผิดทางอาญาที่เป็นผลสืบเนื่อง         ล่าสุดมีงานวิจัยใหม่ในประเด็นเดียวกันซึ่งทำวิจัยแบบ meta-analysis ของนักวิจัยจาก George Washington University เรื่อง The association between lead exposure and crime: A systematic review (การทบทวนอย่างเป็นระบบเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสสารตะกั่วกับอาชญากรรม) ในวารสาร PLOS Global Public Health ของปี 2023 ซึ่งได้พิจารณาบทความ 17 บทความจาก 617 บทความที่เลือกมาพิจารณาตอนเริ่มต้น โดยผลการศึกษาได้เชื่อมโยงการสัมผัสสารตะกั่วทั้งในขณะอยู่ในครรภ์หรือในช่วงวัยเด็กกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการมีพฤติกรรมในการก่ออาชญากรรมในวัยผู้ใหญ่ งานวิจัยนี้ระบุในท้ายที่สุดถึงความสัมพันธ์ที่สำคัญระหว่างสารตะกั่วและรูปแบบการก่อความเสียหายต่อพฤติกรรมเมื่อเด็กโต แม้ว่าความเข้มข้นของสารตะกั่วในเลือดจะต่ำมากก็ตาม         เนื้อหาและประเด็นสำคัญในงานวิจัยของนักวิจัยจาก George Washington University ดูน่าสนใจมาก เพราะผู้วิจัยได้ทำการทบทวนการศึกษา 17 เรื่องซึ่งระบุถึงความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างการสัมผัสสารตะกั่วต่อพฤติกรรมต่อต้านสังคม ซึ่งรวมถึงการก่ออาชญากรรมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในหลายประเทศแล้วสรุปการพบหลักฐานว่า การสัมผัสสารตะกั่วมีความเกี่ยวข้องต่อผลกระทบทางชีวภาพในเด็กที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมในระยะยาว ผู้ทำวิจัยเน้นว่า ไม่มีระดับที่ปลอดภัยต่อการสัมผัสสารตะกั่วสำหรับเด็ก และประเทศต่างๆ ควรพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องเด็กและสตรีมีครรภ์จากการได้รับสารตะกั่ว เพื่อส่งเสริมสังคมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับทุกคนประเทศไทยมีปัญหาขยะอุตสาหกรรมที่นำเข้ามาหรือไม่         เป็นที่รู้กันในวงนักวิชาการว่า การสัมผัสสารตะกั่วอาจมาจากหลายแหล่ง เช่น ขยะอุตสาหกรรม แบตเตอรี่รีไซเคิล สีที่มีสารตะกั่ว แหล่งอาหารต่างๆ และผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน เช่น ของเล่นเด็กบางประเภท เครื่องครัว และถ้วยชามเซรามิกหรือกระเบื้องเคลือบ ประเด็นสำคัญคือ หน่วยราชการและองค์กรเกี่ยวกับการออกกฏหมายของไทยมีความตระหนักถึงปัญหาเนื่องจากสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมอย่างไร          เว็บของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (https://www.mnre.go.th) มีบทความเรื่อง ภัยร้ายใกล้ตัวจากพิษของตะกั่ว และเว็บของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (https://ddc.moph.go.th) มีเอกสารอิเล็คทรอนิคเรื่อง แนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคพิษตะกั่วในกลุ่มวัยแรงงาน ซึ่งทั้งสองบทความได้ให้ข้อมูลถึงอันตรายจากตะกั่วอย่างลึกซึ้ง แสดงว่า หน่วยราชการเข้าใจดีถึงภัยและแหล่งที่มาของสารตะกั่วที่เข้าสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งผู้ประกอบการต่างๆ นั้นไม่สามารถอ้างถึงความไม่รู้ในกฏเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการเกี่ยวกับตะกั่ว เพราะมีประกาศสำคัญคือ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เรื่อง หน้าที่ของผู้ประกอบกิจการโรงงานหลอมตะกั่วจากแบตเตอรี่เก่า ซึ่งมีการบังคับเกี่ยวกับการดำเนินการกำจัดขยะสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว กฏหมายนี้ได้ลงไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2544        สำหรับตัวอย่างงานวิจัยที่ระบุถึงปัญหาสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมของไทยนั้น เช่น รายงานการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณใน พ.ศ. 2542 เรื่อง การปนเปื้อนของตะกั่วและโครเมียมในน้ำทิ้งจากการย้อมสีกระจูดที่ทะเลน้อย ที่พบว่า ปริมาณตะกั่วอยู่ในช่วง 0.050-0.123 พีพีเอ็ม ซึ่งคิดเป็นค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.082 พีพีเอ็ม ตัวเลขดังกล่าวนี้เกินค่ามาตรฐานที่ยิมยอมให้มีได้คือ 0.05 พีพีเอ็ม และปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขจากงานวิจัยใดที่บอกว่า ปริมาณตะกั่วและโครเมียมในทะเลน้อยจังหวัดพัทลุงนั้นลดหรือเพิ่มแต่อย่างใด         คำถามสำคัญคือ ประเทศไทยมีปัญหาขยะอุตสาหกรรมที่นำเข้ามา ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งของตะกั่วที่ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมหรือไม่ ข้อมูลที่อาจให้คำตอบต่อคำถามนี้ได้จากเว็บไซต์ของหอสมุดรัฐสภา (https://library.parliament.go.th/th) ซึ่งมีบทความเรื่อง ปัญหาการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ เรียบเรียงโดย วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยบทความดังกล่าวออกอากาศเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา          ข้อมูลที่น่าสนใจตอนหนึ่งกล่าวว่า “สำหรับประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรมอนุญาตให้นำเข้าขยะบางประเภทเพื่อนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบที่เป็นประโยชน์ต่อไปได้ แต่เมื่อมีการตรวจสอบกลับพบว่า มีการนำเข้าขยะมาอย่างผิดเงื่อนไข มีการลักลอบนำเศษซากอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกที่ใช้ไม่ได้ปะปนเข้ามาภายในประเทศด้วย โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมา ปริมาณการนำเข้าขยะสูงขึ้นมาก โดยใน พ.ศ. 2558 มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกประมาณ 7.7 หมื่นตัน แต่ใน พ.ศ. 2560 มีปริมาณเกือบ 3 แสนตัน และใน พ.ศ. 2561 สูงถึงกว่า 6.2 แสนตัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกรายใหญ่ของโลกได้ห้ามนำเข้าขยะ 24 ประเภทเมื่อปลาย พ.ศ. 2560 จึงทำให้ขยะเป็นจำนวนมากเปลี่ยนทิศทางไปยังประเทศที่มีการควบคุมน้อยกว่า ซึ่งเป้าหมายใหม่คือประเทศในอาเชียน ซึ่งรวมถึงมาเลเซีย เวียดนาม และประเทศไทยด้วย”         ข้อมูลล่าสุด (https://workpointtoday.com, 23 ก.พ. 2566) ที่ดูน่าจะพอทำให้ใจชื้นได้บ้างว่า รัฐบาลที่ผ่านไปแล้วได้ประกาศว่า “ใช้ความพยายามแก้ปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบูรณาการกันอย่างน้อยจาก 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ในการจัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจรและเป็นขั้นเป็นตอน โดยยึดหลักความจำเป็น เหมาะสม คุ้มค่า ควบคู่กับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นสำคัญ” ซึ่งประชาชนคงต้องจับตาดูว่า มันจะเป็นจริงหรือไม่ นอกจากนี้ผู้เขียนขอแนะนำให้ไปอ่านเอกสาร ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (ดาวน์โหลดมาอ่านได้ https://ddc.moph.go.th/uploads/files/1775920210326023304.pdf) เรื่อง สังเขปค่าอ้างอิงทางสุขภาพสำหรับการประเมินความเสี่ยงภัยต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสุขภาพจากตะกั่วด้วยตัวอย่างเลือด ซึ่งอาจพอทำให้เห็นภาพว่า อนาคตเกี่ยวกับปริมาณตะกั่วในเลือดคนไทยนั้นเป็นอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 เขียวพอหรือยัง

        ในช่วงสองปีที่ผ่านมามีคดีฟ้องร้องผู้ประกอบการว่าด้วยการ “แอบอ้างว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือทำให้สังคมเข้าใจว่าบริษัทมีแผนรักษ์โลก ทั้งที่ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนและไม่มีผู้รับผิดชอบด้านนี้โดยตรง         รายงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยสถาบันวิจัย Grantham แห่งลอนดอนระบุว่าตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา มีการฟ้องคดีลักษณะดังกล่าวทั้งโดยรัฐบาลและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมรวมกันไม่ต่ำกว่า 2,340 คดี ตัวอย่างเช่น ในอเมริกา เทศมณฑลมัลท์โนมาซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่สุดในรัฐโอเรกอน ฟ้องบริษัทน้ำมันและถ่านหินอย่าง เชลล์ บีพี เชฟรอน โคโนโคฟิลิปส์ เอ็กซอนโมบิล และอีกไม่ต่ำกว่าห้าบริษัทเพื่อเรียกค่าเสียหาย 51,000 ล้านเหรียญ ฐานปล่อยมลพิษซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโดมความร้อนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 69 คน         บริษัท TotalEnergies ก็ถูกเทศบาลเมืองปารีสและนิวยอร์ก ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นและสมาคมต่างๆ ฟ้อง ด้วยข้อกล่าวหา “ชกไม่สมศักดิ์ศรี” ในการต่อสู้เพื่อยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แม้แต่หน่วยงานกำกับดูแลก็หนีไม่พ้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมได้กล่าวหาหน่วยงานกำกับดูแลตลาดของอังกฤษว่ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ด้วยการอนุญาตให้บริษัทก๊าซและน้ำมันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ทั้งที่ไม่สามารถอธิบายความเสี่ยงที่จะเกิดกับสภาพแวดล้อมได้         ไม่พียงธุรกิจด้านพลังงานเท่านั้น อุตสาหกรรมการบินก็กำลังถูกสังคมจับตามองเช่นกัน ไม่นานมานี้ผู้ประกอบการสายการบิน 17 บริษัท ถูกองค์กรผู้บริโภคแห่งสหภาพยุโรป (BEUC) ร้องเรียนเรื่องจริยธรรมการตลาด โฆษณาหรือสื่อประชาสัมพันธ์ของบริษัทเหล่านี้มักพูดถึง “โปรแกรมชดเชยการปล่อยมลพิษ” ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกผิดน้อยลงจากการเดินทางโดยเครื่องบิน แต่ไม่มีแผนชัดเจนว่าจะชดเชยอย่างไร การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายของสหภาพยุโรปว่าด้วยการแข่งขันอย่างเป็นธรรมนั่นเอง         นอกจากนี้ BEUC ยังเรียกร้องให้สมาชิกสหภาพยุโรปและหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในแต่ละประเทศร่วมกันสอบสวนสิ่งที่เรียกว่า “ค่าธรรมเนียมสิ่งแวดล้อม” ที่บางสายการบินเรียกเก็บเพื่อเป็นการ “ชดเชยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเดินทางโดยเครื่องบิน” และยังเรียกร้องให้สายการบินคืนเงินดังกล่าวให้ผู้บริโภคด้วย         อีกตัวอย่างของการ “ฟอกเขียว” ในอุตสาหกรรมการบินคือกรณีของสายการบิน KLM ที่ชวนผู้บริโภคมาปลูกป่า หรือลงทุนในเชื้อเพลิงเครื่องบินที่ผลิตจากสาหร่าย น้ำมันใช้แล้ว ขยะทั่วไปและขยะการเกษตร ฯลฯ ที่นำมาผสมกับเชื้อเพลิงฟอสซิล จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัท เชื้อเพลิงที่ว่านี้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 80 แต่องค์กรผู้บริโภคมีข้อมูลที่ระบุว่ายังอีกนานกว่าเชื้อเพลิงนี้จะพร้อมเข้าตลาดและกฎหมายยุโรปก็ตั้งเกณฑ์สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกไว้ต่ำมาก        ด้านวงการแฟชัน แม้จะทำได้ดีเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นในเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัดทั้งในขั้นตอนการผลิตและการใช้งาน เช่น การนำเทคโนโลยีผลิตเส้นใยต้านจุลชีพมาใช้ในการผลิตที่ทำให้เรามีกางเกงยีนส์ที่ใส่ซ้ำได้หลายสัปดาห์ก่อนจะนำไปซัก เท่ากับการประหยัดน้ำในช่วงชีวิตการใช้งานไปได้ถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว         แต่เป้าหมาย “การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่ทุกอย่างสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่มี “ขยะผ้า” นั้นยังอีกห่างไกล ปัจจุบันเสื้อผ้าที่ใช้แล้วหรือขายไม่ได้ยังคงถูกนำไปถมทิ้งในบ่อหรือกองขยะ มีเพียงปริมาณน้อยเท่านั้นที่ถูกนำไปใช้ทำเป็นถุงมือหรือบรรจุในเบาะทำโซฟา         ถึงแม้จะยังไม่มีการฟ้องร้องแบรนด์แฟชัน แต่ก็มีรายงานที่ระบุว่าการนำของเสีย/ของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมสิ่งทอมาใช้ใหม่ ยังอยู่ในขั้นตอนการ “ศึกษาวิจัย” เท่านั้น ยังต้องมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้แผนนี้เป็นจริงได้ เช่น การตั้งโรงงานรีไซเคิลศักยภาพสูงในพื้นที่ หรือแม้แต่การมีนโยบายรีไซเคิลที่สอดคล้องกันในแต่ละประเทศ ก็ใช่ว่าจะไม่มีหวัง หลายแบรนด์เสื้อผ้าได้เริ่มใช้พลังงานทางเลือกในการจัดส่งสินค้ามาตั้งแต่ปี 2020 เรื่องนี้ยืนยันได้จากข้อมูลของ Maersk บริษัทจัดส่งสินค้าทางทะเลรายใหญ่อันสองของโลก ที่ระบุว่าร้อยละ 26 ของตู้สินค้า 24,000 ตู้ที่บริษัทจัดส่งด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นตู้สินค้าแฟชัน นอกจากนี้บริษัทค้าปลีกอย่าง Amazon และ Ikea ก็ให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนมาใช้การขนส่งแบบไร้คาร์บอนให้ได้ภายในปี 2040 เช่นกัน         ที่น่าจับตาคือความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมที่จะลดการแอบอ้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนนานาชาติ I(International Sustainability Standards Board หรือ ISSB) ได้กำหนดมาตรฐาน “การรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ของผู้ประกอบการที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป         หนึ่งในมาตรฐานดังกล่าวคือ บริษัทต้องจัดให้บุคคลภายนอกเข้ามาตรวจสอบข้อมูลเรื่องการปล่อยมลพิษ (แบบเดียวกับการตรวจสอบบัญชี) นอกจากนั้น “มาตรการลดโลกร้อน” ของบริษัทก็ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารสูงสุด ไม่ใช่เรื่องที่รับผิดชอบโดยฝ่ายการตลาดหรือฝ่ายสื่อสารองค์กรเหมือนที่ผ่านมา         แม้จะเป็นเพียงมาตรฐาน “สมัครใจ” แต่ก็เพิ่มความไว้วางใจและความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ทำให้นักลงทุนมีข้อมูลที่ถูกต้องประกอบการตัดสินใจด้วย  เอกสารอ้างอิง        https://www.straitstimes.com/world/europe/climate-washing-lawsuits-jump-as-more-activists-challenge-corporate-claims-report-shows         https://www.dutchnews.nl/2023/06/klm-climate-claims-targeted-in-eu-wide-consumer-complaint/        https://www.scmp.com/business/article/3226112/green-jeans-hong-kong-maker-says-global-brands-improving-sustainability-circular-denim-lifecycle-far         https://www.scmp.com/news/world/europe/article/3226189/fashion-brands-driving-demand-green-shipping-fuels-industry-giant-says         https://www.reuters.com/sustainability/new-global-rules-aim-clamp-down-corporate-greenwashing-2023-06-26/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 กระแสต่างแดน

หาเงินง่าย         ปีที่แล้วมีหนุ่มสาวออสซี่ที่ต้องการหางานทำ ถูกหลอกให้ “วางเงิน” ไปไม่ต่ำกว่า 3,000 คน (ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 25 – 44 ปี) คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 8.7 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 200 ล้านบาท คณะกรรมาธิการการแข่งขันและผู้บริโภคของออสเตรเลีย (ACCC) เตือนผู้ที่กำลังหางานทำให้ระวัง “ข้อเสนอจ้างงาน”​ ที่พบเห็นในโซเชียลแพลตฟอร์ม ที่มักอ้างว่าเป็นงานเบา งานง่าย แต่รายได้ดีสุดๆแค่นั่งคลิกส่งคำสั่งซื้อสินค้าในแอปฯ หรือกดส่งรีวิว ก็ได้เงินวันละ 1,000 เหรียญแล้ว และถ้าขยันทำทุกวัน ก็ได้ปีละ 365,000 เหรียญ (8.3 ล้านบาท) เลยทีเดียว นอกจากจะขโมยข้อมูลส่วนตัวของผู้สมัครงานตอนที่ “ลงทะเบียน” เช่น ชื่อ อีเมล หมายเลขโทรศัพท์ แล้ว มิจฉาชีพซึ่งอ้างตัวเป็นฝ่ายบุคคลของบริษัทชื่อดังที่ไม่ว่าใครก็ต้องรู้จัก จะขอให้ผู้สมัครวาง “เงินประกัน” ไว้ด้วยนั่นเอง  เหนือการควบคุม         เทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาเทศบาลกรุงปราก เมืองหลวงของสาธารณะรัฐเช็ก สั่งห้ามการจุดพลุหรือเล่นดอกไม้ไฟด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมและการลดความเดือดร้อนรำคาญของคนในพื้นที่ แต่ไม่ค่อยมีคนเชื่อฟัง ตำรวจจับและปรับผู้ฝ่าฝืนแทบไม่ไหว เจ้าหน้าที่กู้ภัยก็ได้รับโทรศัพท์แจ้งเหตุคนบาดเจ็บจากการเล่นพลุถึง 83 สาย ยังมีกระจกหน้าต่างอาคารกว่า 30 หลังแตกกระจาย แถมด้วยเหตุไฟลุกไหม้บนหลังคาซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งนี้พลุและดอกไม้ไฟยังเป็นของที่หาได้ง่าย ประเทศนี้เป็นผู้ส่งออกพลุรายใหญ่อันดับ 7 ของโลกด้วย สาธารณรัฐเช็กเคยเป็น “ประเทศคอมมิวนิสต์ที่เสรีมาก” ผู้คนซื้อหาเหล้าบุหรี่ราคาถูกมาดื่มหรือสูบกันได้ทุกที่ ใครจะปลูกกัญชาที่บ้านกี่ต้นก็ได้แม้จะมีกฎหมายห้าม รัฐบาลยุคนั้นมองว่าอิสระเล็กน้อยพวกนี้ทำให้ผู้คนไม่ลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องเสรีภาพ แต่มันกลับส่งผลให้รัฐบาลยุคต่อมาไม่สามารถควบคุมเรื่องใดได้อย่างจริงจังอีกเลย  ภาษีบินบ่อย         งานวิจัยพบว่าในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 20 ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาบนโลกใบนี้เกิดจากร้อยละ 1 ของประชากรเท่านั้น พฤติกรรมการเดินทางของคนกลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 124,000 ยูโร หรือ 4.4 ล้านบาทต่อปี จึงถูกจับจ้องเป็นพิเศษ ในสหภาพยุโรป ครึ่งหนึ่งของรายได้จากค่าโดยสารเครื่องบินมาจากร้อยละ 20 ของคนรายได้สูง ไม่ต่างกันกับที่อเมริกาเหนือ ทำให้ข้อเสนอเรื่องการจัดเก็บภาษีแบบบินมากจ่ายมาก ถูกพูดถึงอีกครั้ง นักวิจัยเสนอว่าภายในปี 2050 รัฐจะมีรายได้จากภาษีนี้มากถึง 121,000 ล้านเหรียญ เพื่อใช้เป็นทุนในการแก้ปัญหาโลกร้อน ทั้งนี้ยังไม่มีการพูดถึงการเก็บภาษีจากเหล่าซูเปอร์ริช ที่ใช้เวลาเพียง 5 นาทีก็สร้างคาร์บอนได้ในปริมาณที่คนทั่วไปต้องใช้เวลาถึงหนึ่งปีอย่าง ไคลี เจนเนอร์ ที่มักไปไหนมาไหนใกล้ๆ ด้วยเครื่องบินส่วนตัว หรือโรมัน อับราโมวิช เจ้าของเรือยอทช์ที่มีทั้งสระว่ายน้ำและลานจอดเฮลิคอปเตอร์ อยู่ก่อนขาย         โฆษณาขายแฟลตมือสองในราคา 688,888 เหรียญ (ประมาณ 17 ล้านบาท) ในเว็บไซต์ สร้างความสงสัยให้กับชาวเน็ตในสิงคโปร์อย่างมาก ไม่ใช่เพราะราคาแฟลตขนาด 5 ห้อง ที่แพงขึ้นจาก 50,000 เหรียญ (ประมาณ 4 แสนกว่าบาท) ที่ Housing Development Board (HDB) ขายให้กับผู้ซื้อเมื่อปี 2017 แต่เพราะสภาพใหม่เอี่ยมเหมือนไม่เคยมีผู้อยู่อาศัยมาก่อนต่างหาก ตามกฎหมายสิงคโปร์ เจ้าของแฟลตไม่มีสิทธิขายห้องก่อนจะได้อยู่อาศัยเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี หากไม่ต้องการอยู่ ก็จะต้องคืนห้องให้กับ HDB ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายเพื่อการเข้าถึงที่อยู่อาศัยอย่างเท่าเทียม (มีข้อยกเว้นกรณีของบุคคลล้มละลายหรือคนที่ต้องการหย่าร้างจากคู่สมรส ที่สามารถขออนุญาตเป็นพิเศษได้) การฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวมีค่าปรับสูงสุด 50,000 เหรียญ และอาจถูกรัฐบาลริบห้องคืนด้วย   มาเร็วกว่ารถไฟ         ในปี 2024 ฝรั่งเศสจะเริ่มโครงการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อรองรับขบวนรถไฟความเร็วสูงที่จะทำให้การเดินทางระหว่างเมืองบอร์โดและตูลูส ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส สามารถเป็นไปได้ใน 3 ชั่วโมง โดยผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในระยะขับรถถึงใน 1 ชั่วโมงจากสถานีรถไฟ (ทั้งหมด 2,340 ชุมชน) จะถูกเรียกเก็บภาษีเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2023 รัฐบาลประเมินว่าจะสามารถเก็บภาษี SET หรือ Special Equipment Tax ได้ถึงปีละ 29.5 ล้านยูโร (ประมาณหนึ่งพันล้านบาท) โครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเปิดใช้ในปี 2032 มีมูลค่า 14,300 ล้านยูโร (ไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท) งบประมาณร้อยละ 40 มาจากรัฐบาลท้องถิ่น ร้อยละ 20 จากสหภาพยุโรป เพราะรถไฟดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับสเปน ส่วนที่เหลือเป็นของรัฐบาลกลาง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 กระแสต่างแดน

ทำบุญวิถีใหม่           ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้คนจากประเทศพัฒนาแล้วจำนวนไม่น้อยนิยม “ทำบุญ” ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสด้วยการบริจาคแพะให้กับผู้คนในประเทศยากจน โดยหวังว่าพวกเขาจะได้ใช้ประโยชน์จากมันในการสร้างรายได้ให้ครอบครัวด้วยสนนราคาเพียงตัวละ 12.50 ปอนด์ (ประมาณ 600 บาท) ที่ผ่านมาจึงมีแพะจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่กันดาร แถมแพะยังให้ลูกได้ถึงปีละหกตัว เรียกว่าลงทุนน้อยแต่ได้ผลมากแต่ล่าสุด เจน กูดดอลล์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังออกมาเปิดเผยว่า การเลี้ยงแพะนั้นต้องใช้น้ำมาก ทำให้พื้นที่ๆ แห้งแล้งอยู่แล้วเสี่ยงที่จะแล้งกว่าเดิม ยังไม่นับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ประกอบกับไม่มีสัตว์แพทย์ที่จะดูแลรักษาแพะที่ป่วย โอกาสที่พวกมันจะอยู่รอดจนโตเต็มวัยจึงมีน้อยเธอแนะนำว่า หากต้องการช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้อย่างยั่งยืน ให้นำเงินไปสมทบทุนโครงการศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืช โครงการปรับปรุงคุณภาพดิน หรือโครงการทำระบบชลประทาน จะดีกว่า ผลกระทบมาไกล         งานสำรวจโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมศึกษาแห่งญี่ปุ่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกียวโต และมหาวิทยาลัยคิวชู พบว่า การบริโภคโดยคนญี่ปุ่นส่งผลให้มีผู้คนในประเทศต้นทางที่ผลิตสินค้า เช่น จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย เสียชิวิตก่อนวัยอันควรถึง 42,000 คนต่อปีในจำนวนนี้มีทั้งผู้ใหญ่ที่อายุเฉลี่ย 70 ปี และยังมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบถึง 1,000 คนทีมวิจัยใช้วิธีคำนวณจากข้อมูลประชากร ข้อมูลการปล่อย PM 2.5 จากโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงงานที่ผลิตสินค้า และจำนวนผู้เสียชีวิตจากห้าโรคร้ายที่มีความเกี่ยวข้องกับมลภาวะดังกล่าว เช่น โรคหลอดเลือดสมอง และโรคติดเชื้อบางชนิดนักวิจัยเสนอให้ผู้ประกอบการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษที่ตนเองสร้างขึ้น ทั้งในประเทศตัวเองและที่อื่นๆ ตลอดช่วงอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ รวมถึงแผนการบริหารจัดการมลพิษดังกล่าว เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสนับสนุนผู้ผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคมได้ การขายเชิงรุก           วิธีการขายแบบ “ตีหัวเข้าร้าน” ดูจะไม่จำกัดอยู่ในแวดวงฟิตเนสหรือศัลยกรรมความงามเท่านั้นล่าสุดองค์กรผู้บริโภคฮ่องกงเปิดเผยว่ามีเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ “ได้รับบริการทางการแพทย์โดยไม่จำเป็น” เพราะถูกชักชวนแกมกดดันถึง 71 เรื่อง ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้เทคนิคการขายแบบนี้เริ่มจากการสร้างความวิตกด้วยการบอกความรุนแรงของอาการเกินจริง จากนั้นก็เสนอบริการที่ “ค่อนข้างแพง” แต่ “จำเป็น” ว่าแล้วก็กดดันให้ลูกค้ารู้สึกว่าต้องซื้อบริการผู้ร้องรายหนึ่งซึ่งเป็นชายวัย 30 กว่า เสียเงินไป 150,000 เหรียญ (ประมาณ 650,000 บาท) เริ่มจากการเดินเข้าไปถามราคาบริการตรวจสุขภาพ เขาถูก “ต้อน” อยู่ 2 ชั่วโมง ในที่สุดก็เสียค่าถอนฟันไป 10,000 เหรียญ ตามด้วยค่าบริการนวดจัดกระดูกอีก 29,080 เหรียญ และอื่นๆ อีก เช่น ค่าตรวจลำไส้ ค่าอาหารเสริม เป็นต้นข่าวระบุว่าเขาได้เงินคืนเต็มจำนวน แต่ยังไม่ได้บอกว่าอุตสาหกรรมการแพทย์จะจัดการกับพฤติกรรมนี้อย่างไร ไข่ต้องมีข้อมูล           ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2022 เป็นต้นไป ไต้หวันกำหนดให้ไข่สดแต่ละฟองที่ผ่านการล้างและบรรจุลงกล่องต้องมีข้อมูลฟาร์มที่เลี้ยง โรงงานล้างบรรจุ วันที่บรรจุ รวมถึงรูปแบบการเลี้ยง บนเปลือกด้วยสภาเกษตรของไต้หวันระบุว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางอาหาร ที่จะทำให้การตรวจสอบย้อนกลับและการแจ้งเตือนเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว กรณีที่เกิดปัญหาขึ้นในส่วนของผู้บริโภค ข้อกำหนดดังกล่าวจะทำให้ไข่ไก่ขนาดแพ็ค 10 ฟอง มีราคาเพิ่มขึ้น 1 เหรียญไต้หวัน ส่วนทางด้านผู้ผลิต หากฝ่าฝืน จะต้องจ่ายค่าปรับระหว่าง 6,000 ถึง 30,000 เหรียญไต้หวันผลิตไข่ไก่ได้เฉลี่ยวันละ 22 ล้านฟอง ร้อยละ 65 เป็นแบบล้างและบรรจุกล่องการพิมพ์รหัสลงบนเปลือกไข่เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว สหภาพยุโรปกำหนดให้พิมพ์ “รหัสผู้ผลิต” มาตั้งแต่ปี 2004 เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่าจะรับประทานไข่จากฟาร์มที่เลี้ยงด้วยวิธีใด เช่น ปล่อยอิสระ เลี้ยงในกรง หรือเลี้ยงแบบออกานิก  จุดขายใหม่           สหภาพยุโรปเคาะแล้ว ในปี 2022 เขาจะทุ่มงบประมาณ 185.9 ล้านยูโร ในการส่งเสริมสินค้าเกษตรของประเทศสมาชิก ให้กับผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากพืช พูดง่ายๆ คือเขาต้องการจูงใจผู้ผลิตให้หันมาเลือกแนวทางสายเขียวกันมากขึ้นด้วยการสร้างความต้องการในตลาดให้กับอาหารที่ทำจากพืชนั่นเองนอกจากนี้ยัง “ตีตรา” เนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปที่เคยเป็นดาวเด่นมานานว่าเป็น “อาหารที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง” ด้วยเรื่องนี้ถูกใจสายสิ่งแวดล้อมที่ต้องการเห็นการลดการใช้น้ำและพลังงานมหาศาลในการเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า รวมถึงสายวีแกนที่อยากเห็นความเป็นมิตรต่อสัตว์โลกแต่แผนนี้ก็ขัดใจอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่ออกมาโต้ว่า การจะทำอาหารที่ผลิตจากพืชล้วนๆ ให้ถูกปากผู้บริโภค ก็ต้องผ่าน “การสร้าง” หรือการ “การแปรรูป” อย่างเข้มข้นเช่นกันผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าสิ่งที่โลกต้องการอย่างเร่งด่วนคือ นวัตกรรมอาหาร และการหาสมดุลระหว่างการผลิตพืชและสัตว์ให้ได้นั่นเอง    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2564

คปภ.มีคำสั่งห้าม "สินมั่นคง" ยกเลิกประกันภัยโควิด เจอ จ่าย จบ          จากกรณีบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศยกเลิกแผนประกันภัยโควิด เจอ จ่าย จบ หรือ COVID 2 in1 อ้างเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19  ที่ไม่สามารถควบคุมได้จึงใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์นั้น  นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า จะใช้อำนาจตามกฎหมาย อาศัยมาตรการ 29 อนุ 2 ตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย เพื่อสั่งยกเลิกเงื่อนไขของสินมั่นคงประกันภัยทั้งหมด เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนเหมือนเดิม         ด้านนายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า จากกรณีที่สินมั่นคงประกันภัยยกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ สมาคมได้ดำเนินการสอบถามบริษัทประกันวินาศภัยรายอื่นที่เป็นสมาชิก ซึ่งขายกรมธรรม์ประกันประกันโควิด-19 อยู่ในเวลานี้ และได้รับแจ้งว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่ขายกรมธรรม์ดังกล่าวอยู่ ไม่มีนโยบายในการยกเลิกกรมธรรม์แต่อย่างใด จี้รัฐแก้กฎหมายพนันออนไลน์สถิติสูงช่วงโควิด        รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมวิจัย ได้ศึกษาภาพรวมการเล่นพนันออนไลน์ ชี้การสำรวจจากปี 2562-2564 มีรูปแบบไม่แตกต่างกันที่นิยมเล่นสูงสุด คือ บาคาร่า ป๊อกเด้ง รองลงมาคือพวก slot machine และจำนวนผู้เล่นปี 2562  จากเดิม 8 แสนกว่าคนพุ่งสูงขึ้นมาในปี 2564 ประมาณ 1.9 ล้านคน ชี้ให้เห็นว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดมีผู้เล่นการพนันออนไลน์เพิ่มมากขึ้น  จากการสัมภาษณ์พบว่า เป็นผู้เล่นกลุ่มใหม่และเป็นผู้เล่นออฟไลน์ ที่เปลี่ยนมาเล่นออนไลน์แทน เนื่องจากสถานที่ปิดจากสถานการณ์โควิด-19 ผู้เล่นส่วนมากมีช่วงอายุเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้รวดเร็ว ส่วนใหญ่สาเหตุการเล่น ประมาณ 90% มาจากการเข้าถึงที่สะดวกง่าย โปรโมชั่น ปกปิดเป็นความลับ และมั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกจับ รศ.นวลน้อย จึงแนะว่า รัฐควรมีการจัดการอย่างจริงจัง คิดในรูปแบบบริบทใหม่เพราะเศรษฐกิจสังคมมีการพัฒนาไปเยอะ ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายหรือบทลงโทษการเล่นพนันออนไลน์  มีเพียงกฎหมายที่เกี่ยวกับการพนันที่ออกมาตั้งแต่ปี 2478 ถึงมีการปรับปรุงแต่ยังล้าสมัย ไม่ชัดเจนในบทลงโทษ ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องในเชิงนโยบาย ควรกำหนดมาตรการหรือวิธีการจัดการให้ชัดเจน ครอบคลุม กรณีหมิงตี้พบยื่นร้องเรียนกว่า 500 ราย ด้านมลพิษอยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย         พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าเหตุเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล ใน จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า ศูนย์รับแจ้งความเสียหาย สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ ได้สอบปากคำผู้ที่ได้รับความเสียหายไปแล้วกว่า 500 ราย รวมมูลค่าความเสียหายที่ได้รับแจ้งจากผู้ได้รับผลกระทบเบื้องต้นประมาณ 250 ล้านบาท ด้านกรมควบคุมมลพิษ โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า คพ.ได้ประสานสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 (นครปฐม) และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 6 (นนทบุรี) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ คพ. ในการประชุมหารือเพื่อสรุปความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมหลังเพลิงไหม้โรงงานดังกล่าว จากผลการตรวจสอบพบว่าสถานการณ์มลพิษในพื้นที่ดีขึ้นตามลำดับ เหลือเพียงการตรวจสอบสารเคมีและกากของเสียอันตรายที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่โรงงาน เพื่อหาแนวทางการจัดการ บำบัดและขนย้ายออกไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป          “ในส่วนของการสื่อสารกับประชาชน คพ.ได้จัดทำอินโฟกราฟิกให้ความรู้ในเรื่องการข้อควรปฏิบัติสำหรับประชาชนเมื่อกลับเข้าที่พักอาศัยหลังเกิดเพลิงไหม้ และคำแนะนำการใช้น้ำรอบพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งน้ำฝน น้ำคลอง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสและนำน้ำฝนมาใช้ในการอุปโภคบริโภคในช่วงนี้ ส่วนน้ำประปา สามารถใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ ประชาชนที่มีการรองน้ำประปาใส่ภาชนะไว้ ให้มีฝาปิดมิดชิดเพื่อป้องกันการปนเปื้อน”  ขึ้นภาษีผ้าอนามัยแบบสอด         จากกรณีมีราชกิจจานุเบกษาประกาศ ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2564  ให้ผ้าอนามัยชนิดสอดที่ใช้สอดใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อซับเลือดประจำเดือน เป็นเครื่องสำอาง ลงนามโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จนเกิดแฮชแท๊กเทรนด์ทวิตเตอร์  #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากผู้บริโภคกลัวว่าจะมีการขึ้นภาษี เนื่องจากถูกจัดเป็นเครื่องสำอางนั้น         นายลวรรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึง กรณีที่มีการประกาศให้ผ้าอนามัยแบบสอด เป็นเครื่องสำอาง จะทำให้ต้องมีภาระเสียภาษีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอัตราภาษีของผ้าอนามัยอยู่ที่ 30% และกรมสรรพสามิตไม่มีนโนบายการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยตามที่เป็นข่าว และไม่เคยมีการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต ซึ่งปัจจุบันกรมสรรพสามิตมีการจัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเพียงรายการเดียว คือ น้ำหอม ในอัตราภาษีตามมูลค่า 8% ทั้งนี้ ปัจจุบันผ้าอนามัยไม่ถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นที่สตรีต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ในนิยามการเสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย คือ ถ้าไม่มีใช้ ก็ไม่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าส่งผลกระทบ ก็ให้ถือว่าเป็นสินค้าที่ไม่ฟุ่มเฟือย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ นสพ.ฐานเศรษฐกิจพาดหัวข่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง         วันที่ 11 กรกฎาคม 2564 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจและในเว็บไซต์ข่าว  ได้ทำการพาดหัวข่าวว่า “เปิดปมศาลปกครองกลาง ไฟเขียวดีล ‘ซีพี-โลตัส’ ยกคำฟ้อง 37 องค์กรผู้บริโภค” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะผู้ฟ้องคดีนี้ ได้ชี้แจงว่า เป็นการพาดหัวข่าวที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง สร้างความเข้าใจผิดว่าศาลได้มีคำสั่งยกฟ้องคดีการควบรวม ซีพีและโลตัส ซึ่งข้อเท็จจริงคือศาลเพียงยกคำร้องกรณีที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการให้ “ไฟเขียว ดีล ซีพี-โลตัส” การรายงานข่าวเช่นนี้ถือเป็นการช่วงชิงความได้เปรียบให้กับคู่กรณีของคดี ในขณะที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งการกระทำนี้อาจถือว่าเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของศาล ผิดจรรยาบรรณสื่อมวลชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอให้ข้อเท็จจริงคือ ในระหว่างการพิจารณาคดีเพิกถอนมติคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า มูลนิธิและผู้ร่วมฟ้อง ได้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภค คู่แข่งทางการค้า และผู้ผลิตสินค้าการเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค ไว้เป็นการชั่วคราว ซึ่งศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ายังไม่มีเหตุให้คุ้มครอง แต่ในส่วนของคดี ศาลยังอยู่ระหว่างการไต่สวน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำคำคัดค้านคำให้การยื่นต่อศาล การกระทำเช่นนี้อาจถือได้ว่าเป็นการให้ข้อมูลเท็จกับสาธารณะ เป็นการหมิ่นศาล และผิดจรรยาบรรณสื่อมวลชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม จึงเรียกร้องให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ แก้ไขสาระสำคัญของข่าวให้ถูกต้อง ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 กระแสต่างแดน

คุมกำเนิดบิ๊กโฟร์        สหรัฐฯ เล็งออกกฎหมาย 5 ฉบับ เพื่อควบคุมบิ๊กเทคทั้งสี่ (Amazon, Apple, Facebook และ Google) ไม่ให้มีอำนาจเหนือตลาดเกินไป         จากการสำรวจการครองตลาดของสี่ค่ายนี้เป็นเวลา 15 เดือน ทีมวิจัยพบข้อมูลการใช้อำนาจเหนือตลาดเรียกเก็บค่าบริการที่แพงเกินไป การกำหนดข้อสัญญาที่เอาเปรียบผู้ใช้ รวมถึงการเก็บข้อมูลบุคคลและธุรกิจต่างๆ ที่ใช้บริการ         หากร่างกฎหมายเหล่านี้ผ่านการพิจารณา (อีกหลายรอบ) บิ๊กโฟร์จะไม่สามารถเข้าซื้อกิจการบริษัทเล็กได้ง่ายเหมือนที่ผ่านมา และจะไม่สามารถเลือกให้ประโยชน์กับผลิตภัณฑ์ของตัวเองเหนือผลิตภัณฑ์ของผู้ค้ารายอื่นบนแพลตฟอร์มของตัวเอง         กฎหมายใหม่จะให้อำนาจกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้ามากขึ้น         ในการประชุม G7 ครั้งล่าสุด ประเทศสมาชิกยังเห็นพ้องกับข้อเสนอที่จะขอให้ประเทศต่างๆ เรียกเก็บภาษีขั้นต่ำร้อยละ 15 จากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีด้วย  แบตเตอรีต้องกลับมา         การสำรวจโดยกลุ่มศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมพบว่า ร้อยละ 50 ของขยะแบตเตอรีในครัวเรือนประเทศเยอรมนียังคงถูกทิ้งรวมกับขยะทั่วไป         กรรมการผู้จัดการของ Redux บริษัทที่เชี่ยวชาญการรีไซเคิล “แบตเตอรีจากครัวเรือน” แห่งหนึ่งในเยอรมนีที่รีไซเคิลแบตเตอรีปีละ 10,000 ตัน บอกว่าเรื่องนี้ต้องอาศัยกฎหมายเข้ามาเป็นตัวช่วยเพื่อป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดจากการสรรหาวัตถุดิบที่นำมาทำแบตเตอรี โดยเฉพาะเมื่อพาหนะไฟฟ้ามีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้น         วัตถุดิบมีค่าอย่างโคบอล์ท นิกเกิล ทองแดง และลิเธียม ควรถูกนำกลับมาใช้ใหม่         Redux เสนอว่าแบตเตอรรีรถยนต์ ควรอยู่ใน “ระบบเช่า” ที่ผู้ใช้สามารถนำแบตฯ เสื่อมสภาพมาเปลี่ยนเอาของใหม่ได้         ค่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างเทสลาและโฟล์กสวาเกน ก็ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงลงทุนหลายหมื่นล้านเหรียญเพื่อรองรับการรีไซเคิลแบตเตอรี ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์  เพราะอาหารแพงมันน่ากลัว         สวิตเซอร์แลนด์โหวต “ไม่รับ” แผนห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและห้ามนำเข้าพืชผักหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเคมีดังกล่าว         แม้จะมีข้อมูลระบุว่า ปัจจุบันคนสวิสไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคนต้องดื่มน้ำปนเปื้อนสารเคมี แต่เสียงจากภาคการเกษตรมีอิทธิพลพอสมควร พวกเขาอ้างว่าสารเคมีการเกษตรที่ใช้นั้นผ่านการทดสอบและควบคุมจนสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยแล้ว         หากไม่ใช้สารเคมี ผลิตผลทางการเกษตรจะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ พืชผักต่างๆ จะราคาแพงขึ้น และสวิตเซอร์แลนด์อาจสูญเสียอธิปไตยทางอาหารด้วย         รัฐบาลเองก็แอบลุ้นให้ประชาชนโหวตไม่รับแผนดังกล่าว เพราะนั่นหมายถึงการที่ผู้คนจะพากันข้ามชายแดนไปซื้ออาหารจากประเทศข้างเคียง           ตามกฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์ ประชาชนทั่วไปสามารถขอให้มีการทำประชามติได้ หากรวบรวมรายชื่อได้ถึง100,000 รายชื่อ กลุ่มที่เสนอแผนห้ามใช้สารเคมีครั้งนี้คือกลุ่มที่ชื่อว่า Future 3 ไม่อยากได้ยิน         สถาบันด้านสุขภาพของเนเธอร์แลนด์จะทำการสืบสวนผลกระทบต่อสุขภาพที่มีสาเหตุจากกังหันลม หลังงานวิจัยพบว่า เสียงกังหันลมส่งผลต่อสุขภาวะของคนในชุมชน         พลังงานสะอาดนั้นดีต่อสิ่งแวดล้อม และเนเธอร์แลนด์ก็มีเป้าหมายจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 49 ภายในปี 2030         แต่ช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีเสียงคัดค้านจากชุมชนมากขึ้น เพราะเสียงจากการทำงานของกังหันตลอด 24 ชั่วโมงนั้น ทำให้ชาวบ้านนอนไม่หลับ เกิดความเครียดและมีปัญหาสุขภาพ           ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดระยะห่างขั้นต่ำระหว่างตัวกังหันและชุมชน มีเพียงข้อเสนอจากเขตหนึ่งที่ขอให้กำหนดระยะดังกล่าวไว้ที่ 600 เมตรจากบ้านคน         ส่วนข้อกำหนดด้านเสียงนั้นมีอยู่แล้วที่ 49 เดซิเบล เมื่อวัดจากนอกตัวบ้าน แต่ระดับเสียงยังขึ้นกับชนิดของกังหันและทิศทางลมด้วย                 รายงานระบุว่าผู้คนไม่ได้ต่อต้านกังหันลม แต่อยากให้มีการจัดการหรือการจำกัดเสียงที่เกิดขึ้นจากกังหันลมมาช้าแต่ก็มานะ         ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในญี่ปุ่นให้การตอบรับ “ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก” ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่ในที่สุดบรรดาผู้ผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์ก็ตัดสินใจเข้าร่วมตลาดนี้จนได้ โดยจะผลิตคู่ไปกับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แบบที่เคยทำอยู่         แถมยังบอกด้วยว่าประสบการณ์ที่มีจะทำให้เขาทำผลิตภัณฑ์จากบุกและถั่วเหลือง หรือแหล่งโปรตีนอื่นๆ อย่างสาหร่าย แมลง ออกมาได้รสชาติเหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ         เพื่อให้ประเทศไม่ตกเทรนด์ที่กำลังเป็นที่นิยมในอเมริกาและยุโรป กระทรวงเกษตรกรรมของญี่ปุ่นจึงได้ตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาให้การสนับสนุนงานวิจัยด้านการหาและพัฒนาแหล่งโปรตีนใหม่ๆ มีตัวแทนสถาบันวิจัย บริษัทสตาร์ทอัป ผู้ประกอบการ และองค์กรอื่นๆ เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 800 คน         ญี่ปุ่นเองต้องการส่งออกอาหารไปยังตลาดยุโรปและอเมริกา และต้องการเพิ่มมูลค่าตลาดให้ได้ถึง 45,600 ล้านเหรียญ (1.4 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2030   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2564

เตือนอย่าหลงเชื่อ "กู้เงินออนไลน์"         กระทรวงการคลัง เอาจริง เตรียมดำเนินคดีมิจฉาชีพแอบอ้างหลอกประชาชนให้ "กู้เงินออนไลน์" ก่อนเก็บค่าดำเนินการอมเงินหนีหาย โดยนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้แอบอ้างเป็นผู้ให้บริการทางการเงินผ่านสื่อดิจิทัล หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ โดยมีพฤติการณ์หลอกลวงประชาชน ดังนี้         - ต้องทำสัญญากู้เงิน และต้องโอนเงินค่าดำเนินการ หรือค่าธรรมเนียมล่วงหน้าก่อน ซึ่งจะให้โอนเข้าบัญชีผู้ให้กู้เงิน ซึ่งเป็นชื่อบุคคลธรรมดา         - ผู้แอบอ้างบางราย อ้างว่าได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังแล้ว และมีการแสดงหนังสืออนุญาตที่ทำการปลอมแปลงขึ้นมา         - ผู้แอบอ้างได้เปลี่ยนชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นชื่อนิติบุคคลของผู้ที่แอบอ้าง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ         - ทำให้มีประชาชนหลายรายหลงเชื่อ พร้อมทั้งโอนเงินค่าดำเนินการหรือค่าธรรมเนียมไปให้ผู้แอบอ้าง และไม่ได้รับเงินกู้ตามความประสงค์ที่จะขอกู้ยืมเงินจึงขอเตือนประชาชนให้ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อภายใต้การกำกับที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ถูกต้องตามกฎหมายก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ที่เว็บไซต์ www.1359.go.th และหากพบเบาะแสบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่แอบอ้าง สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359 หรือสามารถแจ้งความร้องทุกข์โดยตรงได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599 มพบ. เรียกร้องสายการบินคืนเงินค่าตั๋วโดยสาร ระบุพร้อมดำเนินคดี          จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้สายการบินยกเลิกเที่ยวบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากนั้น นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณียังไม่ได้รับเงินค่าตั๋วโดยสารคืนจากสายการบิน จำนวน 228 ราย จึงได้ติดต่อประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยสายการบินเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา 2 แบบ คือ หนึ่ง คืนเป็นเครดิตให้กับผู้บริโภคเพื่อเก็บไว้ใช้บริการในครั้งต่อไป หรือสอง คืนค่าตั๋วในกรณีที่ผู้บริโภคต้องการเงินคืน         อย่างไรก็ตาม จากการติดตามความคืบหน้าเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ทำให้ทราบว่ายังมีผู้บริโภคที่ใช้บริการสายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท แอร์จอย สต๊อค และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ รวม 31 ราย ที่ยังไม่ได้รับเงินคืน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 557,929.27 บาท ดังนั้นทางศูนย์ฯ จึงทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาแต่พบว่ามีเพียงคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ที่ตั้งวงประชุมเพื่อหารือแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องสายการบิน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า         ทางมูลนิธิฯ จึงเตรียมดำเนินคดีเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า “ระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 1 ปีเต็ม ยังมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับเงินคืน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป และทราบว่าที่ผ่านมาทางภาครัฐก็ได้ช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan ให้ผู้ประกอบการสายการบินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว สายการบินก็ควรคืนเงินให้กับผู้บริโภค หากยังคงเพิกเฉยก็คงต้องเดินหน้าฟ้องสายการบินต่อไป” เฉลิมพงษ์กล่าว         39 องค์กรร่วมฟ้องบอร์ด กขค. ขอเพิกถอนคำสั่งควบรวมซีพีเทสโก้          15 มีนาคม  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ 37 องค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภคทั่วประเทศ รวมกันเป็นโจทก์ฟ้อง คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และ สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าต่อศาลปกครอง กรณีมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการ CP-Tesco อาจขัดกฎหมาย         จากการที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 มีมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านการอนุญาตครั้งนี้ โดยเห็นว่าจะทำให้เครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ในกลุ่มธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นสูงถึง 83.97% อีกทั้งเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารสำคัญหลายประเภท ทั้งวัตถุดิบ สินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งนำไปสู่การผูกขาดทางการค้า ทำให้กลไกการตลาดไม่เป็นอิสระ ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดต่อ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจในตลาดสินค้าและบริการต่าง ๆ ให้มีการแข่งขันมากที่สุดภายใต้หลักเสรีและเป็นธรรม และขัดต่อสิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและบริการอย่างอิสระตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522         โดยผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลไต่สวนคำร้องและขอให้ศาลมีคำสั่ง กำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยมีคำสั่งให้ระงับการรวมธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ ของบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ไว้ก่อนชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ผู้บริโภคยินดีจ่ายเพิ่มไม่เกิน 20% กับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม         ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจพฤติกรรมและมุมมองความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อปัญหาและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม พบผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่อาจช่วยลดการสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นงดหรือลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติกและหันมาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย หรือแม้แต่การเดินทางโดยรถสาธารณะแทนรถส่วนตัว ทั้งนี้พบว่ากว่าร้อยละ 55 ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาที่แพงกว่าสินค้าปกติทั่วไประหว่าง 1 – 20 % ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า รองลงมาคือร้อยละ 23 เต็มใจที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาเท่าเดิม หรือไม่แตกต่างจากสินค้าปกติทั่วไป 6 วิธีจับสังเกตแชร์ลูกโซ่          กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สคบ. และ กองปราบปราม สรุปข้อสังเกตเพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อขบวนการแชร์ลูกโซ่ ดังนี้ 1.ผลตอบแทนสูงกว่าความเป็นจริง 2.เชียร์ให้ลงเงินเยอะๆ ไม่พูดถึงความเสี่ยง 3.เน้นหาเครือข่าย ยิ่งชวนคนมาลงทุนเยอะยิ่งได้เงินเยอะ 4.หว่านล้อม กดดันให้รีบตัดสินใจ 5.อ้างคนมีชื่อเสียงร่วมลงทุน และ 6.ตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีหน่วยงานรับรอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 สภาองค์กรผู้บริโภคเกิดช้า ผู้บริโภคมีแต่เสียประโยชน์ (1)

        นับแต่ประเทศไทยมีกฎหมายชื่อว่า “พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562” ซึ่งได้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฏาคม 2562 บรรดาองค์กรผู้บริโภคมีความตื่นตัวไปใช้สิทธิจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภคตามกฎหมาย เพื่อให้ได้ 150 องค์กรมารวมตัวกันเริ่มจัดตั้งเป็น “สภาองค์กรผู้บริโภค” เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ  มีฐานะเป็น “ตัวแทนผู้บริโภคระดับประเทศ” คอยเป็นปากเป็นเสียง เรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้กับผู้บริโภคเรา เช่นเดียวกับที่ภาคธุรกิจที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคอยรักษาประโยชน์ให้ภาคธุรกิจ           ตอนนี้ผ่านมากว่า 8 เดือนแล้ว  “สภาองค์กรผู้บริโภค”ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่ปัญหาผู้บริโภคยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในช่วงเวลานื้ที่มีไวรัสโควิด 19 กำลังระบาดในประเทศไทย ผู้บริโภคต้องเผชิญปัญหามากมาย ทั้งหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่ขายเกินราคา ไม่มีคุณภาพสินค้าขาดตลาด  ถ้ามี"สภาองค์กรผู้บริโภค" ตอนนี้เราจะมีตัวแทน เป็นปากเป็นเสียงแทนเรา ในการตรวจสอบและเสนอแนะกับหน่วยงานรัฐ ให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องหน้ากากอนามัย โต้แย้งข้อมูลปลอมที่อ้างว่าหน้ากากมีเพียงพอ รวมถึงแจ้งเตือนภัยผู้บริโภค เปิดเผยชื่อสินค้า ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจที่จำหน่ายหน้ากากปลอม ไม่มีคุณภาพมาตรฐานเอาเปรียบผู้บริโภค พร้อมรายงานไปยังหน่วยงานรัฐให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย         หรือ “ปัญหาของสายการบิน” ที่พบว่าในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับปัญหาโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด 19 สายการบินต่างๆ มีการประกาศระงับการบริการ และแจ้งข้อเสนอให้ผู้บริโภคเลือกระหว่างการเลื่อนวันเดินทาง หรือเก็บเครดิตวงเงินไว้เพื่อใช้ในภายหลัง ซึ่งมีกำหนดเวลา 365 วัน โดยไม่มีทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถขอเงินคืนได้ หรือปัญหาสำหรับผู้ที่เลือกรับตามเงื่อนไขของสายการบิน แต่การติดต่อก็มีความยุ่งยาก เพราะไม่มีการใช้พนักงานมาประสานด้วยตนเอง กลับให้ผู้บริโภคติดต่อผ่านระบบ AI ที่เพียงการตอบคำถามตามที่ตั้งค่าไว้ ไม่สามารถให้คำอธิบาย หรือแก้ไขปัญหาแก่ผู้บริโภคได้อย่างเป็นรูปธรรม  สิ่งที่ผู้บริโภคต้องเผชิญคือ ถูกบังคับให้รับสิทธิตามที่บริษัทเสนอไว้ โดยไม่มีอำนาจต่อรอง บางคนติดต่อทำเรื่องขอเงินคืน แต่ก็ไม่ได้รับการดูแล และเงื่อนไขการกำหนดวงเงินเครดิตที่ไม่เป็นธรรมของสายการบินที่ให้เราต้องรีบใช้เงินตัวเองภายใน 365 วัน เรื่องต่างๆ เหล่านี้จะยังคงเกิดขึ้นต่อไป และเกิดซ้ำไปซ้ำมา เพราะเราไม่มี “ตัวแทน”มาคอยช่วยต่อรองแทนให้ ดังนั้น หากมี "สภาองค์กรผู้บริโภค" ก็จะเป็นตัวแทนของผู้บริโภค รวบรวมข้อมูลผู้เสียหาย รวมกลุ่มผู้บริโภคเจรจาต่อรองกับสายการบินต่างๆ เพื่อให้คืนเงินแก่ผู้บริโภคเต็มจำนวน รวมถึงตรวจสอบการกระทำของสายการบินต่างๆ ที่ออกเงื่อนไขที่ไม่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคให้หน่วยงานรัฐดำเนินการแก้ไข หรือออกกติการมากำกับให้เกิดแนวทางหรือมาตรการทางกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้เกิดการเอาเปรียบ และคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค รวมทั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ยังมีทีมนักกฎหมาย ทั้งทนายความและนักวิชาการเพื่อเข้าช่วยเหลือเจรจาต่อรอง รวมถึงฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิแทนผู้บริโภคได้ด้วย        ประเด็นคุ้มครองผู้บริโภคยังเชื่อมโยงถึงเรื่อง “การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม” ด้วย โดยเกี่ยวข้องกับการบริโภคที่ยั่งยืน เช่น การที่บริษัท ร้านค้าต่างๆ เลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากโฟม หรือพลาสติก ผู้บริโภคส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนที่สั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นรับส่งอาหารทางออนไลน์ มักไม่ทราบข้อมูลของภาชนะบรรจุภัณฑ์ที่ร้านค้าใช้  ส่วนผู้ประกอบธุรกิจรับส่งอาหาร หรือฟู้ดเดลิเวอรี่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของผู้บริโภค มีการไปเก็บค่าส่วนแบ่งจากร้านค้าเพิ่มขึ้น จนทำให้ร้านค้าต้องเพิ่มราคาอาหาร กระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง หรือหากร้านใดมีการคิดค่าบริการขนส่งสินค้า การเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่แตกต่างกัน ผู้บริโภคก็ไม่สามารถทราบข้อมูลได้ทั้งหมด จึงต้องมี “ตัวแทนผู้บริโภค” ทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลจำเป็นที่ผู้บริโภคควรรู้ในการเลือกใช้บริการรับส่งอาหาร เพื่อใช้ข้อมูลในการตัดสินใจเลือกใช้ผู้ให้บริการที่เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคสูงสุด มีข้อมูลเปรียบเทียบราคาค่าส่งของแต่ละราย รวมถึงช่วยตรวจสอบราคาอาหาร ค่าบริการเพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการคิดราคาค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม            นอกจากนี้ “ตัวแทนผู้บริโภค” ยังช่วยทำหน้าที่วิเคราะห์ปัญหาภาพรวมที่เกิดขึ้น และมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีกฎหมาย หรือมาตรการดูแลผู้บริโภค อย่างเช่น กรณีของการจัดการปัญหาค่าบริการของธุรกิจรับส่งอาหารในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินของโรคระบาดโควิด 19  สภาองค์กรผู้บริโภคที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคสามารถเสนอแนะไปยังหน่วยงานรัฐ ให้ลดค่าจัดส่งอาหารแก่ผู้บริโภค โดยลดค่าส่วนแบ่งร้านค้า เนื่องจากช่วงเวลานี้ ผู้บริโภคประสบปัญหาค่าใช้จ่าย มีรายได้ลดลงจากสถานการณ์ปัญหาโรคระบาด จึงควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภค อีกทั้งผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ มีรายได้มากขึ้นจากการที่ผู้บริโภคใช้บริการรับส่งอาหารมากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถซื้อจากหน้าร้าน หรือกักตัวอยู่ในบริเวณที่พักตนเองเพื่อป้องกันโรค ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบาย “หยุดเชื้อเพื่อชาติ” ควรลดราคาค่าจัดส่งแก่ผู้บริโภค โดยอย่างน้อยราคาต้องไม่เกินกว่าราคาอาหารหน้าร้าน พร้อมทั้งส่งเสริมค่าตอบแทนที่เป็นธรรมทั้งร้านค้าและผู้ส่ง  รวมถึงเสนอต่อผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ควรมีนโยบายรักษาความปลอดภัยสุขอนามัยของผู้บริโภค และการบริโภคที่ยั่งยืน โดยการส่งเสริมให้ร้านค้างดใช้ภาชนะโฟมใส่อาหารร้อน หลีกเลี่ยงการใช้บรรจุภัณฑ์โฟม เพื่อลดขยะโลก โดยทำระบบแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารให้มีเมนูเพื่อให้ผู้บริโภคเลือกร้านค้าที่ใช้ภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือมีระบบเลือกรับภาชนะที่ไม่ใช้โฟม เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการมีอิสระในการเลือกสินค้าและบริการ รวมถึงมีนโยบายควบคุมพนักงานส่งอาหารเลี่ยงการรับและทอนเงินสดในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ผู้ให้บริการควรมีช่องทางการโอนเงินที่ง่ายและสะดวกสำหรับผู้รับบริการ หรือกรณีจ่ายเงินสด พนักงานต้องสวมถุงมือป้องกัน เป็นต้น        ทุกท่านจะเห็นได้ว่า การมีสภาองค์กรผู้บริโภคนั้น สำคัญต่อผู้บริโภคมากขนาดไหน เพราะเกี่ยวข้องในเกือบจะทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน และสำคัญยิ่งที่วาระวิกฤต ไม่เพียงเท่านั้นอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของ สภาองคืกรผู้บริโภค คือ การสร้างและพัฒนาองค์กรที่ทำงานจริงจังในการพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้เข้มแข็ง ซึ่งจะขอกล่าวถึงในฉบับถัดไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 นโยบายคมนาคมขนส่งที่ เป็นธรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยองค์กรภาคประชาชน ในเยอรมนี

             วันนี้ผมขอนำเสนอรูปแบบ การร่วมเสนอนโยบาย โดยองค์กรภาคประชาชน ที่ไม่ใช่พรรคการเมือง ในด้านคมนาคม การจราจร และการเดินทางของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมา ปัญหาด้านการจราจรและการขนส่ง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตเมือง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องปัญหาคุณภาพอากาศ และปัญหาในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพถูมิอากาศ เนื่องจากการกำหนดนโยบายการคมนาคมและการเดินทาง อยู่ในอิทธิพลของพรรคการเมือง และก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาวะของประชาชน        ซึ่งการก่อตั้งองค์กรภาคประชาชน ในรูปแบบสมาคมซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 มีหลักการสำคัญ คือ เพื่อเปลี่ยนผู้บริโภคจากผู้ดู ให้เป็นผู้เล่นทางการเมือง การมีองค์กรที่เป็นกลางทางการเมืองในรูปแบบสมาคม จึงมีความจำเป็น และมีความสำคัญ เพื่อทำให้เกิดการสร้างแรงกดดันทางการเมืองขอฃประชาชน โดยเฉพาะกับพรรคการเมือง ที่มักจะมีอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร โดยได้รับอิทธิพลจากบริษัทยักษ์ใหญ่ ด้วยการ Lobby         สำหรับการทำงานขององค์กรลักษณะนี้ มีนโยบายสนับสนุน ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพิ่มการสัญจรทางเท้า เพิ่มการใช้รถยนต์โดยสารสาธารณะ และลด ละเลิกการใช้พลังงานฟอสซิล และเพิ่มเส้นทางการคมนาคมสัญจร และราคาที่เป็นธรรมประชาชนสามารถจ่ายได้ เพื่อที่จะลดปริมาณการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับลูกหลานในอนาคตในที่สุด        สำหรับรูปแบบการทำงานของภาคประชาสังคมที่มีความยึดโยงและใกล้ชิด กับประชาชน ในประเทศเยอรมนี คือ สมาคมเพื่อการคมนาคมแห่งเยอรมนี (Verkehrsclub Deutschland e.V.)         ตัวอย่างประเด็นการขับเคลื่อน นโยบายด้านการจราจรและคมนาคม        ·        นโยบาย ด้าน การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสมาคมไม่ได้ต่อต้านการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แต่สนับสนุนและให้ความรู้กับประชาชนในการรู้จักเลือกใช้รถยนต์ส่วนบุคคลอย่างฉลาด ตลอดจนตรวจสอบความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของรถยนต์แต่ละยี่ห้อ เสนอทางเลือกการเดินทางนอกเหนือจากรถยนต์ส่วนบุคคล การลดระดับมลพิษทางด้านเสียงและอากาศ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทาง เพื่อประโยชน์สุขของทุกคน        ·         นโยบายการเดินทางด้วยระบบราง เนื่องจากวิถีชีวิตของคนในสังคมปัจจุบัน การเดินทางไม่ว่าจะเดินทางไปทำงาน เดินทางท่องเที่ยว เดินทางเพื่อทำการค้า ทำธุรกิจ หรือการเดินทางเพื่อไปพบปะญาติมิตร ในแต่ละวันจะมีผู้คนเป็นจำนวนหลักหลายล้านที่อยู่ระหว่างการเดินทาง ดังนั้น การใช้ระบบรางในการเดินทาง จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญ เนื่องจาเป็นระบบขนส่งคนจำนวนมากที่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ ประเด็นสำคัญที่จะต้องคำนึง คือ เรื่อง ราคาที่ทุกคนสามารถจ่ายได้    ·        นโยบายการใช้รถไฟฟ้า (Electromobility) ปัจจุบันมีคำถามว่า เป็นกระแส หรือเป็นทางรอดของมนุษยชาติ สำหรับ นโยบายเรื่องรถไฟฟ้า จะต่างจาก รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Personal Car) ที่เรากำลังขับเคลื่อนกันอยู่ สำหรับประชาชนชาวเยอรมันปัจจุบัน มากกว่า 2 ใน 3 ที่เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นแบบ Electromobility และใช้จักรยานไฟฟ้า ไม่น้อยกว่า 4 ล้านคนต่อวัน        ·        นโยบายการใช้รถบัสในการเดินทางระยะไกล เนื่องจากในปี 2013 ได้เริ่มอนุญาตให้มีการเดินรถบัสสาธารณะ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางไกล นอกเหนือจากการใช้รถไฟ ในอดีตตั้งแต่ปี 1930 มีการห้ามการเดินรถบัส ในเส้นทางที่มีรถไฟให้บริการอยู่แล้ว ยกเว้นเส้นทางไปสู่สนามบิน หรือ เส้นทางในเมืองที่แสดงสินค้า (Expo City) ในกรณีนี้ ทางสมาคมมีจุดยืนในการเลิกระบบผูกขาด ด้วยระบบการเดินทางระบบรางเพียงอย่างเดียว แต่สนับสนุนให้มีทางเลือก ในการเดินทาง เพื่อสนับสนุนการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม        ·        การเดินทางทางอากาศ กระแสการเดินทางทางอากาศที่เป็นที่นิยม ด้วยราคาที่ดึงดูดและล่อใจผู้โดยสาร ทำให้ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากการเดินทางทางอากาศ ตั้งแต่ปี 1990 และถ้าพิจารณากระแสความนิยมการเดินทางทางอากาศทั่วโลก ก็จะส่งผลให้ เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแทบเป็นไปไม่ได้เลย สมาคมมีจุดยืนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางทางอากาศ มาตรการในการจัดการเรื่องนี้ คือ การใช้ระบบ CO2 – Emission trade ซึ่งในปี 2020 จะเริ่มมีการใช้ เครื่องมือนี้ ทั่วโลกในการจัดการกับปัญหาก๊าซเรือนกระจกจาการเดินทางทางอากาศ         ·        การเดินทางทางเท้า ซึ่งถือว่าเป็นการเดินทางรูปแบบหนึ่ง ในประเทศเยอรมนีเอง ก็ยังมีนโยบายในการสนับสนุนการเดินทางด้วยการเดิน น้อย และมักให้สิทธิพิเศษกับ รูปแบบการเดินทางด้วยรถ หรือ รถยนต์ในการใช้ถนนสาธารณะ ภายใต้แนวคิด การไหลของการจราจรของรถยนต์ แทนที่จะมีแนวคิดให้ เกิดการไหลของการจราจรแก่คนเดินเท้า ซึ่งสมาคมสนับสนุนให้เกิดการไหลของการจราจรของคนเดินเท้า ซึ่งจากแนวคิดนี้ จะไปสนับสนุนให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี กับผู้คนในเมือง เพราะจราจรคือ ชีวิตของผู้คน ไม่ใช่ชีวิตของรถยนต์        ·        การขนส่งสินค้า จำนวนสินค้าที่ขนส่งในประเทศเยอรมนีแต่ละปี  คือ 4,500 ล้านตัน หรือเท่ากับ 50 ตัน ต่อประชากรเยอรมนี 1 คน และในรอบ 25 ปี อัตราการขนส่งสินค้า เพิ่มเป็น 2 เท่า ส่วนใหญ่ ใช้การขนส่งผ่านรถบรรทุก ซึ่ง มีการปล่อยก๊าซจากการเผาไหม้ เครื่องยนต์ดีเซล ทางสมาคม จึงเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปนโยบายการขนส่ง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการเรียกเก็บภาษี และค่าธรรมเนียมจากการปล่อยมลพิษ ที่สะท้อนต้นทุนจริงในการขนส่ง และสนับสนุนให้ใช้การขนส่งระบบราง และการขนส่งทางเรือ ในการขนส่งสินค้าที่ต้นทุนต่ำกว่า        ·        นโยบายสนับสนุนการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดกรปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการคมนาคมขนส่ง เนื่องจาก 90 % ของพลังงานที่ใช้ในระบบคมนาคมขนส่ง มาจาก พลังงาน ฟอสซิล ในประเทศเยอรมนี 1 ใน 5 ของก๊าซเรือนกระจกมาจากการคมนาคมขนส่ง และ 96% มาจากการปล่อยก๊าซจากท่อไอเสียของรถยนต์และรถบรรทุก ซึ่งเยอรมนีมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2050 เพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ        ·        นโยบายอากาศสะอาด สำหรับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอากาศสะอาดคือ ชีวิต มนุษย์และสิ่งแวดล้อมจะดำรงอยู่ได้ภายใต้อากาศที่สะอาด ควันพิษจากรถยนต์ และเขม่าควันดำ เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและโรคทางเดินหายใจ เป็นต้นทุนของสังคมที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง        ·        การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเมือง เป็นทางเลือกที่สำคัญ กว่าการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ดังนั้นนโยบายนี้จึงต้องเพิ่มการเข้าถึงให้ทุกคนสามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้ และผู้โดยสารใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวกปลอดภัย ในราคาที่เป็นธรรม        ·        การเดินทางของผู้สูงวัย และการเดินทางของคนทุกวัย เนื่องจากการเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของคุณภาพชีวิตที่สำคัญ และเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการมีส่วนได้ส่วนเสียของสังคม และของปัจเจก ดังนั้นคนสูงวัยก็มีความจำเป็นที่จะสามารถเดินทางได้ ไม่ว่าจะเป็น การเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะ การใช้ถนน เส้นทาง โดยมีประเด็นในการขับเคลื่อนคือ ความปลอดภัย ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพึ่งพาตนเองได้        ·        การอบรมให้ความรู้ในเรื่องการคมนาคมและจราจรแก่ เด็กและคนสูงวัย ที่เป็นธรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก เด็กคืออนาคตของชาติ สมาคมให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ การฝึกอบรมกับเด็กและวัยรุ่น และ ผู้สูงวัย ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ต้องอาศัย แนวความคิดใหม่    ·        การเดินทางแบบหลากหลาย และการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างการเดินทาง (Multimodality and Intelligent Networking on the Ways)แนวความคิดการเดินทางแบบนี้ คือ ไม่ได้มีรถยนต์ส่วนตัว แต่ มีรถยนต์แบบ car sharing ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและรถโดยสารสาธารณะ ที่เชื่อมต่อโดยผ่านทางเครือข่ายข้อมูลการเดินทาง สำหรับการเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัวในเมืองใหญ่ มีภาระที่ต้องแบกรับมากไม่ว่าจะเป็น ที่จอดรถ เงินประกัน และภาษี        ·        การเดินทางด้วยรถจักรยาน เป็นรูปแบบการเดินทางที่มีประโยชน์ ทั้งในแง่สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม การเดินทางด้วยจักรยานในเมือง ใช้เวลาน้อยกว่าในการถึงจุดหมาย ดังนั้นสิ่งที่สมาคมเรียกร้อง ในการขับเคลื่อนนโยบายการใช้จักรยานในเมืองคือ มีที่จอดรถจักรยานสาธารณะที่เพียงพอ และปลอดภัย มีการลงทุนสร้างทางจักรยานที่ได้คุณภาพและปริมาณ ของเส้นทางที่เชื่อมต่อกัน และมีกฎหมายที่อนุญาตให้นำรถจักรยานขึ้นไปบนรถโดยสารสาธารณะได้        ·        นโยบายความปลอดภัยบนท้องถนน ในปี 2017 มีคนเสียชีวิตบนท้องถนนจากอุบัติเหตุ ถึง 3,177 คน อีก 390,000 คน ได้รับบาดเจ็บ การขับเคลื่อนให้เกิดการจำกัดความเร็วบนท้องถนน เป็น เรื่องหนึ่งในอีกหลายเรื่องที่มีความสำคัญ แต่อย่างไร ก็ตามในระดับนโยบายมีการขยับน้อยมากในเรื่อง นโยบายความปลอดภัยบนท้องถนน         ·        นอกจากนี้ ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่สมาคมให้ความสำคัญและทำงานขับเคลื่อนอยู่ไม่ว่า จะเป็น เรื่อง การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน การเดินทางและที่อยู่อาศัย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การออกแบบนโยบายการคมนาคมขนส่งสาธารณะ        ผลงานที่สำคัญ คือ การได้รับการชื่นชมจากคณะกรรมการ UNESCO แห่งเยอรมนี ถึง 2 ครั้ง ในประเด็นการให้ความรู้แก่สาธารณะในเรื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2011/2012 และ ปี 2013/2014        แนวทางการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม ในประเด็นการคมนาคมขนส่ง ในประเทศเรา สามารถเรียนรู้จากองค์กรนี้ได้ และประยุกต์ให้เข้ากับบริบททางสังคมของประเทศเรา        แหล่งข้อมูล เวบไซต์ของสมาคมเพื่อการคมนาคมแห่งเยอรมนี (Verkehrsclub Deutschland e.V.) https://www.vcd.org/startseite/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ทำอย่างไรให้ร่างกายหอมสดชื่นทั้งวัน

                อยู่เมืองไทยไม่มีเหงื่อคงเป็นเรื่องแปลก เหงื่อไม่เพียงทำให้เนื้อตัวเหนอะหนะ ยังทำให้เกิดปัญหากลิ่นกายไม่หอมสดชื่นด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ “ตัวไม่หอม” จนบางครั้งเราก็คงนึกสงสัยว่าทำไมนะ บางคนถึงตัวหอมสดชื่นทั้งวัน เราจะเป็นแบบนั้นบ้างได้ไหม         สิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจ        1.สะอาดเสมอ        ·  อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับกิจกรรม เช่น หลังออกกำลังกายก็ควรอาบน้ำชำระเหงื่อไคล และควรใช้สบู่ชำระล้างในส่วนที่เป็นจุดอับของร่างกาย เช่น รักแร้ ซอกคอ ข้อพับ มือเท้า สาวๆ ที่มีรูปร่างอวบอัด อาจรวมถึงหน้าท้องที่ยื่นจนเกิดเป็นซอกหลืบ เพราะบริเวณดังกล่าวจะเป็นจุดที่เกิดการหมักหมมของเหงื่อไคล        ·  สระผมให้สะอาด หากสระผมกลางคืนไม่ควรนอนไปทั้งที่ผมยังชื้นอยู่ หรือบางคนไม่ชอบสระผมทุกวัน อาจใช้การสระแบบแห้งซึ่งมีน้ำยาทำความสะอาดผมแบบเป็นสเปรย์ฉีดผมที่ช่วยแก้ปัญหาได้        ·  ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด เสื้อผ้าที่ซักและตากไม่แห้งหรือโดนน้ำฝนมักมีกลิ่นซึ่งเกิดจากการขยายตัวของเชื้อโรค ซึ่งไม่เพียงมีกลิ่นอับที่ชวนให้ชวนอึดอัด ยังอาจก่อให้เกิดปัญหากับสุขภาพด้วย การใช้เสื้อผ้าซ้ำๆ หลายๆ วันก็จะทำให้คุณมีกลิ่นเช่นกัน        ·  อย่าให้เท้ามีกลิ่น หากคุณกังวลว่าเท้าจะมีกลิ่น ก็ควรขัดถูเท้าตอนอาบน้ำ เช็ดให้แห้ง และทาแป้งก่อนที่จะใส่ถุงเท้าและรองเท้า พกถุงเท้าคู่ใหม่ไปเปลี่ยนระหว่างวัน ต้องมั่นใจด้วยว่ารองเท้าของคุณก็สะอาด รองเท้าเก่าๆ มักจะมีกลิ่นเสมอ        ·  ดูแลสุขภาพช่องปาก อย่าปล่อยให้เกิดปัญหาสะสมเพราะจะทำให้เกิดกลิ่นปาก หรือหลังรับประทานอาหารกลิ่นแรงควรบ้วนปากหรือแปรงฟัน หรือเคี้ยวหมากฝรั่งก็พอช่วยแก้ไขปัญหาชั่วคราวได้         2.เลี่ยงอาหารกลิ่นแรงและบุหรี่        ·  พยายามหลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณอาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น กระเทียม หัวหอม เนื้อสัตว์ และอาหารรสจัด รวมไปถึงผักจำพวกกะหล่ำ เช่น บรอกโคลี เพราะอาหารเหล่านี้เมื่อถูกย่อยจะทำให้เกิดกลิ่นตัวและกลิ่นปากได้ง่าย        ·  ไม่สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย รวมไปถึงปัญหาเรื่องกลิ่นตัวอีกด้วย คนที่สูบบุหรี่จัด ๆ จะมีกลิ่นบุหรี่ติดตัวทั้งในปากและตามรูขุมขน ถึงแม้ว่าตอนนั้นจะยังไม่ได้สูบบุหรี่อยู่ก็ตาม        ·  รับประทานอาหารดีมีประโยชน์ ออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายสดชื่น อีกอย่างที่สามารถช่วยได้ดีคือการอบซาวน่า ซึ่งช่วยให้ขับเหงื่อได้ดี         3.ใช้ตัวช่วย        ·   โรลออน ที่ช่วยระงับกลิ่นตัว        ·  น้ำหอม เลือกกลิ่นเฉพาะตัวและไม่ควรใช้หลายกลิ่นในครั้งเดียว จุดที่นิยมให้การฉีดหรือแตะน้ำหอมบนร่างกายคือ ข้อพับแขน ข้อมือ ซอกคอ หรือบริเวณกลางหน้าอก จะช่วยให้กลิ่นหอมฟุ้งทั่วทั้งตัว        ·  ทาแป้ง ก็อาจช่วยได้หากคุณเป็นควรเหงื่อออกง่าย        ·  โลชั่น สบู่ที่มีกลิ่นหอม แต่หากโลชั่นมีกลิ่นแรง คุณไม่ควรใช้น้ำหอมเพิ่ม         4.ดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัว        ·  รักษาความสะอาดของสิ่งรอบตัว เตียง หมอน ชุดเครื่องนอน ฯลฯ ของคุณสะอาดไหม อย่าปล่อยให้มีกลิ่นอับ        ·  รถของคุณและที่อื่นๆ ที่คุณใช้เวลาอยู่ที่นั้นนานๆ เช่น ร้านสุกี้ ร้านชาบู  หรือที่ๆ มีคนสูบบุหรี่ กลิ่นเหล่านี้ติดทนบนตัวคุณได้ดีทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 ฉลากเขียว สัญลักษณ์เพื่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของประชากรโลก ทำให้การบริโภคทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นประเด็นกระแสที่ถูกพูดถึงไม่จบสิ้น เป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่ทำให้ผู้คนหลายๆ ประเทศตื่นตัวและตระหนักในการแก้ปัญหาร่วมกันผ่านการริเริ่มกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดโลกร้อน เช่น การใช้ถุงพลาสติกให้น้อยลงหรือใช้ถุงผ้าทดแทน การยกเลิกพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม การไม่ใช้หลอดพลาสติก เหล่านี้เป็นยุทธวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนให้รักษ์โลกมากขึ้น เช่นเดียวกันกับโครงการฉลากเขียว ที่หลายๆ คน อาจจะเคยบังเอิญสังเกตเห็น ฉลากสีเขียววงกลมที่มีรูปนก ต้นไม้และหน้าเด็กยิ้ม ชวนให้สงสัยว่าฉลากสีเขียวนี้คืออะไร และเป็นประโยชน์กับเราอย่างไรฉลากเขียวคืออะไร ? ฉลากเขียว (Green label) หรือฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อม (eco-label) เป็นฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 (ตาม ISO) ที่มอบให้แก่ผลิตภัณฑ์ เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภคทราบว่า สินค้าชิ้นนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสินค้าที่มีองค์ประกอบ กระบวนการผลิต การใช้ ตลอดจนการกำจัดทำลายที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในประเภทเดียวกัน โดยมีองค์กรกลางเป็นผู้ให้การรับรองวิวัฒนาการของฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ eco-label  เริ่มต้นจากประเทศในแถบยุโรปโดยมีประเทศเยอรมนีเป็นหัวหอกและนับประเทศแรกที่เอาจริงเอาจังในการพัฒนาโครงการฉลากสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ใช้ฉลากที่เรียกว่า นางฟ้าสีฟ้า (Blue Angel) ในการรณรงค์ปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยจุดมุ่งหมาย 3 ประการคือ ชี้แนะให้ผู้บริโภคซื้อเฉพาะแต่สินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ส่งเสริมให้ผู้ผลิตพัฒนาสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม และรณรงค์ให้ฉลากนางฟ้าสีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ในการส่งเสริมการจำหน่าย ฉลากนางฟ้าสีฟ้า ได้เริ่มจากการใช้คำว่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Umweltfreundlich (Environment Friendly) มาแก้ไขเป็น ฉลากสิ่งแวดล้อม หรือ Umweltzeichen (Environment Label) ในปี พ.ศ. 2531 เพื่อหลีกเลี่ยงคำโฆษณาต่างๆ ที่มักใช้ประโยคว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในกลุ่มสหภาพยุโรปเอง ก็มีฉลาก EU-Eco Label หรือที่เรียกว่า EU – Flower ของสหภาพยุโรป เป็นตราสัญลักษณ์ฉลากสิ่งแวดล้อมของทุกประเทศในสหภาพยุโรปที่แสดงให้เห็นว่า สินค้าเหล่านั้นมีการผลิตและได้รับการรับรองแล้วว่ามีวงจรชีวิต (Life Cycle) ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบในการผลิต กระบวนการผลิตเป็นสินค้า และผลกระทบของคุณภาพสินค้าต่อผู้บริโภค เช่น การรักษาคุณภาพน้ำ อากาศ ดิน และเสียง รวมทั้งเรื่องการประหยัดพลังงาน โดยพิจารณาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการผลิต ทั้งในเรื่องวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การบรรจุหีบห่อ การใช้งาน จนถึงขั้นตอนสุดท้ายซึ่งเป็นการกาจัดกากเหลือใช้หรือการนากลับมาใช้ใหม่ EU Eco-label มีสัญลักษณ์เป็นรูปดอกไม้และมีรูปตัวอีคล้ายสัญลักษณ์ของเงินยูโรแทนเกสรดอกไม้ เริ่มใช้เป็นครั้งแรกในปี 2536สำหรับประเทศไทย โครงการฉลากเขียวริเริ่มขึ้นโดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน Thailand Business Council for Sustainable Development (TBCSD) เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2536 โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการโครงการฉลากเขียวเกิดขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานอิสระที่ใช้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อผู้บริโภค มีความเป็นกลาง โปร่งใส เชื่อถือได้ โดยมีการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักและป้องกันมลพิษที่อาจเกิดขึ้นตลอดวัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสินค้าสีเขียวที่มีจำหน่ายในท้องตลาดเกิดจากการประชาสัมพันธ์ของผู้ผลิตและผู้จัดนำหน่ายโดยอิสระเท่านั้นฉลากเขียว เป็นฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 ตามมาตรฐาน ISO14024 เริ่มดำเนินการให้การรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2537 โดยฉลากเขียวได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกที่ได้รับรองระบบงานGenesis (เจเนซิส) ของเครือข่ายฉลากสิ่งแวดล้อมโลก Global Ecolabelling Network (GEN) มีสมาชิกมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการพัฒนาเกณฑ์ของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สามารถใช้ร่วมกันได้ในระดับสากล Common Core Criteria (CCC) และในการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มสมาชิก อาจลงนามบันทึกความเข้าใจ Memorandum of Understanding (MOU) ร่วมกันเพื่อดำเนินงานร่วมกันระดับองค์กร ในการยอมรับมาตรฐานห้องปฏิบัติการ และผลการทดสอบของผลิตภัณฑ์เดียวกันปัจจุบันฉลากเขียวได้ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันกับหน่วยงานด้านฉลากสิ่งแวดล้อมของประเทศต่างๆ เพื่อการรับสมัครขอการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม และ การตรวจประเมินสถานประกอบการ (On-Site Assessment) แทนกันของประเทศที่มีความร่วมมือ ในการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลี นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จีน ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง มาเลเซีย และเยอรมนีนอกจากนี้ ฉลากเขียวยังได้มีการพัฒนาเกณฑ์ข้อกำหนดสำหรับใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สามารถใช้ร่วมกันได้ในระดับสากล Common Core Criteria (CCC) เพื่อให้มีสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ถูกนำเข้าหรือส่งออกในตลาดระหว่างประเทศ เช่น เครื่องพิมพ์ (Printers) เครื่องถ่ายเอกสาร (Copiers) และผลิตภัณฑ์เครื่องฉายดิจิตอล (Digital Projectors)แนวคิดและวัตถุประสงค์ของโครงการฉลากเขียว ฉลากเขียวเป็นฉลากที่ออกให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้ผ่านการประเมินและตรวจสอบว่าได้มาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนด โดยความสมัครใจของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายหรือผู้ให้บริการที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผู้บริโภค โดยการกระตุ้นให้มีการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย กระตุ้นให้กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิต หันมาใช้เทคโนโลยีสะอาด รวมถึงกระตุ้นให้รัฐบาลและเอกชน ร่วมมือกันฟื้นฟูรักษาสิ่งแวดล้อม และลดปัญหามลภาวะด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในสังคม ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของโครงการฉลากเขียว มาจากแนวคิดและความต้องการให้ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับการป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนี้ 1. ลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมโดยรวมภายในประเทศ 2. ให้ข้อมูลที่เป็นกลางต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน 3. ผลักดันให้ผู้ผลิตใช้เทคโนโลยีหรือวิธีการผลิตที่สะอาด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยผู้บริโภคได้อะไรจากการซื้อสินค้าหรือบริการที่มีฉลากเขียว ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียวนั้นมีข้อกำหนดและการพิจารณาแตกต่างกันไปตามประเภทของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ทั้งในแง่การผลิต การใช้ การทิ้งทำลาย และความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ เรียกว่าครบทั้งวงจรวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นๆ ซึ่งจะคำนึงถึงการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้มีการผลิต การขนส่ง การใช้และการกำจัดทิ้งหลังการใช้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลัก 3R คือ ลดการใช้ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)  การที่ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากเขียว เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยกันลดปัญหาโลกร้อน รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากเขียวยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองว่ามีคุณภาพสูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป มีความปลอดภัยจากสารเคมีที่เป็นอันตราย เนื่องจากมีการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ผู้บริโภคยังได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานความปลอดภัยอีกด้วย ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียว ผลิตภัณฑ์ที่สามารถขอการรับรองฉลากเขียวได้นั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ สินค้า และบริการ (บางประเภท) ยกเว้น ยา เครื่องดื่ม และอาหาร เนื่องจากการติดฉลากเขียวบนผลิตภัณฑ์ยา เครื่องดื่มและอาหาร มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ ความปลอดภัยในการบริโภค เพราะอาจสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคได้ ปัจจุบันฉลากเขียวของประเทศไทย มีข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่พร้อมให้ผู้ผลิตยื่นขอรับการรับรองเครื่องหมายฉลากเขียวแล้ว จำนวน 124 ผลิตภัณฑ์ มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสิทธิ์ให้ใช้เครื่องหมายฉลากเขียว รวมทั้งสิ้น 674 รุ่น ใน 30 กลุ่มผลิตภัณฑ์ และ 72 บริษัท/ผู้ผลิต (ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากเขียว) (ข้อมูลเผยแพร่ รายละเอียดผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียว ประจำเดือน ม.ค.2561; http://www.tei.or.th/greenlabel/download/2018-01-Name-GL-th.pdf) โดยผู้บริโภคสามารถดูรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียว และรายชื่อห้องปฏิบัติการทดสอบที่ยอมรับผลโดยฉลากเขียว (ISO/IEC 17025) ได้ที่เว็บไซต์ www.tei.or.th/greenlabel นอกจากฉลากเขียวแล้ว ภาครัฐยังมีการส่งเสริมระบบการติดฉลากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น ฉลากคาร์บอน ฉลากประหยัดพลังงาน ฉลากรับรองไม่ทำลายป่าไม้ ฉลากลดการใช้น้ำ และเกียรติบัตรใบไม้สีเขียวสำหรับธุรกิจโรงแรม เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า สินค้านั้นๆ มีคุณประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าสินค้าหรือบริการประเภทเดียวกันที่ไม่มีฉลากรับรอง ทั้งนี้ การอ่านฉลากสินค้าจะช่วยให้เราทราบข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อหาหรือใช้บริการอย่างปลอดภัย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้กำหนดให้มีการแสดงหรือระบุข้อความบนฉลากตามข้อกฎหมาย โดยฉลากสินค้าต้องใช้ข้อความที่ตรงตามความเป็นจริง ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า โดยหากผู้บริโภคพบเจอสินค้าที่มีข้อความบนฉลากที่เป็นเท็จ หรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า สามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้ดำเนินการกับผู้ประกอบการที่กระทำผิดตามกฎหมายได้ ในฐานะพลเมืองโลกที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Active Citizen) อย่างเราๆ การเลือกสรรหรือลดการบริโภคด้วยการเริ่มเป็นผู้บริโภคสีเขียว (Green Consumers) ที่รู้จักประมาณการบริโภคและตระหนักว่า การบริโภคทุกอย่างล้วนส่งผลกระทบต่อตนเองและสังคม การเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากเขียว ก็นับเป็นกิจกรรมที่มุ่งสู่การบริโภคที่พอเพียงบนวิถีแห่งการรักษ์โลกที่แท้จริงเช่นกันแหล่งข้อมูลอ้างอิง- www.tei.or.th/greenlabel- ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (https://progreencenter.org)- สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)สัญลักษณ์สีเขียวมีรูปหน้าเด็กยิ้ม ต้นไม้และนกที่อยู่ร่วมกันในโลกที่เห็นนี้เป็นสัญลักษณ์ของ “ฉลากเขียว” ของประเทศไทย -----------------------------------------------------------------------------ฉลากสิ่งแวดล้อม (ECO LABELLING)“ฉลากสิ่งแวดล้อม” เป็นกลไกการสื่อสารและบ่งบอกความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้บริโภครับทราบ โดยฉลากสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO  สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ     ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 ( ISO14024)เป็นฉลากที่บ่งบอกความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมอบให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนด โดยองค์กรอิสระที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Third party) โดยจะพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบใช้วิธีพิจารณาแบบตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Consideration) ในประเทศไทยมีการออกฉลากประเภทที่ 1 ซึ่งรู้จักกันดีในนาม “ฉลากเขียว” ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 2 ( ISO14021)เป็นฉลากที่ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หรือ ผู้ส่งออก จะเป็นผู้บ่งบอกความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือแสดงค่าทางสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ตนเอง (Self-declared Environmental Claims)  ซึ่งอาจจะแสดงในรูปของข้อความ หรือสัญลักษณ์ รูปภาพ เช่น การใช้พลังงานอย่างประหยัด การนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น โดยฉลากนี้ จะไม่มีองค์กรกลางในการดูแล แต่ทางผู้ผลิต จะต้องสามารถหาหลักฐานมาแสดงเมื่อมีคนสอบถาม ดังนั้น ฉลากประเภทนี้ผู้ผลิตสามารถทำการศึกษาหรือประเมินผลได้ด้วยตนเองฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 3 ( ISO14025)เป็นฉลากที่บ่งบอกถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์ต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการแสดงข้อมูลสิ่งแวดล้อมโดยรวม (Environmental information) โดยการใช้เครื่องมือการประเมินผลกระทบตลอดวัฏจักรชีวิตของสิ่งแวดล้อม (Life Cycle Assessment) เข้ามาประเมิน ตามมาตรฐาน ISO 14040 โดยฉลากนี้ จะมีหน่วยงานอิสระหรือองค์กรกลางในการทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนที่จะประกาศลงกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 คอตตอน 100%

  คงไม่มีใครในโลกที่ไม่มีเสื้อยืดในครอบครอง หลายคนชอบเสื้อยืดเพราะมันนุ่ม ใส่สบาย ไม่ร้อน ให้ความรู้สึกลำลอง แถมยังแอบอ้วนได้โดยไม่อึดอัด เสื้อยืดนั้นผลิตจากเส้นใยหลายชนิด บ้างก็ทำจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ผสมเส้นใยฝ้ายเพื่อลดการยับยู่ยี่ บ้างก็ทำจากเส้นใยฝ้ายทั้งหมดอย่างที่พนักงานขายเรียกว่า “ผ้าค้อตตอน 100” ซึ่งแม้จะยับง่าย แต่ระบายอากาศได้ดีเพราะเส้นใยมีรูพรุน แต่ว่า... ฉลากที่เขียนว่า “100%” Cotton” นั้นเชื่อถือได้แค่ไหน มีใครแอบทำเสื้อยืดมาหลอกขายเราหรือเปล่า ฉลาดซื้อ สงสัยจึงสุ่มซื้อเสื้อที่มีการระบุว่าเป็นฝ้าย 100% มา 10 ยี่ห้อ รวมถึงเสื้อยืดรณรงค์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอีก 1 ตัว แล้วส่งไปศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ เพื่อหาคำตอบ ข่าวดีนะพี่น้อง เสื้อยืดที่เราส่งไปตรวจสอบนั้นผลิตจากเส้นใยฝ้าย 100 เปอร์เซ็นต์ ตามที่ระบุในฉลากจริงๆ ไม่มีเส้นใยชนิดอื่นผสม     CHIC FORD ราคา          95         บาท ผู้ผลิต/จำหน่าย: บริษัท ดี.แอล. เจ คอมเมอร์เชี่ยล จำกัด                     ZEG ราคา          135       บาท ผู้ผลิต:       บริษัทไทยกุลแซ่ จำกัด ผู้จำหน่าย:  ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด                     TEN & CO BASIC ราคา          390       บาท (ราคาลด 295 บาท) ผู้สั่งผลิต/จำหน่าย บริษัทพีน่า เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)   แตงโม ราคา          195       บาท ผู้ผลิต/จำหน่าย บริษัทสยามแฮนดส จำกัด     Pena House ราคา          590       บาท (ราคาลด 295 บาท) ผู้สั่งผลิต/จำหน่าย    บริษัทพีน่า เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)                       Rosso ราคา          99         บาท ผู้สั่งผลิต/จำหน่าย    บริษัท รอซโซ่ จำกัด                       U-FO ราคา          390       บาท (ราคาลด 195 บาท) ผู้สั่งผลิต/จำหน่าย บริษัทพีน่า เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)                     DOUBLE GOOSE (ห่านคู่) ราคา          119       บาท ผู้ผลิต/จำหน่าย บริษัทไทยแลนด์นิตติ้ง จำกัด                     F&F BODYWEAR ราคา           159      บาท ผู้สั่งผลิต/จำหน่าย บริษัทเอกชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเท็ม จำกัด                     UNIQLO ราคา           590      บาท ผู้ผลิต/จำหน่าย ผลิตในประเทศจีน                     เสื้อยืดรณรงค์ Please wear me out ราคา           180       บาท ผู้สั่งผลิต/จำหน่าย     มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค               ------------------------------------------------------------------------------------------------------------ ผ้าฝ้ายได้จากนำปุยฝ้ายมาปั่นให้ได้เป็นเส้นด้าย แล้วทอเป็นผืนผ้า  เทคนิคในการทอนี้เองที่เป็นตัวแปรชี้ว่าเสื้อที่เราซื้อมาจะหดหรือไม่ เสื้อยืดที่ผลิตจากผ้าฝ้ายจะมีราคาแตกต่างกันไปตามขนาดเส้นด้าย เสื้อที่ทำจากผ้าที่ทอด้วยเส้นด้ายขนาดเล็ก (เช่นเสื้อผ้าสำหรับเด็กอ่อน หรือเสื้อแบรนด์เนมบางรุ่น) จะมีราคาสูงกว่า  เพราะเส้นด้ายขนาดเล็กมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนกว่าเส้นด้ายขนาดใหญ่ ยิ่งต้องการให้เล็กมากก็ต้องสั่งทอเป็นพิเศษ จึงทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ------------------------------------------------------------------------------------------------------------   ฝ้ายเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่เราใช้ร้อยละ 2.3 ของพื้นที่การเกษตรบนโลกในการปลูก และกว่า 1 ใน 6 ของสารเคมีทางการเกษตรที่ใช้กันอยู่ ก็ใช้เพื่อการปลูกฝ้ายนั่นเอง   เพื่อให้ได้ผลผลิตใยฝ้าย 1 กิโลกรัม (สำหรับการผลิตเสื้อยืด 1 หนึ่งตัว และกางเกงยีนส์ 1 ตัว) เราอาจต้องใช้น้ำมากถึง 20,000 ลิตร ------------------------------------------------------------------------------------------------------------   การปลูกฝ้าย ในระดับเกษตรกรรายย่อยที่ปลูกกันด้วยวิธีธรรมดาจะได้ผลผลิตฝ้ายดิบประมาณ 400 -600 กิโลกรัมต่อเฮคตาร์ แต่ถ้าเป็นไร่ฝ้ายในระดับอุตสาหกรรม อาจได้ผลผลิตมากถึง 3,000 กิโลกรัมต่อเฮคตาร์ ผลผลิตฝ้ายรวมทั่วโลกอยู่ที่ 25 ล้านตันต่อปี ปริมาณนี้สามารถผลิตเป็นเสื้อได้ 60,000 ล้านตัว ผู้ผลิตฝ้าย 5 อันดับแรกของโลกได้แก่ จีน อเมริกา อินเดีย ปากีสถาน และบราซิล ตามลำดับ โดยมีบราซิลเป็นประเทศที่มีผลผลิตต่อไร่สูงที่สุด ส่วนประเทศที่มีการบริโภคฝ้ายมากที่สุด 10 อันดับแรกได้แก่ จีน อินเดีย ปากีสถาน อเมริกา ตุรกี บราซิล อินโดนีเซีย เม็กซิโก ไทย และรัสเซีย จีนคือประเทศที่ผลิต นำเข้า และบริโภคฝ้ายมากที่สุดในโลก ------------------------------------------------------------------------------------------------------------ ราคาฝ้ายในตลาดโลกลดลงอย่างมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา ด้วยสองสาเหตุหลักคือ จีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าฝ้ายดิบในปริมาณมากมีความต้องการฝ้ายลดลง และเนื่องจากช่วงก่อนหน้านี้ฝ้ายมีราคาสูง เกษตรกรจึงหันมาปลูกฝ้ายมากขึ้น ผลผลิตฝ้ายในตลาดจึงเพิ่มขึ้น   เมื่อฝ้ายราคาถูกลง เราก็น่าจะซื้อเสื้อยืดได้ถูกลง ... ซะที่ไหน  เรายังคงจ่ายในราคาเท่าเดิม ในขณะที่ร้านค้าปลีกจะได้กำไรจากส่วนต่างตรงนี้มากขึ้น ถ้าผู้บริโภคอย่างเราจะได้ประโยชน์ก็น่าจะมาจากกระบะเสื้อผ้าที่ทำจากฝ้าย ที่ทางร้านเขาเลือกนำมาลดราคานั่นเอง   ------------------------------------------------------------------------------------------------------------ มนุษย์เรารู้จักการนำฝ้ายมาแปรเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มมา 5,000 ปีแล้ว และเรายังคงพึ่งพาฝ้ายเสมอมา ทุกวันนี้เส้นใยที่ใช้ในการผลิตเสื้อผ้ามากเป็นอันดับหนึ่งก็ยังคงเป็นเส้นใยฝ้าย แต่อาจเป็นเช่นนั้นอีกไม่นาน ด้วยข้อจำกัดทางปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่ใช้ในการปลูกฝ้าย บวกกับความพยายามในการลดต้นทุนการผลิต ทำให้ผู้ผลิตหันมาใช้เส้นใยประดิษฐ์ (เส้นใยสังเคราะห์และเส้นใยกึ่งสังเคราะห์) กันมากขึ้น เช่นผสมไลคราลงไปในเนื้อผ้ายีนส์ หรือผสมสแปนเด็กซ์ลงไปในผ้ายืดให้มากขึ้น เป็นต้น   สำหรับคนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของฝ้าย วางใจกันได้ว่าจะยังมีเสื้อที่ทำจากเส้นใยฝ้ายอยู่และการปลูกฝ้าย (น่า) จะทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลง ปัจจุบันมีความพยายามที่จะผลักดันให้เกษตรกรหันมาปลูกฝ้ายโดยไม่ใช้สารเคมีหรือใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรม แม้ราคาเสื้อยืดที่ทำจากฝ้ายออกานิกจะมีราคาแพงขึ้น แต่ผู้บริโภคจะได้ทั้งเสื้อยืดและได้สนับสนุนให้เกษตรกรได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย ------------------------------------------------------------------------------------------------------------ เสื้อยืดหนึ่งตัวต้องใช้ทรัพยากรในการผลิตไม่น้อยทีเดียว จึงเป็นเรื่องน่าภูมิใจสุดๆ ถ้าเราสามารถใส่เสื้อยืดที่มีอยู่ให้คุ้มค่าเต็มอายุขัยของมัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 “ถุงพลาสติก” สิ่งเล็กๆ ที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก

  ถือเป็นวาระแห่งชาติกับการแก้ปัญหาถุงพลาสติกครองโลก หลายคนคงพอจะรู้กันดีอยู่แล้วว่าถุงพลาสติกที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นตัวการร้ายทำลายโลกของเรา ทั้งจากขั้นตอนการผลิตที่ต้องอาศัยพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ไปจนถึงขั้นตอนการจัดการเมื่อกลายเป็นขยะ เพราะถุงพลาสติกยากต่อการทำลาย ถุงพลาสติกพวกนี้อายุยืนเป็นร้อยๆ ปี ถ้านำไปเผาก็ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปทำลายชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจก ทำให้โลกของเราร้อนขึ้น ซึ่งภัยธรรมชาติร้ายแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพอากาศในโลกของเราเปลี่ยนแปลงผันผวนไปอย่างน่าตกใจ  ดังนั้นแล้วทั้งโลกเขาก็เลยตื่นตัวกันมากเรื่อง การลดการใช้ถุงพลาสติก ในประเทศไทยของเราก็เริ่มมีความตื่นตัวในการลดการใช้ถุงพลาสติกด้วยเช่นกัน ซึ่งจากข้อมูลจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พบว่าคนไทยผลิตขยะถุงพลาสติกถึง 7,391 ตันต่อวัน  ถุงพลาสติก ที่สิ้นเปลืองทรัพยากรทั้งในการผลิต การขนย้ายและกำจัด ยังเป็นปัญหาสำคัญสำหรับประเทศไทย เพราะมาตรการต่างๆ ในบ้านเราที่พยายามทำๆ กันอยู่นั้น ยังไม่ค่อยเห็นผลนัก “ฉลาดซื้อ” จึงอยากเชิญชวนทุกคนมาช่วยโลกของเรา มาร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติก เพราะฉะนั้นเรามาดูกันสิว่า เราจะบอกลาถุงพลาสติกด้วยวิธีไหนได้บ้าง   “นโยบายลดถุงพลาสติกจากภาครัฐ – ความฝันที่ยังเลือนราง”ปัญหาขยะถุงพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนในการหาทางแก้ไขปัญหา ซึ่งถึงวันนี้ทุกคนต่างก็รับรู้กันดีว่าถุงพลาสติกเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำเกิดสภาวะโลกร้อน ประเทศไทยของเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจขานรับภารกิจมนุษยชาติในการลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติก ซึ่งถ้าใครพอจะติดตามข่าวสารอยู่บ้างอาจจะเคยได้ยินข่าวการจัดกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ที่ทางภาครัฐนำมาใช้เป็นเป็นกลยุทธิหยุดพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของคนในประเทศ กิจกรรมที่น่าสนใจก็เช่น โครงการ “No Bag No Baht” ที่จัดโดยกรุงเทพมหานคร ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโครงการที่ให้นักช้อปได้มีโอกาสแสดงพลังรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการบอกปฏิเสธไม่รับถุงพร้อมรับส่วนลดจากการซื้อสินค้าทันที 1 บาท แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเลือกที่จะขอรับถุงพลาสติกก็ต้องจ่ายเพิ่มอีก 1 บาท โดยร้านค้าที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ก็มีตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง ร้านสะดวกซื้อ ไปจนถึงร้านค้าในตลาดนัดจตุจักร   อีกหนึ่งกิจกรรมที่ทางภาครัฐจับมือกับบรรดาห้างร้านต่างๆ เพื่อหวังสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกให้เกิดขึ้นในสังคม คือกิจกรรม “45 วัน รวมพลัง ลดถุงพลาสติก ลดโลกร้อน” ซึ่งกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเจ้าเก่าเจ้าเดิมเป็นหัวเรือใหญ่ เป้าหมายของกิจกรรมก็คือการลดจำนวนการใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ กิจกรรมนี้จัดต่อเนื่องติดต่อกันเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2552  โดยมีรายงานว่าในช่วง 2 ปีแรกสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่ร่วมกิจกรรมได้ถึง 12 ล้านกว่าใบ   แม้จะมีกิจกรรมที่ส่งเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการลดการใช้ถุงพลาสติก แต่ก็เป็นแค่กิจกรรมที่ทำชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช้กิจกรรมที่ทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประชาชนทั่วไปที่ใช้ชีวิตผูกพันกับถุงพลาสติกน้อยคนนักที่จะรับทราบข้อมูลของการจัดกิจกรรมดังกล่าว หรือพอหมดช่วงเวลาการจัดกิจกรรมผู้บริโภคและผู้ประกอบการ พ่อค้า แม่ค้า ก็กลับมามีพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกในแบบเดิม ซึ่งแน่นอนว่าภาครัฐต้องมีความจริงใจและจริงจังในการวางนโยบายและเดินหน้าปฏิบัติการลดถุงพลาสติกให้ต่อเนื่องและชัดเจนมากกว่านี้   อย่างที่บอกว่าหนทางการจัดการกับถุงพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ไม่ใช่แค่เมืองไทยเท่านั้นที่ปัญหานี้ยังเป็นคำถามที่ยังต้องหาคำตอบ หลายประเทศทั่วโลกก็คิดไม่ตกกับปัญหาขยะถุงพลาสติก  ซึ่งหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่เป็นเหมือนประตูปิดกั้นการสู้กับปัญหาถุงพลาสติกอย่างจริงจังในประเทศไทยเราก็คือ การที่ยังไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดการใช้ถุงพลาสติก ทำให้ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพียงแค่การขอความร่วมมือเท่านั้น การจะออกกฎหมายมาบังคับใช้เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นแนวทางที่น่าสนใจและต้องมีความพยายามในการเริ่มต้น แน่นอนว่าในสังคมปัจจุบันความต้องและจำเป็นในการใช้ถุงพลาสติกยังคงมีค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการเริ่มต้นการลดการใช้ถุงพลาสติกที่ภาครัฐควรทำให้เกิดขึ้น คือการสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภค ส่งเสริมให้ผู้บริโภครู้จักเลือกใช้วัสดุอื่นที่ย่อยสลายง่าย และเมื่อกลายเป็นขยะแล้วไม่ไปทำลายสิ่งแวดล้อม แม้ว่าอาจต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการผลิต อย่างเช่น ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้หรือใช้เวลาน้อยลงในการย่อยสลาย หรืออาจให้มีการเก็บภาษีถุงพลาสติก หากจะซื้อสินค้าต้องเสียเงินค่าถุงพลาสติกซึ่งเป็นวิธีที่มีใช้ในหลายประเทศ แต่ก็ต้องเป็นไปตามความสมัครใจของผู้บริโภคด้วยต้องศึกษาความเป็นไปได้ให้ดีก่อนนำมาใช้ในบ้านเรา ขณะที่มาตรการขั้นเด็ดขาดอย่างการห้ามใช้ไม่ว่ากรณีใดๆ หากพบเห็นว่ามีการใช้ถือว่ามีความผิด ก็เป็นไปได้ยากที่จะนำมาใช้ในเมืองไทย เพราะดูเป็นวิธีการที่โหดร้ายไปหน่อย “ความร่วมมือจากห้างสรรพสินค้า – อีกหนึ่งความหวังในการบอกลาถุงพลาสติก” ขยะถุงพลาสติกที่กลายเป็นปัญหาในทุกวันนี้ สถานที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของมันคงหนีไม่พ้นห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ที่เปิดกระจายกันอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะในกทม. ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมบอกว่าในแต่ละสัปดาห์คนไทยนำถุงพลาสติกกลับบ้านมากกว่า 100 ล้านถุง   ความต้องการใช้ถุงพลาสติกของคนไทยยังคงมีค่อนข้างสูง เรายังคงรักความสะดวกสบายเวลาจับจ่ายสินค้าก็ต้องการถุงพลาสติกสำหรับใส่ของ เพราะถือง่ายและแข็งแรงทนทาน แถมหลายคนยังติดนิสัยชอบขอถุงพลาสติกเพิ่ม เวลาซื้อของหนักๆ ต้องขอซ้อนถุงก็ยิ่งกลายเป็นว่าไปเพิ่มปริมาณขยะถุงพลาสติกมากขึ้นไปอีก   เมื่อผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมจะเปิดใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลดการใช้ถุงพลาสติก แล้วแบบนี้ทางฝั่งผู้ประกอบการอย่างบรรดาห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ จะพอมีหนทางอะไรบ้างในการช่วยลดการใช้ถุงพลาสติก   ฉลาดซื้อทำแบบสำรวจถึงบรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครือเซ็นทรัล เดอะมอลล์ เทสโก้ คาร์ฟูร์ บิ๊กซี ฯลฯ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือในการตอบแบบสำรวจสักเท่าไหร่ มีบริษัทที่เต็มใจตอบรับเพียง ซีพี ออลล์และฟู้ดแลนด์ เท่านั้น  บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ได้ให้ข้อมูลถึงนโยบายการลดการใช้ถุงพลาสติกของทางร้านว่า มีการรณรงค์กับทั้งลูกค้าและพนักงาน โดยในช่วงปี 2552 -2553 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำโครงการลดการใช้ถุงพลาสติก 3 โครงการที่น่าสนใจ คือ โครงการ “รับถุงด้วยไหม ครับ/ค่ะ”, โครงการ “บริจาคถุงพลาสติกคืน เพื่อรีไซเคิล” และ  โครงการ “ร่วมใจใช้ถุงผ้า ไม่เรียกหาถุงพลาสติก” ซึ่งผลจากการรณรงค์ทั้ง 3 โครงการ สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านได้มาประมาณ 12 ล้านถุง ส่วนในปี 2554 ได้มีทดลองลดการใช้ถุงพลาสติกภายในร้าน โดยนำร่องจำนวน 100 สาขา ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2554 ซึ่งผลปรากฏว่า สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้ 4,400 ใบต่อวัน  ขณะที่ ฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ก็ใช้วิธีการง่ายๆ อย่างการรณรงค์ให้ลูกค้าใช้ถุงพลาสติก ซึ่งรณรงค์มาต่อเนื่องตลอด 4 ปี   ส่วนแนวคิดที่ว่าจะเป็นไปได้แค่ไหนถ้าหากจะให้มีการยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกเป็นเด็ดขาด ทั้ง เซเว่น อีเลฟเว่น และ ฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ต่างก็ยอมรับว่า ยังไม่มีนโนบายเลิกใช้ถุงพลาสติกในร้านอย่างเด็ดขาดในตอนนี้ เพราะยังต้องอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ แต่ถ้าหากภาครัฐมีมาตรการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดใช้ถุงพลาสติกออกมา ก็พร้อมจะให้ความร่วมมือ  “เราทำได้ ลดการใช้ถุงพลาสติก” ในเมื่อยังไม่มีมาตรการหรือกฎหมายที่ออกมาบังคับเรื่องการลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องสร้างจิตสำนึกร่วมกันในการสร้างพฤติกรรมใหม่ในการใช้ถุงพลาสติก   -สำรวจพฤติกรรมของตัวเองว่าในแต่ละวันต้องเกี่ยวข้องกับการใช้ถุงพลาสติกในเรื่องอะไรบ้าง แล้วลองคิดดูสิว่ามีอะไรที่เราพอจะลดการใช้ถุงพลาสติกได้บ้าง เช่น เวลาซื้อของในร้านสะดวกซื้อของที่เราซื้อจำเป็นแค่ไหนที่ต้องใส่ถุงพลาสติก ถ้าซื้อของไม่กี่ชิ้นลองเลือกปฏิเสธถุงพลาสติก หรือเวลาที่ไปซื้อข้าวซื้อก๋วยเตี๋ยวลองเอาจานชามจากที่บ้านไปใส่ไม่ต้องใส่ถุงพลาสติกมาจากที่ร้าน ถ้าจะเติมน้ำตาลน้ำปลาก็ปรุงมาให้เรียบร้อย ไม่ต้องขอใส่ถุงกลับมาปรุงที่บ้าน ฯลฯ   -ใช้ถุงผ้าให้ถูกวิธี ไม่ใช้แค่สะพายไว้เก๋ๆ เพื่อบอกใครๆ ว่าคุณรักโลก แต่จงใช้มันเพื่อช่วยโลกจริงๆ นำถุงผ้าไปใช้ใส่สิ่งของต่างๆ ไม่รับถุงพลาสติกจากร้านค้าเพราะว่าคุณมีถุงผ้าสำหรับใส่ของอยู่แล้ว   -จุดเด่นของถุงพลาสติกคือความทนทานพยายามนำกลับมาใช้งานหลายๆ ครั้ง ใช้ให้คุ้มค่าอย่าให้มันกลายเป็นขยะเร็วเกินไป   -อย่าลืมต่อบอกเทคนิคดีๆ ในการลดการใช้ถุงพลาสติกให้กับคนอื่นๆ อย่าลืมชักชวนคนใกล้ๆ ตัวให้เห็นถึงความสำคัญในการลดการใช้ถุงพลาสติก ถ้า 1 คนลดได้ 1 ใบ 10 คนก็ลดได้ 10 ใบ ถ้าทุกๆ คนช่วยกัน ถุงพลาสติกก็คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่ยากเกินจะแก้ไขอีกต่อไป   ความแตกต่างของถุงพลาสติกแต่ละประเภท ถุงพลาสติกทั่วไป -ทำจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ -ใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 100 – 450 ปี-ราคาถูก มีความเหนียวและทนทาน-เพราะความทนทานจึงสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ แต่ก็พึ่งระบบการคัดแยกขยะที่ดี-เป็นอันตรายต่อธรรมชาติมาก ทั้งต่อสัตว์ที่เผลอกินเข้าไป และมักจะเป็นต้นเหตุของน้ำท่วมตามเมืองใหญ่ๆ เพราะขยะถุงพลาสติกจไปอุดตันตามท่อระบายน้ำ   OXO-DEGRADABLE ออกโซดีเกรดเอเบิล -เป็นถุงพลาสติกที่มีการผลิตให้มีความเหนียวน้อยลง ทำให้ย่อยสลายได้ง่ายขึ้น-ถุงย่อยสลาย ภายใน 2 - 5 ปี ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การย่อยสลาย อาจมีชีวิตอยู่ยาวนาน เป็นร้อยปีได้เหมือนถุงพลาสติกธรรมดาทั่วไป-ราคาถุงกว่าถุงพลาสติกทั่วไป -ไม่มีปัญหาเรื่องการเก็บสต็อก-แม้จะย่อยสลายง่ายขึ้นแต่ก็ยังเป็นอันตรายกับธรรมชาติ   BIODEGRADABLE ไบโอดีเกรดเอเบิล (Bio Bag) -ทำจากพืช เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง -สามารถย่อยสลายได้ภายใน 6 – 9 เดือน แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คือ โดนแสงแดดและอากาศที่เหมาะสม-หมักเป็นปุ๋ยชีวภาพได้ ไม่เป็นสารพิษ-แต่มีราคาแพง แถมไม่สามารถเก็บไว้นานๆ ได้ เพราะถุงจะเปลี่ยนสภาพค่อยๆ เปื่อยลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถใช้งานได้ ----------------------------------------------------------------------------------------   การลดการใช้ถุงพลาสติกในต่างประเทศ อิตาลี ประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ แล้วให้ร้านค้าใช้ถุงกระดาษหรือถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้แทน ซึ่งสาเหตุมาจากที่คนตาลีใช้ถุงพลาสติกกันมากถึง 20 พันล้านใบต่อปี ทำให้เกิดมลพิษทางธรรมชาติ ทั้งในทะเล แม่น้ำ และป่า โดยห้างร้านต่างๆ ในอิตาลีก็ขานรับนโยบายนี้กันอย่างพร้อมเพียง แต่ว่ามาตรการนี้เพิ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 54 ที่ผ่านมา ต้องรอดูกันต่อว่าจะได้ผลแค่ไหน   จีนมีกฎห้ามผลิต จำหน่าย และใช้ถุงพลาสติกที่มีความบางน้อยกว่า 0.025 มิลลิเมตร หรือเรียกว่าถุงชนิดบางมาก รวมทั้งห้ามห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ให้แจกถุงพลาสติกฟรีกับลูกค้าถ้าอยากได้ต้องซื้อ หรือไม่ก็นำถุงพลาสติกหรือถุงผ้ามาเอง   พม่าห้ามผลิต ห้ามใช้ และเข้มงวดถึงขั้นห้ามไม่ให้ร้านค้าร้านขายของชำเก็บถุงและเชือกพลาสติกไว้ในร้าน โดยกฎหมายนี้เริ่มทยอยบังคับใช้ตามเมืองสำคัญๆ ของประเทศอย่าง มัณฑะเลย์ เนปิตอว์ และย่างกุ้ง แถมยังมีโครงการเก็บขยะถุงพลาสติกและการนำกลับมารีไซเคิลเปลี่ยนเป็นท่อพลาสติก เพื่อลดปัญหาขยะถุงพลาสติกล้นเมือง   ไต้หวันถ้าหากไปซื้อตามร้านสะดวกซื้อต่างๆ แล้วอยากได้ถุงพลาสติก คุณต้องยอมจ่ายเงินเพิ่ม ซึ่งประชาชนก็ให้ความร่วมมือดี เป็นมาตรการที่สามารถลดขยะถุงพลาสติกได้เป็นจำนวนมาก   อินเดียใช้ไม้แข็งในการจัดการกับปัญหาขยะถุงพลาสติกล้นเมือง โดยใช้วิธีทั้งจำทั้งปรับคนที่ใช้ถุงพลาสติก แต่ต้องบอกว่าวิธีการดังกล่าวยังถือว่าล้มเหลว เพราะคนส่วนใหญ่ก็ยังใช้ถุงพลาสติกกันเป็นปกติหาได้หวั่นเกรงต่อกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งเหตุผลก็เป็นเพราะว่าหากไม่ใช้ถุงพลาสติกก็ยังไม่เห็นตัวเลือกอื่นที่จะสามารถนำมาใช้แทนได้   สหรัฐอเมริกามีหลายเมืองในอเมริกาที่ออกกฎหมายรองรับการลดการใช้ถุงพลาสติก หรือเปลี่ยนมาใช้ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายง่ายขึ้น และเน้นให้มีการรีไซเคิลถุงพลาสติกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แถมหลายๆ เมืองยังมีการเรียกเก็บภาษีถุงพลาสติกเพิ่มขึ้น แม้ในอเมริกาจะมีมาตการลดการใช้ถุงพลาสติกที่ดูเข้มแข็ง แต่ก็ยังติดปัญหาสำคัญตรงที่อุตสาหกรรมผลิตถุงพลาสติกในอเมริกามีการจ้างงานอยู่มากกว่า 1 หมื่นตำแหน่ง ถ้าหากมีปรับลดการใช้ถุงพลาสติกแบบทันทีทันใดก็อาจจะส่งผลต่อคนงานเหล่านี้   เม็กซิโกร้านค้าในเม็กซิโกเปลี่ยนมาใช้ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายง่ายหลังจากรัฐบาลออกกฎหมายบังคับเรื่องการลดการใช้ถุงพลาสติก แม้กฎหมายฉบับนี้ยังมีผลบังคับใช้แค่ในเมืองหลวงของประเทศอย่างเม็กซิโก ซิตี้ แต่ที่นี่ก็มีประชากรอยู่มากถึง 9 ล้านคน บวกกับประชากรที่อาศัยอยู่ตามเมืองรอบอีกกว่า 10 ล้านคน ก็สามารถลดขยะถุงพลาสติกไปได้พอสมควร   ฮ่องกง นักช้อปจะต้องจ่ายค่าถุงพลาสติกในราคา 50 เซนต์ฮ่องกง สำหรับถุงพลาสติก 1 ใบ มีข้อมูลบอกว่าที่ฮ่องกงมีการใช้ถุงพลาสติก 23 ล้านใบต่อปี หรือ เฉลี่ยวันละ 3 ใบต่อคน แต่ก็ใช่ว่าพอเก็บตังค์แล้วคนจะใช้ถุงพลาสติกน้อยลง เพราะนักช้อปส่วนใหญ่ก็ยังเต็มใจจ่ายค่าถุงพลาสติกอยู่ดี ฮ่องกงเลยใช้วิธีรณรงค์ให้ใช้ถุงพลาสติกมากกว่า 1 ครั้งเป็นตัวเสริมเข้าไป ซึ่งก็สามารถช่วยลดปริมาณขยะถุงพลาสติกภายในประเทศได้พอสมควร

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 146 กระแสต่างแดน

  ชื่อนี้ไม่ได้มีไว้ขาย ฮ่องกงออกกฎหมายห้ามไม่ให้บริษัทที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ให้หรือขายข้อมูลดังกล่าวกับบริษัทขายตรงโดยไม่ขออนุญาต เรื่องนี้มีที่มาจากการร้องเรียนโดยลูกค้าบัตรสมาร์ทการ์ด Octopus ที่เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในการจ่ายค่าโดยสารและชำระค่าสินค้า/บริการต่างๆ ข่าวบอกว่าลูกค้าแต่ละคนได้รับการติดต่อเฉลี่ยคนละ 1.7 ครั้งจากบริษัทที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัทออคโทพุส โฮลดิ้งส์ ซึ่งออกมายอมรับว่าได้ขายข้อมูลของลูกค้า 1.9 ล้านคน ไปในราคา 44 ล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 166 ล้านบาท) ลูกค้าบัตร “ปลาหมึก” (ร้อยละ 95 ของคนอายุระหว่าง 16 – 65 ปี) และลูกค้าบริษัทบัตรเครดิตหรือธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย ต่างก็สรรเสริญระเบียบใหม่ เพราะจะได้ไม่ต้องรับโทรศัพท์เสนอขายสินค้าให้หงุดหงิดใจ กฎหมายว่าด้วยความเป็นส่วนตัวฉบับปรับปรุงนี้ กำหนดบทลงโทษสำหรับการให้ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้ากับบุคคลอื่นโดยไม่ขออนุญาตไว้ที่ 1 ล้านเหรียญ และจำคุก 5 ปี ที่สำคัญ แม้ลูกค้าจะเคยอนุญาตให้บริษัทนำข้อมูลของตัวเองไปใช้ได้ แต่ถ้าเบื่อการถูกโทรหาขึ้นมาเมื่อไร ก็สามารถยกเลิกได้เลย   เนื้อพึ่งป่าข่าวดีสำหรับชาวโลก อัตราการทำลายผืนป่าอะเมซอนลดลงอย่างมากหลังจากรัฐบาลบราซิลได้เฝ้าระวังและปราบปรามอย่างจริงจังในช่วง 24 ปีที่ผ่านมารัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมบอกว่าปีที่แล้วมีการทำลายป่าน้อยที่สุดนับตั้งแต่เริ่มโครงการมา ตัวอย่างเช่น การทำลายป่าในรัฐมาตู โกรสซู ลดลงร้อยละ 31 ในขณะที่ในรัฐปาราลดลงถึงร้อยละ 44แต่บราซิลก็ยังสูญเสียพื้นที่ป่าฝนเมืองร้อนไปประมาณ 4,600 ตารางกิโลเมตรในปี 2012 เพราะในรัฐที่ยังไม่เข้มงวดนั้น การทำลายป่ายังคงมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นในรัฐอาเกร มีการทำลายป่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10  รัฐอามาโซนัส ร้อยละ 29 และรัฐโตกันตินส์ ร้อยละ 33สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดการทำลายป่าคือการลักลอบนำไม้ไปขาย การเกิดไฟป่า และการเพิ่มพื้นที่การเกษตร เช่นการปลูกถั่วเหลืองและการทำปศุสัตว์เรื่องนี้ถ้าถามองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างกรีนพีซ เขายืนยันว่าสิ่งที่ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่ามากที่สุดคือการทำปศุสัตว์นั่นเอง และหลายคนก็เห็นด้วยจึงทำให้เกิดกระบวนการ “เลือกกินเนื้อ” เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้นบรรดาซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ ในบราซิลขานรับแนวทางใหม่นี้ ด้วยการร่วมมือกันไม่รับเนื้อสัตว์จากไร่ปศุสัตว์ที่อยู่ในเขตป่าฝนมาขาย ร้านเล็กๆ ก็กำลังจะทำเช่นเดียวกันและนั่นหมายความว่าต่อไปนี้เนื้อสัตว์ต่างๆ จะต้องมีการติดฉลากระบุที่มาเพื่อให้ผู้บริโภคที่ไม่ต้องการส่งเสริมการทำลายป่า สามารถเลือกได้ด้วย  ก่อนซื้อยาต้องกล้าถามการสำรวจราคายาโดยองค์กรผู้บริโภคของไอร์แลนด์ ได้ข้อสรุปว่าถ้าผู้ป่วยหรือญาติ “เดินดูให้ทั่ว” ก่อนตัดสินใจซื้อยา พวกเขาจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้เท่าตัวเชียวนะผู้บริโภคไอร์แลนด์ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านยารักษาโรคคนละประมาณ 30 ถึง 50 ยูโร ต่อเดือน ยังไม่ค่อยตระหนักในเรื่องนี้ผลสำรวจร้านยา 45 แห่ง ทั้งที่เป็นแฟรนไชส์และเป็นร้านทั่วไป ระบุว่าโดยเฉลี่ยแล้วยาตัวเดียวกันอาจมีราคาขายต่างกันได้มากกว่าร้อยละ 10 ขึ้นอยู่กับร้านที่ซื้อ ยาตัวที่พบว่าราคาต่างกันมากที่สุดนั้นต่างกันถึงร้อยละ 199ตัวอย่างเช่น ยาสำหรับรักษาฝีในกระเพาะอาหารมีราคาตั้งแต่ 22 – 49 ยูโร (830 – 1,850 บาท) และนี่เป็นราคาในเมืองวอเตอร์ฟอร์ดเท่านั้นเมืองที่ยามีราคาแพงที่สุดคือดับลิน ส่วนเมืองที่ขายยาถูกที่สุดได้แก่เมืองกัลเวย์ที่สาธารณรัฐไอร์แลนด์นั้น ประชาชนเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่ายาและค่ารักษาพยาบาลเองในกรณีที่ค่าใช้จ่ายไม่เกิน 144 ยูโร (ประมาณ 5,400 บาท) แต่ส่วนที่เกินจากนั้นรัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบ   ไม่ซื้อก็จ่ายมา ใช่ว่าทุกคนจะได้ประโยชน์จากความรุ่งเรืองของการค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผู้คนเดี๋ยวนี้สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ทได้ทุกที่ทุกเวลาและสามารถสั่งซื้อสินค้าให้มาส่งถึงบ้านโดยไม่ต้องลุกไปไหน ติดอยู่เรื่องเดียวคือเราอยากจะจับต้องสินค้าตัวเป็นๆ ที่เราเห็นในจอภาพก่อนตัดสินใจ ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยใช้วิธีไปเดินดูจริงของในห้าง แล้วค่อยกลับบ้านมาสั่งจากหน้าจอเพราะมั่นใจว่ามันถูกกว่า ทำให้ยอดขายของร้านออฟไลน์ทั้งหลายตกลงไปไม่น้อย บางร้านเลยใช้วิธีแก้เผ็ดพวกที่ “เข้ามาดู” อย่างเดียว ด้วยการเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าชมคนละ 5 เหรียญ (150 บาท) เสียเลย นี่เป็นตัวอย่างจากร้าน Celiac Supplies ร้านจำหน่ายอาหารสำหรับคนที่แพ้กลูเตน  ในเมืองบริสเบน ออสเตรเลีย (แต่ถ้าคุณซื้อของในร้านด้วย ก็ไม่ต้องเสีย 5 เหรียญนะ) การซื้อของออนไลน์ของชาวออสซี่นับว่าไม่น้อยเลยทีเดียว ข่าวระบุว่ายอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 2,108 เหรียญ (64,500 บาท) ต่อปี และร้อยละ 73 ของคนในกลุ่มอายุ 35 – 44 ใช้บริการนี้ ร้อยละ 69 ของคนในกลุ่มอายุ 25 – 34 ก็นิยมบริการนี้ แม้แต่ในกลุ่มที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ก็ยังมีถึงร้อยละ 40 ที่ช็อปออนไลน์ โดยสิ่งที่นิยมมากที่สุดได้แก่การซื้อทัวร์ จองที่พัก รองลงมาได้แก่ซีดี/ดีวีดีเพื่อความบันเทิง ตามด้วยเสื้อผ้า และเครื่องประดับ     ต่างคนต่างมอง ผู้อยู่อาศัยอพาร์ทเมนท์หรู Haeundae Hyundai I’Park จำนวน 13 คนร่วมกันฟ้องบริษัทก่อสร้างฮุนได ดีเวลลอปเมนท์ โทษฐานที่มาสร้างโรงแรมบดบังทิวทัศน์อันงดงามที่พวกเขาเคยได้เห็น แถมยังทำให้พวกเขารู้สึกถูกคุกคามความเป็นส่วนตัวด้วย วิวที่หายไปนั้นเป็นเพราะการสร้างตึกโรงแรมปาร์ค ไฮแอท ปูซาน ในพื้นที่ฝั่งตรงข้ามที่ห่างจากอพาร์เมนท์ของพวกเขาประมาณ 20 เมตร นอกจากโรงแรมจะบังวิวแล้ว เขาบอกว่าแขกของโรงแรมยังสามารถมองเข้ามาเห็นห้องนอน ห้องนั่งเล่นหรือแม้แต่ห้องน้ำของพวกเขาได้สบายๆ เรียกว่าจะเปลี่ยนเสื้อ ถอดผ้า ก็ต้องคอยระแวงระวังเพราะอาจมีคนจ้องอยู่ ส่วนคนในอพาร์ทเมนท์ก็สามารถมองกลับไปเห็น “ความเป็นไป” ในโรงแรมได้ชัดเจนเช่นกัน บางห้องถึงกับติดป้ายบนหน้าต่างตัวเองทำนองว่า “กรุณาอย่าฟีทเจอริ่งกัน” ฉันเห็นนะ คนกลุ่มนี้ตัดสินใจไปฟ้องศาลหลังจากไม่มีเสียงตอบรับจากเจ้าของอพาร์ทเมนท์ ซึ่งพวกเขามองว่าไม่มีความรับผิดชอบและทอดทิ้งลูกค้าทันทีที่ขายห้องได้ พนักงานบริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์จะออกนาม บอกว่าคนเหล่านี้ไม่น่าจะมาร้องเรียนเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือการสูญเสียวิว เพราะพวกเขารู้ดีอยู่แล้วตั้งแต่ตอนที่มาซื้ออพาร์ทเมนท์ว่าเจ้าของโครงการมีแผนจะสร้างโรงแรม แถมยังบอกว่าที่ออกมาบ่นกันตอนนี้คงเพราะหาเงินมาผ่อนห้องไม่ทัน แถมจะขายก็ไม่ได้ราคาอย่างที่ตั้งใจด้วย ก็ ... นะ ต่างคนต่างมองไปก่อนแล้วกัน //

อ่านเพิ่มเติม >