ฉบับที่ 217 สีทาผนังกันความร้อน

        ภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยซึ่งอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตร ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน และรุนแรง ช่วงเดือนเมษายน หน้าร้อน อุณหภูมิ อาจสูงถึง 45 องศาเลยทีเดียว ภาวะโลกร้อนดังกล่าวทำให้ชั้นบรรยากาศบางลง ทำให้สกัดกั้นรังสีความร้อนที่แผ่มาจากดวงอาทิตย์ได้น้อย        ด้วยอากาศที่ร้อนขึ้น การลดอุณหภูมิสะสมในตัวบ้าน อาคาร ให้ได้มากที่สุดมีความจำเป็นมากเพื่อลดพลังงานที่ใช้สำหรับเครื่องปรับอากาศ นอกจากจะประหยัดพลังงานแล้วยังลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย        หลังคาจะเป็นส่วนที่รับความร้อนหลัก หากลดความร้อนสะสมใต้หลังคาแล้วด้วยแผ่นสะท้อนรังสีความร้อน ฉนวนบนฝ้าเพดานแล้ว ผนังบ้าน อาคาร จะเป็นส่วนที่รับความร้อนรองลงมา สีทาผนังประเภทที่มีความสามารถสะท้อนความร้อนได้จึงมีความจำเป็นที่จะซื้อหามาใช้งาน ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีให้เลือกมากมายหลายระดับราคา บางยี่ห้อมีฉลากเบอร์ 5 การันตีประสิทธิภาพด้วย        ฉลาดซื้อจะเลือกนำเอาสีทาผนังอาคาร ที่มีความสามารถสะท้อนรังสีความร้อนได้ โดยสอบถามร้านค้าที่เป็นที่นิยม สามแห่ง ได้แก่ โฮมโปร บุญถาวร และไทวัสดุ ซึ่งพนักงานได้แนะนำสีที่มีความสามารถดังกล่าว และเป็นที่นิยม ได้มา 6 ยี่ห้อ โดยเลือกสีเป็นแบบกึ่งเงาสีขาว Base A ได้แก่ 1.TOA รุ่น SuperShield Advance2.Captain รุ่น ParaShield Cool max 3.Beger รุ่น BegerCool Diamond Shield4.Jotun รุ่น JOTASHIELD5.Dulux รุ่น Weathershield6.Nippon paint รุ่น WEATHERBOND flex         เบื้องต้น วิเคราะห์ข้อมูลจากฉลากพบว่า มาตรฐานอุตสาหกรรม ที่ตัวอย่างสีได้รับการรับรองจะมีอยู่สองหมายเลข ได้แก่             1.มอก.2321-2549 (สีอิมัลชันทนสภาวะอากาศ) พบทุกยี่ห้อ            2.มอก.2514-2553 (สีอิมัลชันลดความร้อนจากแสงอาทิตย์) พบบางยี่ห้อ         นอกเหนือจากมาตรฐานอุตสาหกรรมที่กล่าวมายังมีสัญลักษณ์ที่รับรอง แสดงบนฉลากอีกหลายอย่างโดยสรุปเป็นตารางได้ดังนี้ แนวทางการทดสอบ        เนื่องจาก ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยห้องปฏิบัติการเคมีวิเคราะห์ เป็นหน่วยงานที่ทดสอบสีตามมาตรฐาน มอก.2321-2549 และ มอก.2514-2553 จึงขอความอนุเคราะห์ส่งทดสอบตัวอย่างสีที่เตรียมไว้ ในบางรายการที่เกี่ยวข้องได้แก่             -   กำลังซ่อนแสง เป็นการทดสอบความสามารถในการทาปิดทับ โดยปรับความหนืดของสีที่เตรียมไว้ให้เท่ากัน แล้วเคลือบฟิล์มสีตัวอย่างบนแผ่นทดสอบขณะเปียกที่ความหนา 100 ไมโครเมตร             -  การสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ (solar radiation reflectance)  ทดสอบตาม JIS R 3106 เตรียมตัวอย่างโดยเคลือบสีตัวอย่างบนกระจกให้มีความหนาขณะแห้ง 300 ไมโครเมตร  การทดสอบความร้อนสะสม และ การผ่านของ แสง/ รังสีความร้อน         ทดสอบโดยใช้ตู้ทดสอบ โดยเตรียมตัวอย่างด้วยการทาสีตัวอย่างด้วยแปรงทาสี 2 ชั้น เว้นระยะเวลาแต่ละชั้นห่างกัน 1 ชม. บนกระจก ขนาด  30x30 ซม. ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทหนึ่งสัปดาห์ โดยยึดแนวคิดตามหลักปฏิบัติของช่างทาสีโดยทั่วไป หลังจากที่ตัวอย่างที่เตรียมไว้แห้งสนิทดีแล้ว นำไปวางบนตู้ทดสอบที่เตรียมไว้ ใช้หลอดฮาโลเจน และหลอดกำเนิดแสงยูวี เป็นแหล่งกำเนิดความร้อน เหนือกระจกที่ทาสีตัวอย่างไว้ แล้ววัดอุณหภูมิภายนอก และภายในตู้ทดสอบ โดยเริ่มจาก แผ่นกระจกเปล่าที่ไม่มีการทาสี เพื่อเป็นตัวควบคุมเปรียบเทียบ ผลของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่เกิดขึ้น กระจกที่ทาสีตัวอย่าง นอกจากการวัดค่าอุณหภูมิแล้ว ยังวัดผลของสเปคตรัมของแสง/ รังสีความร้อน ที่ทะลุผ่านกระจกมาด้วย          ค่าอุณหภูมิแตกต่างที่ใช้ชี้วัดประสิทธิภาพของสีตัวอย่างนั้น ใช้วิธีการดูความสามารถต้านทานการแผ่รังสีความร้อน โดยวัดอุณหภูมิภายในตู้ทดสอบ ณ เวลาเดียวกัน โดยเวลาที่กำหนด จะใช้เวลาที่ได้จากการทดสอบด้วยกระจกใสแล้วทำให้ค่าอุณหภูมิภายในและภายนอกมีค่าเท่ากัน ซึ่งจะอยู่ที่นาทีที่ 8 (ทดสอบที่อุณหภูมิเริ่มต้น 24.5˚C) ตามภาพที่ 3          สำหรับเวลานาทีที่ 8 นั้นอุณหภูมิที่วัดได้จะอยู่ที่ 47.3 ˚C และเมื่อทำการทดสอบที่กระจกทาสีตัวอย่าง หากที่เวลานาทีที่ 8 ตัวอย่างสีใดที่ได้ค่าอุณหภูมิต่ำที่สุด ย่อมมีประสิทธิภาพต้านทานรังสีความร้อนดี         ผลของสเปคตรัมแสง ความร้อน ที่ผ่านกระจกทดสอบเข้ามา จะแบ่งเป็น UV แสงช่วงที่มองเห็น (visible) และ รังสีความร้อน (infrared) ผลที่ได้เป็นดังนี้  ผลการทดสอบ        หลังจากทดสอบทั้ง 3 วิธีแล้ว โดยได้จากการทดลอง ผลของความร้อนสะสม แสง/ รังสีที่ส่องผ่าน และผลทดสอบจาก ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา ได้แก่ กำลังซ่อนแสง และ ค่า % สะท้อนรังสีความร้อน เป็นดังนี้ตารางที่ 2 ผลการทดสอบบทสรุป        จากตัวอย่างสีทั้งหมดลักษณะของเนื้อสี ความเข้มข้น ค่อนข้างใกล้เคียงกัน มีความสามารถในการทาปิดทับได้ดี ทาง่ายพื้นผิวสีที่ได้หลังจากทาด้วยแปรงสองครั้ง เรียบเนียนสวยงาม ผลของกำลังซ่อนแสง จะแสดงผลของการทาปิดทับที่ดี การทดสอบเนื้อสีจะถูกปรับความเข้มข้นให้เท่ากัน หากสีที่ได้รับมาตรฐาน มอก. 2321–2549 จะมีค่าของกำลังซ่อนแสงจะต้องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ซึ่ง ทุกสีตัวอย่างมีค่าของ กำลังซ่อนแสง มากกว่าร้อยละ 80  โดยค่าสูงสุดคือ Nippon paint มีค่า 94.53 %        การสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ ตาม มอก.2514-2553 สีตัวอย่างจะต้องมีความสามารถสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ซึ่งสีทุกตัวอย่างมีความสามารถสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ ได้เกือบ 90 % โดยค่าสุงสุดคือ 91.2 % ได้แก่ TOA และ Nippon paint        ผลการทดลองการสะสมความร้อน และ การผ่านของ แสง/ รังสีความร้อน ที่นาที ที่ 8 หลังจากฉาย แสง/ รังสีความร้อน พบว่าสี Nippon paint จะมีค่าความร้อนภายในตู้ทดสอบ น้อยที่สุด ที่ 33.7 ˚C สอดคล้องกับ ผลของแสง/ รังสีความร้อนที่ส่องผ่านเข้ามาต่ำที่สุด        ผลทดสอบเชิงตัวเลขถือว่า สีตัวอย่างทุกยี่ห้อ มีความสามารถที่ลดความร้อนได้ใกล้เคียงกันมาก สามารถทดแทนกันได้ มีความสามารถลดพลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศได้อย่างแน่นอน เลือกใช้ตามความเหมาะสม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 184 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนมิถุนายน 2559“เนื้อปลาดิบ” ปลอดภัยไม่มีสีเกิดกระแสฮือฮาเป็นข้อถกเถียงกันในโซเชียลมีเดีย  เรื่องของ “เนื้อปลาดิบย้อมสี” ที่มีนักวิชาการมาให้ข้อมูลออกเป็น 2 ฝั่ง โดยฝั่งแรกคือรองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เล่าว่าได้ไปรับประทานอาหารญี่ปุ่นร้านดังแห่งหนึ่ง แล้วสังเกตว่าปลาโอและปลาแซลมอนในร้าน มีสีแดงสดผิดปกติ จึงได้เก็บตัวอย่างมาตรวจสอบ พบว่าเมื่อนำปลาดิบไปแช่น้ำทิ้งไว้ไม่กี่นาทีเกิดมีสีละลายออกมาจากเนื้อปลาชัดเจน ซึ่งข้อความดังกล่าวที่ถูกโฟสในเฟซบุ๊คสร้างความวิตกและสงสัยกับผู้คนที่ได้รับข้อมูลเป็นอย่างมาก ว่ามีการย้อมสีในเนื้อปลาจริงหรือมั้ย และเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือเปล่าอีกด้านคือ อาจารย์ เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว อธิบายถึงสีที่ละลายออกมาจากเนื้อปลาว่า ไม่น่าจะเป็นการย้อมสี แต่เป็นสารโปรตีนธรรมชาติที่อยู่ในเนื้อปลา หรือที่เรียกว่า มายโอโกลบิน (myoglobin)ประเด็นปลาดิบย้อมสีเป็นที่สนใจในวงกว้าง เพราะทำให้คนที่ชอบกินปลาดิบรู้สึกกังวลถึงเรื่องความปลอดภัย อย.ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องอาหารปลอดภัย จึงได้ออกมาทำหน้าที่ โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาดิบจากร้านอาหาร 6 แห่ง เพื่อตรวจหาสีสังเคราะห์ ซึ่งผลที่ได้คือ ไม่พบสีสังเคราะห์ในปลาดิบทั้ง 6 ตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์ ซึ่งจากผลวิเคราะห์ที่ได้ น่าจะช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกอุ่นใจได้มากขึ้น   บังคับ “สีทาบ้าน” เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ลดการใช้สารตะกั่วคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศบังคับให้สีทาบ้าน ทั้งใช้ทาภายในและภายนอก ที่มีส่วนผสมของสารตะกั่ว เป็นสินค้าควบคุมฉลาก คือต้องแสดงปริมาณของสารตะกั่วที่ผสมอยู่ในสีโดยระบุหน่วยเป็น ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม) และหากมีปริมาณสารตะกั่วมากกว่า 100 ส่วนในล้านส่วน ต้องมีการระบุคำเตือนว่า “สารตะกั่วอาจเป็นอันตรายต่อสมองและเม็ดเลือดแดง ห้ามใช้ทาบ้านและอาคาร” ซึ่งรายละเอียดปริมาณสารตะกั่วและคำเตือนต้องใช้ตัวอักษรหนาสีแดง ขนาดไม่ต่ำกว่า 5 มิลลิเมตร บนพื้นสีขาว โดยต้องแสดงไว้ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน สารตะกั่ว เป็นโลหะหนักที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเกิดการสะสม เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง มีผลต่อการทำงานของไต และส่งผลต่อการพัฒนาของสติปัญญา ซึ่งถ้าสีที่มีส่วนผสมของสารตะกั่วถูกนำไปใช้ในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือศูนย์เด็กเล็กต่างๆ อาจส่งผลให้เด็กได้รับสารตะกั่วส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการช้า หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้เด็กป่วยด้วยโรคปัญญาอ่อน   อาหารเสริม-กาแฟลดอ้วน เจอสารอันตรายเพียบ!!!ใครที่ยังหลงเชื่อหลงซื้อบรรดาอาหารเสริม-กาแฟลดความอ้วนอยู่อีกละก็ อ่านข่าวนี้แล้วน่าจะต้องคิดใหม่ ถ้าหยุดซื้อได้ก็ควรหยุด เพราะล่าสุดสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทย์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปิดเผยผลตัวอย่างอาหารและเครื่องดื่มที่อาจจะมีการนำยาแผนปัจจุบันมาผสม ตลอดช่วงปี 2556-2558 จำนวนทั้งหมด 1,160 ตัวอย่าง พบว่ามีมากกว่า 50% ที่พบการปนเปื้อนของสารอันตรายต้องห้ามอย่าง ไซบูทรามีน สเตอรอยด์ หรือแม้แต่ยาเบนโซไดอะซีปีนส์ ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งเป็นยาควบคุม ต้องมีแพทย์เป็นคนจ่ายยาเท่านั้นโดยตัวอย่างที่วิเคราะห์ทั้งหมด 1,160 ตัวอย่าง แบ่งเป็น 1.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 690 ตัวอย่าง ตรวจพบไซบูทรามีน ร้อยละ 20, กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ร้อยละ 43.4, กลุ่มยาสเตียรอยด์ ร้อยละ 3.9 และ กลุ่มยาระบาย ร้อยละ 0.52.กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง 391 ตัวอย่าง ตรวจพบไซบูทรามีน ร้อยละ 14.5 กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ร้อยละ 26.2 กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีนส์ ร้อยละ 0.63.เครื่องดื่ม 49 ตัวอย่าง ตรวจพบกลุ่มยาสเตียรอยด์ร้อยละ 21.4และ 4.อาหารอื่นๆ 30 ตัวอย่าง การที่ผลิตภัณฑ์อาหารนำยาแผนปัจจุบันซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาที่มีการควบคุมการใช้โดยแพทย์หรือเภสัชกรมาใช้เป็นส่วนผสม เมื่อผู้บริโภคหลงกินผลิตภัณฑ์อาหารเสริมดังกล่าวเข้าไป อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพซึ่งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้จากการแพ้ตัวยาดังกล่าว หรือได้รับตัวยาในปริมาณที่มากเกินไปจนเกิดผลข้างเคียง อาหารที่มีการผสมยาแผนปัจจุบันจัดว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ผู้ผลิตและผู้ขายมีความผิดตามกฎหมาย   กุ้งไทยปลอดภัยไม่ฉีดสารเจลาตินสร้างความตื่นตกใจให้กับคนที่ชอบรับประทานกุ้งเป็นอย่างมาก หลังจากที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่ไม่แน่ชัดถึงที่มาที่ไปแต่คาดว่าจะมาจากต่างประเทศ โดยในคลิปเป็นภาพที่ของคนงานในโรงงานคัดแยกกุ้งกำลังฉีดสารบางอย่างเข้าไปในตัวกุ้ง ตามข่าวรายงานว่าเป็นสารหนืดเพื่อช่วยเพิ่มน้ำหนักให้ตัวกุ้งคลิปดังกล่าวสร้างความกังวลและสงสัยต่อผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ทำให้ กรมประมง ที่ดูแลอุตสาหกรรมกุ้งทั้งในประเทศและส่งออกต้องรีบออกมาทำความเข้าใจและยืนยันว่า เหตุการณ์ในคลิปดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยแน่นอน พร้อมการันตีว่าอุตสาหกรรมกุ้งไทยมีระบบการผลิต การตรวจสอบคุณภาพ สารปนเปื้อน และเชื้อโรคอย่างเข้มงวด ก่อนส่งถือมือผู้บริโภค ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่ากุ้งไทยปลอดภัยจากสารปนเปื้อนแน่นอนสำหรับสารที่ฉีดมีลักษณะหนืดคล้ายเจลาติน เรียกว่า Carboxy Methyl cellulose (CMC) แม้จะเป็นสารที่ปลอดภัยต่อการบริโภค เพราะสังเคราะห์จากพืช และใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหลายประเภทเช่น ใช้เป็นสารคงตัวในไอศกรีม ใช้เป็นสารให้ความใสในน้ำผลไม้ ไวน์ เบียร์ แต่การนำมาฉีดในตัวกุ้งเพื่อหวังเพิ่มน้ำหนักถือเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์และไม่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และดูแล้วเป็นการเพื่อต้นทุนซะมากกว่า เพราะต้องใช้แรงงานจำนวนมากเพื่อมาฉีดสารดังกล่าวเข้าไปในตัวกุ้งทีละตัว    สธ.ยืนยันไม่ใช้ “พัดลมไอน้ำ” ใน รพ.หวั่นแพร่เชื้อโรคนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมายืนยันว่า โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่มีการใช้พัดลมไอน้ำทั้งที่ตึกผู้ป่วยนอก (โอพีดี) และหอผู้ป่วย ตามคำแนะนำของสถาบันบำราศนราดูร สถาบันด้านโรคติดต่อและโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลระดับนานาชาติ หลังจากมีข่าวว่าพัดลมไอน้ำในโรงพยาบาลเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคลีเจียนแนร์ ปลัด สธ.ให้ข้อมูลว่า โรคลีเจียนแนร์ แม้จะเป็นโรคที่ทำให้ผู้ที่ป่วยเสียชีวิตได้ แต่ก็ไม่รุนแรงเหมือนโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก และไม่ติดต่อจากคนสู่คน และรักษาให้หายได้เพียง 1 สัปดาห์ก็หายขาด อาการของโรคนี้จะคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ คลื่นไส้อาเจียน แต่หากเชื้อเข้าสู่ร่างกายไปที่ปอด ทำให้ปอดอักเสบ มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย อาจเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต ซึ่งโรคนี้มักส่งผลกับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำและผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง ซึ่งพัดลมไอน้ำที่ใช้เป็นประจำแล้วไม่ได้ทำความสะอาดภาชนะบรรจุน้ำของพัดลมไอน้ำอย่างสม่ำเสมอ อาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อลีเจียนแนร์ ละอองน้ำจากพัดลมจะแพร่กระจายโรคนี้รวมทั้งโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ดังนั้นผู้ป่วยในโรงพยาบาลจึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไปทั้งนี้ สธ. ยังฝากเตือนถึงประชาชนทั่วไปหมั่นดูแลล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศในที่พัก ทำความสะอาดท่อหล่อเย็น หรือ ถาดรองน้ำหล่อเย็นของเครื่องปรับอากาศ อย่าให้มีน้ำขัง เปียกชื้น ควรทำให้แห้ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ส่วนพัดลมไอน้ำให้ล้างภาชนะบรรจุน้ำอย่าปล่อยให้มีตะไคร่น้ำและเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อโรค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 ตะกั่วในสีทาบ้าน “ผู้ผลิตไทยลดการใช้ตะกั่วลง” ตอน 2

ปี 2553 และ ปี 2556 ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ* ได้สำรวจตลาดสีน้ำมันทาอาคาร และส่งตัวอย่างสีเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารตะกั่ว พบว่า ผู้ผลิตสีน้ำมัน ยังมีการใช้ตะกั่วในการผลิตสี โดยเฉพาะสีโทนสดใส ค่อนข้างสูง จากจำนวนตัวอย่าง 120 ตัวอย่าง ในปี 2556 พบว่า ร้อยละ 93 ของกลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน (100 ppm เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจไม่ใช่มาตรฐานบังคับ) ในขณะที่ปริมาณตะกั่วในกลุ่มตัวอย่างโทนสีขาว พบว่า ร้อยละ 61 มีตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm โดยทางนิตยสารฉลาดซื้อได้นำรายชื่อตัวอย่างสี ทั้ง 120 ตัวอย่างไว้ในฉบับที่ 151 กันยายน 2556    และในปี 2558 นี้ ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้สำรวจตลาดสีน้ำมันทาอาคารเป็นครั้งที่สาม เพื่อติดตามสถานการณ์ ซึ่งภาพรวมพบว่า เป็นข่าวดี มีผู้ผลิตสีจำนวน 1 ใน 3 ลดใช้สารตะกั่วในการผลิตสีแล้ว แต่ก็ยังมีบริษัทใหญ่บางแห่งผลิตสีแบบสองมาตรฐาน โดยเลิกใช้ในบางยี่ห้อ แต่ยังคงใช้ในบางยี่ห้อ     โดยฉลาดซื้อได้ลงรายชื่อผลิตภัณฑ์สีน้ำมันที่ตรวจพบ ปริมาณตะกั่วเกิน 100 ppm ในฉบับที่ 172 สำหรับฉบับนี้ จะนำเสนอรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่พบปริมาณตะกั่วไม่เกิน 100 ppm โปรดตรวจดูรายชื่อได้ในหน้าถัดไป     ในส่วนเรื่องฉลากยังพบว่า บางผลิตภัณฑ์มีการหลอกลวงผู้บริโภคโดยระบุฉลากว่า ปราศจากตะกั่ว แต่ผลทดสอบกลับพบมีปริมาณตะกั่วสูงเกินค่ามาตรฐาน แนวโน้มที่ดีขึ้นของฉลากและปริมาณสารตะกั่วเมื่อฉบับที่ 151 กันยายน 2556 ฉลาดซื้อเคยลงข้อมูลเกี่ยวกับฉลากแสดงปริมาณสารตะกั่วไม่ตรงตามจริงว่า มีสีน้ำมัน 29 ตัวอย่างจาก 120 ตัวอย่างที่ติดฉลากปลอดสารตะกั่ว แต่เมื่อพิจารณาปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบในตัวอย่างสีที่มีข้อความบนฉลากดังกล่าว พบว่า มีสีน้ำมัน 17 ตัวอย่างจาก 29 ตัวอย่าง ที่มีสารตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm จึงเห็นได้ว่า ข้อมูลบนฉลากและปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบไม่ตรงกัน ดังนั้นสำหรับฉบับนี้ฉลาดซื้อจะมาอัพเดตข้อมูลล่าสุดที่มูลนิธิบูรณะนิเวศได้ดำเนินการสำรวจอีกครั้งใน 2558 ผลการทดสอบฉลากแสดงปริมาณสารตะกั่วจากทั้งหมด 100 ตัวอย่าง พบว่ามี 26 ตัวอย่างที่แสดงฉลากโฆษณาว่า สีปลอดสารตะกั่ว ซึ่งเมื่อนำไปทดสอบแล้วปรากฏว่าพบปริมาณสารตะกั่วอยู่ระหว่าง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 172 ตะกั่วในสีทาบ้าน “ผู้ผลิตไทยลดการใช้ตะกั่วลง”

ปี 2553 และ ปี 2556 ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ* ได้สำรวจตลาดสีน้ำมันทาอาคาร  และส่งตัวอย่างสีเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารตะกั่ว พบว่า ผู้ผลิตสีน้ำมัน ยังมีการใช้ตะกั่วในการผลิตสี โดยเฉพาะสีโทนสดใส ค่อนข้างสูง จากจำนวนตัวอย่าง 120 ตัวอย่าง ในปี 2556 พบว่า ร้อยละ 93 ของกลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน (100 ppm เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจไม่ใช่มาตรฐานบังคับ) ในขณะที่ปริมาณตะกั่วในกลุ่มตัวอย่างโทนสีขาว พบว่า ร้อยละ 61 มีตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm โดยทางนิตยสารฉลาดซื้อได้นำรายชื่อตัวอย่างสี ทั้ง 120 ตัวอย่างไว้ในฉบับที่ 151 กันยายน 2556    และในปี 2558 นี้ ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้สำรวจตลาดสีน้ำมันทาอาคารเป็นครั้งที่สาม เพื่อติดตามสถานการณ์ ซึ่งภาพรวมพบว่า เป็นข่าวดี มีผู้ผลิตสีจำนวน 1 ใน 3 ลดใช้สารตะกั่วในการผลิตสีแล้ว แต่ก็ยังมีบริษัทใหญ่บางแห่งผลิตสีแบบสองมาตรฐาน โดยเลิกใช้ในบางยี่ห้อ แต่ยังคงใช้ในบางยี่ห้อ ส่วนเรื่องฉลากยังพบว่า บางผลิตภัณฑ์มีการหลอกลวงผู้บริโภคโดยระบุฉลากว่า ปราศจากตะกั่ว แต่ผลทดสอบกลับพบมีปริมาณตะกั่วสูงเกินค่ามาตรฐาน     การทดสอบในปี 2558 นี้ ทางผู้วิจัยได้เลือกสียี่ห้อเดียวกันกับตัวอย่างของ ปี 2553 และ 2556 โดย•    เลือกเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบสารตะกั่วสูงกว่า 100 ppm •    เลือกเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นหลังกลุ่มตัวอย่างของปี 2553 และ 2556•    สียี่ห้ออื่นที่ผลิตโดยผู้ผลิตสีในกลุ่มตัวอย่างของ ปี 2553 และ 2556 รวมทั้งสิ้น 100 ตัวอย่าง(56 ยี่ห้อ จากผู้ผลิต 35 บริษัท) ซึ่งทางฉลาดซื้อจะขอนำเสนอเป็นสองส่วน โดยฉบับนี้จะลงรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่พบปริมาณสารตะกั่วเกินค่า 100 ppm จำนวน 61 ตัวอย่าง และอีก 39 ตัวอย่างซึ่งพบปริมาณตะกั่วไม่เกิน 100 ppm จะนำเสนอในฉบับถัดไป         ทดสอบโดยห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ รับรองมาตรฐานโดยโครงการทดสอบความสามารถการวิเคราะห์สารตะกั่วในสิ่งแวดล้อม (Environmental Lead Proficiency Analytical Testing – ELPAT)  2 แห่ง •    ห้องปฏิบัติการ Certottica Scarl ประเทศอิตาลี •    ห้องปฏิบัติการ AIJU Research Center ประเทศสเปน วิธีวิเคราะห์ CPSC – CH – E1003.09.1 •    ขูดสีจากชิ้นไม้ และใช้กรดย่อยสารตะกั่วในสี•    วิเคราะห์สารตะกั่วในสารละลายด้วยเครื่อง ICP - AES *มูลนิธิบูรณะนิเวศ เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ทำงานเพื่อความเป็นธรรมและความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยศึกษาและติดตามนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรม สถานการณ์มลพิษอุตสาหกรรม และรูปแบบการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน เน้นส่งเสริมความเป็นธรรมในการจัดการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม ธรรมาภิบาล และความพร้อมรับผิดของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นที่ผลกระทบของสารเคมีอันตรายที่เกิดต่อระบบนิเวศน์ ชุมชน และสุขภาพของคนงานงานศึกษาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพิกถอนสารตะกั่วจากสีในเอเชีย (Asian Lead Paint Elimination Project) เป็นความร่วมมือระหว่างเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อเพิกถอนสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (IPEN) และองค์กรภาคประชาสังคมใน 7 ประเทศทั่วเอเชีย ได้แก่ บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา เนปาล อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ และไทย และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน (Switch Asia)องค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติได้กำหนดให้การเพิกถอนสารตะกั่วจากสีเป็นวาระเร่งด่วน โดยจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสี (Global Alliance to Eliminate Lead Paint - GAELP) และกำหนดเป้าหมายให้รัฐสมาชิกทุกประเทศออกกฎหมายห้ามใช้สารตะกั่วในการผลิตสีภายในปี 2563  ล่าสุด ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มออกกฎหมายห้ามใช้สารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีแล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และเนปาล โดยกรมการค้าต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์เตือนผู้ประกอบการไทยให้ปฏิบัติตาม กฎหมายต่างประเทศอย่างเคร่งครัดและพัฒนาปรับปรุงคุณภาพสินค้าของตนอย่างต่อ เนื่องเพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคในการส่งออก เนื่องจากไทยมีมูลค่าการส่งออกสีทาและวานิชไปฟิลิปปินส์เฉลี่ยปีละ 616 ล้านบาท

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 102 ตะกั่วในสีอันตรายที่ห้ามมองข้าม

ทั่วโลกขับเคลื่อนห้ามมีตะกั่วในสีทาบ้านและสีตกแต่งในประชุมสุดยอดแห่งสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโยฮันเนสเบอร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อปี พ.ศ. 2545 รัฐบาลนานาชาติและองค์กรระหว่าง ได้มีมติร่วมกันในการจัดตั้งยุทธศาสตร์สำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างหนึ่งขึ้นมาที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีระหว่างประเทศ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่ายุทธศาสตร์ไซคัม (Strategic Approach to International Organization on Chemicals Management หรือ SAICM) และต่อมาในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลนานาประเทศได้ให้การรับรองยุทธศาสตร์นี้ร่วมกันอีกครั้งในการประชุมระหว่างประเทศเรื่องการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 1 (The 1st International Conference on Chemicals Management: ICCM-1) ณ กรุงดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์   น.ส. วลัยพร มุขสุวรรณ นักวิจัยอาวุโสด้านสารเคมีและของเสียอันตราย จากมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่าขณะนี้รัฐบาลของหลายๆ ประเทศเริ่มปรับนโยบาย มาตรการ และแผนงานการจัดการสารเคมีอันตรายต่างๆ ภายในประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ไซคัม ตัวยุทธศาสตร์นี้มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ต้องการเน้นให้เกิดการจัดการสารเคมีอย่างเหมาะสมตลอดวงจรชีวิตของสารเคมีนั้นๆ และมีเป้าหมายร่วมกันในระดับโลกว่า ภายในปี พ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ. 2020 การผลิตและการใช้สารเคมีจะต้องให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ซึ่งนี่เป็นแนวทางสำคัญที่จะปกป้องสังคมโลกให้ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย ยุทธศาสตร์ไซคัมให้ความสำคัญกับหลักการพื้นฐานสั้น 5 ข้อด้วยกัน คือ 1) การลดความเสี่ยงจากสารเคมีอันตราย 2) การทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและการส่งเสริมองค์ความรู้ต่างๆ 3) การสร้างธรรมาภิบาล 4) การเสริมสร้างศักยภาพและความร่วมมือทางเทคโนโลยี และ 5) การห้ามการขนส่งของเสียอันตรายข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย เธอกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ไซคัมเองยังมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้ทั่วโลกช่วยกันปกป้องสุขภาพของเด็ก สตรีมีครรภ์ คนหนุ่มสาว ผู้สูงอายุ คนยากจน คนงาน และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่เปราะบางทั้งหลายไม่ให้ได้รับอันตรายจากสารเคมีอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้องค์กร Toxics Link (อินเดีย) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนของอินเดีย ร่วมกับเครือข่ายระหว่างประเทศที่ต่อต้านสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่า International POPs Elimination Network (IPEN) ได้เสนอให้รัฐบาลทั่วโลกเร่งมีมาตรการควบคุมการใช้ตะกั่วในสีทาบ้านหรือสีตกแต่งต่าง ๆ ในเวทีการประชุมระดับโลก 2 ครั้งคือ ในการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยด้านสารเคมีครั้งที่ 6 หรือ Sixth Session of International Forum on Chemical Safety (IFCS Forum VI) ระหว่างวันที่ 15-19 กันยายน 2551 ที่กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล และต่อมามีการเสนอในการประชุมระหว่างประเทศเรื่องการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 2 (ICCM 2) เมื่อวันที่ 11-15 พฤษภาคม 2552 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง ความพยายามผลักดันให้มีการควบคุมสารตะกั่วในสีทาบ้านและสีตกแต่งต่างๆ เนื่องจากเห็นว่าตะกั่วที่ผสมอยู่ในสีเหล่านี้เป็นแหล่งแพร่กระจายของตะกั่วสู่เด็กแหล่งใหญ่ที่สุด หลังจากที่ทั่วโลกได้มีมาตรการยกเลิกการใช้ตะกั่วในน้ำมันเชื้อเพลิงไปแล้ว ที่ต้องผลักดันเรื่องนี้เพราะว่า ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศยังไม่มีกฎข้อบังคับที่ควบคุมหรือห้ามการใช้ตะกั่วเป็นส่วนผสมในสี ที่ประชุม ICCM 2 มีมติร่วมกันในการควบคุมสารตะกั่วในสีที่สำคัญ 2 เรื่องด้วยกันคือ 1) มีมติให้บรรจุเรื่องตะกั่วในสีเป็นนโยบายเร่งด่วนใน SAICM และ 2) มีมติให้นานาประเทศสร้างความร่วมมือระดับโลกเพื่อช่วยกันสร้างความตระหนักเรื่องผลกระทบของตะกั่วในสีที่มีต่อสุขภาพของคนและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ให้มีการพัฒนาโครงการป้องกันอันตรายจากตะกั่วในสีโดยหามาตรการหรือสร้างความรู้เพื่อป้องกันสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งสนับสนุนประเทศต่างๆ ให้กำหนดกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องออกมาบังคับใช้ ประเทศไทยมีมาตรการอะไรแล้วบ้าง น.ส. วลัยพร ซึ่งได้เข้าร่วมกับโครงการทดสอบสีของ Toxics Link กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้น รัฐบาลไทยเองก็ได้เข้าร่วมกับการประชุมระหว่างประเทศเรื่องการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 1 และได้ให้การรับรองยุทธศาสตร์ไซคัมด้วย โดยมีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในฐานะศูนย์ประสานงานแห่งชาติของไซคัม ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องนำเอายุทธศาสตร์และหลักการสำคัญที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ไซคัมมาดำเนินการในประเทศด้วย ขณะนี้ประเทศไทยมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2550 – 2554) ซึ่งจัดทำเสร็จแล้ว โดยแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ได้บรรจุเอานโยบายและหลักการสำคัญๆ ของยุทธศาสตร์ไซคัมเข้ามาด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันติดตามต่อไปว่า ประเทศไทยมีการปฏิบัติตามหรือมีการดำเนินมาตรการอะไรในเรื่องนี้บ้าง เพื่อให้สังคมไทยมีความปลอดภัยจากอันตรายของสารเคมีภายในปี 2563 ตามที่ไซคัมตั้งเป้าหมายเอาไว้ สำหรับประเด็นตะกั่วในสีนั้น กรมควบคุมมลพิษในฐานะศูนย์ประสานงานแห่งชาติของ ไซคัมได้จัดประชุมเตรียมความพร้อมและกำหนดท่าทีของประเทศ 2 ครั้ง คือครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2552 และครั้งที่ 2 วันที่ 9 เมษายน 2552 และได้นำประเด็นนี้เข้าปรึกษาหารือในที่ประชุมคณะอนุกรรมการประสานนโยบายและแผนการดำเนินงานว่าด้วยการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2552 เพื่อกำหนดท่าทีของประเทศไทย แต่เนื่องจากมีข้อมูลการใช้สารตะกั่วในการผลิตสีไม่ตรงกัน ที่ประชุมจึงมีมติให้มีการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรงงานผลิตสีว่ามีการใช้สารตะกั่วหรือไม่อย่างไร ล่าสุดนี้คณะอนุกรรมการประสานนโยบายและแผนการดำเนินงานว่าด้วยการจัดการสารเคมีมีการประชุมครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552 ในที่ประชุมครั้งนี้มีการนำเอาผลการประชุมของ ICCM 2 มาพิจารณาเพื่อสนับสนุนให้เกิดการดำเนินการขึ้นในประเทศด้วย ในส่วนของปัญหาตะกั่วในสี ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักรับไปดำเนินการให้เกิดการจัดการตะกั่วอย่างเหมาะสมตลอดทั้งวงจรตั้งแต่การผลิต การใช้ และการกำจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตะกั่วในสี เอกสารอ้างอิง1. SAICM Secretariat, Information bulletin No.1, January 2008.2. เอกสารการประชุมคณะอนุกรรมการประสานนโยบายและแผนการดำเนินงานว่าด้วยการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 3/ 2552

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 102 มีสี (ไม่จำเป็นต้อง) มีเสี่ยง

บังเอิญได้เหมาะเจาะจริงๆ หลังจากที่สมาชิกของฉลาดซื้อได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรทำทดสอบสีทาบ้านดูบ้าง เราก็ได้รับข้อมูลจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ (Ecological Alert and Recovery - Thailand, EARTH) ว่าทางมูลนิธิฯ ได้เข้าร่วมโครงการระหว่างประเทศเพื่อศึกษาการปนเปื้อนของสารตะกั่วในสีตกแต่งและสีทาบ้านใน 10 ประเทศ ซึ่งดำเนินการโดย Toxics Link ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในอินเดีย และเครือข่ายระหว่างประเทศต่อต้านสารพิษ POPs (International POPs Elimination Network, IPEN) โครงการนี้เน้นการทดสอบหาความเข้มข้นของตะกั่วในสีที่ใช้กันอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา เพราะปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่า มีวัตถุดิบที่เป็นอันตรายน้อยกว่าตะกั่วและสามารถนำมาใช้แทนตะกั่วได้ในการผลิตสีได้ แต่ที่ยังไม่ทราบคือมีผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสุขภาพของเรา   ฉลาดซื้อจึงขอนำผลการทดสอบดังกล่าวมาลงให้สมาชิกได้รู้กันก่อนใคร ว่าสียี่ห้อไหนปลอดภัย และยี่ห้อไหนไม่ควรซื้อมาใช้ ในการสำรวจครั้งนี้ที่มีประเทศ 10 ประเทศเข้าร่วมโครงการและส่งตัวอย่างสีไปทดสอบหาสารตะกั่วในห้องปฎิบัติการของประเทศอินเดีย ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา แทนซาเนีย อัฟริกาใต้ ไนจีเรีย เซเนกัล เบลารุส เม็กซิโก และบราซิล การเก็บตัวอย่างสี (ทั้งสีน้ำและสีพลาสติก) ทำในระหว่างเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ถึง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 และมีสีที่ถูกทดสอบทั้งหมด 317 ตัวอย่าง เจ้าหน้าที่ของ Toxics Link ได้เตรียมตัวอย่างก่อนส่งไปทดสอบที่ห้องปฎิบัติการด้วยการทาสีลงบนแผ่นแก้ว ทิ้งไว้ 72 ชั่วโมงให้แห้ง จากนั้นจึงขูดสีที่แห้งแล้วออกมา เพื่อส่งไปยังห้องปฏิบัติการ Delhi Test House สำหรับประเทศไทยนั้นส่งตัวอย่างสีทั้งหมด 27 ตัวอย่าง เป็นสีน้ำมัน 17 ตัวอย่าง สีพลาสติก 10 ตัวอย่าง ยี่ห้อที่มีการเก็บตัวอย่างได้แก่ ทีโอเอ กัปตัน เบเยอร์ โจตัน นิปปอน รัสท์-โอเลียม และเดลต้า ผลทดสอบ ไม่มีสีพลาสติกรุ่นใดมีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 90 ppm (ส่วนในล้านส่วน) พบสีน้ำมันที่มีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 600 ppm ถึง 8 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 17 ตัวอย่าง สีน้ำมันในกลุ่มที่ราคาต่ำกว่า 200 บาท ทุกตัวอย่างมีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 600 ppm สีน้ำมันยี่ห้อ ทีโอเอ เบเยอร์ และโจตัน มีความเข้มข้นของตะกั่วน้อยกว่า 90 ppm ** หมายเหตุ: ตัวอย่างสีที่ทดสอบนั้นอาจจะยังไม่ครอบคลุมยี่ห้อหลักๆ ที่มีในตลาดบ้านเราทั้งหมด แต่ไม่ต้องห่วงเรากำลังส่งตัวอย่างเพิ่มไปยังห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อให้ทดสอบด้วยกรรมวิธีเดียวกันกับที่ทางอินเดียได้ทำไว้ ได้ผลเมื่อไร ฉลาดซื้อจะนำมาลงให้สมาชิกได้ทราบทันที จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในปี 2550 เรามีโรงงานผลิตสีอยู่ทั้งหมด 296 โรง ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 9,300 ล้านบาท ผู้ผลิตสีส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย มีบริษัทผู้ผลิตสี ขนาดใหญ่เพียง 6 ราย ได้แก่ ทีโอเอ อีซึ่นเพ้นท์ นิปปอนเพ้นท์ ไทยคันไซ และบริษัทข้ามชาติอัคโซโนเบิล ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ โจตัน จากประเทศนอร์เวย์ มูลค่าทางการตลาดของธุรกิจสีในประเทศไทยในปีพ.ศ. 2551 อยู่ที่ 24,500 ล้านบาท  ส่วนแบ่งการตลาดของสียี่ห้อต่างๆในประเทศไทย   ยี่ห้อ ผู้ผลิต ร้อยละของส่วนแบ่งตลาด ทีโอเอ ทีโอเอ เพ้นท์ 40 ไอซีไอ อัคโซ โนเบล 15 กัปตัน กัปตัน เพ้นท์ 15 เบเยอร์ เบเยอร์ 8 โจตัน โจตัน ไทยแลนด์ 7 อื่นๆ 15   สถานการณ์สีทาบ้านกับสารตะกั่วในประเทศอื่นเราลองมาดูผลการทดสอบในประเทศอื่นๆ กันบ้าง เผื่อว่าเห็นแล้วจะรู้สึกดีใจเล็กๆ ที่เราเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนของสีที่มีสารตะกั่วเกินต่ำที่สุดในกลุ่ม แต่ความจริงแล้วไม่น่าจะต้องมีผู้บริโภคที่ไหนต้องเสี่ยงกับผลิตภัณฑ์สีที่ไม่ปลอดภัย ....   * มีน้ำมันเคลือบเงา 3 ตัวอย่างรวมอยู่ด้วย** มีน้ำมันเคลือบเงา 4 ตัวอย่างรวมอยู่ด้วย   สีประกอบด้วยอะไรบ้าง สีที่เราใช้อยู่ปัจจุบันจะมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ชนิด คือ 1.ตัวเนื้อสี (Pigment) มีหน้าที่ทำให้เกิดสีที่สวยสดงดงามกับตาของเรา 2.สารยึดเกาะ (Binder) ทำหน้าที่เป็นตัวยึดเกาะกับตัวผนัง พื้นผิว และมีหน้าที่เป็นเนื้อของสี ซึ่งเกรดของสีจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนการผสมตัวสารยึดเกาะลงไปในผลิตภัณฑ์ 3.ตัวทำละลาย (Solvent) ทำหน้าที่ให้ เนื้อสีและกาว เจือจางลง จนสามารถนำมาทาได้ในบริเวณที่กว้างขึ้น ซึ่งถ้าเป็นสีน้ำ ก็ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย ส่วนสีประเภทสีน้ำมัน ก็จะใช้ทินเนอร์เป็นตัวทำละลาย ตัวทำละลายนี้จะระเหยออกไปหลังการทาสี4.ตัวเพิ่มคุณสมบัติต่างๆ (Additive) เพื่อให้สีมีความสามารถที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งปัจจุบัน ตัวนี้คือจุดขายสำคัญที่บริษัทสีแข่งขันกัน เช่น ทนกรดด่าง ทนชื้น ปกปิดรอยร้าว ฯลฯ คำแนะนำสำหรับการเลือกสีทาบ้าน 1.สีทาบ้านมีหลายเกรด ราคาตั้งแต่ถังละ 400 บ. - ถังละ 3,000 บ จึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมเพื่อจะได้งานที่มีคุณภาพดีในราคาประหยัด การเลือกใช้สีว่าจะของยี่ห้อใดนั้นให้เปรียบเทียบที่รุ่นสินค้าของแต่ละยี่ห้อ แทนการมั่นใจในตัวยี่ห้อสินค้า เพราะเมื่อนำมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่นแล้ว จะพบว่าคุณสมบัติไม่ต่างกันมากนัก 2.เลือกใช้สีให้เหมาะสมกับงาน โดยหาความรู้เพิ่มเติมหรือปรึกษาช่าง เช่น ปูนทาสีน้ำ เหล็ก/ไม้ทาสีน้ำมัน เป็นต้น จากนั้นก็ประเมินตัวเองว่า อยากได้สีแบบไหน สีกันร้อน สีเช็ดได้ สีปกปิดรอยแตกลายงา สียืดหยุ่นได้ สีกันคราบน้ำมัน ฯลฯ และต้องการสีที่มีอายุงานกี่ปี 2 ปี 4 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี เมื่อประเมินได้แล้วจึงค่อยหาแคตตาล็อกของบริษัทผู้ผลิตสีมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่น เพื่อให้ได้สีตามที่ต้องการในราคาที่ถูกใจ3. ก่อนลงมือทาสีจริง ควรทดลองทาสีด้วยการเอาสีขนาดบรรจุเล็กๆ มาทาก่อน ถ้าชอบใจค่อยไปซื้อมาเป็นถังใหญ่เพื่อทาจริง เพราะสีจริงจะเพี้ยนไปจากแคตตาล็อกนิดหน่อย อาจจะเพราะรองพื้นหรือสภาพพื้นผิวที่เราจะทา4.เลือกชนิดที่ปลอดสารตะกั่ว ทุกชีวิตในบ้านจะได้ปลอดภัย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point