ฉบับที่ 258 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2565

4 เดือนแจ้งความคดีออนไลน์ 59,846 เรื่อง         นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางดีอีเอสและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์และการสื่อสารดิจิทัล ได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนผ่าน www.thaipoliceonline.com เพื่อช่วยให้ประชาชนได้มีช่องทางร้องทุกข์เพิ่มขึ้น และจากสถิติตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวมีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์ จำนวนถึง 59,846 เรื่อง โดยทางดีเอสไอสามารถอายัดบัญชีผู้กระทำผิดได้เป็นเงินกว่า 121 ล้านบาท         ในส่วนของคดีที่พบมากที่สุด ได้แก่ คดีเกี่ยวกับหลอกลวงทางด้านการเงิน จำนวน 31,047 เรื่อง แบ่งเป็น 3 อันดับแรก ดังนี้  การหลอกลวงให้ทำงานออนไลน์ หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ รองลงมา ได้แก่ การหลอกลวงจำหน่ายสินค้า จำนวน 24,643 เรื่อง การพนันออนไลน์ จำนวน462 เรื่อง ข่าวปลอม จำนวน 239 เรื่อง และล่วงละเมิดทางเพศ จำนวน 136 เรื่อง นั่งแคปกระบะไม่คาดเข็มขัดนิรภัยไม่ผิดกฎหมาย         ย้ำอีกครั้งว่าหลังวันที่ 5 กันยายน 2565 ผู้นั่งรถยนต์เบาะที่ 2 ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยหากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 บาท (พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ 2565 กำหนดให้ผู้ขับรถและผู้โดยสารทุกที่นั่งต้องคาดเข็มขัดนิรภัย) แต่สำหรับกรณีของผู้ที่นั่งในรถกระบะด้านหลังคนขับ (แคป) นายจิรุฒน์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่าจะมีการหารือร่วมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อจัดทำร่างประกาศให้เป็นข้อยกเว้น         รถกระบะนั้น ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนดให้คาดเข็มขัดเฉพาะแถวหน้าเท่านั้น ส่วนแคปไม่ต้องคาดเข็มขัด แต่กำหนดให้ต้องมีผู้โดยสารไม่เกิน 3 คน เพื่อให้ไม่เกิดความแออัดจนเกินไปรวมถึงอันตรายเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วย อย. ยันยังไม่พบการจำหน่ายแป้งฝุ่นเด็กปนเปื้อนแร่ใยหินในไทย         จากที่บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้ประกาศหยุดจำหน่ายแป้งเด็กทำจากทัลคัม (Talcum) ทั่วโลก ภายในปี 2566 เหตุจากการฟ้องร้องจากผู้บริโภคว่า ผลิตภัณฑ์แป้งเด็กที่ทำจากทัลคัมของจอห์นสันนั้น พบการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง         ด้านเภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เผยว่า แป้งฝุ่นโรยตัวมีส่วนประกอบหลัก คือ ทัลคัม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติช่วยดูดซับความชื้น ให้ความรู้สึกสบาย นุ่มลื่นผิว และมีการใช้มาเป็นเวลานาน ทัลคัมหากนำมาใช้ในเครื่องสำอางต้องมีความบริสุทธิ์สูง ไม่มีการปนเปื้อนแร่ใยหิน ในปัจจุบันยังคงเป็นสารที่สามารถนำมาใช้ในเครื่องสำอางค์ได้  ทั้งนี้ ทาง อย. ได้มีการเฝ้าระวังความปลอดภัยสำหรับแป้งฝุ่น ที่อาจมีการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารทัลคัมหลายยี่ห้อ จำนวน 133 ตัวอย่าง (ปี 2563 - 2565) โดยเก็บส่งตรวจวิเคราะห์ จำนวน 20 ตัวอย่าง มียี่ห้อ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 6 ตัวอย่าง สำหรับผลการตรวจวิเคราะห์ทุกรายการยังไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหิน ขอให้ประชาชนมั่นใจ เจ้าของผลงานบนสื่อออนไลน์แจ้งถอดงานได้ทันทีหากพบการละเมิด         นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565  ว่าเพื่อยกระดับของการคุ้มครองงานลิขลิทธิ์บนสื่อออนไลน์ เจ้าของแพลตฟอร์ม อย่างเช่น Facebook Youtube สามารถถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้ทันทีหากได้รับแจ้งโดยเจ้าของผลงาน ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล         ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนยังคงสอดคล้องกับหลักสากลรองรับการเข้าเป็นภาคีการตกลงสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) ที่ประเทศไทยได้ยื่นภาคยานุวัติสารต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าว องค์กรผู้บริโภค ผลึกกำลังค้านควบรวม ทรู-ดีแทค         วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ทางเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อ ศ. คลินิก  นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ   เพื่อคัดค้านการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) เนื่องจากการควบรวมของทั้ง 2 บริษัท ยังมิได้ขออนุญาตจากทางสำนักคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)         ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม  มาตรา 21 อันอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ถูกปิดกั้นทางเลือกการใช้บริการและลดโอกาสของผู้ประกอบการรายใหม่         นอกจากนั้นยังยื่นข้อเสนอขอให้ทางคณะกรรมการฯ เปิดเผยข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์รวมถึงความคิดเห็นของอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ตลอดจนผลการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนได้รับรู้          ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ ไม่มีการอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองที่ให้ กสทช.ต้องทำหน้าที่พิจารณาการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค อย่างรอบคอบ ไม่ใช่แค่มีหน้าที่รับเรื่องเท่านั้น รวมถึงส่งมอบจำนวนผู้เข้าชื่อคัดค้านจาก Change.org/TrueDtac

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องมี “สื่อกับการคุ้มครองผู้บริโภค”

        ชื่อนี้อาจดูแปลกใหม่ไม่เคยได้ยิน แต่ถ้าเป็นสื่อสายสังคม การเมือง เศรษฐกิจ หรือบันเทิง คงคุ้นเคยผ่านตากันมากกว่า ขณะที่ภาพของสื่อมวลชนทุกวันนี้อาจทำให้หลายคนนึกถึง นักเล่าข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักข่าว พิธีกร หรือนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์เท่านั้น แต่จริงแล้วสื่อมวลชนมีความหมายที่น่าสนใจมากกว่าแค่ตัวบุคคลนั่นคือ หมายถึง การกระจายข้อมูลข่าวสารจากบุคคลหนึ่งหรือจากองค์กรหนึ่งไปยังมวลชนจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนรับรู้ได้เป็นการทั่วไป         ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่เข้าถึงสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือ หนังสือพิมพ์ ได้ง่าย เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ทุกครัวเรือนทุกเพศทุกวัย แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันที่ก้าวหน้า สภาพปัญหาของสังคมที่เปลี่ยนไป และการเข้ามาของ Social Media หรือ สื่อออนไลน์ ทำให้สื่อมวลชนหลายแขนงโดยเฉพาะสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือ สื่อสิ่งพิมพ์ ต้องปรับตัวตามให้ทันความเปลี่ยนแปลงไปด้วย           การมาของสื่อออนไลน์หรือสื่อใหม่แบบนี้ ทำให้มิติการนำเสนอข้อมูลข่าวสารปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้มากขึ้น เพราะมีโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยไม่ต้องเปิดโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือพิมพ์แบบสมัยก่อน ส่งผลตรงต่อสื่อหลักที่ถูกลดทอนบทบาท สื่อหลายรายจึงต้องรีบปรับตัวเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ทันต่อเทคโนโลยี สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น          แม้ว่าปัจจุบันภาพรวมของสื่อหลักจะปรับเปลี่ยนบ้างแล้ว แต่รูปแบบการนำเสนอข่าวสารที่เป็นอยู่ก็ยังไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ต่างเน้นประเด็นที่กำลังเป็นกระแสเรื่องใกล้ตัว เรตติ้งดี เช่น ข่าวการเมือง อาชญากรรม และรายการบันเทิง รวมถึงข่าวกระแสสังคม ความเชื่อ ความศรัทธา ส่งผลให้พื้นที่และโอกาสการติดตามประเด็นปัญหาของผู้บริโภคมีน้อย เพราะต้องทำตามนโยบายแหล่งทุนผู้สนับสนุน และหากวิเคราะห์ถึงปัญหาอุปสรรคต่อการทำงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของสื่อมวลชน จะพบว่าเกิดจากนโยบายองค์กร หรือการให้ความสำคัญของแต่ละสื่อว่าเห็นความสำคัญ หรือสนใจประเด็นมากน้อยเพียงใด รวมถึงพฤติกรรมของสื่อมวลชนหรือนักข่าวในปัจจุบันที่ลงพื้นที่น้อย เน้นเก็บข่าวออนไลน์ ตลอดจนประเด็นข่าวสารรายวันที่ไหลไปมาอย่างรวดเร็วทำให้สื่อมวลชนต้องตามให้ทันกระแส ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้สื่อมวลชนสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคได้ไม่เต็มที่ หลายกรณีจึงพบเพียงการรายงานข่าวเหตุการณ์แต่บทบาทเรื่องการตรวจสอบอาจจะมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น         จากข้อจำกัดและอุปสรรคหลายประการ ปัญหาของผู้บริโภคจึงกลายเป็นประเด็นทางเลือกของสื่อมวลชน ทั้งที่หลายกรณีเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ และมีผลกระทบกับประชาชนวงกว้าง เช่น กรณีการละเมิดสิทธิผู้บริโภคจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ หรือล่าสุดกับประเด็นเรื่องระบบขนส่งมวลชน กรณีการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีความซับซ้อน ซึ่งแทบจะไม่เห็นข่าวเชิงลึกแบบนี้ผ่านสื่อกระแสหลักให้เห็นเลย         โดยเฉพาะกรณีปัญหาการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ภายหลังประเด็นข้อถกเถียงของสังคมขยับมาอยู่ที่ราคาค่าโดยสารว่าเท่าไหร่ถึงเหมาะสม เมื่อ กทม. เสนอตัวเลขราคาค่าโดยสารตลอดสายหลังต่อสัญญาสัมปทานให้ BTS อีก 30 ปีอยู่ที่ 65 บาท ขณะที่ตัวเลข 65 บาท ที่ กทม. เสนอนั้นไม่สามารถอธิบายหรือชี้แจงได้ว่ามีหลักคิดคำนวณอย่างไร ทำไมถึงกำหนดราคาที่ 65 บาท ขณะที่กระทรวงคมนาคมเสนอตัวเลขค่าโดยสาร 49.83 บาท และองค์กรผู้บริโภคเสนอตัวเลขค่าโดยสารที่ 25 บาท ซ้ำร้ายผู้แทน กทม. ได้ให้ข้อมูลในการประชุมคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรว่า กรุงเทพมหานครไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลต้นทุน ผลกำไร และรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการคำนวณหาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมต่อคณะกรรมาธิการได้         ยิ่งทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าเหตุใดข้อมูลที่เป็นประโยชน์สาธารณะแบบนี้กลับไม่ถูกขุดคุ้ยหรือเปิดเผยโดยสื่อมวลชน  ทั้งที่สื่อมวลชนควรทำข้อมูลให้ประชาชนเห็นถึงกระบวนการระหว่างทางที่ไม่ชอบมาพากล สะท้อนเรื่องสิทธิของประชาชนที่ถูกละเลย และถูกละเมิดออกมาให้ได้  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนควรได้รู้จากการข้อมูลเชิงลึกหรือตีแผ่ได้ในหลายแง่มุมจากกระบวนการทำงานของสื่อมวลชน แน่นอนว่าความคาดหวังของประชาชนต่างมุ่งตรงไปที่การทำงานของสื่อมวลชน ขณะที่ความพร้อมของสื่อเองยังมีจำกัดเช่นเดียวกัน อีกทั้งปัญหาของผู้บริโภคก็มีความหลากหลายและบางเรื่องเข้าใจยากมีความซับซ้อน แต่อย่าลืมว่าสื่อมวลชนมีต้นทุนทางสังคมสูง หากขยับตัวเกาะติดประเด็นใด ย่อมมีอิทธิพลต่อความคิดและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทุกด้าน         เพราะสุดท้ายแล้ว สื่อมวลชนต้องเป็นผู้นำทางความรู้มากกว่าเพียงตามกระแสในสังคม คือ สื่อมวลชนต้องกล้าที่จะนำเสนอข้อมูลความรู้ ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ และนำความรู้นี้ถ่ายทอดไปยังประชาชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียม ทำเรื่องเงียบให้เป็นเรื่องดัง ทำประเด็นคนสนใจน้อยให้กลายมาเป็นกระแสสังคมให้ได้ นี่แหละ คือ บทบาทของสื่อเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง !!

อ่านเพิ่มเติม >