ฉบับที่ 151 จงกล้าและอย่าให้มันติดอยู่ในใจ

คุณสุนิสา ศิริกุล  หรือคุณครูนิกกี้ สาวเมืองจันท์ ที่ตัดสินใจไปลงหลักปักฐาน ณ ดินแดนใหม่ ขอนแก่น เธอคนนี้เป็นผู้ที่รักในวิชาภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เยาว์วัยและมุ่งหวังอยากให้คนไทยมีความสุขในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ(ไม่ใช่ความกลัวอย่างที่เป็นกันอยู่) และสามารถใช้ภาษานี้สื่อสารได้เป็นอย่างดี  ความมุ่งมั่นนี้นี่เองที่ทำให้เธอและน้องสาวร่วมกันปลุกปั้น English I Like หลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษที่ไม่ฝืนธรรมชาติของการใช้ภาษา เมื่อคิดขยายหลักสูตรในวงกว้างเธอจึงมองหา การทำแฟรนไชส์กับสถาบันสอนภาษาอังกฤษที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง แต่เมื่อได้ลองสัมผัสดู ทำให้เธอเริ่มรู้จักคำว่า การพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เรามาลองติดตามเรื่องราวการต่อสู้ของเธอ เรื่องราวที่ทำให้เธอคิดเสมอว่า “เรื่องผู้บริโภคไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเลย ”   ปัญหาที่เจอคืออะไร คือตอนนั้นจะทำสอนพิเศษภาษาอังกฤษ น้องสาวก็เรียนจบเอกวิชาด้านภาษาอังกฤษ ก็หาประสบการณ์อยู่ต่างประเทศ เราก็จะมาเปิดโรงเรียนสอนพิเศษด้วยกัน ทีนี้เราก็มองว่าแม้เราจะมีความรู้ ความสามารถอยู่ก็ตามแต่เราก็ต้องการคนที่เขาเป็นมืออาชีพมากกว่าในเรื่องของการตลาด ประชาสัมพันธ์ หรือว่าการจัดการอะไรทุกอย่างที่เขามีความพร้อมมากกว่าเรา ก็เลยตัดสินใจเลือกหาเป็นแฟรนไชส์ แล้วก็ไปเจอแฟรนไชส์ของธุรกิจโรงเรียนสอนภาษาแห่งหนึ่ง   โดยหลักการเราเห็นแล้วเราชอบเพราะเขาสอนที่เป็นหลัก Phonics ด้วย ตรงนี้ช่วยแก้ปัญหาการเรียนภาษาอังกฤษของคนไทยได้ตรงจุด ทีนี้ปรากฏว่าในข้อสัญญาต่างๆ ก็จะมีเงื่อนไขที่เขาจะทำงานร่วมกันกับเราว่าจะทำอะไรให้เราบ้าง ยังไง มันก็เริ่มต้นมาตั้งแต่แรก ตั้งแต่เรายังไม่ได้ทำโรงเรียนสอนพิเศษ ขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ มันก็เริ่มไม่ตรงกับตามที่ได้พูดคุยกันไว้ในสัญญา เรื่อยมาจนกระทั่งใช้เวลาประมาณครึ่งปีในการเตรียมการด้านสถานที่ จัดหาบุคลากรต่างๆ เตรียมความพร้อมทุกด้านค่ะ เราก็เห็นว่าเขาไม่ได้มีความพยายามที่จะช่วยเหลือเราตามเงื่อนไข ตามข้อตกลงที่ได้พูดคุยไว้ ก็เริ่มมีปัญหาจนกระทั่งเปิดโรงเรียนสอนพิเศษขึ้นมา ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเช่น เขาจะต้องอบรมความรู้ของเขาให้กับเรา เนื้อหามันค่อนข้างเยอะ สมมติว่าจาก 10 เขาอบรมให้เราแค่ 1 แต่เราจะต้องสอนเนื้อหาให้ครอบคลุมทั้ง 10 เรื่องนั้น แต่อบรมให้เราแค่เรื่องเดียว แต่เวลาเก็บค่าแฟรนไชส์คุณคิดเปอร์เซ็นต์ในแต่ละเดือนคุณคิดทั้งหมด การจัดหาครูก็ไม่หาให้ เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรก็ต้องหาเอง แต่นี่มันเป็นเงื่อนไขนะว่าเขาจะต้องช่วยเราในการสัมภาษณ์ ในการเทรนพนักงานอะไรต่างๆ ทุกอย่างมันก็ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข แม้กระทั่งหนังสือแบบเรียนต่างๆ ที่เขาทำขึ้นมาซึ่งราคากับคุณภาพก็ไม่ค่อยเหมาะสมกัน ก็มีความผิดพลาดเยอะต่างๆ นานา “ที่สำคัญคือเรามองเห็นว่าไม่มีความพยายามที่จะช่วยเหลือกันด้วยความจริงใจ” ซึ่งตรงนี้มันอาจจะช่วยเราไม่ได้มากก็จริง แต่ถ้าเขามีความพยายามที่จะช่วยเหลือเราอย่างที่ได้คุยกันไว้ มันก็โอเค แต่นี่เขาไม่ได้พยายามที่จะช่วยเหลือใดๆ ค่ะ พอถึงเวลาก็พยายามที่จะเก็บค่าแฟรนไชน์ในแต่ละเดือน เราก็เริ่มท้วงติงไปว่าเราจะจ่ายให้แค่ส่วนนี้นะ เฉพาะส่วนที่เราสอนเด็กในเนื้อหาที่เขาได้อบรมมา ส่วนที่เหลือนอกจากนั้นคุณไม่ได้อบรมให้เรา เพราะฉะนั้นเราไม่ยินดีที่จะจ่ายส่วนนั้น ก็เริ่มมีปัญหากันแล้ว เริ่มรู้สึกไม่Happy ต่อกันแล้ว ก็เลยลองพูดคุยกับคนที่ซื้อแฟรนไชส์สาขาอื่นๆ ว่าเขามีปัญหานี้ไหม บังเอิญเราได้โบรชัวร์ของคนที่ซื้อตั้งแต่ก่อนหน้านี้มาก่อนแล้ว มีเบอร์โทร ก็เลยโทรสอบถามไปปรากฏว่าหลายที่เลยที่เขาเลิกทำไปแล้ว เพราะประสบปัญหาต่างๆ ในลักษณะคล้ายๆ กันแบบนี้ ก็เลิกกันไปเยอะแล้ว แล้วรุ่นปัจจุบันที่ทำอยู่ก็มีปัญหาเหมือนกัน แล้วทุกคนก็ได้แต่บ่น แต่ไม่มีใครทำอะไรเลย เราก็เลยเป็นตัวตั้งตัวตีในการที่จะรวมคนที่มีปัญหาเดียวกันนี้มาร้องเรียนร่วมกัน พอดีตอนนั้นได้รู้จักมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคผ่านทางรายการทีวีช่อง 11 ก็เลยลองติดต่อสอบถามมาสุดท้ายก็ได้รับความช่วยเหลือมาเป็นลำดับ และอาจจะเป็นเพราะว่าเราเองไม่ได้มีเงินทุนมากพอที่จะสูญเสียเงินจำนวนนั้นไป เพราะลงทุนมันต้องมีค่าสถานที่อะไรต่อมิอะไรมากมาย ค่าแฟรนไชส์ก็ประมาณเกือบสองแสน ค่าลงทุนด้านอื่นๆ อีก เรียกว่าเราก็ไม่ฉลาดพอแล้วก็ไปไว้ใจเขาด้วย การลงทุนมันเป็นหลักล้าน ซึ่งบอกตรงๆ ว่าเป็นเงินเก็บของเราและครอบครัวที่เอามาช่วยเหลือ นั่นก็ถือว่าเป็นเงินเกือบทั้งหมดของเราเลยที่มี เพราะฉะนั้นเรามีความรู้สึกว่าเราสูญเสียไม่ได้ เลยรวมตัวกันมาเรียกร้องสิ่งที่มันเป็นสิทธิอันชอบธรรมของเรา จนในที่สุดก็สำเร็จได้ด้วยความช่วยเหลือของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตอนแรกก็เกือบจะเป็นคดีฟ้องร้องกัน ที่สุดก็สามารถที่จะไกล่เกลี่ยกันได้แล้วเขาก็ยอมคืนเงินจำนวนหนึ่งที่เป็นค่าแฟรนไชส์ที่เราจ่ายไปเป็นก้อนให้คืนกลับมา ซึ่งทั้งหมด 4 สาขาที่ร้องเรียนกันเข้ามา   คิดว่าสิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการร้องเรียน คือพลังผู้บริโภคไหม ใช่ค่ะ ส่วนที่เราชนะนี่มันมีข้อมูลหลักฐานที่มันชัดเจนอยู่แล้วในความผิดพลาด ความไม่ถูกต้องของเขาด้วย ผลงานการทำงานของมูลนิธิฯ ที่ช่วยเหลือเราอย่างเต็มที่ด้วยในฐานะของผู้มีประสบการณ์ทำงานจริงจังแล้วก็สามารถที่จะช่วยเหลือเราอย่างแท้จริงด้วย เพราะฉะนั้นมันก็มีพลังที่จะต่อรองกับเขา แล้วก็เห็นว่าที่เรารวมกลุ่มกันในการร้องเรียนนั้น เราร้องเรียนอย่างจริงจัง เรามีเป้าหมายในการร้องเรียนที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่ร้องเรียนไปเฉยๆ แต่เราต้องเรียกร้องสิ่งนั้นจริงๆ และเขาเองก็คงเห็นแล้วว่าทุกอย่างนั้นมันเป็นไปได้ยากที่เขาจะชนะ รวมถึงในกรณีที่ผ่านๆ มาคนที่ทำไปแล้วก็เจอปัญหาเหล่านี้ทั้งหมดเลยแต่ไม่มีใครลุกขึ้นมาเรียกร้อง ครั้งนี้คงเป็นครั้งแรกที่เขาได้เจอเหตุการณ์จริงๆ ว่ามีคนลุกขึ้นมาสู้เพื่อสิทธิอันชอบธรรม   ปกติก็ไม่ชอบให้ใครเอาเปรียบหรือเปล่า อาจจะเป็นสิ่งที่เรารับมาโดยไม่รู้ตัวก็ได้ แต่พ่อแม่ก็พยายามที่จะฝึกเราให้มีระเบียบวินัย ให้เป็นคนดีประมาณนี้ ความเข้มงวดในเรื่องของการรักษากริยา มารยาท กาลเทศะกับเราพอสมควร แต่ส่วนเรื่องของการที่จะดูแลเรื่องสิทธิตัวเองคิดว่าอาจจะได้รับจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ข้าง ได้รับจากการชมภาพยนตร์ ส่วนใหญ่จะดูในภาพยนตร์ต่างประเทศ แล้วเราก็สนใจในเรื่องภาษาอังกฤษ เราก็ได้เรียนรู้ส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมต่างประเทศในเรื่องของการที่จะคุ้มครองสิทธิของตัวเอง ต่อหน้าที่ของเราในขอบเขตที่สามารถทำได้   ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเรียกร้องสิทธิให้ตัวเองอย่างไรบ้าง คือในวัยเด็กอาจจะรู้สึกว่าผู้ใหญ่บอกอะไรกับเรานั้น ให้ทำนี้นั้นแล้วเดี๋ยวจะพาไปเที่ยว เราก็รู้สึกคาดหวังกับคำพูดของเขาแล้วว่าเดี๋ยวเราทำตามนี้แล้วเราจะได้ตามนี้ เพราะฉะนั้นเราก็คาดหวังว่าเขาจะทำตามคำพูดที่ได้บอกกับเรา อันนั้นเราเริ่มรู้สึกเรียกร้องแล้วว่าทำตามที่บอกแล้วนะ ทำไมผู้ใหญ่ไม่เห็นทำตามที่พูดเลย ก็เริ่มรู้สึกถึงประเด็นนี้ตั้งแต่เด็กแล้วว่าทำไมมันไม่เป็นแบบนั้น   แล้วคนที่อยู่รอบๆตัวเรา หรือเพื่อนๆ เขารู้สึกว่าเราไม่เหมือนคนอื่นไหม ใช่ค่ะ สามีบอกว่าทำไมไม่ทำ ไม่คิดเหมือนคนอื่นๆ เขาบ้าง(หัวเราะ) ก็เริ่มรู้สึกว่าสังคมเรานั้นไม่ค่อยกล้า ช่างมันเถอะ ปล่อยมันไป แต่เรามองว่าความถูกต้อง สิ่งที่มันควรจะเป็นเราก็น่าจะมีสิทธิที่จะเรียกร้องในการที่จะทำอะไรออกไปได้โดยที่ไม่กระทบกระเทือนหลักการที่ถูกต้อง ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้คนอื่น เรามองว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง มันควรทำ คนอื่นก็เหมือนกันก็ควรทำเพียงแต่คุณไม่กล้าเอง ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยนะคะ เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งนานแล้วนะเป็นวัยเพิ่งทำงานก็นั่งรถทัวร์กลับบ้านต่างจังหวัด ซึ่งก็ดึกแล้วแต่ว่านิสัยของเราค่อนข้างฝึกมาแบบไทยนี้รักสงบ บางทีไม่อยากพูดมาก กลัวว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร รู้สึกกับเราอย่างไร บางครั้งเราอาจลืมมองไปว่านอกจากความรู้สึกของตัวเองแล้ว ความรู้สึกของคนรอบข้างเป็นอย่างไรด้วย อย่างกรณีที่เจอคือมีกลุ่มวัยรุ่นซึ่งก็โตแล้วเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เขาก็นั่งเป็นกลุ่มอยู่บนรถทัวร์ แล้วส่งเสียงดังคุยกันโหวกเหวกโดยที่ไม่ได้นึกเกรงใจคนอื่น ด้วยวัยคะนองก็อาจจะลืมนึกคิดไปว่ามันกระทบกระเทือนคนอื่น ซึ่งช่วงเวลานั้นมันก็ดึกจะเที่ยงคืนแล้ว ทั้งคันรถอยากจะพักผ่อนแต่ว่าไม่มีใครกล้าที่จะลุกขึ้นมาพูด แม้กระทั่งพนักงานบนรถก็ตาม ไม่มีใครกล้าลุกไปบอกให้เขาเงียบเสียง ก็เลยลองให้เวลากับเขาสักพักเดี๋ยวเขาอาจจะหยุดส่งเสียงดัง ปรากฏว่ารอไปสักพัก 15 -20 นาทีก็ยังไม่เงียบ เลยลุกขึ้นไปพูดกับเขาดีๆ ว่า “ขอโทษนะคะ นี่ก็ดึกมากแล้วและคิดว่าทุกคนคงอยากพักผ่อน ขอให้น้องๆ ช่วยคุยกันเบาๆ ช่วยเงียบเสียงด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ” แล้วทุกคนก็ได้เดินทางนอนหลับพักผ่อนไปได้ในที่สุด นั่นก็เป็นตัวอย่างง่ายๆ ว่าถ้าเรากลัวที่จะไม่กล้าพูดไม่กล้าทำอะไร เราก็จะถูกคนอื่นที่บางทีเขาอาจจะไม่รู้ตัวก็ได้ ทำไปโดยไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดี มันก็อาจจะกระทบกระเทือนชีวิตความเป็นอยู่ของเราได้ แต่ถ้าเราลองใช้วิธีการที่มันเป็นมิตรกัน ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นปัญหาความขัดแย้งกันเสมอไป ก็พูดคุยกันตรงนี้มันสามารถที่จะปรับได้ แล้วก็ได้ความสุขร่วมกันได้ในสังคมค่ะ   ฝากถึงบางคนที่อาจจะยังไม่กล้าเรียกร้องสิทธิ เบื้องต้นต้องคิดว่าน่าจะมองก่อนว่าสิ่งที่เราเรียกร้องนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่สิ่งที่ผิด ไม่ผิดต่อกฎหมาย ไม่ผิดต่อศีลธรรม และมันจะเป็นแบบอย่าง เป็นประโยชน์ของเรารวมทั้งกับคนอื่นๆ ด้วย ไม่มีสิ่งที่จะติดค้างคาใจเรา บางทีเราไม่ทำอะไรลงไปแต่เรายังติดใจอยู่แบบนั้นตลอด แล้วเราก็พูดถึงมัน บ่นถึงมันตลอดแต่มันไม่ได้รับการแก้ไข แต่ถ้าเราได้ลงมือทำไปโดยที่เราปรึกษาผู้รู้ ขอความช่วยเหลือ มันก็จะช่วยเราได้ ส่วนใหญ่ที่เราไม่กล้าเพราะเราไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เราไม่เข้าใจ กลัวนั้น กลัวนี่ คือบางทีเรากลัวไปก่อน เพราะฉะนั้นก็หาผู้รู้คอยแนะนำให้คำปรึกษา ซึ่งมีหลายหน่วยงาน หลายองค์กรที่ช่วยเราได้อยู่ ก็มองว่าหนึ่ง มันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง สอง ความกลัวของเรา จะเปลี่ยนความกลัวของเราต้องเปลี่ยนความกลัวเป็นความรู้ ต้องหาข้อมูล หาคำแนะนำ ปรึกษา ช่วยเหลือ และจริงใจกับตัวเองว่าการณ์นั้นเราเป็นผู้ที่ถูกต้องจริงๆ ถ้าเรามั่นใจในสิ่งนี้ก็ให้เดินหน้าเรียกร้องความถูกต้องนั้นให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง และเป็นตัวอย่างให้กับคนอื่นด้วย คนที่คิดไม่ดีเขาจะได้ไม่กล้าที่จะทำแบบนั้นกับคนอื่นๆ อีก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point