ฉบับที่ 150 สุภาพบุรุษจุฑาเทพ: ความเปลี่ยนแปลงและเป็นไปบนยอดปิรามิด

ภายใต้ระบบคิดของสังคมไทยที่แบ่งซอยผู้คนออกเป็นกลุ่มๆ หรือเป็นชนชั้นที่หลากหลายนั้น มักมีความเชื่อกันว่า โครงสร้างของสังคมชนชั้นจะวางอยู่บนลักษณะโครงสร้างแบบปิรามิด กล่าวคือ คนชั้นล่างที่เป็นกลุ่มคนจำนวนมาก มักจะอยู่ตำแหน่งฐานล่าง ในขณะที่บนยอดปิรามิดที่เป็นกลุ่มคนจำนวนน้อย ก็คือบรรดากลุ่ม “ชนชั้นนำ” หรือเป็นพวก “elite” ของสังคม แต่อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นกลุ่มคนที่มีไม่มากนักในเชิงปริมาณ(เมื่อเทียบกับกลุ่มคนชั้นกลางและคนชั้นล่าง) แต่ด้วยความที่เป็น “ชนชั้นนำ” ของระบบ เพราะฉะนั้นเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้ ความเปลี่ยนแปลงนั้นก็มักจะส่งผลกระทบถึงคนที่อยู่ในระดับกลางและระดับฐานล่างของปิรามิดเสมอ ด้วยเหตุฉะนี้ ละครโทรทัศน์จำนวนไม่น้อยของบ้านเรา จึงมีแนวโน้มจะคอยเฝ้าสำรวจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชนชั้นนำอยู่เป็นเนืองๆ เพื่ออย่างน้อยก็ทำให้เราได้ทราบว่า ในแต่ละยุคสมัยนั้น โครงสร้างความสัมพันธ์แบบรูปทรงปิรามิดยังคงดำรงอยู่เหมือนเดิมหรือผันแปรกันไปเยี่ยงไรบ้าง และหนึ่งในละครที่จับยามสามตาเฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงของชนชั้นนำแบบนี้ก็คือ ซีรียส์มหากาพย์ 5 เรื่อง 5 รส อย่าง “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ” ที่ฉายภาพชีวิตของกลุ่มชนชั้นนำของสังคมไทย ผ่านชะตาชีวิตรักของคุณชายทั้งห้า ไล่เรียงจากพี่ชายใหญ่ “ธราธร” “ปวรรุจ” “พุฒิภัทร” “รัชชานนท์” จนถึงน้องชายคนเล็กอย่าง “รณพีร์” ปมชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของบรรดาคุณชายเหล่านี้ ที่รู้จักกันในนาม “ห้าสิงห์แห่งวังจุฑาเทพ” นั้น ก็เริ่มตั้งแต่ “หม่อมเจ้าวิชชากร” บิดาของคุณชายทั้งห้า ได้ผูกพันทำสัญญากับ “หม่อมราชวงศ์เทวพันธ์” แห่งตระกูลเทวพรหมว่า ลูกชายหนึ่งคนของตระกูลจุฑาเทพต้องได้เข้าพิธี่วิวาห์กับลูกสาวคนใดคนหนึ่งของวังเทวพรหม เมื่อท่านชายวิชชากรสิ้นชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุ “คุณย่าเอียด” และ “คุณย่าอ่อน” ก็เป็นผู้ที่สืบทอดรักษาสัจวาจาที่จุฑาเทพได้ให้ไว้ ด้วยการพยายามผลักดันหลานชายแต่ละคนให้ได้สมรสกับธิดาแห่งตระกูลเทวพรหม ที่ด้านหนึ่งบิดาของพวกเธอก็กำลังอยู่ภาวะสิ้นเนื้อประดาตัว และความน่าติดตามของซีรียส์ทั้งห้าตอนก็เกิดขึ้น เมื่อสิงห์หนุ่มจุฑาเทพแต่ละคนก็พยายามหาทางเลี่ยงหลบจากการถูกจับคลุมถุงชน จน “สัญญา” ของจุฑาเทพก็ “ไม่เป็นสัญญา” แบบที่บิดาได้เคยทำไว้ และในท้ายที่สุด คุณชายทั้งห้าก็สามารถลงเอยครองคู่กับผู้หญิงที่ตนได้เลือกไว้แทน ด้วยพล็อตของเรื่องที่กล่าวมานี้ ด้านหนึ่งผู้ชมก็อาจจะสนุกสนานกับกลเม็ดเด็ดพรายของบรรดาคุณชายทั้งห้าที่จะต่อรองและหลบหนีไปจากพันธะสัญญาที่บรรพชนได้ผูกไว้ แต่อีกด้านหนึ่ง ละครก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของกลุ่มชนชั้นนำที่อยู่บนยอดปิรามิดของสังคมไทยได้อย่างน่าสนใจ แน่นอนว่า ละครเองก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า ในกลุ่มชนชั้นนำนั้น ยังมีประเพณีปฏิบัติและระบบสัญลักษณ์บางอย่างที่จะสื่อสารกับคนกลุ่มอื่นๆ ว่า ชนชั้นนำเหล่านั้นมีความแตกต่างและความโดดเด่นเสียยิ่งกว่ารูปแบบการใช้ชีวิตของชนชั้นอื่น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตในวังอันโอ่อ่า วิถีการกินอยู่และอาหารชาววังนานาชนิดที่คุณย่าเอียดและย่าอ่อนบรรจงประดิษฐ์ขึ้นมา ไปจนถึงอาชีพการงานที่บรรดาคุณชายทั้งหลายได้เลือกเป็นสัมมาอาชีวะ ที่ประหนึ่งจะบอกกับใครต่อใครว่า ถ้าศักดิ์ชั้นเป็นคุณชายแล้ว ตัวเลือกของอาชีพที่พึงทำก็ต้องอยู่ระหว่างอาจารย์โบราณคดี นักการทูต หมอ วิศวกร หรือทหารอากาศ อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ในอีกทางหนึ่ง ละครก็ได้บอกกับคนดูด้วยว่า ในท่ามกลางสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอยู่อย่างต่อเนื่องนั้น แม้แต่ในกลุ่มของชนชั้นนำ ก็หนีสัจธรรมที่ว่านี้ไม่พ้น และมีอันต้องลื่นไหลและปรับตัวไปกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วย ตัวอย่างรูปธรรมที่ห้าสิงห์จุฑาเทพสะท้อนออกมาก็คือ เรื่องของการแต่งงานหรือครองคู่ ซึ่งโดยหลักการแล้ว เป็นช่องทางของการประสานผลประโยชน์ในกลุ่มชนชั้นนำเอาไว้ด้วยกัน แต่ก็ดูเหมือนว่า คุณชายทั้งหลายกลับมองว่า ทุกวันนี้การประสานผลประโยชน์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกลุ่มชั้นเดียวกัน หากแต่สามารถจะเกิดขึ้นแบบข้ามชั้นชนที่หลากหลายได้ ไม่ว่าจะเป็นการครองคู่ในศักดิ์ชั้นที่ควรคู่กันอย่างธราธรกับ “หม่อมหลวงระวีรำไพ” หรือความรักกับหญิงที่สูงศักดิ์กว่าของปวรรุจกับ “หม่อมเจ้าหญิงวรรณรสา” หรือความรักที่ลงเอยกันระหว่างชนชั้นนำกับผู้หญิงที่มาจากฐานล่างของปิรามิดอย่างพุฒิภัทรกับ “กรองแก้ว” หรือรักแบบประสานชนชั้นกับชาติพันธุ์ของรัชชานนท์กับ “สร้อยฟ้า” ไปจนถึงความรักที่ข้ามศักดิ์ชั้นมาครองคู่กับชนชั้นกลางแบบรณพีร์และ “เพียงขวัญ” ด้วยโครงเรื่องที่ผูกขึ้นและตั้งคำถามกับวังวนของศักดิ์ชั้นกับความรักที่ปัจเจกบุคคลมีอำนาจตัดสินใจเลือกเองเช่นนี้ ก็ทำให้เราได้เห็นภาพว่า แม้แต่กับวิถีชีวิตของกลุ่มคนซึ่งอยู่บนยอดปิรามิด ก็ใช่ว่าพวกเขาจะประสานประโยชน์เฉพาะในกลุ่มอย่างเดียว หากแต่ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยปกติแล้ว “คำมั่นสัญญา” จัดได้ว่าเป็นคุณค่าหลักในวิถีคิดของชนชั้นนำไทย แต่ในกรณีของห้าสิงห์สุภาพบุรุษจุฑาเทพนั้น แม้แต่กับคุณค่าที่เป็นปราการด่านสำคัญด่านสุดท้ายของชนชั้นนำดังกล่าวนี้ ก็ยังถูกตั้งคำถามเอาไว้ด้วยว่า พวกเขาจะรักษาสัจจะสัญญาแบบนี้ไปได้ถึงระดับใด ด้านหนึ่ง ละครเองก็ได้ให้คำตอบว่า “คำมั่นสัญญา” อาจจะมีได้ก็จริง แต่นั่นก็แปลว่า คู่สัญญาที่เสมอกันด้วยศักดิ์ชั้น ก็ต้องผูกพันธะสัญญาที่เสมอภาคกันเท่านั้น เพราะหากลูกสาวของคุณชายเทวพันธ์อย่าง “มารตี” และ “วิไลรัมภา” กลายเป็นสินค้าที่มีตำหนิจากวังเทวพรหมด้วยแล้ว สัญญาก็สามารถถูกฉีกออกและยกเลิกไปได้ในที่สุด ในทางกลับกัน หากค่านิยมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเรื่องความรัก ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ หรือศักดิ์ศรีลูกผู้หญิงแบบที่หญิงคนรักของคุณชายทั้งห้ายึดมั่นเอาไว้ กลายเป็นคุณค่าที่ทดแทนคำมั่นสัญญาได้ด้วยแล้ว ความชอบธรรมที่ “สัญญาไม่จำเป็นต้องเป็นสัญญา” ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในแวดวงของชนชั้นนำ “เวลาที่ล่วงเลยนั้นทำให้คนเปลี่ยนไป...” ได้ก็จริง ซึ่งก็คงไม่แตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติของกลุ่มคนบนยอดปิรามิด ที่ก็ต้องปรับตัวและเปลี่ยนไปในกระแสของเวลาที่เลยล่วงไปเช่นกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point