ฉบับที่ 257 รู้จักข้าวยีสต์แดงก่อนซื้อกิน

        “ของกิน” นั้นมีทั้งคุณและโทษ ขึ้นกับวิธีการกินทั้งขนาดและปริมาณตลอดจนถึงความถี่และช่วงเวลาที่กิน ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนของสิ่งที่มนุษย์กินเข้าไปคือ ยา ซึ่งในทางวิชาการแล้วถือว่ายาเป็นสารพิษกลุ่มหนึ่งซึ่งมนุษย์สามารถคิดได้ว่า ควรใช้ความเป็นพิษของยาแต่ละชนิดให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษอย่างไร ดังนั้นยาจึงมีประโยชน์เฉพาะในช่วงเวลาสั้นๆ ขณะกำลังเจ็บป่วย แต่เมื่อหายแล้วไม่ควรกินยาอีกเพราะจะเกิดพิษได้         ตัวอย่างยากลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจคือ สแตติน (statin) ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งการสร้างโคเลสเตอรอลในตับ ดังนั้นจึงถือว่า สแตตินเป็นสารพิษ เนื่องจากไปลดการสร้างโคเลสเตอรอลซึ่งเป็นสารชีวเคมีที่ร่างกายสร้างขึ้นใช้เป็นประโยชน์ ได้แก่ การเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของผนังเซลล์ นำไปใช้สร้างเป็นเกลือน้ำดีซึ่งจำเป็นต่อกระบวนการดูดซึมไขมันจากทางเดินอาหาร และเป็นสารตั้งต้นของการสร้างวิตามินดีเพื่อการดำรงชีวิต         จริงแล้วโคเลสเตอรอลมักถูกใช้หมดอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อร่างกายยังอยู่ในวัยเด็กและหนุ่มสาวตอนต้น หลังจากอายุผ่านไปสู่วัยกลางคนซึ่งร่างกายเริ่มมีการสร้างเซลล์น้อยลง จนถึงจุดหนึ่งโคเลสเตอรอลที่สร้างและกินจากอาหารถูกใช้ไม่หมดเหลืออยู่ในกระแสเลือด และเมื่อจังหวะเหมาะที่เกิดความผิดปรกติของเซลล์ที่ประกอบเป็นผนังหลอดเลือดจนส่งผลให้เกิดการตกตะกอนของโคเลสเตอรอล (ในรูป LDL) บนผนังเซลล์จนหลอดเลือดแคบหรือตีบลง ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดช้าลงจนส่งสารอาหารและออกซิเจนแก่กล้ามเนื้อบริเวณนั้นๆ ไม่พอ ถ้าปรากฏการณ์นี้เกิดกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจปัญหาจะใหญ่หลวงนัก ดังนั้นแพทย์จึงจำเป็นต้องใช้ยาเช่น สแตตินยับยั้งการสร้างโคเลสเตอรอลบางส่วนในคนไข้ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดเส้นเลือดตีบที่เป็นภัยคุกคามชีวิต         ผู้บริโภคทั่วไปมักไม่ทราบว่า การสังเคราะห์สแตตินเพื่อใช้เป็นยานั้น เป็นการสังเคราะห์สารเคมีที่มีโครงสร้างทางเคมีเหมือนกับสารธรรมชาติที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิตข้าวยีสต์แดง ดังนั้นในบทความนี้ผู้เขียนจึงหวังให้ข้อมูลเพื่อเป็นข้อเตือนใจผู้บริโภคว่า ควรคำนึงให้หนักเมื่อตัดสินใจซื้อสินค้าข้าวยีสต์แดงมาบริโภค         มีการโฆษณาขายข้าวยีสต์แดงซึ่งผลิตจากมหาวิทยาลัยหนึ่งในราคา 800 บาทต่อ 60 แคปซูล โดยระบุว่าในหนึ่งแคปซูลมีข้าวยีสต์แดง 250 มก. โปรตีนสกัดจากถั่วเหลือง 250 มก. และสารทำให้เกิดเจล  ในส่วนข้อมูลประกอบการโฆษณากล่าวว่า “ข้าวยีสต์แดง คือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักข้าวด้วยยีสต์ราชื่อ โมแนสคัส (ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Monascus purpureus) ซึ่งเป็นยีสต์ราในอาหารชนิดที่ปลอดภัยกินได้ เพราะมีประวัติการใช้ประโยชน์มาหลายพันปี โดยประเทศในแถบตะวันออกเช่น จีน ได้มีการนำเอาเฉพาะส่วนที่เป็นผงสีทำเป็นองค์ประกอบของเครื่องปรุงในการทำหมูแดง เป็ดปักกิ่ง ซอสเย็นตาโฟ เต้าหู้ยี้ ใช้ปรุงเครื่องดื่มเช่น เหล้า เบียร์ น้ำผลไม้ นมเปรี้ยว นอกจากนี้ยังถูกใช้เป็นยาพื้นบ้านและเครื่องสำอาง” ดังนั้นผู้อ่านคงพอสังเกตได้ว่า การอ้างว่าสินค้านี้ปลอดภัยนั้นหมายถึง เมื่อบริโภคตามแบบคนจีนโบราณ ซึ่งว่าไปแล้วคงมีปริมาณของสีแดงที่ได้จากผงข้าวขึ้นราในปริมาณไม่มากนัก         ผู้บริโภคที่สูงอายุหน่อยอาจรู้จักข้าวยีสต์แดงในชื่อ อังคัก (ang-khak) สินค้านี้ซื้อออนไลน์ได้ในราคาถูกกว่าสินค้าที่อยู่ในรูปแคปซูล เช่นข้าวยีสต์แดง 100 กรัม (ยังเป็นเม็ดข้าวขึ้นราแดง) ราคา 42 บาท หรือที่บดเป็นผงแล้ว 500 กรัม ราคา 199 บาท (ซึ่งเหมาะต่อการทำหมูแดงแบบโบราณที่ต่างจากการทำหมูแดงโดยใช้ผงปรุงรสที่ขายในซูเปอร์มาเก็ตซึ่งใช้สีแดงที่สังเคราะห์ทางเคมี) โดยราคานั้นแตกต่างกันไปตามแพลตฟอร์มที่ขายและขึ้นกับว่าใครคือผู้ขาย อย่างไรก็ดีแต่ละแพลตฟอร์มนั้นไม่รับรองคุณภาพและความปลอดภัยใดๆ เนื่องจากสินค้าไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนกับทางราชการ เพราะระบุว่าเป็นเครื่องเทศทั่วไปสำหรับสินค้าข้าวยีสต์แดงที่มีการโฆษณาขายในรูปแคปซูลนั้นต้องขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งยี่ห้อที่ผลิตจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งนั้นมีการอ้างว่า “ได้ทำวิจัยเพื่อคัดเลือกและปรับปรุงสายพันธุ์จนได้เชื้อยีสต์ราโมแนสคัสที่ให้สาร โมนาโคลินเค (Monacolin K) ในปริมาณสูง”         ผู้จำหน่ายข้าวยีสต์แดงออนไลน์ให้ข้อมูลว่า “โมนาโคลินเคเป็นสารยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์โคเลสเตอรอล ส่วนในด้านความปลอดภัยของข้าวยีสต์แดงนั้นแพลตฟอร์มขายสินค้ากล่าวว่า ได้ผ่านการตรวจสอบด้านความปลอดภัยต่างๆ แล้วคือ ทดสอบกับหนูทดลอง ดูผลของสารสีต่อโครโมโซมเม็ดเลือดขาวของคน ทดสอบโดยฉีดน้ำสีเข้าไปในไข่ไก่ฟัก ทดสอบการก่อกลายพันธุ์ มีการตรวจสอบสารพิษของเชื้อรา (อะฟลาทอกซิน และซิตรินิน)” ในประเด็นความปลอดภัยดังที่โฆษณานี้คงเป็นเพียงการทดสอบในลักษณะงานวิจัยในห้องปฏิบัติการแบบแบ่งแยกกันทำงานใครงานมัน ไม่ได้ผ่านในลักษณะกระบวนการทดสอบความปลอดภัยซึ่งเรียกว่า safety decision tree ที่นักพิษวิทยาทั้งหลายรู้จักดี ทั้งนี้เพราะการทดสอบความปลอดภัยอย่างเป็นระบบที่ว่านั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และในความเป็นจริงแล้วโมนาโคลินเค ได้ถูกประเมินความปลอดภัยในการใช้เป็นยาลดโคเลสเตอรอลแล้วโดยมีขายในชื่อสามัญว่า Lovastatin         ดังนั้นในคำโฆษณาที่กล่าวว่า ข้าวยีสต์แดงที่ขายนั้นใช้ยีสต์ราที่ถูกคัดเลือกและปรับปรุงสายพันธ์จนทำให้ได้สารโมนาโคลินเคปริมาณสูง เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าพิจารณามาก เนื่องจากในสหรัฐอเมริกานั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ถือว่า ผลิตภัณฑ์จากข้าวยีสต์แดงบางยี่ห้อเป็นยาที่ไม่ผ่านการอนุมัติ และไม่สามารถขายผลิตภัณฑ์ที่มีโมนาโคลินเคในปริมาณที่ตรวจพบได้สูงในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างถูกกฎหมาย (ถอดความจากส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง Red Yeast Rice ในเว็บของNational Center for Complementary and Integrative Health (NCCIH) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในแนวทางเดียวกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก)         มีการให้ข้อมูลในการโฆษณาอีกว่า “การกินข้าวยีสต์แดงนั้นทำให้ได้กรดอะมิโน 18 ชนิด โดยแบ่งเป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นครบ 10 ชนิด และกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นอีก 8 ชนิด” ประเด็นนี้ผู้บริโภคควรคำนึงว่า ในการโฆษณาใดๆ นั้นสามารถให้ข้อมูลไม่ครบได้โดยไม่ผิดกฏหมาย เช่นในกรณีข้าวยีสต์แดงนั้นไม่ได้บอกว่าน้ำหนักกรดอะมิโนแต่ละชนิดในหนึ่งแคปซูลนั้นเป็นเท่าใดและมีรูปแบบการกระจายของน้ำหนักเป็นร้อยละเท่าไรที่ร่างกายต้องการ แค่เพียงบอกว่า มี ซึ่งหมายความว่า ตรวจพบได้เมื่อวิเคราะห์ ไม่ได้หมายความว่า มีพอแก่ความต้องการของร่างกาย         การโฆษณาว่า “ข้าวยีสต์แดงมีสารไคตินจากเชื้อยีสต์ราแล้วช่วยเสริมสร้างไขข้อของร่างกายและลดการเสื่อมของไขข้อในผู้สูงอายุ มีสาร GABA ช่วยทำให้สมองเกิดการผ่อนคลายและนอนหลับสบาย มีสารไคโตซาน ซึ่งสามารถช่วยดักจับไขมันในร่างกาย มีสารแอนติออกซิแดนท์ในปริมาณที่สูงช่วยปกป้องเซลล์ของร่างกายจากอนุมูลอิสระได้” นั้น ข้อมูลเหล่านี้สามารถสืบค้นได้ในเว็บ PubMed ได้ว่าจริงหรือไม่ ผู้เขียนพบตัวอย่างบทความที่น่าสนใจเรื่อง Red Yeast Rice for Dyslipidemia ตีพิมพ์ในวารสาร Missouri Medicine ของปี 2013 ซึ่งเป็นการทบทวนเอกสารงานวิจัยต่าง ๆ ถึงประโยชน์ของข้าวยีสต์แดงในลักษณะของยา สิ่งที่น่าสนใจในตอนท้ายของบทความกล่าวว่า “มีการโต้เถียงกันของนักวิชาการเกี่ยวกับการทำตลาดของข้าวยีสต์แดงในลักษณะของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะก่อให้เกิดความสับสนทางกฎหมายระหว่างการจัดหมวดหมู่สารที่เป็นอาหารหรือยาตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ กำหนดว่า ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ไม่สามารถจัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้หากมีองค์ประกอบที่ถูกวางตลาดเป็นยา (ซึ่งหมายถึงโมนาโคลินเคซึ่งถูกวางตลาดเป็นยาลดโคเลสเตอรอลที่มีชื่อสามัญว่า lovastatin) ดังนั้นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคือ Cholestin จึงถูกสั่งให้ถอนออกจากตลาดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯในฤดูใบไม้ผลิปี 2001 เนื่องจากมีโมนาโคลินเคสูง”         นอกจากนี้ยังมีคำเตือนจาก NCCIH ของสหรัฐฯ ประมาณว่า อย่ากินข้าวยีสต์แดงเพียงเพื่อเลี่ยงการพบแพทย์ที่ดูแลสุขภาพ อย่ากินเมื่อกำลังตั้งครรภ์ จะตั้งครรภ์ หรือในช่วงให้นมลูก และไม่ว่าในกรณีใดๆ ควรปรึกษาผู้รู้จริง (ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ถึงผลได้และผลเสียก่อนที่จะกินผลิตภัณฑ์นี้ ที่สำคัญสุดๆ คือ ห้ามกินข้าวยีสต์แดงถ้ากำลังกินยากลุ่มสแตตินเพื่อลดโคเลสเตอรอลในเลือด เพราะอาจเกิดการเสริมฤทธิ์ยาจนเกิดอันตราย         นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำทั่วไปจาก NCCIH อีกว่า ถ้ากินผลิตภัณฑ์ข้าวยีสต์แดงแล้วเกิดอาการมากกว่าหนึ่งอย่างร่วมกันคือ ท้องอืด ปวดท้อง ท้องผูก ท้องร่วง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและเป็นตะคริวมากกว่าปรกติ ปัสสาวะสีเข้ม คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย ท้องผูก หมดแรง มองเห็นไม่ชัด ผื่นหรือลมพิษ เวียนศีรษะ ซึ่งเป็นอาการเดียวที่อาจเกิดเมื่อผู้ป่วยกินยากลุ่มสแตติน ผู้บริโภคข้าวยีสต์แดงควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที         ประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นที่วิตกในสหรัฐอเมริกาและยุโรปคือ ในบางสภาวะการผลิตข้าวยีสต์แดงนั้น Monascus purpureus อาจสร้างสารพิษจากเชื้อรา (mycotoxin) ชื่อ ซิตรินิน (citrinin) เมื่อสิ่งแวดล้อมในการเจริญของยีสต์ราเหมาะสม สารพิษนี้ก่ออันตรายต่อไต ความกังวลนี้จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีการห้ามการบริโภคข้าวยีสต์แดงในลักษณะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในบางประเทศทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทั้งนี้เพราะเป็นไปได้ยากที่จะมีการตรวจวิเคราะห์สารพิษเพื่อควบคุมคุณภาพการผลิตข้าวยีสต์แดง อันมีสถานะเป็นเพียงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งมีการควบคุมทางกฏหมายที่ไม่เคร่งครัดนัก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 รู้เท่าทันยาลดไขมัน

มีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ยาลดไขมันโดยเฉพาะกลุ่มยาสแตตินว่า จะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงจากยา ซึ่งมีอันตรายกว่าไขมันในเลือดสูง ทำให้เกิดการสะสมไขมันในตับ สมองเสื่อม มะเร็ง เป็นต้น  ความวิตกกังวลเหล่านี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ เป็นมากแค่ใด เรามารู้เท่าทันกันเถอะยาลดไขมันคืออะไรยาลดไขมันที่รู้จักกันในชื่อ สแตติน (statins) นั้นคือ Hydroxymethyl glutaryl coenzyme A reductase (HMG-CoA) inhibitors เป็นกลุ่มยาลดไขมันที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกมานานกว่า 20 ปี ในท้องตลาดมียาสแตติน 6 ชนิดได้แก่ pitavastatin, atorvastatin, rosuvastatin, pravastatin, simvastatin และ fluvastatin  ยา pitavastatin เป็นยาที่นิยมใช้ในผู้ป่วยเอเชีย  มีหลักฐานชัดเจนว่า การรักษาด้วยยาสแตตินมีผลในการลดการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมีหลักฐานชัดเจนว่า การรักษาด้วยยาสแตตินมีผลในการลดการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยจากโรคหัวใจและหลอดเลือดยาสแตตินจะยับยั้ง HMG-CoA ซึ่งไปลดการสร้างโคเลสเตอรอลในร่างกาย ยาสแตตินจะช่วยในการลดระดับของไขมัน LDL-C (low density lipoprotein cholesterol) ในเลือด ร้อยละ 20-50 และลดไตรกลีเซอไรด์ ร้อยละ 10-20  และช่วยเพิ่ม HDL-C (high density lipoprotein cholesterol) ร้อยละ 5-10 ผู้อ่านคงทราบกันดีว่า ไขมัน LDL และ ไตรกลีเซอไรด์นั้นเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและหัวใจ ส่วนไขมัน  HDL นั้นเป็นไขมันที่ดี ช่วยป้องกันหรือยับยั้งไม่ให้ไขมันที่ไม่ดีนั้นเกิดผลเสียต่อร่างกายข้อดีของการใช้ยาสแตตินมีหลักฐานบ่งชี้ว่า การรักษาด้วยยาสแตตินนั้นมีผลดีต่อหัวใจและหลอดเลือด ในบทความทบทวนของคอเครน ฉบับเดือนมกราคม ค.ศ. 2013 จากการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม 18 การทดลอง จากผู้เข้าร่วมการวิจัย 56,934 ราย พบว่า การรักษาด้วยสแตตินลดการตายลงจากทุกสาเหตุ ลดอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ทำให้เสียชีวิตและไม่เสียชีวิต และลดอุบัติการของโรคหลอดเลือดในสมองที่ทำให้เสียชีวิตและไม่เสียชีวิตนอกจากนี้ The Cholesterol Treatment Trialists’ (CTT) Collaboration in 2010 ได้ทำการวิเคราะห์อภิมาณ (meta-analysis) การทดลอง 26 รายงาน มีผู้เข้าร่วมการวิจัยกว่า 170,000 ราย ระยะเวลาการศึกษาเฉลี่ยเกือบ 5 ปี ก็พบว่า มีการลดลงโดยรวมของการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุร้อยละ 10 ต่อการลดลงของ LDL-C ทุก 1.0 mmol/L รวมทั้งการลดลงของอาการผิดปกติของหลอดเลือดสำคัญอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่ หัวใจขาดเลือด และหลอดเลือดในสมองตีบ  ด้วยหลักฐานดังกล่าว ทำให้สมาคมหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา และสมาคมหัวใจวิทยาแห่งสหภาพยุโรปได้กำหนดให้การรักษาด้วยสแตตินเป็นแนวทางมาตรฐานในการรักษาผลข้างเคียงของยาลดไขมันยาลดไขมันมีผลข้างเคียงต่อกล้ามเนื้อ อาการปวดกล้ามเนื้อเป็นอาการที่พบมากที่สุด ประมาณร้อยละ 9.4 ของผู้ใช้ยา ยาลดไขมันอาจทำให้เอนไซม์ของตับสูงขึ้น ร้อยละ 1-3 ของผู้ป่วย แต่จะพบในช่วงสามเดือนแรกเท่านั้น และไม่มีผลต่อการทำงานของตับในระยะยาวยาลดไขมันอาจมีผลต่อการเป็นเบาหวาน ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณของยาที่ใช้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเบาหวานจะได้รับประโยชน์จากยาสแตตินในการป้องกันความเสี่ยงจากโรคหัวใจและหลอดเลือดยาลดไขมันไม่มีผลในการทำให้เกิดมะเร็งเพิ่มขึ้น และไม่ทำให้เกิดอาการสมองเสื่อมในการใช้ระยะยาว แต่กลับพบว่าช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นอัลไซเมอร์โดยสรุป ยาลดไขมันมีประโยชน์ ป้องกันการเสียชีวิตและเจ็บป่วยจากโรคหัวใจและหลอดเลือด อาจมีผลข้างเคียงบ้าง แต่โทษที่ไม่สามารถลดไขมันในเลือดได้นั้นจะเป็นอันตรายมากกว่าผลข้างเคียงจากยา  

อ่านเพิ่มเติม >