ฉบับที่ 141 หงส์สะบัดลาย : เพราะการเมืองไม่เข้าเพศใดออกเพศใด

สิ่งที่เรียกกันว่า “การเมือง” นั้น มักถูกเชื่อกันมานานแสนนานแล้วว่า “การเมือง” เป็นเรื่องที่อยู่นอกบ้าน เป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายและไกลตัว และเป็นเรื่องที่เราจะเห็นแต่ภาพของบุรุษเพศที่มาต่อสู้ฟาดฟันอำนาจกันบนเวทีของสภาผู้ทรงเกียรติ แต่มิใช่พื้นที่ที่สตรีเพศจะสามารถแทรกตัวเข้าไปยุ่งได้เลย แต่อันที่จริงนั้น ความเชื่อดังกล่าวอาจเป็นเพียง “ความเข้าใจผิด” มากกว่า เพราะเอาเข้าจริง ๆ แล้ว แม้จะซ้ำซากน่าเบื่อ แต่ “การเมือง” ก็อาจมิใช่เรื่องที่ไกลตัว หรืออยู่แต่นอกปริมณฑลของบ้านและครอบครัวเพียงอย่างเดียว ยิ่งหากเป็นตัวแปรเรื่องเพศสภาพของความเป็นหญิงและชายด้วยแล้ว “การเมือง” อาจจะไม่เลือกจำแนกว่า เป็นของเพศใดเพศหนึ่งเสียด้วยซ้ำ ไม่ต่างจากตัวละครอย่าง “เนติมา” ที่ชีวิตต้องมาผกผัน เพียงเพราะเหตุผลทาง “การเมือง” ที่นักการเมืองกังฉินสุดขั้วอย่างนายพงศ์เลิศได้ฆ่าปิดปากบิดาและมารดา จนตัวเธอต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปอยู่ฝรั่งเศสอันเป็นประเทศซึ่งกล่าวกันว่าคือจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยโลก และเธอก็ต้องพลัดพรากจากยศวีร์ผู้เป็นน้องชาย ตั้งแต่ที่ทั้งคู่ยังเยาว์วัยอยู่   แต่แม้จะหนีไปแดนไกลอีกฟากฝั่งของโลกแล้วก็ตาม การเมืองก็ยังตามไปหลอกหลอนรังควานเธอ เพราะนายพงศ์เลิศก็ยังไล่ล่าส่งมือปืนไปหมายสังหารเธอถึงที่โน่น และทำให้เธอต้องว่าจ้าง “ระบิล” พระเอกของเรื่องมาเป็นบอดี้การ์ดประจำตัว จนกลายเป็นปัญหารักสามเส้าในกาลถัดมา เมื่อจนตรอกจนไม่สามารถหนีต่อไปได้อีกแล้ว ในที่สุดนาง “หงส์” อย่างเนติมาจึงคิดที่จะ “สะบัดลาย” ออกมาบ้าง และเพราะเธอต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดก็ด้วยเหตุผลทางการเมือง เมื่อเนติมา (หรือชื่อที่ผู้เขียนบทจงใจให้มีนัยยะว่าความถูกต้องทางกฎหมาย) ตัดสินใจกลับเมืองไทยอีกครั้ง ก็เพื่อที่จะเผชิญหน้ากับการเมืองซึ่งเธอพบแล้วว่า ไม่มีวันที่จะวิ่งหนีไปพ้นได้ ก็เหมือนกับที่เนติมาได้พูดกับนายพงศ์เลิศเมื่อต้องมาพบหน้ากันเป็นครั้งแรกว่า “สิบปีที่ผ่านมา ฉันมีลมหายใจอยู่ก็เพื่อวันนี้ วันที่ฉันจะกลับมาทวงคืนความชอบธรรมให้กับชีวิตคุณพ่อคุณแม่ของฉัน บางคนอาจจะคิดว่าเวรกรรมเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ฉันว่ามันเป็นเรื่องจริงที่คนก่อไม่มีสิทธิปฏิเสธ...” เพราะฉะนั้น จาก “สองมือที่ดูนุ่มนวลอ่อนโยน” และ “สองมือที่ดูช่างบอบบางอย่างนั้น” เนติมาก็เลยหันมาฝึกซ้อมยิงปืนแบบบุรุษเพศ มุ่งมั่นหาหลักฐานในคดีเก่าๆ ของบิดามารดา และสวมบทบาทนักต่อสู้ที่ยืนหยัดเพื่อทวงความยุติธรรมกลับคืนมาสู่ครอบครัวของเธอให้ได้ และในครั้งนี้เอง เนติมาก็ต้องมีบทเรียนเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งว่า การเมืองที่เธอเข้าไปต่อสู้อยู่นั้น ยังทรงอำนาจเข้ามากำหนดเรื่องชีวิตส่วนตัวได้ ขนาดที่สามารถสะบั้นความรักระหว่างเธอกับศิวัชที่คบหากันมาตั้งแต่อยู่ฝรั่งเศส ในขณะที่ผู้ชมเห็นภาพชีวิตของเนติมาที่ดำเนินไปในพื้นที่ทางการเมืองอยู่นั้น ละครก็ได้ฉายภาพอีกมุมหนึ่งว่า ไม่ใช่เพียงแค่เนติมาเท่านั้นที่ต้องเข้ามาสู่วังวนของอำนาจและการเมืองอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แม้แต่ตัวละครผู้หญิงคนอื่น ๆ ในท้องเรื่อง ก็ต้องโคจรเข้าสู่วัฏจักรแห่งอำนาจการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ดูเหมือนว่าเส้นที่ผู้หญิงเหล่านั้นจะเลือก ก็มักเป็นการยอมจำนนต่ออำนาจแห่งการเมืองที่แม้จะไม่ชอบธรรมก็ตาม เริ่มต้นจากเพื่อนรักของเนติมาอย่างขวัญชนกและคุณเจือจันทร์ผู้เป็นมารดานั้น เพราะรั้วบ้านที่อยู่ติดกัน ทำให้ได้รู้เห็นเบื้องหลังการตายของพ่อแม่เนติมาโดยบังเอิญ เธอทั้งสองจึงถูกอำนาจของนายพงศ์เลิศและลูกชายจับขังพันธนาการไว้ในบ้าน และต้องคอยรับใช้พวกเขาจนแทบจะไม่เห็นเดือนเห็นตะวันที่อยู่ภายนอกบ้านของตนเองได้เลย หรืออนงค์ผู้เป็นคนรักของยศวีร์ ก็ถูกหลอกให้ต้องเข้ามาพัวพันกับวงจรการเมือง และเป็นหมากตัวหนึ่งในเกมที่พงศ์เลิศใช้ล่อหลอกเนติมาและน้องชายติดกับ จนในที่สุดอนงค์ก็ต้องสูญเสียบิดาไปในตอนท้าย หรือชลกรผู้เป็นภรรยาเก็บของนายพงศ์เลิศ ที่เพราะอยากมีอยากได้ในลาภยศ จึงยอมตกเป็นเครื่องมือของพงศ์เลิศที่ใช้เดินเกมทำลายคู่แข่งทางการเมือง กว่าที่ตอนท้ายจะเรียนรู้ว่า ในเกมดังกล่าวนี้พงศ์เลิศต่างหากที่เป็นหมากที่น่ากลัวและอำมหิตกว่าหมากตัวอื่นๆ ในกระดาน ตัวละครหญิงหลายๆ คนเหล่านี้ ในท้ายที่สุด ก็ได้เรียนรู้สัจธรรมความจริงที่ไม่ต่างจากเนติมาว่า แม้จะอยู่เฉยๆ ที่บ้าน การเมืองก็ยังเข้ามาเกี่ยวพันวนเวียนกับชีวิตของพวกเธอ หากพวกเธอไม่เข้าไปจัดการอะไรเสียบ้าง การเมืองก็จะย้อนกลับมาจัดการกับชีวิตของตนอยู่ดี เพราะฉะนั้น ในขณะที่เนติมาได้ลุกขึ้นมาเป็นแถวหน้าในการเรียกร้องต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางการเมืองแล้ว ตัวละครหญิงที่เหลืออย่างขวัญชนก เจือจันทร์ และอนงค์ จึงต้องเข้ามาเล่นบทบาทเป็นกำลังสมทบในเวทีต่อสู้ทางการเมืองด้วยเช่นกัน รวมไปถึงตัวละครอย่างชลกรเอง ที่ท้ายสุดก็เลือกปลิดชีวิตของนายพงศ์เลิศเพื่อปลดพันธนาการของตนจากอำนาจอันชั่วร้ายของเขา และที่น่าสนใจยิ่งก็คือ เมื่อด้านหนึ่งตัวละครหญิงในเรื่องถูกผลักให้เข้ามาสู่พื้นที่สาธารณะทางการเมืองกันมากขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง ละครก็ได้ฉายภาพให้เห็นในมุมกลับกันว่า บรรดาบุรุษเพศที่เคยเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองมาก่อนนั้น ก็จำต้องมาเรียนรู้บทบาทในพื้นที่ส่วนตัวอย่างกิจกรรมในบ้านและครัวเรือนกันบ้าง ก็เหมือนกับหลายๆ ฉากในท้องเรื่อง ที่เราจะเห็นบอดี้การ์ดมือหนึ่งอย่างระบิลวางอาวุธปืน แล้วหันหน้าเข้าครัวทำเค้กนานาชนิดและทำอาหารคาวหวานสารพัน หรือรู้จักที่จะช่วยนางเอกเลือกเสื้อผ้าชุดต่าง ๆ หรือแม้แต่ลงมือปลูกดอกไม้แต่งสวน อันเป็นการทดลองสลับบทบาทกันเล่นระหว่างหญิงชายและการมีชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะและส่วนตัวของบ้าน ทุกวันนี้ ในโลกความจริง เราก็เห็นภาพของผู้หญิงเข้ามาโลดแล่นในพื้นที่การเมืองเรื่องสาธารณะกันมากขึ้น หรือแม้แต่การขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของคณะผู้บริหารประเทศไปแล้ว คำถามที่น่าคิดต่อจากนี้ไปคงไม่ใช่ว่า การเมืองจะเป็นเขตปลอดจากผู้หญิง หรือผู้หญิงจะปลอดจากเรื่องการเมือง แต่อาจต้องตั้งคำถามเสียใหม่ว่า แล้ว “หงส์” ที่กำลัง “สะบัดลาย” อยู่นั้น จะสร้างสรรค์พื้นที่ของสถาบันการเมืองต่อไปอย่างไร  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point