ฉบับที่ 273 อ่านหนังสือผ่านแอปพลิเคชันลัดกับ “สรุปให้อ่าน”

        ปฏิเสธไม่ได้ว่าการอ่านหนังสือเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มพูนและพัฒนาความรู้ของทุกคนตั้งแต่เกิด ควบคู่ไปกับการสะสมจากการเรียนรู้และจากการสั่งสอนจากบุคคลรอบข้าง จากข้อมูลสถิติย้อนหลังของงานหนังสืออย่างมหกรรมหนังสือระดับชาติ ในปี 2562 จัดที่ ‘อิมแพ็ค เมืองทองธานี’ มีบูทหนังสือ 888 บูท ผู้เข้าร่วมงาน 937,877 คน ยอดขายอยู่ที่ 250,301,842 บาท ในปี 2563 จัดที่ ‘อิมแพ็ค เมืองทองธานี’ มีบูทหนังสือ 746 บูท ผู้เข้าร่วมงาน 556,053 คน ยอดขายอยู่ที่ 192,005,641 บาท ในปี 2564 จัดในรูปแบบออนไลน์ และในปี 2565 จัดที่ ‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์’ มีบูทหนังสือ 819 บูท ผู้เข้าร่วมงาน 1,355,893 คน ยอดขายอยู่ที่ 347,331,734 บาท         จากข้อมูลสถิติจะเห็นได้ว่าคนไทยไม่ได้อ่านหนังสือน้อยลงและยังคงชื่นชอบการอ่านกันอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกันกลุ่มที่ไม่ได้ชื่นชอบการอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ หรือกลุ่มคนที่ไม่มีเวลา หรือกลุ่มคนที่ไม่มีทุนทรัพย์มากพอ แต่ใจรักที่จะเรียนรู้ผ่านตัวหนังสือก็มีอยู่จำนวนไม่น้อยเช่นกัน ลองมาดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “สรุปให้อ่าน” นี้กันดู         แอปพลิเคชัน “สรุปให้อ่าน” มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้ โดยตั้งใจทำให้การอ่านหนังสือหนึ่งเล่มเป็นเรื่องง่าย นำความรู้ในแต่ละเล่มมาย่อยในรูปแบบง่ายๆ สรุปเรื่องน่ารู้ให้อยู่ในกระดาษหนึ่งใบ เพื่อประหยัดเวลา แต่ยังได้ข้อมูลความรู้ได้อัดแน่น จะแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ แบบอ่านสรุป ซึ่งเป็นการสรุปหนังสือด้วยภาพที่เข้าใจง่าย อ่านจบใน 8 นาทีต่อเล่ม และแบบฟังผ่าน Podcast ซึ่งสรุปสาระสำคัญของหนังสือผ่านเสียง ฟังจบใน 8 นาทีต่อเล่ม         เมื่อดาวน์โหลดมาไว้บนสมาร์ทโฟนเรียบร้อยแล้ว ขั้นแรกให้สมัครสมาชิกโดยใช้อีเมล เมื่อเข้าไปภายในแอปพลิเคชันจะเห็นเมนู 5 หมวด ได้แก่ หมวดหน้าหลัก หมวดหมู่ หมวดคอร์ส หมวดชั้นหนังสือ และหมวดบัญชี ซึ่งแต่ละหมวดมีรายละเอียดดังนี้ หมวดหน้าหลัก จะแนะนำหนังสือที่น่าสนใจและเป็นที่นิยมในแต่ละสัปดาห์ หมวดหมู่ จะแบ่งหมวดหมู่หนังสือเพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันเลือกเฉพาะหัวข้อที่สนใจ ซึ่งมีอยู่ 10 หมวด ได้แก่ หมวดจิตวิทยาพัฒนาตนเอง หมวดการศึกษา หมวดการเงินการลงทุน หมวดวิทยาการและเทคโนโลยี หมวดอัตชีวประวัติและชีวประวัติ หมวดอาหารและสุขภาพ หมวดความรู้ทั่วไป หมวดแม่และเด็ก หมวดบริหารและการตลาด และหมวด HOW TO ส่วนหมวดคอร์ส จะเป็นการเรียนออนไลน์ เพื่อพัฒนาตนเองอย่างเข้มข้น และหมวดชั้นหนังสือ จะเป็นส่วนที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันเลือกหนังสือที่สนใจเข้าชั้นหนังสือส่วนตัว         ในรายละเอียดของหนังสือหนึ่งเล่ม จะบอกถึงชื่อนักเขียน สำนักพิมพ์ จำนวนผู้อ่าน ชื่อผู้สรุป ข้อมูลสรุปที่นำเสนอเป็นอินโฟกราฟฟิก ในกรณีที่หนังสือเล่มนั้นมี Podcast ก็จะปรากฎสัญลักษณ์ Play ให้เป็นตัวเลือกเพิ่มเติม เมื่อผู้อ่านรู้สึกชื่นชอบหนังสือเล่มใด ให้กดสัญลักษณ์รูปหัวใจที่อยู่ด้านขวามือ หลังจากนั้นแอปพลิเคชันจะบันทึกหนังสือเล่มนั้นไปวางไว้บนหมวดชั้นหนังสือในเมนูหนังสือที่ชื่นชอบทันที         เมื่อหลายคน ไม่มีเวลาอ่าน อ่านไม่เคยจบ อ่านไม่เข้าใจ ฯลฯ แต่อยากได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แอปพลิเคชัน “สรุปให้อ่าน” ตอบโจทย์ได้ดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 กาลครั้งหนึ่ง...ที่ “Me Books”

        ช่วงเทศกาลสัปดาห์หนังสือมาเยือนอีกครั้ง หลายคนเฝ้ารอที่ได้ไปเดินเลือกซื้อหนังสือโปรดและเฝ้ารอพบปะพูดคุยกับเหล่านักเขียนทั้งหลายกันอย่างใจจดใจจ่อทีเดียว ผู้เขียนเป็นหนึ่งในนั้นที่ต้องการเดินชมเหล่าหนังสือด้วยความสุขใจ เพื่อเลือกซื้อตามรายการที่ได้รวบรวมไว้เช่นกัน แต่ครั้งนี้พิเศษหน่อยตรงที่ต้องพาเด็กน้อยติดตามไปด้วย ดังนั้นโซนที่ต้องไปเยือนอย่างแน่นอน หนีไม่พ้นโซนหนังสือนิทาน การ์ตูน แบบเรียนพัฒนาการสำหรับเด็กน้อย         เมื่อเห็นโซนหนังสือนิทานของเด็กน้อย ทำให้นึกถึงแอปพลิเคชันหนึ่งที่ช่วยเป็นสื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กน้อยผ่านการเล่านิทานในรูปแบบมีเสียง ซึ่งแอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า “Me Books” อย่างแรกมารู้จักกับที่มาของแอปพลิเคชันนี้กันก่อนดีกว่า         แอปพลิเคชัน “Me Books” เกิดจากศูนย์กิจการสร้างสุข (SOOK Enterprise) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ บริษัท มีบุ๊คส์ จำกัด ประเทศมาเลเซีย ได้พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ภายใต้แนวคิดปลุกหนังสือให้มีชีวิต เพื่อสนับสนุนให้แอปพลิเคชันนี้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาวะ ผ่านนิทานออนไลน์ 4 ภาษา ให้มีความน่าสนใจและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กอย่างเป็นระบบ         เรียกง่ายๆ คือ การพัฒนาสติปัญญาโดยการเรียนรู้ผ่านนิทานของเด็กๆ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีและพฤติกรรมของครอบครัวที่มักนำสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมาเป็นสื่อการเรียนการสอนอยู่แล้ว แอปพลิเคชันนี้จึงนำทั้งสองอย่างมารวบรวมไว้ในที่เดียวกัน เพื่อสะดวกในการใช้ง่าย ทั้งนี้นิทานที่อยู่ภายในแอปพลิเคชันจะมีทั้งหมด 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษามลายู สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งในระบบปฏิบัติการ iOS และ Android         หลังจากดาวน์โหลดต้องลงทะเบียนด้วยเมลและกำหนดรหัสผ่านในหน้าแรก โดยต้องกำหนดว่าผู้ลงทะเบียนมีสถานะเป็นพ่อหรือแม่ พร้อมทั้งลงทะเบียนชื่อเด็กได้มากกว่าหนึ่งคน เพื่อให้สามารถสลับหน้าแอปพลิเคชันไปยังข้อมูลการอ่านนิทานของแต่ละคนได้ ซึ่งแยกไว้อย่างชัดเจนตามชื่อที่ตั้งไว้ในแอปพลิเคชัน อีกทั้งยังเพิ่มความน่ารักด้วยการให้เลือกรูปภาพเป็นตัวแทนผู้ลงทะเบียน และเป็นตัวแทนเด็กๆ แต่ละคน         ในการค้นหานิทานในแต่ละครั้ง สามารถกำหนดเป้าหมายที่ต้องการตามช่วงอายุ ตามความชื่นชอบ ซึ่งแอปพลิเคชันได้แยกไว้ตามความเหมาะสมเรียบร้อย ทำให้สามารถเลือกนิทานได้ง่ายขึ้น และสามารถเลือกเก็บเรื่องที่ชื่นชอบไว้ในหมวดชื่นชอบได้ด้วย ทำให้เด็กๆ สามารถเข้าไปหาเรื่องที่ชื่นชอบได้ทันที โดยที่ไม่ต้องมาค้นหาใหม่อีกครั้ง         มาดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “Me Books” เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการฟังนิทาน ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาการของเด็ก เนื่องจากช่วยฝึกกระบวนการคิดของเด็กผ่านการเล่า เน้นการฟัง ทำให้ช่วยมีสมาธิมากขึ้น และช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ สร้างจินตนาการ เเละสร้างเรียนรู้อย่างมีความสุข แถมช่วยฝึกทักษะของภาษาให้กับเด็กในช่วงวัยที่เหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ‘หนังสือ’ ราคาแพงไปหรือไม่? คำถาม คำตอบ และความคาดหวัง

อาจจะ 20 หรือ 30 ปีก่อน ครั้งที่อินเทอร์เน็ตเริ่มบูมและมีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เกิดคำทำนายว่า ‘หนังสือเล่มจะหายไป’ นักอ่านจะหันมาอ่านหนังสือจากอินเทอร์เน็ตแทน ซึ่งก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นจริง (อย่างน้อยก็ยังไม่เป็นจริง) เพราะหนังสือเล่มมีเสน่ห์ในตัวที่ยังไม่มีสื่อชนิดอื่นเข้ามาแทนที่         ‘คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด’ มายาคติที่ไม่เป็นจริง (อย่างน้อยก็ไม่เป็นจริงแล้ว) แต่ก็ถูกเชื่อกันอยู่พักใหญ่ ปัจจุบันมีข้อมูลทางสถิติยืนยันแล้วว่าคนไทยอ่านหนังสือมากกว่านั้นเยอะ ผลสำรวจการอ่านของประชากรปี 2561 โดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยยังคงอ่านหนังสือเล่มสูงถึงร้อยละ 88 ขณะที่การอ่านจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็สูงขึ้นอย่างน่าจับตา ด้านสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (pubat) ระบุว่าคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 3 เล่มต่อเดือน         มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมชมงานถึง 1,355,893 คน สามารถสร้างรายได้ให้สำนักพิมพ์ที่เข้าร่วมงาน 347,331,734 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 ถึงร้อยละ 74         แต่ ‘รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำฐานข้อมูลและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการพิมพ์ (Publishing) ปี 2564’ จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ก็พบข้อมูลที่ดูขัดแย้งกันว่า         ‘ในภาพรวม พบว่าพฤติกรรมคนไทย มักไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอ่านเป็นทุนเดิม เนื่องจากระบบการศึกษาในประเทศ ที่ไม่ได้สนับสนุนให้คนไทยเห็นความสำคัญของการอ่านตั้งแต่ระดับเยาวชน ประกอบกับการเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้ผู้อ่านมีทางเลือกในการเสพสื่ออื่นๆ มากยิ่งขึ้นและพฤติกรรมการเสพสื่อของคนในปัจจุบันที่ใช้เวลาในการเสพสื่อสั้นลง รวมถึงทัศนคติของคนไทยที่มองว่าหนังสือคือสินค้าฟุ่มเฟือยเนื่องจากหนังสือมีราคาสูง ยิ่งทำให้คนไทยยิ่งหันไปเสพเนื้อหาแบบอื่นแทนที่สื่อสิ่งพิมพ์ ประกอบกับการเข้าถึงแหล่งหนังสือต่างๆ เช่น ห้องสมุด โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ไม่ได้สร้างการเข้าถึงให้กับผู้อ่านอย่างเพียงพอ ทำให้ผู้อ่านในต่างจังหวัดเข้าถึงหนังสือได้ยาก’         ‘รวมถึงทัศนคติของคนไทยที่มองว่าหนังสือคือสินค้าฟุ่มเฟือยเนื่องจากหนังสือมีราคาสูง’ ประโยคนี้คือประเด็นสำคัญที่เราจะคุยกัน หนังสือไทยแพงจริงไหม?         “คำว่าแพงหรือไม่แพงเป็นเรื่องสัมพัทธ์ มันขึ้นกับว่าเราจ่ายไหวมั้ย เพราะฉะนั้นถ้าเทียบในระดับราคาหนังสือต่อเล่มต่อค่าครองชีพ เมืองไทยถือว่าแพงแน่ๆ เพราะค่าแรงมันต่ำ แต่ค่าหนังสือมันขึ้นมาเรื่อยๆ ถ้าเทียบกับค่าครองชีพคือแพง ถ้ามองในมุมว่าราคาหนังสือปัจจุบันเทียบกับราคาหนังสือในประเทศอื่นๆ ก็ไม่ถือว่าแพงราคามาตรฐาน แต่ค่าแรงเรามันต่ำเราก็เลยรู้สึกว่าหนังสือแพง อย่างในญี่ปุ่นราคาหนังสือเล่มละ 350-1,000 เยน 1,000 เยนคือเล่มใหญ่ ถือว่าแพงแล้ว ประมาณ 256 บาท (ค่าเงินวันที่ 14 ธันวาคม) แต่ค่าแรงชั่วโมงละ 1,100 เยน ทำงาน 1 ชั่วโมงซื้อหนังสือได้แล้วเล่มหนึ่ง แต่ของไทยทำงานฟาสต์ฟู้ดเหมือนกัน พาร์ทไทม์ ชั่วโมงละ 28-36 บาท มันซื้อหนังสือไม่ได้ เดี๋ยวนี้ราคาเริ่มต้นก็ร้อยขึ้นแล้ว” ธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (pubat)         “ถามว่ามันขึ้นตามเงินเฟ้อมั้ย ใช่ ทุกสำนักพิมพ์น่าจะเจอเหตุผลเดียวกัน เพียงแต่ว่าปัญหาคำว่าแพงมันไปพันกับเรื่องค่าครองชีพและจีดีพีโดยรวมของประเทศด้วย ถ้าจะพูดถึงรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยกับราคาปกหนังสือ ณ ปัจจุบัน ผมคิดว่ามันก็แพง” มณฑล ประภากรเกียรติ ผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน         “แพงนะ รู้สึกเลยว่าแพงขึ้นมากจากตอนที่ไปเดินงานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุด บางสำนักพิมพ์ราคาสูงมากเลย ในใจทบทวนง่ายๆ อาจจะแบบสามเล่มพัน เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าสองเล่มพันก็มี เลยรู้สึกว่าแพงมากขึ้น ยิ่งหนังสือแปล ยิ่งแพง ต้องยอมรับว่าแพง เป็นของฟุ่มเฟือย” คชรักษ์ แก้วสุราช แอดมินเพจ ‘อ่านเจอ’         “ทำไมถึงแพง บางคนก็ตอบว่าเพราะค่าแรงมันถูก หมายถึงว่ามันไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำ เพราะฉะนั้นหนังสือมันเป็นความฟุ่มเฟือยอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องถูกมองว่าแพง แล้วก็ไม่ใช่ความบันเทิงราคาถูกอีกแล้ว เมื่อก่อนยังพอเป็นไปได้ที่คนทั่วจะสามารถซื้อหนังสืออ่าน ต้องยอมรับแล้วว่ามันสูงขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” กิตติพล สรัคคานนท์ นักเขียน นักออกแบบปก บรรณาธิการ ผู้ก่อตั้งร้านหนังสืออิสระ Books & Belongings และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี และสำนักพิมพ์ B&B Press ทำไมถึงแพง?         อย่างน้อยคนที่เกี่ยวข้องกับหนังสือในหลายบทบาทก็ยอมรับว่าราคาหนังสือไทยแพง แต่ความแพงนี้มีที่มา เราจะจัดกลุ่มกันดูว่าเป็นเพราะอะไร         ประเด็นแรกคือจำนวนการพิมพ์น้อยทำให้ไม่เกิดการประหยัดจากขนาดการผลิต (economy of scale) ถอยกลับไปประมาณ 10 ปีก่อนการพิมพ์หนังสือเริ่มต้นที่ 3,000 เล่ม ปัจจุบันเริ่มต้นที่ 500-1,000 เล่ม ขณะที่ fixed cost ต่างๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าบรรณาธิการ ค่าลิขสิทธิ์ ค่าแปล เป็นต้น สูงขึ้น เมื่อตัวหารน้อยลงราคาขายต่อหน่วยจึงต้องแพงขึ้น         คำถามที่ตามมา เหตุใดยอดพิมพ์จึงลดลงทั้งที่คนอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น ประเด็นนี้มองได้หลายมุม มุมแรก สำนักพิมพ์มีความหลากหลายมากขึ้นตัวเลือกการอ่านมีมากขึ้น ทำให้ยอดขายต่อเล่มต่อปกลดลงจึงต้องพิมพ์จำนวนน้อยลง เชื่อมโยงสู่ขนาดของตลาดในประเทศซึ่งธีรภัทรมองว่ามีขนาดใหญ่พอ แต่สิ่งที่ต้องนำมาคำนวณคือผู้เสพมีตัวเลือกการเสพ content มากกว่าในอดีตมาก หนังสือไม่ใช่แหล่งสาระความรู้และความบันเทิงเดียวเช่นในอดีต         แต่แม้ว่าขนาดตลาดจะใหญ่พอก็ไม่ใหญ่โตเท่ากับตลาดหนังสือในจีน อินเดีย ญี่ปุ่น หรือเวียดนามที่มีจำนวนประชากรไล่ตั้งแต่พันกว่าล้านถึงเกือบร้อยล้านและมีวัฒนธรรมการอ่านที่ค่อนข้างแข็งแรง ยกตัวอย่างญี่ปุ่นที่ยอดพิมพ์เริ่มต้นกันที่ 10,000 เล่ม เมื่อตลาดเล็กกว่าการอ่านน้อยกว่าก็ย้อนกลับไปเรื่องยอดพิมพ์        กระดาษแพงซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดโลก เป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของสำนักพิมพ์ ขณะที่ราคากระดาษในบ้านเราผูกกับราคาในตลาดโลก โดยเฉพาะปี 2565 ราคากระดาษพุ่งขึ้นกว่าร้อยละ 20-30 ในไทยมีผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่อยู่ 2 เจ้า ได้แก่ เอสซีจีและดับเบิ้ลเอเป็นอีกเกรดหนึ่งไม่เหมาะกับการผลิตหนังสือ(ส่วนความเข้าใจผิดที่ว่ากระดาษแพงเพราะเก็บภาษีกระดาษ ธีรภัทรบอกว่าประเทศไทยยกเลิกเก็บภาษีนำเข้ากระดาษตั้งแต่ปี 2535 และหนังสือก็ได้รับยกเว้นไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม) โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวอะไร?         ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่มักไม่ถูกนำมาคิดในสมการ-โครงสร้างพื้นฐาน เรืองเดช จันทรคีรี ผู้คร่ำหวอดในวงการหนังสือมายาวนาน โพสต์โครงสร้างราคาหนังสือในเฟซบุ๊กของเขาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2021 พบว่า ในราคาหนังสือ 100 บาทจะถูกคิดเป็นค่าสายส่งและหน้าร้านสูงถึงร้อยละ 40-45 เมื่อหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะเหลือกำไรคืนสู่สำนักพิมพ์น้อยกว่าร้อยละ 10         ดูแล้วเหมือนสายส่งผู้ทำหน้าที่กระจายหนังสือไปยังร้านหนังสือต่างๆ กำลังเอาเปรียบ แต่ธีรภัทรอธิบายว่าความจริงแล้วเมื่อหักต้นทุนแล้ว สายส่งเหลือกำไรเพียงร้อยละ 2-5 เท่านั้น          ธีรภัทรอธิบายต่อว่าเหตุผลที่ค่าสายส่งสูงเกือบครึ่งหนึ่งของราคาหนังสือเป็นเพราะต้นทุนการขนส่งของไทยสูง กลับไปที่ญี่ปุ่น ค่าสายส่งคิดเป็นร้อยละ 20-30 ของราคาหนังสือเท่านั้น เพราะในญี่ปุ่นใช้วิธีขนส่งหนังสือผ่านรถไฟไปยังหัวเมืองหรือจังหวัดต่างๆ แล้วนำรถบรรทุกมารับเพื่อไปกระจายต่อทำให้ต้นทุนค่าขนส่งถูกกว่าของไทยที่ต้องขนส่งด้วยรถบรรทุกเป็นหลัก         ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพต่ำส่งผลให้ราคาหนังสือแพงกว่าที่ควรจะเป็น         (และแน่นอนว่าค่าแรงขั้นต่ำก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อการเข้าถึงหนังสือ) รัฐควรทำอะไร?         คำถามสำคัญมีอยู่ว่ารัฐควรยื่นมือเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้ราคาหนังสือถูกลงหรือไม่         “ผมเห็นด้วยว่ารัฐต้องเข้ามาช่วย ถ้าคุณไม่สามารถสนับสนุนเรื่องการพิมพ์ได้ คุณควรสนับสนุนเรื่องบุ๊คแฟร์ ทุกสำนักพิมพ์อยากมีพื้นที่ในการปล่อยของ บางสำนักพิมพ์เล็กๆ ขายได้งานหนึ่งก็อยู่ได้ทั้งปี แต่ทำไมเขาต้องมาเสียค่าเช่า อย่างศูนย์สิริกิติ์เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่แต่ก็แพงขึ้นเป็นพื้นที่ของเอกชน ทำไมรัฐไม่เข้ามาเป็นเจ้าภาพในการจัดบุ๊คแฟร์คือ มันควรสนับสนุนด้านการขาย การตลาด        “ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้หนังสือราคาแพงคือกระดาษ ทุกวันนี้กระดาษนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่สามารถผลิตในไทยได้หรือกลุ่มเอสซีจีก็ผลิตน้อยลง หันไปทำธุรกิจอย่างอื่นที่ได้กำไรมากกว่า ถ้าเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ผมว่าช่วยสำนักพิมพ์ได้ยี่สิบสามสิบเปอร์เซ็นต์เลยในการลดต้นทุนการผลิต รัฐเข้ามาช่วยส่วนนี้ได้ด้วยการช่วยดีลกับตลาดต่างประเทศให้ราคาถูกลงหรือเรื่องโลจิสติกส์ที่ควรจะถูกลง แต่การจะให้คนในวงการอยู่ได้จริงๆ คุณต้องสนับสนุนตลาดหนังสือ” มณฑล กล่าว         ส่วนกิตติพลกล่าวด้วยความหวังที่น้อยกว่านั้น “ไม่มีผู้นำในรัฐบาลไหนตั้งใจทำให้เรารู้หรอก กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ถ้าเขาทำได้เขาทำตั้งนานแล้ว แต่ทุกวันนี้ยังจู้จี้ว่าประวัติศาสตร์ยังไม่ไทยพอ แสดงว่ามันสวนทางกับเรื่องการศึกษาที่แท้จริงและอย่างที่เราเห็นว่าในตำราในหลักสูตรต่างๆ มันสอนให้เราอ่านได้น้อยลงคิดได้น้อยลงเขียนได้น้อยลง สิ่งที่เราเห็นอยู่ก็เป็นโลกของชนชั้นกลางที่มีโอกาสมากกว่าแต่การศึกษาภาคบังคับทำให้เราพังทุกอย่างที่เราอยากรู้         “พอพูดถึงเรื่องนี้มันไม่มีหรอกแบบล็อตเตอรี่ ฟันด์ของอังกฤษที่ช่วยซัพพอร์ตสิ่งพิมพ์จะไปขอใคร ส่วนใหญ่ก็องค์กรด้านวัฒนธรรมของประเทศอื่นๆ ต่างหากที่จะหยิบยื่นเข้ามา ประเทศที่ยากจนกว่าเราในลาติน อเมริกายังมีงบที่ช่วยซัพพอร์ตด้านวัฒนธรรมเลยให้มากกว่าที่รัฐบาลไทยให้กับคนในประเทศอีก ตรงนี้ทำให้รู้สึกว่าถ้ามีความตั้งใจจริงใจจะทำตั้งแต่แรกเขาทำไปตั้งนานแล้วแต่เขาไม่ได้ต้องการ” ทำไมไม่ควรพึ่งพารัฐ?         ขณะที่ธีรภัทรมีมุมมองที่ต่างออกไปประมาณหนึ่ง “เวลาถกเถียงเรื่องแบบนี้เราชอบมองหนังสือเป็นเรื่องเดียวทั้งหมด ถามว่าเราควรอุดหนุนหนังสือเด็ก หนังสือเพื่อการเรียน เพื่อพัฒนาการให้ราคาถูก เข้าถึงได้มั้ย ผมว่าควร จำเป็น แล้วหลังจากนั้นเขาจะไปซื้อหนังสืออ่านในวัยที่โตขึ้นด้วยศักยภาพของตัวเอง แต่ถามว่ารัฐควรจะอุดหนุนทั้งหมดให้ราคาหนังสือทุกชนิดถูกลงมั้ย ผมไม่เห็นด้วย เพราะมันเป็นเรื่องธุรกิจของแต่ละฝ่าย หนังสือถูกทั้งหมดแล้วต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ในการสนับสนุน มันคุ้มหรือเปล่าในมุมมองของรัฐ”         เขาเห็นด้วยถ้ารัฐจะสนับสนุนด้านพื้นที่การจัดงานหนังสือและตลาดเพื่อให้สำนักพิมพ์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เท่าเทียมมากขึ้น         เขาเห็นด้วยถ้ารัฐจะอุดหนุนราคากระดาษ เนื่องจากใช้งบประมาณไม่มาก สำนักพิมพ์ได้รับประโยชน์ทั่วถึง และแทรกแซงอุตสาหกรรมกระดาษในไทยที่มีผู้เล่นน้อยราย แต่เขาคัดค้านการสนับสนุนสำนักพิมพ์หรือหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว เขายังมองว่าอันตรายต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการพิมพ์ เพราะหากพึ่งพารัฐมากเกินไปย่อมเท่ากับเปิดช่องโหว่ให้รัฐเข้ามาควบคุมเนื้อหาหนังสือโดยปริยายวิสัยทัศน์ที่ต่างกัน แผน 20 ปีที่ต่างกัน         ‘รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำฐานข้อมูลและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการพิมพ์ (Publishing) ปี 2564’ คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงของไทยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 3.64 มีมูลค่ารวมที่ 6 แสนล้านบาทในปี 2567 ทว่าใน Sector หนังสือกับหนังสือพิมพ์และนิตยสารจะมีอัตราการเติบโตคาดการณ์ต่ำสุด         อย่างไรก็ตาม e-book และ audiobook ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง จุดนี้สะท้อนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งต้องติดตามว่าจะส่งผลต่อการอ่านหนังสือเล่มแค่ไหน อย่างไร (ถึงกระนั้น เราอาจต้องนำเรื่อง digital divided หรือช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิตัลมาขบคิดร่วมด้วย)         ในรายงานข้างต้นได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์ของเกาหลีและเยอรมนีไว้ค่อนข้างละเอียด ช่วยให้เห็นว่าทั้งสองประเทศให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการอ่านมากเพียงใด เช่น เกาหลีใต้มีการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบกว่า 20 ปี มีหน่วยงานอิสระอย่าง KPIPA ทำหน้าที่ดูแลโดยเฉพาะ ฯลฯ และทั้งสองประเทศมีนโยบายสร้างนิสัยรักการอ่านและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่านเหมือนกัน         นอกจากนี้ รายงานยังจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการพิมพ์ ไว้ ผู้อ่านสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่        https://article.tcdc.or.th/uploads/media/2022/6/20/media_6-CEA-Publishing-Final-Report.pdf         เรานำเสนอส่วนนี้อย่างรวบรัดตัดความเพราะพื้นที่จำกัด เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศที่ใส่ใจกับการเรียนรู้ของพลเมืองนั้นมีอยู่ มีการคิด มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และประเทศที่ขาดวิสัยทัศน์ก็มีอยู่เช่นกัน         แผนพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์ 20 ปีของเกาหลีใต้กับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทย...

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 235 สามีหรือภริยาทำหนังสือยินยอมให้คู่สมรสไปค้ำประกันหนี้ ต้องร่วมรับผิดในหนี้นั้นด้วยหรือไม่

        ผมขอหยิบเรื่องใกล้ตัวของคนที่แต่งงานเป็นสามีภริยากันตามกฎหมายแล้วมาเสนอในคราวนี้ครับ  เนื่องจากเห็นว่าในช่วงนี้ มีข่าวเกี่ยวกับคู่สามีภริยาที่เป็นคนดังมีประเด็นพิพาทกันมากมาย โดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ จึงขอนำเรื่องเกี่ยวกับการค้ำประกันหนี้ของสามีหรือภริยามาเล่าสู่กันฟัง        อย่างที่เราทราบกันว่า เมื่อจดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้หลังสมรส ถือเป็นสมบัติร่วมกันของสามีภริยา แต่ถ้าเป็นเรื่องไปก่อหนี้ เช่นการที่สามีหรือภริยา ฝ่ายหนึ่งไปค้ำประกันหนี้ให้ใครสักคน จะถือว่าคู่สมรสของคนที่ไปค้ำประกัน เขาจะต้องร่วมรับผิดในหนี้นั้นด้วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการพิพาทเป็นคดีขึ้นสู่ศาล และศาลฏีกาได้เคยตัดสินในเรื่องนี้ไว้แล้ว คือ สามีหรือภริยาของคนที่ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด เพราะไม่ถือเป็นการให้สัตยาบันตามกฎหมาย แต่ถ้าคู่สมรสคนที่ค้ำประกันเสียชีวิต สามีหรือภริยานั้นต้องรับผิดชอบตามสัญญาค้ำประกันในฐานะทายาทตามหลักกฎหมายมรดก แต่ความรับผิดจะจำกัดไม่เกินทรัพย์มรดกของคู่สมรสที่ตนได้รับ ตามคำพิพากษาศาลฏีกา 8820/2561 (ประชุมใหญ่)          คำพิพากษาศาลฏีกา 8820/2561 (ประชุมใหญ่)            ในส่วนที่ ส. ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จำต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส เมื่อจำเลยที่ 2 ให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไป จึงเป็นการแสดงเจตนารับรู้และไม่คัดค้านที่ ส. สามีไปทำนิติกรรม หาใช่เป็นการให้สัตยาบันตามนัยของบทบัญญัติ มาตรา 1490 (4) ไม่ เนื่องจากไม่มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แต่อย่างใดว่าจำเลยที่ 2 รับรองการที่ ส. ก่อหนี้ขึ้นแล้วตามมูลหนี้ที่มีการทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 คงปรากฏเฉพาะการที่จำเลยที่ 2 รับรู้ถึงการเข้าทำสัญญาค้ำประกันของ  ส. เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้สัตยาบันการก่อหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่คู่สมรสได้กระทำไป จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม  แต่หากสามีถึงแก่ความตาย ภริยาคงรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในฐานะทายาทโดยธรรมคือรับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกของสามีที่ตกทอดได้แก่ตนเท่านั้นตาม ม.1601         อยากให้ดูเทียบกับอีกกรณี ที่ภริยาไปลงนามในหนังสือให้ความยินยอมทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ต่อมาสามีไปกู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่ดิน เช่นนี้ ถือว่าภริยาให้สัตยาบันแล้ว จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้กู้ยืมดังกล่าว         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5848/2550         จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ภริยาของจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในหนังสือให้ความยินยอมซึ่งมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมเกี่ยวกับการซื้อและจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และกู้ยืมเงินจากโจทก์ได้โดยไม่คัดค้าน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรับรู้หนี้กู้ยืมเงินที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีได้ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวในระหว่างสมรสและจำเลยที่ 2 ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์         จากตัวอย่างข้างต้นที่หยิบยกมา เราจะเห็นได้ว่า การเป็นสามีภริยากัน มีสิทธิหน้าที่ซึ่งกันและกัน ดังนั้นเราควรทราบว่าสามีหรือภริยาของตนเองได้ไปทำสัญญาอะไรไว้บ้าง โดยเฉพาะสัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้ และหมั่นตรวจสอบว่าตนได้ให้ความยินยอมใดๆ ไปในการดำเนินการของคู่สมรสของตนเอง มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน เพื่อมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัวตามมาภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 จดหมายถึงบอกอ

พลาสติกย่อยสลายได้ จริงหรืออ่านฉลาดซื้อมานาน แต่ไม่เคยเขียนถึงครับ เมื่อวานรื้อของทำ 5ส.ที่บ้าน พบถุงพลาสติกย่อยสลายที่กลายเป็นเศษพลาสติกป่นๆ เลยสงสัยว่าถุงที่เขียนว่าย่อยสลายได้มันสลายได้จริงหรือไม่ ฝากทีมงานช่วยหาข้อมูลมาให้หน่อยครับ                                                                                                                                                                                       ต้นขอบคุณที่ติดตามเราตลอดมานะคะ ในส่วนของพลาสติกที่บอกว่าย่อยสลายได้นั้น ทางเรามีความสนใจตรงกันพอดี ตอนนี้กำลังอยู่ในคิวของเรื่องที่จะนำมาเสนอค่ะ ติดตามฉลาดซื้ออย่าให้พลาดนะคะ             อยากบริจาคหนังสือเก่า          ที่บ้านมีหนังสือเยอะมากค่ะ อยากบริจาคมีที่ไหนรับบ้างคะ ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ขอให้ฉลาดซื้อยืนหยัดเป็นคู่มือเพื่อประชาชนต่อไปเรื่อยๆ นะคะ                                                                                                                                                                                                   แม่บ้านชาวใต้           ขอบพระคุณสมาชิกที่เขียนจดหมายมาหาทีมงานนะคะ สมัยนี้คนเขียนจดหมายน้อยลงทุกที ที่คุณแม่บ้านชาวใต้ถามมานั้น มีหลายแห่งที่รับบริจาคหนังสือค่ะ ลองสอบถามที่ มูลนิธิกระจกเงา  ซึ่งสนับสนุนและส่งเสริมการอ่าน หนังสือที่ได้รับบริจาค เมื่อผ่านการคัดแยกแล้วจะนำส่งต่อให้กับ โรงเรียน ชุมชน ที่ขาดแคลน ทั้งเมืองและต่างจังหวัด รวมถึง “ตู้หนังสือเย็นๆ” ตู้บรรจุหนังสือ พร้อมให้บริการนักอ่าน ที่กระจายอยู่ตาม วินมอเตอร์รับจ้างใน กทม. กว่า 50 แห่ง ติดตามรายละเอียดได้ที่ http://www.read4thai.mirror.or.th “การแบ่งปันของคุณเปลี่ยนแปลงสังคมได้” หรือหน่วยงานของการศึกษานอกโรงเรียน ก็รับบริจาคหนังสือนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 แบ่งปันผ่านหนังสือเสียงกับ RFB

ฉบับนี้ขอต้อนรับปีจอด้วยการแนะนำแอปพลิเคชันที่สามารถทำให้ผู้ใช้ทำความดีช่วยเหลือสังคมและสามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ได้ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งเป็นโครงการดีๆ ที่ช่วยแบ่งปันบทความและหนังสือต่างๆ ให้กับผู้พิการทางสายตา ผ่านหนังสือเสียงในแอปพลิเคชันนี้ได้เลยแอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า Read for the Blind เป็นแอปพลิเคชันที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้เข้ามาอ่านหนังสือให้ผู้พิการทางสายตาโดยเฉพาะ พร้อมทั้งให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้ามาใช้แอปพลิเคชันนี้เพื่อฟังหนังสือหรือบทความที่น่าสนใจได้เช่นกันโดยในขณะนี้ภายในแอปพลิเคชันมีหนังสือที่มีผู้ใช้แอปพลิเคชันได้อ่านแล้วมากถึง 33,676 เล่ม โดยแบ่งหมวดหมู่ประเภทของหนังสือ 14 หมวดหมู่ ได้แก่ หมวดหมู่วรรณคดีวรรณกรรม หมวดหมู่ธุรกิจและการจัดการ หมวดหมู่หนังสือสำหรับเยาวชน หมวดหมู่การท่องเที่ยว หมวดหมู่คู่มือสิบต่างๆ หมวดหมู่เบ็ดเตล็ด หมวดหมู่ปรัชญาจิตวิทยา หมวดหมู่ศาสนาโหราศาสตร์ หมวดหมู่สังคมศาสตร์ หมวดหมู่ภาษาศาสตร์ หมวดหมู่วิทยาศาสตร์ หมวดหมู่วิทยาการและเทคโนโลยี หมวดหมู่ศิลปกรรมและการบันเทิง และหมวดหมู่ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแล้ว แอปพลิเคชันจะให้ผู้ใช้ลงชื่อการใช้งาน ซึ่งสามารถเลือกลงชื่อการใช้งานผ่านการเชื่อมต่อเฟซบุ๊คได้ จากนั้นผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถค้นหาและตรวจสอบชื่อหนังสือหรือชื่อผู้แต่ง เพื่อให้ทราบว่ามีหนังสือที่ต้องการจะบันทึกเสียงหรือไม่ และมีการบันทึกการอ่านหนังสือเล่มนั้นหมดเล่มแล้วหรือไม่ โดยสังเกตจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่อยู่บริเวณภาพหนังสือว่าครบร้อยเปอร์เซ็นต์หรือยังในกรณีที่ต้องการบันทึกหนังสือเล่มใหม่ให้กดตรงคำว่า “สร้างหนังสือเสียงเล่มใหม่” แอปพลิเคชันจะให้กรอก ISBN หรือสแกน ซึ่งเป็นหมายเลขประจำหนังสือนั้นๆ เมื่อกรอก ISBN หรือสแกนเรียบร้อยแล้ว แอปพลิเคชันจะขึ้นชื่อและรายละเอียดมาอัตโนมัติ แต่ถ้าไม่มีหมายเลขจะให้กรอกชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่ง ชื่อสำนักพิมพ์ จำนวนบท จำนวนหน้า และเลือกหมวดหมู่ของหนังสือ หลังจากนั้นจะสามารถบันทึกเสียงได้คำแนะนำของทางแอปพลิเคชันสำหรับผู้เริ่มใช้นั้น อยากให้เริ่มการอ่านบทความก่อน โดยควรฝึกก่อนเริ่มบันทึกเสียงจริง โดยให้ทดลองอ่านก่อนหนึ่งรอบ ทำความเข้าใจกับเรื่องการอ่าน อ่านด้วยน้ำเสียงที่เข้าใจเรื่องที่อ่าน เว้นจังหวะการอ่านให้เหมาะสม อ่านทอดอารมณ์ และตั้งใจอ่านทั้งนี้การกดฟังเสียงของหนังสือหรือบทความต่างๆ จะมีไว้ให้เฉพาะผู้ที่ลงชื่อใช้งานที่เป็นผู้พิการทางสายตาเท่านั้น นอกจากแอปพลิเคชั่น Read for the Blind แล้ว ยังมีเฟซบุ๊ค readfortheblind ที่บอกเล่ากิจกรรมและข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการทางสายตาอีกด้วย  ลองมาเป็น “ผู้ให้” กันนะคะ และจะรู้ว่าความสุขทางใจดีอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 TK Library อ่านหนังสือออนไลน์

ฉบับนี้ผู้เขียนอยากแนะนำแหล่งความรู้ใหม่เพื่อส่งเสริมการอ่านโดยไม่ต้องเดินทางไปยังห้องสมุด และไม่ต้องเสียเงินซื้อหนังสือ แต่ผู้อ่านสามารถยืมหนังสือที่ตนเองสนใจมาอ่านได้ในรูปแบบออนไลน์บนสมาร์ทโฟน ซึ่งทำให้ไม่ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย และยังได้รับความรู้จากการอ่าน แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า “TK  Library” เป็นแอพพลิเคชั่นที่ถูกก่อตั้งโดยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้  (องค์การมหาชน) ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี  มีชื่อเต็มๆ ว่า สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือเรียกว่า TK park  มีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองภารกิจหลักด้านการรณรงค์ส่งเสริมให้เยาวชน และประชาชนมีอุปนิสัยรักการอ่าน และการเรียนรู้ เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้  ปัจจุบันทาง TK park ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นมาเพื่อตอบรับเทคโนโลยีบนโซเชียลมีเดีย   ผู้เข้าใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น “TK  Library” สามารถเลือกและยืมหนังสือ ,นิตยสาร หรือหนังสือเสียง ได้ผ่านแอพพลิเคชั่น โดยการแบ่งเป็นหมวดหมู่ภายในแอพพลิเคชั่น ได้แก่ หมวดรายการยืม หมวดประวัติการยืม หมวดรายการจอง  หมวดหนังสือ  หมวดนิตยสาร  หมวดหนังสือเสียง ขั้นตอนแรกผู้ใช้บริการต้องลงทะเบียนโดยใช้ชื่อนามสกุลจริง พร้อมเลขบัตรประจำตัวประชาชน หลังจากนั้นผู้ใช้บริการสามารถเข้าไปเลือกหนังสือที่ต้องการจะยืมได้ โดยขั้นตอนการใช้บริการมี 3 รูปแบบ คือ เลือกทดลองอ่านในบางส่วนของเนื้อหาในเล่ม  เลือกอ่านออนไลน์ที่สามารถอ่านเนื้อหาในเล่มได้ทั้งหมดแบบชั่วคราว เมื่อปิดไฟล์แล้วเล่มหนังสือจะไม่ไปปรากฏในหมวดรายการยืม และการเลือกยืม โดยผู้ใช้บริการจะได้ไฟล์หนังสือมาอยู่ในหมวดรายการยืมเป็นเวลา 7 วันและสามารถเข้าไปอ่านเมื่อใดก็ได้ ในกรณีที่หนังสือเล่มที่ต้องการนั้นมีผู้ใช้บริการคนอื่นยืมไปแล้ว แอพพลิเคชั่นจะขึ้นคำว่า “จอง” แทนคำว่า “ยืม” เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถจองคิวในการยืมหนังสือเล่มนั้น โดยแอพพลิเคชั่นจะระบุวันที่จะถึงคิวที่จะยืมหนังสือไว้ด้วย เมื่อถึงคิวของตน แอพพลิเคชั่นจะแจ้งเตือนอีกครั้ง ซึ่งหนังสือที่จองไว้จะถูกเก็บไว้ในหมวดรายการจอง และผู้ใช้บริการสามารถยกเลิกการจองได้ภายในหมวดนี้ ทั้งนี้การยืมหนังสือของแอพพลิเคชั่น “TK  Library” มีการจำกัดจำนวนการยืมหนังสือในแต่ละครั้งด้วย เพื่อเป็นการแบ่งปันหนังสือไปยังผู้ใช้บริการคนอื่นๆ ดังนั้นถ้าผู้ใช้บริการต้องการยืมหนังสือเล่มอื่น ก็ต้องคืนหนังสือที่ถูกยืมมาก่อนหน้านี้ โดยให้เข้าไปยังหมวดรายการยืมและเลือกหนังสือเล่มที่ต้องการคืน หลักจากนั้นให้กดเลือกคืนหนังสือ แอพพลิเคชั่น “TK  Library” นี้นับว่ามีประโยชน์ที่ช่วยส่งเสริมการอ่านให้กับประชาชน โดยไม่ต้องเดินทางไปยังห้องสมุด และเปลี่ยนจากการพกเล่มหนังสือมาเป็นไฟล์หนังสือที่อยู่บนสมาร์ทโฟน แทน ซึ่งถือว่าเป็นการส่งเสริมการอ่านให้กับประชาชนในยุคสมัยเทคโนโลยีโซเชียลมีเดีย ที่ลดความนิยมการอ่านหนังสือในรูปแบบกระดาษได้อีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนมีนาคม 2558 ฟ้องไทยพาณิชย์-ธปท. ทวงค่าปรับโดยมิชอบ-ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ อดีตอัยการอาวุโสยื่นฟ้องแพ่งผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ เหตุเรียกค่าปรับทวงถามโดยมิชอบ แถมฟ้องอาญาผู้บริหาร ธปท.ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ชี้แม้เป็นเรื่องเล็กๆ แต่ต้องการให้เป็นคดีตัวอย่างป้องกันประชาชนถูกเอาเปรียบ นายประวิทย์ สิทธิถาวร อดีตอัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ "มติชน" ว่าได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องธนาคารไทยพาณิชย์ต่อศาลแพ่ง และฟ้องผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อศาลอาญา สำหรับสาเหตุที่ยื่นฟ้องว่า สืบเนื่องจากธนาคารได้เปลี่ยนแปลงวงเงินเครดิตและการเบิกถอนเงินสดจากบัตรเครดิตโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า และยังเรียกค่าปรับหรือค่าทวงถามโดยมิชอบไม่เป็นไปตามระเบียบของธปท. จึงฟ้องต่อศาลแพ่งดำเนินคดี บริษัท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด เพื่อให้เพิกถอนประกาศค่าปรับ, ละเมิด, ผิดสัญญา เรียกค่าเสียหาย พร้อมทั้งได้เรียกค่าชดเชยเป็นเงิน 100,000 บาท ส่วนที่ฟ้อง ธปท. เพราะ ธปท.มีอำนาจหน้าที่กำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ แต่กลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะหลังโดนธนาคารไทยพาณิชย์กระทำอย่างไม่ชอบ ได้เข้าร้องเรียนต่อ ธปท.ในฐานะองค์กรกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ขอให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามประกาศ ของ ธปท. ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 กระทั่งล่วงเลยมาจนครบ 60 วัน แต่ไม่มีความคืบหน้า จึงได้ทวงถามถึงเรื่องดังกล่าวอีกครั้งต่อ ธปท. ซึ่งได้รับชี้แจงว่าได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้วและได้กำชับไปถึงสถาบันการ เงินให้ปฏิบัติต่อลูกค้าตามแนวนโยบายและประกาศที่เกี่ยวข้องส่วนการเรียกค่า ธรรมเนียมติดตามทวงถามหนี้ของธนาคารไทยพาณิชย์ธปท.จะตรวจสอบต่อไปและจะพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป ซึ่งตนเห็นว่าการดำเนินการของ ธปท.ไม่ได้เป็นไปตามหน้าที่ที่ควรกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ให้ดำเนินการ ถูกต้องตามประกาศของ ธปท. เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย "ผมถูกเรียกเก็บค่าทวงถามเพียงหลักร้อยบาทเท่านั้น หลายคนอาจยอมจ่ายให้เรื่องจบเพราะเงินเล็กน้อยมาก ถ้าจะดำเนินการฟ้องร้องต้องเสียค่าดำเนินการเป็นหลักหมื่นบาท ต้องเสียเวลา แต่ที่ตัดสินใจฟ้องเพราะอยากให้เป็นคดีตัวอย่าง ไม่อยากให้ธนาคารเอาเปรียบผู้บริโภค คิดง่ายๆ ต่อรอบบัญชี หากมีลูกหนี้บัตรเครดิตถูกเรียกปรับอย่างผมสัก 10,000 คน ธนาคารจะได้รับเงินกินเปล่าถึง 2.5 ล้านบาททีเดียว ส่วนที่ฟ้องผู้บริหาร ธปท.ด้วยเพราะอยากให้ ธปท.คำนึงถึงหน้าที่กำกับดูแลธนาคารให้ดีอย่าให้มาเอาเปรียบประชาชน" นายประวิทย์กล่าว     คนไทยป่วย ไบโพลาร์ เพิ่ม ในงานเสวนาหัวข้อ ‘เปลี่ยนโรค “ทุกข์”เป็น “สุข สมหวัง”ด้วยใจเหนือคน’ นพ.จิตริน ใจดี จิตแพทย์แห่งศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงโรคไบโพลาร์ ว่า ไม่ใช่อาการโรคจิตหรือโรคจิตเภท แต่เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ สาเหตุหลักเกิดจากกรรมพันธุ์-สารเคมีในสมองไม่สมดุล ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ 1-2 % ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 700,000-1,500,000 คน ในทางจิตเวช สามารถแบ่งโรคต่างๆ ออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ได้แก่  กลุ่มที่ 1 มีความผิดปกติทางความคิดเช่น หลงผิด หวาดระแวง หูแว่ว ประสาทหลอน กลุ่มนี้จัดว่าเป็นโรคจิตเภท (Schizophre-nia) หรือที่เรียกว่า “โรคจิต” ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับไบโพลาร์ กลุ่มที่ 2 มีความผิดปกติทางอารมณ์ จะมี 2 โรค คือซึมเศร้า กับไบโพลาร์ กลุ่มที่ 3 โรคเกี่ยวกับความวิตกกังวล เช่น ตื่นตระหนก (โรคแพนิก,Panic) กลัวที่สูง กลัวที่แคบ ย้ำคิด ย้ำทำ กลุ่มที่ 4 โรคที่เกิดจากสารเสพติด ส่วนสาเหตุของโรค นพ.จิตริน กล่าวว่า ในปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยที่ระบุชัดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สาเหตุหลักๆ มี 2 ปัจจัยคือ 1.กรรมพันธุ์ หากพบว่าพ่อแม่ รวมถึงปู่ย่าตายายเป็นโรคนี้ ลูกหลานก็มีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย และ 2.สารเคมีในสมองไม่สมดุล คือสิ่งที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือ สมองของคนที่เป็นไบโพลาร์จะโปรแกรมไว้ตั้งแต่ต้นหรือตั้งแต่เกิด โดยปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ 1-2 % ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 700,000-1,500,000 คน ขณะที่ 5% ของประชากรทั่วโลกกำลังป่วยเป็นโรคดังกล่าว   เราอ่านและซื้อหนังสือกันน้อยลงทุกปี ระยะเวลาของคนไทย(ที่มีอายุ 15 -69 ปี) ใช้เวลาในการอ่านหนังสือเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 28 นาที  ลดลงจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2556 ที่พบผู้อ่านหนังสือเฉลี่ย 37 นาทีต่อวัน เหตุเวลาว่างของคนไทย ถูกใช้ไปกับอินเตอร์เน็ตมากกว่าการอ่านหนังสือมาก สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่าย หนังสือฯ จับมือคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เผยผลสำรวจพฤติกรรมการอ่าน และซื้อหนังสือของคนไทย(ที่มีอายุ 15 -69 ปี) พบมีกลุ่มที่อ่านหนังสือเป็นประจำเพียง 40%  ที่เหลือ 20% อ่านบ้าง อีก 39.7% ไม่อ่านหนังสือเลย วัยรุ่นหรือคนอายุต่ำกว่า 20 ปี  ใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตมากที่สุดเกือบ 4 ชั่วโมง    โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 2 ใน 5 ยอมรับการใช้อินเตอร์เน็ตมีผลให้อ่านหนังสือเล่มน้อยลง ระบุอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษน้อยเพราะส่วนใหญ่หันไปอ่านเว็บข่าวและเว็บรวบรวมข่าวแทน สำหรับการซื้อหนังสือ ดร.มิ่งมานัส ศิวรักษ์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ กล่าวว่า คนไทยจะซื้อหนังสือเฉลี่ยปีละ 4 เล่ม โดยคนกลุ่มที่ซื้อหนังสือมากที่สุด คือคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ซื้อเฉลี่ยปีละ 9 เล่ม รองลงมาคือ คนที่อายุ 21-30 ปี ซื้อเฉลี่ยปีละ6 เล่ม และค่อยๆลดจำนวนลงในคนที่มีอายุมากขึ้น  จนกระทั่งคนที่มีอายุมากกว่า 61 ปี ขึ้นไปจะกลับมาซื้อเพิ่มเป็นเฉลี่ย 4 เล่มต่อปี “หากหนังสือที่เกิดการซื้อได้รับการอ่านครบทุกเล่มก็ยังถือได้ว่า การอ่านของคนไทยเมื่อนับเป็นจำนวนเล่มอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และเป็นที่น่าสนใจว่าเด็กไทยอ่านหนังสือปีละ 9 เล่มนั้น จำนวน 4 เล่มเป็นการ์ตูน นิยายภาพ และอีก 3 เล่มเป็นคู่มือเตรียมสอบ”   โปรดเกล้าฯ แล้ว พ.ร.บ.ทวงหนี้ ฉบับใหม่ "ใช้ความรุนแรง- ข่มขู่- กระทำการให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายชื่อเสียงทรัพย์สิน ลูกหนี้หรือผู้อื่น" แอบอ้างคำสั่ง "ศาล" โทษหนัก จำคุกไม่เกิน5 ปี ปรับห้าแสน เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวประกอบธุรกิจโดนด้วย ในการทวงถามหนี้ กฎหมายระบุว่า บุคคลใดจะประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงบุคคลซึ่งจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถาม หนี้ตามวรรคหนึ่งแล้ว ต้องประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ มีดังต่อไปนี้ (1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น (2) การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น (3) การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ (4) การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ซึ่งเจ้า หนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (5) การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้ เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบ ธุรกิจทวงถามหนี้ (6) การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดความใน (5) มิให้นำมาใช้บังคับกับการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อ ศาล และในกฎหมายยังห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดดังต่อไปนี้ (1) การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ (2) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความสำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย (3) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน (4) การติดต่อหรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต หรือกระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม คือ (1) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (2) การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทั้งนี้ ระวางโทษ จำคุกสูงถึงห้าปี หรือ ปรับสูงสุดห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 E-readers

ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำผลทดสอบเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-readers มาฝากสมาชิกนักอ่านกันบ้าง หลายคนอาจไม่เคยให้ความสนใจกับมันเพราะชอบการจับต้องหนังสือเป็นเล่มมากกว่า บางคนมองว่า อยากอ่านอะไรก็ดาวน์โหลดมาอ่านในคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ก็ได้ไม่เห็นต้องลงทุนเพิ่ม ในขณะที่หลายคนกำลังชั่งใจอยู่ว่าจะซื้อเครื่องอ่านฯ (ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็สามารถท่องเว็บได้ แถมยังมีเทคโนโลยีหน้าจอที่ทำให้อ่านได้นานโดยไม่ปวดตา) หรือจะซื้อแทบเลต (ซึ่งก็สามารถใช้ท่องเน็ทพร้อมกับอ่านหนังสือได้ด้วย) มาใช้ดี องค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ทำการทดสอบ E-readers เหล่านี้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราเลือกมา 10 รุ่น (ทั้งเครื่องอ่านฯ และแทบเลต) ที่มีขายในเมืองไทย ข้อสังเกตที่ได้จากผลทดสอบคือยังไม่มีเครื่องอ่านฯรุ่นใด ที่ตอบสนองการเข้าเว็บได้ในระดับที่น่าพอใจ และในทางกลับกันก็ยังไม่มีแทบเลตที่ใช้อ่านหนังสือได้สะดวกหรือใช้งานได้นานต่อการชาร์จหนึ่งครั้งเหมือน E-readers ถ้าคุณเป็นคนที่จริงจังกับการอ่านในทุกขณะจิตและไม่ยึดติดกับประสบการณ์การอ่านแบบเดิม เจ้าเครื่องอ่านเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่คุณตามหาอยู่ก็ได้ ติดตามคะแนนในด้านต่างๆของแต่ละรุ่นได้ในหน้าถัดไป Sony PRS-T2 ราคา 5,990 บาท อ่านสะดวก นั่งอ่าน                          5 นอนอ่าน                        5 ยืน (โหนรถ) อ่าน            4.5 ใช้งานง่าย คั่นหน้า/กลับมาอ่านต่อ    5 จดบันทึก                       5 จัดเก็บ/แยกหมวดหมู่       5 ท่องเว็บ                         2 ตัวเครื่องทนทาน 4 แบตเตอรี่ใช้ได้นาน 5   Kobo Mini ราคา 4,190 บาท อ่านสะดวก นั่งอ่าน                          5 นอนอ่าน                        5 ยืน (โหนรถ) อ่าน            4.5 ใช้งานง่าย คั่นหน้า/กลับมาอ่านต่อ    3 จดบันทึก                       3 จัดเก็บ/แยกหมวดหมู่       4 ท่องเว็บ                         2 ตัวเครื่องทนทาน 4 แบตเตอรี่ใช้ได้นาน 5   Kobo Glo ราคา 5,690 บาท อ่านสะดวก นั่งอ่าน                          5 นอนอ่าน                        5 ยืน (โหนรถ) อ่าน            4.5 ใช้งานง่าย คั่นหน้า/กลับมาอ่านต่อ    3 จดบันทึก                       3 จัดเก็บ/แยกหมวดหมู่       4 ท่องเว็บ                         2 ตัวเครื่องทนทาน 4 แบตเตอรี่ใช้ได้นาน 4.5   Amazon Kindle ราคา 5,490 บาท อ่านสะดวก นั่งอ่าน                          5 นอนอ่าน                        5 ยืน (โหนรถ) อ่าน            4 ใช้งานง่าย คั่นหน้า/กลับมาอ่านต่อ    4.5 จดบันทึก                       2 จัดเก็บ/แยกหมวดหมู่       3 ท่องเว็บ                         1.5 ตัวเครื่องทนทาน 4 แบตเตอรี่ใช้ได้นาน 5   Amazon Kindle Paperwhite 3G ราคา 9,990 บาท อ่านสะดวก นั่งอ่าน                          5 นอนอ่าน                        4.5 ยืน (โหนรถ) อ่าน            4 ใช้งานง่าย คั่นหน้า/กลับมาอ่านต่อ    4.5 จดบันทึก                       5 จัดเก็บ/แยกหมวดหมู่       5 ท่องเว็บ                         2 ตัวเครื่องทนทาน 4 แบตเตอรี่ใช้ได้นาน 5   Trekstor eBook Reader Pyrus ราคา 3,800 บาท อ่านสะดวก นั่งอ่าน                          5 นอนอ่าน                        5 ยืน (โหนรถ) อ่าน            4 ใช้งานง่าย คั่นหน้า/กลับมาอ่านต่อ    4 จดบันทึก                       0.5 จัดเก็บ/แยกหมวดหมู่       3 ท่องเว็บ                         - ตัวเครื่องทนทาน 4 แบตเตอรี่ใช้ได้นาน 3.5   Apple iPad mini ราคา 10,300 บาท อ่านสะดวก นั่งอ่าน                          3.5 นอนอ่าน                        3 ยืน (โหนรถ) อ่าน            3 ใช้งานง่าย คั่นหน้า/กลับมาอ่านต่อ    4 จดบันทึก                       5 จัดเก็บ/แยกหมวดหมู่       5 ท่องเว็บ                         5 ตัวเครื่องทนทาน 5 แบตเตอรี่ใช้ได้นาน 2   Kobo Arc ราคา 9,790 บาท อ่านสะดวก นั่งอ่าน                          3.5 นอนอ่าน                        3 ยืน (โหนรถ) อ่าน            3 ใช้งานง่าย คั่นหน้า/กลับมาอ่านต่อ    4.5 จดบันทึก                       5 จัดเก็บ/แยกหมวดหมู่       3.5 ท่องเว็บ                         5 ตัวเครื่องทนทาน 5 แบตเตอรี่ใช้ได้นาน 2.5 Kindle Fire HD ราคา 10,900 บาท อ่านสะดวก นั่งอ่าน                          3.5 นอนอ่าน                        3 ยืน (โหนรถ) อ่าน            3 ใช้งานง่าย คั่นหน้า/กลับมาอ่านต่อ    5 จดบันทึก                       5 จัดเก็บ/แยกหมวดหมู่       3 ท่องเว็บ                         5 ตัวเครื่องทนทาน 5 แบตเตอรี่ใช้ได้นาน 2   Samsung Galaxy Tab2 7.0 ราคา 6,500 บาท อ่านสะดวก นั่งอ่าน                          3.5 นอนอ่าน                        3 ยืน (โหนรถ) อ่าน            3 ใช้งานง่าย คั่นหน้า/กลับมาอ่านต่อ    0.5 จดบันทึก                       4.5 จัดเก็บ/แยกหมวดหมู่       2 ท่องเว็บ                         5 ตัวเครื่องทนทาน 5 แบตเตอรี่ใช้ได้นาน 2   ------------------------------------------------------------------------------ E-reader ตัวแรกของโลกคือ Data Discman ของ Sony ที่ออกสู่ตลาดในปี ค.ศ. 1998 แต่กระแสเครื่องอ่านอิเล็กทรอนิกส์เพิ่งจะมาได้รับความนิยมอย่างจริงจังในปี 2009 E-reader ถูกออกแบบมาเพื่อการอ่านโดยเฉพาะจึงมีขนาดและน้ำหนักน้อยกว่าแทบเลต เทคโนโลยีที่ทำให้เครื่องอ่านฯ เหล่านี้มีหนอนหนังสือเป็นแฟนคลับเพิ่มขึ้นคือจอแสดงผลแบบ E Ink ที่ทำให้เรามองเห็นเม็ดทรงกลมเล็กๆ ที่บรรจุอยู่ในไมโครแคปซูลจำนวนล้านๆแคปซูล เป็นภาพหรือตัวหนังสือขึ้นมา หน้าจอแบบนี้ไม่มีการกระพริบ จึงทำให้เราสามารถอ่านเป็นเวลานานๆได้ กระแสข่าวเรื่อง E-reader  มีทั้งที่เป็นขาขึ้นและขาลง Kobo ให้ข่าวว่ายอดขายเครื่องอ่านฯของเขาเพิ่มขึ้นร้อยละ 145 ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ในขณะที่บางบริษัทอย่าง Barnes and Noble ประกาศหยุดการผลิตเครื่องอ่านฯ Nook ของตัวเองลง ข่าวว่าอาจเป็นเพราะมีแทบเลตหลายรุ่นออกมาแย่งตลาด ทางด้าน Amazon เจ้าของเครื่องอ่าน Kindle รุ่นต่างๆ บอกว่าเขาไม่เดือดร้อนอะไรกับยอดขายเครื่องอ่านฯ เพราะผลิตภัณฑ์หลักของเขาคือ “หนังสือเล่ม” และ “หนังสืออิเล็กทรอนิกส์” ที่แล้วแต่ผู้ซื้อจะเลือกอ่านผ่านแบบไหน ผ่านสื่ออะไรเท่านั้นเอง โดยรวมแล้วยอดขายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกมีแนวโน้มจะลดลง หลายคนมองว่าอนาคตของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และ E-reader จะสดใสไฉไลกว่านี้ถ้าราคาหนังสือในรูปแบบดังกล่าวถูกลง ------------------------------------------------------------------------------

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 โต๊ะเขียนหนังสือเด็กเล็ก อันตรายที่ถูกมองข้าม

จากฉลาดซื้อฉบับ 109 “ตามไปดูเขากำจัดสารตะกั่วในโรงเรียนเด็กเล็ก กทม.” ทำให้ทราบว่าจุดเสี่ยงอีกตำแหน่งหนึ่งในโรงเรียนเด็กเล็กที่พบว่ามีค่าสารตะกั่วสูงเกินมาตรฐานซึ่งอาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเด็กนอกเหนือจากสีที่ทาผนังอาคารก็คือ โต๊ะนักเรียน ที่จะมีตัวพยัญชนะไทย อังกฤษ และตัวเลขสำหรับการจดจำของเด็กๆ   เจ้าโต๊ะที่ว่านี้ไม่เพียงแต่จะนิยมกันในหมู่โรงเรียนเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาลเท่านั้น พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งก็นิยมซื้อหามาให้ลูกหลานไว้ใช้ภายในบ้านเพื่อฝึกหัดเขียนอ่านให้คล่อง สนนราคาก็มีตั้งแต่ราคา 200 ถึง 1,000 บาท วางจำหน่ายในร้านเฟอร์นิเจอร์ทั่วไปตามย่านการค้าใหญ่ๆ และในห้างสรรพสินค้า เพื่อเป็นการเฝ้าระวังปัญหาการปนเปื้อนของสารตะกั่วในสินค้าที่ใกล้ชิดเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการสะสมพิษตะกั่วที่มีผลร้ายต่อสุขภาพทั้งในทางร่างกายและสติปัญญา โดยเฉพาะสินค้าที่หลายคนอาจมองข้ามอย่างเช่น โต๊ะเขียนหนังสือสำหรับเด็ก ฉลาดซื้อจึงลงพื้นที่ไปซื้อโต๊ะเขียนหนังสือจากย่านการค้าต่างๆ 9 แห่ง ได้แก่ พงษ์เพชร หัวหมาก โชคชัย 4 รามคำแหง ห้วยขวาง บางกะปิ สะพานใหม่ อ่อนนุช และบางบอน เพื่อส่งพิสูจน์หาปริมาณสารตะกั่ว ณ ห้องปฏิบัติการบริษัท อินเตอร์เทค เทสติ้ง เซอร์วิสเซส(ประเทศไทย) จำกัด   ฉลาดซื้อทดสอบ ผลตรวจสอบสีโต๊ะเก้าอี้เด็กที่ใช้เขียนหนังสือซึ่งมีภาพหรือตัวอักษร บนโต๊ะ พบว่า 1. สีของภาพหรือตัวอักษร บนโต๊ะและเก้าอี้ เมื่อตรวจสอบโดยการขูดรวมสีและหาค่าสารตะกั่วต่อน้ำหนักทั้งหมด มีค่าสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนดร้อยละ 83 (พบสารตะกั่วในโต๊ะเขียนหนังสือ 6 จาก 9 ตัว ตกมาตรฐาน 5 ตัว) 2. สีเคลือบโลหะ ซึ่งเป็นสีเคลือบโครงโต๊ะหรือเก้าอี้ และสีที่ใช้เป็นสีพื้นโต๊ะ มีผลสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนดร้อยละ 33 (ค่ามาตรฐานกำหนด ต้องน้อยกว่า 90 มก/กก ในการทดสอบหาสารตะกั่วเมื่อนำสีไปทำปฏิกิริยากับสารละลาย) 3. แผ่นพลาสติกที่ใช้ทำที่รองนั่งของเก้าอี้ ไม่พบสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนด   ความสำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กให้ปลอดภัยจากสารตะกั่วในช่วงปีค.ศ. 2002-2005 CDC และ American Academy of Pediatrics, Committee on Environmental Health พบว่าสารตะกั่วเป็นมลพิษจากสิ่งแวดล้อมที่ก่ออันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงต่อเด็ก หากได้รับปริมาณมากในวัยเด็กจะมีผลโดยตรงต่อระดับสติปัญญา สมองและระบบประสาทอย่างถาวรได้ โดยเฉพาะเด็กในวัย 5 ขวบปีแรกซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดที่มี การพัฒนาของสมอง อาการเป็นพิษจะเกิดเมื่อมีการสะสมของตะกั่วในร่างกายสูงพอ สารตะกั่ว จะมีผลเสียต่อสมองและการติดต่อเชื่อมกันของเซลล์ประสาท โดยสารตะกั่วจะไปจับกับเซลล์แทนที่แคลเซียม ผลอื่นคือทำให้เนื้อสมองบวม ยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาท(Gamma Aminobutyric Acid, GABA) ความดันกะโหลกศีรษะสูง ในเด็กมีการศึกษาของ Canfield และคณะ พบว่าสารตะกั่วในเลือดที่เพิ่มขึ้นทุก 10 มคก/ดล จะทำให้ IQ ลดลง 1-3 จุด ส่วนผลต่อ เม็ดเลือดแดงจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายเป็นโรคโลหิตจาง ผลต่อการทำงานของไตในระยะเฉียบพลันจะมีการทำลายของทิวบูลไตส่วนต้นและมีอาการของ Fanconi syndrome ส่วนผล ในระยะเรื้อรังต่อไตคือไตอักเสบ จนถึงไตวายได้ ผลต่อการตั้งครรภ์และทารก สารตะกั่วสามารถก่อปัญหาให้แก่ทารกในครรภ์หากมีสารตะกั่วเป็นปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด เด็กที่เกิดมาจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ การทำงานของสมองจะพัฒนาช้า ปัญญาอ่อน ชัก   ต่อมาในปี ค.ศ.2003 Canfield และคณะได้ทำการวัดระดับสารตะกั่วในเลือดของเด็กอายุ 6 เดือน 12 เดือน ถึง 5 ปี และมีการตรวจวัด IQ ที่อายุ 3 และ 5 ปี พบว่า IQ จะลดลง 4.6 จุดในเด็กที่มีค่าสารตะกั่วในเลือดน้อยกว่า10 มคก/ดล ต่างจากเด็กที่มีค่าสารตะกั่วในเลือดมากกว่า 10 มคก/ดล ที่จะมีค่า IQ ลดลงถึง 7.4 จุด ซึ่งสรุปได้ว่าระดับสารตะกั่วในเลือดที่เพิ่มสูงขึ้นจะแปรผกผันกับระดับ IQ อย่างมีนัยสำคัญ13 และในปี ค.ศ. 2006 Cochrane review ได้สรุปว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาภาวะสารตะกั่วเป็นพิษนั้นสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงภาวะสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการรักษานั้นไม่ได้ก่อนให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวดังนั้นหากเราสามารถหาภาวะเสี่ยงของสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมและนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการปรับปรุงแก้ไขสิ่งแวดล้อมให้มีความปลอดภัยต่อสารตะกั่วได้ จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคพิษตะกั่วอย่างถาวรต่อสมองของเด็กได้ อย่างไรก็ตามพบว่าไม่มีระดับสารตะกั่วในเลือดค่าใดที่ถือว่าปลอดภัยอย่างแท้จริง และผลของสารตะกั่วที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดอย่างถาวรโดยเฉพาะสมองและระบบประสาท ถึงแม้ว่าจะรักษาโดยการลดหรือกำจัดสารตะกั่วออกจากร่างกายก็ไม่สามารถแก้ไขผลที่เกิดกับสมองและระบบประสาทได้   ฉลาดซื้อแนะ 1. ควรนำข้อมูลนี้ประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จัก ผู้บริหารโรงเรียนเด็กเล็ก ผู้บริหารองค์กรท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพอนามัยเด็ก ความปลอดภัยในเด็ก สิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค และการคุ้มครองเด็ก รู้ถึงสถานการณ์อันตรายที่ปนเปื้อนอยู่ในสินค้า 2. พ่อแม่ ผู้ปกครองควรเลือกซื้อโต๊ะเขียนหนังสือด้วยความระมัดระวัง 3. สำหรับท่านที่ซื้อมาแล้ว แต่ไม่มั่นใจว่าโต๊ะมีการปนเปื้อนสารตะกั่วหรือไม่ วิธีแก้ไขปัญหาอย่างง่าย อาจหาพลาสติกใสแผ่นใหญ่หุ้มโต๊ะเพื่อกันไม่ให้เด็กขูดขีดจนสีร่อนออกมา 4. สำหรับโต๊ะที่สีหลุดร่อนไปแล้ว ไม่ควรให้เด็กใช้ต่อ เพราะมีโอกาสที่เด็กจะหยิบเข้าปากได้   ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1. กระทรวงอุตสาหกรรม ควรแจ้งผลต่อ ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และ ประชุมผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หรือผู้นำเข้าเพื่อหามาตรการควบคุมต่อไป 2. ควรจัดให้โต๊ะ เก้าอี้ เด็ก รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์เด็กอื่นๆ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องได้รับการควบคุมความปลอดภัยเช่นเดียวกับของเล่น   ตารางแสดงผลวิเคราะห์ตัวอย่างเส้นก๋วยเตี๋ยวประเภทเส้นใหญ่ ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ทดสอบเท่านั้น วัน/เดือน/ปี ที่ทดสอบ เมษายน 2553 (วิธีทดสอบ CPSC 16 CFR 1303)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 112-113 เมื่อเด็กไทยไม่สามารถเข้าถึงตำราลิขสิทธิ์

  วันนี้ ฉลาดซื้อ ชวนคุณเข้ารั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่ามีการใช้ “ตำราเรียนฉบับขาวดำ” (ซีรอกส์) ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศกันอย่างแพร่หลาย เพื่อไปสอบถามความเห็นของนักศึกษาว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับเรื่องของตำราต้นฉบับ และเหตุใดพวกเขาจึงนิยมใช้ฉบับขาวดำกันมากกว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคโดยฉลาดซื้อ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครและนนทบุรี จำนวน 480 คน* เรื่องปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์_____* หมายเหตุ การสำรวจครั้งนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) และประเทศสมาชิกอีกกว่าสิบประเทศ ได้ทำสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคในประเทศของตนเอง การสำรวจนี้เป็นส่วนหนึ่งการเก็บข้อมูลเพื่อการรณรงค์ในระดับนานาชาติเพื่อเพิ่มระดับการเข้าถึงความรู้ (A2K: Access to Knowledge)   เหตุผลที่นักศึกษาจะตัดสินใจซื้องานที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง  -- ใกล้เคียงกันมากระหว่าง คุณภาพ ราคา และการหาซื้อได้สะดวก   89%  ของผู้ตอบจะซื้อตำราเรียน (รวมถึงภาพยนตร์ เพลง และโปรแกรมคอมพิวเตอร์) ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องถ้างานนั้นมีคุณภาพที่ดีกว่างานที่ทำซ้ำโดยผิดกฎหมาย 87% ของผู้ตอบแบบสำรวจตอบว่าตนเองจะซื้องานที่มีลิขสิทธิ์  ถูกต้อง (แทนที่จะซื้อฉบับที่ทำซ้ำโดยผิดกฎหมาย) ถ้าราคาของฉบับลิขสิทธิ์เป็นราคาที่ตนเองสามารถจ่ายได้ 85% เห็นด้วยว่าจะซื้องานที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องถ้าตนเองสามารถหาซื้อได้สะดวก   ทำไม “ตำราเรียนฉบับขาวดำ” ถึงมีอยู่ทั่วไปในรั้วมหาวิทยาลัย จากการสัมภาษณ์นักศึกษาปีสี่ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอกล่าวว่า “ของจริงมันแพง .. สมมุติว่า หนังสือเล่มละพัน เรียนแปดวิชาก็ปาไปแล้วแปดพัน ตายพอดีถ้าซื้อของลิขสิทธิ์”   จากคำพูดนี้ เราคงพอจะอนุมานได้ว่าสินค้าลิขสิทธิ์ราคาฉบับลิขสิทธิ์นั้นเป็นอย่างไร ตัวอย่าง หนังสือ Biology (Seventh Edition) ของ Neil A. Campbell และ Jane B. Reece ซึ่งเป็น International Edition ราคา 1,000 บาท มีประมาณ 1,200 หน้า หากถ่ายเอกสาร หน้าละ 50 สตางค์ ราคาก็จะลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียว หรือถ้าถ่ายทั้งเล่มอาจจะได้ราคาถูกกว่านี้ ซึ่งอาจรวมถึงคุณภาพที่ด้อยลงด้วย แต่หลายคนก็ยอมรับเรื่องนี้ได้ อาจเป็นเพราะเด็กไทยอาจจะต้องอดข้าวหลายสิบมื้อเวลาที่ต้องการจะซื้อหนังสือสักเล่ม อีกคำสัมภาษณ์จากนักศึกษาชั้นปีที่สี่ คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า เคยถ่ายเอกสารตำราเรียนภาษาต่างประเทศทั้งเล่ม เพราะราคาแพงและไม่ทราบว่าจะหาซื้อตำราเล่มดังกล่าวได้จากที่ไหน “ราคามีส่วนสำคัญมากเวลาจะซื้อหนังสือ แล้วอีกอย่าง ไม่รู้ด้วยว่าหนังสือพวกนี้หาซื้อได้จากไหน” แต่ยังมีนักศึกษาอีกหลายคนลงที่ทุนซื้อตำราเรียนต่างประเทศฉบับลิขสิทธิ์ เพราะต้องการคุณภาพ และคิดว่ามัน “คุ้มค่า”  นักศึกษาคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คนหนึ่งตอบว่า “ซื้อสิ เอาไว้ดูรูป มันจำเป็นและได้ใช้ไปตลอด”   แล้วทำไมไม่ใช้วิธียืม????นักศึกษากลุ่มที่เราไปทำการสำรวจจำนวนไม่น้อยเคยประสบปัญหาในการยืมตำราเรียนต่างประเทศ สาเหตุหลักคือห้องสมุดยังมีให้เพียงพอ   76.6% บอกว่าหนังสือที่มีในห้องสมุดไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ใช้ 72% ตอบว่าห้องสมุดไม่มีตำราเล่มที่ตนต้องการ   นักศึกษาคณะสหเวชคนเดิมพูดเกี่ยวกับการยืมว่าส่วนใหญ่จะยืมจากห้องสมุด  ตอนอยู่ปี 2 ที่เรียนวิชารวมกับคณะอื่นๆ เคยมีปัญหาเรื่องยืมตำราเรียนไม่ทันเพราะห้องสมุดมีหนังสือไม่พอ จนสอบตก “ตอนที่เรียนใหม่ ๆ ใช้วิธียืมเอาแล้วยอมเสียค่าปรับ เสียเงินร้อยสองร้อยบาทดีกว่าสอบตก” แต่ทั้งนี้พอเรียนปีสูงขึ้น ก็ไม่มีปัญหาเรื่องหนังสือในห้องสมุดไม่เพียงพอ  จากการสอบถามนักศึกษาที่เรียนสายวิทยาศาสตร์ พบว่า นักศึกษาเหล่านี้ใช้วิธีการถ่ายเอกสารและยืมจากห้องสมุด ซึ่งก็ยืมได้บ้างไม่ได้บ้าง ส่วนเหตุที่ไม่ซื้อฉบับลิขสิทธิ์นั้นก็คงเดากันได้ว่าเป็นเพราะ “ราคา” นั่นเอง  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 161 กระแสต่างแดน

ร้านหนังสือต้องได้ไปต่อ สถานการณ์ร้านหนังสือในเกาหลีใต้ที่สถิติการอ่านของประชากรเมื่อปีกลายอยู่ที่ 9.2 เล่มต่อปี ก็อาจย่ำแย่ไม่แพ้บ้านเรา สรุปความได้ว่าร้านเล็กอยู่ยาก ร้านใหญ่อยู่ไม่ง่าย มีแต่ร้านออนไลน์เท่านั้นที่ยังทำกำไรต่อเนื่อง ตามกฎหมายของเกาหลีซึ่งให้ความคุ้มครองผู้ผลิตหนังสือเป็นอย่างดีเสมอมา ร้านจะลดราคาหนังสือใหม่ได้ไม่เกินร้อยละ 10 แต่สำหรับหนังสือที่พิมพ์ออกมาเกิน 18 เดือนไปแล้ว ร้านสามารถลดราคาได้ตามความพอใจ ร้านออนไลน์ย่อมเสนอส่วนลดให้กับผู้ซื้อได้มากกว่า ผู้คนจึงมักมาเปิดดูเล่มจริงที่ร้านแต่กลับบ้านมือเปล่าไปสั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์อีกที และบางครั้งก็เป็นร้านจากต่างประเทศด้วย สถานการณ์ตอนนี้น่าเป็นห่วง เพราะจากปี 2003 ถึง 2013 นั้นมีร้านหนังสือปิดตัวไปถึง 1 ใน 3 และในเมืองเล็กๆ บางแห่งไม่มีร้านหนังสือเลย และมีอีกไม่น้อยที่ทั้งเมืองมีร้านหนังสือเพียงหนึ่งร้าน ทั้งนี้เพราะต้องแข่งขัน(อย่างเสียเปรียบ) กับร้านหนังสือออนไลน์และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ นี่ยังไม่นับว่าคนเกาหลีอ่านหนังสือน้อยลงและการใช้จ่ายเพื่อการอ่านก็น้อยลงด้วย เพื่อเป็นการคุ้มครองธุรกิจร้านหนังสือในประเทศ ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ร้านขายหนังสือแต่เป็นศูนย์กลางชุมชนที่ผู้คนในท้องถิ่นได้ใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ ให้สามารถดำรงอยู่ต่อไป กฎหมายที่จะบังคับใช้ในปลายปีนี้จึงห้ามการลดราคาหนังสือเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ และห้ามไม่ให้ร้านออนไลน์ยกเว้นการคิดค่าบริการส่งหนังสือ   ด้านร้านหนังสือก็ปรับตัวกันขนานใหญ่ นอกจากขายหนังสือแล้วก็ยังต้องขายกาแฟ เปิดแกลอรี่โชว์/ขายงานศิลปะ รวมไปถึงมีสนามเด็กเล่นไว้บริการด้วย   ขึ้นหรือลงดี? มาลุ้นกันว่าชาวเมืองปักกิ่งจะต้องควักกระเป๋าจ่ายค่ารถเมล์ รถไฟสาธารณะมากขึ้นกี่หยวน คงจำกันได้ว่าปักกิ่งเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2008 ตอนนั้นรัฐบาลจีนประกาศลดราคาบัตรโดยสารรถสาธารณะประเภทต่างๆ เพื่อให้ผู้คนเปลี่ยนจากการใช้รถส่วนมาโดยสารรถสาธารณะ การจราจรบนท้องถนนจะได้คล่องตัวขึ้นในช่วงดังกล่าว แต่จนถึงวันนี้ราคายังคงไม่ได้ปรับขึ้น ผู้ประกอบการรถสาธารณะจึงออกมาเรียกร้องให้รัฐปรับเพิ่มค่าบริการให้สอดคล้องกับต้นทุน ... แต่เดี๋ยวก่อน เงื่อนไขเขาไม่ธรรมดา ข้อเสนอคือขอให้ค่าตั๋วโดยสารรถเมล์เป็นเพียง 1 ใน 3 ของค่าบัตรโดยสารรถไฟที่ปรับขึ้นเท่านั้น เช่น ถ้าค่าตั๋วรถไฟปรับขึ้นไปเป็น 6 หยวน (ประมาณ 30 บาท) ค่าตั๋วรถเมล์ก็ควรขึ้นเป็น 2 หยวนเท่านั้น เป็นต้น เหตุที่ต้องเสนออย่างนี้เพราะที่ผ่านมาคนเมืองปักกิ่งไม่ค่อยนิยมการเดินทางด้วยรถเมล์ พวกเขาเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟใต้ดินเพราะมันทั้งถูกและเร็วกว่า แม้จะไปไหนมาไหนใกล้ๆ ก็ยังใช้บริการรถไฟใต้ดิน หวังว่าเขาจะเลือกลดราคาตั๋วรถเมล์ ไม่ใช่คงราคาตั๋วรถเมล์แล้วไปเพิ่มราคาตั๋วรถใต้ดินนะ   ห่วงสุขภาพ ช่วงนี้บรรดานักการเมืองรัสเซียฟิตจัด พากันเสนอกฎหมาย “เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน” ออกมาอย่างต่อเนื่อง เรียกทั้งเสียงโวยวายและเสียงสนับสนุนได้ไม่น้อย เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็ประกาศห้ามการขายชั้นในสตรีที่มีอัตราการระบายความชื้นต่ำกว่าร้อยละ 6 หมายความว่าตั้งแต่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาจะต้องไม่มีชั้นในที่ทำจากใยสังเคราะห์(เพราะระบายความชื้นได้ไม่เกินร้อยละ 3.6) วางขายตามห้างร้านในเขตรัสเซีย คาซักสถาน และเบลารุส เด็ดขาด เท่านั้นยังไม่พอ เขาเตรียมเสนอให้ห้ามขายร้องเท้าส้นแบนและรองเท้าส้นสูง เพราะมันทำให้เกิดความผิดปกติของเท้า ปัจจุบันกว่าร้อยละ 40% ของคนรัสเซียมีอาการดังกล่าว ส่วนรองเท้าผ้าใบสำหรับคุณผู้ชายก็มีลุ้นจะโดนแบนเช่นกัน รวมถึงในกองทัพด้วยเพราะเขาอ้างว่ารองเท้าผ้าใบทำให้ความพร้อมทางการทหารลดลง ล่าสุดข่าวว่ามีการเสนอให้ห้ามขายบุหรี่ให้กับสตรีที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีด้วย เพราะเกรงว่าเด็กรัสเซียรุ่นใหม่ที่จะเกิดมาจะสุขภาพไม่ดีเท่าที่ควร ก่อนหน้านี้ก็ออกกฎหมายห้ามไม่ให้บริษัทบุหรี่บริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลต่างๆ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ “ไร้จริยธรรม” เม็ดบีดส์เจ้าปัญหา อิลินอยส์เป็นรัฐแรกของสหรัฐอเมริกาที่ประกาศห้ามการผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางที่มีเม็ดพลาสติกแบบที่เราเรียกกันว่า “ไมโครบีดส์” เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพราะมันเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม และขณะนี้กำลังมีการเสนอให้แบนผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทั้งประเทศภายในปี 2018 ไมโครบีดส์ ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1 มิลลิเมตร สามารถหลุดรอดผ่านอุปกรณ์บำบัดน้ำเสียไปลงในแหล่งน้ำได้สบายๆ แค่นิวยอร์ครัฐเดียวก็มีการปล่อยเม็ดพลาสติกเหล่านี้ลงแหล่งน้ำถึง 19 ตันต่อปี ในเขตทะเลสาบน้ำจืดทั้ง 5 (The Great Lakes) เขาก็พบว่ามีเม็ดพลาสติกเล็กๆ พวกนี้อยู่ 466,000 เม็ดต่อตารางกิโลเมตร และมากกว่าร้อยละ 80 ของมันเป็นไมโครบีดส์ที่ใช้ในเครื่องสำอางนั่นเอง รายงานล่าสุดจากองค์กรสหประชาชาติระบุว่า ขณะนี้แหล่งน้ำในโลกของเราเต็มไปด้วยเศษพลาสติกเล็กๆ เหล่านี้ คิดเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศสัตว์น้ำไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านเหรียญ ทางด้านผู้ผลิตอย่างลอรีอัล และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ก็ตื่นตัวและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ด้วยการเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นอย่างเกลือทะเล เป็นต้น   เครียดจนต้องขาด งานวิจัยพบว่าสถิติการขาดงานอันสืบเนื่องจากสาเหตุเรื่องความเครียดของชาวดัทช์ในปีนี้สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ Arboned สำนักวิจัยด้านสุขภาพและความปลอดภัยของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเก็บข้อมูลจากคนทำงาน 1.1 ล้านคน ระบุว่าจากปี 2009 เป็นต้นมานั้น มีคนขาดงานเพราะความเครียดเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า และที่สำคัญแค่ครึ่งแรกของปีนี้ก็มีการขาดงานไปแล้ว 4.6 ล้านวัน ร้อยละ 10 ของวันลางานเหล่านี้มีเหตุผลแนบท้ายว่าเพราะ “เครียด” เมื่อคำนวณดูแล้วพบว่านายจ้างจะมีค่าใช้จ่ายถึง 800 ล้านยูโรสำหรับการขาดงานเพราะสาเหตุนี้ โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการลางานมากที่สุดได้แก่ ธุรกิจด้านการศึกษา การแพทย์ ไอที และการเงินการธนาคาร ส่วนสาเหตุที่ทำให้เครียดเป็นอันดับต้นคือความวิตกเรื่องภาระการเงินและการหาสมดุลระหว่างงานกับชีวิตครอบครัว   //

อ่านเพิ่มเติม >