ฉบับที่ 233 ‘การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ’ ว่าแต่ต้องทำยังไงล่ะ? (1)

        ตอนที่แล้วเราคุยกันเรื่อง ‘หนี้’ พร้อมกับแยกหนี้ดีและหนี้เสียให้เห็น แต่เอาเข้าจริงสิ่งที่คนมีหนี้สินส่วนใหญ่อยากรู้มากที่สุดน่าจะเป็นว่า         “แล้วฉันจะปลดหนี้ได้ยังไง?”         นี่เป็นคำถามคลาสสิกกันเลยทีเดียว ถึงกับมีหนังสือที่ว่าด้วยการปลดหนี้โดยเฉพาะ ลองมาดูกันก่อนว่าคนไทยแบกหนี้กันหนักแค่ไหน ผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อปีที่แล้ว พบว่าคนไทยมีหนี้ครัวเรือน 340,053 บาท ต่อ 1 ครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบประมาณร้อยละ 59.2 ต้องจ่ายหนี้ 16,960 บาทต่อเดือน กับหนี้นอกระบบอีกร้อยละ 40.8 ส่วนนี้ต้องจ่ายหนี้ต่อเดือน 5,222 บาท             ผลสำรวจนี้ยังแบ่งตามอาชีพด้วย ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานเอกชน เจ้าของกิจการ แรงงานรับจ้างรายวัน และเกษตรกร ใน 5 อาชีพนี้มี 2 อาชีพที่มีแหล่งหนี้เหมือนกันเป๊ะ แค่สลับตำแหน่งความมากน้อยของหนี้         เฉลย-ข้าราชการและพนักงานเอกชนเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ และหนี้บัตรเครดิต แต่สาเหตุการเกิดหนี้ของข้าราชการเรียงลำดับจากบ้าน รถ และบัตรเครดิต ส่วนพนักงานเอกชนจะเป็นรถ บัตรเครดิต และบ้าน ขณะที่ 3 อาชีพที่เหลือหนี้บัตรเครดิตไม่ติด 3 อันดับแรก ตรงนี้ก็น่าสนใจว่าเป็นเพราะอะไร         กลับมาสู่คำถามที่ว่า “แล้วฉันจะปลดหนี้ได้ยังไง?”         สิ่งแรกที่ต้องทำเลยคือการ ‘หยุดก่อหนี้เพิ่ม’ ทั้งหนี้ดี-หนี้ไม่ดี เอาล่ะๆ หนี้บ้าน หนี้รถ ซึ่งเป็นหนี้ผ่อนกันยาว ก่อแล้วใช่ว่าจะหยุดง่ายๆ ตรงนี้ละเอาไว้ อาจจะฟังดูยวนยีไปหน่อย แต่ลองคิดดูว่าคุณจะปลดหนี้สินได้ยังไง ถ้าจ่ายหนี้ทุกเดือนและยังก่อหนี้ใหม่ทุกเดือน สิ่งที่ต้องจำให้ขึ้นใจเลย ‘อย่าสร้างหนี้ใหม่เพื่อเอาไปโปะหนี้เก่า’ แบบนี้ยิ่งหนัก เพราะจะทำให้เงื่อนหนี้ที่รัดคอคุณอยู่ ยิ่งรัดหนักขึ้นและแก้ยากขึ้น         คงเคยได้ยิน คนที่มีบัตรเครดิตหลายใบ รูดปื๊ดๆ เพลินๆ ไป จนผ่อนไม่ไหว ต้องกดเงินสดจากบัตรใบหนึ่งมาจ่ายหนี้บัตรอีกใบ สุดท้ายก็พัง         มีคำแนะนำชนิดหักดิบว่า หักบัตรเครดิตทิ้ง เป็นวิธีการที่ดุดันอยู่ แต่ก็ไม่ค่อยอยากแนะนำ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่บัตรเครดิต ลองนึกดู ในสถานการณ์ที่ ‘จำเป็น’ ต้องใช้เงิน แล้วคุณมีเงินสดไม่พอหรือมีเงินออมฉุกเฉินอยู่ในรูปของกองทุนตราสารเงิน ซึ่งการจะได้เงินสดกลับคืนมาต้องใช้เวลา 1 วันหรือ 2 วัน ถ้าคุณสั่งขายหน่วยลงทุนหลัง 15.00 น. บัตรเครดิตจะเป็นตัวช่วยที่ดี         อย่าลืม! ต้องแยกให้ออกว่าอะไร ‘จำเป็น’ และ ‘ไม่จำเป็น’         ดังนั้น ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่บัตรเครดิต หากอยู่ที่วิธีและวินัยในการใช้บัตรเครดิตต่างหาก         ส่วนว่าจะแก้วิธีและวินัยอย่างไร ตอบยากมาก เพราะมันเป็นเรื่องของวิธีคิดและพฤติกรรมของแต่ละบุคคล         กลับมาเรื่องแก้หนี้ ซึ่งยังไม่จบ เพราะแค่ข้อแรกเอง มันยังมีขั้นตอนและรายละเอียดอื่นๆ อีกพอสมควร แต่พื้นที่จบแล้ว คงต้องไปต่อกันตอนหน้า และอย่างที่บอกเสมอ เรื่องการเงินส่วนบุคคลไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลไปเสียหมด เรื่องหนี้ก็ไม่ต่างกัน แนวทาง นโยบาย และการบริหารของรัฐเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออกเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ศาลยกฟ้องคดีบัตรเครดิต เหตุเอาเปรียบผู้บริโภค เตือนอย่ายอมจ่ายหนี้ หากเลิกสัญญาแล้ว

ศาลยกฟ้องคดีธนาคารฟ้องผู้บริโภค ไม่ชำระค่าบัตรเครดิต เหตุใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ด้านศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะอย่ายอมจ่ายหนี้บัตรฯ หากขอยกเลิกสัญญาในเวลากำหนดกรณีที่มีผู้บริโภคถูกธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ฟ้องคดี จากการค้างชำระค่าบัตรเครดิต หลังจากรูดซื้อบริการคอร์สเสริมความงาม และภายหลังได้ทำเรื่องขอยกเลิกการใช้บริการคอร์สเสริมความงามแล้วนั้นนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ กรณีใช้บัตรเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ ซื้อคอร์สบริการเสริมความงามจากสถานเสริมความ ซึ่งเป็นคอร์สทำหน้าจำนวน ๑๐ ครั้ง ในราคา ๕๐,๐๐๐ บาทโดยผู้ร้องได้ทดลองทำหน้า ๑ ครั้ง และครั้งแรกเป็นการทดลองทำให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ขณะที่ทำก็เกิดอาการแพ้ คันที่ใบหน้าและรอบดวงตา หลังจากนั้นก็ไปรักษาอาการแพ้ที่โรงพยาบาล ต่อมาจึงได้แจ้งสถานเสริมความงามเพื่อขอยกเลิกสัญญาในการใช้บริการ และแจ้งธนาคารฯ ให้ระงับการชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิตนางนฤมล เล่าต่อไปว่า ต่อมาทางธนาคารฯ ยื่นเรื่องฟ้องผู้บริโภครายนี้ต่อศาล จากการค้างชำระค่าบริการคอร์สเสริมความงาม ทั้งที่ผู้บริโภคส่งเรื่องไปให้ธนาคารฯ ระงับการจ่ายเงินแล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ศาลพิพากษาว่า ธนาคารฯ กระทำโดยเอาเปรียบผู้บริโภค และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงให้ผู้ร้องไม่ต้องชำระค่าบริการของสถานเสริมความงาม และให้ยกฟ้อง“ผู้บริโภคมักถูกฟ้องคดี เวลาเอาบัตรเครดิตไปรูดซื้อสินค้าหรือบริการ แล้วผู้ประกอบการผิดสัญญา พอบอกเลิกสัญญาไปแล้ว ก็ไม่ได้แจ้งกับธนาคารเจ้าของบัตรฯ หรือแจ้งไปแล้วก็ไม่ดำเนินการให้ ทั้งที่ธนาคารฯ ควรจัดการปัญหานี้ให้กับผู้บริโภคด้วย”  นางนฤมล กล่าวต่อว่า การที่ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ได้แปลว่าผู้บริโภคต้องยินยอมใช้หนี้ที่เกิดขึ้น ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ปี พ.ศ.๒๕๔๒ ข้อ ๓ (๗) (ข) ระบุว่า ถ้าผู้บริโภคไม่ได้รับสินค้า หรือบริการเป็นไปตามที่ตกลงไว้ มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ภายใน ๓๐ - ๔๕ วันแล้วแต่กรณีหัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะนำต่อไปว่า เมื่อเลิกสัญญากับผู้ประกอบการแล้ว ผู้บริโภคต้องแจ้งให้ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตระงับการจ่ายเงินให้กับคู่กรณีด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องทำทุกอย่างให้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐาน หากมีการฟ้องคดีเกิดขึ้น“อย่างกรณีนี้ ผู้บริโภคใช้บริการแล้วแพ้ ใช้บริการไม่ได้ หรือใช้บริการแล้วไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ สามารถยกเลิกสัญญาได้ตามสิทธิของผู้บริโภค และเมื่อผู้ร้องได้แจ้งกับธนาคารเจ้าของบัตรฯ แล้ว แต่ธนาคารฯ ยังจ่ายค่าบริการให้สถานเสริมความงามไป ทั้งที่ยกเลิกสัญญาแล้ว ดังนั้น ธนาคารฯ จะมาเรียกเก็บเงินกับผู้บริโภคไม่ได้” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ กล่าวทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ข้อ ๓ (๗) (ข) ระบุว่า ไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้บริโภคที่จะขอยกเลิกการซื้อสินค้า หรือรับบริการภายในระยะเวลา ๔๕ วัน นับแต่วันที่สั่งซื้อหรือขอรับบริการ หรือภายในระยะเวลา ๓๐ วัน นับแต่วันถึงกำหนดมอบสินค้า หรือบริการ ถ้าผู้บริโภคพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้รับสินค้า หรือบริการ หรือได้รับแต่ไม่ตรงตามกำหนด ไม่ครบถ้วน ชำรุดบกพร่องดาวน์โหลดตัวอย่างจดหมายบอกเลิกสัญญา คลิก!ข้อมูลนี้เป็นกรณีตัวอย่างจากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้เขียนมีความตั้งใจกระตุ้นเตือนและให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสิทธิของตนที่พึ่งทำได้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามก่อนการตัดสินใจซื้อบริการใดๆ ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจซื้อ

อ่านเพิ่มเติม >