ฉบับที่ 269 ความเปราะบางของสิทธิผู้บริโภคในหนี้รถยนต์

        เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ นายสุรพล โอภาสเสถียร ได้ออกมาเตือนถึงสถานการณ์หนี้เสียสินเชื่อรถยนต์ที่พุ่งสูง  มีรถยนต์เสี่ยงจะถูกยึดถึงกว่า 1 ล้านคัน เป็นสัญญาณเศรษฐกิจพัง ไม่ใช่แค่หงอย หรือ ซึม!         กลุ่มลูกหนี้ที่กำลังจะเป็นหนี้เสียในไตรมาสที่ 1 / 66 จำนวน 190,000  ล้านบาท และกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้วในไตรมาสที่ 1 / 66 จำนวน 180,000 ล้านบาท ทั้ง 2 กลุ่มมีมูลหนี้เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเวลาเดียวในจากปีก่อนถึงกว่า 40,000 ล้านบาท        กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มีปัญหาหนี้เสียคือกลุ่ม GEN Y ช่วงอายุ 18 – 32 ปี  มีพฤติกรรมจ่ายค่างวด 1- 3 งวด หรือค้าง 2 งวด และกลับมาจ่ายในงวดที่สามเพื่อประคับประคองหนี้ และไม่ให้รถถูกยึด!         นี่เป็นเพียงสถานการณ์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 66 เท่านั้น ยังไม่ต้องกล่าวถึงสถานการณ์ตลอดทั้งปีที่จะเกิดขึ้น         ผู้คนจำนวนมากกำลังตกในสถานการณ์เป็นหนี้เสียในกลุ่มหนี้เช่าซื้อรถยนต์ กลุ่มหนี้ที่ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองน้อยที่สุดประเภทหนึ่ง เพราะประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้เช่าซื้อทำให้ต้องอาศัยกฎหมายหลายฉบับทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรมและกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีผลบังคับใช้กับสัญญาหลากหลายประเภทไม่ใช่เพียงสัญญาเช่าซื้อเท่านั้นทำให้ยังเกิดความ ‘ไม่พอดี’ หรือ ‘ช่องว่าง’ ในการกำกับดูแลทำให้ผู้บริโภคยังถูกเอาเปรียบ เช่น กรณีคุณยุพิน อายุ 45 ปี ทำอาชีพค้าขาย ใน จ. สุรินทร์ ที่เริ่มมีปัญหาค้างส่งงวดรถตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิดที่ผ่านมา          “ก่อนที่ยังไม่เกิดปัญหาโควิด พี่ยังหารายได้ได้คล่อง แต่เมื่อเกิดโควิดแล้วทางจังหวัดสั่งให้หยุดตลาดนัด 3 เดือน ทั้งเช้า- เย็น เราก็หมดโอกาสทำมาหากินแล้ว ตอนนั้นเราผ่อนรถอยู่กับอีกธนาคาร รายจ่ายเราเท่าเดิมแต่รายได้เราไม่มี ทั้งค่าบ้าน ค่าลูกไปโรงเรียน ค่ารถโรงเรียน ค่าเช่าบ้าน แล้วมีรายได้ทางเดียวเราเลยต้องไปพึ่งเงินกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยรายวันมาช่วยเราส่งเคลียร์หมด พอเราหมุนเงินไม่ทัน ค้างงวดรถ เราต้องจ่ายแบบค้าง 2 งวด และจ่ายงวดที่ 3 เพื่อให้รถยังอยู่เพราะเราต้องเอารถใช้ขับขายของ ”         “พอเข้างวดที่ 3 เราก็ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ) เขาบอกว่าหลังจากค้างถึงงวดที่ 3 แล้วต้องบวกไปอีกไม่เกิน 30 วัน  สัญญาจะยกเลิกอัตโนมัติแล้วถึงจะมีสิทธิยึดรถ เราก็เชื่อแบบนั้น แต่พอค้างงวดที่ 3 ผ่านไปวันเดียวเขามาที่บ้านเลย เราก็บอกว่า คุณจะยึดไม่ได้นะ เขาก็ไม่ฟัง เราบอกว่ายังมีกฎหมายที่ยังคุ้มครอง  เราไม่ให้ยึดเขาก็ไม่ยอม  เราเลยบอกว่าจะหาเงินมาให้ 1 งวด เขาบอกไม่ได้  คุณต้องเคลียร์ทั้งหมด  อย่างสมมุติเราผ่อนเดือนละ 10,000 เราก็ต้องหาเงินไปให้เขา 30,000 บาท พร้อมค่าติดตามอีก หลังจากนั้นไม่เกิน 1 อาทิตย์เราก็ส่งเข้าไปอีก 1 งวด เป็น 2 งวด เขาก็หยุดตามแต่บอกให้จ่ายเพิ่มให้คนติดตามอีก 1,200 เราก็ไม่ได้ให้ ”         หลังจากนั้นด้วยมีรายได้ไม่แน่นอน แม้เมื่อเริ่มกลับมาขายของในตลาดได้ แต่เมื่อเข้าช่วงหน้าฝน ขายของในตลาดนัดไม่ได้ติดต่อกัน 2-3 สัปดาห์ คุณยุพินเริ่มกลับมาค้างจ่าย แต่เมื่อหาเงินกลับไปโปะค่างวดรถกลับมีปัญหาที่หาข้อยุติไม่ได้ คุณยุพินจึงตัดสินใจรีไฟแนนซ์กับอีกสถาบันการเงินหนึ่ง         “เราเอาเงินไปจ่ายค่างวด 16,000 บาท จ่ายที่หน้าเคาน์เตอร์ธนาคารแต่เขาตัดเป็นค่าติดตามทวงถามทั้งหมดไม่ตัดงวดให้เรา เราเลยไม่เอาแล้ว พอมารีไฟแนนซ์กับอีกที่ เราไม่จ่ายหน้าเคาน์เตอร์แล้ว อันนี้คือบทเรียนที่เราได้เรียนรู้”         “ตอนนี้รถยังอยู่ เพราะเรายังพยายามจ่ายงวด 3 ไว้ เพื่อเอารถไว้ทำมาหากิน เราไม่คิดว่าจะเอารถไปแอบซ่อนไว้ที่ไหน เราชัดเจนว่าเราทำมาหากิน ถามว่าเราเสียเปรียบไหมเรารู้อยู่แล้วไฟแนนซ์เป็นแบบนี้  การจัดแบบนี้เราก็ยอมรับแต่ที่เป็นปัญหาเศรษฐกิจมันไม่ดีแบบนี้ เราจ่ายอยู่แล้ว เพราะเราอยากเอารถไว้ใช้ทำมาหากิน เราคิดว่ามีประชาชนแบบเราเยอะ เราถาม สคบ. เรายังอยู่ในช่วงเวลาที่กฎหมายคุ้มครองแต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่ นี่เป็นช่องว่างที่ประชาชนยังขาดความคุ้มครอง”         กรณีของคุณยุพินเป็นตัวอย่างสะท้อนว่า ประเทศไทยยังขาดกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิผู้เช่าซื้อที่เพียงพอ มีประสิทธิภาพและสามารถเป็นแนวทางให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิบัติได้ถูกต้องตรงตามกันได้    สรุปปัญหา ที่ยังขาดการคุ้มครองผู้บริโภคในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์        · ดอกเบี้ยในช่วงที่พักชำระหนี้ มีการคิดไม่เป็นธรรม        · ไม่มีการกำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้ที่ชัดเจน  ผู้ทวงถามหรือไฟแนนซ์คิดตามใจ        · การคิดยอดหนี้เช่าซื้อส่วนขาดไม่ชัดเจน และสูงกว่าที่ศาลจะพิพากษาให้ได้        · กฎหมายยังให้อำนาจกับผู้ให้เช่าซื้อมากเกินไป กล่าวคือยังไม่มีการนำสัดส่วนของการผ่อนชำระมาคิดให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เช่าซื้อ เช่น แม้ผู้เช่าซื้อบางรายจะผ่อนชำระมาจนใกล้จะหมดแล้ว แต่เมื่อขาดส่ง รถก็ถูกยึดไปอย่างง่ายดายแนวทางการต่อสู้ในชั้นศาล เมื่อถูกไฟแนนซ์ฟ้องคดี   ทนายความ กิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์  ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้ให้คำปรึกษาเรื่องหนี้รถยนต์ และการเงินการธนาคารโดยเฉพาะ ได้สรุปข้อควรรู้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคไว้ดังนี้         · ผู้เช่าซื้อสามารถคืนรถแบบไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่างแม้แต่บาทเดียว หากไม่มีค่างวดรถค้างจ่าย เรื่องนี้ศาลได้มีคำพิพากษาออกมาแล้ว ใน  ฎ 1203/2565 , ฎ 5239/2561        · หากค้างจ่าย 3 งวดซ้อน กฎหมาย มีเงื่อนไขกำหนดให้ไฟแนนซ์ ต้อง” ทำหนังสือบอกเลิกสัญญา “แจ้งมาถึงผู้เช่าซื้อ “ และต้องนับไปอีก 30 วัน นับจากที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือ นั่นถึงจะทำให้ การบอกเลิกสัญญามีผลสมบูรณ์ตามสัญญาและตามกฎหมาย  หากไฟแนนซ์ มายึดรถไปก่อน  “ค่าส่วนต่างผู้เช่าซื้อไม่เสียแม้แต่บาทเดียว ” แต่ผู้เช่าซื้อ ยังต้องรับภาระ นั่นคือ “จ่ายค่าขาดประโยชน์ “ ในช่วงที่ค้างจ่ายค่าเช่าซื้อรถ 3 งวด        · เมื่อผู้เช่าซื้อถูกฟ้องร้องในชั้นศาล  ผู้เช่าซื้อควรยื่นคำให้การสู้คดีในชั้นศาลเพื่อร้องให้ศาลพิพากษาโดยการคำนวนเงินต้น และดอกเบี้ยแยกจากกัน  เช่น ราคาเช่าซื้อรถ 1 ล้านบาท ต้นทุนรถจริงอยู่ที่ราคา 6 แสนบาท บวก ดอกเบี้ย 60 งวด หรือ 5 ปี เท่ากับ 4 แสนบาท  สมมุตเมื่อจ่ายเงินงวดให้ไฟแนนซ์ ไปแล้ว 5 แสนบาทและไฟแนนซ์ ได้ยึดรถไปขายทอดตลาดได้เงิน 2.5 แสนบาท ไฟแนนซ์จึงได้กำไรแล้วส่วนหนึ่ง ศาลจึงจะพิพากษาให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบให้อีกตามความเหมาะสมซึ่งจะไม่สูงตามที่ไฟแนนซ์ได้ร้องขอต่อศาล           · ดังนั้นหากผู้เช่าซื้ ถูกไฟแนนซ์ฟ้องผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ อย่าตกใจ สามารถสู้คดีในศาล เพื่อลดหนี้ได้ แต่สิงสำคัญคือต้องไปศาล  นี่คือสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงเพื่อพิทักษ์สิทธิของท่านเองเพื่อให้ ศาลมีข้อมูลเพียงพอที่ใช้คัดง้างกับคำขอของไฟแนนซได้          · เมื่อถูกไฟแนนซ์ยึดรถเอาไปขายทอดตลาด  ไฟแนนซ์จะต้องมีหนังสือแจ้ง ผู้เช่าซื้อ ให้รับทราบ วัน - เวลา และ สถานที่ขาย ล่วงหน้า อย่างน้อย 7 วัน หากไฟแนนซ์ ไม่ยอมแจ้ง , ศาล ยกฟ้อง ทุกกรณี คณะกรรมการสัญญา “ เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา” ต้องทำตามระเบียบขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด   ความเคลื่อนไหว เพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ในปัจจุบัน   สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค        ช่วงเดือน มกราคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ ออกมาตรฐานกลางเพื่อให้มีการกำกับดูแลที่ครอบคลุมและเท่าเทียมในการให้บริการด้านนี้แก่ประชาชน ภายใต้ข้อกำหนดใหม่ของ สคบ. คือการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยการให้เช่าซื้อที่คำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ต่อปีสำหรับรถยนต์ใหม่ ไม่เกิน 15% สำหรับรถยนต์มือสอง และไม่เกิน 23% สำหรับรถจักรยานยนต์ การปรับเกณฑ์ในครั้งนี้มุ่งหวังให้ผู้ซื้อรถได้รับประโยชน์เป็นสำคัญ โดยผู้ซื้อรถที่ทำสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 จะใช้ข้อกำหนดใหม่ดังกล่าว         หากลูกหนี้นำเงินก้อนมาโปะปิดก่อนกำหนด เกณฑ์ใหม่กำหนดให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระไม่เกิน 40% (จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 50%) ของยอดดอกเบี้ยคงเหลือ โดยขึ้นอยู่กับจำนวนค่างวดที่ชำระไปแล้วด้วย เช่น หากชำระค่างวดมาเกิน 2 ใน 3 ของทั้งหมด แล้วนำเงินก้อนมาโปะปิดได้ก่อนกำหนด จะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่เหลือ รวมทั้งลดเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระค่างวดเหลือไม่เกิน 5% จากเดิมไม่เกิน 15% และปรับการคิดติ่งหนี้กรณีรถที่โดนยึด ให้คิดได้เฉพาะค่างวดที่ผิดนัดชำระ ค่างวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ก่อนมีการบอกเลิกสัญญา นอกจากนี้ ผู้ให้บริการยังต้องแจ้งสิทธิเรื่องการซื้อรถคืนและการขายทอดตลาดให้ลูกหนี้ทราบชัดเจน ซึ่งเกณฑ์ใหม่ทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)         ร่วมกันจัดทำ “ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551” (พ.ร.ฎ. ธุรกิจเช่าซื้อ-ลีสซิ่ง) เพื่อให้การประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อและลิสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีการกำกับตรวจสอบเป็นการเฉพาะเพื่อยกระดับการประกอบธุรกิจดังกล่าวให้มีมาตรฐาน ส่งเสริมการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินที่ไม่ส่งเสริมให้ก่อหนี้สินเกินตัว รวมทั้งมีการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม ได้รับข้อมูลโปร่งใสเพียงพอต่อการตัดสินใจ และเข้าถึงบริการด้วยราคาที่เหมาะสม ซึ่งร่าง พ.ร.ฎ. นี้ ได้รับความเห็นชอบหลักการจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ 1 พ.ย. 2566 นี้          มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีความหวังและจะติดตามต่อไปว่าผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครอง ...ได้รับความเป็นธรรมในการเข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >