ฉบับที่ 176 BB Cream หน้าสวยเนียนใสในหลอดเดียว...แล้วเราจะซื้อหลอดไหน?

ก่อนที่สมาชิกทั้งสาวเล็กสาวใหญ่จะน้อยใจเพราะฉลาดซื้อว่างเว้นจากการนำเสนอผลทดสอบผลิตภัณฑ์ความงามมาพักใหญ่ เรารีบเอาใจคุณด้วยผลทดสอบ Beauty Balm หรือ Blemish Balm หรือ บีบีครีม แถมด้วย Color Correcting Cream หรือ ซีซีครีมด้วย แรกเริ่มเดิมที บีบีครีมถูกพัฒนาขึ้นโดยแพทย์ผิวหนังในเยอรมนีสำหรับคนไข้ที่เข้ารับการรักษาด้วยเลเซอร์ ต่อมาครีมนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงด้วยกระแสในประเทศเกาหลี ที่ทำให้มันเป็นที่รู้จักกันไปทั่วเอเชีย แล้วย้อนกลับไปฮิตในยุโรปและอเมริกาในที่สุด  ผลิตภัณฑ์นี้เป็นที่นิยมเพราะมัน (เคลมว่า) ทำได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน ตั้งแต่บำรุงผิว ปรับสภาพผิวก่อนแต่งหน้า รองพื้น ปกปิดจุดด่างดำ และป้องกันแดด ฉบับนี้เรานำเสนอบีบีครีมและซีซีครีมจำนวน 24 ผลิตภัณฑ์ ที่มีขายในประเทศไทยทั้งตามเคานท์เตอร์และที่นิยมสั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ท จากทั้งหมด 34 ผลิตภัณฑ์ที่สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing) ได้ส่งไปทดสอบยังห้องปฏิบัติการ Institutes Dr. Schrader ในเยอรมนี คะแนนที่ให้นั้นเน้นคุณสมบัติในการบำรุงผิวให้ชุ่มชื้นเป็นหลัก (เพราะสามารถตรวจวัดได้ด้วยเครื่องมือในห้องปฏิบัติการ) รวมถึงคุณสมบัติในการป้องกันแสงแดด และป้องกันรังสี UVA ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของความพึงพอใจของอาสาสมัครที่ทดลองใช้โดยไม่ทราบชื่อผลิตภัณฑ์ มาดูกันเลยดีกว่า ว่าคุณควรเลือกตัวไหนไว้เติมคอลเลคชั่นเมคอัพ นี่เป็นอีกครั้งที่เราพบว่าราคาแพงอาจไม่รับรองคุณภาพหรือความพึงพอใจเสมอไป และเนื่องจากทีมทดสอบเขาหักคะแนนครีมที่มีส่วนประกอบที่อาจก่ออาการแพ้หรือมีสารรบกวนฮอร์โมนด้วย จึงทำให้ครีมบางตัวได้คะแนนรวมน้อย แม้จะได้คะแนนด้านคุณสมบัติและความพึงพอใจของผู้ใช้มากก็ตาม     เครื่องสำอางก็ “เจ” ได้นะ     ในขณะที่เครื่องสำอางจากต่างประเทศที่จะมาวางตลาดในประเทศจีนจะต้องส่งตัวอย่างให้ทางการจีนทดสอบกับสัตว์เช่น หนู หรือกระต่าย เพื่อรับรองว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ในหลายๆประเทศได้ประกาศห้ามการกระทำดังกล่าว (เช่นกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป อินเดีย และอิสราเอล) อีกหลายประเทศยังที่ไม่มีการบังคับแต่ก็ไม่ได้ห้ามการทดสอบดังกล่าว แต่เรามักเห็นป้าย “ไม่ทดลองกับสัตว์” ที่ดูเหมือนเป็นจุดขายของเครื่องสำอางหลายแบรนด์ ทั้งนี้เพราะมีเทคโนโลยีใหม่ๆที่ทำให้สามารถทดสอบได้โดยไม่ต้องเบียดเบียนสัตว์อีกต่อไป (เช่น การคำนวณด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การใช้ตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือเซลล์ที่มีผู้บริจาคให้ หรือแม้แต่การใช้อาสาสมัคร เป็นต้น)   ถ้าอยากมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่คุณเลือก “เจ” จริงๆ ให้สังเกตตราสัญลักษณ์จากองค์กรเหล่านี้:  Choose Cruelty Free   The Leaping Bunny และ PETA เป็นต้น หรือไม่ก็มองหาฉลากที่ระบุว่าไม่ทดลองกับสัตว์ "not tested on animals" หรือ "against animal testing" บนกล่องก็ได้เช่นกัน                                  

อ่านเพิ่มเติม >