ฉบับที่ 269 ซื้ออาหารเสริม แต่สินค้ามีสภาพหมดอายุทำอย่างไรดี

        คุณศรีนวล ซื้ออาหารเสริมมากินเพราะเห็นคำโฆษณาและรีวิวต่างๆ แล้วสนใจ ตอนที่หยิบซื้อมาก็คิดว่า ตรวจสอบข้างกล่องอย่างดีแล้วนะ ยังไม่หมดอายุ เมื่อวางใจ จึงกินต่อเนื่องวันละเม็ด รวม 4 วัน เท่ากับ 4 เม็ด คือแกะจากแผง ก็เอาเข้าปากกลืนลงคอเลย ทว่าวันที่ 4 ได้ทดลองตรวจสอบสภาพสิ่งของที่กินเข้าไป เลยพบว่ามีอะไรขาวๆ ติดอยู่บนอาหารเสริมที่เป็นสีเทา คราวนี้จึงรู้สึกวิตกว่ามันจะเป็น “ เชื้อรา “ หรือเปล่าพอแกะเปลือกแคปซูล ปรากฏว่า ผงขาวๆ ข้างในมันแข็งตัวเป็นแท่ง โดย 10 แคปซูล ใน 1 แผง มีสภาพเหมือนกันหมด ปัญหาคือ อีก 3 กล่อง ที่ซื้อมาพอแกะดูทั้งหมด มีสภาพไม่ต่างกัน จึงอยากจะคืนสินค้าและขอเงินคืน จึงปรึกษามูลนิธิฯ ว่าต้องทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา        1.แนะผู้ร้องซึ่งบริโภคอาหารเสริมเข้าไปแล้ว 4 วัน ควรไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลก่อน เพราะสภาพสินค้าตามที่ผู้ร้องแจ้งมามีลักษณะเหมือนกับสินค้าหมดอายุ และหากพบความผิดปกติควรขอใบรับรองแพทย์ด้วย เพื่อใช้เจรจาหรือฟ้องร้องในกรณีที่เจรจากันไม่ได้       2.แจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันกับทางสถานีตำรวจ อย่างน้อยเพื่อแสดงว่าตนเองไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ขายหรือผู้ผลิต             3.ตัวสินค้าแนะนำให้ผู้ร้องแจ้งกับทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอให้ตรวจสอบว่าเป็นสินค้าหมดอายุ สินค้าอันตรายหรือไม่        4.ติดต่อบริษัทผู้ขาย (ตัวแทนขายตรง) เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค        อาหารที่เสื่อมสภาพก่อนหมดอายุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่าผู้บริโภคอย่าปล่อยผ่าน เมื่อมีเหตุเสียหายจากผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าต้องรับผิดชอบ อย่าปล่อยให้คนทำผิดได้ใจ “ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ซูเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายนมหมดอายุ

        คุณน้ำตาล เจ้าของเรื่องราวที่มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เล่าว่า เมื่อ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา เธอไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง โดยเธอได้เลือกซื้อนมพร่องมันเนยยี่ห้อหนึ่งมา 1 แพ็ก ขนาด 225 มล. (แบบยูเอชที) หลังจากนั้นเมื่อเธอเดินทางกลับถึงบ้าน ก็นำนมที่ซื้อมาแช่เย็นไว้ในตู้เย็น ต่อมาเธอก็ได้หยิบนมดังกล่าวที่ซื้อมาดื่ม ขณะกำลังดื่มสายตาก็ดันเหลือบไปเห็นรายละเอียดวันหมดอายุบนกล่องนม อ้าว!! หมดอายุตั้งแต่ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ทำไมเอาของหมดอายุมาขายกันนะ ห้างก็ออกจะชื่อดังระบบแย่ขนาดนี้เลย         คุณน้ำตาลยังดื่มนมไม่หมด แต่เธอก็กังวลเพราะดื่มเข้าไปแล้ว สำคัญคือเธอตั้งครรภ์อยู่ด้วย อย่างแรกที่ทำคือ เธอรีบติดต่อไปถึงห้างฯ ดังกล่าวเพื่อแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นทันที ซึ่งทางพนักงานรับเรื่องแจ้งเธอว่าจะติดต่อกลับมาภายในเวลา 3-5 วัน คำตอบนี้เธอไม่โอเค จึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรจะทำอย่างไรต่อดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        เบื้องต้นผู้บริโภคหากพบปัญหาลักษณะนี้สามารถดำเนินการได้ตามแนวทางที่เขียนในกรณีของคุณกุ้ง (ซื้ออาหารดองหมดอายุจากห้างค้าปลีก)         กรณีคุณน้ำตาล วันที่ 15 มีนาคม 2566 ทางมูลนิธิฯ ได้ส่งหนังสือถึงบริษัทผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตขอให้ตรวจสอบและแก้ไขถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นไม่นานทางผู้ร้องก็ได้แจ้งกับทางมูลนิธิฯ ว่าผู้ร้องได้รับการติดต่อจากบริษัทแล้ว โดยได้รับแจ้งว่า ทางบริษัทฯ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพทั้งหมด           อย่างไรก็ตาม คุณน้ำตาลแม้ว่ารับประทานเข้าไปแล้วก็จริง แต่เธอไม่ได้มีอาการป่วยอะไร อาจเพราะเธอเห็นวันหมดอายุตอนที่ดื่มเข้าไปไม่มาก เธอจึงขอปฏิเสธที่จะรับเงินในส่วนนี้ไปแต่ขอให้บริษัทฯ ช่วยชดเชยเป็นค่าเสียเวลาให้เธอจำนวน 30,000 บาท ทางมูลนิธิฯ จึงให้ข้อมูลกับทางผู้ร้องว่า การเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินดังกล่าวนั้นเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะเรียกได้ และการจะได้รับค่าเสียหายตามที่เรียกร้องไปนั้นก็ขึ้นอยู่ที่ทางบริษัทฯ จะพิจารณาด้วยเช่นกัน ต่อมาเมื่อมีการเจรจาและทางบริษัทฯ ได้รับข้อเสนอคุณน้ำตาลไปพิจารณา ต่อมาได้รับการแจ้งจากผู้ร้องว่า บริษัทฯ ให้ไปรับเงินชดเชยจำนวน 5,000 บาท ที่สาขาที่ผู้ร้องใช้บริการ คุณน้ำตาลจึงข้อยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ห้างดังวางขายอาหารหมดอายุ

        ผู้บริโภคต่างรู้กันอยู่แล้วว่าก่อนจะซื้อของกินทุกครั้งนั้น ต้องดูวันผลิตและวันหมดอายุอย่างรอบคอบ แต่บางทีถ้าซื้อเยอะๆ ใครจะไปตรวจดูได้ทุกชิ้น พอดูชิ้นสองชิ้นว่ายังไม่หมดอายุ ก็คิดเหมาว่าลอตเดียวกันน่าจะเหมือนกัน โดยไม่ได้เฉลียวใจเลยว่าจะมีของที่หมดอายุแล้วปะปนอยู่ในนั้นด้วยเหมือนอย่างที่คุณกุ้งเพิ่งเจอมากับตัวเอง         เธอเล่าว่าไปซื้ออาหารทะเลดองจากห้างชื่อดังแห่งหนึ่งใกล้บ้านซึ่งเป็นห้างค้าปลีกที่ใช้บริการเป็นประจำ จำนวน 10 กระปุก จ่ายเงินไป 3,471 บาท แต่เมื่อนำมารับประทานแล้วเกิดท้องเสียอย่างรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วจึงกลับบ้านและเริ่มค้นหาสาเหตุที่ทำให้เสียทั้งสุขภาพและเงินจำนวนพอสมควร อย่างแรกคือของดองต้องสงสัย         แล้วก็อย่างที่สงสัย เมื่อค่อยๆ พิจารณาดูฉลากบนกระปุกหอยดองที่เพิ่งเปิดกินไป ก็เจอแจ็กพอต!! เพราะระบุวันหมดอายุบนฉลาก ระบุว่าหมดอายุก่อนหน้าวันที่ซื้อไปถึงเดือนกว่าๆ (ซื้อสินค้าวันที่ 18 ก.พ. 66 แต่ของหมดอายุตั้งแต่ 1 ม.ค. 66) แถมพอไปดูที่ซื้อมาทั้งหมดก็พบว่ายังมีอีก 2 กระปุกที่หมดอายุนานแล้วเหมือนกัน เรียกว่าปนๆ กันไปกับของที่ยังอยู่ในสภาพไม่หมดอายุ         คุณกุ้งจึงติดต่อไปทางห้างชื่อดังที่ขายของหมดอายุแล้วนี้และได้คุยกับทางผู้จัดการ คุณกุ้งขอให้ผู้จัดการช่วยออกค่ารักษาพยาบาลให้ก่อน แต่ทางนั้นจะขอเป็นคืนเงินค่าสินค้าทั้งหมดแทน ซึ่งเธอไม่รับข้อเสนอนี้ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ ผ่านช่องทางไลน์ เพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางการแก้ไขปัญหา         หากใครเจอกรณีเช่นเดียวกับคุณกุ้งนี้ แนะนำให้ดำเนินการเบื้องต้น ดังนี้        1. ถ่ายรูปฉลาก โดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้าและใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ขอให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)        2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจในท้องที่เพื่อเป็นหลักฐาน        3. ให้ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งต้องคิดให้ดีว่าเราต้องการให้เขาดำเนินการอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น (เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน จ่ายค่าเสียเวลา ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น)         4. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ บรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงเจ้าของร้านค้านั้นๆกรณีคุณกุ้งอยู่ระหว่างไกล่เกลี่ยเมื่อมีความคืบหน้าจะได้นำเสนอต่อไป ยังมีอีกเรื่องที่ผู้บริโภคพบปัญหาดื่มนมที่หมดอายุ ซึ่งซื้อมาจากซูเปอร์มาร์เก็ตดัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ห้างค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ เขาช่วยเซฟคุณจาก “อาหารหมดอายุ” อย่างไร

        ปี 2564 นิตยสารฉลาดซื้อเคยทำสำรวจห้างค้าปลีกในประเด็นเรื่องนโยบายและมาตรการการจัดการกับสินค้า อาหารหมดอายุ เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนเข้ามาที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่บ่อยครั้ง ในการสำรวจครั้งก่อนมีผู้ประกอบการที่ตอบแบบสอบถามเพียง 3 ราย จาก 11 ราย มาในปี 2565 นี้ หลังจากข่าว “ชาวเน็ตโอด! ห้างดัง ‘เอาเปรียบผู้บริโภค’ โต้เลิกพูดเถอะ ‘ของสดใหม่ทุกวัน’ (ที่มา https://www.dailynews.co.th/news/1607049/ ) ที่กล่าวถึงห้างนำเอาโดนัทที่หมดอายุแล้วมาปิดฉลากใหม่และวางจำหน่าย ซึ่งต่อจากข่าวนั้นมีประเด็นน่าสนใจหลายอย่างตามมา เช่น อย.ระบุว่าเอาผิดห้างไม่ได้ตาม พ.ร.บ.อาหาร ฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน จำเป็นต้องเร่งปรับปรุงกฎหมาย ส่วนการเอาผิดผู้ประกอบการต้องใช้กฎหมายอาญา ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลจากทาง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ จึงทำหนังสือเพื่อขอข้อมูลเรื่อง ขั้นตอนดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการเกี่ยวกับอาหาร/สินค้าหมดอายุ จากบริษัทที่ดำเนินงานห้างค้าปลีก ร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ 12 ราย ได้แก่        1.บริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด        2.บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด        3.บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด        4.บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด        5.บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน)         6.บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)         7.บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)         8.บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด        9.บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด        10.บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)         11.บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด        12.บริษัท สห ลอว์สัน จำกัดทั้งนี้ฉลาดซื้อกำหนดการปิดรับคำตอบวันที่ 10 ธันวาคม 2565 และมีบริษัท 5 รายที่ให้ข้อมูล ดังนี้        ·     บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด……The Mall        ·     บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)        ..7 eleven         ·     บริษัท สห ลอว์สัน จำกัด         ............        ลอว์สัน        ·     บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด...ฟู้ดแลนด์        ·     บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด....Lotus ผลการสำรวจ1.นโยบายการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง และช่องทางการร้องเรียน 2.มาตรการ ขั้นตอน การจัดเก็บสินค้า อาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง แหล่งข้อมูล1.หนังสือตอบจากบริษัท 5 ราย2.หน้าเว็บไซต์บริษัทฯ3.สอบถามเพิ่มเติมจากช่องทางลูกค้าสัมพันธ์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 น้ำส้มกล่องหมดอายุ

        มินิมาร์ท หรือร้านสะดวกซื้อ ทำให้เราสามารถหาซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น เราก็สะดวกด้วย อยากได้อะไรก็สามารถเข้าไปซื้อได้เลย แต่บางทีความสะดวก ง่าย รวดเร็ว อาจไม่ได้หมายถึงว่า เราควรจะวางใจจนไม่รอบคอบ ทั้งในฝ่ายของผู้ประกอบการและผู้ซื้อ เรามาดูกรณีนี้กัน         ภูผา อยากดื่มน้ำส้มหวานๆ เย็นๆ ให้ชื่นใจสำหรับหน้าร้อนอันแสนทรมาน จึงแวะเข้าร้านสะดวกซื้อระหว่างเดินไปทำงาน ด้วยความรีบ (เพราะสายแล้ว) เขาเดินปรี่เข้าไปหยิบน้ำส้มในตู้แช่มา 1 กล่อง แล้วรีบไปจ่ายเงินโดยความรวดเร็ว พอถึงสำนักงานหลังจากสแกนนิ้วเข้าสถานที่ทำงานได้เรียบร้อย ก็เจาะกล่องน้ำส้มดูดอย่างว่องไว แต่แล้วก็ต้องหน้าเบ้เพราะพบว่ารสชาติแปลกๆ เขาจึงหมุนกล่องไปดูวันหมดอายุที่นี้แหละรู้เลยว่าทำไม น้ำส้มถึงรสชาติแปลกๆ นั่นก็เพราะว่า น้ำส้มกล่องนี้หมดอายุไปแล้ว 2 วัน “อ้าว หมดอายุแล้วเอามาวางขายได้ไง”  ภูผาไม่เข้าใจว่าทำไมร้านสะดวกซื้อถึงเอาสินค้าหมดอายุมาขายให้เขา ร้านสะดวกซื้อน่าจะตรวจสอบให้ดีกว่านี้นะ ออกจะเป็นร้านมากสาขาใหญ่เสียขนาดนั้น แม้ราคาน้ำส้มกล่องไม่กี่บาท แต่เขาไม่รู้ว่าเขาจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างไหม เพราะว่าไม่อยากให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไป จึงมาขอคำปรึกษามูลนิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิ แนะนำว่าผู้ร้องสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ดังนี้        1. ถ่ายรูปกล่องน้ำส้ม ถ่ายให้เห็นฉลากสินค้าวันผลิต – วันหมดอายุ ล็อตการผลิต พร้อมเก็บกล่องน้ำส้มและใบเสร็จจากร้านสะดวกซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วยป้องกันใบเสร็จลบเลือน)         2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความ ร้องทุกข์กล่าวโทษ ที่สถานีตำรวจบริเวณใกล้ที่ทำงาน เพื่อเป็นหลักฐาน         3. ให้ติดต่อร้านสะดวกซื้อที่ซื้อน้ำส้มมา ขอให้ทางร้านแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยต้องคิดให้ดีว่าจะให้ร้านสะดวกซื้อรับผิดชอบอย่างไร เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า, ขอเงินคืน, จ่ายค่าเสียเวลา, ค่าขาดประโยชน์, ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         4. ถ้าไม่สามารถตกลงกับร้านสะดวกซื้อสาขาที่เกิดเหตุได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับบริษัท (สำนักงานใหญ่) โดยบรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า        กรณีจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 แห่งพระราชบัญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 246 ห้างไหนช่วยเซฟคุณจาก “อาหารหมดอายุ”

        จากเรื่องร้องเรียนเรียนเกี่ยวกับอาหารหมดอายุที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า ที่มีเข้ามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่บ่อยครั้ง นิตยสารฉลาดซื้อจึงได้ส่งแบบสอบถามไปยังผู้ประกอบการ ในเรื่องโยบายว่าด้วยการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุหรือหมดอายุออกจากชั้นวาง โดยบริษัทมีระยะเวลาในการตอบกลับตั้งแต่วันที่ 5 - 23 เมษายน 2564          จากทั้งหมด 11 บริษัทที่ได้รับแบบสอบถาม มีบริษัทที่ตอบกลับมาเพียง 3 ราย คือบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์  (Big C)เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม (Tesco Lotus)อิออน (ไทยแลนด์) (Maxvalu)ซึ่งในภาพรวมพบว่าทั้ง 3 ราย มีนโยบาย มาตรการ ขั้นตอน ช่องทางร้องเรียน และการกำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวางค่อนข้างชัดเจน อาจแตกต่างกันบ้างในอาหารแต่ละประเภท  รายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิด นโยบาย มาตรการ ช่องทางและระยะเวลาจัดการกับเรื่องร้องเรียน ของผู้ประกอบการทั้งสามรายมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย ผลการสำรวจ(ผลการสำรวจมี 5 หัวข้อ ใช้หัวข้อละ 1 หน้า หน้าไหนข้อมูลน้อยลงภาพประกอบ)ความคิดเห็นต่อเรื่องการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง Big Cคำนึงถึงลูกค้าเป็นอันดับแรก โดยตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องสินค้าหมดอายุเป็นอย่างมาก เพื่อให้ลูกค้าได้สินค้าที่มีคุณภาพอยู่เสมอ โดยได้กำหนดให้มีมาตรการในการจัดการเรื่องการเก็บสินค้าที่ใกล้หมดอายุและหมดอายุออกจากชั้นวาง เช่น การทำ MOU สินค้า (First in First out) การกำหนดระยะเวลาที่จะเก็บสินค้าออกจากชั้นวางฯ ล่วงหน้าก่อนหมดอายุ เป็นต้นMaxvaluให้ความสำคัญเรื่องการดำเนินการด้านสินค้าอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ เป็นอย่างมาก ในทุกๆ แผนกไม่ว่าจะเป็นสินค้าหารสดหรือาหารแห้ง ต้องเก็บออกจากชั้นวาง ตามกฎเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้มีสินค้าหมดอายุในพื้นที่ขายและเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของลูกค้าที่มาใช้บริการTesco Lotusตระหนักและให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ การจัดจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยคือหน้าที่และความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุด เพื่อผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากสาขาและช่องทางออนไลน์ได้บริโภคสินค้าที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสูงสุด โดยมีมาตรการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ หรือ อาหารหมดอายุ ออกจากชั้นวางสินค้าทันที           นโยบายในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวางBig Cนโยบายเกี่ยวกับการจัดการกับอาหารที่ใกล้หมดอายุ มีดังนี้        1. ห้ามจำหน่ายอาหารที่หมดอายุ        2. การทำ FIFO สินค้า (First in First out) เพื่อบริหารสินอายุสินค้า        3. กำหนดระยะเวลาในการเก็บออกจากชั้นวาง ล่วงหน้าก่อนวันหมดอายุ        4. สินค้าจะถูกเก็บล่วงหน้าก่อนวันหมดอายุ 1 วัน เพื่อทำลายทิ้ง Tesco Lotusมีแนวปฏิบัติเรื่องการควบคุมอายุการวางจำหน่ายสินค้า (Data Code Management) ซึ่งกำหนดมาตรการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ และสินค้าที่ด้อยคุณภาพ หรือมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคออกจากชั้นวางสินค้า โดยนำหลักบริหารความเสี่ยงมาใช้ในการควบคุมอายุการวางจำหน่ายสินค้าMaxvaluมีนโยบายในการตรวจเช็คสินค้าที่ใกล้หมดอายุ/หมดอายุ โดยมีแผนงาน ขั้นตอนการดำเนินการ และผู้รับผิดชอบแต่ละแผนกอย่างชัดเจน หากพบว่าการดำเนินการมีปัญหา ก็จะตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้มีแนวทางการปรับปรุงแก้ไขทันที มาตรการ ขั้นตอน ในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง Big Cขั้นตอนในการดำเนินการตามนโยบายดังที่กล่าวมาข้างต้น มีดังนี้        1. การทำ FIFO สินค้า (First in First out)            - ดำเนินการในทุกวันก่อนเปิดบริการ และระหว่างวันตามเวลาที่กำหนด            - ทำการคัดแยก หากพบอาหารที่ใกล้หมดอายุตามที่กำหนด            - หากพบอาหารเสื่อมสภาพ และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ให้เก็บออกจากชั้นวางฯ และนำไปกำจัดหรือทำลายตามวิธีการที่กำหนด        2. มีการตรวจสอบโดยหน่วยงานเฉพาะ Maxvaluมาตรการเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง  คือ ปลา/เนื้อ ก่อนหมดอายุ 1-3 วัน ผัก/ผลไม้ ผลไม้ตกแต่ง สินค้าฝากขาย ก่อนหมดอายุ 1 วัน และ Dry/San&HBC ก่อนหมดอายุ 1 เดือน Tesco Lotusมาตรการการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ และสินค้าที่ด้อยคุณภาพ หรือมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคออกจากชั้นวางสินค้า มีขั้นตอนดังนี้        1.   สินค้าที่ระบุวันหมดอายุบนภาชนะบรรจุสินค้า        ร้านค้าจะตรวจสอบสินค้าที่ใกล้หมดอายุและนำออกจากชั้นวางสินค้า ก่อนถึงวันหมดอายุอย่างน้อย 15 วัน แล้วแต่ประเภทและอายุสินค้า (shelf life) อาทิ สินค้าที่มีอายุมากกว่า 1 ปี จะถูกนำออกจากชั้นวางสินค้าอย่างน้อย 60 วัน ก่อนวันหมดอายุ และสินค้าที่มีอายุระหว่าง 2-6 เดือน จะถูกนำออกจากชั้นวางสินค้าอย่างน้อย 15 วัน เป็นต้น        2.   สินค้าที่ไม่ระบุวันหมดอายุ        ร้านค้าจะตรวจสอบสินค้าที่ไม่ระบุวันหมดอายุบนภาชนะบรรจุ โดยนับอายุสินค้าจากวันผลิตที่แสดงอยู่บนภาชนะบรรจุเดิม ตามที่ระบุไว้ใน Shelf Life Guideline เพื่อจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุออกจากชั้นวาง ได้อย่างถูกต้องตามกำหนดนอกจากนั้น ในส่วนของอาหารสด  ฝ่ายควบคุณภาพสินค้าจะดำเนินการตรวจสอบปริมาณสินค้าสด และนำสินค้าที่ใกล้หมดอายุ/หมดอายุจากชั้นวาง (Stock take) ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคู่มือของฝ่ายควบคุมคุณภาพสินค้า ซึ่งช่วงเวลาการตรวจสอบปริมาณสินค้า และการนำสินค้าออกจากชั้นวาง จะแตกต่างกันออกไปตามประเภทสินค้าช่องทางร้องเรียนBig Cผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 2 ช่องทาง    - Big C contact center โทร 1756 กด 2    - Facebook (FB) : Big C (ส่วนกลางและสาขา) Maxvaluผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 3 ช่องทาง    - สำนักงานใหญ่ โทร 02-9701826-30 ต่อแผนก customer service    - เว็บไซต์ของบริษัท www.aeonthailand.co.th    - Facebook: MaxvaluThailand  Tesco Lotusผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 3 ช่องทาง    - ร้านค้า ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียน    - โทรสายด่วน 1712    - Facebook: Tesco Lotus และ Tesco Lotus Online      หากเป็นกรณีสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่ปลอดภัย ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ผู้บริโภคสามารถขอรับเงินค่าสินค้าคืนได้ทันที นอกจากนี้ทุกข้อร้องเรียนปัญหาสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่ปลอดภัย จะถูกส่งต่อไปยังทุกฝ่ายที่jเกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบอย่างรอบด้านและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต ระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนBig Cดำเนินการติดต่อกับลูกค้าที่ร้องเรียน และประสานงานไปที่สาขาที่ถูกร้องเรียน หลังจากนั้นสาขาจะติดต่อกลับโดยเร็วที่สุดMaxvaluแก้ปัญหาทันทีที่ทราบเรื่องร้องเรียน พร้อมทั้งมีมาตรการดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน Tesco Lotusแก้ไขปัญหา คืนเงินค่าสินค้าตามช่องทางการร้องเรียนต่างๆ ทันที หรือภายใน 24 ชั่วโมง นับจากได้รับเรื่องร้องเรียน ----ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยของป่าสาละ ที่สำรวจประเมินความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคผ่านการจัดซื้ออาหารสดของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ 6 แห่ง และห้างค้าปลีกขนาดกลางที่เน้นขายอาหารสดอีก 2 แห่ง (Big C / CP Fresh Mart / Foodland / Gourmet Market / Makro/  Tops / Tesco Lotus และ Villa Market) ประจำปี 2562 โดยใช้ข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ณ วันที่ 30 เมษายน 2563จากการสำรวจโดยใช้ตัวชี้วัด 8 ด้าน ได้แก่ความปลอดภัยของอาหาร ส่วนประกอบที่มาของอาหาร ภาวะโภชนาการ กลไกรับเรื่องร้องเรียน กลไกเยียวยา การมีส่วนร่วมของผู้บริโภค การให้ความรู้แก่ผู้บริโภค และการให้ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ผู้วิจัยพบว่า จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ห้างเหล่านี้ 5 รายไม่ได้คะแนนเลย ในขณะที่อีกสามห้างที่ได้คะแนนจากตัวชี้วัดเหล่านี้ได้แก่ Makro ที่ได้ไป 25 คะแนน  Top ได้ 16.67  และ CP Fresh Mart ที่ได้ไป 12.50 คะแนนอีกประเด็นที่น่าสนใจในการสำรวจดังกล่าวคือมีตัวชี้วัด 2 ด้าน ได้แก่ กลไกเยียวยา และการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค ที่ไม่มีห้างไหนให้ข้อมูลไว้เป็นสาธารณะให้ผู้บริโภคได้ทราบเลย 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 244 ความไม่สะดวกซื้อ

        ร้านสะดวกซื้อนั้นคือสิ่งที่แทบจะขาดไม่ได้ไปแล้ว ในแต่ละชุมชนร้านสะดวกซื้อแบบ 24 ชั่วโมงจะวางตัวผ่าเผย พร้อมส่งเสียงยินดีต้อนรับเมื่อประตูเปิดออก แต่บางครั้งความสะดวกซื้อก็นำปัญหาแบบไม่สะดวกใจมาให้ได้ง่ายๆ และหลายครั้งท่าทีหรือการแสดงความรับผิดชอบก็ไม่ค่อยสวยงามนัก เรามาลองดูจากกรณีร้องเรียนเรื่องนี้กัน               ภูผา พี่สาว และหลานชายไปซื้อโยเกิร์ต 4 กระปุก ที่เซเว่นสาขาแถวงามวงศ์วาน ด้วยความที่เป็นห่วงเรื่องสุขภาพ ตอนซื้อจึงให้ความสนใจฉลากโดยเพ่งเล็งแต่เรื่อง ยี่ห้อไหนมีน้ำตาลน้อยกว่ากัน และสุดท้ายเลือกอันที่น้ำตาลน้อยมาพร้อมจ่ายเงินซื้อมา เมื่อกลับมาถึงบ้านภูผาก็กินโยเกิร์ตกับหลานชายไป 1 กระปุกแบ่งกันคนละครึ่ง เขายังบอกกับหลานชายเลยว่ายี่ห้อนี้ไม่ค่อยอร่อยเนอะ สงสัยเพราะน้ำตาลน้อย         วันถัดๆ มาอากาศค่อนข้างร้อน ภูผาบ่นกับหลานว่าอยากกินอะไรเย็นๆ จัง หลานชายจึงเสนอไอเดียว่าในตู้เย็นมีมะม่วง สตรอว์เบอรี่ แล้วก็โยเกิร์ตที่เหลืออยู่จากเมื่อวาน 3 กระปุก เอามาทำสมูตตี้มะม่วงกับสตรอว์เบอรี่กินกันดีกว่า โอ้ ไอเดียดีงาม ภูผาเห็นด้วยและให้หลานดูก่อนว่าโยเกิร์ตหมดอายุหรือยัง หลานบอกว่า โยเกิร์ตหมดอายุแล้วด้วย 1 กระปุก ส่วนอีก 2 กระปุกยังไม่หมดอายุ แต่ว่ากระปุกที่หมดอายุแล้วมันหมดอายุตั้งแต่เดือนมกราคมแล้วล่ะสิ         ภูผาเริ่มเครียดเพราะเขาซื้อสินค้าต้นเดือนมีนาคม และเจ้าร้านสะดวกซื้อร้านนี้เพิ่งเปิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ไงวันหมดอายุของโยเกิร์ตถึงเป็นเดือนมกราคมไปได้ และเป็นลอตเดียวกับที่เขากินไปเมื่อวันก่อนกับหลานชายอีกด้วย เขาไม่รอช้าเมื่อรีบสตาร์ทรถไปเซเว่นสาขาที่ซื้อมาทันที พร้อมกับเอาโยเกิร์ตทั้ง 3 กระปุกไปด้วย เมื่อไปถึงก็เล่าเรื่องคร่าวๆ ให้พนักงานฟังและขอพบผู้จัดการ พนักงานแจ้งว่าผู้จัดการกลับบ้านไปแล้วค่ะ อีกทั้งสินค้านี้พนักงานก็ยังไม่มั่นใจว่าซื้อที่เซเว่นจริงหรือเปล่า ซื้อที่สาขานี้จริงหรือเปล่า เพราะว่าภูผาไม่ได้เก็บใบเสร็จเอาไว้ ภูผาเข้าใจได้เรื่องไม่มีใบเสร็จ แต่โชคดีหน่อยตอนจ่ายเงินเขาใช้บัตรสมาชิกของหลานชายจ่ายไป ดังนั้นจึงถือเป็นหลักฐานได้ว่า เขาซื้อสินค้านี้ที่นี่จริงๆ         เขาสอบถามพนักงานว่าจะรับผิดชอบอะไรบ้าง พนักงานก็หาข้อมูลอยู่เกือบชั่วโมง สุดท้ายก็บอกว่าต้องหาหลักฐานยืนยันก่อน ต้องดูกล้องว่าเขาเป็นผู้ซื้อที่สาขานี้จริงหรือไม่ แล้วจะติดต่อกลับไป ภูผาบอกได้ สิจะรอนะว่าทางร้านจะรับผิดชอบอะไรบ้าง หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ผ่านไปก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีการติดต่อกลับเขาจึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรดำเนินการต่อไปอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         ผู้ร้องได้แจ้งร้านค้าและนำหลักฐานไปให้ร้านค้าดูเบื้องต้นแล้ว แต่ร้านค้ายังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอะไร อย่างแรกที่ผู้ร้องต้องทำคือไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน เพื่อเป็นหลักฐานว่าเซเว่นจำหน่ายสินค้าหมดอายุจริงๆ ผู้ร้องไม่ได้โกหก เซเว่นนี้เป็นสาขาหนึ่งของเซเว่นทั้งหมด ผู้ร้องต้องทำหนังสือโดยเล่าเหตุการณ์คร่าวๆ พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบแจ้งความลงบันทึกประจำวัน ภาพถ่ายโยเกิร์ตที่หมดอายุ เป็นต้น ส่งไปยังบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จ่าหน้าซองถึงประธานบริษัทหรือกรรมการผู้จัดการ เนื่องจากต้องการให้บริษัทแม่รับผิดชอบต่อการขายสินค้าหมดอายุของสาขา ที่ต้องทำแบบนี้เพราะว่า บางทีพนักงานที่ผู้ร้องแจ้งเรื่องไว้ หรือผู้จัดการสาขาไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องของผู้ร้อง วิธีนี้ทำให้บริษัททราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและดำเนินการแก้ไขปัญหาและแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ร้อง         ฝากเป็นข้อเตือนใจสำหรับทุกท่าน การเลือกซื้อสินค้าควรพิจารณาฉลากให้ละเอียด โดยเฉพาะวันหมดอายุ หากพบว่ามีสินค้าหมดอายุต้องแจ้งแก่พนักงานให้เก็บจากชั้นสินค้าทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ซื้อสินค้าหมดอายุ ใช้สิทธิได้มากกว่าที่คิด

        หากซื้อสินค้าที่หมดอายุมา อย่าคิดว่าไม่เป็นไรเงินแค่นิดหน่อยเอง ไม่อยากเสียเวลาไปเรียกร้องสิทธิ หรือเหตุผลอื่นๆ ขอให้คิดอีกสักนิดว่าถ้าเราละเลยการใช้สิทธิด้วยเหตุผลเหล่านี้บ่อยครั้งเข้านั่นจะเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้ขายเอาเปรียบเราได้เรื่อยๆ ดังนั้นเราต้องฝึกใช้สิทธิที่เรามี มาลองดูผู้บริโภครายนี้ว่าเมื่อเขาเจอร้านขายสินค้าที่ขายวิตามินหมดอายุเขาทำอย่างไร         คุณภูผา ซื้อวิตามินมาจากร้านวสันต์ ราคาประมาณ 300 บาท ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ซื้อเสร็จก็เก็บไว้ในลิ้นชักในโต๊ะที่ทำงานเพื่อเอาไว้รับประทาน ช่วงปลายเดือนธันวาคมได้รับประทานเข้าไป 1 เม็ด จนเปิดงานช่วงปีใหม่เขาก็ทำความสะอาดจัดเก็บโต๊ะทำงานใหม่ให้เข้าที่เข้าทางซึ่งเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่ดีสำหรับเขา เมื่อหยิบที่ขวดวิตามินซึ่งซื้อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ก็เห็นฉลากข้างขวดระบุวันหมดอายุวันที่ 16/10/62 อ้าว ! หมดอายุมาตั้ง 1 ปีแล้ว เอามาขายให้เขาได้อย่างไร         ปัญหาคือเขาไม่รู้จะทำอย่างไรดี ใบเสร็จก็ทิ้งไปแล้ว ตัดสินใจลองโทรศัพท์ไปที่ call center ร้านวสันต์ เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้พนักงานฟังและบอกว่าทิ้งใบเสร็จไปแล้ว ช่วยตรวจสอบประวัติในการซื้อสินค้าให้ได้ไหม เพราะเขาต้องการเปลี่ยนสินค้า ต่อมาเจ้าหน้าที่สาขาของร้านได้โทรศัพท์มายอมรับและขอโทษที่ได้ขายสินค้าหมดอายุและขอให้คุณภูผานำสินค้าไปเปลี่ยนได้ที่สาขาดังกล่าว  อย่างไรก็ตามคุณภูผาก็คิดเผื่อคนอื่นด้วยว่า แค่เปลี่ยนให้คงน่าจะยังไม่เพียงพอเพราะเป็นการแก้ปัญหาให้เขาคนเดียว เขาอยากให้ทางร้านมีความรับผิดชอบมากกว่านี้เพราะว่าเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งวิตามินที่หมดอายุนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้ จึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เขาสามารถเพิ่มเติมอะไรได้อีกบ้างนอกจากการเปลี่ยนคืนสินค้า แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้แนะนำว่า เบื้องต้นผู้ร้องควรไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน มีสิทธิเปลี่ยนสินค้าคืนได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนที่ร้าน เพราะว่าการจำหน่ายสินค้าหมดอายุเกิดจากความบกพร่องของร้านค้า สามารถให้ร้านค้านำสินค้ามาเปลี่ยนให้ผู้ร้องในสถานที่ที่ผู้ร้องสะดวก หรือถ้าไปเปลี่ยนสินค้าที่ร้านผู้ร้องสามารถเรียกให้ร้านชดใช้ค่าเดินทางหรือค่าเสียเวลาได้ หรือต้องการเงินคืนโดยไม่ต้องเปลี่ยนสินค้าก็ได้ กรณีต้องรักษาพยาบาลสามารถให้ร้านค่าชดใช้ค่ารักษาพยาบาลได้ ทั้งนี้ยังสามารถให้ร้านค้าออกหนังสือขอโทษผู้ร้องได้ด้วย         หลังจากได้รับคำแนะผู้ร้องโทรศัพท์ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าได้แจ้งความที่สถานีตำรวจ และร้องเรียนไปยังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และให้ร้านนำสินค้ามาเปลี่ยนให้ที่บ้าน หลังจากนั้นผู้จัดการสาขาได้นำสินค้าไปเปลี่ยนให้ผู้ร้องที่บ้าน พร้อมมอบกระเช้าเพื่อแสดงความรับผิดชอบและกล่าวขออภัยผู้ร้องในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ร้องเห็นถึงความจริงใจของร้านก็ได้ไม่ติดใจอะไร แต่ก็ขอให้ร้านมีระบบไม่นำสินค้าหมดอายุมาขายอีก ส่วนกระเช้าผู้ร้องไม่อยากได้จึงขอให้ร้านเปลี่ยนเป็นหน้ากากอนามัยเพื่อนำไปบริจาคให้แก่จังหวัดสมุทรสาคร ร้านยินดีเปลี่ยนจากกระเช้าเป็นหน้ากากอนามัยจำนวน 2,000 ชิ้น และส่งไปบริจาคยังจังหวัดสมุทรสาคร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่น่ารัก

        เคยซื้อสินค้าหมดอายุกันหรือไม่ ถ้าเคย รู้หรือไม่ว่าเรามีสิทธิอะไรและควรจัดการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร หรือจะปล่อยผ่านเพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าอย่างนั้นลองดูผู้บริโภครายนี้กันว่าเมื่อเขาซื้อสินค้าหมดอายุแล้วเขามีวิธีจัดการปัญหาอย่างไร และสุดท้ายจะได้รับการชดเชยเยียวยาหรือไม่         บุปผามักจะเดินเล่นที่ย่านสยามเป็นประจำ วันหนึ่งไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นล่างของห้างใหญ่แถวนั้น ก็เดินเลือกซื้อสินค้าหลายอย่างทั้งของกินและของใช้เมื่อกลับมาบ้านเธอก็นำของต่างๆ จัดเก็บเข้าที่ แต่ก็พบสิ่งผิดปกติบางอย่าง ซีอิ๊วขาวที่เธอซื้อมาหมดอายุไปแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ บุปฝานับนิ้วคำนวณเวลาตอนนี้เดือนสิงหาคมงั้นเท่ากับว่าหมดอายุไปแล้วตั้ง 6 เดือนแล้วนะสิ         เธอแปลกใจว่าซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ระดับนี้นำสินค้าหมดอายุตั้ง 6 เดือน มาขายได้อย่างไร เมื่อเกิดปัญหาเธอค้นหาในอินเทอร์เน็ตว่าเธอจะสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง พบว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น่าจะมีคำตอบให้ เธอจึงสอบถามมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนะนำว่า การขายของหมดอายุของซูเปอร์มาร์เก็ต อาจเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         นอกจากผิดพ.ร.บ. อาหาร แล้ว ผู้ร้องยังสามารถขอคืนสินค้า และเรียกค่าชดเชยเยียวยาได้ โดยผู้ร้องสามารถทำได้ดังนี้        1. ถ่ายรูป (ฉลากโดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า) พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้าและใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)         2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่เพื่อเป็นหลักฐาน         3. ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งต้องคิดให้ดีว่าเราต้องการให้เขาดำเนินการอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหา เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืนเพื่อเป็นการเยียวยาค่าเสียหาย จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         4. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ บรรยายสรุปปัญหาที่พบพร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า         ปล. ต้องเก็บใบรับเงินทุกครั้งที่มีการซื้อ เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันการซื้อและระบุตนเป็นผู้เสียหาย ถ้าไม่มีใบสำคัญรับเงินเป็นหลักฐาน สิ่งที่สามารถเรียกร้องได้โดยทั่วไปคือการเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ ทั้งนี้ขึ้นกับการต่อรองกับผู้ขายและต้องดำเนินการทันทีพี่พบว่าได้พบหรือบริโภคอาหารหมดอายุ         ศูนย์พิทักษ์ฯ ช่วยคุณบุปผาด้วยการทำหนังสือถึงซูเปอร์มาร์เก็ต ขอให้แก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหาย ต่อมาทางห้างสรรพสินค้าดังกล่าวได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นความบกพร่องของพนักงานบริษัทซีอิ๊ว เพราะว่าเซลล์ต้องดูแลรับผิดชอบในส่วนนี้ บริษัทซีอิ๊วมีหน้าที่ในการดูแลเบิกเติมและจัดเรียงสินค้าเอง ดังนั้นทางซูเปอร์มาร์เก็ตจึงไม่ได้ดูแลส่วนนี้ ทราบต่อมาอีกด้วยว่า ได้มีการทำหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมแจ้งให้บริษัทต้นสังกัดทราบ ซึ่งทางบริษัทซีอิ๊วแจ้งว่าลงโทษพนักงานที่บกพร่องในหน้าที่แล้ว          อย่างไรก็ตามห้างสรรพสินค้าขอชดเชยเยียวยาความเสียหายเป็น Gift voucher ของห้างฯ มูลค่า 5,000 บาท และสินค้าสนับสนุนจากบริษัทจำนวน 2 ลัง ซึ่งคุณบุปผาขอเปลี่ยนจาก Gift voucher เป็นเงินสด เพราะไม่มั่นใจในการซื้อสินค้าในห้างนี้อีก หลังจากนั้นห้างก็ส่งซีอิ๊วมาให้ 2 ลัง และเงียบหายไป เมื่อสอบถามเรื่องเงินชดเชยเยียวยาห้างก็ไม่มีคำตอบ คุณบุปผาได้นำซีอิ๊วไปบริจาคยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เพราะก็ไม่ได้อยากได้เงินหรือสิ่งของ เพียงแต่ต้องการให้ห้างฯ พัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าหมดอายุไม่นำมาขายให้ผู้บริโภคอีก

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 232 สังฆทานที่โยมถวายมา มียาหมดอายุ

        เมื่อกล่าวถึงการเข้าวัดทำบุญ พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่อาจนึกถึงกิจกรรมทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน หรือปล่อยนกปล่อยปลา เช่นเดียวกับคุณนริศที่ชอบซื้อชุดสังฆทานไปถวายพระ ซึ่งเดิมเคยคิดว่าการทำบุญนั้นไม่น่าจะยุ่งยากอะไร แต่เมื่อต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้เข้า คุณนริศจึงทราบว่าการทำบุญนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรอบคอบเช่นกัน         เช้าวันหนึ่งคุณนริศได้จอดรถแวะซื้อชุดสังฆทานที่ตลาดแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เพื่อนำไปทำบุญที่วัดแถวละแวกบ้าน  คุณนริศเป็นชาวพุทธคนหนึ่งที่ชอบถวายสังฆทานเป็นประจำ เพราะมีความเชื่อว่าการถวายสังฆทานเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์มาก เมื่อเดินทางมาถึงวัดและถวายสังฆทานเสร็จเป็นที่เรียบร้อย หลวงพี่ท่านหนึ่งก็ได้บอกกับคุณนริศว่า สังฆทานที่โยมเคยนำมาถวายครั้งก่อนนั้น มีของหมดอายุ โดยเฉพาะพวกยาต่างๆ นั้นไม่สามารถใช้การได้เลย         คุณนริศทราบเช่นนั้น จึงเกิดความไม่สบายใจ และคิดว่าทำไมคนขายสังฆทานถึงได้บรรจุของที่ไม่มีคุณภาพ โดยเฉพาะยาที่หมดอายุเอาไว้ในชุดสังฆทานเช่นนี้ หรือคนขายก็ไม่ทราบเช่นกันว่า ของที่ถูกบรรจุอยู่ในชุดสังฆทานนั้นหมดอายุ จึงได้สอบถามมาขอคำแนะนำถึงวิธีแก้ปัญหา เพราะตนนั้นก็ชอบทำบุญด้วยการถวายสังฆทานอยู่บ่อยครั้งแนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณนริศสามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สายด่วน 1166 หรือ สคบ.ประจำจังหวัดให้ช่วยตรวจสอบร้านค้าที่จำหน่ายชุดสังฆทานดังกล่าวได้ เพราะชุดสังฆทาน หรือ ชุดไทยธรรม นั้นเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ สคบ.         โดยชุดสังฆทานที่จำหน่ายทั่วไปนั้น ต้องติดหรือแสดงฉลากเป็นข้อความภาษาไทยที่สามารถอ่านได้ชัดเจน มีการระบุขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก จำนวน และแจกแจงราคาของสินค้าแต่ละรายการ รวมถึงวันหมดอายุ และวันเดือนปีที่บรรจุชุดสังฆทาน โดยหากพบผู้จำหน่ายชุดสังฆทานที่ไม่มีฉลาก หรือ แสดงฉลากไม่ถูกต้อง จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         กรณีนี้ ยังพบว่ามียาหมดอายุซึ่งถือว่าเป็นยาที่เสื่อมคุณภาพแล้วบรรจุอยู่ในชุดสังฆทาน ซึ่งตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 121 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาเสื่อมคุณภาพ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72(3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 3,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ดังนั้นหากผู้บริโภคจะเลือกซื้อสังฆทานไปทำบุญ ก็ขอให้เลือกซื้อแบบที่มีฉลากถูกต้อง โดยสามารถดูรายการสินค้าแต่ละชนิด และวันหมดอายุได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำถูกกฎหมายด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 จดหมายถึงบอกอ

จดหมายถึงบก.        ผมมีความสงสัยเรื่องวันหมดอายุของหมายเลขโทรศัพท์แบบเติมเงินว่าตอนนี้มีเกณฑ์เป็นอย่างไร แล้วถ้าไม่มีกำหนดวันเลยได้ไหมครับ  บ.จะต้องแบกรับต้นทุนอะไรบ้างช่วยอธิบายหน่อยครับ                                                                                                                                                                          สมพรตอบ        ขอบคุณสำหรับคำถามของท่านสมาชิก เรื่องการเติมเงินโทรศัพท์ ทุกครั้งที่เติมเงิน ไม่ว่ามูลค่าเท่าใด จะได้วันใช้งาน 30 วัน กฎหมายมีหลักว่า ห้ามกำหนดวันหมดอายุ เว้นแต่ ค่ายมือถือจะได้รับอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งเมื่อประมาณปี 2557  ทั้ง 3 ค่ายมือถือได้ยื่นขอกำหนดวันหมดอายุ และ กสทช. ได้มีมติอนุญาตให้กำหนดวันได้ที่ 30 วัน ทุกมูลค่าที่เติมเงิน  ในส่วนที่ว่า ถ้าไม่มีกำหนดวันเลยได้ไหมครับ  ต้องตอบว่า บางคนเปิดเบอร์ไว้ มีเงินในระบบ แต่ทิ้งไว้ ไม่ใช้งาน บริษัทมีค่ารักษาเลขหมาย เลขหมายที่เราซื้อมา ควรได้นำไปจัดสรรให้คนได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ คนที่มีหลายเบอร์ แต่ไม่ได้ใช้ เปิดเบอร์เพราะอยากได้โปรโมชัน แล้วเลขหมายนั้นๆ ก็ถูกทิ้ง ไม่ได้ใช้ เบอร์แบบนี้มีไม่น้อยเลย บางคนอาจเติมไว้รับสายอย่างเดียวก็มี การกำหนดวันจึงช่วยให้เบอร์ยังเกิดการใช้งาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 อาหารหมดอายุกว่า 4 เดือนแต่ยังวางขายอยู่ในห้าง

ภูผา คุณพ่อวัยรุ่นมือใหม่ กำลังตื่นเต้นเห่อลูกคนแรกมาก อะไรว่าดีก็หามาให้ลูกได้รับประทานเสริม โดยหวังให้ลูกแข็งแรง แต่เรื่องกลับไม่ได้เป็นดังหวัง สาเหตุเกิดจากอะไรมาดูกันคุณภูผาซื้อข้าวกล้องงอกบด ผสมกล้วยและผักขมออร์แกนิค ยี่ห้อหนึ่ง จำนวน 3 กล่อง จากร้านวิลล่ามาเก็ท สาขาเพลินจิต เมื่อคุณภูผาได้นำข้าวกล้องบดผสมน้ำให้ลูกน้อยทาน ปรากฏว่า ลูกสาวมีอาการผิดปกติ ร้องไห้จ้าโดยไม่ทราบสาเหตุ และท้องเสียอย่างรุนแรง ถ่ายเหลวผิดปกติ คุณภูผาจึงลองตรวจสอบฉลากบนผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องงอกที่ให้ลูกน้อยรับประทานก็พบว่า ข้าวกล้องงอกบดนั้นหมดอายุมากว่า 4 เดือนแล้ว เมื่อคาดว่าปัญหาน่าจะมาจากเหตุที่อาหารหมดอายุ  ตัวคุณพ่ออาสาดูแลลูกน้อย ส่วนคุณแม่ ภรรยาของคุณภูผา ได้นำสินค้าที่หมดอายุไปร้องเรียนยังวิลล่ามาเก็ทสาขาที่ซื้อมา ซึ่งวิธีการของวิลล่ามาเก็ทคือ พนักงานได้รับเรื่องร้องเรียนและเก็บสินค้าไว้ก่อน และแจ้งว่าจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อไป ซึ่งก็โทรศัพท์ติดต่อมาจริง  โดยแจ้งให้คุณภูผาพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อรักษาพยาบาลและออกใบรับรองแพทย์  คุณหมอให้ความเห็นในใบรับรองแพทย์ว่า “อาหารเป็นพิษ” คุณภูผาจึงได้แจ้งให้ทางห้างทราบ...ต่อมาเมื่อคุณภูผาได้เข้าไปสอบถามความคืบหน้ากับสาขาที่ซื้อสินค้า พนักงานเพียงแจ้งว่าได้แจ้งสำนักงานใหญ่แล้ว คุณภูผาจึงไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐาน แต่ไม่ว่าจะพยายามทวงถามความคืบหน้าเรื่องการแสดงรับผิดชอบของวิลล่ามาเก็ทสักกี่ครั้ง ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ จึงมาร้องเรียนยังมูลนิธิเพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แจ้งผู้ร้องว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแนะนำเรื่องการคำนวณค่าเสียหายคุณภูผาและวิลล่ามาร์เก็ท มาเจราที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ โดยวิลล่าฯ เสนอเยียวยาเป็นหนังสือขอโทษและชี้แจงมาตรการแก้ไขปัญหาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 1 ฉบับ, เงินค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง, และเงินชดเชยเยียวยาความเสียหาย 5,000 บาท คุณภูผาปฏิเสธไม่รับข้อเสนอเรื่องเงินเยียวยา โดยขอให้ชดเชยเยียวยาความเสียหาย 150,000 บาท และทำหนังสือชี้แจงขอให้ระบุแนวทางการแก้ปัญหาเพิ่มเติมและบทลงโทษผู้เกี่ยวข้อง บริษัทรับข้อเสนอไปให้ผู้มีอำนาจพิจารณาต่อมาบริษัทเสนอเงินชดเชยเยียวยาค่าเสียหาย 50,000 บาท และออกนโยบายจัดเก็บสินค้าลงจากชั้นวางก่อนสินค้าหมดอายุ และต้องไม่มีสินค้าหมดอายุอยู่บนชั้นวางสินค้าอีก พร้อมจัดเก็บสินค้าก่อนหมดอายุอย่างสม่ำเสมอ แบ่งเป็น 3 ประเภท  1) สินค้าคืน Supplier ได้ ทำการเก็บสินค้าเพื่อทำการแจ้งคืน 2) สินค้าที่คืนไม่ได้ ทำการเก็บสินค้าเพื่อนำมาลดราคา 3) สินค้าของสดชั่งกิโล เก็บสินค้าเพื่อทำการเปลี่ยนบาร์โค้ด ก่อนหมดอายุ 3 วันและทำการตรวจสอบสินค้าทุกวัน ทุกอาทิตย์ ทุกเดือน และตักเตือนแจ้งพนักงานโดยลงโทษพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างไม่เกิน 7 วันและงดพิจารณาขึ้นค่าจ้าง คุณภูผายอมรับตามที่บริษัทเสนอนับว่าการร้องเรียนของคุณภูผาในครั้งนี้ ทำให้วิลล่ามาร์เก็ทยกระดับมาตรการการจัดเก็บสินค้าหมดอายุออกจากชั้นวางจำหน่าย ช่วยให้ผู้บริโภคปลอดภัยในการซื้อสินค้ามากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ปีใหม่นี้ เลือกอะไรเป็นของฝาก!

นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมมือกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,271 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน 2560  ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่างผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่าผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร การซื้อของฝากให้กับญาติสนิท มิตรสหาย และของฝากประเภทใดที่มีความนิยมในการเลือกซื้อ ซึ่งมีการแบ่งแยกตามแต่ละภาคของประเทศไทย รวมไปถึงการตรวจสอบฉลากเรื่องของวันหมดอายุ สถานที่ผลิต ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าจะซื้อของฝากจากการท่องเที่ยว อันดับหนึ่งคือ ขนม ของทานเล่น ร้อยละ 26.6 อันดับที่สองคืออาหารแห้ง ร้อยละ 26.0 อันดับที่สามคือของชำร่วย พวงกุญแจ ฯลฯ ร้อยละ 24.4 อันดับที่สี่คือเครื่องแต่งกาย ร้อยละ 23.0 และอันดับที่ห้าคือผักสด ผลไม้สด ร้อยละ 20.9ของฝากจากภาคเหนือ อันดับแรกคือน้ำพริกหนุ่ม ร้อยละ 36.1 อันดับที่สองคือแคบหมู ร้อยละ 29.7 อันดับที่สามคือหมูยอ ร้อยละ 25.0 อันดับที่สี่คือไส้อั่ว ร้อยละ 24.6 และอันดับที่ห้าคือใบชา ร้อยละ 18.3ของฝากจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันดับแรกคือแหนมเนือง ร้อยละ 34.7 อันดับที่สองคือหมูยอ ร้อยละ 29.4 อันดับที่สามคือกุนเชียง ร้อยละ 26.9 อันดับที่สี่คือแหนม ร้อยละ 19.7 และอันดับที่ห้าคือน้ำพริก ร้อยละ 18.3ของฝากจากภาคตะวันออก อันดับแรกคือขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 29.1 อันดับที่สองคือข้าวหลาม ร้อยละ 27.5 อันดับที่สามคืออาหารทะเลแห้ง ร้อยละ 26.3 อันดับที่สี่คือผลไม้อบแห้ง ร้อยละ 21.6 และอันดับที่ห้าคือน้ำปลา ร้อยละ 17.5ของฝากจากภาคกลาง อันดับแรกคือขนมเค้ก ร้อยละ 27.3 อันดับที่สองคือสายไหม ร้อยละ 27.1อันดับที่สามคือโมจิ ร้อยละ 26.8 อันดับที่สี่คือกะหรี่พัฟ ร้อยละ 22.0 และอันดับที่ห้าคือขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 21.9ของฝากจากภาคตะวันตก อันดับแรกคือทองหยิบทองหยอด ร้อยละ 27.7 อันดับที่สองคือขนมหม้อแกง ร้อยละ 27.6 อันดับที่สามคือขนมชั้น ร้อยละ 25.3 อันดับที่สี่คือขนมปังสัปปะรด ร้อยละ 23.4 และอันดับที่ห้าคือมะขามสามรส ร้อยละ 19.7ของฝากจากภาคใต้ อันดับแรกคือปลาหมึกแห้ง ร้อยละ 32.5 อันดับที่สองคือกะปิ ร้อยละ 29.3 อันดับที่สามคือกุ้งแห้ง ร้อยละ 24.2 อันดับที่สี่คือน้ำพริก ร้อยละ 22.3 และอันดับที่ห้าคือเครื่องแกง ร้อยละ 21.3กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีการตรวจดูวันเดือนปีที่หมดอายุ ร้อยละ 44.8 รองลงมาไม่มีการตรวจดู ร้อยละ 35.4 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 19.8 และมีการตรวจดูสถานที่ผลิต ร้อยละ 44.8 รองลงมาไม่มีการตรวจดู ร้อยละ 34.2 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 21.0และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่เคยได้รับของฝากที่หมดอายุจากบุคคลอื่น ร้อยละ 54.8 รองลงมาไม่แน่ใจ ร้อยละ 28.8 และเคยได้รับของฝากที่หมดอายุจากบุคคลอื่น ร้อยละ 16.4นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวเสริมเรื่องการเลือกซื้อสินค้าของฝากว่า ฉลากเป็นสิ่งจำเป็นและผู้บริโภคไม่ควรละเลยที่จะตรวจสอบข้อมูลที่แสดงบนฉลากก่อนการตัดสินใจซื้อ เนื่องจากฉลากเป็นหนึ่งในสิทธิของผู้บริโภคที่ว่าด้วยการได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณาคุณภาพที่ถูกต้อง และเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ดังนั้นก่อนการซื้อทุกครั้ง ควรปฏิบัติดังนี้1) ให้พิจารณาว่ามีฉลากหรือไม่ หากเป็นสินค้าที่ไม่มีฉลาก ควรหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ตามหากของฝากประเภทอาหารหลายๆ ชนิดเป็นอาหารประเภทที่ผลิตขายเฉพาะหน้าร้านของตัวเอง กฎหมายอนุญาตให้ไม่ต้องแสดงฉลาก ดังนั้นก่อนซื้อผู้บริโภคควรสอบถามข้อมูลสำคัญอย่าง วันที่ผลิตและวันหมดอายุ การเก็บหรือการดูแลรักษา ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นหรือไม่ เพื่อไม่ให้อาหารบูดเสียเร็ว 2) ถ้าหากมีการแสดงฉลาก ให้พิจารณาการแสดงรายละเอียดบนฉลากว่า เป็นภาษาไทย และ ถูกต้อง ครบถ้วน หรือไม่ ทั้งนี้หากฉลากไม่เป็นภาษาไทยควรหลีกเลี่ยงหากพบผู้ประกอบการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ผู้ประกอบการอาจมีความผิดได้สองกรณี ดังนี้ กรณีแรก หากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิตจะเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (2) ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ 2522 เรื่อง ผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย อาหารปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปีและปรับตั้งแต่ห้าพันถึงหนึ่งแสนบาทกรณีที่สอง หากไม่แสดงฉลากหรือแสดงฉลากไม่ถูกต้องครบถ้วน จะมีความผิดตามมาตรา 6 (10) ของ พ.ร.บ.อาหารฯ  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สามหมื่นบาท  หากซื้อสินค้ามาแล้วพบความผิดปกติหรือได้รับอันตรายจากการบริโภคสามารถใช้สิทธิร้องเรียนได้โดยตรงกับผู้ผลิต/ ผู้จัดจำหน่ายตามที่อยู่ที่ระบุไว้บนฉลากหรือตามสถานที่ที่ซื้อสินค้ามานอกจากนี้ก่อนเลือกซื้อของกินเป็นของฝาก นอกจากพิจารณาเรื่องฉลากเป็นสำคัญแล้ว ยังต้องดูเรื่องอื่นๆ ควบคู่กัน เพื่อให้ได้ของฝากที่สะอาดปลอดภัยต่อการบริโภค ไม่ว่าจะเป็น 1) สถานที่ขายหรือสถานที่เก็บรักษาต้องสะอาด ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสิ่งไม่พึงประสงค์ เช่น แมลง สารเคมี และอาหารควรถูกเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับแต่ละประเภทของอาหาร2) สภาพภาชนะบรรจุต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ฉีกขาด ไม่มีร่องรอยที่อาจทำให้เกิดการรั่วซึมของสิ่งปนเปื้อน3) ลักษณะของอาหารต้องอยู่ในสภาพปกติ ไม่มีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อน ไม่มีร่อยรอยของการเกิดเชื้อราหรือเชื่อจุลินทรีย์ หรืออยู่ในสภาพอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยในการบริโภคที่ผ่านมาเคยมีข้อมูลผลทดสอบเรื่องความไม่ปลอดภัยของของฝากกลุ่มอาหารอยู่บ้าง เช่น เมื่อปี 2559 ว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตรวจน้ำพริกพร้อมบริโภค เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาร้าสับ น้ำพริกตาแดง น้ำพริกนรก แจ่วบอง เป็นต้น ที่จำหน่ายตามตลาดสด ตลาดนัด ศูนย์โอทอป ศูนย์ของฝากทั่วประเทศ พบว่าจากทั้งหมด 1,071 ตัวอย่าง พบว่า ไม่ผ่านมาตรฐาน 164 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 15 ส่วนใหญ่พบปัญหาเรื่องการใช้วัตถุกันเสียเกินปริมาณที่อนุญาต การปนเปื้อนจุลินทรีย์และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ เช่น เชื้อบาซีลัส ซีเรียส และ เชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟิงเจน รวมทั้งในกรณีของ ปลาหมึกแห้ง ที่มูลนิธิฯ เคยสุ่มวิเคราะห์ตัวอย่างปลาหมึกแห้ง เมื่อปี 2553 พบการปนเปื้อนโลหะหนักทั้ง 8 ตัวอย่างที่สุ่มทดสอบ ทั้ง แคดเมียม ตะกั่ว และ ปรอท โดยเฉพาะ แคดเมียม ที่พบเกินค่ามาตรฐาน 4 จาก 8 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบส่วนในกลุ่ม ขนมปัง ขนมอบ ขนมเค้ก ก็มักมีความเสี่ยงในเรื่องของสารกันบูด ส่วนอาหารจำพวกแหนมเนือง มีความเสี่ยงของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษที่อาจปนเปื้อนมาพร้อมผักสดที่ล้างทำความสะอาดไม่ดีพอ เช่นเดียวกับอาหารจำพวกเนื้อสัตว์หรือแปรรูปจากเนื้อสัตว์ หากรับประทานโดยที่อาหารไม่ผ่านการปรุงให้สุก หรือผลิตโดยไม่ได้มาตรฐานก็อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 สินค้าใกล้หมดอายุ วางจำหน่ายได้หรือไม่

ที่ผ่านมาเราเคยเสนอเรื่องสินค้าหมดอายุควรวางจำหน่ายในร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าหรือไม่ เพราะผู้บริโภคอย่างเรา ไม่ได้มีหน้าที่นำสินค้าที่หมดอายุไปคืน แต่ควรเป็นทางร้านมากกว่าที่ต้องวางขายสินค้าที่ไม่หมดอายุให้กับเรา ซึ่งแม้จะยังมีการร้องเรียนเข้ามาบ้าง แต่สถานการณ์ก็ค่อยๆ ดีขึ้น เพราะผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายหลายรายยินดีที่จะปรับปรุงการบริการและชดเชยเยียวยาผู้เสียหายตามสมควร กระนั้นประเด็นดังกล่าวนี้ก็ได้กลับมาสร้างปัญหาให้อีกครั้ง เมื่อมีผู้ร้องเรียนถึงสินค้าที่ “ใกล้” หมดอายุ ซึ่งเขาเห็นว่าการจำหน่ายสินค้าที่ใกล้หมดอายุนั้น ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคเช่นกัน แต่เรื่องราวจะเป็นอย่างไรเราลองไปดูกัน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คุณสมชายซื้อยาสีฟันจากร้านค้าส่งแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา และหลังจากนำกลับไปใช้งานที่บ้านก็สังเกตว่า ยาสีฟันดังกล่าวระบุวันหมดอายุเป็นหนึ่งเดือนข้างหน้า ทำให้คุณสมชาย ซึ่งเป็นผู้ใช้งานยาสีฟันดังกล่าวเพียงคนเดียวรู้สึกว่า ตนเองไม่น่าจะใช้งานทันภายในหนึ่งเดือนแน่ๆ  ดังนั้นการที่ร้านค้านำยาสีฟันที่ใกล้หมดอายุแล้ว มาวางจำหน่ายรวมกับสินค้าอื่นๆ ที่ยังไม่ใกล้วันหมดอายุ อาจเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้แนะนำผู้ร้องว่า ยาสีฟันจัดอยู่ในหมวดเครื่องสำอาง ซึ่งตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง 2558 มาตรา 32 (6) กำหนดว่าห้ามจำหน่ายเครื่องสำอางที่หมดอายุการใช้งานตามที่แสดงไว้บนฉลาก ทำให้จากกรณีนี้ทางร้านค้ายังสามารถวางขายได้จนกว่าสินค้าดังกล่าวจะหมดอายุ ซึ่งผู้บริโภคควรตรวจสอบก่อนซื้อ แต่ในกรณีนี้ที่สินค้าใกล้หมดอายุแล้ว ทางร้านก็ควรมีหลักจริยธรรมในการค้าขายและดูแลคุ้มครองผู้บริโภคของตนเองด้วย โดยหากพบว่า สินค้าใดที่กำลังจะหมดอายุ ควรมีการขายแยกหรือจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายต่างๆ ไม่วางปะปนไปกับสินค้าที่ยังคงสภาพดี และได้ทำเรื่องแจ้งแก่ผู้จัดจำหน่ายดังกล่าวเพื่อให้ปรับปรุงการจัดวางสินค้าในร้านค้าของตนเพื่อมิให้เกิดปัญหานี้ขึ้นอีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 กระแสต่างแดน

มาถูกทางแล้วค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงเป็นประวัติการณ์ในอินเดีย… อีกแล้วผู้ประกอบการโซล่าฟาร์มในรัฐราชสถานของอินเดียบอกว่าปีนี้เขาผลิตขายได้ที่อัตราขายส่ง  2.62 รูปี/kwh (ต่ำกว่าราคา “ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์” ของปีก่อนที่ 4.34 รูปี) พูดง่ายๆ ตอนนี้ถูกกว่าอัตราของค่าไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 3.20 รูปี/kwh เหตุที่ขายได้ถูกลงถึงร้อยละ 40 นั้นเป็นเพราะผู้ที่จะเข้ามาทำธุรกิจนี้สามารถกู้เงินได้ง่ายขึ้น แถมดอกเบี้ยก็ถูกลงเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากความจริงจังและชัดเจนของรัฐบาลในการสนับสนุนธุรกิจด้านนี้ ถามว่าจริงจังแค่ไหน? เอาเป็นว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานพูดออกสื่อแทบทุกวัน  และธุรกิจพลังงานทางเลือกก็ได้รับการยกเว้นภาษีด้วยนอกจากนี้ เพื่อลบภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศที่สร้างมลพิษมากเป็นอันดับสามของโลก อินเดียยังร่วมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ปารีสเมื่อสองปีก่อน และให้คำมั่นว่าจะผลิตพลังงานทางเลือกให้ได้ถึง 175 กิกะวัตต์ภายในปี 2022 และเมื่อถึงปี 2027 เขาจะทำได้ถึง 275 กิกะวัตต์แม้จะมีความท้าทายที่ต้องผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อผู้คนเป็นพันล้าน แต่การเติบโตของธุรกิจพลังงานทางเลือก (ลม น้ำ ขยะ แสงอาทิตย์) ทั้งจากผู้ประกอบการท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติก็ทำให้อินเดียไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ไปอีกอย่างน้อย 10 ปีเหตุที่ของขึ้นการสำรวจความเห็นคุณแม่ชาวสิงคโปร์โดยหนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ พบว่าคุณแม่ส่วนใหญ่เชื่อว่าสาเหตุที่นมผงราคาแพงขึ้นเกือบเท่าตัวในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น แต่คณะกรรมการด้านการแข่งขันทางการค้าพบว่า ระหว่างปี 2010 และ 2014 งบการตลาดของผู้ผลิตนมผงสำหรับเด็กนั้นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42.4คุณแม่คนหนึ่งเล่าว่าเธอถูกตัวแทนขายนมผงเด็กมาถามซ้ำๆ เรื่องนมผงที่ใช้และถูกตื้อให้ทดลองยี่ห้อใหม่ สถานที่เกิดเหตุก็คือคลินิกเด็กในโรงพยาบาลนั่นเอง คุณแม่ที่มาคลอดบางรายพบว่าลูกตัวเองได้รับการป้อนนมยี่ห้อหนึ่งไปโดยที่เธอไม่ได้เลือกซึ่งหมายความว่าลูกของเธอจะไม่คุ้นชินกับนมแม่ด้วย รัฐบาลสิงคโปร์กำลังเตรียมแบนการอวดอ้างสรรพคุณใดๆ ก็ตามไม่ว่าจะด้วยคำหรือภาพบนฉลากนมผงสำหรับทารก และสื่อสารให้พ่อแม่เด็กเข้าใจว่าราคาของนมผงเหล่านี้ไม่ได้ยืนยันคุณภาพแต่อย่างใด ไม่ใช่แค่กิ้งก่าในที่สุดบริษัทดอยช์บาห์น ผู้รับผิดชอบโปรเจค Stutgart 21 หรือโครงการทางรถไฟมูลค่าหลายพันล้านยูโรทางตอนใต้ของเยอรมนี ยอมจ่ายค่าขนย้ายกิ้งก่าใกล้สูญพันธุ์ออกจากพื้นที่ก่อสร้างรางรถไฟช่วงระหว่างชตุทท์การ์ทและเมืองอุลม์ เป็นมูลค่า 15 ล้านยูโร (ประมาณ 575 ล้านบาท) ตัวเลขนี้มาจากไหน? ดอยช์บาห์นเขาคำนวณจากค่าจ้างทีมมาจับกิ้งก่าหลายพันตัว ค่าใช้จ่ายในการขนส่งเป็นระยะทาง 6 ไมล์ และการจัดหาที่อยู่ใหม่ในเมือง Unterturkheim และค่าดูแลความเป็นอยู่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน เฉลี่ยแล้วตกหัวละ 2,000 – 4,000 ยูโร กลุ่มพิทักษ์สัตว์บอกว่าที่แพงขนาดนี้ก็เป็นเพราะการเตะถ่วงของบริษัทเอง ถ้ารีบจัดการตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2015 ที่รู้ปัญหาก็จะประหยัดเงินได้มากโขโครงการรถไฟสายทรานส์ยูโรเปียนนี้เริ่มก่อสร้างในปี 2010 และมีกำหนดเปิดใช้งานในปี 2021 งบประมาณขณะนี้อยู่ที่ 6,300 ล้านยูโร (204,000 ล้านบาท) ++  ไม่มีต่อเวลากรมสุขภาพของไต้หวันยืนยันว่า วิกเกอร์ โคโบ ผู้ผลิตพายสับปะรดยี่ห้อดัง มีความผิดฐานเปลี่ยนวันหมดอายุบนแพ็คเกจสินค้าจริงแม้การไปสุ่มตรวจในร้านโดยกรมฯ จะไม่พบหลักฐานการกระทำผิด แต่เขาก็ได้รวบรวมหลักฐานจากผู้แจ้งเบาะแสแล้วชงเรื่องต่อให้กับสำนักงานอัยการเมืองชิหลินทำการสืบสวนต่อไปเขาพบว่ามีขนมหลายชนิด เช่น พายสับปะรด พายไข่แดง ถูกเรียกคืนเพื่อเปลี่ยนวันหมดอายุเพื่อยืดเวลาออกไปอีก 10 วันจริง ความผิดนี้มีโทษปรับ 40,000 ถึง 4,000,000 เหรียญ  วิกเกอร์ โคโบ เป็นที่รู้จักกันดีในไต้หวันและในหมู่นักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อขนมดังจากไต้หวันไปเป็นของฝาก แต่พฤติกรรมนี้ทำให้สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวประกาศงดพาลูกทัวร์เข้าร้านชั่วคราวเพราะไม่ต้องการเสียชื่อไปด้วยโฆษกสมาคมฯ บอกว่าเข้าใจดีว่าช่วงนี้ธุรกิจไม่ดีเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวจากจีน แต่การขยายวันหมดอายุนี่มันแก้ปัญหาอะไรได้หนอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 สารกันบูดใน “ขนมเปี๊ยะ”

ขนมเปี๊ยะ อีกหนึ่งขนมยอดนิยมที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน จัดเป็นขนมที่นิยมซื้อหาไปเยี่ยมเยือนเพื่อนฝูง ญาติมิตร หรือรับประทานเป็นของว่างแสนอร่อย ปัจจุบันจึงมีขนมเปี๊ยะวางขายอยู่ทั่วไปมากมายหลายแบบหลายรสชาติ อย่างไรก็ตามด้วยความที่ขนมเปี๊ยะมีส่วนประกอบหลักคือ แป้ง และไส้ขนมที่มีปริมาณค่อนข้างเยอะทำให้ขนมเปี๊ยะมีความชื้นสูง ซึ่งเหมาะต่อการเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้โอกาสที่ขนมเปี๊ยะจะเน่าเสียหรือเกิดเชื้อราก่อนรับประทานหมดนั้นเกิดได้ค่อนข้างง่าย ดังนั้นผู้ผลิตรายหลายจึงเลือกที่จะใส่หรือเติมสารกันบูดลงไปด้วย เพื่อคงสภาพของขนมให้อยู่ได้นานๆ หลายวัน ทำให้ฉลาดซื้อ ฉบับนี้เลือก ขนมเปี๊ยะ จากหลายสถานที่ผลิต นำมาทดสอบหาปริมาณสารกันบูด มาดูกันว่าบรรดาเจ้าดังเจ้าอร่อยมียี่ห้อไหนบ้างที่พบการปนเปื้อนของสารกันบูดขนมเปี๊ยะ ใส่สารกันบูดได้หรือไม่?สารการบูดที่เราทำการทดสอบครั้งนี้คือ กรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิก ซึ่งเป็นสารที่นิยมใส่ในผลิตภัณฑ์กลุ่มเบเกอรี่ สามารถยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ได้ดีโดยจะไปทำให้กระบวนการแทรกซึมของจุลินทรีย์เข้าไปในอาหารอาหารผิดปกติ ทำให้จุลินทรีย์ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ไม่ได้กำหนดเกณฑ์การใช้ กรดเบนโซอิก ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมอบ ซึ่งขนมเปี๊ยะจัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าว เช่นเดียวกับขนมเค้ก ขนมพาย โดยในประกาศระบุเพียงว่า ให้ใช้ใน “ปริมาณที่เหมาะสม” ซึ่งถ้าลองนำไปเทียบกับกลุ่มอาหารชนิดอื่นๆ ส่วนใหญ่กฎหมายจะอนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก ไม่มีการกำหนดปริมาณการใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมอบ อย่างไรก็ตามข้อกำหนดที่อนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมนั้น เท่ากันกับที่กำหนดไว้ในมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ โคเด็กซ์ (Codex) ที่ก็อนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกสูงสุดได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ในกลุ่มอาหารประเภทขนมอบ ส่วน กรดซอร์บิก โคเด็กซ์ กำหนดให้ใช้ได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมเช่นกัน แต่ทั้งนี้หากมีการใช้ทั้ง 2 ชนิดรวมกัน ปริมาณสูงสุดที่พบเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมผลการทดสอบผลทดสอบ ขนมเปี๊ยะ 13 ตัวอย่าง พบว่ามีเพียง 1 ตัวอย่างที่ไม่พบการปนเปื้อนของ เบนโซอิก และ ซอร์บิก คือ ขนมเปี๊ยะเหลือง จากร้าน เอส แอนด์ พี ขณะที่ตัวอย่างขนมเปี๊ยะอีก 12 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนทั้งหมด แต่ปริมาณของ เบนโซอิก และ ซอร์บิก ในขนมเปี๊ยะจากการสุ่มสำรวจครั้งนี้ พบในปริมาณที่น้อยมาก เฉลี่ยอยู่ที่ 20.47 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัมเท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้คือสูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัมข้อสังเกต-มี 3 ตัวอย่างที่มีการแจ้งบนฉลากว่า ไม่ใส่สารกันบูด คือ 1.ขนมเปี๊ยะไส้ถั่ว ยี่ห้อครูสมทรง 2.ขนมเปี๊ยะไส้ถั่ว ร้านหมู และ 3.ขนมเปี๊ยะบางกระบือ (โง้วฮั่วเตียง) แต่ทั้ง 3 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนของเบนโซอิก แต่ก็พบในปริมาณเพียงเล็กน้อย จึงมีความเป็นไปได้ว่าเบนโซอิกที่พบนั้น อาจปนเปื้อนอยู่ในส่วนของวัตถุดิบโดยผู้ผลิตไม่ทราบมาก่อน หรือผู้ผลิตมีการใส่สารกันบูดลงไปในส่วนผสม-มี 1 ตัวอย่างที่แจ้งว่ามีการใช้สารกันบูด คือ ขนมเปี๊ยะกุหลาบ ยี่ห้อ แต้ เซ่ง เฮง-ขนมเปี๊ยะที่เราเลือกเก็บมาทดสอบส่วนใหญ่แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ กลุ่มแรกคือ ขนมเปี๊ยะเจ้าดังที่เป็นที่รู้จักของคนที่ชอบกินขนมเปี๊ยะ และมักนิยมซื้อหากันในช่วงเทศกาลสำคัญของชาวจีนอย่าง วันไหว้พระจันทร์ ซึ่งร้านขนมเปี๊ยะชื่อดังเหล่านี้ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในย่านเยาวราช เช่น ขนมเปี๊ยะ อื้อ เล่ง เฮง และ ขนมเปี๊ยะแต้เล่าจิ้นเส็ง กลุ่มที่ 2 คือ ขนมเปี๊ยะที่ขายอยู่ในร้านเบเกอร์รี่ชื่อดังที่มีสาขาหลายสาขา เช่น เอส แอนด์ พี, กาโตว์ เฮาส์ และร้านขนมบ้านอัยการ และกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มตัวอย่างขนมเปี๊ยะที่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่พบว่ามีวางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังอย่าง เทสโก้ โลตัส และ บิ๊กซี ซึ่งถือว่าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก-ถ้าดูจากวันที่ผลิตและวันหมดอายุของตัวอย่างขนมเปี๊ยะที่สุ่มสำรวจครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 1-2 เดือน ถือว่าเก็บไว้ได้ไม่นาน แต่ก็มีหลายตัวอย่างที่ไม่ได้มีการแจ้งเรื่องวันที่ผลิตและหมดอายุ เพราะลักษณะของร้านค้าที่ขายขนมเปี๊ยะส่วนใหญ่จะเป็นแบบทำไปขายไป กฎหมายอนุโลมให้อาหารลักษณะนี้ไม่ต้องมีฉลาก ซึ่งดูแล้วอายุของขนมเปี๊ยะในกลุ่มนี้ก็น่าจะใกล้เคียงกับกลุ่มที่มีการแจ้งข้อมูลบนฉลาก คือไม่เกิน 1-2 เดือนฉลาดซื้อแนะนำ-เลือกซื้อขนมเปี๊ยะจากร้านที่มั่นใจ ดูที่ทำสะอาดผลิตใหม่ทุกวัน -ขนมเปี๊ยะที่ซื้อมาแล้วกินไม่หมด ควรเก็บในตู้เย็น ช่วยยืดอายุของขนมเปี๊ยะให้นานขึ้น-แม้ว่าผลทดสอบที่ออกมาจะบอกว่า ขนมเปี๊ยะ อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยจากสารกันบูด เบนโซอิก และ ซอร์บิก เพราะปริมาณที่พบค่อนข้างน้อย แต่ก็ควรเลือกกินแต่พอดี เพราะในขนมเปี๊ยะมีส่วนผสมทั้งน้ำตาลและน้ำมันเป็นส่วนประกอบ กินมากๆ ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพขนมเปี๊ยะที่ขายกันอยู่ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ โดยแบ่งได้เป็น 2 แบบหลักๆ คือ แบบที่เปลือกนิ่ม เช่น เปี้ยะไหว้พระจันทร์ เปี๊ยะลูกเต๋า เปี๊ยะโมจิ อีกแบบคือขนมเปี๊ยะที่เปลือกแป้งจะมีความกรอบร่วนมีลักษณะเป็นชั้นๆ เช่น เปี๊ยะใหญ่ เปี๊ยะกุหลาบ เปี๊ยะทานตะวัน เป็นต้นตามความเชื่อของประเทศจีน ขนมเปี๊ยะ ถือเป็นขนมมงคล สื่อความหมายถึงความปรารถนาดีต่อกัน ของทั้งผู้ให้และผู้รับ ขนมเปี๊ยะเป็นขนมที่คู่กับเทศกาลไหว้พระจันทร์ ในภาษาจีนคำว่า ขนมไหว้พระจันทร์ เรียกว่า “เย่ว์ปิ่ง” ซึ่งมาจากคำ 2 คำ คือ “เย่ว์” ที่แปลว่า พระจันทร์ และคำว่า “ปิ่ง” ซึ่งหมายถึง ขนมเปี๊ยะ เพราะในเทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นช่วงเวลาที่คนจีนจะได้พบปะญาติพี่น้องแบบพร้อมหน้าพร้อมตา ร่วมกันกินขนมและชมพระจันทร์ไปพร้อมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 อาหารหมดอายุ

แม้เราจะเคยเสนอประเด็นเรื่องอาหารหมดอายุมาแล้วหลายครั้ง แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่เรื่อยๆ ดังเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคทั้ง 2 รายนี้กรณีที่หนึ่ง โยเกิร์ตหมดอายุเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณปาริชาติ เธอได้ซื้อโยเกิร์ตยี่ห้อหนึ่งจำนวน 2 แพ็ค จากห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ในราคาที่ลดกระหน่ำเหลือเพียงแพ็คละ 7.50 บาท แต่ด้วยความเร่งรีบจึงทำให้เธอลืมตรวจสอบ ว/ด/ป หมดอายุของสินค้าดังกล่าว ซึ่งภายหลังนำมารับประทานจึงพบว่าสินค้าทั้ง 2 แพ็ค หมดอายุไปแล้ว ทำให้เธอส่งเรื่องมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ โดยต้องการให้ห้างสรรพสินค้าดังกล่าวรับผิดชอบที่นำอาหารหมดอายุมาวางจำหน่ายแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีนี้สามารถอ้างอิงตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง การจำหน่ายอาหารหมดอายุได้ว่า เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุว่ามีโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับศูนย์ฯ จึงแนะนำให้ผู้ร้องเตรียมเอกสารประกอบการร้องเรียน ได้แก่ ใบเสร็จรับเงิน รูปถ่ายผลิตภัณฑ์ – ตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้หากมีอาการผิดปกติกับร่างกาย เช่น ท้องเสีย อาเจียน สามารถไปพบแพทย์และขอใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐานเพิ่มเติมได้ และศูนย์ฯ จะช่วยทำหนังสือร้องเรียนไปยังห้างสรรพสินค้าดังกล่าว เพื่อให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยตามข้อเสนอของผู้ร้อง ซึ่งภายหลังการเจรจาได้มีเสนอชดเชยผู้ร้องเป็นจำนวนเงิน 4,000 บาท ซึ่งผู้ร้องยินดีและขอยุติการร้องเรียนกรณีที่สอง เบียร์หมดอายุเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณสมชาย เขาซื้อเบียร์ต่างประเทศ จากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งระบุวันที่ผลิตว่าปี 2015 อย่างไรก็ตามภายหลังซื้อมาดื่ม เขาพบว่ามีอาการปวดท้องและท้องเสีย และเมื่อมาค้นหาข้อมูลเรื่องวันหมดอายุของเบียร์ก็พบว่า โดยปกติเบียร์ต่างประเทศจะมีอายุได้เพียง 1 ปีเท่านั้น ทำให้เขาคาดว่าเบียร์ดังกล่าวน่าจะหมดอายุไปแล้ว และเป็นสาเหตุของอาการท้องเสียที่เกิดขึ้น จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องโทรศัพท์ไปสอบถามยังบริษัทผู้ผลิตสินค้าดังกล่าวก่อนว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผู้ร้องซื้อมามีอายุการบริโภคเท่าไร และหมดอายุไปแล้วจริงหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าหมดอายุแล้วจริง แต่มีการนำสินค้ามาจำหน่ายจะเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กรณีจำหน่ายอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค หรือหากพบว่าอาหารยังไม่หมดอายุแต่เสื่อมสภาพแล้วก็สามารถฟ้องร้องได้เช่นกัน โดยมีโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้ร้องสามารถส่งหลักฐานประกอบการร้องเรียน เช่น ข้อมูลเอกสารผลิตภัณฑ์ ใบรับรองแพทย์ บันทึกประจำวัน มาให้ทางศูนย์ฯ ช่วยเหลือได้ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องไม่ต้องการฟ้องร้องต่อ จึงขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >