ฉบับที่ 277 เปิดคลินิกในปั๊มน้ำมันแบบนี้ก็ได้หรือ

        ความปลอดภัยจากสินค้าและบริการ เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพราะหากปล่อยไว้วันหนึ่งความเสียหายอาจมาถึงตัวเราเองและคนใกล้ตัวเข้าสักวัน         วันหนึ่งเมื่อคุณกองฟางพบว่า ในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองสกลนครมีการเปิดคลิกนิกให้บริการทางการแพทย์ เขารู้สึกแปลกใจ เพราะไม่คิดว่า คลินิกจะสามารถตั้งอยู่ในสถานที่เช่นนี้ได้ เพราะโดยปกติในปั๊มน้ำมันจะพบเห็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านสะดวกซื้อเท่านั้น        เมื่อความสงสัยและประหลาดใจเกิดขึ้นแล้ว มันต้องเคลียร์เพื่อไม่ให้คาใจคุณกองฟางจึงได้พยายามสอบถามข้อมูลจากผู้คนต่างๆ และได้รู้ข้อมูลต่อมาว่าในคลินิกแห่งนี้มีผู้อ้างตนว่าเป็นแพทย์ หรือ มีการทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นแพทย์ ทำการตรวจรักษาโรค จ่ายยา ฉีดยา เช่นเดียวกับแพทย์ ก็ยิ่งทำให้ไม่สบายใจมากขึ้น จากความสงสัยในตอนแรกว่าสถานที่ตั้งคลินิกถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะหน้าร้านมีเพียงป้ายระบุชื่อคลินิกขนาดเล็ก ไม่มีป้ายแสดงชื่อผู้ตรวจ ชื่อประเภทและลักษณะการให้บริการ ไม่มีเลขที่ใบอนุญาต จึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่าผู้ตรวจรักษาโรค เป็นแพทย์จริงหรือไม่และคลินิกได้รับอนุญาตเปิดคลินิก ถูกต้องหรือไม่ คุณกองฟางจึงเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่ม  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณกองฟาง พร้อมทำหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร เพื่อให้ตรวจสอบว่าคลินิกดังกล่าวได้จดทะเบียนและเปิดให้บริการอย่างถูกต้องหรือไม่ แล้วการอนุญาตให้เปิดในปั๊มน้ำมันนั้นสามารถทำได้หรือไม่         ต่อมาวันที่ 21 มี.ค. 2567 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้รายงานผลการดำเนินการตรวจสอบการขออนุญาตของคลินิกว่าภายหลังจากที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนครได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในวันที่ 12 .ก.พ. พบว่า คลินิกที่ถูกร้องเรียนนี้มีปัญหาจริงหลายประการ เจ้าหน้าที่จึงให้การอนุญาตแบบมีเงื่อนไขโดยให้คลินิกปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ต่อมาพบว่า คลินิกดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้ครบถ้วนในระยะเวลาที่กำหนด  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจึงออกคำสั่งยกเลิกและคืนคำขออนุญาตทำให้คลินิกต้องปิดตัวลง           กรณีนี้มีข้อที่ประชาชนควรรู้คือการเปิดคลินิกให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนอยู่ภายใต้การควบคุม กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2551 การเปิดให้บริการคลินิกแต่ละประเภทต่างๆ เช่น คลินิกทันตกรรม  คลินิกกายภาพบำบัด  คลินิกเวชกรรมต่างๆ กฎหมายได้กำหนดมาตรฐานที่ผู้ขอเปิดให้บริการต้องดำเนินการไว้แตกต่างกัน...หากประชาชนพบความผิดปกติ หวาดกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยสามารถร้องเรียนเรื่องเข้ามาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร้องเรียนโดยตรงได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของแต่ละพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบ บังคับใช้กฎหมายเช่นกรณีนี้         สำหรับกรณีเรื่องสถานที่ตั้งในปั๊มน้ำมันนั้น กฎหมายไม่ได้ระบุชัดว่าได้หรือไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 หมอหลวง : กว่าจะเป็นนักรบเสื้อกาวน์

        วิชาแพทยศาสตร์ของไทย แต่เดิมพัฒนาองค์ความรู้มาจากการใช้ยาสมุนไพรและตำรับยาตำราหลวง หรือที่รู้จักกันว่าเป็น “แพทย์แผนไทย” จนเมื่อราวร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ที่ระบบสาธารณสุขและความรู้แพทย์แผนใหม่ได้ลงรากปักฐานในสยามประเทศ และกลายมาเป็นชุดวิทยาการการแพทย์แผนหลักจวบจนปัจจุบัน         ที่สำคัญ ทุกวันนี้ไม่เพียงบุคลากรทางการแพทย์แผนใหม่จะมีบทบาทดูแลรักษาสุขภาพคนไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเท่านั้น หากแต่ยังมีบทบาทเป็นชนชั้นนำหรือ “คีย์แมน” ที่แทรกซึมเข้าไปในอีกหลากหลายแวดวงทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นแวดวงการศึกษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง และอีกมากมาย         เพราะแพทย์แผนใหม่ได้สถาปนาอำนาจและบทบาทนำในสังคมไทยมาเกินกว่าศตวรรษเช่นนี้เอง จึงไม่แปลกที่ละครโทรทัศน์จะหยิบเรื่องราวมาผูกเป็นเรื่องเล่าในความบันเทิงแบบมวลชน และล่าสุดก็ผูกโยงเป็นละครแนวพีเรียดที่ย้อนยุคไปในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อคณะมิชชันนารีได้เข้ามาเผยแผ่คริสตศาสนาและวิทยาการการแพทย์แบบตะวันตก พร้อมๆ กับการริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แผนไทย เป็นฉากหลังของเรื่องราว ดังที่เราได้มองผ่านละครเรื่อง “หมอหลวง”         ละครกึ่งดรามากึ่งคอมเมดี้เรื่อง “หมอหลวง” เริ่มต้นด้วยภาพกาลสมัยปัจจุบันของ “อัคริมา” หรือ “บัว” นางเอกสาวนักศึกษาแพทย์ ที่เหมือนจะไร้ญาติขาดพี่น้อง และแม้มุ่งมั่นว่าสักวันหนึ่งจะได้สวมเสื้อกาวน์เป็นหมอที่ดีในอนาคต แต่ในชั้นเรียนเธอกลับถูกตีตราจากอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นว่า เป็นนักศึกษาแพทย์ที่เรียนรั้งท้าย ไม่มีสติ ไม่มีวิจารณญาณที่จะเป็นหมอรักษาโรคได้ดี         กับชีวิตที่ดูแปลกแยกและไร้แรงเกาะเกี่ยวเช่นนี้ ปาฏิหาริย์ก็บังเกิดขึ้นเมื่อเกิดลมพายุใหญ่พัดหอบบัวออกจากห้องพักอันคับแคบ ทะลุมิติข้ามภพข้ามกาลเวลาประหนึ่งเมตาเวิร์ส มาโผล่ในจุลศักราช 1202 สมัยรัชกาลที่ 3 กันโน่นเลย         ปกติแล้วในความเป็นเรื่องละครแนวเดินทางข้ามเวลา หรือที่รู้จักกันว่า “time travel stories” นั้น ในฟากหนึ่งก็สะท้อนความรู้สึกโหยหาอดีตที่แสนหวานแต่ห่างหายไปแล้วจากสำนึกคนรุ่นปัจจุบัน แต่ในอีกฟากหนึ่ง ก็เป็นช่วงจังหวะที่เปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคลร่วมสมัยได้ทบทวนหวนคิดถึงตนเองในทุกวันนี้ โดยใช้ฉากทัศน์ของกาลอดีตมาเป็นภาพที่วางเปรียบเทียบเคียง         ด้วยเหตุดังนั้น หลังจากที่บัวได้หลุดมิติมาสู่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นางเอกสาวนักศึกษาแพทย์ก็ได้พบกับ “ทองอ้น” พระเอกหนุ่ม ลูกชายผู้ไม่เอาถ่านของตระกูลหมอหลวงสาย “หลวงชำนาญเวช” หรือที่ผู้คนเรียกขานว่า “หมอทองคำ” ผู้สืบทอดความรู้แพทย์แผนโบราณมาตั้งแต่สมัยกรุงเก่า         แม้ทองอ้นจะเป็นคนเฉลียวฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบดี แต่ด้วยเหตุผลที่เขาไม่ต้องการเด่นเกิน “ทองแท้” พี่ชายต่างมารดา จึงแกล้งทำตัวไม่เป็นโล้เป็นพาย เพื่อปิดบังความรู้ความสามารถที่แท้จริงของตน         แต่แล้วชีวิตทองอ้นก็ต้องมีอันพลิกผัน เมื่อมีพระราชโองการจัดตั้งโรงเรียนหมอหลวงขึ้นมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดรับสมัครนักเรียนหมอหลวงในกรุงสยาม และเปิดโอกาสให้ลูกหลานชาวบ้านทั่วไปได้เข้ามาร่ำเรียนเพื่อเป็นหมอ ซึ่งอดีตเคยเป็นวิชาความรู้ที่ผูกขาดอยู่เฉพาะในสายตระกูลหมอหลวง และก็แน่นอนที่พระเอกหนุ่มทองอ้นก็คือหนึ่งในผู้สมัครเป็นนักเรียนหมอหลวงรุ่นแรกนั้นด้วย         จากนั้น ผู้ชมก็ได้เห็นภาพกระบวนการกลายมาเป็นหมอหลวงในยุคเก่าก่อน ผ่านสายตาและการรับรู้ของบัวหญิงสาวผู้ข้ามภพกาลเวลามาจากปัจจุบัน โดยผูกเล่าผ่านโครงเรื่องความขัดแย้งย่อยๆ ตั้งแต่ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของหมอทองคำ ความวุ่นวายของชีวิตนักเรียนในโรงเรียนหมอหลวง ชีวิตหมอหลวงที่ต้องผูกพันกับทั้งราชสำนักและผู้ไข้ที่ขัดสน หรือแม้แต่เกี่ยวพันเข้าไปในสงครามสู้รบจริงๆ จากกลุ่มจีนอั้งยี่ และสงครามโรคภัยจากการระบาดของไข้ทรพิษ         และเพื่อให้ดูสมจริงในสายตาของผู้ชม ละครจึงตัดภาพสลับไปมา โดยให้ผู้หญิงร่วมสมัยอย่างบัวได้เรียนรู้วิทยาการสมุนไพรและแพทย์แผนโบราณ ไปจนถึงได้เห็นฉากการผ่าตัดครั้งแรกในสยามประเทศเมื่อร้อยกว่าปีก่อน แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้ตัวละครในอดีตอย่างทองอ้นและสหายได้ใช้จินตนาการหลุดมาสัมผัสเหตุการณ์จริงของระบบการจัดการสุขภาพผู้คนในศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่ให้พวกเขาได้เข้าไปเยี่ยมเยือนในห้องยิมออกกำลังกาย ไปจนถึงห้องผ่าตัดของศัลยแพทย์ในโรงพยาบาล         การสลับเรื่องราวไปมาของตัวละครสองห้วงเวลาที่หลุดเข้าสู่โลกเสมือนแบบนี้ ด้านหนึ่งก็เชิญชวนให้ผู้ชมได้ลุ้นกับฉากสรุปตอนท้ายว่า บัวจะตัดสินใจเลือกครองคู่อยู่กับทองอ้นในกาลอดีต หรือจะเลือกกลับมาใช้ชีวิตที่เหลือแบบแปลกแยกโดดเดี่ยวกันอีกครั้ง หากแต่พร้อมๆ กันนั้น ละครข้ามเวลาเรื่องนี้ก็ชี้ชวนให้เราทบทวนถึงคุณค่าของวิชาชีพแพทย์ ผู้มีบทบาทในการกำหนดความเป็นความตายของชีวิตมนุษย์ปัจจุบัน         แม้หมอเองก็คือปุถุชนธรรมดาคนหนึ่ง แบบที่นักเรียนหมอหลวงก็มีการแข่งขันกันเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง มีความอิจฉาริษยา มีเรื่องพรรคพวกเส้นสาย หรือแม้แต่ออกอาการงกวิชาความรู้ แต่ในขณะเดียวกัน ภายใต้ความเป็นปุถุชนที่มีกิเลสรักโลภโกรธหลงนี้ แวดวงวิชาชีพหมอในอดีตก็มีการติดตั้งรหัสจริยธรรมที่กำกับควบคุมด้านมืดทั้งหลายมิให้ครอบงำกัดกร่อนจิตใจของบรรดาหมอหลวงเหล่านั้นไปได้โดยง่าย         คุณค่าหลักของหมอในอุดมคติที่ปรากฏในละคร มีตั้งแต่การต้องเคารพครู ช่างสังเกต ตั้งข้อสงสัย ไม่ย่อท้อที่จะค้นหาวิธีรักษาโรคให้เจอ รู้จักขวนขวายความรู้จากทั้งตำราดั้งเดิมและความรู้ใหม่ๆ ที่เก็บเกี่ยวได้รอบตัว ตลอดจนคุณธรรมอีกหลากหลายที่คนเป็นหมอพึงมี         แต่ที่ละครดูจะตอกย้ำซ้ำทวนเอาไว้ก็คือ หมอที่ดีพึงยึดเอาประโยชน์ของ “ผู้ไข้” เป็นหลัก แบบที่ครูหมอรุ่นก่อนได้สอนอนุชนนักเรียนหมอหลวงว่า “จรรยาข้อแรกของหมอคือ ต้องมีเมตตาต่อผู้ไข้ไม่แยกชนชั้นวรรณะ” หรือ “ความรู้ด้านการแพทย์ไม่ได้มีไว้แข่งขันเพื่อเอาชนะกัน” หรือแม้แต่วิธีคิดต่อยาสมุนไพรหายากในโรงหมอหลวงที่ว่า “ยาหาใหม่ได้ แต่ชีวิตคนหาใหม่ไม่ได้”         เพราะฉะนั้น ฉากที่หมอทองคำลดตนก้มกราบคารวะ “หมอทัด” คู่ปรับในวิชาชีพแพทย์ที่ใช้ความรู้ช่วยเหลือผู้ไข้ให้ผ่านพ้นการระบาดของโรคฝีดาษได้ ก็อรรถาธิบายอยู่ในตัวว่า หากหมอหัดลดหรือวางอัตตาและทิฐิลงเสียบ้าง และพร้อมจะยอมรับความรู้ความสามารถคนอื่นเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ไข้ ก็เป็นรหัสจรรยาบรรณที่คนโบราณวางไว้ให้กับบรรดาหมอหลวงได้ยึดถือปฏิบัติ         กว่าศตวรรษได้ผ่านพ้นไป กับสังคมไทยที่มีแพทย์ชนชั้นนำเป็นกลจักรขับเคลื่อนอยู่นี้นั้น สถาบันการแพทย์ที่มีบทบาทและตัวตนอยู่ในสปอตไลต์ก็คงหนีไม่พ้นที่จะถูกตั้งคำถามไปถึงจรรยาบรรณใต้เสื้อกาวน์อยู่เป็นเนืองๆ หากเราลองผาดตาเล็งเห็นคุณค่าที่ทองอ้นกับการก่อตัวของสถาบันหมอหลวงมาแต่อดีต ก็อาจจะเห็นหลักจริยธรรมที่นำมาตอบโจทย์ของแพทย์ที่มีต่อผู้ไข้และสังคมไทยอยู่ในนั้นได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 260 คำหลอกลวงของพ่อค้า...มีอะไรในหมอนข้าง

        ในสังคมออนไลน์มีเรื่องที่ผู้บริโภคโพสต์เล่าประสบการณ์การซื้อสินค้าหรือบริการจำนวนมาก บางครั้งก็เป็นสิ่งน่ารัก และบางครั้งก็น่า...ตกใจ มาลองอ่านประสบการณ์นี้กัน         คุณสุดรักเป็นแฟนนิตยสารฉลาดซื้อได้ทักมาสอบถามในกล่องข้อความของเพจนิตยสารฉลาดซื้อว่า เห็นข่าวสาวคนหนึ่งไปเดินงานสหพัฒน์แฟร์กับแฟน และไปซื้อหมอนข้างราคาใบละ 100 บาท พ่อค้าก็บอกว่าเป็นหมอนข้างเกรดพรีเมี่ยมใช้ในโรงแรม แต่นำมาขายราคาถูกเพียง 100 บาท เธอก็หลงเชื่อคำโฆษณาของพ่อค้าเลยซื้อมาเพราะหมอนข้างสภาพดี ปลอกหมอนขาวสะอาด แต่หลังจากหมอนข้างใบนั้นมาอยู่บนที่นอน เธอถูกมดกัดบนที่นอนบ่อยมาก เก็บกวาดห้องก็แล้ว ซักผ้าปูที่นอนก็แล้ว มดยังราวีเธอไม่เลิกรา เลยเริ่มหาสาเหตุอย่างจริงจัง สุดท้ายพบว่า มดมาจากหมอนข้างที่เธอซื้อมานั่นเอง         คุณสุดรักจึงแกะรื้อหมอนข้างดูด้านใน ก็พบว่าไส้หรือวัสดุด้านในเป็นฟองน้ำและมีเศษอะไรก็ไม่รู้ที่ทำให้หมอนข้างนิ่มๆ พร้อมกับกองทัพมดที่ยั้วเยี้ยผุดโผล่ออกมาจากฟองน้ำ คุณสุดรักสอบถามมาว่าเหตุการณ์แบบมีกฎหมายเอาผิดกับผู้ขายบ้างไหม แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อแอดมินเพจนำข้อสอบถามมาสอบถามกับทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้คำตอบมว่ากรณีนี้อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 47 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” หรือเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”         ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้บริโภคที่เจอเหตุการณ์นำหลักฐานการซื้อขายเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และ/หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้นำดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมาย ไม่ให้พ่อค้าแม่หลอกลวงผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง : มีความรู้อยู่กับตัวกลัวอะไร ชีวิตไม่ปลดปลงคงได้ดี

        ปกติแล้ว ละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้จะถูกมองว่า เป็นละครแนวที่ผู้ชมจะบันเทิงเริงรมย์เบาสมอง เสียจนบางคนเชื่อว่าไม่น่าจะมีอะไรสลักสำคัญอยู่ในนั้น แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องราวแบบบางเบาสมองเช่นนี้ก็อาจจะไม่ได้ “ไร้สาระ” หากแต่ตั้งคำถามต่อความเป็นจริงและความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนในสังคมไว้อย่างเข้มข้น แถมยังแยบยลยิ่งนัก        “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” ก็เป็นหนึ่งในละครโรแมนติกคอมเมดี้แบบย้อนยุค ที่ลึกๆ ลงไปในเนื้อหาแล้ว ความสัมพันธ์ของตัวละคร “ทองเอก” กับ “ชบา” ซึ่งกว่าความรักที่แตกต่างกันทั้งในแง่ศักดิ์ชั้นและบุคลิกนิสัยจะลงเอยกันได้ในตอนจบ แก่นความคิดของเรื่องกลับดูร่วมสมัยที่แทบจะไม่ได้ย้อนยุคแต่อย่างใด        โดยเส้นเรื่องหลักอาศัยพล็อตที่ผูกย้อนไปเมื่อครั้งสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ช่วงเวลานั้นทองเอกได้ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวของหมอยาที่สืบทอดองค์ความรู้วิชาแพทย์แผนโบราณ และเมื่อยังเป็นเด็ก “พ่อหมอทองอิน” ปู่แท้ๆ ของเขา ก็เคยต้องรู้สึกเสียใจอย่างใหญ่หลวง เมื่อครั้งหนึ่งไม่สามารถยื้อชีวิตของเด็กน้อยคนหนึ่งที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า และตายอยู่ในอ้อมแขนของตน ปู่ทองอินจึงหนีบาดแผลในอดีต และพาทองเอกที่เป็นกำพร้าพ่อแม่อพยพมาใช้ชีวิตอยู่ที่ชุมชนบ้านท่าโฉลง โดยไม่คิดรักษาโรคให้กับใครอีกเลย        ความเจ็บปวดและเสียใจกับอดีตดังกล่าว ส่งผลให้หมอทองอินสั่งห้ามทองเอกผู้เป็นหลานชายและเพื่อนๆ อย่าง “เปียก” และ “ตุ่น” ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับตำรับยารักษาโรคโดยเด็ดขาด เพราะลึกๆ แล้ว ปู่ก็กลัวว่าทองเอกจะต้องชะตากรรมเดียวกับที่ตนเคยเผชิญมา        แต่เพราะพระเอกหนุ่มมีความมุ่งมั่นว่า ความรู้เรื่องหมอยาเป็นคุณค่าที่สั่งสมมาในสายตระกูล และเป็นความหวังสำหรับบรรดา “ผู้ไข้” ทั้งหลายที่อยากจะหลุดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง ทองเอกจึงแอบร่ำเรียนวิชา และใช้ความรู้หมอยารักษาคนไข้ โดยไม่เลือกปฏิบัติว่า “ผู้ไข้” เหล่านั้นจะมาจากศักดิ์ชั้นสังกัดใดในสังคม        ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร “ผ่อง” สาวชาวบ้านที่เคยโฉมงาม แต่เพราะป่วยเป็นโรคคุดทะราดจนมีสภาพไม่ต่างจากผีปอบ และถูก “แม่หมอผีมั่น” ผู้เป็นมารดาอัปเปหิไปอยู่กระท่อมกลางป่า หรือตัวละคร “คุณนายสายหยุด” แม่ของชบา และเป็นภรรยาของ “ท่านขุนกสิกรรมบำรุง” ที่ตัวคุณนายเองได้ป่วยเป็นโรคลมในท้องรักษาไม่หาย ไปจนกระทั่งตัวละคร “เสด็จพระองค์หญิง” ซึ่งป่วยเรื้อรังจนสุดความสามารถของหมอหลวงในวังที่จะรักษาให้หายขาด ทุกคนก็ล้วนกลายเป็น “ผู้ไข้” ที่ทองเอกรักษาให้โดยมิได้ตั้งแง่แต่อย่างใด        ด้วยเหตุที่ละครผูกเรื่องไว้เป็นแนวโรแมนติกคอมเมดี้ อีกด้านหนึ่งของชีวิตการเป็นหมอยานั้น กว่าที่ทองเอกกับชบาจะลงเอยแฮปปี้เอนดิ้ง ทั้งคู่ก็ต้องฝ่าบททดสอบต่างๆ มากมาย ทั้งจาก “กล้า” ตัวละครหนุ่มหล่อและรวยที่เป็นคู่แข่งหัวใจของทองเอก ผ่องผู้เป็นคนรักเก่าของเขา และความขัดแย้งระหว่างทองเอกกับขุนกสิกรรมบำรุงผู้เป็นว่าที่พ่อตา ซึ่งกีดกันพระเอกนางเอกด้วยฐานานุรูปที่แตกต่างกัน        และดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า เบื้องลึกระหว่างบรรทัดของละครแนวกุ๊กกิ๊กคอมเมดี้ หาใช่เป็นอันใดที่ “ไร้สาระ” ไม่ หากแต่คลุกเคล้าไว้ด้วยการตั้งคำถามต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไว้อย่างแยบยล ด้วยเหตุฉะนี้ คู่ขนานไปกับบทพิสูจน์ความรักและความมุ่งมั่นของ “นายทองเอก” ที่จะเป็น “หมอทองเอก” ก็คือการเผยให้เห็นโลกทัศน์ที่เรามีต่อสิ่งที่เรียกว่า การสั่งสมและใช้ “ความรู้” ของคนในสังคม        เพื่อให้สอดรับกับสังคมที่ก้าวเข้าสู่ความเป็น “สังคมแห่งความรู้” หรือ “knowledge-based society” ในปัจจุบัน ในขณะที่ละครได้อาศัยการสร้างฉากและองค์ประกอบศิลป์ให้ดูเป็นแบบพีเรียดย้อนยุค แต่อากัปกิริยา คำพูดศัพท์แสง และบทสนทนาของตัวละคร กลับล้วนแล้วแต่เป็นแบบที่ผู้คนในยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ต่างพูดๆ กันอยู่ในชีวิตประจำวัน        ด้วยภาพที่ดูร่วมสมัยแต่ย้อนแย้งอยู่ในความเป็นอดีตนี้เอง ละครได้ตั้งคำถามกับคนในสังคมว่า เมื่อหมอยาคือบุคคลที่สังคมยอมรับในแง่ของการเป็นผู้ถือครองวิชาความรู้ที่สั่งสมสืบทอดกันมา ดังนั้น ผู้รู้ก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้มีความรู้ก็อาจจะ “รู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว” แต่ที่สำคัญต้องเป็นผู้ “เชี่ยวชาญ” ในเรื่องจริงๆ จึงจะ “บังเกิดเป็นมรรคผล”        ฉากที่เพื่อนๆ ทดสอบทองเอกด้วยการปิดตาและให้ดมกลิ่นหรือลิ้มรสสมุนไพรแต่ละชนิด พร้อมระบุสรรพคุณของตัวยาเหล่านั้น ย่อมบอกได้ชัดเจนว่า ถ้าจะเอาดีด้านหมอยา ความรู้เรื่องสมุนไพรและธาตุยาที่ถือครองไว้ก็ต้องผนวกผสานเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายและจิตใจของผู้รู้คนนั้นๆ        ในขณะเดียวกัน เพราะ “ความรู้เป็นอำนาจ” และ “อำนาจเป็นเหรียญสองด้าน” ที่มีทั้งด้านให้คุณและให้โทษ ดังนั้น ในขณะที่แม่หมอผีมั่นเลือกใช้ความรู้หมอยาเพื่อครอบงำและเป็นมิจฉาทิฐิทำลายผู้อื่น แต่ทองเอกกลับยืนยันว่า ความรู้ต้องใช้เพื่อปลดปล่อยและเป็นสัมมาทิฐิเพื่อจรรโลงสังคมโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู แบบที่เขาได้ใช้ความรู้หมอยารักษาแม่หมอผีมั่นจากโรคในตอนท้ายเรื่องนั่นเอง         นอกจากนี้ อีกบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ของหมอทองเอกในฐานะผู้ถือครองความรู้ก็คือ ความรู้หนึ่งๆ ไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่จะรักษาได้สำเร็จเสมอไป เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว “หมอไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะรักษาใครให้หายได้ทุกคน” เหมือนกับที่ตัวละครหลวงพ่อได้พูดให้เราสำเหนียกว่า “ไม่มีหมอคนไหนอยากให้ผู้ไข้ตายหรอก...คนจะตายมันก็ตายอยู่ดี”         เพราะฉะนั้น แม้ความรู้จะทำให้ผู้รู้นั้นดูองอาจหรือมีอำนาจ แต่ผู้รู้ก็ต้องถ่อมตนและยอมรับว่า ความรู้ทุกชนิดมีข้อจำกัดและมีขอบเขตในการนำไปใช้เสมอ แบบที่ “หนึ่งสมองกับสองมือ” ของหมอทองเอกก็ไม่สามารถรักษาคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคระบาดในท่าโฉลงได้ครบทุกคน หรือแม้แต่ไม่อาจเหนี่ยวรั้งชีวิตของปู่ทองอินซึ่งถูกยาสั่งของแม่หมอผีมั่นเอาไว้ได้ในตอนกลางเรื่อง         คำโบราณกล่าวไว้ถูกต้องว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา” และ “มีความรู้อยู่กับตัวกลัวอะไร” แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคที่ความรู้ได้กลายเป็นทุนและแหล่งที่มาของอำนาจในสังคมทุกวันนี้แล้ว บางทีเสียงหัวเราะขำๆ และความรู้สึกกุ๊กกิ๊กที่เรามีให้กับหมอทองเอกและตัวละครต่างๆ รอบตัว คงบอกเป็นนัยได้ว่า มีความรู้อย่างเดียวนั้นไม่พอ แต่ต้องเข้าใจและปฏิบัติต่อความรู้อย่างสร้างสรรค์จริงๆก่อนจะเสียชีวิตลง ประโยคที่ปู่ทองอินพูดกับทองเอกที่จะเป็นทายาทสืบต่อในฐานะผู้รู้หมอยาของท่าโฉลง จึงแยบคายเป็นอย่างยิ่งว่า “ข้าไม่กลัวความตาย ตลอดชีวิตของข้า ข้าทำความดีอย่างสุดความสามารถแล้ว ถึงข้าตาย ข้าก็สบายใจ”                                                                             

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 โรคตายคาเบาะหมอนวดไทย ตอนที่ 1

เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวผู้รับบริการนวดที่ร้านนวดเพื่อสุขภาพแล้วเสียชีวิตคาเบาะ คาเตียงหมอนวด ผู้ตายยังเป็นหนุ่มแข็งแรง เป็นหญิงสาวตั้งท้อง ทำให้ผู้คนหวาดกลัวการนวดไทยว่า การนวดมีอันตรายถึงแก่ชีวิต  เรามารู้เท่าทันการนวดไทยกันเถอะ การนวดไทยคืออะไร        การนวดไทยนั้นเป็นศาสตร์และศิลปะด้านสุขภาพที่อยู่ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทยมาหลายร้อยปี บันทึกของ มองสิเออร์ เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาในกรุงสยาม พ.ศ. 2230-2231 กล่าวถึงการนวดสมัยนั้นว่า “ในกรุงสยามนั้นถ้าใครป่วยไข้ลง ก็จะเริ่มให้ยืดเส้นยืดสาย โดยให้ผู้มีความชำนาญในทางนี้ ขึ้นไปแล้วใช้เท้าเหยียบ กล่าวกันว่า หญิงมีครรภ์ก็มักใช้เด็กเหยียบเพื่อให้คลอดบุตรง่าย”         การนวดไทยเป็นการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการนวดไทยต้องจบ “หลักสูตรวิชาชีพการนวดไทย (800 ชั่วโมง)”  และต้องฝึกประสบการณ์การนวดกับครูผู้รับมอบตัวศิษย์อย่างน้อย 2 ปี จึงจะมีสิทธิ์สอบความรู้จากสภาการแพทย์แผนไทยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ (หมอนวดไทย) ได้ หมอนวดไทยสามารถประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน หรือเปิด “คลินิกการนวดไทย”          ในปีพ.ศ. 2559 ได้มี พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กำหนดให้มี การนวดเพื่อสุขภาพ โดยผู้ให้บริการต้องผ่านการอบรมหลักสูตร “การนวดเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง” จึงจะให้บริการการนวดเพื่อสุขภาพในสถานประกอบการนวดเพื่อสุขภาพได้         ร้านนวดเพื่อสุขภาพที่เปิดกันอย่างกว้างขวาง จึงเป็นร้านนวดเพื่อสุขภาพ ผู้ให้บริการจบหลักสูตรการนวดเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง และทำการนวดเพื่อการผ่อนคลายเท่านั้น ไม่สามารถบำบัดรักษาอาการต่างๆ ได้เทียบเท่าหมอนวดไทย การนวดทำให้ผู้ถูกนวดตายได้หรือไม่         การนวดไทยนั้นใช้กรรมวิธี การตรวจ การวินิจฉัยและการบำบัดโรคด้วยการกด คลึง บีบ ทุบ สับ ประคบ เพื่อให้เส้นและลมกลับมาอยู่ในสภาพปกติ แรงที่เกิดขึ้นจากการนวดนั้น จะผ่านไปที่กล้ามเนื้อและเอ็นเป็นหลัก ไม่ได้กดที่กระดูก เส้นเลือด เส้นประสาท แม้จะมีการเปิดประตูลมที่ขาหนีบ ก็จะใช้ฝ่ามือกดด้วยแรงพอประมาณ ไม่เกิน 45 วินาที         แม้การตอกเส้นที่ตอกตามร่างกายโดยใช้ค้อนไม้ ตอกไปที่ท่อนไม้ผ่านตามจุดต่างๆ ของร่างกายผู้ถูกนวด เสียงดังโป้งป้าง หมอนวดก็จะยั้งไม้ไว้ ไม่ให้ตอกลงลึก เพียงแค่ใช้แรงสั่นสะเทือนจากไม้ที่ตอกส่งแรงไปตามแนวต่างๆ ของร่างกายเท่านั้น แรงสั่นสะเทือนจะไปกระตุ้นแนวเส้นต่างๆ ของร่างกายเพื่อให้ทางเดินของลมหรือพลังงานกลับเป็นปกติ         กรณีที่มีพระใช้การตอกเส้นรักษาผู้ป่วยอย่างรุนแรง การนวดกดปิดเส้นเลือดแดงที่คอจนหมดสติ และอีกมากมายที่รุนแรงนั้น ไม่ใช่มาตรฐานวิชาชีพการนวดไทยตามองค์ความรู้ของการนวดไทย ศาสตร์การนวดไทยที่แท้จริงนั้น เน้นความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ การนวดไทยจึงมีข้อห้ามในการนวดกรณีที่มีการติดเชื้อ กระดูกหัก การอักเสบที่รุนแรง ไม่นวดรักษาโรคและอาการที่ไม่หายด้วยการนวดไทยแล้วผู้ถูกนวดตายคาเบาะหมอนวดได้อย่างไร ติดตามฉบับหน้าครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 204 รู้เท่าทันกบฏผีบุญทางการแพทย์ (ตอนที่ 2)

เรื่องราวของหมอเทวดานั้น ไม่ได้มีเฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกล้วนมีปรากฏการณ์หมอเทวดาเกิดขึ้นทั่วไป  เราควรมีทัศนะต่อเรื่องนี้อย่างไร เราควรศึกษาทัศนะต่อเรื่องนี้ของประเทศต่างๆ เพื่อที่จะได้มองเห็นแนวทางในการจัดการเรื่องภูมิปัญญาดั้งเดิมในการดูแลสุขภาพที่ดีองค์การอนามัยโลกเห็นคุณค่าของการแพทย์ดั้งเดิมองค์การอนามัยโลกซึ่งเป็นองค์การด้านสุขภาพระหว่างประเทศ ได้ประกาศสนับสนุนการนำการแพทย์ดั้งเดิมเข้ามาในระบบสุขภาพของประเทศต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ  ด้วยการช่วยเหลือประเทศสมาชิกให้พัฒนานโยบายระดับชาติ จัดทำแนวเวชปฏิบัติ มาตรฐานสากล ระเบียบวิจัย และกระตุ้นให้มีการใช้การแพทย์ดั้งเดิมอย่างสมเหตุสมผล ฯลฯองค์การอนามัยโลกได้จัดทำยุทธศาสตร์การแพทย์ดั้งเดิมขององค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2557-2566 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ • ให้ใช้ประโยชน์จากศักยภาพของการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริม เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ความอยู่ดีมีสุข บริการสุขภาพที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า• ส่งเสริมการใช้การแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริม อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิผล โดยอาศัยการควบคุมและกำกับดูแล การศึกษาวิจัย และการบูรณาการผลิตภัณฑ์ เวชปฏิบัติ และผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริม เข้าในระบบสุขภาพอย่างเหมาะสมนี่เป็นทิศทางใหญ่ของโลกในการยอมรับคุณค่าของการแพทย์ดั้งเดิม และควรสนับสนุนให้เกิดการใช้การส่งเสริมการใช้ที่ดี ต้อง ได้ผลจริง ปลอดภัย เข้าถึงได้   การส่งเสริมการใช้การแพทย์ดั้งเดิมที่ดีนั้น ต้องคำนึงถึง ได้ผลจริง  ต้องเชื่อได้ว่าการรักษาด้วยวิธีการนั้นได้ประสิทธิผลจริง ไม่ใช่เชื่อแบบงมงาย ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เชื่อถือได้  ที่สำคัญต้องมีที่มาที่ไปของภูมิปัญญานั้น มาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมจริงหรือไม่ต้องปลอดภัย  การรักษานั้นนอกจากได้ผลจริงแล้ว ต้องปลอดภัยต่อผู้ป่วยด้วย  หรือแม้จะยังไม่รู้ว่าได้ผลจริงหรือไม่ ก็ต้องมีความปลอดภัยเสียก่อน  ดังนั้น การรักษาที่ต้องกระทำต่อร่างกายและจิตใจผู้ป่วยจึงต้องพิจารณาประเด็นนี้การเข้าถึง  การรักษาที่ผูกขาด ปิดลับข้อมูล(การใช้ยา) และผู้ป่วยส่วนใหญ่หรือทั่วไป ไม่สามารถเข้าถึงหมอหรือการรักษาได้โดยสะดวก นั้นจะเป็นช่องทางให้เกิดจากหลอกลวง หาประโยชน์ และไม่เกิดประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่วิธีการรักษาที่ควรสนับสนุนการใช้อย่างสมเหตุสมผล  การใช้ภูมิปัญญานั้นๆ ต้องเหมาะสม ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ความเชื่อของชุมชน  ดังนั้น โดยหลักการขององค์การอนามัยโลกแล้ว เราต้องมีทัศนะที่ดี เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาการแพทย์ดั้งเดิม  เราต้องส่งเสริมการใช้การแพทย์ดั้งเดิมอย่างถูกต้อง ถูกทาง นั่นคือ ต้องพิสูจน์ว่าได้ผลในการรักษาจริง ต้องปลอดภัยต่อผู้ป่วย ผู้ป่วยทั่วไปสามารถเข้าถึงการรักษาได้ และต้องเกิดการใช้อย่างสมเหตุสมผลปรากฏการณ์ของหมอเทวดาที่เกิดในสังคมไทย และประเทศต่างๆ นั้น จึงต้องเปิดใจกว้าง เห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในการมีส่วนร่วมด้านสุขภาพนั้นเป็นเรื่องดี เป็นไปตามนโยบายสุขภาพดีถ้วนหน้าในขณะเดียวกัน ทั้งภาครัฐและประชาชน โดยเฉพาะหมอเทวดาต่างๆ นั้น ก็ต้องเปิดใจกว้างให้เกิดการตรวจสอบ ว่ามีเจตนาบริสุทธิ์หรือไม่ การรักษานั้น ได้ผล ปลอดภัย เข้าถึง และสมเหตุสมผลหรือไม่สุดท้าย ถ้าวิธีการรักษาใด วิธีการหนึ่ง ได้ผล ปลอดภัย ก็ควรเผยแพร่วิธีการนั้นให้เป็นสาธารณะเพื่อให้เกิดการพึ่งตนเองด้านสุขภาพของประชาชนต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤษภาคม 2558 ห้ามแล้วเด็ดขาด!!! “เมโทมิล” ในยาฉีดแมลง อย. ปรับระดับการควบคุมวัตถุอันตราย “เมโทมิล” (methomyl) จากเดิมเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 ไปเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ป้องกันกําจัดแมลงที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข ซึ่งผลจากการปรับระดับครั้งนี้ทำให้เมโทมิล เป็นสารที่ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง องค์การอนามัยโลกได้จัดให้สารเมโทมิลอยู่ในกลุ่ม สารกําจัดแมลงที่มีความเป็นพิษสูง เนื่องจากเป็นสารที่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยการดูดซึมผ่านทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร โดยเมโทมิลเป็นสารที่มีพิษเฉียบพลัน ลักษณะของผู้ที่ได้รับพิษจะมีอาการเหงื่อออก ปวดศีรษะ เพลีย วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ตาพร่ามัว กล้ามเนื้อเกร็งและกระตุก ชัก โคม่า สูญเสียการควบคุมของกล้ามเนื้อหูรูด ความดันโลหิตต่ำ หัวใจทำงานผิดปกติ และอาจเสียชีวิตได้จากภาวะอัมพาตของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจและการหดเกร็งของปอด   แม้ อย.จะปรับเมโทมิลในผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับกำจัดแมลงในบ้านเป็นสารอันตรายห้ามใช้เด็ดขาด แต่ในทางการเกษตร เมโทมิล ยังจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งควบคุมโดยกรมวิชาการเกษตร ดังนั้นจึงยังอาจพบเห็นเมโทมิลวางขายตามร้านจำหน่ายสินค้าการเกษตรได้ แต่ก็ไม่ควรซื้อมาใช้สำหรับกำจัดแมลงในบ้านเด็ดขาด --------------------------------------------------------------   รีบลงทะเบียนซิม ก่อน 31 ก.ค. 58 ใครที่ใช้โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินแล้วยังไม่ได้ลงทะเบียนซิม รีบไปทำลงทะเบียนซิมโดยด่วนภายในวันที่ 31 ก.ค. 2558 นี้ เพราะถ้าปล่อยให้พ้นกำหนดจะไม่สามารถใช้โทรออก ไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ต และไม่สามารถส่งข้อความได้ ทำได้แค่รับสายโทรเข้าอย่างเดียวเท่านั้น การลงทะเบียนซิมเป็นการระบุตัวตนของผู้ใช้งานซิมนั้นๆ เพื่อจะช่วยป้องกันการนำซิมไปใช้ในการกระทำผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังช่วยในการรักษาสิทธิประโยชน์ ในการรักษาเบอร์ให้เป็นของเรา เมื่อเลิกใช้บริการก็สามารถขอเงินคงเหลือคืนได้ และสามารถเรียกร้องสิทธิต่างๆ เมื่อเกิดปัญหาในการใช้งาน สำหรับวิธีการตรวจสอบว่าซิมที่ใช้อยู่ลงทะเบียนแล้วหรือยัง ทำได้โดย กด *151# และโทรออก ฟรีทุกเครือข่าย ส่วนการลงทะเบียนเพียงแค่นำบัตรประชาชน หรือพาสปอร์ต หรือบัตรรายงานต่างด้าว ตัวจริง และโทรศัพท์มือถือพร้อมซิมไปลงทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการเครือข่ายที่ท่านใช้งานอยู่ หรือจุดที่มีสัญลักษณ์ “2 แชะ แวะลงทะเบียนซิม” ---------------------------------------------   นั่งทำงานนานระวัง “หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม” หนุ่ม – สาววัยทำงานที่ต้องนั่งเก้าอี้ติดหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ระวังเสี่ยงเป็นโรค “หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม” โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาเตือนว่า การทำกิจกรรมซ้ำๆ เป็นเวลานานโดยไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ รวมถึงการยกของหนัก หรือแม้แต่การสูบบุหรี่ ส่งผลทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณหมอนรองกระดูกน้อยลง การเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังทำให้เกิดการทรุดตัวของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ร่างกายจะตอบสนองโดยการสร้างกระดูกงอกหรือหินปูนขึ้นมา เพื่อต้านการทรุดตัว ซึ่งอาจทำกระดูกสันหลังไปกดทับเส้นประสาท จะทำให้เกิดอาการปวดร้าวไปตามเส้นประสาท ปวดขา ชาขา นอกจากนี้ หากกระดูกสันหลังมีการทรุดตัวมากขึ้นจะทำให้เกิดกระดูกสันหลังคดหรือเคลื่อน สำหรับแนวทางป้องกันหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมหรือเกิดอาการกดทับเส้นประสาท ทำได้โดยหมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ อย่านั่งอยู่กับที่นานติดต่อกันเกิน 1 ชั่วโมง โดยเฉพาะวัยทำงานที่มักนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ควรเปลี่ยนอิริยาบถ ด้วยการลุก ยืน เดิน มีการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบๆ หลัง และหน้าท้องให้แข็งแรงสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก รวมทั้งงดการสูบบุรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้กระดูกพรุน และหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้น ------------------------------------------------------------------     จี้ สตง. ตรวจสอบ ปตท. ให้บุคคลที่สามใช้ท่อส่งก๊าซ นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ และ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และอดีตสมาชิกวุฒิสภา เข้าพบ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ตรวจสอบ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กรณีเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนบกแก่บุคคลที่สาม ในระหว่างตรวจสอบการแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่ปตท.ยังคืนให้แก่รัฐไม่ครบถ้วน ถือเป็นการนำท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในคำร้องไปทำสัญญากับบุคคลภายนอก ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับประเทศ เพราะอาจก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ หรือเสียประโยชน์ที่มีอยู่ในปัจจุบันและอาจเสียเปรียบในทางธุรกิจในอนาคตอีกหลายประการ บริษัท ปตท. ไม่ดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินท่อก๊าซของปตท. จากปัญหาการตีมูลค่าทางบัญชี ณ วันที่ 30 กันยายน 2544 มูลค่า 46,000 ล้านบาท แต่เมื่อปตท.จ้างบริษัทเอกชนประเมินมูลค่าใหม่อีกครั้งปี 2551 จากการขยายอายุใช้งานของท่อส่งก๊าซ โดยเพิ่มอายุใช้งานขึ้นจากเดิมที่เคยประเมินไว้ที่ 25 ปีเป็น 40 ปี พบว่ามีมูลค่าท่อก๊าซสูงถึง 150,000 - 120,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ปตท.ยังขออนุมัติขึ้นค่าผ่านท่อ ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) อนุมัติให้ปตท.ขึ้นได้ 2 บาทต่อหน่วย ทำให้ปตท.มีรายได้เพิ่มขึ้นทันทีปีละ 2,000 ล้านบาททุกๆ ปี ส่งผลให้ประชาชนต้องซื้อก๊าซแพงขึ้น --------------------------------------------------   ถึงเวลาควบคุมราคาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน หลังจากที่เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ นำโดย นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายฯ นำรายชื่อประชาชน 33,000 ชื่อ เข้ายื่นต่อประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.คุ้มครองผู้บริโภค) เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาโรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลสูงเกินจริง ปัญหากลไกราคายาที่ไม่มาตรฐานราคากลาง ปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินที่โดนเรียกเก็บค่าบริการก่อนการรักษา ทั้งนี้มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าราคายาและเวชภัณฑ์ตามโรงพยาบาลเอกชนสูงกว่าของโรงพยาบาลศูนย์ สังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขถึง 60-400 เท่า ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้เรียกประชุมเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน โดยในการประชุมหารือมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการค้าภายใน, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.), อย., แพทยสภา, สปสช., สภาเภสัชกรรม และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เบื้องต้นผลจากการหารือได้ข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหาเป็น 3 ระยะ คือ 1. ระยะสั้น ให้รพ.เอกชน แสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าบริการต่างๆ เช่น ค่าห้อง ค่าเครื่องมือ ค่าเตียง ฯลฯ ขึ้นเว็บไซต์ของโรงพยาบาลเอง รวมถึงส่งให้แก่ สบส. ด้วย เพื่อรวบรวมแล้วขึ้นเว็บไซต์ของ สธ. เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกรับบริการ ทั้งนี้สถานพยาบาลเอกชนที่ไม่ดำเนินการประกาศอัตราค่ารักษาพยาบาลมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หากแจ้งอัตราเป็นเท็จ เช่น ระบุรายการค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยไม่ได้ใช้ ถือเป็นคดีอาญา มีโทษปรับ 40,000 บาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี 2. ระยะกลาง จะตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาราคา รพ.เอกชนแพง ซึ่งจะมาจากทุกภาคส่วน ยาถือเป็นสินค้าควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ของกระทรวงพาณิชย์ โดยจะมีการกำหนดให้ชัดเจนว่า ยาแต่ละหมวด แต่ละกลุ่ม ควรมีราคากลางเท่าไร โดยคำนวณจากต้นทุน และกำไรสูงสุดที่จะบวกเพิ่มต้องไม่เกินเท่าไร และ 3.ระยะยาว คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นดังกล่าวจะพิจารณาค่ารักษาพยาบาลด้านอื่นๆ เช่น ค่าหัตถการ และจะประสานความร่วมมือกับ รพ.เอกชน ในการใช้ทรัพยากรบุคคลร่วมกับ รพ.รัฐ ในการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ยืนยันว่ามาตรการทุกระยะจะต้องมีการหารือกับ รพ.เอกชนก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2553 6 กรกฎาคม 2553ดื่มน้ำมังคุดไม่หายป่วย อาจซวยได้โรคเพิ่ม จากกรณีที่มีข่าวพบผู้ป่วยวัย 81 ปี ชาว จ.หนองคาย เข้ารักษาในโรงพยาบาลหลังมีอาการไข้ ไอ อ่อนเพลีย และท้องเสียรุนแรงถึงขั้นถ่ายเป็นเลือด เมื่อตรวจตามร่างกายก็พบรอยจ้ำช้ำเลือดทั่วตัว ซึ่งสอบถามหาสาเหตุพบว่าผู้ป่วยได้ดื่มน้ำมังคุดยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งอ้างสรรพคุณว่ารักษาอาการปวดขาได้ แต่สุดท้ายดื่มแล้วกลับต้องป่วยหนักจนเข้าโรงพยาบาล ทาง อย. จึงรีบออกมาเตือนประชาชน ยืนยันผลจากรายงานของแพทย์ ว่าน้ำมังคุดรักษาโรคไม่ได้ แถมยังมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย   “แม้ในมังคุดจะมีสารแซนโทน (xanthones) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ แต่ก็ยังขาดข้อมูลสนับสนุนว่าสามารถใช้รักษาโรคได้ นอกจากนี้เคยมีรายงานทางการแพทย์กรณีผู้ป่วยดื่มน้ำมังคุดทุกวัน ตลอด 12 เดือน จนเกิดภาวะเลือดเป็นกรด และพบอาการไม่พึงประสงค์ อาทิ บวม แดง เกิดผื่นคัน ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ถ่ายเหลว ลำไส้แปรปรวน และท้องผูก และที่ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ คือ ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการฉายรังสี ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาต้านมะเร็ง ผู้ป่วยที่มีภาวการณ์สร้างเม็ดเลือดแดงมากเกินไปทำให้เลือดข้น และผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากผลิตภัณฑ์น้ำมังคุดมีการผสมน้ำตาลจำนวนมาก ผู้ป่วยโรคดังที่กล่าวไม่ควรรับประทาน ซึ่งในอเมริกาก็เคยออกคำเตือนกับผู้ผลิตน้ำมังคุดเกี่ยวกับการโฆษณาสรรพคุณด้วยเช่นกัน” นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 14 กรกฎาคม 2553เตรียมออกกฎหมายมาตรฐานแพทย์แผนจีน กระทรวงสาธารณสุข เตรียมออกกฎหมายควบคุมมาตรฐานคลินิกการแพทย์แผนจีน พร้อมผลักดันการแพทย์แผนจีนเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สืบเนื่องมาจากการประชุมวิชาการการแพทย์แผนจีน ครั้งที่ 1 กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าควรควบคุมคลินิกการแพทย์แผนจีนให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น โดยการจัดทำร่างมาตรฐานสถานพยาบาลสาขาการแพทย์แผนจีน บังคับให้คลินิกแพทย์แผนจีนต้องมีเครื่องมือตรวจวินิจฉัยโรค ให้เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบโรคศิลปะ ที่ต้องมียา อุปกรณ์และเวชภัณฑ์เพียงพอ ส่วนการนวดและการฝังเข็มนั้น สถานบริการจะต้องมีจำนวนเตียงให้บริการสัดส่วนไม่เกิน 10 เตียง ต่อผู้ให้บริการ 1 คน ซึ่งร่างดังกล่าวจะเสนอต่อคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนจีนพิจารณา โดยคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในปีหน้านี้   นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข เตรียมผลักดันการแพทย์แผนจีนเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มากขึ้น โดยให้คลอบคลุมถึงการใช้สมุนไพรและการนวดแบบจีน ที่นอกเหนือจากการฝังเข็มรักษาโรคเพียงอย่างเดียว รวมทั้งจะเสนอให้ผู้ป่วยเบิกได้ตามจ่ายค่ารักษาพยาบาลจริงได้ เพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการรักษาโรคมากขึ้น -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   22 กรกฎาคม 2553อย.ออกกฎลดปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม แก้เด็กไทยฟัน "ตกกระ" คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า เด็กที่บริโภคน้ำที่มีฟลูออไรด์มากกว่า 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันตกกระ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้มีรายงานไว้ว่า ปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำบริโภคที่แนะนำคือ 1.5 มิลลิกรัมต่อน้ำบริโภค 1 ลิตร ซึ่งการกำหนดเป็นมาตรฐานของแต่ละประเทศนั้น ควรคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ภูมิอากาศ ปริมาณฟลูออไรด์ที่ได้รับจากการบริโภคน้ำและอาหารอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งทางอย. ห่วงใยเด็กไทยโดยเฉพาะในวัย 1 – 6 ขวบซึ่งอยู่ในระหว่างการสร้างฟัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดฟันตกกระในเด็ก จึงได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 23 เมษายน 2553 โดยปรับข้อกำหนดปริมาณฟลูออไรด์ของน้ำบริโภคจาก “1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร” เป็น “0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร” โดยประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2553 ส่วนผู้ผลิต / นำเข้าน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุปิดสนิทที่ได้รับการจดทะเบียนรายละเอียดของอาหารไว้แล้วก่อนหน้านี้ ต้องปรับปริมาณฟลูออไรด์ ให้เป็นไปตามประกาศฯ ฉบับนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2553 เป็นต้นไป หากพบน้ำดื่มบรรจุขวดมีคุณภาพหรือมาตรฐานไม่เป็นไปตามประกาศ เข้าข่ายเป็นอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ผู้บริโภคร้อง กทช.เปลี่ยนเครือข่ายใช้เบอร์เดิมต้องไม่เสีย 99 บาท เครือข่ายศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคทั่วประเทศ สภาผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) คัดค้านการอนุญาตให้ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการโอนย้ายเลขหมายในอัตรา 99 บาท เพราะเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภค และอาจขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมนายกำชัย น้อยบรรจง ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง กล่าวว่า จุดยืนขององค์กรผู้บริโภคเรื่องการคงสิทธิในเลขหมายได้เสนอไว้อย่างชัดเจนทั้งจากเวทีรับฟังความคิดเห็นของ กทช. ทั่วประเทศ และการรับฟังความคิดเห็นเรื่อง 3G เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ไม่ควรเรียกเก็บค่าบริการในการโอนย้ายบริการจากผู้ใช้บริการ แต่หากบริษัทมีต้นทุนในการให้บริการโอนย้ายดังกล่าวจริง ผู้ประกอบการควรตกลงรับภาระกันเอง เนื่องจากผู้ประกอบการเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากผู้ใช้บริการด้าน นายพนัชทร สุนทราภิมุข ตัวแทนองค์กรเครือข่ายผู้บริโภค กล่าว่า การมีมติของ กทช.ที่ให้เรียกเก็บค่าโอนย้ายเครือข่ายได้นี้ น่าจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 12 และมาตรา 21 เพราะในมาตรา 12 วรรค 4 กำหนดไว้ว่า ให้คณะกรรมการ กทช.กำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์ให้ผู้ใช้บริการมีสิทธิใช้เลขหมายโทรคมนาคมเดิมได้ เมื่อมีความพร้อมทางเทคนิค และที่สำคัญคือเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ใช้บริการเมื่อผู้ใช้บริการต้องการเปลี่ยนผู้ให้บริการแต่ต้องการคงเลขหมายเดิม โดยไม่มีการให้อำนาจแก่ กทช. ในการกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะให้มีการคิดค่าใช้จ่ายการโอนย้ายเลขหมายแต่อย่างใด และในมาตรา 21 ของกฎหมายฉบับเดียวกัน ยังบังคับให้คณะกรรมการ กทช. ต้องกำหนดมาตรการที่มิให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ให้บริการกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขัน ในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม แต่การที่ กทช.ไปกำหนดให้มีการเรียกค่าเก็บค่าธรรมเนียมการโอนย้ายกับผู้บริโภค จะทำให้ผู้บริโภคถูกจำกัดสิทธิในการเลือกใช้บริการกับผู้ให้บริการที่ตนเองเห็นว่ามีคุณภาพการบริการที่ดีกว่าผู้ให้บริการรายเดิมได้ การกำหนดให้มีการคิดค่าธรรมเนียมได้นี้จึงไม่เอื้อประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภคอันถือเป็นหน้าที่ที่ กทช. ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแต่อย่างใด------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- แพทย์ชนบทย้ำ พ.ร.บ,คุ้มครองผู้เสียหายฯ ช่วยลดการฟ้องหมอ แพทย์ชนบท เภสัชกรชนบท เครือข่ายผู้บริโภคย้ำ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข หมอได้ประโยชน์ พร้อมหนุนให้มีกฎหมาย เครือข่ายผู้เสียหายเดินหน้ายื่นจดหมายต่อแพทยสภาเพื่อขอให้พูดความจริง นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ในฐานะตัวแทนชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีประโยชน์ต่อสังคม และตนหวังว่า น่าจะสร้างความสัมพันธ์อันดีทุกฝ่าย และถือว่ามีประโยชน์อย่างมากและครอบคลุมผู้ใช้สิทธิทุกคน   “จากประสบการณ์ที่ผ่านมาถึงแม้ปัจจุบันนี้จะมีการชดเชยและเยียวยาผู้เสียหายซึ่งเป็นเสมือนบททดลอง ตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ซึ่งสามารถเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายได้ แต่ก็บรรเทาความเสียหายเฉพาะผู้ใช้สิทธิรักษาบัตรทองเท่านั้น ไม่ครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งหากมี กฎหมายตัวนี้ออกมาจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากขึ้น” นพ.วชิระ กล่าว   ด้าน นพ.วีรพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ที่เคยมีกรณีรักษาผู้ป่วยตาต้อกระจกแล้วผู้ป่วยติดเชื้อระหว่างการผ่าตัด ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง 11 รายและต้องควักลูกตาทำให้ตาบอดสนิทจำนวน 10 ราย กล่าวว่า “ถ้าหากมีกฎหมายตัวออกมาตั้งแต่ปี 2553 ตนน่าจะเบาหน่อย เพราะหากมี พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขออกมาเราจะมีเวทีในการพูดคุยกันระหว่างหมอกับคนไข้ เพราะไม่มีใครอยากให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ถ้าหากพลาดพลั้งมาก็ต้องคุยกัน ต้องสร้างสัมพันธ์กัน”   ด้าน ภญ. ศิริพร จิตร์ประสิทธิศิริ ชมรมเภสัชชนบท กล่าวถึงพี่น้องที่ประกอบอาชีพด้านสาธารณสุขที่กังวลว่าหากกฎหมายตัวนี้เกิดขึ้นแล้วจะมีการฟ้องอาญามากขึ้นนั้น การฟ้องอาญา ม.34 หากผู้เสียหายฟ้องอาญาไว้แล้ว จะไม่สามารถใช้กฎหมายนี้ได้ ซึ่งกฎหมายตัวนี้ได้บังคับให้เลือกใช้สิทธิเพียงสิทธิเดียวเท่านั้น และ ม.45 จะมีการบรรเทาโทษ หรือละเว้นโทษให้ หากมีการช่วยเหลือ หรือแสดงความรับผิดชอบภายใต้กฎหมายนี้ไปแล้ว ซึ่งศาลก็ต้องพิจารณาหลายๆส่วน เชื่อว่าความเป็นธรรมยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าเราต้องผสานความสัมพันธ์ของหมอกับคนไข้ต่อไปและไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกันยายน 255213 กันยายน 2552ระวังหมอฟันเถื่อนเกลื่อนเมือง!กรณีที่มีหญิงสาวคนหนึ่งออกมาร้องเรียนกับสื่อมวลชนว่าถูกหมอฟันในคลินิกแห่งหนึ่งย่านรามคำแหงทำอนาจาร พร้อมทั้งตั้งข้อสงสัยว่าภรรยาของหมอฟัน ที่แต่งชุดและทำงานคล้ายกับทันตแพทย์นั้น จริงๆ แล้วอาจไม่ได้เป็นทันตแพทย์จริง ศาสตราจารย์พิเศษ พลโท พิศาล เทพสิทธา นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบสำหรับกรณีทันตแพทย์ชายลวนลามคนไข้ ส่วนเรื่องภรรยาของทันตแพทย์ซึ่งตรวจสอบแล้วว่าไม่มีใบประกอบวิชาชีพ หากพบว่ามีการรักษาคนไข้จริง ทันตแพทย์ที่อนุญาตถือว่ามีความผิด ซึ่งกรณีนี้ทันตแพทยสภาสามารถเข้าไปดำเนินการเอาผิดได้ แต่ในกรณีของตัวภรรยานั้น ทันตแพทยสภาไม่สามารถเอาผิดได้ต้องเป็นหน้าที่ของตำรวจและกองการประกอบโรคศิลปะ แต่ต้องมีคนออกมาร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่จึงจะเข้าไปจัดการได้ “ปัจจุบันมีทันตแพทย์เถื่อนเป็นจำนวนมาก แต่ทางทันตแพทยสภาจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน เพราะเมื่อทราบเบาะแสและร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเข้าจับกุม คนกลุ่มนี้จะรู้ตัวและหลบหนีไปทันที ที่ผ่านมาพบบ่อยบริเวณท่าพระจันทร์ล่าสุดกระจายไปทั่วแล้ว” แนะนำหากจำเป็นต้องพบทันตแพทย์ควรเลือกสถานพยาบาลที่เปิดประจำ มีใบอนุญาตให้เปิดบริการและมีใบประกอบวิชาชีพ 19 กันยายน 2552อย.ลงดาบสื่อ! โฆษณายา-อาหารสุขภาพเกินจริงทีวี เคเบิ้ลทีวี วิทยุ หรือแม้แต่นิตยสารต้องระวัง หากเผยแพร่โฆษณาผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ อาหารเสริมที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ไม่ว่าจะจงใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีสิทธิถูกลงโทษตามกฎหมายทั้งจำทั้งปรับ อย. เปิดเผยว่า ด้วยมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่คิดเอาเปรียบผู้บริโภค อาศัยกระแสการใส่ใจเรื่องสุขภาพของผู้คนมาเป็นช่องทางในการทำธุรกิจ โดยนำผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ทั้ง อาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์ ไปโฆษณาตามสื่อต่างๆ ซึ่งถ้าหากมีการตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ผ่านการตรวจสอบและได้รับใบอนุญาตจาก อย. นอกจากผู้ผลิตจะมีความผิดแล้ว สื่อที่ทำการเผยแพร่โฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็มีความผิดด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ อย. ได้ดำเนินคดีกับบรรณาธิการนิตยสาร Gossip Star, นิตยสารทีวีพูล และ นิตยสาร OHO ซึ่งเผยแพร่โฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. โดยเป็นโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงของบริษัท ธัญญาพรสมุนไพร จำกัด และ บริษัท ไบโอพลัส จีเอ็มพี จำกัด ซึ่ง อย. ได้สั่งปรับเงินทั้งบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์และนิตยสารทั้ง 3 ฉบับแล้ว 21 กันยายน 2552ผู้บริโภคอีสานพบเสาโทรศัพท์ใกล้ชุมชนมากไป หวั่นผลกระทบในงานเวทีสภาผู้บริโภคภาคอีสาน ประจำปี 2552 มีการนำเสนอผลการสำรวจ “ข้อมูลพื้นที่ใกล้เคียงเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมที่อาจเกี่ยวข้องกับผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า” โดยได้สำรวจเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคม จาก 5 จังหวัด คือ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ดและสกลนคร พบว่าเสาสัญญาณส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งชุมชนไม่ถึง 20 เมตร ซึ่งเสาเจ้าปัญหา 3 อันดับแรก คือ เอไอเอส ทรูมูฟ และดีแทค ตามลำดับ โดย ร้อยละ 48.1 ของเสาสัญญาณที่สำรวจนั้นพบว่า ตั้งอยู่ห่างจากโรงเรียนน้อยกว่า 200 เมตร ร้อยละ 15.2 พบว่า เสาสัญญาณอยู่ใกล้โรงพยาบาลมากไป และร้อยละ 18.4 อยู่ใกล้สถานีอนามัยมาก นายปฏิบัติ เฉลิมชาติ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ได้ยื่นข้อเสนอต่อ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ให้มีการบังคับใช้ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมอย่างเข้มงวดและจริงจัง กทช.ต้องมีหน่วยติดตามตรวจสอบความเข้มของสนามแม่เหล็กในบริเวณที่มีการตั้งเสาสัญญาณโทรคมนาคม พร้อมทั้งคอยสนับสนุนสถาบันการศึกษา นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษาค้นคว้าทำการวิจัยอย่างจริงจัง เกี่ยวกับผลกระทบและอันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 22 กันยายน 2552“พริกน้ำปลา” ภัยร้ายใกล้ตัวนางอรพินท์ บรรจง จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจจากการทำโครงการพัฒนาตำรับอาหารท้องถิ่นสำหรับผู้สูงอายุ พบว่าถ้วยพริกน้ำปลาซึ่งไม่ได้จัดเป็นเมนูอาหาร แต่มักจะถูกไว้อยู่บนโต๊ะที่เรารับประทานอาหารเสมอนั้น อาจทำให้ร่างกายของเราได้รับปริมาณโซเดียมมากเกินความจำเป็น การเติมพริกน้ำปลาเพิ่มลงในอาหารจัดเป็นพฤติกรรมปกติของสังคมไทย แต่การรับประทานอาหารรสเค็มมากๆ และบ่อยๆ ทำให้เกิดมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองแตก โรคหัวใจและไตวาย รวมทั้งโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้น และผู้ที่เป็นโรคเหล่านี้จะต้องระมัดระวังอาหารที่มีโซเดียมสูงเป็นพิเศษ เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในโรคที่เป็นอยู่ ค่าปกติในการรับประทานทานอาหารที่มีโซเดียม แนะนำว่าบริโภคได้ไม่เกินวัน 2,400 มิลลิกรัม ซึ่งเทียบได้กับน้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะหรือเกลือประมาณครึ่งช้อนชา ดังนั้นเลี่ยงพฤติกรรมการเติมพริกน้ำปลาตามความเคยชิน ควรชิมก่อนเพื่อตัดสินใจว่าจะปรุงเพิ่มดีหรือไม่ ---------------------------------------------------------------------------------------------- ครบรอบ 1 ปี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ได้จัดสัมมนา “1 ปี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค” เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ย้อนมองถึงการทำงานของกฎหมายนี้ตลอดระยะเวลา 1 ปีตั้งแต่ที่เริ่มประกาศใช้ โดยได้นักวิชาการ นักกฎหมาย และผู้ที่เคยใช้กฎหมายมาร่วมพูดคุยและแสดงความคิดเห็น ศ.จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่า “การมี พ.ร. บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคออกมานั้นถือเป็นเรื่องดี แม้ว่าจะสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการมากขึ้นกว่าเดิมแต่ก็ถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับความปลอดภัยที่ผู้บริโภคพึงได้รับ อย่างไรก็ตามเนื่องจากกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคยังเป็นการนำปัญหาไปวางไว้ที่ศาล ซึ่งอยู่ตอนปลายของกระบวนการยุติธรรม ถึงแม้จะมีการตัดสิน แต่ก็ไม่ได้มีผลในเรื่องการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นได้ ปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเน้นอยู่ 3 ด้านหลัก คือ โฆษณา ฉลากและสัญญา ซึ่งถ้าสามารถควบคุมใน 3 ส่วนนี้ให้ถูกต้องได้ เชื่อว่าปัญหาการฟ้องร้องระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการก็จะลดลงไปได้ไม่น้อย” ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภาผู้ที่เคยใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ฟ้องร้องชนะคดีเรียกร้องค่าชดใช้เป็น "รายแรก" ของเมืองไทย หลังกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อ 23 ส.ค.2551 ในกรณีร้องสิทธิผู้บริโภคกับ "นกแอร์" บกพร่องในหน้าที่การให้บริการโดย "ไม่ใช้" เครื่องตรวจสแกนระเบิดวัตถุโลหะแก่ผู้โดยสาร กล่าวว่า "กฎหมายนี้ถือว่าเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างมาก ซึ่งช่วยลดขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินคดีให้สั้นลง แต่อย่างไรก็ดีกฎหมายนี้ต้องมีการพัฒนาต่อไปทั้งทางด้านการเผยแพร่ข้อมูล ให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงกฎหมาย และทางศาลเองก็ต้องมีเจ้าพนักงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างแท้จริง เพราะถึงแม้ว่าการฟ้องคดีนั้นไม่ต้องใช้ทนาย แต่เมื่อต้องขึ้นศาลจริงๆ ตัวผู้บริโภคเองก็ต้องมีข้อมูลและต้องมีความรู้เพื่อไปต่อสู้ในชั้นศาล” นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมถึงบทเรียนการใช้กฎหมายว่า “ปัญหาจากการฟ้องโดยใช้กฎหมายดังกล่าวตามหลักการนั้นมีประโยชน์ แต่เมื่อมาใช้จริงกลับมีความยุ่งยากและล่าช้าทั้งในการฟ้องร้อง การนัดสืบคำร้อง ศาลไม่มีทนายที่มีความรู้ในการอ่านเวชระเบียน และเมื่อมีการสืบพยาน กรณีคดีผู้เสียหายทางการแพทย์ การหาพยานที่อยู่ฝั่งผู้เสียหายทำได้ยากมาก ในขณะที่อีกฝ่ายมีพยานเยอะ รวมถึงเมื่อต้องอยู่ในศาล ฝ่ายจำเลยมีทนาย มีอำนาจ มีทุกอย่าง ขณะที่โจทก์ไม่มีอะไรเลย และการนัดไกล่เกลี่ยของตัวแทนแต่ละฝั่งทำงานไม่สมดุลกัน” นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า “กฎหมายนี้มีประโยชน์ช่วยให้ผู้บริโภคฟ้องร้องดำเนินคดีได้จริง ตอนนี้มีมากกว่า 150 คดีที่อยู่ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและที่ได้ยื่นฟ้องไปแล้วกว่า 100 คดี ซึ่งทำให้เห็นว่าผู้บริโภคเข้าถึงกฎหมายได้มากขึ้น แม้จะยังมีอุปสรรคหลายประการ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเจ้าพนักงานคดียังขาดความเข้าใจต่อกฎหมาย และอยากจะให้ศาลมีกลไกในการรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้กฎหมายฉบับนี้และต้องทำให้ผู้บริโภคเข้าใจมากยิ่งขึ้นเช่นกัน ด้าน นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ กล่าวว่า “กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคถือว่าเป็นกฎหมายที่พัฒนาการมาก แต่ก็ยังต้องมีการพัฒนาต่อไป คดีผู้บริโภคมี 2 ด้าน คือด้านที่ผู้ประกอบการฟ้องกับด้านที่ผู้บริโภคฟ้อง ซึ่งก่อนหน้านี้จะเป็นคดีที่ผู้ประกอบการฟ้องผู้บริโภคซะเป็นส่วนใหญ่ แต่เชื่อว่าในอนาคตข้างหน้าผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้สินค้าและบริการต่างๆ จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้เพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องอาศัยความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจาก สคบ. หรือองค์กร มูลนิธิที่คอยดูแลในเรื่องนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าพนักงานที่ทำหน้าที่ในศาลที่ต้องช่วยเหลือผู้บริโภคในการเขียนคำฟ้อง และตัวผู้บริโภคเองก็ต้องเก็บรวบรวมหลักฐานต่างๆ ให้ครบถ้วนและมากที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดี --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- รุมค้าน อย. ปล่อยบริษัทยาต่างชาติขายยาโดยไม่ต้องตรวจคุณภาพในไทยกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมออกประกาศเรื่อง การขึ้นทะเบียนยาสามัญ การศึกษาชีวสมมูลของยาสามัญ พ.ศ. ... ตามข้อตกลงของกลุ่มประเทศอาเซียนว่า ด้วยการจัดระเบียบการขึ้นทะเบียนตำรับยา โดยบริษัทยาสามารถใช้รายงานผลการศึกษาชีวสมมูลของยาสามัญที่ดำเนินการศึกษาในต่างประเทศตามหลักเกณฑ์และคุณภาพมาตรฐานที่ อย.กำหนดเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ต้องนำมาศึกษาชีวสมมูลในประเทศไทยอีก รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า “ประกาศนี้เอื้อต่อบริษัทยาสามัญของต่างชาติที่ต้องการนำเข้ายา ซึ่งขณะนี้รอคิวขึ้นทะเบียนยาอยู่เป็นจำนวนมาก หากใช้รายงานศึกษาชีวสมมูลที่บริษัทแม่ในต่างประเทศศึกษามาใช้ขึ้นทะเบียนได้ทันทีก็ทำให้บริษัทเหล่านี้ได้ประโยชน์ แม้ว่าการไม่ต้องศึกษาชีวสมมูลใหม่จะช่วยลดทอนขั้นตอนระยะเวลาการขึ้นทะเบียนยาสามัญ ทำให้ขึ้นทะเบียนยาได้รวดเร็วขึ้นแต่บริษัทยาไทยจำเป็นต้องมีการศึกษาชีวสมมูลอยู่ดี เท่ากับเป็นกลยุทธ์ในการตัดกำลังศักยภาพการผลิตยาของไทย “การออกประกาศดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นจากคณะกรรมการยา โดย อย.เห็นว่าเป็นเรื่องการปฏิบัติงานภายในของอย.จึงไม่จำเป็นต้องผ่านคณะกรรมการยาทั้งที่เรื่องดังกล่าวนี้ จริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องเชิงปฏิบัติการแต่เป็นเรื่องเชิงนโยบายที่เป็นทิศทางของยาสามัญในประเทศไทยในอนาคต ซึ่งต้องเข้าสู่วาระการประชุมของคณะกรรมการยาด้วยเช่นกัน” ด้าน ภญ.ศศิธร กิตติวรวิทย์กุล ผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมไทยอุตสาหกรรมการผลิตยาแผนปัจจุบัน กล่าวว่า “ในร่างประกาศฯ ระบุว่า บริษัทยาสามัญข้ามชาติสามารถใช้รายงานการศึกษาชีวสมมูลจากประเทศต้นทางได้โดยไม่ต้องมาศึกษาชีวสมมูลในไทยอีก แต่ศูนย์ที่ศึกษาในต่างประเทศจะต้องมีมาตรฐาน ซึ่งอย.สามารถขอไปตรวจสอบได้หากมีข้อสงสัยแต่ไม่ใช่ทุกกรณี การให้บริษัทยาสามัญข้ามชาติที่จะนำยาสามัญเข้าประเทศจะต้องศึกษาชีวสมมูลในประเทศอีกครั้งถือว่าเป็นการตรวจสอบที่ทุกประเทศในโลกนี้ทำกัน เพื่อป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมยาในประเทศตาย แต่การออกประกาศฉบับนี้ของ อย.นอกจากจะเอื้อต่อบริษัทยาข้ามชาติแล้วยังเป็นการลดทอนศักยภาพอุตสาหกรรมยาและศูนย์ศึกษาชีวสมมูลในประเทศไทยอีกด้วย”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 หมอลืมของไว้ในแก้มฉัน

การศัลยกรรมให้ใบหน้าสวยเข้ารูปด้วยการตัดกราม เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สาวๆ หลายคนยอมเจ็บตัว ซึ่งผลลัพธ์ของมันจะคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป เมื่อการศัลยกรรมดังกล่าวออกมาสวยดั่งใจและปลอดภัย แต่หากเราพบว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพื่อรักษาตัวจากการมีสิ่งแปลกปลอมอย่าง ผ้าก๊อซปิดแผล ที่ถูกลืมไว้ในแก้ม เราควรจะทำอย่างไรดีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นคุณพัชราภา ที่เข้ารับการผ่าตัดกรามจากคลินิกศัลยกรรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย โดยสาเหตุที่เธอเลือกใช้บริการคลินิกแห่งนี้ เพราะเห็นว่าเป็นคลินิกที่มีชื่อเสียง ได้รับการรีวิวจากผู้ใช้ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก เธอจึงตัดสินใจนั่งเครื่องบินจากประเทศเยอรมันกลับบ้านเกิด เพื่อมาทำศัลยกรรมดังกล่าว ซึ่งตกลงกันอยู่ที่ 60,000 บาทอย่างไรก็ตามหลังผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย และมาพักฟื้นที่กรุงเทพฯ เธอก็พบว่าแผลที่ผ่าตัดเป็นหนองอักเสบ จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แม้จะมีอาการดีขึ้น แต่เธอยังปวดแผล และพบว่ามีหนองไหลออกมาจากแผลตลอดเวลา เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เธอจึงกลับไปที่คลินิกเดิม เพื่อให้แพทย์ที่ทำการศัลยกรรมให้ตรวจรักษาแต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น ทั้งนี้เมื่อเธอเดินทางกลับประเทศเยอรมันก็พบว่าอาการรุนแรงขึ้นกว่าเดิม เธอจึงไปพบแพทย์และได้รับข้อมูลที่น่าตกใจหลังการเอ็กซ์เรย์ว่า มีเศษกระดูกชิ้นเล็กติดค้างอยู่ตรงบริเวณที่แผลอักเสบ และเมื่อแพทย์ผ่าตัดเพื่อนำชิ้นส่วนดังกล่าวออก ก็ยังพบผ้าก๊อซถูกทิ้งไว้ที่บริเวณแผลผ่าตัดอีกด้วย! แนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังได้รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ทำหนังสือเชิญให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจาหาข้อยุติ ซึ่งทางด้านผู้ร้องได้ชี้แจงว่า ยังคงมีอาการที่ไม่ดีขึ้น โดยหากต้องพูดนานๆ เธอจะมีอาการชาที่บริเวณคางและริมฝีปากล่าง ซึ่งทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ จึงเสนอให้ทางคลินิกดังกล่าวรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นจำนวนเงินกว่า 3 ล้านบาทด้านบริษัทฯ ก็รับว่าจะนำข้อเสนอของผู้ร้องกลับไปพิจารณา แต่ยังไม่ตอบตกลง ซึ่งภายหลังก็เสนอกลับว่า ยินยอมที่จะเยียวยาค่ารักษาส่วนหนึ่งเป็นจำนวนเงินประมาณ 3 แสนบาท แต่ให้สิทธิ์ผู้ร้องสามารถรักษาฟรีที่คลินิกของของตนเอง หรือให้พาเพื่อนมาทำศัลยกรรมได้ฟรีอีก 1 คน อย่างไรก็ตามผู้ร้องได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เพราะเห็นว่าไม่มีความเป็นธรรม และดำเนินการใช้สิทธิ์ทางศาล ฟ้องคดีเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 100 ปี หมอยา

เมื่อวันที่ 10- 12  มกราคม 2557  เป็นวันจัดงาน “100  ปี วิชาชีพและการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย โดย สภาเภสัชกรรม  และมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม   ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทบทวนผลการดำเนินการ 100 ปี ที่ผ่าน และทิศทางการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา “วิชาเภสัชศาสตร์” กับความคาดหวังของประชาชนต่อวิชาชีพนี้  ในทศวรรษ ต่อไปประเด็นที่ท้าทาย “หมอยา” มีมากมาย   รวมถึงการกำหนดหลักสูตรการสอนอย่างไร?  ให้ผู้ที่จบหลักสูตรวิชาชีพเภสัชกรรม  เป็นผู้ที่ “เอาธุระต่อสังคม” ไม่ใช่เป็นแค่อาชีพหนึ่งในสังคม   สาเหตุที่เขียน เช่นนี้ เพราะเภสัชกร  เป็นผู้ทรงความรู้เกี่ยวกับเรื่องยา   ทุกแขนง ทุกสาขา ทั้งความรู้เรื่องการใช้ยาการกินยา ผลกระทบของยา การผลิตยา  ทั้งยาคนยาสัตว์  รวมถึงเป็นผู้ที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดความมั่นคงด้านยา  เรียกได้ว่าเป็นรอบรู้เรื่องที่เกี่ยวกับยาครบวงจร   แต่ความรู้ที่อุตส่าห์ร่ำเรียนมาตั้ง 6 ปี  กลับถูกนำมาใช้อย่างจำกัด  เภสัชกร เป็นได้แค่คนขายยาในร้านยา คนจัดยาและแนะนำยาให้กินยาตามแพทย์สั่ง  เช่น  ยานี้กินกี่วัน กินวันละกี่มื้อ  แต่กินไม่ตรงแล้วเป็นไง กินไม่ครบจะเกิดอะไร(ไม่มีเวลาบอก)  เป็นเภสัชในโรงงาน  ฯลฯ ที่ยังไม่เคยเป็นเลยตลอด 100 ปีที่ผ่านมา  เห็นจะเป็น  “ผู้ทำให้ประเทศไทยพึ่งพาตัวเองด้านยาได้” อย่างที่ควรจะเป็น ด้วยข้อจำกัด และอุปสรรคมากมาย ทำให้ 100 ปี ที่ผ่านมาประเทศไทยยังต้องพึ่งการนำเข้ายาจากต่างประเทศเป็นหลัก  เท่าที่ผู้เขียนไปนั่งฟังในเวทีรวมถึงเป็นผู้ที่ร่วมวิพากษ์ เรื่องหลักสูตรการศึกษานี้  ทำให้ทราบว่า  เรายังขาด   องค์กรที่จะมาเป็นเจ้าภาพในการสร้างความมั่นคงด้านยาของประเทศ  ขาดทั้งงบประมาณ  ความพร้อมในการผลิตยา  รวมถึงขาดนโยบาย จากฝ่ายการเมือง  ที่จะสร้างความมั่นคงด้านยาอย่างจริงจัง  นักการเมืองบ้านเรายังมีความสุขกับการอนุมัติงบประมาณเพื่อนำไปซื้อยา  มากกว่าที่จะทำให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งด้านพึ่งพาตนเองเรื่องยา   ในภาวะกระแสปฏิรูปประเทศไทยกำลัง มาแรง  ก็เลยอยากฝากประเด็นนี้ให้ติดอยู่ในกระบวนการปฏิรูปด้วยก็จะดียิ่งเจอกันฉบับหน้าจะนำปัญหาการใช้ยาอย่างขาดความรู้จนทำให้ถึงตายมาเล่าสู่กันฟัง มีเยอะเชียวล่ะคุณเอ๋ย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 คนไทยกับหมอดู

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมเวทีพัฒนาเครือข่ายผู้บริโภคในจังหวัดภาคกลาง  ก็มีการพูดคุยกันหลายเรื่องมีอยู่เรื่องหนึ่งที่ฟังแล้วสะดุดใจ คือมีคุณพี่ท่านหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่าตัวเองเป็นแม่บ้านอยู่บ้านคนเดียว (สามีและลูกไม่อยู่)ก็มีแขกมาเสนอขายมุ้ง  พี่แกก็บอกไปว่าไม่ซื้อ บ้านแกมีมุ้งอยู่แล้วและไล่ให้ไปที่อื่น    แขกขายมุ้งก็เปลี่ยนวิธีใหม่ โดยบอกว่าดูหน้าตาของคุณพี่ท่านนี้แล้วรู้สึกว่ามีสง่าราศรี  และขออนุญาตดูลายมือ  เอาล่ะซิคนไทยกับโชคลาภ และหมอดู มันเป็นอะไรที่บอกได้คำเดียวว่า “โดน”จากขับไล่อย่างแข็งขัน ก็กลายเป็นอ่อนลงทันที  และยินยอมให้แขกดูลายมือให้แขกดูแล้วก็บอกว่าเธอมีโชคจริงๆ  โดยมีข้อเสนอว่าให้คุณพี่คนนี้เขียนเลขตามที่ชอบใส่มือตัวเองแล้วกำไว้  หากแขกทายถูกว่าคุณพี่เธอเขียนเลขอะไร แสดงว่าคุณพี่เป็นผู้มีโชคลาภต้องซื้อมุ้งแขกในราคาหลังละ 600 บาท  เมื่อคุณพี่เธอได้ฟังเธอบอกว่าใจหนึ่งก็อยาก ลองของ ใจหนึ่งก็อยากได้เลข(ไปแทงหวย)  แกก็เลยตกลงว่าแล้ว เธอก็แอบไปเขียนโดยไม่ให้แขกเห็นแล้วกำมือไว้ในแน่นเลย  จากนั้นแขกก็บอกว่าหากเรา(แขกกับคุณพี่ท่านนี้)หากมีโชคร่วมกันจริง คงทายถูก  จากนั้นแขกก็แบมือเลขที่แขกเขียนมาเทียบกับที่คุณพี่เธอเขียน   สิ่งที่เกิดขึ้นคือเลขตรงกันพอดิบพอดี  คุณพี่บอกว่าตอนนั้นไม่ได้คิดเลยว่าถูกแขกหลอกเพราะกำลังดีใจว่าได้ตัวเลขในการแทงหวยงวดหน้าเลยจ่ายเงิน 600 บาทซื้อมุ้งตามที่ตกลงกันไว้   แขกบอกว่าหากถูกหวยอย่าลืมบอกแขกนะ  คุณพี่เธอก็บอกว่า จะบอกแขกได้อย่างไรแขกไม่ให้เบอร์โทร  แขกตอบกลับมาว่าไม่ต้องใช้เบอร์โทร แขกรู้ทางจิตคุณพี่ท่านนี้บอกว่า เธอไม่ได้เสียดายเงินเลย  รอวันหวยออกอย่างเดียว มารู้ว่าถูกหลอกก็ต่อเมื่อหวยออกแล้วไม่โดนเลยซักตัวเดียว เธอก็เลยรู้ว่าถูกหลอก  ที่เจ็บใจไม่ใช่แค่เสียเงินซื้อมุ้ง  แต่เสียเงินซื้อหวยมากกว่า  แจ้งความก็ไม่ได้เพราะแขกไปนานแล้ว  บอกใครก็ไม่ได้เพราะอายที่ถูกหลอก มันเหมือนกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ได้แต่เจ็บใจอยู่คนเดียว ที่เขียนเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพียงเพื่อที่จะบอกว่า เดี๋ยวนี้มิจฉาชีพ มีวิธีแปลกๆ มาหลอกลวงผู้บริโภคอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแม่บ้านตามต่างจังหวัด  ผู้เขียนไม่อาจตอบได้ว่าทำไมแขกทายเลขถูก  รู้แต่ว่าแขกจับจุดคนไทยได้ว่าเชื่อเรื่องดวงและชอบโชคลาภ  ใครได้อ่านบทความนี้ก็ช่วยกันบอกต่อกันหน่อย   เพราะไม่รู้จะพึ่งใคร นอกจากเราต้องพึ่งตนเอง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 ร้องหมอผ่าตัดทำเสียดวงตา

คุณปภาวี วัย 49 ปี มีอาชีพรับราชการพยาบาลที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลกคุณปภาวี มีอาการเจ็บป่วยทางสายตาทั้งสองข้าง และต่อมาได้เข้ารับการรักษาผ่าตัดรักษาจอประสาทตา ทั้งหมด 4 ครั้งเป็นการผ่าตัดจอประสาทตาขวาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1 ครั้ง เมื่อ 6 สิงหาคม 2552 อีก 3 ครั้งเป็นการผ่าตัดจอประสาทตาซ้ายโดยแพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ผ่าตัดในวันที่ 4 มีนาคม, 4 เมษายน และ 28 เมษายน 2553คุณปภาวีได้ให้ข้อมูลว่า การผ่าตัดตาทั้งสองข้าง ทำการรักษาโดยการยิงเลเซอร์  ผ่าตัดเปลี่ยนน้ำวุ้นในตาและอัดแก๊สไว้ นอนคว่ำนาน 1 เดือนครึ่งทุกครั้ง “ดิฉันได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เหมือนกันทุกครั้ง”ผลการรักษาที่ได้รับคือ จอประสาทตาด้านขวากลับมามองเห็นได้หลังการผ่าตัด ส่วนตาข้างซ้ายหลังการผ่าตัดถึง 3 ครั้ง ตากลับมืดบอดสนิทมองไม่เห็นอะไรเลยคุณปภาวีบอกถึงสาเหตุที่มาเข้ารับการรักษาที่ ร.พ. รามาธิบดีว่า เนื่องจาก ร.พ.จุฬาลงกรณ์ เครื่องยิงเลเซอร์เสีย แพทย์จึงได้เขียนใบส่งตัวให้ไปรักษาต่อที่อื่น“ดิฉันจึงไปที่ ร.พ.รามาฯ ซึ่งอยู่ใกล้กัน คิดว่าแพทย์คงจะชำนาญในการรักษาเช่นเดียวกัน แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้ามทั้งที่ทำการผ่าตัดรักษาเหมือนกัน แต่แพทย์เข้ามาชี้แจงว่า ตำแหน่งจอตาฉีกขาดนั้นต่างกัน คือตาขวาเป็นด้านบนจะติดง่ายกว่า ส่วนตาซ้ายเป็นด้านล่าง”ด้วยความที่มีอาชีพเป็นพยาบาลคุณปภาวี มีความเห็นว่าการผ่าตัดที่ ร.พ.รามาธิบดี อาจมีข้อบกพร่อง เช่น“ผ่าตัดครั้งแรกกับนายแพทย์.......ซึ่งดิฉันไม่ทราบว่ามีความชำนาญพร้อมเพียงพอที่จะทำการรักษาหรือไม่ เพราะได้ยินพยาบาลห้องผ่าตัดพูดกับแพทย์คนนี้ว่า ไม่เป็นไรหรอกหมอ..... อีกเดือนเดียวก็จะจบแล้ว” “การผ่าตัด(ตาข้างซ้าย)ครั้งแรก ใช้เวลานานมากคือ 3 ชั่วโมงกว่า (ขณะที่ร.พ.จุฬาฯ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง) ดิฉันปวดมากจนต้องขอฉีดยาชาเพิ่ม”หลังรู้ผลการผ่าตัดตาข้างซ้ายของตนว่า ตามืดบอด คุณปภาวี จึงได้ไปตรวจที่ ร.พ.ศิริราช จักษุแพทย์ได้บอกว่า ทำอะไรไม่ได้แล้วเพราะจอตาเป็นแผลเป็น ลักษณะก้อนแข็งกลม ถ้าแผ่เป็นแผ่นบางๆ ก็อาจจะทำได้“ดิฉันถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น แพทย์บอกว่ามันเป็นภาวะแทรกซ้อนซึ่งเกิดขึ้นได้”หลังจากนั้นคุณปภาวีจึงได้ไปทำบันทึกข้อความร้องเรียนไว้ที่สำนักผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และต่อมาผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนี้ ได้เรียกคุณปภาวีเข้าไปคุยบอกว่า “โรงพยาบาลไม่มีนโยบายจะจ่ายเงินชดเชย เพราะท่านไม่มีอำนาจไม่ใช่คณบดี ได้แต่บอกว่า จะช่วยผ่าตัดตาขวาซึ่งมีต้อกระจกให้”คุณปภาวีปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เพราะเห็นว่าตนได้รับความเดือดร้อนมาก เนื่องจากจะไม่ได้รับเงินเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษในอาชีพของตนเองจากที่เคยได้รับเดือนละ 2,000 บาท“ตาที่มองไม่ชัดทำให้ทำคลอดไม่ได้ เย็บแผลไม่ได้ ทำหัตถการต่างๆ ไม่ได้เลย ตอนนี้ก็ช่วยสรุปเขียนแฟ้มประวัติผู้ป่วยกลับบ้าน ส่งแฟ้มคืนห้องบัตร ทำเรื่องเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ มากกว่า”“ดิฉันอยากเรียกร้องค่าเสียหายจากทางโรงพยาบาลรามาฯ ไม่ทราบว่าจะได้หรือไม่” คุณปภาวีทิ้งคำถามสำคัญ แนวทางแก้ไขปัญหาหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และทำจดหมายขอเข้าพบเพื่อรับทราบคำชี้แจงเกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาพยาบาลกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 และในวันที่ 1 มีนาคม 2554 ผู้บริหารของโรงพยาบาลรามาธิบดีจึงได้นัดเจรจากับคุณปภาวีพร้อมครอบครัว และเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อหาข้อยุติกรณีร้องเรียน จากการเจรจาในวันนั้น โรงพยาบาลรามาธิบดียินดีจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้เสียหาย เป็นเงินทั้งสิ้น 278,500 บาท ประกอบด้วยค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าสูญเสียรายได้ต่อมาในวันที่ 29  มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมาคุณปภาวีพร้อมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ตามนัด และรับเงินช่วยเหลือตามจำนวนดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย“การรักษาดวงตานั้นมีความเสี่ยงสูง  โรงพยาบาลไม่ควรจะให้นักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ฝึกหัดมาทำการรักษา เพราะอาจเกิดความผิดพลาดกับผู้ป่วยได้เพราะยังไม่มีความชำนาญในการรักษา และอยากจะให้เรื่องของดิฉันเป็นตัวอย่างหรืออุทาหรณ์เตือนใจทั้งแพทย์และการแสดงความรับผิดชอบของโรงพยาบาลว่าไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก” คุณปภาวีกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 รถไปไม่ถึงหมอชิต ทำไมไม่บอก

 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนวันเข้าพรรษาของปี 2553 หนึ่งวัน คือตรงกับวันที่ 26 กรกฎาคม 2553เวลาประมาณ 23.30 น. คุณเทพรักษ์ บุญรักษา ได้เดินทางโดยรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท นครชัยแอร์ จำกัด จากขอนแก่นเพื่อเข้ามาทำธุระในกรุงเทพมหานคร โดยตั้งใจว่าจะลงรถที่สถานีขนส่งสายเหนือหมอชิต(ใหม่) ระหว่างเดินทางคุณเทพรักษ์บอกว่าการบริการไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัญหามาเกิดเอาเมื่อรถเกือบถึงปลายทางอยู่รอมร่อรถได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ และเข้าจอดที่ศูนย์บริการของบริษัทนครชัยแอร์ ถ.กำแพงเพชร 2 ในเวลา 05.40 น. มีผู้โดยสารบางส่วนลงที่สถานีแห่งนี้ ส่วนที่เหลือยังนั่งอยู่ในรถโดยสารเพื่อจะเดินทางเข้าสถานีขนส่งสายเหนือหมอชิตคุณเทพรักษ์เล่าว่า ตนเข้าใจว่ารถโดยสารที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดทุกคันจะต้องเข้าไปส่งผู้โดยสารที่หมอชิตด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้โดยสารที่ต้องอาศัยรถโดยสารประจำทาง ขสมก.หรือรถร่วมที่มีท่ารถจอดอยู่ในหมอชิตหลายสิบสาย เพื่อเดินทางต่อในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง โดยไม่ต้องเสียค่าแท็กซี่ที่มีราคาแพงกว่าหลายสิบเท่าตัว“ผมรออยู่ได้สักพักรถก็ไม่เคลื่อนออกไปไหน แต่มีพนักงานประจำรถมาบอกผู้โดยสารว่า รถจะไม่เข้าไปที่สถานีขนส่งหมอชิต ทำให้ผมแปลกใจมาก เพราะไม่มีการแจ้งข้อมูลนี้มาก่อนออกเดินทางเลย จึงถามเหตุผลกับพนักงานประจำรถว่าทำไมรถไม่เข้าหมอชิต พนักงานประจำรถบอกว่า เป็นช่วงเทศกาลรถติดมากจึงไม่เข้าหมอชิต” “การไม่บอกข้อมูลเรื่องนี้ให้ผู้โดยสารทราบ ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในการตัดสินใจที่จะใช้บริการรถโดยสารเที่ยวนี้หรือไม่ ผมจึงเดินลงจากรถเข้าไปในศูนย์บริการของบริษัทฯ และหยิบกระดาษขึ้นมาเขียนข้อความร้องเรียนกับบริษัทนครชัยแอร์ว่าพนักงานบริการประจำรถไม่ได้แจ้งข้อมูลล่วงหน้ากับผู้โดยสารว่ารถโดยสารจะไม่เข้าไปที่สถานีหมอชิต ทำให้ตนเสียค่ารถโดยสารเพิ่ม และติดต่องานล่าช้า แล้วจึงส่งลงกล่องรับความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการต่อหน้าพนักงานของบริษัท”เมื่อทำเรื่องร้องเรียนเสร็จ คุณเทพรักษ์ก็ต้องเรียกแท็กซี่เพื่อไปทำธุระของตนต่อโดยไม่คาดหวังอะไรมากนักกับการส่งเรื่องร้องเรียนไปแต่ปรากฏว่าในสายวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของบริษัทนครชัยแอร์ได้ติดต่อกลับมาเพื่อขอโทษและยอมรับในข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการมอบตั๋วเดินทางชั้นไฮคลาสให้ฟรีหนึ่งที่นั่ง โดยให้สิทธิแก่คุณเทพรักษ์ที่จะเลือกเดินทางไปที่ไหนก็ได้ที่บริษัทนครชัยแอร์มีเส้นทางบริการอยู่ “การร้องเรียนครั้งนี้แสดงว่า ผู้บริโภคยังมีสิทธิมีเสียงในการร้องเรียนอยู่ในสังคมไทย และยังมีผู้ประกอบการที่ดีที่ยังรับฟังเสียงเล็กๆ ของผู้บริโภคอยู่” คุณเทพรักษ์กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ ข้อแนะนำเพิ่มเติม บทเรียนเรื่องนี้ เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า “ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง” อย่างแน่นอนครับ น่าเสียดายสำหรับผู้โดยสารท่านอื่นที่เกิดเหตุการณ์เดียวกันไม่ได้ใช้สิทธิร้องเรียนเหมือนคุณเทพรักษ์ พึงระลึกไว้เสมอว่าเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิขึ้น ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย เราควรร้องเรียนโดยตรงต่อผู้ประกอบธุรกิจโดยทันที การร้องเรียนด้วยวาจาอาจทำให้เราสะดวกและได้ระบายอารมณ์ แต่มันไม่ค่อยมีผลในการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้น การร้องเรียนที่ดีจะต้องมีเป้าหมายไม่ใช่เพียงแค่การระบายอารมณ์ครับ แต่ควรจะเรียกร้องให้ผู้ประกอบธุรกิจเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเราด้วย โดยให้เขียนข้อร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรไป แล้วแจ้งว่าเราได้รับความเสียแค่ไหนอย่างไรและขอให้เยียวยาความเสียหายแก่เราเป็นจำนวนเท่าไหร่ด้วยวิธีการใดก็ระบุให้ชัดเจน แต่ถ้าไม่แน่ใจก็เขียนไปว่าขอให้พิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่เราตามสมควรครับ ถ้าเก็บสำเนาข้อร้องเรียนนี้ได้ก็จะเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องต่อไปได้อย่างชัดเจนที่สุดครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 สงสัยครีมหมอจุฬา ใช้แล้วเสี่ยง

เรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคใน net ลงข้อความครีมหมอจุฬาในกระปุกใสของจริงจะไม่มีสติ๊กเกอร์ติดด้านบน จะมีเพียงด้านข้างซึ่งรูปดอกไม้จะมีสีอ่อนกว่า และตัวหนังสือความเข้มก็จะอ่อนกว่าค่ะ ช่วยตรวจสอบให้ด้วยค่ะว่าแบบไหนจริงแบบไหนปลอม หรือว่าปลอมทั้งคู่ และช่วยตรวจสอบเกี่ยวกับครีมหมอจุฬาว่าของแท้เป็นยังไง สรรพคุณดีจริงอย่างที่โฆษณาไหม ใช้แล้วมีผลข้างเคียงยังไง มีแหล่งผลิตที่แน่ชัดไหม ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ อย.หรือเปล่าคะ แล้วถ้ามีครีมของหมอจุฬาที่เป็นของจริง สามารถติดต่อหรือสั่งซื้อได้ยังไงถึงจะไม่โดนหลอกและได้ของจริงผู้บริโภคจากชลบุรีท่านหนึ่ง ได้เขียนจดหมายฉบับนี้มาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังจากที่เคยซื้อผลิตภัณฑ์หน้าขาว ครีมสมุนไพรตราหมอจุฬา จากร้านขายเครื่องสำอางแถวบ้าน ซึ่งเป็นครีมข้นสีครีม ไม่มีกลิ่น มีฉลากแสดงประเภทสินค้า วิธีใช้ และสรรพคุณสินค้า แต่ไม่ได้ระบุเลขทะเบียนอาหารและยา จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เลยมีความสงสัยว่า ครีมที่ซื้อมาจากร้านขายเครื่องสำอางกับครีมที่โฆษณาทางอินเตอร์เน็ตนั้น ตัวไหนคือของจริง ตัวไหนคือของปลอม หรือว่าปลอมกันทั้งคู่ แนวทางแก้ไขปัญหาเราได้ส่งหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ได้รับคำตอบกลับมาในเวลาอันรวดเร็ว จึงขอกระจายข่าวให้กับผู้ที่จะซื้อหรือกำลังใช้ครีมเครื่องสำอางยี่ห้อหมอจุฬาได้รับทราบโดยทั่วกันอย. ชี้แจงถึงเครื่องสำอางที่เราได้รับจากผู้ร้องเรียนและส่งไปให้ อย. ตรวจสอบนี้ พบว่าการแสดงฉลากภาษาไทยไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด คือ ไม่มีชื่อเครื่องสำอาง ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต ครั้งที่ผลิต ที่ตั้งของผู้ผลิต และเนื้อครีม(ที่ผู้ร้องส่งมาให้ตรวจสอบนั้น)ที่อยู่ในตลับมีปริมาณน้อยมาก จึงไม่สามารถส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือทดสอบโดยชุดทดสอบเบื้องต้นได้อย่างไรก็ดี อย. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เครื่องสำอางดังกล่าวมีลักษณะใกล้เคียงกับเครื่องสำอางที่ อย. เคยประกาศผลการตรวจวิเคราะห์ให้ประชาชนทราบแล้ว คือ ครีมรักษาสิว-ฝ้าหน้าขาวสมุนไพรเกรด A 100% ระบุผลิตโดย ศูนย์วิจัยหมอจุฬา ไม่ระบุที่ตั้งผู้ผลิต วันที่ผลิต เลขที่ผลิต ตรวจพบสารห้ามใช้ปรอทแอมโมเนีย และครีมหน้าขาว(สูตรเข้มข้น) ระบุผลิตโดยศูนย์วิจัยหมอจุฬา ไม่ระบุที่ตั้งผู้ผลิต วันที่ผลิต เลขที่ผลิต ตรวจพบสารห้ามใช้ ปรอทแอมโมเนีย ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้ คือ อาจทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ“ผลิตภัณฑ์นี้จึงจัดเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ซึ่งกฎหมายกำหนดโทษสำหรับผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าเพื่อขาย และผู้ขาย ให้จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”ท้ายสุด อย. ให้ข้อแนะนำว่า ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเครื่องสำอางด้วยความระมัดระวัง จากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน ฉลากภาษาไทยมีข้อความบังคับครบถ้วน คือ ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบสำคัญ วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ปริมาณสุทธิ ส่วนร้านค้าที่ซื้อเครื่องสำอางเพื่อมาจำหน่าย จะต้องซื้อจากผู้มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ และมีหลักฐานการซื้อขายที่ระบุชื่อและที่ตั้งของผู้ขายอย่างชัดเจนดังนั้น เครื่องสำอางไหนๆ หากขาดรายละเอียดที่ อย.ว่ามา ก็ไม่ต้องถามหรอกครับว่า ของไหนปลอม ของไหนจริง เพราะทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องสำอางเสี่ยงภัยทั้งนั้น “หยุดซื้อ หยุดใช้” เป็นดีที่สุดครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 “หม้อหุงข้าวดิจิตอล” เปรียบเทียบประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

เพราะยุคนี้เป็นยุคดิจิตอล อะไรๆ ก็ต้องเป็นดิจิตอล ขนาดหม้อหุงข้าวยังมี “ระบบดิจิตอล” หม้อหุงข้าวระบบดิจิตอล จะช่วยให้การเข้าครัวไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป เพราะแม้จะใช้ชื่อว่าหม้อหุงข้าว แต่หม้อหุงข้าวระบบดิจิตอลไม่ได้มีหน้าที่แค่หุงข้าวเหมือนหม้อข้าวไฟฟ้าธรรมดาทั่วไป เพราะหม้อหุงข้าวดิจิตอลทำได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะ หุง อุ่น ตุ๋น ต้ม นึ่ง ไปจนถึงของหวานอย่างขนมเค้ก ที่ทำได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้วสั่ง สรรพคุณฟังดูดีขนาดนี้ แฟนๆ ฉลาดซื้อคงสนใจอยากจะเป็นเจ้าของหม้อหุงข้าวระบบดิจิตอลสักเครื่อง เพราะฉะนั้นก่อนที่จะออกไปหาซื้อมาใช้งาน ต้องไม่พลาดที่จะอ่านบทความผลทดสอบ “ประสิทธิภาพของหม้อหุงข้าวระบบดิจิตอล” ทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการหุงข้าวด้วยหม้อหุงข้าวระบบดิจิตอลฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่างหม้อหุงข้าวดิจิตอลจำนวน 7 ยี่ห้อ เพื่อทดสอบเปรียบเทียบดูประสิทธิภาพในการหุงข้าวของหม้อหุงข้าวดิจิตอล โดยดู 3 เรื่องสำคัญคือ ระยะเวลาในการหุง พลังงานที่ใช้ และคุณภาพของข้าวที่หุงสุก โดยทีมเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค เป็นผู้ทำหน้าที่ดำเนินการทดสอบในครั้งนี้ สำหรับการทดสอบได้ทำการแบ่งกลุ่มของหม้อหุงข้าวออกเป็น 2 กลุ่ม ตามปริมาณความจุของหม้อ   กลุ่มแรก คือหม้อหุงข้าวดิจิตอลที่มีความจุสูงสุดของหม้อที่ปริมาณ 1 ลิตร ได้แก่ 1.Tefal รุ่น RK7021 71              ไม่ระบุกำลังไฟฟ้า2.Panasonic รุ่น SR-MS103       กำลังไฟฟ้า 750 วัตต์3.Philips รุ่น HD 3031                ไม่ระบุกำลังไฟฟ้า 4.Electrolux รุ่น ERC6503W      ไม่ระบุกำลังไฟฟ้า 5.Toshiba รุ่น RC-10NMF          กำลังไฟฟ้า 560 วัตต์   กลุ่มที่สอง คือหม้อหุงข้าวดิจิตอลที่มีความจุสูงสุดของหม้อที่ปริมาณ 1.8 ลิตร ได้แก่1.Sharp รุ่น KS-COM18        กำลังไฟฟ้า 830 วัตต์2.Hitachi รุ่น RZ-XMC18       กำลังไฟฟ้า 820 วัตต์ ผลการทดสอบประสิทธิภาพในการหุงข้าวของหม้อหุงข้าวดิจิตอล(กลุ่มความจุ 1 ลิตร) ผลการทดสอบคุณภาพของข้าวกล้องทุกหม้อในกลุ่มความจุ 1 ลิตร พบว่า หุงได้สุกทั่วทั้งหม้อโดย หม้อหุงข้าวที่ได้คะแนนรวมสูงสุด 3 อันดับแรก คือ1.Toshiba รุ่น RC-10NMF        40 คะแนน2.Tefal รุ่น RK7021 71            38 คะแนน 3.Philips รุ่น HD 3031             38 คะแนน•    หม้อหุงข้าวที่หุงเสร็จเร็วที่สุด(ได้คะแนนรวมเท่ากัน 10 คะแนนจาก 15 คะแนน) คือ 1.Tefal รุ่น RK7021 71 2.Panasonic รุ่น SR-MS103 3.Philips รุ่น HD 3031•    หม้อหุงข้าวที่ประหยัดพลังงานที่สุดในการทดสอบ คือToshiba รุ่น RC-10NMF•    หม้อหุงข้าวที่ใช้พลังงานมากที่สุดในการทดสอบ คือPanasonic รุ่น SR-MS103เหตุผล เนื่องจากมีกำลังไฟฟ้าสูงกว่าตัวอย่างหม้อหุงข้าวอื่นในกลุ่มหม้อที่มีความจุ 1 ลิตร ซึ่งมีกำลังไฟสูงเกินความจำเป็น การใช้งานเป็นระยะเวลานานทำให้สิ้นเปลืองพลังงานมากกว่า ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการใช้หม้อหุงข้าวที่มีกำลังไฟฟ้าสูงเกินความจำเป็นผลการทดสอบประสิทธิภาพในการหุงข้าวของหม้อหุงข้าวดิจิตอล (กลุ่มความจุ 1.8 ลิตร)หม้อหุงข้าวที่หุง เสร็จเร็วกว่า ประหยัดพลังงานมากกว่า และคุณภาพข้าวที่หุงสุกดีกว่า คือ หม้อหุงข้าวดิจิตอลยี่ห้อ Hitachi รุ่น RZ-XMC18 กำลังไฟฟ้า 820 วัตต์ การเลือกซื้อหม้อหุงข้าวไฟฟ้า    •    หม้อหุงข้าวไฟฟ้าและดิจิตอล มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ด้านความปลอดภัยควบคุมอยู่•    เลือกซื้อที่มีการรับประกัน เมื่อการปัญหาในการใช้งานต้องมีศูนย์ที่พร้อมให้การดูแลซ่อมแซม•    เลือกขนาดความจุของหม้อและกำลังไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการในการใช้งาน เพื่อเป็นการประหยัดไฟฟ้า•    หม้อหุงข้าวระบบดิจิตอล ควรมีข้อความเป็นภาษาไทยกำกับที่ปุ่มควบคุมการใช้งาน เพื่อง่ายต่อการใช้•    ต้องมีสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายบอกปริมาณในส่วนหม้อหุงข้าวด้านใน ขีดบอกระดับ หรือ สัญลักษณ์อื่นที่แสดงความจุที่กำหนด ซึ่งมองเห็นได้ในขณะเติมน้ำวิธีดูแลรักษา1)    ไม่ควรใส่ข้าวและน้ำไม่เกินขนาดของหม้อ2)    การทำความสะอาด ให้เช็ดด้วยผ้าหมาดชุบน้ายาล้างภาชนะ เช็ดด้วยผ้าชุบน้าสะอาด แล้วเช็ดด้วยผ้าให้แห้ง3)    ส่วนที่เป็นหม้อหุงข้าว ต้องเช็ดด้านนอกของหม้อให้แห้ง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นก้นหม้อ ก่อนทำการหุง4)    ห้ามเปิดฝาขณะน้ำเดือด5)    ห้ามปิดช่องระบายไอน้ำและฝาหม้อในขณะที่หม้อหุงขาวทำงาน6)    ใช้ทัพพีตักข้าวที่ให้มาเท่านั้น ไม่ควรใช้อุปกรณ์อื่นๆ ที่มีความคม7)    ใส่หม้อในก่อนเสียบปลั๊กไฟเข้ากับเต้ารับ8)    ถอดปลั๊กไฟออกทุกครั้งหลังเลิกใช้งาน 9)    ปล่อยให้เย็นลงก่อนทำความสะอาด          

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 176 ปลอกหมอนใบนี้ดีจริงหรือ

ได้ฤกษ์เปลี่ยนปลอกหมอนใหม่สักที เราจะเลือกซื้อจากอะไรดีนะในทุกๆ คืนจะต้องมีสักหนึ่งท่านอนที่ทำให้หน้าของเราแนบไปกับหมอน ซึ่งคงไม่มีใครอยากแนบหน้ากับเนื้อผ้าสากๆ หรือระบายความร้อนได้ไม่ดีไปตลอดทั้งคืนหรอกจริงไหม คนส่วนใหญ่จึงมักให้ความสำคัญในการเลือกชนิดเส้นใย หรือจำนวนของเส้นใยที่นำมาทอปลอกหมอนนั้น ซึ่งจำนวนเส้นใยเป็นตัวชี้วัดราคาเลยก็ว่าได้ เพราะหากมีเส้นใยต่อตารางนิ้วมาก ราคาก็สูงมากตามไปด้วย อย่างไรก็ตามหลังจากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและตกลงใจซื้อมาแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลคุณสมบัติต่างๆ ที่ระบุไว้บนฉลากจะตรงกับความเป็นจริง ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปทดสอบ* ปลอกหมอนทั้งหมด 11 ยี่ห้อว่า มีคุณสมบัติตรงกับที่ระบุไว้บนฉลาก และมีประสิทธิภาพคุ้มค่ากับราคามากน้อยแค่ไหนกัน* หมายเหตุ ปลอกหมอนทั้งหมดถูกทดสอบโดย สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอ้างอิงคุณภาพตามมาตรฐาน มอก. 962 – 2552 (ไม่ใช่ภาคบังคับ) ที่กำหนดให้ฉลากแสดงจำนวนเส้นด้ายเป็นตารางนิ้ว และจำนวนรวมของเส้นด้ายมีความคลาดเคลื่อนจากที่ระบุไว้ในฉลากได้ ± ร้อยละ 5 แต่ผู้ผลิตส่วนใหญ่มักแสดงฉลากเป็นตารางเซนติเมตร เราจึงต้องทดสอบเป็นตารางเซนติเมตรด้วย เพื่อดูว่าฉลากกับความจริงตรงกันหรือไม่       สรุปผลทดสอบ - มีเพียง 2 ยี่ห้อที่ระบุ “จำนวนเส้นใย” ได้ตามมาตรฐาน มอก. คือ Ikea รุ่น Gaspa และ Exotica ลาย Outlook Blue- ทุกยี่ห้อระบุ “ชนิดเส้นใย” ตรงตามฉลาก มีเพียงยี่ห้อ Lotus รุ่น อิมเพรสชั่น STRIPIES ที่ไม่มีฉลากระบุชนิดเส้นใย ซึ่งทดสอบได้เป็นเส้นใย Polyester 100%- ความคงทนของสีต่อการซัก และความคงทนต่อเหงื่อทั้งสภาวะกรด/ด่าง ทุกยี่ห้อได้มาตรฐาน มอก.- การขึ้นขนและเม็ด ส่วนใหญ่เฉลี่ยที่ระดับปานกลาง (ระดับ 3) มีเพียงยี่ห้อ LUXURIOUS รุ่น AMBIA ที่ได้ระดับชัดเจน – ปานกลาง (ระดับ 2 - 3) - ปลอกหมอนที่ได้มาตรฐานมากที่สุดในการทดสอบครั้งนี้คือ ยี่ห้อ Ikea รุ่น Gaspa   ตารางที่ 1 แสดงผลทดสอบด้านคุณสมบัติทั่วไปของปลอกหมอน    สรุปผลทดสอบ- จากตัวอย่างที่นำมาทดสอบ ปลอกหมอนยี่ห้อ Lotus รุ่น อิมเพรสชั่น STRIPIES แสดงฉลากระบุจำนวนเส้นใยเกินจริงมากที่สุด   *หมายเหตุ- มาตรฐาน มอก. กำหนดให้ ความคงทนของสีต่อการซัก และ ความคงทนของสีต่อเหงื่อทั้งสภาพกรดและสภาพด่าง  สำหรับประเภทใช้งานทั่วไปตามบ้านเรือน ไม่น้อยกว่า การเปลี่ยนสีระดับ 4 , การเปื้อนสีระดับ 3- ความคงทนของสีต่อการซัก ใช้วิธีการทดสอบ: น้ำสบู่ที่ใช้ (150 มล.) 1993 AATCC STANDARD REFERENCE DETERGENT WOB ความเข้มข้น 4 กรัม / ลิตร - การขึ้นขนและเม็ด ใช้เครื่องทดสอบ: ICI PILLING & SNAGGING TESTER (SDL ATLAS MODEL M227) / เวลาในการทดสอบ: 10 ชั่วโมง / จำนวนรอบการหมุน: 60 ± 2 รอบต่อนาทีฉลาดซื้อแนะ การเลือกซื้อปลอกหมอน- ราคา ชุดเครื่องนอนส่วนใหญ่มักจัดโปรโมชั่นลดราคาบ่อยๆ ผู้บริโภคจึงควรเปรียบเทียบราคาจากหลายๆ แหล่งก่อนตัดสินใจซื้อ- เส้นใย ความแตกต่างระหว่างชนิดเส้นใยที่นำมาทอ 1. ผ้าฝ้าย (Cotton) เป็นเส้นใยที่ทำมาจากฝ้ายธรรมชาติ ผิวของผ้าจะเรียบเนียน ทนทาน ระบายอากาศได้ดี ราคาค่อนข้างสูง 2. ผ้าที่ได้จากเส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ (Polyester)เนื้อผ้าจะไม่ค่อยยับ ราคาค่อนข้างถูก แต่การดูดซับน้ำและการระบายอากาศไม่ค่อยดีนัก นอกจากนี้เมื่อใช้ไปนานๆ มักมีปุ่มขนขึ้นมาบนเนื้อผ้า 3. ผ้าทอผสมระหว่าง Cotton และ Polyester (หรือผ้า TC)ส่วนใหญ่มักผสมกันในอัตราส่วน 65 : 35 ทำให้ได้ผ้าที่มีคุณสมบัติ ไม่ยืด ไม่ย้วยหรือมีความยืดหยุ่นปานกลาง ทนทานต่อการซักได้ดี และสามารถระบายอากาศได้ปานกลาง - จำนวนเส้นใย จากผลทดสอบพบว่าฉลากส่วนใหญ่ที่บอกจำนวนเส้นใยยังไม่มีความน่าเชื่อถือ- เมื่อเรานำปลอกหมอนมาใช้งานจริง ก็ไม่อาจหลีกเหลี่ยงคราบเหงื่อไคลทั้งในสภาวะกรดและด่าง ซึ่งส่งผลให้คุณภาพและสีของปลอกหมอนมีความเปลี่ยนแปลง การทดสอบประสิทธิภาพความคงทนต่อเหงื่อจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ตัวอย่างทั้งหมดที่เรานำมาทดสอบ มีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน แนะนำการดูแลรักษาชุดเครื่องนอน- ควรซักก่อนการใช้งานครั้งแรก โดยไม่ใช้สารฟอกขาว และควรผสมน้ำยาปรับผ้านุ่มกับน้ำก่อนเทลงไป นอกจากนี้ควรแยกผ้าสีเข้มและสีอ่อนก่อนซัก กรณีซักเครื่องควรปั่นแห้งในระดับต่ำ หรือใช้ถุงถนอมผ้า และไม่ควรแช่ผ้าทิ้งไว้ข้ามคืนเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับข้อมูลบนฉลากตามที่ มอก. กำหนดที่ภาชนะบรรจุผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนทุกหน่วย อย่างน้อยต้องมีเลข อักษร หรือเครื่องหมายแจ้งรายละเอียดต่อไปนี้ และต้องให้เห็นได้ง่าย ชัดเจน1.    ชื่อผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานนี้2.    ประเภท และ / หรือแบบ3.    ชนิดเส้นใยและส่วนผสมของเส้นใยเป็นร้อยละ4.    จำนวนเส้นด้ายต่อ 546 ตารางมิลลิเมตร (1 ตารางนิ้ว)5.    ด้านกว้าง x ด้านยาวเป็นหน่วยเมตริก สำหรับผ้าปูที่นอนแบบไม่รัดมุม6.    ด้านกว้าง x ด้านยาว x ความยาว ของส่วนรัดมุม เป็นหน่วยเมตริก สำหรับผ้าปูที่นอนแบบรัดมุม7.    คุณลักษณะพิเศษ (ถ้ามี)8.    คำแนะนำหรือคำเตือนในการดูแลรักษาที่เหมาะสม อาจใช้สัญลักษณ์ตาม มอก.7669.    เดือนและปีที่ทำ10.    ชื่อผู้ทำหรือโรงงงานที่ทำ หรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน11.    ประเทศที่ทำ ที่ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนทุกหน่วย อย่างน้อยต้องมีเลข อักษรหรือเครื่องหมาย แจ้งรายละเอียดต่อไปนี้ ให้เห็นได้ง่าย ชัดเจน1.    ชนิดเส้นใยและส่วนผสมของเส้นใยเป็นร้อยละ2.    คำแนะนำหรือคำเตือนในการดูแลรักษาที่เหมาะสม อาจใช้สัญลักษณ์ตาม มอก.766* ในกรณีที่ใช้ภาษาต่างประเทศด้วย หรือใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อการส่งออก ต้องมีความหมายตรงกับภาษาไทยที่กำหนดไว้ข้างต้น    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 พรพรหมอลเวง : หัดรู้จักเอาใจเด็กมาใส่ใจผู้ใหญ่กันบ้าง

  หากจะถามใครต่อใครว่า ในอนาคตพวกเราฝันอยากจะเป็นอะไรกันบ้าง คำตอบที่ได้คงหลากหลายยิ่งนัก โดยเฉพาะกับคำตอบและความฝันที่หลายคนคงอยากจะประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ของชีวิตกัน   แต่คำตอบแน่ๆ ข้อหนึ่งที่บรรดาผู้ใหญ่บางคนคงไม่อยากจะฝันให้ตนเองเป็นก็คือ การย้อนกลับไปใช้ชีวิตสิงสถิตอยู่ในร่างแบบเด็กๆ กันอีกครั้ง   เรื่องที่น่าแปลกก็คือ แม้วัยเด็กจะเป็นวัยที่ผู้ใหญ่ทุกคนต้องเคยผ่านมาก่อน แต่เมื่อห้วงเวลานั้นได้ผันผ่านไปแล้ว มนุษย์ผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งก็อาจจะรู้สึกว่า ผ่านช่วงวัยเด็กกันมาแล้วเราก็จงผ่านเลยไป และอย่ากลับไปเป็นเช่นนั้นอีกเลย   ก็คงแบบเดียวกับ “ตันหยง” สาวนักเรียนนอกวัยเบญจเพส ที่คู่หมั้นของเธอหรือ “พิราม” เกิดเผลอไปมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเลขานุการคนสนิท จนเป็นต้นเหตุให้ตันหยงต้องประสบอุบัติเหตุโดยไม่คาดฝัน และฟื้นขึ้นมาสลับวิญญาณอยู่ในร่างของ “น้องเมย์” หนูน้อยวัยห้าขวบ   และก็อย่างที่ผมกล่าวไปตั้งแต่แรก เมื่อต้องย้อนกลับไปเป็นเด็กห้าขวบอีกครั้ง ตันหยงก็พบว่า นี่คือสิ่งที่เธอไม่นึกไม่ฝันและไม่อยากจะกลับไปเป็นที่สุดในชีวิต และด้วยเหตุที่วิญญาณของเธอมาอยู่ในร่างของน้องเมย์ ทำให้เธอยังได้เข้าไปเผชิญหน้ากับปัญหาในครอบครัวใหญ่ของหนูน้อย จนเกิดความรู้สึกพิเศษกับ “น้าวี” หรือ “ปฐวี” คุณหมอหนุ่มซึ่งเป็นน้าแท้ๆ ของน้องเมย์   ในขณะที่ชื่อเรื่องของละคร “พรพรหมอลเวง” อาจจะสื่อนัยว่า เหตุแต่การสลับร่างระหว่างสาวเบญจเพสกับเด็กหญิงวัยห้าขวบนี้ เป็นเพราะพระพรหมท่านเกิดโอนไฟล์ใช้โปรแกรม “cut-and-paste” ผิดพลาด แต่อีกด้านหนึ่ง ก็อาจเป็นเจตจำนงของพระพรหมท่านที่จะให้ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ได้เรียนรู้ที่จะ “เอาใจเด็กมาใส่ใจผู้ใหญ่” กันดูบ้าง   เริ่มตั้งแต่ที่ตันหยงต้องเผชิญกับความจริงข้อแรกว่า เด็กนั้นเป็นมนุษย์ที่ตัวเล็ก แบบเดียวกับที่น้องเมย์ต้องใช้เก้าอี้ต่อตัวเพื่อจะหยิบของในที่สูง และในขณะเดียวกัน เด็กก็ต้องมีวิธีการพูดแบบเด็กๆ ที่ต้องใช้วลีประโยคแบบที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่เขาพูดกัน   ต่อมา ละครก็ได้ให้คำอธิบายว่า เรื่องปัญหารักๆ ใคร่ๆ หรือรักนอกใจ ซึ่งแสนจะเป็นปัญหายิ่งใหญ่ในชีวิตของตันหยงนั้น กลับดูเป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย และเทียบเท่าไม่ได้เลยกับปัญหาของเด็กอย่างน้องเมย์ที่เกิดมาในครอบครัวใหญ่ก็จริง แต่สายสัมพันธ์ในครอบครัวกลับดูเปราะบางยิ่ง   จากนั้น เมื่อตันหยงในร่างน้องเมย์ ต้องเริ่มทำกิจกรรมแบบที่เด็กวัยห้าขวบเขาต้องทำกัน เช่น ต้องตื่นเช้าไปเรียนหนังสือ ต้องอ่านหนังสือและทำข้อสอบวิชาต่างๆ ไปจนถึงการต้องมีกิจกรรมการเล่นการรวมกลุ่มสนุกสนานแบบเด็กๆ เธอก็เริ่มพบว่า ชีวิตแบบเด็กเช่นนี้ ช่างเป็นอีกโลกที่แตกต่างจากชีวิตประจำวันแบบผู้ใหญ่อย่างที่เธอเคยเป็นเสียนี่กระไร   และเพราะเป็นกิจกรรมแบบเด็ก ตันหยงจึงพบว่า สิ่งที่เด็กอนุบาลเห็นว่ายากเย็นแสนเข็ญ อย่างการคิดเลขในวิชาคณิตศาสตร์ หรือการฝึกฝนพูดภาษาอังกฤษ กลับเป็นสิ่งที่ง่ายมากสำหรับหญิงสาวนักเรียนนอกอย่างเธอ จนทำให้น้องเมย์ได้คะแนนสอบสูงสุดในชั้นเรียนเป็นครั้งแรก   แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่เป็นพื้นฐานแบบเด็ก ๆ อย่างนันทนาการการเล่นหรือการรวมกลุ่มสนุกสนานนั้น แม้ตันหยงจะเคยผ่านชีวิตแบบนี้มาแล้วเกือบยี่สิบปี แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เธอหลงลืม และช่างยากยิ่งที่เธอจะปรับตัวให้กลับไปทำเยี่ยงนั้นอีกครั้งหนึ่ง   ในเวลาเดียวกัน สิ่งที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายมักทำกับเด็กจนกลายเป็นความเคยชิน ไม่ว่าจะเป็นการจูงมือ การกอด หรือการหอมแก้มเด็กเล็กๆ แบบที่น้าวีทำกับน้องเมย์อยู่เนืองๆ นั้น ก็อาจจะเป็นการกระทำที่มองมาจากจุดยืนแบบผู้ใหญ่ฝ่ายเดียว โดยที่เมื่อเธอต้องกลับเป็นเด็กและถูกน้าวีทำแบบนี้บ้าง ก็ต้องรู้สึกเป็นกระอักกระอ่วนใจอยู่ทุกครั้ง   ซ้ำร้ายที่สุด ตันหยงได้ข้อสรุปสุดท้ายว่า สิ่งที่ทำร้ายจิตใจของเด็กทุกวันนี้มากที่สุดไม่ใช่อื่นใด นอกจากเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่เป็นคนก่อร่างสร้างเรื่องเอาไว้ทั้งสิ้น ตั้งแต่ความไม่เข้าใจกันระหว่าง “เมธี” และ “ประภัสสร” พ่อกับแม่ของน้องเมย์ ก็คือปมปัญหาด่านแรกที่ทำร้ายน้องเมย์เสียยิ่งกว่าอาการป่วยเรื้อรังของหนูน้อยเสียอีก   หรือแม้แต่การบ่มเพาะความเกลียดชังของผู้ใหญ่อย่างคุณป้า “ปรางค์ทิพย์” ที่มีต่อพ่อและแม่ของน้องเมย์ ไม่เพียงแต่จะทำร้ายตัวน้องเมย์ด้วยกิริยาวาจาเท่านั้น แต่ป้าปรางค์ยังได้ใส่ความแค้นและความคาดหวังแบบผู้ใหญ่ลงไปในชีวิตของลูกสาวทั้งสองของเธอ จนพรากความเป็นเด็กออกไปจากหนูน้อยสองคน ให้มีชีวิตที่เอาแต่เรียนกับเรียน เพื่อเติมเต็มความอยากเอาชนะและเป็นสงครามตัวแทนของมารดา   ความไม่เข้าใจหัวอกของคนเป็นเด็กและการพรากเอาความเป็นเด็กออกไปจากชีวิตของหนูน้อยทั้งหลาย น่าจะเป็นสิ่งที่พระพรหมท่านเล็งเห็น และกำลังตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ในทุกวันนี้ จนทำให้เกิดเรื่องราวสลับร่าง กลายเป็นความอลเวงกันไป   และในที่สุด แม้เมื่อวิญญาณของตันหยงจะได้กลับคืนสู่ร่างเดิมของเธอ และแม้วิญญาณของน้องเมย์จะต้องดับไปตามอายุขัยที่พระพรหมท่านได้ลิขิตเอาไว้ แต่ตันหยงและตัวละครเกือบทุกคนในเรื่องก็ได้เรียนรู้ว่า เด็กอาจจะมีวัฒนธรรมความคิดที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ แต่ก็เพียงความต่างของคนอีกกลุ่มชีวิตที่ไม่ได้แปลกแยกแปลกประหลาดแต่อย่างใด   ในสังคมของผู้ใหญ่ เรามักจะเรียกร้องให้เด็กนั้นต้องเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่อยู่ฝ่ายเดียว แต่อีกด้านหนึ่งที่ผู้ใหญ่ได้หลงลืมไปก็คือ พวกเธอและเขาก็ควรต้องหัดเคารพในสิทธิความเป็นเด็กด้วยบ้างในทางกลับกัน   อย่างน้อยบทเรียนเรื่องการสลับร่างของตันหยงและน้องเมย์ ก็คงบอกเป็นนัยให้ผู้ใหญ่กลับไปเห็นคุณค่าของวัยเด็กที่ตนเคยผ่านมา และหัด “เอาใจเด็กมาใส่ใจของบรรดาผู้ใหญ่” กันบ้าง เพราะหาไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เกิดพระพรหมท่านให้พรที่สลับร่างกันขึ้นมาจริง ๆ แล้ว มันก็อาจจะอลเวงได้อีกเช่นกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point