ฉบับที่ 236 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2563

กทม.ใช้สิทธิบัตรทองได้ทุกแห่งเริ่ม 1 พ.ย. 63           นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบให้สิทธิบัตรทอง เมื่อเจ็บป่วยไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในระบบบัตรทองที่ใดก็ได้ในเครือข่ายบริการนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เริ่มวันที่ 1 พ.ย.นี้         การให้บริการจะแบ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายบริการที่มีศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.จำนวน 69 แห่ง ในแต่ละเขต ทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการแม่ข่ายเชื่อมต่อหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น คลินิกเอกชน ร่วมดูแลในเครือข่ายบริการนั้นๆ ซึ่ง 1 เขตอาจจะมี 2 เครือข่ายบริการได้ และหนึ่งเครือข่ายบริการอาจมีโรงพยาบาลรองรับการส่งต่อ 2-3 แห่ง นอกจากหน่วยบริการประจำหน่วยบริการรับส่งต่อแล้วยังมีรายชื่อหน่วยบริการที่อยู่ในเครือข่ายบริการซึ่งอาจจะมี 10-20 แห่งต่อเครือข่ายบริการที่ประชาชนสามารถไปรับบริการที่ใดก็ได้ ทั้งรักษาพยาบาลเบื้องต้น รักษาต่อเนื่องโรคเรื้อรังและบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค พร้อมกันนี้ สปสช.ยังได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทยพัฒนาระบบนัดหมายล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" เพื่ออำนวยความสะดวกในการนัดหมายรับบริการล่วงหน้า พร้อมตรวจสอบรายชื่อด้วย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยมีแนวโน้มล้นประเทศ          จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าปัจจุบันในไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศเป็นจำนวนมาก ประมาณ 400,000 ตันต่อปี และยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อมีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศ เรื่อง ‘กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563’ โดยห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 428 รายการ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 2563         ในงานศึกษา 'การขับเคลื่อนและอุปสรรคของการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย' โดยพีรนาฏ คิดดี และสุทธิพร บุญมาก คาดการณ์ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างปี 2559-2564 จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษและสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เมื่อปี 2558 แล้วพบว่าในช่วงปี 2559-2564 ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นจาก 947,881 พันชิ้น ในปี 2559 เป็น 1,067,767 พันชิ้น ในปี 2564 (อัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี) การคาดการณ์ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2564 เมื่อจำแนกเป็นชนิด พบว่า (คาดการณ์ว่า) อันดับหนึ่งคือ แบตเตอรี่มีจำนวนสูงถึง 718,000 พันชิ้น รองลงมาคือ หลอดฟลูออเรสเซนต์จำนวน 317,012 พันชิ้น และโทรศัพท์มือถือ/บ้าน จำนวน 13,419 พันชิ้น ตามลำดับ เหตุจากคนใช้งานสั้นลงและเปลี่ยนใหม่บ่อย         เผยผลตรวจ "ลูกอม-หมากฝรั่ง" พบใช้สีไม่ได้มาตรฐานเกือบ 10%          27 ตุลาคม นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ได้รวบรวมผลการตรวจวิเคราะห์สีอินทรีย์สังเคราะห์ในลูกอมทั้งชนิดแข็ง ชนิดนุ่ม และหมากฝรั่ง โดยเป็นตัวอย่างที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และผู้ประกอบการส่งตรวจระหว่างปี 2560-2562 จำนวน 387 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า มีการใช้สีอินทรีย์สังเคราะห์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 30 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 9.8         ลูกอมและหมากฝรั่งเป็นอาหารที่อนุญาตให้ใช้สีอินทรีย์สังเคราะห์ เพื่อเติมแต่งผลิตภัณฑ์แต่ปริมาณและชนิดของสีที่ใช้ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยสีอินทรีย์สังเคราะห์เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งใช้แต่งสีอาหารให้มีสีสันที่น่ารับประทานมากขึ้น ทั้งนี้หากร่างกายได้รับในปริมาณมากหรือบ่อยครั้งย่อมก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น สีจะไปเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ทำให้น้ำย่อยอาหารออกมาไม่สะดวก อาหารย่อยยาก เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขัดขวางการดูดซึมอาหาร ก่อให้เกิดภูมิแพ้หรืออาจมีอาการของตับ ไตอักเสบ และสีอินทรีย์สังเคราะห์บางชนิดอาจก่อให้เกิดมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่นๆ  เตือนระวังโรคอ้วน ไทยอยู่อันดับสองของอาเซียน          ภาพรวมสุขภาพคนไทยพบว่า 'โรคอ้วน' หรือสภาวะอ้วน BMI (Body Mass Index) สูงมากกว่า 25% เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48.28 ของประชากรวัยทำงาน ส่งสัญญาณอันตรายหลายด้าน ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตัน ซึ่งปีที่ผ่านมาพบว่า โรคอ้วนคร่าชีวิตประชากรทั่วโลกไปกว่า 4 ล้านคน         จากการสำรวจข้อมูลในระดับนานาชาติพบว่า ประเทศไทยมีความชุกของภาวะโรคอ้วนโดยมีดัชนีมวลกาย หรือ BMI สูงมากกว่า 25% โดยสูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากมาเลเซีย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.28 จากภาวะคนไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลทำให้คนไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานถึง 4.8 ล้านคน และเสียชีวิตจากการโรคดังกล่าวไปมากกว่า 200 คน/วัน  ศาลชั้นต้น รับ คดี ‘กระทะโคเรียคิง’ เป็นคดีกลุ่ม          จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นฟ้อง ‘กระทะโคเรียคิง’ เป็นคดีแบบกลุ่มและมีการนัดไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่มตั้ง 25 กันยายน 2560 จนถึงวันที่ 7 กันยายน 2563 นั้น         ล่าสุด 19 ตุลาคม 2563 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร มีคำสั่งอนุญาตให้รับคดี ‘กระทะโคเรียคิง’ รุ่นไดมอนด์ ซีรีส์ (Diamond Series) และ รุ่นโกลด์ ซีรีส์ (Gold Series) ที่ผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติของกระทะดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามคำโฆษณาเป็นคดีแบบกลุ่ม        นายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและทนายความผู้รับผิดชอบคดีกล่าวว่า วันนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตรับเป็นคดีแบบกลุ่ม โดยให้เหตุผลว่ามีผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อกระทะรุ่นดังกล่าวเป็นจำนวนที่มาก ดังนั้นการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะทำให้ผู้เสียหายได้รับความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพในการดำเนินคดีมากกว่าการดำเนินคดีแบบทั่วไป นอกจากนี้ศาลยังได้กำหนดขอบเขตของผู้เสียหายที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาหากคดีสิ้นสุดลง คือ ผู้เสียหายที่ซื้อกระทะยี่ห้อโคเรียคิง จำนวน 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นไดมอนด์ ซีรีส์ (Diamond Series) และ รุ่นโกลด์ ซีรีส์ (Gold Series) ทุกคน และจำเป็นต้องซื้อภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 หากซื้อหลังจากนี้จะถือว่าไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มและจะไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา        “ขอฝากให้ผู้เสียหายที่ซื้อกระทะรุ่นไดมอนท์ซีรีส์และรุ่นโกลด์ซีรีส์ทุกคน เก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องเอาไว้ด้วย เช่น หลักฐานการสั่งซื้อ ใบเสร็จ หลักฐานการโอนเงิน กระทะรุ่นไดมอนท์ซีรีส์หรือรุ่นโกลด์ซีรีส์ เป็นต้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีในขั้นตอนต่อไป” ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคกล่าว         ทั้งนี้จำเลยสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ภายในกำหนด 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง หากครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้วไม่มีการอุทธรณ์ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งผู้บริโภคสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีดังกล่าวได้ทางเว็บไซต์ consumerthai.org และทางเฟซบุ๊กเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2555 ปัญหาของ “ซิมฟรี” ซิมมือถือแจกฟรียังเป็นปัญหากวนใจของผู้บริโภค เมื่อของที่ว่าแจกฟรีแต่แท้จริงกลับไม่ได้ฟรีอย่างที่โฆษณา เพราะพอเวลาผ่านไปกลับมีใบเสร็จมาเรียกเก็บค่าบริการ ทั้งๆ ที่ซิมฟรีที่ได้รับแจกมายังไม่ได้ถูกใช้งาน กลุ่มงานรับเรื่องราวร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้สรุปตัวเลขการร้องเรียนปัญหากรณีแจกซิมฟรี ช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งมียอดร้องเรียนทั้งหมด 179 เรื่อง โดยบริษัทผู้ให้บริการที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ บริษัท เรียลมูฟ หรือ ทรูมูฟ เอช ที่มีเรื่องร้องเรียนจำนวน 91 เรื่อง รวมเข้ากับบริษัทที่อยู่ในเครือเดียวกันอย่าง บริษัท ทรูมูฟ จำกัด อีกจำนวน 10 เรื่อง ส่วนบริษัทผู้ให้บริการอื่นๆ ที่มีเรื่องร้องเข้ามาก็ได้แก่ บริษัท ไอ-โมบาย พลัส จำนวน 74 เรื่อง, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จำนวน 3 เรื่อง และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส จำนวน 1 เรื่อง   ปัญหาการรับแจกซิมฟรีแล้วถูกเรียกเก็บเงินในภายหลังนั้น มักเกิดจากการที่ผู้ให้บริการสื่อสารข้อมูลหรือเงื่อนไขกับลูกค้าหรือผู้ได้รับแจกซิมฟรีไม่ชัดเจน ผู้ที่ได้รับแจกซิมหลายคนเข้าใจสามารถนำซิมไปใช้โทรได้ฟรีหรือมีวงเงินให้สามารถโทรได้โดยไม่ต้องเติมเงินหรือจ่ายรายเดือน   ซึ่งพนักงานที่แจกซิมที่สามารถพบเจอได้ตามแหล่งชุมชนหรือตามตลาดที่มีผู้คนพลุกพล่าน มักไม่ยอมแจ้งข้อมูลทั้งหมด ว่าซิมที่แจกเป็นซิมประเภทไหน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นซิมแบบจดทะเบียน เพราะเงื่อนไขในการแจกมักมีการขอบัตรประชาชน มีการลงลายมือชื่อ ทำให้มีบิลเรียกเก็บค่าบริการส่งไปหาถึงบ้านในภายหลัง แม้ว่าซิมที่ได้รับแจกมาจะยังไม่เคยได้เปิดใช้เลยก็ตาม   ใครที่ประสบปัญหานี้ สามารถติดต่อแจ้งได้ด้วยตัวเองกับบริษัทเจ้าของซิม หรือแจ้งมายัง กสทช. เพื่อแสดงเจตจำนงว่าไม่ได้มีความประสงค์จะขอใช้บริการและขอยุติการเรียกเก็บค่าบริการต่างๆ ทั้งหมด และครั้งต่อไปหากถูกเรียกให้ไปรับแจกซิมฟรี อย่ารับเด็ดขาดถ้าไม่คิดจะนำมาใช้งาน หรือหากอยากได้ก็ขอให้สอบถามข้อมูลประเภทการใช้งานให้เรียบร้อย โดยเฉพาะเรื่องการคิดอัตราค่าบริการ --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เชื่อมั่น “บัญชียาหลักแห่งชาติ” ทุกวันนี้ผู้ที่ถือสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ต่างก็ได้ใช้ยาในระบบ “บัญชียาหลักแห่งชาติ” ซึ่งอาจมีบางคนที่ยังไม่มั่นใจว่ายาเหล่านี้จะสู้ยาราคาแพงๆ ที่ใช้ในโรงพยาบาลเอกชนได้หรือเปล่า คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. วอนให้คนไทยเชื่อมั่นใน “บัญชียาหลักแห่งชาติ” เพราะยาทุกรายการที่อยู่ในบัญชีมีความเหมาะสมและทันสมัย มีรายการยาที่จำเป็นสำหรับคนไทย ซึ่งผ่านกระบวนการพิจารณากลั่นกรองคัดเลือกยาโดยคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญกว่า 200 คน  โดยยึดหลักในเรื่องประสิทธิภาพของยา ความปลอดภัย และมีความคุ้มค่าตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและความสามารถในการจ่ายของสังคม ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประกอบด้วย 3 บัญชี คือ 1.บัญชียาสำหรับโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข 2.บัญชียาจากสมุนไพร และ 3.เภสัชตำรับโรงพยาบาล ปัจจุบันมีรายการยาแผนปัจจุบันอยู่ในบัญชียาหลักประมาณกว่า 800 รายการ บัญชียาจากสมุนไพรประมาณ 71 รายการ ซึ่งความครอบคลุมในการรักษาโรคต่างๆ ของคนไทย สำหรับยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ยามะเร็ง ยาโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ยาโรคระบบทางเดินอาหาร คณะกรรมการฯ ของ อย. จะนำหลักการทางด้านเภสัชศาสตร์กับความสามารถในการจ่ายของรัฐ เพื่อจัดทำข้อเสนอในการต่อรองราคายากับบริษัทผู้ผลิตยา เพื่อให้ยาที่มีความจำเป็นต้องอยู่ในบัญชีหลักแห่งชาติมีราคาที่ถูกลง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและมาตรฐานของยาแต่อย่างใด ใครที่อยากทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบัญชียาหลักแห่งชาติ สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ www.nlem.in.th ------------------------------------------------------------------------------------------------------ หมากฝรั่งไฟช้อต มีของเล่นอันตรายมาทำร้ายเด็กไทยกันอีกแล้ว คราวนี้เป็นของเล่นที่ชื่อว่า “หมากฝรั่งไฟช้อต” หรือมีชื่อทางการค้าว่า “Chewing Gum Shock” ของเล่นที่หน้าตาเหมือนหมากฝรั่งแต่มีไว้แกล้งคนอื่น ซึ่งเด็กนักเรียนมักจะซื้อมาแกล้งเพื่อนให้ตกใจ ด้วยการให้ดึงชิ้นส่วนซองบรรจุหมากฝรั่งที่ยื่นออกมา แล้วจะเกิดไฟฟ้าช้อต ซึ่งทำให้มีเด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บ เกิดอาการชาและช้ำบริเวณที่สัมผัสเจ้าของเล่นอันตรายชิ้นนี้ ศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัยของ สำนักคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้สุ่มเก็บตัวอย่างหมากฝรั่งไฟช้อตมาทดสอบความแรงของการช้อต ซึ่งผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการของคณะวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าในการดึงแต่ละครั้งจะมีค่ากระแสไฟฟ้าสูงถึง 736 โวลต์ ซึ่งมากกว่าค่ากระแสไฟฟ้าตามบ้านเรือน และกระแสไฟเป็นแบบต่อเนื่องจึงทำให้เกิดการกระตุ้นของกระแสไฟที่ผ่านในร่างกายเป็นระยะๆ ทำให้เกิดอาการชาบริเวณอวัยวะที่สัมผัสเหมือนถูกไฟฟ้าช้อต ยิ่งถ้าดึงค้างไว้นานๆ กระแสไฟฟ้าจะส่งเข้าสู่ร่างกายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หากใครเห็นสินค้าชนิดนี้ให้แจ้งไปได้ที่ สคบ .ซึ่งทาง สคบ. เองเตรียมนำเสนอคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อห้ามขายสินค้าดังกล่าว ตามมาตรา 36 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 -----------------------------------------------------------------------------------------------------   กองทุนเยียวยาผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมจัดตั้งกองทุนอุดหนุนเงินเยียวยาผู้บริโภค เพื่อชดเชยความเสียหายให้ผู้บริโภคทันที หลังจากที่คณะกรรมการมีมติว่าผู้ประกอบการมีความผิดและผู้บริโภคได้รับความเสียหายจริง จากเดิมที่กว่าผู้บริโภคจะได้รับเงินชดเชยต้องรอให้มีคำตัดสินของศาลออกมาก่อน ซึ่งใช้เวลานาน สำหรับแนวทางการจัดตั้งกองทุน ทาง สคบ. วางไว้ 2 แนวทาง แนวทางแรก สคบ.อาจรับเป็นเจ้าภาพแต่เพียงผู้เดียว โดยใช้งบประมาณจากสำนักงบประมาณ หรืออีกแนวทาง คือ ร่วมมือกับผู้ประกอบการในการจ่ายเงินค้ำประกันเพื่อรับประกันว่าหากเกิดปัญหาก็สามารถตัดเงินก้อนดังกล่าวมาใช้เยียวยาให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งทาง สคบ. จะเร่งให้เกิดกองทุนเยียวยาผู้บริโภคให้ได้เร็วที่สุด เพื่อเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาผู้บริโภค ที่มีดูเหมือนจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ------------------------------------------------------------------   10 สุดยอดนวัตกรรมปี 2555 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ได้คัดเลือก “10 สุดยอดนวัตกรรมประจำปี 2555” จากโครงการนวัตกรรมทั้งหมด 849 โครงการที่ สนช. ให้การสนับสนุน โดยคัดเลือกธุรกิจใหม่ๆ ที่มีความโดดเด่นในด้านของเทคโนโลยีกระบวนการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดในรูปแบบใหม่ โดย 10 สุดยอดนวัตกรรมประจำปี 2555 จากการคัดเลือกของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติมีดังนี้ 1. “ไบโอเวกกี้” วิตามินรวมจากผักเมืองหนาว บริษัท เชียงใหม่ ไบโอเวกกี้ จำกัด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทวิตามินรวมจากผักเมืองหนาว 12 ชนิด   2. “ฟีนพลัส” หมึกนำไฟฟ้าผสมแกรฟีนสำหรับผลิตลายไฟฟ้า บริษัท อินโนฟิน จำกัด หนึกนำไฟฟ้าผสมแกรฟินที่จะช่วยทดแทนการใช้หมึกน้ำไฟฟ้าที่ผสมสารตัวอื่น เช่น โลหะเงิน ด้วยประสิทธิภาพการใช้งานที่เท่าเทียมกันแต่มีราคาต้นทุนถูกกว่า   3. “ซินนิไพร์” เครื่องอบแห้งผลิตภัณฑ์เซรามิกด้วยก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ บริษัท อิมพีเรียลพอทเทอรี่ จำกัด เครื่องอบแห้งผลิตภัณฑ์เซรามิกด้วยก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ แทนการใช้ก๊าซหุงต้ม   4. “เอนเนอเร่” เครื่องดื่มให้พลังงานจากข้าว บริษัท บีเอสซีเอ็มฟูดส์ จำกัด เครื่องดื่มที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวสารเกรดเอได้ถึง 10 เท่า   5. “โดรน” เครื่องช่วยฟังแบบทัดหลังหู บริษัท ศูนย์การได้ยินดีเมด จำกัด เครื่องช่วยฟังที่มีการประมวลผลแบบดิจิตอล สามารถตัดเสียงรบกวนภายนอก แยกแยะระดับความถี่ของเสียงที่ได้รับเพื่อเพิ่มความดังที่เหมาะสมกับความผิดปกติของแต่ละบุคคล   6. “ชีวาดี” น้ำหวานดัชนีน้ำตาลต่ำจากดอกมะพร้าวอินทรีย์ บริษัท ชีวาดี โปรดักชันส์ จำกัด ผลิตภัณฑ์ให้ความหวานแต่ดัชนีน้ำตาลต่ำ ทำจากน้ำหวานดอกมะพร้าวหมักที่ยับยั้งการตกผลึกของน้ำตาลมะพร้าวและเชื้อจุลินทรีย์ด้วยมังคุดกับไม้พะยอม   7. “ไอริส” กระเบื้องเคลือบผลึกจากเศษกระจกรีไซเคิล ห้างหุ่นส่วนจำกัด ไอริส อินดัสเทียล กระเบื้องที่มีความสวยงามเฉพาะตัว แถมขั้นตอนการผลิตยังมีการลดการใช้อุณหภูมิในการเผาลงถึง 50 – 100 องศาเซลเซียส   8. “บีที ไฮบริด” สารชีวภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงสำหรับกำจัดหนอนศัตรูพืช บริษัท ภูธนเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยกำจัดและลดการระบาดหนอนศัตรูพืชได้มากกว่า 1 ชนิด และเหมาะที่จะนำมาใช้แทนสารเคมีประเภทดูดซึม เช่น สารเคมีกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และคาร์บาเมต   9. “ซิลค์ แอคเน่” ผลิตภัณฑ์ลดการอักเสบจากโปรตีน บริษัท เอทิกา จำกัด ผลิตจากรังไหมที่ผ่านกระบวนการสกัดจนได้กาวไหมเธริธินที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มการสร้างคอลลาเจนและยับยั้งการอักเสบ สำหรับแผลอักเสบจากสิวและแมลงกัดต่อย   10. “แดรี่โฮม” บรรจุภัณฑ์โยเกิร์ตอินทรีย์จากพลาสติกชีวภาพ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีความแข็งแรงทนทาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 ลูกอม หมากฝรั่ง ซูการ์ฟรี??

รสหวานมีใครบ้างไม่ชอบ หวานทำให้อาหารมีรสสัมผัสที่ดี อร่อย และยังช่วยให้สดชื่นด้วย เพราะน้ำตาลที่สร้างรสหวานนั้นให้พลังงานสูง อาหารที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสมหลักก็คงหนีไม่พ้นพวกลูกอม ลูกกวาด รวมไปถึงหมากฝรั่ง ซึ่ง  90 กว่าเปอร์เซ็นต์ในส่วนผสมเป็นน้ำตาล แต่หวานจากน้ำตาลหลังๆ ชักมีปัญหา เพราะถูกประณามว่าทำให้อ้วน หรือถ้าเคี้ยวหนุบหนับในปากเขาก็ว่าทำให้ฟันผุ เพราะจุลินทรีย์ที่ทำร้ายฟันก็ชอบกินน้ำตาลเหมือนกัน ถ้าจะหนีภัยฟันผุและอ้วน ก็ต้องเลิกกินหวาน เลิกเคี้ยวลูกอม หรือหมากฝรั่งไปเลย แต่มนุษย์เราไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ คือแทนที่จะเลิกหวาน ก็ขอหวานเถอะ แต่ไม่เอาแคลอรีหรือพลังงาน จึงคิดค้นหารสหวานที่มาจากอย่างอื่นแทนน้ำตาล ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาเฉพาะว่า วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล  วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล เวลาได้ยินโฆษณาว่า ไม่มีน้ำตาล หรือ ซูการ์ฟรี หรือ แคลอรีต่ำ หากเราไม่รู้จักวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลมาก่อน เราก็อาจคิดได้ว่า เขาโกหก เพราะกินแล้ว มันก็หวานชะมัด หวานติดลิ้นด้วยซ้ำ จะมาบอกว่าไม่มีน้ำตาลได้ยังไง แต่ถ้าเราลองอ่านฉลากดู บนฉลากจะถูกกำหนดให้เขียนไว้ชัดเจนเลยว่า ผลิตภัณฑ์อาหารนี้ ใช้อะไรให้ความหวานแทนน้ำตาล  คราวนี้ล่ะ เราจะเห็นชื่อแปลกๆ มากันหลากหลาย ทั้ง แอสปาแตม อะซีซัลเฟม-เค ซูคราโลส ไซลิทอล ซอร์บิทอล มอลทิทอล ไอโซมอลต์ ฯลฯ ชื่อที่ยกมาข้างต้นเป็นชื่อของ วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ทำไมต้องเรียกว่า “วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล” ทำไมไม่เรียก “น้ำตาลเทียม” ไปเลยล่ะ เข้าใจง่ายกว่ากันเยอะ ก็ต้องบอกว่า บางอย่างมันไม่ใช่น้ำตาลเทียมนะสิ วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล หลายตัวมีคุณสมบัติที่ให้ทั้งความหวานและให้พลังงานด้วย แอบมีคุณค่าทางโภชนาการนิดๆ  คือตัวมันยังเป็นน้ำตาลอยู่ เพียงแต่เป็นน้ำตาลที่มีคุณสมบัติไม่เหมือนน้ำตาลทรายที่เรารู้จัก (ถ้าเป็นน้ำตาลเทียมจะเป็นสารสังเคราะห์ที่จะมีความหวานกว่าน้ำตาลแท้เป็นสองสามร้อยเท่า ทำให้ใช้ในปริมาณที่น้อยมากๆ ค่าพลังงานเลยเกือบจะเท่ากับ 0) ดังนั้นถ้าจะลองจำแนก วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล โดยดูจากหลักเกณฑ์เรื่อง คุณค่าทางโภชนาการ ก็จะแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม   วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการนำมาใช้ทดแทนรสหวานจากน้ำตาลในอาหารหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม ขนม ลูกอม ลูกกวาด เบเกอรี่ อาหารหรือเครื่องดื่มไดเอ็ตทั้งหลาย หรือแม้แต่ในอุตสาหกรรมยา  การใช้สารหรือวัตถุให้ความหวานมีการใช้ทั้งในลักษณะเดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกับสารให้ความหวานชนิดอื่นๆ ซึ่งการใช้สารให้ความหวานมากกว่า 1 ชนิดประกอบกันได้รับการยอมรับ เนื่องจากสารให้ความหวานแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกัน ไม่มีสารให้ความหวานใดดี หรือสมบูรณ์แบบที่สุด ฉลาดซื้อในครั้งนี้ ออกไปช้อปหมากฝรั่งและลูกอม เพื่อมานำเสนอเป็นตัวอย่างสำหรับผลิตภัณฑ์ที่น้ำตาลกำลังจะหายไป แต่กลายเป็นการนำวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล มาใช้แทนที่ และอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลไม่มีอะไรที่ดีที่สุด ดังนั้นบางตัวก็สร้างปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน แม้จะเป็นความเสี่ยงในระดับต่ำ แต่ก็ควรจะได้รู้เป็นข้อมูลไว้เพื่อการพิจารณา    ผลิตภัณฑ์ หมากฝรั่ง ------------------------------------------------- วัตถุให้ความหวานที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ควรรู้จัก โพลิออล (polyols) หรือน้ำตาลแอลกอฮอล์ (sugar alcohols; polyhydric alcohol; polyalcohol) บางครั้งเรียกว่า “sugar replacers” หรือ “bulk sweeteners” ใช้เป็นสาร ปรุงแต่งในอาหารที่มีความสำคัญเช่นกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำตาล สารให้ ความหวานเหล่านี้จัดเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารเพิ่มมวลหรือปริมาตรของน้ำตาล มีความหวานต่ำกว่าน้ำตาลทราย(ซูโครส) เป็นสารให้ความหวานลดแคลอรี (reduced- calorie sweeteners) สามารถรวมกับสารอื่นได้ดี เช่น มีคุณสมบัติส่งเสริมกันกับสารให้ความหวานชนิดแคลอรีต่ำ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีแคลอรีลดลงและมีรสชาติดีคล้ายกับ ผลิตภัณฑ์สูตรดั้งเดิม กลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ จะมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ เนื่องจากดูดซึมได้ช้า และตกค้างมาเป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพจึงเป็นเรื่องของภาวะท้องเสีย -------------------------------------------------   วัตถุให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ควรรู้จัก สารให้ความหวานที่จัดอยู่ในประเภทนี้กลุ่มหนึ่งจะไม่ให้พลังงานเลย เนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ มีหน้าที่ให้รสหวานเท่านั้น อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่ให้พลังงานต่ำ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ให้คำจำกัดความไว้ว่าคือสารให้รสหวานที่ให้พลังงานน้อยกว่า 2% ของจำนวนพลังงานที่ได้จากน้ำตาลทราย ในระดับที่ให้ความหวานเท่ากัน การที่ต้องกำหนดไว้เนื่องจากสารรสหวานบางชนิดเป็นสารที่ให้พลังงานตามธรรมชาติ เช่นจัดเป็นเปปไทด์ (หน่วยย่อยของโปรตีน) เพราะฉะนั้นจะให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรีต่อกรัมเหมือนโปรตีนอื่น แต่เนื่องจากสารนั้นหวานกว่าน้ำตาลทรายเป็นร้อยเท่า เวลานำมาใส่ในอาหารจึงใช้ปริมาณน้อยมาก จนปริมาณดังกล่าวให้พลังงานแก่ร่างกายเพียงน้อยนิด ต่อไปจะขอแนะนำให้รู้จักสารรสหวานที่นิยมใช้กันบางชนิด   แอสปาแตม ถึงแม้ว่าจะจัดเป็นสารพวกโปรตีน (เปปไทด์) แอสปาแตมถือเป็นสารรสหวานที่ไม่ให้พลังงานหรือพลังงานต่ำ ตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ปัจจุบันผลิตในระดับอุตสาหกรรมด้วยการสังเคราะห์โดยเชื้อจุลินทรีย์ และนำมาใช้แทนน้ำตาลบริโภคในเครื่องดื่มต่างๆ ของหวานโดยเฉพาะเยลลี่ ไอศกรีม ลูกกวาดและอาหารแห้ง ข้อที่ควรระวังของการใช้แอสปาแตมในผลิตภัณฑ์อาหารคือ ผู้ที่เป็นโรค Phenylketonuria จะไม่สามารถบริโภคอาหารที่มีแอสปาแตมเป็นส่วนประกอบ จึงต้องระบุคำเตือนบนฉลาก ค่าปริมาณที่ได้รับต่อวันกำหนดไว้ที่ 0-40 (บางประเทศ 0-50) มก.ต่อกก.น้ำหนักตัว ต่อวัน อะซีซัลเฟม-เค เอะซีซัลเฟม-เค คงตัวอยู่ได้ในสภาพความเป็นกรด-ด่างของอาหารและในช่วงอุณหภูมิของกระบวนการผลิตอาหารทั่วๆ ไป มีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารประเภทต่างๆ ในทำนองเดียวกับแอสปาแตม ค่าปริมาณที่ได้รับต่อวันคือ 0-15 (บางประเทศ 0-9) มก.ต่อกก.น้ำหนักตัว ต่อวัน ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์อาหารทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์นมและหมากฝรั่ง ดูดซึมและขับถ่ายออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการย่อยสลาย ซูคราโลส ซูคราโลสเป็นสารที่ได้จากดัดแปลงน้ำตาลทราย (ซูโครส) ด้วยวิธีทางเคมี ทำให้มีความหวานสูงขึ้น โดยยังคงรสชาติของน้ำตาล และมีความคงตัวสูงจึงสามารถนำไปใช้ได้ในผลิตภัณฑ์อาหารที่หลากหลาย รวมถึงอาหารที่เป็นกรด และอาหารที่ต้องผ่านกระบวนให้ความร้อน เช่นผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ถึงแม้จะมีโครงสร้างคล้ายน้ำตาลทราย แต่ซูคราโลสไม่ถูกย่อยสลายในร่างกาย ค่าปริมาณที่ได้รับต่อวันกำหนดไว้ที่ 0-15 มก.ต่อกก.น้ำหนักตัว ต่อวัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point