ฉบับที่ 238 สารกันบูดในหมูหมัก (หมูกระทะ) จังหวัดขอนแก่น

        อาหารยอดฮิตที่เวลานัดเจอกันยามปาร์ตี้จะมีอะไรดีไปกว่าหมูกระทะ ปิ้งย่างเพลินๆ กินไปคุยไปถูกใจสายกินยิ่งนัก นิยมกันชนิดไม่ต้องไปร้านก็ได้ แค่สั่งซื้อหมูหมักซึ่งเป็นทีเด็ดของแต่ละร้านมาอร่อยกันที่บ้านก็ทำได้ง่าย แสนสะดวกสบาย ยิ่งใกล้ปีใหม่คิดว่าเมนูนี้น่าจะมาวิน         อย่างไรก็ตาม รู้หรือไม่ว่าบางร้านหมูกระทะเวลาที่เขาหมักหมูนอกจากจะใช้เครื่องปรุงหรือซอสสารพัดอย่างแล้ว อาจมีของแถมเป็นผงสารกันบูดยอดนิยมอย่างกรดเบนโซอิก(ซึ่งหาซื้อง่าย) ผสมเข้าไปด้วยเพื่อให้มั่นใจว่าหมูจะไม่เน่าไปก่อนขายหมด ปัญหาคือผลิตภัณฑ์หมูหมักไม่ควรเติมสารกันบูด เพราะธรรมดามันก็ปนเปื้อนจากเครื่องปรุงหรือซอสอยู่บ้างแล้ว ยิ่งคนหมักหมูไม่มีความรู้ นำสารกันบูดมาผสมแบบนึกจะใส่ก็ใส่เข้าไปอีก แบบนี้ความเสี่ยงที่ผู้บริโภคอาจได้รับสารกันบูดมากเกินไปก็สูงลิ่วกลายเป็นยิ่งอร่อยยิ่งเสี่ยงภัย         เรื่องสารกันบูดในหมูหมักจึงถูกนำเสนอเข้าสู่แผนการเก็บตัวอย่างเพื่อการเฝ้าระวังฯ โดยเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทางเครือข่ายฯ พบว่าชาวบ้านนิยมกันมาก นิตยสารฉลาดซื้อ เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงร่วมกันดำเนินการเก็บตัวอย่าง เนื้อหมูหมัก จากร้านหมูกระทะในจังหวัดขอนแก่นจำนวนทั้งสิ้น 21 ร้าน ส่งห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเพื่อหาการปนเปื้อนของกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และสารบอแรกซ์ โดยเก็บตัวอย่างปลายเดือนตุลาคมและต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เอาละดูกันสิว่าเจอมากน้อยแค่ไหน สรุปผลทดสอบ         ร้อยละ 85.7 เราพบสารกันบูด กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) หรือพบ 18 จาก 21 ตัวอย่าง มีเพียง 3 ตัวอย่าง (ร้อยละ 14) ที่ไม่พบการปนเปื้อน   การตรวจพบวัตถุกันเสียกลุ่มเบนโซเอต แบ่งเป็นสารสองชนิด ได้แก่ กรดเบนโซอิก INS 210 และ โซเดียมเบนโซเอต INS 211 ถึงร้อยละ 86 ของกลุ่มตัวอย่างหมูหมักนั้นมีได้สองเหตุผล คือ         1.เกิดจากการใช้เครื่องปรุงรสต่าง ๆ เช่น ซีอิ๊วขาว ซอสปรุงรส ซอสหอยนางรม ฯลฯ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่อนุญาตให้มีการใช้การกันเสียเพื่อควบคุมคุณภาพ กรณีนี้จะพบวัตถุกันเสียในปริมาณไม่มากและแม้ว่าจะหมักเนื้อหมูรับประทานเองที่บ้าน ก็พบการปนเปื้อนได้เช่นกัน         2.เกิดจากการจงใจผสมวัตถุกันเสียลงไปในการหมักของผู้ขาย เพื่อต้องการควบคุมไม่ให้หมูเน่าเสียก่อนที่จะขายหมดหรือมีสภาพไม่สวยงาม เช่น มีสีเขียวคล้ำ ซึ่งจะพบการปนเปื้อนกรดเบนโซอิกในปริมาณสูง (มากกว่า 100 มก./ 1 กก.)          ส่วนการทดสอบสารบอแรกซ์ ไม่พบในทุกตัวอย่างเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563 ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >