ฉบับที่ 250 เรื่องหมู ที่ไม่หมู

        สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอ ให้นำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งชั่วคราวแบบมีเงื่อนไขจากแหล่งผลิตที่ปลอดสารเร่งเนื้อแดงเท่านั้น เร่งปรับโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) และผลักดันท้องถิ่นให้สนับสนุนเกษตรรายย่อยเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ รวมทั้งผู้บริโภคต้องมีบทบาทสนับสนุนให้เกิดการเลี้ยงหมูแบบธรรมชาติ หรือหมูหลุม เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะ         สาเหตุของหมูแพงเชื่อว่าผู้บริโภคคงได้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากข่าวสารต่างๆในสื่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกเนื้อหมูก่อนหน้า การเป็นโรคอหิวาต์แอฟริการของหมูทำให้มีหมูน้อยลงทั้งระบบ และรวมถึงการปกปิดข้อมูลทำให้การจัดการปัญหาล่าช้า และไม่ทันการณ์การจัดการโรคระบาดซึ่งโดยข้อมูลของหลายหน่วยงานแจ้งว่า ต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 18 เดือน        ทางออกของผู้บริโภคในเรื่องนี้ซับซ้อนมาก ถึงแม้ข้อเสนอระยะสั้นที่ทุกฝ่ายจะเห็นด้วยว่า อาจจะจำเป็นที่จะต้องนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งชั่วคราวเนื่องจากปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และราคาแพงจนไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค แต่การนำเข้าเนื้อหมูต้องกำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนและสนับสนุนให้เกิดทางเลือกในการบริโภคของผู้บริโภคอย่างแท้จริง โดยจำกัดเฉพาะเนื้อหมูที่มาจากแหล่งผลิตที่ปลอดจากการใช้สารเร่งเนื้อแดงเท่านั้น         ส่วนข้อเสนอระยะยาว จะทำอย่างไรให้เกิดโครงสร้างการเลี้ยงหมูของเกษตรรายย่อย ในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยผู้เลี้ยงหมูที่ล้มหายไปไม่น้อยกว่า 200,000 ราย เพื่อทำให้ไม่เกิดการผูกขาดและการกำหนดราคาที่ขึ้นอยู่กับบริษัทขนาดใหญ่หรือผู้เลี้ยงรายใหญ่เท่านั้น ดังปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน โดยผู้บริโภคก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการที่จะทำให้เกิดกระบวนการเลี้ยงหมูที่ปลอดภัย ลดการใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นต้นตอของโรคในหมู ต้นตอของความไม่ปลอดภัยและเป็นสาเหตุสำคัญของเชื้อดื้อยาในมนุษย์ในท้ายที่สุด         บทบาทของหน่วยงานรัฐและหน่วยงานในระดับท้องถิ่นต่างๆที่เกี่ยวข้อง จะทำให้เกิดการสนับสนุนการเลี้ยงหมูแบบธรรมชาติที่รู้จักกันในนามหมูหลุม และผู้บริโภคจะสนับสนุนสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร         ส่วนปัญหาโครงสร้างราคาที่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน ว่า ราคาหมูเป็น 120 บาทต่อกิโลกรัม แต่เมื่อเป็นเนื้อหมูทำอาหารทำไมต้องกำหนดราคาเป็นสองเท่าของหมูเป็น และปัญหาวัตถุดิบในการเลี้ยงหมูซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของเกษตรกร นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนการเลี้ยงหมูในต่างประเทศ ความเป็นธรรมของราคาต่อผู้บริโภคและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร จะมีการจัดการอย่างเป็นระบบอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ผลทดสอบสารบอแรกซ์และสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมู

        เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับข้อความจากผู้บริโภคท่านหนึ่งที่ตั้งข้อสงสัยในเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เนื้อหมูที่วางจำหน่ายตามท้องตลาด ถึงความเป็นไปได้ในการปนเปื้อนของสารบอแรกซ์ (Borax) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ผงกรอบ หรือ น้ำประสานทอง สารเคมีที่มักถูกนำไปผสมในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ รวมถึงสารเร่งเนื้อแดง ที่อาจถูกนำมาผสมในอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อแดงและลดปริมาณไขมันลง         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารให้กับผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าอย่างสบายใจ ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่าง “หมูเนื้อแดง” จากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าและเขียงหมูในตลาดสดพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ จ.สมุทรสาคร, จ.นครปฐม, จ.ราชบุรี และ จ.ปทุมธานี ในเดือนธันวาคม 2563 รวมทั้งสิ้น 41 ตัวอย่าง นำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐานตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารบอแรกซ์ (Borax) และ สารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (Beta-agonist) ได้แก่ เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol), ซัลบูทามอล (Salbutamol) และ แรคโตพามีน (Ractopamine)   สรุปผลการทดสอบ         จากผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเนื้อหมูทั้งหมด 41 ตัวอย่าง พบว่า ทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนของสารบอแรกซ์ (Borax)         ส่วนการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ได้แก่ เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol), ซัลบูทามอล (Salbutamol) และ แรคโตพามีน (Ractopamine) นั้นพบว่า มีการปนเปื้อนของสารเร่งเนื้อแดงจำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่        1) ตัวอย่างเนื้อหมู จาก ร้านเจ๊แหม่มหมูซิ่ง (ตลาดทุ่งพระเมรุ จ.นครปฐม)                        พบการปนเปื้อนของซัลบูทามอล (Salbutamol) ปริมาณ 5.80 ไมโครกรัม/กิโลกรัม        2) ตัวอย่างเนื้อหมู จาก ร้านค้า(เขียง) ข้างร้านสมใจ (ตลาดปฐมมงคล จ.นครปฐม)                        พบการปนเปื้อนของซัลบูทามอล (Salbutamol) ปริมาณ 4.41 ไมโครกรัม/กิโลกรัมและ  3) ตัวอย่างเนื้อหมู จาก ร้านค้า (เขียง) หลังร้านเป็ดพะโล้ (ตลาดเทศบาล1 /ตลาดโอเดี่ยน จ.นครปฐม)                        พบการปนเปื้อนของซัลบูทามอล (Salbutamol) ปริมาณ น้อยกว่า 0.30 ไมโครกรัม/กิโลกรัม         ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2546 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ได้กำหนดให้อาหารทุกชนิดมีมาตรฐานโดยตรวจไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (β-Agonist) และเกลือของสารกลุ่มนี้ รวมถึงสารในกระบวนการสร้างและสลาย (metabolites) ของสารดังกล่าวด้วย ผู้ที่ฝ่าฝืนระวางโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท         นอกจากนี้ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ. 2559 ยังระบุว่า “ห้ามใช้ ยา เภสัชเคมีภัณฑ์ เกลือของเภสัชเคมีภัณฑ์ เภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปและเคมีภัณฑ์ เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ เช่น กลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (β-Agonist)” อีกด้วย                    ข้อแนะนำในการเลือกซื้อเนื้อหมู        1. ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากร้านค้าหรือตลาดสดที่น่าเชื่อถือ หรือได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์         2. ไม่ควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่มีสีแดงสดจนเกินไป หรือ มีไขมันน้อยจนผิดสังเกต เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่จะปนเปื้อนสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์เอกสารอ้างอิง- Borax / บอแรกซ์, ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร (www.foodnetworksolution.com)- บอแรกซ์ สารอันตรายที่แฝงอยู่ในอาหาร (www.pobpad.com)- สารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ (beta-agonist), ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย   สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม (http://www.nfi.or.th/foodsafety/upload/damage/pdf/beta-agonist.pdf)- การปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง (กลุ่มเบต้าอะโกนิสต์) ในเนื้อหมู  (https://www.ocpb.go.th/upvac_web/download/article/article_20171117141228.pdf)- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2546 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์- ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ. 2559

อ่านเพิ่มเติม >