ฉบับที่ 276 ถูกมิจฉาชีพหลอกให้จองที่พัก

        เรื่องราวของมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบของเพจเฟซบุ๊กปลอมหลอกให้โอนเงินจนเสียทรัพย์สินเกิดขึ้นบ่อย แต่ก็ยังมีหลายคนพลาดเพราะความเนียนของมิจฉาชีพ ซึ่งไม่นานนี้คุณพลอยก็ได้ร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเช่นกัน         เรื่องนี้เริ่มจาก คุณพลอย ได้พบ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa โพสต์โฆษณาที่พักที่หาดเจ้าสำราญ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งสวยงาม ถูกใจมาก คุณพลอยสนใจจึงติดต่อไปจองเข้าพักในวันที่ 23-24 ธ.ค. 66 แอดมินเพจ BEACH VIEW pool Villa ก็ตอบกลับอย่างรวดเร็วแจ้งให้คุณพลอยโอนเงินค่าที่พักทันทีแล้วจะได้ส่วนลด 3,300 บาท จากราคาเต็ม 13,000 บาท คุณพลอยจึงโอนเงินค่าที่พักไปทันที จำนวน 9, 700 บาท  แต่เมื่อโอนเงินแล้วแอดมินเพจยังบอกอีกว่า ต้องโอนค่าประกันที่พักอีกจำนวน  5,000 บาท การจองจึงจะสมบูรณ์ คุณพลอยหลงเชื่อเพราะคิดว่าได้โอนเงินไปแล้ว 9, 700 บาท การติดต่อก็ไม่ได้ขาดหาย แล้วเรื่องเงินประกันก็มีเหตุผล ซึ่งเงินประกันย่อมได้คืนหากไม่มีอะไรเสียหายกับที่พัก เธอจึงโอนเงินไปให้อีก 5,000 รวมเป็นเงิน 14,700 บาทถ้วน         แต่เรื่องราวกลับถูกเปิดเผยว่า นี่คือมิจฉาชีพ เมื่อคุณพลอยเดินทางไปยังสถานที่จริงตามที่เพจระบุกลับไม่พบที่พักสวยหรูอย่างที่โพสต์ไว้เลย เวียนหายังไงก็ไม่เจอ เมื่อถามกับโรงแรมใกล้เคียงก็พบว่าไม่มีที่พักชื่อ Beach View Pool Villa และไม่สามารถติดต่อผู้ขายและแอดมินเพจได้อีกแล้ว จึงรู้ว่าถูกหลอก คุณพลอยจึงแจ้งความเพื่อดำเนินคดีที่ สน.สำเหร่ ทันที ต่อมาเมื่อนำไปไปสืบหาความจริงเรื่อยๆ จึงได้พบว่า แท้จริงแล้วภาพสวยๆ ที่อยู่บนโพสต์นั้นเป็นมิจฉาชีพนำภาพของที่พักชื่อ Canary Good Pool Villa มาเนียนหลอกลวงคน ซึ่งเจ้าของที่พัก (เจ้าของภาพ) ดังกล่าวก็ได้แจ้งความเอาผิดกับมิจฉาชีพแล้วด้วยเช่นกัน  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อผู้บริโภครู้ว่าซื้อสินค้าบริการแล้วถูกหลอก  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1.เก็บหลักฐานข้อมูลให้มากที่สุด เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน เช่น เบอร์โทรศัพท์ผู้ขาย , ภาพหน้าร้านเพจ, โปรไฟล์ของพ่อค้าแม่ค้า,บัญชี, ธนาคารที่โอนเงินไป, สลิป และ การโอนเงินชำระค่าสินค้า         2. โทรแจ้งธนาคารอาญัตบัญชีของมิจฉาชีพทันที  เมื่อรู้ตัวว่าถูกโกง ผู้บริโภคสามารถโทรศัพท์ไปที่ศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพของธนาคารต่างๆ ได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง (โดยที่ไม่จำเป็นต้องแจ้งความก่อน) ซึ่งเป็นไปตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี         3. ไปแจ้งความทันที โดยแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า “ขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด” อย่าทำเพียงลงบันทึกประจำวันเด็ดขาด! หรือแจ้งความออนไลน์ที่  www.thaipoliceonline.com         4. ประสานงาน ติดต่อแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ เพื่อนำหลักฐานการแจ้งความ เพื่อแจ้งประสานงานขอข้อมูลมิจฉาชีพ ที่ใช้ทำการสมัคร และเพื่อให้ เพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ ในการตามตัว รวมทั้งเพื่อให้ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการยกระดับความปลอดภัยของผู้ขายสินค้าด้วย             5.ส่งข้อมูลที่ได้เพิ่มมาให้กับตำรวจ เป็นระยะเพื่อตามตัวมิจฉาชีพให้ได้         อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบัน คุณพลอยแม้จะได้แจ้งความกับตำรวจและติดต่อให้ธนาคารอายัดบัญชีธนาคารของมิจฉาชีพแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับเงินคืนแต่อย่างใด ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคขอย้ำว่า การมีความรู้เท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพหรือการป้องกัน เป็นวิธีการที่ดีกว่าการแก้ปัญหาภายหลังแน่นอน  ซึ่งกรณีนี้ที่คุณพลอยถูกมิจฉาชีพหลอกให้จองที่พักในเพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa  มีข้อสังเกตที่ผู้บริโภคสามารถนำไปป้องกันตนเองได้คือ           1. มิจฉาชีพให้คุณพลอยชำระค่าที่พักและค่าจองไปยังบัญชีที่เป็นชื่อบุคคล  ซึ่งหากเป็นโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้อง ชื่อบัญชีจะเป็นชื่อโรงแรมหรือบริษัทโดยตรง        2. เพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa  มีรูปที่พัก ผู้ติดตามจำนวนมาก และยังมีโชว์ภาพผู้เข้าพัก เหมือนจริงทุกอย่างแต่เท่านั้นยังเชื่อไม่ได้ ต้องมีการตรวจสอบชั้นที่ 2 โดยผู้บริโภค ควรโทรศัพท์ไปติดต่อสอบถาม พูดคุยโดยตรงด้วยให้บ่อยครั้ง เพราะมิจฉาชีพส่วนใหญ่มักจะตั้งระบบไม่ให้สามารถโทรกลับได้ง่าย หากเบอร์ไม่สามารถติดต่อได้ หรือติดต่อได้ยาก จุดนี้จะทำให้เห็นพิรุธได้ว่า ไม่น่าเป็นเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของที่พัก โรงแรมที่จะติดต่อได้ง่ายตลอดเวลา         3. หากเห็นว่ามีผู้เข้ามาพูดคุย หรือแสดงความคิดเห็นในเพจ เราควรเข้าไปดูเฟซบุ๊กของผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วยว่า เป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ มีลักษณะของผู้ที่เป็นบุคคลจริงหรือไม่  มีข้อสังเกตว่าหากเป็นมิจฉาชีพมักใช้วิธีการจูงใจหลายรูปแบบ เช่น อ้างว่าจะให้เหล้าหรือไวน์ฟรีจำนวนมากเพื่อเร่งรัดให้ตัดสินใจโอนเงิน

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 274 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม ปี 2566

ระวังเบอร์โทรหลอกดูดเงิน        โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตือนภัยประชาชนกรณีที่มีมิจฉาชีพใช้เบอร์โทร 082-810-3575 ติดต่อประชาชนหลอกล็อกอินและดูดเงิน โดยมีวิธีการคือ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กระทวงการคลัง หลอกลวงให้กดยกเลิกสิทธิโครงการของรัฐฯ ที่หมดเขต พร้อมให้ประชาชนล็อกอินใส่ username และ password ของ “แอปพลิเคชันเป๋าเงิน” พร้อมทั้งยังแอบอ้างว่าได้รับเอกสารสิทธิพิเศษจากกระทรวงการคลัง และมีการลงนามโดยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังอีกด้วย         ทั้งนี้  ทางโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอย้ำว่าหากมีเบอร์โทร 082-810-3575 ติดต่อไป อย่ารับเด็ดขาด ให้บล็อกได้เลย และยืนยันว่ากระทรวงการคลังไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อหาประชาชนให้ยกเลิกสิทธิ์โครงการของรัฐฯ แน่นอน ภัยออนไลน์ปี 2567 มิจฉาชีพอาจใช้ AI ลวงเหยื่อ         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึง สถิติแจ้งความออนไลน์เกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ผ่านมา  อันดับ 1 ยังคงเป็น “การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์” มีจำนวนกว่า 150,000 คดี   ในส่วนคดีที่ความเสียหายรวมสูงที่สุด คือ “หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์” เสียหายรวมกว่า 16,000 ล้านบาท                    แนวโน้มรูปแบบอาชญากรรมทางออนไลน์ ปี 2567 ประชาชนต้องระมัดระวังมิจฉาชีพ ก่อเหตุโดยนำเทคโนโลยี  AI มาใช้ประโยชน์เพื่อปลอมแปลงฉ้อโกง หรือสร้างความเสียหาย สร้างภาพคลิปปลอม เพื่อนำมาหาประโยชน์ต่างๆ เช่น             ·     การสร้างภาพ หรือคลิปปลอมเป็นบุคคลอื่น (AI Deepfakes)             ·     การเลียนเสียงของบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนรู้จัก (AI Voice Covers)             ·     การสร้างคลิปลามกปลอม (AI Deepfakes)             ·     การสร้างข่าวปลอม (Fake News)         ขออย่าหลงเชื่อ ยึดหลัก “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์ ประกาศฉบับใหม่! ห้ามขาย “ใบกระท่อม” ให้คนท้อง-เด็กต่ำกว่า 18 ปี         เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง...การปิดประกาศหรือการแจ้งให้บุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทราบถึงข้อห้ามขายใบกระท่อมหรืออาหาร ตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ พ.ศ. 2566  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม2566 เป็นต้นไป         โดยประกาศให้ผู้ขายใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ มีหน้าที่ต้องประกาศ ให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคลตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ดังนี้             1. ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย มองเห็นได้ชัดเจน และมีขนาดเหมาะสมกับสถานที่ขาย             2. ระบุข้อความที่ปิดประกาศว่า ไม่ขายใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อม เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบให้แก่บุคคล ดังต่อไปนี้                 ·บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี                ·สตรีมีครรภ์                ·สตรีให้นมบุตร                ·ให้ผู้ขายใบกระท่อม หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบ โดยวิธีการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือด้วยวิธีการหรือในลักษณะอื่นใด ปิดประกาศหรือแจ้งให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคลตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ปฏิบัติตามข้อ 3 โดยอนุโลม  3 กลุ่มโรคต้องระวังเมื่อถอนฟัน          จากกรณีข่าวสาววัย 25 ปี เสียชีวิตภายหลังถอนฟัน 2 ซี่ ที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี นั้น ด้านนพ.เพชรฤกษ์ แทนสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่าผลตรวจพบก้อนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณกรามด้านขวา ซึ่งกดบีบทางเดินหายใจทำให้หายใจลำบากนำมาซึ่งการเสียชีวิต         การถอนฟันเป็นการรักษาปัญหาสุขภาพในช่องปากที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการถอนฟันเป็นการรักษาที่มีความเสี่ยงสูง เพราะในช่องปากเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรียจำนวนมากทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อและแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งมีสามกลุ่มโรคที่ผู้ป่วยควรต้องแจ้งทันตแพทย์ก่อนหากได้รับการวินิจฉัยว่าต้องถอนฟัน ได้แก่ กลุ่มโรคที่เลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก เช่น ลิวคีเมีย โรคไตมีประวัติล้างไต  กลุ่มที่อาจแสดงอาการระหว่างทำฟัน เช่น ลมชัก หอบหืด ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และกลุ่มโรคเบาหวานที่เสี่ยงแผลหายยาก         จี้ กสทช. แก้ปัญหาผู้บริโภครับผลกระทบรวม ทรู-ดีแทค         22 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายธนัช ธรรมิสกุล หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึง คณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช.         “กรณีเรียกร้องให้เร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากผู้บริโภคหลังรวม ทรู-ดีแทค รวมถึงได้นำหลักฐานผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากทุกค่ายมือถือ ระหว่างวันที่ 9 – 23 พฤศจิกายน 2566 จำนวนผู้ทำแบบสำรวจ 2,924 ราย ยื่นแก่ พลเอกกิตติ เกตุศรี ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช.เป็นตัวแทนรับหนังสือ”         ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา 5 ปัญหาที่พบมากที่สุด จากผลสำรวจมากถึงร้อย 81 หลักๆ มีดังนี้ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า สัญญาณหลุดบ่อย โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น ค่าแพ็กเกจราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก และ call center โทรติดยาก อย่างไรก็ตาม ด้านข้อเสนอแนะจากผู้บริโภคที่ทำแบบสำรวจ เช่น ขอให้ยกเลิกการควบรวมรวมธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่าง ทรู-ดีแทค เพราะหลังจากที่มีการควบรวมแล้ว ผู้บริโภคพบเจอปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีปัญหา ราคาค่าบริการแพงขึ้น แพ็คเกจไม่หลากหลาย  พร้อมยังไม่เห็นประโยชน์ใดๆ ที่ผู้บริโภคจะได้รับโดยตรงหลังจากการควบรวม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 รวบแก๊งหลอกส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง

        เดี๋ยวนี้หลายคนที่ช้อปออนไลน์มักจะเลือกซื้อจากร้านค้าที่มีบริการเก็บเงินปลายทาง เพราะไม่อยากเสี่ยงโอนเงินไปก่อนแล้วต้องมาลุ้นว่าจะได้ของชัวร์หรือตรงปกไหม แต่รู้หรือไม่ว่านี่กลับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพใช้สวมรอยหลอกให้เหยื่อจ่ายเงินรับพัสดุแบบเนียนๆ ทั้งที่ไม่ได้สั่งซื้อเลย ซึ่งปัจจุบันมีผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์แล้วจำนวนมาก         เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตำรวจไซเบอร์แกะรอยสืบสวนจากบริษัทรับส่งพัสดุแห่งหนึ่ง จนจับแก๊งหลอกส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางได้ 3 คน ที่โกดังสินค้าและบ้านพักแถวคลองหลวง ปทุมธานี ผู้ต้องหารับสารภาพว่าซื้อกล่องพัสดุที่ติดชื่อผู้รับปลายทางมาชื่อละบาท จำนวน 3,000 รายชื่อ และซื้อกล่องสินค้าแบบแพ็คสำเร็จมากล่องละ 7 บาท แต่จะติดราคาแพงๆ เก็บเงินปลายทาง จากนั้นว่าจ้างให้บริษัทขนส่งเอกชนมารับพัสดุไปส่งให้เหยื่อ โดยจะทำกันเป็นขบวนการตั้งแต่เจ้าของโรงงานผลิตกล่องพัสดุเก็บเงินปลายทางที่ใช้หลอกลวงเหยื่อ ไปจนถึงผู้ลักลอบนำรายชื่อข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายมาขายให้         มิจฉาชีพพวกนี้ได้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อมาจากหลายแหล่ง ได้แก่ เว็บไซต์เปิดรับสมัครงานปลอม ในคอมเมนต์เพจสั่งของ ในหน้าเพจร้านค้าออนไลน์ที่แจ้งการส่งสินค้า หน้ากล่องพัสดุที่ถูกทิ้งโดยไม่แกะหรือขีดฆ่าชื่อ-ที่อยู่ออกก่อน หรือซื้อมาจากบริษัทขนส่งพัสดุและบริษัทสมัครงาน          แก๊งนี้ได้ใจว่าหาเงินได้ง่าย หว่านส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางออกไปวันละ 1,000 กล่อง แต่มีผู้รับตีกลับไม่ถึง 100 กล่อง ผู้เสียหายไม่เอาผิดเพราะคิดว่ามูลค่าเงินไม่เยอะ หรือหากเอาผิดก็เป็นเรื่องยากเพราะใช้ชื่อผู้ส่ง ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ปลอมทั้งหมด ดังนั้นใครที่ตกเป็นเหยื่อควรเข้าแจ้งความเอาผิดมิจฉาชีพพวกนี้ อย่าปล่อยให้พวกหลอกลวงลอยนวลได้อีกต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหา ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำวิธีป้องกันและรับมือในกรณีนี้ว่า         1.หากไม่ได้สั่งสินค้า ให้ปฏิเสธการรับพัสดุทันที แต่หากเผลอรับเพราะลืม หรือไม่ได้แจ้งคนที่บ้านเอาไว้ ให้โทรศัพท์ติดต่อไปตามเบอร์ที่อยู่บนกล่องพัสดุนั้น หากติดต่อไม่ได้ให้สันนิษฐานว่าเป็นข้อมูลปลอม          2.ถ่ายรูปกล่องพัสดุ ที่อยู่ที่จัดส่งไว้เป็นหลักฐาน และไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือแจ้งความออนไลน์ผ่าน www.thaipoliceonline.com หากจับกุมตัวได้ก็จะส่งฟ้องศาล ซึ่งผู้เสียหายควรไปให้การในชั้นศาล เพื่อเรียกเงินชดใช้ตามจำนวนที่จ่ายไปจริงในการรับพัสดุปลายทางที่ไม่ได้สั่งนั้น           3.ผู้เสียหายที่ถูกมิจฉาชีพนำชื่อไปแปะกล่องส่งพัสดุปลายทาง สามารถฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ "PDPA"  ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ถูกหลอกเสียเงินหลักแสนว่าจะให้ของฟรีที่ไม่มีจริง!!

        การถูกล่อลวงให้ซื้อเครื่องสำอางหรือคอร์สเสริมความงามจนประชาชนต้องสูญเสียเงินมหาศาลนั้น ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแม้กับคนที่ไม่ชอบใช้เครื่องสำอางเลย เช่น คุณดาว ที่แค่เพียงเดินผ่านหน้าร้าน ก็ถูกชักจูงให้รับของฟรีให้เอาไปทดลองใช้ พอคุณดาวเผลอหลวมตัวเข้าไปนั่งภายในร้าน จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ถูกหลอกซื้อเครื่องสำอางเสียเงินไปกว่าแสนบาท          เรื่องราวนี้เริ่มเพียงแค่ตอนแรกคุณดาวถูกใจและตกลงซื้อเครื่องสำอางที่จัดโปรโมชั่นลดราคาเหลือ  1,900 บาท จึงยื่นบัตรเครดิตให้พนักงานไปรูดเป็นค่าสินค้า แต่ในระหว่างที่พนักงานร้านถือบัตรเครดิตไว้แล้ว พนักงานอีก 2 คน ก็เข้ามาเสนอคอร์สทรีตเมนท์หน้าฟรีให้อีก ‘พี่รู้มั้ย มาสก์ครั้งเดียวก็ 60,000 บาทแล้ว’ คุณดาวปฏิเสธไปหลายครั้งเพราะจะรีบไปรับลูกที่โรงเรียนแต่พนักงานงานกลับช่วยกันประคองพาคุณดาวเข้าในห้องเล็กๆ เพื่อทำทรีตเม้นท์หน้าต่อ และเพียงล้มตัวนอน ฝรั่งเจ้าของบริษัทก็ปรากฏตัวขึ้นและบอกว่า ถูกใจคุณดาวมากจนอยากให้เป็นพรีเซนเตอร์ และให้พนักงานนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของบริษัทมาวางให้คุณดาวที่ข้างเตียงมากมาย จนถึงตอนนี้ คุณดาวก็รู้สึกว่าคุ้มมากๆ เพียงเข้ามาซื้อเครื่องสำอางราคา 1,900 บาทกลับได้ทรีตเมนท์หน้าฟรี ยังจะได้เป็นพรีเซ็นเตอร์และยังได้เครื่องสำอางกลับไปใช้อีกเป็นจำนวนมากด้วย         จนเมื่อพนักงานเสนอกับคุณดาวว่า “ค่าคอร์สทำหน้า ราคา 96,000 บาท ทำหน้าได้ 12 ครั้งซึ่งตอนนี้บอสถูกใจให้ทำคอด้วยอีก 12 ครั้ง  แล้วเครื่องสำอางที่นำมาวางให้กว่า 9 รอบทั้งหมดคือให้ฟรี ใช้แล้วจะเต่งตึงอยู่ได้ 5 ปี ไม่ต้องไปใช้ตัวอื่นอีกเลย” คุณดาวจึงเริ่มรู้สึกกระอักกระอ่วนใจมากแล้วเพราะราคาสูงลิ่ว และอยากออกจากร้านแล้ว แต่เพราะพนักงานยังไม่ล้างทรีตเม้นท์บนหน้าให้ ในระหว่างนี้ยังนำเครื่องสำอางมาวางให้ฟรีเรื่อยๆ ไม่หยุด จนคุณดาวต้องปฏิเสธบอกว่า เธอเป็นป่วยโรคมะเร็งและไม่อยากเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ พนักงานก็รับประกันว่า ‘ไม่ต้องห่วง ปลอดภัยต่อผู้ป่วยมะเร็งแน่นอน และทั้งหมดนี้มีมูลค่าสูงเกือบล้านบาทแต่วันนี้ลดราคาเหลือ 96,000 บาท’ เท่านั้น  ด้วยเพราะเป็นห่วงลูกที่รอให้ไปรับที่โรงเรียนและด้วยความรำคาญจึงตอบตกลงซื้อคอร์สทรีตเมนท์ใบหน้า เพราะคิดว่าอย่างน้อยระยะเวลาให้เข้ามาใช้บริการก็ยาวนานถึง 5 ปี และยังรับประกันว่าปลอดภัย มีประสิทธิภาพไม่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์อื่นอีก         จนเมื่อกลับถึงบ้านและเห็นใบเสร็จอย่างชัดเจนว่ายอดบัตรเครดิตทั้งหมดที่พนักงานบอกว่า เป็นค่าเครื่องสำอางที่บอกว่าให้ฟรีทั้งหมดนั้นไม่ฟรีจริง ส่วนคอร์สทรีตเมนท์หน้าไม่มีรายละเอียดใดๆ ให้กลับไปใช้บริการได้เลยอีกด้วย (สัญญา 5 ปีคืออะไร)  ในท้ายใบเสร็จยังระบุว่า ‘ไม่สามารถเปลี่ยนสินค้าคืนได้’  วันรุ่งขึ้นคุณดาวจึงกลับไปที่ร้านอีกแต่ไม่พบพนักงานที่ขายของให้เลยและยังไม่สามารถติดต่อพนักงานคนใดให้รับผิดชอบได้เลยด้วย คุณดาวและสามีจึงช่วยกันสืบหาข้อมูลของบริษัทและพบว่ามีผู้เสียหายที่ถูกทำให้เข้าใจผิด ถูกยัดเยียดขายให้แบบคุณดาวจำนวนกว่า 10 ราย บางคนเป็นแพทย์ มีรายได้สูงก็ถูกหลอกขายและกดบัตรเครดิตเสียเงินไปถึงกว่า 4 แสนบาท จึงมาปรึกษาว่าตนเองและผู้ร้องรายอื่นจะสามารถทำอะไรเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องนี้คุณดาวเองได้เดินเรื่องร้องเรียนไว้กับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ด้วย เธอฝากบอกถึงผู้เสียหายรายอื่นๆ ว่า เมื่อเกิดเรื่องขึ้นให้เก็บหลักฐานการซื้อขายทุกอย่าง เก็บรักษาผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้อยู่ในสภาพคงเดิมและเข้าร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ  สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยกับบริษัท ณ ปัจจุบันคุณดาวได้ไกล่เกลี่ยกับบริษัทแล้ว แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ เพราะบริษัทไม่รับผิดชอบตามข้อเรียกร้องคุณดาวจึงร่วมกับผู้เสียหายรายอื่นๆ แต่งตั้งทนายความเพื่อสู้คดีแล้ว         “หากเดินผ่านร้านแบบนี้  ไม่อยากให้แวะเลย แม้ว่าเขาจะสร้างภาพหรูหราหรือตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่โตแล้วเราคิดว่าจะปลอดภัยไม่ใช่ มีทุกรูปแบบ  ไม่อยากให้รับของฟรี หรือ  gift voucher ฟรีใดๆ ปฏิเสธแล้วรีบเดินออกมาเลยดีที่สุด”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ระวัง “ไลฟ์ tiktok หลอกกินเงิน”

        แอพ tiktok นั้นฮิตติดลมบน มีคอนเทนต์น่าสนใจมากมาย แน่นอนคอนเทนต์ขายของก็มาด้วย เจอที่ดีก็ดีไป เจอแย่ๆ จะเสียใจเจ็บใจอย่างเช่นผู้ร้องรายนี้ ดังนั้นก่อนจะหลงคารมผู้ขาย ท่องไว้อย่ามือไวโอนเร็ว         “สวัสดี ทุกคน ผมบอสหนึ่งเรากำลังตามหาผู้โชคดีได้สิทธิ์ซื้อ iPHONE มือ 1 รุ่นล่าสุด ราคาถูกสุดๆ 499 บาท ถ้าคุณอยากได้ของดี ของถูกต้อง @ LINE มาหาเรา แจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิ์ แล้วเราจะสุ่มเลือกผู้โชคดี”         ยังไม่สิ้นเสียงบอสหนึ่ง คุณสมชายผู้เสียหายของเรา LINE ไปทันที “บอสหนึ่งแจ้งรับโปร 499 จากนั้นแป๊บเดียวมีเสียงไลน์แจ้งเตือนเข้ามา แอดมินแจ้งว่า “คุณ (คุณสมชาย) เป็นผู้โชคดีได้ iPhone 13 Pro มือ 1 มูลค่าเกือบ 4 หมื่นบาท แต่คุณจ่ายเงินแค่ 499 บาท ก็รับของได้เลย”         คุณสมชายรู้สึกดีใจมากๆ “โหย โคตรโชคดี” (เขาคิดในใจ) ที่ตนเองเป็นผู้โชคดี ดังนั้นจึงส่งข้อความ “แอดมินส่งบัญชีรับโอนมาเลยครับ” ก็คนมันดีใจมากไม่ทันคิดอะไร จ่ายแค่เงินไป 499 บาท ได้ iPhone 4 หมื่นเลยนะ ทว่าทันทีที่ส่งสลิปโอนเงินเข้าไลน์ไป อีกฝั่งก็บล็อกไลน์คุณสมชายทันควัน ติดต่อไม่ได้อีกเลย         แน่ใจแล้วว่าตนเองโดนหลอกแน่ๆ หลังจากหลงกลจากคำเชิญชวนใน วันเกิดเหตุ 1 มีนาคม 2566  ไลฟ์ tiktok บัญชีที่ชื่อว่า steamedboss (บอสหนึ่ง) ไม่คิดเลยว่าจะถูกโกงไม่รู้จะเอาเงินคืนอย่างไร จึงอยากมาขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝากเตือนใจกันไว้ อย่าโอนไว กรณีนี้ “เป็นการสุ่มรับโทรศัพท์หลอกว่าจะได้โทรศัพท์...สุดท้ายไม่ได้รับอะไรเลย พฤติการณ์แบบนี้เจตนาโกงชัดเจน เพราะบล็อกทุกช่องทางการติดต่อเข้าข่ายฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้นผู้เสียหายต้องรีบไปแจ้งความกับตำรวจ โดยต้องบอกถึงพฤติการณ์ที่บ่ายเบี่ยงของผู้ขาย ซึ่งน่าจะเป็นแก๊งมิจฉาชีพ การร้องทุกข์นี้ต้องดำเนินการภายใน 3 เดือน มิฉะนั้นคดีอาญาจะขาดอายุความไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 “เยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน” เสริมทักษะชีวิตให้เยาวชนเป็นพลเมืองมีชีวิตที่มีคุณภาพ เท่าทันภัยการเงินทางออนไลน์

        “นักเรียน ม.5 ถูกหลอกโอนเงินเพราะกลัวพ่อแม่ติดคุก”  “แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเงินเด็กน้อยวัย 10 ขวบ เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท”  หลายครั้งที่เยาวชนถูกล่อลวง  ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพสูญเสียเงินไปจำนวนมาก ในระดับประเทศปัจจุบัน เรายังกำลังเผชิญกับภาวะที่คนไทยมีหนี้สินครัวเรือนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2564 หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 14.27 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ผลการสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทยยังพบว่า คนไทยไม่มีพฤติกรรมการออม  ส่งผลให้มีฐานะทางการเงินที่เปราะบางมาก  ยิ่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเหตุร้องเรียนเรื่องบัตรเครดิต การชำระหนี้ การทวงหนี้ไม่เป็นธรรม มากที่สุดตลอดการทำงานที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย  จัด ‘โครงการเยาวชนเท่าทันทางการเงิน’ พัฒนาหลักสูตร สร้างความตระหนักรู้ทางการเงิน และเพิ่มทักษะในการบริหารจัดการการเงินให้แก่เยาวชน แล้วกว่า 30 โรงเรียน ตั้งแต่ปี  2563  ถึงปัจจุบัน           ฉลาดซื้อได้พูดคุยกับน้องเยาวชนหลายคนที่ได้เข้าอบรม โครงการเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน เสียงของพวกเขา สะท้อนกลับมาถึงมูลนิธิฯ อีกครั้งว่า การมีความรู้และทักษะด้านการเงินจะช่วยคุ้มครองเยาวชนและช่วยติดอาวุธให้พวกเขาเติบโตเป็นพลเมืองที่มีชีวิตที่มีคุณภาพเป็นผู้บริโภคที่จะสามารถรักษาสิทธิของตนเองได้ต่อไป            ด.ช. อดิสรณ์   ปรีชา  (ดัมมี่)  ชั้น ม.2/2           “ตอนแรกเห็นชื่อหลักสูตร เยาวชนเท่าทันทางการเงิน คิดว่าจะน่าเบื่อครับ  แต่พอได้มาเข้าเรียนแล้วสนุก แล้วเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรต้องรู้ด้วย เรื่องภัยการเงินออนไลน์ เป็นเรื่องใกล้ตัวผมมาก เพราะว่าคนรอบข้างหลายคนก็เจอปัญหานี้         เรื่องการออม เป็นเรื่องสำคัญมาก  เราควรสนใจ เพราะหลายๆ เรื่อง ถ้าวันนี้เราไม่สบาย เราจะทำอย่างไร  เรื่องการเงินเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนจริงๆ สิ่งที่ผมได้คิดจากการเข้าร่วมอบรม 2 วันนี้ครับ   นอกจากเรื่องการเงินแล้ว  มีความรู้เรื่องสิทธิของผู้บริโภคมากขึ้นด้วย         ฝากถึงเพื่อนเยาวชนรุ่นเดียวกันที่อาจไม่ได้มีโอกาส เข้ามาเรียนรู้ว่า   เรื่องการเงินเป็นเรื่องสำคัญ   เราอยู่ในยุคที่เรามีช่องทางที่หารายได้มากขึ้น  แต่เราก็ถูกล่อลวงได้จากหลายช่องทางได้เช่นกัน   และเราเป็นเยาวชน อายุเรายังเท่านี้  ถ้าเรามีความรู้เรื่องการเงิน รู้เท่าทันภัยออนไลน์ต่างๆ  เราจะวางแผนการเงิน รายได้ รายจ่ายได้ดีขึ้นครับ  ผมคิดว่าเป็นเรื่องนี้จะทำให้ชีวิตมีคุณภาพดีได้ ที่สำคัญ ความรู้นี้เรายังเอาไปใช้กับคนในครอบครัว พ่อแม่ของเราได้ครับ  ”           ด.ญ. พรทิพย์  ทองเปราะ  (มุก)  ชั้น ม.2/1          “เคยมี call center  โทรมาบอกว่า บัญชีหนูไปทำธุรกรรมอะไรไม่รู้ ที่มันไม่ดี หนูก็วางสายไปเลยเพราะว่ากลัวโดนหลอก เรื่องแบบนี้ เขาโทรหาใครก็ได้ เขาไม่ได้โทรหาคนมีเงิน เด็กแบบหนูก็โดนได้ แม่หนูก็โดน   นอกจากนี้ ยังเสี่ยงจากการไปกู้หนี้นอกระบบ โดนทำร้ายร่างหาย ตอนนี้ก็เห็นกันเยอะเลย         วันนี้มาเรียนหลักสูตรเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงินแล้วดีใจมาก ได้ความรู้เรื่อง การออม  การเก็บเงิน การใช้เงิน  สิทธิของผู้บริโภค   รู้เท่าทันการโกงต่างๆ มากขึ้น แล้วรู้ว่าถ้าเกิดขึ้นจะต้องทำยังไงต่อไป   นอกจากความรู้แล้ว ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน น้องในกลุ่มเดียวกัน ตอนแรกไม่รู้จักกันแต่ช่วยกันทำ  ได้มาช่วยกันคิดตลอดเลย         ฝากถึงเพื่อนวัยเดียวกัน คืออยากให้ระวังตัวไว้หน่อยพวก call center  พวกเป็นหนี้ ยืมเงินเพื่อน ไม่อยากให้ยืมเงินเพื่อนบ่อย เด็กๆ  เรามีการยืมเงินกันจริงๆ นะคะ อยากให้ระวังการใช้เงิน แล้วการวางแผนการเงินสำคัญมาก  ถ้าเรามีสิ่งที่เราอยากได้ แล้วเราวางแผนการใช้เงิน การหารายได้ดีๆ และทำจริงจัง มันเป็นไปได้ค่ะ ”         ด.ญ. อาทิตยา   เบิกสันเทียะ (ใบหยก)  ชั้น ม.1/1          “เรียนหลักสูตรเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน แล้วได้อะไรบ้าง  รู้เรื่องการออม สิทธิของผู้บริโภค เรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจให้หนูมาก คือการหารายได้ อยากรวย   เพราะครอบครัวหนูลำบาก ก็อยากให้พ่อแม่ สบาย หนูเลยทำงานมีรายได้แล้ว  หนูรับจ้างล้างห้องน้ำ มีรายได้เดือนละ 200- 300  บาท นอกจากหารายได้แบบนี้ หนูก็คิดว่า ตอนนี้ทางออนไลน์ มีหลายช่องทางที่หนูสามารถหารายได้ได้ แต่ก็ต้องระวัง เพราะมีล่อลวง ต่างๆ  ตามมาด้วย         รู้เรื่อง สิทธิผู้บริโภค ก่อนหน้านี้ หนูว่ารู้ว่าผู้บริโภคคืออะไรจากการเรียน เศรษฐศาสตร์  คือรู้แค่หลักการความหมายว่า ผู้บริโภค คือใคร   ผู้ผลิตคือใคร  แต่การเรียนรู้จากหลักสูตร ทำให้หนูเข้าใจสิทธิของผู้บริโภคเราว่าไม่ใช่แค่คนที่มาซื้อของ เรามีสิทธิที่ตามมาด้วย         รู้สึกดีใจ ที่โรงเรียนเปิดโอกาสให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ามาทำกิจกรรมภายในโรงเรียน หนูกับเพื่อนๆ และรุ่นพี่ เลยได้มาเรียนรู้ และมาทำกิจกรรมด้วยกัน ฝากบอกเพื่อนๆ  รุ่นเดียวกันว่า เราลองหันมามอง ศึกษาเรื่องที่เราอาจคิดว่ามันน่าเบื่อ ทั้งที่เราก็รู้ว่าเป็นปัญหารอบตัวเรา และเราจะได้ประโยชน์มากๆ  ลองเปิดใจ เรียนรู้ เราจะไม่โดนโลกจากข้างนอกหลอกเราได้ค่ะ”        ด.ญ. มัญฑิตา   เฮงสวัสดิ์  (แพว) ม.2/1           “หนูเป็นเด็ก แม้จะยังไม่มีรายได้ หรือหารายได้เองไม่ได้แต่หนูก็จำเป็นที่ต้องรู้เรื่องการเงิน  อนาคต เราต้องเก็บเงินไว้เพื่ออนาคต  ตอนนี้ยิ่งมีภัยออนไลน์ต่างๆ  เขายิ่งคิดว่าเด็กไม่รู้จะจัดการแก้ปัญหาอย่างไร ก็จะตกเป็นกลุ่มเป้าหมายได้ ที่ผ่านมา คนใกล้ตัวหนูก็เจอปัญหาค่ะ เสียเงินจากการสมัครงานออนไลน์  เป็นเพื่อนในห้องเรียน เคยโดนหลอก เพื่อนไปลงทุนกับงานๆ หนึ่งไป เสียค่าสมัคร 50 บาท  แต่พอเข้าไปแล้ว ไม่ได้ทุนคืนมาด้วยซ้ำ         หนูดีใจแล้ว ที่โรงเรียนได้เปิดโอกาสให้เรียนรู้เรื่องนี้  เรื่องการออมเงิน  แรงบันดาลใจที่ได้ คือ หนูอยากออมเงินให้มากขึ้น เพราะว่าเป็นคนใช้เงินฟุ่มเฟือย แล้ว หนูมีความฝัน อยากเป็นหมอจิตเวช  ยังมีอนาคตการเรียนอีกไกลที่ต้องใช้เงิน การออม การวางแผนรับ - รายจ่ายจะช่วยหนูได้ ”          ด.ช. นิรักษ์  กองกูล (ติว) ชั้น ม.2/1         “เรื่องการออม การวางแผนการเงิน มีความสำคัญมากครับ เพราะว่า เด็กและเยาวชนบางคนอาจจะไม่ได้รู้อะไรมาก อาจจะไปหลงเชื่อได้ เท่าที่ผมเคยเจอ  ญาติของผมเกือบจะถูกหลอกให้โอนเงิน แต่สุดท้ายไม่ได้โอน แต่ผมรู้สึกว่ามันใกล้ตัวพอสมควรเลยครับ         การเรียน 2 วันนี้ ได้รู้หลายๆ เรื่องที่อาจจะเคยได้ยินมาแล้วบ้าง แต่จะได้รู้เจาะลึกเข้าไปอีก  ผมรู้สึกว่า เท่าทันภัยอันตรายต่างๆ มากขึ้น เพราะผมไม่ได้มีความรู้เรื่องภัยสังคม  ภัยออนไลน์ต่างๆ  มากเท่าไหร่  ก็รู้เบื้องต้นเท่าในข่าว          ฝากถึงเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันว่าควรเข้ามาสนใจเรื่องการเงินมากขึ้นเพราะว่า เยาวชนเราอาจจะยังไม่ได้หาเงินได้เอง  ก็อยากให้รู้ เข้าใจ ว่าคนที่เราไม่รู้จักเขาจะเข้ามาล่อลวงเราอย่างไรได้บ้าง   เขามาดีหรือมาร้ายยังไง มีรูปแบบไหนได้บ้างมันขึ้นอยู่กับเราด้วยว่า จะมีความรู้ที่จะรับมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 แก็งคอลเซ็นเตอร์ระบาด เมื่อ กสทช. เชื่องช้า และผู้บริโภคต้องดูแลตัวเอง

        ‘ฉลาดซื้อ’ เคยนำเสนอเรื่องราวของ SMS หลอกลวงแพร่ระบาดสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้บริโภคมาแล้วครั้งหนึ่ง ไม่รู้ว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขไปอย่างไรบ้างเพราะทุกอย่างช่างเงียบเชียบ         ห้วงเวลาปัจจุบัน SMS หลอกลวงล้าสมัยเสียแล้ว ข่าวคราวที่นำเสนอบนหน้าสื่อ มิจฉาชีพใช้วิธีโทรศัพท์หาเหยื่อโดยตรง และโดนกันถ้วนหน้าตั้งแต่นักเล่าข่าวชื่อดัง เจ้าหน้าที่ตำรวจ จนถึงอัยการ ผู้พิพากษา         ปัจจุบัน โทรศัพท์ฉลาดแทบจะเป็นอวัยวะชิ้นหนึ่งของมนุษย์ ทุกคนจึงมีโอกาสที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงตัว พินิจพิจารณาปัญหานี้เราจะพบ 2 คำถามใหญ่ หนึ่งคือหน่วยงานรัฐซึ่งน่าจะมีกฎหมายและอำนาจจัดการที่ต้นทางหรือแกะรอยจึงไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ และสอง-มิจฉาชีพนำข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์มาจากไหนเสียงจากผู้เดือดร้อนสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพ         เอ (นามสมมติ) ร้องเรียนเข้ามาที่เพจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ว่าได้รับ SMS หลอกลวงบ่อยมากวันละ 4-5 ข้อความ มีเนื้อหาเกี่ยวกับพนันออนไลน์หรือหลอกให้กดรับเงิน ต่อมา SMS ซาลง เปลี่ยนเป็นการโทรถึงเธอโดยตรง มุขที่มิจฉาชีพใช้เป็นมุขดั้งเดิมอย่างการหลอกว่ามีพัสดุผิดกฎหมายส่งถึงหรือไม่ก็ชวนลงทุน         แน่นอนว่าตัวเธอไม่ได้หลงเชื่อ แต่ประเด็นที่เธอเป็นห่วงคือคุณตาและคุณพ่อหรือก็คือผู้สูงอายุโดยทั่วไปที่อาจหลงเชื่อ         “พ่อก็เคยได้รับเหมือนกัน ตอนนั้นอยู่ด้วยกัน พ่อก็งงว่าไม่ได้สั่งของแต่ดีเอชแอลโทรมา ลองนึกว่าถ้าเป็นคนแก่แบบคุณตาเรา อยากให้ SMS หลอกลวงหมดไปเลยดีกว่า บล็อกไปเลยได้ไหม พนันออนไลน์ หรือชวนให้กู้ยืมนี่นั่น”         ไม่นานมานี้ที่เว็บไซต์ www.change.org มีผู้ใช้รายหนึ่งชื่อ หนู ซึ่งถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงินไปถึง 4 ล้านบาท เธอได้ทำแคมเปญ ‘ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดช่องโหว่ไม่ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีที่ยืนในสังคม!’ เนื้อหาระบุว่า         “ดิฉันถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเอาเงินไป 4,016,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ดิฉันทำมาหากินและเก็บมาทั้งชีวิต ดิฉันมีอาชีพเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร เลี่ยงเรื่องการเปิดเผยเบอร์โทรศัพท์ไม่ได้ และไม่สามารถเลี่ยงไม่รับเบอร์แปลกได้ ดิฉันไม่รู้ว่าเงินทั้งชีวิตของใครจะต้องตกเป็นเหยื่อของแก๊งพวกนี้อีก ดิฉันกินข้าวทั้งน้ำตามาหลายมื้อ ยืนก็ร้อง นั่งก็ร้อง มันสุดแสนทรมานใจ ดิฉันเข้าใจความรู้สึกสูญเสียว่ามันฆ่าชีวิตคนบริสุทธิ์ได้เลย         “รอบนี้เป็นรอบที่ 4 ที่ ดิฉันถูกแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์หลอก เหมือนกับแก๊งเหล่านี้ลิสต์เอาไว้ว่าดิฉันไม่สนใจเบอร์อะไรแล้วไม่ใช้เบอร์นั้นโทรมาอีก จนถึงเบอร์ล่าสุดที่มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหาดิฉัน ในรอบนี้พวกเขาให้ดิฉันวิดิโอคอลกับชายแต่งเครื่องแบบเหมือนตำรวจที่พูดด้วยน้ำเสียงข่มขู่ ซึ่งเป็นการหลอกที่ต่างจากทุกครั้ง และแสดงให้เห็นว่าวิธีการก่อเหตุของแก๊งคอลเซ็นเตอร์พัฒนามากขึ้นแล้ว         “หลังโอนเงินแล้วดิฉันเริ่มหาข้อมูลจนพบว่านี่น่าจะเป็นการหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดิฉันจึงไปธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นธนาคารที่ดิฉันเปิดบัญชีไว้เพื่อขอให้ระงับการโอนเงินทันที แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารบอกว่าดิฉันต้องมีใบแจ้งความมาแสดง เมื่อดิฉันนำใบแจ้งความมาแสดงถึงจะอายัดได้ ธนาคารยังบอกว่าขอส่งใบแจ้งความตัวจริง (ทางไปรษณีย์) เผื่อไปตรวจสอบบัญชีของผู้ร้าย รอหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบ ส่งไปส่งมา เงินมันก็ลอยไปถึงไหนแล้ว แค่ร้องทุกข์ผ่านคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารต่างๆ ยังรอสายเป็นชั่วโมง เป็นระบบที่แย่มากจริงๆ”         ผู้จัดแคมเปญรายนี้เรียกร้อง เธอใช้คำว่า ‘ขอวอน’ ไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่า        1. ตำรวจควรเร่งจับคนรับเปิดบัญชีปลอม ถ้าไม่มี แก๊งมันก็ทำงานไม่ได้ และประชาสัมพันธ์ถึงโทษทางอาญาและอัตราปรับของการเปิดบัญชีปลอมอย่างทั่วถึง        2. ธนาคารควรให้ความร่วมมือลูกค้าและรีบอายัดบัญชี เงินเข้า-ออกปลายทางทั้งหมดของผู้เกี่ยวข้อง ดิฉันเข้าใจว่าดิฉันผิดพลาดที่โอนเงินเอง แต่ถ้ามีสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในบัญชี เช่น ลูกค้าคนนี้อยู่ๆ โอนเงินเยอะจนหมดบัญชี หรือมีบัญชีที่เงินโอนเข้าจำนวนเยอะๆ แล้วโอนออกภายในไม่กี่วินาที จนเงินในบัญชีเหลือหลักหน่วย ธนาคารควรมีมาตรการตรวจสอบไม่ใช่หรือ?        3. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมควรรวบรวมข้อมูลของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น บัญชีธนาคาร หมายเลขโทรศัพท์ และชื่อ-สกุล ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นส่วนหนึ่งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไว้เป็นฐานข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้โดยง่าย         “ดิฉันเป็นประชาชนคนหนึ่งที่อยากได้ความปลอดภัย ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใครแล้ว จึงขอให้รัฐและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดช่องโหว่ทุกอย่างที่ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำงานได้และแก้ไขขั้นตอนที่ยุ่งยากเวลาเจออาชญากรรรมนี้เพื่อปกป้องประชาชนต่อไป”         เสียงจากหนึ่งในผู้เดือดร้อนจำนวนมากที่ส่งถึงรัฐโดยตรงสามารถสะท้อนประสิทธิภาพการทำงานของรัฐได้เป็นอย่างดีกสทช. ต้องทำงานเชิงรุก         หน่วยงานหนึ่งด้านโทรคมนาคมที่ ‘ฉลาดซื้อ’ ได้เอ่ยถึงไปแล้วในสกู๊ปก่อนหน้านี้คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่น่าจะบรรเทาปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมก็ยังไม่แอคทีฟอย่างที่ควรจะเป็น         สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Collaborative Fact Checking หรือ Cofact ประเทศไทย กรรมการนโยบายสภาองค์กรผู้บริโภค และอดีต กสทช. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นงานของ กสทช. โดยตรงที่ต้องกำกับดูแลให้เกิดการบริการที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้บริโภค         เธอแสดงทัศนะว่าสิ่งที่ กสทช. ทำได้ ณ เวลานี้คือการตรวจดูกฎ กติกา และประกาศล่าสุดต่างๆ ของ กสทช. ว่ามีจุดใดที่ล้าสมัย ต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการในด้านการบังคับผู้ได้รับใบอนุญาตหรือว่าค่ายมือถือในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ เช่น การทำกลไกป้องกันตั้งแต่ต้นทางโดยให้ผู้บริโภคแสดงความจำนงไม่รับข้อความ SMS ที่ไม่พึงปรารถนา รวมถึง SMS ที่มาจากเบอร์ที่ไม่รู้จัก หรือไม่ใช้เบอร์ที่มีนิติบุคคลรองรับเป็นทางการ เช่น โรงพยาบาล ธนาคาร เป็นต้น         “แต่ตรงนี้ กสทช. อาจจะอ้างว่าต้องแก้กฎหมาย ต้องรีวิวก่อนว่ามีกฎหมายอะไรที่ยังไม่เอื้อ ทั้งในประกาศที่อยู่ในอำนาจของ กสทช. เองหรือที่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ เช่น การรับส่งสแปมข้อความที่ไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย ต้องไปดู กฎ กติกาก่อนว่ามีอะไรเป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถจะบังคับใช้ได้ ส่วนอะไรที่บังคับใช้ได้แล้ว เอกชนยังไม่ทำก็ต้องมีบทลงโทษที่เด็ดขาด”         นอกจากการจัดการแก้ไขสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว สุภิญญาเห็นว่า กสทช. ควรมีวิสัยทัศน์ทำงานเชิงรุกไปข้างหน้าโดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเช่นในต่างประเทศ เธออธิบายว่า กสทช. อาจจะทำระบบหลังบ้านให้ผู้บริโภคสามารถกดร้องเรียนเบอร์มิจฉาชีพคล้ายๆ การรีพอร์ตของโซเชียลมีเดีย โดยร่วมกับผู้ให้บริการมือถือหรือ กสทช. ทำระบบขึ้นเอง         “เวลาคนได้รับ SMS เบอร์ไม่พึงประสงค์ เบอร์มิจฉาชีพ ทำยังไง จะกดโทร ร้องเรียนได้ทันที โดยแจ้งเบอร์นั้นไปที่ Database ของรัฐ มันเป็นข้อมูลหลังบ้าน เป็น Data Center แล้ว กสทช. ก็ประมวลข้อมูล วิเคราะห์ โดยใช้ AI หรือใช้คน และหาที่มาว่าต้นตอมาจากไหน จะได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไข เช่น ให้ตำรวจไปดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อ ในขั้นนี้อาจทำงานร่วมกับตำรวจก็ได้         “ให้ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนเข้าสู่ระบบ สมมติเบอร์นี้มีคนร้องเรียนเกินพันหรือหมื่น เวลาเขาโทรไปเบอร์ใครจะได้ขึ้นเตือนอัตโนมัติได้ว่าเบอร์นี้ให้ระวัง เป็นมิจฉาชีพ ซึ่งตอนนี้ประชาชนก็สามารถดาวน์โหลดแอพฯ Whoscall มาทำลักษณะนี้ได้ซึ่งเป็นของเอกชน ประเด็นคือทำไมภาครัฐไม่ทำเอง โดยเอาข้อมูลจากหลังบ้านตรงนั้นไปวิเคราะห์เพื่อหาทางป้องกันแก้ไขต่อไป เพราะว่าคนที่มีฐานข้อมูลเบอร์โทรมากที่สุดคือค่ายมือถือและ กสทช.”         การนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้เกิด        1. การบูรณาการการทำงาน        2. ทำให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที และ        3. สร้างช่องทางให้ประชาชนสามารถร้องเรียนได้อย่างรวดเร็ว         “ไม่ใช่พอถูกมิจฉาชีพโทรมา ต้องวางหู ต้องโทรไป 1200 กสทช. รอนาน แล้วต้องส่งเลขที่บัตรประชาชน ต้องให้รายละเอียด จากนั้นโทรไปธนาคาร จากนั้นโทรไปสถานีตำรวจ ต้องโทรไปนั่นไปนี่ มันไม่เวิร์ค มันควรต้องมีการทำระบบ One Stop Service มีการบันทึกหลักฐาน แจ้งร้องเรียน โดยที่ตัวตนของผู้ร้องเรียนก็ผูกกับเบอร์มือถืออยู่แล้ว มันก็ไม่จำเป็นต้องใช้บัตรประชาชนเหมือนที่ต้องทำทุกวันนี้”         สุภิญญาย้ำว่า กสทช. ควรทำงานเชิงรุกเพราะมีศักยภาพที่จะทำจุดนี้ได้ เงินกองทุนที่เก็บจากผู้ให้บริการเครือข่ายควรนำมาจัดทำระบบดังกล่าว นอกเหนือจากการปรับปรุงกฎหมายและกำหนดบทลงโทษให้ทันสมัยขึ้นจึงจะรับมือมิจฉาชีพยุค 5G ได้ เธอย้ำว่าปัจจุบันการจัดสรรคลื่นทำไปมากแล้ว กสทช. ควรเน้นบทบาทการกำกับดูแลให้มากขึ้น         อีกส่วนที่เป็นอำนาจ กสทช. โดยตรงต่อไปคือการกำกับดูแลไม่ให้ฐานข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลไปสู่ มิจฉาชีพ ซึ่งตรงนี้สามารถใช้เทคโนโลยีตรวจสอบได้และต้องสร้างระบบตรวจสอลผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเป็นระยะ         การทำงานของ กสทช. ที่ผ่านมามีกระบวนการค่อนข้างล่าช้า เน้นตัวบทกฎหมาย ทั้งที่ตนเองมีอำนาจและทรัพยากรในมือให้กระตุ้นการทำงานหรือลงโทษผู้ให้บริการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นบทบาทที่หายไปของ กสทช.สิทธิของผู้บริโภคและ PDPA ในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล         อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้บริโภคควรรู้ซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลคือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ (ถ้าไม่ถูกเลื่อนออกไปอีก) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ควบคุมและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคและไม่นำไปใช้นอกเหนือขอบเขตของความยินยอมและสัญญา (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทสัมภาษณ์ ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์: ทำความรู้จักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก่อนใช้จริง ฉลาดซื้อ|นิตยสารออนไลน์ - ฉบับที่-252-ผศ.ศุภวัชร์-มาลานนท์:-ทำความ... (chaladsue.com) )         ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์ จากบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวในเชิงแนะนำว่า         “ผมเชื่อว่าพอกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับจริงๆ พวก Direct Marketing จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบในแง่ที่ว่า การทำงานจะต้องมีขั้นตอนกระบวนการมากขึ้น อย่างทุกวันนี้เวลาใครโทรมาขายของกับผม ผมจะถามว่าคุณเอาข้อมูลผมมาจากไหน สอง          ผมจะบอกว่าผมไม่สนใจสินค้าและบริการนี้ กรุณาถอดรายชื่อผมออกจากบัญชีลูกค้าหรือบัญชีคนที่คุณจะติดต่อ อันนี้คือวิธีการที่ผมตอบไปกับคนที่โทรมาขายของ         “ถ้ากฎหมาย PDPA ใช้บังคับ หลักการประมวลผลต้องมีฐานทางกฎหมาย คนที่โทรมาต้องตอบได้ว่าเขามีสิทธิอะไรถึงเอาข้อมูลเรามาใช้ เราตั้งคำถามได้ทันทีเลยว่าเอาข้อมูลของเรามาจากไหน ทุกวันนี้ธนาคารกับค่ายมือถือเขาใส่ใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะรู้แล้วว่าการทำ Direct Marketing มีข้อจำกัด เขาจะทำอย่างระมัดระวัง คราวนี้ก็ยังอาจจะมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะยังไม่รับรู้หรือตระหนักมากนัก และอาจจะต้องให้เวลาเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับภาคธุรกิจบางส่วน”         เมื่อกฎหมายบังคับใช้เต็มรูปแบบ ผู้บริโภคสามารถตั้งคำถามกับทุกองค์กรได้ว่านำข้อมูลส่วนตัวของตนมาใช้ได้อย่างไร เอามาจากไหน และมีสิทธิให้องค์กรนั้นๆ ยุติการประมวลผลและลบข้อมูลของตน         นอกจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ PDPA แล้ว การรวมตัวกันของภาคประชาสังคมเป็นชุมชนคอยย้ำเตือน สอดส่อง ทำระบบร้องเรียน และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้บริโภคกับหน่วยงานรัฐก็น่าจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาได้         สุดท้ายแล้ว ปัญหานี้ยังเชื่อมโยงกับ Technology Literacy หรือการรู้เท่าทันเทคโนโลยีและ Cyber Literacy หรือการรู้เท่าทันด้านไซเบอร์ของผู้ใช้ที่ต้องหมั่นเรียนรู้วิธีใช้เทคโนโลยี การตั้งค่าอุปกรณ์ การทำความเข้าใจลักษณะสัญญาก่อนคลิก และอื่นๆ         อีกหนทางหนึ่งที่น่าจะส่งผลดีและป้องกันได้คือชะลอชีวิตให้ช้าลงก่อนจะกดปุ่ม 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 SMS หลอกลวง’ และโลกดิจิตอลในมือผู้บริโภค

317 ล้านบาทคือมูลค่าความเสียหายจาก SMS หลอกลวงต่างๆ 131 Sender Name ที่ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) แถลงร่วมกันเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564        เป็นตัวเลขไม่น้อย แต่เชื่อเถอะว่ามูลค่าความเสียหายจริงที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้สูงกว่าหลายเท่า                  ปัญหา SMS หลอกลวงไม่ใช่เพิ่งเกิด มันวิวัฒนาการเรื่อยมาตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แค่คุณเผลอคลิกลิงค์แปลกที่ปรากฏในกล่องข้อความ ข้อมูลส่วนบุคคลของคุณก็สามารถถูกแฮ็กได้         ถามว่านี่เป็นความรับผิดชอบของใคร ถ้าคำตอบของคุณคือผู้กำกับดูแลและผู้ให้บริการเครือข่าย คำตอบของคุณไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูก เพราะเอาเข้าจริงเรื่องนี้มีผู้เล่น 4 ฝ่ายที่นอกจากจะมี 2 รายชื่อแรกที่กล่าวไปแล้ว ยังมีผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและผู้ใช้        ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์บอกว่าคนที่มีบทบาทมากที่สุดก็คือผู้ใช้หรือตัวคุณนั่นเอง ความเดือดร้อนของผู้บริโภค         SMS หลอกลวงมาในหลายรูปแบบ เช่น การแอบอ้างธนาคาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปรษณีย์ แอปกู้เงิน ไปจนถึงเว็บการพนัน เว็บที่มีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เรียกร้องให้คุณโอนเงินกลับไปไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่ก็พยายามล่อหลอกความอยากรู้อยากเห็น ความโลภ หรือใช้ความเดือดร้อนให้คุณคลิกลิงค์เข้าไปก่อนจะตกเป็นเหยื่อในที่สุด         “SMS ปล่อยกู้ก็มีบางคนลองกู้แต่เงินที่ได้ก็ไม่ครบ เมื่อคลิกลิงค์มันจะให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น และจะมีวิธีให้ผู้ใช้ลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบสินเชื่อ บางคนก็โดนหลอกว่าถ้าลงทะเบียนผิดต้องปลดล็อคช่วยโอนเงินมาเพื่อปลดล็อค ประเด็นคือพอสมัครไปมันจะให้เราอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ พอกู้เงินเสร็จก็จะมีคนโทรเข้าไปบอกคนอื่นว่าเราเป็นหนี้หรือไปทวงหนี้กับคนอื่น หรือบางทีก็เอารูปผู้กู้ เนื่องจากตอนที่กู้ต้องส่งรูปบัตรประชาชนให้ มันก็เอาไปขู่” นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว         ในมุมของนฤมล กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแลหลักดูจะย่อหย่อนและเชื่องช้ากับหน้าที่ส่วนนี้ สิ่งที่เธอเห็นว่า กสทช. ควรทำและสามารถทำได้ทันทีคือการสั่งผู้ประกอบธุรกิจกิจการโทรคมนาคมบล็อกไม่ให้มิจฉาชีพเข้าถึงโทรศัพท์ของผู้รับได้ ต้องสร้างระบบที่ผู้บริโภคต้องให้ความยินยอมก่อน ไม่ใช่ให้ค่ายโทรศัพท์มือถือนำเบอร์ไปใช้ทำธุรกิจหรือส่งให้ผู้ผลิต Content Provider อื่นๆ         กสทช. ควรบังคับใช้อย่างจริงจังตามอำนาจที่ตนเองมีสั่งปรับค่ายมือถือ มิใช่ปล่อยให้ผู้เสียหายเป็นฝ่ายร้องเรียนไม่จบสิ้น         “แต่ก่อน กสทช. ออกหมายเลขดอกจัน 137 เพื่อยกเลิกข้อความ” นฤมล เล่าถึงปัญหาที่ไม่ถูกแก้ไข “แต่สักพักก็กลับมาอีก เป็นภาระของเราหรือเปล่า มันแก้ปัญหาไม่ได้ก็ร้องเรียน กสทช. ก็จัดการแค่ไกล่เกลี่ย ทั้งที่บางคนถูกละเมิดสิทธิ์เอาข้อมูลเขาไปใช้ทำให้เสียหาย หรือเอาข้อมูลของเขาไปหลอกลวงคนอื่นอีกที”         แต่เรื่องนี้ซับซ้อนกว่าที่คิด Business Model ของการส่ง SMS         นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า เพราะตัวละครมีหลายชั้นการบล็อกข้อความจึงไม่ง่าย เขายกตัวอย่างว่ามีการหารือกับค่ายมือถือเรื่องนี้ ปรากฏว่ามีผู้ใช้บริการไม่ได้รับหมายเลข OTP ที่ใช้เป็นรหัสผ่านจากหน่วยธุรกิจต่างๆ ติดร่างแหด้วย การเข้าใจประเด็นนี้ เขาบอกว่าต้องเข้าใจ Business Model ของการส่ง SMS         ผู้ให้บริการโทรคมนาคมขาย SMS 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือขายเหมาให้แก่หน่วยธุรกิจที่นำไปใช้งานโดยตรง เช่น ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า โรงแรม แล้วธุรกิจเหล่านี้จะทำการส่ง SMS ออกไป         รูปแบบที่ 2 คือการขายเหมาผ่านคนกลางซึ่งต้องมีใบอนุญาตจาก กสทช. ตัวอย่างเช่น บริษัทเอซื้อ SMS เหมาจำนวน 50,000 ข้อความ เพื่อขายต่อให้แก่หน่วยธุรกิจอื่นๆ เช่น บริษัทบีซื้อ SMS 10,000 ข้อความ นอกจากบริษัทเอจะขายให้แล้วยังบริการส่งข้อความให้เสร็จสรรพ จุดนี้เองที่มิจฉาชีพสอดแทรกเข้ามา         “เขา (ผู้ที่รับซื้อเหมาไปขายต่อ) บอกว่าจริงๆ แล้วเขาไม่รู้ว่าข้อความที่ส่งมาหลอกลวงหรือเปล่าเพราะโดยหลักแล้วมันเหมือนจดหมาย เขาทำหน้าที่เป็นแค่ไปรษณีย์ ไม่มีอำนาจเปิดซองอ่านข้อความ ตอนนี้ปัญหาเกิดขึ้นอีกชั้นหนึ่งคือคนที่ซื้อเหมามาขายต่ออาจจะไม่ได้ขายกับลูกค้าโดยตรง แต่มีมือสามมือสี่มาซื้อต่อซึ่งพวกนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้ใบอนุญาตของ กสทช. พวกมือสามมือสี่ก็ยิ่งไม่ต้องกรองลูกค้าเพราะกำไรมาจากการขายอย่างเดียว จะขายมิจฉาชีพก็ไม่สน หลักการเดียวกันเขาจะอธิบายว่าข้อความนั้นเขาไม่รู้ว่าเป็นมิจฉาชีพเพราะเขาเปิดไม่ได้มีหน้าที่แค่อำนวยความสะดวกในการส่ง ปัญหามันก็เลยยิ่งแก้ยากขึ้นระดับหนึ่ง” นพ.ประวิทย์ อธิบาย หลายหน่วยงาน หลายกฎหมาย หลายขั้นตอน         เรื่องหน่วยงานกำกับดูแลก็ทำให้การแก้ปัญหาไม่เป็นเอกภาพ นพ.ประวิทย์ กล่าวยอมรับว่า หน้าที่ของ กสทช. จริงๆ คือรับหน้าเสื่อผู้บริโภคและการจัดการกับผู้ให้บริการเครือข่าย รวมถึงผู้ให้บริการลำดับถัดไป ไม่มีอำนาจดูแลเนื้อหาในส่วนโทรคมนาคม        กรณีแอปเงินกู้หลอกลวงหรือคิดดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ส่วนนี้อยู่ในความดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย         กรณี SMS ที่หลอกให้คลิกลิงค์แล้วถูกแฮ็กข้อมูล ส่วนนี้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ซึ่งมีกระทรวงดิจิตอลดูแลอยู่         นอกจากนี้ การเอาผิดมิจฉาชีพก็ยังติดขัดในแง่กระบวนการทางกฎหมายที่ต้องมีเจ้าทุกข์ร้องเรียน การค้นหาต้นทาง SMS สามารถทำได้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีได้ต้องมีผู้เสียหายมาแจ้งความ ซึ่งกรณี SMS หลอกลวงส่วนใหญ่มีการร้องเรียน แต่ไม่มีการแจ้งความ         “เพราะไม่รู้ว่าแจ้งความแล้วจะได้อะไรขึ้นมา ยกตัวอย่างเป็น SMS หลอกลวงว่าเป็นธนาคาร จริงๆธนาคารนั้นต้องเป็นผู้เสียหายเพราะถูกแอบอ้างชื่อปรากฏว่าธนาคารก็ไม่ยอมเป็นผู้เสียหายมาแจ้งความ เพราะถ้าแจ้งความจะเป็นภาระต้องไปดำเนินคดีต่อและเสียภาพลักษณ์ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเสียความมั่นใจ ธนาคารจึงทำไม่รู้ไม่เห็น ทำเรื่องให้เงียบที่สุด”         ยิ่งไม่ต้องพูดถึงกรณีผู้เสียหายเป็นผู้บริโภครายบุคคล ซึ่งการเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายมีต้นทุนสูงเกินกว่าจะยอมรับ             “ดังนั้น ปัญหา SMS จึงต้องมานั่งวิเคราะห์ว่ามีกี่แบบเพราะแต่ละแบบมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เหมือนกัน” นพ.ประวิทย์ กล่าว หนทางออก         อ่านแล้วเหมือนไม่มีหวัง ก็ไม่เชิง มีมาตรการบางอย่างที่ กสทช. ทำได้เพื่อป้องปรามและป้องกัน นพ.ประวิทย์ บอกว่า         “หนึ่งใครที่ขายต่อ SMS ต้องขออนุญาตทุกคน และสองกำหนด ID ผู้ส่งหรือ ID Sender ต้องมีการลงทะเบียนกลาง ถ้าใครจะมาส่งในนามของธนาคารต้องมีเอกสารหลักฐานถูกต้อง ไม่ใช่เหมือนตอนนี้ที่ใครจะตั้งอะไรก็ได้ ดังนั้น มิจฉาชีพก็ไปซื้อจากค่ายนี้ตั้งชื่อหนึ่ง ไปซื้อจากอีกค่ายก็ตั้งอีกชื่อหนึ่ง บล็อกชื่อหนึ่งมันก็ยังโผล่มาอยู่ดี    “ถ้าเราจัดการเรื่อง ID ของผู้ส่งได้ต่อไปมิจฉาชีพก็จะสวมรอยไม่ได้หรือส่งมาก็จะถูกบล็อก ID ของผู้ส่งนี้ก็จะหายไป พอรู้ว่า ID นี้ส่ง SMS หลอกลวงค่ายมือถือก็บล็อกไม่ให้ส่ง ถ้าจะขอ ID ผู้ส่งใหม่ก็ต้องไปพิสูจน์กันใหม่ มีการยืนยันตัวตน ถ้าทำระบบนี้สุดท้ายตำรวจจะจับได้เพราะขึ้นทะเบียนไว้หมดแล้วว่าใครส่ง แต่ตอนนี้ ID ผู้ส่งเป็นเสรีภาพอยากจะใช้ชื่ออะไรค่ายไหนก็ได้ ถ้าทำlv’ข้อนี้ผมคิดว่าปัญหาจะลดลงไปส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็คือเรื่องการดำเนินคดี ประสานกับผู้เสียหายอาจจะต้องมีการอำนวยความสะดวกให้”        ย้อนกลับไปที่นฤมล เธอเรียกร้องการแก้ปัญหา 3 ข้อ ได้แก่        1. กสทช. ต้องตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจและมีคำสั่งให้ทำเอกสารให้ผู้บริโภคยินยอมในการรับส่งข้อมูล         2. การบังคับใช้กฎหมายของ กสทช. ต้องทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่รอให้มีเรื่องร้องเรียนแล้วจึงบังคับใช้กฎหมาย        3. บังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562         “พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลจะทำให้ทาง Operator และ Content Providers ทั้งหลายรวมทั้งร้านค้าออนไลน์มีความระแวดระวังต่อข้อมูลของลูกค้ามากขึ้นในการที่จะเอาไปให้ Third Party ทำธุรกิจหรือทำ Big Data Analytics  หรือการส่งโปรโมชั่นการขาย” ปริญญา หอมเอนก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าว         หัวใจหลักของกฎหมายฉบับนี้ก็คือการที่หน่วยธุรกิจจะนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ทำธุรกิจหรือให้แก่หน่วยธุรกิจอื่นจะต้องได้รับความยินยอม (Consent) จากเจ้าของข้อมูลเสียก่อน มิฉะนั้นจะถือว่าผู้ที่นำข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมกระทำผิดกฎหมาย         ปริญญา ย้ำด้วยว่าเจ้าของข้อมูลมีสิทธิที่จะให้หรือไม่ให้ก็ได้ หน่วยธุรกิจไม่สามารถกำหนดว่าต้องยินยอมเพียงอย่างเดียว         พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 จึงเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหา SMS หลอกลวง อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูการบังคับใช้และเจตจำนงทางการเมืองของรัฐด้วยว่าจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองหรือเพื่อความมั่นคงของฝ่ายรัฐ Digital Literacy เพราะการควบคุมอยู่ในมือผู้ใช้         ดังที่กล่าวไปตอนต้น ปัญหา SMS หลอกลวงมีผู้เล่น 4 ฝ่าย เราจะเก็บผู้ใช้ไว้หลังสุด ตอนนี้มาดูกันก่อนว่าผู้เล่น 3 ฝ่ายมีบทบาทหน้าที่อย่างไร ปริญญา อธิบายตัวอย่างว่า         หน้าที่ของผู้ผลิตคือเปิด Default หรือค่าตั้งต้นทุกอย่างไว้เพื่อให้ผู้ใช้ปิดเองว่าต้องการกรองข้อมูลใดให้เข้ามาหรือไม่ หรือผู้ผลิตร่วมมือกับ Third Party ในการกลั่นกรองสแปม         หน้าที่ของผู้ให้บริการเครือข่ายซึ่งมีเทคโนโลยีที่ทำให้รู้ว่าแหล่งที่มาของสแปมมาจากที่ไหน ทำให้สามารถบล็อกจากแหล่งที่มาได้เลย และขึ้นเป็น IP Blacklist ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการเครือข่ายที่ทำได้         หน้าที่ของผู้กำกับดูแลอาจออกกฎว่าถ้ามี SMS สแปม ผู้ให้บริการเครือข่ายต้องลงทุนใช้เทคโนโลยีอะไรบ้างในการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน         แต่ถึงที่สุดแล้ว ปริญญากล่าวปัญหา SMS หลอกลวงไม่มีทางแก้ได้แบบหมดจด 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเมื่อใดที่ทำแบบนั้นหมายความว่า SMS ทั่วไปจะถูกบล็อกด้วย         “ผู้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ วันนี้ผู้ใช้โทรศัพท์สามารถควบคุมได้เกินกว่าครึ่ง แต่เราไม่เคยรู้ก็เลยคิดว่าเป็นหน้าที่ของคนอื่น ต้องเข้าใจว่าพลังอำนาจในการควบคุมกลับมาอยู่ในฝั่งผู้บริโภคหรือผู้ใช้ ผู้ใช้ต้องรู้ว่าตนเองมีสิทธิ์ ต้องรู้ว่าอำนาจในการควบคุมทุกอย่างอยู่ที่ตนเอง ประการที่สองคือเมื่อตอบตกลงไปแล้วสามารถเปลี่ยนได้”         ปริญญาเน้นย้ำกลับไปที่ประเด็น Cyber Literacy หรือ Digital Literacy หรือความรู้เท่าทันในเทคโนโลยีดิจิตอลของผู้บริโภคที่ต้องเรียนรู้และเพิ่มทักษะด้านนี้ติดตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือว่ามีความสำคัญยิ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่อง SMS หลอกลวงเท่านั้น         ส่วนคำแนะนำเบื้องต้นที่ปฏิบัติได้ทันที นฤมลบอกว่าถ้าได้รับข้อความแปลกจากเบอร์ที่ไม่รู้ อย่าคลิกเข้าไปอ่าน ลบ และบล็อกเบอร์นั้นทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ระวัง! SMS ชวนหารายได้เสริมแบบใหม่ สูญเงินเกือบ 3 แสน

        “สวัสดี เรามาจากกระทรวงพาณิชย์ของ shopee เราขอเชิญคุณทำงานเสริมที่บ้าน หาเงินง่ายๆ วันละ 3,000 บาทด้วยมือถือ แล้วเงินเดือนออกวันเดียวกัน สนใจสมัครแอดไลน์มาได้เลย ID:863690”         นี่เป็นข้อความ SMS หลอกลวงในรูปแบบใหม่อีกแล้ว หากใครได้รับละก็ แนะนำว่าอย่าหลงเชื่อและให้ลบทิ้งไปเลย ไม่อย่างนั้นคุณอาจต้องสูญเงินแสนเหมือนอย่างคุณพรรณีก็เป็นได้         เมื่อปลายปี 2564 คุณพรรณีได้รับข้อความ SMS เชิญชวนนี้ก็สนใจ เธอจึงแอดไลน์ไอดีนั้นไป ปรากฏข้อความขึ้นว่า ”สวัสดีฉันชื่อเทสซ่า คุณมาสมัครงานใช่หรือไม่?” แล้วแนะนำว่าเป็นแพลตฟอร์มของ shopee ต้องการพนักงานจำนวนมาก เพื่อช่วยผู้ค้าเพิ่มปริมาณการทำธุรกรรม พร้อมกับส่งลิงค์มาให้ลงทะเบียน เธอกรอกชื่อ-สกุล เบอร์ติดต่อ และกำหนดรหัสผ่านลงไป จากนั้นก็ได้รับบัญชีเพื่อทำภารกิจ งานที่ว่านี้ก็คือ การกดคู่สินค้าในแอปพลิเคชั่น เพื่อรับกำไร 7% จากราคาสินค้าต่อชิ้นที่จับคู่ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าเธอต้องเติมเงินก่อนเริ่มทำภารกิจ โดยโอนเข้าบัญชีของบุคคลหนึ่ง (ชื่อบัญชีนายชัยศักดิ์ เสาวิบูลย์ ) เมื่อทำภารกิจเสร็จสิ้นก็จะถอนเงินจากบัญชีได้         ว้าว! เพียงครั้งแรกก็ได้กำไรมาเหนาะๆ เกือบ 300 บาท เมื่อเห็นว่าทำง่ายได้เงินจริง เธอจึงเติมเงินเพื่อทำภารกิจต่อ แต่ครั้งนี้แอดมินแจ้งเงื่อนไขใหม่ว่าจะต้องทำภารกิจทั้งหมด 30 ด่านก่อน ถึงจะถอนเงินจากบัญชีได้ เธอก็ทำตามนั้นโดยได้โอนเงินไปรวมทั้งสิ้น 279,607.49 บาท แต่หลังจากจับคู่สินค้าครบ 30 ภารกิจแล้ว เธอกลับถอนเงินออกมาไม่ได้ ครั้นสอบถามไป แอดมินก็แจ้งว่าเธออาจกดลิงค์ผิด ดังนั้นต้องทำเพิ่มอีก 20 ภารกิจถึงจะถอนเงินได้ เธอคิดว่าน่าจะไม่ชอบมาพากลซะแล้ว จึงไม่ได้ทำตามเงื่อนไขใหม่นี้ หลังจากนั้นแอดมินไลน์ก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆไปเลย คุณพรรณีเป็นกังวลมากจึงขอความช่วยเหลือมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิฯ แนะนำให้คุณพรรณีรีบไปแจ้งความ โดยรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกรรมนี้ทั้งหมด ได้แก่ หลักฐานข้อความสนทนากันในไลน์ สลิปการโอนเงิน โดยในสลิปจะมีชื่อบุคคลที่รับโอนเงิน ซึ่งข้อมูลตรงนี้สามารถให้ตำรวจเรียกบุคคลดังกล่าวมาพบ และอาจขอให้ตำรวจทำหนังสือถึงธนาคารให้ระงับบัญชีดังกล่าวได้         อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อกลลวงจาก SMS ในลักษณะที่ต้องโอนเงินไปให้ก่อนเด็ดขาด เพราะในที่สุดแล้วก็จะได้ไม่คุ้มเสีย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม

10 อันดับรูปแบบการหลอกลวงทางออนไลน์ ปี 2564 เฟซบุ๊กถูกร้องสูงสุด        10 ตุลาคม 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินการสืบสวนเอาผิดมิจฉาชีพออนไลน์ ในคดีฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชน พบว่า ในรอบ 10 เดือนมีร้องเรียนผ่านสายด่วนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวตั้งแต่เดือน มกราคม – ตุลาคม 2564 โดยส่วนมากเจอกลลวงหลอก ดังนี้ 1.หลอกโอนเงิน ไม่มีสินค้าส่งจริง 2. สินค้าไม่ตรงตามโฆษณา  3.จ่ายซื้อแบรนด์เนมแท้ แต่ได้ของปลอม 4.รับหิ้วของ 5.หลอกให้เซ็นรับพัสดุผิดกฎหมาย 6.ได้รับของชำรุดเสียหาย 7.หลอกซื้อลอตเตอรี่ออนไลน์ 8.หลอกเช่าพระบูชา 9.ตุ๋นขายแบบผ่อนชำระ 10.หลอกขายไม่ตรงรูป โดยสัดส่วนจากการถูกหลอกขายออนไลน์จากทางเฟซบุ๊ก มีสูงสุดคิดเป็น 82.4% ตามด้วยเว็บไซต์ 4.6% อินสตาแกรม 4.3% และพบว่าข้อมูลการถูกหลอกขายออนไลน์เพิ่มจากปีที่แล้วเป็นเฉลี่ย 2,221 ครั้ง ต่อเดือน         การกระทำดังกล่าวข้างต้นเข้าข่ายความผิดฉ้อโกงต่อประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และทั้งเป็นความผิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 11 อีกด้วย กรมปศุสัตว์แจ้งนมโรงเรียนห้ามซื้อขาย        จากกรณีที่มีกระแสดราม่าในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการโพสต์ขายนมโรงเรียน น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ได้เปิดเผยว่า ห้ามจำหน่ายนมโรงเรียนนอกโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ทุกกรณี ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2564 หมวด 2 ข้อ 9 ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ โดยระบุว่า ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ ต้องผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และต้องจำหน่ายเฉพาะภายในประเทศไทยเท่านั้น หากนำมาจำหน่ายนอกเหนือถือว่าเป็นการกระผิด มีโทษถูกตัดสิทธิการจำหน่ายในส่วนที่เหลือในปีการศึกษานั้น หากพบเป็นการทุจริตของหน่วยงานราชการเอง จะต้องรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยจะมีโทษทั้งทางวินัยและอาญาขั้นร้ายแรงเด็ดขาด สั่งปิด “บริษัท เอเชียประกันภัย 1950”        15  ตุลาคม 2564  คปภ.ได้มีคำสั่งนายทะเบียนเพิกถอนประกอบกิจการ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า มีคำสั่งนายทะเบียนปิดบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) จากการตรวจสอบของทาง คปภ.ได้ตรวจสอบสถานะทางการเงินของบริษัทและได้มีคำสั่งหยุดรับประกันภัยชั่วคราว เนื่องจากพบว่า บริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน โดยระบุ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีหนี้สินติดลบ 1,543 ล้านบาท จากปัญหามีผู้ติดเชื้อสูงโควิด-19 ขึ้นต่อเนื่อง จนกระทบต่อสภาพคล่องและมีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายจำนวนมาก ทำให้บริษัทไม่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจวินาศภัยและยังฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ จึงเพิกถอนใบอนุญาต ให้มีผลวันที่ 15 ตุลาคม 2564 โดยผู้เอาประกันจะได้รับความช่วยเหลือและคุ้มครอง จากกองทุนประกันวินาศภัยทันที โดยมีสมาชิก 13 บริษัทประกัน จะรับโอนกรมธรรม์ที่ยังไม่หมดอายุทุกกรมธรรม์ และหากผู้เอาประกันภัยต้องการยกเลิกกรมธรรม์ ทางกองทุนประกันวินาศภัย จะเข้ามาช่วยเหลือและคุ้มครองในการรับค่าสินไหมและค่าเบี้ยคืน แพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยค้านดีอีเอสดึงบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย        จากกรณีภาคเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทยและกลุ่ม ECST ที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าและแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “มนุษย์ควัน”  เข้าพบนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหารือแนวทางผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าให้จำหน่ายได้ตามกฎหมายนั้น ทางนายชัยวุฒิ บอกว่า ได้กำลังศึกษาข้อกฎหมายเพื่อดึงบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้องตามกฎหมายและมีประเด็นติดขัดเรื่องอะไรบ้าง ต่อมาทางแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยจึงได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่าคณะแพทย์จากราชวิทยาลัย 14 แห่ง ขอชี้แจงข้อมูลดังกล่าวพร้อมขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาเรื่องที่ รมว.ดีอีเอส เสนอ และกรณีที่อ้างว่ามี 67 ประเทศ อนุญาตนั้น ขอให้กลับไปทบทวนคำอนุญาตของแต่ละประเทศ ว่ามีข้อแม้และข้อบ่งชี้ในการใช้ทั้งสิ้น ไม่ใช่ขายได้อย่างอิสระ ด้วยคำนึงเหตุผลที่ว่าประเทศเหล่านั้นต้องการปกป้องสุขภาพของประชาชนของเขาด้วยกระบวนการ “ป้องกัน ดีกว่าแก้” มพบ. เร่งกระทรวงดิจิทัลออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศ         จากกรณีที่มีผู้บริโภคกว่า 10,700 ราย ได้รับความเสียหายจากการที่เงินหายจากบัญชีโดยไม่ทราบสาเหตุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเร่งรัดให้กระทรวงดิจิทัล ออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ ซึ่งมีสาเหตุจากที่แบงก์ชาติได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลข้อมูลของระบบธนาคาร แต่เกิดจากมิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตร และนำไปสวมรอยทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศที่ไม่มีการใช้ One Time Password (OTP) และออกมาตรการแก้ไข 4 ข้อในวันที่ 19 ตุลาคม 2564 นั้น         ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า เครื่องรูดบัตร EDC หรือเครื่องแสกนจ่ายโดยแอปพลิเคชันที่ผูกกับบัญชีธนาคาร จะมีการยืนยันตัวตนด้วยการเซ็นสลิป หรือใส่รหัสผ่าน แต่การทำระบบธุรกรรมออนไลน์ที่ใช้การผูกบัญชี ใช้แค่เลขบัตรและเลขหลังบัตรเท่านั้น ซึ่งธนาคารอาจจะต้องไปตรวจสอบว่าข้อมูลรั่วไหลได้อย่างไร  เนื่องจากผู้เสียหายบางรายไม่ได้ผูกบัญชีกับร้านค้าออนไลน์ และรัฐต้องตอบคำถามว่าจะออกมาตรการจัดการปัญหาเรื่องนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไร หากปัญหาเกิดจากแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศตามที่หน่วยงานรัฐชี้แจง แสดงว่ารัฐยังไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและควบคุมแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ทำธุรกิจออนไลน์ในพื้นที่ประเทศไทย อาจทำให้เกิดปัญหาแบบเดิมในอนาคต หากไม่มีกฎหมายมาควบคุมธุรกิจและคุ้มครองผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเร่งออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศและคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อสินค้าออนไลน์ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องระบบข้อมูลของผู้บริโภคที่รั่วไหลออกไปต่างประเทศและสามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ที่ทำธุรกิจออนไลน์ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 หลอก หลอก หลอก

        ในขณะที่สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ยังไม่ลดลง สถานการณ์การหลอกหากินของกลุ่มมิจฉาชีพ บนความหวาดกลัวจะติดเชื้อของประชาชนก็ไม่ลดลงเช่นกัน มีอะไรๆ มาพวกนี้ก็ช่างหาเรื่องมาหลอกได้ทุกเรื่อง         หลอกขายสมุนไพรต้านโควิด         มีข้อมูลของแพทย์ออกมาเตือนภัยผ่านทางโซเชียล ซึ่งข้อมูลที่อ่านพบปรากฎว่าคล้ายกับข้อมูลที่น้องๆ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่มาเล่าให้ฟัง คือ ในโลกออนไลน์มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์บรรจุในแคปซูล โดยอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรต้านโควิด นำมาจากคลินิก ไหนๆ ก็โฆษณาแล้วจะไม่ขายก็ดูกระไรอยู่ หลังจากปลุกอารมณ์และความหวังของผู้คนที่กำลังหวาดระแวงว่าตนเองจะติดเชื้อโควิดหรือไม่ ก็ขายมันซะเลย ทำให้ผู้ที่กังวลว่าจะป่วยหรือผู้ป่วยโควิดบางรายหลงเชื่อ ยอมเสียเงินสั่งซื้อมากิน กินไปแล้วอาการไม่ดีขึ้น บางรายอาการกลับแย่ลง ตรวจพบว่ามีภาวะผิดปกติ บางรายพบว่าเซลล์เม็ดเลือดลดลงด้วย         หลอกขายประกันโควิด         ไม่ได้มีแต่หลอกขายผลิตภัณฑ์ มีข้อมูลจากน้องในชุมชนทางอีสานเล่าให้ฟังว่า ในขณะที่หลายคนกำลังลังเลว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ฉีดดี จะไม่ฉีดก็กลัวคิดเชื้อ แต่ถ้าฉีด ก็กลัวจะเกิดการแพ้จนอันตราย ในที่สุดก็มีแก๊งหัวใส อาศัยจังหวะนี้ตระเวณไปหลอกขายประกันเกี่ยวกับโควิด ทั้งประกันการติดเชื้อโควิด และประกันการแพ้วัคซีน โดยเลือกเหยื่อที่ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับการประกัน สุดท้ายเมื่อเหยื่อหลงเชื่อจ่ายเงินไปแล้ว ก็หายหน้าไปเลย ไม่ได้กรมธรรม์อะไรกลับมา         หลอกขายวัคซีนทางเลือก         ที่จังหวัดอุดรธานี พบเหตุการณ์มีผู้ตระเวณหลอกขายวัคซีนซิโนฟาร์ม ในราคาเข็มละ1,800 บาท โดยอ้างว่าเหลือจากที่ฉีดให้บุคลากรของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีผู้หลงเชื่อรวม 20 คน ตกลงจ่ายเงินยอมซื้อ โดยผู้ที่หลอกขายอ้างว่า เมื่อจ่ายเงินแล้ว จะให้ไปฉีดได้ที่จุดบริการฉีดของโรงพยาบาล มีการระบุเวลานัดหมายให้เรียบร้อย นอกจากนี้ กลุ่มมิจฉาชีพยังพยายามสร้างความน่าเชื่อถือ โดยสร้างกลุ่มไลน์ โดยมีบุคคลที่อ้างว่าเป็นแพทย์เป็นผู้ดูแลกลุ่ม คอยให้ข้อมูลต่างๆ อยู่ตลอด จนเมื่อถึงวันฉีดวัคซีน ผู้ที่จ่ายเงินไปแล้วเดินทางไปฉีดวัคซีนที่จุดบริการของโรงพยาบาล ปรากฎว่าไม่มีรายชื่อของตนแต่อย่างใด เมื่อไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลก็พบว่า แพทย์ที่มีการอ้างชื่อและคอยให้ข้อมูลในกลุ่มไลน์ ก็ไม่ใช่แพทย์ด้วย         เอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ ทุกครั้งจะได้ไม่ถูกหลอก         เนื่องจากการจัดการปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกหน่วยงานประเทศต้องมาร่วมกันดูแล ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะมีการกำหนดขั้นตอนต่างๆ อย่างละเอียด มีการตรวจสอบ เพื่อไม่ให้มีใครมาหลอกลวงจนเกิดอันตรายได้ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ต้องมาขออนุญาตและพิสูจน์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่าปลอดภัยไม่มีอันตราย การขายประกันก็มีหน่วยงานที่ดูแลด้านนี้ดูแลอยู่ ส่วนการบริการฉีดวัคซีน ก็มีระบบและรายละเอียดทุกขั้นตอน โดยมีหน่วยงานสาธารณสุขในแต่ละจังหวัดดูแล ดังนั้นหากใครมาแนะนำหรือชักชวนอะไรเกี่ยวกับโควิด ให้เราเสียเงินเสียทอง อย่าเพิ่งรีบเชื่อนะครับ ให้ เอ๊ะๆๆ ไปหลายๆ ครั้ง ถ้าไม่แน่ใจก็ไปสอบถามที่หน่วยงานสาธารณสุขใกล้ตัวได้เลย เอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ จะได้ไม่ถูก หลอก หลอก หลอก นะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2562

แบน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต' มีผล 1 ธ.ค. 2562 นี้        นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 41-9/2562 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ให้ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป พร้อมมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรไปดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น แล้วเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นในการประชุมครั้งต่อไป         ทั้งนี้ ได้ขอให้กรมวิชาการเกษตรไปพิจารณาระยะเวลาความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร หรือร้านจำหน่าย เป็นต้น         สำหรับตัวเลขสารเคมีค้างสต็อก 29,869.58 ตัน หลังมติถูกแบนเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ธ.ค.นี้ นั้น พบมากสุดคือ พาราควอต 13,063.69 ตัน รองลงมา ไกลโฟเซต 15,110.93 ตัน และคลอร์ไพริฟอส 1,694.86 ตัน Media Disruption ทำคนไทยอ่านมากขึ้น แต่เป็น 'เนื้อหาออนไลน์' มากสุด         สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจการอ่านของประชากรปี 2561 พบว่าคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป อ่านสื่อต่างๆ ร้อยละ 78.8 หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน โดยคนไทยอ่านสื่อต่างๆ นานสุด 80 นาที/วัน เทียบจากปี 2558 อ่านสื่อต่างๆ 66 นาที และปี 2556 อ่านสื่อต่างๆ เพียง 37 นาที เมื่อพิจารณาสื่อที่คนไทยอ่านมากที่สุด ร้อยละ 69.2 คือการอ่าน 'สื่อสังคมออนไลน์' ตามมาด้วย 'หนังสือพิมพ์' ร้อยละ 60.5 ส่วน 'วารสาร' และ 'นิตยสาร' นั้นคนไทยอ่านเพียงร้อยละ 40.3 และ 31.1 เท่านั้นตามลำดับรับมือปัญหา Romance Scam         ข้อมูลจาก 'คู่มือป้องกันพิศวาสอาชญากรรม ฉบับผู้ดูแลระบบและผู้บังคับใช้กฎหมาย' ภายใต้โครงการวิจัย 'ข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันและปราบปรามพิศวาสอาชญากรรม (Romance Scam) และแนวทางสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน' โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)ได้ระบุขั้นตอนการแจ้งความเกี่ยวกับคดี Romance Scam ไว้ดังนี้        1. ให้ผู้เสียหาย เตรียมเอกสารส่วนตัวเช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง        2. กรณีที่เสียหายต่อชื่อเสียง โดยเตรียมหลักฐาน เช่น ปริ๊นต์เอกสารหน้าจอหน้าเว็บไซต์ หน้าโปรแกรมไลน์ โปรแกรมเฟซบุ๊ก หรือหน้าเพจ ที่พบการกระทำความผิด        3. กรณีที่เสียหายต่อทรัพย์ ให้เตรียมหลักฐาน เช่น หลักฐานการโอนเงิน หน้าจอหรือรูปของบัญชีธนาคารของผู้รับโอน โดยปริ๊นต์เอกสารออกมาจากระบบคอมพิวเตอร์ให้เรียบร้อย         Romance scam คือ การหลอกลวงผู้หญิงหรือเพศอื่นด้วยการพูดคุยผ่านการแชท การส่งข้อความเป็นการจีบ ทำให้เหยื่อเชื่อว่าตกหลุมรัก ยอมเชื่อใจไว้ใจตายใจ จนในที่สุดก็จะโดนขอยืมเงิน หลอกให้ส่งยาเสพติด หรือทำสิ่งผิดกฎหมาย กรมสรรพสามิตเดินหน้าไอเดียเก็บภาษีความเค็ม        กรมสรรพสามิต เดินหน้าศึกษาการขยายฐานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าที่มีความเค็ม โดยจะมีการเก็บภาษีตามสัดส่วนของปริมาณโซเดียม หากเค็มมากก็จะเสียภาษีในอัตราสูง ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุป และเสนอให้รมว.คลัง พิจารณาได้ภายในสิ้นปีนี้         นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างเร่งศึกษาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการขยายฐานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าความเค็ม เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในการบริโภคสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ โดยจะมีการเก็บภาษีตามสัดส่วนของความเค็ม หรือตามปริมาณโซเดียม หากเค็มมากก็จะเสียภาษีในอัตราสูง ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอให้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาได้ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ยังระบุว่า “ภาษีความเค็มถือเป็นภาษีตัวใหม่ที่กรมฯ กำลังคิดจะจัดเก็บ เพราะไทยยังไม่มีมาก่อน มีแค่จัดเก็บภาษีความหวานเท่านั้น แต่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว มีการจัดเก็บไปหลายประเทศแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนความเค็มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ หากได้ข้อมูลครบจะพิจารณาได้ว่าจะมีการจัดเก็บภาษีดังกล่าวหรือไม่  หากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่าต้องจัดเก็บภาษีความเค็มจริง กรมก็จะไม่ประกาศ และจัดเก็บในอัตราเดียวทันที แต่จะให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 1-2 ปี เพื่อปรับลดปริมาณความเค็มในสินค้า หรือปรับสูตรการผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพออกมาก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ระบุอัตราการจัดเก็บที่ชัดเจน”         สำหรับสินค้าที่จะเข้าข่ายต้องเสียภาษีความเค็ม เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มสินค้าอาหารปรุงสำเร็จ เช่น อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่จะยังไม่มีการจัดเก็บภาษีความเค็มในสินค้าขนมขบเคี้ยวสำหรับเด็ก เนื่องจากมองว่า ขนมเป็นอาหารที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ที่ประชาชนสามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้เอง ส่วนเครื่องปรุงรสที่มีความเค็ม เช่น นํ้าปลา เกลือ ซอสปรุงรสยังไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงร้านขายอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวแกง หรือสินค้าชุมชนก็ยังไม่เข้าข่ายที่จะเสียภาษีเช่นกัน "กองทุนแสงอาทิตย์" เปิดตัว ‘โรงพยาบาลภูสิงห์’ รพ. แสงอาทิตย์แห่งที่ 4 จากเงินบริจาคของประชาชน         19 ตุลาคม โรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านผู้บริโภค ด้านเด็ก กลุ่มประชาสังคมท้องถิ่นและนักวิชาการ ในนามของ “กองทุนแสงอาทิตย์” (Thailand Solar Fund) ได้จัดงานแถลงข่าวและส่งมอบแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลภูสิงห์ นับเป็นโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งที่ 4 จากเงินบริจาคของประชาชนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์         “กองทุนแสงอาทิตย์” (Thailand Solar Fund) เกิดจากการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านผู้บริโภค ด้านเด็ก กลุ่มประชาสังคมท้องถิ่น และนักวิชาการ ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561  โดยมีท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรมและผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม เมตตาเป็นประธานกรรมการกองทุนฯ         กองทุนแสงอาทิตย์ได้ดำเนินการเปิดบัญชีชื่อ กองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อรับบริจาคเงินจากประชาชนทั่วทั้งประเทศ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar PV Rooftop) และมอบให้กับโรงพยาบาลที่ต้องการหรือประสบปัญหาภาระค่าไฟฟ้า โดยในปี 2562 มีเป้าหมายติดตั้งให้กับโรงพยาบาล 7 แห่งใน 7 จังหวัด ซึ่งโรงพยาบาลภูสิงห์เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเป้าหมาย 7 แห่งดังกล่าว         โรงพยาบาลภูสิงห์ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง อยู่ติดชายแดนไทย - กัมพูชา และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดศรีสะเกษ 85 กิโลเมตร มีแพทย์จำนวน 5 คน ดูแลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 9 แห่ง และหน่วยโรงพยาบาล 1 แห่ง รองรับการให้บริการประชาชนในพื้นที่อำเภอภูสิงห์กว่า 36,000 คน และรวมถึงประชาชนจากประเทศกัมพูชาด้วย  ปัจจุบันพบว่าโรงพยาบาลมีการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงและมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีกในอนาคตทำให้ค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าสูงขึ้นเนื่องจากโรงพยาบาลมีการขยายเพิ่มของอาคารและการพัฒนาส่วนต่างๆ ที่ต้องใช้พลังงาน โดยในปี 2560 โรงพยาบาลมีภาระค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละ 150,000 บาทหรือ 1,800,000 บาทต่อปี แต่ในปี 2561 โรงพยาบาลมีภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยเดือนละ 160,000 บาทหรือ 1,900,000 บาทต่อปี        คณะกรรมการกองทุนแสงอาทิตย์และโรงพยาบาลได้คัดเลือกให้ บริษัท เดชาวุฒิ อินเตอร์เทค จำกัด เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาให้กับโรงพยาบาลภูสิงห์ และขณะนี้บริษัท ได้ดำเนินการติดตั้งระบบเรียบร้อยแล้ว มีขนาดการผลิตไฟฟ้า  35.10 กิโลวัตต์  ใช้เซลล์แสงอาทิตย์ ชนิด Mono ขนาด 390 วัตต์ จำนวน  90 แผง  ภายใต้งบดำเนินการ 795,000 บาท ซึ่งจากการคำนวณคาดว่าจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลได้ประมาณ 200,000 บาทต่อปี และระบบจะยังคงใช้งานได้ต่อไปและทำให้เกิดผลการประหยัดตลอดเวลา 25 ปี หากคำนวณเชิงธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนเอง ระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่  3.72  ปีเท่านั้น        ขอขอบพระคุณประชาชนทั่วประเทศที่ได้ร่วมบริจาคผ่านบัญชี  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) บัญชีออมทรัพย์ สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า เลขที่บัญชี 429-017697-4 ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 โดนหลอกให้โอนเงิน ( อีกแล้ว)

        สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ทนายโสภณ กลับมารายงานตัว ฉบับนี้ผมจะขอหยิบยกเรื่องราวที่คนมักจะพบเป็นข่าวกันบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องของการหลอกให้โอนเงิน เชื่อว่าหลายท่านคงรู้ดีว่าปัจจุบันนี้ พวกมิจฉาชีพมักแฝงตัวมาในรูปแบบต่างๆ มากมาย  ส่วนหนึ่งอาศัยความโลภ ความอยากของคนเรามาใช้ประโยชน์ ทำให้ได้เงินหรือทรัพย์สินไป ซึ่งในเรื่องเหล่านี้มีแง่มุมทางกฎหมาย และมีคำตัดสินของศาลหลายๆ ส่วนที่น่าศึกษา และเห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงเอามาบอกเล่ากับผู้อ่านทุกท่านครับ         คดีแรกที่เกิดขึ้น  เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายถูกหลอกให้โอนเงิน เพราะหวังผลตอบแทนจากดอกเบี้ยต่อเดือนที่สูงกว่าปกติ(ร้อยละ 15 ต่อเดือน) โดยได้โอนเงินไปให้แก่จำเลยเกือบสองล้าน แน่นอนเพื่อให้เหยื่อตายใจ ในช่วงแรกก็มีการจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันจริง แต่พอสักพักก็ไม่จ่ายให้ หายไปติดต่อไม่ได้ ผู้เสียหายจึงรู้ตัวว่าโดนหลอกแล้ว จึงไปแจ้งความกับตำรวจ โดยตำรวจก็ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ เพื่อดำเนินการ เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล จำเลยก็อ้างว่า ที่ผู้เสียหายหรือโจทก์ไปแจ้งตำรวจเป็นเพียงข้อความที่โจทก์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามด้วยตนเองต่อไป ไม่ใช่การร้องทุกข์เพื่อให้ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งต่อมาศาลฎีกาก็ได้ตัดสินเป็นหลักไว้ว่า การที่โจทก์ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานโดยมีพนักงานสอบสวนเวรรับแจ้งไว้ตามประสงค์ของผู้แจ้ง เพื่อดำเนินการต่อไป ถือว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษในความผิดฐานฉ้อโกง ทั้งพนักงานสอบสวนเวรผู้รับแจ้งความก็รับว่าจะไปดำเนินการต่อไปตามความประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายแล้ว        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6637/2558        รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ร. ร่วมกับ ณ. และ อ. หลอกลวงให้โจทก์โอนเงิน 13 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,952,000 บาท โดยแจ้งว่าจะนำเงินที่โจทก์โอนให้ไปลงทุนหรือให้บุคคลอื่นกู้ยืม และจะให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อเดือน ประกอบกับ ร. มากับ ส. เจ้าของรีสอร์ท ทำให้โจทก์หลงเชื่อ เป็นเหตุให้โจทก์โอนเงินเพื่อปล่อยกู้จำนวนดังกล่าว ช่วงแรก ร. โอนเงินดอกเบี้ยให้ร้อยละ 15 ต่อเดือนจริง ประมาณ 4 ครั้ง โจทก์จึงหลงเชื่อโอนเงินให้ แต่เมื่อ ร. กับพวกได้เงินแล้ว โจทก์ติดต่อไป ร. กับพวกกลับเงียบหาย โจทก์จึงทราบว่าถูกหลอกลวง การกระทำของ ร. กับพวก เป็นการฉ้อโกง โจทก์จึงมาที่สถานีตำรวจบ่อผุดเพื่อลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานและเพื่อจะได้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งพันตำรวจโท พ. พนักงานสอบสวนเวร รับแจ้งไว้ตามประสงค์ของผู้แจ้ง เพื่อดำเนินการต่อไป แสดงให้เห็นแล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตลอดจนชื่อของผู้กระทำผิดและโจทก์มีความประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษทั้งพนักงานสอบสวนเวรผู้รับแจ้งความก็รับว่าจะไปดำเนินการต่อไปตามความประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แล้ว หาใช่เป็นเพียงข้อความที่โจทก์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามด้วยตนเองต่อไปแต่อย่างใดไม่                คดีที่สอง เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันโทรศัพท์หลอกลวงผู้เสียหายทั้ง 61 คนว่า ผู้เสียหายแต่ละคนมีสิทธิได้รับเงินภาษีคืนจากกรมสรรพากรบ้าง หรือได้รับเงินประกันสังคมคืนจากสำนักงานประกันสังคมบ้าง โดยจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันอ้างว่าจะมีการโอนเงินภาษีหรือเงินประกันสังคมดังกล่าวคืนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เสียหายซึ่งผู้เสียหายแต่ละคนสามารถใช้บัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารออกให้ไปทำรายการที่ตู้รับฝากถอนเงินอัตโนมัติของธนาคาร (ตู้เอทีเอ็ม) ตามรายการขั้นตอนที่จำเลยที่ 1 กับพวกบอกซึ่งจะทำให้ผู้เสียหายทั้ง 61 คนได้รับคืนเงินค่าภาษีจากกรมสรรพากร และเงินประกันสังคมจากสำนักงานประกันสังคมด้วยวิธีการโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เสียหายซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความเท็จทั้งสิ้น จากการหลอกลวงของจำเลยที่ 1 กับพวกดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายทั้ง 61 คนหลงเชื่อนำบัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารออกให้ของแต่ละคนไปทำรายการที่ตู้รับฝากถอนเงินอัตโนมัติของธนาคารตามขั้นตอนที่จำเลยที่ 1 กับพวกหลอกลวงเป็นเหตุให้มีการโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เสียหายแต่ละคนทั้ง 61 คนไปเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีชื่อหลายคนที่จำเลยที่ 1 กับพวกหลอกให้เปิดบัญชีเงินฝากไว้         จากนั้นจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันใช้บัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ในการเบิกถอนเงินสดทำการเบิกถอนเงินสดที่มีการโอนมาจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายทั้ง 61 คน ทำให้จำเลยที่ 1 กับพวกได้เงินของผู้เสียหายทั้ง 61 คนไปในที่สุด ซึ่งคดีนี้มีข้อน่าสนใจว่าการที่จำเลยกับพวก อ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คือเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ถือว่ามีการหลอกลวงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ซึ่งต้องรับโทษหนักขึ้นหรือไม่ ต่อมาศาลฎีกาก็ได้ตัดสินวางหลักไว้ว่า กรณีดังกล่าว เป็นเพียงการแสดงฐานะของตนเองอันเป็นเท็จ ไม่ใช่การแสดงตนเป็นคนอื่น จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด จำเลยกับพวกจึงไม่ต้องรับโทษในความผิดดังกล่าว         คำพิพากษาฎีกาที่ 8145/2559        "ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 นั้น ถ้าผู้กระทำกระทำโดยแสดงตนเป็นคนอื่น จะต้องระวางโทษหนักขึ้นตามมาตรา 342          การที่จำเลยเพียงแต่แสดงฐานะของตนเองอันเป็นเท็จว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ไม่ใช่การแสดงตนเป็นคนอื่น จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 342 (1)"

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 เคล็ดวิชาสู้พวกหลอกลวง

หลายครั้งที่คนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ต้องปะทะกับผู้ขายสินค้าที่หลอกลวง และมักจะเกิดเรื่องเกิดราวหรือเพลี่ยงพล้ำ จนบางครั้งพาลจะหมดกำลังใจ  คอลัมน์นี้ขอให้กำลังใจนักคุ้มครองผู้บริโภคทุกคนครับ แต่อย่าลืมว่าการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมันก็เหมือนการต่อสู้  มันต้องมีรูปมวยหรือวรยุทธ์ที่ดี ถึงจะได้เปรียบจนโค่นคู่ต่อสู้ลงได้ผมเคยไปฟังนักเคลื่อนไหวหลายคนที่ต้องทำงานเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้าม แต่ละท่านได้เล่าประสบการณ์ของท่าน ผมเห็นว่าน่าสนใจ เลยนำมาเล่าให้นักคุ้มครองผู้บริโภคทราบ เผื่อลองนำไปปรับใช้เป็นแนวทางของตนเอง1. ต้องลงไปสัมผัสกับข้อมูลจริงๆ : การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ การที่คนทำงานได้ลงไปในพื้นที่ ได้สอบถามข้อมูลจากผู้บริโภค จะทำให้เราได้รายละเอียด ตลอดจนพยานต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานได้มากขึ้น 2. พยายามหากลุ่มคนหรือภาคีเครือข่ายที่สนใจในปัญหาเดียวกันหรือคนที่ได้รับผลกระทบ : เพราะคนกลุ่มนี้จะมีหัวอกเดียวกัน และจะมีข้อมูลชัดเจน เพราะเคยใช้ผลิตภัณฑ์และได้รับอันตรายมาก่อน  นอกจากนี้การรวมกลุ่มกัน จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเขาในการลุกขึ้นมาช่วยกันจัดการปัญหาต่างๆ3. ควรนำเสนอข้อมูลปัญหาในลักษณะการเปรียบเทียบ : การนำเสนอข้อมูลในลักษณะเปรียบเทียบ จะทำให้คนทั่วไปรับรู้ได้ง่ายว่า ขนาดปัญหามันใหญ่ หรือรุนแรงขนาดไหน เช่น อาจนำเสนอว่า เงินที่ผู้บริโภคถูกหลอกให้ซื้อผลิตภัณฑ์ในแต่ละครั้ง เท่ากับกี่เท่าของเงินเดือนที่เขาได้รับ หรือค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวหลังใช้ผลิตภัณฑ์เท่ากับกี่เท่าของราคาที่ซื้อมาใช้4. ใช้การสื่อสาร ที่สั้น กระชับ : ในแต่ละวันผู้บริโภคเองมีเรื่องต่างๆ ให้จำมากมาย  การให้ความรู้เพื่อเตือนภัยผู้บริโภค แม้เราจะหวังดี โดยพยายามยัดข้อมูลให้มากที่สุด บางทีมันอาจไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร เพราะผู้บริโภคแต่ละคนมีศักยภาพในการรับรู้ที่ต่างกัน เราควรเลือกใช้ให้เหมาะสม โดยเน้นข้อความ ให้สั้นกระชับ เข้าใจง่าย และเมื่อเขาสนใจแล้ว เราค่อยเพิ่มรายละเอียดเนื้อหาให้มากขึ้น ตามที่เขาสนใจในลำดับต่อๆ ไป5. ไม่ต้องกังวลแต่ควรระวัง “ต้องพูดความจริง” : นักคุ้มครองผู้บริโภคหลายคนมักจะกังวลว่า หากเผยแพร่ข้อมูลผลิตภัณฑ์อันตรายไปแล้ว อาจถูกผู้จำหน่ายสินค้าฟ้องร้องได้  ในประเด็นนี้มีคำแนะนำว่า การพูดความจริงในที่นี้หมายถึงการนำเสนอข้อเท็จจริง เช่น แจ้งว่าผลิตภัณฑ์นี้  รุ่นที่ผลิตนี้  ตรวจพบสารอะไรบ้าง และสารชนิดนี้มีอันตรายอย่างไร สิ่งที่ต้องควรระวังคือคำพูดที่ไปแสดงความรู้สึก เพราะอาจไปเข้าข่ายหมิ่นประมาท เช่น ผลิตภัณฑ์นี้มีสารอันตรายผสม เลวมาก  ทั้งนี้หากไม่มั่นใจ อาจแจ้งให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้แจ้งข้อมูลก็ได้6. ลองใช้ยุทธศาสตร์เชิงบวกบ้าง : การใช้ยุทธศาสตร์เชิงบวก ไม่ได้หมายถึงการห้ามนำเสนอข้อมูลด้านลบ แต่หมายถึงการใช้ศักยภาพดึงพลังบวกในตัวของแต่ละคนออกมาเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา เช่น เราอาจใช้วิธีชักชวน หรือโน้มน้าว ให้เขาลุกขึ้นมาเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อันตรายในชุมชน โดยเน้นให้เขาเห็นว่าเมื่อเขาช่วยกันแล้ว จะเกิดสิ่งดีๆ อะไรขึ้นในชุมชน เช่น  พ่อแม่ ลูกหลานในชุมชนของเราเองจะได้ปลอดภัยลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ เชื่อว่าคราวนี้แหละ พลังนักคุ้มครองผู้บริโภคจะเข้มแข็งขึ้นทันตา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤศจิกายน 2560กลุ่มผู้ซื้อรถมาสด้าแล้วเจอปัญหา ร้อง สคบ. จี้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ กลุ่มผู้ใช้รถยนต์มาสด้า 2 ดีเซล Sky Active รุ่นปีผลิต 2015-2016 รวมรุ่นย่อย ของบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 22 ราย ซึ่งซื้อรถยนต์ดังกล่าวในช่วงปี 2558-2559 พร้อมด้วย นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เดินทางมาร่วมยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องให้ผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบกรณีพบว่ารถยนต์ที่ซื้อมาใช้งานอาการผิดปกติจนมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัยจากปัญหาความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ ได้แก่ อาการผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือน อาการรั่วซึมของโช้คด้านหลัง และอาการเครื่องยนต์สั่น เร่งความเร็วไม่ขึ้น โดยอาการจะปรากฏครั้งแรกในช่วงเลขไมล์ 20,000 – 70,000 กม. และคงอาการลักษณะนี้จนปัจจุบันนายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์มาสด้า 2 รุ่นสกายแอคทีฟ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้นำรถของตนเข้าศูนย์หลายครั้ง คิดเป็น 2 เท่าของระยะตรวจเช็คตามรอบปกติ เริ่มจากปัญหาโช้ครั่วที่พบหลังใช้รถ 2-3 เดือนแรก จนถึงปัญหาความผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือนและตัวเลขแสดงระยะทางที่ผิดพลาด ล่าสุดพบปัญหาเครื่องยนต์ดีเซลมีอาการสั่น และเร่งความเร็วไม่ขึ้นช่วง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงต่อชีวิตทางกลุ่มผู้ร้องและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อยากให้ทางศูนย์มาสด้าออกมาชี้แจงถึงวิธีการแก้ไขปัญหาให้รถยนต์กลับมามีสภาพปกติที่ควรเป็น และขอให้ สคบ.มีคำสั่งให้ผู้ประกอบการทดสอบรถยนต์ที่เกิดปัญหาภายใน 7 วัน ตามอำนาจกฎหมาย และขอให้มีคำสั่งระงับการจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อมาสด้า 2 ในรุ่นที่มีการร้องเรียนเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะทราบผลการพิสูจน์ ซึ่งหากพบว่าสินค้าชำรุดบกพร่องจนอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตจริง ก็ขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีคำสั่งให้บริษัทรับผิดชอบรับซื้อรถยนต์คืนทั้งหมดย้อมสีเนื้อหมูหลอกขายเป็นเนื้อวัวพ่อค้าร้านอาหารตามสั่งแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เข้าแจ้งความกับตำรวจ หลังพบว่าเนื้อวัวที่ซื้อมาเมื่อนำไปล้างน้ำทำความสะอาด สีลอกและซีดลง แถมไม่มีกลิ่นของเนื้อวัว พ่อค้ารายดังกล่าวสงสัยว่าแม่ค้าจะเอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการนำเนื้อหมูมาย้อมสีโกหกว่าเป็นเนื้อวัวหลอกขายผู้บริโภค ซึ่งหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบร้านค้าดังกล่าว พร้อมทั้งควบคุมตัวแม่ค้ามาสอบปากคำ ท้ายที่สุดแม่ค้าก็รับสารภาพว่าได้เอาสีผสมอาหารย้อมเนื้อหมูให้มีสีแดงคล้ายเนื้อวัวจริง แล้วติดป้ายหลอกขายว่าเป็นเนื้อวัวในราคากิโลกรัมละ 235 บาท เพื่อให้ขายได้กำไรมากขึ้นจากเนื้อหมูที่มีราคากิโลกรัมละ 120 บาท โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหากับแม่ค้าคนดังกล่าวในความผิดฐานฉ้อโกงและขายสินค้าหลอกลวงประชาชน ถูกเปรียบเทียบปรับไป 1,000 บาท พร้อมต้องชดใช้ค่าเสียหายคืนให้กับพ่อค้าร้านอาหารตามสั่งที่ถูกหลอก นวดปลอดภัย เลือกร้านที่มีใบอนุญาติถูกต้องกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะนำให้ผู้ที่ต้องการรับบริการนวดต้องประเมินร่างกายตนเองเบื้องต้นก่อนรับบริการทุกครั้ง หากพบว่าร่างกายของตนมีอาการเจ็บปวด ต้องการนวดเพื่อรักษา ฟื้นฟูสุขภาพ อย่างการนวดจับเส้น ขอให้เลือกรับบริการจากสถานพยาบาลการแพทย์แผนไทย ซึ่งผู้ให้บริการนวดจะต้องเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้านเวชกรรมไทย ด้านนวดไทย หรือด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ จากสภาการแพทย์แผนไทยเท่านั้นโดยสามารถสังเกตสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายจากหลักฐาน 3 ประการ ได้แก่ 1. มีการแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก ให้เห็นได้ชัดเจนที่ด้านหน้าสถานพยาบาล 2. มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลให้เห็นชัดเจนที่จุดบริการ และ 3. มีการแสดงป้ายชื่อ-สกุล รูปถ่าย พร้อมกับเลขที่ใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพของแพทย์ติดหน้าห้องตรวจ ซึ่งต้องตรงกับตัวจริงที่ให้บริการขณะนั้นแต่หากต้องการนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ หรือ ผ่อนคลาย ให้เลือกรับบริการจากสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภท สปา นวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการจาก สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งผู้ให้บริการนวดจะต้องได้รับประกาศนียบัตรตามหลักสูตรที่ สบส. ให้การรับรอง และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพถูกต้องตามกฎหมาย และสังเกตหลักฐาน 3 ประการ ได้แก่ 1. มีการแสดงสติกเกอร์มาตรฐาน สบส. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ตามประเภทกิจการ ให้เห็นชัดเจนที่จุดบริการ 2. มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และ 3. มีการแสดงใบอนุญาตผู้ดำเนินการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพอาหารเสริมคังหลินอวดอ้างสรรพคุณหลอกเงินชาวบ้านคณะกรรมการอาหารและยา และ กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลวาริชภูมิ จ.สกลนคร ร่วมกับสถานีตำรวจภูธรวาริชภูมิ ดำเนินการเอาผิดกลุ่มบุคคลที่ทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ คังหลิน (KungLin) ที่ใช้หยอดหู หยอดตา โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนและทีมวิจัยสมุนไพรของศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นำสินค้ามาแนะนำ โดยขอให้ผู้ใหญ่บ้านประกาศเสียงตามสายให้ชาวบ้านที่มีปัญหาเรื่อง หู ตา คอ จมูก เบาหวาน ภูมิแพ้ ความดัน และชาวบ้านที่ต้องการตรวจโรค ลงทะเบียนตรวจวินิจฉัยโรคฟรีแต่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในราคา 3,600 บาท หลังจากตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบว่า ฉลากระบุผู้จำหน่ายคือ บริษัท กรีนนิซ เทคโนโลยี จำกัด จ.นครราชสีมา แต่ไม่พบข้อมูลชื่อ ที่อยู่ ผู้ผลิต ไม่ระบุวันเดือนปีที่ผลิต และหมดอายุ เมื่อเจ้าหน้าที่ขอดูเอกสารเกี่ยวกับโครงการ ก็ไม่สามารถนำมาแสดงได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา และเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุดรธานีต่อไป ทั้งนี้ อย.ฝากเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่อวดอ้างเรื่องการรักษาโรค เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างในกรณีนี้หากนำไปใช้หยอดหู หยอดตา สุ่มสี่สุ่มห้าโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน อาจเป็นอันตรายต่อหูและดวงตาของผู้ที่ใช้ถอนทะเบียนยา “ฟีนิลบิวตาโซน” 70 รายการ เหตุอันตรายถึงชีวิตในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่ คําสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 1435/2560 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา ที่มีตัวยาฟีนิลบิวตาโซน (Phenylbutazone) เป็นส่วนประกอบ หลังพบข้อมูลทางวิชาการว่า ยาฟีนิลบิวตาโซน เป็นสาเหตุของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง เนื่องจากอาจทำให้เกิดโรคโลหิตจางจากภาวะไขกระดูกฝ่อ (aplastic anaemia) และเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (agranulocytosis) ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ฉะนั้น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2530 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคําแนะนําของคณะกรรมการยาในการประชุมครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560 จึงมีคําสั่งเพิกถอนทะเบียนตํารับยาสําหรับมนุษย์ที่มีตัวยาฟีนิลบิวตาโซนเป็นส่วนประกอบ จํานวน 70 ตํารับ ตามบัญชีแนบท้ายประกาศ โดยสามารถดูรายละเอียดประกาศฉบับนี้ได้ที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/277/62.PDF

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 โดนหลอกให้ทำประกัน

แม้การทำประกันชีวิตจะมีข้อดีหลายประการ แต่ควรเกิดขึ้นจากความสมัครใจของผู้บริโภคแต่ละคน เพราะหากผู้บริโภคถูกหลอกให้ทำประกัน สามารถส่งผลให้บริษัทเสียชื่อเสียงจากการถูกฟ้องร้อง และสร้างความรู้สึกด้านลบให้กับผู้บริโภคได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2555 คุณสุชาติต้องการทำบัญชีสะสมทรัพย์กับธนาคารกสิกรไทย ในจังหวัดนครราชสีมา เมื่อเขาแจ้งความประสงค์ พนักงานพร้อมผู้จัดการธนาคารในปีดังกล่าว ได้แนะนำว่า ถ้าออมเงินฝากกับธนาคารในวงเงินประมาณ 600,000 บาท จะได้รับบัตรเครดิต Wisdom พร้อมด้วยสิทธิพิเศษต่างๆ มากมาย ทำให้เขาตัดสินใจที่จะฝากเงินจำนวนดังกล่าว เพราะเห็นว่าได้สิทธิประโยชน์หลายอย่างของบัตรเครดิต และตกลงกรอกรายละเอียดพร้อมเซ็นชื่อลงในเอกสารต่างๆ โดยที่ไม่ได้ตรวจสอบก่อน เพราะมีความไว้เนื้อเชื่อใจกับพนักงานธนาคารอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามในอีก 2 ปีถัดมา คุณสุชาติต้องการนำเงินที่ฝากไว้ไปลงทุนทำธุรกิจ จึงไปแจ้งความประสงค์ขอปิดบัญชี แต่กลับพบว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเงินทั้งหมดที่เขาฝากไว้นั้น เป็นการทำประกันชีวิตกับธนาคาร ซึ่งหากส่งเบี้ยประกันไม่ครบ 5 ปีตามเงื่อนไข เขาจะไม่ได้รับเงินคืนเมื่อถึงกำหนด เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุชาติจึงแจ้งไปว่า เขาไม่ทราบเรื่องการทำประกันชีวิตดังกล่าว เพราะหากทราบก่อนก็คงไม่ทำ และเขาไม่ยอมที่จะสูญเสียเงินที่ฝากไปแน่นอน เขาจึงไปร้องเรียนกับพนักงานที่เคยคุยกันไว้ แต่ก็ได้รับคำตอบว่าต้องจ่ายเบี้ยประกันให้ครบกำหนดก่อน ถึงจะได้รับเงินคืน มิฉะนั้นก็จะถูกริบเงินทั้งหมด ทำให้คุณสุชาติต้องเดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทประกันชีวิต เพื่อร้องเรียนและขอรับเงินคืน แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้เช่นกัน เขาจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทยและ คปภ. โดยให้ขอเงินคืนทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่า ขณะที่ทำการฝากเงินนั้นผู้ร้องไม่ทราบว่าเป็นการทำประกัน เพราะพนักงานไม่ได้แจ้งรายละเอียดดังกล่าวให้ทราบก่อน ซึ่งที่ผ่านมามีผู้บริโภคหลายรายที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ และสามารถเรียกร้องเงินคืนได้ทั้งหมด แต่อาจเสียเวลาการดำเนินการสักหน่อย ดังนั้นก่อนตัดสินใจเซ็นชื่อหรือกรอกรายละเอียดส่วนตัวลงในเอกสารใดๆ ควรตรวจสอบให้ดีก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 เหยื่อ

หลายท่านคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “คนโง่ย่อมเป็นเหยื่อคนฉลาด” ซึ่งถ้าคิดให้ลึกซึ้งต่อไปอีกคือ แล้วทำไมคนโง่จึงเป็นเหยื่อคนฉลาด คำตอบที่ผู้เขียนคิดเอาเองก็คือ เพราะคน(ที่อาจ) โง่นั้นมักคิดว่าตน(อาจ) เป็นคนฉลาด จึงไม่เคยหาความรู้เลยว่า สิ่งที่ตนรู้อยู่นั้นมัน ถูกหรือผิด   คนที่ถูกหลอก ไม่ว่าจะเรื่องอะไรนั้น มักเกิดเนื่องจากการเป็นคนที่มีความมั่นใจในตนเองสูง จนออกอาการที่เราเรียกว่า “ดื้อ” ดังนั้นความดื้อจึงน่าจะเป็นหนทางไปสู่ความโง่   ความดื้อนั้นเป็นสิ่งที่ติดตัวมากับมนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิด จะเห็นว่าเมื่อไรก็ตามที่เราห้ามเด็กเล็กว่า “อย่าทำ  เด็กก็จะทำ” แล้วพอเกิดบาดเจ็บเด็กก็จะร้องไห้ ซึ่งก็จบแค่นั้นเพราะสิ่งที่ผู้ใหญ่ห้ามนั้นมักไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่ถ้าเป็นการห้ามเด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ซึ่งบางครั้งแม้เป็นเพียงข้อแนะนำว่า อะไรน่าจะถูก อะไรน่าจะผิด ผู้ให้คำแนะนำมักถูกตอบโต้(หรือในฐานกรุณาก็แอบคิดในใจ) ประมาณว่า มายุ่งอะไรกับ ข้าพเจ้า มันเรื่องของข้าพเจ้า   ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงไม่ประหลาดใจที่พบหัวข้อข่าวบน คมชัดลึกออนไลน์ ประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2555 ว่า “ผู้ป่วยเบาหวานซื้อเอนไซม์ทางเคเบิลมากินถึงตาย หลงเชื่อโฆษณา เลิกกินยาจากโรงพยาบาล ผ่านไป 2 เดือนไตวาย กพย. (ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา) ชี้ผลิตภัณฑ์โฆษณาเกินจริงหัวหมอเลี่ยงกฎหมายเร่งคุมเข้ม”   ที่สำคัญจากเว็บของหนังสือพิมพ์ แนวหน้า เมื่อ 30 ธันวาคม 2555 ได้มีบทความที่กล่าวว่า “กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในปีหน้า  อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จะต้องทำงานอย่างเข้มข้นขึ้น เพราะจะมีธุรกิจเคเบิล และทีวีดาวเทียมได้รับใบอนุญาตดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเกิดขึ้นของ ทีวีดิจิตอล ดังนั้น อนุกรรมการต้องสร้างกลไกการรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้ผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และต้องเร่งสร้างความรู้เท่าทันสื่อผ่านเครือข่ายผู้บริโภค”   ในบทความเดียวกันของ แนวหน้า (www.naewna.com) นั้น มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า “รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.เตรียมรับมือกับการขยายตัวของเคเบิล ทีวีดาวเทียม และทีวีดิจิตอล ในหลายระดับ ตั้งแต่การปรับปรุง พ.ร.บ.อาหาร ยา และเครื่องสำอาง โดยเพิ่มโทษปรับความผิดด้านโฆษณา จาก 5,000 บาท เป็นหลักแสนบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะกรรมการกฤษฎีกาขั้นสุดท้าย ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป”   ตัวอย่างข่าวที่ผู้เขียนยกมาให้ดูนั้น เป็นหลักฐานยืนยันว่า ในปีใหม่ 2556 นี้ ถ้ากระบวนการของรัฐไม่สามารถทำได้เต็มความสามารถในการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและโภชนาการแล้ว น่าจะมีเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเกิดขึ้นอีกมากมาย ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันโทรทัศน์หลายช่องออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง และเปิดโอกาสให้มีการโฆษณาขายสินค้าหลอกลวงผู้บริโภคในช่วงที่ผู้กำกับความถูกต้องอาจนอนหลับ (2.00 น. – 5.00 น.) หรือเพิ่งกลับมาจากกินข้าวกลางวัน (13.00 น. – 15.00 น.) หนังท้องยังตึง หนังตายังหย่อน   อีกทั้งใน Youtube เจ้าเก่านั้น ยังเป็นแหล่งเผยแพร่การขายสินค้าด้านอาหารและโภชนาการ โดยมีคนที่เป็นใครก็ไม่รู้ จบอะไรก็ไม่รู้ มาสาธยายความรู้งู ๆ ปลา ๆ อธิบายคุณสมบัติของสินค้าในระดับที่บางครั้งนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้เรียนรู้เฉพาะทางยังไม่เข้าใจ แต่ที่น่ากลัวกว่าก็คือ คนที่มาโฆษณาขายสินค้านั้นกลายเป็นคนที่จบการศึกษาสูงหรือเป็นที่ยอมรับในวงสังคม   ใน Youtube นั้นนอกจากคนที่เป็นใครก็ไม่รู้มาหลอกขายของแล้ว ก็ยังมีดารามารับจ้างหารับประทานด้วย ขอให้ท่านผู้อ่านใช้คำค้นหาคลิปว่า “ดารา อาหารเสริม” เมื่อต้องการดูการขายสินค้าแบบไทยๆ  แต่ถ้าต้องการความเป็นอินเตอร์หน่อยก็ใช้คำว่า “celebrity dietary supplement” ท่านก็จะได้ดูอะไรที่บันเทิงไปอีกแบบหนึ่งว่า ดารานั้นนอกจากหลอกเราในหน้าจอภาพยนตร์และโทรทัศน์แล้ว ยังตามมาหลอก (หลอน) ในอินเตอร์เน็ตอีกหลายคน   นอกจากนี้เมื่อดูฟรีทีวีทั้งหลายในเวลาที่เป็นไพร์มไทม์คือ มีคนดูมาก บางครั้งก็มีคนที่บางท่านอาจชื่นชอบมาบอกว่า ให้กินสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง โดยเปิดตู้เย็นออกมามีแต่สินค้าอย่างว่านั้นวางอยู่เต็มตู้ ซึ่งแค่ปลายตาดูก็รู้ว่า ไม่เป็นจริง (ท่านเข้าไปหาดูโฆษณาลักษณะนี้ได้ที่ www.adintrend.com) มีแต่คนเสียสติเท่านั้นที่จะแช่สินค้าชนิดเดียวเต็มตู้เย็น คำถามคือ คนประเภทนี้มีสิทธิมาหลอกผู้บริโภคโดยไม่มีกฎหมายมาจัดการหรืออย่างไร วกกลับมาที่เรื่องเอนไซม์ที่มีผู้ป่วยเลือกบริโภคแล้วเลิกการรักษาแผนปัจจุบันจนตายอีกทีว่า เป็นตัวอย่างที่ฟ้องให้เห็นถึงความล้มเหลวในการศึกษาที่ทำให้คนไทยไม่รู้จักคำสอนของพระพุทธองค์บทที่ว่าด้วย กาลามสูตร เขาเหล่านั้นจึงขาดการออกกำลังสมองในการคิดว่าสิ่งใดควรถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง   เอนไซมนั้นเป็นโปรตีน ดังนั้นการกินเข้าไปทางปาก ยังไงๆ ก็ถูกย่อยเป็นกรดอะมิโนแล้วจึงถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบโลหิต จากนั้นร่างกายก็เอากรดอะมิโนที่ได้ไปใช้ในการสร้างโปรตีนที่ร่างกายต้องการ ซึ่งหลักการนี้สามารถประยุกต์ได้กับสินค้าหลายชนิดเช่น คอลลาเจน (โปรตีน) กลูตาไทโอน (ไตรเป็บไทด์) ซึ่งเป็นสินค้าที่เมื่อกินก็ได้กิน จากนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็ถูกย่อยไปหมด   ปัญหาด้านสุขภาพที่อาจเกิดได้ต่อผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์แปลกๆ นั้นมีตัวอย่างมากมาย หาอ่านได้ในเว็บ www.quackwatch.com ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีพืชที่เรียกว่า Chaparral เป็นองค์ประกอบ ซึ่งในอนาคตอาจมีใครสักคนนำเข้ามาขายในบ้านเราแบบว่าทางการไม่รู้เรื่องก็ได้   Chaparral หมายถึง พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เป็นชายฝั่งทะเลตะวันตกของทวีปเช่น ในสหรัฐอเมริกาอยู่แถวแคลิฟอร์เนีย อเมริกาใต้แถวชิลี อัฟริกาใต้แถวเคปทาว์น ออสเตรเลียแถบตะวันตก และบางส่วนของทะเลเมดิเตอเรเนียน มีพืชหลายชนิดที่ขึ้นได้เฉพาะบริเวณ Chaparral และชนพื้นเมืองนำมาใช้เป็นยาพื้นบ้าน ดังนั้นคำว่า Chaparral จึงมีอีกความหมายว่าเป็น ไม้พุ่มที่มีใบขนาดเล็กและหนามตามลำต้นจึงทนแล้งได้ดี มักขึ้นอยู่บนภูเขาตามแนวชายฝั่งทวีป เป็นพืชประเภทเดนตาย (คือ ตายยาก) และตัวมันมักติดไฟง่าย ด้วยเหตุนี้บริเวณ Chaparral เช่น รัฐแคลิฟอร์เนียจึงมีไฟไหม้เป็นประจำ และเมื่อไฟดับแล้วมีฝนแรก พืชพวกนี้ก็จะงอกขึ้นมาทุกครั้ง   มีรายงานเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ของ Chaparral ใน Genus Adenostoma ว่ามีสารจำพวก แคมเฟรอล (kaemferol) และเควร์ซีติน (quercetin) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีการศึกษาว่าอยู่ในชาเขียว และน่าจะมีฤทธิ์ต้านมะเร็งถ้าบริโภคในรูปแบบที่มนุษย์ธรรมดากิน ไม่ใช่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร   ประเด็นที่น่าสนใจคือ พืชบางชนิดที่ขึ้นใน Chaparral นั้นถูกจัดเป็นสมุนไพรที่ก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบ (Hepatitis) มีรายงานผลการใช้ Chaparral ที่ได้จากต้น Larrea tridentata ซึ่งเป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่งที่จำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีอุบัติการเกิดพิษต่อตับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาจึงจัดสมุนไพรที่ขึ้นใน Chaparral ให้อยู่ในกลุ่มที่ไม่ปลอดภัยและถอนทะเบียนไม่ให้จำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร   อีกตัวอย่างคือ Willow bark หรือเปลือกต้นวิลโลซึ่งมีองค์ประกอบทางพฤกษเคมีเป็นสารต้านอาการปวดเหมือนยาแก้ปวดแอสไพริน คือมีสารซาลิซิน(salicin) ซึ่งถูก เมื่อถูกกรดในกระเพาะอาหารจะเปลี่ยนเป็น กรดซาลิไซลิก (salicylic acid) จึงมีการนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับเด็กแล้วโฆษณาว่าสามารถแก้ปวดได้โดยไม่มีแอสไพริน ทั้งที่ความจริงมีผลข้างเคียง(ซึ่งไม่ได้แสดงที่ฉลาก) เหมือนยาเม็ดแอสไพริน   ที่น่าตลกก็คือ เมื่อเปลือกไม้นี้ถูกนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ขายในบ้านเรา กลับอยู่ในรูปเครื่องสำอางโดยโฆษณาว่า “สารสกัดจากเปลือกจากต้น Willow Tree ซึ่งพบได้ในอเมริกาเหนือ มีสาร Salicylic Acid และ Tannins อื่นๆ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกระชับรูขุมขน ช่วยผลัดผิว ต้านการอักเสบ ลดไข้บรรเทาปวด ฆ่าเชื้อโรคโดยเฉพาะแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของสิว สาร Salicylic Acid ธรรมชาติที่ได้จากการสกัดเปลือกของต้น Willow Tree นี้ มีฤทธิ์คล้าย Salicylic Acid ที่ผลิตทางเคมี แต่ไม่มีผลข้างเคียงร้ายใดๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการระคายเคืองต่อผิว จึงปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ได้ถึงระดับ 65% (หรือเทียบเท่า Salycilic Acid ที่ 10%) จากผลการวิจัยพบว่า Willow Bark Extract สามารถทำหน้าที่ผลัดผิวได้ดีกว่า Salicylic Acid แบบเคมี นอกจากนี้ Willow Bark Extract ยังมีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียชนิด Staphylococcus aureus และ Propionibacterium acnes ซึ่งเป็นต้นเหตุของสิว ทำให้เหมาะกับการผสมในเครื่องสำอางเพื่อช่วยรักษาสิว”   ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางนั้น ถ้ามีแหล่งกำเนิดมาจากต่างประเทศคือ สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียแล้ว ผู้บริโภคมักคิดว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัย เพราะเรามักมีภาพพจน์ว่า ฝรั่งนั้นฉลาดในการผลิตสิ่งเหล่านี้และหน่วยราชการของเขาน่าจะดูแลดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าท่านผู้บริโภคได้เข้าไปศึกษาถึงเรื่องการควบคุมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางของประเทศที่น่าจะเจริญแล้วทั้งสองนี้ จะรู้สึกว่าเดือนมกราคม 2556 นี้มันหนาวกว่าที่คิดเสียอีก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 166 หนูไม่รู้ เขาให้หนูมา

เรื่องเล่าเฝ้าระวังฉบับที่แล้ว นำเสนอกระบวนการหลอกขายสินค้าให้กับผู้สูงอายุไปแล้ว แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจว่าผู้บริโภคกลุ่มวัยอื่นๆ จะไม่ถูกหลอกลวง เพราะขึ้นชื่อว่าการค้าแล้ว มันสามารถโน้มน้าวหลอกลวงผู้บริโภคได้ทุกกลุ่มอย่างแน่นอน กระทั่งวัยอย่างผม (วัยไหนคงต้องเดากันเองนะครับ) ผมพบกับน้องคนนี้ในวันหนึ่ง เธอโผล่มาที่สำนักงานของผมในชุดนักศึกษา ภายใต้ใบหน้าอ่อนเยาว์แม้จะแต่งหน้าเข้มไปหน่อย แต่ก็พอเดาได้ว่าอายุเธอคงประมาณใกล้ๆ ยี่สิบ เธอยื่นจดหมายแนะนำตัวจากบริษัทให้ผม ข้อความในจดหมายระบุว่า “ขออนุญาตฝึกงานสาธิตนวดเพื่อสุขภาพ” พร้อมรายละเอียดแจ้งว่า “ทางบริษัทได้จัดส่งนักศึกษาที่กำลังฝึกงานอยู่ที่บริษัทให้ออกฝึกงานนอกสถานที่ และขออนุญาตให้นักศึกษาได้พูดและสาธิตการนวดเพื่อสุขภาพ ใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที โดยบริษัทจะเตรียมอุปกรณ์มาเองทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักศึกษาได้ทดสอบการพูดและฝึกการสาธิตอุปกรณ์เพื่อหาประสบการณ์จริง” (โถ..เพื่อการศึกษา น่าสนับสนุน) เมื่อผมถามข้อมูลเพิ่มเติม เธออธิบายว่า บริษัทที่เธอฝึกงานให้เธอมาพูดอธิบายเครื่องมือนวดเพื่อสุขภาพ ซึ่งเธอจะได้แต้มในการพูดเป็นเงินจำนวนประมาณสามสิบบาทต่อครั้ง วันหนึ่งจะต้องพูดให้ได้สามสิบราย และต้องพยายามให้คนฟังยินยอมให้เธอสาธิตอุปกรณ์นวดเพื่อสุขภาพ อย่างน้อยสิบราย ซึ่งเธอจะได้ค่าเหนื่อยในการสาธิตอุปกรณ์อีกรายละหนึ่งร้อยบาท ถ้าทำได้ครบถ้วนดังกล่าวจึงจะถือว่าการฝึกงานผ่าน ส่วนอุปกรณ์ที่สาธิตนี้ ผู้ฟังจะซื้อไปใช้หรือไม่ก็ไม่เป็นไร แต่เธอไม่ยอมโชว์อุปกรณ์ให้ผมเห็น แต่ที่แน่ๆ ผม คำนวณรายได้พบว่าหากเธอทำได้ครบถ้วน นอกจากเธอจะได้ฝึกงานแล้ว เธอยังจะได้ค่าตอบแทนอีกหนึ่งพันเก้าร้อยบาท (โถ...มากไม่ใช่เล่น) ผมถามเธอไปว่า การที่เธอจะเอาอุปกรณ์มาใช้ เธอรู้หรือเปล่าว่าอุปกรณ์นี้เป็นเครื่องมืออะไร และมีกฎหมายควบคุมดูแลหรือไม่ ปรากฏว่าเธอตอบว่าไม่ทราบ เอกสารหลักฐานอะไรที่ต้องมีตามกฎหมาย เธอไม่รู้ทั้งสิ้น เธอทราบแค่ว่า บริษัทสั่งให้มาฝึกงาน (โถ...ไร้เดียงสานะหนู) ผมจึงต้องอธิบายเพิ่มเติมไปว่า อุปกรณ์นวดเพื่อสุขภาพน่าจะเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมาย ซึ่งมีกฎหมายเครื่องมือแพทย์ควบคุมดูแลอยู่ หากนำเข้ามาในประเทศก็ต้องไปติดต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อขออนุญาตเสียก่อน และหากจะทำการโฆษณาก็ต้องขออนุญาตด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ใครจะเอามาใช้ หรือโฆษณาได้อย่างตามใจชอบ เพราะอาจเกิดอันตรายได้ เธอทำหน้าละห้อย พยายามคะยั้นคะยอเพื่อให้ผมใจอ่อนยอมให้เธอได้ทำตามที่บริษัทสั่งมา แต่ผมยังยืนกรานไม่ยอม และแนะนำให้เธอกลับไปดูเอกสารหลักฐานมาจากบริษัทก่อน ทั้งนี้เพื่อตัวของเธอเองจะได้ไม่ถูกใครหลอกให้กระทำผิด สุดท้ายเธอจึงยอมจากไป (โถ...อย่าหาว่าผมใจร้ายนะหนู) เมื่อเธอกลับไปแล้ว ผมลองสืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ก็ไม่พบชื่อบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด ผมเลยไม่รู้ว่า เธอถูกเขาหลอกให้มาขายของ หรือผมถูกเธอหลอกว่าเธอถูกหลอกให้มาขายของกันแน่ (โถ...น่าสงสารทั้งหนูและผม) ยังไงก็ระวังการหลอกขายสินค้าในรูปแบบแปลกๆ นี้ด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >