ฉบับที่ 195 ของหลุดจำนำ

หากเรามีเหตุจำเป็นที่ต้องนำทรัพย์สินไปจำนำที่โรงรับจำนำ และไม่ต้องการให้ทรัพย์สินดังกล่าวหลุดจำนำ เราจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร ลองไปดูเหตุการณ์นี้กันคุณสมพรนำสร้อยคอทองคำไปจำนำ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายภายในครอบครัว โดยมีการตกลงวันชำระดอกเบี้ยที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามหลังจากชำระดอกเบี้ยไปได้ไม่กี่เดือน เธอก็ขาดส่งติดต่อกันหลายเดือน เนื่องจากมีปัญหาทางการเงิน ซึ่งภายหลังทางโรงรับจำนำก็ได้แจ้งมาว่าให้นำเงินมาไถ่ เพราะสร้อยคอดังกล่าวกำลังจะหลุดจำนำแล้ว ทำให้คุณสมพรไปกู้เงินมาจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปไถ่สร้อยคอของเธอ แต่เมื่อไปถึงที่โรงรับจำนำ กลับพบว่าไม่สามารถไถ่สร้อยคืนได้แล้ว จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์สอบถามข้อมูลผู้ร้องเพิ่มเติม ถึงวันและเวลาการขาดส่ง รวมถึงระยะเวลาการกลับไปไถ่สร้อยคอดังกล่าวคืน อย่างไรก็ตามผู้ร้องไม่สามารถจำวันและเวลาที่แน่นอนได้ ศูนย์ฯ จึงให้คำปรึกษาด้านกฎหมายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 ซึ่งกำหนดขั้นตอนของทรัพย์สินที่จะหลุดเป็นของผู้รับจำนำไว้ ดังนี้  มาตรา 25 ให้ผู้รับจำนำทำบัญชีทรัพย์จำนำที่ผู้จำนำขาดส่งดอกเบี้ยเป็นเวลากว่า 4 เดือนยื่นต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต และปิดประกาศบัญชีนั้นไว้ ณ ที่เปิดเผย ที่โรงรับจำนำนั้นตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งถ้าผู้รับจำนำได้ปฏิบัติการถูกต้องครบถ้วนตามข้างต้นแล้ว ทรัพย์จำนำจะหลุดเป็นสิทธิของผู้รับจำนำก็ต่อเมื่อ 1. ทรัพย์นั้นอยู่ในประกาศของโรงรับจำนำ 2. ทรัพย์นั้นเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตมิได้สั่งอายัดไว้ และ 3. ผู้จำนำมิได้ขอไถ่ภายในกำหนดเวลา 30 วันนับแต่วันประกาศ ดังนั้นหากผู้ร้องไม่ได้ไปไถ่ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ทรัพย์นั้นย่อมหลุดเป็นของผู้รับจำนำ ซึ่งมีสิทธินำไปขายต่อได้ 

อ่านเพิ่มเติม >