ฉบับที่ 276 ไซบูทรามีน คืนชีพ

        ข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่จังหวัดอ่างทอง เมื่อกลางปี 2562 ผลชันสูตรพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผลการตรวจเลือดพบว่ามียา 4 ชนิด (ที่มีการผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนักที่ผู้เสียชีวิตรับประทาน) ได้แก่ ฟูลออกซิทีน (Fluoxetine) บิซาโคดิล (bisacodyl) ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (hydrochlorothaiazide) และ ไซบูทรามีน (cybutramine) ยาทั้ง 4 ชนิด ออกฤทธิ์ร่วมและเสริมกันทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเสียชีวิต นำไปสู่การปราบปรามการแอบลักลอบปลอมปน “ไซบูทรามีน” ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคืออำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพราะมีข้อมูลว่าเป็นต้นทางการลักลอบนำเข้าสารไซบูทรามีนจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการตรวจค้นและพบวัตถุดิบสารไซบูทรามีนและการปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักจำนวนมากหลายยี่ห้อ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว         ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2566 เครือข่ายเฝ้าระวังในจังหวัดเชียงราย รายงานว่าพบการกลับมาจำหน่ายและพบการบริโภคผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “Lishou” และ “Bashi”ในหลายพื้นที่ โดยผลิตภัณฑ์ที่พบใครั้งล่าสุดนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้เคยตรวจพบการปลอมปนสารไซบูทรามีน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เคยดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายธุรกิจการลักลอบผลิตยาลดความอ้วนไม่ได้หมดไป ยังคงคืนชีพดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การกลับมาระบาดครั้งนี้ยังพบว่ามีการโฆษณาขายในตลาดออนไลน์อย่างเปิดเผย        ขอเตือนภัยมายังผู้บริโภคให้สังเกตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทานอยู่ว่าได้ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หรือแม้จะมีเลข อย. หากรับประทานไปแล้วน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วหรือผอมเร็ว ให้ระวังว่าอาจมีสารไซบูทรามีนปลอมปนควรหยุดรับประทาน แล้วให้ส่งผลิตภัณฑ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านตรวจสอบและดำเนินการต่อไปเพื่อความปลอดภัย         ไซบูทรามีนคืออะไร : ไซบูทรามีนคือสารเคมีที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง (สมอง) ที่ทำให้ไม่รู้สึกหิว อิ่มเร็วและกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย จึงมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยนำมาลักลอบปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก แต่เนื่องจากสารนี้มีผลข้างเคียงต่อร่างกายทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับและท้องผูก ที่สำคัญมีรายงานผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต ประเทศไทยจึงจัดไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และยกเลิกทะเบียนตำรับยาที่มีสารนี้ไปแล้วตั้งแต่ ปี 2553

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ปุ๊นหนักหัวใจวายได้นะ

        ปุ๊นนั้นเป็นคำที่นักการเมืองคนหนึ่งกล่าวในการหาเสียงสมัยเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งผู้เขียนตีความทั้งจากฟังการหาเสียงและเคยอ่านพบในหลายบทความเกี่ยวกับกัญชาว่า “ปุ๊น” น่าจะหมายถึงการสูบกัญชา (กริยา) ก็ได้หรือหมายถึงตัวกัญชา (นาม) ก็ได้ ในประเด็นหลังนี้เว็บ https://siamrath.co.th เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 มีบทความหนึ่งให้ข้อมูลประมาณว่า วัยรุ่นโบราณมักเรียกกัญชาว่า "เนื้อ" หรือ "ปุ๊น" หรือ "ใบหญ้าร่าเริง" และวัยรุ่นสมัยต่อมาบางกลุ่มเรียกกัญชาว่า "ชาเขียว" หรือ "หนม" เหตุที่เรียกกัญชาเพราะว่า"เนื้อ" เพราะกลิ่นกัญชาจากการสูบที่ลอยมาหอมคล้ายเนื้อวัวย่าง (ประเด็นนี้น่าจะขึ้นกับความชอบส่วนตัวของแต่ละคนมากกว่า) บทความนั้นกล่าวต่อประมาณว่า สายเขียวมักไม่สูบกัญชาเพียว ๆ เลยเพราะแรงเกินไป ต้องเอากัญชามายำก่อนกับเครื่องยำหลากหลาย เช่น ยาเส้นในบุหรี่ โดยใช้นิ้วคลึงผสมในสัดส่วนที่พึงใจแล้วบีบอัดให้แน่น ก่อนใช้มีดซอยให้ละเอียด อาจพลิกแพลงเอาเหล้าพรมหรือใส่สารเสพติดอื่นๆ เข้าไป แล้วพันลำลงบ้องไม้ไผ่เพื่อสูบ ซึ่งหลังเสพในระยะแรกจะล่องลอย ร่าเริง หัวเราะง่าย เนื่องจากฤทธิ์ของ Tetrahydrocannabinol (THC) หลังจากผ่านไป 2 ชั่วโมงแล้ว กัญชาจะออกฤทธิ์กดประสาทจนทำให้ลิ้นเริ่มพันกัน พูดไม่รู้เรื่อง ง่วงซึม         เป็นที่ตระหนักกันดีว่าไม่มีอะไรในโลกที่ดีเลิศเพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกับเหรียญย่อมมีสองด้าน กัญชาก็เช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีการพร่ำพรรณาถึงความดีของกัญชาในทางการแพทย์บางประการ ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพย่อมมีออกมาบ้างเช่น มีงานวิจัยใหม่ที่แสดงถึงปัญหาของยาเสพติดซึ่งรวมถึงกัญชาต่อโอกาสเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว โดยในการศึกษาเชิงสังเกตตีพิมพ์เป็นบทความเรื่อง Cannabis, cocaine, methamphetamine, and opiates increase the risk of incident atrial fibrillation (กัญชา โคเคน เมทแอมเฟตามีน และฝิ่นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว) ในวารสาร European Heart Journal ของปี 2022 ซึ่งได้ตรวจสอบผลกระทบระยะยาวของยาเสพติด เช่น เมทแอมเฟตามีน (หรือยาบ้า) โคเคน ฝิ่น และกัญชา แล้วพบความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นในความเสี่ยงสำหรับภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation)  ผลข้างเคียงของยาดังกล่าวนี้อยู่ในลักษณะที่เกิดทันทีหรือไม่เกิดทันที อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ได้ให้หลักฐานที่แสดงว่า การใช้สารเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงระยะยาวในการเกิดโรคเรื้อรังซึ่งส่งผลเสียต่อผู้ป่วยในแบบที่มักจะเป็นไปตลอดชีวิต         ข้อมูลทางการแพทย์ในบทความต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตอธิบายประมาณว่า อาการภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วนั้นคือ ภาวะที่มีการกระตุ้นการทำงานของหัวใจห้องบนแบบผิดปรกติซึ่งมีการกระตุ้นกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ ส่งผลให้การบีบตัวของหัวใจห้องบนไม่เป็นตามระบบที่ควรเป็น ตามมาด้วยการที่หัวใจเต้นเร็วแบบไม่สม่ำเสมอ มีแรงบีบต่ำกว่าปรกติ ผลแทรกซ้อนของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว คือ หัวใจสูบฉีดเลือดออกได้ลดลง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมมักนำไปสู่ภาวะหัวใจวายในที่สุด นอกจากนี้การที่เลือดหมุนวนตกค้างในหัวใจห้องบนอาจก่อให้เกิดลิ่มเลือดแล้วหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมองได้สูงกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมักเกิดถึงร้อยละ 5-15 ของกลุ่มคนอายุ 80-90 ปี แต่การศึกษาใหม่ที่นำมาเล่าในบทความนี้พบว่า คนที่ใช้ยาเสพติดซึ่งรวมถึงกัญชามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเกิดอาการดังกล่าว         งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์เป็นบทความในวารสาร European Heart Journal ของปี 2022 ซึ่งนักวิจัยใช้แบบสอบถามหาข้อมูลจากชาวแคลิฟอร์เนียอายุเกิน 18 ปี จำนวน 23,561,884 คน ที่มีความจำเป็นต้องเข้าแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล หรือใช้บริการการผ่าตัดผู้ป่วยนอก หรือเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาล ตั้งแต่เดือนมกราคม 2005 ถึงธันวาคม 2015 ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ผู้ให้ข้อมูล 98,271 คนเสพเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า), 48,701 รายเสพโคเคน, 10,032 รายเสพฝิ่น และ 132,834 รายเสพกัญชา ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตลอดระยะเวลาการศึกษา 10 ปี ผู้ให้ข้อมูลที่เคยใช้ยาเสพติด 998,747 คน (4.2%) ซึ่งไม่เคยมีอาการภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมาก่อน ได้เริ่มมีอาการดังกล่าวหลังจากการติดตามนาน 10 ปี         สำหรับผลสรุปของการศึกษานั้นนักวิจัยพบว่า ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วเพิ่มขึ้น 86% ถ้ามีมีการใช้เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า), 74% ถ้ามีการใช้ฝิ่น, 61% ถ้ามีการใช้โคเคน และ 35% ถ้ามีการใช้กัญชาซึ่งผู้ทำวิจัยได้กล่าวว่า นี่เป็นการศึกษาครั้งแรกที่สังเกตเห็นความสัมพันธ์ระหว่างการใช้กัญชา (นอกเหนือไปจากยาเสพติดอื่น) และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว         ในบทความดังกล่าวนั้นผู้ทำวิจัยได้พยายามอธิบายถึงกลไกที่สารเสพติดทั้งหลายมีอิทธิพลต่อภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วว่า เกิดเนื่องจากความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระดับหนึ่งต่อการทำงานของหัวใจในลักษณะการปรับตัวทางไฟฟ้า (electrical remodeling) เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมของช่องทางเข้าออกของไอออนเฉพาะที่เซลล์ประสาท ดังที่เคยมีการศึกษาเรื่อง Cannabinoid interactions with ion channels and receptors (ปฏิสัมพันธ์ของแคนนาบินอยด์ต่อช่องไอออนและตัวรับ) ในวารสาร Channels ของปี 2019 ซึ่งตั้งสมมุติฐานว่า สารสำคัญดังกล่าวในกัญชาน่าจะมีผลต่อการปรับตัวของเยื่อหุ้มเซลล์ (membrane fluidity) ซึ่งส่งผลถึงการทำหน้าที่ของเซลล์ประสาท         นอกจากนี้ยังมีการศึกษาซึ่งใช้สัตว์ทดลองในบทความเรื่อง Cannabidiol Impairs Brain Mitochondrial Metabolism and Neuronal Integrity (แคนนาบิไดออลบั่นทอนเมตาบอลิซึมของไมโทคอนเดรียในสมองและความสมบูรณ์ของเส้นประสาท) ในวารสาร Cannabis and Cannabinoid Research ของปี 2023 ให้ข้อมูลว่า สาร CBD (ซึ่งมีในกัญชาเพื่อก่อให้เกิดความสมดุลในการออกฤทธิ์ของสาร THC) ในระดับความเข้มข้นต่ำเป็นไมโครโมลาร์นั้นมีผลต่อการลดระดับการสร้างพลังงาน (mitochondrial respiration) ของไมโทคอนเดรียโดยปรับเปลี่ยนการซึมผ่านผนังของไมโทคอนเดรียของสารชีวเคมี ซึ่งรวมถึงการดูดซึมแคลเซียมและยับยั้งช่องทางเข้าออกของอนุมูลคลอไรด์ของไมโตคอนเดรีย จนน่าจะทำให้ปริมาณแคลเซียมในไมโทคอนเดรียลดลง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นกับเซลล์ cardiac myocytes ซึ่งเป็นเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ผลที่ตามมาคือ การทำงานของเซลล์นั้นคงผิดปรกติหรือหมดประสิทธิภาพ         กล่าวกันว่าผลการศึกษาที่รายงานนั้นเป็นแนวทางสำคัญต่อการวิจัยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วในอนาคต โดยอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้เพียงแต่มากหรือน้อยเพียงใดเท่านั้น ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงการใช้สารเสพติดเหล่านี้ซ้ำๆ และเรื้อรังทำให้ผู้ทำวิจัยจำเป็นต้องทำการแยกแยะว่า รูปแบบการบริโภคกัญชาที่ต่างกันนั้นมีผลต่อภาวะทางสุขภาพที่เป็นปัญหาอย่างไรหรือไม่ อีกทั้งการศึกษาทางระบาดวิทยาเชิงสังเกตแบบย้อนกลับ (เกิดผลแล้วตามหาเหตุ) เช่นนี้ คนที่มีอคติอยู่แล้วว่ากัญชาเป็นของดีอาจไม่ยอมรับ ทำให้จำเป็นต้องมีการศึกษาทางระบาดวิทยาที่วางแผนเพื่อดูผลที่เกิดในอนาคตหลังจากการควบคุมตัวแปรต่าง ๆ ไว้ไม่ให้แสดงปัญหา         ข้อจำกัดสำหรับการค้นพบในการศึกษานี้คือ เนื่องจากเป็นการศึกษาในลักษณะที่ต้องการตรวจสอบการใช้สารต่าง ๆ ที่อาศัยความร่วมมือในการรายงานด้วยตนเองของผู้ให้ข้อมูล ซึ่งบางกรณีอาจไม่น่าเชื่อถือเท่าที่ควร เนื่องจากเมื่อใดที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้สารเสพติดที่ผิดกฎหมายผู้ให้ข้อมูลอาจกังวลผลทางกฏหมายที่อาจตามมาหลังการให้ข้อมูล ดังนั้นการศึกษาที่ได้กล่าวถึงในบทความนี้ผู้วิจัยจึงใช้การเข้ารหัสด้านการดูแลสุขภาพจากผู้ให้บริการด้านสุขภาพซึ่งมีข้อมูลต่าง ๆ จากการตรวจวัดทางคลินิกเป็นหลักฐานโดยไม่เชื่อมโยงไปถึงผู้ให้ข้อมูล         ในสถานะการที่ผู้คนซึ่งชื่นชอบการสูบกัญชาพบว่า มีการเพิ่มแง่มุมทางกฎหมายจนเสมือนเป็นการเปิดไฟเขียวในสิ่งที่เขาทั้งหลายชอบ การคำนึงถึงผลด้านสุขภาพที่เคยรับรู้กันมาในอดีตอาจถูกบิดเบือนให้ลืมไป ซึ่งปรากฏการณ์นี้น่าจะกลายเป็นประเด็นหลักของปัญหาด้านสาธารณสุขในอนาคตอันใกล้ที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาสังคมที่รุนแรง อีกทั้งสิ่งที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ในงานวิจัยเกี่ยวกับสารเสพติดคือ ไม่สามารถระบุประเภทหรือปริมาณเมื่อมีการใช้สารเสพติดหลายชนิดผสมกันจนทำให้ยากที่จะระบุถึงปริมาณที่มีการใช้ต่อปัญหาทางสุขภาพที่เกิดขึ้นได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ที่สุดของหัวใจ : จำก็ไม่ได้ ลืมก็ไม่ลง

         “บาดแผล” หมายถึงอะไร หากเป็นบาดแผลทางกายแล้ว ในทางการแพทย์มักหมายถึงการบาดเจ็บทุกชนิดที่ส่งผลต่อการแตกสลายของผิวหนังหรือเยื่อบุร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เลือดออก และนำไปสู่การติดเชื้อได้ แต่หากเป็นบาดแผลทางใจนั้นเล่า จักหมายความว่าอะไร?         ในทางจิตวิทยา บาดแผลทางใจถูกตีความว่าเป็นโรคทางจิตเวช อันเกิดขึ้นภายหลังจากได้รับความบอบช้ำทางจิตใจ อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงวัยเด็กหรือบางห้วงแห่งชีวิต แต่ทว่ากลับสลักแน่นและฝังรากลึกอยู่ในความทรงจำของคนเรา จนนำไปสู่อาการที่แม้ไม่อยากจะจดจำ แต่ก็ยากจะสลัดทิ้งไปจากห้วงคำนึง         อาการอิหลักอิเหลื่อของบาดแผลทางใจที่เรียกกันว่า “จำก็ไม่ได้ ลืมก็ไม่ลง” เฉกเช่นนี้ ก็คงพ้องกับอาการที่เกิดขึ้นกับ “เกื้อคุณ” และ “อัญมณี” ที่กว่าจะลงเอยกับความรัก ก็ต้องผ่านบททดสอบการเยียวยาบาดแผลแห่งจิตใจกันอย่างสะบักสะบอม ในละครโทรทัศน์แนวดรามาเข้มข้นอย่าง “ที่สุดของหัวใจ”         จุดเริ่มต้นของเรื่องเกิดขึ้นเมื่ออัญมณีผู้เป็นหลานสาวคนเดียวของตระกูล “จางวางประวาส” ตัดสินใจสอบชิงทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะต้องการเอาชนะ “คุณประวิทย์” ผู้เป็นปู่ ซึ่งมีอุปนิสัยชอบเอาตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล และเชื่ออยู่เสมอว่า ผู้หญิงไม่มีทางที่จะก้าวหน้าทัดเทียมบุรุษเพศได้         หลังจากทะเลาะกันจนบ้านแทบแตก เพราะปู่เห็นคุณค่าแต่กับ “ชนุตม์” หลานชายผู้เป็นพี่น้องต่างมารดากับเธอ อัญมณีก็เลือก “เก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า” ไปเสี่ยงชีวิตตายเอาดาบหน้าที่ต่างแดน เพื่อหลีกหนีจากสภาพชีวิตที่แม้จะเป็นหลานแท้ๆ แต่ก็ถูกเลือกปฏิบัติประหนึ่งคนใช้ในบ้านเท่านั้น         ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ภาพก็ตัดสลับมาที่พระเอกหนุ่มเกื้อคุณ หลานชายของ “กมลาสน์” เจ้าของอาณาจักรธุรกิจ “ซีอิสรา” แม้ชีวิตที่ลงตัวของเขาดูจะรุ่งโรจน์ก้าวหน้าทางหน้าที่การงานก็ตาม แต่ในวันที่เกื้อคุณวางแผนจะขอ “พิมรตา” หญิงสาวคนรักแต่งงาน เขากลับถูกสะบั้นรักทิ้งอย่างไร้เยื่อใย         เมื่ออดีตแฟนสาวหันไปเข้าสู่ประตูวิวาห์กับชนุตม์หลานชายเจ้าสัวแห่งตระกูลจางวางประวาส และในวันที่เกื้อคุณผิดหวังกับความรักจนนอนเมามายอยู่ข้างกองขยะท่ามกลางฝนตกพรำๆ เขาก็ได้เจอกับอัญมณีที่เดินมาหยิบยื่นกางร่มให้ พร้อมกับเขียนข้อความเป็นกำลังใจใส่กระดาษแผ่นเล็กๆ ว่า “อย่ารักใครจนลืมว่าตัวเองมีค่าแค่ไหน…ขอให้คุณมีชีวิตใหม่ที่ดีนะคะ”         แม้ร่มคันนั้นกับข้อความในกระดาษแผ่นเล็กๆ จะช่วยให้เกื้อคุณผ่านพ้นวันที่ทุกข์สาหัสถาโถมเข้ามาในชีวิต แต่กระนั้น เขาก็ยังเลือกที่จะไม่เปิดใจให้กับผู้หญิงคนไหนอีกเลย จะมีก็เพียงความทรงจำที่ลางเลือนถึงใบหน้าหญิงสาวผู้เป็นกำลังใจเล็กๆ ในวันที่พิมรตาฝากบาดแผลอันเจ็บปวดไว้ในหัวใจของเขาเท่านั้น         เจ็ดปีที่ผ่านไปในห้วงชีวิตของตัวละครเอก ช่างเหมือนกับเนื้อเพลงที่ว่า “กี่คำถามที่มันยังคาในใจ เธอรู้ไหมมันทรมานแค่ไหน” ซึ่งกลายเป็นความรู้สึกลึกๆ ที่คุกรุ่นอยู่ในซอกหลืบแห่งจิตใจของทั้งอัญมณีและเกื้อคุณ         หลังจากไปชุบตัวเรียนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ อัญมณีก็กลับมาปรากฏตัวเป็นคนใหม่ในชื่อของ “ดร.แอน จาง” และเข้าทำงานเป็นที่ปรึกษาบริษัทซีอิสราของคุณกมลาสน์ การโคจรมาพบกันอีกครากับ ดร.แอน ทำให้เกื้อคุณเกิดอาการหัวใจเต้นแรงขึ้นอีกครั้ง แม้ว่าในอีกด้านหนึ่ง เขาก็ยังไม่สามารถเยียวยาบาดแผลที่พิมรตาฝังฝากลงไปในจิตใจได้ทั้งหมด         แต่ทว่า ในวันที่ความสัมพันธ์กับรักครั้งใหม่ของเกื้อคุณกำลังผลิบานอยู่นั้น พิมรตากลับปรากฏตัวมา และได้สะกิดบาดแผลที่เริ่มจะตกสะเก็ดจนก่อกลายเป็นบาดแผลใหม่ขึ้นอีกครั้ง         หลังจากที่เลิกรากับเกื้อคุณไป พิมรตาก็ค้นพบว่า ตนเองนั้น “เลือกผิด” แม้ฉากหน้าอันหวานชื่นของพิมรตากับชนุตม์ผู้เป็นสามีดูจะเป็นที่น่าอิจฉาของแวดวงสังคม แต่หลังฉากนั้น ความรักที่เธอมีให้กับเขาก็ไม่มากพอ ส่วนชนุตม์เองก็แอบไปมีเล็กมีน้อย เพื่อเติมเต็มความสุขทางเพศรสที่ห่างหายไปจากคนทั้งสองมานานแล้ว จนชีวิตสมรสของทั้งคู่เป็นประหนึ่งนาวากลางสมุทรที่ใกล้อัปปางกลางคลื่นลมระลอกแล้วระลอกเล่า         คนรักเก่าที่รีเทิร์นกลับมา คนรักใหม่ที่สานต่อความสัมพันธ์ซึ่งกำลังไปได้ดี ชีวิตบนทางสองแพร่งที่ดูย้อนแย้งทำให้เกื้อคุณอยู่ในวงจรที่ “กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไม่รู้จะถึงที่หมายกันได้หรือไม่” ส่งผลให้พระเอกหนุ่มต้องตั้งคำถามอยู่เป็นระยะๆ ว่า ชีวิตของตนที่เหลือนับจากนี้จะเดินต่อไปข้างหน้ากันเยี่ยงไร         ไม่ต่างจากนางเอกอัญมณี ที่สู้อุตส่าห์ปรับลุคเปลี่ยนอัตลักษณ์ใหม่เป็น ดร.แอน ผู้ที่กำลังมีชีวิตรักที่ลงตัวและชีวิตการงานที่ก้าวหน้า หากทว่าความเจ็บปวดที่ฝังใจว่าอยากจะเอาชนะคุณประวิทย์ผู้ไม่เคยให้ค่าความสามารถในตัวหลานสาว ก็เหมือนชนักปักกลางความรู้สึก และทำให้ความสัมพันธ์ของเธอกับเกื้อคุณเกิดปัญหา เมื่อฝ่ายชายแอบคิดไปว่า อัญมณีเพียงจะใช้ตนเป็นเพียง “หมากตัวหนึ่ง” เพื่อทวงคืนกับคุณปู่เท่านั้น         บนเส้นทางที่อัญมณีต้องการเลือกเดินไปข้างหน้า แต่บาดแผลที่มิอาจสลัดทิ้งได้ ก็ทำให้เธอต้องเปิดแนวรบหลายด้าน ทั้งการต่อสู้กับธรรมเนียมปฏิบัติที่นายทุนใหญ่อย่างคุณประวิทย์ไม่สนใจลงทุนกับลูกหลานในฝ่ายหญิง และกับอดีตแฟนสาวที่กลับมาหลอกหลอนเกื้อคุณชายผู้เป็นที่รักของเธอในปัจจุบัน        ฉากการเผชิญหน้าระหว่างอัญมณีที่ประกาศกับพิมรตาว่า “แฟนเก่าควรอยู่ในที่ของแฟนเก่า อย่างน้อยก็ควรสะกดคำว่าอดีตให้เป็น” แม้ด้านหนึ่งจะตอกหน้าคู่ปรับว่าหมดสิทธิ์เป็นเจ้าของหัวใจของพระเอกหนุ่มไปนานแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่งก็คือการบอกตัวเธอเองด้วยว่า ถ้าชีวิตรักของเธอกับเกื้อคุณจะมูฟออนไปข้างหน้าได้ ก็ควรต้องเลือกลบลืมอดีตบางอย่างที่สร้างความเจ็บปวดไปเสียบ้างนั่นเอง         และนอกจากเกื้อคุณกับอัญมณีแล้ว ตัวละครที่เหลือในเรื่องก็มีความทรงจำบาดแผลที่เป็นเงาหลอกหลอนไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคุณประวิทย์ผู้มิอาจลดทิฐิจากประเพณีนิยมในการกดทับผู้หญิงผ่านสถาบันครอบครัว หรือพิมรตาที่ในส่วนลึกก็อยากจะเริ่มต้นใหม่กับสามีอีกครั้งแต่ก็ไม่อาจลืมรักครั้งเก่าได้ลง หรือชนุตม์ที่ฝังใจแล้วไปว่าภรรยาไม่เคยรักเขาจริง จนออกไปหาเศษหาเลยกับผู้หญิงไม่ซ้ำหน้า         จนถึงบทสรุปของเรื่อง ที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรมการเสียชีวิตของชนุตม์และพิมรตา หรือการแทบจะล่มสลายของครอบครัวจางวางประวาส หรือความรักอันบอบช้ำครั้งแล้วครั้งเล่าของเกื้อคุณและอัญมณี ก็ทำให้ตัวละครทั้งหลายได้เวลาต้องย้อนหันมาทบทวนบาดแผลและความทรงจำกันจริงจังในฉากจบของเรื่อง         ถ้าดูละครแล้วทำให้เราย้อนเห็นสังคมโดยภาพรวมได้แล้ว กับความขัดแย้งทางสังคมการเมืองที่ฉายเป็นภาพใหญ่ให้ได้สัมผัสอยู่ในทุกวันนี้ บางทีหากเราลองเปิดใจหันกลับไปทบทวนประวัติศาสตร์ความเจ็บปวดเพื่อหาทางออกกันดูบ้าง เราก็อาจจะพบเส้นทางหลุดพ้นไปจากภาวะที่ต้องเผชิญหน้ากับบาดแผลซึ่ง “จำก็ไม่ได้ ลืมก็ไม่ลง” ในเส้นทางอันวิวัฒน์ไปของสังคมไทยได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 มัดหัวใจยัยซุปตาร์ : รู้ไหมใครโสด มีเจ้าของ และไม่มองหญิง

        ตัวตนหรืออัตลักษณ์ของคนเรานั้น เผลอๆ ก็อาจไม่ใช่ตัวเราที่มีอำนาจเข้าไปกำหนด และในขณะเดียวกัน หากเราไม่ได้เป็นคนเดียวที่มีอำนาจกำหนด ตัวตนของเราก็มักมีบางส่วนที่สังคมเข้าไปควบคุมหรือกำกับการรับรู้ให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้         เพื่อสาธิตให้เห็นว่า ตัวตนของคนเราจริงๆ จักเป็นเช่นไร หรือถูกสายตาของสังคมรับรู้และตีความความเข้าใจให้กับผู้คนทั้งหลายได้อย่างไรนั้น อาจดูตัวอย่างได้จากตัวละครนางเอก “วาสิตา” หรือที่คนใกล้ชิดมักเรียกเธอว่า “คุณวา” กับบรรดาหนุ่มๆ หลายคนที่แวดล้อมชีวิตของซุปตาร์สาวนางนี้ ในละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้เจือดรามาอย่าง “มัดหัวใจยัยซุปตาร์”         เพราะเป็นนักแสดงและนางแบบตัวแม่ของวงการบันเทิง ดังนั้น ไม่ว่าจะขยับร่างไปทางไหน สายตาของปาปารัซซีและสาธารณชนก็มักจับจ้องมองอยู่มิได้ห่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชีวิตรักซึ่งเป็น “ส่วนตัว” ที่สุดในความเป็นบุคคล “สาธารณะ” ที่คุณวาก็ต้องยอมแลกให้สปอตไลต์มาฉายส่องอยู่ตลอดเวลา         ด้วยเหตุฉะนี้ ฉากเปิดเรื่องจึงฉายภาพคุณวาผู้ถูกจับตาเรื่องความรักกับ “รชานนท์” หนุ่มหล่อไฮโซ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเศรษฐีนีนักธุรกิจอย่าง “นันทพร” โดยที่ทั้งคู่วางแผนจะเข้าสู่ประตูวิวาห์สร้างอนาคตในเร็ววัน แต่ทว่า จุดพลิกผันก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อ “ปรายฟ้า” นางแบบสาวรุ่นน้องมากล่าวอ้างกับคุณวาว่า เธอเป็นภรรยาลับๆ ของรชานนท์ และกำลังตั้งครรภ์ลูกในท้องของเขาอยู่          แม้ชีวิตสาธารณะจะดูก้าวหน้า แต่ชีวิตรักส่วนตัวกลับไม่เป็นไปดังหวัง คุณวาจึงตัดสินใจยกเลิกงานแต่งงานกับรชานนท์ และในความผิดหวังนั้นเอง คุณวาก็ดื่มเหล้าจนเมาขาดสติ และพลั้งเผลอไปมีความสัมพันธ์แบบ one-night stand กับ “รัฐกร” หรือ “กั๊ต” เมคอัพอาร์ติสต์หนุ่มประจำตัวของคุณวา         ด้วยพล็อตเรื่องที่ผูกปมเอาไว้เช่นนี้ จะว่าไปแล้วก็น่าจะจบลงแบบสุขสมหวังแฮปปี้เอนดิ้งได้นับแต่ตอนต้นเรื่อง หากเพียงคุณวากับกั๊ตจะเลือกลงเอยครองคู่กันไปตามครรลองคลองธรรม แต่ทว่า สำหรับคุณวาแล้ว กั๊ตคือชายหนุ่มที่โตมาในฐานะ “เด็กในบ้าน” หลานของ “ป้ารัณ” ที่เลี้ยงดูคุณวามาตั้งแต่ยังเด็กหลังจากที่มารดาของเธอเสียชีวิตลง และที่สำคัญ คุณวาเองก็รักเอ็นดูกั๊ตเหมือนกับน้องชาย หรือเผลอๆ ก็อาจจะมองชายหนุ่มเป็นเพียง “เพื่อนสาว” ตามภาพเหมารวมแบบฉบับของอาชีพช่างแต่งหน้าของศิลปินดารานั่นเอง         เมื่อเป็นดังนี้ เส้นเรื่องของละครจึงผูกโยงให้กั๊ตต้องพิสูจน์ตนเองให้คุณวาประจักษ์แจ้งแก่หัวใจได้ว่า เขามีสถานะเป็น “ผู้ชายแท้” และทั้งรักทั้งหวังดีกับคุณวาเรื่อยมา โดยมีสถานการณ์ต่างๆ มากมายที่จะทำให้นางเอกซุปตาร์เข้าใจผิดในตัวตนของเขาอยู่เป็นระยะๆ         เพราะตัวตนหรืออัตลักษณ์เป็นโฉมหน้าที่มนุษย์เราสามารถเลือกพลิกด้านใดออกมาสื่อสารกับผู้คนรอบตัว และสังคมเองก็มีภาพจำหรือกำหนดการรับรู้อัตลักษณ์ตัวตนของปัจเจกบุคคลแตกต่างกันไป ฉะนั้น เรื่องของตัวตนทางเพศสภาพและเพศวิถีของมนุษย์เองก็ดำรงอยู่ภายใต้ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน         และเพราะทุกวันนี้อัตลักษณ์ทางเพศสภาพก็มีความลื่นไหลและซับซ้อนกว่าที่เราเคยรับรู้กันมา ดังนั้น บนความสัมพันธ์ระหว่างคุณวากับบุรุษเพศผู้รายล้อมรอบชีวิตของเธอ คุณวาจึงต้องเรียนรู้ด้วยว่า ตัวตนตามภาพจำกับตัวตนที่ปัจเจกบุคคลเป็นอยู่จริงนั้น ก็ไม่ต่างจากที่พิธีกรรายการเกมโชว์มักจะถามผู้หญิงซึ่งอยู่ในสนามแข่งขันเลือกคู่ว่า กับผู้ชายที่คุณเห็นอยู่ตรงหน้า “รู้ไหมใครโสด มีเจ้าของ และไม่มองหญิง”         สำหรับผู้ชายคนแรกอย่างกั๊ต ผู้เลือกเพศวิถีแบบ “รักต่างเพศ” และแท้จริงยังเป็น “โสด” แต่เนื่องจากวิชาชีพที่เขาเป็นเมคอัพสไตลิสต์ และยังเป็นช่างแต่งหน้าคู่ใจของคุณวา เธอจึงไม่วางใจในอัตลักษณ์ทางเพศของเขา ถึงแม้ว่าพระเอกหนุ่มจะพูดยืนยันกับซุปตาร์สาวอยู่เนืองๆ ว่า “กั๊ตเป็นผู้ชายนะครับ”         หรือแม้แต่ในวันที่คุณวาเมาเหล้าเผลอพลั้งไปฟีเจอริงเลยเถิดกับกั๊ต แต่ทว่าลึกๆ แล้ว เหตุผลที่ทำให้คุณวารู้สึกผิดและขาดความเชื่อมั่น ไม่ใช่เพราะถลำลึกไปมีอะไรกับ “เด็กในบ้าน” ที่เธอรักเหมือนน้อง หากแต่เพราะเธอคิดว่าตนพลาดไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเกย์หนุ่มช่างแต่งหน้ามากกว่า         ส่วนผู้ชายคนถัดมาก็คือรชานนท์ แม้หน้าฉากชายหนุ่มจะแสดงออกทางเพศวิถีแบบชาย “รักต่างเพศ” ก็ตาม ทว่าหลังฉากของเขาหาใช่จะเป็นชาย “โสด” แต่ตรงกันข้าม เขากลับเจ้าชู้ มีผู้หญิงมากหน้าหลายตา จนแม้แต่คุณนันทพรผู้เป็นแม่ถึงกับนิยามลูกชายคนนี้ว่า “บ้าเซ็กส์” จนไม่ยอมทำงานทำการแต่อย่างใด ดังนั้น แม้จะคบหาออกหน้าว่าเป็นชายคนรักของซุปตาร์สาว แต่ก็ยากจะดูออกว่ารชานนท์ยัง “โสด” หรือเป็นชายที่ “มีเจ้าของ” กันแน่         ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อคุณวาสลัดรักจากรชานนท์ และหันมาแต่งงานกับกั๊ต จากเทพบุตรก็กลายร่างเป็นซาตานตามรังควานคุณวากับกั๊ต จนเป็นเหตุให้ “ทัด” พ่อขอกั๊ตเสียชีวิต รวมทั้งยังลงมือกระทำทารุณกรรมทางร่างกายกับปรายฟ้า ในขณะที่เธออุ้มท้องลูกของเขาอยู่ ภาพของตัวละครชายแบบนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ในหน้าฉากของความเป็นสุภาพบุรุษ ตัวตนที่แท้จริงของคนเราสามารถเหี้ยมเกรียมกันได้เพียงใด         และสำหรับผู้ชายคนสุดท้ายก็คือ “หมอเจ” ญาติผู้พี่ของคุณวา ที่ด้วยสถานภาพทางอาชีพเป็นสูตินารีแพทย์ การปรากฏตัวของเขาต่อหน้าสาธารณชนจึงต้องเลือกแสดงออกทางเพศสภาพแบบ “ผู้ชายแท้” แม้ว่าจริงๆ แล้ว หมอเจก็คือ “เจ้” ของคุณวา และเลือกมีตัวตนเพศวิถี “ไม่มองหญิง” แบบที่เฉพาะคนใกล้ชิดเท่านั้นที่จะตระหนักรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว         ด้วยอัตลักษณ์แห่งเพศสภาพที่ซับซ้อนและลื่นไหลโดยสัมพัทธ์กับข้อกำหนดของแต่ละสังคม จึงไม่น่าแปลกที่เราได้เห็นช่างแต่งหน้าผู้มักมีภาพจำทางสังคมว่าเป็นพวก “ไม่มองหญิง” แต่จริงๆ แล้วกลับเป็น “ชายโสด” ในขณะเดียวกับที่ “ชายโสด” ลูกมหาเศรษฐี กลับมีด้านที่ซุกซ่อนความ “มีเจ้าของ” และเห็นผู้หญิงเป็นเพียงของเล่นในชีวิต และพร้อมๆ กับที่หมอหนุ่มฐานานุรูปดีจนน่าจะดูเป็น “ชายโสด” ในฝันของผู้หญิงทั้งหลาย กลับมีรสนิยมทางเพศเป็น “เก้งกวาง” แอบ “ไม่มองหญิง” แบบหักปากกาเซียน            สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง กูรูที่ช่ำชองก็อาจจะอ่านอัตลักษณ์ทางเพศที่ผันแปรได้ไม่เฉียบขาด ดังนั้นแม้ตัวคุณวาเองจะเป็นซุปตาร์นักแสดง อันเป็นบทบาทอาชีพที่ต้องอยู่กับการมีหน้าฉากหลังฉาก และสวมบทบาทที่แปรเปลี่ยนลื่นไหลไปตามสคริปต์ที่ถูกกำหนดให้เล่น แต่ในเกมที่ต้องอ่านตัวตนทางเพศของชายที่ต้องมาครองคู่ด้วย คุณวาก็ทั้งพลาดทั้งพลั้งจนเกือบจะพ่ายแพ้ในสนามนี้มาแล้ว         จนถึงบทสรุปหลังจากที่คุณวากับกั๊ตได้ลงเอยกันตามสูตรสำเร็จของละครแนวโรมานซ์ เขาและเธอทั้งคู่ก็ได้เรียนรู้ว่า การทายถูกทายผิดในเกมอาจถือเป็นเรื่องปกติเพราะนั่นคือเกม หากทว่าในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้น การตัดสินเพศสภาพด้วยภาพจำแบบเหมารวมก็อาจบดบังตัวตนจริงๆ ของคนเราได้ ด้วยเพราะอัตลักษณ์แห่งปัจเจกบุคคลนั้นมีทั้งลื่นไหล ย้อนแย้ง และผันแปรอยู่อย่างไม่สิ้นไม่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 สายรัดวัดความฟิต

                กลับมาอีกครั้งกับผลการทดสอบเปรียบเทียบสายรัดข้อมือที่ Which? องค์กรผู้บริโภคของอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research and Testing) ได้ทำไว้ในช่วงปลายปี 2020 คราวนี้เรามีให้คุณได้เลือก 18 รุ่น ที่สนนราคาระหว่าง 699ถึง 7,290  บาท        การทดสอบครั้งนี้แบ่งคะแนนออกเป็น 7 ด้าน        - ร้อยละ 45 ประสิทธิภาพ/ความแม่นยำในการนับก้าวขณะเดิน วิ่ง และทำงานบ้านทั่วไป รวมถึงความแม่นยำในการวัดระยะทางและอัตราการเต้นของหัวใจ        -  ร้อยละ 20 ความสะดวกในการใช้งาน เช่นตั้งค่า เข้าถึงข้อมูล มองหน้าจอได้ชัดในสภาพแสงต่างๆ        -  ร้อยละ 10 ความอึดของแบตเตอรี โดยวัดจากชั่วโมงการใช้งานหลังชาร์จแบตฯ จนเต็ม        -  ร้อยละ 10 การทำงานของแอปฯ        -  ร้อยละ 5 การแจ้งเตือนจากโซเชียลมีเดีย การรับส่งข้อความ รับโทรศัพท์        -  ร้อยละ 5 รูปลักษณ์ วัสดุที่ใช้ทำตัวเรือน สายรัด รวมถึงความทนทานของหน้าจอต่อรอยขูดขีด        -  ร้อยละ 5 ฟีเจอร์ การปรับแต่งได้ตามต้องการ และความเข้ากันได้กับแอปฯ อื่นๆ         จากผลทดสอบครั้งนี้พอจะสรุปได้ว่า ราคาไม่ได้บ่งบอกประสิทธิภาพเสมอไป หลายรุ่นที่ราคาปานกลางได้คะแนนดีกว่ารุ่นที่ราคาแพงด้วยซ้ำ ในขณะที่รุ่นที่ราคาต่ำมากๆ ก็มีประสิทธิภาพน้อยตามราคา         ·  ค่าใช้จ่ายในการทดสอบครั้งนี้อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 1,800 ยูโร (ประมาณ 66,000 บาท) ต่อหนึ่งตัวอย่าง        · ก่อนหน้านี้ฉลาดซื้อเคยเสนอผลทดสอบ fitness trackers ไว้ในฉบับที่ 168 และ 184 หากสนใจติดตามอ่านย้อนหลังได้ในเล่มออนไลน์        ตลาดอุปกรณ์ fitness trackers ทั่วโลกในปี 2019 มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 30,410 ล้านเหรียญ และมีการคาดการณ์ว่าจะสูงกว่า 90,000 ล้านเหรียญในปี 2027  อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.fortunebusinessinsights.com/fitness-tracker-market-103358

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 209 สัมปทานหัวใจ : ในการถือครองกรรมสิทธิ์...ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม

แค่ได้ยินชื่อละครโทรทัศน์ว่า “สัมปทานหัวใจ” ผู้เขียนก็รู้สึกสนเท่ห์ใจยิ่งว่า เมื่อก่อนเวลากล่าวถึงคำว่า “สัมปทาน” เราก็มักจะนึกถึงการที่บุคคลหนึ่งได้สิทธิ์เข้าไปถือครองความเป็นเจ้าของสินทรัพย์สาธารณะบางอย่าง เช่น สัมปทานที่ดิน สัมปทานเหมืองแร่ ฯลฯ แต่เกิดอะไรขึ้นที่ทุกวันนี้แม้แต่กรรมสิทธิ์ของ “หัวใจ” ก็ยังต้องมีการช่วงชิงเข้าไปยึดมาเป็น “สัมปทาน” ส่วนบุคคลกันด้วย?กับข้อสงสัยดังกล่าวนี้ คงต้องให้นางเอกคุณแม่ลูกหนึ่งอย่าง “รัตตวัลย์” มาขานไขคำตอบ ผ่านช่วงชีวิตที่ต้องยืนอยู่บน “ทางสองแพร่ง” ระหว่าง “ปารเมศ” ผู้เป็นสามีที่หวังสมบัติและสามารถวางแผนสั่งฆ่าภรรยาได้ กับ “นาบุญ” พระเอกหนุ่มใหญ่เจ้าของสัมปทานรังนกบนเกาะ ที่ได้ช่วยชีวิตของเธอเอาไว้จุดเริ่มต้นของเรื่องมาจากการที่รัตตวัลย์กับเด็กน้อย “มันปู” บุตรชาย ต้องหนีการตามฆ่าตามใบสั่งของสามี จนพลัดมาติดอยู่บนเกาะถ้ำ ซึ่งนาบุญหรือที่ใครต่อใครเรียกกันว่า “นายหัว” เป็นผู้ถือครองสัมปทานการทำรังนกบนเกาะดังกล่าวแม้ในช่วงแรกของเรื่อง จะเริ่มต้นขึ้นด้วยฉากที่ตัวละครนายหัวและรัตตวัลย์ต่างฝ่ายต่างก็มีความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน แต่หลังจากง้อกันไป งอนกันมา รวมทั้งเชือดเฉือนวาจาคารมกันเป็นระยะๆ ความขัดแย้งไม่ลงรอยก็ค่อยๆ คลี่คลายเป็นความเข้าใจ และแน่นอนว่า ตามสูตรของละครก็ต้องให้พระเอกเจ้าของสัมปทานรังนกได้เข้าไปพิชิตถือครองเป็นเจ้าของ “สัมปทานหัวใจ” ของรัตตวัลย์ในท้ายที่สุด ภายใต้การต่อสู้เพื่อช่วงชิง “สัมปทานหัวใจ” ของรัตตวัลย์นี่เอง มีฉากหลังที่สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้และการปรับตัวของกลุ่มทุนในระบบสังคมเศรษฐกิจยุคนี้ โดยมีคู่ชกหลักก็คือปารเมศและนาบุญ ที่ทั้งเฉือนคมทางธุรกิจและห้ำหั่นกันในเชิงความรักในส่วนของปารเมศนั้น แม้จะเล่นบทบาทเป็นสามีของรัตตวัลย์และเป็นบิดาของน้องมันปู แต่จริงๆ แล้ว เขาก็คือตัวแทนของกลุ่มทุนทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่ถูกสร้างให้เป็น “สีดำ” และยังแถม “ดำดีสีไม่ตก” ชนิดที่ว่าเป็นด้านมืดของการขูดเลือดขูดเนื้อเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนได้ โดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมความดีใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร” ปารเมศก็ดูจะเข้าไปข้องเกี่ยวพัวพันกับธุรกิจใต้ดินเหล่านี้แทบทั้งสิ้น แม้จะมีรัตตวัลย์เป็นภรรยาตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่เขาก็ยังมีหญิงอื่นอยู่ข้างกาย และที่สำคัญ เมื่อเป็นหนี้พนันก้อนโต ปารเมศก็พร้อมจะจัดส่ง “พิลาสลักษณ์” ผู้หญิงข้างกายของเขาเพื่อขายเข้าสู่ธุรกิจค้ากามของกลุ่มทุนข้ามชาติอย่าง “มิสเตอร์ลี” หรือแม้แต่ร่วมมือกับชู้รักอย่าง “ทักษิณา” จ้างวานคนมาสั่งฆ่ารัตตวัลย์ เพื่อหวังจะฮุบเอาทรัพย์สมบัติภรรยามาเป็นของตน ตัวแทนของกลุ่มธุรกิจแบบเดียวกับปารเมศนี้ จึงเป็นตัวอย่างของระบอบทุน “สีดำ” ที่ขยายตัวออกไปไม่สิ้นไม่สุด โดยไม่คำนึงว่าการเติบโตดังกล่าวจะต้องแลกด้วยความสูญเสียของใคร หรือจะเอารัดเอาเปรียบผลประโยชน์ของคนกลุ่มอื่นหรือไม่ อย่างไร ตรงข้ามกับกรณีของนายหัวนาบุญพระเอกหนุ่มเจ้าของสัมปทานรังนกบนเกาะถ้ำ แม้จะมีเป้าหมายบนผลประโยชน์ที่เกิดจากการขูดรีดผู้อื่นเพื่อขยายทุนของตนไม่แตกต่างจากปารเมศ แต่ภาพลักษณ์ของเขาก็ถูกออกแบบไว้ให้มีหน้าตาเป็นประหนึ่งกลุ่มทุนรุ่นใหม่ ที่ดูดีมีอารยะกว่ากลุ่มทุน “สีดำ” ในแบบดั้งเดิมภายใต้ความหมายของคำว่า “สัมปทาน” นั้น อันที่จริงแล้วก็คือ การที่ระบอบทุนได้เข้าไป “ผูกขาด” และถือครองเอาผลประโยชน์ของสาธารณะให้กลายมาเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่การยึดครองดังกล่าวก็ได้รับการ “ฟอกขาว” มาเป็นอย่างดี จนดูชอบธรรมหรือแม้แต่อ้างอิงได้ตามระเบียบกฎหมายที่เขียนไว้ด้วยเหตุฉะนี้เอง ในด้านหนึ่ง การเข้าไปครอบครองเป็นเจ้าของสัมปทานรังนก ก็ไม่ต่างอะไรไปจากการที่กลุ่มทุนได้เข้าไปเบียดบังปัจจัยการผลิตของบรรดาชีวิตนกนางแอ่นตัวน้อยๆ ทั้งหลาย ที่กำลังก่อร่างสร้างรังอยู่ แล้วนายทุนก็พรากเอาผลผลิตรังนกดังกล่าวมาเป็นผลประโยชน์ส่วนบุคคลแต่อีกด้านหนึ่ง เพราะเข้าใจตรรกะของการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบหยาดเหงื่อและชีวิตของสัตว์โลก (และรวมไปถึงชีวิตของชนชั้นแรงงานและคนในกลุ่มสังคมอื่นๆ) นาบุญผู้ที่แม้จะเป็นกลุ่มทุนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่ก็ผ่านการขัดสีฉวีวรรณให้กลายเป็นกลุ่มทุนซึ่งยอมรับได้ หรือเป็นกลุ่มทุน “สีขาว” ซึ่งดูไม่มีพิษมีภัยแต่มีความชอบธรรมที่จะดำรงอยู่ต่อไปในสังคมไม่ว่าจะเป็นการรู้จักดูแลเอาใจใส่ชีวิตความเป็นอยู่ของลูกน้องหรือแรงงานในสังกัดแบบเคียงบ่าเคียงไหล่ หรือเป็นกลุ่มทุนที่ห่างไกลสุราและยาเสพติด แต่สามารถเป็นนายหัวผู้ดื่มนมเย็นได้อย่างไม่ขัดเขิน ไปจนถึงการเป็นตัวแทนของผู้แข็งแรงและถอดเสื้อโชว์ซิกซ์แพ็คอยู่เนืองๆ แต่ลึกๆ นาบุญก็เป็นหนุ่มใหญ่ที่พร้อมจะเอื้ออาทรแก่ “เด็ก สตรี และคนชรา”และที่สำคัญ คู่ขนานไปกับภาพลักษณ์การเป็นหนุ่มใหญ่ผู้อ่อนโยน นาบุญยังเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนที่แม้จะขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ แต่ก็เป็นการเอาเปรียบที่ยึดโยงอยู่บนหลักการแห่ง “ความรับผิดชอบต่อสังคม”ป้ายประกาศกฎของเกาะถ้ำที่ปักข้อความว่า “ห้ามทำร้ายนก ห้ามเก็บไข่นก ห้ามผิดลูกผิดเมียผู้อื่น ห้ามตัดต้นไม้ทุกชนิด ห้ามจับแมลงทุกชนิด ห้ามใช้ยาฆ่าแมลง ห้ามฆ่าสัตว์บนเกาะยกเว้นสัตว์ร้าย ห้ามกินรังนก ห้ามทิ้งขยะเรี่ยราด ให้ใช้น้ำจืดและใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด...” และอีกสารพันข้อบังคับที่จารึกเอาไว้นั้น แม้จะอ่านดูแล้วน่าขำขัน แต่ก็สื่อสารเป็นนัยถึงจุดยืนของกลุ่มทุนรุ่นใหม่แบบนี้ได้เป็นอย่างดีกล่าวกันว่า นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ระบอบทุนนิยมได้เกิดการปรับตัวกันขนานใหญ่ โฉมหน้าใหม่ของนายทุนไม่ได้เน้นการขูดรีดจนชีวิตแรงงานสิ้นเนื้อประดาตัว แต่เพื่อจะรักษาเส้นเลือดใหญ่ให้ระบอบดำรงอยู่ได้โดยชอบธรรม หลักการอ้างถึง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” จึงถูกพัฒนาขึ้นมาคล้ายๆ กับสัมปทานรังนกของนายหัวนาบุญที่ผูกขาดการถือครองทรัพยากรธรรมชาติบนเกาะถ้ำนั้น แม้จะมีเป้าหมายเพื่อธุรกิจเป็นตัวแปรต้น แต่ก็ต้องพ่วงไว้ด้วยแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การตลาดเพื่อสังคม การพัฒนาที่เน้นเรื่องความยั่งยืน ไปจนถึงการประยุกต์หลักธรรมาภิบาลต่างๆ มาใช้ ความรู้สึกของผู้คนที่จะยินยอมพร้อมใจและอยู่ใต้อาณัติของระบอบทุนดังกล่าวก็จะมีแนวโน้มจีรังยั่งยืนยิ่งขึ้นและด้วยตัวเลือกแบบ “ทางสองแพร่ง” ระหว่างปารเมศกับนาบุญเช่นนี้เอง คำตอบสุดท้ายที่รัตตวัลย์เลือกมอบ “สัมปทานหัวใจ” ให้แก่นายหัวนาบุญ จึงเป็นภาพสะท้อนการเปลี่ยนผ่านการครอบครองสิทธิ์ ซึ่งต้องถูกกำกับไว้ด้วยหลักแห่ง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ที่ทุกวันนี้ไม่เพียงแต่รังนกนางแอ่นบนเกาะเท่านั้น แม้แต่เรื่องของ “หัวใจ” ก็ต้องมอบ “สัมปทาน” เพื่อถือครองบนหลักการดังกล่าวไม่แตกต่างกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว หัวใจฟรุ้งฟริ้ง : ก็เพราะแม่เป็นยิ่งกว่าแมวเก้าชีวิต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนิยามศัพท์เอาไว้ว่า “ผู้หญิง” หมายถึง “เพศที่ออกลูกได้” และเพราะภายใต้การกำหนดนิยามว่าเป็น “เพศที่ออกลูกได้” ดังกล่าว ก็ดูเหมือนว่า จะมีระบบวิธีคิดหลายประการที่ซุกซ่อนอยู่ในนั้น ตั้งแต่ระบบคิดที่ว่า ถึงแม้ผู้หญิงจะ “ออกลูกได้” แต่ก็ต้องอาศัยผู้ชายในการ “ผลิตลูก” ออกมา หรือถ้าผู้หญิงเป็นเพศที่ “ออกลูกได้” แล้ว หน้าที่ทางสังคมของการเลี้ยงดูกุลบุตรกุลธิดาก็จะถูกมอบหมายเอาไว้ให้กับผู้หญิงเป็นลำดับแรก ไปจนถึงระบบคุณค่าที่อธิบายว่า ถ้าจะเป็นผู้หญิงที่ดีและเป็นที่พึงปรารถนาของสังคมแล้วไซร้ ต้องพยายามสรรค์สร้างครอบครัวแบบ “พ่อแม่ลูก” จนเกิดขึ้นเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบให้จงได้ และเพราะคุณค่าความเป็น “ครอบครัวสมบูรณ์แบบพ่อแม่ลูก” ได้ถูกอุปโลกน์เอาไว้เช่นนี้เอง จึงกลายเป็นกรอบที่สังคมไทยใช้กำหนดผู้หญิงเอาไว้ไม่ให้คิดเป็นอื่น นั่นหมายความว่า หากผู้หญิงคนใดที่ริจะหย่าร้างหรือมิอาจประคับประคองชีวิตครอบครัวให้เป็นไปตามมาตรวัดดังกล่าวได้ เธอก็จะถูกตีตราว่าผิดพลาดใน “ความเป็นเพศหญิง” ตามที่สังคมได้ออกแบบไว้ จะมีตัวอย่างก็คือกรณีของ “มุลิลา” (หรือ “มู่ลี่”) ที่ดูจะเป็นตัวแทนของผู้หญิงคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาท้าทายบรรทัดฐานของสังคมเสียใหม่ว่า แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นแม่” ก็ใช่ว่าสังคมจะเข้ามากำหนดได้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์ 100% เพราะด้วยสองมือของผู้หญิงที่สร้างโลกอยู่นั้น ก็สามารถออกแบบ “ความเป็นแม่” แบบที่เธอมีอำนาจเลือกเองได้เช่นกัน  มุลิลาคือตัวละครผู้หญิงวัย 30 ต้นๆ เป็นนักการตลาดในบริษัทธุรกิจใหญ่แห่งหนึ่ง ที่ดูเหมือนหน้าที่การงานน่าจะรุ่งเรืองก้าวหน้าไปได้อีกไกลเมื่อเทียบกับผู้หญิงคนอื่นที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกัน แต่ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาโรมรันพันตู กลับทำให้ชีวิตครอบครัวและชีวิตการงานของเธอต้องเป็นทั้ง “unlucky in love” และ “unlucky in game” ไปพร้อมๆ กัน  เปิดฉากเริ่มเรื่องของละครออกมา มุลิลาที่แต่งงานอยู่กินกับ “พงศ์พิศุทธิ์” และมีลูกชายวัย 5 ขวบคือ “น้องปลื้ม” ต้องเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาชีวิตถาโถม เพราะด้านหนึ่งชีวิตแต่งงานก็ไม่มีความสุขนัก ชีวิตครอบครัวที่เธอต้องดูแลงานทุกอยู่ในบ้านแบบ “ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ” ไปจนถึงชีวิตการงานที่เพราะเธอต้องดูแลลูกและครอบครัว จนไม่มีเวลาให้กับภาระงานนอกบ้านได้อย่างเต็มที่ วันเดียวกับที่มุลิลาถูกให้ออกจากงานประจำ เพราะเงินเดือนสูงแต่เวลาทำงานถูกเจียดไปดูแลลูกชายคนเดียว เมื่อกลับมาถึงบ้าน เธอก็เข้ามาเห็นภาพของสามีกำลังฟีเจอริ่งอยู่กับผู้หญิงคนอื่นอยู่ มุลิลาจึงตัดสินใจหย่าร้างกับพงศ์พิศุทธิ์ และก้าวเข้าสู่สถานภาพใหม่ของ “ซิงเกิ้ลมัม” นับจากนั้นเป็นต้นมา แม้ว่าสายตาสังคมจะตำหนิติฉินว่า เธอมีวัตรปฏิบัติเบี่ยงเบนไปจากมาตรวัดบรรทัดฐานที่ผู้หญิงดีๆ พึงกระทำกัน แต่ “คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว” อย่างมุลิลา ก็เห็นว่าเธอยังคงมี “หัวใจฟรุ้งฟริ้ง” แม้จะยืนอยู่นอกขนบที่สังคมพยายามขีดเส้นยัดเยียดเอาไว้ให้ เหมือนกับภาพในฉากต้นเรื่องหลังจากเธอตัดสินใจจะมารับสถานภาพ “คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว” ที่มุลิลาพูดกับตัวเองและหันมาทางกล้องเพื่อพูดกับผู้ชมไปพร้อมๆ กันว่า “ฉันชื่อมุลิลา...มุลิลาแปลว่าแมว” และหาก “แมวมีเก้าชีวิต” การหย่าร้างและลุกขึ้นมายืนหยัดเลี้ยงลูกน้อยด้วยตนเอง ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเธอถึงกับพังพาบสิ้นสุดลงแต่อย่างใด เมื่อต้องมาสวมบทบาทใหม่เป็น “ซิงเกิ้ลมัม” เพราะเป็นบทบาทที่เบี่ยงเบนไปจากจารีตปฏิบัติของสังคม มุลิลาจึงถูกบททดสอบมากมาย เพื่อจะให้เธอตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะทนทายาทอยู่เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวได้นานเพียงใด เริ่มต้นจาก “บุปผา” มารดาของมุลิลาเอง ที่แม้จะเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวมาก่อน แต่มิไยก็พยายามหน่วงรั้งพูดกรอกหูลูกสาวให้กลับไปคืนดีกับสามีตลอดเวลา หรือ “บริสุทธิ์” อดีตแม่สามีที่วางแผนทุกทางเพื่อช่วงชิงน้องปลื้มกลับมาอยู่ในความดูแลของพงศ์พิศุทธิ์ บททดสอบถัดมา เมื่อต้องเลี้ยงดูลูกน้อยเพียงลำพัง เงื่อนไขทางเศรษฐกิจก็บีบให้คุณแม่ต้องออกทำงาน และมาเผชิญกับความอิจฉาริษยาของเพื่อนร่วมงานใหม่ ไม่ว่าจะเป็น “ตรีดาว” “พราวฟ้า” “รักชนก” และ “แพตตี้” ที่ร่วมกันใช้เหตุผลความเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเพื่อขจัดมุลิลาออกไปจากสนามแข่งขันในที่ทำงาน แต่อย่างไรก็ดี บททดสอบสุดท้าทายของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวก็คงหนีไม่พ้นการเข้ามาของผู้ชายหลายคนในชีวิตของมุลิลา นอกจากพงศ์พิศุทธิ์สามีเก่าที่ปรารถนาจะกลับมาใช้ชีวิตคู่กันอีกครั้งแล้ว ยังมี “ชิษณุ” ซีอีโอหนุ่มใหญ่เจ้าของบริษัทที่เธอทำงานอยู่ กับ “อัศวิน” ชายหนุ่มรุ่นกะเตาะลูกชายเจ้าของร้านซาลาเปา ที่ดูจะเข้ากันได้ดีกับน้องปลื้มลูกชายของเธอ ชายคนแรกที่อายุเสมอกันคือคนที่เลิกร้างไป ชายคนที่สองอายุมากกว่าแต่ก็มีสถานะเป็นเจ้านายของเธอ และชายคนสุดท้ายที่อายุน้อยกว่าแต่ก็ริมาหลงรักคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวรุ่นพี่ สามตัวเลือกของชายที่ต่างวัยกันได้กลายมาเป็นข้อสอบปรนัยให้มุลิลาเลือกตัดสินใจว่า จะกากบาทไปที่คำตอบข้อใดกัน เพราะเชื่อมั่นว่าผู้หญิงมีศักยภาพที่จะเป็นยิ่งกว่า “แมวเก้าชีวิต” เมื่อมุลิลาพบว่า ภาระงานและปัญหารุมเร้าจากตัวเลือกผู้ชายทั้งสามคน ได้บั่นทอนเวลาที่เธอจะมีให้ลูกน้อยมากเกินไป ในที่สุด มุลิลาก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำกิจการเล็กๆ ส่วนตัว ควบคู่ไปกับการยืนหยัดในบทบาท “คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว” ด้วย “หัวใจฟรุ้งฟริ้ง” ต่อไป และที่สำคัญ ในท่ามกลางปัญหาที่คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องเผชิญอยู่นั้น ละครได้ชี้ให้เห็นอีกด้านของความหวังด้วยว่า สำหรับผู้หญิงแล้ว “you will never walk alone” ด้วยเหตุนี้ มุลิลาจึงมีบรรดาเพื่อนๆ ทั้งเพื่อนผู้หญิงอย่าง “ต้องตา” เพื่อนผู้ชายอย่าง “พี่ยักษ์” และเพื่อนเพศที่สามอย่าง “ดอลลี่” ที่คอยเป็นกำลังใจและเป็นกองหนุนอยู่เบื้องหลังตลอดเวลา สำหรับบรรดา “ซิงเกิ้ลมัม” ทั้งหลายนั้น กฎเกณฑ์ของสังคมอาจมิใช่กฎของธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนไม่ได้ ตราบใดที่ผู้หญิงยังมีตัวเลือก ยังรู้จักคิดที่จะเลือก และตัดสินใจลงมือเลือกได้ตามที่ต้องการ ตราบนั้น แม้ผู้หญิงจะเลือกยืนอยู่นอกอาณัติของกฎสังคม แต่ก็เป็นการเลือกยืนอยู่ได้ด้วย “หัวใจฟรุ้งฟริ้ง” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ชีวิตเพื่อฆ่า หัวใจเพื่อเธอ : เมื่อหมาป่าอยากโบกบินสู่เสรีภาพ

โดยทั่วไปแล้ว ละครโทรทัศน์ที่เราได้รับชมผ่านทางหน้าจอนั้น มักจะสร้างให้ตัวละครพระเอกเป็นภาพของผู้ชายในอุดมคติ เป็นสุภาพบุรุษจิตใจงาม และเป็นผู้ประกอบสัมมาอาชีวะเป็นอาจิณ เพื่อที่จะให้ภาพของพระเอกดังกล่าวยืนยันในตัวแบบบรรทัดฐานของผู้ชายที่สังคมคาดหวังจะให้เป็น แต่หากละครโทรทัศน์เรื่องใดเปลี่ยนมานำเสนอภาพของพระเอกให้กลายเป็นบุรุษหนุ่มที่อาศัยในมุมมืดของสังคม เป็นมิจฉาชีพที่สังคมไม่ยอมรับ และไม่ใช่ตัวแบบแห่งความคาดหวังที่สังคมเลือกให้ผู้คนเจริญรอยตามแล้ว วิธีการสร้างตัวละครเยี่ยงนี้น่าจะชวนให้เราสงสัยว่า ผู้ผลิตคงต้องการแฝงความนัยบางอย่างที่ซ่อนเร้นเอาไว้แน่นอน เฉกเช่นละครโทรทัศน์เรื่อง “ชีวิตเพื่อฆ่า หัวใจเพื่อเธอ” ที่ผู้สร้างเลือกจะผูกเรื่องราวชีวิตของพระเอกหนุ่ม “วายุ” ให้เป็นมือปืนรับจ้างอันดับต้นๆ ของวงการนักฆ่าผู้ชอบเก็บตัวไม่สุงสิงกับใคร วายุทำงานอยู่ในซุ้มมือปืนที่มี “สุรสีห์” เป็นหัวหน้า โดยสุรสีห์เปิดผับเป็นฉากอาชีพสุจริตที่บังหน้า และมีวายุทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์อยู่ในผับแห่งนั้น  ในโลกทัศน์ของคนทั่วไป ภาพลักษณ์แบบพระเอกนักฆ่าของวายุนั้น ก็คือตัวแบบของมิจฉาชีพผู้เป็นอาชญากรรม ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของสังคม ไม่ว่าจะพินิจพิจารณาจากมุมมองแบบใดก็ตาม หากใช้มุมมองเชิงนิติศาสตร์หรือมุมมองเชิงศีลธรรมแล้ว ความเป็นอาชญากรก็คือบุคคลที่ละเมิดรีตรอยของกฎหมายและผิดศีลปาณาติบาตอันเป็นศีลข้อแรกของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น เมื่อวายุทำตนอยู่นอกกฎหมาย เขาจึงถูกนายตำรวจหนุ่มผู้เป็นศัตรูหัวใจอย่าง “ศรุต” ติดตามไล่ล่า เพื่อขจัดเขาออกไปจากระบบสังคม และคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมและจารีตศีลธรรมของสังคม แต่หากเราลองขยับมาอธิบายด้วยมุมมองแบบจิตวิทยาแล้ว อาชญากรอย่างวายุก็คือคนที่ถูกตีความว่ามีปัญหาทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจเนื่องมาจากปมชีวิตที่ติดตัวมาแต่กำเนิด จนทำให้คนๆ นั้นไม่อาจควบคุมคุณธรรมความดีในจิตใจ และกลายเป็นบุคคลที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคมในที่สุด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม การที่บุคคลหนึ่ง “กลายมาเป็น” คนเลวของระบบ จึงเป็นเพราะความคิดที่ไม่เคารพกฎหมาย ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่เชื่อในเรื่องวัฏฏะแห่งกรรม ไปจนถึงการมีปมปัญหาทางจิตที่ซ่อนซุกเร้นลึกอยู่ในตัวของอาชญากรคนนั้น  แต่อย่างไรก็ดี เพราะเนื่องจากในท้องเรื่องของละครนั้น ปัจเจกบุคคลที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของระบบสังคมกลับกลายเป็นวายุหนุ่มหล่อพระเอกของเรื่องนี่เอง ดูเหมือนว่า เหตุปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดแทบจะไม่ใช่ตัวแปรหลักของการ “กลายมาเป็น” นักฆ่าดังกล่าวเลย  ละครได้วางโครงเค้าให้เราค่อยๆ ย้อนกลับไปเข้าใจสาเหตุที่พระเอกวายุจำยอมและจำต้องเดินทางเข้าสู่โลกมืดของอาชญากร ทั้งๆ ที่หิริโอตตัปปะและความรับผิดชอบชั่วดียังคอยกำกับหน่วงรั้งไว้ทุกครั้งที่เขาต้องเหนี่ยวไกปืนเพื่อสังหารชีวิตคน เริ่มต้นจากการที่บุพการีถูกฆ่ายกครัวตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก ทำให้วายุกลายเป็นมนุษย์ที่ไร้สายสัมพันธ์กับสถาบันที่เป็นหน่วยเล็กที่สุดแต่ก็สำคัญที่สุดอย่างสถาบันครอบครัว หรือการที่เขาจำต้องทดแทนบุญคุณของหัวหน้าซุ้มมือปืนอย่างสุรสีห์ที่ดูแลเขาแทนพ่อแม่นับตั้งแต่นั้น ไปจนถึงการให้เหตุผลความชอบธรรมว่า คนที่เขาได้รับใบสั่งฆ่าทุกคนนั้น ต่างก็เป็นคนเลวหรือมิจฉาชีพทั้งสิ้น เหตุผลที่ถูกอ้างอิงเอาไว้หลายข้อดังกล่าว สะท้อนให้เห็นอีกด้านหนึ่งว่า เมื่อปัจเจกบุคคลถูกสะบั้นสายสัมพันธ์ออกจากสถาบันต่างๆ ประกอบกับถูกแรงบีบคั้นจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เขาก็จะ “กลายมาเป็น” บุคคลที่ไม่อาจปรับตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบได้ ทุกครั้งวายุใช้ปืนปลิดชีวิตคนอื่นจึงเป็นผลพวงจากความแปลกแยกที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และแปลกแยกจากศีลธรรมและกฎของสังคมที่ครอบงำเอาไว้นั่นเอง ความรู้สึกแบบที่ฝรั่งเรียกว่า “ไม่ belonging to” เฉกเช่นนี้ ก็ไม่ต่างจากประโยคที่สุรสีห์พร่ำสอนกรอกหูวายุอยู่ตลอดว่า ชีวิตของนักฆ่าก็ไม่ต่างจาก “หมาป่า” ในสังคมที่คนโดยรอบต่างก็ล้วนเป็น “หมาป่า” ทั้งสิ้น เพราะ “หมาป่า” ยังไงก็ต้องเป็นและไม่อาจหลุดพ้นไปจากวงโคจรชีวิตของ “หมาป่า” ได้โดยง่าย ดังนั้น พระเอกวายุจึงเหมือนถูกผลักให้ยอมรับกฎของสังคมที่ว่า ในสังคมที่ไร้แรงยึดเหนี่ยวเกาะเกี่ยวปัจเจกบุคคลเอาไว้ “ถ้าไม่เป็นผู้ล่า เราก็จะกลายเป็นผู้ถูกล่าเสียเอง”  แต่ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ แม้ตัวละครจะถูกระบบกล่อมเกลาให้เชื่อว่า “มนุษย์เราต่างเป็นหมาป่าของกันและกัน” แบบนี้ แต่มือปืนผู้นี้กลับเป็นผู้ที่หลงรักในนกพิราบสีขาว ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง วายุจะชอบไปนั่งมองนกพิราบในสวนสาธารณะ และเป็นที่นี่เองที่วายุได้พบกับนางเอก “ภาวรินทร์” ประติมากรสาวผู้เป็นบุตรีของ “ธนทัต” ซึ่งฉากหน้าเป็นนักธุรกิจรายใหญ่ แต่หลังฉากกลับเป็นพ่อค้ายาเสพติดผู้โหดเหี้ยม การพบกันระหว่างตัวละครนักฆ่าหนุ่มที่จิตใจเหือดแห้งไร้สายใยกับสังคมรอบข้างกับศิลปินสาวที่เชื่อมั่นในพลังความงดงามในจิตใจของมนุษย์ จึงก่อเกิดเป็นความรักและสายสัมพันธ์เส้นใหม่ ที่ทำให้ “หมาป่า” อย่างวายุอยากจะโบยบินไปสู่อิสรภาพแบบ “นกพิราบสีขาว” ไม่ว่าความสัมพันธ์เส้นใหม่นี้จะสมหวังหรือผิดหวังในฉากจบของเรื่องก็ตาม แต่แน่นอนเพราะ “ขึ้นขี่หลังเสือแล้ว ก็ลงจากหลังเสือได้ยากยิ่ง” แม้จะสำเหนียกว่าชีวิตของตนว่ายวนบนสายพานของแรงกดดันและกฎเกณฑ์มากมายของสังคม แต่วายุก็มิอาจบินหนีไปสู่เสรีภาพได้โดยง่าย ในสภาวะที่ความแปลกแยกได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตมนุษย์ และข้อเท็จจริงที่ว่า “สัตว์โลกที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะอยู่รอด” ได้ถูกทำให้เป็นเพียงกฎข้อเดียวของสังคม แต่ทว่า ชะตากรรมของวายุที่ติดกับอยู่ในเงามืดของสังคม ก็สะท้อนย้อนคิดให้เห็นว่า แม้แต่ “หมาป่า” ก็ยังมี “ความหวัง” ที่จะบินออกไปจากกรงที่ขังเขาไว้ด้วยกฎเกณฑ์ดังกล่าว ชีวิตในมุมมืดของตัวละครอยากจะโบยบินสู่เสรีภาพจากกฎต่างๆ ของสังคม แล้วกับชีวิตเราๆ ที่มีเสรีภาพอยู่แล้ว เคยสำเหนียกหรือไม่ว่า รอบตัวของเสรีชนถูกพันธนาการด้วยกฎเกณฑ์แบบใดกันบ้าง?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 ตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจ

หัวใจ เป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดของชีวิต เมื่อหัวใจหยุดเต้น ชีวิตเราก็จะสิ้นสุดไปด้วย ดังนั้นหัวใจถือเป็นอวัยวะที่จะต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ  การดูแลหัวใจในร่างกายนั้นทำได้ง่าย โดยให้สังเกตจังหวะการเต้นของหัวใจที่เกิดขึ้นในระหว่างวัน วิธีการตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจ ให้ใช้นิ้วมือ จับชีพจรบริเวณข้อมือหรือข้อพับแขน และนับการเต้นของหัวใจภายในเวลาหนึ่งนาที โดยปกติอัตราการเต้นของหัวใจในแต่ละช่วงวัย สามารถแบ่งได้ดังนี้ อายุ 1 เดือน มีอัตราการเต้นประมาณ 120-160 ครั้งต่อนาที อายุ 1-12 เดือน มีอัตราการเต้นประมาณ 100-140 ครั้งต่อนาที อายุ 1-6 ปี มีอัตราการเต้นประมาณ 80-120 ครั้งต่อนาที อายุ 6-12 ปี มีอัตราการเต้นประมาณ 70-120 ครั้งต่อนาที อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป มีอัตราการเต้นประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที   แต่ถ้าจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ไม่ว่าจะเต้นช้าเกินไปหรือเร็วเกินไป ย่อมส่งผลให้ร่างกายที่อาการต่างๆ เกิดขึ้น และถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเจ็บป่วย อาการที่จะเกิดขึ้นนั้น ถ้าหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ มักจะทำให้มีอาการ มึนงง หวิวๆ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หรืออาจวูบหมดสติเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ จะมีอาการ ใจสั่น เต้นเร็ว แรง จะทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก เป็นลม และถ้ารู้สึกหัวใจเต้นผิดจังหวะ สะดุด จะรู้สึกเหมือนหัวใจเต้นๆ หยุดๆ อาจมีอาการวูบ หรือเจ็บหน้าอกร่วมได้  ถ้ามีอาการไม่มาก อาจแค่ใจสั่น  ไม่มีอันตรายรุนแรง แต่ถ้ามีอาการมาก จะส่งผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เกิดอาการเป็นลม หมดสติ เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบง่าย หรือเกิดอาการหัวใจวาย ทั้งนี้จะมีปัจจัยอาจเกิดจากความเครียดหรือปัจจัยกระตุ้นบางอย่าง เช่น ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ เป็นต้น  ทั้งนี้ถ้าจังหวะการเต้นของหัวใจ เต้นผิดจังหวะรุนแรงมาก ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว การตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ในเบื้องต้นเราสามารถตรวจสอบแบบง่ายๆ ได้ด้วยตนเอง โดยการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Runtastic Heart Rate หรือแอพพลิเคชั่น Instant Heart Rate เพื่อนำมาใช้ตรวจสอบการเต้นของหัวใจในระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวัน อย่างเช่น จังหวะการเต้นของหัวใจหลังตื่นนอน  จังหวะการเต้นของหัวใจช่วงการเดินทาง จังหวะการเต้นของหัวใจหลังจากการออกกำลังกาย  จังหวะการเต้นของหัวใจก่อนเข้านอน เป็นต้น ในทุกแอพพลิเคชั่นจะใช้วิธีการตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยให้ใช้ปลายนิ้วมือแตะไปที่เลนส์กล้องและบริเวณแฟลชด้านหลังสมาร์ทโฟน ใช้เวลาประมาณ 2 นาที แอพพลิเคชั่นจะประมวลผลออกมาให้รู้ว่าจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือไม่ อย่างน้อยการใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจ ก็ช่วยให้เรารู้สภาพร่างกายของตนเองในเบื้องต้น เพื่อช่วยให้ป้องกันความผิดปกติที่จะเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 เรื่องของหัวใจ

โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนค่อนข้างอิหลักอิเหลื่อ เพราะบางส่วนที่แพทย์ท่านนี้เสนอก็อาจเป็นจริงได้ เช่น ในเรื่องของการอักเสบเรื้อรังนั้นอาจเป็นสาเหตุของการตีบตันของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ แต่หลายส่วนก็ยังตั้งคำถามไว้เพราะไม่ค่อยมั่นใจ ผู้เขียนได้รับจดหมายเวียนจากเพื่อนในที่ทำงาน แนบบทความซึ่งแปลเป็นภาษาไทยแล้วเรื่อง Heart Surgeon Speaks Out On What Really Causes Heart Disease โดยถามถึงความน่าเชื่อถือของบทความนี้ ซึ่งเมื่อตามหาตัวจริงของบทความปรากฏพบได้ในบางเว็บ เช่น http://www.sott.net/article/ 242516-Heart-Surgeon-Speaks-Out-On-What-Really-Causes-Heart-Disease หรือเข้าไปดูใน The Great Cholesterol Lie (http://thecholesterollie.com) ก็พบว่าศัลยแพทย์ที่เป็นต้นตอข่าวคือ Dr. Dwight Lundell อดีตหัวหน้าทีมแพทย์ผ่าตัดที่โรงพยาบาล Banner Heart Hospital เมือง Mesa รัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกาข้อมูลที่เป็นข่าวนั้นมาจากหนังสือที่แพทย์ดังกล่าวเขียนเอง โดยมีประเด็นน่าสนใจว่า แม้ประชากรในสหรัฐอเมริกาโดยเฉลี่ย 25% กินยาลดไขมันกลุ่ม statin พร้อมกับการลดการบริโภคไขมันอิ่มตัวแล้วก็ตาม แต่ก็ยังปรากฏว่า จำนวนผู้เสียชีวิตอันเนื่องจากโรคหัวใจภายในรอบเวลา 60 ปี นั้นมากที่สุดเป็นประวัติการ โดยสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยโรคหัวใจกว่า 75 ล้านคน ในเรื่องการเกิดโรคหัวใจนั้น Dr. Dwight Lundell ตั้งสมมุติฐานว่า หากไม่มีการอักเสบเกิดขึ้นที่ส่วนใดในร่างกาย โคเลสเตอรอลจะไม่ตกตะกอนทำให้หลอดเลี้ยงหัวใจเลือดตีบ ดังนั้นการอักเสบจึงน่าจะเป็นต้นเหตุให้โคเลสเตอรอลกลายเป็นตะกรันจับยึดติดผนังภายในหลอดเลือด การอักเสบคือ กระบวนการปกติที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย เพื่อต่อสู้รับมือกับสิ่งแปลกปลอมที่รุกรานเข้ามาในร่างกาย เช่น เชื้อโรค สารแปลกปลอมหรือสารพิษต่างๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่กระบวนการอักเสบกลายเป็นการอักเสบเรื้อรัง มันก็คือ อันตรายที่แท้จริง ตัวการในอาหารที่น่าจะเป็นต้นเหตุของปัญหาในกรณีนี้คือ ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (polyunsaturated fats) ที่อยู่ในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน โดยที่ไขมันพวกนี้เป็นต้นตอของอนุมูลอิสระได้ Dr. Dwight Lundell เสนอให้เลิกเชื่อว่า ไขมันอิ่มตัวทำให้เป็นโรคหัวใจโดยไขมันอิ่มตัวทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นและกล่าวหาว่า วงการแพทย์หลงผิดและเผยแพร่ความเชื่อว่า สาเหตุการเกิดอาการหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบนั้นเกิดจากโคเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวนั้น ทำให้อุตสาหกรรมอาหารเกาะกระแสส่งเสริมน้ำมันพืชว่า ต้องเป็นไขมันไม่อิ่มตัว อุดมด้วยไขมันโอเมก้า-6 บางชนิด ทั้งยังโหนกระแสว่ามีไขมันโอเมก้า-3 อีกต่างหากที่เป็นของดีต่อสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ฝากชีวิตไว้กับไขมันไม่อิ่มตัวทั้งหลาย ก่อนอื่นเราควรต้องทำความรู้จักกับ Dr. Dwight Lundell ผู้กล้าออกมาจุดกระแสค้านในเรื่องที่วงการแพทย์ทั่วไปยอมรับ จากบทความเรื่อง A Skeptical Look at Dwight Lundell, M.D. ใน www.quackwatch.com ซึ่งเขียนโดย Dr. Stephen Barrett กล่าวว่า หลังจากที่ Dr. Lundell จบแพทย์ศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอริโซนาในปี 1971 ก็ไปเป็นแพทย์ประจำบ้านในภาควิชาศัลยศาสตร์ทรวงอกของมหาวิทยาลัยเยล 2 ปี จากนั้นทำงานผ่าตัดหัวใจคนมาด้วยดีราว 5,000 ราย จนสุดท้ายก็เกษียณในปี 2004 และในปี 2007 ก็ได้เขียนหนังสือชื่อ The cure for heart disease ซึ่งร้านหนังสือออนไลน์คือ Amazon Books บอกว่าเป็นหนังสือที่แหวกแนวที่สุดในเรื่องโรคหัวใจ เพราะมีการแนะนำการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนสูง แป้งน้อย กินยาแอสไพรินขนาดต่ำเป็นประจำ กินน้ำมันปลาและ conjugated linoleic acid (หรือ CLA) เพื่อลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ Dr. Lundell นี้ได้ประสบวิบากกรรมในเรื่องการประกอบวิชาชีพศัลยแพทย์ในช่วงท้ายของชีวิต โดยในปี 2000 เขาถูกแพทยสภาของรัฐอริโซนาปรับเงิน $2,500 โดนคุมประพฤติ และให้ไปฝึกอบรมเกี่ยวกับการทำบันทึกการรักษาผู้รับการผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ จากนั้นในปี 2003 แพทยสภาฯ ก็ยังกล่าวหาอีกว่า Dr. Lundell นั้นประเมินคนไข้ก่อนทำการรักษาไม่สมบูรณ์ และเหตุการณ์ก็มาซ้ำร้ายในปี 2004 ที่การบันทึกผลการรักษาคนไข้ไม่สมบูรณ์แบบของแพทย์ผู้นี้ถูกตรวจพบอีก จนสุดท้าย Dr. Lundell ก็ถูกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมในปี 2008 ที่สำคัญ Dr. Lundell ยังเจอปัญหาการถูกฟ้องล้มละลาย ปัญหาบัตรเครดิต และการแจ้งเท็จในการจ่ายภาษีประจำปีด้วย ข้อมูลที่เกี่ยวกับ Dr. Lundell นี้จะจริงเท็จเพียงใดผู้รับผิดชอบคือ Dr. Stephen Barrett ซึ่งเขียนไว้ในเว็บที่ระบุข้างต้น กลับมาที่ประเด็นคำแนะนำของ Dr. Lundell นั้นว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงใด โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนค่อนข้างอิหลักอิเหลื่อ เพราะบางส่วนที่แพทย์ท่านนี้เสนอก็อาจเป็นจริงได้ เช่น ในเรื่องของการอักเสบเรื้อรังนั้นอาจเป็นสาเหตุของการตีบตันของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ แต่หลายส่วนก็ยังตั้งคำถามไว้เพราะไม่ค่อยมั่นใจ ผู้เขียนเคยพบบทความวิชาการเรื่องหนึ่งที่ตั้งสมมุติฐานว่า การขาดสารต้านอนุมูลอิสระนั้นเป็นหนึ่งของปัจจัยในการเกิดปัญหาหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตัน โดยอาศัยความรู้พื้นฐานทางฟิสิกส์ว่า เลือดเป็นของเหลวที่มีองค์ประกอบต่างๆ ทั้งโปรตีน เม็ดเลือดและสารอื่นๆ ไหลไปตามหลอดเลือดในลักษณะที่พื้นที่หน้าตัดของไหลส่วนตรงกลางไปเร็วกว่าส่วนที่ติดด้านข้างของหลอดเลือด เนื่องจากผนังหลอดเลือดมีความต้านที่สูงกว่าบริเวณกลางหลอดเลือด ดังนั้นถ้าผนังหลอดเลือดขรุขระ โอกาสที่ไขมันและอื่นๆ ที่ลอยอยู่ในน้ำเลือดจะตกตะกอนเกาะที่ผนังหลอดเลือดได้ โอกาสที่ผนังหลอดเลือดจะขรุขระนั้น สาเหตุหนึ่งที่อาจเป็นได้คือ การที่ผนังของเซลล์ที่เรียงเป็นผนังหลอดเลือดนั้นเสียหายเนื่องจากองค์ประกอบที่เป็นไขมันไม่อิ่มตัว (polyunsaturated fatty acid) ถูกอนุมูลอิสระทำลาย จะเกิดสภาพที่เรียกด้วยศัพท์ทางชีววิทยาการแพทย์ว่า พล๊าก (Plaque) ซึ่งมีสภาพขรุขระ ดังนั้นถ้าเรากินสารต้านอนุมูลอิสระมากพอ โอกาสเกิดพล๊ากก็น่าจะลดลง ด้วยเหตุนี้คำแนะนำในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดสภาพหลอดเลือดหัวใจตีบในปัจจุบันข้อหนึ่งคือ การบริโภคผักผลไม้ที่มีสีสด เพราะอาหารกลุ่มนี้มีสารต้านอนุมูลอิสระธรรมชาติสูง นอกจากนี้ยังมีบทความวิจัยเรื่อง Bilberry anthocyanin-rich extract alters expression of genes related to atherosclerosis development in aorta of apo E-deficient mice ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition, Metabolism & Cardiovascular Diseases ชุดที่ 22 หน้า 70-80 ในปี 2012 ซึ่งมีการกล่าวว่า สารแอนโทไซยานินในผลบิลเบอรี่นั้น สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจผ่านหลายกระบวนการ สำหรับกระบวนการที่น่าสนใจในบทความดังกล่าวนั้นเสนอว่า แอนโทไซยานินสามารถกระตุ้นให้ยีนที่ทำงานเกี่ยวกับระบบการช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดขาวเคลื่อนตัวผ่านรอยต่อระหว่างเซลล์ที่ประกอบเป็นผนังหลอดเลือดเข้าไปยังเนื้อเยื่อที่เป็นหลอดเลือด(เพื่อทำงานเมื่อเกิดการอักเสบ) ได้ดีขึ้น ทั้งนี้เพราะถ้าระบบดังกล่าวทำงานได้ไม่ดี เซลล์เม็ดเลือดขาวจะเกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือด(โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจ) แล้วทำการจับไขมันต่างๆ รวมทั้งโคเลสเตอรอลที่ลอยตามกระแสเลือดจนเปลี่ยนกลายเป็น foam cell (เซลล์มีลักษณะบวมพองเต็มไปด้วยไขมัน) เกาะที่ผนังหลอดเลือดแล้วกลายเป็นพล๊ากในที่สุด จากตัวอย่างสมมุติฐานที่ผู้เขียนยกตัวอย่างให้เห็นนั้น ทำให้เห็นว่าหลักการที่ Dr. Lundell กล่าวถึงมีความน่าจะเป็นไปได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาคือ ความน่าเชื่อถือของตัว Dr. Lundell เอง จึงทำให้เกิดการโต้แย้งในสมมุติฐานดังกล่าวจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ดีความรู้จากการศึกษาและวิจัยในปัจจุบันก็ยอมรับกันแล้วว่า การได้รับสารต้านอนุมูลอิสระสูงจากอาหารธรรมดา(ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) นั้นช่วยลดความเสี่ยงของโรคที่เกิดจากความเสื่อมเช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และมะเร็งได้เป็นอย่างดี ท่านผู้อ่านจึงควรปฏิบัติตามนี้ไปก่อน โดยไม่ต้องเสียเวลารอให้มีใครมาอธิบายถึงกระบวนการเชิงลึกว่าเป็นอย่างไร เพราะอาจสายเกินแก้  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point