ฉบับที่ 268 ปุ๊นหนักหัวใจวายได้นะ

        ปุ๊นนั้นเป็นคำที่นักการเมืองคนหนึ่งกล่าวในการหาเสียงสมัยเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งผู้เขียนตีความทั้งจากฟังการหาเสียงและเคยอ่านพบในหลายบทความเกี่ยวกับกัญชาว่า “ปุ๊น” น่าจะหมายถึงการสูบกัญชา (กริยา) ก็ได้หรือหมายถึงตัวกัญชา (นาม) ก็ได้ ในประเด็นหลังนี้เว็บ https://siamrath.co.th เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 มีบทความหนึ่งให้ข้อมูลประมาณว่า วัยรุ่นโบราณมักเรียกกัญชาว่า "เนื้อ" หรือ "ปุ๊น" หรือ "ใบหญ้าร่าเริง" และวัยรุ่นสมัยต่อมาบางกลุ่มเรียกกัญชาว่า "ชาเขียว" หรือ "หนม" เหตุที่เรียกกัญชาเพราะว่า"เนื้อ" เพราะกลิ่นกัญชาจากการสูบที่ลอยมาหอมคล้ายเนื้อวัวย่าง (ประเด็นนี้น่าจะขึ้นกับความชอบส่วนตัวของแต่ละคนมากกว่า) บทความนั้นกล่าวต่อประมาณว่า สายเขียวมักไม่สูบกัญชาเพียว ๆ เลยเพราะแรงเกินไป ต้องเอากัญชามายำก่อนกับเครื่องยำหลากหลาย เช่น ยาเส้นในบุหรี่ โดยใช้นิ้วคลึงผสมในสัดส่วนที่พึงใจแล้วบีบอัดให้แน่น ก่อนใช้มีดซอยให้ละเอียด อาจพลิกแพลงเอาเหล้าพรมหรือใส่สารเสพติดอื่นๆ เข้าไป แล้วพันลำลงบ้องไม้ไผ่เพื่อสูบ ซึ่งหลังเสพในระยะแรกจะล่องลอย ร่าเริง หัวเราะง่าย เนื่องจากฤทธิ์ของ Tetrahydrocannabinol (THC) หลังจากผ่านไป 2 ชั่วโมงแล้ว กัญชาจะออกฤทธิ์กดประสาทจนทำให้ลิ้นเริ่มพันกัน พูดไม่รู้เรื่อง ง่วงซึม         เป็นที่ตระหนักกันดีว่าไม่มีอะไรในโลกที่ดีเลิศเพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกับเหรียญย่อมมีสองด้าน กัญชาก็เช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีการพร่ำพรรณาถึงความดีของกัญชาในทางการแพทย์บางประการ ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพย่อมมีออกมาบ้างเช่น มีงานวิจัยใหม่ที่แสดงถึงปัญหาของยาเสพติดซึ่งรวมถึงกัญชาต่อโอกาสเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว โดยในการศึกษาเชิงสังเกตตีพิมพ์เป็นบทความเรื่อง Cannabis, cocaine, methamphetamine, and opiates increase the risk of incident atrial fibrillation (กัญชา โคเคน เมทแอมเฟตามีน และฝิ่นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว) ในวารสาร European Heart Journal ของปี 2022 ซึ่งได้ตรวจสอบผลกระทบระยะยาวของยาเสพติด เช่น เมทแอมเฟตามีน (หรือยาบ้า) โคเคน ฝิ่น และกัญชา แล้วพบความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นในความเสี่ยงสำหรับภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation)  ผลข้างเคียงของยาดังกล่าวนี้อยู่ในลักษณะที่เกิดทันทีหรือไม่เกิดทันที อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ได้ให้หลักฐานที่แสดงว่า การใช้สารเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงระยะยาวในการเกิดโรคเรื้อรังซึ่งส่งผลเสียต่อผู้ป่วยในแบบที่มักจะเป็นไปตลอดชีวิต         ข้อมูลทางการแพทย์ในบทความต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตอธิบายประมาณว่า อาการภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วนั้นคือ ภาวะที่มีการกระตุ้นการทำงานของหัวใจห้องบนแบบผิดปรกติซึ่งมีการกระตุ้นกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ ส่งผลให้การบีบตัวของหัวใจห้องบนไม่เป็นตามระบบที่ควรเป็น ตามมาด้วยการที่หัวใจเต้นเร็วแบบไม่สม่ำเสมอ มีแรงบีบต่ำกว่าปรกติ ผลแทรกซ้อนของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว คือ หัวใจสูบฉีดเลือดออกได้ลดลง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมมักนำไปสู่ภาวะหัวใจวายในที่สุด นอกจากนี้การที่เลือดหมุนวนตกค้างในหัวใจห้องบนอาจก่อให้เกิดลิ่มเลือดแล้วหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมองได้สูงกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมักเกิดถึงร้อยละ 5-15 ของกลุ่มคนอายุ 80-90 ปี แต่การศึกษาใหม่ที่นำมาเล่าในบทความนี้พบว่า คนที่ใช้ยาเสพติดซึ่งรวมถึงกัญชามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเกิดอาการดังกล่าว         งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์เป็นบทความในวารสาร European Heart Journal ของปี 2022 ซึ่งนักวิจัยใช้แบบสอบถามหาข้อมูลจากชาวแคลิฟอร์เนียอายุเกิน 18 ปี จำนวน 23,561,884 คน ที่มีความจำเป็นต้องเข้าแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล หรือใช้บริการการผ่าตัดผู้ป่วยนอก หรือเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาล ตั้งแต่เดือนมกราคม 2005 ถึงธันวาคม 2015 ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ผู้ให้ข้อมูล 98,271 คนเสพเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า), 48,701 รายเสพโคเคน, 10,032 รายเสพฝิ่น และ 132,834 รายเสพกัญชา ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตลอดระยะเวลาการศึกษา 10 ปี ผู้ให้ข้อมูลที่เคยใช้ยาเสพติด 998,747 คน (4.2%) ซึ่งไม่เคยมีอาการภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมาก่อน ได้เริ่มมีอาการดังกล่าวหลังจากการติดตามนาน 10 ปี         สำหรับผลสรุปของการศึกษานั้นนักวิจัยพบว่า ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วเพิ่มขึ้น 86% ถ้ามีมีการใช้เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า), 74% ถ้ามีการใช้ฝิ่น, 61% ถ้ามีการใช้โคเคน และ 35% ถ้ามีการใช้กัญชาซึ่งผู้ทำวิจัยได้กล่าวว่า นี่เป็นการศึกษาครั้งแรกที่สังเกตเห็นความสัมพันธ์ระหว่างการใช้กัญชา (นอกเหนือไปจากยาเสพติดอื่น) และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว         ในบทความดังกล่าวนั้นผู้ทำวิจัยได้พยายามอธิบายถึงกลไกที่สารเสพติดทั้งหลายมีอิทธิพลต่อภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วว่า เกิดเนื่องจากความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระดับหนึ่งต่อการทำงานของหัวใจในลักษณะการปรับตัวทางไฟฟ้า (electrical remodeling) เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมของช่องทางเข้าออกของไอออนเฉพาะที่เซลล์ประสาท ดังที่เคยมีการศึกษาเรื่อง Cannabinoid interactions with ion channels and receptors (ปฏิสัมพันธ์ของแคนนาบินอยด์ต่อช่องไอออนและตัวรับ) ในวารสาร Channels ของปี 2019 ซึ่งตั้งสมมุติฐานว่า สารสำคัญดังกล่าวในกัญชาน่าจะมีผลต่อการปรับตัวของเยื่อหุ้มเซลล์ (membrane fluidity) ซึ่งส่งผลถึงการทำหน้าที่ของเซลล์ประสาท         นอกจากนี้ยังมีการศึกษาซึ่งใช้สัตว์ทดลองในบทความเรื่อง Cannabidiol Impairs Brain Mitochondrial Metabolism and Neuronal Integrity (แคนนาบิไดออลบั่นทอนเมตาบอลิซึมของไมโทคอนเดรียในสมองและความสมบูรณ์ของเส้นประสาท) ในวารสาร Cannabis and Cannabinoid Research ของปี 2023 ให้ข้อมูลว่า สาร CBD (ซึ่งมีในกัญชาเพื่อก่อให้เกิดความสมดุลในการออกฤทธิ์ของสาร THC) ในระดับความเข้มข้นต่ำเป็นไมโครโมลาร์นั้นมีผลต่อการลดระดับการสร้างพลังงาน (mitochondrial respiration) ของไมโทคอนเดรียโดยปรับเปลี่ยนการซึมผ่านผนังของไมโทคอนเดรียของสารชีวเคมี ซึ่งรวมถึงการดูดซึมแคลเซียมและยับยั้งช่องทางเข้าออกของอนุมูลคลอไรด์ของไมโตคอนเดรีย จนน่าจะทำให้ปริมาณแคลเซียมในไมโทคอนเดรียลดลง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นกับเซลล์ cardiac myocytes ซึ่งเป็นเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ผลที่ตามมาคือ การทำงานของเซลล์นั้นคงผิดปรกติหรือหมดประสิทธิภาพ         กล่าวกันว่าผลการศึกษาที่รายงานนั้นเป็นแนวทางสำคัญต่อการวิจัยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วในอนาคต โดยอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้เพียงแต่มากหรือน้อยเพียงใดเท่านั้น ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงการใช้สารเสพติดเหล่านี้ซ้ำๆ และเรื้อรังทำให้ผู้ทำวิจัยจำเป็นต้องทำการแยกแยะว่า รูปแบบการบริโภคกัญชาที่ต่างกันนั้นมีผลต่อภาวะทางสุขภาพที่เป็นปัญหาอย่างไรหรือไม่ อีกทั้งการศึกษาทางระบาดวิทยาเชิงสังเกตแบบย้อนกลับ (เกิดผลแล้วตามหาเหตุ) เช่นนี้ คนที่มีอคติอยู่แล้วว่ากัญชาเป็นของดีอาจไม่ยอมรับ ทำให้จำเป็นต้องมีการศึกษาทางระบาดวิทยาที่วางแผนเพื่อดูผลที่เกิดในอนาคตหลังจากการควบคุมตัวแปรต่าง ๆ ไว้ไม่ให้แสดงปัญหา         ข้อจำกัดสำหรับการค้นพบในการศึกษานี้คือ เนื่องจากเป็นการศึกษาในลักษณะที่ต้องการตรวจสอบการใช้สารต่าง ๆ ที่อาศัยความร่วมมือในการรายงานด้วยตนเองของผู้ให้ข้อมูล ซึ่งบางกรณีอาจไม่น่าเชื่อถือเท่าที่ควร เนื่องจากเมื่อใดที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้สารเสพติดที่ผิดกฎหมายผู้ให้ข้อมูลอาจกังวลผลทางกฏหมายที่อาจตามมาหลังการให้ข้อมูล ดังนั้นการศึกษาที่ได้กล่าวถึงในบทความนี้ผู้วิจัยจึงใช้การเข้ารหัสด้านการดูแลสุขภาพจากผู้ให้บริการด้านสุขภาพซึ่งมีข้อมูลต่าง ๆ จากการตรวจวัดทางคลินิกเป็นหลักฐานโดยไม่เชื่อมโยงไปถึงผู้ให้ข้อมูล         ในสถานะการที่ผู้คนซึ่งชื่นชอบการสูบกัญชาพบว่า มีการเพิ่มแง่มุมทางกฎหมายจนเสมือนเป็นการเปิดไฟเขียวในสิ่งที่เขาทั้งหลายชอบ การคำนึงถึงผลด้านสุขภาพที่เคยรับรู้กันมาในอดีตอาจถูกบิดเบือนให้ลืมไป ซึ่งปรากฏการณ์นี้น่าจะกลายเป็นประเด็นหลักของปัญหาด้านสาธารณสุขในอนาคตอันใกล้ที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาสังคมที่รุนแรง อีกทั้งสิ่งที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ในงานวิจัยเกี่ยวกับสารเสพติดคือ ไม่สามารถระบุประเภทหรือปริมาณเมื่อมีการใช้สารเสพติดหลายชนิดผสมกันจนทำให้ยากที่จะระบุถึงปริมาณที่มีการใช้ต่อปัญหาทางสุขภาพที่เกิดขึ้นได้

อ่านเพิ่มเติม >