ฉบับที่ 274 สายการบินทำกระเป๋าพัง ทรัพย์สินเสียหาย

        เมื่อคุณโดยสารเครื่องบิน แล้วพอถึงที่หมายพบว่าสายการบินทำกระเป๋าเดินทางพังจากการขนส่ง สิ่งแรกที่ควรทำคือถ่ายรูปความเสียหายทั้งหมดไว้ และติดต่อเคาน์เตอร์สายการบินที่คุณเดินทางมา หรือเจ้าหน้าที่ของสนามบินเพื่อขอเอกสารบันทึกความเสียหายของกระเป๋าเก็บไว้เป็นหลักฐาน และรีบขอเคลมค่าเสียหายกับสายการบินทันที หรือเมื่อสะดวกหลังจากการเดินทาง แต่ก็ต้องเผื่อใจว่าค่าชดเชยที่สายการบินเสนอให้เบื้องต้นอาจดูไม่สมน้ำสมเนื้อกับความเสียหายที่เกิดขึ้น         คุณเจนเป็นคนหนึ่งที่เจอประสบการณ์สุดเซ็งแบบนี้เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2566 เธอเล่าว่าซื้อตั๋วเครื่องบินของสายการบินที่ให้บริการภายในประเทศแห่งหนึ่ง เส้นทางดอนเมือง-ร้อยเอ็ด ราคา 2,499 บาท และซื้อน้ำหนักสัมภาระเพิ่มอีกต่างหาก เดินทางจากสนามบินดอนเมืองตอน 11โมงเช้า มาถึงร้อยเอ็ดตอนเที่ยงครึ่ง ทุกอย่างดูราบรื่นดี แต่พอเธอเดินไปรับกระเป๋าสัมภาระของตัวเองก็ต้องถึงกับอึ้ง เมื่อเห็นกระเป๋าพังยับเยินเกินเยียวยา ทำให้เครื่องสำอางและน้ำหอมราคาแพงที่อยู่ในกระเป๋านั้นเละตุ้มเป๊ะหมด ตอนนั้นตกใจมาก จนเธอไม่ทันได้ฉุกคิดเลยว่าจะต้องถ่ายรูปความเสียหายเก็บไว้         คุณเจนรีบไปติดต่อแผนกเคลมกระเป๋าสัมภาระ เจ้าหน้าที่ได้เสนอทางเลือกให้ว่าจะรับเป็นค่าชดเชย 800 บาท หรือกระเป๋าผ้าใบใหม่ไป เมื่อเธอปฏิเสธเพราะคิดว่าข้อเสนอนี้ไม่เป็นธรรม เจ้าหน้าที่ก็ให้ถุงดำมาใส่สัมภาระแทน คุณเจนไม่พอใจในการบริการของสายการบินนี้อย่างมากและต้องการเรียกร้องค่าชดเชยที่เหมาะสม จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ ทางช่องทางไลน์ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการไขแก้ปัญหา         ในกรณีนี้ ถ้าผู้โดยสารทำประกันการเดินทาง หรือประกันกระเป๋าเดินทางไว้ ก็จะสามารถเคลมได้ตามเงื่อนไขของประกัน แต่คุณเจนไม่ได้ทำไว้ ทางมูลนิธิฯ จึงให้ส่งข้อมูลมาเพิ่มเติม ดังนี้         1.สรุปค่าเสียหายที่ต้องการเรียกร้องกับสายการบิน (ค่ากระเป๋า 5,000 บาท ค่าโหลดกระเป๋าที่ซื้อเพิ่ม 2,000 บาท ค่าเครื่องสำอางและน้ำหอม 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 22,000 บาท)         2.ภาพถ่ายสินค้าที่เสียหาย (ใช้ภาพสินค้าที่ได้ซื้อมาจากอินเตอร์เน็ต พร้อมราคาสินค้าก็ได้)         เมื่อมีข้อมูลครบ มูลนิธิฯ ได้ออกหนังสือถึงบริษัทสายการบินแห่งนี้ เพื่อขอให้พิจารณาชดเชยความ         เสียหายให้กับคุณเจนแล้ว กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 สายการบินทำกระเป๋าเดินทางหาย

        ปัญหาเกี่ยวกับกระเป๋าสัมภาระชำรุดเสียหายระหว่างเดินทางข้ามประเทศ ผ่านสายการบินต่างๆ นั้นมีผู้เสียหายได้ร้องเรียนมามากมายกับฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อย่างเช่นกรณีของคุณน้ำตาล         เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา คุณน้ำตาล ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ ว่า เธอได้เดินทางกลับจากออสเตรเลียโดยสายการบินแห่งหนึ่ง ซึ่งหลังจากเครื่องแล่นลงสู่ภาคพื้นดิน เธอก็มารอรับกระเป๋าสัมภาระของเธอ แต่ไม่พบกระเป๋าสัมภาระของตัวเองไม่ว่าจะรอนานแค่ไหน จึงได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ให้ช่วยตรวจสอบ หลังการตรวจสอบปรากฏว่าไม่มีกระเป๋าเดินทางของเธอในระบบ เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้เธอกลับบ้านไปก่อน หากพบว่ากระเป๋าของเธออยู่ตรงไหนแล้วทางเจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับ คุณน้ำตาลจึงทำตามคำแนะนำที่ทางเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีการแจ้งเพิ่มเติมว่า จะดำเนินการติดตามให้ภายใน 21 วัน         ผ่านมาแล้ว 21 วัน คุณน้ำตาลยังไม่ได้รับการติดต่อจากสายการบิน เธอร้อนใจเพราะว่าของที่อยู่ในกระเป๋าก็มีมูลค่าไม่ใช่น้อย กระเป๋าเดินทางก็ราคาไม่เบา 5,000 บาท เสื้อผ้า และของใช้ ประมาณ 20,000 บาท คอมพิวเตอร์+อุปกรณ์ 30,000 บาท และแทบเล็ตอีก 10,000 บาท จึงได้รีบติดต่อสายการบินอีกครั้ง ทางสายการบินได้ส่งอีเมล์แจ้งว่าไม่พบสัมภาระผู้ร้อง อ้าว ! ทำไมทำกันแบบนี้ ทางสายการบินได้ให้คุณน้ำตาลทำเรื่องเคลมกระเป๋าที่สูญหาย เธอเองกังวลว่า สายการบินจะชดเชยความเสียหายตามจำนวนที่เสียหายได้หรือไม่ จึงร้องมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิฯ แนะนำให้ติดต่อสอบถามข้อเท็จจริงกับสายการบินเรื่องการเคลมว่าต้องทำอย่างไรบ้าง และให้ผู้ร้องดำเนินการทำเรื่องเคลมกับสายการบินตามระเบียบดังกล่าวก่อน หากพบปัญหาอย่างไรให้แจ้งมายังมูลนิธิฯ อีกครั้ง โดยทางเจ้าหน้าที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ หากพบว่า ทางสายการบินชดเชยให้ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ หากกระเป๋าเดินทางสูญหายหรือชำรุดเสียหาย จากการขนส่งโดยสายการบิน มีวิธีการ  ดำเนินการตามนี้         1.  ติดต่อเคาน์เตอร์สายการบินที่ใช้บริการเพื่อขอเอกสารบันทึกความเสียหาย เพื่อเป็นหลักฐาน        2.  ถ่ายภาพความเสียหายของกระเป๋าเดินทาง (กรณีกระเป๋าชำรุดเสียหาย)         3.  รีบติดต่อขอเคลมค่าเสียหายกับสายการบินทันที         4.  กรณีกระเป๋าสูญหาย ให้รีบแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สนามบินเพื่อลงบันทึกประจำวัน เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สูญหายในกระเป๋าเดินทาง สิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อป้องกันเบื้องต้น        ·  ชื่อ – นามสกุล ที่อยู่ และเบอร์ติดต่อ ไว้ที่แท็ก (tag) และด้านในของกระเป๋าเดินทางพร้อมกับ ถ่ายรูปกระเป๋าเดินทางเก็บไว้ก่อนทำการเช็กอิน        ·  หลังชั่งน้ำหนัก เช็กอินกระเป๋าเดินทาง แนะนำให้ตรวจสอบว่าได้รับแท็กบาร์โค้ดเท่ากับจำนวนกระเป๋าเดินทางหรือไม่ (กระเป๋า 1 ใบ ต่อ 1 แท็ก)        ·  ทำสัญลักษณ์ไว้บนกระเป๋าเดินทาง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหยิบผิด กรณีกระเป๋ายี่ห้อเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 บัตรเครดิตหายในต่างประเทศ

        จะทำอย่างไร เมื่อไปเที่ยวต่างประเทศแล้วถูกขโมยกระเป๋า โทรศัพท์มือถือ เงินสดและบัตรเครดิตหาย พอคิดถึงตรงนี้ก็เริ่มเวียนหัวกับปัญหาที่จะตามมาแล้ว หนักไปกว่านั้นเมื่อในกระเป๋าเงินมีบัตรเครดิตอยู่ถึง 3 ใบ!            เรื่องเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คุณแยมเดินทางไปเที่ยวกับครอบครัวที่นครอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์  ขณะคุณแยมและครอบครัว นั่งรับประทานอาหารกลางวันในร้าน KFC  โดยได้วางกระเป๋าไว้ข้างๆ ตัว   แต่...เพียงแค่ 10 นาที รู้ตัวอีกกระเป๋าก็หายไปแล้ว ในกระเป๋าใบนั้นมีทั้งเงินสด โทรศัพท์มือถือ พาสปอร์ต และบัตรเครดิตการ์ดอยู่ 3 ใบ         คุณแยมตกใจมากจึงรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด ส่วนการระงับบัตรเครดิต เนื่องจากโทรศัพท์มือถือได้ถูกขโมยไปด้วย จึงแจ้งระงับบัตรเครดิตได้สำเร็จเมื่อเดินทางกลับถึงโรงแรมที่เข้าพัก        เวลาระหว่างตั้งแต่บัตรหาย จนเมื่อคุณแยมได้โทรศัพท์แจ้งติดต่อธนาคารของทั้ง 3 บัตรเครดิต บัตรเครดิตทั้ง 3 ใบ มียอดการใช้จ่ายเกิดขึ้นทั้งหมด บัตรใบที่ 1 (บัตรสีเงิน) มียอดใช้จ่าย 4-5 รายการ แล้วบัตรก็ถูกตัดไปเองโดยอัตโนมัติ  บัตรใบที่ 2 ( สีน้ำเงิน) มียอดซื้อสินค้าราคา 15,000 บาท แต่เมื่อแจ้งปฏิเสธรายการไป ยอดก็ถูกยกเลิก แต่ปัญหาที่คุณแยมหนักใจ และอยากส่งเสียงบอกเล่าเรื่องนี้คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในบัตรที่ 3 (บัตรสีม่วง) เพราะเมื่อหายมียอดรูดบัตรราคาเท่า ๆ กัน  ติดต่อกันถึง 24 ยอดเมื่อถึงโรงแรมแล้วจึงค่อยระงับได้         เมื่อกลับมาประเทศไทย คุณแยมจึงได้อีเมล์ถึงธนาคารของบัตรสีม่วงทันทีแต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ คุณแยมจึงโทรไปทาง Call Center อีกครั้ง เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าจะมีการติดต่อกลับแต่ก็หายเงียบไป  คุณแยมจึงติดต่อแจ้งเรื่องนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศเพื่อขอให้เข้ามากำกับดูแลการทำงานของธนาคารสีม่วง และหลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ธนาคารของบัตรสีม่วงได้แจ้งว่าจะประนีประนอมการชำระหนี้ให้คุณแยม โดยให้ชำระ 50% (ประมาณ 18,000 บาท) และให้ตอบรับภายในวันที่ 20 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา         คุณแยมเห็นว่า ไม่ยุติธรรมกับผู้บริโภคอย่างมาก เพราะธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงไม่มีระบบป้องกันใดๆ ให้ผู้ถือบัตรเลย แม้จะเกิดการรูดบัตรเครดิต 24 ครั้งต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นความผิดปกติชัดเจน ก็ไม่มีระบบที่ช่วยระงับการใช้งานโดยอัตโนมัติ การใช้งานระบบจ่ายเงินแบบ Contactless โดยไร้สัมผัส ผ่านโทรศัพท์มือถือ บัตรเครดิต สมาร์ทวอทช์ ธนาคารต่างประเทศรวมถึงในประเทศด้วย ซึ่งหลายธนาคารได้มีระบบให้ใส่รหัสเพื่อตรวจพบการใช้บัตรผิดปกติแล้ว แต่ธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงก็ยังไม่มีระบบดังกล่าว  คุณแยมจึงมาร้องเรียนที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือเพราะการที่เธอต้องจ่ายเงิน ประมาณ 18,000 บาท จากการที่ธนาคารไม่มีระบบป้องกันและยังเป็นกรณีที่บัตรเครดิตถูกขโมยด้วย เธอมีหลักฐานการแจ้งความอย่างชัดเจน ไม่เป็นธรรมกับเธอสุดๆ  แนวทางการแก้ไขปัญหาหากเกิดกรณีเช่นเดียวกับคุณแยม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอแนะนำว่า          1.เมื่อบัตรเครดิตหาย ให้รีบโทรศัพท์อายัดบัตรกับสถาบันการเงิน หรือธนาคารเจ้าของบัตร หรือ อายัดบัตรฯ ผ่านแอปพลิเคชันในมือถือทันทีที่สามารถทำได้         2.รีบแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุดในพื้นที่เกิดเหตุ         3.ทำหนังสือขอปฏิเสธการชำระยอดเงิน พร้อมแนบใบแจ้งความ และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แล้วส่งไปที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต พร้อมกันนี้ให้ทำสำเนาอีกชุด ส่งไปที่ “ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย” เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหา         4. เก็บหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานที่อยู่ขณะเกิดเหตุ, บันทึกการแจ้งอายัดบัตรฯ, ใบแจ้งความ, อีเมลที่โต้ตอบกับธนาคาร, หนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ทุกฉบับ เพื่อยืนยันข้อเท็จจริง         สำหรับกรณีคุณแยม ขณะนี้ได้ทำหนังสือปฏิเสธการจ่ายเงินและรอคำตอบจากทางธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงอยู่ ซึ่งหากไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือเรื่องไม่อาจยุติลงได้ คงต้องใช้กระบวนการทางศาลต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >




ฉบับที่ 206 จักรยานหาย ในพื้นที่ของห้างฯ

เพราะปัญหารถจักรยานหายมีให้พบเห็นได้ทั่วไป ผู้บริโภคหลายคนจึงป้องกันด้วยการจอดในพื้นที่ ที่ดูมีความปลอดภัย แต่ความจริงก็คือ ทุกพื้นที่ล้วนมีความเสี่ยงทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่ลานจอดของห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยเดินตรวจตราอยู่ก็ตามคุณพลพลปั่นจักรยานคู่ใจไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าแถวบ้าน ซึ่งเขาได้นำรถจักรยานไปจอดในบริเวณจอดรถที่ห้างฯ จัดไว้ให้ และคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรจึงไม่ได้ใช้กุญแจล็อกล้ออย่างที่เคยทำประจำ ครั้นเวลาผ่านไปเมื่อซื้อของกลับออกมาปรากฏว่ารถจักรยานหาย เขาจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ และแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยังห้างสรรพสินค้าดังกล่าว เพื่อขอให้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า หากรถจักรยานหายในบริเวณที่ทางห้างสรรพสินค้าจัดไว้ให้ ถือว่าทางห้างฯ ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามมาตรา 420 ความรับผิดเพื่อละเมิด ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ผู้นั้นจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับกรณีร้องเรียนนี้ ทางศูนย์ฯ สามารถช่วยผู้ร้องทำหนังสือไปยังห้างฯ ดังกล่าว เพื่อขอเจรจาเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อตรวจสอบเรื่องราวแล้วพบว่าเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นมาปีกว่าแล้ว ซึ่งเลยอายุความละเมิดไปเรียบร้อย เพราะสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายนั้นมีอายุความ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงจำต้องยุติการร้องเรียนไป ศูนย์ฯ จึงอยากฝากเตือนผู้บริโภคที่พบลักษณะปัญหาทำนองเดียวกันนี้ว่า ควรรีบร้องเรียนให้ขอให้มีการรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันคดีหมดอายุความ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 ทาหน้าผ่อนคลาย ทาขาหายปวด

“ทาแก้ปวดขา ทาตรงที่ปวดแล้วจะหาย เดินได้ ใช้ไปครึ่งกระปุกให้เติมน้ำลงไป คนๆ ให้ทั่ว แล้วก็ใช้ได้เหมือนปกติ” ข้อความบอกเล่าที่ผู้บริโภคมาร้องเรียนผ่านสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จังหวัดสมุทรสงคราม ฟังดูแล้วอาจจะทะแม่งๆ ชอบกล แต่เมื่อเห็นผลิตภัณฑ์และใบปลิวโฆษณาแล้วจะยิ่งประหลาดใจกว่า ว่าในยุคนี้คนขายมันกล้าโฆษณาบอกผู้บริโภคขนาดนี้เชียวหรือ?  เพราะในแผ่นใบปลิวนั้น พบว่า ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ได้รับอนุญาตเป็นเครื่องสำอางเท่านั้น แต่ในเอกสารโฆษณามีข้อความบรรยายว่า เป็นผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีเนื้อครีมบางเบาและมีโมเลกุลขนาดเล็ก ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้รวดเร็วด้วยส่วนผสมที่ลงตัวของสารสกัดต่างๆ โดยอ้างว่าได้รับการยอมรับจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศมาเลเซียว่า บำบัดแบบธรรมชาติได้จริง และจากผู้ใช้ทั่วโลกว่าช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ มีประสิทธิภาพในการลดริ้วรอย ลดความเมื่อยล้าของผิว ทำให้ผิวชุ่มชื้น เป็นความงามจากภายในสู่ภายนอก ช่วยลดอาการอักเสบและรอยช้ำของผิวได้ โดยการทาเพียงเช้าและก่อนนอน พลิกดูด้านในก็จะพบภาพและข้อความแสดงส่วนผสมหลักของผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ ระบุว่ามีสารสกัดจากพืช สมุนไพรและสารอาหาร มากมายหลายชนิด เช่น ไส้กรอกแอฟริกา (ช่วยให้ผิวพรรณกระชับ ช่วยในระบบย่อยอาหาร ระบบประสาท ใช้เป็นยารักษาโรค เช่น รูมาติก งูสวัด) มันจากานี (ช่วยซ่อมแซมเยื่อเมือกที่เสื่อมให้ดีขึ้น โรคริดสีดวงทวาร ปกป้องการติดเชื้อ อาการปวดตามข้อ เส้นเอ็นเสื่อมตามร่างกาย ฟื้นฟูฮอร์โมนเพศหญิง ยกกระชับมดลูกและช่องคลอด) ตงกัดอาลี (รากปลาไหลเผือก) (ช่วยเสริมฮอร์โมนเพศชายให้กลับมา กระชุ่มกระชวย ช่วยบำรุงการไหลเวียนของโลหิตและต่อมทอนซิลมีปัญหา แก้อาการเจ็บคอ)  สเต็มเซลล์ แอ๊ปเปิ้ลเขียว บัวบก ว่านหางจระเข้ คอลลาเจน มันเทศ ถั่วเหลือง วิตามินเอ วิตามีนบี3 และ บี5 วิตามินอี นอกจากนี้ยังมีภาพใบหน้าประกอบการโฆษณา ส่วนด้านหลังก็จะมีใบหน้าผู้ที่ใช้หลายคน ระบุ ก่อนใช้ และหลังใช้เห็นแบบนี้ใครๆ ก็คงเข้าใจว่าใช้กับใบหน้า แต่ปรากฏว่าผู้บริโภคที่เป็นเหยื่อให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์นี้มีการประชาสัมพันธ์ขายตามตลาดสด โดยมีบุคคลมาอ้างอิงระหว่างการขายด้วย  บอกว่าผลิตภัณฑ์นี้ผลิตในประเทศมาเลเซีย นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย สามารถรักษา อาการปวดขา ปวดกล้ามเนื้อ โดยขายราคากล่องละ 1,800 บาท แถมยังบอกอีกว่า ทาแก้ปวดขา ทาตรงที่ปวดแล้วจะหาย เดินได้ เมื่อใช้ไปครึ่งกระปุกให้เติมน้ำลงไป คนๆ ให้ทั่ว แล้วก็ใช้ได้เหมือนปกติ สุดท้ายเมื่อตนซื้อมาใช้แล้วอาการปวดก็ไม่หายสรุปแล้วก็เข้าอีหรอบเดิมๆ คือ “อ้างอิงไปทั่ว - มั่วคำโฆษณา - หาเหยื่อยรายใหม่ – สุดท้ายก็ใช้ไม่ได้ผล” ยังไงช่วยกันเตือนผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อ เจอที่ไหนแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ดำเนินการตรวจสอบทันทีเลยครับ จะได้ไม่ต้องเสียเงินพันกว่าบาทไปฟรีๆ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ควบคุมอารมณ์ด้วยการฝึกการหายใจ

หลังจากฉบับที่แล้วได้แนะนำวิธีการประเมินสภาพจิตใจภายใต้สภาวะสังคมที่ต้องดำเนินชีวิตภายใต้ความกดดันและความเครียดรอบตัว ฉบับนี้จึงนำเทคนิคอีกรูปแบบหนึ่งมาแนะนำ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฝึกการหายใจที่ลึกและถูกต้อง การหายใจที่ถูกวิธีจะสามารถต่อสู้กับความวิตกกังวลและความเครียดได้ส่วนหนึ่งเช่นกัน การหายใจลึกๆ จะช่วยทำให้เป็นประโยชน์ในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก จากเดิมที่มักเกิดความวิตกกังวลและความเครียดที่อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมการทำงาน การดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดความหงุดหงิด ความโมโห อารมณ์ฉุนเฉียวได้ง่าย ดังที่จะเห็นจากการรายงานข่าวของสื่อสำนักต่างๆ ที่ถูกเผยแพร่ออกมาในรูปแบบคลิปวิดีโอ เนื่องจากเกิดการกระทบกระทั่งกันจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต โดยจะเห็นว่าข่าวที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ สาเหตุที่แท้จริงนั้นเกิดมาจากการควบคุมอารมณ์ของตนเองไม่ได้ทั้งสิ้นแอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า BellyBio เป็นแอพพลิเคชั่นที่ช่วยตรวจสอบการหายใจและสอนวิธีการหายใจลึก ซึ่งจะทำให้อารมณ์เย็นลงได้ การใช้แอพพลิเคชั่นนี้ต้องอยู่นิ่งกับตนเองชั่วขณะ ไม่ควรทำกิจกรรมใดๆ เมื่อเปิดแอพพลิเคชั่นจะปรากฏคำแนะนำในการใช้ วิธีการใช้แอพพลิเคชั่นนี้คือ เมื่อกดเริ่มต้นแอพพลิเคชั่นเรียบร้อยแล้ว จากนั้นให้นำโทรศัพท์ไปเสียบไว้ที่ขอบกางเกง โดยให้หน้าจอหันออกด้านนอก ให้ด้านหลังโทรศัพท์สัมผัสกับผิวหนังโดยตรง หลังจากนั้นแอพพลิเคชั่นจะเริ่มทำงาน โดยจะใช้สัญลักษณ์เป็นเส้นคลื่นสีแดงและสีขาวขึ้นลงเพื่อบอกจังหวะในการหายใจของเรา เมื่อมีการหายใจที่นิ่งขึ้น แอพพลิเคชั่นจะเปลี่ยนหน้าจอเป็นตัวอักษร เพื่อบอกจังหวะการหายใจเข้าและการหายใจออกอย่างช้าๆ  ถ้าเส้นคลื่นยิ่งต่ำลงมากเท่าไร นั่นหมายความว่าการหายใจเป็นปกติ ซึ่งแสดงออกถึงอารมณ์ที่ปกติและสงบมากขึ้นการฝึกการหายใจจะทำกี่นาทีก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แอพพลิเคชั่น เมื่อจบการฝึกในแต่ละครั้ง แอพพลิเคชั่นจะทำการบันทึกสถิตินั้นไว้ โดยสามารถเรียกดูภายหลังได้ เพื่อนำมาเปรียบเทียบการหายใจและอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละวัน ซึ่งสามารถทำให้เข้าใจอารมณ์ของตนเองได้เพิ่มขึ้นแอพพลิเคชั่นนี้จะช่วยฝึกให้การหายใจเข้าและออกเป็นไปอย่างถูกวิธี เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ดี  ถ้าหากรู้สึกว่ามีความวิตกกังวล ความเครียด ความหงุดหงิดเกิดขึ้น ลองเปิดแอพพลิเคชั่นนี้เพื่อฝึกการหายใจเข้า การหายใจออกให้เป็นจังหวะ น่าจะช่วยทำให้อารมณ์สงบได้ในระดับหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 การกำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมในเยอรมนี : กรณีศึกษาการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากบริษัทโฟล์คสวาเก้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย

จากเหตุการณ์ที่กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา( EPA) ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โฟล์คสวาเกน  (VW) ว่า จงใจที่จะหลอกลวงเกี่ยวกับการแสดงข้อมูลการวัดค่าไอเสียจากรถยนต์ดีเซลรุ่น Jetta, Beatle, Passat และ Audi A 3 เนื่องจากซอฟท์แวร์แสดงผลการวัดต่ำกว่าค่าความเป็นจริงถึง 10- 40 เท่า ในสภาวะการขับแบบปรกติ ซึ่งเกินกว่าค่าที่ทางกรมควบคุมมลพิษของอเมริกากำหนด ต่อกรณีดังกล่าวนี้ ตามกฎหมายเยอรมัน ให้สิทธิผู้บริโภคในการจัดการกับเรื่องดังกล่าว หากรถยนต์ที่ซื้อมามีปัญหาชำรุด บกพร่อง นอกจากนี้ ยังให้สิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อยของโฟล์คสวาเก้น เป็นผู้บริโภคที่สามารถฟ้องร้องคดีเพื่อขอเงินคืนต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมูลค่าหุ้นที่ตกลงอย่างฮวบฮาบในช่วงเวลาข้ามคืนได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนในมุมมองของการคุ้มครองผู้บริโภคที่อีกบทบาทหนึ่งคือ เป็นนักลงทุนรายย่อยกรณีของผู้ที่ถือหุ้นตามกฎหมายหลักทรัพย์ของเยอรมัน มีสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีที่มูลค่าหุ้นลดต่ำลง โดยที่ทางบริษัทไม่ได้แจ้งถึงผู้ถือหุ้นให้ทันการณ์จากการการฟ้องคดีที่กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา( EPA) ที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โวล์กสวาเกน (VW) และทางโฟล์คสวาเก้นก็ได้ยอมรับต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว จากเหตุการณ์นี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ทางผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะได้รับเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมูลค่าหุ้นที่ร่วงลงมา (Schadenersatz fÜr Kursverlust) และ ความเสียหายที่เกิดจาก ผลต่างมูลค่าหุ้น (Kursdifferenzschaden) อย่างไรก็ตามผู้ถือหุ้นต้องฟ้องคดีต่อศาลเพื่อพิสูจน์ว่า ทางบริษัทได้ละเมิดต่อผู้ถือหุ้นโดยแจ้งสถานการณ์ล่าช้าต่อสาธารณะในประเทศเยอรมนีการคำนวณความเสียหายสำหรับผู้ถือหุ้นผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายสองประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะมีมูลค่าต่างกัน สำหรับการคิดค่าเสียหายแบบแรก  คือ ความเสียหายจากผลต่างมูลค่าหุ้น(Kursdifferenzschaden) ซึ่งจะคิดคำนวณสำหรับผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 20 กันยายน 2015 ซึ่งมูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่าง 56- 60 ยูโรต่อหุ้น แล้วแต่ว่าศาลจะกำหนดให้เป็นมูลค่าเท่าใดสำหรับการคำนวณความเสียหายอีกประเภทหนึ่ง คือ แบบ(Kursverlustschaden) ฐานคิดค่าเสียหายแบบนี้ จะคิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายสูงกว่าแบบแรก แต่จะคำนวณได้ยากกว่า เพราะต้องใช้การพิสูจน์ และขึ้นอยู่กับคำพิพากษาคดีเป็นรายๆ ไป เนื่องจากในระบบกฎหมายเยอรมันไม่มีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม( Class action)ถึงไม่มีการพิจารณาคดีแบบกลุ่มศาลก็อำนวยความสะดวกในการฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ทางศาลสูงแห่งเมืองบราวชไวก์ ( Braunschweig)  ได้กำหนดแนวทางการฟ้องคดีโดยใช้กระบวนการ  ดำเนินคดีหุ้น ที่เป็นแบบอย่าง(Kapital Musterverfahren) โดยที่มีบริษัทลูกของธนาคารออมสิน คือ บริษัท Deka Investment ที่เป็นแม่แบบในการฟ้องคดี มีลูกค้าผู้ถือหุ้นที่ประสงค์จะฟ้องคดี 1502 ราย และมีมูลค่าความเสียหายรวมกันกว่า 2000 ล้านยูโร และผู้เสียรายอื่นก็สามารถมาร้องสมทบได้เช่นกัน กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นคุณ กับผู้ร้อง การชดใช้ค่าเสียหายกับผู้เสียหายราบอื่นก็มีผลผูกพันด้วยเช่นกันผู้เสียหายรายอื่นสามารถยื่นความจำนงในการร้องสอดคดีได้กำหนดเวลาสำหรับการยื่นเรื่องขอฟ้องร้องสอดคดีนี้ คือ 8 กันยายน 2017 การที่ศาลอำนวยความสะดวกด้วยการกำหนด การฟ้องร้องพิจารณาคดีแบบนี้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการพิจารณาคดีรายบุคคลมากบทสรุปที่ได้จากกรณีการฟ้องร้องคดีแบบนี้ คือ การอำนวยความสะดวกที่ให้อำนาจศาลในการกำหนดพิธีพิจารณาคดี สำหรับมีผู้เสียหายจากการละเมิดเป็นจำนวนมาก แม้ว่า ในระบบกฎหมายของเยอรมันจะไม่มีการพิจารณาคดีแบบกลุ่ม แต่ก็เปิดช่องให้ศาลสามารถใช้กระบวนการพิจารณาคดีความลักษณะนี้ในการอำนวยความสะดวกในกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชน(ที่มา นิตยสาร Finanztest 6/2017)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษกับคดีรถโดยสารสาธารณะ

ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ คืออะไร พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติให้อำนาจศาลพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายเชิงลงโทษไว้ใน  มาตรา 42 ว่า“ ถ้าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ต่างๆ เช่น ความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ สถานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ การที่ผู้ประกอบธุรกิจได้บรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ตลอดจนการที่ผู้บริโภคมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจกำหนดได้ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด แต่ถ้าค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดมีจำนวนเงินไม่เกินห้าหมื่นบาท ให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้ไม่เกินห้าเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด ”โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังต่อไปนี้1) กระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม2) จงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย3) ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค4) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ขอยกตัวอย่างจากกรณีศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษาคดีรถโดยสารเปรมประชา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560  จำนวน  2  คดี  ในคดีที่นายลำพูน – นางทอง เจริญเกียรติ และคดีนายวรัญญู อยู่สุภาพ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอิ่นแก้ว มูลสุข และบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยคดีผู้บริโภค ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ว่า บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารอันเป็นกิจการที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิต ทรัพย์สินและความปลอดภัยของสาธารณชน แต่เหตุครั้งนี้เกิดจากนายอิ่นแก้ว มูลสุข ลูกจ้างของบริษัท ที่ขับรถโดยสารรับผู้โดยสารเกินอัตราบรรทุกที่กฎหมายกำหนด ประมาทขับรถด้วยความเร็วสูง ลงทางโค้งเนินเขาโดยปราศจากความระมัดระวัง แม้จะมีผู้โดยสารร้องเตือนแล้ว แต่นายอิ่นแก้ว มูลสุข ยังคงไม่สนใจและยังคงขับรถด้วยความเร็วต่อไป ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551  มาตรา 42   ซึ่งบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจและเป็นนายจ้างของนายอิ่นแก้ว มูลสุข จะต้องรับผิดชอบด้วย พิพากษาแก้เป็นว่าให้ บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด กับพวกร่วมกันชำระเงิน ให้กับ นายลำพูน – นางทอง เจริญเกียรติ รวมเป็นเงิน 1,030,000  บาท  และนายวรัญญู อยู่สุภาพ  เป็นเงิน  186,740  บาท  กับให้บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริงอีกคดีละ 50,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5  ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ            จำนวนเงิน 50,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ ก็คือ ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ ตามมาตรา 42 นี้ ที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นค่าเสียหายที่เพิ่มเติมขึ้นนอกเหนือจากค่าเสียหายที่โจทก์พิสูจน์ได้ (ศาลพิพากษา) หรือค่าเสียหายที่แท้จริง ทั้งนี้เพื่อเป็นการลงโทษผู้ประกอบธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไป และยังมุ่งหมายเพื่อเป็นการป้องปรามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นมีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน โดยฝ่ายผู้บริโภคที่เป็นโจทก์ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ค่าเสียหายส่วนนี้ เพราะศาลจะเป็นผู้พิจารณากำหนดเองตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงลักษณะความร้ายแรง สภาพและปริมาณความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ตลอดจนฐานะทางเศรษฐกิจของจำเลยที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ  ขอบคุณข้อมูลจาก 1. คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ดร.ไพโรจน์ วายุภาพ2. คำอธิบาย : วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค วินัย หนูโท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 เกิดเป็นนายจ้าง เมื่อลูกจ้างทำให้ผู้อื่นเสียหาย ต้องรับผิดแค่ไหน

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่าน วันนี้ เรามาคุยเรื่องเกี่ยวกับนายจ้าง ลูกจ้างกันนะครับ  เชื่อว่าหลายท่านคงเคยมีสถานะเป็นทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง แต่ก็มีบางครั้งที่ นายจ้างให้ลูกจ้างไปทำการงานบางอย่าง แล้วต่อมาลูกจ้างไปทำให้คนอื่นเกิดความเสียหาย เช่นนี้ นายจ้างก็ต้องร่วมรับผิด เพราะลูกจ้างได้ทำไประหว่างอยู่ในการงานที่จ้างนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างที่นำรถของบริษัทไปทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย ขับรถประมาทไปชนกับรถคันอื่น เช่นนี้ นายจ้างเขาต้องมาร่วมรับผิดด้วย   แต่ก็มีประเด็นสงสัยต่อมาว่า คำว่า “ลูกจ้าง” ที่นายจ้างต้องร่วมรับผิด ต้องเป็นคนที่ทำงานมานานๆ แล้ว หรือได้รับคำสั่งโดยตรงหรือไม่ ลูกจ้างทดลองงาน ยังไม่ได้รับทำงานประจำ แบบนี้ ถือว่าเป็น “ลูกจ้าง” ตามกฎหมายที่นายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าว ศาลฏีกาได้เคยมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า ลูกจ้างก็คือผู้ทำการงานให้นายจ้าง ตามที่นายจ้างสั่ง แล้วก็รับสินจ้างจากนายจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ หรือลูกจ้างชั่วคราว หรือแม้แต่อยู่ระหว่างทดลองงาน ก็เป็นลูกจ้าง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2524)คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2524การที่นายจ้างรับบุคคลใดเข้าทำงานจะเป็นการรับไว้ประจำหรืออยู่ในขั้นทดลองงานก็ตาม ย่อมถือได้ว่าได้มีการรับบุคคลนั้นเพื่อการทำงานของตนแล้ว จึงอยู่ในฐานะลูกจ้างของนายจ้างคำให้การพยานในชั้นสอบสวนเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่จะนำมาประกอบการวินิจฉัยในการรับฟังเกี่ยวกับข้อเท็จจริงแห่งพฤติการณ์และการกระทำทั้งหลายได้ ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามไว้โดยเด็ดขาด ประเด็นน่าสนใจอีกเรื่องคือ ใครคือ “นายจ้าง” การจะพิจารณาว่าบุคคลใดเป็นนายจ้างหรือไม่ ต้องดู 2 เรื่อง คือ มีอำนาจควบคุมการทำงานหรือไม่ และลูกจ้างต้องทำตามที่เขาสั่งหรือไม่ มีการรับค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้โดยไม่ต้องคำนึงความสำเร็จของงาน มีหน้าที่ทำตามคำสั่งเท่านั้นใช่หรือไม่ หากไม่มีอำนาจควบคุมการทำงาน และงานที่ทำมุ่งผลสำเร็จ การจ้างดังกล่าว ก็เป็นการจ้างทำของ ไม่ใช่จ้างแรงงาน ส่งผลให้บุคคลที่ว่าจ้างไม่นับว่าเป็นนายจ้าง จึงไม่ต้องร่วมรับผิด  ดังเช่น คดีที่จะยกตัวอย่าง เป็นเรื่องของ การรับจ้างล้างและเฝ้ารถซึ่งจอดอยู่ริมถนน คนที่รับเฝ้ารถและล้างรถ  คนว่าจ้าง เขาต้องการผลสำเร็จของงานคือความสะอาดและความคงอยู่ของรถ เป็นการจ้างทำของ คนที่เขารับจ้างดังกล่าวจึงไม่ใช่ลูกจ้างของเจ้าของรถ เมื่อต่อมามีการนำรถไปขับโดยพลการจนถูกรถยนต์คันอื่นชนด้วยความประมาทของคนรับจ้าง แล้วไปชนโจทก์บาดเจ็บ เจ้าของรถจึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2523)คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2523จำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 2 และบุคคลอื่นล้างและฝ้ารถ ซึ่งจอดอยู่ริมถนนที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานเฝ้ายามอยู่แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ต้องทำตามคำสั่งหรืออยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ 2 การจ้างเช่นนี้เป็นการจ้างทำของเพราะผู้ว่าจ้างต้องการแต่ผลสำเร็จของงานคืนความสะอาดและความคงอยู่ของรถ ไม่ใช่จ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ ตัวอย่างอีกคดีหนึ่ง ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อย คือ จำเลยที่ 2 ลูกจ้างขับรถรับจ้างแล้วคนขับประมาทไปชนเขา ตำรวจเรียกไปสถานีตำรวจ มีการเจรจาให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของรถก็ไปช่วยเจรจาเหมือนว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของตน ไม่เคยบอกว่าจำเลยที่ 2 เช่ารถจำเลยที่ 1 ไปขับรับจ้าง พอเจรจาไม่สำเร็จ ผู้เสียหายก็มาฟ้องให้จำเลยที่ 1รับผิดในฐานะนายจ้างร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงต่อสู้ว่าไม่ใช่นายจ้าง ศาลก็ดูพฤติการณ์ดังกล่าว จึงวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 898/2534จำเลยที่ 2 ขับรถสองแถวของจำเลยที่ 1 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 โดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายแล้วโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีซึ่งมีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ยินยอมชดใช้ค่าซ่อมรถตามที่โจทก์เรียกร้อง คู่กรณีตกลงไม่ติดใจเอาความในทางอาญาอีกต่อไปข้อความดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะผู้เสียหายไม่ติดใจจะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 2 เพื่อพนักงานสอบสวนจะได้เปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 2 เท่านั้น ส่วนข้อความที่จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชดใช้ค่าซ่อมรถตามที่โจทก์เรียกร้องนั้น ไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องชำระ วิธีการชำระอันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีก ข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวมิใช่เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิดจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างหลุดพ้นความรับผิดในมูลละเมิด.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 พัสดุชำรุดเสียหาย ใครรับผิดชอบ

หากพบว่าพัสดุชำรุดบกพร่องระหว่างการขนส่ง ผู้บริโภคสามารถแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง ลองไปดูกันคุณปรานีเลือกใช้บริการไปรษณีย์ไทย สาขาตลิ่งชัน เพื่อส่งพัสดุเป็นพัดลมตั้งโต๊ะ ซึ่งมีราคาเครื่องละ 1,600 บาท จำนวน 4 เครื่องให้กับลูกค้า อย่างไรก็ตามภายหลังลูกค้าได้โทรศัพท์มาแจ้งว่า พัดลมที่ได้รับ 2 ใน 4 เครื่อง ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากคอพัดลมหัก พร้อมส่งรูปถ่ายสภาพกล่องมาให้ดู ซึ่งมีลักษณะถูกกระแทกและมีรอยบุบหลายแห่ง ทำให้คุณปรานีมั่นใจว่า เหตุที่พัดลมเสียหาย ต้องเกิดขึ้นระหว่างการขนส่งพัสดุของไปรษณีย์ดังกล่าวแน่นอน เธอจึงไปติดต่อที่สาขาเดิม เพื่อขอให้รับผิดชอบและชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไรก็ตามทางไปรษณีย์ ได้ปฏิเสธรับผิดชอบความเสียหายดังกล่าว แต่แนะนำให้คุณปรานีติดต่อไปยัง Call Center ที่เบอร์โทร 1545 เพื่อร้องเรียน ซึ่งพนักงาน Call Center ได้ช่วยเหลือเธอด้วยการให้ส่งเรื่องมายังอีเมลและรอการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทำให้เธอส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งภาพถ่ายสินค้าและกล่องพัสดุ ในสภาพก่อนและหลังมาเพิ่มเติม พร้อมเอกสารอื่นๆ เช่น ใบเสร็จรับเงินหรืออีเมลการร้องเรียน และช่วยผู้ร้องโทรศัพท์สอบถามไปยังไปรษณีย์ไทย ซึ่งได้รับการชี้แจงว่า ผู้ร้องดำเนินการส่งพัสดุผิดวิธี โดยไม่มีการห่อกันกระแทกภายใน อย่างไรก็ตามจะรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาถึงการชดเชยความเสียหายเบื้องต้น ภายหลังบริษัทไปรษณีย์ไทย ก็ได้ตอบกลับมาว่า ยินดีชดเชยค่าเสียหายตามราคาจริงของพัดลมที่ชำรุด โดยเสนอให้เป็นจำนวนเงิน  3,200 บาทแต่ให้ผู้ร้องนำพัดลมที่ชำรุดส่งคืนมายังบริษัทฯ เพื่อเป็นหลักฐานในการคืนเงินกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องระหว่างขนส่ง ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวและขอยุติการร้องเรียน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ใครจ่ายเมื่อบาดเจ็บ

หากเราประสบอุบัติเหตุไม่คาดฝัน สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งบางครั้งเราอาจไม่ทราบว่าสามารถเบิกจากที่ไหนได้บ้าง ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณสุชาติส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า เขาประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้มแขนหัก ขณะที่กำลังขี่ไปทำงาน ทำให้ต้องหยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งทางบริษัทได้ออกค่านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลให้ อย่างไรก็ตามคุณสุชาติพบว่าตนเองได้ทำประกันตาม พ.ร.บ. ไว้กับบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ด้วย จึงต้องการทราบว่าสามารถเบิกค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมได้อีกหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ ได้ชี้แจงการเบิกใช้สิทธิ พ.ร.บ. ในวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้น ดังนี้กรณีบาดเจ็บ เบิกจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล ในวงเงินตามที่รักษาจริงไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน (ปรับเพิ่มจากเดิมคุ้มครองเพียง 15,000 บาท) โดยผู้ประสบภัยจะเบิกเองหรือมอบอำนาจให้โรงพยาบาลตั้งเบิกกับบริษัทกลางฯ ผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทกลางฯ ได้จัดทำระบบสินไหมอัตโนมัติ (ระบบสินไหมอัตโนมัติ หรือ e-claim online บริษัทกลางฯ จะโอนเงินจ่ายคืนโรงพยาบาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ส่งเรื่องตั้งเบิก) และขอความร่วมมือโรงพยาบาลทุกแห่งเข้าใช้ระบบ เพื่อลดภาระของประชาชนและผู้ประสบภัยจากรถอย่างไรก็ตามในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลเกินกว่านี้ ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิจากวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้นไปก่อน 30,000 บาท ส่วนเกินที่เหลือสามารถเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้จาก 1.สิทธิบัตรทอง 30 บาท (ถ้ามี) 2.สิทธิประกันสังคม (ถ้ามี) หรือ 3.ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งในกรณีนี้ต้องรอผลสรุปทางคดีและสามารถเรียกร้องเอาจากคู่กรณีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 กระแสต่างแดน

เป็นขยะแล้วไงระหว่างปี 2553 ถึงปี 2558 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้มีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 63 เพราะผู้คนมีรายได้มากขึ้นและมีความ “จำเป็น” ต้องใช้เพิ่มขึ้นด้วยปริมาณขยะใน 12 ประเทศที่สำรวจ รวมกันแล้วมีถึง 12.3 ล้านตัน (หนักกว่ามหาพีระมิดกีซา 2.4 เท่า)การสำรวจของกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นพบว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคนี้เพิ่มเร็วกว่าจำนวนประชากร ตัวเลขในปี 2558 ระบุว่าฮ่องกงมีปริมาณขยะต่อประชากร 21.7 กิโลกรัมต่อปีซึ่งสูงที่สุดในกลุ่ม ในขณะที่ฟิลิปปินส์มีปริมาณขยะเฉลี่ยต่อหัวต่ำสุดในกลุ่มที่ 1.35 กิโลกรัมญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน มีความก้าวหน้าในการจัดการและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด ในขณะที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ก็มีข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเอกชนและรัฐบาล ส่วนจีน มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ก็มีกฎหมายสำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้วเหลือแต่ กัมพูชา อินโดนีเซีย และไทย ที่ยังไม่มีมาตรการใดๆ เพื่อรับมือกับขยะในยุคดิจิทัลเลยที่นี่ไม่มีวินDego Ride บริการเรียกพี่วินผ่านแอปที่เปิดให้บริการในมาเลเซียมาแล้ว 3 เดือน ต้องหยุดดำเนินการทันทีตามคำสั่งของกระทรวงคมนาคม เพราะกำลังฝ่าฝืน พ.ร.บ.ขนส่งทางบกมาตรา 23 ที่ห้ามใช้มอเตอร์ไซค์รับส่งผู้โดยสาร และบริษัทก็ประกอบกิจการขนส่งโดยไม่มีใบอนุญาตแม้จะทันสมัย รวดเร็ว และสะดวกสบาย แต่กระทรวงฯ ก็ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับแก้กฎหมายมารองรับ(เหมือนอย่างในกรณีแท็กซี่ของ UBER หรือ Grab) เพราะบริการพี่วินนั้นเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวผู้โดยสารและผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นแม้ Dego Ride จะอ้างว่ายังไม่มีอุบัติเหตุเลยตั้แต่ให้บริการมา แต่สถิติในภาพรวมยืนยันว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่บนท้องถนนมาเลเซียเกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ ช่วงตรุษจีนที่ผ่านมาก็มีมากกว่าร้อยละ 60ลมหายใจลูกค้าที่ซื้อเครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดของบรีโธมิเตอร์ (Breathometer) ในระหว่างปี 2556 – 2558 เตรียมไปขอรับเงินคืนได้เลยอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเพื่อวัดระดับความมึนเมา “ด้วยมาตรฐานเดียวกับที่ตำรวจใช้” และสามารถเรียกแท็กซี่มารับได้ด้วยนี้มีกระแสตอบรับดีมาก สตาร์ทอัปเจ้านี้ทำยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านเหรียญ (175 ล้านบาท) จากอุปกรณ์รุ่น Original (1,700 บาท) และรุ่น Breeze (3,500 บาท)แต่คณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจได้ตรวจสอบประสิทธิภาพแล้วพบว่า อุปกรณ์นี้วัดค่าออกมาต่ำเกินจริง แถมความชื้นและอุณหภูมิยังมีผลต่อการทำงานของเครื่องด้วยบริษัทจึงถูกสั่งให้เก็บสินค้าและถอนแอปออกจากร้าน เขาบอกว่าจะเลิกเอาดีทางด้านนี้แล้วไปทุ่มให้บริการด้านสุขภาพแทน ... เอ่อ คราวหน้าต้องไม่พลาดนะ คิดผิดคิดใหม่ EE ผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษถูกสั่งปรับเป็นเงิน 2.7 ล้านปอนด์ (117.2 ล้านบาท) เพราะคิดค่าโทรศัพท์แพงเกินจริงลูกค้าของ EE ที่ใช้บริการโรมมิ่งขณะเดินทางในยุโรป ถูกเรียกเก็บค่าบริการนาทีละ 49 บาท (ซึ่งเป็นอัตราสำหรับการโทรจากอเมริกา) แทนที่จะเป็น 8 บาทตามจริง เมื่อพวกเขาโทรเข้าคอลเซ็นเตอร์คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม (Ofcom) มีคำสั่งให้บริษัทคืนเงินส่วนต่างให้กับลูกค้า แต่จนถึงตอนนี้บริษัทสามารถระบุตัวและคืนเงินให้ลูกค้าได้เพียง 6,905 ราย จากผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 32,145 รายว่าแล้วก็บริจาคเงินส่วนที่หาเจ้าของไม่ได้ 62,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2.7 ล้านบาท) ให้กับองค์กรการกุศลไป แต่ Ofcom ยังยืนยันว่าบริษัทต้องตามหาลูกค้ากลุ่มนี้มารับเงินคืนต่อไป ยังปิดจ๊อบไม่ได้นะจ๊ะขอทวนคำถามการเดินทางเข้าเมืองซิดนีย์จะต้องรวดเร็ว ราบรื่นและสะดวกสบายกว่าเดิมด้วยรถไฟไต้ดินสายใหม่ช่วงซิดแนมและแบงคส์ทาวน์ นี่คือโปรเจค 20,000 ล้านเหรียญ(ประมาณ 536,000 ล้านบาท) จากรัฐนิวเซาท์เวลส์ซิดนีย์เมโทรจะเพิ่มจำนวนรถไฟเข้าเมืองจาก 120 เป็น 200 ขบวนในชั่วโมงเร่งด่วน มีการดูแลความปลอดภัย 24 ชั่วโมง และมีพื้นที่จอดรถมากขึ้น ระหว่างการก่อสร้างที่ต้องปิดสถานีตามเส้นทางรถไฟสายเก่าเพื่อปรับปรุงให้เป็นสถานีใต้ดิน เขาจะจัดรถรับส่งให้ได้รับความสะดวกโดยทั่วกันผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้อยู่อาศัยตามแนวเส้นทาง 66 กิโลเมตร (กลุ่มตัวอย่าง 2,800 คน) ได้ข้อสรุปว่า “ใครๆ ก็ชอบ” กลุ่มผู้คัดค้านจึงสงสัยว่าผู้สำรวจให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวหรือไม่ไม่มีใครบอกพวกเขาเลยว่าจำนวนที่นั่งบนรถแต่ละขบวนจะลดลงจาก 896 เหลือเพียง 378 ทางออกไปยังสถานที่หรือถนนสำคัญในตัวเมืองจะหายไป ยังไม่นับเรื่องการรื้อถอนอาคารบ้านเรือน แต่สำคัญที่สุดคือการทำรถใต้ดิน “ทับ” เส้นทางรถไฟเดิมด้วยเงินมหาศาลจากภาษีของทุกคนมันเหมาะสมแล้วหรือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 หากถูกเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า

ทำงานอยู่ดีๆ เกิดนายจ้างเลิกสัญญาจ้างแรงงานขึ้นมาโดยไม่บอกให้รู้ล่วงหน้า เราจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง เราลองมาดูตัวอย่างกันค่ะปกติเมื่อนายจ้างต้องการจะเลิกสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้าง ในสัญญาจ้างจะกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ในการบอกกล่าวลูกจ้างล่วงหน้าก่อนหรือเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้าง และจะมีผลเป็นการเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างในงวดถัดไป แต่ถ้าในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างแล้ว และไม่ประสงค์จะให้ลูกจ้างทำงานแล้ว นายจ้างจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้าง ตามจำนวนให้ครบจนถึงวันที่เลิกสัญญา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 สำหรับกรณีตามตัวอย่างคราวนี้ ลูกจ้างโดนนายจ้างซึ่งปิดประกาศเลิกจ้างหน้าบริษัทฯ โดยไม่ระบุถึงสาเหตุในการเลิกจ้างในประกาศ ลูกจ้างจึงได้เป็นโจทก์ฟ้องนายจ้าง เรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และเรียกให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3407/2552 ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิพากษาว่า “จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยให้เหตุผลว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และมาตรา 583 หรือตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 แล้วแต่กรณี มิได้บัญญัติไว้ว่า ถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้างแล้ว นายจ้างจะยกเหตุผลแห่งการเลิกจ้างขึ้นมาอ้างภายหลังไม่ได้ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย ดังนั้นแม้จำเลยไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้างจำเลยก็ย่อมยกเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้”นอกจากนี้ ยังมีคำให้การของนายจ้างว่า ลูกจ้างใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวพ่วงกับอุปกรณ์ของบริษัทฯ เพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัวในเวลาทำงานเป็นประจำ และออกไปติดต่อทำการค้าขายในกิจการส่วนตัวโดยไม่แจ้งให้นายจ้างทราบ นายจ้างได้ตักเตือนในที่ประชุมแล้วแต่ลูกจ้างยังคงปฏิบัติเช่นเดิม นายจ้างจึงมีหนังสือตักเตือนลูกจ้างครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 หลังจากนั้นลูกจ้างได้กระทำความผิดอีกในวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย สำหรับในประเด็นนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานเห็นว่า “จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานก็ย่อมมุ่งหวังจะได้รับประโยชน์จากการทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างให้คุ้มกับค่าจ้างที่เสียไป การที่โจทก์ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวต่อพวงกับอุปกรณ์ของจำเลยในเวลาทำงานเพื่อทำการค้ากับบุคคลภายนอก นอกจากจะเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากการใช้กระแสไฟฟ้า โทรศัพท์และอุปกรณ์ของจำเลยเพื่อเป็นประโยชน์ส่วนตัวแล้วยังเป็นการเบียดบังเวลาทำงานของจำเลยอีกด้วย ย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยตักเตือนและสั่งห้ามในที่ประชุมแล้ว โจทก์ยังกระทำเช่นนั้นอีกจนต้องมีการตักเตือนเช่นนั้นถึง 5 ครั้ง ย่อมถือได้ว่าโจทก์ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณและเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย และตามพฤติการณ์การกระทำของโจทก์ดังกล่าวนอกจากจะแสวงหาประโยชน์อันมิชอบและเบียดบังเวลาทำงานของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแล้ว ยังยากแก่การบังคับบัญชา หากจ้างโจทก์ทำงานต่อไปก็มีแต่จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมากขึ้น จำเลยย่อมมีเหตุผลที่จะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไป ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์” เพราะฉะนั้น หากใครที่ใช้เวลาทำงานในการหาประโยชน์ส่วนตัว หรือใช้เวลาทำงานเล่นอินเตอร์เน็ตหรือทำให้นายจ้างเสียประโยชน์ อาจจะโดนบอกเลิกสัญญาจ้างทันที และไม่ได้รับเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 รักษาไม่หาย

หลายคนเมื่อไม่สบายมักไปพบแพทย์เพื่อให้มีการวินิจฉัยอาการที่แน่ชัด และรับทราบแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง แต่อาจไม่ใช่ทุกคนที่โชคดีหายจากโรคภัย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ลูกชายของคุณสมใจเพิ่งอายุได้เพียง 1 เดือน มีอาการไอตลอดเวลา เธอจึงพาไปตรวจที่อนามัยแถวบ้าน ภายหลังตรวจเรียบร้อยหมอก็ได้ให้ยาแก้ไอมารับประทาน อย่างไรก็ตามผ่านไปหลายวันอาการก็ยังไม่ดีขึ้น อีกทั้งยังหนักขึ้นเรื่อยๆ และมีผื่นขึ้นเต็มตัว ทำให้เธอตัดสินใจพาลูกเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใน จ.หนองคาย โดยหมอได้รักษาด้วยการพ่นยา แต่อาการยังคงเหมือนเดิม ภายหลังจึงนำไปเอ็กซเรย์ และพบว่าเด็กมีอาการปอดติดเชื้อ จึงรักษาด้วยการให้น้ำเกลือ แต่ลูกชายของคุณสมใจก็ยังคงมีไข้สูง และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่นานอาการก็แย่ลงถึงขั้นหมดสติเหตุการณ์ยังคงเลวร้ายลงเรื่อยๆ เมื่อวันถัดมาลูกชายของเธอเริ่มมีอาการตาบวมและชัก จนในที่สุดก็มีอาการปอดติดเชื้อ ความดันต่ำและหัวใจวายเฉียบพลัน ภายหลังลูกชายเสียชีวิต คุณสมใจจึงร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมและขอความช่วยเหลือมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องไปขอประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลดังกล่าว และไปติดต่อที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช. ) หนองคาย พร้อมส่งสำเนาประวัติการรักษาและใบมรณะบัตรมาที่มูลนิธิด้วย อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องไปติดต่อ ทางโรงพยาบาลแจ้งว่าต้องรอผู้อำนวยการอนุมัติก่อน ศูนย์ฯ จึงแจ้งผู้ร้องว่า สามารถดำเนินการยื่นเรื่องได้ภายใน 1 วันตั้งแต่ทราบความเสียหาย และควรรีบไปดำเนินการเพื่อที่จะได้เยียวยาความเสียหายเบื้องต้น โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ถูกผิดหรือผลทางการแพทย์ ทั้งนี้ศูนย์ฯ จะช่วยส่งเรื่องผู้ร้องต่อเครือข่ายหนองคายให้ช่วยดำเนินการ ล่าสุดผู้ร้องจึงแจ้งกลับมาว่าได้รับการดำเนินการยื่นเรื่อง ม.41 ชดเชยเยียวยา เป็นเงิน 360,000 บาท ซึ่งเธอยินดีรับเงินจำนวนดังกล่าวและขอยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเกินจริง

หากเราตัดสินใจเช่าซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ แต่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามที่ตกลงกันไว้ ทางออกที่สามารถทำได้ง่ายๆ คือ ให้บริษัทยึดรถคันดังกล่าวไปขายทอดตลาด และเราก็รอชำระหนี้ส่วนต่างที่เหลืออยู่ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องกลับถูกเรียกร้องให้ชำระหนี้เท่ากับราคาขายทอดตลาด ซึ่งเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรเราลองมาดูกัน   เมื่อปี 2549 คุณสุชัยเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่งยี่ห้อ Honda รุ่น Accord ในราคาเกือบ 2 ล้านบาท จากบริษัทแห่งหนึ่ง โดยตกลงแบ่งชำระเป็นงวดจำนวน 60 เดือน หลังผ่อนชำระไปได้ 17 งวดก็ประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้ค้างชำระติดกันเป็นเวลาหลายเดือน จึงตัดสินใจโทรศัพท์แจ้งให้ธนาคารมารับรถคืนไป โดยคิดว่าคงมีการนำรถไปขายทอดตลาด และให้ชำระหนี้ส่วนต่างที่เหลืออยู่ แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลังผ่านไป 8 ปีกลับมีหมายศาลมาที่บ้านว่า เขาเป็นหนี้รถยนต์คันดังกล่าวอยู่กว่า 7 แสนบาท ซึ่งเขารู้สึกว่าเป็นราคาที่เกินจริง เนื่องจากไม่มีการแจ้งก่อนหน้านี้ว่ารถคันดังกล่าวขายได้ราคาเท่าไร ทำให้คุณสุชัยส่งเรื่องมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือด้านกฎหมายแนวทางการแก้ไขปัญหาทนายความของศูนย์พิทักษ์สิทธิช่วยทำคดีนี้ให้คุณสุชัย เพราะเมื่อตรวจสอบย้อนหลังพบว่า ทางธนาคารหรือผู้ให้เช่าซื้อ ได้นำรถยนต์คันดังกล่าวขายทอดตลาดไปแล้ว ทั้งยังอ้างว่าได้ราคากว่า 7 แสนบาท แต่ทางบริษัทกลับมาเรียกร้องเอาเงินจำนวนดังกล่าวกับคุณสุชัยอีก อย่างไรก็ตามเมื่อฟ้องร้องคดีในศาลก็ได้รับข้อยุติว่า บริษัทไม่ได้นำสืบให้เห็นชัดแจ้งว่า ทางธนาคารได้รับรถยนต์คันดังกล่าวคืนจากผู้ร้องเมื่อใด และขณะนั้นรถยนต์มีสภาพทรุดโทรมหรือได้รับความเสียหายเท่าใด ดังนั้นราคาขายทอดตลาดรถยนต์คันเช่าซื้อที่บริษัทอ้างจึงมีน้ำหนักน้อย ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าราคาเช่าซื้อที่ขาดเป็นจำนวนตามที่ฟ้องนอกจากนี้เบี้ยปรับตกลงไว้ ถือเป็นการกำหนดความรับผิดล่วงหน้าในลักษณะทำนองเบี้ยปรับ จึงเห็นว่าราคาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องมีการคิดราคาบวกด้วยผลประโยชน์และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่ราคาทรัพย์ที่แท้จริง ดังนั้นเมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้รับค่าเช่าซื้อบางส่วนกับราคาขายรถยนต์คันนี้แล้ว จึงกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้เพียง 50,000 บาท โดยคำนวณจากราคาที่ผู้ร้องได้ชำระไปแล้ว รวมราคาที่บริษัทอ้างว่าขายทอดตลาดได้ นำไปหักลบจากราคารถยนต์ในขณะที่ทำสัญญา พร้อมให้จ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้ตามหลักตามกฎหมายสัญญาเช่าซื้อ กำหนดเรื่องการคืนรถยนต์ไว้ว่า เมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้รับรถยนต์คันดังกล่าวกลับคืนไปแล้ว ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน ผู้ร้องไม่ต้องชดใช้ค่างวดรถตามสัญญาแล้ว โดยเมื่อมีการนำรถขายทอดตลาด ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามจำนวนหนี้คงค้างตามสัญญา หากนำรถขายได้ราคาน้อยกว่าหนี้ที่ค้าง ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบส่วนที่ขาดเฉพาะในกรณีที่เจ้าของได้ขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสม ซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อที่ไม่ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่ควร นอกจากนี้สำหรับใครที่ต้องการคืนรถไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ควรเก็บหลักฐานสำคัญไว้ด้วย ดังนี้ รูปถ่ายสภาพรถหลายๆ มุม ใบประเมินราคารถว่าในขณะนั้นหากขายทอดตลาดจะได้ราคาประมาณเท่าไร รวมทั้งเอกสารการส่งรถคืน เนื่องจากจะได้มีหลักฐานยืนยันหากเกิดกรณีฟ้องร้องขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 คืนตั๋วโดยสารไม่ได้

เหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างการซื้อตั๋วโดยสารแล้ว ไม่สามารถเดินทางตามกำหนดเวลาที่จองไว้ได้ ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งบางคนอาจแก้ปัญหาด้วยการเลื่อนเวลาการเดินทาง หรือนำบัตรโดยสารไปคืน โดยทำตามเงื่อนไขต่างๆ ตามที่แต่ละบริษัทกำหนดไว้ อย่างไรก็ตามหากเราพบว่าไม่สามารถคืนตั๋วได้ตามเงื่อนไข ควรทำอย่างไรดีคุณสุชาติซื้อบัตรโดยสารของบริษัท สมบัติทัวร์ จำกัด โดยกำหนดเดินทางจากกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ต่อมาภายหลังเขาต้องเดินทางไปทำธุระที่จังหวัดอื่นกะทันหัน จึงไปเปลี่ยนตั๋วเดินทางเป็นขากลับจากเชียงใหม่แทน(เชียงใหม่ – กรุงเทพฯ) ซึ่งพนักงานก็เปลี่ยนให้โดยไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อเขาพบว่าตนเองไม่สามารถเดินทางกลับภายในระยะเวลาที่จองตั๋วไปแล้วได้ จึงตัดสินใจยกเลิกการจองตั๋วดังกล่าวและไปขอเงินคืน ซึ่งเขาทราบเงื่อนไขของการคืนตั๋วอยู่แล้วว่า ต้องนำตั๋วโดยสารมาคืนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ชม. และจะได้เงินคืนไม่เต็มจำนวน โดยต้องโดนหักค่าธรรมเนียม 10% จากราคาตั๋วนั้นๆ อย่างไรก็ตามแม้เขาจะทำตามเงื่อนไขการคืนตั๋ว พนักงานกลับปฏิเสธการคืนบัตรโดยสารดังกล่าวและแจ้งว่ามีวิธีเดียวที่จะได้เงินคืนคือ ให้นำมาฝากขาย ซึ่งหากมีคนมาซื้อก็จะแจ้งให้มารับเงินจำนวนดังกล่าวไป ทำให้ผู้ร้องรู้สึกว่าไม่มีความเป็นธรรม จึงส่งเรื่องมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ช่วยทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรถึงกรมการขนส่งทางบกและบริษัทฯ เพื่อให้ชี้แจงปัญหาดังกล่าวและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยภายหลังทางบริษัทฯ ได้แจ้งกลับมาว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดของพนักงาน ซึ่งได้เรียกมาอบรมแล้วและพร้อมคืนเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในตั๋วโดยสารให้ ด้านผู้ร้องก็ยินดีกับข้อเสนอดังกล่าวและได้รับเงินคืนเรียบร้อยทั้งนี้สำหรับใครที่ใช้บริการกับบริษัทดังกล่าว โดยซื้อตั๋วโดยสารไปแล้วแต่พบว่าไม่สามารถเดินทางตามกำหนดเวลาที่ซื้อไว้ได้ สามารถขอเลื่อนกำหนดการเดินทาง รวมทั้งขอยกเลิก/คืนตั๋วโดยสารได้ที่เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วของบริษัท โดยมีเงื่อนไขในการยกเลิก คือ นำสำเนาบัตรประชาชนมาติดต่อด้วยตนเอง หรือเขียนมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทน ก่อนเวลาเดินทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสารล่วงหน้า ซึ่งหากเป็นกรณีเดินทางจากต้นทางกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ ต้องล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ชั่วโมง และหากเป็นจังหวัดอื่นต้องล่วงหน้าอย่างน้อย 5 ชั่วโมง พร้อมเสียค่าธรรมเนียมการยกเลิก 10% จากราคาค่าโดยสาร หรือในกรณีที่ต้องการเลื่อนวันเดินทาง และ/หรือเปลี่ยนแปลงการเดินทางสามารถทำได้ฟรี 1 ครั้ง ซึ่งต้องมาติดต่อเหมือนในกรณีการยกเลิกตั๋ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 น้ำซึมเข้าห้องพักทำของเสียหาย ใครรับผิดชอบ

ปัญหาน้ำรั่วซึมภายในห้องพัก นับเป็นเรื่องกวนใจผู้เช่าอย่างมาก เพราะสามารถทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งเราสามารถเรียกร้องให้ทางหอพักชดเชยค่าเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณปาริชาตเช่าห้องพักอยู่แถวปิ่นเกล้า วันดีคืนดีมีน้ำสกปรกออกมาจากท่อน้ำทิ้งในห้องน้ำ และภายหลังได้ล้นเข้ามาจนถึงห้องนอน ทำให้ทรัพย์สินภายในห้องเสียหาย ซึ่งรวมๆ แล้วเป็นมูลค่ากว่า 8,000 บาท เธอจึงไปแจ้งเจ้าของห้องเช่าเพื่อให้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่เจ้าของก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมมาพบหน้า ทำให้เธอร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังเจ้าของหอพักได้รับการติดต่อก็ยินดีที่จะรับผิดชอบ โดยรับปากว่าจะดำเนินการซ่อมแซมท่อน้ำและจะชดใช้ค่าเสียหายให้ 1,000 บาท ด้านผู้ร้องเห็นว่าเป็นจำนวนที่น้อยเกินไป ศูนย์ฯ จึงแนะนำให้ผู้ร้องเสนอจำนวนเงินที่ต้องการให้เจ้าของหอรับผิดชอบอย่างไรก็ตามเมื่อมีการเจรจาอีกครั้ง เจ้าของหอเสนอค่าชดเชยความเสียหายที่ราคา 2,000 บาท และแจ้งว่าหากผู้ร้องไม่พอใจสามารถย้ายออกได้และจะคืนเงินค่าประกันให้ ทำให้ผู้ร้องต้องยินยอมรับเงินจำนวนดังกล่าวไป เพราะเธอไม่ต้องการย้ายออก เนื่องจากหอพักดังกล่าวอยู่ใกล้ที่ทำงาน ทั้งนี้หากเจ้าของหอพักไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาหรือซ่อมแซมท่อน้ำดังกล่าว ผู้ร้องสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เพราะอาจเข้าข่ายความผิดตามหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ให้เช่า ตามมาตรา 550 ที่กำหนดให้ผู้ให้เช่าต้องรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องและจัดการซ่อมแซม ซึ่งไม่สามารถปัดภาระการซ่อมมาให้ผู้เช่าห้องได้ เพราะตามมาตรา 547 กำหนดให้ผู้เช่าเสียค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงรักษาตามปกติ และเพื่อซ่อมแซมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >