ฉบับที่ 141 กระแสต่างแดน

ฮ่องกงกับปัญหา “ห้องกรง” แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่และมีความยอดเยี่ยมในหลายๆ ด้าน แต่ปัญหาที่แก้ไม่ตกของเมืองพื้นที่จำกัดอย่างฮ่องกงเห็นจะหนีไม่พ้นปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย การสำรวจครั้งล่าสุดพบว่าประชากรกว่า 80,000 คน (ส่วนใหญ่เป็นคนว่างงาน  คนรายได้น้อย ผู้อพยพ คนพ้นโทษออกจากคุก หรือคนที่สติไม่ดี) อาศัยอยู่ในที่ๆ แทบไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ที่อยู่อาศัย” ได้เลย “ห้องกรง” หรือ “บ้านกรง” นั้นจะมีพื้นที่ประมาณ 1 เตียงเดี่ยว หรือประมาณ 3 ตารางเมตร ที่ใช้ลูกกรงตาข่ายกั้นห้องแทนผนังทึบ แต่ขอบอกว่าค่าเช่าไม่ถูกเลย เขาจ่ายกันประมาณ 1,400 เหรียญ (5,600 บาท) ต่อเดือน อัตรานี้เพิ่มจาก 1,000 เหรียญเมื่อต้นปี ส่วน “บ้านกล่อง” นั้นก็พอจะอยู่กันได้หลายคนหน่อย ครอบครัวหนึ่งซึ่งประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูกชาย และลูกสาว อาศัยอยู่ในพื้นที่ 4.6 ตารางเมตร พวกเด็กๆบอกว่าไม่มีปัญหา เพราะสามารถขึ้นไปกินข้าว ทำการบ้าน หรือเล่นเกมต่างๆ บนหลังคาตึกได้ ครอบครัวนี้ไม่คิดจะขยับขยายไปไหน เพราะค่าเช่า 1,500 เหรียญ (6,000 บาท) ต่อเดือนนั้นเหมาะสมแล้วกับรายได้ 4,000 เหรียญ (16,000 บาท) ของครอบครัว   บ้านกรงและบ้านกล่องเหล่านี้ สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในย่าน ชัม ชุย โป (ที่คนไทยรู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งขายสินค้าแฟชั่นราคาส่งแบบประตูน้ำบ้านเรา) ที่แคบไม่เท่าไร แต่ปัญหาคือ พื้นที่แออัดในตึกสูงเหล่านี้ทำให้การระบายอากาศไม่ดีเท่าที่ควร เขาสำรวจพบว่าร้อยละ 80 ของผู้อยู่อาศัยใน “กล่อง” และร้อยละ 70 ของผู้อยู่อาศัยใน “กรง” นั้น มีอาการของโรคเรื้อรังอย่างใดอย่างหนึ่ง ร้านนี้สตรีเท่านั้น กระทรวงแรงงานของซาอุดิอาระเบียกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการบังคับให้บรรดาร้านเพชร ร้านทอง เปลี่ยนมาจ้างพนักงานที่เป็นสตรีทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่เคยออกมาก่อนหน้านั้น ที่ระบุว่าห้างร้านใดๆ ที่ขายสินค้าสำหรับผู้หญิงจะต้องใช้พนักงานที่เป็นผู้หญิงเท่านั้น แต่ฝ่ายร้านทองพากันออกมาคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่างานลักษณะนี้ผู้หญิงไม่น่าจะเอาอยู่ เพราะร้านเหล่านี้จะมีผู้คนมากมายเบียดเสียดกันตลอดวัน ปะปนกันไปทั้งลูกค้า ทั้งโจรนอกเครื่องแบบ บ้างก็ว่านโยบายนี้จะส่งผลให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการจ้างงาน เนื่องจากทุกวันนี้พนักงานขายในร้านค้าต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นชายหนุ่ม ซึ่งขายกันมาจนมีความเชี่ยวชาญ ถ้าเปลี่ยนเป็นจ้างผู้หญิงแล้ว หนุ่มๆ เหล่านี้จะไปทำอาชีพอะไร  กินได้โล่ งานวิจัยในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ระบุว่า ปริมาณการบริโภคช็อกโกแลตของประชากรนั้นมีส่วนสัมพันธ์กับจำนวนคนที่ได้รับรางวัลโนเบลในประเทศนั้นๆ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีอัตราส่วนของผู้ได้รับรางวัลโนเบลต่อจำนวนประชากรสูงที่สุด นั้นเขากินช็อกโกแลตกันเฉลี่ยคนละ 120 แท่ง (แท่งละ 85 กรัม) หรือ 10.2 กิโลกรัม/ปี  ตามด้วยประเทศสวีเดน และเดนมาร์ก ที่ประชากรมีการบริโภคช็อกโกแลตรองลงมา ส่วนสหรัฐฯ นั้นอยู่ในระดับกลางๆ งานวิจัยระบุว่าถ้าสหรัฐต้องการมีผู้ได้รับรางวัลโนเบลเพิ่มขึ้น 1 คน ประชากรอเมริกันก็ต้องช่วยกันบริโภคโกโก้เพิ่มขึ้นอีก 125 ล้านกิโลกรัมต่อปี เอริค คอร์เนล แพทย์ชาวอเมริกันที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ในปีค.ศ. 2001 ให้ความเห็นว่า ที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะการบริโภคช็อกโกแลตนั้นสัมพันธ์กับความมั่งคั่งของประเทศ และความมั่งคั่งของประเทศนี้เองที่นำไปสู่การสร้างสรรค์งานวิจัยคุณภาพสูงควรค่าแก่รางวัลโนเบล แต่หมอคอร์เนลย้ำว่า ต้องบริโภคช็อกโกแลตชนิดที่น้ำตาลน้อย (dark chocolate) มันถึงจะมีประโยชน์ต่อสมอง หัวใจ และการควบคุมน้ำหนักตัว พูดง่ายๆ คืออย่าพลาดไปทานขนมรสช็อกโกแลตหวานๆ เข้าทีเดียว เดี๋ยวจะได้ผลในทางตรงกันข้าม นี่คงเป็นนิมิตหมายอันดีของคนทั้งโลก เพราะเดี๋ยวนี้คนเราหันมาบริโภคช็อกโกแลตกันมากขึ้น ทุกๆ วินาที เราชาวโลกจะบริโภคช็อกโกแลตกันประมาณ 95 ตัน ที่ญี่ปุ่น ยอดขายช็อกโกแลตเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ในจีนยอดขายก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 แม้แต่ในอินเดียที่คนร้อยละ 50 ไม่เคยลิ้มรสช็อกโกแลต ยอดขายก็ยังเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 แต่คุณทราบหรือไม่ว่าร้อยละ 85 ของตลาดช็อกโกแลตโลก เป็นของบริษัทข้ามชาติเพียง 6 เจ้า ได้แก่ เฮอร์ชีย์  มารส์  ฟิลลิปมอริส เนสเล่  แคดบิวรี่ และเฟอเรโร่   ไม่ร้องก็ต้องลด ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียนบริการโทรคมนาคมของออสเตรเลีย ตัดสินใจปลดพนักงานออก เพราะจำนวนเรื่องร้องเรียนลดลงไปจากช่วงต้นปีถึงร้อยละ 20 เนื่องจากองค์กรนี้ได้รับเงินสนับสนุนตามจำนวนเรื่องร้องเรียน รายได้ของหน่วยงานจึงลดลงไปโดยปริยาย พนักงานจำนวนหนึ่งจากทั้งหมด 266 คนจึงต้องออกไปหางานใหม่ เรื่องร้องเรียนอันดับต้นๆ ของที่ออสเตรเลียก็คล้ายๆกับที่บ้านเรา ได้แก่ สัญญาณไม่ดี ค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม และการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ผู้บริโภค ณ จุดขาย รัฐที่มีเรื่องร้องเรียนต่อหัวประชากรมากที่สุด ได้แก่ รัฐวิคตอเรีย ซึ่งมีเรื่องร้องเรียนเฉลี่ย 10.6 เรื่อง ต่อประชากร 1,000 คน  แต่ถ้าดูในระดับเมืองแล้ว เมืองบริสเบนของรัฐควีนส์แลนด์ มีเรื่องร้องเรียนมากที่สุดถึง 15.6 เรื่อง ต่อประชากร 1,000 คน   ที่น่าสังเกตคือ แม้ว่าปีนี้จะมีเรื่องร้องเรียนโดยรวมลดลงจากปีก่อน แต่เรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือกลับเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 10 สืบเนื่องจากจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง   แม้ว่าจะมีคนหลายหมื่นที่ยังมีเรื่องอยากร้องเรียน แต่องค์กรนี้เขายังยืนยันจะลดจำนวนพนักงาน โดยให้เหตุผลว่าข้อบังคับใหม่ที่ออกมาควบคุมการให้บริการโทรคมนาคมให้เป็นมิตรต่อผู้บริโภคมากขึ้นนั้น คงจะทำให้เรื่องร้องเรียนลดลงไปกว่าเดิม   ของถูก เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เมืองการาจี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาเป็นอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงที่สุดในปากีสถานที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 250 ราย   ข่าวนี้ทำให้เกิดคำถามมากมาย ตั้งแต่มาตรฐานความปลอดภัยของสถานประกอบการ การคอรัปชั่นในรัฐบาล และความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการ โรงงานดังกล่าว มีคนทำงานอยู่ 500 คน (รวมผู้หญิง 50 คน) ในขณะเกิดเหตุ (หลังหกโมงเย็น) สาเหตุของไฟไหม้ยังไม่ชัดเจน แต่ที่ชัดคือ โรงงานซึ่งเป็นตึกสองชั้นที่เก็บสต๊อกสีย้อมและผ้าฝ้ายไว้ในตัวอาคารนั้น มีทางออกเพียงทางเดียว และไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ทางหนีไฟ” ไฟไหม้ในเอเชียแต่ร้อนกันไปถึงยุโรป เมื่อสื่อมวลชนออกมาเปิดเผยว่าโรงงานดังกล่าวคือโรงงานที่ผลิตเสื้อผ้าให้กับห้างค้าปลีกสัญชาติเยอรมันที่เน้นสินค้าประเภทเสื้อผ้าราคาประหยัดยี่ห้อ KiK นั่นเอง จึงเกิดเสียงวิพากษ์กันหนาหูว่านักธุรกิจเยอรมันไม่ได้ใส่ใจกับสภาพการทำงานของคนที่ทำงานในโรงงาน เท่าที่ควร KiK แสดงความรับผิดชอบด้วยการมอบเงิน 500,000 เหรียญ ให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่องค์กรพัฒนาเอกชน Sudwind เขาออกมาเรียกร้องให้บริษัทมีมาตรการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่านั้น อย่างน้อยๆ ก็ต้องดูแลผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุไฟไหม้แต่ไม่มีงานทำหรือไม่สามารถทำงานได้ด้วยเช่นกัน ข่าวบอกว่าการณรงค์เรื่องความรับผิดชอบต่อสภาพการทำงานในโรงงานผลิตนี้ ยังไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไร เพราะกฎหมายเยอรมันยังไม่ได้บังคับให้ผู้ประกอบการตรวจสอบสภาพการทำงานในบริษัทที่รับจ้างผลิต ที่ตั้งอยู่ในประเทศอื่น ที่ผ่านมานั้นเป็นการทำตามความสมัครใจมากกว่า แต่เรื่องนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว เพราะขณะนี้คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังพิจารณาออกข้อบังคับให้บริษัทต่างๆ เปิดเผยข้อมูลว่าสินค้าของตัวเองนั้นผ่านกระบวนการผลิตอย่างไร โดยใคร ที่ไหน ในสภาพการทำงานเช่นใด เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >