ฉบับที่ 246 วิธีรับมือกับไรฝุ่นในห้องนอน

        “ไรฝุ่น”  เป็นแมลงขนาดเล็กที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น มีขนาดเพียง 0.3 มม. เติบโตได้ดีในอากาศชื้นที่อุณหภูมิระหว่าง 18.5 - 29 องศาเซลเซียส โดยไรฝุ่นนั้นมีอยู่ทุกที่ทั้งนอกและในบ้าน บริเวณที่มักพบไรฝุ่นคือ สิ่งของที่เป็นเส้นใยอย่างตุ๊กตา ม่าน ผ้าคลุม พรมปูพื้น กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ในบ้าน โดยเฉพาะเครื่องนอน ทั้งผ้าปูเตียง หมอน ผ้าห่ม โดยไรฝุ่นอาศัยเศษผิวหนังและรังแคบนศีรษะเป็นอาหาร  ทั้งนี้ไรฝุ่นสร้างปัญหาให้กับมนุษย์เราอย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นภูมิแพ้และโรคหอบหืด         แม้ไรฝุ่นอาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของทุกคน แต่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนเป็นภูมิแพ้ เพราะอาการแพ้ เกิดจาก การที่ส่วนลำตัวและอุจจาระของไรฝุ่นที่เข้าสัมผัสหรือมนุษย์หายใจเข้าไป จะกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารแปลกปลอม และผลิตสารภูมิต้านทาน (Antibody) ขึ้น จากนั้นเมื่อร่างกายจำได้ว่า สารดังกล่าวเป็นสารก่อภูมิแพ้ เมื่อเผชิญกับสารก่อภูมิแพ้ครั้งต่อไปร่างกายก็จะปล่อย “สารฮีสทามีน” ซึ่งทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ เช่น จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ หอบ หายใจลำบาก มีเสมหะมาก คันตา น้ำตาไหล หรือตาแดง คันที่ผิวหนัง ใต้ดวงตาบวมช้ำ ใครนอนแล้วตื่นมามีอาการเข้าข่ายเหล่านี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้สัมผัสสารก่อภูมิแพ้อื่น ให้ลองคิดถึงเรื่องไรฝุ่นไว้และหาวิธีรับมือ การรับมือกับไรฝุ่นในห้องนอน “ที่นอน” เป็นบริเวณที่ต้องพบเจอไรฝุ่นมากที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เราต้องใช้นอนเป็นเวลานานหลายชั่วโมง การเลือกผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน เพื่อป้องกันไรฝุ่น อาจจะเป็นวิธีที่ช่วยให้สุขภาพคุณดีขึ้นหรืออาการแพ้น้อยลงได้        1.การเลือกผ้าปูที่นอนกันไรฝุ่น ควรเลือกจากเนื้อผ้าที่มีการทอแน่น เนื้อผ้าไม่ฟู เพราะการทอผ้าที่ไม่แน่นมากพอจะทำให้ตัวไรฝุ่นเข้าไปอาศัยได้ง่าย        2.ถ้ามีการเคลมว่า ป้องกันไรฝุ่น ควรเป็นสินค้าที่ผ่านมาตรฐานที่มีสถาบันรองรับว่าผ่านการทดสอบและสามารถใช้ป้องกันไร่ฝุ่นได้จริง เนื่องจากปัจจุบันมีผ้าป้องกันไรฝุ่นหลายยี่ห้อ เราควรตรวจสอบก่อนซื้อเพื่อการนำไปใช้ให้มีประสิทธิภาพ        3.เครื่องนอนที่ใช้ควรทำจากใยสังเคราะห์ เช่น ผ้าฝ้าย ซึ่งสามารถซักทำความสะอาดด้วยน้ำอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสได้บ่อยครั้ง ชนิดผ้ากันไรฝุ่น         “ผ้ากันไรฝุ่นทำจากพลาสติก” สามารถใช้ป้องกันไรฝุ่นได้ดี แต่อาจไม่มีรูระบายอากาศถ่ายเท เวลาขยับอาจเกิดเสียงขณะนอน         “ผ้ากันไรฝุ่นทำจากชนิดผ้าทอแน่น” สามารถป้องกันไรฝุ่นได้ เนื่องจากการทอผ้าที่แน่นเป็นพิเศษเสริมด้วยการทอผ้าที่มีช่องว่างระหว่างเส้นด้ายที่มีขนาดเล็กกว่าตัวไรฝุ่น และสามารถถ่ายเทอากาศได้สะดวก         “ผ้ากันไรฝุ่นชนิดเคลือบฟิล์ม”  ผ้ามีประสิทธิภาพในการกันไรฝุ่นแต่มีราคาสูง ชั้นบนจะเป็นเนื้อผ้าและเคลือบสาร polyurethane ไว้อุดช่องว่างระหว่างเส้นด้าย และอาจไม่สามารถระบายอากาศได้ดีและอายุการใช้งานน้อย ผ้ากรอบแตกง่าย         “ผ้ากันไรฝุ่นชนิดเคลือบสารฆ่าไรฝุ่น” ผ้าชนิดนี้ไม่มีข้อมูลงานวิจัยที่แน่ชัดว่าสารที่ใช้เคลือบฆ่าไรฝุ่น จะส่งผลเสียในระยะยาวหรือไม่ หากซื้อควรศึกษาสารที่ใช้ในการเคลือบว่าเป็นสารอะไรก่อนนำมาใช้         “ผ้ากันไรฝุ่นชนิดผ้าอัดใย” เป็นผ้าที่ผลิตโดยการอัดของเส้นใย polypropyene ประสิทธิภาพกันไรฝุ่นได้ สามารถใช้แล้วทิ้ง ซักไม่ได้ เมื่อใช้ไปสักพักไรฝุ่นอาจสามารถเข้าไปฝังตัวสร้างรังได้ การกำจัดไรฝุ่น         ควรซักผ้าปู ผ้าคลุมที่นอน ผ้าห่ม หมอน ด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส เพื่อให้สารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้หลุดออกไป หากไม่สามารถซักด้วยน้ำร้อนควรใส่ลงในเครื่องปั่นแห้งอย่างน้อย 15 นาทีที่อุณหภูมิมากกว่า 60 องศาเซลเซียส  ควรผึ่งแดดที่นอนอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง เพื่อลดความชื้น จัดห้องนอนให้โล่งโปร่งเพื่อให้อากาศถ่ายเท ลดสิ่งของที่ทำจากผ้าหรือเส้นใย อย่างพรม ตุ๊กตาซึ่งกักเก็บไรฝุ่นได้ดี และหลีกเลี่ยงการใช้หมอนที่มีไส้ทำจากนุ่น

อ่านเพิ่มเติม >