เปิดคะแนนซูเปอร์ฯ ไทย ปี 2021 ปลายภาคนี้ ใครคือตัวท็อป?

        แคมเปญผู้บริโภคที่รัก ชี้คะแนนการสำรวจนโยบายสาธารณะฯ ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยสูงขึ้น ย้ำพลังเสียงผู้บริโภคมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงธุรกิจห้างค้าปลีกฯ ไปในทิศทางที่ดีขึ้น ชวนหมอตั้ม เซเลบริตี้เชฟชื่อดัง ร่วมเผยมุมมองผู้บริโภคเกี่ยวกับประโยชน์ ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงผลคะแนนปีนี้ ในงาน     “เปิดคะแนนซูเปอร์ฯ ไทย ปี 2021 ปลายภาคนี้ ใครคือตัวท็อป?”          แคมเปญผู้บริโภคที่รัก โดยมูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ Oxfam (อ็อกแฟม) ประเทศไทย จัดงาน “เปิดคะแนนซูเปอร์ฯ ไทย ปี 2021 ปลายภาคนี้ ใครคือตัวท็อป?” เผยภาพรวมของการประเมินนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เปิดเผยต่อสาธารณะของผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ต 8 รายใหญ่ของไทย มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นในทุกหัวข้อตัวชี้วัด ชี้ให้เห็นถึงพลังของผู้บริโภคที่มีผลต่อการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขการดำเนินกิจการของซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น พร้อมร่วมเผยมุมมองเกี่ยวกับประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากผลคะแนนที่เปลี่ยนแปลงไปในปีนี้อย่างเจาะลึก โดยหมอตั้ม -     นายแพทย์ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข เซเลบริตี้เชฟชื่อดัง ในฐานะตัวแทนผู้บริโภคที่ใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นประจำ         คุณภานุพันธุ์ สมพงษ์ ที่ปรึกษาโครงการผู้บริโภคที่รัก กล่าวว่า “ซูเปอร์มาร์เก็ตมีความใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากที่สุด โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตจึงต้องคำนึงถึงเรื่องความรับผิดชอบที่มีต่อผู้บริโภค สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งเป็นสาเหตุที่แคมเปญผู้บริโภคที่รักจึงมีการจัดทำ “รายงานการประเมินนโยบายและแนวทางปฏิบัติของห้างค้าปลีกที่เปิดเผยต่อสาธารณะ” ซึ่งถูกจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้วในปีนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาพรวมในเชิงสถิติมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตลอดทุกปี  โดยหลักเกณฑ์การประเมินในปี 2564 แบ่งออกเป็น 7 ตัวชี้วัดหลัก ได้แก่ นโยบายด้านความโปร่งใสและความรับผิด, นโยบายแรงงาน ,นโยบายด้านผู้ผลิตรายย่อย, นโยบายด้านความเท่าเทียมทางเพศ, นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม, นโยบายด้านความปลอดภัยทางอาหาร และ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค โดยมีผู้ประกอบการค้าปลีกชั้นนำของไทย 8 ราย ได้แก่ โลตัส, แม็คโคร, บิ๊กซี, ท็อปส์, ฟู้ดแลนด์, ซีพี เฟรชมาร์ท, กูร์เมต์ มาร์เก็ต และวิลล่า มาร์เก็ต”         “ผลจาก “รายงานการประเมินนโยบายและแนวทางปฏิบัติของห้างค้าปลีกที่เปิดเผยต่อสาธารณะ” พบว่าภาพรวมของคะแนนการประเมินเฉลี่ยในทุกตัวชี้วัดเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการห้างค้าปลีกหลายราย ได้ประกาศนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา เช่น มีการประกาศนโยบายการจรรยาบรรณคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) และนโยบายที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”         โดยเมื่อรวมคะแนนทั้ง 7 ตัวชี้วัด โลตัสได้อันดับหนึ่ง ด้วยคะแนน 35.83 คะแนน จาก 165 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 21.72 บิ๊กซีตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยคะแนน 24 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 14.54 และซีพี  เฟรชมาร์ท ตามมาเป็นอันดับ 3 ด้วยคะแนน 20 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.12         สำหรับหมวดที่ห้างค้าปลีกได้คะแนนมากที่สุด คือ หมวดสิ่งแวดล้อม ได้คะแนนค่าเฉลี่ย 25.54% ขณะที่หมวดเพศเป็นหมวดที่ห้างค้าปลีกได้คะแนนน้อยที่สุด ได้คะแนนค่าเฉลี่ย 3.00% โดยมีเพียง โลตัส ท็อปส์ และแม็คโคร ที่ได้คะแนนบางส่วนในหมวดนี้        อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบคะแนนค่าเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการประเมินนโยบายสาธารณะของห้างค้าปลีกในปี 2561 (หมวดด้านสังคม) และ ปี 2562 (หมวดด้านสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค) จะพบว่าคะแนนเฉลี่ยโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยหมวดด้านสังคมคะแนนเฉลี่ยโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 2.58% ในปี 2561 เป็น 5.45% ในปี 2564 ส่วนหมวดด้านสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคเพิ่มจาก 5.79% ในปี 2562 เป็น 13.29% ในปี 2564         “โดยการประเมินในครั้งนี้ เป็นเพียงเส้นทางที่จะยกระดับอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยไปสู่ความยั่งยืนในอนาคตเท่านั้น ชี้ให้เห็นว่าซูเปอร์มาร์เก็ตใดบ้างที่กำลังเดินหน้าอยู่ในเส้นทางนี้ ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าพลังของผู้บริโภคในการจัดกิจกกรมในครั้งนี้จะเป็นกระจกสะท้อนไปยังผู้ประกอบการ และก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Movement) นำไปสู่สัญญาประชาคม (Social Commitment) ที่จะ  สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงของซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งการต่อยอดสิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้วในปัจจุบัน รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขในจุดที่บกพร่องเพื่อสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่ อุปทานอาหารของเรา” คุณภานุพันธุ์ สมพงษ์ กล่าวเสริม         ในส่วนของมูลนิธีชีววิถี ภาคีเครือข่ายของแคมเปญผู้บริโภคที่รัก โดย คุณกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยากล่าวว่า “หลายๆ ปีที่ผ่านมามูลนิธีชีววิถีมีความมุ่งมั่นในการ สร้างการรับรู้เรื่องผลกระทบต่าง ๆ เกี่ยวกับอาหารผ่านแคมเปญ “กินเปลี่ยนโลก”   ไม่ใช่แค่เรื่องของความปลอดภัยในอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาแวดล้อมในเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นที่มา และกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนของการเพาะปลูก การเลี้ยง การขนส่ง การแปรรูป การจัดจำหน่าย ที่สามารถสร้างผลกระทบตามมาหลังจากการบริโภค เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน ความเหลื่อมล้ำทางเพศ และความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตถือเป็นอีกหนึ่งสมาชิกในวงจรของการอุปโภค บริโภค ที่ต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดทิศทางและนโยบายการดำเนินงานของบริษัทเอง รวมถึงการคัดเลือกสินค้า ผู้ผลิต และคู่ค้า ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และคุณธรรม     จริยธรรมทางสังคมได้มากที่สุด ซึ่งการ “รายงานการประเมินนโยบายและแนวทาง ปฏิบัติของห้างค้าปลีกที่เปิดเผยต่อสาธารณะ” ถือเป็นตัวชี้วัด ที่จะช่วยเพิ่มข้อมูลข่าวสาร และสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการเลือกใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตที่มี นโยบายและแนวทางในการดำเนินกิจการที่สอดคล้องกับความต้องการ และอุดม-การณ์ ของตนเองได้ง่ายยิ่งขึ้น”         ด้านคุณทัศนีย์ แน่นอุดร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภาคีเครือข่ายของแคมเปญผู้บริโภคที่รัก กล่าวว่า “พลังของผู้บริโภคมีส่วนอย่างยิ่ง ในการกำหนดนโยบายของ ซูเปอร์มาร์เก็ต ยิ่งผู้บริโภค มีส่วนร่วมมากเท่าไหร่ ยิ่งมีพลังในการทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตหันมารับฟังได้ง่ายขึ้น การออกนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนในแง่มุมต่างๆ เป็นสิ่งที่ซูเปอร์มาเก็ตทำอยู่แล้ว แคมเปญของเราแค่เป็นการกำหนดกรอบ และนำเสนอผลคะแนนจากการประเมินเพื่อให้ซูเปอร์มาร์เก็ตตระหนักถึงความต้องการของผู้บริโภคได้ชัดเจน และนำไปสู่การต่อยอดพัฒนา และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานของตนเองได้รวดเร็วและตรงจุดมากขึ้น ซึ่งจากผลคะแนนที่ปรากฏในปีนี้ทางแคมเปญผู้บริโภคที่รัก อยากขอเรียกร้องให้ผู้ประกอบการค้าปลีกให้ความสนใจมิติด้านความเหลื่อมล้ำ และปัญหาเรื่องเพศ และสตรีมากขึ้น ในส่วน  มิติด้านอาหารปลอดภัยขอให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญในเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ซึ่งถือเป็นแน้วโน้มที่ดีที่ปัจจุบัน มีห้างค้าปลีกหลายแห่งกำลังพัฒนาหรือนำไปใช้แล้วแต่ยังมีปัญหาในด้านการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอาจไม่ครบถ้วน จึงขอให้ห้างค้าปลีกมีการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะมากขึ้น เช่น ข้อมูลของคู่ค้า, แหล่งการผลิต ครอบคลุมไปยังอาหารประเภทต่างๆ ให้ได้มากยิ่งขึ้น”         นายแพทย์ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข หรือหมอตั้ม เซเลบริตี้เชฟชื่อดังในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคให้ความเห็นว่า “ในอดีตที่ผ่านมาผู้บริโภคอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องของนโยบายและแนวทางการปฏิบัติของผู้ประกอบการค้าปลีกมากเท่าที่ควร ถึงแม้จะมีการไปใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่เป็นประจำในฐานะของเชฟ แต่หลังจากรับฟังการเปิดเผยผลคะแนนในวันนี้ทำให้ทราบว่า ที่มาของอาหารสามารถสร้างผลกระทบได้ต่อหลายภาคส่วนได้มากมายจริงๆ นอกเหนือจากแง่มุมขอความปลอดภัยของอาหาร หลังจากนี้ผู้บริโภคอาจจะต้องมองให้รอบถึงปัจจัยต่างๆ ในการใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตนอกเหนือจากปัจจัยด้านความสะดวก เรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเราไม่ควรมองข้าม นอกจากนี้ความโปร่งใสของข้อมูล และที่มาของอาหารก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัยเช่นกัน ซึ่งหากทุกคนให้ความสำคัญสิ่งเหล่านี้ จะก่อให้เกิดเป็นพลังที่สร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีให้กับอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยโดยรวมอย่างแน่นอน”         ผู้ที่สนใจสามารถรับชมวิดิโอจากงาน “เปิดคะแนนซูเปอร์ฯ ไทย ปี 2021 ปลายภาคนี้ ใครคือตัวท็อป?” ย้อนหลังแบบเต็มๆ ได้ทางเฟสบุ๊คแฟนเพจ ผู้บริโภคที่รัก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 ห้างค้าปลีกใส่ใจคุณแค่ไหน

        ฉลาดซื้อเคยนำเสนอผลการประเมินนโยบายด้าน “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ในการจัดซื้ออาหารสด ของห้างค้าปลีกขนาดกลางและขนาดใหญ่ 8 แบรนด์ (Big C, CP Fresh Mart, Foodland, Gourmet Market, Siam Makro, Tesco Lotus, Tops, และ Villa Market) มาแล้ว และพบว่าโดยรวมแล้วห้างในบ้านเรายังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนักคราวนี้เรามาเจาะลึกดูเรื่องความรับผิดชอบต่อ “สวัสดิการของผู้บริโภค” กันบ้าง ตัวชี้วัดที่จะให้คะแนนคราวนี้ได้แก่ข้อมูลในเรื่องต่อไปนี้ที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณะ ณ วันที่ 30 เมษายน 2563  1.   ความปลอดภัยของอาหารในร้าน: บริษัทมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของอาหารที่ได้มาตรฐานและโปร่งใสหรือไม่2.   ส่วนประกอบและที่มาของอาหาร: บริษัทกำหนดให้คู่ค้าเปิดเผยส่วนประกอบและแหล่งที่มาของอาหารหรือไม่3.   ภาวะโภชนาการ: บริษัทให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในประเด็นภาวะโภชนาการหรือไม่ อย่างไร4.   กลไกรับเรื่องร้องเรียน: บริษัทมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิผลและโปร่งใสหรือไม่5.   กลไกเยียวยา: บริษัทมีกลไกเยียวยาที่มีประสิทธิผลและโปร่งใสหรือไม่6.   การมีส่วนร่วมของผู้บริโภค: บริษัทเปิดให้ผู้บริโภคและองค์กรตัวแทนผู้บริโภค มีส่วนร่วมในประเด็นความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมหรือไม่7.   การให้การศึกษาแก่ผู้บริโภค (consumer education): บริษัทให้การศึกษาแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืนของอาหารมากน้อยเพียงใด8.   ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ: บริษัทให้ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ มากน้อยเพียงใดในประเด็นสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย  แต่ละตัวชี้วัดจะมีสามข้อย่อย ซึ่งหากผู้วิจัยพบว่ามีข้อมูลในข้อนั้นก็จะให้หนึ่งคะแนน รวมทั้งหมดจึงเป็น 24 คะแนน ในภาพรวมเราพบว่าสิ่งที่ห้างค้าปลีกทำคะแนนได้มากที่สุดสามอันดับแรกคือ การให้การศึกษาแก่ผู้บริโภค การให้ความรู้ประเด็นภาวะโภชนาการ และการมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ · หมายเหตุ บทความนี้อ้างอิงข้อมูลจากรายงานความก้าวหน้าเรื่อง ผลการประเมินความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการผู้บริโภค ในธุรกิจอาหารและการจัดซื้ออาหารของธุรกิจค้าปลีก ซึ่งจัดทำโดยทีมวิจัยป่าสาละ   ใครได้คะแนนสูงที่สุด Siam Makro ได้คะแนนสูงสุดในหมวดความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค (5 คะแนน จาก 24 คะแนน หรือร้อยละ 20.83)[JM1]  บริษัทกำหนดให้คู่ค้าเปิดเผยส่วนประกอบและแหล่งที่มาของอาหารบนฉลากอย่างชัดเจน รวมถึงสัดส่วน GMO ด้วย ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในประเด็นภาวะโภชนาการผ่านป้ายรณรงค์ในร้านและช่องทางสาธารณะ ประกาศนโยบาย/กลยุทธิ์เพื่อความยั่งยืนในห่วงโซ่อาหารอย่างชัดเจน มีโครงการด้านสวัสดิการผู้บริโภคหรือสิ่งแวดล้อมของอาหาร ร่วมกับองค์กรภาคประชาชน ที่ใช้กลไกการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย และมีบทบาทในการพัฒนามาตรฐานความยั่งยืนในระดับอุตสาหกรรม  อันดับสองได้แก่ Tops ได้ไป 4 คะแนน (ร้อยละ 16.67) บริษัทให้ความรู้เรื่องโภชนาการแก่ผู้บริโภค ผ่านป้ายรณรงค์ในร้านและช่องทางสาธารณะต่างๆ รวมถึงรณรงค์และให้ข้อมูลเรื่องความปลอดภัยของอาหารแก่ผู้บริโภคทั้งในร้านและช่องทางสาธารณะต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย มีกลไก/แนวปฏิบัติในการรับเรื่องร้องเรียนที่ชัดเจน บริษัทประกาศนโยบายความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร และกลยุทธ์ความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ชัดเจน  อันดับสามคือ CP Fresh Mart ได้ 3 คะแนน (ร้อยละ 12.50) บริษัทประกาศนโยบายและกลยุทธ์ความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ชัดเจน มีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด และมีการรายงานความคืบหน้ารายปี มีกลไกการรับเรื่องร้องเรียนที่ชัดเจนและมีแนวปฏิบัติรวมถึงกำหนดระยะเวลาที่ผู้บริโภคจะได้รับการตอบรับเรื่องร้องเรียนส่วนที่เหลือ (Big C, Foodland, Gourmet Market, Tesco Lotus, และ Villa Market) ไม่มีคะแนน  ในภาพรวมห้างค้าปลีกในบ้านเรายังต้องมีการปรับปรุงในเรื่องนี้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกลไกเยียวยา และการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค เช่นการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคและองค์กรตัวแทนผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม  ระหว่างนี้มาดูตัวอย่างแนวปฏิบัติหรือนโยบายที่น่าสนใจของสามห้างที่ได้คะแนนอันดับต้นๆ กันไปก่อน ·ความปลอดภัยของอาหารแอปพลิเคชัน Scan Me ของ Tops  ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตและสถานที่จําหน่ายเนื้อสัตว์และซีฟู้ด (ปลา) ณ จุดขายใน 24 สาขาทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้ได้สินค้าที่สด สะอาด ปลอดภัย ·ส่วนประกอบ/ที่มาของอาหารSiam Makro ส่งเสริมการแสดงฉลากสําหรับถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด ที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม (Genetic modification) หรือพันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) ประกอบด้วย 22ชนิด ·ความรู้เรื่องภาวะโภชนาการSiam Makro จัดทําฉลากแสดงค่าพลังงาน ปริมาณนํ้าตาล ไขมัน และโซเดียม (Guideline Daily Amount –GDA) ที่ช่วยให้ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการลดความหวาน มัน หรือเค็มได้ ในขณะที่ Tops ให้ความรู้ผู้บริโภคในเรื่องวิธีหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ ·กลไกรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคCP Fresh Mart มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสินค้า/บริการของซีพีเฟรชมาร์ท โดยกําหนดรูปแบบการจัดการข้อร้องเรียนไว้ 3 ระดับตามความความรุนแรงของปัญหา และทําหน้าที่เป็นตัวกลางในการส่งเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและติดตามผลการตรวจสอบจนปัญหาของลูกค้าได้รับการแก้ไข ข้อร้องเรียนด้านคุณภาพ (เช่น สี กลิ่น รส ฯลฯ) ใช้เวลาจัดการภายใน 5 วัน ข้อร้องเรียนด้านความปลอดภัย (เช่น สิ่งแปลกปลอม) ภายใน 3 วัน และข้อร้องเรียนด้านวิกฤต (เช่น ผู้บริโภคเจ็บป่วย) ภายใน 24 ชั่วโมง ·การให้การศึกษาแก่ผู้บริโภคเรื่องความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานอาหารTops ประกาศนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน “เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นขององค์กรในการพัฒนา คัดสรรสินค้าที่นํามาจําหน่ายอย่างรับผิดชอบ ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัย แหล่งที่มาของสินค้าสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ อีกทั้งยังเชื่อมโยงการผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น มีกระบวนการจัดซื้อเป็นธรรมและโปร่งใส ผลักดันผู้ร่วมค้าให้พัฒนาและยกระดับศักยภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องภายใต้ระบบการประกันคุณภาพที่สามารถมั่นใจได้ว่าสินค้าที่ผลิตมีความปลอดภัย” Siam Makro กำหนดเป้าหมายว่าภายในปี 2563 คู่ค้าธุรกิจหลักทั้งหมดต้องได้รับการตรวจประเมินด้านความยั่งยืน และมีแนวทางการจัดหาอย่างยั่งยืน ครอบคลุมผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยง ในขณะเดียวกันวัตถุดิบหลักทั้งหมดก็ต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยอาหารตลอดห่วงโซ่คุณค่า CP Fresh Mart กำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 5 ปี ระหว่างปี 2559-2563 ไว้ดังนี้ การยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยตลอดกระบวนการ การส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร การพัฒนาคู่ค้าธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกัน การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน การบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีการระบุเป้าประสงค์ที่ชัดเจน และจัดทํารายงานความยั่งยืนประจําปีมาตั้งแต่ปี 2554   ·ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นSiam Makro ร่วมมือกับกรีนพีซ (Greenpeace) เพื่อยกระดับกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับในกระบวนการผลิตทูน่าชนิดก้อนในน้ําเกลือ ตราเอโร่ (aro) ให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้อย่างถูกต้อง แม่นยํา มีข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ทูน่าที่ใช้ แหล่งที่มา เช่น มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อผู้บริโภคสแกน QR Code ที่สินค้าก็จะทราบว่าปลาทูน่าถูกจับด้วยวิธีการใช้อวนล้อม ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ทําลายสิ่งแวดล้อม  บทความนี้นำเสนอเพียงส่วนหนึ่งของการประเมินในสามด้านได้แก่ 1) สิ่งแวดล้อม-ห้างค้าปลีก 2) สิ่งแวดล้อมคู่ค้า-ความปลอดภัย และ 3) ผู้บริโภค โดยแต่ละหมวดประกอบด้วย 8 ตัวชี้วัด หมวดละ 24 คะแนน (คะแนนรวมทั้งหมดจึงเท่ากับ 72 คะแนน)  จากผลคะแนนโดยรวมทั้งสามด้าน เราจะเห็นว่า Siam Makro, Tops, และ CP Fresh Mart ได้คะแนนสูงสุด (9 จาก 72 คะแนน หรือร้อยละ 13.89) ตามด้วย Tesco Lotus ที่ได้คะแนน 3 แต้ม หรือร้อยละ 4.63 ในขณะที่ Gourmet Market ได้ไป 2 แต้ม โดยได้คะแนนจากมิติด้านสิ่งแวดล้อม-ห้างค้าปลีกห้างที่ไม่ได้คะแนนด้านใดเลยตามเกณฑ์ของงานวิจัยชิ้นนี้ได้แก่ Big C  Villa Market และ Foodland ------สำหรับนโยบายเรื่องการลดถุงพลาสติก (สำหรับผู้บริโภค) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในหมวดสิ่งแวดล้อม-ห้างค้าปลีก ทีมวิจัยให้ Gourmet Market  Tesco Lotus และ Tops ห้างละ 2 คะแนน  Gourmet Market มีโครงการ เดอะมอลล์ กรุ๊ป โก กรีน (THE MALL GROUP GO GREEN) GREEN EVERYDAY งดบริการถุงพลาสติกทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม เป็นต้นมา  Tesco Lotus มีนโยบายลดใช้ถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ที่ไม่จําเป็น โดยเริ่มใช้มาตรการงดใช้ถุงพลาสติกสําหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้า 1-2 ชิ้น ในสาขาเอ็กซ์เพรสและตลาดทั่วประเทศ รวมประมาณ 1,800 สาขา ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 Tops มีมาตรการงดใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อลดขยะตั้งแต่ต้นทาง เช่น งดใช้กล่องโฟมในโซนฟู้ดพาร์ค และโซนซื้ออาหารกลับบ้านในศูนย์อาหารทุกแห่งที่บริหารงาน โดย “CPN ร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัลในการงดใช้ถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือนในTopsห้างสรรพสินค้าและเซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์”  ในขณะที่ CP Fresh Mart และ Siam Makro ได้ไปห้างละ 1 คะแนน CP Fresh Mart งดให้บริการถุงพลาสติกทุกวันพุธตลอดปี 2562 มีแคมเปญรักษ์โลก ‘ชวนช้อป! พกกระเป๋า ไม่เอาถุง’ ตั้งเป้าลดถุงพลาสติกปีละ 3 ล้านใบ และจะเป็นร้านปลอดถุงพลาสติกในปี 2565   Siam Makro ไม่มีการแจกถุงพลาสติกมาตลอด 29 ปีของการดําเนินธุรกิจ ถึงปัจจุบันลดถุงพลาสติกไปแล้วกว่า 5,400 ล้านใบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ภัยจากการซื้อสินค้าในห้างค้าปลีกสมัยใหม่

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ปฏิเสธได้ยากว่า ร้านสะดวกซื้อ  และห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้ง เซเว่น-อีเลฟเว่น บิ๊กซี เทสโก้-โลตัส ท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต และอื่น ๆ ที่จัดวางสินค้าและมีการบริหารจัดการแบบเดียวกัน เข้ามามีบทบาทสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในชีวิตของคนเมือง(วัดได้จากช่วงน้ำท่วมที่ของในห้างเหล่านี้ว่างเปล่าอย่างน่าตกใจ เพราะทุกคนต่างพากันกักตุนอาหาร) เหตุผลที่คนจำนวนมากเลือกที่จะเข้าไปจับจ่ายในสถานที่เหล่านี้แทนที่จะใช้บริการร้านค้าในชุมชนหรือโชห่วยใกล้บ้านแตกต่างกันไป เช่น มีอิสระที่จะเดินเลือกสินค้าด้วยตนเอง สะดวก เข้าถึงได้ง่าย เชื่อว่าสินค้าที่วางจำหน่ายจะมีคุณภาพและความปลอดภัยที่ดีกว่า และ ทำให้ได้สินค้าราคาถูกกว่า เป็นต้น อย่างไรก็ตามจากการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องความปลอดภัยด้านอาหารของเครือข่ายผู้บริโภคใน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ พะเยา สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง ตุลาคม 2554 พบว่าการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่และจากห้างนั้น อาจทำให้ผู้บริโภคพบปัญหาได้ไม่ต่างกัน (หรือแย่กว่า?) กับการซื้อสินค้าจากร้านใกล้บ้าน ไม่ว่าจะเป็น การจำหน่ายสินค้าหมดอายุบนชั้นวาง สินค้าเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ สินค้ามีคุณภาพผิดมาตรฐาน และราคาสินค้าไม่ตรงกับราคาป้ายหรือไม่มีสินค้าแถมตามการส่งเสริมการขายที่ระบุไว้ ปัญหาสินค้าหมดอายุเริ่มกันที่การจำหน่ายสินค้าหมดอายุบนชั้นวางสินค้า เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ ได้สำรวจการจำหน่ายสินค้าในห้างค้าปลีกสมัยใหม่และร้านสะดวกซื้อในจังหวัดรวมกันกว่า 15 สาขา ในปลายเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2554 พบสินค้าหมดอายุรวมกันบนชั้นวางทั้งสิ้นกว่า 40 รายการ ทั้งของสดและของแห้ง โดยที่กว่าครึ่งเป็นของแห้งโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งขนม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารเช้าสำหรับเด็ก(ซีเรียล) และจากการร้องเรียนของผู้บริโภคเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ว่าพบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่ารสต้มยำกุ้งทั้งน้ำข้นและน้ำใสและยำยำรสหมูสับหมดอายุบนชั้นวางของห้างบิ๊กซีสาขาสะพานควาย การจำหน่ายองุ่นนำเข้าหลังวันหมดอายุโดยนำมาจำหน่ายแบบลดราคาพิเศษในห้างท็อปส์ สาขาเซ็นจูรี่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อมาในเดือนสิงหาคม จากการสำรวจอาหารของโครงการฯ พบว่า นมข้นหวานกระป๋องตรามะลิจากห้างแมคโครสาขาแจ้งวัฒนะเสื่อมสภาพทั้งกลุ่มการผลิตก่อนวันหมดอายุบนฉลาก   โดยพบก้อนสีเหลืองอยู่ในกระป๋องนม และกรณีขนมปังยี่ห้อ เอ-พลัส ไส้สังขยา จากเซเว่น-อีเลฟเว่น สาขาอาคารหะรินธร ถนนสาทรเหนือ เขตบางรัก กทม. มีราขึ้นก่อนวันหมดอายุของสินค้าประมาณ 3 วัน   สินค้าไม่ตรงราคาป้าย กรณีราคาสินค้าไม่ตรงกับราคาป้าย สมาคมผู้บริโภคสงขลา หนึ่งในเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า   พบเห็นการส่งเสริมการขายโดยประกาศลดราคานมผงสำหรับเด็กจากหนังสือพิมพ์ จึงได้ไปซื้อสินค้าจากห้างเทสโก้ โลตัสสาขาหาดใหญ่ ตามประกาศ โดยได้ดูการแสดงราคาและเงื่อนไขต่างๆ ที่แสดงอยู่บนชั้นวางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อมาชำระเงินปรากฏว่ายอดชำระไม่ตรงตามราคาที่ปรากฏในการส่งเสริมการขาย ห้างฯ อ้างว่าเลยเวลาการส่งเสริมการขายทั้งที่โฆษณาและบนชั้นวางสินค้ายังคงแสดงข้อมูลอยู่   ห้างฯ ไม่ได้มาตรฐาน ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง เมื่อการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อและห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ไม่ได้มีความปลอดภัยและสะดวกอย่างที่เข้าใจกัน วิธีการหนึ่งที่จะช่วยผู้บริโภคได้ คือการอ่านฉลากอาหารและข้อมูลต่าง ๆ บนชั้นวางก่อนตัดสินใจซื้อ สิ่งที่ควรพิจารณาบนฉลาก ได้แก่ ชื่ออาหาร วันผลิต-วันหมดอายุ ส่วนประกอบของอาหาร เพื่อช่วยในการพิจารณาถึงคุณค่าของอาหารรวมทั้งเรื่องของวัตถุเจือปน น้ำหนักหรือปริมาตรสุทธิ อันนี้ช่วยให้ผู้บริโภครู้น้ำหนักช่วยในการเปรียบเทียบเลือกสินค้า และส่วนสุดท้ายที่ควรอ่านเป็นส่วนเสริม คือฉลากโภชนาการที่จะบอกให้ผู้บริโภครู้ข้อมูลเกี่ยวกับโภชนาการของอาหารนั้น ๆ ว่ามีมากน้อยเพียงใด คุ้มค่าไหมที่จะนำมาบริโภค เคล็ดลับที่ทาง โครงการอาหารฯ ขอแนะนำคือ  เวลาเลือกซื้อสินค้า ควรเลือกสินค้าที่แสดงวันหมดอายุหรือควรบริโภคก่อนอย่างชัดเจน หากแสดงแค่วันผลิตโดยไม่แสดงวันหมดอายุ ขอแนะนำว่าให้เลี่ยงไปก่อน ไม่ควรบริโภค ให้เลือกซื้อสินค้าของผู้ผลิตรายอื่นที่มีการแสดงข้อมูลบนส่วนนี้อย่างชัดเจนจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคได้มากกว่า สำหรับกรณีอาหารเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุนั้น หลายกรณีสามารถดูได้จากรูปลักษณ์ภายนอกของอาหาร เช่น บรรจุภัณฑ์บุบบวม ลักษณะของอาหารเปลี่ยนไปทั้งรูปและกลิ่น ซึ่งจะต้องใช้การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจึงจะสังเกตเห็น ฉลาดซื้อขอแนะนำว่าให้ใช้เวลาในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าในแต่ละชิ้นให้มากขึ้น ไม่ควรตรงเข้าไปหยิบสินค้าโดยที่ไม่สังเกต กรณีของสดที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิในการเก็บรักษา ขอให้พิจารณาอุณหภูมิของตู้แช่ว่า อุณหภูมิที่แสดงอยู่เหมาะสมหรือไม่กับการเก็บรักษาอาหาร หากอุณหภูมิต่ำหรือสูงไป ก็ไม่ควรที่จะซื้อสินค้าจากห้างสาขานั้น ๆ ควรใช้บริการสาขาอื่นหรือสถานที่จำหน่ายแหล่งอื่นจะช่วยลดความเสี่ยงจากการได้สินค้าเสื่อมสภาพได้ ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเลือกซื้อสินค้าจากที่ไหนปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นก็สามารถเกิดขึ้นได้ ผู้บริโภคจึงต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาที่เลือกซื้ออาหารใดๆ ก็ตาม อย่าให้ความเคยชินและความเร่งรีบ มาอ้างเป็นเหตุหนึ่งในการเลือกซื้อที่ไม่รอบคอบ และถ้าทำตามเราแนะนำแล้วแต่ยังพบสินค้าไม่ปลอดภัยอีก อย่าวางเฉยทิ้งอาหารนั้น ๆ ไป เพราะเรามีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบการหรือผู้จัดจำหน่ายได้นะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point