ฉบับที่ 272 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2566

อย. เรียกคืนยาความดันโลหิต “เออบีซาแทน”        หลังจากกรณีที่ต่างประเทศมีการเรียกคืนยาความดันโลหิตสูง(เออบีซาแทน) เนื่องจาก บริษัทผู้ผลิตพบการปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งในวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยานั้น         ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา จึงเร่งให้บริษัทผู้ผลิตตรวจสอบพร้อมทั้งเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่ไม่ปนเปื้อน พร้อมกับการเฝ้าระวังในท้องตลาด โดยทาง อย.ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า วัตถุดิบบางรุ่นปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งเกินเกณฑ์สากล จึงได้เรียกเก็บคืนยาสำเร็จรูปที่ใช้วัตถุดิบปนเปื้อน พร้อมเรียกคืนไปยังโรงพยาบาล คลินิก ร้านยาต่างๆ และประสานให้ผู้ผลิตเปลี่ยนยาเป็นรุ่นที่ผลิตอื่นที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ยาความดันโลหิตที่ปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งพบเพียงเฉพาะบางรุ่นการผลิตเท่านั้น และยาที่เรียกคืนมีทั้งหมด 42 รุ่นการผลิต จาก 5 บริษัท ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ใช้ยาดังกล่าวไม่ควรหยุดยาทันที เนื่องจากเป็นยาที่ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง แนะนำตรวจสอบยาที่ใช้อยู่หากเป็นรุ่นผลิตที่เรียกคืน ให้ปรึกษาแพทย์และเภสัชกร ตำรวจยึดตู้กดน้ำพืชสมุนไพรอัตโนมัติ (น้ำกระท่อม)        21 ตุลาคม 2566 ทางตำรวจ สภ.หาดใหญ่ ได้ยึดตู้กดน้ำดื่มพืชสมุนไพรแบบอัตโนมัติ 2 ตู้ ในพื้นที่บริเวณริมถนนราษฎร์อุทิศ ซอย 16 ถนนเพชรเกษม ซอย38 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังจากมีผู้ร้องเรียนว่าทางตู้กดน้ำดื่มสมุนไพรอัตโนมัติดังกล่าว นอกจากขายน้ำดื่มพืชสมุนไพรแล้วยังมีการแฝงขายน้ำกระท่อมให้กับลูกค้าอีกด้วย        ลักษณะของตู้ดังกล่าว คือ ด้านหน้ามีสติ๊กเกอร์ระบุว่า "ตู้น้ำสมุนไพร" แก้วละ 10 บาท บริการทั้งน้ำ เก็กฮวย กระเจี๊ยบ และ น้ำพืชกระท่อม” และมีการติดตั้งให้บริการ มา 3-4 เดือนแล้ว หลังจากเรียกเจ้าของตู้กดน้ำมารับทราบข้อกล่าวหา ทางเจ้าของตู้ อ้างว่าไม่ทราบมาก่อนว่าขายน้ำต้มพืชกระท่อมผิดกฏหมาย เนื่องจากเห็นร้านค้าทั่วไปใน อ.หาดใหญ่ วางขายได้อย่างเสรี ทั้งนี้ ทางตำรวจ จึงได้แจ้งข้อหากับเจ้าของตู้น้ำพืชกระท่อมดัดแปลง ฐานความผิดขายน้ำกระท่อมโดยเครื่องช่วยขายอัตโนมัติ มีโทษปรับ 50,000 บาท คุมเข้ม แอปฯ ธนาคาร ห้ามล่มไม่เกิน 8 ชม./ปี        นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เผยว่า ทางธนาคารจะมีการออกแก้ไขประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสารเทศของสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งมีการระบุบทลงโทษ กรณีระบบขัดข้องนานเกินที่กำหนด โดยได้กำหนดว่าระบบโมบายแบงก์กิ้งขัดข้องหรือล่มได้ไม่เกิน 8 ชม./ปี หากเกินทางแบงก์ชาติจะมีบทลงโทษ ตามระดับความรุนแรง พร้อมทั้งตักเตือนให้แก้ไขดำเนินการปรับปรุง บทลงโทษปรับสูงสุด 500,000 บาท/ครั้ง ซึ่งหากไม่ดำเนินการปรับปรุงจะปรับ 5,000 บาท/วันศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลชั้นตั้นให้รับฟ้องได้ กรณีการควบรวม "ทรู - ดีแทค"        จากกรณีการควบรวม "ทรู - ดีแทค" ที่ภาคประชาชนออกมาต่อต้านเพราะเกรงว่าจะกลายเป็นการผูกขาดและผู้เสียประโยชน์คือประชาชน จึงเป็นที่มาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องศาลปกครองเมื่อมีนาคม 2566 นั้น ต่อมาศาลปกครองกลาง (ศาลปกครองชั้นต้น) ไม่รับคำฟ้อง ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด กระทั่งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นให้รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคดีควบรวมทรู-ดีแทค แล้ว        ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุด เผยแพร่เอกสารลงวันที่ 4 ตุลาคม ออกคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ฟ้องเอาผิดคณะกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่างผู้ให้บริการคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ 2 ราย คือ ทรู และ ดีแทค โดยข้อความท้ายเอกสารระบุว่า "การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป"        ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอน มติ กสทช. ที่รับทราบและอนุญาตให้ ทรู และ ดีแทค ควบรวมกิจการกันเมื่อเดือนตุลาคม ปีก่อนหน้า อ้างว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้บริษัททั้ง 2 รายนี้กระทำการดังกล่าว แต่ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องนี้ไว้ โดยให้เหตุผลหนึ่งว่า มาตรา 49 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง กำหนดให้ต้องฟ้องภายใน 90 วันหลังจากทราบว่ามีเหตุให้ฟ้อง แต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทราบเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 แต่กว่าจะมาฟ้องคือวันที่ 8 มีนาคม 2566 ซึ่งพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว         อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่ามติของ กสทช. เรื่องการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค นี้ เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ จึงเข้าข่ายมาตรา 52 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่อนุญาตให้ฟ้องเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกำหนด         ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภคและยังเป็นผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง         จึงถือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง การจะแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับนั้นต้องมีคำบังคับของศาลปกครองตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยสั่งให้เพิกถอนมติของ กสทช.ดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 49 วรรค 1 แห่งกฎหมายเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 269 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2566

ย้ายสิทธิบัตรทอง! โดยไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้านได้แล้ว        ตามที่ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวนมากที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกทม. เพื่อทำงาน-เรียนหนังสือ และไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านมาด้วย เดิมนั้นต้องกลับไปรักษายังจังหวัดที่มีทะเบียนบ้าน ดังนั้นเพื่อที่จะทำให้ผู้มีสิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการได้สะดวกขึ้นก็คือ การย้ายสิทธิรักษาเข้ามาอยู่ในกทม. โดยทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้ชวนผู้ที่อาศัยในกทม. แต่สิทธิบัตรทองอยู่ที่ต่างจังหวัด ทำการย้ายสิทธิเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ โดยให้ลงทะเบียนกับหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการประจำ ใกล้ที่พักอาศัย โดยไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้านมาซึ่งสำหรับการย้ายสิทธิสามารถทำได้ผ่านช่องทาง ดังนี้        1. แอปพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการ        2. Line OA สปสช. (ID@nhso) เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง        3. ติดต่อด้วยตนเอง ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ (อาคารบี) ถนนแจ้งวัฒนะ ในวันเวลาราชการ        4. สายด่วน 1330  ตรวจยึดไส้กรอกแดงสุดฮิตจากจีน        วันที่ 20 ก.ค. 2566 ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับกรมปศุสัตว์(กปศ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ขยายผลตรวจสอบแหล่งขายผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าจากประเทศจีน โดยได้เข้าตรวจค้นที่อาคารแห่งหนึ่ง ย่านประชาชื่น กรุงเทพฯ พบผลิตภัณฑ์ไส้กรอก ยี่ห้อ “Shuanghui” จำนวน 1,440 แท่ง และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ที่ผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 รวมกว่า 20 รายการ และทั้งหมดคือ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากประเทศจีนทั้งหมด ทางเจ้าหน้าที่จึงได้มีการยึดสินค้าทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินคดี นอกจากนี้ ของกลางที่ตรวจยึดได้มีการส่งตรวจวิเคราะห์ หาจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกันเสีย และสี ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถ้าพบสารปนเปื้อนที่ทำให้เกิดโรคเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จะถือว่าเป็น “อาหารไม่บริสุทธิ์” โดยผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับห้ามซื้อสมุนไพร ที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.         จากกรณีที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยี่ห้อผู้เฒ่าวิ่งปู๊ดแคปซูล ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาขายทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ทางอย. จึงได้ตรวจสอบว่ามีการจำหน่ายในพื้นที่ จ.พิษณุโลก  และได้ประสาน สสจ.พิษณุโลก ตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว ซึ่งก็พบผลิตภัณฑ์สมุนไพรผู้เฒ่าวิ่งปู๊ดแคปซูล สูตรกระจายเส้น เอ็นยึด ดังกล่าวจริง เป็นจำนวน 26 ซอง พร้อมกับยาผงจินดามณี จำนวน 55 ซอง และสมุนไพรไทยมีรูปรากไม้ จำนวน 39 ซอง นอกจากนี้ ทางอย.ได้มีการตรวจสอบเพิ่มเติม โดยทั้ง 3 รายการ ไม่พบข้อมูลอนุญาตจาก อย. และฉลากผลิตภัณฑ์ไม่มีการแสดงทะเบียน พร้อมกับยังพบสารสเตียรอยด์ปนเปื้อนในยาผงจินดามณี อีกด้วย ทางอย.จึงได้เตือนผู้บริโภคอย่าซื้อสมุนไพรทั้ง 3 รายการ มาใช้ เพราะอาจเกิดผลเสียต่อร่างกาย อันตรายต่อสุขภาพ บางกอกแอร์เวย์ส เตือน! ระวังมิจฉาชีพแอบอ้างชวนลงทุน         30 ก.ค. 2566 ทางสายการบางกอกแอร์เวย์ส ได้โพสต์ข้อความเตือนภัยหน้าเพจเฟซบุ๊ก Bangkok Airways โดยระบุข้อความว่า "แจ้งเตือนกรณีมีการแอบอ้างลงโฆษณาในช่องทางเฟซบุ๊ก (Facebook) โดยใช้ชื่อ นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ภาพเครื่องบิน และโลโก้ของสายการบินฯ ในการเชิญชวนและเปิดโอกาสให้ลงทุนหุ้นกับสายการบินฯ"  ซึ่งทางสายการบิน ได้แจ้งว่า ทางสายการบินไม่มีส่วนรู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง และบุคคลที่แอบอ้างดังกล่าวไม่ใช่สายการบิน อย่างไรก็ตาม ทางสายการบิน แนะนำว่าอย่าหลงเชื่อและระวังกลอุบายจากมิจฉาชีพที่หลอกล่อให้เผยแพร่ข้อมูลส่วนส่วนตัวและเอกสารสำคัญอีกด้วย  มพบ. พาผู้เสียหาย “ออลล์ อินสไปร์ คอนโดสร้างไม่เสร็จ” ยื่นฟ้องศาล         20 ก.ค. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) นำโดยนายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์สิทธิบริโภคและนางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมตัวแทนผู้เสียหายที่ซื้อคอนโดมิเนียมจากโครงการ ออลล์ อินสไปร์ เดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งและศาลแขวงพระนครเหนือ เพื่อเรียกเงินคืนตามสัญญาจะซื้อจะขาย เนื่องจากผิดสัญญาก่อสร้างไม่เสร็จตามกำหนด         โดยนางสาวณัฐวดี กล่าวว่า การยื่นฟ้องครั้งนี้ ได้ดำเนินการในนามของผู้เสียหายแต่ละราย มีจำเลย คือ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ฯ ที่เป็นคู่สัญญา ซึ่งการยื่นฟ้องแยกตามศาลเนื่องจากเป็นไปตามทุนทรัพย์ของผู้เสียหาย โดยยื่นฟ้องที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี  ยื่นฟ้องศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี ซึ่งการที่ผู้เสียหายตัดสินใจยื่นฟ้อง บริษัท ออลล์ อินสไปร์ เนื่องจากผู้บริหารเข้าข่ายเจตนาฉ้อโกงเจ้าหนี้ เห็นได้ชัดเจนจากที่มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือไปถึงประธานกรรมการ เมื่อ 7 ก.ค. 2565 ขอเชิญประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่กับพบว่ามีแต่ความเพิกเฉย ไม่มาพบกับผู้เสียหาย เมื่อไปพบถึงสำนักงานใหญ่ พบแค่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการและเสนอแผนชดเชยค่าเสียหายผ่อนชำระเป็นรายงวด เมื่อมีบางคนยอมทำตามข้อเสนอของบริษัท แต่ปรากฏว่าบริษัทก็ยังเบี้ยวหนี้ เพราะจ่ายแค่ 1 งวด แล้วหายไปเลย ไร้ช่องทางการติดต่อ         ดังนั้นผู้เสียหายที่จ่ายเงินจอง เงินดาวน์  เงินทำสัญญา เงินผ่อนแต่ละงวดไปแล้ว ต้องการเรียกเงินคืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย ทั้งนี้ ทางมูลนิธิฯ อาจยื่นฟ้องคดีอาญาอีกด้วย เพื่อให้เกิดการลงโทษผู้ประกอบการเนื่องจาก บริษัทฯ มีเจตนาไม่ชำระหนี้คืนให้ผู้เสียหาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ปลดกัญชาจากยาเสพติดแล้ว        9 กุมภาพันธ์ 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 วรรค แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดออกประกาศไว้ ดังนี้       ข้อ 1 ให้ยาเสพติดให้โทษที่ระบุชื่อดังต่อไปนี้ เป็นยาให้โทษประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด 1.พืชฝิ่น ที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ Papaver somniferum L. และ Papaverbracteatum Lindl. ที่มีชื่อในสกุลเดียวกันและให้ฝุ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น 2.เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย ที่มีชื่อว่า Psilocybe cubensis (Earle)Singer หรือชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin 3. สารสกัดทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้น (ก) สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ (ข) สารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญซาหรือกัญชง ที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ        ข้อ 2.กรณียาเสพติดให้โทษตามข้อ 1 ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์ และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ของเครื่องมือแพทย์ ให้ยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศเป็นต้นไป AIS ถูกแฮกข้อมูลลูกค้ารั่ว 1 แสนรายการ         บริษัท เอไอเอส ได้เปิดเผยว่า ตรวจพบว่ามีผู้ละเมิดข้อมูลผู้ใช้บริการ ประมาณ 100,000 รายการ ซึ่งมีรายละเอียดประกอบไปด้วย ชื่อ-สกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน วัน-เดือน-ปีเกิด และหมายเลขโทรศัพท์ แต่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกรรมการเงินอื่นใด โดยข้อมูลนั้นได้ถูกนำไปเผยแพร่อยู่บน Dark Web ซึ่งทางบริษัทร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เร่งตรวจสอบหาสาเหตุดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สกมช. และกสทช. รวมทั้งยังแจ้งไปยังลูกค้าผ่านทาง SMS เพื่อให้รับทราบและระมัดระวัง ขณะนี้ทางบริษัทได้เร่งตรวจสอบผู้ที่กระทำความผิดเพื่อดำเนินตามกฎหมายต่อไป 10 อันดับข่าวปลอมเดือนกุมภา วอนอย่าหลงเชื่อ         กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง แจ้ง 10 ข่าวปลอมช่วง 4-10 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้ 1) ออมสิน ส่ง SMS ให้ประชาชนกดรับสิทธิ์ขอสินเชื่อ GSB จำนวน 60,000 บาท 2) วันที่ 10-20 กุมภาพันธ์ 2565 ฝนตกหนักทุกภาค ทั่วประเทศไทย 3) รักษาโควิด-19 ด้วยสมุนไพรขมิ้นชัน กระชาย พริกไทย ทับทิม 4) คนไทยจ่ายเงินซื้อน้ำมันราคาแพงที่สุดในโลก 5) ดื่มน้ำต้มต้นไมยราบ แทนน้ำเปล่า ช่วยรักษาโรคมะเร็งเต้านม 6) โครงการเราชนะ เฟส 4 แจกเงินคนละ 7,000 บาท เริ่มโอน 10 กุมภาพันธ์ 2565 7) คลิปข้าวสารถูกผลิตจากถุงพลาสติก 8) ธ.กรุงไทย เปิดสินเชื่อกรุงไทยเพื่อนักสู้ ดอกเบี้ย 0.5% ผ่อนนาน 48 เดือน ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้ 9) ใช้หม้อทอดไร้น้ำมันปรุงอาหารทำให้ก่อมะเร็ง และ 10) ติดเชื้อไวรัส Parabola จากสุนัขและแมวทำให้ไขกระดูกไม่สร้างเลือด  วอนอย่าหลงเชื่อ แชร์หรือกดลิงก์โดยเด็ดขาดตรวจพบโรงงานไส้กรอกเถื่อนไม่มี อย. 13 รายการ        ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาการและยา เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบกรณีมีผู้ป่วยเนื่องจากรับประทานไส้กรอกที่ผลิตจากโรงงานเถื่อน จ.ชลบุรี นั้น ผลวิเคราะห์พบว่า ไส้กรอกมีปริมาณไนเตรท์มากเกินกว่ากฎหมายกำหนดถึง 35-48 เท่า ทางคณะกรรมการอาหารและยาจึงได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเพื่อร่วมเฝ้าระวังในพื้นที่        ในส่วนจังหวัดที่ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังสถานที่จำหน่ายในท้องตลาดเสร็จสิ้นแล้วมีทั้งสิ้น 66 จังหวัด และสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกที่เสี่ยงส่งตรวจวิเคราะห์ 102 ตัวอย่าง (อยู่ระหว่างรอผลวิเคราะห์) ทั้งนี้ได้ดำเนินคดีในกรณีที่จำหน่ายไส้กรอกไม่มีฉลากแสดงแล้ว คือที่สระบุรี อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา ซึ่งส่วนของจังหวัดสระบุรีนั้น เป็นสินค้ามาจากสถานที่ผลิตเดียวกันกับชลบุรี  ส่วนอุทัยธานี พบสินค้ามีฉลากเหมือนกับที่เจอปัญหาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงเร่งให้มีการขยายผลดำเนินการจับกุมโรงงานที่ผลิตไส้กรอกโดยไม่ได้รับอนุญาตที่ จ.อยุธยา ได้อีก 2 แห่ง และอายัดสถานที่ของกลางมูลค่ารวมกว่า 4.3 ล้านบาท รวมทั้งดำเนินคดีกับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่ไม่มี อย. จำนวน 13 รายการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือนซื้อซิมกับตัวแทนในร้านค้าออนไลน์ เสี่ยงโดนหลอกขาย         จากกรณีที่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้อนเรียนจากผู้เสียหายจากการซื้อสินค้าเป็นซิมเติมเงินของ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากทางร้านค้าออนไลน์ที่ขายในแพลตฟอร์ม Lazada เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ราคา 1,369 บาท มีรายละเอียดว่า เป็นซิมทรู 10 Mpbs เน็ตไม่อั้น ไม่จำกัด ไม่ลดสปีด รองรับระบบ 4G/5G ต่อมาเมื่อเปิดใช้งานซิมในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 พบปัญหาไม่สามารถใช้งานเน็ตได้ตามที่ร้านค้าให้ข้อมูล ผู้ร้องจึงทำตามขั้นตอนตามตัวซิมพบว่าซิมมีชื่อรุ่นว่า กัมพูชา 5G ใช้เน็ตได้เพียง 7 วัน ปริมาณ 2 GB และใช้งานได้เพียงครึ่งวันก็ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตแล้ว และเมื่อผู้ร้องทราบจากทางบริษัทพบว่า ซิมมีราคาเพียงแค่ 49 บาทไม่ตรงตามที่โฆษณา        นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ขณะนี้ในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์มีปัญหาหลอกลวงขายซิมโทรศัพท์มือถือที่ไม่สามารถใช้งานเน็ตได้ไม่อั้นตามที่ร้านค้าโฆษณา เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่ซิมที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามที่โฆษณาไว้ มูลนิธิฯ พบผู้เสียหายจากกรณีนี้หลายราย จึงขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังการซื้อซิมโทรศัพท์มือถือกับผู้ขายที่ไม่ใช่ศูนย์บริการที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือโดยตรงเพราะเสี่ยงโดนมิจฉาชีพหลอก ลักษณะของมิจฉาชีพ คือ เป็นตัวแทนจำหน่ายซิมที่ขายในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ Lazada, Shopee และเฟซบุ๊กแฟนเพจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับ 250 หลงซื้อน้ำมันงาโบราณ ไม่มีเลขทะเบียนยา

        "อย.ขอเตือนประชาชน อย่าได้หลงเชื่อยาสมุนไพรแผนโบราณใดๆ ที่แสดงสรรพคุณเกินจริงว่า สามารถรักษาได้สารพัดโรค เพราะนอกจากจะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังอาจได้รับอันตรายอย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากมักพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่แสดงสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง มักลักลอบใส่ยาหรือสารที่เป็นอันตรายลงไป และการผลิตผลิตภัณฑ์มักไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน จึงอาจทำให้ได้รับอันตรายจากการปนเปื้อน”...นี่คือตัวอย่างคำเตือนที่มักปรากฏตามสื่อต่างๆ บ่อยๆ แต่บางครั้งบางคนก็หลงจ่ายเงินซื้อยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณครอบจักรวาลมา เพียงเพราะหลังทดลองใช้แล้วเห็นผลทันตาเพียงครู่ เลยลืมดูรายละเอียดของข้อความบนฉลากให้ถ้วนถี่ซะก่อน          คุณเด่น ไกด์หนุ่มก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาเล่าว่าตอนที่เขาพาลูกทัวร์ไปท่องเที่ยวที่แก่งกึด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มีแม่ค้ามาขายน้ำมันงาโบราณโดยบอกว่าใช้นวดแก้ปวดเมื่อยดีขนาด และจะมาขายแค่ปีละครั้งเท่านั้น เขาเองก็กำลังรู้สึกปวดที่ต้นแขนอยู่พอดี จึงขอลองใช้น้ำมันงาโบราณนี้นวดดูหน่อย อะ ได้ผลดีแฮะ นวดไปๆ กล้ามเนื้อที่ต้นแขนเริ่มหายปวดละ เขาจึงอุดหนุนแม่ค้าในราคาขวดละ 190 บาท มา 2 ขวด ว่าจะไว้ใช้เองขวดหนึ่ง อีกขวดจะเอาไปฝากแม่         เมื่อแม่ค้าคล้อยหลังไปแล้ว ไกด์หนุ่มจึงหยิบขวดน้ำมันงานั้นขึ้นมาอ่านฉลากให้ละเอียดอีกที ปรากฎว่าหมุนรอบขวดแล้วก็ยังหาเลขทะเบียนยา หรือ อย. ไม่เจอเลย ตัวฉลากก็ไม่ได้อธิบายรายละเอียดส่วนประกอบ ไม่มีวันหมดอายุ มีแต่เบอร์โทรคนขาย และเขียนวิธีใช้ว่า ใช้นวดเวลาปวด เช้า-เย็น มีสรรพคุณ ใช้นวดอาการปวดเส้น ปวดเอ็น ปวดเข่า ปวดขา แก้ปวดฟัน รักษาอาการผื่นคัน ใช้ทาริดสีดวง สารพิษสัตว์กัดต่อย บาดแผลทุกชนิด ซึ่งดูจะเกินจริงไปมาก ไกด์หนุ่มเห็นแบบนี้ก็ไม่กล้าใช้แล้วเพราะกลัวว่าจะแอบใส่สารอันตรายอะไรปนไปหรือเปล่า จึงมาร้องเรียนกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยาได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นกับคุณเด่นว่า ผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณจะต้องมีเลขทะเบียนยา ชื่อที่อยู่ผู้ผลิต มีวันเดือนปีที่ผลิต และวันหมดอายุ ซึ่งน้ำมันงาโบราณนี้ไม่มีรายละเอียดเหล่านี้เลย มีแต่สรรพคุณ วิธีใช้และเบอร์โทรผู้ขาย ซึ่งไม่ทราบแหล่งที่มา และส่วนประกอบ จัดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย อาจมีส่วนผสมของสารอันตราย ดีแล้วที่คุณเด่นไม่ใช้ต่อ ทางศูนย์ฯ จะนำผลิตภัณฑ์นี้ส่งตรวจหาสารต้องห้ามต่อไป หากพบว่าเป็นผลิตภัณฑ์อันตรายจะส่งเรื่องให้ทางสาธารณสุขจังหวัดจัดการต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 240 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กฝากไปกับไปรษณีย์ได้        บริษัท ไปรษณีย์ไทยผนึกกำลังเอไอเอส จัดโครงการ'ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์' ผ่านบุรุษไปรษณีย์กว่า 2 หมื่นคนทั่วประเทศ โดยประชาชนสามารถ 'ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์' ผ่านบุรุษไปรษณีย์ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สมาคมโรคไตแนะผู้ป่วยอย่าหลงเชื่อสมุนไพรบำรุงรักษาไต        ในงานสัปดาห์วันไตโรค สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับเครือข่ายองค์กรทางการแพทย์ยืนยัน ปัจจุบันยังไม่มีสมุนไพรตัวไหนที่มีข้อมูลหลักฐานทางงานวิจัยหรือการบันทึกมากเพียงพอที่แสดงถึงประโยชน์ในการรักษาโรคไตได้อย่างมั่นใจ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้ โดยเฉพาะตัวถั่งเช่าที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน         รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าจากองค์ความรู้ที่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ถั่งเช่ามีประโยชน์จริงในผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากมีเพียงข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษาที่ดีเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าถั่งเช่ามีประโยชน์กับไตในมนุษย์ และการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รายงานของอาการที่ไม่พึงประสงค์ของถั่งเช่าอีกด้วย การที่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังลองทานยาสมุนไพรรักษาโรคไตนั้น น่าจะมีโทษมากกว่าประโยชน์ ซึ่งการรักษาที่ดีที่สุดคือการดูแลปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อชะลอการเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด รวมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เกิดความเสี่ยงต่อไตทั้งหมด    เครือข่าย “พาราควอต” เล็งฟ้องศาลปกครองยื้อขอใช้ต่อ        25 ก.พ. คือกำหนดเวลาสุดท้ายที่ให้ครอบครองสาร “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” เกษตรกรต้องเร่งส่งคืนสารเคมีอันตรายร้ายแรงให้กับร้านค้าสารเคมีทางการเกษตรที่ซื้อมา จากนั้นร้านค้าก็จะต้องส่งคืนให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเพื่อให้นำสารเคมีเหล่านี้ไป “กำจัด” โดยรัฐจะกำหนดวันวิธี และสถานที่ในการทำลาย ทั้งนี้ ตามประกาศได้กำหนดไว้ว่า ผู้ฝ่าฝืนที่มีสารเคมีทางการเกษตรอันตรายร้ายแรงไว้ในครอบครองหลังวันที่ 25 ก.พ. 2564 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามภาระในการกำจัดสารเคมีอันตรายร้ายแรง “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” จะตกไปอยู่ที่ผู้นำเข้าที่ต้องเสียค่ากำจัดเองประมาณ 100,000 บาท/ตัน         ดังนั้นจึงเกิดการเคลื่อนไหวโดยทางด้านเครือข่ายผู้ใช้เคมีปลอดภัย สมาคมวิทยาการวัชพืช เตรียมระดมทุนดึงมหาวิทยาลัย นักวิชาการ วิเคราะห์ผลตกค้างใหม่บอกผลวิจัยชุดเก่า “เชื่อถือไม่ได้” ขู่ฟ้องศาลปกครองเอาผิด คณะกรรมการวัตถุอันตราย ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 73 และ 4 อ้างทำเสียหาย 200,000 ล้านบาท "กัญชา กัญชง"ใช้ประกอบอาหารไม่ผิดกฎหมาย        22 กุมภาพันธ์ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่าคณะกรรมการอาหารได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1.(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ….) พ.ศ…. ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ปลดให้ใช้ส่วนของกัญชาและกัญชงที่ไม่เป็นยาเสพติดในผลิตภัณฑ์อาหารได้ 2.(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ….) พ.ศ…. ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง โดย อย. จะเสนอ (ร่าง) ประกาศฯ ทั้ง 2 ฉบับนี้ให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป         ด้านองค์กรผู้บริโภค เป็นห่วงประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ระบุ 'คณะกรรมการอาหาร และ อย.' ต้องพิจารณาเรื่องการกำกับดูแลร้านอาหารและเครื่องดื่ม การแจ้งข้อมูลผู้บริโภค คำเตือน และกำหนดอายุผู้ซื้อ มีบทลงโทษถ้าไม่ดำเนินการ         “สาร THC และ CBD ที่อยู่ในใบกัญชาละลายได้ดีในอาหารที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านระบบทางเดินอาหารได้ดี จึงมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคค่อนข้างสูง อาจเกิดผลข้างเคียงจากการบริโภคได้ โดยเฉพาะในหญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร ทารก เด็กเล็ก อาจได้รับสารนี้จากการบริโภคทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ” มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหารมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภค คัดค้านราคา 104 บาทรถไฟฟ้าสายสีเขียวและร่วมเสนอทางออก        'มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เดินหน้าคัดค้านขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวสูงสุด 104 บาท เพิ่มภาระประชาชน กลายเป็นขนส่งสาธารณะที่ยากต่อการเข้าถึง แนะเว้นค่าแรกเข้า - ตั้งเพดานราคา - จัดการสัญญาสัมปทาน' แก้ปัญหาราคารถไฟฟ้า         การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าต้องทำให้เป็นขนส่งสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่เพิ่มภาระค่าครองชีพ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาถูกกว่านี้ได้ โดยสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาคือ การเว้นค่าแรกเข้า เนื่องจากปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกคิดจากสัญญาสัมปทานในแต่ละสายแยกกัน จึงทำให้ราคาในแต่ละสายสีต่างๆ แตกต่างกัน เนื่องจากเมื่อมีการเชื่อมต่อระหว่างระบบทำให้ผู้โดยสารจำเป็นต้องจ่ายค่าแรกเข้าให้กับรถไฟฟ้าอีกระบบตามที่ระบุในสัญญาฯ ดังนั้นถ้าใครต้องต่อรถไฟฟ้าหลายต่อก็จะแพงขึ้นมาก เพราะต้องเสียค่าแรกเข้าให้กับทุกระบบรถไฟฟ้า ระบบตั๋วร่วมจึงควรเกิดขึ้นได้เสียที คือตั๋วเดียวและขึ้นได้ทุกระบบ และพิจารณาเรื่องการทำให้ค่าโดยสารมีส่วนลด         “รัฐควรนำสัญญาสัมปทานทุกสายมาดูเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะหากยังใช้สัญญาสัมปทานเดิม แม้จะยกเว้นค่าแรกเข้าแล้วก็ยังราคาเกือบหนึ่งร้อยบาท ดังนั้นจึงต้องทำควบคู่กันไป ทั้งการยกเว้นค่าแรกเข้า ตั้งเพดานราคา และจัดการปัญหาสัญญาสัมปทาน นอกจากนี้เรื่องการอุดหนุนจากรัฐก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องคิด รัฐสามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพื้นที่บนสถานีรวมถึงพื้นที่แนวเส้นรถไฟฟ้า เพื่อนำรายได้ส่วนนั้นมาดอุดหนุนเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ในราคาที่ถูกลง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ระวังผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรสกัด สวม อย. ปลอม

        คุณอภิรักษ์เป็นคนที่รักสุขภาพ และมีความชอบพืชสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเป็นอย่างมาก มาวันหนึ่งคนรู้จักแถวบ้านคุณอภิรักษ์ได้เข้ามาแนะนำผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรยี่ห้อหนึ่ง โดยโฆษณาสรรพคุณ แก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอกตามร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง คุณอภิรักษ์ได้อ่านส่วนผสมและสรรพคุณต่าง ๆ บนฉลากสินค้า ก็เห็นว่ามีสมุนไพรหลายตัวที่น่าสนใจ ทั้งคนที่นำผลิตภัณฑ์มาเสนอขายยังเป็นคนที่รู้จักมักคุ้น และเคยได้ยินคนในละแวกบ้านกล่าวถึงกัน บนฉลากก็ยังมีเลข อย.รับรองอีกด้วย คุณอภิรักษ์จึงได้ซื้อน้ำสมุนไพรสกัดเอาไว้จำนวนหนึ่งเพื่อทดลองรับประทาน         ไม่กี่วันต่อมามีข่าวว่า เพื่อนบ้านจำนวนหนึ่งที่ดื่มผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรสกัดดังกล่าว เกิดอาการคันและบวมตามร่างกายจนต้องทยอยกันเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล อีกทั้งเมื่อหน่วยงานนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบยังพบว่า ผลิตภัณฑ์มีการสวมเครื่องหมายเลข อย.ปลอมและมีสารสเตียรอยด์ปนเปื้อน นับเป็นโชคดีของคุณอภิรักษ์ที่ยังไม่ได้หยิบน้ำสมุนไพรสกัดยี่ห้อดังกล่าวมารับประทาน แต่อยากได้ความรับผิดชอบจากผู้ผลิตจึงโทรมาปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมีการตรวจพบการปนเปื้อนของสารสเตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (1) คือ อาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษตาม มาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ         นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถใช้คำโฆษณาในลักษณะเพื่อบรรเทา รักษา หรือแก้โรคต่าง ๆ ได้ เพราะไม่ใช่เวชภัณฑ์ยาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาโรค ในกรณีนี้ยังเข้าข่ายใช้คำโฆษณาหลอกลวงเกินจริง ซึ่งตาม มาตรา 40 ของ พ.ร.บ.อาหารฯ ยัง ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ซึ่งมีบทกำหนดโทษตาม มาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         แนะนำให้คุณอภิรักษ์นำสินค้าไปมอบให้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการตามกฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 เผยผลสำรวจคนกทม 33.7 เปอร์เซ็นต์ เคยมีการตรวจสอบหมายเลข อย

        นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจของเครื่องหมายบนสลากสินค้า โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,121 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 1 - 7 ตุลาคม 2563 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง        ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องความรู้ความเข้าใจของเครื่องหมายบนสลากสินค้า เนื่องจากในปัจจุบันมีการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ประกอบกับการที่มีการขายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ มาตรฐาน การตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าที่จะต้องมีรายละเอียดประกอบด้วย ชื่อประเภทสินค้าชื่อผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้า สถานประกอบการ วันเดือนปีที่ผลิต กรณีนำเข้าต้องระบุประเทศที่ผลิต ขนาดของสินค้า วิธีใช้ ข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน และราคาสินค้าไว้บนฉลากหรือภาชนะหีบห่อที่บรรจุ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 การขายสินค้าที่ฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าที่ไม่ถูกต้องและมีการปลอมแปลงมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของการตรวจสอบนั้นสามารถตรวจสอบหมายเลข อย. ของสินค้าทาง www.fda.moph.go.th ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ และเครื่องหมายบนสลากสินค้านั้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าอย่างไร ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องความรู้ความเข้าใจของเครื่องหมายบนสลากสินค้า โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้             กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่าฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าจะต้องมีรายละเอียดประกอบด้วย ชื่อประเภทสินค้าชื่อผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้า สถานประกอบการ วันเดือนปีที่ผลิต กรณีนำเข้าต้องระบุประเทศที่ผลิต ขนาดของสินค้า วิธีใช้ ข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน และราคาสินค้าไว้บนฉลากหรือภาชนะหีบห่อที่บรรจุ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ร้อยละ 76 และทราบว่าฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าถ้าไม่ถูกต้องและมีการปลอมแปลงมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ร้อยละ 55.8             เคยมีการค้นหาความหมายของตราสัญลักษณ์ต่างๆ ที่อยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 50 ในส่วนของการเลือกซื้อสินค้าได้มีการตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าในส่วนของผู้ผลิต ราคา วันผลิต วันหมดอายุ ร้อยละ 82.8 และทราบว่าเครื่องหมาย อย. ย่อมาจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 83.7             กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย อย. แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีความปลอดภัย ร้อยละ 81.5 ผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย อย. มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า ร้อยละ 74.9 และ จะไม่เลือกซื้อสินค้า หากพบสินค้าไม่มีเครื่องหมาย อย. บนฉลากผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 46.9             ไม่เคยมีการตรวจสอบหมายเลข อย. ของสินค้าทาง www.fda.moph.go.th ร้อยละ 46.6 ทราบว่า สามารถตรวจสอบหมายเลข อย. ของสินค้าทาง www.fda.moph.go.th  ร้อยละ 47.5 และทราบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร หมายเลข อย. จะมีตัวเลข 13 หลัก ร้อยละ 61.4            กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ทราบว่าความหมายของตัวเลขที่ระบุในหมายเลข อย. ร้อยละ 44.5 ทราบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จะมีเลขที่ใบรับแจ้งโดยมีตัวเลข 10 หลัก ร้อยละ 46 และไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทยา ยา ทั้งยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย หรือยาแผนโบราณ จะมีเลขทะเบียนตำรับยาแสดงบนฉลากเช่น ทะเบียนยาเลขที่ G XXX/XX ร้อยละ 40.5             ในส่วนของเครื่องหมาย มอก. ย่อมาจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ทราบว่าเครื่องหมาย มอก. ย่อมาจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 66.3 คิดว่าผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย มอก. แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีความปลอดภัย ร้อยละ 69.7 เครื่องหมาย มอก. บนฉลากผลิตภัณฑ์ มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า ร้อยละ 61.3 และหากพบสินค้าไม่มีเครื่องหมาย มอก. บนฉลากผลิตภัณฑ์ มีผลต่อการจะตัดสินใจซื้อ ร้อยละ 48.3

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 อย่าปล่อยให้ความเชื่อเหนือ ความจริง

        1. ผลิตภัณฑ์ที่แสดงเลขอนุญาต (เช่น อย ทะเบียนยา เครื่องสำอาง) อาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป         ผู้บริโภคที่มีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ มักจะตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์ว่ามีรายละเอียดครบถ้วนหรือไม่ และเมื่อพบว่าครบถ้วนแล้ว ก็มักจะคิดว่ามีความปลอดภัย เนื่องจากได้รับการอนุญาตหรือตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ที่อนุญาตเรียบร้อยแล้ว แต่จากประสบการณ์ทำงาน มักพบว่าผลิตภัณฑ์อันตรายหลายอย่าง มักจะแอบลักลอบเติมสารอันตรายหลังจากที่ได้รับอนุญาตแล้ว หรือผู้ผลิตบางรายอาจแสดงข้อมูลปลอม หรือเอาข้อมูลของผลิตภัณฑ์อื่นมาแสดงในของตนแทน (เช่น ทะเบียน อย. ทะเบียนตำรับยา หรือเลขจดแจ้งเครื่องสำอาง)         ดังนั้นนอกจากการตรวจสอบฉลากแล้ว ผู้บริโภคควรต้องสังเกตสิ่งพิรุธอื่นๆ ด้วย เช่น โฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ หรือหลังจากใช้แล้วเกิดอาการผิดปกติ หรือใช้วิธีการขายแบบหลบๆ ซ่อนๆ หรือแปลกๆ          2. อาหารที่มี อย. รักษาโรคได้เหมือนยา         ผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด มักแจ้งว่าผลิตภัณฑ์ของตนผ่านการรับรองแล้ว จึงมีเลข อย. และอ้างสรรพคุณในการรักษาโรคได้ แต่ในแง่ความจริง ผลิตภัณฑ์อาหารจะไม่สามารถใช้ในการรักษาโรคได้ หากผลิตภัณฑ์อาหารโฆษณาว่ารักษาโรคได้ แสดงว่าให้ข้อมูลเท็จและโฆษณานั้นจะถือว่าผิดกฎหมาย          3. ผลิตภัณฑ์ที่มีบุคลากรทางการแพทย์มาโฆษณารับรองสรรพคุณ ย่อมมีความปลอดภัย         ผลิตภัณฑ์หลายชนิด มักใช้บุคลากรทางการแพทย์มาโฆษณารับรองคุณภาพเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้ผู้บริโภคหลายรายหลงเชื่อ แต่ข้อเท็จจริงคือ สภาวิชาชีพต่างๆ ที่ควบคุมดูแลมาตรฐานการประกอบวิชาชีพของบุคลากรทางการแพทย์ จะห้ามมิให้บุคลากรทางการแพทย์ไปการันตีหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ หากพบแสดงว่า บุคลากรเหล่านั้นกระทำผิดจรรยาบรรณหรือข้อบังคับทางวิชาชีพ นอกจากนี้บางครั้งยังเคยพบว่า ภาพบุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้โฆษณานั้น ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ตัวจริง เป็นตัวปลอมที่ใช้หลอกลวงผู้บริโภค          4. การแจ้งเรื่องร้องเรียน ทำให้ผู้ร้องเดือดร้อน         หลายครั้งที่ผู้บริโภคมาร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ และเมื่อเจ้าหน้าที่สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ผู้ร้องเรียนมักจะไม่กล้าให้ข้อมูล เพราะเกรงว่าตนเองจะเดือดร้อน ทำให้เรื่องร้องเรียนที่สำคัญๆ หลายเรื่อง ดำเนินการตรวจสอบได้ยาก เพราะขาดข้อมูลที่เพียงพอ จึงอยากชี้แจงให้ทราบว่า ปกติแล้วเจ้าหน้าที่จะถือว่าเรื่องร้องเรียนต่างๆ เป็นความลับ แต่หากผู้บริโภคยังกังวลเมื่อมาร้องเรียนก็สามารถย้ำกับเจ้าหน้าที่ได้ว่า ขอให้เก็บข้อมูลของตนเป็นความลับ นอกจากนี้หากผู้บริโภคให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ก็จะเป็นการร่วมมือกันสกัดผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัญหาที่ต้นตอ แลเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภครายอื่นๆ ด้วย          5. เมื่อแจ้งข้อมูลแล้ว เจ้าหน้าที่ย่อมจัดการปัญหาได้ทันที         เมื่อได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนแล้ว บางเรื่องเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้ทันที แต่ถ้าหากข้อมูลไม่ชัดเจน เช่น เป็นคำพูดลอยๆ หรือแหล่งจำหน่ายไม่ชัดเจน เจ้าหน้าที่จำเป็นจะต้องเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือบางครั้งอาจต้องส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ทำให้ต้องใช้เวลากว่าจะทราบผล ดังนั้นในช่วงนี้ผู้บริโภคควรระงับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่สงสัยไว้ก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ถูกหลอกให้เข้าร่วมธุรกิจ ขายยาลดความอ้วน

        กรณีนี้ ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรภาคีของทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้แบ่งปันเรื่องราวเพื่อเป็นอุทาหรณ์ โดยทางศูนย์ฯ อยุธยา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกให้เข้าร่วมธุรกิจขายผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริม         คุณเอกภพ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เมื่อไม่สบายคุณเอกภพจะใช้บริการของคลินิกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เขาเข้าใช้บริการอยู่บ่อยจนคุ้นเคยกับบุคลากรในคลินิก วันหนึ่งแพทย์ที่คลินิกได้ชักชวนคุณเอกภพให้มาเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักยี่ห้อหนึ่ง โดยแพทย์คนดังกล่าวอ้างว่า ตนเป็นเจ้าของธุรกิจ ทั้งยังโน้มน้าวให้คุณเอกภพเชิญชวนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมาสมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายอีกด้วย         หลังจากนั้นไม่นานคุณเอกภพก็ถูกเชิญให้เข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มไลน์ตัวแทนขาย ทำให้รู้จักตัวแทนคนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม คุณเอกภพเองสนใจในผลิตภัณฑ์ฯ ว่าจะดีจริงอย่างที่มีการส่งเสริมการขายหรือไม่ จึงได้ลองรับประทานผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนัก ปรากฎว่า เกิดอาการท้องเสียรุนแรง ใจสั่น ปากและคอแห้ง จึงตกใจและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ทันที พร้อมรีบสอบถามเพื่อนสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่มไลน์ ทำให้ทราบว่ามีผู้ที่เกิดอาการแบบเดียวกันมากกว่า 20 คน คุณเอกภพจึงอนุมานว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวน่าจะไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค จึงตัดสินใจชวนเพื่อนสมาชิกในกลุ่มไลน์ที่ได้รับความเสียหายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ฯ เข้าร้องเรียนกับ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนักดังกล่าว ว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ส่งเรื่องร้องเรียนของคุณเอกภพและเพื่อนๆ ต่อไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ เพื่อขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ต่อมาพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนักนั้น มีส่วนผสมของตัวยาลดน้ำหนักที่อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะภายใต้ความดูแลของแพทย์เท่านั้น ดังนั้นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่อาหารเสริม แต่คล้ายกับว่าคุณเอกภพและตัวแทนขายคนอื่นๆ ถูกหลอกให้ใช้และขายยาลดน้ำหนักนั่นเอง ซึ่งทาง สสจ.อยุธยาจะได้ดำเนินการทางคดีกับนายแพทย์ท่านนั้นต่อไป         ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภค         เมื่อมีผู้มาชักชวนให้ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้บริโภคควรตรวจสอบ เลข อย. ก่อนทุกครั้ง โดยสามารถตรวจจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีการจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่         กรณีที่พบว่า ผลิตภัณฑ์นั้นมีเลข อย.ที่จดทะเบียนถูกต้อง แต่เมื่อรับประทานแล้วมีอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียง ก็ควรรีบแจ้งให้ทางหน่วยงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการตรวจสอบโดยทันที         ทั้งนี้ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่มีเลข อย. และกล่าวอ้างว่ามีคุณสมบัติในการลดน้ำหนักได้ นั้นเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 เลขสารบบอาหารไม่ครบก็ได้เหรอ

ทุกวันนี้เรากินอาหารจากผลิตภัณฑ์ที่บรรจุสำเร็จกันมากขึ้น ซึ่งอาหารในบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ได้รับการควบคุมดูแลเรื่องฉลากเพื่อให้สามารถติดตามได้หากเกิดปัญหา ดังนั้นอย่างน้อยผู้บริโภคควรใส่ใจที่จะอ่านฉลาก ซึ่งบ่งบอกรายละเอียดของสินค้า และหากพบความผิดปกติท่านสามารถร้องเรียนต่อหน่วยงานเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาได้        คุณพิมลอาศัยอยู่จังหวัดนนทบุรี ย่านบางกรวย วันหนึ่งไปซื้อก๋วยเตี๋ยวที่ตลาดเจ้าพระยาเพื่อกลับมารับประทานที่บ้าน ขณะกำลังจะฉีกซองพริกป่น น้ำตาล ที่แม่ค้าให้มาก็สังเกตว่า พริกป่นในซองจับตัวกันเป็นก้อน จึงเพ่งมองที่ฉลากบนซองแล้วพบสิ่งผิดสังเกตคือ เลขสารบบอาหาร(เลข อย.) บนซองนั้น มีแค่เลขแปดตัวเท่านั้น ซึ่งคุณพิมลเคยทราบมาว่าเลขสารบบอาหารนั้น ต้องมีทั้งหมด 13 ตัวหรือ 13 หลัก  อีกทั้งบนซองยังไม่มีการบอกวันหมดอายุหรือวันผลิต จึงสงสัยมีการปลอมเลข อย.หรือไม่ จึงแจ้งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอให้ตรวจสอบ แนวทางการแก้ไขปัญหา          เมื่อพบความผิดปกติเกี่ยวกับอาหารในบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป ควรเร่งแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตรวจสอบ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ว่าผู้ผลิตอาหารดังกล่าวตามชื่อที่ปรากฏบนซองเป็นผู้ผลิตสินค้าดังกล่าวจริงหรือไม่ ซึ่งต่อมาทราบว่าทาง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีได้ออกตรวจร้านค้าที่จำหน่ายอาหารตามที่คุณพิมลแจ้งมา รวมทั้งร้านค้าอื่นๆ อีก 13 ร้านแต่ไม่พบผลิตภัณฑ์พริกป่นยี่ห้อตามที่คุณพิมลแจ้งมา           อย่างไรก็ตามเมื่อทาง อย.ได้สอบถามกับผู้ผลิตตามชื่อที่ปรากฏบนซอง ทางบริษัทดังกล่าวปฏิเสธว่าสินค้าดังกล่าวไม่ใช่ของตน เป็นการถูกแอบอ้างชื่อบริษัท จึงไม่สามารถดำเนินการแจ้งความกับบริษัทได้ นอกจากจะมีหลักฐานการซื้อขายว่าสินค้าดังกล่าวมาจากบริษัทนั้นจริง          ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้แจ้งให้คุณพิมลทราบ ผู้ร้องไม่ติดใจ เพียงแต่อยากฝากเรื่องไว้ให้ช่วยเผยแพร่เพื่อให้ผู้บริโภคท่านอื่นได้ระมัดระวัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 จำหน่ายอาหารบรรจุเสร็จต้องมีเลข อย.ด้วย

        เดี๋ยวนี้การทำอาหารค่อนข้างง่ายและสะดวกมากขึ้น เพราะว่ามีตัวช่วยในการปรุงอาหาร จำพวกซอสปรุงรสแบบสำเร็จต่างๆ พ่อครัวแม่ครัวมือใหม่ไม่ต้องยุ่งยาก แค่เติมซอสแบบสำเร็จก็สามารถ ต้ม ผัด แกง ทอด ได้อาหารมารับประทานแบบอร่อยกันเลย         คุณภูผา เล่นอินสตาแกรม (Instagram) ไปเจออินสตาแกรมของเชฟคนหนึ่ง โพสรูปขายซอสปรุงรสชนิดหนึ่ง โฆษณาว่า “ทำอะไรก็อร่อย” ราคา 49 บาท คุณภูผาเห็นเชฟบอกว่าทำ ต้ม ผัด แกง ทอด ก็ได้ และเชฟก็ทำอาหารจากซอสออกมาหน้าตาน่ารับประทานมาก จึงอยากทำบ้าง เชฟขายซอส 1 ขวด ราคา 49 บาท แต่ถ้าสั่งราคาส่ง ขวดละ 30 บาท คุณภูผาเลยสั่งมา 12 ขวด ด้วยความอยากได้ของถูก         เวลาผ่านไปคุณภูผาก็ได้ซอสปรุงรสมาไว้ในครอบครอง แต่เรื่องมาเกิดตรงที่แฟนของคุณภูผามาเจอซอสดังกล่าว เธอหยิบซอสขึ้นมาดู พบว่า บนขวดมีแต่ชื่อยี่ห้อเท่านั้น ไม่มีเลขทะเบียนสารบบอาหาร ไม่มีฉลากโภชนาการ ไม่มีวันที่ผลิตและหมดอายุ ไม่มีอะไรเลย จึงบ่นคุณภูผาว่า ซื้อมาได้อย่างไร ฉลากสักอย่างก็ไม่มี ใส่อะไรบ้างก็ไม่รู้ จะปลอดภัยหรือเปล่าก็ไม่รู้ คุณภูผาก็ต้องรับคำบ่นนั้นไป เพราะว่ามันเป็นจริงตามที่แฟนบ่น และเพื่อความสบายใจของแฟนเลยสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนะนำผู้ร้องว่า การผลิตซอสปรุงรสมีการควบคุมตามกฎหมายต้องแสดงฉลากโภชนาการให้ผู้บริโภครู้ถึงรายละเอียดวัตถุดิบในการผลิต ที่สำคัญผู้บริโภคต้องทราบวันที่ผลิตและวันหมดอายุ ดังนั้นการที่เชฟคนดังผลิตและจำหน่ายซอสปรุงรสที่ไม่มีฉลากและข้อความบนฉลากที่ถูกต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 6 (10)  และมาตรา 51 มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท         อย่างไรก็ตาม ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ผลิตแล้ว         ต่อมาได้รับแจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า มีการผลิตและจำหน่ายซอสปรุงรสชนิดนี้จริง ซึ่งผู้ผลิตแจ้งว่า ส่วนใหญ่ใช้ทำอาหารให้ลูกค้าในร้านรับประทาน และได้วางจำหน่ายหน้าร้านและขายทางเฟซบุ๊กด้วย เมื่อตรวจสอบการแสดงฉลากก็พบการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง เช่น ไม่แสดงเลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ปริมาตรสุทธิ ส่วนประกอบที่สำคัญเป็นร้อยละของน้ำหนักโดยประมาณเรียงตามลำดับปริมาณจากมากไปหาน้อย วัน เดือน และปีโดยมีข้อความว่า “ควรบริโภคก่อน” หรือ “หมดอายุ” กำกับไว้ด้วย สำนักงานอาหารและยา ได้สั่งปรับผู้ผลิต เนื่องจากการกระทำดังกล่าวของผู้ผลิตเป็นการจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้องเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2562

ไทยออกกฎหมายบังคับใช้ 'ซองบุหรี่แบบเรียบ' ชาติแรกในเอเชียตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับหีบห่อผลิตภัณฑ์ยาสูบ และผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต พ.ศ. 2561 หรือ ประกาศซองบุหรี่แบบเรียบ ภายใต้ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 ก.ย.62ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิควบคุมยาสูบ และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่ 11 ของโลกที่ออกมาตรการนี้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้ปฏิบัติเพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่ประกาศใช้กฎหมายนี้ตั้งแต่ปี 2555 ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของชาวออสซี่ลดลง 0.2% ต่อปี ซึ่งหากมาตรการซองบุหรี่แบบเรียบส่งผลในประเทศไทยเช่นเดียวกับออสเตรเลีย คาดว่าจะสามารถลดคนสูบบุหรี่ในประเทศได้ถึง 111,794 คนต่อปี จากคนสูบบุหรี่ซอง 5.9 ล้านคน 222 องค์กรผู้บริโภค ค้าน กม.จัดตั้งสภาผู้บริโภค ฉบับกฤษฎีกา 9 ม.ค.62 ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 222 องค์กร ยื่นหนังสือต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียกร้องให้ยุติการพิจารณากฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. .... โดยให้เหตุผลว่าร่างกฎหมายดังกล่าวอาจทำให้เกิดองค์กรที่ไม่มีความเป็นเอกภาพ และอาจถูกแทรกแซงได้ง่าย ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการจัดทำ โดยเสนอให้ใช้ ร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งเป็นฉบับที่ร่างโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งในการพิจารณาร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ต้องมีสัดส่วนของภาคประชาชนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของคณะกรรมการพิจารณากฎหมายศาลสตูลสั่ง “เพิร์ลลี่” จ่ายค่าเสียหายกว่า 10 ล้านบาทจากกรณีผู้เสียหายเนื่องจากการใช้โลชั่นทาผิว ยี่ห้อ เพิร์ลลี่ แล้วเกิดอาการผิวหนังแตกลาย ทำให้นำไปสู่การตรวจสอบและดำเนินคดีแบบกลุ่มกับบริษัทผู้ผลิตนั้น เมื่อ 27 ธ.ค.61 ศาลจังหวัดสตูลได้พิพากษาให้จำเลยคือ ผู้ผลิตโลชั่นทาผิว ‘เพิร์ลลี่’ จ่ายค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์และสมาชิกกลุ่ม รวมเป็นค่าเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท และอาจมากขึ้นหากมีผู้เสียหายเข้าชื่อเพิ่มเติม         นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งให้บริษัทระงับการจำหน่ายและออกประกาศรับคืนสินค้าที่มีปัญหาจากผู้บริโภค รวมทั้งเรียกเก็บสินค้าที่ยังไม่ได้จำหน่ายและทำลายทิ้ง โดยจำเลยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดอย. เสนอ รพ.จับมือ ร้านยา ช่วยจ่ายยาผู้ป่วยนอก ลดความแออัดเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวอภิปรายในงานเสวนาเรื่อง "แนวทางการส่งยาทางไปรษณีย์ในโรงพยาบาลรัฐที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร" จัดโดยแพทยสภา เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.61 ว่า อย.ตีความถึงการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยเพื่อลดความแออัดจากการรอรับยา ไม่จัดเป็นการ "ขายยา" ตาม พ.ร.บ.ยาฯ ซึ่งการดำเนินการจัดส่งทางไปรษณีย์ก็เป็นไปภายใต้ความรับผิดชอบของสถานพยาบาลนั้นๆ โดยก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับยานั้นจะต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ การประเมินจากทีมสหวิชาชีพ และเภสัชกรจะเป็นผู้ให้คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ยาอย่างละเอียด นอกจากนี้ อาจนำ "ร้านยา" เข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการ โดยใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วยตรวจสอบ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลารอรับยาจากห้องยา และยังคงได้รับการดูแลจากเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสมเช่นเดิม โดยการวางระบบจะพิจารณาถึงประเด็นของความถูกต้องสอดคล้องตามกฎหมาย ความถูกต้องของยา ประสิทธิภาพยาในส่วนกระบวนการจัดเก็บและขนส่ง รวมถึงความเหมาะสมของปริมาณยาที่อยู่ในมือผู้ป่วยผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเกิน ขอเงินคืนได้ภายใน 1 ปีเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า สำนักงานประกันสังคมได้ทำหนังสือถึงผู้ประกันตนเพื่อแจ้งให้ทราบถึงจำนวนเงินสมทบที่ชำระไว้เกิน ในปี 2561 จำนวน 60,409 ราย เพื่อแจ้งให้ผู้ประกันตนที่ต้องการรับเงินส่วนเกินคืนทราบ โดยขอให้ผู้ประกันตนกรอกข้อความและลงนามในคำขอรับเงินคืน พร้อมแนบหลักฐานรายละเอียดเงินสมทบส่วนที่เกิน สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง ส่งไปรษณีย์ถึงสำนักงานประกันสังคมทั้งนี้ หากผู้ประกันตนไม่ได้ยื่นคำขอภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่นำส่งเงินสมทบ เงินจำนวนดังกล่าวจะตกเป็นของกองทุนประกันสังคม จึงขอให้ผู้ประกันตนตรวจสอบและรักษาสิทธิของตนเอง โดยสอบถามที่สายด่วน 1506 ได้ตลอด 24 ชม.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 ตรวจเลข อย.

              ฉบับนี้ขอแนะนำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์และสินค้าด้วยการสังเกตสัญลักษณ์ อย. อย. คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่กำกับและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน โดยจะคุ้มครองดูแล 6 ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ อาหาร ยา เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย เครื่องมือแพทย์ และวัตถุเสพติดทางการแพทย์ผลิตภัณฑ์เหล่านี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องมีเครื่องหมาย อย. ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องมี อย. กำกับอยู่ และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่มีเครื่องหมาย อย. แต่ต้องมีเลขที่จดแจ้งหรือทะเบียนกำกับยาบนผลิตภัณฑ์การตรวจสอบเครื่องหมาย อย. หรือเลขที่จดแจ้งหรือทะเบียนกำกับยาบนผลิตภัณฑ์ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานและมีการตรวจสอบอยู่สม่ำเสมอ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ทำแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “อย. ตรวจเลข” โดยหน้าแรกของแอปพลิเคชันจะปรากฏช่องสำหรับพิมพ์หมายเลขค้นหา เพื่อตรวจสอบเลขผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือถ่ายรูปบริเวณสัญลักษณ์ อย. หรือใช้ระบบเสียงในการตรวจสอบหมายเลขได้ด้วย เมื่อใส่หมายเลขที่ต้องการตรวจสอบ ข้อมูลและรายละเอียดของผลิตภัณฑ์นั้นจะปรากฏขึ้น ได้แก่ สถานะปัจจุบันของผลิตภัณฑ์  ประเภทของผลิตภัณฑ์  เลขที่อนุญาต  ชื่อผลิตภัณฑ์  ชื่อผู้รับอนุญาต  สถานที่ผลิต  และที่อยู่สถานที่ผลิตภายในแอปพลิเคชันยังมีหมวดแจ้งเรื่องร้องเรียน กรณีที่ต้องการร้องเรียนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขนอกจากแอปพลิเคชัน “อย. ตรวจเลข” แล้ว ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบเลขผ่านหน้าเว็บไซต์ http://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx  หรือค้นหาด้วยคำว่า ตรวจสอบ อย. ซึ่งทั้งรูปแบบแอปพลิเคชันและหน้าเว็บไซต์ถือว่ามีประโยชน์กับผู้บริโภคมากถ้าอยากทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่มีมาตรฐานหรือผ่านการตรวจสอบหรือไม่ ลองเข้าไปตรวจสอบเลขผลิตภัณฑ์ได้เลยนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 ร่าง พ.ร.บ.ยา ที่ขัดหลักสากล

ในโอกาส 40 ปี แห่งการก่อตั้งกลุ่มศึกษาปัญหายา(กศย.) ฉลาดซื้อได้สัมภาษณ์ รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์  หรืออาจารย์จิ ประธานกลุ่มศึกษาปัญหายา(กศย.) คนที่ 3 และรองประธานมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม ซึ่งครั้งหนึ่งเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน เคยถูกเรียกว่า “อาจารย์นอกคอก” อาจารย์จิเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง กศย. กลุ่มงานเล็กๆ ที่ร่วมปฏิบัติการทางสังคมในประเด็นปัญหายามาอย่างยาวนาน  ถึงมุมมองของท่าน ต่อร่าง พ.ร.บ.ยา ว่า เรื่องนี้จะมีผลกระทบกับผู้บริโภคอย่างไรบ้าง   ปัญหาของร่าง พ.ร.บ. ยาขณะนี้คือ “ คือประเด็นของร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับนี้นั้น จริงๆ มันไม่ได้เพิ่งเกิด ก็มีความพยายามมานานมาก เพราะว่าเป็น พ.ร.บ. ที่เก่ามาก ตั้งแต่ปี 2510 จนกระทั่งมาปี 2557 ในปีนั้นได้มีการพูดคุยเวทีมากมายในการที่จะพยายามสรุปประเด็นที่ภาคส่วนต่างๆ นั้นยอมรับได้ระดับหนึ่งของ พ.ร.บ. ยา  ต้องเข้าใจว่า พ.ร.บ.ยา นั้นเป็นเหมือนเครื่องมือในการควบคุมดูแล ไม่ว่าจะผลิตยา ขายยา นำเข้า และการใช้งาน เพราะฉะนั้นตรงนั้น ผู้บริโภคเองก็มีส่วน ผู้ประกอบวิชาชีพสาขาต่างๆ ก็อาจจะเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ผู้ประกอบวิชาชีพหลักของการดูแลตาม พ.ร.บ.นี้นั้นก็คือวิชาชีพเภสัชกรรม พอหลังจากปี 57 ได้ข้อสรุปในส่วนที่เห็นพ้องต้องกันแล้วว่า มีผลดีต่อการที่จะทำให้ผู้บริโภคนั้นจะได้รับยาอย่างปลอดภัยและมีการใช้อย่างปลอดภัยก็คือ ในเรื่องการของ กระบวนการขึ้นทะเบียนยา เราก็บอกว่า อย่างน้อยๆ เรามีปัญหาในการเข้าถึง เพราะราคามันแพงมาก เพราะฉะนั้นน่าที่จะใช้กลไกในเรื่องของมีการควบคุมราคาตั้งแต่ตอนที่เขาจะมาขายในประเทศเรา ก็คือมาขึ้นทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการเสนอโครงสร้างราคา หรือในรูปของการที่ต้องต่อรองราคาให้มันเหมาะสม ว่าคุณจะเริ่มมาขายในประเทศนี้นั้น คุณจะขายในราคาเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นตรงนั้นก็จะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการเข้าถึง ส่วนในกลไกในเรื่องของ ความปลอดภัยและความมั่นคงทางยา นั้นก็คือว่า เราจะเห็นเลยว่า ถ้าในเรื่องของราคาที่เมื่อกี้พูดถึงนั้น ถ้าสมมติปัจจุบันนี้ยามันมีสิทธิบัตร เขาจะตั้งราคาแพงมาก เพราะว่ามันไม่มีตัวเปรียบเทียบ มีการผูกขาดเจ้าเดียว เราถึงเรียกร้องว่า ต้องมีโครงสร้างราคาหรือมีกลไกการต่อรองเพื่อให้มันเหมาะสม เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ และก็ต่อมานั้นเราจะเห็นชัดว่าถ้าอย่างนี้ เราต้องพึ่งยานำเข้าอยู่ตลอดนี่มันก็จะเป็นปัญหาความมั่นคงของระบบยาในประเทศ เพราะฉะนั้นการที่ต้องทำให้อุตสาหกรรมในประเทศนั้นพึงตนเองได้ และสามารถที่จะพัฒนาในเรื่องของอุตสาหกรรมยาได้เพื่อสามารถที่จะผลิตยาชื่อสามัญออกมาในเวลาที่เหมาะสมหลังจากยาหมดอายุสิทธิบัตร ถูกไหม เพราะฉะนั้นเขา(บริษัทยาในประเทศ) ต้องมีการเตรียมตัวไง เพราะว่าในการทำยาชื่อสามัญนั้นไม่ได้หมายความว่าพอหมดสิทธิบัตรปั๊บ รู้ว่าหมดปั๊บจะเอามาขายได้เลย เพราะมันต้องมีกระบวนการในการวิจัยพัฒนา มีกระบวนการในการมาขึ้นทะเบียนยา ถ้าเขารู้ข้อมูลว่า ยาแต่ละตัวที่มาขายในประเทศไทยนั้น มีสิทธิบัตรหรือเปล่า ในประเทศไทย สิทธิบัตรนั้นมันจะหมดอายุเมื่อไหร่ คือว่าเราต้องการที่จะให้มีการแจ้งบอกข้อมูลสถานะสิทธิบัตรของยา เพราะยาบางตัวอาจมีสิทธิบัตรหลายใบ สิทธิบัตรแต่ละใบมันมีเวลาไม่เท่ากันเวลาที่มันไม่เท่ากัน คือเวลาที่มันต่างกัน เพราะเวลาที่มาขอในช่วงต่างกัน แม้ว่าเป็น 20 ปีนับจากวันยื่นคำขอ นึกออกไหม แต่ถามว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลจำเป็นไหม ลองคิดดูสมมติว่าตามหลักการทั่วไปก็คือเวลาที่เขามาจดสิทธิบัตรที่กระทรวงพาณิชย์มันต้องมีข้อมูลฐานข้อมูลสิทธิบัตรในประเทศ แต่ข้อมูลฐานข้อมูลสิทธิบัตรในประเทศไทยนั้นมันบกพร่องมาก มันไม่สามารถที่จะค้นได้ มันไม่ได้สามารถหาได้ เพราะฉะนั้นมีหลายๆ ประเทศเลย เขามีกลไกที่ชัดเจนของกระบวนการในการขึ้นทะเบียนยาว่า คุณต้องให้ข้อมูลสิทธิบัตรนี้ ถ้าคุณให้ข้อมูลนี้มันก็เป็นโอกาสของอุตสาหกรรมด้วย เพราะอุตสาหกรรมนั้นเขาก็สามารถที่จะรู้ว่า มียาตัวนี้นะ มันจะหมดสิทธิบัตรในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องเริ่มวิจัยแล้ว พอวิจัยเสร็จเขาก็ต้องเริ่มกระบวนการที่จะไปขอขึ้นทะเบียนตำรับยา เพราะฉะนั้นพอยาหมดสิทธิบัตรปั๊บเขาก็ออกตลาดได้ในเวลาที่ไม่ช้า พอมียาชื่อสามัญออกราคามันก็ไม่ผูกขาดแล้ว มันก็มีการลดราคากัน และถ้ามีการแข่งขันกัน กลไกตลาดมันก็จะได้ทำงาน ในที่ประชุมตอนปี 57 นั้น เขาตกลงกันชัดเจนว่าต้องแจ้งข้อมูลสิทธิบัตร สิทธิบัตรต้องมีข้อมูลเรื่องโครงสร้างราคายา แต่ปรากฏว่าฉบับร่างปัจจุบัน ที่เขาเอามารับฟังความเห็นล่าสุดเลย ที่ขึ้นในเว็บไซต์ของ law moment ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐทั้งหลายที่จะเสนอกฎหมาย ปรากฏว่าเราไม่เห็นเรื่องโครงสร้างราคา เรื่องนี้ถูกเอาออก ทำไมถึงเอาออกไป ที่เคยตกลงตอนปี 57 พอมีเปลี่ยนรัฐบาล มันมีเรื่องการเมือง กฎหมายมันก็เลยยังไม่ได้นำเสนอข้อนั้น ข้อดีๆ ข้อหนึ่งที่ผู้บริโภคควรได้กลับไม่ได้เสียแล้ว มันหายไป ประเด็นที่สองก็คือว่า ตอนนั้นตกลงกันว่าอายุทะเบียนยานั้นจะเป็น 5 ปี เพราะว่าของเดิมนั้นมันไม่มีอายุ มันไม่มีอายุมันแย่มาก ถูกไหม เพราะว่ายาที่ไม่ดี ยาเก่า ยาที่มันมีผลข้างเคียงเยอะแยะมันก็ไม่ออกจากตลาดสักที การที่มันไม่ออกจากตลาดนั้นเป็นเพราะเราไม่มีกลไก หรือว่ากลไกเรานี้มันทำงานไม่ดี กลไกที่ว่ามันคือ กลไกการทบทวนตำรับยากับในเรื่องของอายุทะเบียน คือสองอันนี้เชื่อมโยงกัน คือถ้ามันมีอายุทะเบียนตำรับยามันก็จะทำให้เกิดการทบทวนทะเบียนตำรับ และถ้าเขียนให้ชัดว่าต้องมีกระบวนการในการทบทวนทะเบียนตำรับ มันก็เป็นการบังคับให้การมีอายุหรือใกล้หมดอายุนั้น ก่อนให้ใบอนุญาตใหม่ต้องทบทวน ไม่ใช่ให้โดยอัตโนมัติ เพราะว่าถ้าเราไม่มีกลไกการทบทวน พอถึงหมดอายุ 5 ปี มาเสียเงินต่อละ มันก็ต่อได้ เพราะฉะนั้นตรงนั้นไม่เห็น มันหายไป ไม่เห็นชัดเจน และที่เคยคุยกันแค่ 5 ปีพอ มาเป็น 7 ปี ขยายเป็น 7 ปี ซึ่งอาจจะอ้างว่า เป็นเพราะอาจทำให้เกิดภาระงานหรืออะไร ซึ่งอันนี้ก็ไม่ได้เป็นประเด็นที่เป็นหลัก 5 หรือ 7 ปี ก็ขอให้มีทบทวนก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย อันนี้คือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคที่ชัดเจน  ผลกระทบกับผู้บริโภคที่มีแน่ๆ คือเรื่องการโฆษณายาใช่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คิดว่ากระทบมากต่อผู้บริโภค คือ เราจะเห็นว่าตอนนี้ ผู้บริโภคถูกหลอกจากการโฆษณาการส่งเสริมการขายยานี่เยอะมาก แม้ว่ายาเองจะบอกว่า ยาเองมันมีประเภทของมัน ถ้าเป็นยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษจะโฆษณาไม่ได้ แต่เราก็เห็นเขาทำกัน มีทั้งการเลี่ยง การส่งเสริมการขายด้วยวิธีการต่างๆ ปรากฏว่าในร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ก็เขียนว่าต่อไปการโฆษณา ซึ่งเดิม ต้องยอมรับว่าของเดิมมันดีอยู่แล้ว ที่ว่าการโฆษณานั้นต้องมาขออนุญาต กฎหมายใหม่เขาก็เปิดช่องว่า ขออนุญาตก็ได้หรือจดแจ้งก็ได้ จดแจ้งหมายถึงว่าไม่ต้องขออนุญาต คุณเพียงบอกว่า คุณจะโฆษณาข้อความแบบนี้แล้วคุณก็ไปโฆษณาได้เลย แล้วเขาค่อยไปตามหาจับ ถ้าสมมติว่าผิด กว่าจะจัดการปัญหาการโฆษณาได้ โอ้ย..ชาวบ้านติดไปตั้งเยอะแล้ว มันฝังในความคิดผู้บริโภคไปแล้ว เพราะฉะนั้นมันไม่มีประโยชน์ มันทำให้กระบวนการที่ดูแลตรงนี้มันลดลง เพราะฉะนั้นนี่คือหัวใจหลักๆ เลย 3-4 ข้อที่มันมีผลต่อผู้บริโภคมาก อย่างอื่นๆ นั้น ก็คือในเรื่องของหลักการทั่วไป ในเรื่องของยานั้น ยามันไม่ใช่สินค้าทั่วไป ยานั้นมันเกิดจากการที่หมอต้องสั่งจ่ายยาให้เรา แต่ว่าถ้าเราไม่มีกลไกในการถ่วงดุล หมออาจจะสั่งยาที่อาจจะมีผลเนื่องมาจากการส่งเสริมการขาย อาจจะมีผลเนื่องมาจากอะไรไม่รู้ ก็สั่งยาโดยที่ว่ามันอาจจะมีปัญหา ไม่ว่าเรื่องของราคาแพง หรือมันอาจจะเกิดปัญหาในเรื่องของยาตีกัน หรือปัญหาที่คนไข้อาจจะแพ้แล้วไม่ได้บอกหรืออะไรก็ตามเหล่านี้ เพราะฉะนั้นโดยหลักสากลเลยเขาถึงมีวิชาชีพเภสัชกรรมขึ้นมา มีเภสัชที่คอยดูแลเพราะมันคือการทำงานในการถ่วงดุลกัน คนหนึ่งเขียนใบสั่ง อีกคนหนึ่งนั้นเมื่อรับใบสั่งมาก็เป็นคนจ่ายจัดยารับผิดชอบในเรื่องยา เพราะฉะนั้น คนจ่ายก็ต้องดูว่าคนไข้เคยได้รับยาอะไรมาแล้วบ้าง ถ้าได้ยานี้นั้นจะมีปัญหายาตีกันไหม หรือมีปัญหากับอาหารการกินจะได้แนะนำคนไข้ได้ ถูกไหมคะ เพราะหมอเขามีความชำนาญในของเรื่องการวินิจฉัยการรักษา เภสัชนั้นชำนาญในเรื่องของยา และเราจะเห็นเลยว่าเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันเร็วมาก ยาก็ออกมาใหม่ๆ เร็วมาก เพราะฉะนั้นแค่ตามเรื่องยาก็จะไม่ทันเทคโนโลยีแล้ว ให้หมอตามทำทุกอย่างเบ็ดเสร็จในตัวเองนั้นมันก็จะมีปัญหาได้ เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.ยาในทุกประเทศนั้น เขาก็จะมีหลักการที่ชัดเจนของการแยกอำนาจในการดูแลว่าคนที่สั่งนั้นก็จะไม่จ่าย นึกออกไหม คนที่สั่งจะไม่จ่าย มันชัดเจน ประเด็นของร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้ หลักการเรื่องถ่วงดุลนี้ไม่เห็น ไม่เห็นเพราะอะไร เพราะเขาแบ่งยาเป็น 4 ประเภท ประเภทแรกนั้นก็คือยาควบคุมพิเศษ คือยาควบคุมใบสั่ง เป็นยาที่มันอาจจะมีผลอย่างที่เมื่อกี้อาจารย์เล่า ยาตีกันบ้าง ยาที่มันอาจจะเพิ่งใช้ใหม่ๆ มันยังไม่มีข้อมูลมากพอ มันจำเป็นต้องควบคุมการใช้อย่างเคร่งครัด อันนี้ก็คือยาที่หมอสั่งแล้วก็ให้เภสัชนั้นจ่ายตามใบสั่งยา ประเภทที่สองคือยาอันตราย ยาอันตรายนั้น คือยาที่มันไม่ได้อันตรายเท่ายาควบคุมพิเศษ เป็นยาที่ใช้มานานพอควรระดับหนึ่ง มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ให้เภสัชจ่ายได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งแพทย์ กับประเภทที่สามคือ ยาสามัญ เป็นยาทั่วไปที่มันใช้มานานค่อนข้างปลอดภัยแล้ว ชาวบ้านก็ซื้อใช้เองได้ รู้พอควร และก็มีขนาดของรูปแบบของยาที่ชัดเจน เช่น พาราเซตามอลก็เป็นแพ็คแค่ 10 เม็ด ไม่ใช่ให้ขายทั้งขวด ถ้าทั้งขวดก็ต้องเป็นยาอันตราย ถูกไหมคะ เพราะไม่งั้นคนไข้ก็เอาไปกรอกทีละ 50 เม็ด มันก็เป็นอันตราย คือยาทุกตัวก็เป็นยาอันตราย แต่ว่ารูปแบบของการที่จะทำให้เป็นยาสามัญที่คนไข้เข้าถึงได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งบุคลากรสาธารณสุขนั้น มันมีวิธีการจัดการได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของแพ็คจะเป็นยังไง(เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เกินขนาด) หรือว่าคำแนะนำเหล่านี้มันก็จะประกอบอยู่ในกลุ่มของยาสามัญ แต่ใน ร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับนี้มียาประเภทที่สี่ คือ ยาที่ไม่ใช่ยาควบคุมพิเศษ ไม่ใช่ยาอันตราย แต่ไม่รู้ยาอะไร ซึ่งประเภทนี้ไปเปิดให้บุคลากรอื่นๆ สามารถจ่ายยาได้ แปลว่าอะไร จะให้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เยอะอีกหนึ่งกลุ่ม เพื่อให้บุคลากรอีกเยอะแยะเลย ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการแพทย์อีกตั้งหลายสาขาเยอะแยะ พยาบาลก็มีเยอะแยะในการจ่าย ซึ่งมันก็จะไม่ถูกมันไม่ได้ใช้หลักการของการที่จะดูแลความปลอดภัยของผู้ใช้ยาให้มีการถ่วงดุลของอำนาจในการที่จะทำให้ผู้บริโภคปลอดภัย ไม่มี เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมกลุ่มเภสัชทั้งหลายรวมทั้งสถาบันการศึกษาทั้งหลายถึงจะออกมาคัดค้าน แล้วถ้าจำเป็น คือหลายคนก็บอกว่าบ้านเรานี่แบ่งให้มันชัดแบบนี้ หมอนี่จ่ายยานั้นไม่ได้ จะไปหาเภสัชอยู่ในคลินิกได้ทุกคลินิกหรือเปล่า จะอะไรหรือเปล่า อันนี้มันเป็นข้อยกเว้นว่า โอเค สถานการณ์ในบางสถานการณ์นั้นในบริบทของยาบางประเภท ถ้ายังไม่พร้อมคุณก็มาเขียนระบุไปสิว่าให้มีการยกเว้น แต่หลักนี้มันต้องยึดหลักไว้ก่อนแล้วมายกเว้น การยกเว้นต้องมีเงื่อนไข นึกออกไหม ยกเว้นให้หมอจ่ายยานั้น หรือให้จ่ายยาได้ในกรณี... ไม่ใช่เฉพาะสั่งเท่านั้น เช่น จ่ายยาได้ในกรณีที่ถ้าพื้นที่นั้นไม่มีร้านขายในอาณาเขตสักกี่กิโลก็ว่าไป อะไรก็ว่าไป มันก็จะเป็นข้อยกเว้น ถ้าสมมุติเงื่อนไขนั้นมันหมดไปมันเข้าสู่ระบบ โอเค มันก็มีใบสั่งไปที่ร้านยา ไม่งั้นใบสั่งมันก็ไม่ไป ฉะนั้นต้องมีใบสั่ง ต้องให้เภสัชอยู่ประจำ แล้วคุณไม่มีใบสั่งไป คือไม่รู้ว่าอะไรแก้ปัญหาอะไร เพราะว่าหลักของมันไม่ชัดเจนเท่านั้นแหละ อันนี้คือประเด็น  ดูเหมือนมีปัญหาพัวพันกันไปเรื่อยๆ ใช่ มันก็พัวพันกันไปเรื่อยๆ เพราะมันไม่มีใบสั่งยา ยาขายง่าย ใช้คล่อง ก็อย่างนี้แหละ เพราะว่ามันไม่ยึดหลักไง ถ้ายึดหลักแล้วค่อยๆ แก้ปัญหาของการขาดแคลน พอแก้ปัญหา โอเค พื้นที่นี้ไม่มีร้านยาเพราะมันอยู่ไกลกันมาก ร้านยายังไม่ไปเปิดหรอก โอเคก็เป็นข้อยกเว้นไป ในคลินิกเอกชนคุณจะไม่มีเภสัชไปอยู่ หรือจ่ายโดยหมอคนเดียวก็โอเครับสภาพไป แต่ถ้ามันมีร้านยาคุณจะมาขายเองสั่งเองอย่างนี้ทำไม แล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปชาร์ตค่ายาแพงมากขึ้นไปอีกไหม เหมือนโรงพยาบาลเอกชนทั้งหลาย มันไม่รู้เลยว่าเป็นค่ารักษาหรือค่ายา  จากการทักท้วงของหลายฝ่าย ล่าสุดคือพอมีเสียงค้านออกมาเยอะ อย. ซึ่งเป็นผู้ที่รับผิดชอบในกฎหมายนี้เขาก็นัดประชุม นัดประชุมในเรื่องของวิชาชีพเภสัช และก็กับคณะเภสัชศาสตร์ต่างๆ  และก็ผู้คัดค้านทั้งหลาย สรุปว่าจะมีการแก้ในประเด็นว่ากลุ่มยาเขาจะเหลือแค่ 3 กลุ่ม คือ ยาควบคุมพิเศษ ยาอันตรายและยาสามัญ            ก็เป็นข้อที่ดีขึ้น แต่ยังไม่รับปากเรื่องโครงสร้างราคา ไม่พูดถึงเรื่องการแก้โครงสร้างราคา เรื่องของการโฆษณาเอาจดแจ้งออก ทาง อย. ยอมแก้ ประเด็นที่สองอันนั้นยอมแก้ เรื่องของข้อยกเว้น ก็ไม่ใช่เป็นข้อยกเว้น เป็นสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมายเลย แล้วไม่มีเงื่อนไขว่าจะเมื่อไหร่ นึกออกไหมว่าจะให้หมอ ให้ทันตแพทย์ สัตวแพทย์  ที่สามารถจ่ายยาได้โดยที่ไม่มีเงื่อนไขเลย พวกนี้จ่ายยาได้โดยไม่มีข้อบังคับอะไร แต่เรื่องที่จะเปิดให้วิชาชีพอื่นๆ นี้จ่ายยาได้นั้นถูกตัดออก เพราะยาประเภทสี่มันถูกตัดออกไปแล้ว  สามหรือสี่จำไม่ได้ มี แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ 3 แพทย์ เป็นข้อยกเว้นได้ แต่ว่าพยาบาลไม่ได้ แต่ว่ามันไม่มีเงื่อนไข ถ้าสมมุติเรายึดหลักถ่วงดุลมันต้องมีเงื่อนไขว่าจ่ายได้กรณีไหนได้บ้าง นี่มันจ่ายได้ตลอดในคลินิกของตัวเอง เพราะฉะนั้นมันก็ยากที่จะแก้ปัญหา  คนทั่วไปเขาจะมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง เรากังวลก็คือเมื่อเกิดความไม่รอบคอบในกระบวนการทำกฎหมาย มันก็จะเป็นกฎหมายไม่ดีออกมา แม้ว่ามันจะมีข้อดีกว่าฉบับที่แล้ว แต่ว่ามันก็ยังไม่ได้แก้ในหลักการใหญ่ๆ หรือว่ามันก็ไม่ได้รองรับสถานการณ์ปัจจุบันที่เรามีการขายยาออนไลน์ มันจะมีกติกายังไงในการที่จะไม่ให้มีการขายออนไลน์หรือให้ขายออนไลน์แล้วผู้บริโภคปลอดภัย ถูกไหม มันไม่มีเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคเองก็ต้องตาม และพยายามที่จะรักษาสิทธิของตัวเองในการที่จะรัฐเองต้องให้ความคุ้มครองปลอดภัยของเขา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2561แกร็บเตือนภัยอาชญากรแอบอ้างให้บริการ แนะเรียกใช้ผ่านแอปพลิเคชัน        จากเหตุการณ์บุคคลมีประวัติอาชญากรรม หลบหนีหมายจับคดีข่มขืน แอบอ้างเป็นคนขับแกร็บคาร์ ก่อเหตุล่อลวงผู้โดยสาร เมื่อ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยใช้วิธีนัดแนะเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายผ่านมือถือ โดยไม่ติดต่อผ่านแอปพลิเคชันของแกร็บคาร์ ทำให้ไม่สามารถติดตามสถานะการเดินทางหรือขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากแอปฯ ได้       บริษัท เเกร็บ ประเทศไทย ได้ออกมาย้ำถึงมาตรการความปลอดภัย ขอให้ผู้โดยสารทุกท่านเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการติดต่อกับผู้ขับขี่ หรือตกลงการเดินทางโดยไม่ผ่านแอปพลิเคชัน ก่อนขึ้นรถควรตรวจสอบใบหน้าคนขับและทะเบียนรถว่าตรงกับระบบหรือไม่ และเมื่อขึ้นโดยสารรถแล้วให้กดใช้ฟีเจอร์ Share My Ride เพื่อส่งแชร์ข้อมูลการเดินทางเป็นลิงก์ข้อความไปยังคนที่ห่วงใย ก็จะสามารถติดตามตำแหน่งรถโดยสารแบบเรียลไทม์เพื่อดูได้ว่าถึงไหนแล้ว หรือหากรู้สึกว่ามีสถานการณ์ไม่ปลอดภัยก็สามารถกดใช้ปุ่มฉุกเฉินบนแอปพลิเคชันได้ทันทีกรมสุขภาพจิต เผยคนไทยคิดสั้นชม.ละ 6 คน        นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า แต่ละปีมีผู้พยายามทำร้ายตัวเองเพื่อฆ่าตัวตายประมาณ 53,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน โดยในปี 2559 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จจำนวน 4,131 คน เป็นชายมากกว่าผู้หญิง 4 เท่าตัว อายุต่ำสุด 10 ปี สูงสุด 100 ปี ส่วนใหญ่เป็นโสด ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 400 ล้านบาท        สาเหตุที่มักพบมาจาก 5 เรื่อง คือ ความสัมพันธ์บุคคล สุรา ยาเสพติด สังคม และเศรษฐกิจ ในผู้ชายมักมีปัจจัยความเสี่ยงจากปัญหาโรคทางจิต ดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะการดื่มสุรามากขึ้นจะมีโอกาสลงมือทำร้ายตัวเองมากกว่าผู้หญิงที่มีปัญหาถึง 2 เท่า ส่วนในผู้หญิงมักมีสาเหตุมาจากความสัมพันธ์ได้แก่ น้อยใจ ถูกตำหนิดุด่า ผิดหวังความรัก        ด้าน นพ. ณัฐกร จำปาทอง ผอ.โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิตกล่าวว่า การพยายามฆ่าตัวตาย เป็นตัวบ่งชี้ว่าบุคคลนั้นไม่สามารถหาทางออกได้ในสถานการณ์ที่กดดันทางอารมณ์อย่างรุนแรง   จำเป็นต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือ   จึงขอให้ญาติหรือผู้ที่ดูแลผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายแล้วแต่ไม่สำเร็จ ซึ่งมีปีละกว่า 48,000 คน ไม่ว่าจะรู้สึกโกรธหรือผิดหวังในตัวผู้กระทำแค่ไหนก็ตาม ควรให้อภัย หลีกเลี่ยงการตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง  ขอให้เข้าไปพูดคุยซักถามถึงความคิดฆ่าตัวตาย ด้วยท่าทีที่อ่อนโยน จริงใจ จะช่วยผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายคลายความกังวล รู้สึกผ่อนคลายและเข้าใจตัวเองดีขึ้น จะเป็นการป้องกันการฆ่าตัวตายซ้ำได้ จากการศึกษาของกรมสุขภาพจิตพบว่าจะสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายได้มากถึงปีละ 400 คนร้องศาลปกครองเพิกถอนประกาศ อย. เรื่องถ่ายโอนภารกิจตรวจสินค้าเกษตรนำเข้าให้ ก.เกษตรฯ เกรงไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค        10 ก.ย. 61 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมกันฟ้องคดีต่อศาลปกครอง กรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศ เรื่อง การถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบการนำเข้าสินค้าอาหาร ซึ่งเห็นว่า ขั้นตอนการออกประกาศดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยปราศจากอำนาจและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคโดยรวม โดยการฟ้องคดี ได้ร้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนประกาศฯ และสั่งให้ยุติการถ่ายโอนภารกิจดังกล่าว        นางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า "หลังจากที่มีการออกประกาศฉบับดังกล่าว ไทยมีการนำเข้าปลาตาเดียว(ฮิราเมะ) จากจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสถานที่ ที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทำเพียงการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่มีการเก็บตัวอย่างปลาไว้ตรวจสอบในห้องปฏิบัติการแต่อย่างใด และปัดให้ อย.ไปตรวจสอบหากมีปัญหา เมื่อสินค้าออกสู่ตลาดแล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ขั้นตอนการตรวจสอบและการคุ้มครองผู้บริโภคถูกลดทอนอย่างชัดเจนเมื่อมีการถ่ายโอนภารกิจ"        นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหารฯ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน กล่าวว่า "หากสินค้านำเข้าที่ไม่ปลอดภัยแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ปัญหา การถ่ายโอนภารกิจรังแต่จะสร้างความสับสนในการทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง สุดท้ายผลกระทบก็จะมาตกอยู่กับประชาชน"บทบาทองค์กรผู้บริโภคกับรถโดยสารสาธารณะ        มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ วันที่ 6-7 ก.ย. 61 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จัดเวทีสมัชชา ในหัวข้อ "บทบาทองค์กรผู้บริโภคกับรถโดยสารสาธารณะ" เพื่อเสนอประเด็นการขับเคลื่อนงานและมาตรการความสำคัญในการจัดการระบบรถโดยสารสาธารณะและรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย         การบรรยายพิเศษ เรื่อง "อนาคตองค์กรผู้บริโภคกับงานด้านรถโดยสารปลอดภัย" และเวทีแลกเปลี่ยนในหัวข้อ "ความคาดหวังรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย ปี 2562นำเสนอสถิติอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะ และรถรับส่งนักเรียน โดยชี้ให้เห็นถึงสาเหตุ และวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและแนวทางการแก้ไข และยังมีการจัดสภาผู้บริโภค "เรื่องมาตรการสำคัญในการจัดการรถรับส่งนักเรียน" พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง "อนาคตงานรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย" ซึ่งมีข้อเสนอว่า ควรมีการกำหนดมาตรฐานรถรับส่งนักเรียน โดยให้โรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้อนถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องการเดินทางของนักเรียน โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างมาตรฐานเกี่ยวกับตัวรถให้มีความปลอดภัยและสอดคล้องกับสภาพสังคม จากนั้นเน้นเรื่องการเข้าถึงสภาพปัญหาจริงของแต่ละพื้นที่สปสช.หนุนมติ สธ.ห้ามใช้ 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ข้อมูลระบบบัตรทอง 3 ปี พบผู้เสียชีวิต 1,715 ราย        เว็บไซต์ศูนย์ข่าว สปสช. รายงานว่า เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ทั้งผู้ที่สัมผัสกับสารพิษทางตรงและทางอ้อมจากภาวะสารตกค้างตามธรรมชาตินั้น        จากข้อมูลการเข้ารับบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ได้มีรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในปี 2560 มีผู้ป่วยจำนวน 4,983 ราย เสียชีวิตจำนวน 582 ราย มีการเบิกจ่ายค่ารักษาจำนวน 22,651,053 บาท นอกจากนี้ เมื่อดูการเข้ารับบริการของผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยแยกข้อมูลตามเขตบริการสุขภาพ 13 เขต พบว่า ปี 2561 เขต 1 เชียงใหม่ มีรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับบริการโดยมีสาเหตุจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุด จำนวน 644 ราย รองลงมา คือ นครราชสีมา 454 ราย, ราชบุรี 433 ราย, พิษณุโลก 426 ราย และนครสวรรค์ 422 ราย        จากรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนี้ เป็นเพียงข้อมูลเฉพาะในส่วนผู้ป่วยที่มีการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยตรง เฉลี่ยพบผู้ป่วยประมาณ 5,000 รายต่อปี ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่ที่ราว 22 ล้านบาทต่อปี โดยยังมีข้อมูลที่น่าตระหนก เนื่องจากมีผู้ป่วยจากสารกำจัดศัตรูพืชที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตขณะรักษาตัวในโรงพยาบาลช่วงปี 2559-2561 มีจำนวนสูงถึง 1,715 ราย หรือเฉลี่ยปีละเกือบ 600 ราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 เหตุใดมีเลข อย.จึงยังอันตราย

ช่วงนี้เกิดคำถามสำคัญขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแล กฎหมายอาหาร ยา เครื่องสำอาง ว่าเหตุใด สินค้ามี อย.ถึงยังเป็นอันตรายสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ประชาชนมีความสับสนในส่วนของเครื่องหมายที่ สำนักงาน อย. นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์สุขภาพแต่ละประเภท รวมกับความเข้าใจผิดของคนกลุ่มใหญ่ว่า “เครื่องหมาย อย.” มีค่าเท่ากับ “ปลอดภัย” (ซึ่งการสื่อสารผิดพลาดนี้ต้องวิเคราะห์กันต่อไปว่ามาได้อย่างไร) เพราะความจริงคือ เครื่องหมาย อย. นั้น  ไม่ได้รับรองว่า สินค้าปลอดภัย เครื่องหมายนี้มีความสำคัญเพียงแค่ให้รู้ว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นมีที่มาที่ไปจากผู้ผลิตไหน หากมีปัญหาในภายหลัง สำนักงาน อย.สามารถติดตามไปจัดการได้  ความจริงคือ เครื่องหมาย อย. นั้น  ไม่ได้รับรองว่า สินค้าปลอดภัย เครื่องหมายนี้มีความสำคัญเพียงแค่ให้รู้ว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นมีที่มาที่ไปจากผู้ผลิตไหน หากมีปัญหาในภายหลัง สำนักงาน อย.สามารถติดตามไปจัดการได้  และในเรื่องของความสับสนจากเครื่องหมายที่ถูกนำมาใช้ ก็มีที่มาจากความไม่เข้าใจในสาระที่ถูกต้องของเครื่องหมายแต่ละประเภท ได้แก่   เครื่องหมาย อย. จะใช้กับอาหารเท่านั้น เรียกว่า “เลขสารบบอาหาร” ซึ่ง เลขสารบบอาหาร จะเป็นตัวเลข 13 หลัก แสดงอยู่ภายในกรอบเครื่องหมาย อย. หากเป็น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จะไม่มี เลข อย. แต่ฉลากต้องแสดง“เลขที่ใบรับแจ้ง” (เลขจดแจ้ง)โดยกำหนดให้เป็นเลข 10 หลัก เช่น 10-1-61xxxxx เป็นต้นขณะที่ ยา จะแสดงเลขทะเบียนตำรับยา โดยลักษณะของกลุ่มตัวเลขแรกคือ ประเภทของทะเบียนตำรับยาจะเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ แล้วตามด้วยเลขทะเบียนตำรับยา(ของแต่ละตำรับยา) /ปี พ.ศ. เช่น ทะเบียนยาเลขที่ 1A 324/50 เป็นต้น ช่องโหว่จากความที่ผู้บริโภคทั่วไปไม่เข้าใจเรื่องนี้ ได้กลายเป็นจุดขายให้แม่ค้าพ่อค้าสินค้าสุขภาพลวงโลก เอาไปยำข้อมูลจนผู้บริโภคสับสน เช่น เอาเครื่องหมาย อย.ไปใส่ในฉลากเครื่องสำอาง  เอาเครื่องหมาย อย.ไปใช้ในตัวสินค้าที่เป็นแค่อาหาร แต่อ้างสรรพคุณในทางรักษา หรือไม่ก็ข้างในผลิตภัณฑ์เป็นยา แต่ระบุฉลากด้วยเครื่องหมาย อย.  และโฆษณาว่า “ผลิตภัณฑ์เรามี อย. ผลิตภัณฑ์เราปลอดภัย” จนกลายเป็นที่มาของคำถามว่า ทำไมมี อย.แล้วยังไม่ปลอดภัย ปรับความรู้กันใหม่ สู้ภัยสินค้าสุขภาพผิดกฎหมาย 1.เข้าใจให้ถูกต้องเรื่องเครื่องหมาย เลขสารบบอาหาร ใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารเท่านั้น และห้ามฉลากหรือโฆษณาบอกว่า รักษาหรือบำบัดโรค ส่วนฉลากเครื่องสำอาง ต้องไม่มีเลข อย. แต่มีเลขจดแจ้ง ระบุไว้ ซึ่งเครื่องหมายเหล่านี้สามารถนำไปตรวจสอบได้ว่า เป็นเครื่องหมายจริงหรือปลอม  2.ผลิตภัณฑ์ต้องมีการระบุ ชื่อ ที่อยู่ ผู้ผลิตที่ชัดเจน จะได้ตรวจสอบได้ หาคนรับผิดชอบได้ หากเกิดปัญหา  3.เลิกเชื่อโฆษณาอวดอ้าง ผลลัพธ์มหัศจรรย์ทั้งหลาย  เพราะมันไม่เป็นจริง  4.หากใช้แล้วมีความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย ต้องหยุดใช้ทันที คำอ้างที่ว่า ขับพิษหรือรออีกสักพักจะดีขึ้น มันคือคำลวง  5.ติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนภัยสินค้า เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อสินค้าผิดกฎหมาย  6.เจอผลิตภัณฑ์เข้าข่ายผิดกฎหมาย แจ้งสายด่วน อย. 1556 อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th หรือต่างจังหวัดที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือแจ้งตำรวจ ปคบ. สายด่วน 1135 -----------------------------------สามารถติดตามการแจ้งเตือนภัยสินค้าได้ที่www.tumdee.org  ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์5 แพลตฟอร์มของ อย. facebook.com/fdathai twitter.com/fdathai Instagram.com/fdathai YouTube.com/fdathai Line@fdathai

อ่านเพิ่มเติม >