ฉบับที่ 161 อยากท้อง อ่านตรงนี้

เมื่อวันที่ 29 เมษายน ปีนี้ www.environmentalhealthnews.org ได้ตีพิมพ์บทความหนึ่งชื่อ “Miscarriage risk rises with BPA exposure, study finds” ซึ่งเราควรสนใจบ้างไม่มากก็น้อย เพราะในตอนสุดท้ายบทความได้สรุปว่า สตรีที่สัมผัสต่อบีพีเอ (bisphenol A หรือ BPA) ระดับสูงในช่วงเริ่มตั้งท้องจะมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรสูงขึ้นถึงร้อยละ 83 เมื่อเทียบกับผู้ไม่สัมผัส ข้อสรุปดังกล่าวได้จากการศึกษาที่คลินิกภาวะเจริญพันธุ์ของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้อาสาสมัคร 115 นางซึ่งท้องแล้วไม่เกิน 4 อาทิตย์ พบว่าอาสาสมัครที่ระดับบีพีเอในเลือดยิ่งสูงเท่าไรก็ยิ่งแท้งง่ายเท่านั้น รายงานการศึกษาใหม่นี้ได้เพิ่มหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ความเข้มข้นต่ำของสารเคมีที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในพลาสติกชนิดโพลีคาร์บอเนตและในกระป๋องบรรจุอาหาร ตลอดจนใบเสร็จรับเงินอย่างง่าย (แบบว่ารับได้จากสถานีเติมน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ) นั้นอาจมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ของมนุษย์ อาจารย์ในภาควิชาสูตินารีเวชศาสตร์แห่งมหาวิทยาสแตนฟอร์ดกลุ่มหนึ่ง (ณ เวลาที่ผู้เขียนกำลังเขียนต้นฉบับนี้) กำลังจะตีพิมพ์บทความเรื่อง Conjugated bisphenol A (BPA) in maternal serum in relation to miscarriage risk ในวารสารชื่อ Fertility and Sterility ซึ่งกล่าวประเด็นสำคัญหนึ่งว่า “คู่ผัวตัวเมียที่มีปัญหาในการมีลูกหรือผู้ที่แท้งใหม่ๆ ควรลดความเสี่ยงในการสัมผัสสารบีพีเอเพราะมันน่าจะเป็นสารที่มีผลลบต่อการพัฒนาของตัวอ่อนในท้องแม่”  อย่างไรก็ดี การศึกษาใหม่นี้ยังไม่ได้หมายความว่า บีพีเอก่อให้เกิดการแท้งลูก สิ่งที่ค้นพบนั้นอยู่บนฐานของการตรวจเลือดของหญิงแต่ละนางเพียง 1-2 ครั้งระหว่างท้อง และที่สำคัญคือ ยังต้องการอาสาสมัครอีกจำนวนมาก เมื่อมีการเผยแพร่ผลการศึกษานี้ก่อนการตีพิมพ์ในวารสารอย่างเป็นทางการ ก็มีสูตินารีแพทย์อีกท่านหนึ่งของศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ (University of Rochester’s Medical Center) ซึ่งไม่ได้มีส่วนได้เสียกับโครงการวิจัยดังกล่าวให้ข้อสังเกตต่องานวิจัยนี้ว่า แม้ว่าการแท้งนั้นเกิดในอาสาสมัครถึง 68 คนจาก 115 คน (ซึ่งเป็นอัตราเสี่ยงประมาณ 3 เท่าของสาวอเมริกันทั่วไป) ก็ตาม แต่อาสาสมัครของโครงการนั้นเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการแท้งสูงอยู่แล้ว เพราะมิเช่นนั้นคงไม่มาที่คลินิกภาวะเจริญพันธุ์ให้เสียเวลา ดังนั้นความสัมพันธ์ของสารนี้กับการแท้ง อาจไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ขยายไปถึงสาวๆ ทั่วไป  อย่างไรก็ดีแพทย์ท่านนี้ก็ได้กล่าวว่า งานวิจัยนี้เป็นการแสดงหลักฐานที่ชัดเจนอีกหนึ่งชิ้นที่กล่าวว่า สารเคมีในสิ่งแวดล้อมนั้นอาจเป็นปัญหาต่อการตั้งครรภ์ได้ มีข้อมูลเชิงสมมุติฐานที่ผู้เขียนขอเสนอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาคือ มีสารธรรมชาติชนิดหนึ่งชื่อ เจ็นนิสตีน (genistein) ซึ่งเป็นสารไฟโตเคมิคอลในถั่วเหลือง ที่มีศักยภาพคล้ายสารเอสโตรเจน จึงสามารถจับกับตัวรับเอสโตรเจน (estrogen receptor) ของเซลล์ต่อมน้ำนมและเซลล์มดลูกได้ แต่ออกฤทธิ์น้อยกว่าเอสโตรเจนมาก ซึ่งผลที่ตามมาคือ เอสโตรเจนที่มีมากเกินพอในสาวๆ บางคน ไม่สามารถออกฤทธิ์ก่อให้เกิดอาการคัดหน้าอกและปวดมดลูกตอนมีประจำเดือน ซึ่งเราถือว่าเป็นผลดีของเจ็นนิสตีน ที่น่าสนใจคือ wikipedia ก็ได้ให้ข้อมูลว่า บีพีเอนั้นสังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกในช่วงต้นของทศวรรษ 1930 โดยนักชีวเคมีชาวอังกฤษชื่อ Edward Charles Dodds โดยมุ่งหวังให้เป็นเอสโตรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง) สังเคราะห์ แต่ปรากฏว่ามันมีฤทธิ์ต่ำกว่าเอสโตรเจนธรรมชาติถึง 37,000 เท่า เขาจึงหันไปสังเคราะห์สารอีกตัวหนึ่งคือ diethylstilbestrol (DES) ซึ่งได้ผลสมใจเพราะมันออกฤทธิ์เหมือนเอสโตรเจน (และมีฤทธิ์แรงกว่า) จึงช่วยแก้แพ้ท้อง แต่มีผลข้างเคียงทำให้ลูกสาวของผู้กินยานี้เป็นมะเร็งที่อวัยวะเพศเมื่อเข้าสูวัยสาว สารนี้จึงถูกยกเลิกการนำมาใช้ ดังนั้นถ้าเราเชื่อในสมมุติฐานที่กล่าวว่า ขณะกำลังท้องระดับเอสโตรเจนของสาวๆ ต้องเพิ่มขึ้นเพื่อไปกระตุ้นให้ตัวอ่อนในมดลูกมีการพัฒนาตามรูปแบบที่ควรเป็น(เอสโตรเจนมีศักยภาพในการกระตุ้นการแบ่งและพัฒนาเซลล์ของตัวอ่อนให้เจริญอย่างรวดเร็ว) แต่บีพีเอ (ซึ่งมีศักยภาพค่อนข้างต่ำมาก ๆ ที่จะออกฤทธิ์เป็นเอสโตรเจน) อาจแย่งที่ในการจับตัวกับตัวรับเอสโตรเจน ส่งผลให้เอสโตรเจนเข้าจับตัวกับเซลล์ตัวอ่อนน้อยลง ทำให้ตัวอ่อนในท้องแม่ไม่พัฒนาเท่าที่ควรจึงแท้ง(ปรกติผู้หญิงที่กำลังเริ่มท้องจะมีอาการแพ้ท้องมากบ้างน้อยบ้าง แต่ถ้าวันไหนเลิกแพ้ท้องให้ระแวงได้เลยว่า น่าจะแท้ง) สมมุติฐานคล้ายกันนี้มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการแล้ว แต่เป็นการศึกษาถึงผลการได้รับเจ็นนิสตีนในระดับสูงของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในสัตว์ทดลองว่าทำให้สัตว์ทดลองมีลูกน้อยลง และคล้ายกันกับการศึกษาทางระบาดวิทยาในผู้หญิงที่อยากท้องแต่กินผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองเพราะเป็นมังสวิรัติมักมีลูกยาก จึงมีการแนะนำว่า ช่วงเริ่มตั้งครรภ์ควรลดการบริโภคผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองลงบ้าง(กินโปรตีนจากพืชชนิดอื่นได้) จนแน่ใจว่าการตั้งครรภ์ไม่มีปัญหาแล้วจึงกินผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองเท่าเดิมหรือรอจนกว่าจะคลอดเรียบร้อยปลอดภัย ที่น่าสนใจคือ ในปี ค.ศ. 2005 ได้มีการศึกษาเล็กๆ ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งพบว่า สตรี 45 นางที่เคยมีวิบากกรรมตั้งท้องไม่ถึง 3 เดือนแล้วแท้งอย่างน้อย 3 ครั้ง มีปริมาณบีพีเอในเลือดสูงเป็นสามเท่าของสตรี 32 คนที่ไม่เคยมีปัญหาระหว่างการตั้งท้อง พอผลการศึกษาออกมาดังนี้ โฆษกของสภานักเคมีอเมริกัน (American Chemistry Council) ก็อดรนทนไม่ได้ต้องออกมาเม้นต์ว่า “การศึกษานี้ยังมีข้อบกพร่องเหมือนกับการศึกษาอื่นๆ ที่พยายามตรวจวัดบีพีเอในเลือด ณ วันใดวันหนึ่งแล้วพยายามมโนว่าตัวเลขนี้มีความสัมพันธ์กับการแท้งลูก” ย้อนกลับไปที่สูตินารีแพทย์ของศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์อีกที เพราะเธอได้กล่าวต่อไปว่า ช่วงเวลาที่ทีมวิจัยที่ฮาร์วาร์ดเลือกตรวจเลือดนั้นอยู่ในช่วง 7 สัปดาห์แรกของการท้องซึ่งเป็นช่วงแห่งความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งต่อการแท้ง และที่สำคัญคือ คนอเมริกันนั้นราวร้อยละ 90 มีบีพีเออยู่ในเลือดเป็นปรกติวิสัยอยู่แล้ว (คงเพราะกินอาหารกระป๋องเป็นหลัก ตั้งแต่คนถึงหมาแมว) เรื่องราวที่ตอบโต้ไปมาเกี่ยวกับว่าบีพีเอปริมาณต่ำ ๆ นั้นทำอันตรายประชาชนหรือไม่นั้น ทาง อย. สหรัฐอเมริกกาก็ยังคงยืนหยัดว่า “บีพีเอที่ความเข้มข้นต่ำแบบที่คนอเมริกันกลืนลงท้องนั้นปลอดภัย” (คือหน่วยงานยังเอาอยู่) โดยอ้างรายงานชื่อ Toxicity evaluation of bisphenol A administered by gavage to Sprague-Dawley rats from gestation day 6 through postnatal day 90 ซึ่งศึกษาโดย ดร. Barry Delclos และคณะนักวิทยาศาสตร์ชาว อย. 12 คน ซึ่งตีพิมพ์ผลงานนี้ใน  Toxicological Sciences (ข่าวโดยละเอียดนั้นอ่านได้จาก www.environmentalhealthnews.org/ehs/news/2014/feb/bpa-low-doses) สำหรับในประเทศไทยนั้น ยังไม่เคยมีงานวิจัยการศึกษาปริมาณบีพีเอในเลือดพวกเราเลย จึงมีประเด็นว่า คนที่อยากท้องให้ตลอดรอดฝั่งนั้นควรทำอย่างไรในการลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสบีพีเอ(แม้ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์อเมริกันจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีปัญหา ๆ เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง) ดังนั้นคำตอบสำหรับผู้ที่อยากมีลูกสักคนมันก็จะแสนยากนั้น คือ ต้องรู้ว่า บีพีเอนั้นอยู่ที่ไหนบ้าง (แนะนำให้เข้าไปอ่านบทความของผู้เขียนเรื่อง บีพีเอแถมฟรี ในเว็บไซต์โลกสีเขียว www.greenworld.or.th คอลัมน์นักเขียนรับเชิญ) แล้วก็พยายามอย่าเอามันเข้าสู่ร่างกาย เพราะมันไม่ใช่สารจำเป็นต่อร่างกายแม้แต่นิดเดียว   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point