ฉบับที่ 160 อย่าลืมฉัน : กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็คงไม่ถึง

คนหลายคนอาจจะสงสัยว่า บนเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองของสังคมไทยจวบจนทุกวันนี้นั้น กราฟวิธีคิดของคนไทยจะเลือกเดินเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า หรือจะมีเส้นกราฟที่ดำเนินไปในทิศทางใด หนึ่งในคำตอบต่อข้อสงสัยดังกล่าว อาจจะลองฉายภาพดูได้จากโลกของละครโทรทัศน์ร่วมสมัยนั่นเอง ก็คงคล้ายๆ กับการขับเคลื่อนไปของชีวิตตัวละครอย่าง “เขมชาติ” และ “สุริยาวดี” ที่ให้คำตอบกับความข้างต้นว่า ใจหนึ่งสังคมเศรษฐกิจก็คงไม่ต่างจากกราฟชีวิตของตัวละครทั้งสองที่เดินมุ่งไปวันข้างหน้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว อีกด้านของทั้งคู่กลับมีปมบางอย่างให้ต้องหวนย้อนกลับสู่อดีต เข้าทำนองที่ว่า “กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็คงไม่ถึง” เรื่องราวของเขมชาติและสุริยาวดี (หรือ “หนูเล็ก”) นั้น เริ่มต้นจากการเป็นรักแรกของกันและกันตั้งแต่เป็นเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตไปข้างหน้าร่วมกับสุริยาวดี เขมชาติจึงมุมานะทำงานอย่างหนัก และมอบแหวนรูปดอกฟอร์เก็ตมีน็อตไว้ให้หญิงคนรัก เพื่อเป็นตัวแทนของความรักที่ไม่มีวันลืมหรือพรากจากกัน แต่เพราะครอบครัวของสุริยาวดีประสบปัญหาทางการเงิน เธอจึงจำใจต้องแต่งงานกับนายธนาคารใหญ่อย่าง “เจ้าสัวชวลิต” เพื่อปลดหนี้ และหลังจากนั้นเธอก็เลือกที่จะหายไปจากชีวิตของเขมชาติโดยที่ไม่ยอมบอกลา นำความเจ็บปวดมาให้เขมชาติที่เมื่อรู้ภายหลังว่า หญิงคนรักของตนยอมแต่งงานกับมหาเศรษฐีวัยคราวพ่อเพื่อแลกกับเงิน เขาจึงตั้งหน้าตั้งตาสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาบนความคับแค้น   แต่แล้วชะตาก็ทำให้ทั้งคู่ได้โคจรมาพบกันอีกครั้ง เมื่อสุริยาวดีกลายมาเป็นเลขานุการของเขมชาติ และด้วยความ “เจ็บใจนักเพราะรักมากไป” ที่ฝังมาแต่ในอดีต เขมชาติจึงวางแผนแก้แค้นสุริยาวดี ในขณะที่ลึกๆ อีกด้านหนึ่ง เขาก็ยังมีเยื่อใยต่อหญิงผู้เป็นรักครั้งแรกอยู่เช่นกัน บนเส้นทางความสัมพันธ์ระหว่างเขมชาติและสุริยาวดีนี้ จะว่าไปแล้วก็ไม่แตกต่างจากเส้นทางการเคลื่อนไปของกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทย ที่ด้านหนึ่งก็มุ่งจะก่อร่างสร้างสั่งสมทุนทางเศรษฐกิจให้เติบโตก้าวหน้าขึ้น เหมือนกับตัวละครเขมชาติที่ก่อร่างสร้างตัวจนมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี แต่อีกด้านหนึ่ง ภายใต้การสั่งสมทุนดังกล่าว เขาก็ยังมีเงาความเจ็บปวดจากอดีตตามมาหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่โดยทั่วไปผู้หญิงมักถูกมองว่าเป็นเพศที่ “เกลียดตัวเองที่ลืมช้า จดจำอะไรบ้าบอ” แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ผู้ชายอย่างเขมชาติก็เข้าประเภทคนที่ “ลืมช้า” ไม่ยิ่งหย่อนกัน เพราะฉะนั้น แม้กราฟชีวิตทางเศรษฐกิจสังคมของเขมชาติจะพุ่งเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า มีฐานะมั่นคงมั่งคั่ง พร้อมๆ กับมีการสั่งสมทุนเพื่อความก้าวหน้าในชีวิตอย่างไม่สิ้นไม่สุด แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปมบาดแผลลึกๆ จากอดีต ก็ทำให้เส้นกราฟดังกล่าวมีลักษณะอิหลักอิเหลื่อกับความทรงจำแบบ “forget me not” อยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญ กลุ่มคนที่มีบาดแผลฝังลึกจากอดีตเยี่ยงนี้ ก็มักจะห่อหุ้มตนเองเอาไว้ด้วย “ทิฐิ” ที่เข้ามาบดบังตา เมื่อทิฐิเข้าครอบงำ ไม่เพียงแต่ลืมอดีตไม่ได้ ทุกอย่างที่เขมชาติเห็นจึงเป็นสิ่งที่เขาได้แต่คิดเอาเอง แต่หาใช่เกิดจากข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานพิสูจน์เชิงประจักษ์รองรับไม่ เริ่มตั้งแต่การคิดเอาเองว่าสุริยาวดีเป็นคนโลภและอยากมีอยากได้ จึงเลือกไปแต่งงานกับท่านเจ้าสัวอายุคราวพ่อ สุริยาวดีเป็นหญิงหลายใจ แม้เจ้าสัวเสียชีวิตไปแล้ว เธอก็เที่ยวหันไปคบชายคนนั้นคนนี้สลับกันไป จนถึงกับมโนไปเองว่า สุริยาวดีคงลืมความรักครั้งเก่าซึ่งตรงข้ามกับตัวเขาเองที่ไม่เคยลืมรักครั้งนั้นไปได้เลย ด้วยการคิดเอาเองแบบนี้ ผนวกกับทิฐิแบบบุรุษเพศที่ค้ำคอเขมชาติอยู่นั้น เมื่อสุริยาวดีปรากฏตัวอีกครั้ง ซึ่งก็อาจเป็นด้วยว่า เธอเองก็ไม่เคยลืมเขาไปได้เลย ทำให้เขมชาติวางแผนแก้แค้นหญิงคนรักโดยไม่สนใจที่จะสืบค้นความจริงว่า เบื้องลึกเบื้องหลังการจากไปของสุริยาวดีเป็นมาด้วยเหตุผลกลใด ผมลองถามเพื่อนรอบข้างหลายคนว่า เมื่อพูดถึงคำว่า “อย่าลืมฉัน” แล้ว คำว่า “ฉัน” ในที่นี้น่าจะหมายถึงตัวละครใด บางคนก็บอกว่า “ฉัน” น่าจะหมายถึงเขมชาติที่ลึกๆ แล้ว ดอกไม้ฟอร์เก็ตมีน็อตก็คือเครื่องหมายแทนใจที่ผูกพัน และพยายามสื่อสารกับสุริยาวดีไม่ให้เธอลืมความรักที่มีต่อเขา ในขณะที่มีเพื่อนบางคนก็บอกว่า “ฉัน” คงหมายถึงสุริยาวดีมากกว่า เพราะการกลับมาของเธออีกครั้ง ก็เพื่อทวงถามเขมชาติว่า ในหัวใจของเขาได้ลืมเลือนเธอไปแล้วหรือยัง อย่างไรก็ตาม หากเราเพ่งพินิจพิจารณาดีๆ แล้ว ในท่ามกลางตัวละครหญิงชายที่ไม่เคยลืมปมบาดแผลจากอดีต แถมยังสาดทิฐิใส่กันและกันอยู่นั้น ยังมีตัวละครอีกสองคนอย่าง “เกนหลง” และ “เอื้อ” ที่ไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อันใด หากแต่ถูกผูกพ่วงเข้ามาอยู่ในเกมทิฐิและการแก้แค้นไปด้วย ตั้งแต่ฉากเขมชาติรับสุริยาวดีเข้ามาเป็นเลขานุการ ไปจนถึงฉากเล่นล่อเอาเถิดวิ่งไล่จับกันของตัวละครที่สวิตเซอร์แลนด์ หรือแม้แต่ฉากหมั้นของเขมชาติและเกนหลงที่เผยความจริงลึกๆ อันเนื่องมาแต่ปมในอดีต ฉากเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ทิฐิจะเป็นเรื่องของคนสองคน แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับกระทบต่อคนรอบข้างอย่างเกนหลงและเอื้อที่ไม่รู้เห็นอันใดกับบาดแผลในใจของพวกเขาเลย เพราะฉะนั้น แม้การหลอกลวงจะเป็นเรื่องที่เขากระทำต่อคนรักเก่า แต่เขมชาติก็จง “อย่าลืมฉัน” ผู้ที่อยู่รอบข้างอีกหลายคน ซึ่งคงไม่ต่างจากที่เกนหลงบอกกับเขมชาติในภายหลังที่เขามาสารภาพความจริงทุกอย่างว่า “คุณไม่รู้ใจตัวเองจนทำให้คนอื่นต้องเสียใจแบบนี้ไม่ได้ ถ้าคุณยังไม่ซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง ชาตินี้คุณจะซื่อสัตย์กับคนอื่นได้ยังไง...” หากเราใช้ทฤษฎีที่อธิบายว่า โลกของละครไม่เคยและไม่มีวันแยกขาดจากโลกความจริงไปได้นั้น ตัวละครอย่างเขมชาติและสุริยาวดีก็คงบอกเป็นนัยว่า สังคมไทยทุกวันนี้ไม่เพียงแต่ “กลับตัวก็ไม่ได้ และจะเดินต่อไปก็คงไม่รอด” เท่านั้น หากอีกด้านหนึ่งบนความขัดแย้งและอาการอิหลักอิเหลื่อดังกล่าว ก็ยังมีตัวละครอีกหลายคนที่แม้จะอยู่นอกเกม แต่ก็มักถูกดึงเข้าสู่วังวนแห่งความขัดแย้งไม่ต่างกัน ก็คงไม่ต่างจากความขัดแย้งซึ่งฉีกสังคมไทยออกเป็นฝักเป็นฝ่ายอยู่ในขณะนี้ ที่ทิฐิและผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจสองกลุ่ม ก็อาจจะทำให้ตัวละครแบบเกนหลงและเอื้อต้องมาส่งเสียงเตือนสติว่า “อย่าลืมฉัน” ที่ยังมีเลือดมีเนื้อมีความรู้สึกอยู่ตรงนี้อีกหลายๆ คน   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point