ฉบับที่ 252 อาหารเสริมรักษาดวงตา......จนตาเสีย

        ดวงตาเป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญในร่างกาย  ด้วยความสำคัญของดวงตา และผลกระทบจากการที่ต้องถูกใช้งานอย่างหนัก  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาสรรพคุณในการบำรุงรักษาดวงตาจึงผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อออนไลน์  และยังมีการใช้กลยุทธในการตลาดที่มีความซับซ้อนมากขึ้น  เช่น  ได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแต่ใช้ขวดบรรจุที่มีลักษณะคล้ายกับขวดยาหยอดตาทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าสามารถหยอดตาได้  การตัดต่อภาพข่าวมาโฆษณาเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการตลาด ใช้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้มีชื่อเสียง นักร้อง นักแสดงมาเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา หรือแม้แต่การนำผลิตภัณฑ์หยอดตาที่ผลิตขึ้นเองโดยไม่ได้รับอนุญาตไปบริจาคตามโรงทาน เป็นต้น         เครือข่ายชมรมเภสัชชนบท  พบกรณีผู้บริโภคที่สูญเสียดวงตาข้างขวาไปตลอดชีวิต จากการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาใช้หยอดตา  โดยผู้ขายโฆษณาขาย  โดยอ้างว่าสามารถดื่มเพื่อรักษาอาการปวดขาและสามารถนำไปใช้หยอดตาเพื่อรักษาอาการต้อกระจกได้ ซึ่งเดือนแรกที่ผู้บริโภคดื่มรู้สึกว่าอาการปวดขาลดลง  เดือนต่อมาจึงนำมาหยอดตาตนเอง  เนื่องจากเห็นว่าผลิตภัณฑ์นี้ช่วยทำให้อาการปวดขาดีขึ้น น่าจะช่วยรักษาตาต้อกระจกให้หายได้เช่นกัน  จึงนำมาหยอดตาแบบวันเว้นวัน ซึ่งทุกครั้งที่หยอดตาจะมีอาการแสบร้อนที่ดวงตา แต่ผู้ขายกลับบอกว่า ยิ่งแสบแสดงว่ายานี้ได้ผลไปฆ่าเชื้อจะได้หายไวๆ         ผู้บริโภครายนี้ได้หยอดตาไปถึง 6 ครั้งและเริ่มมีอาการแสบตามากขึ้น  จึงไปโรงพยาบาลและตรวจพบว่าดวงตาติดเชื้อและเยื่อตาทะลุ ต้องผ่าตัดดวงตาข้างขวาออก มิฉะนั้นจะเกิดการติดเชื้อลามไปที่สมองและเสียชีวิตได้  กรณีนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายกรณีของผู้บริโภคที่ถูกหลอกลวงให้หลงเชื่อจากคำโฆษณา  เกินจริง แล้วพวกเราจะติดอาวุธมิให้ตกเป็นเหยื่อได้อย่างไร         พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2510 การโฆษณาสรรพคุณของอาหารเป็นยารักษาโรค ถือว่าเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร  ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ          วิธีการที่ดีที่สุดในการดูแลรักษาสุขภาพ  คือ  การปฏิบัติตามกลยุทธ์สุขภาพดีด้วย 4 อ  ได้แก่ อากาศ  อาหาร  ออกกําลัง และอารมณ์  โดยจัดสถานที่ให้มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ  รับประทานอาหารที่ดีมีคุณค่าให้ร่างกายได้สารอาหารครบตามที่ร่างกายต้องการ  ออกกำลังกายให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว  ให้อวัยวะต่างๆ ได้ทำงานอย่างสมดุล  และควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในภาวะปกติอยู่เสมอ   หากสามารถปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว  สุขภาพกาย  สุขภาพจิต จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมดุลส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง  สดชื่น แจ่มใส  ช่วยป้องกันตัวเรามิให้ตกเป็นเหยื่อ หลงเชื่อโฆษณาเกินจริงได้อีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ช่วยต่อชีวิตให้ผู้อื่นผ่านแอปพลิเคชันบริจาคอวัยวะ

        เมื่อไม่นานมานี้มีโอกาสได้ไปเดินงานกาชาด ทำให้ได้เห็นซุ้มรับบริจาคอวัยวะของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ซึ่งถือว่าเป็นซุ้มที่เดินเข้าไปแล้วจะทำให้รู้สึกว่าได้ทำบุญช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ฉบับนี้จึงอยากเชิญชวนผู้อ่านมาบริจาคอวัยวะกันเพื่อช่วยต่อชีวิตให้ผู้อื่น         อย่างแรกขออธิบายว่าการบริจาคอวัยวะนั้นทำเพื่ออะไร การบริจาคอวัยวะเป็นการปลูกถ่ายอวัยวะหรือเนื้อเยื่อของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว เพื่อนำอวัยวะเหล่านั้นมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยที่ต้องการ ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคม 2562 มีจำนวนผู้รอปลูกถ่ายอวัยวะอยู่ที่ 6,176 คน และมีผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายแล้วจำนวน 577 คนเท่านั้น         การบริจาคอวัยวะภายในร่างกายจะสามารถบริจาคได้ 4 ส่วน ได้แก่ ปอด ตับ หัวใจ ไต นอกจากนี้ยังมีเนื้อเยื่อที่สามารถปลูกถ่ายได้ เช่น ลิ้นหัวใจ หลอดเลือด ผิวหนัง กระดูก เส้นเอ็น กระจกตา โดยการที่จะนำอวัยวะไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยได้นั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียชีวิตแล้วว่ามีความประสงค์จะบริจาคอวัยวะส่วนใด และเบื้องต้นต้องเป็นผู้เสียชีวิตจากสมองตายเท่านั้น         ทั้งนี้การบริจาคอวัยวะไม่เหมือนกับการอุทิศร่างกายให้เป็นอาจารย์ใหญ่ เพราะการบริจาคอวัยวะนั้นจะผ่าตัดแค่อวัยวะที่ทำเรื่องประสงค์บริจาคไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยเท่านั้น โดยหลังการผ่าตัดแพทย์จะทำการตกแต่งร่างกายให้เหมือนเดิมเพื่อมอบร่างกายผู้เสียชีวิตให้กับญาติสามารถนำไปประกอบพิธีตามศาสนาต่อไปได้         หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าการบริจาคอวัยวะไม่ได้มีความยุ่งยากเหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะปัจจุบันศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยได้จัดทำแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “บริจาคอวัยวะ” ไว้ให้ผู้ที่ประสงค์จะบริจาคอวัยวะสามารถแจ้งความจำนงค์ขอบริจาคอวัยวะง่ายๆ ผ่านแอปพลิเคชันนี้ได้อีกช่องทางหนึ่ง          แอปพลิเคชันใช้งานได้ง่าย ขั้นแรกต้องสมัครเป็นสมาชิกในระบบโดยให้กรอกเมลและรหัสผ่านเพื่อเข้าสู่เมนูบริจาคอวัยวะ แอปพลิเคชันจะปรากฎขั้นตอนขึ้นมา 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนแจ้งคุณสมบัติผู้บริจาค ขั้นตอนกรอกข้อมูล ขั้นตอนยืนยันข้อมูล และขั้นตอนลงทะเบียนเสร็จสิ้น         ขั้นตอนแจ้งคุณสมบัติผู้บริจาคจะแจ้งรายละเอียดว่าผู้บริจาคต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปี ปราศจากโรคติดเชื้อ โรคมะเร็ง ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ ไม่ติดสุรา และปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสเอดส์ ฯลฯ ต่อจากนั้นไปที่ขั้นตอนกรอกข้อมูลผู้บริจาค ได้แก่ เลขบัตรประจำตัวประชาชน ชื่อนามสกุล เพศ วันเดือนปีเกิด หมู่เลือด เบอร์มือถือ เมล อาชีพ ที่อยู่สำหรับจัดส่งบัตรประจำตัวผู้บริจาค อวัยวะที่ต้องการบริจาค ข้อมูลญาติที่สามารถติดต่อได้กรณีฉุกเฉิน ต่อจากนั้นกดบันทึกชั่วคราวและไปสู่ขั้นตอนยืนยันข้อมูล         หลังจากนั้นศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยจะดำเนินการส่งบัตรประจำตัวผู้บริจาคตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ในแอปพลิเคชัน และแอปพลิเคชันนี้ยังมีข้อมูลช่องทางการบริจาคเงินผ่านธนาคารต่างๆ ข้อมูลที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ ข่าวกิจกรรมต่างๆ เรื่องราวแห่งความดีซึ่งเป็นการแสดงความรู้สึกของผู้บริจาคและผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเรียบร้อยแล้ว         สำหรับผู้อ่านที่อยากได้รายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องการบริจาคอวัยวะ สามารถติดต่อศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยได้ที่เบอร์ 1666         มาร่วมบริจาคอวัยวะให้ผู้ป่วยที่ยังรอคอยด้วยความหวัง เพื่อเป็นสะพานบุญช่วยเหลือในการต่อชีวิตให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอยู่บนโลกได้ต่อไปกันนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 การบริจาคอวัยวะ

“ทุกส่วนของร่างกายมนุษย์ล้วนสามารถนำมาทดแทนให้กับกับคนอื่นๆ ต่อไปได้ อยู่ที่ความพร้อมของหลายๆ อย่าง อาทิ ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ ความพร้อมของบุคคล และความเข้ากันได้ของอวัยวะ ฯลฯ ทั้งนี้ ในต่างประเทศมีการใช้อวัยวะทดแทนกันได้เกือบทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นมือ แขนขา มดลูก อวัยวะเพศชายก็เปลี่ยนได้ ยกเว้น “สมอง” เพียงอวัยวะเดียวที่ยังไม่มีใครสามารถดำเนินการเปลี่ยนจากคนหนึ่งไปให้อีกคน หนึ่งได้” นายแพทย์วิศิษฎ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ได้ให้คำอธิบายกับฉลาดซื้อสำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีการปลูกถ่ายอวัยวะ 6 อวัยวะ คือ 1. หัวใจ 2. ปอด 3. ตับ 4. ไต 5. ตับอ่อน และ 6. ลำ ไส้เล็ก แม้ในความเป็นจริงแล้วความสามารถบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทยจะมีความสามารถในการปลูกถ่ายอวัยวะได้เกือบทุกตำแหน่งเช่นเดียวกันก็ตาม แต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่างจึงต้องทำการปลูกถ่ายอวัยวะโดยคำนึงถึง “การมีชีวิตรอด” เป็นหลัก อย่างอวัยวะเพศนั้นไม่ได้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตเท่านั้นผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ กล่าวว่า อวัยวะที่จะทำการปลูกถ่ายนั้นจะนำมาจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตด้วยภาวะสมองตาย แต่ยังหายใจอยู่นั่นหมายความว่า ผู้บริจาคเหล่านั้นต้องเสียชีวิตภายในห้องผู้ป่วยวิกฤติ หรือ ห้องไอซียู ของโรงพยาบาล ซึ่งการจะบอกว่าผู้บริจาครายใดมีเสียชีวิตจากภาวะสมองตายไปแล้วนั้นต้องให้ แพทย์อย่างน้อย 3 คน เป็นผู้พิจารณาลงความเห็นโดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา (เอกสารเกณฑ์การวินิจฉัยของแพทยสภา)เมื่อแพทย์ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์แล้วว่า ผู้บริจาคเสียชีวิตด้วยภาวะสมองตายแล้ว แน่ๆ จึงทำการเก็บอวัยวะทันทีแล้วล้างด้วยน้ำยาถนอมอวัยวะ จากนั้นก็นำไปแช่ในอุณหภูมิที่กำหนด ประการสำคัญคืออวัยวะที่ได้มาต้องทำการปลูกถ่ายให้เร็ว เพราะหัวใจอยู่ได้ 4 ชั่วโมง ตับอยู่ได้ 6 ชั่วโมง ปอดอยู่ได้ 8 ชั่วโมง ไต อยู่ได้ 24 ชั่วโมง หากไม่ได้เปลี่ยนให้คนอื่นอวัยวะพวกนี้จะเสียทั้งหมด จริงๆ นอกจากอวัยวะแล้วยังสามารถเก็บเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆ มาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยรายอื่นๆ ได้อีก เช่น ดวงตา ลิ้นหัวใจ ผิวหนัง กระดูก เป็นต้น โดยเก็บไว้ในคลังเนื้อเยื่อได้นาน เพราะพวกนี้ไม่ต้องต่อเส้นเลือด อย่างลิ้นหัวใจเก็บได้นาน 5 ปี ผิวหนัง 3 ปี เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวกรุนแรงจนทำให้น้ำเหลืองที่เสียไปสูญเสียโปรตีนไปเยอะมาก แล้วโอกาสติดเชื้อ โลหิตเป็นพิษ และเสียชีวิต ก็จะเอาเนื้อเยื่อเหล่านี้ไปรักษาหรืออย่างเนื้อเยื่อกระดูกก็สามารถทำให้เป็นชิ้นขนาดต่างๆ รูปร่างต่างๆ เพื่อช่วยเหลือคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกทุกๆ ประเภท กระทั่งผู้ป่วยต้องเปิดกะโหลกแล้วกะโหลกศีรษะบุ๋มก็เอาตรงส่วนนี้เข้าไปทด แทน หรือจะบดกระดูกใส่ในซอกฟันก็ยังได้สถานการณ์การบริจาคอวัยวะในประเทศไทยสถานการณ์การรบริจาคอวัยวะในเมืองไทยปัจจุบันเพิ่มขึ้นประมาณ 40,000 กว่าคน เกือบ 50,000 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เฉลี่ยวันละประมาณ 100 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 8,069 คนซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มีถึง 60 กว่าล้านคน ขณะที่มีผู้รอรับบริจาคค่อนข้างมาก ล่าสุดขึ้นทะเบียนรอรับบริจาคมากกว่า 5,000 คน กว่าร้อยละ 90 คือ รอการเปลี่ยนไต เหตุผลที่คนรับบริจาคไตเยอะก็เนื่องจากทุกกองทุนสุขภาพภาครัฐดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ค่อนข้างดี ทั้งบริการล้างไต ฟอกไต ทำให้มีอายุยืนยาวสามารถรอคอยการปลูกถ่ายเปลี่ยนไตได้ในวันหนึ่ง ในขณะผู้ป่วยที่รอการเปลี่ยนอวัยวะอื่นๆ ที่เหลือนั้นไม่สามารถรอนานได้ขนาดนั้น หากไม่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายจะทำให้เสียชีวิต“เมื่อปี 2558 ได้รับการบริจาคได้รับอวัยวะจากผู้บริจาคจำนวน 206 คน สามารถนำอวัยวะและเนื้อเยื่อไปช่วยเหลือคนอื่นได้ถึง 856 คน แยกเป็นผู้ที่ได้รับอวัยวะ 463 คน โดยได้รับการปลูกถ่ายไต 354 คน รองลงมาเป็นการปลูกถ่ายตับ 71 คน หัวใจ 24 คน หัวใจ-ปอด 1 คน ตับอ่อน 1 คน หัวใจ-ไต 1 คน ตับ-ไต 1 คน ส่วนผู้ที่ได้รับบริจาคเนื้อเยื่อ 393 ชิ้น เช่น ได้ลิ้นหัวใจ 121 ลิ้น ดวงตา 262 ดวงตา และกระดูก 5 คนหลอดเลือด 3 คน และ ผิวหนัง 2 คน” นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าวผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ กล่าวต่ออีกว่า อวัยวะที่บริจาคอยู่ในสภาพดีพอสมควร เช่น หัวใจ คุณภาพของหัวใจที่ดีควรได้รับจากผู้บริจาคที่มีอายุประมาณ 40 กว่าปี หากมากกว่านี้ หัวใจที่ได้รับมาอาจจะไม่แข็งแรง เพราะร่างกาย อวัยวะของมนุษย์ย่อมเสื่อมการทำงานไปตามอายุที่มากขึ้น ซึ่งบางครั้งอวัยวะที่ได้มาก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งหมด เพราะบางคนมีภาวะตับแข็งบ้าง ไขมันเกาะตับบ้าง หรือหัวใจมีอายุมากเกินไป เฉลี่ยแล้ว 1 ร่างของผู้เสียชีวิตจะมีอวัยวะที่ใช้ได้ไม่เกิน 3 อวัยวะ นอกจากนี้ อุปสรรค์ของการได้มาซึ่งอวัยวะของผู้บริจาคยังมีอีกมาก เช่นอุปสรรคที่ 1 แม้ผู้บริจาคได้รับการยินยอมจากญาติตั้งแต่ครั้งแรกที่แสดงความประสงค์ในการบริจาคอวัยวะแล้ว แต่เมื่อเสียชีวิตจริงๆ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะทำการเก็บอวัยวะต้องได้รับการยินยอมจากญาติอีกครั้งหนึ่งก่อน ซึ่งมีไม่น้อยเช่นเดียวกันที่ญาติไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่เก็บอวัยวะ อุปสรรคที่ 2 เมื่อญาติอนุญาตให้สามารถเก็บอวัยวะไปใช้ประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยรายอื่นๆ แล้วทีมแพทย์ต้องมาตั้งต้นดูว่า 1. อวัยวะที่จะใช้นั้นได้หรือไม่ บางคนหัวใจหยุดเต้นหลายนาที ปั๊มหัวใจหลายครั้ง หัวใจก็อาจจะใช้ไม่ได้ 2.หากอายุของผู้บริจาคอยู่ในเกณฑ์ดี อวัยวะอยู่ในเกณฑ์ดี ศูนย์รับบริจาคอวัยวะก็จะเป็นผู้จัดสรรว่าจะให้กับใคร ตามเกณฑ์และระยะเวลาในการเข้าไปรับอวัยวะ “แต่บางครั้งสถานที่อยู่ไกล ไม่มีเครื่องบิน หรือกลับไม่ได้ หรือพอตกลงว่า ผู้บริจาคสมองตายสามารถจะบริจาคอวัยวะได้แล้ว แต่ทีมแพทย์ผู้เก็บอวัยวะยังไปไม่ถึงแล้วผู้บริจาคเกิดเสียชีวิตก่อน อวัยวะเหล่านั้นก็จะใช้ไม่ได้ หรือไปแล้วห้องผ่าตัดไม่ว่างก็ไม่ได้ เอามาแล้วแพทย์ผ่าตัดไม่เรียบร้อย ล้างอวัยวะไม่ได้ก็ไม่ได้ หรือบางครั้งเอามาแล้วผู้ที่รอรับบริจาคอยู่เกิดป่วยก็รับไม่ได้อีก อวัยวะจะสูญเสียไปเรื่อยๆ กว่าจะได้เปลี่ยนถ่าย เรียกว่าอุปสรรคมีอยู่ตลอดทางแต่ทีมแพทย์ก็พยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้ได้ เปลี่ยนอวัยวะให้ผู้ป่วยให้ได้”ดังนั้น จึงได้มีการแบ่งความรับผิดชอบเป็นไปตามพื้นที่สามารถปลูกถ่ายอวัยวะได้ก็ให้รับผิดชอบเรื่องการเก็บและเปลี่ยนถ่ายอวัยวะให้กับผู้ที่ต้องการในพื้นที่ คนพื้นที่ได้ประโยชน์ ไม่ต้องเสี่ยงเดินทางไปเก็บ เสี่ยงอุบัติเหตุ และย่นระยะเวลา แต่ทั้งนี้ต้องมีการจัดสรรอย่างเป็นธรรม ดังนี้ 1. ภาคเหนือ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่รับผิดชอบผู้บริจาคอวัยวะในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ และตาก 2.ภาคตะวันอออกเฉียงเหนือ โรงพยาบาลศรีนครินทร์รับผิดชอบในเขตจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี เลย กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม หนองคาย นครราชสีมา หนองบัวลำภู และชัยภูมิ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์รับผิดชอบในเขตจังหวัดอุบลราชธานี มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ โรงพยาบาลส่วนกลาง รับผิดชอบในเขตจังหวัดสกลนคร นครพนม3.ภาคตะวันออก โรงพยาบาลชลบุรีโรงพยาบาลระยอง โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จะร่วมกันรับผิดชอบโดยหมุนเวียนกันออกไปทำผ่าตัดในเขตจังหวัดชลบุรีระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรีและตราด 4.ภาคใต้ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์รับผิดชอบในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี พังงา นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส 5.กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคใต้ตอนบน โรงพยาบาลส่วนกลางรับผิดชอบ 6.ในกรณีที่โรงพยาบาลสมาชิกในภาคต่างๆ ไม่สามารถเดินทางไปทำผ่าตัดในจังหวัดที่รับผิดชอบได้ ให้โรงพยาบาลสมาชิกส่วนกลางรับผิดชอบในจังหวัดนั้นๆ แทน ทั้งนี้ ในกรณีที่ได้รับการบริจาคไตมาทั้ง 2 ข้าง จะต้องนำไต 1 ข้างต้องนำส่งศูนย์บริจาคอวัยวะที่ส่วนกลางเพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆ อีกต่อไปหลักเกณฑ์ข้อกำหนดสำหรับผู้มีความประสงค์ที่จะบริจาคอวัยวะ นายแพทย์วิศิษฎ์ ระบุว่า “สามารถทำได้ในทุกช่วงอายุอายุตั้งแต่เกิด จนถึงไม่เกิน 65 ปี โดยต้องได้รับการยินยอมบริจาคอวัยวะจากผู้ปกครองหรือญาติ” นอกจากนี้ผู้บริจาคต้องไม่เป็นโรคติดต่อ หรือโรคติดเชื้อทั่วไป เช่น ไวรัสตับอักเสบ หรือโรคที่สามารถติดต่อผ่านอวัยวะ เช่น มะเร็ง มาลาเรีย เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ เอ ไวรัสตับอักเสบ บี ซิฟิลิส วัณโรค และโลหิตเป็นพิษ ผู้ป่วยต้องสงสัยว่าป่วยพิษสุนัขบ้า สมองอักเสบเฉียบพลัน หรือไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน ปลายประสาทอักเสบเฉียบพลัน ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุแน่นอน เป็นโรคสมองเสื่อมไม่ทราบสาเหตุแน่นอน เป็นต้น “กรณีโรคติดเชื้อนั้นมีบางกรณีที่ได้รับการยกเว้น แต่มีรายละเอียดเยอะ ยกตัวอย่างกรณี ไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งบางครั้งคนที่รับบริจาคอาจจะเป็นไวรัสตับอักเสบอยู่ก่อนแล้วหรือได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเอาไว้แล้ว ตรงนี้อาจจะมีข้อยกเว้นสามารถรับอวัยวะจากคนที่เป็นไวรัสตับอักเสบด้วยกันได้อยู่ และกรณีที่ไม่มีทางเลือก เช่นหากไม่ได้รับการปลูกถ่ายตับใหม่ภายใน 2 วันนี้ ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตได้ ดังนั้นกรณีอย่างนี้อาจจะเป็นข้อยกเว้นที่สามารถทำได้ภายใต้ดุลพินิจของแพทย์และการยินยอมของผู้ป่วย และญาติ แต่โดยทั่วไปจะยึดหลักการของความบริสุทธิ์ของอวัยวะเป็นหลัก เรื่องเหล่านี้ต้องคุยกันให้เข้าใจระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย แพทย์ยินดีที่จะช่วยเหลือคนผู้ป่วยอยู่แล้ว”ทั้งนี้ การบริจาคนั้นสามารถไปแสดงความประสงค์ได้ด้วยตัวเองที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ซึ่งสามารถเลือกบริจาคเฉพาะอวัยวะก็ได้แล้วแต่ความสมัครใจ แต่ส่วนมากก็บริจาคทั้งร่างกาย เพราะวันนี้แม้จะบอกว่าเมืองไทยยังใช้อวัยวะแค่นี้ แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ อนาคตอาจจะทำได้มากกว่านี้ อวัยวะที่คนตายไม่ได้ใช้แล้ว แต่ยังมีประโยชน์กับคนเป็นอีกจำนวนมากสิ่งที่อยากฝากคือ การบริจาคอวัยวะไม่ได้น่ากลัว บางคนกลัวว่าเกิดมาชาติหน้าอวัยวะอาจจะไม่ครบ บางคนกลัวว่าถ้าทำแล้วชีวิตจะสั้น แต่จริงๆ การบริจาคอวัยวะให้เป็นทาน เป็นบารมีที่สูงสุด ทุกศาสนาไม่ได้เป็นอุปสรรค การช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ การบริจาคอวัยวะถือเป็นงานบุญทั้งสิ้นที่ผ่านมาพบว่าคนที่ตั้งใจบริจาคอวัยวะจริงๆ นั้น จะเตรียมความพร้อมของร่างกายอย่างดีตั้งแต่เนิ่นๆ เช่นคนที่ประสงค์อย่างบริจาคปอดก็จะเลิกพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อปอด โดยเฉพาะการเลิกสูบบุหรี่ คนที่ตั้งใจบริจาคตับก็จะเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะกลัวว่าจะเกิด ไขมันพอกตับ ตับแข็ง ไม่เที่ยวกลางคืนเพราะกลัวติดเชื้อเอชไอวี หรือไวรัสตับอักเสบ พอเริ่มดูแลสุขภาพตัวเองดีก็ยิ่งมีอายุที่ยืนยาว -----------------------ข้อมูลต่างๆ สำหรับการบริจาคอวัยวะสามารถหาได้จากเว็ปไซส์ของสภากาชาดไทย http://www.redcross.or.th/homeขั้นตอนการบริจาคอวัยวะ1. กรอกรายละเอียดในใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะให้ชัดเจน ที่อยู่ควรจะตรงกับทะเบียนบ้าน (หากต้องการให้ส่งบัตรประจำตัวไปยังสถานที่อื่น กรุณาระบุให้ชัดเจน)2. พิมพ์ใบแสดงความจำนงบริจาค ส่งเอกสารมายังศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย และเมื่อศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ ได้รับใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะของท่านแล้ว ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ จะส่งบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะให้ตามที่อยู่ที่ได้ระบุไว้3. หลังจากที่ท่านได้รับบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะจากศูนย์รับ บริจาคอวัยวะฯ แล้ว อย่าลืมกรอกชื่อ และรายละเอียดการบริจาคลงในบัตร4. กรุณาเก็บบัตรประจำตัวผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้กับตัวท่าน หากสูญหายกรุณาติดต่อกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย5. ควรแจ้งให้ญาติทราบไว้ ว่าได้บริจาคอวัยวะกับสภากาชาดไทย เพราะญาติจะได้ติดต่อกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยได้ทันท่วงที(ข้อมูลเพิ่มเติม )ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2558 ของศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ พบว่าเมื่อเปรียบเทียบคนรอรับบริจาคกับที่ได้รับการบริจาคจริง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 ถึง 31 ธันวาคม 2558 พบว่า มีผู้รอรับไตได้รับการปลูกถ่ายเพียง 364 ราย หรือร้อยละ 7.7 ของผู้รอรับทั้งหมด ส่วนผู้รอหัวใจได้รับการปลูกถ่าย 24 ราย ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจ-ปอด 1 ราย หรือร้อยละ 5 ของผู้ที่รออยู่ทั้งหมด ผู้ได้รับการปลูกถ่ายตับและไต 1 คนจากจำนวนคนรอทั้งหมด 3 คน ผู้ที่รอรับการปลูกถ่ายตับอ่อนอยู่ 1 คน ตอนนี้ได้รับการปลูกถ่ายเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับผู้รอหัวใจและไต 1 คน ก็ได้รับการปลูกถ่ายเรียบร้อยแล้ว ส่วนผู้ที่รอรับการปลูกถ่ายปอดซึ่งมีอยู่ 6 คน นั้นก็ยังไม่มีใครได้รับการปลูกถ่ายแต่อย่างใด และผู้ได้รับการปลูกถ่ายตับ 71 ราย หรือร้อยละ 35 ของผู้รอทั้งหมดผู้ที่รอรับการปลูกถ่ายตับอ่อนและไตมีอยู่ 13 คน แต่ยังไม่มีใครได้รับการปลูกถ่ายตับอ่อนและไตเลย ผู้รออวัยวะทั้งหมดกับผู้รอรายใหม่และผู้เสียชีวิตระหว่างรออวัยวะ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2549 – 31 ธันวาคม 2558 ใน พ.ศ.2558 มีผู้รอรับบริจาคอวัยวะรายใหม่จำนวน 1,405 ราย หรือร้อยละ 28 ของผู้รออวัยวะทั้งหมดและมีผู้รอที่เสียชีวิตระหว่างรออวัยวะจำนวน 111 คน คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของผู้รออวัยวะทั้งหมดโดยเป็นผู้รอไตเสียชีวิต 60 คน ผู้รอรับตับเสียชีวิต 39 คน ผู้รอรับตับ-ไตเสียชีวิต 5 คน ผู้รอหัวใจเสียชีวิต 4 คน ผู้รอหัวใจ-ปอดเสียชีวิต 2 คน ผู้รอปอดเสียชีวิต 1 คน.

อ่านเพิ่มเติม >