ฉบับ 203 อะฟลาทอกซินเอ็มวัน ในนมรสธรรมชาติและนมโรงเรียน

โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพอะฟลาทอกซินเอ็มวันในนมรสธรรมชาติและนมโรงเรียน นมโคเป็นอาหารที่มีสารอาหารเกือบครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะโปรตีนและแคลเซียมในนมนั้นมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่ร่างกายเสื่อมไป จึงเหมาะเป็นอาหารสำหรับคนทุกวัย การบริโภคนมของไทยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 18 ลิตร/คน/ปี โดยในปี 2559 มีมูลค่าการตลาดประมาณ 60,000 ล้านบาท เนื่องจากนมเป็นแหล่งอาหารที่ดีจึงมีการส่งเสริมให้เด็กไทยได้ดื่มนมฟรีหรือที่เรียกว่า นมโรงเรียนด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังในเรื่องความปลอดภัยในอาหารที่มีคนเป็นจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง ฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จึงอาสาสอดส่องเรื่องของนม โดยลำดับแรกเป็นเรื่องของการทดสอบหาปริมาณสารพิษจากเชื้อรา อะฟลาทอกซิน เอ็ม 1 (อะฟลาทอกซิน ชนิด บี 1 ถ้าอยู่ในน้ำนมจะเรียกว่า อะฟลาทอกซิน เอ็ม 1) ซึ่งเป็นสารพิษธรรมชาติชนิดร้ายแรงต่อมนุษย์ ซึ่งแม้ได้รับในปริมาณน้อยก็ทำให้เกิดพิษต่อร่างกายได้ การเก็บตัวอย่างครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจาก 6 ภูมิภาครวมทั้งอาสาสมัครผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ ช่วยเก็บตัวอย่างนมโรงเรียนจำนวนรวมทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง และทีมฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่างนมรสธรรมชาติทุกประเภทจากห้างค้าปลีกและร้านสะดวกซื้ออีกจำนวน 13 ตัวอย่าง รวมเป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 27 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบหาปริมาณอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 การทดสอบใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน โดยค่าต่ำสุดที่สามารถระบุได้คือ 0.03 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ผลทดสอบทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานผลทดสอบพบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้งของไทย และโคเด็กซ์(CODEX) โดยเกณฑ์มาตรฐานของไทยนั้นยังไม่มีการระบุเฉพาะเจาะจงของค่าปริมาณอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 ในน้ำนม จึงใช้อิงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ.2529 ที่กำหนดให้มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินได้ไม่เกิน 20 พีพีบี (20  ส่วนในพันล้านส่วน) หรือ 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนมาตรฐานของ USFDA และ CODEX กำหนดไว้อย่างชัดเจนเรื่อง ปริมาณอะฟลาทอกซิน เอ็ม 1 ในน้ำนม ต้องไม่เกิน 0.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม จากตัวอย่างจำนวน 27 ตัวอย่างนั้น ตรวจพบอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 ในช่วง น้อยกว่า 0.03-0.08 ไมโครกรัม/กิโลกรัม การตรวจพบในปริมาณที่น้อยนี้นับว่าเป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 เลี่ยงมะเร็งอย่างไร ตอนที่ 1: ต้นเหตุ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ World Cancer Research Fund (WCRF) ได้ให้ข้อมูลเชิงวิชาการเกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งของมนุษย์ได้แก่ อาหารการกิน(พฤติกรรมการบริโภค) น้ำหนักตัวของประชาชน และการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้แรง (physical activity) ดังนั้นในฉลาดซื้อฉบับนี้ผู้เขียนจึงใคร่ขอนำข้อมูลส่วนที่เรียกว่า Continuous Update Project (CUP) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการทบทวนผลจากการทำโครงการของผู้เชี่ยวชาญของ WCRF ในการวิเคราะห์ว่า ปัจจัยทั้งสามที่กล่าวข้างต้นนั้นมีผลต่อความเสี่ยงและการอยู่รอดของประชาชนเนื่องจากมะเร็งเพียงใด ดังต่อไปนี้ภาวะน้ำหนักเกินหรือความอ้วน (Overweight or Obese) เป็นภาวะที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ เต้านม ถุงน้ำดี ไต ตับ หลอดอาหาร รังไข่ ตับอ่อน ต่อมลูกหมาก และมดลูก ทั้งนี้เพราะภาวะน้ำหนักเกินหรือความอ้วนนั้นส่วนใหญ่เป็นผลที่เกิดจากการกินอาหารที่มีไขมันและ/หรือแป้งมากเกินไป มีข้อสันนิษฐานว่า การเปลี่ยนแป้งไปเป็นพลังงานนั้น ต้องมีการส่งผ่านอิเล็คตรอนในไมโตคอนเดรียของเซลล์ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นมากๆ ความผิดพลาดที่น่ากลัวคือ การเกิดอนุมูลอิสระในเซลล์ต่างๆ ดังนั้นนักกีฬาหรือผู้ใช้กำลังกายสูงๆ จึงจำเป็นต้องกินอาหารที่มีสารต้านอนุมุลอิสระในปริมาณที่เพียงพอ อาหารหมักเกลือ (Salt-preserved foods) ทั้งผักหรือเนื้อสัตว์นั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหาร ข้อมูลนี้มีการกล่าวถึงในแวดวงวิชาการเกี่ยวกับมะเร็งนานพอควรแล้ว เป็นการอาศัยหลักฐานจากการศึกษาทางระบาดวิทยาของชาติทางเอเชียตะวันออกคือ ญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องอาหารหมักเกลือ (ได้มีการวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่าเกลือที่ใช้ในการหมักนั้นมีสารประกอบเกลือไนไตร์ทสูง)สารหนูในน้ำดื่ม (Arsenic in drinking water) ปัญหานี้เกิดจากการปนเปื้อนสารหนูทั้งจากของเสียทางอุตสาหกรรมและที่ปนเปื้อนจากธรรมชาติ ข้อมูลทางวิชาการกล่าวว่า สารหนูเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง กระเพาะปัสสาวะ ปอด และผิวหนัง สำหรับบ้านเราแล้วเหมืองแร่ดีบุกที่ร้างแล้วในบางจังหวัดแถวภาคใต้เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารหนูในแหล่งน้ำ ซึ่งผู้บริโภคพืชผักผลไม้ที่มีการปนเปื้อนของสารพิษนี้มีความเสี่ยงสูงมากต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังหรือไข้ดำ เครื่องดื่มอัลกอฮอล (Alcoholic drinks) เป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่าง (colorectum คือทางเดินอาหารส่วนลำไส้ใหญ่ต่อกับไส้ตรงถึงทวารหนัก) เต้านม ตับ ปากและคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ประเด็นที่น่าสนใจคือ เครื่องดื่มอัลกอฮอลนั้นเป็นสารเสพติดที่เมื่อเริ่มดื่มแล้วมักต้องเพิ่มปริมาณจนผู้ดื่มมีอาการพิษสุราเรื้อรัง อีกทั้งอัลกอฮอลนั้นเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานสูงกว่าแป้งแต่ต่ำกว่าไขมัน ดังนั้นผู้ที่ดื่มหนักย่อมอิ่มพลังงาน จนไม่สนใจกินผักและผลไม้ จึงขาดสารอาหารสำคัญหลายชนิด ซึ่งมีความสำคัญในการต้านสารพิษที่ร่างกายได้รับจากอาหารที่ใช้แกล้มเหล้าเบต้าแคโรตีนในรูปอาหารเสริม (Beta-carotene supplements) มีผลการศึกษาทางระบาดวิทยากล่าวว่า สารอาหารนี้เมื่อกินเป็นอาหารเสริมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดในคนที่สูบบุหรี่ ทั้งที่เบต้าแคโรตีนนั้นถูกระบุว่า มีความปลอดภัยต่อมนุษย์ที่กินสารอาหารนี้จากอาหารธรรมชาติ เช่น ฟักทอง ใบตำลึง มะละกอสุก มะม่วงสุก ฯลฯ ซึ่งปริมาณอาหารที่กินแบบปรกตินั้น เป็นตัวกำหนดปริมาณเบต้าแคโรตีนที่ร่างกายได้รับไม่ให้สูงเกินจนก่ออันตรายที่เกี่ยวเนื่องกับการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย ตามสมมุติฐานที่มีการเสนอไว้เครื่องดื่มมาเต (maté) ซึ่งเป็นเครื่องดื่มในลักษณะเดียวกับชา ซึ่งชงจากใบพืชพื้นเมืองชื่อ Yerba-Mate(Ilex paraguariensis) ในอเมริกาใต้ พืชชนิดนี้ขึ้นได้ดีตามที่ราบลุ่มแม่น้ำในอาร์เจนตินา บราซิล อุรุกวัย และปารากวัย ในการชงเป็นเครื่องดื่มนั้นนิยมนำใบและกิ่งใส่ลงในน้ำร้อนแบบเดียวกับการชงชา ปรากฏว่าการดื่มเครื่องดื่มนี้เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งหลอดอาหาร(esophagus) ของชาวลาตินอเมริกาในอเมริกาใต้ ซึ่งก็เป็นไปในทำนองเดียวกับการข้อมูลที่ทราบกันดีว่า น้ำชาและกาแฟที่ร้อนมาก ๆ มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารดังที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศไปแล้ว อีกทั้ง International Agency for Research on Cancer (IARC) ได้จัดเครื่องดื่มมาเตให้อยู่ในประเภทของสารก่อมะเร็งชั้น น่าจะก่อมะเร็งในมนุษย์ (probably carcinogenic to humans) ปลาเค็มหมักแบบกวางตุ้ง (cantonese style salted fish) ซึ่งเป็นอาหารหมักที่เค็มแบบสุดๆ เป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลังโพรงจมูก (nasopharynx) มีผู้กล่าวว่า ปลาเค็มในลักษณะดังกล่าวนี้เป็นอาหารสำหรับคนจนในประเทศจีน ซึ่งต้องการกินข้าวได้เยอะโดยกินกับข้าวน้อย ทำให้มีข้อสันนิษฐานว่า พฤติกรรมการกินแบบนี้ทำให้ได้สารอาหารไม่ครบถ้วนจึงมีร่างกายไม่แข็งแรงอาหารเนื้อหมัก (processed meat) ที่คนไทยรู้จักดีคือ แฮม เบคอน ไส้กรอกซาลามี เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่างและกระเพาะอาหาร ประเด็นดังกล่าวนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศเตือนผู้บริโภคทั้งโลกแล้ว ดังนั้นการลดความเสี่ยงต่อการได้รับสารก่อมะเร็งของอาหารเนื้อหมักแบบฝรั่ง(และกุนเชียงของคนจีน) นั้น จึงทำได้ด้วยการกินอาหารประเภทนี้พร้อมผัก ผลไม้และเครื่องเทศ เพื่อให้ได้รับใยอาหารและสารพฤกษเคมีพร้อมกันซึ่งช่วยในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย เนื้อแดง (Red meat) เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีหลักฐานทางระบาดวิทยาระบุว่า เนื้อแดงเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่าง โดยมีสมมุติฐานกล่าวว่า เนื้อแดงซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคลื่อนไหวสูงนั้นมีโมเลกุลของเหล็ก(องค์ประกอบของโปรตีนมัยโอกลอบิน) สูงกว่าเนื้อขาว จึงมีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดอนุมูลอิสระชนิด ไฮดรอกซิลฟรีแรดิคอล ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการทำให้ดีเอ็นเอของเซลล์กลายพันธุ์จนถึงกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ นักพิษวิทยามักแนะนำให้กินเนื้อแดงแต่พอควรและกินกับผักและผลไม้ต่างๆ เพื่อให้ได้สารต้านอนุมูลอิสระเพียงพออาหารที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง (high glycemic load) อาหารประเภทนี้เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งที่มดลูก คำเตือนนี้อาจเนื่องจากสมมุติฐานว่า ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นนั้นมักกระตุ้นการสร้างไขมันให้สูงขึ้นโดยเฉพาะฮอร์โมนเพศ ซึ่งมีเอสโตรเจน เป็นฮอร์โมนที่มักเกิดเพิ่มมากขึ้นกว่าปรกติในสตรีที่อยู่ในสภาวะอ้วน ประเด็นที่น่ากังวลคือ ฮอร์โมนนี้ถูกจัดว่าเป็น สารก่อมะเร็งที่เกิดขึ้นเองในร่างกายมนุษย์ โดยหน่วยงานทางพิษวิทยาที่ชื่อ National Toxicology Program ของสหรัฐอเมริกาอะฟลาทอกซิน (aflatoxins) เป็นสารพิษจากเชื้อราที่ปนเปื้อนบนธัญพืช เครื่องเทศ ถั่วลิสง ถั่วพิตาชิโอ ถั่วบราซิล ข้าวโพด ข้าวเจ้า ข้าวฟ่าง พริกแห้ง พริกไทย ผลไม้แห้งต่างๆ และอีกมากมายแม้แต่กัญชาตากแห้งก็ไม่พ้น สารพิษนี้เป็นสารก่อมะเร็งตามธรรมชาติที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ ซึ่งรู้กันมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ปัญหาของอะฟลาทอกซินนั้นเกิดมานานแล้วและจะยังดำรงตลอดไปจนกว่าโลกนี้สลายเนื่องจากเป็นเรื่องยากมากที่จะถั่วลิสงที่ถูกกะเทาะเอาเปลือกออกแล้วปลอดสารพิษนี้นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตซึ่งยังตั้งสมมุติฐานไม่ได้คือ ความสูง (Height) นั้นมีข้อมูลทางระบาดวิทยาระบุว่า คนที่สูงมากกว่าคนอื่นเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่าง เต้านม ไต รังไข่ ตับอ่อน และต่อมลูกหมาก มากกว่าคนที่เตี้ยกว่า และการมีน้ำหนักแรกเกิดมากเกินไป (Greater birth weight) เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมในเด็กที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ สำหรับในเดือนหน้าจะเป็นตอนที่สองซึ่ง World Cancer Research Fund จะให้ข้อเสนอแนะในการลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งสำรหับประชาชนทั่วไป

อ่านเพิ่มเติม >