ฉลาดซื้อ พบยาอันตรายที่อาจเกิดผลข้างเคียงถึงชีวิต ในกาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพเพศชาย

        นิตยสารฉลาดซื้อ พบยาอันตรายที่ต้องควบคุมพิเศษ ซิลเดนาฟิลและทาเดลาฟิล ที่อาจเกิดผลข้างเคียงถึงชีวิต ในผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพเพศชาย โทษปรับสูงสุด 150,000 บาท         นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เปิดเผยผลตรวจวิเคราะห์ยาควบคุมพิเศษ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป ที่อ้างสรรพคุณช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ จำนวน 23 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์  ได้แก่ ร้านค้าทั่วไป พื้นที่จังหวัด สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส จำนวน 16 ตัวอย่าง  ร้านค้าทั่วไปในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 2 ตัวอย่าง ร้านค้าออนไลน์ Lazada และ Shopee จำนวน 5 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2564         น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ กล่าวว่า “ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพทางเพศชาย ที่เราสุ่มสำรวจนั้น นำมาตรวจวิเคราะห์ยาควบคุมพิเศษ 3 ชนิด ได้แก่ ซิลเดนาฟิล (Sildenafil), ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) พบ 7 ใน 23 ตัวอย่าง มีซิลเดนาฟิลและทาเดนาฟิล แต่ไม่พบสารวาร์เดนาฟิล แบ่งเป็นตรวจพบทั้งซิลเดนาฟิลและทาเดนาฟิล จำนวน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ NATURAL HERBS COFFEE Kopi Jantan Tradisional สั่งซื้อจากร้านค้าทั่วไป ในตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ สงขลา         และตรวจพบซิลเดนาฟิล อีกจำนวน 6 ตัวอย่าง ได้แก่ 1. KOPI JANTAN TRADISIONAL ENERGY COFFEE (กาแฟสมุนไพรธรรมชาติ) สั่งซื้อจากร้านค้าทั่วไป ในตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ สงขลา 2. MA KHAW ม้าขาว คอฟฟี่ กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผงผสม สูตรดั้งเดิม กลุ่มสหมั่งคั่ง สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Shopee 3. GOMAX COFFEE โกแม็กซ์ คอฟฟี่ กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Shopee 4. AAAAAAA KOPI JANTAN TRADISIONAL (เสือสิงโต) กาแฟสมุนไพรธรรมชาติ สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Lazada 5. KOPI PALING SEDAP 7 ดาว (ม้า 3 ตัว) สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Lazada 6. AAAAA Kopi Jantan Tradisional สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Shopee         จากเรื่องนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ส่งผลทดสอบให้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินการทางกฎหมายต่อไป โดยบทลงโทษของการพบสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพเพศชายนั้น กฎหมายให้ปรับสูงสุดที่ 150,000 บาท เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย และมีซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันเป็นส่วนผสม ซึ่งถือว่าเป็น “อาหารไม่บริสุทธิ์” ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจเข้าข่ายอาหารปลอมหากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ตามมาตรา 25(2) ประกอบมาตรา 27(4) ต้องระวางโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท และเข้าข่ายมาตรา 40 ประกอบมาตรา 41 กรณีโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างเกินจริง มีโทษโฆษณาโดยฝ่าฝืนมาตรา 40 มีโทษตามมาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 41 มีโทษตามมาตรา 71 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท สำหรับกรณีของการโฆษณาขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ที่มีลักษณะหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อและเข้าใจผิดในคุณสมบัติ หรือบรรยายสรรพคุณเกินจริงนั้น ระวังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายบนสื่อออนไลน์ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบเป็นความผิดจริง อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับดอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 (1) "อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่นำจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท"         ด้าน ภญ.ชโลม  เกตุจินดา ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวว่า “จากข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า ซิลเดนาฟิล (Sildenafil), ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) เป็นยากลุ่มที่ใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องใช้ใบสั่งของแพทย์ในการซื้อยาเท่านั้น เนื่องจากมีผลข้างเคียงสูง เช่น อาการปวดศีรษะ ตาลาย ความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคตับและไต ความดัน เบาหวาน และโรคหัวใจ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจนถึงชีวิตได้”         นส.มะกรือซง สาแม คณะทำงานเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า “การเก็บตัวอย่างในพื้นที่นั้นเก็บจากการร้องเรียนของผู้บริโภคในพื้นที่ ซึ่งมีข้อมูลจากผู้บริโภคว่าได้รับประทานกาแฟผสมสมุนไพรและมีอาการมึนไป 2 วัน จึงได้ตรวจสอบไป 13 อำเภอ ซึ่งไม่ได้มีแค่ตัวเดียวแต่มีผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ 12 ตัวอย่าง เมื่อเก็บตรวจสอบไปเจอ 2 ตัวอย่างที่พบสาร ซึ่งภาพรวมเกี่ยวกับสินค้าในพื้นที่จำหน่วยโดยลักษณะมีรถนำมาฝากขายร้านค้าซึ่งไม่ได้เป็นของทางร้านค้าจำหน่ายเอง”         น.ส.จุฑา สังขชาติ    ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวถึงการทำงานเฝ้าระวังครั้งนี้ว่า “การที่เลือกสินค้าตัวนี้มาทดสอบเพราะอะไรเริ่มจากทางภาคใต้มีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากวิถีชีวิตที่ต้องกรีดยางและต้องดื่มกาแฟตอนเช้า และจากการที่ได้ร่วมงานกับเครือข่ายนราธิวาส มีผลิตภัณฑ์ที่กาแฟลักษณะแบบนี้เป็นที่นิยมหลากหลายยี่ห้อมีลักษณะราคาแพงกว่ากาแฟทรีอินวันทั่วไป ซึ่งมีราคาแพงและเป็นที่นิยม เช่น 4 ซอง 100 บาท ซึ่งมีผู้บริโภคได้กินกาแฟประเภทนี้และหัวใจวาย จึงได้ตรวจสอบพบว่ามีผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ในหลายพื้นที่จังหวัด  ส่วนการทำงานในพื้นที่ต่อ ทางเราจะมีการเฝ้าระวังในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานร่วมกับ สสจ.นราธิวาส และจากการได้พูดคุย เราจะทำการเตือนภัยและให้ความรู้ไปยังผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจ และเรามองไปถึงการทำงานระยะยาวระหว่างคณะกรรมการไทยร่วมกับทางมาเลเซียในการเฝ้าระวังสินค้าชายแดน โดยจะผลักดันให้มีตัวแทนผู้บริโภคไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการแก้ไขปัญหามากยิ่งขึ้น และร่วมผลักดันในเชิงนโนบายต่อไป” ติดตามรายละเอียดผลการทดสอบได้ที่  https://www.chaladsue.com/article/3789 ประสานงานรายละเอียดได้ที่ : ชนิษฎา วิริยะประสาท โทรศัพท์ 081 356 3591  หรือ 086 765 9151

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 10 ปีผ่านไป มหากาพย์ ‘สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ ยังไม่จบ

        ‘แร่ใยหิน’ เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ ? มีการยืนยันชัดเจนแล้วว่า เป็นอันตรายจริง           จากรายงานวิจัยรองรับหลายชิ้นทั้งของไทยและต่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลกระบุว่า แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หรือคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน ก็มีมติเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2557 ว่าแร่ใยหินไครโซไทล์เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างชัดเจน เป็นต้น         สิ่งนี้เป็นเหตุให้หลายประเทศยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ยกเว้นประเทศไทย ทำไม ? ทั้งที่ภาควิชาการ หน่วยงานรัฐ บุคลากรสาธารณสุข ผู้ประกอบการ กลุ่มแรงงานและภาคประชาชน พยายามผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2549 สิ่งที่สะท้อนกลับมามีเพียงความเงียบงัน การนิ่งเฉย และสารพัดเหตุผลของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบและผู้ประกอบอีกจำนวนหนึ่งที่ยังยืนยันจะใช้แร่ใยหิน         อันที่จริง นี่เป็นเรื่องปกติในสังคมไทยที่เรื่องสุขภาพของประชาชนและผู้บริโภคมักมาทีหลังเหตุผลด้านเศรษฐกิจและผลประโยชน์         มติสมัชชาสุขภาพ ‘สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’         หมุดหมายสำคัญที่เป็นรูปธรรมในเรื่องนี้คือมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 มติที่ 1 เรื่องมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2553 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในวันที่ 12 เมษายน 2554 จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รวมถึงภาคีเครือข่ายต่างๆ ก็เดินหน้าตามยุทธศาสตร์ของมติสมัชชาทันที         ยุทธศาสตร์สังคมไทยไร้แร่ใยหินประกอบด้วยมาตรการหลายอย่างที่ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ เช่น ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมควบคุมแร่ใยหินที่เป็นวัตถุดิบ (ไครโซไทล์) ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 อย่างเร่งด่วนภายในปี 2554 ซึ่งจะห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง การขอให้กระทรวงมหาดไทยเป็นแกนกลางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนามาตรการเพื่อควบคุมการรื้อถอน ซ่อมแซม ต่อเติมอาคารหรือวัสดุที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ และการกำหนดมาตรการการทิ้งขยะแร่ใยหิน โดยเฉพาะในกิจการก่อสร้างและการบริการติดตั้ง การขอให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น โดยต้องแล้วเสร็จภายในปี 2555         แต่การออกแบบกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและ สช. ไม่มีอำนาจในการสั่งการหน่วยงานต่างๆ ให้ปฏิบัติตาม การ ‘ขอให้’ ก็คือการขอความร่วมมือ ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละหน่วยงานจะมีกะจิตกะใจให้ความร่วมมือหรือไม่         10 ปีผ่านมาหลังจากมติสมัชชาฯ สังคมไทยก็ยังไม่ปลอดแร่ใยหิน         8 ปีผ่านไป กระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน         19 มิถุนายน 2556 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งข้อเสนอถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ผลการดำเนินการตามคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2556 โดยระบุว่า กระเบื้องแผ่นเรียบและกระเบื้องยางปูพื้นจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่กำหนดกรอบระยะเวลาการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบในการผลิตภายใน 2 ปี ส่วนผ้าเบรกและคลัทช์ ท่อซีเมนต์ใยหิน และกระเบื้องมุงหลังคา จะยกเลิกภายใน 5 ปี         ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะเลขานุการคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นว่าด้วยการทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน กล่าวว่า ในครั้งนั้นมีการขับเคลื่อนให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกกฎหมายระบุให้ไครโซไทล์เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่าไม่สามารถประกาศเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ได้ เพราะจะทำให้ประชาชนทั่วไปที่ครอบครองผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์อยู่ผิดกฎหมาย         “แต่ตรงนี้หากพิจารณาดูดีๆ มีสารเคมีหรือวัตถุดิบต่างๆ ที่ประกาศเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 อยู่หลายรายการ โดยเฉพาะแร่ใยหินประเภทอื่นที่ไม่ใช่ไครโซไทล์ ก็ถูกประกาศเป็นประเภทที่ 4 ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่ต้องมีการรื้อถอนกระเบื้องมุงหลังคาที่ทำจากแร่ใยหินที่ไม่ใช่ไครโซไทล์”         โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้ใช้กฎหมายอื่นๆ และค่อยๆ ลดการใช้ จนกระทั่งยกเลิกแร่ใยหินไครโซไทล์ได้ภายใน 5 ปี ตามข้อเสนอข้างต้น ซึ่งถ้านับจากปี 2556 จนถึงปัจจุบัน การยกเลิกกลับยังไม่เกิดขึ้น         ทำไมจึงไม่ยกเลิก         ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า มีข้อสมมติฐานว่าไทยนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์จากรัสเซียเป็นหลัก ซึ่งไปเกี่ยวพันกับประเด็นการเจรจาทางการค้าระหว่างรัสเซียกับไทย โดยทางรัสเซียเสนอว่าจะส่งผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการมาช่วยศึกษาว่าแร่ใยหินไครโซไทล์มีผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยจริงหรือไม่ อย่างไร แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขตอบปฏิเสธ         ขณะเดียวกัน ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ซึ่งเป็นศูนย์ที่มีเครือข่ายทั่วโลก อ้างข้อมูลของ ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ที่ระบุว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินในประเทศไทยค่อนข้างน้อยจึงไม่คุ้มที่จะยกเลิกการนำเข้า สช. จึงมอบหมายให้ ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ กับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งและกระทรวงสาธารณสุขศึกษาจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินในปี 2558 และ 2559 ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วย 28 รายใน 2 ปี         เมื่อเห็นข้อมูลการศึกษานี้อาจรู้สึกว่า ผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินก็น้อยจริงเหมือนที่ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ของไทยนำเสนอ แต่เรื่องนี้มีรายละเอียดซับซ้อนกว่านั้น และถูกใช้เป็นข้ออ้างไม่ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน         ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ อธิบายว่า แร่ใยหินสามารถทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ แต่การวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดเหตุแร่ใยหินโดยเฉพาะไครโซไทล์ทำได้ยาก เนื่องจากมะเร็งปอดมีสาเหตุหลักจากการสูบบุหรี่ ดังนั้น ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งปอดและสงสัยว่าจะเกิดจากแร่ใยหินจะต้องมีการตัดชิ้นเนื้อปอดหรือนำน้ำล้างปอดมาตรวจเพื่อหาเส้นใยแร่ใยหิน จากการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ มีผู้ที่เป็นมะเร็งปอดจากโรคเหตุแร่ใยหินไม่ถึงร้อยละ 20 เนื่องจากไครโซไทล์เป็นเส้นใยที่มีรูปร่างคดเคี้ยวและเปราะบางมาก เมื่อเข้าไปในร่างกายก็จะสลายและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด การตรวจพบจึงน้อยกว่าแร่ใยหินชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่ามะเร็งปอดที่เกิดจากแร่ใยหินน่าจะมีจำนวนมากกว่ามะเร็งเยื่อเลื่อมจากแร่ใยหินค่อนข้างมากประมาณ 4-5 เท่า         สำหรับมะเร็งเยื่อเลื่อมก็เช่นกัน โรคนี้มักจะเป็นบริเวณเยื่อหุ้มปอด การวินิจฉัยจะต้องตัดชิ้นเนื้อเยื่อหุ้มปอดไปย้อมพิเศษทางห้องปฏิบัติการและเฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นเซลล์ของเยื่อหุ้มปอดเท่านั้น เหตุนี้เมื่อมีอาการบริเวณนั้นก็อาจคิดว่าเป็นมะเร็งปอด ทำให้ไม่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอด แต่หากวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดตามขั้นตอน ยืนยันได้ว่าสาเหตุเกิดจากการได้รับแร่ใยหินแน่นอน         “อีกประเด็นหนึ่งสำหรับมะเร็งเยื่อเลื่อมก็คือหลังจากได้รับหรือสัมผัสแร่ใยหินเข้าไปแล้วจะใช้เวลา 30 ถึง 40 ปีกว่าที่จะเกิดมะเร็งเยื่อเลื่อมได้ เพราะฉะนั้นบางทีเขาอาจเกษียณแล้ว แล้วเกิดอาการขึ้นมา เราก็ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนหรือลืมไปแล้วว่าในอดีตเคยทำอะไรที่สัมผัสกับแร่ใยหิน”         อีกเหตุผลหนึ่งที่กลุ่มผู้ผลิตไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกแร่ใยหินคือ วัตถุดิบทดแทนแร่ใยหินมีราคาสูงกว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า วัตถุดิบที่ใช้ทดแทนแร่ใยหินมีหลายชนิด มีอัตราอากรร้อยละ 0-5 ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งยังมีวัตถุดิบบางรายการ เช่น เส้นใยที่ได้จากธรรมชาติสามารถผลิตได้ในประเทศ ดังนั้น อัตราภาษีขาเข้าจึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สินค้าที่ใช้วัตถุดิบอื่นเป็นส่วนประกอบแทนแร่ใยหินมีราคาสูงขึ้น         จะเห็นได้ว่า ความเดือดร้อนของประชาชน การผลิตผ้าเบรกด้วยแร่ใยหินมีความปลอดภัย การวินิจฉัยและระยะเวลาในการแสดงอาการของมะเร็งเหตุแร่ใยหิน และความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ เป็นประเด็นที่มักถูกนำมาใช้กับการเมืองเรื่องแร่ใยหินเสมอ         อีกครั้งและอีกครั้ง         การขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมและมติสมัชชาฯ มาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน แม้ยังคงลอยอยู่ในอากาศ แต่ก็ยังผลให้ช่วงตั้งแต่ปี 2550 การนำเข้าแร่ใยหินมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทว่า ข้อมูลปี 2559 ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีอัตราการนำเข้าแร่ใยหินสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก แม้ว่า 66 ประเทศทั่วโลกจะยกเลิกการใช้แร่ใยหินไปแล้ว นอกจากนี้ ตัวเลขการนำเข้าในปี 2560 ยังกลับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 7,000 ตัน จึงเกิดการผลักดันให้มีการ ‘ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ อีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เกิดการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน สร้างความเข้มแข็งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และชุมชน ส่งเสริมการใช้สารทดแทนที่ปลอดภัย รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ติดตามกลุ่มเสี่ยง และทำการวิจัยเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย         จากการดำเนินการที่ผ่านมาพบข้อจำกัดและอุปสรรคหลายประการ เช่น กลุ่มแรงงานก่อสร้างอิสระยังเข้าถึงข้อมูลอันตรายจากแร่ใยหินไม่มากนัก การรื้อถอน ซ่อมแซม ต่อเติมอาคารเก่าที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์แร่ใยหิน รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์แร่ใยหินในอาคารก่อสร้างใหม่ ยังไม่มีบทบัญญัติเฉพาะในการควบคุมหรือห้ามใช้ รายงานจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุใยหินเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี แต่ยังขาดระบบในการเฝ้าระวังและประชาสัมพันธ์ข้อมูลดังกล่าว ควรมีการจัดทำระบบเฝ้าระวังและตรวจสอบการรายงานโรคเหตุใยหินที่เหมาะสม เป็นต้น         ทางสมัชชาฯ จึงทำข้อเสนอหลายประการเพื่อขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ อีกครั้ง เช่น        · ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงมหาดไทยเร่งรัดดำเนินการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ทั้ง 5 ชนิด ภายในปี 2565 และ 2568        · ขอให้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางและมาตรการในการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบแร่ใยหิน และการสนับสนุนให้มีมาตรการที่ทำให้การใช้วัสดุทดแทนแร่ใยหินมีราคาที่ถูกลง        · ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้มีมาตรการในการกำจัดขยะที่มีแร่ใยหินและกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบในการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ        · ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องผลกระทบของแร่ใยหินและออกข้อบัญญัติของท้องถิ่นในกระบวนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและกำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน        · ขอให้กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางปฏิบัติให้หน่วยงานภาครัฐ ใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ปลอดแร่ใยหิน        · ขอให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหน่วยงานหลัก ในการสนับสนุนเครือข่ายแรงงานและภาคประชาชน ในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบและรณรงค์ให้ใช้วัสดุที่ไม่มีแร่ใยหินในการก่อสร้าง รื้อถอน ซ่อมแซม และต่อเติมอาคาร        · ขอให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำระบบลงทะเบียนสถานประกอบกิจการและแรงงานที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหิน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการใช้ข้อมูลการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงแรงงานที่ทำงานกับแร่ใยหิน ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนงาน หรือออกจากงานไปแล้ว เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพจากเหตุแร่ใยหิน         ไร้แร่ใยหินหรือไม่ คำตอบยังอยู่ในสายลม          เมื่อถาม ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ ว่าการผลักดันให้สังคมไร้แร่ใยหินรอบนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่         “จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวเหมือนรอบที่แล้วขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องการนำเข้าจากรัสเซีย แต่ความพร้อมต่างๆ เทคโนโลยีสารทดแทนมีความพร้อมอยู่แล้ว เวลาที่มีการเชิญตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์มาคุยก็จะมีประเด็นพวกนี้อยู่ จริงๆ มติสมัชชาสุขภาพรอบนี้ปี 2562 ตอนแรกเน้นว่าทำอย่างไรจะเสริมความเข้มแข็งของประชาชนในการดูแล ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบที่ไม่มีแร่ใยหินและการรื้อถอนอย่างปลอดภัย การจัดการขยะอันตรายจากแร่ใยหินโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเห็นว่ามีส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาควบคู่กันไปกับมาตรการเดิมที่ให้ยกเลิกการนำเข้าและการใช้ก็คือการสร้างการตระหนักรับรู้ของประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการกับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันระหว่างที่รอการยกเลิก”          พอถามย้ำอีกครั้ง ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ ตอบว่า         “ผมว่าถึงที่สุดแล้วก็น่าจะทำได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ตามระยะเวลาที่เสนอไปหรือเปล่า”        ในส่วนของภาคประชาชนจะต้องรอไปอีก 10 ปีหรือนานกว่านั้นหรือไม่? คงขึ้นกับความเข้มแข็งและการขับเคลื่อนที่มีพลังมากพอจะกดดันให้หน่วยงานรัฐเข้าอกเข้าใจว่า สุขภาพของประชาชนในประเทศเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 7 วันอันตราย

เริ่มต้นปีใหม่ ปี 2562 ที่หลายคนบอกว่าเป็นปีหมูทอง แสดงว่าน่าจะเป็นปีที่มีแต่สิ่งดีๆ เป็นปีที่พวกเราทุกคนน่าจะมีความหวังเรืองรองเหมือนดั่งทองกับการงานด้านต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงการลดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยแม้ว่าในรอบปีที่ผ่านมาต้องเรียกว่าเป็นปีหมาไฟก็ว่าได้ เพราะเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งใหญ่ที่มีความรุนแรงติดต่อกันหลายครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตบาดเจ็บหลายราย มีการประท้วงขอขึ้นค่าโดยสารของกลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารเกือบทุกประเภททั้งรถแท็กซี่ รถตู้ รถทัวร์โดยสาร หรือแม้กระทั่งรถเมล์          รวมถึงประเด็นห้ามรถตู้โดยสารที่อายุ 10 ปี วิ่งรับส่งคนโดยสารที่เรียกได้ว่าสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่ใช้บริการเป็นจำนวนมาก นำไปสู่การประท้วงและรวมกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร 731 รายยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวและยกเลิกคำสั่งห้ามรถตู้สิบปีวิ่งรับส่งคนโดยสาร          อย่างที่ทุกคนทราบกันเป็นอย่างดีแล้วว่า ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของโลกเรื่องความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน โดยมีภาพรวมดีขึ้นขยับจากอันดับที่ 2 มาเป็นอันดับที่ 9  แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้ลดลง ที่สำคัญประเทศไทยยังติดอยู่ใน 10 อันดับอยู่ดี ขณะที่อัตราการตายจากรถจักรยานยนต์ยังคงสูงติดอันดับ 1 ของโลก โดยเป็นการเสียชีวิตที่เกิดตลอดทุกช่วงของปี          ซึ่งหากจะนับตัวเลขเฉพาะช่วง 7 วันอันตราย คือ ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม – 2 มกราคม  ในสองปีหลังสุดพบว่า ในปี 2561 เกิดอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศทั้งหมด 3,841 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 423 คน ผู้บาดเจ็บ 4,005 คน ขณะที่ในปี 2562 เกิดอุบัติเหตุรวมทั้งสิ้น  3,791 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 463 คน และมีผู้บาดเจ็บรวม 3,892 คน โดยมีจังหวัดนครศรีธรรมเป็นจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดจำนวน 118 ครั้ง และเป็นจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุดจำนวน 137 คน ขณะที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดจำนวน 25 ราย          ทั้งนี้จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วง 7 วันอันตรายปี 2562 พบว่า มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย หรือลดลง 1.3% และ 5.5% ตามลำดับ  ขณะที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงกว่าปีที่แล้วถึง 10%  โดยสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการดื่มสุราแล้วขับรถ ขับรถด้วยความเร็ว การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย รวมถึงผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง          ขณะที่อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะในช่วง 7 วันอันตรายของปี 2562 นี้ จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกระบุว่า มีอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะจำนวน 5 ครั้ง ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ โดยผลการตรวจสภาพความพร้อมรถโดยสารทั่วประเทศ 132,813 คัน พบรถโดยสารบกพร่อง 7 คัน สั่งเปลี่ยนรถ 6 คัน และพ่นสีห้ามใช้รถทันที 1 คัน นอกจากนี้ยังได้ตรวจความพร้อมพนักงานขับรถ 132,813 ราย พบพนักงานขับรถที่ไม่มีความพร้อมร่างกายอ่อนเพลีย 2 ราย          แต่จากรายงานผลการตรวจเข้มของกรมการขนส่งทางบกจากสถานีขนส่งและจุดจอดรถ 196 แห่งทั่วประเทศที่ระบุว่าไม่มีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะเลยนั้น อาจจะคลาดเคลื่อนขัดกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอยู่บ้าง          เพราะเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2561 ในช่วง 7 วันอันตราย เกิดอุบัติเหตุรถตู้โดยสารประจำทางของบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด เสียหลักตกข้างทางบริเวณถนนสายฮอด – แม่สะเรียง เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บมากถึง 8 ราย โชคดีที่เหตุครั้งนี้ไม่มีผู้เสียชีวิต ไม่งั้นก็คงเป็นข่าวใหญ่สะเทือนขวัญส่งท้ายปีกัน แต่จำนวนผู้บาดเจ็บในครั้งนี้กลับไม่ถูกนำรวมกับข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกในช่วง 7 วันอันตราย          อย่างไรก็ดีแม้ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่ จะไม่มีความรุนแรงชนิดที่มีคนเสียชีวิตกับอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะให้เราได้เห็นกันก็ตาม แต่ทุกฝ่ายทุกคนก็ไม่อาจนิ่งเฉยหรือปล่อยปละละเลยกันเหมือนเคยได้ การเฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดไม่ควรทำแค่ช่วง 7 วันอันตราย แต่ควรมีมาตรการที่สามารถทำได้ในทุกวัน         แน่นอนแม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายหรือมาตรการแล้ว อาจจะมีผู้กระทำความผิดบางรายที่หลุดเล็ดลอดไปบ้าง แต่ภาพรวมต้องถือว่าสถานการณ์ของรถโดยสารสาธารณะดูดีมีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นจากมาตรการที่เข้มข้นและความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ภาคประชาชน อาสาสมัครเฝ้าระวัง ผู้ประกอบการ ที่ร่วมด้วยช่วยกันอยู่ในกฎกรอบกติกา ที่ร่วมกันสร้างให้ประชาชนและทุกฝ่ายทุกคนตระหนักถึงวัฒนธรรมความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะและความปลอดภัยทางถนนร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 สูบบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่า จริงหรือ ?

จากผลสำรวจ ปี 2560 พบประชากรไทย ราว 10.7 ล้านคน บริโภคยาสูบ(ชนิดมีควัน) หรือเท่ากับ ร้อยละ 19.1 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป อันตรายจากการสูบบุหรี่จากผลสำรวจสถิติการสูบบุหรี่ของคนไทย จากโครงการสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ ปี 2560 พบว่า จำนวนผู้บริโภคยาสูบชนิดมีควัน คือ 10.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.1 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยมีอัตราการบริโภคยาสูบในเพศชายร้อยละ 37.7 และในเพศหญิงร้อยละ 1.7และจากการสำรวจการได้รับควันบุหรี่มือสองในช่วงระยะเวลา 30 วัน พบว่า 17.3 ล้านคน ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านอย่างน้อยเดือนละครั้งการสูบบุหรี่เพิ่มโอกาสในการเป็นโรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง หญิงมีครรภ์ที่สูบบุหรี่มีโอกาสแท้งลูกมากขึ้น และเด็กที่คลอดออกมาอาจมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังเพิ่มโอกาสของอาการหัวใจวาย และโรคมะเร็งประเภทอื่นๆ อีกด้วยโอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งปอดจากการสูบควันนั้นไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับลักษณะของการสูบ สารที่สูบ และความถี่ จากสถิติพบว่า คนที่สูบบุหรี่มีโอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งปอดประมาณ 10 - 20 เท่าของคนที่ไม่สูบบุหรี่ การสูดสารพิษและสารก่อมะเร็งจากควันบุหรี่ เช่น เรดอนและเรเดียม-226 เชื่อว่าเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งจากบุหรี่ธรรมดาสู่บุหรี่ไฟฟ้าจากการให้ข้อมูลที่ชัดเจนทั้งในทางสถิติและคำเตือนที่หน่วยงานรัฐได้พยายามแจ้งสื่อสารต่อประชาชนมาเป็นเวลาหลายสิบปี ทุกคนน่าจะตระหนักดีถึงอันตรายอันร้ายแรงของการสูบบุหรี่ อย่างไรก็ตามผู้ที่เสพติดการสูบบุหรี่ การละเลิกจากสิ่งนี้อาจเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย นวัตกรรมหนึ่งจึงเกิดขึ้น เราเรียกมันว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” หรือให้ถูกต้องคือ “ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่ง “ฉลาดซื้อ” เราจะมาหาคำตอบกันว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่(ธรรมดา) จริงๆ หรือ ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป จริงหรือ ?   คำตอบคงต้องแบ่งเป็นสองประการ คือ ถ้าจะวัดกันที่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ปล่อยควันยาสูบที่เป็นอันตราย บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายตรงนี้น้อยกว่าจริง   แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อมาคือ ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าอาจได้รับมีสารตกค้าง และความเสี่ยงในการรับนิโคตินมากเกินไปบุหรี่ไฟฟ้าได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะจากบริษัทบุหรี่ว่า อาจไม่มีความปลอดภัยในการใช้ นอกจากนี้บริษัทยาขนาดใหญ่ที่สนใจเกี่ยวกับยาเพื่อการเลิกสูบบุหรี่ เช่น แผ่นแปะนิโคติน หรือเม็ดอมนิโคติน ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินอย่างเป็นธูปธรรมต่อกลุ่มสาธารณสุขเพื่อเรียกร้องให้มีการห้ามยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากยาสูบอิเล็กทรอนิกส์มีผลต่อความอยากบุหรี่ และอาจทำให้เลิกบุหรี่ได้ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเครื่องมือทางการแพทย์และได้รับการยอมรับในหลายประเทศ แต่ก็เป็นสินค้าผิดกฎหมายในอีกหลายประเทศเช่นกันในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการห้ามนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศโดยใช้กฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ - พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 มาตรา 10 เรื่องห้ามผลิต นำเข้า เพื่อขายหรือเพื่อจ่ายแจกเป็นการทั่วไปหรือโฆษณาสินค้าอื่นใดที่มีรูปลักษณะ ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งเลียนแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิการ์แรต หรือบุหรี่ซิการ์ มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท - พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510  มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย หรือนำ หรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งยาแผนปัจจุบัน เว้นได้แต่ได้รับอนุญาตฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และมาตรา 72 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตขาย หรือนำเข้า หรือสั่งนำเข้ายาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มาในราชอาณาจักร ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท - พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีหรือของต้องจำกัดหรือของต้องห้าม หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง เข้ามาในราชอาณาจักรสยาม ความผิดครั้งหนึ่งจะมีโทษปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรขาเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำโดยกระทรวงสาธารณสุขอ้างว่า พบปริมาณนิโคตินสูงกว่าบุหรี่ทั่วไปหลายเท่า และมีผลเสียต่อผู้ที่สูบ หากสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ 1 มวน จะเท่ากับสูบบุหรี่ทั่วไปถึง 15 มวน หากนำไปใช้โดยปราศจากการดูและของแพทย์จะเป็นอันตรายต่อหัวใจและหลอดเลือดได้ขณะเดียวกันผู้ใช้ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ก็มีการโต้แย้งว่าบุหรี่จริง มีนิโคตินที่ได้รับจากการเผาไหม้ใบยาสูบ ซึ่งนอกจานิโคตินแล้ว ยังมีสารก่อมะเร็งและสารพิษมากมายปัจจุบันในสังคมไทยยังไม่อนุญาตให้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า และไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกประกาศแล้วว่าบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่อุปกรณ์ช่วยเลิกบุหรี่ จากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMA ชี้ว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้า (e-cigarette) ไม่ได้ทำให้อัตราการเลิกบุหรี่ลดลง หลังจากการใช้ 1 ปี แต่อย่างใดแม้ว่ายาสูบอิเล็กทรอนิกส์จะปราศจากส่วนผสมของใบยาสูบ และการสันดาปที่ก่อให้เกิดสารพิษกว่า 7,000 ชนิด ในบุหรี่จริงก็ตาม แต่ผู้สูบยังคงได้รับนิโคตินอยู่ ซึ่งการรับนิโคตินที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดการระคายเคือง คลื่นไส้ และมีผลต่อหัวใจได้ จึงไม่อาจกล่าวว่า ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ ปลอดภัยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เรื่องต้องรู้ ความต่างของบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้าบุหรี่ มีลักษณะเป็นทรงกระบอกม้วนห่อด้วยกระดาษ ขนาดปกติจะมีความยาวสั้นกว่า 12 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร มีใบยาสูบบดหรือซอยบรรจุอยู่ภายใน ปลายด้านหนึ่งใช้สำหรับจุดไฟ อีกด้านจะมีตัวกรองใช้สำหรับใช้ปากดูดควันไส้บุหรี่ ทำจากใบยาสูบตากแห้ง นำไปผ่านกระบวนการทางเคมี ควันบุหรี่ประกอบด้วยสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด ซึ่งมีสารเคมีที่เป็นสารพิษ สารที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และสารก่อมะเร็ง สารเคมีที่มีอยู่ในบุหรี่ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide), คลอโรฟอร์ม (Chloroform), ไซยาไนด์/ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Cyanide/Hydrogencyanide), ฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde), นิโคตีน (Nicotine), ทาร์ (Tar)บุหรี่ไฟฟ้า หรือ ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Cigarette) หรือบุหรี่ไอน้ำ (Vapor Cigarette) คือผลิตภัณฑ์ยาสูบจำพวกบุหรี่ บุหรี่ซิการ์ และบุหรี่แบบกล้องสูบ ซึ่งทำขึ้นจากอุปกรณ์ประจุแบตเตอรีที่จะส่งผ่านนิโคตินไปยังผู้สูบ โดยทั่วไปมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบที่คล้ายกับบุหรี่จริง กับแบบที่เรียกว่าแบบปากกา (Pen style) มีลักษณะเหมือนบุหรี่ที่มีปลายด้านก้นกรองเสียบอยู่กับตัวต่อก้นกรองอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้านั้นถูกคิดค้นขึ้นในประเทศจีนบุหรี่ไฟฟ้าสามารถอดแยกชิ้นส่วนได้เป็น 3 ส่วน คือ- ส่วนแบตเตอรี่ (Battery) คือ ส่วนที่มีลักษณะคล้ายกับตัวบุหรี่ มีความยาวราว 55-80 มิลลิเมตร ส่วนปลายมักมีหลอดไฟแอลอีดี (LED) แสดงสถานะการทำงาน และแจ้งเตือนระดับแบตเตอรี่ มีทั้งแบบอัตโนมัติและแบบตรวจด้วยมือ- ส่วนตัวสร้างควัน และความร้อน (Atomizer) คือ ส่วนกลาง จะมีไมโครชิพ (Microship Circuit) ควบคุมการทำงาน และขดลวดอิเล็กตรอนเพื่อเปลี่ยนน้ำยา (e-Liquid) ให้กลายเป็นละอองไอน้ำ และสร้างกลิ่นเสมือนบุหรี่จริง- ส่วนเก็บน้ำยา (Cartridge) หรือส่วนปากดูด (Mouth piece) จะมีรูปร่างคล้ายปากเป็ด หรือทรงกระบอก และอีกด้านหนึ่งจะเป็นกระเปาะใส่วัสดุซับน้ำยาไว้นอกจากส่วนประกอบในตัวเครื่องแล้ว ส่วนประกอบสำคัญของยาสูบอีกอย่างคือ น้ำยา (e-Liquid) ซึ่งผลิตจาก สารโพรพีลีน กลีเซอรอล (Propylene Glycerol) หรือ สารโพรพีลีน ไกลคอล (Propylene Glycol) หรือเรียกสั้นๆ ว่าสารพีจี (PG) ซึ่งเป็นตัวทำละลายระดับที่บริโภคได้ (Food-grade) ซึ่งสารพีจีนั้นมีอยู่ในเครื่องสำอางแทบทุกชนิด รวมทั้งในผลิตภัณฑ์จำพวก แชมพู สบู่ โฟมล้างหน้า หรือแม้กระทั่งลูกอม สารพีจีนี้อาจมีการสะสมหรือระคายเคืองหากได้รับเป็นเวลานานระดับของสารนิโคตินในน้ำยา โดยทั่วไปจะกำหนดไว้ดังนี้- ระดับสูงมาก (Extra High) มีระดับนิโคติน 20 - 24 มิลลิกรัม- ระดับสูง (High) มีระดับนิโคติน 16 - 18 มิลลิกรัม- ระดับปานกลาง (Medium) มีระดับนิโคติน  11 - 14 มิลลิกรัม- ระดับต่ำ (Low) มีระดับนิโคติน  4 - 8 มิลลิกรัม- ไม่มีนิโคติน (Non) มีระดับนิโคติน   0 - 2 มิลลิกรัมนอกจากนี้ ยังมีบางบริษัทที่ผลิตระดับนิโคตินสูงสุด (Super High) คือ 34 มิลลิกรัม ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อร่างกาย หากได้รับในปริมาณมากควันที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า คือ ไอน้ำที่เกิดจากปฏิกิริยาของสารพีจีที่ถูกคลื่นความร้อนไมโครเวฟจากตัวสร้างควันทำให้แตกตัวและดูดน้ำในอากาศกลายเป็นสายหมอกไอน้ำสีขาว ที่มีความคล้ายคลึงกับไอน้ำจากกาต้มน้ำ แต่มีความหนาแน่นและรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนมากกว่า ซึ่งแตกต่างจากควันบุหรี่จริงที่มีสีออกเทาแม้ว่ายาสูบอิเล็กทรอนิกส์จะปราศจากส่วนผสมของใบยาสูบ และการสันดาปที่ก่อให้เกิดสารพิษกว่า 7,000 ชนิด ในบุหรี่จริงก็ตาม แต่ผู้สูบยังคงได้รับนิโคตินอยู่ ซึ่งการรับนิโคตินที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดการระคายเคือง คลื่นไส้ และมีผลต่อหัวใจได้ จึงไม่อาจกล่าวว่า ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ ปลอดภัยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์เป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง สำหรับผู้ต้องการลดปริมาณพิษสะสม อันเกิดจากบุหรี่จริงและเพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่จริงนั้น ถูกต้องหรือไม่ ฉลาดซื้อจึงได้สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เพื่อคลายข้อสงสัยดังกล่าว“ความจริงอันหนึ่งที่ยอมรับกันทั่วไปก็คือ ถ้าคนสูบบุหรี่แล้วหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเลิกสูบบุหรี่เลย อันตรายจะน้อยกว่าซึ่งอันนี้จริง ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือ คนที่สูบบุหรี่แล้วหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า 80 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้เปลี่ยนไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียวแต่สูบทั้งสองอย่าง เขาจะสูบบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อไปในที่ๆ คนไม่ให้สูบบุหรี่ แต่เมื่อไหร่ที่เขาอยู่ในที่ๆ เขาสูบบุหรี่ได้ เขาก็จะสูบบุหรี่”จริงหรือไม่ ที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยไม่ให้เกิดนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ ? ศ.นพ.ประกิต ได้ให้ข้อมูลว่า จากรายงานขององค์กร The National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine หรือ สถาบันวิชาการทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และการแพทย์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (https://www.nap.edu/catalog/24952/public-health-consequences-of-e-cigarettes) ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นกลาง ได้สรุปรายงานเมื่อ เดือนมกราคม 2561 ว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถลดตัวเลขสถิติของนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ลง แต่กลับกันมีแนวโน้มว่าบุหรี่ไฟฟ้าอาจทำให้เกิดนักสูบบุหรี่หน้าใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน ซึ่งเริ่มเข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้า จากการติดตามในระยะเวลา 1 - 2 ปี ผลปรากฏว่า เด็กเหล่านั้นกลายมาสูบบุหรี่จริง มากกว่าเด็กที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 3 - 4 เท่า ซึ่งพบว่ามีรายงานในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยประเด็นที่น่ากังวลก็คือ บุหรี่ไฟฟ้าอาจทำให้เด็กหรือผู้ใหญ่ที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย มีความเข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่า เพราะไม่เหม็นเหมือนบุหรี่ธรรมดา ก็เริ่มติดบุหรี่ไฟฟ้า ติดนิโคติน แล้วก็เริ่มหันไปสูบบุหรี่จริง แม้แต่รายงานของคณะกรรมาธิการสาธารณสุขของประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ก็ได้มีการสั่งให้ค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ที่บุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้เยาวชนติดนิโคติน และหันมาสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น นี่คือประเด็นที่ประเทศออสเตรเลียก็ห่วงเช่นกันผู้ที่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทนบุหรี่ธรรมดา สามารถเลิกบุหรี่ได้จริงหรือ ?ศ.นพ.ประกิต ได้ให้ข้อมูลว่า มีหลักฐานรายงานที่ให้ข้อเท็จจริงว่า คนที่สูบบุหรี่จริงแล้วหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อการเลิกบุหรี่นั้น ไม่ได้มีประสิทธิภาพดีกว่าการเลิกบุหรี่ด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งยังคงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมการวิจัย โดยพบว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยในการเลิกบุหรี่ ยังคงต้องทำพร้อมกันควบคู่ไปกับการเข้ารับคำแนะนำ ตัวยา และกำลังใจจากแพทย์ผู้ดูแล การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่ด้วยตนเองนั้น มีโอกาสที่จะเลิกได้น้อยกว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าภายใต้ความดูแลของหมอ ซึ่งคล้ายกันกับการใช้ยาอดบุหรี่ “ความจริงอันหนึ่งที่ยอมรับกันทั่วไปก็คือ ถ้าคนสูบบุหรี่แล้วหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเลิกสูบบุหรี่เลย อันตรายจะน้อยกว่าซึ่งอันนี้จริง ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือ คนที่สูบบุหรี่แล้วหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า 80 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้เปลี่ยนไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียวแต่สูบทั้งสองอย่าง เขาจะสูบบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อไปในที่ๆ คนไม่ให้สูบบุหรี่ แต่เมื่อไหร่ที่เขาอยู่ในที่ๆ เขาสูบบุหรี่ได้ เขาก็จะสูบบุหรี่”บุหรี่ไฟฟ้านั้นยังพัฒนาไม่เต็มที่ เพราะการส่งนิโคตินไปสู่สมองยังไม่เท่าบุหรี่จริง ในแง่ความรื่นรมย์ การใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังให้ความรื่นรมย์ในการสูบสู้บุหรี่จริงไม่ได้ ถ้าคนที่สูบบุหรี่ธรรมดาหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเลิกสูบบุหรี่จริงได้ อันตรายจะน้อยกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดาแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าความตั้งใจเลิกบุหรี่ด้วยวิธีอื่นๆ โดยไม่พึ่งบุหรี่ไฟฟ้านั้นสามารถเลิกได้มากกว่าบุหรี่จริงนั้นมีการพัฒนามานานกว่าสองสามร้อยปี แต่สำหรับบุหรี่ไฟฟ้านั้นเพิ่งพัฒนาได้ไม่ถึง 10 ปี และบุหรี่ไฟฟ้าก็มีการเปลี่ยนเทคนิคการผลิตไปเรื่อยๆบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นแรก มีการนำขดลวดและสำลีชุปน้ำยาซึ่งสูบได้ 200 ครั้ง มีแบตเตอรี่ในตัว ใช้เสร็จแล้วทิ้งได้เลย ส่วนในน้ำยามีนิโคตินและสารเคมีอีกหลายตัว ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าก็มีทั้งประเภทเหลว หรือ แบบน้ำ รวมถึงล่าสุด มีการผลิตบุหรี่ไฟฟ้าแบบแห้ง (ที่ไม่ใช่นิโคตินเหลว) มีตัวชาร์จแบตเตอรี่ และตัวสูบ แยกออกจากกัน เมื่อดูดแล้วเกิดความร้อนซึ่งทำให้เกิดควัน บุหรี่ไฟฟ้าแบบใหม่นั้น ส่วนที่เป็นยาเส้น ไม่ใช่ใบยาแบบบุหรี่ธรรมดา แต่เป็นใบยาที่บดเป็นผง ใส่สารเคมี แล้วรีดเป็นแผ่น จากนั้นจึงตัดเป็นใบยาใหม่ แต่ยังคงใช้ความร้อนจากแบตเตอรี่เหมือนกันในประเทศญี่ปุ่น และออสเตรเลีย มีกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าที่เติมน้ำยาแบบเหลว เพราะนิโคตินถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในกฎหมายยาพิษ ในประเทศญี่ปุ่นอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบแห้งได้ เพราะไม่มีส่วนประกอบของนิโคตินเหลว (ซึ่งถือว่าเป็นยาพิษ) ส่วนประเทศออสเตรเลีย มีกฎหมายห้ามไม่ให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าทั้งรูปแบบนิโคตินแห้ง และ นิโคตินเหลวส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบเหลวได้ แต่ยังไม่อนุญาตให้ขายแบบแห้ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. FDA) ยังไม่เห็นด้วยกับบุหรี่ไฟฟ้าแบบแห้ง เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่มาสนับสนุนว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าชนิดน้ำที่ยังขายอยู่ในอเมริกา จะถูกออกกฎหมายควบคุมภายในปี 2021 กรณีดังกล่าวเป็นความหลากหลายของนโยบายในแต่ละประเทศต่อเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า อย่างเช่นในประเทศสิงคโปร์ที่ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิดบุหรี่ไฟฟ้าแบบแห้งเพิ่งออกวางจำหน่ายในตลาดเพียงแค่ปีกว่าๆ ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าแบบแห้งให้ควันที่น้อยกว่าบุหรี่จริง บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้มีเพียงแค่ผลิตภัณฑ์เดียว และยังมีส่วนประกอบต่างกันอีกด้วย ซึ่งบางรายงานก็บอกว่ามีอันตรายน้อย บ้างรายงานก็บอกว่าเยอะกว่า เพราะมีหลากหลายยี่ห้อ และประกอบไปด้วยสารเคมีกว่า 7,000 ตัวที่ใช้ทำกลิ่น (Favor)การซื้อบุหรี่ไฟฟ้าไปเพื่อใช้เลิกสูบบุหรี่เองส่วนใหญ่จะไม่สำเร็จ อาจจบลงด้วยการสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่จริง ซึ่งจากรายงานของสหรัฐอเมริกา พบว่า ภายใน 4 ปี เด็กมัธยมศึกษาตอนปลายสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.5 มาเป็นร้อยละ 16 ภายในระยะเวลา 4 ปี บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น เป็นสิ่งใหม่ ไม่มีกลิ่นเหม็น แอบสูบได้ ซึ่งปัจจุบันยังมีการพัฒนาให้ตัวสูบคล้ายกับธัมไดรฟ์ (Thumb Drive) ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถแอบนำเข้าไปในโรงเรียนได้ คนไทยมีแนวโน้มสูบบุหรี่ธรรมดาลดลง แต่มีแนวโน้มในการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขั้น จากข้อมูลสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2558 จากการสำรวจระดับประเทศในเด็กช่วงอายุ 13 - 15 ปี พบว่ามีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 3.3 ซึ่งเป็นเพศชายร้อยละ 4.9 เพศหญิงร้อยละ 1.9 ในความเป็นจริงแล้วเด็กผู้หญิงในวัยนั้นก็เริ่มสนใจทดลองสูบบุหรี่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ไม่เลือกที่จะสูบต่อ คือทดลองแล้วเลิก เพราะสังคมไม่ยอมรับ ผู้หญิงนั้นมีการทดลองสูบบุหรี่ไม่ได้น้อยกว่าผู้ชายเท่าไหร่ มันเป็นธรรมชาติ แต่ผู้ชายมีการทดลองต่อ ซึ่งถ้าลองเกิน 100 มวน ครึ่งหนึ่งของผู้ที่ลองจะติดบุหรี่ เพราะสารนิโคตินพูดกันให้ชัดในเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าก็คือ ถ้าเราสามารถเปลี่ยนคนสูบบุหรี่ธรรมดาทั้งหมด ให้หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาขณะนี้คือแนวโน้มมันอาจจะทำให้คนติดบุหรี่เพิ่มขึ้น จากคนที่ไม่ได้สูบ ก็เข้าไปติดบุหรี่ไฟฟ้า แล้วก็หันมาสูบบุหรี่จริง มันอันตรายในเชิงเพิ่มปริมาณคนสูบบุหรี่ให้เพิ่มขึ้นการนำเข้า - จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยตามกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ามาเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย รวมถึงกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งห้ามมิให้มีการขาย หรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้าแต่หากนักท่องเที่ยวนำเอาบุหรี่ไฟฟ้าติดตัวมาเพื่อใช้ส่วนตัว นั้นไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้นำเข้าเพื่อการจำหน่าย ซึ่งไม่มีกฎหมายห้ามไว้ เว้นแต่นำเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้สูบส่วนตัวสำหรับคนไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า นั้นไม่มีความผิดตามกฎหมาย จริงๆ ควรถามต่อไปว่าได้บุหรี่ไฟฟ้ามาจากไหน เพื่อสืบไปยังต้นตอที่นำมาจำหน่าย ซึ่งสำหรับคนขายนั้นมีความผิดทั้งจากการขาย และมีความผิดจากการนำเข้า ซึ่งไทยเองก็ยังไม่มีการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะยิ่งนับวัน ก็ยิ่งเห็นฤทธิ์ของบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และหลักฐานที่จะสนับสนุนว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้นช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้เองก็มีน้อยลงการห้ามมิให้มีการขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นการจำกัดสิทธิผู้บริโภคหรือไม่ต้องคิดถึงภาพรวมว่า สุดท้ายแล้วบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้คนสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ส่วนประเด็นว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่ ก็คงต้องบอกว่าประเทศไทย ไม่ใช่ประเทศเดียวที่จำกัดสิทธิเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ในประเทศออสเตรเลียก็มีการห้าม ญี่ปุ่นก็ห้ามบุหรี่ไฟฟ้าบางประเภท สิงคโปร์นั้นห้ามหมดเลย ห้ามแม้แต่การมีครอบครองก็ผิดกฎหมาย ซึ่งก็แล้วแต่บริบทของแต่ละประเทศต้องให้ความจริงกับผู้บริโภค เพราะธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าอยู่เบื้องหลังคนบางกลุ่มที่ออกมาให้ความเห็นต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะปิด หรือ เปิดขาย ก็ต้องให้ความรู้กับผู้บริโภคให้มากที่สุด เพราะบุหรี่ไฟฟ้าถูกบิดเบือนไปว่าไม่มีอันตรายซึ่งไม่ใช่ บุหรี่ไฟฟ้านั้นมีอันตราย แต่อาจจะน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา ส่วนผลกระทบในระยะยาวยังไม่สามารถบอกได้ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า “มีคนไทยเข้าใจผิดว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยไม่มีอันตราย ซึ่งความเข้าใจผิดเหล่านี้มาจากคำของคนขาย เขาจะอ้างประเทศอังกฤษ ต้องเข้าใจเพราะอังกฤษเขาตายจากการสูบบุหรี่ปีละเกือบแสนคน ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเขาเต็มที่ จากการป่วยจากการสูบบุหรี่ เขาเลยโปรโมทให้สูบบุหรี่ไฟฟ้า และเขาคุมการเข้าถึงของเด็ก เขาห้ามใส่พวกกลิ่นที่ดึงดูดนักสูบหน้าใหม่”อ้างอิง:- https://www.nap.edu/catalog/24952/public-health-consequences-of-e-cigarettes- 10 ความเชื่อผิดๆ ของการสูบบุหรี่ ที่คุณต้องทำความเข้าใจใหม่, หนังสือคู่มือชุดนิทรรศการยืม-คืน ส่งเสริมการพัฒนาทักษะชีวิตประเด็น “บุหรี่และยาสูบ” โดย สำนักศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.- Wikipedia (https://th.wikipedia.org/wiki/ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์)- ผลวิจัยสหรัฐชี้ บุหรี่ไฟฟ้า ทำติดยาสูบ 6.8 เท่า (มติชนออนไลน์) (https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_790745)- รายงานโครงการสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ ระดับโลก ปี 2554 (http://www.ashthailand.or.th/th/data_center_page.php?id=505)- e-cigarette โดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ (เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ)(http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/514474)-  https://www.honestdocs.co/cigarette-effects

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 เหตุใดมีเลข อย.จึงยังอันตราย

ช่วงนี้เกิดคำถามสำคัญขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแล กฎหมายอาหาร ยา เครื่องสำอาง ว่าเหตุใด สินค้ามี อย.ถึงยังเป็นอันตรายสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ประชาชนมีความสับสนในส่วนของเครื่องหมายที่ สำนักงาน อย. นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์สุขภาพแต่ละประเภท รวมกับความเข้าใจผิดของคนกลุ่มใหญ่ว่า “เครื่องหมาย อย.” มีค่าเท่ากับ “ปลอดภัย” (ซึ่งการสื่อสารผิดพลาดนี้ต้องวิเคราะห์กันต่อไปว่ามาได้อย่างไร) เพราะความจริงคือ เครื่องหมาย อย. นั้น  ไม่ได้รับรองว่า สินค้าปลอดภัย เครื่องหมายนี้มีความสำคัญเพียงแค่ให้รู้ว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นมีที่มาที่ไปจากผู้ผลิตไหน หากมีปัญหาในภายหลัง สำนักงาน อย.สามารถติดตามไปจัดการได้  ความจริงคือ เครื่องหมาย อย. นั้น  ไม่ได้รับรองว่า สินค้าปลอดภัย เครื่องหมายนี้มีความสำคัญเพียงแค่ให้รู้ว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นมีที่มาที่ไปจากผู้ผลิตไหน หากมีปัญหาในภายหลัง สำนักงาน อย.สามารถติดตามไปจัดการได้  และในเรื่องของความสับสนจากเครื่องหมายที่ถูกนำมาใช้ ก็มีที่มาจากความไม่เข้าใจในสาระที่ถูกต้องของเครื่องหมายแต่ละประเภท ได้แก่   เครื่องหมาย อย. จะใช้กับอาหารเท่านั้น เรียกว่า “เลขสารบบอาหาร” ซึ่ง เลขสารบบอาหาร จะเป็นตัวเลข 13 หลัก แสดงอยู่ภายในกรอบเครื่องหมาย อย. หากเป็น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จะไม่มี เลข อย. แต่ฉลากต้องแสดง“เลขที่ใบรับแจ้ง” (เลขจดแจ้ง)โดยกำหนดให้เป็นเลข 10 หลัก เช่น 10-1-61xxxxx เป็นต้นขณะที่ ยา จะแสดงเลขทะเบียนตำรับยา โดยลักษณะของกลุ่มตัวเลขแรกคือ ประเภทของทะเบียนตำรับยาจะเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ แล้วตามด้วยเลขทะเบียนตำรับยา(ของแต่ละตำรับยา) /ปี พ.ศ. เช่น ทะเบียนยาเลขที่ 1A 324/50 เป็นต้น ช่องโหว่จากความที่ผู้บริโภคทั่วไปไม่เข้าใจเรื่องนี้ ได้กลายเป็นจุดขายให้แม่ค้าพ่อค้าสินค้าสุขภาพลวงโลก เอาไปยำข้อมูลจนผู้บริโภคสับสน เช่น เอาเครื่องหมาย อย.ไปใส่ในฉลากเครื่องสำอาง  เอาเครื่องหมาย อย.ไปใช้ในตัวสินค้าที่เป็นแค่อาหาร แต่อ้างสรรพคุณในทางรักษา หรือไม่ก็ข้างในผลิตภัณฑ์เป็นยา แต่ระบุฉลากด้วยเครื่องหมาย อย.  และโฆษณาว่า “ผลิตภัณฑ์เรามี อย. ผลิตภัณฑ์เราปลอดภัย” จนกลายเป็นที่มาของคำถามว่า ทำไมมี อย.แล้วยังไม่ปลอดภัย ปรับความรู้กันใหม่ สู้ภัยสินค้าสุขภาพผิดกฎหมาย 1.เข้าใจให้ถูกต้องเรื่องเครื่องหมาย เลขสารบบอาหาร ใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารเท่านั้น และห้ามฉลากหรือโฆษณาบอกว่า รักษาหรือบำบัดโรค ส่วนฉลากเครื่องสำอาง ต้องไม่มีเลข อย. แต่มีเลขจดแจ้ง ระบุไว้ ซึ่งเครื่องหมายเหล่านี้สามารถนำไปตรวจสอบได้ว่า เป็นเครื่องหมายจริงหรือปลอม  2.ผลิตภัณฑ์ต้องมีการระบุ ชื่อ ที่อยู่ ผู้ผลิตที่ชัดเจน จะได้ตรวจสอบได้ หาคนรับผิดชอบได้ หากเกิดปัญหา  3.เลิกเชื่อโฆษณาอวดอ้าง ผลลัพธ์มหัศจรรย์ทั้งหลาย  เพราะมันไม่เป็นจริง  4.หากใช้แล้วมีความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย ต้องหยุดใช้ทันที คำอ้างที่ว่า ขับพิษหรือรออีกสักพักจะดีขึ้น มันคือคำลวง  5.ติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนภัยสินค้า เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อสินค้าผิดกฎหมาย  6.เจอผลิตภัณฑ์เข้าข่ายผิดกฎหมาย แจ้งสายด่วน อย. 1556 อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th หรือต่างจังหวัดที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือแจ้งตำรวจ ปคบ. สายด่วน 1135 -----------------------------------สามารถติดตามการแจ้งเตือนภัยสินค้าได้ที่www.tumdee.org  ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์5 แพลตฟอร์มของ อย. facebook.com/fdathai twitter.com/fdathai Instagram.com/fdathai YouTube.com/fdathai Line@fdathai

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 ขาวอันตราย

เมื่อต้นเดือน พฤศจิกายน 2559  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจาก ผู้ร้องเรียนจำนวน 45 ราย ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อเพอร์ลี่ จากบริษัท เมย์โรว จำกัด ของนางอมรรัตน์ ก่อเกียรติสิริกุล โดยผู้ร้องบางท่านได้ซื้อผลิตภัณฑ์มาใช้เองจนเห็นผลลัพธ์ว่ามี ผิวขาวขึ้นเป็นอย่างมาก ภายใน 1-2 เดือนแรก จึงแนะนำให้ผู้อื่นมาใช้บ้าง แต่เมื่อใช้ต่อไป จึงเริ่มมีอาการผิวหนังแตก คัน และปวดแสบบริเวณที่ใช้ผลิตภัณฑ์ โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อผลิตภัณฑ์จากตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่ภาคใต้ เช่น จังหวัดสตูล สงขลา สุราษฎร์ธานี ปัตตานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ตรัง กระบี่ นราธิวาส หรือบริเวณภาคกลาง เช่น กรุงเทพฯ กาญจนบุรี สมุทรปราการ และภาคอีสาน เช่น อุบลราชธานี เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อันตราย ครั้งนี้เรามีตัวแทนผู้เสียหาย 2 ท่าน ที่พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวผ่านหน้ากระดาษเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้แก่ผู้บริโภคท่านอื่นศุภสุตา มาหนุ๊ สวัสดีค่ะ หนูชื่อ ศุภสุตา มาหนุ๊ ชื่อเล่นว่า ฝ้าย เป็นชาวจังหวัดนราธิวาส ใช้ครีมทาผิวขาว(ยี่ห้อเพิร์ลลี่) เพื่อนได้แนะนำว่าเพื่อนใช้มาก่อนบอกว่าใช้แล้วขาวขึ้น มีออร่า โดนแดดไม่ดำขึ้น และมีการโฆษณาทางสื่อออนไลน์ เฟซบุ๊ค หนูเลยได้ตัดสินใจซื้อ ปี 2558 ใช้แรกๆ ผิวเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นมาก ขาวขึ้นภายในเวลา 2 อาทิตย์ หนูใช้เป็นเซต ใน 1 เซตที่หนูใช้จะมี สบู่ โลชั่น เซรั่ม ดีดีครีม คราวนี้พอใช้ไปใช้มาผิวเริ่มแตกเป็นฝอยเล็กๆ ตอนนั้นหนูก็ไม่ได้คิดอะไรมากนึกว่าเพราะผิวขาวขึ้นเลยเห็นเส้นเลือดฝอยเล็กๆ (ใช้มาเป็นปีๆ ขนาดผิวเริ่มแตกยังใช้อยู่เพราะไม่คิดว่าผิวแตกเป็นผลมาจากครีมเพิร์ลลี่ หนูคิดว่าแตกเพราะหนูอ้วนมากกว่า แต่หนูก็ไม่ได้อ้วนหรือผอมลง) หนูก็ยังใช้อยู่เรื่อยๆ จนผิวเริ่มแตกใหญ่ ตอนนี้ทั้งคัน แสบ หนูคิดว่ามันคงไม่มีอะไรมั้ง(ปลอบใจตัวเอง) พอแม่เห็นแม่ตกใจ แม่เลยบอกว่าผิวเป็นอะไร ทำไมถึงได้แตกขนาดนี้ แม่เลยบอกว่าให้หนูหยุดใช้ครีมเพิร์ลลี่ หนูเลยหยุดใช้ ต่อมามีพี่ที่รู้จักได้แชร์ทางเฟซบุ๊คเรื่องของพี่วินัย เรื่องที่เขาผิวแตกจากใช้ครีมเพิร์ลลี่ หนูดูไป ฟังไป คือเรื่องมันคล้ายๆ ครีมที่หนูใช้เลย(วันที่ 24 สิงหาคม 59) เลยติดต่อพี่วินัยไป พี่เขาแนะนำให้ไปบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน พอวันที่ 5 กันยายน 59 พี่วินัย ญาติพี่วินัยและหนู ขึ้นไป กทม.เดินทางถึงวันที่ 6 กันยายน 59 เพื่อไปลงทะเบียนผู้ที่มีปัญหาผิวแตกลายจากการใช้ครีมเพิร์ลลี่ และให้ PNAC Care ศูนย์ประสานงานเยียวยาให้ช่วยเหลือ และไลฟ์สดกรณีครีมทาผิว พอวันที่ 9 กันยายน หนูไปออกรายการสถานีประชาชน ทางช่องไทยพีบีเอส และได้ให้สัมภาษณ์สกู๊ปพิเศษให้กับรายการรถปลดทุกข์ทางไทยรัฐทีวี 1 พฤศจิกายน ได้เริ่มไปหาหมอที่คลินิคเพื่อทำการรักษาและบอกได้ระบุว่าผิวแตกเกิดจากสเตียรอยด์6 พฤศจิกายน ไปโรงพยาบาลกรุงเทพ หาดใหญ่ ผลวินิจฉัยออกมาว่า ผิวแตกเกิดจากสเตียรอยด์ ไม่สามารถรักษาให้ได้ค่ารักษาทั้งหมดจะเป็นเท่าไร ก็ไม่สามารถระบุได้เพราะรักษายังไงก็ไม่มีวันหาย จนวันที่ 7 พฤศจิกายน ช่วงเช้า ไปร้องเรียน ที่สคบ.และไปแจ้งความ/บันทึกประจำวัน ที่ บก.ปคบ.ช่วงบ่ายไปร้องเรียนที่ กสทช. และ 18 พฤศจิกายน ไปออกรายการสถานีประชาชนครั้งที่ 2 (ทำกันทุกทางที่สามารถทำได้แล้ว)จำได้ว่าตอนนั้นก็พากันไปที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 1 ครั้ง แต่จำไม่ได้ว่าไปวันที่เท่าไหร่ หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบไป เรื่องที่เคยดำเนินการต่างๆ ไป ก็เงียบเช่นกัน หนูคิดว่าคงไม่มีใครช่วยได้ แล้วจะหาที่รับผิดชอบจากไหน เครียด ท้อ จนวันหนึ่งมูลนิธิผู้บริโภคติดต่อเข้ามา ช่วยเหลือทุกอย่าง รู้สึกมีพลังเพิ่มขึ้น  ส่วนในเรื่องคดีหนูและเพื่อนๆ อีกจำนวนหนึ่งได้มอบอำนาจให้กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดำเนินคดีต่อสู้ให้ถึงที่สุด  ถ้าถามว่า อยากฝากอะไรกับใครบ้าง อยากบอกมากๆ เลยว่า ให้ผู้ผลิตคำนึงถึงความปลอดภัย คำนึงว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิตใช้เอง ใช้แล้วปลอดภัย ใช้แล้วไม่อันตรายไม่ใช่แค่โฆษณาเพื่อกระจายสินค้าออกจากสต็อก และต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพผู้ผลิตใช้ปลอดภัย ลูกค้าใช้ไม่เป็นอันตรายเพชราภรณ์ คงกลั่น เราซื้อมาสองแบบ ขวดแรกสูตรสีชมพู ราคาประมาณ 1,500 บาท อีกแบบเป็นสูตร ขาว x2 ราคาขวดละประมาณ 1,700 บาท ก็ใช้มาเรื่อย จนเกือบจะหมดขวดก็รู้สึกแสบๆ ที่ผิว คันๆ เป็นริ้วขาวๆ ทีแรกไม่รู้สึกอะไร คิดว่ามันทำปฏิกิริยา  เพราะเราเพิ่งเปลี่ยนครีม เราก็ใช้มาเรื่อย ก็เป็นรอยเป็นฝอยๆ  แล้วก็เจ็บแสบๆ เหมือนมดกัด แต่ยังฝืนใช้มาจนหมดขวด จนมันกลายเป็นรอยใหญ่กว่าเดิม แล้วก็ผิวแตกหมดทั้งตัวเลย เราก็เลยหยุดใช้ ไปหาหมอถามว่ามันเกิดจากสารอะไรกันแน่ หรือเป็นเพราะว่าฮอร์โมนเราปรับตัวหรือเปล่า หมอบอกว่าเกิดจากโลชั่น เป็นสารสเตียรอยด์ เราก็รักษาตามอาการ จนต้องมาหยุดไปหาหมอเรื่องเงิน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น เรื่องค่าเดินทาง ค่ายา เราก็เลยซื้อยามาใช้เอง พวกยากันรอยแตกลาย ก็หมดไปเป็นหมื่นเลย เพราะพวกยาทาแก้แตกลายก็หลอดละ 280 บาทแล้ว บางยี่ห้อก็ขวดละ 300-400 บาท เราใช้อาทิตย์หนึ่งไม่ต่ำกว่าสามขวด เพราะว่าเราต้องทาทั้งตัว ตอนแรกเราทำงานสองคนกับแฟน พอเราเป็นแบบนี้ เราก็เลยไม่ได้ไปทำงาน 1 คือเราอายเพื่อน แฟนทำงานคนเดียวมันไม่มีรายได้เสริม มันก็เลยลำบาก เราก็รักษาตามอาการแบบที่เล่ามาเรื่อยๆ ส่วนเรื่องการร้องทุกข์ แรกๆ เราเห็นเพจหนึ่งเขารวบรวมเกี่ยวกับคนแปลก เราก็ไปกับเขา ไปร้องเรียนหลายที่แล้ว แล้วพอเรามาร้องเรียนที่เครือข่ายผู้บริโภคที่สงขลา เขาก็พามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่กรุงเทพฯ  พอเรามาที่นี่เราก็เจอกับคนที่มีปัญหาเหมือนๆ กับเราหลายๆ คนมาฟ้องคดีร่วมกัน เขาก็ให้เราเตรียมเอกสาร เช่น ใบรับรองแพทย์ ซึ่งของเราเขาระบุเลยว่า เกิดจากสารสเตียรอยด์ โลชั่นมันกินเนื้อ อาการของเราเป็นมากกว่าคนอื่นเลย คนอื่นสามารถใส่เสื้อแขนสั้นได้ คนอื่นเขาเป็นที่ขา ส่วนเราเป็นที่แขนสองข้าง ถ้าถามว่าเลเซอร์ทั้งตัวหายไหม มันก็ไม่รู้ว่าหายหรือเปล่า คือ อยากให้ผู้ผลิตมารับผิดชอบเราด้วย เราไม่เคยใช้โลชั่นที่มันแพงแบบนี้มาก่อน เราใช้โลชั่นทั่วไป ตลาดทั่วไป ขวดละ 25 บาทเราใช้แบบนั้นมาตลอด มันก็ไม่มีปัญหาอะไร พอเราทำงานที่ดีๆ เราอยากผิวสวย เราไปซื้อของแพงมาใช้ เราคิดว่ามันไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไร เราไม่ได้ซื้อของเถื่อนนะ แล้วมันมี อย.ข้างกล่อง มีเลขที่จดแจ้ง แล้วราคามันสูง มันก็ทำให้เราคิดว่ามันน่าจะดีนะตอนนี้ดำเนินการถึงขั้นตอนที่ศาลอุธรณ์แล้ว  จากนั้นก็จะไต่สวน แล้วก็ไกล่เกลี่ยว่าผู้ผลิตจะชดใช้ให้เราอย่างไร  ตอนนี้มูลนิธิฯ ขอยื่นคำร้องฟ้องแบบกลุ่ม แต่ศาลไม่รับ บอกว่าแต่ละคนมีอาการแพ้ไม่เหมือนกัน บางคนแพ้มาก ก็จะได้ค่าเสียหายมาก บางคนน้อยก็ควรจะได้เงินตามอาการที่เป็น จะรับค่าเสียหายมากไม่ได้ ต้องดูตามอาการ สิ่งที่เราอยากบอกมากๆ เลยคือ อยากให้คนที่ซื้อของมาใช้แล้วมีปัญหาแบบนี้ อยากให้คนที่มีปัญหาแบบพี่ เมื่อมีปัญหาให้รีบหยุดใช้ทันที ดูฉลากให้ดี ว่ามี อย.ไหม มีเลขจดแจ้งชัดเจนหรือไม่ ให้ตรวจสอบให้ดีๆ ลองประเมินดูก่อนว่าของที่เราซื้อมามันโฆษณาเกินจริงไหม  ถ้าหลงเชื่อก็อาจกลายเป็นเหยื่อแบบนี้  และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นให้หยุดใช้ทันที แล้วเก็บตัวอย่างเอาไว้ ตอนนี้สินค้าตัวนี้ตามชุมชนยังมีอยู่ แต่ตามห้างไม่มีแล้วสำหรับผู้ผลิต อยากให้เขารับผิดชอบเราให้ถึงที่สุด ถ้าคุณเป็นแบบที่เราเป็นคุณจะรู้เลยว่าคุณจะเสียใจไปตลอดชีวิต แล้วถ้าคุณอยากทำสินค้าเกี่ยวกับความสวยความงามคุณอย่าโกหกคน คุณอย่าหลอกคนด้วยการเอาตัวยาโน้นมาผสม ตัวนี้มาผสม คุณต้องทำให้ดี แล้วของคุณจะขายดี ไม่ใช่คุณทำแบบนี้ แล้วเห็นไหมผู้เสียหายร้องเรียนเข้ามา พอเรื่องเราจบ ก็จะมีเรื่องคนอื่นอีก คือมันไม่จบไม่สิ้น แล้วประเทศไทยเราก็เหมือนกันพอเรื่องเราจบก็จะให้ขายต่อไปอีก แล้วมันก็ไม่จบ  -----------------------สถานการณ์การฟ้องคดี  วันที่ 18 พฤศจิกายน 2559  มูลนิธิฯ ได้เชิญผู้ประกอบการมาเจรจาไกล่เกลี่ยแต่ได้รับการปฏิเสธ  ตัวแทนผู้เสียหาย 4 ราย จึงเป็นโจทก์ฟ้องคดีนางอมรรัตน์   ก่อเกียรติศิริกุล    และศาลได้นัดไต่สวนคำร้องขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มในวันที่  18  ตุลาคม 2560 เวลา  13.00 น.  โดยมูลนิธิฯ และเครือข่ายทนายอาสา นายสิษฐวัศ   ภาคินสกุลพัฒน์  เป็นทนายผู้รับผิดชอบ วันที่ 9 - 10 พฤศจิกายน 2560  นัดไต่สวนคำร้องขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม  วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560  ศาลมีคำสั่งไม่รับเป็นคดีกลุ่ม  ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำสั่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 สารเคมีอันตรายจากขยะอิเล็กทรอนิกส์รีไซเคิล ในลูกบิดรูบิก (Rubik’s cube)

แม้ปัจจุบันจะมีการควบคุมการใช้พลาสติกรีไซเคิลที่มีส่วนประกอบของ “สารหน่วงการติดไฟที่มีองค์ประกอบของโบรมีน” (Brominated Flame Retardants: BFR) มาผลิตเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภค โดยเฉพาะในของเล่นสำหรับเด็ก แต่ผลจากการสำรวจตลาดของเล่นเด็กครั้งล่าสุดทั้งในประเทศไทยและในอีกหลายประเทศพบว่า ของเล่นเด็กยอดฮิตคือ “ลูกบิดรูบิก” หรือลูกบาศก์เรียงสี ที่นิยมให้เด็กเล่นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเชาว์ปัญญา มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อระบบประสาทและพัฒนาการทางสมองของเด็กปนเปื้อนอยู่ในระดับสูงโครงการสำรวจและตรวจวิเคราะห์นี้ดำเนินการโดย “เครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม” หรือไอเพน (IPEN) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ประกอบด้วยนักวิชาการสาขาต่างๆ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจาก  100 กว่าประเทศ หรือ 700 กว่าองค์กร โดยมีคณะผู้ร่วมการสำรวจจากทั้งหมด 26 ประเทศ รวมถึงมูลนิธิบูรณะนิเวศในประเทศไทยโครงการฯ ได้ดำเนินการสำรวจผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็กที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลที่มีสาร BFRs ปนเปื้อนหรือใช้เป็นสารเติมแต่งระหว่างกระบวนการผลิต ใน 26 ประเทศ  ซึ่งประกอบด้วยลูกบิดรูบิกรวม 95 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกจำนวน 16 ตัวอย่าง ได้แก่ แก้วใส่น้ำร้อน กิ๊บหนีบผม หวี ที่คาดผม และของเล่นเด็กอื่นๆ  เพื่อวิเคราะห์หาการเจือปนของสารพิษกลุ่มสาร BFRs ได้แก่ 1) สาร Octabromodiphenyl ether  (OctaBDE), 2) สาร Decabromodiphenyl either (DecaBDE) และ 3) สาร Hexabromocyclododecane (HBCD)  ผลการสำรวจในประเทศไทยมูลนิธิบูรณะนิเวศได้สำรวจและซื้อลูกบิดรูบิกที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลในตลาดของเล่นเด็กของไทยในจังหวัดกรุงเทพฯ ปทุมธานี นครปฐม และระยอง ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2558  รวม 9 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากประเทศจีนทั้งหมด  เพื่อวิเคราะห์หาความเข้มข้นของกลุ่มสาร PBDEs (OctaBDE และ DecaBDE) และ HBCD ผลการวิเคราะห์พบว่า ลูกบิดรูบิกจำนวน 9 ตัวอย่างจากประเทศไทย มี 2 ตัวอย่างที่พบปริมาณสารโบรมีนทั้งหมด (Total Br) สูงเกิน 1,000 ppm  ด้วยเครื่องวิเคราะห์ Handheld X-ray Fluorescence (HHXRF)  และจากการวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเคมี สาธารณรัฐเช็ก เฉพาะ 2 ตัวอย่างที่มีโบรมีนรวมเกิน 1,000 ppm พบว่าทั้งสองตัวอย่างปนเปื้อนสาร OctaBDE ที่มีปริมาณเข้มข้นสูง 25 – 48 ppm และสาร DecaBDE มีปริมาณเข้มข้นสูง 21 – 23 ppm  ทั้งนี้มี 1 ตัวอย่างที่มีสาร HBCD ในปริมาณเข้มข้น 5 ppm ผลการสำรวจใน 26 ประเทศการวิเคราะห์ตัวอย่างจากประเทศต่างๆ รวม 26 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยลูกบิดรูบิก95 ตัวอย่าง  และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จำนวน 16 ตัวอย่าง ได้แก่ แก้วใส่น้ำร้อน กิ๊บหนีบผม หวี ที่คาดผม และของเล่นเด็กอื่นๆ  พบว่ามี 100 ตัวอย่าง (ร้อยละ 90) มีสาร OctaBDE ปนเปื้อนในปริมาณเข้มข้นระหว่าง 1- 1,174 ppm;  พบสาร HBCD ในจำนวน 45 ตัวอย่าง (ร้อยละ 41)  ระดับความเข้มข้นอยู่ที่ 1 - 1,586 ppm  และสาร DecaBDE ในจำนวน 101 ตัวอย่าง (ร้อยละ 91)  มีช่วงความเข้มข้นที่พบคือ 1 -  672 ppmอัครพล ตีบไธสง นักวิชาการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ผู้ร่วมการศึกษาในโครงการนี้กล่าวให้ความเห็นว่า  “สารเคมีอันตรายกลุ่มนี้มักเจือปนอยู่ในขยะพลาสติก เป็นสิ่งอันตรายมากโดยเฉพาะต่อพัฒนาการทางสมอง ระบบประสาทของเด็ก และมีผลกระทบต่อระบบฮอร์โมนส์ของร่างกายด้วย จึงไม่ควรนำมาผลิตของเล่นเด็กโดยเด็ดขาด และควรมีมาตรการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่อันตรายต่อเด็กออกจากท้องตลาดด้วย”ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ดร. โจ ดิกันจิ ผู้เชี่ยวชาญด้านสารอันตรายของ IPEN จากสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวว่า “การรีไซเคิลวัสดุที่มีสารพิษเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นวัฏจักรที่จะทำให้ปนเปื้อนสารพิษในสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาไม่จบสิ้น และยังจะทำลายความน่าเชื่อถือของการรีไซเคิลวัสดุ รัฐบาลของแต่ละประเทศจึงควรหาทางยุติปัญหานี้และควรมีมาตรการเชิงป้องกันระยะยาวด้วย”ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า สารหน่วงการติดไฟที่อยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นยังคงปนเปื้อนในของเล่นเด็กและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ผลิตจากการรีไซเคิลขยะเหล่านี้อย่างน่าวิตก  ยิ่งไปกว่านั้นของเล่นหลายชนิดปนเปื้อนสารอันตรายมากกว่า 50  ppm ในที่นี้คือ OctaBDE และ HBCD  รวมถึง DecaBDE  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 190 เสี่ยงอันตรายขณะลงรถเมล์

หลายคนที่ต้องโดยสารรถเมล์ อาจเคยเจอปัญหาเมื่อถึงป้ายที่ต้องการจะลงแล้วรถเมล์ไม่ยอมจอดรถให้สนิท ซึ่งสามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ หากผู้โดยสารก้าวขาลงไม่ทันขณะที่รถเมล์ออกตัวไป ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ควรทำอย่างไร ลองไปดูกันคุณสุชาติและครอบครัวโดยสารรถเมล์สาย 81 จากต้นสายเชิงสะพานปิ่นเกล้า ไปลงป้ายก่อนถึงห้างสรรพสินค้าซีคอนบางแค อย่างไรก็ตามเมื่อถึงป้ายที่ต้องการก็พบว่ามีคนลงจำนวนมาก ซึ่งในขณะที่เขากำลังก้าวลงจากรถ คนขับรถเมล์ก็ออกรถไปเลย แม้คนที่อยู่บนรถจะช่วยกันบอกว่าคนยังลงไม่หมด แต่คนขับและกระเป๋ารถเมล์ก็ไม่ได้สนใจและขับรถออกไป ซึ่งแม้ครั้งนี้เขาจะลงรถได้อย่างปลอดภัย แต่ก็กังวลว่าหากรถเมล์คันดังกล่าวยังทำพฤติกรรมเช่นนี้ต่อไป อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ โดยอยากให้ทาง ขสมก. มีการตรวจสอบ ตักเตือนหรือลงโทษการกระทำของคนขับในกรณีดังกล่าวแนวทางการแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องเตรียมหลักฐานประกอบการร้องเรียน คือ ทะเบียนรถหรือชื่อคนขับ และวันเวลาการโดยสาร เพราะเป็นสิ่งที่สามารถติดตามเอาผิดได้ อย่างไรก็ตามผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่า เขาไม่ได้จำเลขทะเบียนรถหรือชื่อคนขับ เพียงแต่จำรูปพรรณของกระเป๋ารถเมล์และวันเวลาการเดินทางได้เท่านั้น ทำให้เมื่อศูนย์ฯ ช่วยดำเนินเรื่องร้องเรียนไปยัง ขสมก. ทางเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 อันตรายในบ้านลม

บ้านลม หรือเครื่องเล่นเป่าลม คือสถานที่โปรดของเด็กส่วนใหญ่ โดยเราจะเห็นบ้านลมที่มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถหาเล่นได้ตามตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า หรือตามงานต่างๆ และเรามักจะพาลูกหลานไปเล่น โดยลืมนึกถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เด็กติดระหว่างช่องตัวตุ๊กตา หรือเด็กล้มแขนหักในบ้านลม ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เราควรไปทวงความรับผิดชอบจากใครเหตุการณ์ไม่คาดคิดนี้เกิดขึ้นกับคุณปวีณา เมื่อเธอพาลูกๆ ไปเดินเล่นที่ห้างสรรพสินค้าซีคอน สแควร์ ซึ่งพบว่าในขณะนั้นมีการจัดกิจกรรมของบริษัทไทยประกันชีวิต โดยมีการนำบ้านลมมาตั้งให้เด็กเข้าไปเล่นได้ เพียงแค่ระบุข้อมูลส่วนตัวก็จะได้คูปองเข้าไป จากการชักชวนของพนักงาน เธอจึงให้ลูกๆ เข้าไปเล่น โดยเธอยืนเฝ้าอยู่ข้างนอก แต่สักพักเดียว เธอได้สังเกตว่า ลูกสาวของเธอได้ไถลตัวลงจากสไลเดอร์มานานแล้ว แต่ไม่เห็นวิ่งขึ้นมาเล่นอีกครั้งสักที จึงชะโงกหน้าเข้าไปดูและพบว่า ลูกสาวกำลังนอนร้องไห้อยู่ จึงรีบพาลูกออกมา ในตอนแรกเธอไม่ได้คิดว่าลูกสาวบาดเจ็บอะไร อย่างไรก็ตามลูกของเธอยังคงร้องไห้ไม่หยุด และเมื่อเธอสังเกตที่แขนลูกก็พบว่า มีอาการบวมอย่างเห็นได้ชัด จึงพาลูกสาวไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที ซึ่งแพทย์ได้วินิจฉัยว่า ลูกสาวของเธอ ข้อศอกหักทั้ง 2 ข้าง ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดและใส่เหล็กดามกระดูก เธอจึงติดต่อกลับไปที่ห้างดังกล่าว เพราะต้องการให้มีการแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทางห้างก็ได้ติดต่อเจ้าของกิจกรรมในวันงาน คือ บริษัทไทยประกันชีวิต เพื่อมาเจรจากับเธอ แต่ทางบริษัทฯ กลับชี้แจงว่า “ไม่ได้บังคับให้เด็กเล่นบ้านลม”  ผู้ปกครองจึงต้องช่วยดูแลความปลอดภัยบุตรหลานของท่านเอง เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ผู้ร้องจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อหาข้อเท็จจริง ทางผู้ร้องได้ติดต่อไปที่ห้างอีกครั้งเพื่อขอดูกล้องวงจรปิด ซึ่งพบว่าเป็นภาพของเด็กใส่ชุดสีชมพู ปีนขึ้นมาตรงทางสไลด์แล้วโดนชนตกลงไปแล้วก็ปีนขึ้นมาใหม่ ทำให้ทางบริษัทอ้างว่าลูกสาวของเธอเล่นพิเรนทร์ จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บดังกล่าวขึ้นเอง ดังนั้นจึงปฏิเสธข้อเสนอของผู้ร้องที่ต้องการให้มีการชดเชยค่าเสียหายจำนวน 70,000 บาท โดยจะรับผิดชอบเพียง 50,000 บาทเท่านั้น ภายหลังศูนย์ฯ ได้นัดให้ทั้งสองฝ่ายมาเจรจากันอีกครั้ง แต่ทางผู้ร้องได้แจ้งว่าจะดำเนินการฟ้องร้องคดีแทน อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้สิ่งที่น่าคิดคือ มาตรฐานด้านความปลอดภัยของเครื่องเล่นเด็กมีมากแค่ไหน  เพราะเราจะสังเกตได้ว่าบ้านลมเกือบจะทุกที่นั้น ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบดูแลอยู่ภายใน มีเพียงคนดูแลและผู้ปกครองที่รอดูอยู่ด้านนอกเท่านั้น นอกจากนี้เครื่องเล่นดังกล่าวยังไม่มีคำแนะนำในการเล่น หรือคำเตือนที่ระบุว่าเหมาะสำหรับเด็กอายุเท่าไร หรือกำหนดอายุของเด็กในการเล่นเลย ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็อาจจะเกิดการบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบเหมือนดังกรณีนี้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 อันตรายจากการปรับปรุงพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า

ห้างสรรพสินค้า แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปัจจุบัน ซึ่งก็มีเรื่องให้ต้องระวังมาก นอกจากจะระวังการซื้อสินค้าแล้ว การใช้บริการอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ลิฟต์  บันไดเลื่อน หรือแม้แต่ทางเดินปกติ ก็อาจเกิดอันตรายได้ เพราะห้างสรรพสินค้า เมื่อมีการจัดแสดงหรือจัดงานต่างๆ  เพื่อดึงดูดลูกค้า อาจต้องมีการปรับปรุงพื้นที่ให้บริการ ซึ่งทำให้แม้จะเดินในเส้นทางที่ใช้ตามปกติ ก็ยังอาจเกิดอันตรายและบาดเจ็บได้อย่างคาดไม่ถึงคุณดวงพรและครอบครัว ได้ไปใช้บริการที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเขตบางแค  ปรากฏว่าระหว่างที่เดินหาร้านเพื่อรับประทานอาหาร คุณดวงพรพลาดเดินไปสะดุดกับรางรถทามิย่า ที่ห้างสรรพสินค้าได้ให้ร้านค้าเช่าพื้นที่เข้ามาจัดทำเป็นสนามแข่งรถทามิย่า โดยที่ห้างสรรพสินค้าเองไม่ได้กั้นเขต หรือปิดป้ายประกาศเตือนไว้แต่อย่างใด เป็นเหตุให้คุณดวงพร ซึ่งมีอายุมากแล้วและสายตาไม่ดี พลาดไปเดินสะดุดกับรางรถทามิย่านี้เข้า ในขณะที่กำลังมองหาสามี ซึ่งเดินตามมาทีหลังเพราะไปหาที่จอดรถอยู่ การสะดุดล้มครั้งนี้ เป็นเหตุให้กระดูกแขนร้าว 1 ข้าง  หัก 1 ข้าง  ขนาดต้องผ่าตัดใส่โลหะด้ามกระดูก และมีรอยแผลบวมช้ำที่เบ้าตาขวา หลังจากไปรับการรักษาพยาบาลแล้ว คุณดวงพรจึงมาทราบภายหลังว่า ทางห้างฯ จึงค่อยมีการจัดหาที่กั้น มากันพื้นที่ในบริเวณที่จัดวางรางรถทามิย่า แนวทางแก้ไข คุณดวงพรได้มาคุยกับทีมศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอคำปรึกษา โดยก่อนหน้านั้น ทางคุณดวงพร ได้มีเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางห้างฯ แล้ว แต่ก็ได้รับการปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นความผิดของห้างฯ โดยบ่ายเบี่ยงว่า คุณดวงพรตั้งใจเดินข้ามเข้าไปเอง แล้วสะดุดรางล้มเอง ซึ่งกล้องวงจรปิดไม่สามารถจับภาพเอาไว้ได้ แต่ห้างฯ จะให้ความช่วยเหลือเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท ขณะที่คุณดวงพรต้องเสียค่ารักษาพยาบาลไปแล้วถึง  169,792 บาท และหลังออกจากโรงพยาบาลก็ยังต้องมีการรักษาตัวอย่างต่อเนื่องด้วย ทางคุณดวงพรต้องการให้ห้างฯ และผู้ประกอบการที่ดูแลพื้นที่การจัดวางรางรถทามิย่า ช่วยเรื่องค่ารักษาพยาบาล เป็นจำนวน 100,000 บาท และได้ยื่นข้อเสนอนี้เมื่อมีการเจรจาไกล่เกลี่ยร่วมกันที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ แต่ทางห้างฯ ยังคงยืนกราน ไม่ยินยอมช่วยเหลือในเงินจำนวนดังกล่าวเช่นเดิม  เมื่อทางห้างฯ ไม่ยินดีช่วยเหลือตามข้อเสนอ จึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่า อาจต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกันต่อไป เหตุเกิดในห้างสรรพสินค้าคราวนี้ อาจเทียบเคียงได้กับกรณีที่ผู้ร้องทุกข์รายหนึ่ง ซึ่งเดินตกร่องน้ำที่ไม่มีฝาปิดบริเวณห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง จนได้รับบาดเจ็บกระดูกข้อเท้าขวาหลุดและแตก เสียค่ารักษาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องไปหลายบาท แต่ห้างฯ ปฏิเสธความรับผิดชอบเช่นเดียวกัน สุดท้ายจึงจบลงที่การฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคในครั้งนั้นศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ เป็นผู้ทำรางระบายน้ำรูปตัววีและเกาะกลางถนนเอง ควรจะทราบถึงความเป็นไปได้ในการที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นแก่ผู้ที่เข้าไปใช้บริการห้างสรรพสินค้าในการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ ห้างฯ ควรดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ เช่น การติดไฟส่องสว่าง การติดป้ายเตือนให้ระมัดระวังในการเดินในพื้นต่างระดับที่ติดต่อกับรางระบายน้ำรูปตัววีที่ห้างฯ ทำขึ้น แต่ห้างฯ กลับไม่ได้กระทำการดังกล่าว เพิกเฉย ละเลยในการป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น การกระทำของห้างฯ จึงเป็นการกระทำโดยประมาท และละเมิดต่อโจทก์ ที่เดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุแล้วประสบอุบัติเหตุลื่นล้มจนได้รับบาดเจ็บ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากห้างฯ ได้ และศาลพิพากษาให้ห้างฯ จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามที่โจทก์ร้องขอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 107 ลูกอมเรืองแสง แรงฤทธิ์

 “ตอนนี้ลูกอมเรืองแสงกำลังเป็นที่นิยมในหมู่เด็กๆ มาก ที่อื่นไม่ทราบว่ากำลังเป็นที่นิยมหรือเปล่า”คุณหทัยชนก สมาชิกฉลาดซื้อเขียนจดหมายมาถามไถ่โดยให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ที่แถวบ้านแถบปทุมธานีเจ้าลูกอมเรืองแสงกำลังได้รับความนิยมสูง“ตอนแรกก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไรเห็นลูกขอเงินไปซื้อลูกอมเรืองแสง แล้วบ่นว่าหาซื้อไม่ค่อยได้ แม่ค้าขายหมดไวเลยลองสอบถามลูก ลูกก็บอกว่าด้ามจับจะเรืองแสงได้ แต่เคยมีเพื่อนกัดลูกอมแล้วด้ามพลาสติกแตก น้ำเรืองแสงเกือบเข้าปาก” ฟังแล้วก็รู้สึกหวาดเสียวจริงๆ ครับลูกของคุณหทัยชนกบอกกับแม่ว่า คุณครูที่โรงเรียนบอกว่าให้กินแบบระมัดระวังอย่ากัดให้ด้ามแตก ต้องบอกว่าน่าตกใจจริงๆ กับคำแนะนำลักษณะนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นน้ำเรืองแสงหรือเศษพลาสติก มันไม่ควรเข้าปากเด็กได้ทั้งสิ้นเพราะมันไม่ใช่อาหาร “ดิฉันพยายามหาซื้อเพื่อส่งมาให้มูลนิธิฯ ดูว่าเป็นอันตรายหรือเปล่า แต่ก็เจอแค่กล่องเพราะแม่ค้าบอกว่าขายดีมาก เห็นกล่องพอจะทราบว่ามาจากจีนแต่ไปซื้อกี่ครั้งก็ไม่เคยได้เพราะว่าของหมดตลอด อันที่ส่งตัวอย่างมาให้ดูนี่ลูกไปหามาให้จากโรงเรียน เมื่อวานดิฉันไปเดินตลาดไทสำรวจว่ามีขายหรือเปล่าปรากฏว่าขายส่ง 30 อันต่อกล่อง ราคา 60 บาท มีขายตามร้านขายส่งทั่วไป และเมื่อหาข้อมูลจากเน็ตก็มีขายทั่วไปอีกเหมือนกัน” คุณหทัยชนกให้ข้อมูลมาด้วยความเป็นห่วง แนวทางแก้ไขปัญหาถ้าพูดถึงเรื่องความปลอดภัยในอาหารการกินคงไม่พ้นไปจากความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศน.พ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ว่า ได้มีการสั่งการและประสานงานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศแล้วตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม เพื่อกำชับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ช่วยเป็นหูเป็นตาดูการจำหน่ายลูกอมหรืออมยิ้มเรืองแสง ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมาย เนื่องจากมีการลักลอบนำเข้าจากประเทศจีนมาจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตและประชาชนที่พบการจำหน่ายอมยิ้มหรือลูกอมเรืองแสง สามารถแจ้งเบาะแสมายัง อย. ได้ที่สายด่วน 1556 หรือจะแจ้งเจ้าหน้าที่ สสจ.ทั่วประเทศ เพื่อ อย.จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผอ.กองควบคุมอาหาร อย. เปิดเผยว่า ขณะนี้ลูกอมหรืออมยิ้มเรืองแสง ทางกองควบคุมอาหาร ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว ทั้งตัวอมยิ้มและก้านอมยิ้ม ที่นำมาหักแล้วจะเกิดเป็นสารเรืองแสงว่ามีส่วนผสมของสารที่เป็นอันตรายหรือไม่ โดยเกรงว่าเด็กๆ อาจจะได้รับอันตราย ซึ่งคงจะทราบผลในเร็วๆ นี้ว่าข้างในมีสารอะไรบ้าง สำหรับความผิดของผู้จำหน่ายเบื้องต้น คือ 1.ขายอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะไม่ได้มีการขออนุญาตนำเข้า 2.ฉลากอาหารไม่ถูกต้อง โทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท และ 3.ถ้าตรวจพบว่ามีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายจะเข้าข่ายขายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 โต๊ะเขียนหนังสือเด็กเล็ก อันตรายที่ถูกมองข้าม

จากฉลาดซื้อฉบับ 109 “ตามไปดูเขากำจัดสารตะกั่วในโรงเรียนเด็กเล็ก กทม.” ทำให้ทราบว่าจุดเสี่ยงอีกตำแหน่งหนึ่งในโรงเรียนเด็กเล็กที่พบว่ามีค่าสารตะกั่วสูงเกินมาตรฐานซึ่งอาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเด็กนอกเหนือจากสีที่ทาผนังอาคารก็คือ โต๊ะนักเรียน ที่จะมีตัวพยัญชนะไทย อังกฤษ และตัวเลขสำหรับการจดจำของเด็กๆ   เจ้าโต๊ะที่ว่านี้ไม่เพียงแต่จะนิยมกันในหมู่โรงเรียนเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาลเท่านั้น พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งก็นิยมซื้อหามาให้ลูกหลานไว้ใช้ภายในบ้านเพื่อฝึกหัดเขียนอ่านให้คล่อง สนนราคาก็มีตั้งแต่ราคา 200 ถึง 1,000 บาท วางจำหน่ายในร้านเฟอร์นิเจอร์ทั่วไปตามย่านการค้าใหญ่ๆ และในห้างสรรพสินค้า เพื่อเป็นการเฝ้าระวังปัญหาการปนเปื้อนของสารตะกั่วในสินค้าที่ใกล้ชิดเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการสะสมพิษตะกั่วที่มีผลร้ายต่อสุขภาพทั้งในทางร่างกายและสติปัญญา โดยเฉพาะสินค้าที่หลายคนอาจมองข้ามอย่างเช่น โต๊ะเขียนหนังสือสำหรับเด็ก ฉลาดซื้อจึงลงพื้นที่ไปซื้อโต๊ะเขียนหนังสือจากย่านการค้าต่างๆ 9 แห่ง ได้แก่ พงษ์เพชร หัวหมาก โชคชัย 4 รามคำแหง ห้วยขวาง บางกะปิ สะพานใหม่ อ่อนนุช และบางบอน เพื่อส่งพิสูจน์หาปริมาณสารตะกั่ว ณ ห้องปฏิบัติการบริษัท อินเตอร์เทค เทสติ้ง เซอร์วิสเซส(ประเทศไทย) จำกัด   ฉลาดซื้อทดสอบ ผลตรวจสอบสีโต๊ะเก้าอี้เด็กที่ใช้เขียนหนังสือซึ่งมีภาพหรือตัวอักษร บนโต๊ะ พบว่า 1. สีของภาพหรือตัวอักษร บนโต๊ะและเก้าอี้ เมื่อตรวจสอบโดยการขูดรวมสีและหาค่าสารตะกั่วต่อน้ำหนักทั้งหมด มีค่าสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนดร้อยละ 83 (พบสารตะกั่วในโต๊ะเขียนหนังสือ 6 จาก 9 ตัว ตกมาตรฐาน 5 ตัว) 2. สีเคลือบโลหะ ซึ่งเป็นสีเคลือบโครงโต๊ะหรือเก้าอี้ และสีที่ใช้เป็นสีพื้นโต๊ะ มีผลสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนดร้อยละ 33 (ค่ามาตรฐานกำหนด ต้องน้อยกว่า 90 มก/กก ในการทดสอบหาสารตะกั่วเมื่อนำสีไปทำปฏิกิริยากับสารละลาย) 3. แผ่นพลาสติกที่ใช้ทำที่รองนั่งของเก้าอี้ ไม่พบสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนด   ความสำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กให้ปลอดภัยจากสารตะกั่วในช่วงปีค.ศ. 2002-2005 CDC และ American Academy of Pediatrics, Committee on Environmental Health พบว่าสารตะกั่วเป็นมลพิษจากสิ่งแวดล้อมที่ก่ออันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงต่อเด็ก หากได้รับปริมาณมากในวัยเด็กจะมีผลโดยตรงต่อระดับสติปัญญา สมองและระบบประสาทอย่างถาวรได้ โดยเฉพาะเด็กในวัย 5 ขวบปีแรกซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดที่มี การพัฒนาของสมอง อาการเป็นพิษจะเกิดเมื่อมีการสะสมของตะกั่วในร่างกายสูงพอ สารตะกั่ว จะมีผลเสียต่อสมองและการติดต่อเชื่อมกันของเซลล์ประสาท โดยสารตะกั่วจะไปจับกับเซลล์แทนที่แคลเซียม ผลอื่นคือทำให้เนื้อสมองบวม ยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาท(Gamma Aminobutyric Acid, GABA) ความดันกะโหลกศีรษะสูง ในเด็กมีการศึกษาของ Canfield และคณะ พบว่าสารตะกั่วในเลือดที่เพิ่มขึ้นทุก 10 มคก/ดล จะทำให้ IQ ลดลง 1-3 จุด ส่วนผลต่อ เม็ดเลือดแดงจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายเป็นโรคโลหิตจาง ผลต่อการทำงานของไตในระยะเฉียบพลันจะมีการทำลายของทิวบูลไตส่วนต้นและมีอาการของ Fanconi syndrome ส่วนผล ในระยะเรื้อรังต่อไตคือไตอักเสบ จนถึงไตวายได้ ผลต่อการตั้งครรภ์และทารก สารตะกั่วสามารถก่อปัญหาให้แก่ทารกในครรภ์หากมีสารตะกั่วเป็นปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด เด็กที่เกิดมาจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ การทำงานของสมองจะพัฒนาช้า ปัญญาอ่อน ชัก   ต่อมาในปี ค.ศ.2003 Canfield และคณะได้ทำการวัดระดับสารตะกั่วในเลือดของเด็กอายุ 6 เดือน 12 เดือน ถึง 5 ปี และมีการตรวจวัด IQ ที่อายุ 3 และ 5 ปี พบว่า IQ จะลดลง 4.6 จุดในเด็กที่มีค่าสารตะกั่วในเลือดน้อยกว่า10 มคก/ดล ต่างจากเด็กที่มีค่าสารตะกั่วในเลือดมากกว่า 10 มคก/ดล ที่จะมีค่า IQ ลดลงถึง 7.4 จุด ซึ่งสรุปได้ว่าระดับสารตะกั่วในเลือดที่เพิ่มสูงขึ้นจะแปรผกผันกับระดับ IQ อย่างมีนัยสำคัญ13 และในปี ค.ศ. 2006 Cochrane review ได้สรุปว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาภาวะสารตะกั่วเป็นพิษนั้นสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงภาวะสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการรักษานั้นไม่ได้ก่อนให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวดังนั้นหากเราสามารถหาภาวะเสี่ยงของสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมและนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการปรับปรุงแก้ไขสิ่งแวดล้อมให้มีความปลอดภัยต่อสารตะกั่วได้ จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคพิษตะกั่วอย่างถาวรต่อสมองของเด็กได้ อย่างไรก็ตามพบว่าไม่มีระดับสารตะกั่วในเลือดค่าใดที่ถือว่าปลอดภัยอย่างแท้จริง และผลของสารตะกั่วที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดอย่างถาวรโดยเฉพาะสมองและระบบประสาท ถึงแม้ว่าจะรักษาโดยการลดหรือกำจัดสารตะกั่วออกจากร่างกายก็ไม่สามารถแก้ไขผลที่เกิดกับสมองและระบบประสาทได้   ฉลาดซื้อแนะ 1. ควรนำข้อมูลนี้ประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จัก ผู้บริหารโรงเรียนเด็กเล็ก ผู้บริหารองค์กรท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพอนามัยเด็ก ความปลอดภัยในเด็ก สิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค และการคุ้มครองเด็ก รู้ถึงสถานการณ์อันตรายที่ปนเปื้อนอยู่ในสินค้า 2. พ่อแม่ ผู้ปกครองควรเลือกซื้อโต๊ะเขียนหนังสือด้วยความระมัดระวัง 3. สำหรับท่านที่ซื้อมาแล้ว แต่ไม่มั่นใจว่าโต๊ะมีการปนเปื้อนสารตะกั่วหรือไม่ วิธีแก้ไขปัญหาอย่างง่าย อาจหาพลาสติกใสแผ่นใหญ่หุ้มโต๊ะเพื่อกันไม่ให้เด็กขูดขีดจนสีร่อนออกมา 4. สำหรับโต๊ะที่สีหลุดร่อนไปแล้ว ไม่ควรให้เด็กใช้ต่อ เพราะมีโอกาสที่เด็กจะหยิบเข้าปากได้   ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1. กระทรวงอุตสาหกรรม ควรแจ้งผลต่อ ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และ ประชุมผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หรือผู้นำเข้าเพื่อหามาตรการควบคุมต่อไป 2. ควรจัดให้โต๊ะ เก้าอี้ เด็ก รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์เด็กอื่นๆ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องได้รับการควบคุมความปลอดภัยเช่นเดียวกับของเล่น   ตารางแสดงผลวิเคราะห์ตัวอย่างเส้นก๋วยเตี๋ยวประเภทเส้นใหญ่ ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ทดสอบเท่านั้น วัน/เดือน/ปี ที่ทดสอบ เมษายน 2553 (วิธีทดสอบ CPSC 16 CFR 1303)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 167 ตะหลิวไนลอน

ตะหลิว เป็นอุปกรณ์คู่ครัวที่ขาดไม่ได้ เพราะต้องใช้กับงานผัด งานทอด ซึ่งวัสดุที่นิยมใช้ทำตะหลิว ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าไร้สนิม อะลูมิเนียม ซึ่งทนความร้อน แต่ตะหลิวพวกนี้มีความคม เนื่องจากการขึ้นรูปที่ต้องการความบาง แบน  เหตุนี้ตะหลิวเหล็กจึงไม่เหมาะกับกระทะสมัยใหม่ ที่เรียกว่า กระทะเทฟลอน หรือกระทะเคลือบเทฟลอน เพราะหากความคมของตะหลิวไปขูดเอาตัวเคลือบออก อันตรายจากการปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นพิษก็ตามมา กระทะเคลือบเทฟลอนจึงระบุห้ามใช้กับตะหลิวที่มีความคม ทำให้เกิดตะหลิวที่ทำจากพลาสติกทนความร้อน บางทีก็เรียกตะหลิวไฟเบอร์ ตะหลิวไนลอน หรือตะหลิวที่ทำจากไม้ขึ้น เพื่อให้เหมาะกับการใช้กระทะเคลือบเทฟลอน ปัญหาก็ตามมาอีกว่า ตะหลิวพวกนี้ ใช้งานได้จริงหรือไม่ ไม่เป็นอันตรายจริงหรือในเมื่อทำมาจากพลาสติก ซึ่งรู้กันอยู่ไม่ควรใช้กับความร้อนสูงๆ  ความจริงก็คือ ตะหลิวพวกนี้ใช้งานได้จริง แต่ต้องเลือกวัสดุที่ถูกต้องและใช้ให้เหมาะสม เพราะถึงเป็นพลาสติกทนความร้อน(ไนลอน) แต่หากใช้งานไม่ถูกต้องก็เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะกรณีที่เผลอติดนิสัยเดิมๆ วางตะหลิวไว้ในกระทะร้อนๆ ซึ่งห้ามเด็ดขาดหากเลือกใช้ตะหลิวไนลอน อีกอย่างหนึ่งควรพิจารณาเรื่องสำคัญคือ ตะหลิวนั้นทำมาจากไนลอน จริงหรือไม่ และจำเป็นต้องซื้อของแพงหรือเปล่า เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่าตะหลิวราคาถูกๆ อาจไม่ใช่พลาสติกชนิดทนความร้อนจริง ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องพิสูจน์ การพิสูจน์ครั้งนี้ ฉลาดซื้อได้เลือกซื้อตะหลิวพลาสติกที่วางจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป ทั้งหมด 11 ยี่ห้อ แล้วนำส่งให้เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคทำการทดสอบ ใน 4 ประเด็นคือ 1. ผลิตภัณฑ์ที่ทำการทดสอบเป็นพลาสติก ประเภทไนลอน หรือไม่ และเป็น ไนลอนประเภทใด 2. ความแข็งของวัสดุที่ใช้ทำตะหลิวมีค่าเป็นอย่างไร 3. จุดหลอมเหลวของตะหลิวแต่ละยี่ห้อเป็นเท่าใด และ 4. ชิ้นงานทนความร้อนที่อุณหภูมิ 200 °C ในเตาอบ และในน้ำมันได้หรือไม่ ข้อแนะนำ 1.ผู้บริโภคควรตรวจสอบตะหลิวว่าใช้วัสดุพลาสติกประเภทใดในการผลิต โดยดูจากฉลากสินค้า 2.ห้ามทิ้งหรือวางตะหลิวแช่ไว้บนภาชนะที่มีความร้อนสูงๆ เช่น ในน้ำมันที่ใช้ทอดอาหาร เป็นเวลานานๆ และควรหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติก ในการทำอาหารที่ต้องใช้ความร้อนสูง 3.ไม่ควรนำตะหลิวแช่หรือสัมผัสกรดหรือเกลือหรือด่างเข้มข้น เช่น น้ำปลา น้ำมะนาว น้ำส้มสายชู 4.ห้ามใช้กับเตาไมโครเวฟ 5.หลังการใช้งานควรทำความสะอาดทันที  ไม่ควรใช้ฝอยเหล็กขัดทำความสะอาด ควรใช้ฟองน้ำและผึ่งให้แห้งทุกครั้ง ข้อแตกต่างระหว่างไนลอน 6,6 และ ไนลอน 6 ไนลอนจัดเป็นพลาสติกในกลุ่ม semi crystalline เริ่มมีการสังเคราะห์ตั้งแต่ปี 1930 ไนลอนเป็นชื่อทางการค้า ชื่อดั้งเดิมทางวิทยาศาสตร์ คือ โพลีอาไมด์ (Polyamide: PA) ไนลอนมีหลายประเภท แต่ที่นิยมในการสังเคราะห์วัสดุ คือ ไนลอน 6,6 และ ไนลอน 6  ไนลอน 6,6 มีลักษณะความเป็นผลึกมากกว่า ส่งผลให้จุดหลอมเหลวสูงกว่า และมีความแข็ง และความต้านทานการสึกหรอดีกว่า ไนลอน 6 ผลการทดสอบ 1. การทดสอบเพื่อตรวจดูว่าเป็นพลาสติก ประเภทไนลอนประเภทไหน ในการทดสอบจะใช้เทคนิค FTIR และ DSC โดยการทดสอบได้รับการอนุเคราะห์จาก ภาควิชาวิทยาการและวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อบอกประเภทวัสดุพลาสติก เชิงคุณภาพว่าเป็นพลาสติกชนิดใด ขั้นตอนการทดสอบ การทดสอบหาโครงสร้างทางเคมีด้วยวิธีการ FTIR การทดสอบหาอุณหภูมิหลอมเหลวด้วย DSC การทดสอบการละลาย กราฟของ FTIR ของทุกตัวอย่างจะมีลักษณะดังภาพที่ 1  ซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้างทางเคมีของ Nylon แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็น Nylon ชนิดใด ภาพที่ 1 FTIR spectrum ของตัวอย่าง เมื่อนำวัสดุของตะหลิวแต่ละยี่ห้อ มาหาช่วงอุณหภูมิหลอมเหลว (melting temperature) จะได้ผลดังตารางที่ 1 ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าอ้างอิงจากตารางที่ 2 จะพบว่า ตะหลิวยี่ห้อ Tesco, FACKELMANN (แฟคเคลมาน) และ Galaxy (นกเพนกวิน) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ ไนลอน 6 ในการผลิต ตะหลิวยี่ห้ออื่น ใช้วัสดุพลาสติก ประเภท Nylon 6,6 แม้ว่าลักษณะทางกายภาพจะดูคล้ายกันแต่ถ้าผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจาก Nylon 6 ก็จะทำให้ใช้งานได้ในช่วงความร้อนที่ต่ำกว่าและเสียรูปได้ง่ายกว่า ตารางสรุปผลการทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพและวัสดุที่ใช้ทำตะหลิว   2 ผลทดสอบการวัดความแข็ง โดยทดสอบตามมาตรฐาน ASTM D2240 ใช้หัวกดชนิดกรวยมุมแหลม และใช้แรงกดขนาด 5 kgf การทดสอบค่าความแข็งได้นับการอนุเคราะห์จาก ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยวัดค่าความแข็งของ พลาสติกจำนวน 3 จุดแล้วหาค่าความแข็งเฉลี่ย โดยผลทดสอบของตะหลิวยี่ห้อ Tesco, FACKELMANN (แฟคเคลมาน) และ Galaxy (นกเพนกวิน) มีความแข็งต่ำกว่ายี่ห้ออื่น ซึ่งสอดคล้องกับ ผลการทดสอบที่ 1 เนื่องจากสมบัติความแข็งของไนลอนประเภท 6 จะมีค่าความแข็งโดยเฉลี่ยต่ำกว่า ไนลอน ประเภท 6,6 3 ผลการทดสอบการทนทานความร้อน ที่อุณหภูมิ 200 °C การทดสอบนี้ นำตะหลิว ไปวางในเตาอบอุณหภูมิ 200 °C ผลการทดสอบ พบว่า ชิ้นงานทุกชิ้นมีการเสียรูป และเริ่มมีการหลอมละลายของพลาสติก เมื่อเวลาผ่านไป 5 นาที ดังรูปที่ 1 รูปที่ 1 การเสียรูป ที่ตะหลิว หลังจาก ทิ้งไว้ในเตาอบ อุณหภูมิ 200 °C นาน 5 นาที   4 ผลการทดสอบการทนทานความร้อน ในน้ำมันพืช อุณหภูมิ 200 °C การทดสอบนี้ ตะหลิวทุกยี่ห้อ มีการเสียรูป และหลอมละลายในน้ำมัน เมื่อเวลา ผ่านไป 5 ชั่วโมง ดังรูปที่ 2 รูปที่ 2 การเสียรูป ที่ตะหลิว หลังจาก ทิ้งไว้ในน้ำมันพืช อุณหภูมิ 200 °C นาน 5 ชั่วโมง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 117 “ขนมนำเข้า” เอาอันตรายมาฝากเราหรือเปล่า?

  “ฉลาดซื้อ” เราชอบเรื่องอาหาร (หมายถึงเรื่องการทดสอบนะ) ยิ่งเป็นขนมเรายิ่งชอบเป็นพิเศษ (ก็หมายถึงการทดสอบอีกนั้นแหละ...จริงๆ นะ) ฉบับนี้เราจึงขอนำเสนอผลการทดสอบที่แอบโกอินเตอร์นิดๆ กับการทดสอบ “ปริมาณน้ำตาลและสารปนเปื้อนในขนมนำเข้า”  ขนมนำเข้าแปลกตาแปลกลิ้น แม้แต่แพ็คเก็จที่ชวนให้สนใจและชวนให้น่าชิมกว่าขนมธรรมด้าธรรมดาทั่วไป หลายๆ คนไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่จึงชื่นชอบที่จะลิ้มลองขนมจากต่างประเทศ จนอาจมองข้ามเรื่องปลอดภัยเพราะเข้าใจเอาเองว่ามาจากเมืองนอกต้องเป็นของดี “ฉลาดซื้อ” เราจึงอยากจะรู้ว่าขนมนำเข้าเอาอันตรายมาฝากเราหรือเปล่า?   ตารางผลวิเคราะห์ตัวอย่าง “ขนมนำเข้าจากต่างประเทศ” (เก็บตัวอย่าง เดือนกันยายน 2553) ชื่อตัวอย่าง รูปแบบของขนม ประเทศที่ผลิต ผู้ผลิต ผู้นำเข้า วัน/เดือน/ปี ผลิต/หมดอายุ สถาที่ซื้อ/ชื่อร้าน ข้อมูลโภชนาการ ผลการตรวจวิเคราะห์ น้ำตาล (/100 กรัม) อะฟลาท็อกซิน สีผสมอาหาร เวจเจทเทเบิล แครกเกอร์ ตราฮาจูกุ ขนมปังกรอบโรยด้วยผัก จีน บริษัท โกลเด้นฟูจิ จำกัด เมืองตงก๋วน มณฑลกวางตุ้ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน บริษัท แพรรี่มาร์เก็ตติ้ง จำกัด 1 ซอยกรุงเทพกรีฑา 2 (เลิศนาวา) หัวหมาก บางกะปิ กทม. 10240 โทร 0-2379-3191-2 23/04/10 22/04/11 เยาวราช มี 12.4 ไม่พบ ไม่พบ บ๊วยหวานผสมเปลือกส้ม ตรากู๊ดดี้ บ๊วยหวานผสมเปลือกส้ม จีน Zhaoan Tongsheng Foods Co.,Ltd Zhaoan Minyue Trading&Developing Area Fujian Provine บริษัท ซันฟู้ดส์ เทรดดิ้ง จำกัด 840/3 ถ.เจริญกรุง บางโคล่ บางคอแหลม กทม. 10120 10/07/08 12/01/08 เยาวราช ไม่มี 61.0 ไม่พบ ไม่พบ ลูกพลัมแห้ง train brand ลูกพลัมแห้ง จีน Shan tou Sanwa Seike Co.,Ltd China บริษัท อ.เพชรเกษมฮาร์ดโดรม จำกัด 64 หมู่ 2 ตลาดสามพราน จ.นครปฐม 73110 หมดอายุ 28/2/12 เยาวราช มี-ภาษาอังกฤษ 57.5 ไม่พบ ไม่พบ Koala’s March Chocolate Snack ขนมปังบิสกิตส์สอดไส้ช็อคโกแลต จีน Lotte China Foods Co., Ltd. No.8 Yongchang North Road, Economic & Technological Development Area, Beijing, China - 1/6/10 2/9/11 เยาวราช ไม่มี 24.2 ไม่พบ ไม่พบ ลักซูรี บิสกิตส์ ไส้ครีมชีส ขนมปังบิสกิตส์ ไส้ครีมชีส มาเลเซีย Hwa Tai Industries Berhad 12 Jalan Jorak, Kawasan Perindustrian Tongkang Pecah, 83010 Batu Pahat, Johor, Malaysia บริษัท เฮาเหว่ย (ประเทสไทย) จำกัด howei (Thailand) Co., Ltd. 193/100 อาคารเลครัชดาภิเษก ออฟฟิส คอมเพล็กซ์ ชั้น 23 เขตคลองเตย กทม. 10110 www.howei.co.th โทร 0-2264-0610-3 21/5/10 21/8/11 เยาวราช มี – ทั้งภาษาไทย และอังกฤษ 20.4 ไม่พบ ไม่พบ ช็อกโกแลต ชิพ อัลมอนด์ คุกกี ตราโคโค่แลนด์ คุกกีผสมช็อกโกแลตชิพและอัลมอนด์ มาเลเซีย โคโค่แลนด์ อินดัสทรี เอสดีเอ็น บีเอชดี รัฐเชลังกอร์ ประเทศมาเลเซีย บริษัท แพรรี่มาร์เก็ตติ้ง จำกัด 1 ซอยกรุงเทพกรีฑา 2 (เลิศนาวา) หัวหมาก บางกะปิ กทม. 10240 โทร 0-2379-3191-2 7/6/10 7/6/11 เยาวราช มี – ทั้งภาษาไทย และอังกฤษ 34.8 ไม่พบ ไม่พบ ยู้ปี้ กัมมี่ ไอซ์ โคล่า ชูการ์ โคทเต็ด วุ้นเจลาตินสำเร็จรูปกลิ่นโคล่าคลุกน้ำตาล อินโดนีเซีย พี ที ยูปิ อินโด เจลลี่กัม ประเทศอินโดนีเซีย บริษัท ซีโน-แปซิฟิค เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด 122/2-3 ถ.นนทรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กทม. 10120 โทร. 0-2681-5081 หมดอายุ 30/6/12 พารากอน มี-ภาษาอังกฤษ และภาษาอินโดนีเซีย 49.5 ไม่พบ ไม่พบ คุกกี้แซนวิชรสช็อกโกแลต ตราโอรีโอ คุกกี้แซนวิชรสช็อกโกแลต อินโดนีเซีย Kraft Foods Indonesia, Bekasi 17530, Indonesia บริษัท ดีทแฮล์ม จำกัด 2535 ถนนสุขุมวิท บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260 10/6/10 9/6/11 พารากอน มี – ทั้งภาษาไทย และอังกฤษ 38.4 ไม่พบ ไม่พบ ขนมปังกรอบสอดไส้ช็อกโกแลต ตราฮัลโหล แพนด้า ขนมปังกรอบสอดไส้ช็อกโกแลต สิงคโปร์ บริษัท เมจิ เซกะ (สิงคโปร์) จำกัด จูร่ง ประเทศสิงคโปร์ Thai Meiji Food Co., Ltd. 252/95 ยูนิต เอ และ บี ชั้น 18 อาคารเมืองไทย-ภัทร คอมเพล็กซ์ อาคาร 2 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 โทร 0-2694-3311 หมดอายุ 0/8/11 พารากอน มี – ภาษาไทย 29.3 ไม่พบ ไม่พบ sunsweet ลูกพรุนชนิดไม่มีเม็ด อเมริกา ซันสวีต โกรวเออร์ เมืองยูบา รัฐคาลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา บริษัท เฮาเหว่ย (ประเทสไทย) จำกัด howei (Thailand) Co., Ltd. 193/100 อาคารเลครัชดาภิเษก ออฟฟิส คอมเพล็กซ์ ชั้น 23 เขตคลองเตย กทม. 10110 www.howei.co.th โทร 0-2264-0610-3 25/02/10 25/02/12 พาหุรัด มี - ภาษาอังกฤษ 26.9 ไม่พบ ไม่พบ  การทดสอบขนมนำเข้าจากต่างประเทศ -เป้าหมายแรกและเป้าหมายหลักของเราคือการเก็บขนมนำเข้าที่มาจากเมืองจีน เพราะจีนถือเป็นประเทศที่ส่งขนมต้องสงสัยมาขายบ้านเรามากที่สุด (แบบที่ไม่มีฉลากภาษาไทยหรือไม่มีเลขที่ อย. กำกับ) ซึ่งนอกจากขนมแล้วเรายังเก็บพวกผลิตภัณฑ์ผลไม้อบแห้งด้วย เพราะถือเป็นของกินเล่นอีกชนิดที่ฮิตมากในหมู่ผู้รักของอิมพอร์ตจากเมืองจีน เรียกว่าป๊อปปูล่าไม่แพ้แพนด้าหลินปิงเลยทีเดียว แต่ “ฉลาดซื้อ” ก็ไม่ได้มีใจเอนเอียงให้กับจีนเพียงประเทศเดียว เพราะเราก็เก็บตัวอย่างขนมที่มาจากอีกหลายประเทศ ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และอเมริกา เรียกว่าเป็นงานระดับนานาชาติ -พื้นที่ที่ “ฉลาดซื้อ” บุกไปเก็บตัวอย่างสินค้าทดสอบก็คือกรุงเทพฯ ซึ่งพื้นที่เป้าหมายที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของขนมต่างชาติในกรุงเทพฯ ก็คือ “ตลาดเยาวราช” ไล่ไปจนถึง “สำเพ็ง” และ “พาหุรัด” เรียกว่าไปเดินแถวนี้มีขนมให้เลือกสารพัดซึ่งว่ากันว่าที่มาที่ไปกว่าจะจบที่ตลาดเยาวราชของขนมเหล่านี้ ส่วนใหญ่ต้องตรวจวีซ่าที่ 3 จุดหลักๆ คือ ที่แม่สายจ.เชียงราย ที่ตลาดโรงเกลือ จ.สระแก้ว และบริเวณชายแดนติดประเทศมาเลเซีย จ.ยะลา ซึ่งขนมที่เข้ามาทาง 3 จุดนี้จะเป็นขนมจากจีนและประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก   ส่วนขนมจากอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลี มักจะได้อภิสิทธิพิเศษกว่า เพราะมักจะได้ขึ้นห้าง อย่างในการเก็บตัวอย่างทดสอบครั้งนี้ “ฉลาดซื้อ” ไปสำรวจห้างดังอย่างพารากอน ที่โซน กรูเมต์ มาร์เก็ต เราพบขนมอินเตอร์เพียบ!!! นอกจากนี้เดี๋ยวนี้ยังมีอีกหนึ่งช่องทางที่ขนมต่างชาติจะเข้าถึงผู้บริโภค นั่นก็การสั่งซื้อผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งคนมีใจดีไปซื้อจากประเทศนั้นๆ แล้วนำมาขายต่อเราอีกที ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นขนมยี่ห้อดังๆ ที่ไม่มีขายในบ้านเราจาก ญี่ปุ่นบ้าง เกาหลีบ้าง (จากการที่เราได้ไปเก็บตัวอย่างขนมในย่านเยาวราชและพาหุรัด เราพบว่าขนมชนิดเดียวกันยี่ห้อเดียวกัน หากซื้อที่เยาวราช อาจได้ราคาถูกกว่าที่ขายอยู่ที่พาหุรัดถึงเกือบ 20 บาท!) ผลการทดสอบ-ผลการทดสอบครั้งนี้เราตั้งใจตรวจสอบหาปริมาณน้ำตาล สีผสมอาหาร และสารอะฟลาท็อกซิน ในขนมนำเข้าซึ่งผลที่ออกมาน่าดีใจ เพราะสีผสมอาหาร และสารอะฟลาท็อกซินไม่พบการปนเปื้อนเลยในทั้ง 10 ตัวอย่าง  -ปริมาณน้ำตาลที่พบก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงมากแต่ก็ถือว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับน้ำตาลมากเกินไปอยู่เหมือนกัน โดยปกติคนไทยเราไม่ควรได้รับน้ำตาลเกิน 24 กรัม หรือประมาณ 6 ช้อนชาต่อวันผลการทดสอบที่ออกมาจะเป็นการเทียบในปริมาณ 100 กรัม ทำให้มีหลายๆ ตัวอย่างมีปริมาณน้ำตาลเกิน 24 กรัมไปพอสมควร แต่แน่นอนว่าเราคงไม่ค่อยได้กินขนมครั้งละ 100 กรัมกันบ่อย ยกตัวอย่าง “บ๊วยหวานผสมเปลือกส้ม ตรากู๊ดดี้” ซึ่งพบปริมาณน้ำตาลมากที่สุด คือ 61 กรัม / 100 กรัม ซึ่งปกติ “บ๊วยหวานผสมเปลือกส้ม ตรากู๊ดดี้” 1 เม็ดจะมีน้ำหนักประมาณ 10 กรัม เท่ากับว่าถ้าเรากิน 1 เม็ดก็จะได้น้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 6.1 กรัม หรือ 1 ใน 4 ของปริมาณน้ำตาลที่เราต้องใน 1 วัน ดังนั้นถ้าขนมเป็นแค่ของรับประทานเล่น แค่เม็ดเดียวก็น่าจะเพียงพอกับหนึ่งวัน เพราะเรายังต้องรับประทานอาหารจานหลักอีกตั้ง 3 มื้อ และยังมีอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่างที่เรารับประทานใน 1 วัน ซึ่งทุกอย่างก็ล้วนแล้วแต่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมทั้งนั้น  หรืออย่าง “ขนมปังกรอบสอดไส้ช็อกโกแลต ตราฮัลโหล แพนด้า” ที่พบน้ำตาล 29.3 กรัม / 100 กรัมขณะที่ “ขนมปังกรอบสอดไส้ช็อกโกแลต ตราฮัลโหล แพนด้า” ขนาดเล็กที่สุดจะหนักอยู่ที่ 27 กรัมต่อซองเท่ากับว่าถ้าน้องๆ หนูๆ กินหมด 1 ซองก็จะได้น้ำตาลไป 7.9 กรัม ก็ถือว่าสูงไม่น้อยเลยทีเดียว   ฉลาดซื้อแนะ สรุปง่ายๆ ก็คือ อย่างที่เรารู้กันว่า ขนมส่วนใหญ่ส่วนประกอบหลักๆ ก็คงหนีไม่พ้นน้ำตาล ไม่ว่าจะขนมนำเข้าหรือขนมบ้านเราเอง ซึ่งขนมส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีประโยชน์กับร่างกาย ให้แค่พลังงานซึ่งเราได้จากการรับประทานอาหารจานหลักอยู่แล้ว แต่ก็ยังไงซะขนมก็มีรสชาติและเสน่ห์เฉพาะของมัน บางคนพอได้กินแล้วก็มีความสุข ที่เครียดๆ เหนื่อยๆ มา ได้กินขนมสักหน่อยก็ยิ้มได้หายเครียด ยิ่งกับเด็กๆ ขนมก็เหมือนเป็นของคู่ใจจะห้ามไม่ให้กินเลยก็ดูจะใจร้ายไปหน่อย  เอาเป็นว่าใครที่ยังติดใจรสหวานๆ ของขนม ก็ขอให้รับประทานในปริมาณที่พอดี ไม่มากเกินไป คือแค่กินเล่นไม่ใช้กินเอาอิ่มหรือกินแทนข้าว และให้ค่อยเตือนตัวเองไว้เสมอว่าทุกครั้งที่เรากินขนมเรากำลังกินน้ำตาลที่ไม่จำเป็นกับร่างกายเข้าไปด้วย ยิ่งกินมากก็ยิ่งอ้วน ยิ่งกินมากก็ยิ่งมีสิทธิป่วยเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ________________________________________________________________________ (คนไทยรับประทานขนมหวานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 700 กรัมต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับ คนอเมริกาที่รับประทานขนมหวานกันเฉลี่ยปีละ 14 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือคนอังกฤษที่รับประทานเฉลี่ย 10 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือเทียบกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเราอย่างเวียดนามก็ยังรับประทานขนมหวามมากกว่าเราคือ เฉลี่ยที่ 2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี)ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ________________________________________________________________________

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 103 ขาว ใช่ว่าจะดีเสมอไป

เรื่องทดสอบ 3 คงไม่มีใครที่อยากเสี่ยงกับการปนเปื้อนของสารพิษในอาหาร โดยเฉพาะกรณีจงใจใส่ลงไปทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นอันตรายกับผู้บริโภค แต่ผู้ค้าหลายรายก็ยังคง เล่นไม่ซื่อ กับลูกค้าตาดำๆ ดังนั้นจึงต้องมีการเฝ้าระวังอันตรายจากการปนเปื้อนของสารพิษในอาหารอยู่เสมอ ฉลาดซื้อฉบับนี้ ไปเดินสำรวจตลาดแล้วแวะซื้อถั่วงอกกับขิงซอย มาตรวจหาสารฟอกขาว หรือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โดยสุ่มตัวอย่างจากตลาดสด 4 แห่ง และซูเปอร์มาร์เก็ต 3 แห่ง ได้แก่ ตลาดบางแค ตลาดคลองเตย ตลาดยิ่งเจริญและตลาดเทวราช ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ต 3 แห่ง คือ คาร์ฟู บางแค โลตัส อ่อนนุช และเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ถั่วงอกสด คนนิยมบริโภคกันมาก เพราะเป็นผักที่นิยมกินกันดิบๆ โดยจะกินเป็นเครื่องเคียงของอาหารคาวชนิดต่างๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก ขนมจีนน้ำพริก-น้ำยา ผัดไท ก๋วยเตี๋ยวหลอด หรือนิยมนำมาผัดกับเต้าหู้ ที่เป็นเมนูโปรดของหลายคน ส่วนขิงซอย แม้จะบริโภคในปริมาณไม่มากเท่าถั่วงอกเพราะมีรสเผ็ดร้อน แต่ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เดิมอาจไม่ค่อยมีปัญหาเพราะเราซื้อกันเป็นแง่งมาปอกเปลือกและหั่นฝอยเอง แต่เดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่แม่ค้าที่ต้องใช้ขิงซอยประกอบอาหาร สามารถซื้อแบบซอยสำเร็จรูปแล้ว มาปรุงอาหารได้เลย แน่นอนว่า ขิงนั้นปล่อยไว้สักระยะก็จะมีสีคล้ำดำ จนไม่น่ารับประทาน จึงนิยมนำสารฟอกขาวมาผสมเพื่อให้ขาวเรียกความสนใจได้นานๆ ผลทดสอบจากการทดสอบ สินค้าที่เป็นแบรนด์ของห้าง ไม่พบการปนเปื้อนของสารฟอกขาว ทั้งในถั่วงอกและขิงซอย แต่แบรนด์ที่ไม่ใช่ของห้างแต่นำมาวางขายในห้าง คือ ถั่วงอกยี่ห้อ วีพีเอฟ ซึ่งเก็บจากเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน พบการปนเปื้อนของสารฟอกขาวหรือ ซัลเฟอร์ไฮดรอกไซด์ 11.47 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในขณะที่ยี่ห้อ วีพีเอฟที่เก็บตัวอย่างจาก คาร์ฟู บางแค ไม่พบการปนเปื้อน ในส่วนของขิงซอย ที่พบมากน่าเป็นห่วงคือ ขิงซอยจากตลาดยิ่งเจริญ พบสารฟอกขาว 204.58 มิลลิกรัม/กิโลกรัม รองลงมาได้แก่ ขิงจากตลาดเทวราช พบ 48.45 มิลลิกรัม/กิโลกรัม กินถั่วงอก ขิงหั่นฝอยให้หายห่วง 1.ซื้อถั่วงอก ขิงซอย ที่ไม่ดูขาวจนเกินไป ผิดธรรมชาติ โดยเฉพาะขิงซอย เมื่อไม่มีเปลือกมันจะมีสีคล้ำตามธรรมชาติเนื่องจากการสัมผัสกับอากาศ ถ้าขาวก็ถือว่าผิดปกติ ส่วนถั่วงอก ตามธรรมชาติ เมื่อเด็ดหางออกบริเวณที่มีรอยฉีกขาดจะมีสีคล้ำขึ้น 2.ถั่วงอก ถ้าให้ล้างพิษจากสารฟอกขาวได้เด็ดขาด ต้องลวกในน้ำเดือด เพื่อที่จะทำลายสารตกค้าง 3.หาโอกาสเพิ่มทางเลือก ด้วยการปลูกหรือเพาะถั่วงอกเอง เพื่อรับประทานภายในครัวเรือน ผลทดสอบ ถั่วงอก สถานที่เก็บตัวอย่าง สารฟอกขาว (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์)มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตลาดบางแค ไม่พบ ตลาดคลองเตย ไม่พบ โฮม เฟรช มาร์ท (เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน) ไม่พบ ถั่วงอก วีพีเอฟ (ห้างคาร์ฟู บางแค) ไม่พบ ตลาดเทวราช 3.79 ตลาดยิ่งเจริญ 5.79 ถั่วงอก วีพีเอฟ (จากเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน) 11.47 ผลทดสอบ ขิงหั่นฝอย สถานที่เก็บตัวอย่าง สารฟอกขาว (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์) มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตลาดบางแค ไม่พบ ตลาดคลองเตย ไม่พบ ซีโอเอฟ (เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน) ไม่พบ ซีโอเอฟ (คาร์ฟู บางแค) ไม่พบ เทสโก ไฮจีนิก (โลตัส อ่อนนุช) ไม่พบ เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ไม่พบ ตลาดเทวราช 48.45 ตลาดยิ่งเจริญ 204.58 สารฟอกขาว เป็นสารเคมีที่มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในการผลิตอาหารหลายประเภท ทั้งในอาหารที่อนุญาตและไม่อนุญาตให้ใส่สารฟอกขาว โดยพบการตกค้างในปริมาณสูงในอาหารหลายชนิด จึงถูกจัดเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่ต้องมีการเฝ้าระวังในการใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารอย่างใกล้ชิด สารฟอกขาวที่นิยมใช้ในอาหารบ้านเราส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของสารประกอบซัลไฟต์ ซึ่งเป็นชื่อรวมของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และเกลืออนินทรีย์ของกรดซัลฟูรัสซึ่งแตกตัวให้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าความปลอดภัยต่อการบริโภคในชีวิตประจำวันของสารกลุ่มนี้ไม่ควรบริโภคเกิน 0.7 มิลลิกรัมซัลเฟอรไดออกไซด์ ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อ 1 วัน และประเทศไทยได้อนุญาตให้สารซัลไฟต์เป็นสารฟอกขาวใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหลายประเภท เช่น การผลิตน้ำตาล วุ้นเส้น เส้นหมี่ ก๋วยเตี๋ยว ลูกเกด และอาหารทะเลเยือกแข็ง เป็นต้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 101 โจ๊ก – ซุปกึ่งสำเร็จรูป อร่อยง่ายๆ แต่แฝงอันตราย

เรื่องทดสอบ กองบรรณาธิการ ชีวิตที่เร่งรีบ บีบคั้นทำให้บรรดาอาหารกึ่งสำเร็จรูปทั้งหลายทำมาค้าขายกันคึกคัก อย่างผลิตภัณฑ์ประเภทบะหมี่ โจ๊ก ข้าวต้ม และซุป ที่หาซื้อง่ายๆ จากชั้นวางในร้านค้าและซูเปอร์มาเก็ตทั่วไป ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ส่วนใหญ่มีส่วนประกอบหลักคือ แป้ง หรือคาร์โบไฮเดรต อาจจะมีสารอาหารประเภทอื่นๆ อย่าง โปรตีน วิตามิน หรือแร่ธาตุบางชนิดผสมอยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. จะกำหนดให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต้องมีปริมาณโปรตีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 8.5 ของน้ำหนัก ส่วนโจ๊กและข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปกำหนดปริมาณโปรตีนไว้ที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 ของน้ำหนัก ซึ่งโปรตีนในอาหารกึ่งสำเร็จรูปส่วนใหญ่ก็จะมีอยู่ในเนื้อสัตว์อบแห้ง โปรตีนถั่วเหลืองและโปรตีนจากข้าว แต่ก็จัดว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากยิ่งเมื่อเปรียบเทียมกับปริมาณต่อการบริโภค 1 ซอง แต่ส่วนประกอบที่พบมากในบรรดาอาหารกึ่งสำเร็จรูปแทบทุกชนิดคือ เกลือหรือโซเดียม ที่มีอยู่ทั้งในรูปของผงชูรส และในผงปรุงรส ซึ่งมีส่วนทำให้รสชาติของอาหารกึ่งสำเร็จรูปมีรสชาติที่เข้มข้นอร่อยถูกปากถูกใจใครหลายๆ คน เรียกว่าทำก็ง่าย รับประทานก็สะดวก จึงไม่น่าแปลกใจที่อาหารกึ่งสำเร็จรูปจึงเป็นที่พึ่งพาเวลาหิวของใครหลายๆ คน แต่อย่ามัวเพลิดเพลินอยู่กับความอร่อย เพราะอันตราย! อาจจะถามหา โดยเฉพาะเจ้าโซเดียมที่มาพร้อมกับอาหารกึ่งสำเร็จรูปนั้นมีมากเกินไปโซเดียมพอๆ กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป“ฉลาดซื้อ” เราเคยทดสอบเรื่องความเสี่ยงของปริมาณโซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาแล้ว (ฉบับที่ 68 สิงหาคม – กันยายน 2548) ซึ่งผลที่ออกมาก็ต้องชวนให้ผู้นิยมรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต้องตกใจ เพราะเราพบปริมาณโซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงมากกว่าร้อยละ 50 – 100 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ระบุไว้ในบัญชีสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ว่าปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมคือ ไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน) คราวนี้เราออกตามล่าหาโซเดียมในอาหารกึ่งสำเร็จรูปอีกครั้ง โดยเป้าหมายของเราคือ โจ๊ก ข้าวต้ม และซุปกึ่งสำเร็จรูป แม้ความนิยมในการเลือกซื้อหามารับประทานของผู้บริโภคยังไม่สูงเทียบเท่ากับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่อาหารกึ่งสำเร็จรูปกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มของโจ๊กและข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป ที่มีทั้งแบบที่แค่ใส่น้ำร้อนก็สามารถรับประทานได้ กับแบบที่ต้องนำไปต้มกับน้ำร้อนก่อน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้โจ๊กและข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวเพิ่มมากขึ้นก็มาจากพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมการกินเน้นไปที่ความสะดวกรวดเร็ว ไม่ค่อยได้คำนึงถึงเรื่องสุขภาพมากนัก รวมทั้งผู้ผลิตเองก็ผลิตตัวสินค้ารสชาติใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคตลอดเวลาส่วนซุปกึ่งสำเร็จรูปแม้ยังไม่ได้รับความสนใจมากในตลาด เนื่องจากซุปไม่ใช่อาหารหลักของคนไทย ยังมีการบริโภคอยู่ในวงจำกัดเฉพาะผู้มีรายได้สูงและในร้านอาหารต่างประเทศเท่านั้น จึงทำให้ยังไม่มีผู้ผลิตรายใดที่ลงมือทำตลาดกับผลิตภัณฑ์ชนิดนี้อย่างจริงจัง และซุปกึ่งสำเร็จรูปส่วนมากจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ทำให้มีราคาค่อนข้างสูง แต่ในอนาคตข้างหน้ามีแนวโน้มที่ตลาดจะขยายตัวขึ้น ตามพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป บวกกับกระแสการบริโภคอาหารตะวันตกซึ่งรวมถึงอาหารจากเกาหลีและญี่ปุ่นซึ่งมีซุปเป็นอาหารเป็นหลักกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆไม่ว่าคุณจะชอบกินโจ๊ก ข้าวต้ม และซุปกึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารเช้า หรืออาจเลือกเป็นอาหารอ่อนๆ สำหรับเวลาเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเลือกอย่างไร อย่าลืมว่าความอร่อยแบบง่ายๆ อาจเป็นภัยร้ายที่แฝงมากับอันตรายจากโซเดียมสูงผลทดสอบปริมาณโซเดียมโจ๊ก ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป- คนอร์ โจ๊กต้มรสหมู (โซเดียมที่ทดสอบพบ 1949 มก./น้ำหนัก 70 ก), ม่ามา ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปรสหมู (1569 มก./50 ก.), ม่ามา โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปรสหมู (1364 มก./50 ก.) และ เกษตร โจ๊กรสหมู (1132.6 มก./42 ก.) ทดสอบพบว่ามีปริมาณโซเดียมต่อซองมากที่สุดตามลำดับ ซึ่ง คนอร์ โจ๊กต้มรสหมู ระบุว่าสำหรับ 4-5 ที่, ม่ามา ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปรสหมู ระบุว่าสำหรับ 2 ที่, ม่ามา โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปรสหมู ระบุว่าสำหรับ 3-4 ที่ ขณะที่ เกษตร โจ๊กรสหมู ไม่ได้ระบุ ซึ่งเมื่อคำนวณตามจำนวนเสิร์ฟต่อ 1 ที่จะพบว่า เกษตร โจ๊กรสหมู มีมากที่สุด (1132.6 มก.) รองลงมาคือ ม่ามา ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปรสหมู (784.5 มก.), คนอร์ โจ๊กต้มรสหมู (389.8 มก.) และ ม่ามา โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปรสหมู (341 มก.)- ลูกเต๋า ข้าว 7 นาที และ ลูกเต๋า ข้าวตุ๋นผสมฟักทอง ทดสอบพบโซเดียมในปริมาณที่น้อย เพราะลักษณะของข้าวตุ๋นที่เป็นข้าวบดอบแห้ง ไม่มีการผสมเครื่องปรุงรสใดๆ ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่อยากเลือกปรุงรสด้วยตัวเอง เพื่อเป็นการควบคุมปริมาณโซเดียมไม่ให้มีมากเกินไป- ลูกเต๋า โจ๊กข้าวกล้องหอมมะลิ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิต ลูกเต๋า ข้าว 7 นาที และ ลูกเต๋า ข้าวตุ๋นผสมฟักทอง ซึ่งก็ทดสอบพบปริมาณโซเดียมในระดับที่ค่อนข้างน้อยเช่นเดียวกัน แม้จะใช้ชื่อว่าโจ๊กแต่เชื่อว่ามีกรรมวิธีแบบเดียวกับข้าวตุ๋น คือ ไม่มีการผสมเครื่องปรุงรสใดๆ ซึ่งวิธีทำด้านหลังซองเองก็ระบุไว้ชัดเจนว่าเมื่อต้มข้าวเสร็จแล้วให้เติมเครื่องปรุงตามชอบใจ และอีกเหตุผลที่ทำให้ ลูกเต๋า ข้าว 7 นาที, ลูกเต๋า ข้าวตุ๋นผสมฟักทอง และ ลูกเต๋า โจ๊กข้าวกล้องหอมมะลิ มีปริมาณโซเดียมน้อยน่าจะมาจากทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ ไม่ใส่ผงชูรส ตามที่ระบุไว้บนซองซุป กึ่งสำเร็จรูป ในกลุ่มของซุปกึ่งสำเร็จรูปทั้ง 3 ยี่ห้อ คือ โวโน ซุปครีมรสเห็ดพร้อมขนมปังกรอบกึ่งสำเร็จรูป, เลดี้แอนนา ซุปครีมเห็ดกึ่งสำเร็จรูป และ แคมเบล์ ซุปข้าวโพดกึ่งสำเร็จรูป ทดสอบพบปริมาณโซเดียมอยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกัน คือ 465.3 มก., 574.6 มก. และ 619.7 ตามลำดับ แคมเบล์ ซุปข้าวโพดกึ่งสำเร็จรูป เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ข้อมูลทั้งหมดบนกล่องเป็นภาษาอังกฤษ ยกเว้นเพียงส่วนประกอบสำคัญที่ระบุไว้ว่า ข้าวโพด 20% ครีม 25% และน้ำตาล 10%, ที่อยู่ผู้ผลิตและผู้นำเข้า น้ำหนักสุทธิ และเครื่องหมายรับรองของ อย.ข้อสังเกต1. แม้โจ๊กและข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปทุกยี่ห้อที่นำมาทดสอบ จะมีการระบุข้อมูลว่า ควรเติม เนื้อสัตว์ ไข่ หรือผัก เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร ไว้บนซอง แต่ส่วนใหญ่ก็ถูกจัดวางอยู่ในบริเวณที่มองไม่ค่อยเห็นและมีขนาดเล็ก เช่น ม่ามา โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปรสหมู และ ม่ามา ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปรสหมู ที่ตัวอักษรข้อความที่มีขนาดเล็กและกลืนไปกับสีพื้นหลังของซองยากต่อการสังเกต2. ลูกเต๋า โจ๊กข้าวกล้องหอมมะลิ มีปริมาณโปรตีนไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่ อย. กำหนดไว้ (ร้อยละ 8 ของน้ำหนัก) โดยพิจารณาจากข้อมูลโภชนาการที่ให้ไว้บนซองผลิตภัณฑ์ คือ ลูกเต๋า โจ๊กข้าวกล้องหอมมะลิ โปรตีน 3 ก./น้ำหนัก 40 ก. คิดเป็นร้อยละ 7.5 ต่อน้ำหนัก     โจ๊กและข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป - คือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากข้าวสารบดที่ผ่านกรรมวิธีทำความสะอาดและอบเพื่อลดความชื้น พร้อมกับทำลายเชื้อจุลลินทรีย์บางชนิด ส่วนใหญ่มักนิยมเติมส่วนผสมจากธรรมชาติชนิดอื่นๆ ลงไป เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหารและเป็นจุดขายเพื่อดึงความสนใจจากผู้บริโภค ซึ่งส่วนผสมอื่นๆ ที่เพิ่มลงไปได้แก่ แป้งถั่วเหลือง ฟักทอง แครอท สาหร่าย หรือธัญพืชนานาชนิด นอกจากนี้ยังมีการเติมเครื่องปรุงรสหรือเนื้อสัตว์อบแห้งเพิ่มลงไป เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็วในการปรุง และเพิ่มรสชาติให้ชวนรับประทานข้าวตุ๋น – คือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากข้าวสารบด แบบเดียวกับ โจ๊กและข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป เพียงแต่ไม่มีการปรุงแต่งหรือใส่เครื่องปรุงรสเพิ่มเติมซุปกึ่งสำเร็จรูป – คือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเนื้อสัตว์หรือพืช เช่น ผัก ถั่ว เต้าหู้ ธัญพืช ผสมเข้ากับเครื่องปรุงรส หรืออาจเพิ่มเติมด้วยส่วนประกอบอื่นๆ เช่น แป้ง เส้นบะหมี่ แล้วนำมาผ่านกรรมวิธีทำให้แห้งหรือใช้ส่วนประกอบที่ทำให้แห้งแล้วนำมาผสมกัน โดยยังคงรักษาคุณภาพและกลิ่นรสของส่วนประกอบไว้ โซเดียม เป็นสารอาหารในกลุ่มเกลือแร่ที่ให้ประโยชน์กับร่างกาย แต่หากร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมมากเกินไป ก็ส่งผลร้ายกลับมาด้วยเช่นกัน ซึ่ง อย. กำหนดไว้ว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวันโซเดียมกับผลกระทบต่อไตไต ทำหน้าที่ปรับโซเดียมให้กับร่างกาย รักษาปริมาณโซเดียมไว้ใช้ในเวลาที่ร่างกายต้องการหรือขาดโซเดียม รวมทั้งขับโซเดียมที่มากเกินไปออกจากร่างกายออกทางปัสสาวะและเหงื่อ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในเงื่อนไขที่ว่าไตอยู่สภาพที่ทำงานได้เป็นปกติ แต่หากไตเสื่อมสมรรถภาพหรือทำงานผิดปกติ ผลเสียจากการที่ได้รับโซเดียมมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อร่างกายของเราได้ทันที เมื่อไตไม่สามารถขับโซเดียมส่วนเกินออกไปได้ จะทำให้ปริมาณน้ำในร่างกายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ระดับเลือดในร่างกายสูงขึ้นด้วย ทำให้เลือดต้องวิ่งผ่านไปยังเส้นเลือดมากขึ้น เกิดเป็นความดันโลหิตสูง หัวใจทำงานหนักเพราะต้องสูบฉีดเลือดเพิ่มขึ้น เป็นผลทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นหัวใจวาย ผู้ป่วยโรคไตและโรคอื่นๆ ดังที่กล่าวมาจึงจำเป็นต้องใส่ใจระมัดระวังในการเลือกรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของโซเดียมเป็นอย่างมากเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 148 สถานการณ์สารพทาเลต DEHP- อันตรายที่สามารถหลีกเลี่ยงได้

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการบทความนี้ ได้ข้อมูลมาจากผลการศึกษาปริมาณของสาร DEHP ที่ปนเปื้อนอยู่ในประชากรชาวเยอรมนีที่ทำการศึกษาโดยสถาบันประเมินความเสี่ยงแห่งสหพันธ์ (Federal Institute for Risk Assessment) กับสำนักงานกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม (Federal Environment Agency) ซึ่งทางยุโรปได้ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลสารเคมีในกลุ่มพทาเลต ที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ยังไม่ได้ทบทวน และประกาศใช้มาตรฐานกำกับผลิตภัณฑ์ที่มีสารพทาเลตเป็นส่วนประกอบ ซึ่งในมิติของการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ใส่ใจต่อสุขภาพของและความปลอดภัยของผู้บริโภค ตลอดจนเป็นการจะช่วยสกัดกั้นป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายหลุดเข้ามาสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภคครับ   สาร DEHP คืออะไร สาร DEHP ย่อมาจาก di (2-ethyl hexyl) phthalate เป็นสารเคมีที่นิยมใช้ในการผลิตพลาสติก เพื่อให้พลาสติกมีความอ่อนตัว เหมือนกับสารพทาเลตตัวอื่นๆ อีกหลายตัว และสหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศให้สาร DEHP เป็นสารพิษที่มีผลกระทบต่อระบบการสืบพันธุ์ของมนุษย์ เนื่องจากมีการอ้างถึง การที่สาร DEHP มีผลต่อระบบสืบพันธ์ และส่งผลทางด้านลบต่อทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาฅ สำหรับผู้ใหญ่การได้รับสาร DEHP ส่วนใหญ่ได้รับผ่านทางการกินอาหาร เข้าสู่ร่างกายซึ่งมีปริมาณน้อย และยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพ เนื่องจากปริมาณที่ผู้ใหญ่ได้รับสารเคมีนี้ยังน้อยกว่าปริมาณสูงสุดที่ยอมรับได้โดยไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เนื่องจากในร่างกายของผู้ใหญ่สามารถที่จะกำจัดสาร DEHP นี้ออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว สำนักงานที่กำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยของอาหารแห่งยุโรป (EFSA) ได้กำหนดปริมาณสาร DEHP สูงสุดที่  50 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักมนุษย์ 1 กิโลกรัมต่อวัน ที่ร่างกายมนุษย์สามารถขับออกจากร่างกายได้ โดยที่ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ (TDI: Tolerable Daily Intake) สำหรับข้อมูลจากรายงานการสำรวจในประเทศเยอรมนี พบปริมาณสาร DEHP ที่คนเยอรมนีได้ขับถ่ายออกมาเฉลี่ยที่ปริมาณ 13-21 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม   อาหารประเภทไหนที่อาจมีสาร DEHP ปนเปื้อนอยู่ ? อาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปเช่น เนื้อสัตว์ ไขมัน น้ำมัน ธัญพืช ผลไม้ ผักสด นมและผลิตภัณฑ์จากนม ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ เปรียบเทียบกับอาหารที่ไม่ได้อยู่ในบรรจุภัณฑ์ และอาหารที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการแปรรูป จะมีการปนเปื้อนของ DEHP ในปริมาณสูง เพราะอาหารสามารถที่จะละลายสาร DEHP และพทาเลตตัวอื่นๆ ในระหว่างกระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการบรรจุ ด้วยเหตุผลดังกล่าวมีการสั่งห้ามใช้สาร DEHP ในบรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหารที่มีไขมันในปี 2007 (พ.ศ. 2550) และในปี 2015 อียูก็ได้สั่งห้ามใช้สาร DEHP ในผลิตภัณฑ์อีกหลายตัว (consumer product) หากไม่ได้มีการพิสูจน์ตามมาตรฐานของ REACH ที่เป็นมาตรฐานในการควบคุมและกำกับการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย ในกรณีของเด็ก สาร DEHP ครึ่งหนึ่งของปริมาณสารเคมีที่ได้รับ ผ่านทางอาหาร ส่วนที่เหลือจะได้รับผ่านทางผลิตภัณฑ์อื่นๆ และของเล่น เนื่องจากเด็กจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเล่นบนพิ้นห้อง ซึ่งอาจได้รับสาร DEHP เข้าสู่ร่างกายมากกว่าผู้ใหญ่ ในการศึกษาครั้งนี้ ประมาณกาณ์ว่า เด็กได้รับสาร DEHP ระหว่าง 15-44 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว1 กิโลกรัม แต่ก็ยังต่ำกว่าปริมาณค่าสูงสุดที่ยอมรับได้ (TDI-Value)   วิธีการป้องกันสาร DEHP เข้าสู่ร่างกายได้ดีคือ การรับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ ลดการรับประทานอาหารสำเร็จรูป และกึ่งสำเร็จรูป ลดการบริโภคอาหารสำเร็จรูป ยี่ห้อเดียวกันเป็นประจำ หากจำเป็นต้องเปลี่ยนไปบริโภคยี่ห้ออื่นบ้าง เพราะแต่ละยี่ห้อก็จะมีปริมาณสาร DEHP ไม่เท่ากัน นอกจากนี้ควรหมั่นทำความสะอาดพิ้นสม่ำเสมอในกรณีที่มีเด็กเล็ก และปล่อยให้เด็กเล่นบนพื้นห้อง เลือกของเล่นสำหรับเด็กที่ไม่มีสารพทาเลตเป็นส่วนผสม ซึ่งในยุโรปมีกฎหมายห้ามใช้สาร DEHP ในผลิตภัณฑ์และของเล่นสำหรับเด็กตั้งแต่ปี 1999 (พ.ศ. 2542) ซึ่งยุโรปจะมีเวบไซต์แจ้งเตือนทุกๆสัปดาห์  (RAPEX: http://ec.europa.eu/consumers/dyna/rapex/rapex_archives_en.cfm ) เมื่อมีการตรวจพบผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่มีสาร DEHP ผสมอยู่   ข้อมูลอ้างอิง Phthalate Contamination of the Population in Germany: Exposure-relevant sources, exposure paths and toxicokinetics using the example of DEHP and DINP, Federal Institute for Risk Assessment, Federal Environment Agency, ISSN 1862-4340, 2012

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 พลุและดอกไม้ไฟ อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

พอใกล้ช่วงลอยกระทงทีไรเราก็มักจะได้ยินข่าวเรื่องการขอความร่วมมืองดเว้นการเล่นพลุเล่นดอกไม้ไฟ สาเหตุก็เพราะบ่อยครั้งที่ได้ยินข่าวบรรดาพลุหรือดอกไม้ไฟนำมาซึ่งอุบัติเหตุแบบคาดไม่ถึง รุนแรงมากบ้างน้อยบ้าง หลายครั้งที่มันนำไปสู่การสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นเสียทรัพย์หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ที่สำคัญคือคนที่ได้รับอุบัติเหตุจากการเล่นพลุเล่นดอกไม้ไฟส่วนใหญ่ ก็คือ เด็กๆ ที่มักเล่นสนุกจนมองข้ามอันตราย คำถามที่ตามมา คือ ในเมื่อพลุและดอกไม้ไฟเป็นสินค้าอันตราย แล้วการควบคุมการขาย การนำมาใช้นั้นได้มีการทำอย่างถูกต้องเข้มงวดแล้วหรือยัง ลองมาหาด้วยกันว่าบ้านเรามีวิธีจัดการกับปัญหาเรื่องอันตรายจากพลุและดอกไม้ไฟมากน้อยขนาดไหน เจ็บ – ตาย เพราะพลุและดอกไม้ไฟ ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เรื่องสถานการณ์การบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลวหรือสะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุ ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2550 – 2554 พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 2,587 ราย เฉลี่ยปีละ 517.4 ราย โดยเป็นผู้ที่เสียชีวิตจำนวน 6 ราย ซึ่งเมื่อจำนวนผู้ป่วยแยกเป็นแต่ละปีพบว่ามีผู้ป่วยจากอุบัติเหตุพลุ ดอกไม้ไฟ มีแนวโน้มสูงขึ้น จากในปี จากจำนวน 364 ราย ในปี พ.ศ. 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 642 ราย ในปี พ.ศ. 2554 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1.76 เท่า อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุพลุและดอกไม้ไฟ อยู่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน มากที่สุดคือช่วงอายุ  10-14 ปี ร้อยละ 23.83 รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 15-19 ปี ร้อยละ 14.48 และกลุ่มอายุ 5-9 ปี ร้อยละ 14.33   ชนิดของพลุและดอกไม้ไฟ พลุและดอกไม้ไฟที่จำหน่ายในท้องตลาดในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งประเภทที่จุดแล้วทำให้เกิดแสงสว่าง และชนิดที่จุดแล้วทำให้เกิดเสียงดัง แต่โดยทั่วไปแล้วเราสามารถแบ่งประเภทของพลุและดอกไม้ไฟได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1.พลุและดอกไม้ไฟขนาดเล็ก หรือ แบบทั่วไป (Consumer Fireworks) ใช้เล่นเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก แสงหรือเสียงที่เกิดขึ้นจะเกิดจากการเผาไหม้ พลุและดอกไม้ไฟขนาดเล็กจะมีปริมาณของส่วนผสมที่เป็นวัตถุระเบิดไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อชิ้นสำหรับพลุและดอกไม้ไฟที่เล่นบนพื้นดิน และไม่เกิน 130 มิลลิกรัม สำหรับพลุและดอกไม้ไฟที่เล่นในอากาศ ตัวอย่างพลุและดอกไม้ไฟขนาดเล็กมีอย่างเช่น ประทัด ไฟเย็น พลุขนาดเล็ก กระจับ กระเทียม เป็นต้น 2.พลุและดอกไม้ไฟขนาดใหญ่ หรือ แบบพิเศษ (Display Fireworks) พลุและดอกไม้ไฟขนาดใหญ่นิยมใช้กับงานแสดงในที่กว้าง โล่งแจ้ง ผู้ใช้จะต้องมีความชำนาญ ได้รับการฝึกอบรมในการใช้งานมาเป็นอย่างดี เพราะมีการระเบิดเผาไหม้ที่รุนแรงกว่า ที่สำคัญคือใช้ส่วนผสมของวัตถุระเบิดมากกว่า ตัวอย่างของพลุและดอกไม้ไฟขนาดใหญ่ ได้แก่ พลุและดอกไม้ไฟขนาดใหญ่ที่นิยมยิงขึ้นฟ้าสร้างภาพและสีสันต่างๆ   อันตรายที่มักเกิดจากพลุและดอกไม้ไฟ อันตรายจากการเกิดไฟไหม้และการระเบิด อุบัติเหตุที่เกิดจากพลุและดอกไม้ไฟที่นำมาซึ่งความสูญเสียมากที่สุด ก็คืออุบัติเหตุที่เกิดจากการระเบิดของพลุและดอกไม้ไฟ โดยเฉพาะกับการระเบิดที่เกิดขึ้นภายในโรงงานที่ผลิต ซึ่งเต็มไปด้วยวัตถุดิบที่เอื้อต่อการเกิดการระเบิดที่รุนแรง บ่อยครั้งที่เราได้ยินข่าวโรงงานผลิตพลุและดอกไม้ไฟเกิดการระเบิด ซึ่งมักเป็นเหตุการณ์รุนแรง แถมยังมีสิ่งที่ตามมาหลังการระเบิด ทั้งการเกิดเพลิงไหม้ และการรั่วซึมของสารเคมีที่เป็นอันตราย นอกจากนี้สาเหตุของการระเบิดและไฟไหม้อาจไม่ได้เกิดจากความไม่ได้มาตรฐานของโรงงานที่ผลิตแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีหลายเหตุการณ์ที่เกิดจากความประมาทของผู้ที่ซื้อพลุไปจุดเล่นแล้วไม่ระมัดระวัง พลุหรือดอกไม้ไฟที่จุดไปตกยังบริเวณที่เสียงต่อการติดไฟทำให้ไฟเกิดลุกไหม้ อีกหนึ่งอุบัติเหตุจากพลุและดอกไม้ไฟที่เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ก็คือการที่ผู้เล่นซึ่งมักเป็นเด็กและเยาวชนได้รับบาดเจ็บจากการจุดพลุและดอกไม้ไฟ ซึ่งมีไม่น้อยที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็นมือ นิ้วมือ แขน หรือ แม้แต่ดวงตา ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความประมาท ความคึกคะนอง ซึ่งการป้องกัน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องคอยสอดส่องดูแล ไม่ควรให้เด็กเล่นวัตถุอันตรายอย่างพลุเด็ดขาด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดูแลเรื่องการขายก็ต้องควบคุมดูแลให้การขายพลุและดอกไม้ไฟเป็นไปตามกฎ   อันตรายจากการได้รับสารเคมี เพราะส่วนประกอบหลักของพลุและดอกไม้ไฟเกิดจากการผสมกันของสารเคมีหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น สารโปแตสเซียมเปอร์คลอเรต ที่มีผลทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและระบบทางเดินหายใจส่วนบน, สารซัลเฟอร์หรือกำมะถัน จะทำให้เกิดอาการตาแดง ผิวหนังอักเสบ หายใจขัด เกิดการระคายเคืองที่ระบบทางเดินหายใจ, สารโปตัสเซียมไนเตรต หากสัมผัสถูกสารจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง และเยื่อบุผิวหนัง ถ้ากลืนกินเข้าไปจะทำให้คลื่นไส้ ท้องเสีย และกล้ามเนื้ออ่อนแรง, สารแบเรียมไนเตรต เป็นสารที่ มีพิษมากจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อหู ตา จมูก และผิวหนัง สารนี้มีผลทำลายตับ ม้าม และยังทำให้เกิดอัมพาตที่แขน ขา และบางรายอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งอย่างที่เราได้รับทราบในข่าว เวลาที่เกิดการระเบิดของโรงงานผลิตพลุและดอกไม้ไฟ จะมีการอพยพชาวบ้านที่อยู่ในละแวกที่เกิดเหตุออกจากพื้นที่ เพื่อหลีกหนีอันตรายจากสารเคมีต่างๆ ที่อาจรั่วซึมออกมาพร้อมการระเบิด   อันตรายการได้รับเสียงดัง มีข้อมูลจากกรมอนามัย เรื่องความดังของเสียงระเบิดจากพลุและดอกไม้ไฟมีระดับเสียงกระแทกสูงถึง 130 เดซิเบล เอ (เดซิเบล เอ dB(A) คือ สเกลของเครื่องวัดเสียงที่สร้างเลียนแบบลักษณะการทำงานของหูมนุษย์ โดยจะกรองเอาความถี่ต่ำ และความถี่สูงของเสียงที่เกินกว่ามนุษย์จะได้ยินออกไป) ที่ระยะห่างจากจุดกำเนิด 5 เมตร ซึ่งสูงเกินกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 85 เดชิเบล เอ การที่หูของเราได้รับเสียงที่มีความดังเกินกว่า 130 เดซิเบล เอ มีผลทำให้เราเกิดอาการหูตึงชั่วคราว แต่หากต้องได้ยินติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลทำให้เกิดอาการหูตึงถาวร นอกจากนี้เสียงที่ดังมากๆ ก็มีผลต่อเรื่องของสุขภาพจิต ทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิด รำคาญ ส่งผลให้นอนไม่หลับ ทำให้สุขภาพร่างกายอ่อนแอ รวมทั้งมีผลต่อผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิต   อันตรายจากความร้อน พลุและดอกไม้ไฟใช้การจุดระเบิดเป็นตัวทำปฏิกิริยา ซึ่งการจุดไฟสิ่งที่ตามด้วยเสมอก็คือความร้อน หลายคนหลงเพลิดเพลินกับประกายสะเก็ดไฟที่สวยงาม จนลืมนึกถึงความร้อนของสะเก็ดไฟเหล่านั้น ซึ่งเป็นความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงมาก ตัวอย่างพลุที่ชื่อเรียกว่า ไฟเย็น ซึ่งเป็นที่นิยมมาก หลายๆ คนน่ารู้จักกันดี แม้จะชื่อไฟเย็นแต่เวลาที่จุดจะมีอุณหภูมิความร้อนสูงสุดถึง 900 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นความร้อนในระดับที่สามารถทำให้ผิวหนังไหม้ได้หากไปสัมผัสถูก   11 ข้อห้าม!!! ป้องกันอันตรายจากพลุและดอกไม้ไฟ 1.ห้ามให้เด็กๆ เล่นพลุและดอกไม้ไฟ หรือควรต้องอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ 2.ห้ามเล่นพลุและดอกไม้ไฟ ที่ซื้อจากร้านค้าที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ  สินค้าอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ เก่า และไม่มีฉลากภาษาไทยที่ถูกต้องชัดเจน 3.ห้ามเล่นพลุและดอกไม้ไฟ ถ้ายังไม่ได้อ่านฉลาก คำแนะนำ วิธีการใช้ คำเตือน 4. ห้ามจุดดอกไม้ไฟที่เสื่อมสภาพหรือดอกไม้ไฟที่ถูกจุดแล้วแต่ยังไม่ระเบิด(ไม่ทำงาน) เพราะพลุและดอกไม้ไฟนั้นอาจระเบิดโดยไม่คาดคิด 5.ห้ามจุดพลุและดอกไม้ไฟ ถ้ายังไม่ได้เตรียมกระป๋องหรือถังใส่น้ำไว้ใกล้บริเวณที่จะจุดพลุหรือดอกไม้ไฟ เผื่อไว้ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน 6.ห้ามเข้าใกล้ดอกไม้ไฟที่ถูกจุดแล้วหรือดอกไม้เพลิงที่ยังดับไม่สนิท 7.ห้ามจุดพลุหรือดอกไม้ไฟ หากไม่อยู่ในระยะที่ปลอดภัย คือ 1 เมตร หรือ 1 ช่วงแขน 8.ห้ามประกอบหรือดัดแปลงพลุหรือดอกไม้ไฟไว้เล่นเองโดยเด็ดขาด 9.ห้ามเก็บพลุและดอกไม้ไฟไว้ในบ้าน หากต้องเก็บควรเก็บในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดฝามิดชิด สถานที่เก็บควรเป็นที่แห้งและมีอากาศเย็น 10.ห้ามจุดพลุหรือดอกไม้ไฟ ในพื้นที่โล่งแจ้ง บริเวณที่มีหญ้าแห้งหรือบริเวณที่เป็นสนามหญ้า เพราะหญ้าเหล่านั้นสามารถลุกติดไฟได้ หลีกเลี่ยงบริเวณอาคารบ้านเรือน หรือแหล่งที่มีวัสดุที่ติดไฟง่าย พวก ก๊าซ น้ำมัน หรือเชื้อเพลิง 11.ห้ามเล่นพลุและดอกไม้ไฟโดยเด็ดขาด หากไม่จำเป็น   กฎหมายที่ทำหน้าที่ควบคุมการซื้อ-ขายและการใช้พลุและดอกไม้ไฟ พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ที่ให้อำนาจนายทะเบียนท้องที่แต่ละท้องที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตในการขาย ผลิต นำเข้า ดอกไม้เพลิง ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุ 1 ปี นอกจากนี้เจ้าหน้าที่นายทะเบียนท้องที่ยังมีสิทธิในการออกข้อกำหนดหรือข้อบังคับเพื่อควบคุมป้องกันอันตรายอันอาจจะเกิดจากพลุและดอกไม้ไฟ เช่น การกำหนดปริมาณน้ำหนักรวมของดินปืนหรือสารระเบิดในสินค้าพลุและดอกไม้ไฟรวมทั้งหมดที่มีอยู่ในร้าน อย่างเช่น กำหนดให้มีน้ำหนักรวมของดินปืนหรือสารระเบิดรวมไม่เกิน 50 กิโลกรัม กำหนดเวลาปิดเปิดของร้านค้าพลุและดอกไม้ไฟ กำหนดให้ภายในร้านต้องมีลักษณะที่เหมาะสม  มีอากาศถ่ายเทดี มีอุปกรณ์ดับเพลิง ไม่จำหน่าย พลุและดอกไม้ไฟ รวมกับสินค้าอื่นที่ติดไฟง่าย อย่าง เชื้อเพลิง ก๊าซ น้ำมัน ไม้ขีดไฟ เป็นต้น ซึ่งผู้ที่ทำผิดมีสิทธิถูกบทลงโทษ ทั้งจำทั้งปรับ   พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 พลุ ดอกไม้ไฟ หรือ ดอกไม้เพลิง ถือเป็นวัตถุอันตราย ตามคำจำกัดความที่บอกว่าวัตถุอันตรายหมายถึง วัตถุไวไฟ และ วัตถุระเบิดได้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ทำหน้าที่ควบคุมดูแลสินค้าที่ถูกผลิต นำเข้า และจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด โดยจะมีคณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งมาจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงอุตสาหกรรม กรมการค้าภายใน กรมตำรวจ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงกลาโหม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาเคมี ฯลฯ หน้าที่หลักๆ ของคณะกรรมการชุดนี้คือ ให้คำแนะนำแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการรับขึ้นทะเบียน หรือเพิกถอนทะเบียนวัตถุอันตราย แจ้งข่าวสารเกี่ยวกับวัตถุอันตรายให้ประชาชนได้ทราบ รวมถึงพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากวัตถุอันตราย   พลุ ดอกไม้ไฟ เป็นสินค้าควบคุมฉลาก หนึ่งในความพยายามที่จะลดและป้องกันอันตรายจากพลุและดอกไม้ไฟ ก็คือการกำหนดให้ ดอกไม้ไฟ หรือ ดอกไม้เพลิง ซึ่งนิยามตามประกาศหมายรวมถึง พลุ ประทัดไฟ ประทัดลม และวัตถุอื่นใดอันมี สภาพคล้ายคลึงกัน เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ซึ่งสิ่งที่ดอกไม้ไฟต้องแสดงไว้บนฉลากเพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค นอกจากรายละเอียดสำคัญพื้นฐานอย่าง -ชื่อประเภทหรือชนิดของสินค้า -สถานที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้ขาย -ปริมาณ ขนาด หรือน้ำหนักของสินค้า -วิธีใช้ -ข้อแนะนำในการใช้ หรือห้ามใช้ -คำเตือน -วันเดือนปีที่ผลิต -ราคา ตามข้อกำหนดในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. 2541 แล้ว ยังต้องมีการแสดงข้อมูลเฉพาะที่ได้มีการกำหนดเพิ่มเติมในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 36 พ.ศ. 2556 เรื่อง ให้ดอกไม้เพลิงเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยรายละเอียดข้อมูลที่ต้องมีบนฉลากสินค้าดอกไม้ไฟ มีดังนี้ 1. ผู้เล่นดอกไม้เพลิงที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี ต้องอยู่ในการกำกับดูแลของผู้ใหญ่ 2. ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก 3. ไม่ควรเก็บรักษาไว้ในที่มีอุณหภูมิสูง 4. ไม่ควรจุดไฟใหม่ หากจุดชนวนแล้วไม่ติด 5. ควรเล่นในที่โล่งกว้าง ห่างไกลจากวัตถุไวไฟ นอกจากนี้ยังต้องมีคำเตือน ที่ระบุว่า “อันตรายอาจถึงตายหรือพิการหากเล่นไม่ถูกวิธี หรือคึกคะนอง” โดยข้อความที่เป็นคำเตือนต้องใช้ตัวอักษรเส้นทึบขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรอื่น ในกรอบสี่เหลี่ยม สีของกรอบและข้อความต้องตัดกับสีพื้นของฉลาก ซึ่งประกาศฉบับนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 นี้เป็นต้นไป   โดยใน พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ได้มีการระบุโทษของผู้ที่จำหน่ายพลุ ดอกไม้ไฟ ดอกไม้เพลิง ที่ไม่มีฉลาก หรือมีฉลากไม่ถูกต้อง มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   เล่นพลุไม่ระวัง ทำคนอื่นเดือดร้อน มีสิทธินอนคุก อันตรายจากการเล่นพลุและดอกไม้ด้วยความประมาทจนนำไปสู่อุบัติเหตุนั้น นอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับตัวเองแล้ว ใครที่เล่นพลุและดอกไม้ไฟแล้วไปสร้างความเสียหายเดือนร้อนให้กับคนอื่นๆ ถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เรื่องความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน มาตรา 220 ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของ ตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท และยิ่งถ้าหากรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 224 มิสิทธิโดนลงโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต   ข่าวพลุระเบิด เมื่อไรจะเงียบเสียง 14 ส.ค.49 รถเทรลเลอร์บรรทุกดอกไม้ไฟนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย มายังจังหวัดสงขลา ได้เกิดระเบิดขึ้นขณะขนถ่ายเข้าเก็บภายในโกดัง ทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 2 ราย ซึ่งการระเบิดขึ้นมีความรุนแรงมาก เนื่องจากพลุที่เริ่มระเบิดภายในรถเทรลเลอร์ได้ลุกลามไปยังพลุและดอกไม้ไฟที่อยู่ในโกดัง ทำให้การระเบิดขยายวงกว้างขึ้น 31 ธ.ค.53 ดารานายแบบชื่อดัง ''สมเจตน์ สะอาด'' เสียชีวิตจากการถูกพลุระเบิดใส่เข้าที่ใบหน้า สาเหตุเกิดจากอุบัติเหตุจากการที่ตัวนายแบบตั้งใจจะเข้าไปดับพลุที่เตรียมไว้เพื่อจุดในงานส่งท้ายปีเก่า ซึ่งเกิดติดขึ้นมาก่อนเวลาที่ตั้งใจไว้ ระหว่างที่เห็นพลุเกิดมีควันลอยออกมานายแบบหนุ่มตั้งใจก้มลงไปที่พลุเพื่อดับชนวน พลุก็เกิดระเบิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิด  ลูกไฟจากแรงระเบิดกระแทกเข้าใบหน้าของนายแบบหนุ่ม ทำให้เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ 17 ม.ค.54 ที่จังหวัดอยุธยา เกิดเหตุระเบิดจากพลุและดอกไม้ไฟ มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย สาเหตุเกิดจากบ้านหลังดังกล่าวลักลอบผลิตพลุและดอกไม้ไฟอย่างผิดกฎหมาย แรงระเบิดยังทำให้บ้านอีก 4 หลังรอบๆ ที่เกิดเหตุ ได้รับความเสียหายพังราบเป็นหน้ากลอง 24 ม.ค. 55 งานตรุษจีนสุพรรณบุรี ปีทองมังกรสวรรค์ ณ อุทยานมังกรสวรรค์ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้เกิดเหตุดอกไม้ไฟระเบิด ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากพลุและดอกไม้ไฟที่สร้างความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประเทศไทย สาเหตุจากพลุและดอกไม้ไฟจำนวนมากที่ถูกเตรียมไว้แสดงในงานเกิดระเบิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิด เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 4 ราย บาดเจ็บมากกว่า 70 ราย มีบ้านเรือนที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้รุนแรงถึงขั้นไร้ที่อยู่อาศัยมากกว่า 50 ครอบครัว 27 ส.ค.56 ถังเก็บดินระเบิดที่ผสมแล้วของโรงงานทำพลุซึ่งมีเจ้าของเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ต.ชัยฤทธิ์ อ.ไชโย จ.อ่างทอง เกิดระเบิด จนเป็นเหตุให้ทั้งโรงงานผลิตพลุ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน และบ้านเรือนใกล้เคียงอีก 3 หลัง ได้รับความเสียหาย โรงงานพลุแห่งนี้ ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง มีการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ แต่ก็ยังเกิดอุบัติเหตุขึ้นโดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน 9 มิ.ย.56 โรงงานผลิตพลุ ในตำบลสวนแตง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้เกิดเหตุระเบิดรุนแรง จนทำให้โกดังเก็บพลุจำนวน 6 หลัง บ้านพัก และรถยนต์ 4 คันที่อยู่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ ถูกแรงระเบิดได้รับความเสียหายทั้งหมด โดยจำนวนพลุทั้งหมดที่ถูกเก็บไว้ในโกดังมีมากกว่า 700 ลูก ที่น่าคิดคือโกดังแห่งนี้เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับยึดพลุที่อยู่ในโกดังมาแล้วเมื่อปี 54 เพราะสุ่มเสี่ยงต่ออันตราย แต่ก็ยังมาเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในที่สุด 22 ต.ค. 56 เกิดเหตุโกดังเก็บพลุ ดอกไม้ไฟ และโคมลอย ในอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ สาเหตุคาดว่าเกิดจากประกายไฟจากการก่อสร้างในบริเวณใกล้เคียง กระเด็นมาติดกับพลุและดอกไม้ไฟ ที่ถูกเก็บไว้ในโกดัง เพื่อเตรียมจำหน่ายช่วงวันลอยกระทง เป็นผลให้เกิดการระเบิดขึ้น ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บอีก 5 คน //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 รถบัสลายการ์ตูน สวยงามหรืออันตราย!?

  เชื่อว่าใครที่สัญจรบนท้องถนนเป็นประจำ น่าจะเคยสะดุดตากับบรรดา “รถบัสลายการ์ตูน” ทั้งตัวการ์ตูนญี่ปุ่น การ์ตูนฝรั่ง การ์ตูนไทยก็มี สีสันแสบตา เรียกว่านับสีกันไม่ถูก แถมบางคันยังติดไฟพรึ่บพรั่บเป็นสิบๆ ดวง ดูแล้วออกจะรกหูรกตามากกว่าจะเรียกว่าเป็นความสวยงาม เชื่อว่าหลายคนที่พบเห็นคงมีคำถามอยู่ในใจว่า รถทัวร์ลายการ์ตูนและรถทัวร์ที่ติดไฟส่องสว่างเกินความจำเป็นพวกนี้ เป็นรถที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แล้วจะมีผลอย่างไรหรือไม่กับเรื่องของการขับขี่และที่สำคัญคือเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุ เรามาร่วมกันไขปริศนาของเหล่าบรรดารถบัสลายการ์ตูนสีลูกกวาดที่กำลังออกอาละวาดบนท้องถนนว่าเหมาะสม? ถูกต้อง? ปลอดภัย? อันตราย? หรือขัดกับกฎหมายอะไรยังไงกันบ้าง?   ต้องทำเพื่อเอาใจลูกค้า? พวกรถบัสลายการ์ตูนมักจะมาในรูปของ “รถโดยสารไม่ประจำทาง” ซึ่งมักจะเป็นรถรับส่งพนักงาน หรือรถโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งการเป็นรถเพื่อการท่องเที่ยวนี่แหละที่กลายเป็นคำกล่าวอ้างของผู้ประกอบการให้เช่ารถโดยสารไม่ประจำทางถึงเหตุผลที่ทำให้รถต้องถูกตกแต่งด้วยสีสันและลวดลายต่างๆ   ฉลาดซื้อได้สอบถามพนักงานขับรถและผู้ประกอบการให้เช่ารถโดยสารไม่ประจำทางแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีบริษัทผู้ประกอบการรถบัสโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางหลายแห่ง เนื่องจากเป็นจังหวัดที่เป็นนิคมอุตสาหกรรม จึงทำให้มีรถบัสสำหรับรับ - ส่งพนักงานวิ่งให้บริการเป็นจำนวนมาก รวมทั้งรถที่เพนท์ลายการ์ตูน – แต่งไฟก็มีให้พบเห็นได้ไม่ยาก พนักงานขับรถและผู้ประกอบการได้อ้างถึงเหตุผลที่รถต้องมีการแต่งสีสันหรือวาดลายการ์ตูน รวมทั้งการที่ต้องมีการติดโคมไฟจำนวนมากไว้บริเวณหน้ารถหรือตามตัวรถว่า เป็นความต้องการของลูกค้าที่มาขอใช้บริการ เพราะลูกค้าที่ต้องการรถประเภทนี้ส่วนใหญ่ให้เหตุผลเรื่องความสนุก โดยคิดว่ายิ่งรถมีสีสันแต่งสวยก็จะยิ่งให้ความรู้สึกสนุกมากขึ้น ถึงขนาดที่ลูกค้าที่มาติดต่อเช่ารถเป็นฝ่ายขอมาเองเลยว่ารถต้องมีลวดลายเยอะๆ แต่งไฟเยอะๆ เครื่องเสียงก็ต้องดัง บางก็ว่าด้วยความที่รถมีลวดลายเฉพาะทำให้ง่ายต่อการจดจำเวลาที่รถไปจอดรอบตามที่ต่างๆ เช่น สถานที่ท่องเที่ยวหรือตามปั้มน้ำมัน ซึ่งมักจะมีรถบัสโดยสารลักษณะนี้จอดเป็นจำนวนมาก ทำให้คนที่โดยสารมาจดจำรถของตัวเองได้   สรุปคือ ผู้ประกอบการอ้างว่าการตกแต่งรถบัสด้วยสีสัน ลายการ์ตูน และดวงไฟที่มากมายเกินพอดีนั้น เป็นหนึ่งในเรื่องของการบริการ แต่บริการในลักษณะนี้อาจกำลังขัดกับเรื่องของกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับรถโดยสาร รวมทั้งอาจส่งผลต่อเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งตัวผู้ใช้บริการหรือผู้โดยสารเองอาจยังไม่ทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ตัวผู้ประกอบการเองก็ละเลยที่จะเลือกปฏิบัติตามกฎระเบียบ และอาจจะรวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลที่หละหลวมในการควบคุม   สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุมักเกิดจากความประมาทของพนักงานขับรถ เช่น ขับรถเร็ว ขับตัดหน้ากระชั้นชิด ขับผิดกฎหมาย ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะ ทั้งสภาพของถนนที่ยากต่อการขับและต้องอาศัยของชำนาญของผู้ขับ สภาพแวดล้อม เช่น ฝนตกหนัก ถนนลื่น   สภาพของรถก็มีผลต่อสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเช่นกัน ทั้งในเรื่องการตรวจเช็คที่ไม่ได้มาตรฐาน อุปกรณ์ชำรุด ส่งผลต่อการควบคุมรถ และรวมถึงการตกแต่งต่อเติมสภาพรถเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้มีการกำหนดไว้ชัดเจนในกฎกระทรวงเรื่อง “กำหนดความปลอดภัยในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร พ.ศ. 2555” ว่าไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของรถ หรือเพิ่มสิ่งหนึ่งสิ่งใดเข้าไป ซึ่งน่าจะเป็นอันตรายกับการขับรถและการโดยสาร   เพราะฉะนั้นบรรดารถโดยสารที่เพนท์สีสันหรือลายตัวการ์ตูนต่างๆ รอบตัวรถ และที่มีการติดไฟส่องสว่างไว้ที่หน้ารถนับสิบๆ ดวง ที่ดูแล้วน่าจะเป็นการตกแต่งดัดแปลงรถที่เกินความจำเป็นนั้น ถึงแม้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ารถทัวร์ลายการ์ตูนและรถทัวร์ที่ติดไฟส่องสว่างเกินความจำเป็นนั้นมีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุมากน้อยแค่ไหน แต่กรมการขนส่งทางบกก็ได้มีการออกกฎหมายควบคุมในเรื่องนี้ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นบนท้องถนน   สถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2555 พบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นถึง 176 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตถึง 181 คน บาดเจ็บ 1,857 คน ที่มา กรมการขนส่งทางบก   รถบัสแต่งสี – แต่งไฟ ระวังเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย ข้อบังคับเรื่องการตกแต่งสีและลวดลายบนตัวถังรถ กรมการขนส่งทางบกได้ออกข้อบังคับเรื่องการตกแต่งสีสัน ลวดลาย และภาพวาด บนตัวถังรถยนต์ ไว้ในประกาศเรื่อง “ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่ตัวถังรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ พ.ศ. 2555” ซึ่งมีข้อกำหนดดังนี้ รถโดยสารทั้งแบบประจำทางและไม่ประจำทาง สามารถตกแต่งภาพไว้บนตัวถังรถได้ แต่ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด และได้รับการขออนุญาตเสียก่อน โดยรูปภาพประจำรถหรือข้อความที่นำมาตกแต่งต้องไม่มีลักษณะดังนี้ 1.กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น รูปภาพล้อเลียนหรือข้อความที่ส่อไปทางดูหมิ่น ดูถูกผู้นำหรือประชาชนของประเทศอื่น เป็นต้น 2.กระทบต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทยหรือขัดต่อแนวนโยบายแห่งรัฐ เช่น รูปภาพหรือข้อความที่สนับสนุนให้ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น 3.ขัดต่อกฎหมายอื่น เช่น รูปภาพหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น 4.ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรม หรือวัฒนธรรมอันดีของประชาชน เช่น รูปภาพหรือข้อความที่ส่อไปในทางลามกอนาจาร 5.ขัดต่อลัทธิหรือความเชื่อทางศาสนา หรืออาจเป็นประเด็นขัดแย้งทางศาสนา เช่น  รูปภาพหรือข้อความล้อเลียนศาสดาหรือผู้นำทางศาสนา 6.ก่อให้เกิดอันตรายหรือก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน เช่น รูปภาพหรือข้อความที่เป็นสีสะท้อนแสง เป็นต้น 7.ละเมิดหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เช่น รูปภาพหรือข้อความที่หมิ่นประมาทผู้อื่น เป็นต้น 8.มีข้อความหรือถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม เช่น คำหยาบคาย คำผวน หรือคำแสลงที่สื่อความหมายในทางลามก อนาจาร เป็นต้น   ที่สำคัญคือ รูปภาพประจำรถต้องไม่ปิดทับเครื่องหมายของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง เครื่องหมายที่ต้องให้ปรากฏประจำรถ หมายเลขเส้นทาง ชื่อเส้นทาง หรือข้อความอื่นที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อความเกี่ยวกับการใช้ประตูฉุกเฉิน ทางออกฉุกเฉิน และต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ของรถ เช่น ประตูฉุกเฉิน ประตูอัตโนมัติ จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ โดยอนุญาตให้มีรูปภาพประจำรถได้แต่เฉพาะในตำแหน่งด้านข้างภายนอกตัวถังรถเท่านั้น และต้องไม่บดบังส่วนที่เป็นกระจกหรือบานหน้าต่าง หากกระทำผิดฝ่าฝืนกฎข้อบังคับจะถูกลงโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท   แต่จากสภาพที่เห็นๆ กันอยู่ ว่าการตกแต่งตัวถังรถ ทั้งด้านข้าง ด้านหน้า และด้านท้ายตัวรถ ด้วยรูปภาพการ์ตูนหรือลวดลายต่างๆ โดยใช่สีสันหลากหลายสี จนยากที่จะจำแนกเจาะจงว่ารถคันดังกว่าเป็นสีอะไร ทำเป็นปัญหาอย่างมากต่อการจดจำหรือใช้เป็นข้อมูลเฉพาะของรถคันดังกล่าว แม้บางคนอาจอ้างว่ายิ่งรถตกแต่งลายการ์ตูนน่าจะช่วยให้จำง่ายด้วยซ้ำเพราะไม่ซ้ำกับรถคันอื่น แต่หากเป็นกรณีที่ผู้เสียหายหรือผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุจากรถบัสลายการ์ตูนดันดังกล่าว ไม่รู้จักตัวการ์ตูนตัวนั้นที่เป็นภาพวาดอยู่บนรถ ก็แทบจะระบุไม่ได้เลยว่าลักษณะสีของรสบัสคันดังกล่าวเป็นสีอะไร นอกจากนี้การใช้สีสันเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะสีสะท้อนแสง ก็จะยิ่งเป็นอันตรายกับผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น เพราะสีสะท้อนแสงจะไปรบกวนการทัศนวิสัยการขับขี่ของรถคันอื่นได้   เรื่องของรูปภาพโฆษณาที่ติดข้างรถโดยสาร คนกทม.น่าจะคุ้นเคยกับบรรดารถเมล์ที่ด้านข้างตัวรถถูกปิดทับด้วยภาพโฆษณา ซึ่งประกาศเรื่อง “ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่ตัวถังรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ พ.ศ. 2555” ก็มีผลบังคับกับรถประจำทางเหล่านี้ด้วยเช่นกัน แต่ก็มีข้อกำหนดเฉพาะเพิ่มเติม เช่น รูปภาพเพื่อการโฆษณาบริเวณส่วนตัวถังที่เป็นกระจกหรือบานหน้าต่าง ต้องทำด้วยวัสดุโปร่งแสงซึ่งสามารถทำให้ผู้โดยสารภายในรถมองเห็นสภาพภายนอกรถได้ดี และบุคคลภายนอกรถสามารถมองเห็นสภาพภายในรถได้ด้วย การติดรูปภาพเพื่อการโฆษณาที่ตัวถังรถ ต้องติดให้แนบแน่นกับตัวถังรถอย่างเรียบร้อย โดยต้องไม่มีส่วนใดยื่นออกนอกตัวถังรถ ข้อบังคับเรื่องโคมไฟส่องสว่าง ส่วนในเรื่องของโคมไฟนั้น ตามพระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ว่าให้มีได้เฉพาะในส่วนที่มีความจำเป็นเท่านั้น เช่น โคมไฟส่องสว่างด้านหน้า ไฟเลี้ยว ไฟจอด ไฟท้ายและไฟจอดแสงสีแดง ไฟส่องป้ายทะเบียน และไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้างของรถ สำหรับไฟส่องสว่างที่อนุญาต คือ ไฟแสงสีขาวและสีเหลืองเท่านั้น โคมไฟอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ถ้าจะนำมาใช้ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกเสียก่อน สำหรับรถบัสที่ติดตั้งโคมไฟสปอร์ตไลท์ ที่มีลักษณะโคมไฟเรียงกันเป็นแถวยาวที่ด้านหน้าและด้านท้ายรถ ทั้งตามแนวตั้งและแนวนอนเป็นจำนวนมากหลายสิบดวง ซึ่งปิดบังทัศนะวิสัยในการมองบริเวณกระจกรถ รวมถึงการดัดแปลงแก้ไขโคมไฟต่างๆ เช่น โคมไฟส่องสว่าง โคมไฟเบรก โคมไฟเลี้ยวให้มีสีที่ผิดไปจากที่กฎหมายกำหนด หรือติดสติ๊กเกอร์ปิดบังทัศนวิสัยในการมองบริเวณกระจกหน้ารถ รวมถึงเปิดเสียงดังก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญและเป็นอันตรายแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ถือว่าเข้าข่ายกระทำผิดพระราชบัญญัติ ผู้ที่ทำผิดจะมีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท จากการที่ฉลาดซื้อได้สอบถามกับพนักงานขับรถบัสไม่ประจำทางคนหนึ่งถึงเรื่องของโคมจำนวนกว่าร้อยดวงที่ติดอยู่ด้านหน้ารถนั้น พนักงานขับรถยืนยันว่า “ทุกดวงสามารถเปิดใช้งานได้” ซึ่งแน่นอนหากมีการเปิดใช้โคมไฟเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการนำไปใช้ผิดประเภทย่อมส่งผลต่อการขับขี่ของรถยนต์คันอื่นๆ (ใครที่พบเห็นรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง ที่มีการตกแต่งสี – ลวดลาย โคมไฟ หรือตกแต่งส่วนหนึ่งส่วนใดของตัวรถที่ดูแล้วไม่เหมาะสม ขัดกับกฎหมาย หรืออาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ สามารถแจ้งไปได้ที่ “ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ โทร. 1584”) ------------------------------------------------------- คำแนะนำในการเดินทางโดยรถโดยสารไม่ประจำทาง -เลือกผู้ประกอบการที่มีความน่าเชื่อถือ มีที่ตั้งสถานที่ประกอบการชัดเจน มีใบอนุญาตประกอบการจากกรมการขนส่งทางบก ตรวจสอบได้ -ได้ดูสภาพรถจริงๆ ก่อนที่จะตัดสินใจใช้บริการ เรามีสิทธิเลือกรถที่จะใช้ -เลือกเช่ารถที่มีอุปกรณ์ความปลอดภัยครบถ้วน ได้แก่ เข็มขัดนิรภัย มีค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง และควรมั่นใจว่าอุปกรณ์ต่างๆ ยังอยู่ในสภาพที่ใช้ได้จริง -เลือกรถโดยสารแบบชั้นเดียว เพราะปลอดภัยกว่ารถโดยสารที่เป็นแบบ 2 ชั้น -เลือกรถที่มีการทำประกันอุบัติเหตุ แบบประกันชั้น 1 -ถ้าเดินทางในระยะทางที่มากกว่า 400 กิโลเมตร ต้องมีพนักงานขับรถ 2 คน -พนักงานขับรถต้องมีใบอนุญาตสำหรับรถโดยสาร (ใบอนุญาตประเภท 2 ขึ้นไป) และต้องมีการแสดงข้อมูลพนักงานขับรถที่ถูกต้อง (ชื่อ – นามสกุล และ รูปถ่าย) ติดบริเวณด้านในของรถ ถ้ามีพนักงานขับ 2 คน ก็ต้องแสดงข้อมูลที่ถูกต้องทั้ง 2 คน -ควรมีการวางแผนเส้นทางการเดินทางและระยะเวลาร่วมกับพนักงานขับรถ เลือกเส้นทางที่ปลอดภัย และไม่ควรเดินทางด้วยความเร่งรีบเกินไป เพราะเสี่ยงต่ออันตราย -ระหว่างเดินทางอย่าลืมค่อยสังเกตพนักงานขับรถ ว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมจะขับขี่หรือไม่ รวมทั้งต้องขับรถด้วยความสุภาพเรียบร้อย ไม่ขับรถประมาท หรือขับหวาดเสียว หากเห็นว่าไม่ปอลดภัยต้องรีบบอกกับพนักงานขับรถ หรือขอให้หยุดรถแล้วแจ้งบริษัทผู้ให้บริการ เจ้าหน้าตำรวจจราจร หรือกรมการขนส่งทางบก -เลือกรถที่มีสภาพถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีการตกแต่งลายหรือใช้สีสันฉูดฉาดหลายสี ไม่มีการติดโคมไฟหรือใช้แสงสีผิดจากที่กฎหมายกำหนด ---------------------------------------------------------------------     ปัจจุบันมีรถโดยสารจดทะเบียน จนถึง 31 ตุลาคม 2555 ทั้งสิ้นจำนวน 137, 153 คัน เป็นรถโดยสารประจำทาง จำนวน 88,962 คัน รถโดยสารไม่ประจำทาง จำนวน 36,962 คัน ที่มา : กรมการขนส่งทางบก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point