ฉบับที่ 248 ดูแลป้องกันไม่ให้เท้าเกิดเล็บขบ

    ธรรมดาเท้าคนเรานั้นถูกออกแบบมาให้แข็งแรงมาก แต่หากละเลยดูแลได้ไม่ดีพอ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาก็ทำให้ทรมานและรบกวนการใช้ชีวิตปกติได้อย่างคาดไม่ถึง หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยคือ “เล็บขบ”  ซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้ผู้ที่เป็นตั้งแต่เจ็บปวดเล็กน้อยจนอาจอักเสบลุกลามใหญ่โต ทั้งนี้หากดูแลเล็บเท้าได้ดีปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น แต่เชื่อไหมว่าหลายครั้งเกิดจากทำตัวเองแท้ๆ         “เล็บขบ” สาเหตุหลักเกิดจากเล็บที่งอกออกมาใหม่ทิ่มเข้าไปในเนื้อใต้เล็บจนทำให้เกิดอาการเจ็บปวด โดยอาจเกิดจากการตัดเล็บที่ผิดวิธีหรือตัดเล็บที่สั้นเกินไป หรือสาเหตุอื่น เช่น การสวมถุงเท้ารองเท้าที่แน่นเกินไปจนกดเล็บเท้า หรือลักษณะนิ้วเท้าที่โค้งผิดรูปร่างปกติอยู่แล้ว  หรืออุบัติเหตุสิ่งของตกหล่นใส่นิ้วเท้าและไม่ดูแลสุขอนามัยนิ้วเท้าให้ดีจนเกิดเชื้อรา อาการของเล็บขบที่เท้า    - ระยะแรก จะมีอาการปวดและกดเจ็บบริเวณนิ้วเท้าที่มุมริมขอบเล็บข้างใดข้างหนึ่งหรืออาจปวดรอบๆ เล็บทั้ง 2 ข้าง    - ระยะที่สอง เริ่มมีอาการมากขึ้น มีภาวะบวมและแดงรอบๆ บริเวณนิ้วเท้า มีเลือดซึมและเริ่มติดเชื้อ เวลาเดินมีอาการเจ็บที่บริเวณนั้น    - ระยะที่สาม  มีอาการบวมแดง เลือดออก และเจ็บมาก  อาจเกิดหนองซึ่งแสดงถึงอาการติดเชื้อรุนแรงและอาจจะมีกลิ่นเหม็น ผิวบริเวณนิ้วที่อักเสบจะหนาขึ้น วิธีดูแลป้องกันเล็บขบ     เล็บขบสามารถป้องกันได้ ด้วยการดูแลป้องกันตนเอง ดังนี้        1.เปลี่ยนพฤติกรรมการตัดเล็บ คือ ไม่ตัดเล็บโดยเฉพาะเล็บเท้าให้สั้นเกินไป และตัดให้ตรงไม่ตัดให้โค้งและลึกลงขอบหรือซอกของเล็บ งดการตัดที่จมูกเล็บ                         2.อุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดเล็บควรฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์อย่างสม่ำเสมอ ทิ้งไว้ให้แห้งก่อนใช้และอาจเช็ดแอลกอฮอล์ที่นิ้วเท้าก่อนลงมือตัด                          3.หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าที่บีบรัดเท้า ใส่รองเท้าให้พอดีไม่คับเกินไปรวมทั้งถุงเท้ากับถุงน่องด้วย และหากเป็นบุคคลที่ต้องทำงานนอกบ้านในพื้นที่เสี่ยง ควรสวมรองเท้านิรภัย        4.หมั่นดูแลทำความสะอาดเท้า และบำรุงด้วยครีมบำรุงผิวสม่ำเสมอ เป็นเล็บขบรักษาอย่างไร ต้องผ่าตัดไหม?     การรักษาเล็บขบในภาวะที่มีการติดเชื้อแล้วต้องมีการผ่าตัดเล็กเพื่อเอาเล็บที่ทิ่มอยู่ใต้ผิวหนังออกเพื่อรักษาเล็บขบ การกำจัดเล็บบางส่วนสามารถป้องกันเล็บขบที่จะเกิดขึ้นได้อีกครั้งในภายหลังถึง 98%  วิธีแรกคือ การเอาเล็บเท้าออกบางส่วน วิธีที่สอง คือ รักษาโดยเอาเล็บเท้าออกทั้งหมด วิธีหลังนี้ใช้สำหรับเล็บขบที่มีเล็บหนาและกดลงไปในผิวหนัง เรียกว่าการรักษาแบบ Matrixectomy และอีกวิธีคือ การยกเล็บขึ้น ใช้สำหรับเคสที่มีอาการน้อย เพียงบวมแดง ไม่มีหนอง โดยใช้ไหมหรือสำลียกขอบเล็บให้พ้นขอบของผิวหนัง เพื่อไม่ให้เล็บงอกเข้าไปในเนื้ออีก               ทั้งนี้ อาการที่บ่งบอกว่าควรจะไปพบแพทย์ คือ ลักษณะอาการเล็บเท้าทิ่มลงไปที่ผิวหนังจนมีสัญญาณขั้นรุนแรง คือ บวมแดงและมีหนอง ควรไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรหาวิธีรักษาเองหรือปล่อยไว้ เพราะอาจเสี่ยงต่อการลุกลามไปจนเกิดการติดเชื้อที่กระดูกนิ้วเท้าได้ กรณีผู้ป่วยโรคเบาหวานก็อาจจะเกิดการลุกลามที่รวดเร็วได้

อ่านเพิ่มเติม >